วันเวลาปัจจุบัน 27 เม.ย. 2024, 05:14  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2012, 13:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 18 มี.ค. 2011, 13:32
โพสต์: 245


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

การให้ที่มีเยื่อใย นำทุกข์มาให้
โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

ใน ทสัณณกชาดก เรื่อง “ทุกข์เพราะการให้” เล่าว่า ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์กำเนิดในตระกูลพราหมณ์ ญาติทั้งหลายได้ตั้งชื่อเขาว่า เสนกกุมาร เมื่อเติบโตเขาได้เรียนศิลปะทุกชนิดในเมืองตักศิลา จบแล้วก็กลับเมืองพาราณสี และได้เป็นอำมาตย์ผู้ถวายอรรถธรรมแด่พระเจ้ามัทวะ คนทั้งหลายจึงเรียกเขาว่า “เสนกบัณฑิต” เขามีชื่อเสียงรุ่งโรจน์ไปทั่วทั้งนคร

วันหนึ่ง มาณพหนุ่มบุตรชายปุโรหิตเข้าเฝ้าพระราชา และเห็นอัครมเหสีผู้งดงามของพระองค์ จึงเกิดหลงรักหัวปักหัวปำ ครั้นกลับมาบ้านก็เฝ้ารำพึงเพ้อถึง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ฝ่ายพระเจ้ามัทวะเมื่อไม่เห็นบุตรชายของปุโรหิตหลายวันเข้า ก็ทรงรับสั่งถึง ครั้นทรงสดับถึงสาเหตุที่เขามาไม่ได้ก็ทรงเอ็นดู จึงเรียกให้มาเข้าเฝ้า แล้วรับสั่งกับเขาว่า “เอาเถิด เราจะให้มเหสีแก่เจ้าเจ็ดวัน เจ้าจงให้หญิงนี้อยู่ในเรือนเจ้าเจ็ดวัน ในวันที่แปดพึงส่งกลับเข้าวัง”

มาณพหนุ่มกราบแทบฝ่าพระบาทด้วยความปีติยินดีเป็นล้นพ้นในพระมหากรุณาธิคุณ แล้วพาพระนางมาสู่เรือนตนร่วมอภิรมย์ด้วยกัน ทั้งสองเกิดจิตปฏิพัทธ์ต่อกัน จึงพากันหนีไปทางประตูท้ายวังไปสู่แคว้นอื่น โดยไม่มีใครรู้ไม่มีใครเห็นเลย เมื่อพระราชาทราบเรื่อง ก็ประกาศให้คนทั้งพระนครตีกลองร้องประกาศไปจนทั่ว ให้ช่วยกันค้นหาพวกเขา แต่ก็หาไม่พบ พระองค์จึงโศกสลดด้วยเรื่องนี้ พระหทัยเร่าร้อนจนพระโลหิตปั่นป่วน พระอาเจียนเป็นโลหิตออกมา ประชวรหนัก กระทั่งหมอหลวงผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายไม่อาจรักษาพระองค์ได้

เสนกบัณฑิตทราบพระโรคดีว่า เป็นโรคที่เกิดจากจิต เพราะทรงสูญเสียพระมเหสี จึงตั้งใจจะรักษาพระองค์ด้วยตนเอง เสนกบัณฑิตได้ปรึกษาหารือกับสองอำมาตย์ราชบัณฑิต “อายุรอำมาตย์” กับ “ปุกกุสอำมาตย์” เพื่อวางแผนรักษาพระราชาผู้มีอุปการะมากแก่พวกตน ด้วยการจัดมหรสพที่ท้องสนามหลวง มีการแสดงมากมาย หนึ่งในนั้นคือการแสดงผาดโผนด้วยนักมายากลผู้ชำนาญดาบมีดและกลืนดาบได้ โดยจัดตั้งพระแท่นที่สีหบัญชร (หน้าต่าง) ให้พระราชาประทับทอดพระเนตรการแสดง

เสนกบัณฑิตได้วางแผนเอาไว้ว่า เมื่อพระราชาทอดพระเนตรเห็นคนกลืนดาบ ก็จะฉงนสนพระทัยไต่ถาม ถ้าพระองค์ตรัสถามถึงเรื่องคนกลืนดาบว่า มีงานอะไรยากกว่านี้หรือไม่ เสนกบัณฑิตก็เตรียมคำตอบให้กับอายุรอำมาตย์และปุกกุสอำมาตย์คนละหนึ่งคำตอบ ที่เหลือนอกนั้นเสนกบัณฑิตจะตอบเอง

นักมายากลแสดงการกลืนดาบ เริ่มต้นด้วยการคาบมีดผาดโผน และต่อมาก็แสดงการกลืนดาบอันยาวและคมกริบถึง 33 เล่ม พระราชาทรงฉงนพระทัยว่า เขาทำได้อย่างไรกับงานยากยิ่งเช่นนี้ ทรงรำพึงว่ามีอะไรที่ยากกว่านี้ไหมหนอ จึงทรงหันไปหาอายุรอำมาตย์ ตรัสถามว่า “ดาบอันคมกริบที่ทำขึ้นในแคว้นทสัณณกะ คอยแต่ดื่มโลหิตของผู้อื่น บุรุษผู้นี้สามารถกลืนดาบต่อหน้าผู้ชมได้ งานอะไรที่ยากกว่านี้มีไหมหนอ เราขอถาม”

อายุรอำมาตย์ กราบทูลว่า “บุรุษกลืนดาบอันคอยดื่มโลหิตคนผู้นั้นได้ ก็เพราะอยากได้ทรัพย์เป็นรางวัลในการแสดง แต่ผู้ใดเอ่ยคำว่า “ให้” แก่ใคร คำพูดของผู้นั้น ทำได้ยากยิ่งกว่าการกลืนดาบ เหตุอื่นทั้งปวงล้วนทำง่ายทั้งสิ้น โปรดทรงทราบอย่างนี้เถิดพระพุทธเจ้าข้า”

พระเจ้ามัทวมหาราช เมื่อทรงสดับวาจาอายุรอำมาตย์ ก็ทรงพิเคราะห์ว่า พระองค์ได้พูดว่า ให้พระเทวีแก่บุตรปุโรหิต พระองค์ได้กระทำสิ่งที่ยากยิ่งกว่าการกลืนดาบแล้วหนอ ความตรอมพระทัยค่อยเบาบางลงไปบ้าง

พระองค์ทรงดำริต่อไปว่า แล้วมีสิ่งใดไหมหนอที่ยากกว่าคำว่า “เราให้สิ่งนี้แก่ผู้อื่น” จึงทรงหันไปถามปุกกุสอำมาตย์ว่า “เราขอถามท่านว่า อะไรเล่าที่ทำยากกว่าคำว่า “ให้” จงแจ้งแก่เราด้วยเถิด”

ปุกกุสอำมาตย์ จึงกราบทูลว่า “วาจาที่กล่าวให้ออกไปแล้ว แต่ปราศจากผลของการกระทำ ชนทั้งหลายไม่อาจอาศัยวาจาเช่นนี้เลี้ยงชีพได้ แต่ผู้ใดที่เอ่ยคำว่า “ให้” แล้วก็ได้ให้สิ่งนั้นสมกับวาจาไปนั่นแล การกระทำของผู้นั้นยากยิ่งกว่าการกลืนดาบ และการกล่าวคำว่า “ให้” เหตุอื่นทั้งมวลทำง่าย โปรดทรงทราบอย่างนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”

พระราชาทรงสดับวาจานั้นแล้ว ก็นำมาตรองกับพระองค์เองว่า แม้พระองค์ก็ได้พูดว่า ให้พระเทวีแก่บุตรปุโรหิต พระองค์ก็ทรงให้เธอสมดังวาจา พระองค์ได้กระทำสิ่งที่ยากยิ่งขึ้นแล้วหนอ ความเศร้าโศกของพระองค์ก็สร่างซาลงไปอีก ทรงตรึกต่อไปว่า บัณฑิตใดจะฉลาดปราดเปรื่องเช่นเสนกะไม่มี เราจะถามปัญหานี้กับเขา “ดูกร เสนกบัณฑิต ปุกกุสอำมาตย์ผู้ฉลาดในอรรถธรรม ได้แก้ปัญหาแก่เราแล้ว บัดนี้เราของถามท่านว่า อะไรเล่าที่ทำได้ยากยิ่งกว่าการได้ให้ ตามคำกล่าวว่า “ให้” ท่านจงบอกกิจนั้นแก่เรา”

เสนกบัณฑิต กราบทูลว่า “ข้าแต่พระจอมชน คนเราบำเพ็ญทานน้อยหรือมากก็ตามที หรือผู้ใดให้ของที่ตนรักมากแก่ผู้อื่น ภายหลังไม่เดือดร้อน ไม่โศกเศร้าเพราะของนั้น การให้แล้วไม่เดือดร้อนของผู้นั้น ทำยากกว่าการกลืนดาบ กว่าคำพูดว่าเราให้ กว่าการให้แล้วทำตามคำพูด เป็นการทำยากยิ่งกว่าสิ่งใดๆ ขอพระองค์โปรดทราบอย่างนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”

พระราชาสดับวาจาของเสนกบัณฑิต ตรองดูพระองค์เองก็เห็นว่า เมื่อเราให้เทวีไปแล้ว แต่ไม่อาจรักษาใจตนเองไว้ได้ จึงโศกเศร้าและล้มป่วยลงอย่างหนัก ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้หาสมควรแก่เราไม่ อนึ่ง ถ้าพระนางยังสิเน่หาอาลัยเรา ก็คงจะไม่หนีไปเช่นนี้ ก็เมื่อเธอเองไม่สิเน่หาเราแล้ว เราจะต้องการเธอไปทำไมเล่า เมื่อทรงรำพึงเช่นนี้ ความโศกเศร้าก็หายไปสิ้นดุจหยาดน้ำกลิ้งตกจากใบบัว พระองค์จึงหายจากพระโรค สำราญอิริยาบถเช่นเดิม จึงตรัสชมเสนกบัณฑิตว่า

“ทั้งท่านอายุระและท่านปุกกุสะแก้ปัญหามา ก็สมแล้วกับที่ท่านเสนกะว่ามา ขึ้นชื่อว่าทานนั้น ใครๆ ให้ไปแล้ว ไม่สมควรร้อนใจในภายหลัง”

พระราชาทรงพอพระทัย และพระราชทานทรัพย์ให้แก่บัณฑิตทั้งสามเป็นอันมาก



คัดลอกบางตอนมาจาก...หนังสือ “ธรรมให้สุขใจ”
เรื่องโดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
เรียบเรียงโดย ธิดารัตน์ ไตรรัตนกุล

.....................................................
"องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน ตัดมูลเกลศมาร บ มิหม่นมิหมองมัว
หนึ่งในพระทัยท่าน ก็เบิกบานคือดอกบัว ราคี บ พันพัว สุวคนธกำจร"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ส.ค. 2012, 23:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 พ.ค. 2010, 13:34
โพสต์: 1654

งานอดิเรก: ฟังเพลง และฟังธรรมตามกาลเวลา
สิ่งที่ชื่นชอบ: อภัยทาน
อายุ: 39
ที่อยู่: กรุงเทพมหานคร

 ข้อมูลส่วนตัว


rolleyes การให้ทาน rolleyes

๏ ควรบำเพ็ญ ซึ่งทาน คือการให้ ท่านว่าไว้ สวยงาม สามสถาน หนึ่งให้ของ สองธรรมะ ชนะมาร อภัยทาน ที่สาม งามเหลือเกิน.

:b44: ღ˚ •。* ♥♥ ˚ ˚ กราบอนุโมทนาบุญกับท่านผู้เจริญในธรรมและกัลยาณมิตรทุกท่านนะเจ้าค่ะ ธรรมรักษา เทวดาคุ้มครองนะเจ้าค่ะ ขอให้ท่านเจริญในธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไป ˚. ★ *˛ ✿◕‿◕✿•°°✿◕‿◕.ღ ˛˚ ♥♥ 。✰˚* ˚ :b8: :b8: :b8: :b20:

.....................................................
ธรรมอำนวยพร
ขอให้.....มีจิตที่รู้ ที่ตื่น ที่เบิกบาน (พุทธะ)
ขอให้.....ทำการงานด้วยความสุข (อิทธิบาทสี่)
ขอให้.....ขจัดทุกข์ได้ด้วยปัญญา (อริยสัจสี่)
ขอให้.....มีดวงตาที่เห็นความจริง (ไตรลักษณ์)
ขอให้.....เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยไตรสิกขา (ศีล, สมาธิ, ปัญญา)


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ธรรมโฆษ และ บุคคลทั่วไป 62 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร