ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

หลวงปู่ผั่น ไม่ยอมแพ้กิเลสตัณหา มุ่งรักษาพระธรรมวินัย
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=33716
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 09 ส.ค. 2010, 13:48 ]
หัวข้อกระทู้:  หลวงปู่ผั่น ไม่ยอมแพ้กิเลสตัณหา มุ่งรักษาพระธรรมวินัย

รูปภาพ

หลวงปู่ผั่น ปาเรสโก
ไม่ยอมแพ้กิเลสตัณหา มุ่งรักษาพระธรรมวินัย

“หลวงปู่ผั่น ปาเรสโก” เป็นศิษย์ของพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต
ท่านได้ทำหน้าที่เก็บอัฐิธาตุของพระอาจารย์ใหญ่มั่น จึงได้รับส่วนแบ่งมามาก
ต่อมาท่านได้สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ปางมารวิชัย นามว่า “พระพิชิตมาร”
ขนาดหน้าตักกว้าง ๔ เมตร ความสูงวัดจากฐาน ๗ เมตร

บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับจาก ท่านพ่อลี ธมฺมธโร ไว้ที่พระเศียร
และบรรจุพระธาตุของพระอาจารย์ใหญ่มั่นจำนวนหลายร้อยองค์ไว้ที่พระนาภี (สะดือ)


หลวงปู่ผั่นมักธุดงค์และอยู่ตามป่าเขา ถ้ำต่างๆ แม้กระทั่งป่าช้า
แม้สถานที่ต่างๆ นั้นจะน่ากลัวและยากลำบากในการบิณฑบาต
ดังเหตุการณ์ในช่วงพรรษาที่ ๕ ของการบวชครั้งที่ ๒
(ซึ่งในการอุปสมบทคราวนี้ ท่านครองสมณเพศตราบจนมรณภาพ)
ในปีนั้นท่านเลือกพักอยู่ในป่าไผ่ กลางป่าช้าบ้านพะเนา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
โดยมีโยมบิดาที่เป็นผ้าขาว รักษาศีล ๘ ติดตามมาภาวนาอยู่ด้วย

หลวงปู่เล่าถึงเหตุผลที่เลือกพำนักในป่าช้าไว้ดังนี้

“ในฤดูแล้งปีนี้ การพักภาวนาในป่าช้ามีวัตถุประสงค์ ๒ ประการ คือ
๑. เจริญธุดงค์ข้อสุสานิกังคะ เพื่อพิจารณากายคตาสติให้แน่ชัดเท่าที่สามารถจะกระทำได้
๒. เป็นที่ลี้ลับซ่อนเร้น ในป่าไผ่กลางป่าช้าเป็นสถานที่ผู้คนกลัวผี ไม่กล้าเข้ามาพลุกพล่าน
หวังความสงบวิเวก ไม่ต้องการให้หมู่มนุษย์เข้ามารบกวน จะได้มีเวลาภาวนามากๆ
ในเรื่องมรณัสสติ มีหลุมฝังผี เผาผีคนตายเป็นสักขีพยาน เป็นเครื่องอุปกรณ์ในการพิจารณาได้อย่างดี”


หลังจากพักอยู่ในป่าช้าได้ ๑ คืน พอรุ่งเช้าก็ออกบิณฑบาตเข้าไปในหมู่บ้านพะเนา
ส่วนโยมบิดาก็เฝ้าสิ่งของและบริขารอยู่ ณ ที่พัก
ท่านบิณฑบาตตามบ้านได้ประมาณ ๒๐-๓๐ หลังคาเรือน
เหลืออีกเพียง ๒-๓ หลัง ก็จะพ้นจากเขตหมู่บ้านไป
ปรากฏว่าโยมทุกคนตักบาตรแต่ข้าวสุก ได้ประมาณครึ่งบาตร แต่ไม่มีกับข้าวเลย

“ขณะเดินบิณฑบาตอยู่กิเลสเข้าสิงใจ ข้าพเจ้าเกิดอาละวาดขึ้นมา
บังคับให้ข้าพเจ้าออกปากขออาหารกับข้าวจากโยมผู้ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา
โดยข้าพเจ้าไม่รู้สึกตัวว่าผิดต่อพระธรรมวินัย
ที่พระพุทธองค์บัญญัติห้ามไว้ในหนังสือปาติโมกข์ หมวดปาจิตตียวรรค”


ในขณะที่โยมตักบาตรอยู่ ท่านจึงบอกไปว่า

“โยม เช้าวันนี้มีผู้ใส่บาตรให้แต่ข้าวสุก อาหารกับข้าวไม่มี
ถ้าได้อาหาร เกลือ พริก ผัก น้ำปลา ปลาร้า ปลาจ่อม ปลาเค็ม
อย่างนี้อย่างใดอย่างหนึ่งไป ฉันกับข้าวสุกพอกลืนลงคอง่ายๆ ก็จะเป็นการดี”


โยมจึงนิมนต์ให้รอประมาณ ๑๐-๑๕ นาที แล้วกลับมาใส่บาตรด้วยห่ออาหารขนาดใหญ่เท่าผลส้มโอ
เมื่อท่านบิณฑบาตเสร็จแล้วท่านก็เดินกลับไปยังที่พัก ด้วยความปีติยินดีว่าได้กับข้าวแล้ว
ต่อเมื่อได้เดินพ้นรั้วหมู่บ้านไปแล้ว ท่านจึงรู้ตัวว่าได้ทำผิดไป

“ข้าพเจ้าเผลอ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ที่ว่าเห็นโยมไม่ฉลาดในการตักบาตร
ที่แท้จริงตัวเราเองไม่ฉลาด โง่บัดซบ กระทำผิดต่อพระวินัยที่ห้ามไว้
เชื่อกิเลสตัณหาฝ่ายพญามารเข้าสิงใจแต่ด้านเดียว คือเห็นผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว
เห็นความชั่วเป็นของดี ได้อาหารขอมาในทางมิจฉาชีพ ไม่เป็นสัมมาชีพโดยแท้”


ท่านเล่าความรู้สึกในตอนนั้นไว้ดังนี้

“ข้าพเจ้าสะดุ้งกระเทือนรู้ตัวภายหลัง ขณะเดินพ้นรั้วประตูเขตหมู่บ้านไปแล้ว
แต่ยังไม่ถึงที่พักกลางป่าช้า ข้าพเจ้ารู้สึกตัว เสียใจเป็นอันมาก
ว่าได้หลงเล่ห์กลของกิเลสตัณหาพญามารเสียแล้ว”


เมื่อรู้สึกตัวดังนั้นแล้ว ท่านจึงปฏิบัติตนอย่างสงฆ์ผู้เคารพในพระธรรมวินัย

“เมื่อข้าพเจ้ารู้สึกตัวว่าได้กระทำผิดไปแล้วดังนี้ ข้าพเจ้าก็ตัดสินใจได้เร็วพลัน
เปิดฝาบาตรออกเอามือขวาล้วงลงไปในบาตร จับเอาห่ออาหารนั้นขึ้นมาขว้างทิ้งเข้าป่าไป
โดยไม่มองหน้าไปดูว่าไปตกที่ใด ห่างไกลกี่มากน้อย ไม่ยอมให้ฉันเป็นเด็ดขาด
เพราะอาหารได้มาโดยไม่ชอบทางพระวินัยเป็นมิจฉาชีพ ไม่ใช่สัมมาชีพดังกล่าวมาแล้ว
เหลือแต่ข้าวสุกแต่อย่างเดียวที่ได้มาโดยชอบ จำต้องฉันแต่ข้าวเปล่าๆ ไปตามมีตามได้
จึงจะจัดว่าเป็นสมณสารูป สงฆ์ผู้ไม่ลุอำนาจชั่วแก่กิเลสตัณหา


เมื่อกลับมาถึงที่พักท่านแจ้งแก่โยมบิดาว่าวันนี้บิณฑบาตได้เพียงข้าวเปล่า
โยมบิดามีน้ำตาลที่กลั่นจากต้นตาล ขนาดเท่าผลสมออยู่ ๔ ก้อน จึงแบ่งกันคนละ ๒ ก้อน
ท่านฉันน้ำตาลกับข้าวสุกไปเรื่อยๆ จนน้ำตาลหมดไป ๑ ก้อนครึ่ง
ก็มีเสียงโยมเรียกจากริมป่าช้า ขอให้ท่านช่วยบอกทางเข้าไปพบ
ปรากฏว่าเป็นโยมผู้หญิง ๒ คน โยมผู้ชาย ๑ คน ได้นำอาหารและเครื่องไทยทานมาถวายหลายอย่าง

“เมื่อเช้านี้พระคุณเจ้าออกบิณฑบาตตามถนนในบ้าน แลเห็นพระคุณเจ้าอยู่
ตักบาตรไม่ทัน คิดว่าจะนิมนต์ขึ้นฉันในบ้านก็ไม่ทันอีก
บ้านดิฉันทำบุญเลี้ยงพระ จึงได้แบ่งอาหารเครื่องไทยทานมาถวายทางป่านี้อีก”


ท่านจึงได้ฉันอาหารที่พวกเขานำมาถวาย แล้วจึงให้ศีลให้พรแก่โยมทั้งสามนั้น
หลวงปู่ได้กล่าวถึงเรื่องราวในครั้งนี้ว่า
“นี่แหละหนอที่ท่านว่าผู้มีศีลมีความสุข ผู้มีศีลมีโภคทรัพย์สมบัติ ผู้มีศีลไปนิพพานได้”


หลวงปู่ผั่น ปาเรสโก จึงเป็นแบบอย่างที่ดีของสงฆ์ผู้เคารพต่อพระวินัย
ยอมอดทนลำบากแต่ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจกิเลสตัณหา
พากเพียรปฏิบัติภาวนาเพื่อความหลุดพ้นจากวัฏสังสาร
เป็นพระสุปฏิปัณโณผู้ควรแก่การกราบไหว้บูชาโดยแท้จริง


รูปภาพ
“พระพิชิตมาร” ประดิษฐาน ณ วัดป่าหนองไคร้
ภาพจากหนังสือ “พระธุตังคเจดีย์ เจดีย์แห่งพระอรหันต์”


หมายเหตุ
เนื่องในวาระครบรอบวันคล้ายวันเกิดปีที่ ๑๐๒ ของหลวงปู่ผั่น ปาเรสโก
ในวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ทีมงานนิตยสารธรรมะใกล้ตัว ฉบับไลท์
ขอน้อมกราบระลึกถึงหลวงปู่ด้วยจิตเคารพบูชา (-/-)


--------------------------------------------------------

เอกสารประกอบการเขียน
“ประวัติพระอาจารย์ผั่น ปาเรสโก อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าหนองไคร้ วัดประชาชุมพล จังหวัดยโสธร
วัดถ้ำเอราวัณ จังหวัดเลย” เรียบเรียงโดย พระมหาประกอบ ธมฺมชีโว สิงหเลิศ พิมพ์เมื่อปี ๒๕๒๕.

“พระธุตังคเจดีย์ เจดีย์แห่งพระอรหันต์” ธรรมบรรณาการเนื่องในงานฉลองพระธุตังคเจดีย์
เจดีย์แห่งพระอรหันต์ และในงานบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายครบรอบวันมรณภาพปีที่ ๔๗
พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร) ๒๒-๓๐ เมษายน ๒๕๕๑.

เขียนโดย เทียบธุลี http://www.dlitemag.com/

:b44: ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่ผั่น ปาเรสโก”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=27571

:b44: ประมวลภาพ “หลวงปู่ผั่น ปาเรสโก”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=42939

เจ้าของ:  ธรรมบุตร [ 09 ส.ค. 2010, 17:37 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: หลวงปู่ผั่น ไม่ยอมแพ้กิเลสตัณหา มุ่งรักษาพระธรรมวินัย

รูปภาพ

:b8: อนุโมทนา..สาธุ..ด้วยนะครับ..ท่านสาวิกาน้อย :b8:

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/