วันเวลาปัจจุบัน 26 เม.ย. 2024, 13:56  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ย. 2011, 21:37 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ต.ค. 2010, 12:11
โพสต์: 5013


 ข้อมูลส่วนตัว


โลกกับกรรมฐาน
พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร)
๙ สิงหาคม ๒๕๐๑ ณ วัดอโศการาม

ในคน ๆ หนึ่งมีทั้งวิชาและอวิชชา เหมือนนายแพทย์ที่เรียนรู้โรคต่างๆ โรคใดที่ได้ศึกษามาแล้ว ก็รู้ได้ในโรคนั้น แต่ส่วนโรคใดที่ไม่ได้เรียน ก็หามีความรู้ในโรคนั้น ๆ ไม่ คนเราก็มีทั้งมืด ทั้งสว่าง ความมืดคือ“อวิชชา” ความสว่างก็คือ “วิชชา” สิ่งใดที่เป็นความรู้แล้วสิ่งนั้นก็เป็น วิชชา ฯ

เรื่องของโลก มีความเป็นไปด้วยความหมุนเวียนเหมือนวงจักร ฉะนั้น คนเราซึ่งอาศัยอยู่ในโลกจึงมีทั้งสุขและทุกข์ เป็นไป ตามอาการของโลก คือ “สังสารจักร” คราวใดที่คนเราหมุนไปถูกวงทุกข์ ก็รู้สีกว่าโลกนี้ช่างแคบเสียเหลือเกิน ถ้าคราวใดหมุนไปถูกวงสุข ก็รู้สึกว่าโลกนี้กว้างขวางสดชื่นเป็นที่น่าอยูอย่างยิ่งที่เป็นดังนี้ ก็เพราะตัวเราไปหมุนตามโลกจึงยังไม่รู้จักโลก ที่แท้จริง ถ้าเราหยุดหมุนเมื่อไร เราก็จะรู้จักธรรมดาของ “โลก” และรู้จักความเป็นจริงของ “ธรรม”

* บันทึกโดยแม่ชีอรุณ วภิวณฺณา
ขณะใดที่เราวิ่งไปตามโลกเราจะมองไม่เห็นโลกได้ถนัด ฉะนั้น เราจำเป็นต้องหยุดวิ่งเสียก่อน แล้วเราจึงจะมองเห็นโลกได้ชัดเจน เมื่อโลกก็หมุนและเราก็หมุนด้วยอย่างนี้ จะมองเห็นกันอย่างไร เปรียบเหมือนคนวิ่งกับคนวิ่ง ย่อมยากที่จะมองเห็นหน้ากันได้ เราหยุดไม่วิ่ง แต่เขาวิ่ง ก็ยังพอมองเห็นกันบ้างแต่ไม่ชัดเจน ถ้าสองคนต่างวิ่งแล้ว ก็ยิ่งไม่แลเห็นกันเลย ตัวอย่างเช่น เรานั่งหรือยืนอยู่เฉยๆ มีคนๆหนึ่ง แอบวิ่งมาตีหัวเรา แล้วก็วิ่งหนีไป อย่างนี้เราก็จับตัวได้ยาก ฉะนั้น ถ้าเราหมุนหรือแทรกแซงในความหมุนของโลก เราก็จะยิ่งไม่รู้ไม่เห็นอะไรเลย ในทางธรรมท่านจึงสอนให้เราเป็นผู้หยุดหมุน “สังสารจักร” เพื่อจะได้ทราบโลกแจ้งชัดฯ

ใบพัดเครื่องบินหรือใบจักรใดๆ ก็ตาม เมื่อมันยังหมุนอยู่ เราจะมองไม่เห็นว่าใบพัดนั้นรูปร่างลักษณะอย่างไร และมีกี่ใบพัดหรือใบจักรนั้นมีความหยาบละเอียดอย่างใด ถ้ายิ่งหมุนเร็ว เราก็ไม่เห็นรูปร่างอะไรเลย ต่อเมื่อหมุนช้าลง หรือหยุดหมุนแล้ว เราจึงจะมองเห็นได้ถนัดชัดเจนว่า รูปร่างของมันเป็นอย่างไร นี้เป็นข้อเปรียบเทียบอย่างหนึ่ง ในการหมุนตามกระแสของโลกโลกีย์ ซึ่งเป็น “โอกาสโลก” กับตัวเราที่อาศัยอยู่ในพื้นโลก

