ลานธรรมจักร http://www.dhammajak.net/forums/ |
|
เกล็ดแก้ว เป็นข้อธรรมจากสุสานดำ โดยฐิตสาโร ภิกขุ http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=30851 |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 |
เจ้าของ: | พลบค่ำ [ 14 เม.ย. 2010, 20:10 ] |
หัวข้อกระทู้: | เกล็ดแก้ว เป็นข้อธรรมจากสุสานดำ โดยฐิตสาโร ภิกขุ |
ข้อความทั้งหลายที่ทุกๆ ท่านจะได้เห็น เป็นข้อความที่ถูกถ่ายทอดมาจากหนังสือ “เกล็ดแก้ว จากสุสานดำ ดอยทับเถ้า” โดยที่เจ้าของกระทู้ได้อ่านจบแล้วและมีความประทับใจเป็นอย่างมาก เลยอยากนำมาแบ่งปันให้ทุกๆ ท่านได้เพลินไปกับการอ่านข้อหลักธรรม และหวังไว้อย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์และข้อคิดให้ผู้ใดไม่มากก็น้อย โดยจะค่อยๆ พิมพ์ทีละหน้าทีละตัวอักษรนำมาทยอยให้อ่านค่ะ หากผิดพลาดประการใด ก็ขอกราบอภัยไว้ ณ ที่นี่ค่ะ ++++++++++++++++++++++++++++ เกล็ดแก้ว เป็นข้อธรรมจากสุสานดำ โดย ฐิตสาโร ภิกขุ เกล็ดแก้วเป็นเพียงบทธรรมสั้นๆ ที่เน้นหนักในธรรมชาติเป็นสำคัญ แต่ละหัวข้อธรรมจะแตกต่างกันออกไป มีทั้งเรื่องของทาน-ศีล-ภาวนา-และผลกรรม ซึ่งแต่ละหัวข้อธรรมนั้นจะมีบทสรุปอยู่ในตัวจึ่งง่ายต่อ การอ่านและทำความเข้าใจข้อเขียนธรรมที่ย่อสั้นทั้งหมดนี้ เป็นประดุจเกล็ดมณีน้อยที่หลุดออกมา จากดวงแก้วมณีดวงใหญ่ (ที่หมายถึงคำสอนของพระศาสดา ซึ่งมีมากมายจนสุดประมาณ) และได้รวมตัวกันอยู่ในเกล็ดแก้วเล่มนี้ แม้จะเป็นเพียงกลุ่มของเศษสะเก็ด แต่นั้นก็คือเกล็ดแก้วมณีที่มีค่าล้ำมิใช่หรือ (คำนำที่อยู่ภายในหนังสือที่ถูกคัดออกมา) แก้วมณีฉาย..... ส่องประกายวาววับ ชวนจับต้อง แม้แสงสูรย์สาดแสง แดงเรืองรอง แก้วมิหมองส่องแสง แข่งศักดา รัตนมณีที่ใจ..... สีสุกใสดุจมณี ไม่มีหมอง ธรรมะรังสีฉายส่อง จึงเรืองรอง ไม่หม่นหมอง แม้ต้องแสง แห่งอธรรม ++++++++++++++++++++++++++++ ในโลกนี้มีสิ่งน่ากลัวอยู่มากมาย แต่สิ่งที่น่ากลัวยิ่งสิ่งนั้น คือ “อารมณ์ปรุงแต่ง” เพราะมันสามารถทำให้... คนดี เปลี่ยนเป็น คนบ้า คนกล้า เปลี่ยนเป็น คนขี้ขลาด และคนเข้มแข็ง เปลี่ยนเป็น คนอ่อนแอ ได้เสมอ ++++++++++++++++++++++++++++ ความเมตตาการุณ อบอุ่นจิต ส่องทุกทิศทั่วถิ่น มิสิ้นสูญ ดังสุรีย์สาดแสง แดงเกื้อกูล มอบไออุ่นถ้วนทั่ว ทุกตัวตน ++++++++++++++++++++++++++++ เราสามารถขึ้นไปยืนบนที่สูงได้ด้วยอาศัยเท้า ทั้งสองของเรานำพาไป เช่นเดียวกับการก้าวไปสู่ความสำเร็จขั้นสูงสุดของชีวิต ทั้งด้านการงานหรือด้านการศึกษานั้น จำต้องอาศัยความสามารถของตนเป็นสำคัญ และตรงข้ามเราไม่อาจใช้มือทั้งสองของเราที่มีอยู่ อุ้มชูตนเองไว้บนที่สูงได้ แต่อาศัยการอุ้มชูจากผู้อื่นฉันใด ความดีความสามารถ และความสำเร็จอันเกิดขึ้นจากตัวเรานั้นจะเด่นดังขึ้นได้ มิใช่เพราะการโฆษณายกยอตัวตนของเราเอง แต่ต้องเกิดขึ้นจากการยอมรับยกย่องอุ้มชูจากผู้อื่นฉันนั้น ++++++++++++++++++++++++++++ การฆ่าตัวตายเป็นความชั่วร้ายของตนเอง การตายด้วยอุบัติเหตุ นั้นเป็นเพราะเภทภัยพิบัติ การตายเพราะความชรานั้นเป็นธรรมดาของสังขาร แต่บุคคลผู้ตายเพราะสาเหตุจากพิษร้ายของ เหล้า บุหรี่ กัญชา ยาเสพติดนั้น กลับเป็นความตายที่โง่เง่านัก ++++++++++++++++++++++++++++ พระอรหันต์มี ๓ ลักษณะด้วยกันดังนี้คือ ๑ สำเร็จพระอรหันต์ทาง กาย วาจา หมายถึงผู้ที่เคร่งครัดเฉพาะส่วนของทางกายและวาจาเท่านั้น ไม่ว่า จะยืนเดิน นั่ง นอน ดื่ม กิน พูด ล้วนปรุงแต่งให้เป็นไปตามความสำรวมระวังน่าเลื่อมใสยิ่งนัก กาย,วาจา จึงเหมือนเป็นผู้อยู่ห่างไกลจากกิเลส แต่จิตกลับมากด้วยความสับสนระคนด้วยตัณหาทุกเพลาเทียว ๒ สำเร็จพระอรหันต์ทางใจ หมายถึงผู้ที่ปล่อยให้กายวาจาเป็นไปอย่างสบายๆ โดยไม่เคร่งเครียดนัก จนดูคล้ายผู้ไร้ความสงบ แต่แฝงไว้ด้วยความบริสุทธิ์ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ ส่วนจิตใจนั้นสงบสุขุมเยือกเย็น สมบรูณ์ด้วยสติ เคร่งครัดกับความคิดชั่วร้าย โดยไม่ปล่อยให้ครอบคลุมจิตใจได้ ๓ สำเร็จอรหันต์ทั้งทางกายวาจา และใจ หมายถึง ผู้ที่มีกายและวาจาเคร่งครัด มีความดีงามในทุกอิริยาบถ มีสติอันสมบรูณ์คอยควบคุมจิตใจให้คิดนึก เป็นระเบียบอยู่ในระบบของอริยะ ผู้สำเร็จอรหันต์ในลักษณะนี้จึ่งเปี่ยมด้วยความ สุข สงบ สง่า ทั้งกาย วาจา ใจ โดยพร้อมเพรียงกัน ++++++++++++++++++++++++++++ ความจริงแล้วการให้ มิได้กำหนดอยู่ที่การให้แต่วัตถุเพียงอย่างเดียวก็หาไม่ แต่รวมไปถึงการให้ทางกาย วาจา ใจ ด้วย ซึ่งถ้าเรารู้จักใช้กำลังกายให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น กล่าววาจาให้เป็นไปเพื่อสร้างสรรค์ เป็นไปเพื่อธรรมทำใจให้สุขสงบ ปล่อยละวางต่อความคิดที่จะทำให้เกิดโทษแก่ตนและผู้อื่น แล้วจักเกิดกุศลอันยิ่งใหญ่กว่าการให้ด้วยวัตถุเสียอีก ส่วนคำกล่าวที่ว่าการให้ด้วยวัตถุเท่านั้นจักเกิดบุญ นั้นเป็นเพียงสิ่งที่มนุษย์กำหนดขึ้นเอง หาใช่ธรรมไม่ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วผู้ที่ไร้ทรัพย์สมบัติโดยมีแต่กาย วาจา ใจ คงหมดโอกาสที่จักได้สัมผัสกับสวรรค์ นิพพาน แน่เทียว ฉะนั้น แม้บุคคลไม่มีวัตถุจะให้ ขอเพียงมีใจที่เปี่ยมล้นพร้อมต่อการให้อยู่เป็นนิจ ก็จักเกิดบุญกุศลไม่น้อยไปกว่าการให้ด้วยวัตถุทีเดียว. ++++++++++++++++++++++++++++ การทำทานทั้งทางโลกและทางธรรม หากประกอบด้วยปัญญาและความรู้ความเข้าใจต่อทานนั้นๆ อย่างแท้จริงแล้วย่อมจักเกิดผลดีมากกว่า การกระทำไปด้วยความโง่งมงาย ดังนั้นพึงศึกษาให้รู้ถึงวิธีทำทานรักษาศีล และการเจริญภาวนาให้ถ่องแท้เสียก่อนจึงจะค่อยกระทำ เพราะการทำทานโดยขาดปัญญาจะไม่เกิดบุญกุศลแก่ผู้กระทำเลย เหมือนลิงที่หว่านเงินให้ผู้คนหิวกระหาย โดยไม่รู้ตัวว่ามันกำลังทำอะไรอยู่ ทำเพื่อใคร และทำทำไม การรักษาศีลที่ขาดปัญญา เหมือนกับการนำผ้าขาวหรือผ้าเหลืองมาห่อหุ้มตอไม้ไว้ ซึ่งจักไม่เกิดประโยชน์อันใดเลย และการเจริญภาวนาโดยขาดปัญญา ผลที่จะได้รับคือ มิจฉาทิฐิ และมิจฉาสมาธินั่นเอง ++++++++++++++++++++++++++++ แมลงเม่าจักยอมพลีชีพในกองไฟ โดยหวังเพียงให้ได้รับแสงสว่างและไออุ่นจากเปลวไฟเพียงชั่วขณะ มดจักยอมตายจมอยู่ในทะเลแห่งความหวาน เพียงเพื่อให้ได้ดูดดื่มรสของน้ำหวาน และมนุษย์ผู้ยอมทน วนเวียนอยู่ในทะเลทุกข์ของวัฏฏสงสารอันยาวนาน ก็เพียงเพื่อแลกกับความสุขเล็กน้อยอันเกิดจาก รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ และธรรมารมณ์เท่านั้น ++++++++++++++++++++++++++++ อำนาจใดใดล้วนไม่ยั่งยืน เว้นแต่อำนาจอันเกิดจากความอ่อนน้อมถ่อมตน และความเมตตากรุณาเท่านั้นที่จักจีรังยั่งยืนชั่วกาล ++++++++++++++++++++++++++++ อะไรละ จะมีค่ายิ่งไปกว่าความเหน็ดเหนื่อยที่เราได้ทุ่มเทไปกับงานนั้นๆ แม้ผลที่ออกมาจะเป็นความพ่ายแพ้ก็ตาม แต่นั้นคือผลลัพธ์จากความพยายาม และการอดทนต่อสู้ของเรามิใช่หรือ... ++++++++++++++++++++++++++++ ผู้มีเมตตา จักมีเมตตาแม้ต่อผู้ปองร้าย รอยยิ้มของปุถุชน จักถูกทำลาย....เมื่อถูกขัดใจและจริยาวัตรอันงดงามนั้นจักเห็นได้ แต่จำเพาะในยามต้องกระทบแต่อารมณ์ฝ่ายดีเท่านั้น นักปราชญ์ ผู้อยุ่เหนืออารมณ์เหนือเหตุผล แล้วจักยิ้มรับและทรงจริยาวัตรอันงามไว้ในทุกสถานะ แม้จักกระทบด้วยอารมณ์ที่เลวร้ายก็ตาม ดุจนายท้ายเรือผู้ชำนาญแม้ต้องพายุร้ายคลื่นทะเลแรงอย่างไร เขาจักใช้ความอดทนกอปรด้วยสติ ความสามารถประคองนาวานั้นให้ผ่านคลื่นร้ายไปได้ดี ++++++++++++++++++++++++++++ ดอกไม้หอมจักอยู่ที่ใด แม้อยู่ใกล้กองอุจจาระก็ยังคงความหอมไว้มิสร่างซา หากแต่เพราะกลิ่นเหม็นของอุจาระที่มีกำลังแรงกว่านั้นเอง จึงทำให้ดอกไม้ดูคล้ายไร้กลิ่นหอม แม้ในคนเลวจะมีความดีอยู่ด้วยก็ตาม หากความเลวนั้นมีปริมาณที่มากกว่า แล้วใครๆจักเห็นเขาเป็นเช่นคนเลว ดุจดอกไม้ใกล้กองอุจจาระ ฉะนั้น ++++++++++++++++++++++++++++ รอยยิ้มบริสุทธิ์ คำพูดซื่อที่มิได้แฝงด้วยกลโกง กอปรกับกายที่อ่อนน้อมดุจไม้ไหวตามลมอันเป็นไปโดยธรรมชาติแท้ ทั้งหมดคือส่วนหนึ่งที่จะนำไปสู่ความเป็นปิยะชนของมหาชน... ++++++++++++++++++++++++++++ ทำบุญตรงนี้ไม่มีเหรียญตรามอบให้ ทำบุญตรงนี้ไม่มีใบประกาศเกียรติคุณ ทำบุญตรงนี้ไม่ใช่เพื่อคำสรรเสริญเยินยอ เพราะที่นี้ สอนให้ทำบุญด้วยจิตบริสุทธิ์และมีใจเป็นสุข จากการให้เป็นสำคัญ ++++++++++++++++++++++++++++ แล้วจะนำมาเพิ่มเติมเรื่อยๆน่ะค่ะ ^^~ ขอบพระคุณที่ตามอ่านค่ะ |
เจ้าของ: | kanalove [ 14 เม.ย. 2010, 20:27 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: เกล็ดแก้ว เป็นข้อธรรมจากสุสานดำ โดยฐิตสาโร ภิกขุ |
อ้างคำพูด: ผู้มีเมตตา จักมีเมตตาแม้ต่อผู้ปองร้าย อ่านแล้วสะดุ้งเลยอ่า.... = =" หุหุ... ไม่เป็นไร ตอนนี้เราขอบทบาทหน้าที่เป็น ธรรมะปราบอธรรม ไปก่อนนะ ^ ^~ หุหุ |
เจ้าของ: | พลบค่ำ [ 18 เม.ย. 2010, 20:56 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: เกล็ดแก้ว เป็นข้อธรรมจากสุสานดำ โดยฐิตสาโร ภิกขุ |
จงเป็นผู้ให้ด้วยที่บริสุทธิ์โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนจากการให้ จงเป็นผู้ให้โดยไม่เจาะจงสัตว์ บุคคล ตัวตน แต่จงให้ทุกชีวิตที่ยังต้องการความช่วยเหลือ จงให้ตามฐานะที่ได้รับมาจากแรงงาน และความบริสุทธิ์ แม้สิ่งที่ให้ไปดูน้อยค่า หากเต็มไปด้วยเมตตาแล้วย่อมมีด้วยกุศล จงเป็นผู้ให้ดีกว่าผู้รับ เพราะให้ด้วยใจบริสุทธิ์ โยมไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ แต่ผู้รับหากรับแล้ว ประพฤติตนไม่ดีสมค่าที่เขาให้ ย่อมได้รับผลเป็นนรก ปัจจุบันนี้เรามักอาศัยการทำบุญเป็นการค้า คือลงทุนไปแล้วเกิดผลกำไร ทุกครั้งที่เราทำบุญจึงมักตั้งความปรารถนาว่าได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ อันมีความร่ำรวย และสวรรค์เป็นต้น เมื่อมั่นใจว่าจะได้ตามที่ตนปรารถนาจึงพากันทำบุญ หากเขารู้ว่า บุญที่แท้จริงนั้นคือการให้ที่เสียสละและบริสุทธิ์ใจ เพียงหวังว่าผู้รับมีความสุขจากการให้ของเราเท่านั้น โดยผุ้ให้จะไม่ได้รับสิ่งตอบแทนใดทั้งสิ้น หากเป็นเช่นนี้มนุษย์คงไม่อยากที่จะทำบุญ ดังนั้นเราจึงไม่ควรเข้าใจว่า การทำบุญ คือ “การค้านานธรรม” การที่ผู้ต้องการความช่วยเหลือ ไม่เข้าไปขอความช่วยเหลือจากผู้ที่ต้องรับผิดชอบและช่วยเหลือคนมากในแต่ละวันอยู่แล้ว นับเป็นบุญประการหนึ่ง แต่หากท่านได้มีส่วนช่วยเหลือผู้ที่ชอบช่วยเหลือผู้อื่นอยู่มาก จะด้วยกาย วาจา หรือดวงจิตที่อนุโมทนา ท่านจักเป็นบุญกุศลเป็นกำลังสองทีเดียว ผู้ที่ให้อภัยแก่ผู้อื่นเสมอ คือ “ผู้ชนะ” แต่ผู้ใดชนะแล้วยังไม่ยอมให้อภัยแก่ ”ผู้แพ้” ผู้นั้นยังไม่เชื่อว่าเป็นผู้ชนะที่แท้จริงเพราะ...เขายังไม่แพ้ มานะ ทิฐิของตนเองอยู่ |
เจ้าของ: | พลบค่ำ [ 19 เม.ย. 2010, 19:23 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: เกล็ดแก้ว เป็นข้อธรรมจากสุสานดำ โดยฐิตสาโร ภิกขุ |
ทาน-ศีล เป็นเพียงสิ่งที่คอยควบคุม ให้กายของเรา ดูสวย เรียบร้อย และน่าเลื่อมใสเท่านั้น แต่ก็ไม่สามารถที่จะควบคุมใจให้คิดดีอยู่ในระบบ นอกจากผู้บำเพ็ญภาวนาเท่านั้น จึงจะสามารถควบคุมใจคิดมีระเบียบได้ ++++++++++++++++++++++++ โลกของปุถุชนความดีจักซ่อนอยู่ในความชอบ และความหวานจักซ่อนตนอยู่ในความขมเสมอ ฉะนั้นผู้ที่มีไฟรักยังไม่สิ้นจากใจจึงไม่อาจปฏิเสธต่อความโกรธที่จักต้องเกิดขึ้นอย่างแน่แท้ เมื่อรู้เช่นนี้เราจักไม่โกรธตอบในยามผู้ที่มีใจรัก โกรธ และปล่อยวางในขณะขมเปรี้ยวของผู้มีใจรักหวานซึ้ง เพราะใจโกรธจะแอบแฝงอยู่กับใจรักเสมออยู่ที่อารมณ์ใดจักแสดงตนออกมาก่อนเท่านั้น เว้นเฉพาะคนที่รักแต่ไม่รัก จึงจักไม่มีความโกรธซ่อนแฝงอยู่เลย. ++++++++++++++++++++++++ เราได้ยินเสียงของมนูหนึ่งตะโกนก้องว่า “เราไม่ได้กลัวตาย แต่เรากลัวความเจ็บปวดก่อนตายและความโง่ที่ไม่รู้ว่าตายแล้วไปไหน...หากความตายไม่เกิดขึ้นหลังความเจ็บปวดผ่านพ้น หรือตายแล้วได้ไปสู่ที่ตามตนปรารถนา เราจักไม่กลัวความตายเลย” ++++++++++++++++++++++++++++++ ความตายมิใช่หมายถึงร่างกายหยุดเคลื่อนไหวและไร้ลมหายใจเท่านั้น นั่นเป็นเพียงการย้ายที่อยู่ใหม่ของจิตวิญญาณเท่านั้น เมื่อใดที่วิญญาณตายจากกิเลสไม่ปรุงแต่งต่ออารมณ์ผัสสะอันเกิดจากการรับรู้ของวิญญาณจากทวารทั้ง๖ แล้วนั้นแหละจึงจักเป็นการตายที่แท้จริง เพราะวิญญาณจักไม่สามารถสร้างภพชาติและเรือนกายใหม่อีกแล้ว. ++++++++++++++++++++++++++++++++ การทำความดีหมายถึงสิ่งที่ดีงามไม่ทำให้ผู้กระทำต้องตกต่ำ แต่จักส่งผลให้ได้รับความเจริญฝ่ายเดียว สำหรับผู้ที่ทำความดีแล้วยังไม่ได้ดีอาจเป็นเพราะทำความดีไม่ถึงดี ไม่รู้ลึกซึ้งถึงเรื่องการทำความดีหรือใจร้อนต้องการให้ความดีส่งผลโดยพลัน เป็นต้น เขาจึงทำดีไม่ได้ดี ซึ่งการทำความดีอุปมาเหมือนยาที่กำลังรักษาแผลเน่าให้กลายเป็นเนื้อดี การทำความดีเหมือนน้ำซึมบ่อทราย การทำความดีเหมือนการค้าขาย ทั้งหมดต้องใจเย็นๆและอาศัยกาลเวลาบ้างจักจึงเห็นผลเว้นเสียแต่ผู้ที่ทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทนเท่านั้นที่ไม่ต้องอาศัยเวลา เพื่อรอรับผลของความดี เพราะการทำความดีในลักษณะนี้ทำเมื่อใดก็จะได้รับผลดีเมื่อนั้นเลยทีเดียว. ++++++++++++++++++++++++++++++++++ ความดีเป็นนามธรรมมิใช่สมบัติจำเพาะของผู้ใด ผู้มีตาดีจักเห็นค่าและทำดี ผู้มีตาเลวจักเห็นค่าของความเลวและทำเลว ฉะนั้นคนดีที่ชอบด่าคนเลวซึ่งทำดีเหมือนตนไม่ได้นับว่าเลวมากกว่าอุปมาเหมือนคนไม่รู้จักสีย่อมมิใช่คนเลว หากเป็นเพราะเขามีนัยน์ตาบอดสีต่างหาก. |
เจ้าของ: | spirit [ 12 มิ.ย. 2010, 12:43 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: เกล็ดแก้ว เป็นข้อธรรมจากสุสานดำ โดยฐิตสาโร ภิกขุ |
เคยอ่านหนังสือเล่มนี้ตอนเด็กๆ อย่างทราบว่าตอนนี้ท่านยังอยู่ที่ อ.ไชยปราการ อยู่รึเปล่าคะ? ครั้งล่าสุดที่ไปมาเห็นบอกว่าท่านย้ายไปอยู่ จ.เชียงราย พอจะทราบที่อยู่ท่านแน่นอนมั้ยคะ? เผื่อจะได้ไปกราบท่านบ้างค่ะ.. ![]() |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 | เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง |
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group http://www.phpbb.com/ |