ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

ธาตุปัจจเวกขณ์โดยเฉพาะ (ท่านพุทธทาสภิกขุ)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=34100
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  ศรีสมบัติ [ 25 ส.ค. 2010, 10:30 ]
หัวข้อกระทู้:  ธาตุปัจจเวกขณ์โดยเฉพาะ (ท่านพุทธทาสภิกขุ)

....ในวันนี้จะได้พิจารณากันถึง ธาตุปัจจเวกขณ์ หรือการพิจารณาโดยการเป็นธาตุโดยเฉพาะ
....ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า การพิจารณาโดยการเป็นธาตุ สามารถทำลายความสำคัญว่าตน หรืออัตตสัญญาเสียได้., และข้อนี้หมายถึงการพิจารณาเห็นสิ่งนั้นๆ ซึ่งเราเรียกกันว่า"ธาตุ" อย่างใดอย่างหนึ่งนั้น เป็นเพียงธรรมชาติ หรือเป็นไปตามกฏธรรมชาติ
....แม้ว่าธาตุหลายๆ ธาตุ จะได้จับกลุ่มรวมกัน เปลี่ยนรูปเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมา ก็ยังเป็นเพียงธาตุ และมีทางที่จะพิจารณาให้เห็นว่า เป็นธาตุอยู่นั่นเอง., แม้ว่าสิ่งนั้นๆ จะมีรูปอันละเอียดจนสัมผัสด้วยอวัยวะตามธรรมดาไม่ได้ หรือจะไม่มีรูปเลยก็ตาม.,ด้วยเหตนี้เองสิ่งที่เรียกว่าธาตุ ในภาษาธรรมของศาสนา โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาจึงมีความหมายกว้างขวางกว่าคำว่า"ธาตุ"ที่ใช้กันอยู่ในภาษาธรรมดา ของสามัญมนุษย์ทั่วไปในโลก อย่างที่จะเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย เพราะสิ่งที่เรียกว่า"ธาตุ" ในทางฝ่ายศาสนานั้น หมายเลยไปถึงนามธาตุ และนิพพานธาตุ อันเป็นธาตุที่มนุษย์ธรรมดาไม่สามารถจะเข้าใจได้เลย., [/color]และไม่ได้มีอยู่ในสารบบบัญชีรายชื่อของสิ่งที่เรียกว่า"ธาตุ" ที่มนุษย์ธรรมดาไม่รู้จักกัน แม้ในวงการศึกษาที่ถือกันว่าเจริญถึงที่สุด. จริงอยู่ที่ถ้าเราพิจารณาดูความหมายของคำๆนี้ ที่มีอยู่ในภาษาต่างๆ ก็พอจะพบในความสำคัญที่มุ่งหมายตรงกัน., แทบจะกล่าวได้ว่าทุกภาษา คือหมายถึงสิ่งซึ่งเป็นส่วนประกอบ ซึ่งย่อยหรือเล็กที่สุด และเป็นปัจจยสำคัญส่วนหนึ่งๆ ตามคุณสมบัติของมัน หรือตามหน้าที่ที่มันมีอยู่,แล้วประกอบรวมกันเข้า เป็นสิ่งใหม่ขึ้นมาอีกสิ่งหนึ่ง.,
....คำว่า"ธาตุ" ตามภาษาไทยธรรมดาก็ดี และคำที่มีมูลอันเดียวกันกับภาษาแองโกเช็กช่อน(ango-sexon)เช่น ภาษาอังกฤษ เป็นต้น ซึ่งใช้คำว่า element ก็ดี ล้วนแต่มีความหมายอย่างนี้เท่านั้น แม้รูปศัพท์จะต่างกันไปบ้าง ตามภาษาของตนๆ.(ต่อ)

เจ้าของ:  ศรีสมบัติ [ 26 ส.ค. 2010, 09:36 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ธาตุปัจจเวกขณ์โดยเฉพาะ(ท่านพุทธทาสภิกขุ)

....ข้อนี้ทำให้เราเห็นได้ว่า มนุษย์ในโลกรู้จักความหมายของคำๆ นี้ แต่เพียง ในลักษณะเช่นนี้.,แม้ในภาษาธรรมะชั้นตื้นๆ ในพุทธศาสนา ของเราหรือในศาสนาใกล้เคียงอื่นๆ ซึ่งนับได้ว่าเป็นเครือเดียวกัน ก็ได้ให้ความหมายแก่คำว่า "ธาตุ" ในลักษณะเช่นนี้ คือ หมายถึงส่วนประกอบส่วนย่อยที่ประกอบกันขึ้นเป็นส่วนใหญ่ เช่น ในประโยคว่า บุรุษ หรือ คนเรานี้ ประกอบขึ้นด้วย ธาตุ ๖ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ วิญญานธาตุ ดังนี้เป็นต้น., ซึ่งนับว่ามีผลในการที่จะไถ่ถอน"อัตตสัญญา"ได้มากอยู่เหมือนกัน. แต่ยังไม่เป็นการเพียงพอหรือถึงที่สุดได้., เพราะยังอาจจะไปหลงยึดเอาธาตุที่ปราณีตและเร้นลับ เช่น วิญญานธาตุ เป็นต้น ว่าเป็นอัตตาตัวตนเข้าก็ได้., ดังนั้นจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่เราจะต้องเข้าถึง ความหมายของคำว่า"ธาตุ" ให้ลึกซึ้งกว่านั้น กล่าวคือ ให้ถึงขนาดที่ไม่เหลือเนื้อที่อะไรๆไว้ ให้ยึดถือโดยความเป็นตัวตนได้เลยนั่นเอง., นั่นแหละคือความหมายของคำว่า"ธาตุ" ที่แท้จริง ที่ควรนำมาใช้ในวลีที่ว่า ธาตุมตฺตํ(สักแต่ว่าธาตุ) ซึ่งเป็นใจความสำคัญที่สุด แห่งการพิจารณาโดยการเป็นธาตุในพุทธศาสนาเรา. คือเราจะต้องพิจารณาจนเห็นว่า "ธาตุ" ประเภทที่เป็นสังขตธาตุ เช่น กามธาตุ รูปธาตุ หรือ อรูปธาตุก็ดี, และประเภทที่เป็นอสังขตธาตุ เช่น นิโรธธาตุ หรือ นิพพานธาตุ เป็นต้นก็ดี ,ทุกอย่างแต่ละอย่างไม่ยกเว้นอย่างไหนหมด ล้วนแต่สักกว่าเป็นธาตุ(ธาตุมตฺตํ) ซึ่งเป็นเพียงธรรมชาติ,หรือสิ่งที่เป็นไปตามกฏเกณฑ์ของธรรมชาติเท่านั้น, ไม่มีสิ่งใดหรือส่วนใดที่เป็นตัวตนอันแท้จริง,หรือแม้แต่ควรจะถือว่า เป็นตัวตนที่แท้จริงไปได้เลย(ต่อ)

เจ้าของ:  ศรีสมบัติ [ 26 ส.ค. 2010, 10:01 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ธาตุปัจจเวกขณ์โดยเฉพาะ(ท่านพุทธทาสภิกขุ)

:b42: :b42: :b42: สรุปความว่า การพิจารณาโดยการเป็นธาตุ ในกรณีแห่งการทำให้แจ้งซึ่ง"สุญญตา" นั้น จะต้องดำเนินมาจนถึงขั้นที่เห็นชัดว่า ธาตุทุกธาตุว่างจากความมีตัวตน มิใช่เพียงแต่ให้เห็นว่า ปรากฏการณ์หรือ อารมณ์ต่างๆ แต่ละอย่างๆ ประกอบอยู่ด้วยธาตุหลายธาตุดังนี้ก็หาไม่
....บทปัจจเวกขณ์โดยความเป็นธาตุที่ดีที่สุด ก็ได้แก่ประโยค เช่น ประโยคว่า "ยถาปจฺจยํ ปวตฺตมานํ ธาตุมตฺตเมเวตํ,ยทิทํ จีวรํ ตทุปภุญชโกจ ปุคฺคโล, ธาตุมตฺตโก นิสฺสตฺโต นิชฺชีโว สุญโญ" เป็นต้นนั่นเอง แม้ว่าจะมีบทปัจจเวกขณ์บางบทมีรูปอย่างอื่น มีพยัญชนะอย่างอื่น ความหมายอันแท้จริงก็ยังคงเป็นอย่างเดียวกัน กับความหมายแห่งประโยคตัวอย่างนี้., ซึ่งมีใจความสำคัญอยู่ที่ ชี้ให้เห็นความว่างจากตัวตน หรือไม่มีอะไรเป็นตัวตนนั่นเอง., มีใจความสำคัญที่จะต้องขยายความออกไปได้ในตัวมันเองโดยที่ไม่ต้องระบุถึงเลย ต่อไปอีกว่า เมื่อตัวบุคคลผู้จะเป็นตัวเป็นตนไม่มีแล้ว สิ่งต่างๆ ที่จะเป็นของๆตนจะมีได้อย่างไร, แม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะได้มีจริง เช่น นิพพาน เป็นต้น, ด้วยเหหตุดังกล่าวนี้เอง หลักการใหญ่ๆที่วางไว้สำหรับการปฏิบัติ จึงมุ่งแต่จะให้พิจารณาไปในทำนองที่จะทำลายความยึดถือ ว่าตัวตน หรือตัวเรานี้เป็นส่วนใหญ่ โดยไม่สู้จะคำนึงถึง การทำลายความยึดถือว่าของตน.
....แต่ในบางกรณีก็ชี้ไว้ทั้ง ๒ อย่าง ซึ่งเป็นไปในหลักที่ว่า หาทางทำลายความยึดถือเสียทั้งจากภายนอกและจากภายใน คือธาตุส่วนที่จะถูกยึดว่าเป็นของๆตน ซึ่งจัดไว้เป็นส่วนภายนอกก็ดี และธาตุที่จะถูกยึดถือว่าเป็นตัวตน ซึ่งจัดไว้เป็นธาตุภายในก็ดี จะถูกปฏิเสธพร้อมกันไปทั้ง ๒ ธาตุ. แต่เนื่องจากกรณีอย่างนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่ยากกว่ากรณีที่เพียงแต่ทำลายความยึดถือว่าตัวตนหรือตัวเรา อย่างเดียวเสีย จึงมีการสอนอย่างวิธีหลังนี้มากกว่า,และเป็นหลักพื้นฐานในเบื้องต้นก่อนกว่า.,และเพื่อประโยชน์แก่บุคคลผู้แรกเริ่มเข้ามาสู่ธรรมวินัยนี้ เพื่อทำความดับทุกข์ ตามแบบวิถีแห่งธรรมวินัยนี้นั่นเอง. ดังนั้นเราจะได้วินิจฉัยกันต่อไป ถึงบทปัจจเวกขณ์ ที่พิจารณาโดยความเป็นธาตุ อันจะทำลายความยึดถือว่า"ตัวเรา"อย่างเดียวกัน.(ต่อ)

เจ้าของ:  ศรีสมบัติ [ 26 ส.ค. 2010, 10:25 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ธาตุปัจจเวกขณ์โดยเฉพาะ(ท่านพุทธทาสภิกขุ)

:b43: :b43: :b43: บทธาตุปัจจเวกขณ์ดังที่ได้ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ มีใจความว่า"สิ่งเหล่านี้นี่เป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติเท่านั้น, กำลังเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิจ,สิ่งเหล่านี้คือ จีวร, และคนผู้ใช้สอยจีวรนั้น ซึ่งเป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติ มิได้เป็นสัตวะอันยั่งยืน มิได้เป็นชีวะอันเป็นบุรุษบุคคล ว่างเปล่าจากความหมายแห่งความเป็นตัวตน" ดังนี้. แม้ว่าในบทนี้จะได้ระบุถึงแต่จีวร ก็ให้พึงเข้าใจว่า โดยหลักใหญ่ท่านเล็งถึงทุกสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับบุคคล ในฐานะที่เป็นปัจจัยสำคัญ แห่งความมีชีวิตอยู่. ให้ผนวกสิ่งนั้นๆ เท่ากับบุคคลผู้บริโภคใช้สอยสิ่งเหล่านั้น., แล้วพิจารณาโดยความเป็นธาตุ ว่ามันเป็นแต่เพียงธาตุ ไม่อาจเป็นสัตว์เป็นบุคคลไปได้ พร้อมกันไปในตัวในคราวเดียวกัน., มีข้อความที่อยากจะชี้ให้เห็นเป็นพิเศษในที่นี้เสียเลย. คือข้อความตอนต่อไปที่ว่า จีวรเป็นต้นเหล่านี้ ตามปรกติเป็นของไม่น่าเกลียด แต่พอมาถูกเข้ากับกายนี้ ก็กลายเป็นของน่าเกลียดอย่างยิ่งไปด้วยกัน ดังนี้นั้น., ตามธรรมดาเราถือกันว่า เป็นการปัจจเวกขณ์โดยถือความเป็นของปฏิกูล., ก็เป็นการถูกต้องแล้ว. แต่ถ้าจะถือเอาประโยชน์ให้มากไปกว่านั้น ในฐานะที่เป็นผลพลอยได้สืบต่อไปอีก ก็ควรจะได้รับการพิจารณา ไปตามหลักของการพิจารณาความหมายแห่งความเป็นอนัตตา ตามบาลีพระพุทธภาษิตทั่วๆไป ซึ่งมีอยู่ว่า"เมื่อสิ่งนั้นไม่มีอำนาจในตัวมันเอง ต้องเป็นไปตามอำนาจของสิ่งอื่นและไม่มีผู้ใดสามารถบังคับสิ่งนั้น ให้เป็นไปตามอำนาจของตนได้แล้ว สิ่งนั้นก็ต้องเป็นอนัตตา" ดังนี้(ต่อ)

เจ้าของ:  ศรีสมบัติ [ 26 ส.ค. 2010, 12:37 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ธาตุปัจจเวกขณ์โดยเฉพาะ(ท่านพุทธทาสภิกขุ)

:b42: โดยเหตุผลที่ว่า จีวรเป็นต้นนี้ ไม่อาจจะคงอยู่ในสภาพที่สะอาดไปตามเดิมได้ก็ดี และความที่เจ้าของไม่สามารถบังคับจีวร เป็นต้นนั้น ให้อยู่คงสภาพที่สะอาดตามความประสงค์ของตนก็ดี., นี้ย่อมส่อลักษณะแห่งความเป็นอนัตตา ของจีวรเป็นต้นเหล่านั้น. การพิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตา ย่อมมีค่าสูงกว่าการพิจารณาเห็น โดยความเป็นของปฏิกูลอย่างที่จะเปรียบกันไม่ได้., จึงถือว่าเป็นผลกำไรพลอยได้เท่านั้น., ทั้งนี้เพราะว่า การพิจารณาตามนัยยะแห่งบทปัจจเวกขณ์ ภาคต้นนั้นเป็นการเข้าไปเกี่ยวข้องกับความหมายของการเป็นอนัตตาอย่างเต็มตัวอยู่แล้ว.,ซึ่งเราจะได้พิจารณากันโดยละเอียด แต่ละบทๆ เป็นลำดับไป.
:b42: บทความที่ถูกยกขึ้นพิจารณา คือบทว่า ยถาปจฺจยํปวตฺตมานํ ๑, ธาตุมตฺต ๑, นิสฺสตฺโต นิชฺชีว ๑, สุญญ ๑, รวมกันเป็น ๕ บทดังนี้ และพึงถือว่า บทว่า "ธาตุมตฺต" นัน ตั้งอยู่ในฐานะที่เป็นตัวประเด็นของเรื่อง.
:b43: บทว่า "ยถาปจฺจยํปวตฺตมานํ" ซึ่งแปลว่า "กำลังเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิจ" นั้น จะถือว่าเป็นบทที่แสดงความจริงอยู่ในตัวมันเองก็ได้,หรือจะถือว่าเป็นบทขยายความของบทอื่นก็ได้, ข้อนี้แล้วแต่เราจะเพ่งเล็ง แต่ถ้าว่าตามความมุ่งหมายของผู้กล่าวแล้ว ดูจะมุ่งให้เป็นบทขยายความของบทว่า"ธาตุมตฺต"อยู่ส่วนหนึ่งด้วย., แต่ต้องไม่ลืมว่าทุกๆบท มุ่งให้รวมกันแสดงความจริงของบุคคล และสิ่งของที่บุคคลนั้นเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยกันทั้งคู่.
:b48: ที่ว่า "เป็นไปตามปัจจัย" นั้น หมายความว่า ไม่มีอำนาจอยู่ในตัวเอง., แต่ต้องเป็นไปตามอำนาจผลักดัน ของสิ่งแวดล้อมทุกสิ่ง ที่เข้ามาแวดล้อมตน ในฐานะเป็นต้นเหตุสร้างสรรค์สิ่งนั้นขึ้นก็ดี หรือปรุงแต่งสิ่งนั้นสืบไปก็ดี
(ต่อ..)

เจ้าของ:  ศรีสมบัติ [ 26 ส.ค. 2010, 12:56 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ธาตุปัจจเวกขณ์โดยเฉพาะ(ท่านพุทธทาสภิกขุ)

:b42: ที่ว่า "กำลังเป็นไปเช่นนั้นอยู่เนืองนิจ" นั้น เป็นใจความสำคัญอีกอันหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญเท่ากันในการที่จะต้องพิจารณาให้เห็น คือมันจะต้องเป็นเช่นนั้นไม่มีหยุด มิใช่แต่เพียงทุกวันทุกเวลาหรือทุกนาที เป็นต้น., แต่หมายถึงทุกๆ ขณะจิตทีเดียว. ฉะนั้นจึงมีกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ไหลเชี่ยวยิ่งกว่ากระแสน้ำไหล อย่างที่จะเปรียบกันไม่ได้ ท่านจึงนิยมเปรียบด้วยกระแสฟ้าแลบ เป็นต้น.
:b43: เมื่อรวมกันเข้าทั้ง ๒ ความหมาย ก็ได้ใจความสำคัญว่า มันไม่มีอะไรที่เป็นตัวของมันเอง มีแต่กระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงด้วยอำนาจผลักดันของสิ่งแวดล้อม อย่างน่าหวาดเสียวอยู่ทุกขณะไม่มีหยุด. ลักษณะเช่นนี้มีได้แต่แก่ธาตุที่เป็นประเภท สังขตธาตุ., ซึ่งในที่นี้ได้แก่ปัจจัย มีจีวรเป็นต้น และบุคคลผู้เข้าไปใช้สอยสิ่งเหล่านั้น ฉะนั้นพึงถือว่า ลักษณะเช่นนี้เป็นคำอธิบายลักษณะของธาตุ ประเภทสังขตธรรม โดยส่วนเดียว เพื่อปฏิเสธความเป็นตัวตน หรือความเป็นสัตว์เป็นบุคคลก็ตาม ของสิ่งนั้นโดยสิ้นเชิง. ผู้ปฏิบัติจะต้องเพ่งพิจารณา ให้เห็นกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ ที่จีวร และที่ตัวของตัวเอง จนมองไม่เห็นเป็นจีวร หรือเป็นตัวของตัวเอง., คงเห็นแต่กระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง อันมีลักษณะน่าหวาดเสียว ดังที่กล่าวนั้นอยู่ทุกขณะ จนกระทั่งมีผลเกิดขึ้นเป็นความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด เป็นต้น ซึ่งเป็นผลที่มุ่งหมายแห่งการปัจจเวกขณ์นี้โดยสมบูรณ์.
:b42: ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ทำให้เราเห็นได้ว่า การท่อง อย่างท่องคาถาศักดิ์สิทธิ์หรือบริกรรม อย่างบทบริกรรมอันศักดิ์สิทธิ์นั้น หาจัดเป็นกิริยาอาการแห่งการปัจจเวกขณ์ไม่., ถึงแม้การคิดที่ทำตัวเองให้คิด ตามแบบของพิธีรีตอง หรือบริกรรมต่างๆ ก็หาใช่เป็นการปัจจเวกขณ์ไม่, แม้กระทั่งการใช้เหตุผลตามทางของตรรก เพื่อการคิดเรื่องนี้ ก็ยังไม่จัดเป็นการปัจจเวกขณ์อยู่นั่นเอง., เพราะเป็นการฝากไว้กับเหตุผลอย่างเดียวมากเกินไป ไม่อิงอาศัยอยู่กับความรู้สึกที่รู้สึกจริงๆ ซึ่งเป็นวิธีเดียวเท่านั้น ที่จะมีอิทธิพลสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของจิต มีความยึดถือเป็นต้น นั้นได้จริง.
(ต่อ....)

เจ้าของ:  ศรีสมบัติ [ 26 ส.ค. 2010, 13:33 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ธาตุปัจจเวกขณ์โดยเฉพาะ(ท่านพุทธทาสภิกขุ)

:b42: เพราะฉะนั้นการปัจจเวกขณ์ที่แท้จริง จะต้องทำด้วยจิตใจจริงๆ และอาศัยความรู้สึกที่ได้ผ่านมาแล้วจริงๆ ในเรื่องทางจิตทางใจของตนเอง เป็นเครื่องมืออันสำคัญใรการพิจารณานั้นๆ และไม่สามารถจะทำได้ในขณะที่มีการคลุกคลีกันเป็นหมู่ ดังนีเป็นต้น. หลักเกณฑ์และระเบียบวิธี ดังที่กล่าวมา พึงเข้าใจว่าใช้ได้กับการพิจารณาบทปัจจเวกขณ์บทอื่นเป็นลำดับไปทุกบท ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงอีก.
:b43: บทว่า ""ธาตุมตฺต"หรือ "ธาตุมตฺตก"ก็ตาม ซึ่งมีความหมายว่า"เป็นสักว่าธาตุเท่านั้น" นั้น เราถือกันว่าเป็นตัวประเด็นของการปัจจเวกขณ์ในที่นี้. ใจความสำคัญที่จะต้องสนใจ ก็คือความหมายของคำว่า"มัตฺต"ซึ่งในที่นี้เราแปลกันว่า"เป็นสักแต่ว่า"ธาตุ" ตามเดิมอีกคำหนึ่ง. เราไม่อาจแปลทับศัพท์ คำว่า"มตฺต" ว่า "มาตรา",ว่า ประมาณ,หรือว่า โดยมาตราว่า, ดังนี้เป็นต้นได้ เพราะทำให้ความหมายเขว
เราจึงต้องแปลเอาใจความโดยเจาะจงว่า "เป็นสักแต่ว่า" ซึ่งความหมายอย่างรัดกุมที่สุดว่า "มันเป็นได้แต่เพียงสิ่งที่ว่านี้เท่านั้น"., เป็นอะไรให้มากหรือนอกเหนือไปกว่านั้นไม่ได้ และมีความหมายที่เป็นการประมาณอยู่ในตัวว่า มันมีค่าเพียงเท่านั้น มันจะเป็นอะไรสูงไปกว่านั้นไม่ได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการปิดกั้นเสียโดยเด็ดขาด ไม่ให้มีความรู้สึก คิดนึกไปทางที่ว่า มันเป็นอะไรอื่นที่สูงหรือที่ลึกซึ้งไปกว่านั้น. ทั้งหมดนี้เป็นความหมายของคำว่า "มตฺต"

:b48: ทีนี้มาถึงความหมายของคำว่า "ธาตุ" ความหมายของคำว่า"ธาตุ" ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นโดยหลักคร่าวๆ ว่า มิได้หมายความแต่เพียงส่วนย่อยส่วนใหญ่., แต่ได้หมายถึงความหมายอันหนึ่ง ซึ่งหมายถึงความเป็นสิ่งที่เป็นอยู่เอง หรือเป็นไปได้เองตามธรรมชาติในตัวมันเอง อันเป็นความหมายที่เราจะต้องทำความเข้าใจกัน อย่างแจ่มแจ้งให้ถึงที่สุดในตอนนี้.จบการบรรยายครั้งที่ ๘
ที่มา...หนังสือ สุญญตา
คำบรรยายในพรรษา ประจำปี ๒๕๐๓
สวนโมกขพลาราม
พระธรรมโกศาจารย์
(พุทธทาส อินฺทปญฺโญ)

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/