“โอกาสโลก” ได้แก่พื้นแผ่นดินที่เราอาศัยอยู่ ส่วน “มนุษยโลก” นั้นได้แก่ตัวของเรานี้ คือ กายและ จิต ซึ่งมันก็เป็นคนละอย่างไม่เหมือนกัน แต่ก็ต้องอาศัยกันอยู่ เหมือนโลกกับคนซึ่งเป็นคนละอย่างแต่ต้องอาศัยกันอยู่ มีกายแต่ไม่มีจิตก็ไม่ได้ เพราะจะทำสิ่งต่างๆ ย่อมไม่สำเร็จ มีจิตแล้วไม่มีกายก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน

ฉะนั้น ดวงจิตจึงเปรียบเสมือนคนที่อาศัยโลก ดวงจิตเป็นนายช่าง ส่วนกายเป็นจิตรกรรม จิตเป็นผู้สร้างรูปหรือสร้างโลก ถ้าดวงจิตเข้าไปสู่ภวังค์ที่ดีก็สร้างรูปได้สมบูรณ์ แล้วกายนั้นก็เจริญขึ้นด้วยภาวะของมันเองบ้าง ด้วยการตกแต่งของดวงจิตบ้าง เหมือนพ่อแม่ที่เลี้ยงลูก เดิมทีมารดาก็กินอาหารไปบำรุงเลี้ยงทารกในครรภ์ก่อน แล้วทารกนั้นก็ค่อย ๆ เจริญเติบโตขึ้นเป็นผู้หญิงผู้ชาย เป็นเด็กจนโตเป็นผู้ใหญ่ต่อ ๆ มา ทารกนั้นทีแรกก็มีแต่ กุศลจิต อกุศลจิต แต่ไม่มีกุศลกรม อกุศลกรรมบ้าง คือมีกรรมขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ผลของกรรมดีและกรรมชั่ว มันก็แข่งกันเจริญขึ้น แล้วก็ชักดึงบุคคลนั้นๆ ไปในทางบุญและบาป

ถ้าใครศึกษาในทางธรรม ท่านจึงกล่าวว่า “อเสวนา จพาลานํ ปญฺฑิตานญฺจ เสวนา” ถ้าจิตไปทางใดกรรมก็ดึงไปทางนั้น ฉะนั้น คน ๆ หนึ่งจึงมีหลายใจ บางทีก็ไปอยู่กับโจร กับบัณฑิตกับคนพาล กรรมจึงดึงชักคะเย่อกันไปมา บางทีขณะทีขณะที่กำลังทำความชั่วอยู่ก็ไม่วายคิดในทางดี บางทีกำลังทำความดีอยู่ก็ไม่วายที่จะคิดชั่ว แต่ความคิดมันมักจะมีกำลังน้อย ต้านทางความคิดชั่วไม่ใคร่ไหว ก็ต้องล้มไปทางชั่วเสียโดยมาก ฯ

“โลก” เป็นของกว้างขวาง และหมุนอยู่เสมอ ยากที่จะมองเห็นได้ง่าย ท่านจึงสอนให้เราหยุดหมุนตามโลก ให้มองแต่ตัวของเราอย่างเดียว แล้วเราก็จะมองเห็นโลกได้ ตัวของเรานี้ เป็นของเล็กน้อย เพียงยาววา หนาคืบ กว้างศอกทำมาเท่านั้น เสียก็แต่พุงมันใหญ่ กินเท่าไร ๆ ก็ไม่รู้จักอิ่มจักพอ หมายถึงความโลภแห่งดวงจิตของคนเราเหตุนั้นจึงทำให้เกิดความทุกข์ เพราะความไม่พอ ความอยาก ความหิวกระหายการที่จะมองดูตัวของเรา หรือมองให้เห็นโลกนั้น

ท่านสอนให้สำรวจตัวเราเองตั้งแต่ ศรีษะ ลงไปจนถึงปลายเท้า ตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นมาถึงศรีษะ เหมือนกับการปลูกต้นไม้ เราจะต้องสำรวจตั้งแต่พื้นดินขึ้นมาจนถึงยอดของต้นไม้ พื้นดินนั้น ก็ได้แก่ “อาชีวปริสุทธิศีล” ให้สำรวจดูว่าพื้นดิน นั้นมีตัวปลวก ดินหุนหรือสัตว์อะไรหรือเปล่า ที่มันจะเป็นศัตรูมาทำลายรากต้นไม้ของเราให้เสียไป

แล้วก็จะต้องคอยดูใส่ปุ๋ยให้พอดีพอควร ไม่มากเกินไป น้อยเกินไป ให้เลี้ยงปริมาณตัวให้ถูกต้อง เช่นศีล ๕ จะต้องรักษาให้บริสุทธ์ิอย่างไร ศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ จะต้องรักษาให้บริสุทธ์ิ อย่างไร ข้อใดผิดไม่ควรทำ ข้อใดถูกควรทำนี้เรียกว่า “สัมมาอาชีวะ”

ตัวเรานั้น ถ้าบำรุงความสุขมากเกินไป มักไม่ใคร่เกิดความดี เหมือนต้นไม้บางต้นที่งามมาก ๆกิ่งก้านใหญ่โตสาขา ใบเขียว ชอุ่ม แต่มักไม่ใคร่จะมีผล เหมือนคนที่กินมากนอนมากกังวลแต่ในเรื่องการกินการนอน ร่างกายมันก็จะอ้วนใหญ่ เหมือนต้นไม้ที่ลำต้นใหญ่ ใบใหญ่ กิ่งใหญ่ แต่ผลไม่งาม คือไม่ค่อยจะตก คนเราถ้าร่างกายสมบูรณ์ ด้วยอาหารมากนัก จะมานั่งฟังเทศน์หรือนั่งสมาธิ ก็มักจะโงกง่วงเพราะ
สมบูรณ์มากเกินไป นั่งนานก็อึดอัด ฟังเทศน์ก็ไม่รู้เรื่องเพราะง่วง เสียความดีของตนเอง คนบำรุงตัวมากเกินไปมักเกิดความเกียจคร้าน มักง่าย และติดสุข ทำสมาธิก็มึนชา เหน็ดเหนื่อย ง่วงงุน

ฉะนั้น ท่านจึงสอนให้รักษาอุโบสถ รับศีล ๘ เสียเป็น “มัชฌิมา ปฏิปทา” กินอาหารแต่เพียงครึ่งวัน ครึ่งท้องก็พอแล้ว เรียกว่า “โภชเนมัตตัญญุตา” ไม่ต้องก็บ กัก ตุน ไม่ต้องเผื่อมื้อเย็น กินแต่พออิ่ม พอควร “วิกาลโภชนา ฯ” ตอนบ่ายก็ไม่ต้องกิน เพราะใจมันจะบ่ายไปตามตะวันตามโลก นี้ก็เปรียบเหมือนกับเราใส่ปุ๋ยต้นไม้ แต่พอดี พอควร “นจฺจคีตวาฯ” ท่านไม่ให้บำรุงลูบไล้ ด้วยน้ำอบของหอมและตกแต่งประดับประดาร่างกายด้วยเพชรนิลจินดาให้สวยงาม นี้ก็เปรียบเหมือนให้รดน้ำแต่พอดี อย่าให้พื้นดินชุ่มโชก เกินไป รากต้นไม้มันจะเน่า คือถ้าเราติดอยู่ในเครื่องหอมและความสวยงามเหล่านี้แล้ว ก็จะเป็นเหตุให้เพลินหลงตัวจนเสียความดี

ข้อนี้เปรียบเหมือนเรานำของโสโครก มีข้าวสุกและเศษอาหาร เป็นต้น ไปโปรยไว้ที่พื้นดินตรงโคนต้นไม้ สุนัข ไก่ และมดคันไป มันจะมาเหยียบย่ำจิกดอกใบ และกัดรากต้นไม้ของเราให้แห้งเฉาหรือตายไปความยุ่งยากมันจะมาเบียดเบียนตัวเรา “อุจฺจาสยน มหาสยนาฯ” การนอนท่านก็ไม่ให้นอนบนเบาะฟูกอ่อนนุ่มที่สบาย เกินไป เพราะถ้าสบายมากแล้วก็จะนอนมากไม่อยากลุกขึ้นทำความสะอาดดี ผลในการทำสมาธิก็ได้น้อย ตัวเกียจคร้านก็จะกำเริบขึ้น เปรียบเหมือนกับตัวบุ้งตัวหนอน ที่มันแทรกแซงอยู่ในพื้นดิน มันก็จะคอยกระซิบกระซาบสอนเราต่าง ๆ นานา ในที่สุดก็สอนว่าให้หยุดเลิกเสียเถิด แล้วเราก็เลิกเลย

นี้ก็เหมือนกับตัวแมลงที่มันไต่ขึ้นมาจากพื้นดิน และเจาะกินซึ่งลำต้นไม้ ค่อย ๆ กินสูงขึ้น จนถึง“ยอด” นี้ ก็ได้แก่ ดวงจิต ในที่สุดต้นไม้ก็ยอดขาด เมื่อยอดขาดก็ไม่มีดอก เมื่อดอกไม่มี ผลก็ไม่เกิด นี้ฉันใดถ้าเราไม่รู้จักในการเลี้ยงสัตว์ตัว ก็ไม่เป็น “สัมมาอาชีวะ” ไม่รู้จักบำรุงปรุงแต่งร่างกายให้พอดีพองาม มันก็
จะต้องเสื่อมเสีย ไป ถ้าใครรู้จักบำรุงแต่งให้พอดีพองามแล้ว ร่างกายก็จะต้องเจริญด้วยความบริสุทธ์ิ แล้วดวงจิตก็จะต้องเจริญตามเป็นลำดับฯ

โลก นั้นมีสูงๆ ต่ำๆ ดีๆ ชั่วๆ ตัวเราก็เหมือนโลก ร่างกายนี้ถึง แม้จะบำรุงให้อิ่มหมีพีมันอย่างๆไรสวยงามอย่างไร สุขสบายอย่างไร มันก็จะต้องมีเสียหายบ้าง ดีบ้าง สำคัญแต่ดวงจิตของเรา ต้องคอยระวังอย่าให้มันเสีย คืออย่าให้มันแตกแยกออกไปตามอารมณ์ ต่างๆ คือ จิตที่คิดดี คิดชั่วในอารมณ์ทั้งหลาย ก็ย่อมจะทำให้ดวงจิตของบุคคลผู้นั้นก้าวขึ้นสู่ระดับสูงได้ ฉะนั้น เราจะต้องทำให้มันเป็นยอดเดียว คือเป็นสมาธิตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว อย่าให้อารมณ์มันมาบังคับจิตของเรา เราต้องตัดออกไปเสียจาก รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ และ โผฏฐัพพารมณ์ ให้เหลือแต่ ธรรมารมณ์ อันเดียว คือให้กุศลธรรม เกิดขึ้นในดวงจิต อย่าให้มีมโนทุจริตเกิดขึ้นได้ฯ“มโนทุจริต” ก็คือ

๑.โลภะ ได้แก่ความเพ่งเล็งปรารถนาในรูป เสียง กลิ่น รส ฯลฯ
๒. พยาปาทะได้แก่ ความเพ่งเล็งในเรื่องนั้น หรือบุคคลนั้นว่าไม่ดี แล้วก็เกิดความอามาต จะต้องโต้ตอบหรือทำร้ายเขาให้ได้
๓. วิหิงสา คือตัว “มิจฉาทิฐิ” เห็นว่าทำอะไร ๆไป ก็ไม่เกิดผลดีแต่ตน เช่น ทำทาน รักษาศีล ภาวนา ก็ไม่เห็นร่ำรวย หรือมีความสุขสบายอย่างไร ก็เลยหยุดทำความดี เราควรจะต้องขับไล่มโนทุจริต ๓ ตัวนี้ไปให้พ้นจากจิตใจ เมื่อใจพ้นจากทุจริตแล้ว ก็จะเดินเข้าสู่ “ มโนสุจริต ” เป็น “ กุศลจริต ” เกิด “ สัมมากัมมันตะ” การงานชอบ คือ “กรรมฐาน” ฯ

การทำ “กรรมฐาน” นี้ ต้องเป็นการทำงานจริงๆ จึงจะได้ผล คือต้องจริงทั้งกาย จริงทั้งวาจา และ
จริงทั้งใจ กายก็นั่งตัวตรงขัดสมาธิไม่เคลื่อนไหว วาจาก็สงบนิ่ง ไม่กล่าวสิ่งใด ๆ ใจก็ตั้งเที่ยง ไม่วอกแวกไปตามสัญญาอดีตอนาคต ถ้าเราทำได้จริงดังนี้ การงานของเราก็จะต้องสำเร็จและเห็นผล ถ้าเราทำจับจดการงานก็ย่อมไม่สำเร็จ ท่านจึงว่า “อนากุลา จ กมมนตา เอตมมงคลมุตตม” ฯ

การทำ กรรมฐาน นั้น จิตเป็นผู้สั่งงาน คือให้มี สติปัฏฐาน พิจารณาลมหายใจของตนให้ละเอียด
เพราะของยิ่งละเอียดเท่าไร ก็ยิ่งมีคุณภาพดีเท่านั้น ลมหายใจของเรานี้ก็มีอยู่ถึง ๕ ชั้น

จำพวกที่ ๑ ลมพัดจากศรีษะลงสู่ปลายเท้า
จำพวกที่ ๒ ลมพัดจากปลายเท้าขึ้นสู่เบื้องบนถึงศรีษะลม ๒ จำพวกนี้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปมา เหมือนกับสายพานที่สาวขึ้นสาวลง

จำพวกที่ ๓ ลมที่พัดทั่วร่างกาย เป็นลมสนับสนุนและถ่ายเท เปรียบเหมือนลมรับแขก ที่คอยซึมซาบอาบอยู่ในผิวหนัง คอยส่งลมนอกเข้าใน ขับลมในออกนอก คือเก็บลมดีบริสุทธ์ิที่เป็นประโยชน์เข้าไว้ในร่างกาย และถ่ายลมที่เสียเป็นโทษออกไปจากตัวทางขุมขนและผิวหนัง

จำพวกที่ ๔ ลมในท้องกั้นอยู่ระหว่างหัวใจ ตับ ปอด ส่วนหนึ่ง กับกระเพาะอาหารและลำไส้ส่วนหนึ่ง คือคอยรับอวัยวะส่วนบนไว้ให้เบา ไม่ให้ลงมาทับส่วนล่าง และคอยดันอวัยวะส่วนล่างไว้ไม่ให้ขึ้นไเบียดส่วนบน ลมจำพวกนี้เราต้องคอยสังเกตให้รู้ว่ามันจะหนักไปทางซ้าย หรือขวามากน้อยอย่างใด

จำพวกที่ ๕ ลมพัดในลำไส้ คือช่วยเตโชธาตุให้เกิดความร้อนความอบอุ่นขึ้น เหมือนกับเรานึ่งปลา หรือนึ่งอาหารมิให้เกิดความบูดเสีย เมื่ออาหารเป็นของสุกแล้วก็จะเป็นประโยชน์เหมือนกับไอน้ำที่ขึ้นไปจับฝาหม้อ ก็จะกลายเป็นโลหิตส่งไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ส่วนใดที่ควรไปเป็น ขน ผม เล็บ ฟัน หนังฯลฯ อย่างใด ก็ส่งไปยังส่วนนั้น ๆ

ลมจำพวกนี้คอยพัดโบกไปมาในลำไส้อยู่เสมอ เพื่อถ่ายเทความร้อน เมื่อเวลารับประทานอาหารเข้าไปนั้นก็เปรียบเหมือนกับนำอาหารใส่หม้อไปวางไว้บนเตาแล้วปิดฝา ถ้าไม่มีการถ่ายเทอากาศเข้าออกบ้างแล้ว สุมแต่ไฟอย่างเดียว ไม่ช้ากระเพาะก็จะต้องแตก ลำไส้ก็จะต้องพังเพราะปิดฝาไว้ แล้วไม่มีการถ่ายเทลมอากาศให้เข้าออกได้ ไฟก็จะร้อนจัดเกินไปจนทำให้อาหารแห้งหรือไหม้เกรียบเลยไม่เกิดประโยชน์ หรือมิฉะนั้น ถ้าไฟอ่อนเกินไปทำให้อาหารไม่สุกทั่วก็เกิดการบูดเน่าท้องเสียไม่เป็นประโยชน์แก่ร่างกายได้อีก ลมจำพวกนี้จึงช่วยทำให้ธาตุไฟอบอุ่นพอดีแก่ร่างกาย

ถ้าเราบริหารลมทั้ง ๕ จำพวกนี้ได้ถูกต้องแล้ว ก็จะต้องให้ผลเป็น ๒ อย่างคือ ๑.ทางกาย ผู้ที่มีโรคมากก็จะกลายเป็นโรคน้อย ผู้ที่มีโรคน้อยก็อาจจะหายเลย ส่วนโรคที่ยังไม่เกิดก็เกิดได้ยาก และ ๒.ทางใจ ก็จะเกิดความอิ่มหนำสำราญเบิกบาน สดชื่นฉะนั้น การทำกรรมฐานนี้ จึงทำให้เราหมดเวรหมดกรรมด้วย เพราะตัวอกุศลไม่มีโอกาสที่จะเข้ามาแทรกแซงในดวงจิตของเราได้อายุก็จะยืนนาน สังขารก็สมบูรณ์

ถ้าเราหมั่นเจริญกรรมฐานให้สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป ธาตุทั้งสี่ในตัวเราก็จะกลายเป็นธาตุสีขาวบริสุทธ์ิ เหมือนพระพุทธเจ้าของเรา นั้น พระองค์ก็ได้ทรงกลั่นกรองธาตุขันธ์ของพระองค์อย่างละเอียดที่สุด จนกลายเป็นของบริสุทธ์ิ สะอาดและศักด์ิสิทธ์ิ เช่น พระบรมสารีริกธาตุ ที่ปรากฏ ให้เราเห็นยู่ทุกวันนี้ แม้จะถูกเตโชธาตุเผาผลาญพระสรีระ หมดสิ้นแล้ว แต่พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ก็ยังมิได้สูญหายไปจากโลกแม้แต่ส่วนเดียวยังเป็นของอัศจรรย์ยิ่งอยู่จนทุกวันนี้

ถ้าเราเจริญกรรมฐาน ด้วย อานาปานสติ จนลมละเอียด ลมหยุดนิ่ง จิตสงบนิ่งแล้ว เราจะสามารถมองเห็นร่างกายและดวงจิตของเราได้ดี กายและจิตมันจะแยกออกจากกัน ต่างคนต่างอยู่เหมือนคนนอกก็ไม่เข้าใน คนในก็ไม่ออกนอก วิชาความรู้ก็จะเกิดขึ้นในตัวเราเองว่ากายนี้เป็นอย่างไร จิตเป็นอย่างไร กายของเรานี้มันมาอย่างไรหนอ เราก็รู้แล้วมันจะไปอย่างไรหนอ เราก็รู้ที่มาที่ไปของมันอยู่ที่ไหน เราก็จะรู้ได้ตลอด เราทำกรรมอันใดไว้ในอดีตชาติที่ผ่านมา จึงส่งผลให้มาเกิดในสภาพอย่างนี้ ๆ เราจะรู้ นี้เรียกว่า “ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ” อย่างหนึ่ง

๒. มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายจะไปเสวยสุขหรือทุกข์อย่างไร ที่ไหน เราก็อาจจะติดตามส่งกระแสจิตไป
คอยดูคอยช่วยเหลือเขาได้ เรียกว่า “จุตูปปาตญาณ” อย่างหนึ่ง

๓. จะมองเห็นกายและจิตของตนเองว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จนเกิดความเบื่อหน่ายก็จะเป็นเหตุให้ปล่อยกายได้ พ้นจากสังโยชน์ความติดข้อง สังโยชน์นี้ก็มีตัวอย่างเช่น ติดใน โลกธรรม อย่างหนึ่ง คือ เมื่อมีลาภ ยศ สุข สรรเสริญก็ชอบใจไม่ผิดอะไรกับ “มัจจุราช” เขามัดมือเราไว้แน่น พอเขาเอาแส้หวดเข้าทีเดียว คือ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ เป็นทุกข์ ถูกนินทาล้มกลิ้งเลย อีกอย่างหนึ่ง สักกายทิฏฐิ ติดในตัว เห็นเป็นเราเป็นเขา ก็ทำให้เกิดความยึดมั่นสำคัญผิดแล้วอีกอย่างหนึ่ง วิจิกิจฉา ก็เกิดความลังเลสงสัยวิ่งกันไปวิ่งกันมาไม่รู้ว่าจะไปข้างไหนดี ก็เลยหมุนไปหมุนมาอยู่ตามโลกนี่เอง เมื่อเรารู้ความเป็นไปของกายและจิตดีเราก็จะพ้นจากเครื่องข้องดังกล่าวมาแล้ว

จิตก็จะหลุดจากกาย ละเสียได้ซึ่งกิเลสอาสวะ เรียกว่า “อาสวักขยญาณ” ดวงจิตเข้าถึง วิปัสสนาญาณ ก็จะไหลเข้าสู่กระแสธรรมถึงพระนิพพาน อันเป็นที่สุด ฯเมื่อเราหยุดหมุนตามโลก เราก็จะมองเห็น “โลก” คือตัวของเราได้ชัดเจน คือจิตของเราหยุดเราจึงมองเห็นกาย ฉะนั้น

เราทั้งหลายจึงควรจะพากัน สกัดความหมุนแห่งกายให้น้อยลง คือ กลั่นกรองในธาตุทั้งสี่ ให้ละเอียดมาก ๆสกัดวาจาให้สงบ และ สกัดใจให้ตั้งเที่ยง โดยการเจริญสมาธิ วิตกวิจารอยู่ในลมหายใจของตน เมื่อจิตของเราหยุดหมุนไปตามสัญญาอารมณ์ต่าง ๆ กาย วาจา ก็จะหยุดตาม เมื่อต่างคนต่างหยุดก็จะมองเห็นกันได้ถนัดจิตก็จะรู้เรื่องของกายได้ตลอด เกิด วิปัสสนาญาณ เป็นการสกัดความหมุนเวียนแห่ง “สังสารจักร” ให้ช้าลง ชาติภาพก็จะน้อยเข้า ๆ จนในที่สุดเราก็จะไม่ต้องกลับมาอยู่ในโลกอีก ฯ

การเจริญกรรมฐานเป็นอาหารของใจอย่างหนึ่ง อาหารของร่างกายนั้นไม่ถาวร กินเช้า กลางวันหิวบ่ายกิน เย็นหิวอีก กินวันนี้อิ่ม พอรุ่งขึ้นก็หิวอีก กินไปถ่ายไปอย่างนี้ ไม่มีวันพอเพียงต้องหามาให้กินกันอยู่เรื่อย ส่วนอาหารของใจนั้น ถ้าทำให้ดี ๆ ชั่วเวลาเพียงนิดเดียวจะอิ่มไปจนตลอดชีวิต ฯ


Kiss

ขอบคุณที่มา

http://www.tairomdham.net/index.php?top ... n#msg26066


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 53 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร