วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 09:17  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ย. 2011, 13:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ


ในอดีต.. ชาวตะวันตกในยุคแรกๆที่สนใจพุทธศาสนา ได้หาหนทางที่จะศึกษาเรียนรู้ ด้วยการจาริกแสวงบุญไปยังดินแดนตะวันออก ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของพุทธศาสนา

แต่ปัจจุบันซึ่งเป็นยุคไอที (IT-Information Technology) หรือ “เทคโนโลยีสารสนเทศ” อินเทอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนเป็นอย่างมาก บรรดาคนหนุ่มสาวชาวอเมริกันรุ่นใหม่ที่นับถือพุทธศาสนา จึงลุกขึ้นพัฒนารูปแบบการศึกษาเรียนรู้พุทธศาสนาให้เหมาะกับอายุและวัฒนธรรมของพวกเขา หันมาออกแบบซอฟท์แวร์ เพื่อใช้ในการทำสมาธิสมัยใหม่ การปลีกวิเวกออนไลน์ และการประชุมออนไลน์ โดยสื่อ สารกันผ่านอินเทอร์เน็ตด้วยข้อความพร้อมเสียงและภาพจากกล้อง Webcam เพื่อขจัดปัญหาเรื่องระยะทางระหว่างผู้สอนกับผู้ปฏิบัติ

แม้ว่าอินเทอร์เน็ตจะไม่ใช่สื่อกลางในการทำสมาธิ แต่มันก็เป็นแหล่งในการเผยแผ่ธรรมะได้เป็นอย่างดี

โดยเมื่อวันที่ 29-31 กรกฎาคม 2011 ทีผ่านมา หนุ่มสาวชาวอเมริกันกลุ่มหนึ่งที่เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ซึ่งหันมานับถือพุทธศาสนา ได้มารวมตัวพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการศึกษาเรียนรู้พุทธศาสนาในศตวรรษที่ 21 ที่ผสมผสานเรื่องต่างๆเข้าด้วยกันอย่างสร้างสรรค์ อาทิ จิตวิทยา ฟิสิกส์ และคอมพิวเตอร์ ในการประชุมซึ่งจัดขึ้นที่ University of The West เมืองโรสมีด มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เชื่อมโยงกับพุทธศาสนา และมีการถ่ายทอดสดการอภิปรายผ่านทางทวิตเตอร์

การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นโดย “วินเซนต์ ฮอร์น” และได้รับการสนับสนุนจากองค์กรอินไซต์ แอลเอ (Insight La Organization) เป็นการรวมตัวของบรรดาบล็อกเกอร์ ชาวทวิตเตอร์ นักวิชาการ ครูอาจารย์ และพุทธศาสนิกชนทั่วไป เพื่อพูดคุยในหัวข้อเรื่องต่างๆ อาทิ “ศาสตร์แห่งการรู้ตื่นเบิกบาน” “โฉมหน้าของพุทธศาสนา” “มองผ่านวัฒนธรรม” “อยู่กับปัญญา” “ธรรมะกับอินเทอร์เน็ต” และหัวข้อที่น่าสนใจอื่นๆ

ในที่ประชุมมีการพูดคุยถึงวิธีต่างๆ ที่สื่อดิจิตอลช่วยเผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า เรื่องการนำวิทยาศาสตร์ เข้ามาใช้วัดประสิทธิภาพการฝึกเจริญสติ (เช่น การทำสมาธิ) ได้อย่างไร และหนทางการเผยแพร่การเจริญสติไปยังฆราวาสและสังคม นอกจากนี้ ยังได้พูดถึงช่องว่างระหว่างวัยที่เกิดขึ้นระหว่างคนอเมริกันสูงวัยและคนหนุ่มสาวที่เป็นชาวพุทธ

“เจน แมคโกนิกัล” หญิงสาวนักออกแบบเกมคอมพิวเตอร์ ได้เปรียบเทียบ “การรู้ตื่นและเบิกบาน” ของชาวพุทธว่าเป็น “การชนะที่ยิ่งใหญ่” ในเกมวิดีโอ

หลังการประชุม ฮอร์นได้ให้สัมภาษณ์ โดยกล่าวถึงประเด็นที่ว่า คนรุ่นเก่าหันมานับถือศาสนาพุทธผ่านวัฒนธรรมที่แตกต่างจากที่มีอยู่ในสังคมยุคนั้น และหนุ่มสาวชาวอเมริกันหลายคนที่นับถือพุทธศาสนาในปัจจุบัน ก็มองว่าพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่อยู่ในกระแสหลักเช่นกัน

“ชาร์ลส์ เอส พรีบิช” นักวิชาการชาวพุทธ ผู้เขียนหนังสือหลายเล่ม รวมถึง “Luminous Passage:The Practice and Study of Buddhism in America” (ทางสว่าง : การปฏิบัติและเรียนรู้ศาสนาพุทธในอเมริกา) ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ บอกว่ารู้สึกประทับใจเมื่อเห็นชื่อผู้อภิปรายบางคนที่เข้าร่วมงาน และเห็นด้วยว่ามีช่องว่างระหว่างวัยเกิดขึ้นในหมู่ชาวพุทธอเมริกันจริง และเขายังกล่าวถึงความสำคัญของเทคโนโลยีที่จะกำหนดอนาคตของศาสนา

“ผมเคยพูดว่า ผมเป็นชาวพุทธเพียงคนเดียว เพราะที่นี่ไม่มีชุมชนชาวพุทธเลย เทคโนโลยีช่วยให้เราสามารถเชื่อมต่อกับพุทธศาสนิกชนอื่นๆ ทำให้เราเชื่อมต่อกับคำสอนของพระพุทธเจ้าทางออนไลน์ได้...และนั่นเป็นการเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง” พรีบิช กล่าว

ขณะที่ “ซอกเชน ปันลพ รินโปเช” ลามะทิเบต ซึ่งเขียนหนังสือเรื่อง “Rebel Buddha” ได้กล่าวปิดการประชุมว่า ท่านได้เตือนสานุศิษย์ผ่านทางเวปไซต์ ว่าให้มองทะลุผ่านมิติทุกวัฒนธรรม เพื่อค้นหาเนื้อแท้แห่งการรู้ตื่นเบิกบานอันนิรันดร์ และก็สนับสนุนให้เยาวชนคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ “นำธรรมะอันวิเศษใส่เข้าไปในเทคโนโลยี และใช้มันเพื่อสร้างความสัมพันธ์ มิใช่การแบ่งแยก”

• ประวัติ “วินเซนต์ ฮอร์น”

วินเซนต์ ฮอร์น เป็นผู้สนใจในพุทธศาสนา เป็นครูสอนทำสมาธิ เมื่ออายุ 19 ปี เขาเริ่มศึกษาพุทธศาสนาและฝึกทำสมาธิ จากนั้น ก็ใช้เวลาเกือบปีฝึกวิปัสสนากรรมฐานอย่างคร่ำเคร่งในศูนย์ Insight Meditaion โดยได้รับคำแนะนำที่ดีหลายอย่างและแรงสนับสนุนจากครูผู้ฝึกสอน คือ “ทรูดี้ กูดแมน” และ “แจ็ค คอร์นฟิลด์”

ในปี 2010 แจ็ค คอร์นฟิลด์และครูคนอื่นๆ ส่งเสริมให้ฮอร์นและภรรยา เริ่มต้นการสอนทำสมาธิ เขาโชคดีที่ได้เรียนการทำสมาธิจากครูสอนธรรมะสายปฏิบัติทีชื่อ “เคนเนธ โฟล์ค” และ “แดเนียล อิงแกรม” ซึ่งทั้งสองได้อนุญาตให้เขานำ “ธรรมะเชิงปฏิบัติ” ของท่านไปสอนได้

ช่วงที่ฮอร์นสอนและฝึกทำสมาธิแบบเถรวาท ณ วัดป่าในประเทศไทยและพม่า เขาได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติตามวิถีเซนอย่างเคร่งครัดด้วย

ปี 2006 ฮอร์นได้ผสมผสานความชอบในการทำสมาธิ เข้ากับความหลงใหลในเรื่องเทคโนโลยีและสื่อ ผลที่ได้คือ เขาได้ผลิตโครงการสื่อพุทธศาสนาที่ เรียกว่า “Buddhist Geeks” ขึ้น ในช่วงแรกมีรายการ กระจายเสียงเป็นประจำทุกสัปดาห์ ซึ่งปัจจุบันมีการดาวน์โหลดมากกว่า 100,000 ครั้งในแต่ละเดือน นอกจากนี้ยังได้ออกนิตยสารดิจิตอล และจัดรายการเรียน รู้กับครูสอนธรรมะล้ำสมัยของยุคนี้ทางออนไลน์

Buddhist Geeks จึงกลายเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญสำหรับผู้สนใจพุทธศาสนาทั่วโลก

ปัจจุบัน ฮอร์นพำนักและเป็นครูสอนอยู่ที่เมืองซานตา มอนิกา ในรัฐแคลิฟอร์เนีย นอกจากจะสอนประจำที่ศูนย์ Insight LA ซึ่งก่อตั้งโดยทรูดี้ กูดแมน เขายังเปิดคอร์สสอนส่วนตัวอีกด้วย

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 130 กันยายน 2554 โดย บุญสิตา)

ที่มา http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNew ... 0000110445


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 55 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร