วันเวลาปัจจุบัน 27 เม.ย. 2024, 05:21  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ค. 2010, 09:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

แค่อยากแบ่งปัน



ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ล้วนมีที่มา ล้วนมีการจัดเตรียมไว้แล้วเสมอ
ในโลกนี้ ไม่มีคำว่า “บังเอิญ”



ตอนที่ฉันจบมัธยม กำลังตัดสินใจเรื่องการเรียนต่อ ทั้งที่ไม่เคยมีความคิดอยากเป็นพยาบาลสักนิด ฉันไม่กลัวเลือด แต่ก็ไม่ชอบ ไม่เคยนึกอยากจะรักษาใคร ฉันชอบอ่านหนังสือ ชอบเขียน/พูด (นิยาย) หน้าชั้น ชอบคิดเลข ชอบคิด/ประดิษฐ์อะไรแปลกๆ ชอบอะไรที่มีเหตุผล ที่มีอิสระในการทำ แต่เพราะช่วงนั้นแม่ฉันป่วยเป็นเนื้องอกแถวบริเวณทรวงอก ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไรกันแน่ แม่แค่สงสัยว่าคงเป็นมะเร็ง การรักษาสมัยนั้นมีแต่การผ่าตัด ผ่าตัดเท่านั้น แม่มารักษาที่รพ.รามาธิบดี ต้องตื่นมารอรถเมล์ตั้งแต่ก่อนตี ๔ เพื่อให้มาถึงกรุงเทพฯก่อน ๖ โมง ขนาดว่ามาเช้าขนาดนั้นก็ยังพบกับแถวที่ยืนรอคิวยาวเหยียด นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ฉันเลือกเรียนพยาบาล อุตส่าห์พยายามที่จะให้ได้เรียนที่รามาธิบดี แต่เพราะว่าฉันเลือกศิริราชก่อน (ก็คะแนนมันสูงกว่า) แล้วคะแนนฉันอยู่ในเกณฑ์ ก็เลยติดก่อน แล้วฉันก็ได้คำตอบแม่ฉันเป็นมะเร็งจริงๆ

ระหว่างที่แม่รักษามะเร็ง ทั้งการผ่าตัดและทางเลือก ต้องต้มยาสมุนไพรกินเองที่บ้าน เป็นสมุนไพรที่ผู้อำนวยการรพ.สิงห์บุรี (ในขณะนั้น) สนใจศึกษา และนำมาปรับใช้คู่กับแพทย์แผนปัจจุบัน ภาพของกลิ่นยาที่คละคลุ้งตลอดเวลาที่ต้องเคี่ยวยาให้ได้ตามกำหนดเวลา ภาพของแม่ที่หงุดหงิดเพราะจากคนที่ทำอะไรเร็ว ต้องทำให้ได้เดี๋ยวนั้น แต่เพราะว่าต้องผ่าตัดติดต่อกัน ๕ ครั้ง ต้องกินยาหม้อ เลยต้องพึ่งพาคนอื่นแทนที่จะทำเอง แล้วมันไม่ได้อย่างใจ ณ เวลานั้น ฉันได้แต่พยายามเข้าใจและยอมรับกับความหงุดหงิดของแม่ ภาพเหล่านั้นยังชัดเจนในใจฉันเสมอ

เมื่อฉันจบพยาบาล อุตส่าห์ยกมือเลือกที่จะทำงานในหอผู้ป่วยคลอด หรือถ้าไม่ได้ ได้หอผู้ป่วยหลังคลอดก็ยังดี หัวหน้าหอผู้ป่วยคลอดเองก็เลือกฉันเช่นกัน แต่ทว่าหอผู้ป่วยมะเร็งนรีเวชฯ ได้โควต้า “เลือกก่อน” พี่เขาเลือกฉัน ก็เลยต้องมาทำงานในหอผู้ป่วยมะเร็งทางนรีเวชวิทยาที่รักษาด้วยยาเคมีบำบัดแทน

เมื่อออกจากงานพยาบาล มาทำงานด้าน”ลูกค้าสัมพันธ์” ซึ่งใช้วิชาชีพพยาบาลเช่นกัน ฉันก็ต้องมาป่วยด้วยโรคที่รักษาไม่ได้ด้วยแผนปัจจุบัน “Blepharospasm :- กล้ามเนื้อใบหน้าเกร็ง ตากะพริบค้าง จากที่เคยมีประสบการณ์เป็นครอบครัวของผู้ป่วยมะเร็ง โรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง และกลับต้องมาป่วยด้วยโรคเรื้อรัง รักษาไม่หายเสียเอง เพราะเข้าใจถึงสภาพจิตใจของ “ญาติ” ทำให้ฉันเลือกที่จะไม่แสดงความรู้สึกต่อความเจ็บป่วย ความท้อแท้ให้พ่อแม่หรือคนใกล้ตัวรู้ เลือกที่จะแสร้งทำราวกับว่าโรคที่ตัวเองเป็น เป็นเรื่องปกติ ธรรมดา เล็กๆ แค่พยายามเข้าใจ ปรับตัวให้เข้ากับโรคแค่นั้น แสร้งทำอยู่ราว ๓ ปี กว่า ใช้หน้าหิ้งพระเป็นเวลาส่วนตัว สวดมนต์ ร้องไห้พร่ำบ่นทุกอย่างที่พูดบอกใครไม่ได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ใจใส ทำให้เริ่มที่จะยอมรับได้จริงๆ และใช้เวลาปรับวิถีชีวิตอีกกว่า ๕ ปีจึงได้หายขาดจากโรคนี้


ในที่สุดฉันก็ได้มีประสบการณ์ครบ
ประสบการณ์ของ “ครอบครัวของผู้ป่วยเรื้อรัง”
ประสบการณ์ของ “ผู้ดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง” และ
ประสบการณ์ของ “ผู้ป่วยเรื้อรัง”


เมื่อมาทำงานห้องพยาบาล ประสบการณ์ต่างๆ เหล่านี้ช่วยฉันได้มากในการทำงาน
สมัยที่ฉันทำงานพยาบาล ฉันเคยได้เฝ้าไข้อาจารย์แพทย์ ๒-๓ ท่าน ท่านหนึ่งเป็นแพทย์ในระบบทางเดินอาหาร ท่านป่วยด้วยมะเร็งกระเพาะอาหาร ต้องตัดกระเพาะอาหารออก แล้วทำสายยางเปิดออกทางหน้าท้องเพื่อสำหรับใส่อาหารแทน อีกท่านหนึ่งเป็นแพทย์ด้านศัลยกรรมทรวงอก ท่านเป็นมะเร็งเต้านมแล้วต้องตัดเต้านมทิ้งและฉายแสง
น้องพยาบาลที่ฉันรู้จักคนหนึ่ง พ่อเธอป่วยเป็นมะเร็งทางเดินปัสสาวะ ตัวเธอเมื่อจบพยาบาลก็มาทำงานหอผู้ป่วยมะเร็งทางเดินปัสสาวะ เธอถูกเลือกให้มาทำงานที่หอผู้ป่วยนี้


ณ วันนี้ … ทุกครั้งที่ฉันลังเลใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร แทนที่ฉันจะสับสน หงุดหงิดเหมือนก่อน
ฉันกลับเลือกที่จะปล่อยวาง ทำทุกสิ่งตรงหน้า ณ ปัจจุบันให้ดีที่สุด แล้วรอคอยเวลา
คำตอบที่ฉันควรจะทำ ควรจะเป็นจะปรากฎให้เห็นเอง
ขอแค่วางใจ ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด เท่านั้น พอ


อาจดูเหมือนว่าฉันปล่อยชีวิตตามยถากรรม แต่จริงๆ แล้ว ไม่เลย


ทุกเช้าก่อนที่จะออกจากบ้านเพื่อมาทำงาน ฉันจะสวดมนต์ อธิษฐานขอให้ตัวเองมีสติที่จะทำงานทำหน้าที่ของตัวเองในแต่ละวันให้ดีที่สุด และภายหลังสิ้นสุดงาน ฉันจะใช้เวลาหน้าหิ้งพระเพื่อทบทวนสิ่งที่ทำผ่านไปในแต่ละวัน ขอโทษในสิ่งที่ผิดพลาด ขอโอกาสที่จะแก้ตัวใหม่ และให้อภัยตัวเองในแต่ละวัน

ในระหว่างวัน ฉันจะพยายามมีสติ ตามลมหายใจของตัวเองในทุกกิจกรรม ที่ฉันให้ความสำคัญเป็นพิเศษ พยายามทำเท่าที่ทำได้ให้มากที่สุด คือ การตามคำพูดของตัวเองให้ทัน ทบทวนสิ่งที่ได้ยินได้ฟังจากคนไข้ ฟังเสียงตัวเองที่พูดในทุกๆ คำเสมอ ในทุกครั้งที่ฉันตามคำพูดของตัวเองทัน ฉันจะเลือกใช้คำพูดได้เหมาะสม ควบคุมตัวเองไม่ให้มีอารมณ์กับสิ่งที่อาจดูไม่พึงใจ ทั้งท่าทางของพนักงาน/คนไข้ของฉันที่บางครั้งก็อาจไม่พอใจกับการพยาบาลที่ฉันเลือกให้ ท่าทางที่ดูราวกับเข้ามา “สั่งการรักษา” เสียเอง ท่าทางของคนไข้ที่ดูไม่สนใจในสิ่งที่ฉันพยายามบอก พยายามแนะนำเพื่อให้ค้นหาสาเหตุของอาการเจ็บป่วย และเฝ้าระวัง รักษาสาเหตุเหล่านั้นเพื่อให้หายอย่างยั่งยืน
แม้ฉันจะทำไม่ได้ทุกครั้ง ไม่ได้ทุกวัน มีละเลยบ้าง ก็จะมีเหตุการณ์มากระตุกเตือนฉันเสมอ


“ที่วันนี้พระมารับบาตรเพียงแค่ ๒ รูป ไม่ได้มาอีก ๒ รูปน่ะ เป็นเพราะพระอีก ๒ รูปท่านตื่นสาย ทำกิจตอนเช้าไม่ทัน ไม่ได้ทำวัตรเช้า อาตมาจึงไม่ได้ให้มารับบิณฑบาตร” คำอธิบายจากพระพี่เลี้ยงถึงเหตุผลที่พระมารับบาตรเพียง ๒ รูป
“ความจริงแค่ได้ใส่บาตร ได้เห็นผ้าเหลืองก็ดีใจ เป็นสุขแล้ว” คำพูดของคุณป้าข้างบ้านที่มาตักบาตรพร้อมกับฉัน
“ไม่ได้ ถ้าตัวพระยังไม่ถึงพร้อม ไม่บริสุทธิ์ ก็ไม่มีค่าควรที่จะรับบิณฑบาตรจากใคร”


สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้ ฉันก็เชื่อว่ามันมีเหตุผลในการเกิด แม้เราจะสูญเสียมากมาย แต่ภายใต้ความสูญเสีย เรากำลัง “ได้” บางสิ่งกลับคืนอย่างยั่งยืน เพียงแต่อาจต้องรอเวลาเพื่อให้สิ่งนั้นปรากฎชัด
ถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ สิ่งที่เราสูญเสียครั้งนี้อาจเรียกได้ว่าน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้แล้ว
ขอเพียงเราทุกคน เข้าใจ พยายามตั้งสติเรียนรู้ ยอมรับในเหตุผลของกัน ให้อภัย ให้โอกาส แล้วเราจะได้รับในสิ่งที่ควรจะได้รับอย่างคุ้มค่ากับการสูญเสียครั้งนี้แน่นอน


:b8: http://www.oknation.net/blog/nsdiary/2010/05/22/entry-1

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


แก้ไขล่าสุดโดย Bwitch เมื่อ 22 พ.ค. 2010, 09:23, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ค. 2010, 09:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

บันทึกห้องพยาบาล … หนังสือมีเสียง ชินบัญชร …



วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
เสียงดนตรีเบาๆ ที่คลอเป็น back ground โดยมีเสียงพระสวดทุ้ม นุ่มเป็น foreground ทำให้ฉันคิดถึงหนังสือเล่มนี้ หนังสือมีเสียง (ธรรมคีตา พระคาถาชินบัญชร) หนังสือเล่มนี้จัดทำโดยสนพ. Busy day หน้าปกเป็นสีเหลือง ฉันเห็นหนังสือนี้ครั้งแรกที่ร้านนายอินทร์ สาขาศิริราช ระหว่างที่ไปนั่งรอพ่อตรวจที่รพ.

บทสวดชินบัญชรฉันได้ยินมามากเหมือนกันว่าเป็นบทสวดที่คนนิยมสวดกัน แล้วฉันเองก็ได้รับ CD มาแผ่นหนึ่งที่ทำเป็นการร้องบทสวดชินบัญชรประกอบดนตรี แต่ว่าเล่มนี้ต่างกัน ตรงที่ยังคงท่วงทำนองการสวดตามแบบเดิม ไม่ได้ดัดแปลงให้เป็นการร้องประกอบดนตรี ผู้เขียนให้เหตุผลว่า เชื่อว่าท่วงทำนองการสวดที่มีมาแต่เดิมน่าจะมีความสำคัญ จึงคงท่วงทำนองไว้เพียงแต่ให้มีเสียงดนตรีคลอเบาๆ ด้วยเท่านั้น ทำให้เกิดความสงบ คล้ายได้สวดอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ดนตรีที่คลอเบาๆ นั้น ผู้จัดทำเป็นนักดนตรีบำบัด (คุณรดิษฐ์ ) ซึ่งทำให้ได้ ๒ ประโยชน์ในคราวเดียว เพราะว่าบทสวดมนต์ โดยเฉพาะบทสวดของศาสนาพุทธ ได้มีวิจัยแล้วว่าทำให้คลื่นสมองผ่อนคลาย (ที่มา นิตยสารขวัญเรือน ฉบับที่ 869 คอลัมน์เปิดใจสนทนา (นพ.พิพันธ์พงศ์ พานิช ภาควิชาสุขภาพและความงาม คณะแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต) เท่ากับว่า ได้อานุภาพของบทสวดมนต์และดนตรีบำบัด เพื่อผ่อนคลายความเครียดให้กับร่างกาย แล้วทุกคำพูดในบทสวดก็ล้วนแต่เป็นคำที่มีความหมายดีๆ ก็เท่ากับเรากำลังอวยพรตัวเองให้พบเจอแต่สิ่งที่ดีๆ ซึ่งจากที่ฉันฟังมาก็รู้สึกถึงความสงบในจิตใจ

ดนตรีบำบัด ถือเป็นศาสตร์ที่ได้ผลมากในเรื่องการจัดการกับความเครียด โดยมีข้อกำหนดเรื่องความดังของเสียงอยู่ในช่วง ๑๐–๑๒ เฮิร์ทซ์ ไม่ควรเกิน ๒๐ เฮิร์ทช์ ให้เลือกเป็นเสียงเพลงที่ชอบ (ชีวจิต ฉบับที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓)
เท่าที่ผ่านมา อาจเพราะฉันเคยมีประสบการณ์ดนตรีบำบัด ทั้งกับตัวเอง ทั้งกับคนไข้ที่ดูแล … ทำให้ฉันค่อนข้างจะเชื่อ และเห็นความสำคัญของดนตรีบำบัดมาก
……………………
เมื่อปี ๒๕๓๕ ฉันได้มีโอกาสไปดูงานที่รพ.แห่งหนึ่งในประเทศเกาหลีใต้ ชื่อรพ.นี้รู้จักกันในนาม Jesus hospital ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ Christian Medical Research Center (CMRC) จังหวัด Chonju มณฑล Chonbuk ซึ่งเป็นรพ.ของมิชชันนารีอเมริกาที่มาเผยแพร่ศาสนาในประเทศเกาหลี ได้เปิดให้บริการ ช่วงที่ฉันไปดูงานเป็นช่วง ๓ เดือนสุดท้ายก่อนที่จะเปลี่ยนมือผู้บริหารจาก Dr.David John Seel ชาวอเมริกา เป็น Dr. Eung ung Lee ซึ่งเป็นคนเกาหลี เท่ากับว่ายกรพ.นี้คืนกลับให้กับชาวเกาหลีเป็นผู้บริหารจัดการทั้งหมด ความจริงฉันไปดูงานในส่วนของงานด้านเคมีบำบัดกับการรักษาโรคมะเร็ง เนื่องจากโรงพยาบาลนี้ค่อนข้างดังในเรื่องของมะเร็ง แต่เพราะเวลาเยอะก็เลยแวะไปดูงานที่อื่นๆ ด้วย หนึ่งในหน่วยงานอื่นๆ ที่ฉันไปดูงานคือ ห้องรังสีรักษา

เมื่อพูดถึงห้องรังสีรักษา ในความจำของฉัน สมัยเด็กเคยเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เหตุเพราะความคิด (แบบเด็กๆ) ที่ว่าการขออนุญาตไปห้องน้ำเป็นเรื่องน่าอาย ก็เลยกลั้นค่ะ ทีนี้มันก็เลยเป็นมากขนาดว่าปัสสาวะไม่ได้เอาเลยแหละ ปวดมาก เหมือนจะมีปัสสาวะเป็นเลือดด้วย ก็เลยต้องไปตรวจ จำได้ว่า มีเจ้าหน้าที่พาไปห้องถ่ายเอกซเรย์ เป็นห้องกว้างๆ ผนังเป็นโลหะ บรรยากาศดูเย็นๆ อับๆ เขาพาฉันให้ไปนอนบนเตียงแคบๆ แล้วปล่อยเราอยู่คนเดียว (อ้อ ก่อนจะทิ้งเราไปก็ฉีดยาอะไรสักอย่างลงในหลอดเลือดแถวๆ ข้อมือ ฉันดิ้นเสียเตียงกระจายไปเลยกว่าจะฉีดได้) เหมือนจะอยู่ในห้องนั้นนานมาก เจ้าหน้าที่หนีหายไปหมด เหลืออยู่คนหนึ่งที่อยู่ในห้องเล็กๆ ติดกับห้องเรา พอให้เห็นหน้า (คงจะเป็นห้องควบคุมเครื่อง เพราะได้ยินเสียงสั่งเป็นระยะให้ทำตาม) แต่ความที่เขาหนีไปอยู่ในห้องเล็กทิ้งเราไว้ในห้องใหญ่ ก็เลยทำให้ห้องใหญ่นั้นยิ่งดูน่ากลัวขึ้นอีก กว่าจะเสร็จฉันรู้สึกว่านานราวชั่วกัลป์เลยเชียว พึ่งมารู้ภายหลังเมื่อฉันเข้ามาเรียนพยาบาลแล้วว่า เขาพาฉันไปทำ IVP หมายถึง การฉายเอกซเรย์ดูการไหลเวียนของหลอดเลือดไปที่ท่อไต เพื่อดูว่ามีก้อนนิ่วหรือสิ่งผิดปกติกีดขวางหรือเปล่า ถึงทำให้ปัสสาวะไม่ได้ และปัสสาวะมีเลือดปน ผล ไม่มีค่ะ เป็นเพราะกลั้นปัสสาวะอย่างเดียวเอง

พอมาทำงานพยาบาล ฉันแค่เคยเฉียดเห็นห้องรังสีรักษาใกล้ๆ ตอนเรียน มาทำความรู้จักมันจริงจังก็ตอนที่คนไข้รายหนึ่งที่ฉันต้องดูแล (คือ เธอเป็นภรรยาของอดีตหัวหน้าของคนที่บ้านน่ะ) เธอเป็นมะเร็งมดลูกระยะสุดท้ายรักษาด้วยการฉายแสง และฝังแร่ ตอนไปฉายแสงน่ะฉันได้แค่ไปส่งหน้าห้อง แต่ตอนที่ไปฝังแร่น่ะฉันเข้าไปคุยเป็นเพื่อน บรรยากาศห้องมันเย็นๆ ชื้นๆ อับๆ คล้ายมีกลิ่นแร่กระจายอยู่ในห้อง คนไข้ต้องนอนเพียงลำพังในห้องนั้นเหมือนจะ ๗๒ ชม.ได้มั้ง ฉันได้เข้าไปดูแลแค่ตอนกินข้าวเท่านั้น ตอนอื่นๆ ที่ต้องรักษาแม่ก็ต้องอยู่เพียงลำพัง ฉันถามแม่ (หมายถึงคนไข้ที่ฉันดูแล) ว่า เจ็บมั้ย แม่ส่ายหน้า แต่สีหน้าแม่ดูหดหู่ ซึมเศร้ายังไงไม่รู้นะ ความจริงแม่น่ะเป็นพยาบาลเหมือนกันนะ แต่ฉันว่าแม่เองก็คงรู้สึกกลัวๆ เหมือนกัน

เหตุที่ฉันเลือกไปดูงานห้องรังสีรักษา ที่ Chonju ก็เพราะฉันอยากรู้ว่าสภาพที่คนไข้ฉันต้องเจอเวลาไปห้องรังสีรักษาน่ะเป็นยังไง แล้ววิธีการรักษาของรังสีรักษาน่ะเป็นอย่างไร ก็ตอนอยู่ที่รพ.ฉันไม่มีโอกาสรู้วิธีการรักษาของทางรังสีนี่ก็เลยอยากรู้ เผื่อจะได้ใช้ประโยชน์ (ไว้ช่วยแนะนำคนไข้ที่ตึกที่ต้องส่งไปรักษา) ก็คาดเดาไว้ในใจนะว่าบรรยากาศน่าจะเหมือนกันแหละ แต่ปรากฏว่า ผิดคาด ห้องรังสีรักษาที่รพ.แห่งนั้นอยู่ชั้นใต้สุดของตึก เหมือนจะลงไปใต้ดิน ๑ ชั้น ยังจำได้ว่าต้องเดินลงทางลาดไป แต่แปลกห้องรังสีรักษากลับไม่มืด ไม่น่ากลัวอย่างที่ฉันคิด ผนังตึกสีขาว ไฟเปิดจ้า เสียงเจ้าหน้าที่คุยกันแว่วๆ มา ฉันตามประกบติดคุณหมอไปคุยกับคนไข้ จำได้ว่าคนไข้รายนั้นมาทำ Heat หมายถึง อบผิวหนังด้วยความร้อนเพื่อเตรียมผิวหนังนั้นสำหรับการฉายแสง อุณหภูมิที่ใช้อบผิวหนังประมาณ ๔๐–๖๐ องศา พอคนไข้ขึ้นบนเตียงก็เห็นคนไข้ยื่นตลับเทปให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งรับไปเปิดให้ฟัง เสียงที่ดังออกมาจากเทปเป็นเสียงดนตรี ท่วงทำนองคล้ายบทสวด คุณหมออธิบายให้ฟังว่า ที่ห้องนี้จะอนุญาตให้คนไข้นำบทเพลง หรือเทปอะไรก็ได้ที่อยากฟังมาเปิดได้ ถ้าไม่มีทางเจ้าหน้าที่ก็เปิดให้ ตอนนั้นแหละที่ฉันพึ่งรู้สึกว่าใช่แล้ว ห้องรังสีรักษาที่นี่ต่างจากที่อื่นตรงที่มีเสียงเพลงดังเบาๆ คลออยู่ตลอด คุณหมอหันไปคุยกับคนไข้สักครู่ ก่อนที่จะพาฉันเดินออกมา ฉันเหลียวกลับไปดูคนไข้ก็เห็นนอนหลับตาพริ้ม ปากงึมงำราวกับร้องหรือสวดตามเสียงที่ได้ยิน ไม่มีทีท่าว่าจะหวาดกลัว หรือร้อนเลย ทั้งที่อุณหภูมิขนาดนั้นนาบอยู่บนผิวนี่นะ …..

ตอนที่ฉันป่วยด้วยโรคหน้าเกร็ง (Blepharospasm) เนื่องจากเส้นประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อหน้าทำงานผิดปกติ เมื่อสั่งให้หน้าเกร็งแล้วไม่คลายกลับ (ประมาณว่ายิ้มค้าง) พอกะพริบตาตาก็ปิดแน่น ลืมไม่ได้ เพราะโรคฉันรักษาด้วยแผนปัจจุบันไม่หาย ฉันก็เลยตระเวน Hospital tour หมายถึง แสวงหาที่รักษาไปเรื่อย มีครั้งหนึ่งฉันไปรับการรักษาด้วย ไคโรแพรคติค ที่ตึกอะไรน้า สีลมอะไรสักอย่างนี่ละ จำได้แต่ว่าต้องนั่งรถไฟฟ้าไป ระหว่างทางที่นั่งรถไป หน้าก็เกร็งตายิบหยีตามการกะพริบตา ลงจากรถไฟฟ้าก็ต้องมะงุมมะงาหราเดินตามจังหวะการหลับตา คือ ตาปิดทีก็หยุด ตาเปิดค่อยเดินใหม่ ตอนนั้นฉันรู้สึกแย่มากแต่ก็พยายามคิดว่าดี ตอนพบหมอ (หมายถึงคนรักษา) เขาจะได้เห็นอาการชัดๆ งัย แต่ปรากฏว่าทันทีที่ฉันเปิดประตู ก้าวเท้าเข้าห้องเท่านั้น อาการกลับหยุดสนิทราวกับปิดสวิทช์ซะงั้น กะพริบตากี่ทีกี่ทีก็ไม่มีอาการยังกับแกล้งแน่ะ ตอนที่คุยกับหมอที่ตรวจ ฉันก็ได้แต่เล่าอาการให้ฟัง แต่เขาก็ให้การรักษานะคงเห็น รอยของโรค แหละ (คนที่มีอาการหน้าเกร็งเกินปกติ ร่องรอยที่พอจะพบคือการเกร็งของกล้ามเนื้อที่เป็นรอยพับค้าง คนทั่วไปที่ไม่สังเกตหรือแม้แต่ฉันคงมองไม่ออกหรอก แต่มืออาชีพอย่างหมอเฉพาะทางเนี่ยคงเห็น) พอตรวจเสร็จมานั่งรอนัดน่ะแหละถึงได้สังเกตว่า ที่ห้องน่ะจะเปิดเสียงเพลงบรรเลงเบาๆ ไว้ เบาเหมือนเสียงกระซิบเลย ทีนี้พอก้าวเท้าออกจากห้อง ประตูปิดฉึบ อาการก็กลับมาทันควัน เฮ้อ

ในระหว่างการแสวงหาทางรักษา จนกระทั่งหายขาดได้ในที่สุดน่ะ ฉันพบว่า อาการของโรคที่ฉันเป็นจะกำเริบมากในสภาวะที่มีความเครียด ความเครียดที่ว่าไม่จำเป็นว่าเราต้องเป็นคนสร้างขึ้น เช่น เรากำลังโกรธ กำลังเสียใจ กำลังดีใจ ง่วงนอน หรือนอนมากเกินไป เป็นต้น แค่ บรรยากาศที่เครียด ก็จะทำให้ฉันมีอาการหนัก ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็ห้องพยาบาลที่ฉันทำงานน่ะมี ๓ โรงงาน ห้องพยาบาลหนึ่งเป็นห้องที่มาตรฐาน คนไข้ก็น้อย (ไม่เกิน 30 คนต่อ 24 ชม.) แต่ที่ห้องพยาบาลนี้น่ะอาการฉันกลับเป็นเยอะ เหตุเพราะที่นี่กฎระเบียบของห้องพยาบาลค่อนข้างเข้มงวด (เหมือนสภาพในรพ.เปี๊ยบ) มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นแต่ละครั้งมักจะเรื่องใหญ่ ทั้งเป็นเยอะ หมายถึง เจ็บรุนแรง ทั้งเรื่องเยอะ คือ ห้องพยาบาลต้องเข้าไปเกี่ยว เขียนรายงานเพียบเลย คงเพราะว่าถ้ามีคนไข้หนักๆ จะมีเรื่องให้ต้องแก้ไขมากมาย คนทำงาน (หมายถึงพยาบาล) ก็เลยทำงานด้วยความเครียดลึกๆ ในใจ ในขณะที่อีกห้องพยาบาลหนึ่ง สภาพห้องพยาบาลเป็นแค่ซอกเล็กๆ อยู่ข้างทางก่อนที่จะถึงห้องน้ำ มีพนักงานเดินไปมาเข้าห้องน้ำผ่านหน้าห้องพยาบาลกันขวักไขว่ เสียงพูดคุย เสียงเครื่องเย็บผ้า กลิ่นห้องน้ำกระจายตลอด ร้อน ฝุ่นเยอะ คนไข้เยอะ บางครั้งมากถึง 40 คนต่อ 8 ชม.ในบางวัน (ก็ประมาณว่า เดินจะมาห้องน้ำ ผ่านหน้าห้องพยาบาล แวะสักนิดขอยาสักหน่อยก็ดี) แต่แปลกอาการของฉันกลับดี แทบไม่มีอาการเลยด้วยซ้ำ คนไข้ของห้องพยาบาลนี้เยอะก็จริง แต่มักจะเป็นด้วยเรื่องเล็กน้อย ท้องเสีย เป็นหวัด ผื่นแพ้ ปวดประจำเดือน ขอยาคุม อุบัติเหตุก็จะมีแค่เข็มตำ แผลเล็กๆ เท่านั้น แทบไม่มีอุบัติเหตุใหญ่ๆ เลย งานห้องพยาบาลก็ไม่ซับซ้อน ไม่ยุ่งยาก บรรยากาศของที่ทำงานก็เลยไม่เครียด ก่อนที่ฉันจะป่วยน่ะฉันไม่เคยรู้สึกเลยว่าห้องพยาบาล ๒ ห้องนี้ต่างกัน จนกระทั่งฉันป่วย อาการที่ฉันเป็นน่ะแหละกลายเป็น “เครื่องมือวัดความเครียด” ที่มีประสิทธิภาพมาก


ผ้าขาวเมื่ออยู่ท่ามกลางผ้าขาวด้วยกัน แม้จะขาวต่างกัน แต่ก็จะมองไม่เห็นความต่างชัดเจน
แต่ถ้า … ผ้าขาว (ผืนเดิม) วางอยู่ท่ามกลางผ้าดำ แม้จะขาวหม่น แต่ก็จะขาววับขึ้นถนัดตา


ความเครียด มีผลกับความเจ็บป่วยได้ทุกโรค ไม่เว้นแม้แต่โรคเล็กๆ อย่างหวัด เพราะความเครียด ไม่ได้หมายถึงแค่งานหนัก หงุดหงิด อารมณ์บ่จอย เท่านั้น สภาวะที่เราพักผ่อนไม่พอ นอนมากเกิน จิตใจร่าเริงเกิน หรือแม้แต่มีประจำเดือน ก็ถือเป็นภาวะเครียดเช่นกัน ในภาวะเครียดกลไกของร่างกายในการดูแลให้สภาพร่างกายอยู่ในสภาวะสมดุล ทำงานได้เป็นปกติ ดูแลในการกำจัดเชื้อโรค กำจัดสารพิษ (ทั้งจากร่างกายและจิตใจ) ก็จะทำงานได้ไม่เป็นปกติ พอนานวันเข้าก็จะสะสมจนเป็นโรคใดโรคหนึ่ง ซึ่งของฉันก็คือโรคหน้าเกร็งนี่ละ เมื่อฉันจัดสมดุลให้ชีวิต กลไกร่างกายฟื้นคืน ฉันถึงได้หายจากโรค โรคที่แพทย์แผนปัจจุบันว่ารักษาไม่หายนี่ละ

หนังสือมีเสียงเล่มนี้ เสียงดนตรีบำบัดพร้อมกับเสียงสวดมนต์ น่าจะตอบโจทก์เรื่องความเครียดได้อย่างสมบูรณ์

นอกจากความสงบที่เราจะได้รับจากซีดีที่แนบมาในหนังสือแล้ว เนื้อหาในหนังสือก็จะเป็นเกร็ดประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ซึ่งเป็นผู้เผยแพร่บทสวดบทนี้ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ได้อ่านถึงแก่นธรรมที่มีสอดแทรกอยู่ในเนื้อหาอีกด้วย
……………
ตั้งแต่ได้หนังสือเล่มนี้มา ฉันก็มักจะเปิดฟังเป็นระยะทั้งเช้าและเย็น เคยมีครั้งหนึ่งที่ฉันคิดงานไม่ออก วนไปวนมาอยู่เป็นนาน จนรู้สึกว่าช่างเถอะ ก็เลยลุกไปเปิดซีดีฟัง ฟังไปเดินทำงานอื่นๆ ไป ปรากฏว่า งานที่ติดอยู่ในหัวกลับคิดออกซะงั้น แล้วก็น่าแปลกนะทุกครั้งที่ฉันขึ้นทำงาน เปิดซีดีฟัง เหตุการณ์ในห้องพยาบาลมักจะราบรื่น แม้จะมีอุบัติเหตุร้ายแรงบ้าง แต่ฉันก็มักจะสังหรณ์รู้ เตรียมตัวได้ล่วงหน้าเสมอ แทบจะคาดเดาคนไข้ได้ล่วงหน้าก่อนที่คนไข้จะมาเลยละ บางทีถึงขนาดว่าเตรียมยา เตรียมอุปกรณ์ไว้โดยไม่มีสาเหตุ แล้วก็ได้ใช้ทุกทีไป


ปล. ถ้าใครสนใจหนังสือเล่มนี้ และหาไม่ได้ตามร้านหนังสือทั่วไป (เพราะพิมพ์ออกมาได้กว่า ๒ ปีแล้ว) ก็คงจะต้องติดต่อที่สนพ. Busyday http://www.busy-day.com หรือที่โทร.๐๒ - ๑๙๖๒๔๑๑–๔
อ้อ ฉันไม่ได้ค่าโฆษณาหรอกนะขอบอก แต่ถ้าจะสมนาคุณ ขอแค่ซีดีราคาพิเศษอีกสัก ๒-๓ แผ่นก็ดีนะ ฮิ ฮิ

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ค. 2010, 09:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

เมื่อผลกรรม (ไม่ดี) ปะทะผลกรรม (ดี)



วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓
อาจจะเป็นผลจากเรื่องนี้ …
เมื่อตอนที่ฉันจบพยาบาลใหม่ๆ พึ่งหมดภาระกับการส่งเสียน้องเรียน เงินเพี่งเหลือเลยยังติดกับความงก ยังสนุกสนานกับการทำงานพิเศษ พอดีว่า น้องผู้ช่วยพยาบาลเพื่อนของน้องผู้ช่วยพยาบาลที่ตึก (ฟังดูสับสนดีมั้ย) เอาเสื้อกั๊กยีนมาให้ดูแบบ แล้วว่ารับจากโรงงานราคาถูกมาขายได้ ไม่ต้องมัดจำ ขายได้เท่าไรก็เท่านั้น ดูมันน่าสนใจ ก็เลยถลารับมา ๑๐๐ ตัว (ตามประสางก) วันที่รับเสื้อมาน้องเขาบอกว่าทางบริษัทฯ เปลี่ยนใจเป็น “ขายขาด” ก็ยังไม่ล้มเลิกความคิด ผล … พอเอาไปหาที่ขาย เพื่อนที่เรียนขิมกับครูเดียวกันช่วยซื้อเพราะครูเชียร์ แต่ก็แค่ไม่ถึงสิบตัวพร้อมกับออกปากว่า “เคยเห็นเสื้อแบบเดียวกันนี้ราคาไม่ถึง ๑๐๐ บาท” มันทำให้ใจแป้ว กลับมานั่งคิดกลับไปมา ในที่สุด ก็เอาเสื้อไปคืนน้องเขาที่ตึกพร้อมกับเงินที่ขายได้ มันน่าอายมากเลยนะที่ทำแบบนั้น แต่มันคิดง่ายๆ ในใจว่าก็เราถูกหลอกนี่ เท่าที่รู้คือ น้องคนนั้นกับแฟนต้องเวียนไปเปิดท้ายขายตามที่ต่างๆ อยู่หลายวันกว่าจะขายหมด


หรือว่าผลจากเรื่องนี้
ช่วงที่ฉันทำห้องพยาบาลใหม่ๆ มีห้องพยาบาลที่บริษัทฯ หนึ่ง มาเสนอ เขาให้ฉันเข้าไปคุยและพูดให้ฟังว่า ทีมพยาบาลที่ทำอยู่เดิมทางบริษัทฯ จะให้ออกสิ้นเดือนนี้เพราะว่าพยาบาลมามั่ง ไม่มามั่ง แล้วพอมาก็มานั่งหลับ ก็คุยเงื่อนไขตกลงกันเสร็จสรรพ ก็เลยขอบริษัทฯ เยี่ยมดูห้องพยาบาล เพื่อมีโอกาสพูดกับทีมพยาบาลเดิมเผื่อว่าจะส่งต่องานกันได้ กับอีกเหตุผลหนึ่งคือ ฉันสงสัยน่ะว่าเป็นเพราะอะไรพยาบาลถึงทิ้งงาน เผื่อว่าจะพอแก้ไขแล้วอาจมีบางคนที่อาจทำงานต่อได้ ทางบริษัทฯ ก็บ่ายเบี่ยงบอกว่าพยาบาลไม่มาทำงาน ก็เลยไม่เป็นอันได้เจอกัน

จนกระทั่งได้เข้าไปทำห้องพยาบาลที่นั่น พี่พยาบาลคนหนึ่งของทีมพยาบาลเดิมที่ยังคงทำงานอยู่ เหตุเพราะพี่เขาทำงานเฉพาะวันเสาร์ และเป็นพี่ที่ทางเจ้าของบริษัทฯ ชวนมาทำงานเอง (ประมาณว่ารู้จักกันเพราะว่าลูกเจ้าของบริษัทฯ นี้เคยเป็นหมอ) เมื่อเราได้มีโอกาสคุยกันถึงได้รู้ว่า บริษัทฯ ไม่ได้บอกให้ทีมพยาบาลเดิมรู้ตัวก่อน มารู้เอาเมื่ออีก ๔-๕ วันก่อนจะสิ้นเดือน รู้เมื่อทางบริษัทฯ ตกลงกับทีมฉันเรียบร้อยแล้ว เหมือนว่าฉันไปทำให้ทีมพยาบาลนั้นถูก “ลอยแพ” กระทันหัน

ลักษณะพยาบาลที่ทำงานพิเศษ ส่วนใหญ่มักจะวางแผนเรื่องเวรกันล่วงหน้าอย่างน้อย ๑๐ วัน รวมถึงวางแผนว่าเงินที่ได้พิเศษตรงนั้นจะใช้ทำอะไร การรู้ตัวล่วงหน้าแค่ ๕ วันเท่ากับว่าพวกเธอไม่มีโอกาสจะไปหางานพิเศษที่อื่นได้อีกเลย เว้นแต่ว่าจะโชคช่วยเท่านั้น ตอนที่ฉันรู้ทุกอย่างก็เกิดขึ้นแล้ว แก้ไขไม่ได้แล้ว ฉันทำได้แค่ถามบริษัทฯ ว่าทำไมไม่บอกฉันเรื่องนี้แค่นั้น ไม่มีโอกาสแม้แต่จะขอโทษทีมพยาบาลทีมนั้นเลย


ทำให้ฉันต้องเจอกับเหตุการณ์นี้
พี่พยาบาลคนหนึ่งในทีม ซึ่งเป็นพยาบาลอิสระ (เกษียณมาจากรพ.เอกชนแล้ว) ทำงานกับฉันมาราว ๑ ปีเห็นจะได้ จากที่ได้เวรเดือนละ ๑๐ เวร ตอนนี้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ ๒๐ เวร เท่ากับเป็นเวรของหนึ่งห้องพยาบาลเลย อยู่ๆ วันที่ ๒๔ มีนาคม วันที่ต้องเริ่มจัดเวรห้องพยาบาล พี่เขาก็โทร.มาขอลาออก ไม่สิทีแรกพี่เขาบอกประมาณว่า เดือนหน้าขอส่งเวรเฉพาะวันเสาร์ อาทิตย์ได้มั้ย เพราะต้องไปทำงานที่อื่น ส่งเวรเฉพาะวันเสาร์เดือนหนึ่งแค่ ๔ วัน (วันอาทิตย์โรงงานหยุดหมด) คิดดูสิ จำนวนเวรที่พี่เขาได้ ถ้าต้องหาคนแทนที่เป็นน้องพยาบาลที่ทำงานโรงพยาบาลอยู่ ต้องหาน้องพยาบาลถึง ๔ คนเลย แล้วพึ่งมาบอกตอนที่กำลังจะจัดเวรเดือนเมษายน อีกแค่ ๖ วันก่อนสิ้นเดือน ฉันจะหาพยาบาลมาจากไหนกัน ?

จากแรกที่อึ้ง ตกใจ ต้องรีบตั้งสติเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ลุล่วง ดีที่เป็นเดือนเมษายน เดือนที่มีวันหยุดสงกรานต์เป็นตัวช่วยตั้ง ๑ สัปดาห์ แล้วน้องๆ คนอื่นที่พอรู้ข่าวต่างก็รีบเทเวรเท่าที่มีมาให้ ระหว่างที่กำลังแก้ปัญหาเรื่องเวร ทุกครั้งที่พอมีเวลา ทำอะไรไม่ได้เพราะต้องรอเวรจากน้องๆ ความรู้สึกจากที่อึ้ง เริ่มเปลี่ยนเป็นเศร้าใจที่เหมือนโดนหักหลัง แม้จะพยายามปลอบใจ พยายามหาข้อแก้ตัวว่า พี่เขาก็คงรู้เรื่องกระทันหัน เขาคงจำเป็นต้องเลือกแบบนั้น เขาคงไม่ตั้งใจทำร้าย สารพัดเหตุผลที่คิดขึ้นมาเพื่อช่วยทำให้ความรู้สึกของตัวเองดีขึ้น แต่มันก็ไม่ช่วยให้ดีขึ้น มันรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า งานของเราเหมือนลูกเมียน้อยคนสุดท้าย ที่นึกอยากมาก็มา นึกจะไปก็ไป ไม่คิดถึงผลเสียกับคนที่เหลืออยู่เลย นานวันเข้าความเศร้าก็แปรเปลี่ยนเป็นความโกรธ ถึงขนาดภาวนาให้งานที่พี่เขาไปทำมีปัญหา ให้เขาต้องพบกับสภาพแบบที่เราต้องเจอ มันเป็นความรู้สึกที่แย่มากที่คิดแบบนั้น

พอนานวันเข้าความคิดเริ่มตกผลึก ความเศร้าเริ่มเปลี่ยน อาจเป็นอานิสงส์ที่ฉันหมั่นสวดมนต์ อาจด้วยคำปลอบใจจากเพื่อนหลายๆ คนทั้งที่เป็นเพื่อนร่วมงาน แม้แต่เพื่อนที่รู้จักกันผ่านทางเมล์ อาจเพราะระยะเวลาที่ผ่านไป ทำให้เริ่มยอมรับ ปล่อยวางได้

ในเมื่อฉันเชื่อว่า ระหว่างที่เราทำงานด้วยกัน ฉันไม่เคยทำร้ายพี่เขา อาจมีคำพูดบางครั้งที่เหมือนทำร้ายบ้างเพียงเพราะต้องการสอน แนะนำงาน แต่ไม่ได้เกิดจากเจตนา เราไม่มีอะไรติดค้างกัน ที่พี่เขาทำแบบนี้คงเป็นเพราะความจำเป็นจริงๆ แม้จะคิดว่าถ้าเป็นตัวเรา เหตุการณ์แบบเดียวกันเราคงไม่ตัดสินใจแบบพี่เขา แต่ก็ไม่ได้แปลว่าพี่เขาทำไม่ถูก กรอบชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ต่างคนก็ต่างเหตุผล ทำให้ความโกรธเริ่มจางลง ยังคงมีเพียงความกังวลเล็กๆ ว่า เวรห้องพยาบาลที่ฉันจัดผ่านไปได้เนี่ย ถ้ามีน้องคนใดคนหนึ่งเกิดป่วย หรือถูกที่โรงพยาบาลเรียกขึ้นเวรกระทันหันเพราะสถานการณ์ ม็อบ หรือต้องขึ้นแทนพยาบาลที่ป่วย ฉันจะหาคนแทนได้จากไหน


แต่ … คงเป็นเพราะเรื่องนี้
ตั้งแต่ฉันยังไม่สบายด้วยโรคหน้าเกร็ง ยังรักษาตัวไม่หายดี เป็นเพราะฉันเริ่มปรับความคิดได้ว่า ถึงแม้ฉันจะเป็นโรคประหลาด แต่ฉันก็ยังโชคดีกว่าอีกหลายคน ก็เลยเริ่มแบ่งปันรายได้เท่าที่พอมีแม้ว่าจะยังมีหนี้สินที่ค้างชำระอีกประมาณหนึ่ง แต่ในระหว่างที่หนี้ก็ทยอยชำระไปนั้น เรายังพอมีเงินเก็บไว้เพื่อไม่ให้ต้องสร้างหนี้ใหม่เพิ่ม แค่เก็บเงินให้น้อยลงบ้าง ก็น่าจะพอแบ่งเงินบริจาคได้ ทำให้ ฉันแบ่งเงินบริจาคให้มูลนิธิ กาชาด กองทุนขวัญเรือน เฉลี่ยรวมกันเดือนละกว่า ๑๕๐๐ บาทจนถึงปัจจุบัน แม้ว่ามันอาจจะไม่มาก แต่อย่างน้อยก็คงทำให้บางคนมีโอกาสมากขึ้นแม้เพียงเล็กน้อยก็ยังดี


หรือเพราะเรื่องนี้ …
ในหลายๆ ครั้งที่ฉันซื้อสินค้า เมื่อพบว่าผู้ขายทอนเงินผิด ฉันจะรีบทักท้วงและคืนเงินไป แม้บางครั้งจะรู้เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้วก็ตาม ก็จะย้อนกลับไปคืนเงินให้ ไม่ว่าเงินจะมากน้อยแค่ไหน จะแค่ไม่กี่สิบ ไม่กี่ร้อย หรือไม่กี่พัน แต่เพราะมันไม่ใช่เงินของเราเท่านั้นเอง


หรือเพราะเรื่องนี้ …
ทุกครั้งที่ฉันทำการพยาบาล ฉันจะพยายามให้การรักษาพนักงานอย่างเต็มที่เท่าที่ทำได้ แสวงหาความรู้เพิ่มเติมจากหนังสือ จากผู้รู้มาเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตั้งใจทำงานให้ดี ระมัดระวังการพูด การกระทำไม่ให้ทำร้ายใครแม้ว่าจะเป็นความหวังดีที่จะช่วยสอน ช่วยแนะนำ แต่ความหวังดีนั้นก็ต้องพูดด้วยวาจาที่ดี ไม่ตำหนิที่เขาทำไม่ได้ เพราะกรอบชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เขาอาจอยากทำดีแต่ทำไม่ได้ หรือเป็นเพราะ “ชุดความรู้” ของเขาไม่เหมือนกับเรา เท่านั้น เรามีหน้าที่แค่บอก แค่สอนในสิ่งที่เรารู้ ให้เขาได้รับรู้ การตัดสินใจเลือกทำอย่างไรนั้นเป็นสิทธิของเขา

เรื่องพวกนี้อาจดูเป็นเรื่องเล็กๆ อาจเป็นแค่การทำตามหน้าที่ แต่การรับผิดชอบต่อหน้าที่ก็ถือเป็นการทำ”กรรมดี” ในเมื่อเป็น เรื่องที่ดี ย่อมต้องส่งผลดีตอบสนอง คงเป็นเพราะผลดีที่มีติดมาบ้าง ทำให้ฉันผ่านสถานการณ์ที่ร้ายแรงขนาดนั้นมาได้ แค่เหตุการณ์นี้เกิดในเดือนเมษายน เดือนที่มีเทศกาลหยุดนานถึง ๑ สัปดาห์ก็นับว่าดีมากๆๆๆ แล้ว


สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นดีเสมอ


วาทะนี้ฉันได้มาจาก “อาจารย์เทอดศักดิ์ เดชคง” เจ้าของบทประพันธ์เรื่อง “สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นดีเสมอ” ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะแย่สักแค่ไหนจะมีเรื่องดีซ่อนอยู่เสมอ เพียงแต่เราเองแหละ รู้จักที่จะ “พลิกมุมมอง ค้นหาแง่ดีเจอหรือเปล่า” แม้ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะร้ายแรงมาก แต่ฉันก็ยังค้นเจอสิ่งที่ดีๆ มากมายจากเหตุการณ์ครั้งนี้ และที่นับเป็นสิ่งดีที่สุด คือ ได้เห็นน้ำใจของน้องๆ คนอื่นที่เหลืออยู่ แม้เวรจะมากเป็นพิเศษเพราะเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ แถมพ่วงด้วยเหตุการณ์ “แดงเดือด” ทำให้พยาบาลที่ปกติขาดแคลนอยู่แล้ว ยิ่งขาดแคลนเพิ่ม แต่น้องๆ ทุกคนก็เทใจ เทเวรมาช่วยกันเต็มที่ ประมาณว่าป่วยตายในหน้าที่กันเลยเชียว ต้องต่อเวรช่วยกัน แลกเวรกันเองเพื่อไม่ให้ขาดคน ไม่กระทบทั้งหน้าที่ปกติ และเวรห้องพยาบาล แม้จะโดนเรียกขึ้นเวรกระทันหัน (stand by รอผลจากม็อบ) ก็หาตัวช่วยมาแทนได้ทุกครั้งไป แม้จะขลุกขลักบ้างแต่เวรห้องพยาบาลก็ราบรื่นพอควร

จนถึงวันนี้ ฉันหายโกรธพี่เขาเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงความเป็นห่วงและอยากอวยพรให้พี่เขาได้มีงานที่มั่นคงทำ เพราะในช่วงเวลาที่เราทำงานร่วมกัน แม้ในตอนแรกฉันจะพยายามช่วยพี่เขาด้วยการเฉลี่ยเวรให้ได้มากที่สุด ช่วยเหลือยามพี่เขาต้องการใช้เงินก่อนที่กำหนดของเงินค่าเวรจะมาถึง แต่พี่เขาก็มีส่วนช่วยให้ทีมของเราทำงานได้อย่างราบรื่น โดยเฉพาะในยามที่น้องพยาบาลถูกเปลี่ยนเวรกลับไปกระทันหัน หรือยามที่มีงานพิเศษที่ไม่ใช่งานห้องพยาบาลปกติ เพิ่มขึ้นมา ฉันเลือกที่จะจดจำเพียงสิ่งดีๆ ที่เราเคยมีให้กัน

แต่…ฉันเชื่อในผลของกรรม (การกระทำ) ไม่ว่าเราจะเจตนาหรือไม่ก็ตาม ทั้งกรรมดีหรือกรรมไม่ดี ย่อมต้องส่งผลคืนกลับเราแน่นอน และฉันก็ได้รับผลจากการกระทำทั้งดีและไม่ดีนั้นแล้ว ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่ฉันทำได้คือ อโหสิกรรมให้พี่เขาสำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้ และทุกครั้งที่มีโอกาสทำบุญ ตักบาตร หรือแม้แต่สวดมนต์ในแต่ละวัน ก็จะอุทิศส่วนกุศลจากการกระทำของฉันถ้าจะพอมีให้กับพี่เขา เพื่อหวังจะลดทอนผลของกรรมไม่ดีครั้งนี้ลงได้บ้าง
……………………………..


แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม จนถึงวันนี้ ฉันก็ยังยืนยันความคิดเดิม ….
ครั้งหนึ่งแม่ฉันเคยถามฉันว่า ถ้ามีหน่วยงานของรัฐ ให้ทุนไปเรียนปริญญาเอกต่อที่ต่างประเทศ โดยให้กลับมาทำงานใช้ทุน ทีนี้ระหว่างทำงานใช้ทุนอยู่ มีบริษัทเอกชนมาชวนไปทำงานด้วย ให้เงินเดือนถึง ๓ เท่าของปัจจุบัน แถมยังจะช่วยใช้ทุนให้แทนอีก จะว่ายังไง
“ไม่ไป” ที่หน่วยงานของรัฐส่งเราไปเรียน เพราะเขาขาดคนในสาขาวิชานี้ ในเมื่อรับทุนเขาไปเรียนแล้ว ก็ต้องใช้ทุนให้เสร็จ ใช่ ใช้เป็นเงินก็ได้ แต่ที่เขาส่งเราไปเรียนก็เพราะเขาต้องการคนทำงาน ถ้าเราไปเสีย เขาก็ต้องขาดคนในสาขานี้อีก ทำงานของเราตามหน้าที่ให้เสร็จเสียก่อน เมื่อหมดภาระใจกับเขาแล้วค่อยคิดอีกที แม้ว่างานนี้อาจจะไม่รอเรา แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่มีโอกาสได้งานที่ดี ที่เหมาะสมกับเรามากกว่านี้ ก็แค่… งานนี้ไม่ใช่งานของเราก็เท่านั้นเอง

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ค. 2010, 10:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 ม.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 141


 ข้อมูลส่วนตัว


ขอบคุณมากค่ะ สำหรับบทความดี ๆ :b41: :b41:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 72 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร