วันเวลาปัจจุบัน 06 พ.ค. 2025, 00:24  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 มิ.ย. 2010, 15:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
วัดเรียวอันจิ เกียวโต ญี่ปุ่น


๖ – ๑๙ เมษายน ๒๕๕๓ ผู้เขียนและคณะสถาปนิกผู้เป็นโพธิสัตวภาคี (พธส./อาสาสมัคร) ในการออกแบบสถาบันวิมุตตยาลัย ซึ่งเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่ผู้เขียนมีโครงการจะสร้างขึ้นที่รังสิตคลอง ๑๔ ในอนาคตอันใกล้ จำนวน ๑๑ คน อยู่ในระหว่างศึกษาดูงานสถาปัตยกรรมและการวางแผนผังการพัฒนาวัดในพุทธศาสนา ณ ประเทศญี่ปุ่น

เราออกเดินทางไปศึกษาดูงานกันหลายวัด หลายพิพิธภัณฑ์ และวันนี้ คณะของเราเดินทางมาถึงวัด “เรียวอันจิ” ซึ่งเป็นวัดขนาดกลาง ตั้งอยู่ในเมืองเกียวโต ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่นมาก่อน

รูปภาพ



วัดเรียวอันจิ เป็นวัดในพุทธศาสนานิกายเซน วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่แต่โบราณ มีอายุเก่าแก่พอๆ กับเมืองเกียวโต เสน่ห์ที่ดึงดูดให้ใครต่อใครมาเยือนวัดเก่าแก่แห่งนี้ก็คือ การจัดสวนแบบเซน ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือ “ง่าย แต่ งาม”

คณะของผู้เขียนมาได้ถูกจังหวะพอดี เพราะช่วงนี้ดอกซากุระกำลังผลิบานทั่วเกาะญี่ปุ่น ซ้ำอากาศก็กำลังหนาวเย็นสบาย ไม่มากไปไม่น้อยไป คณะของผู้เขียนมาถึงวัดนี้ในเวลาบ่ายยแก่ๆ แต่ถึงกระนั้นผู้คนที่มาชมสวนก็ยังมีมากมายคับคั่ง

รูปภาพ


อาณาบริเวณของวัดร่มครึ้มด้วยแมกไม้และสวนสวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสวนซากุระที่แข่งกันผลิดอกสะพรั่งอวดสายตาผู้มาเยือน แต่หัวใจจริงๆ ไม่ใช่ซากุระที่กำลังอวดความสวยงาม หากแต่เป็นสวนหินที่จัดโดยอาศัยศิลปะแบบเซนต่างหาก

“เซน” เป็นภาษาญี่ปุ่น ตรงกับคำว่า “ฌาน” ในภาษาบาลี หรือ “ฉาน” ในภาษาจีน แปลตรงตัวว่า “สมาธิ” หรือการ “เพ่งพิจารณา” แต่ในทัศนะของผู้เขียนคิดว่า คำแปลที่แท้จริงของเซ็นน่าจะตรงกับคำว่า “ตื่นรู้อยู่ในปัจจุบันขณะ” หรือ “ซาโตริ” ในภาษาญี่ปุ่นมากกว่า

พุทธศาสนานิกายเซนนั้น มีรากเหง้ามาจากพุทธศาสนาดั้งเดิม เติบโตขึ้นในจีน และคลี่คลายขยายตัวจนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในญี่ปุ่น แล้วก็แพร่หลายสู่ตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกามาจนทุกวันนี้

ลักษณะเฉพาะของพุทธศาสนานิกายเซนก็คือ เน้นการตื่นรู้อย่างฉับพลันทันทีโดยไม่อาศัยคัมภีร์หรือคำพูดมากมาย เครื่องมือสำคัญประการหนึ่งของเซนก็คือ การเจริญสติ (เช่น ที่แปรรูปมาเป็นพิธีชงชาและดื่มชาอย่างมีสติในวัฒนธรรมญี่ปุ่น) และการขบปริศนาธรรมที่เรียกว่า “โกอาน”

ที่วัดเรียวอันจิ เราได้มีโอกาสชื่นชมสวนหินแบบเซน ซึ่งจัดวางไว้อย่างเรียบง่าย งดงาม ลงตัว ทว่ามีนัยทางธรรมอย่างน่าสังเกต ท่ามกลางกรวดหินสีขาวสะอาดที่ได้รับการจัดวางอย่างงดงาม ตรงกลางสวน มีหินวางอยู่อย่างมีความหมาย กล่าวกันว่า ก้อนหินมีทั้งหมด ๑๕ ก้อน แต่โดยมากมักนับกันได้เพียง ๑๔ ก้อนเท่านั้นเอง

รูปภาพ


จำนวนหินที่ว่ามี ๑๕ ก้อน แต่เวลานับ กลับนับได้เพียง ๑๔ ก้อน คือ โกอาน หรือปริศนาธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งดึงดูดผู้สนใจสวนหินในวัดเซนแห่งนี้ให้มาใช้เวลาว่างนั่งพิจารณาหา “แก่น” ของปริศนาธรรมที่ว่านี้ แต่หากใครที่ไม่รู้จักเซนมาก่อน เวลามาถึงสวนอันงดงามแห่งนี้ สิ่งแรกที่พวกเขาจะทำก็คือการถ่ายรูปด้วยความตะลึงลานในความงาม

ผู้เขียนใช้เวลานั่งพิจารณาอยู่ที่สวนหินแบบเซนที่วัดเรียวอันจิอยู่ร่วมชั่วโมง ระหว่างนั้น ก็ได้ยินผู้ร่วมคณะขบปริศนาธรรมกันไปต่างๆ นานา

ต่างคนต่างตีความกันไปคนละแบบ

รูปภาพ


บางคนว่า หินมี ๑๕ ก้อน
บางคนว่า ๑๔ ก้อน
บางคนว่า หากนับจากด้านหนึ่งจะมองเห็นหินครบ ๑๕ ก้อน
บางคนว่า หากนับจากอีกด้านหนึ่งจะเห็นหิน ๑๔ ก้อน
เป็นอันว่า ทุกคนตกอยู่ใน “หลุมพราง” ที่เซนดักเอาไว้เต็มประตู



เพราะตามความเป็นจริง จากการพิจารณาของผู้เขียน สาระสำคัญในเรื่องนี้ คงไม่ได้อยู่ที่มีหินอยู่กี่ก้อน
แต่อยู่ที่ว่า คุณเห็น “หิน” ที่วางสงบอยู่ตรงหน้าไหม ? หรือคุณรู้จักอยู่กับปัจจุบันด้วยการ “เห็น” สักแต่ว่า “เห็น” หรือเปล่า ?

คนจำนวนมาก เมื่อเห็นอะไร ก็อดใช้ประสบการณ์เดิมมาตีความสิ่งที่เห็นไม่ได้ นั่นเป็นเหตุให้เราหลุดจาก “ปัจจุบันขณะ” เข้าสู่โลกของ “ความคิด” ซึ่งหากไม่เป็นความคิดอิงอดีต ก็อิงอนาคต เราจึงพลาดจากปัจจุบันขณะไปอย่างสิ้นเชิง

ต้องไม่ลืมว่า แก่นของเซน คือ “ปัจจุบันขณะ” (present moment)
ต้องไม่ลืมว่า แก่นของเซน ไม่เน้นการ “คิด” แต่เน้นการ “ตื่น”
ต้องไม่ลืมว่า แก่นของเซน ไม่เน้นการ “รู้” แต่เน้นการ “รู้สึก” สดๆ เฉพาะหน้า
ต้องไม่ลืมว่า แก่นของเซน เน้นสิ่งที่อยู่ “ตรงหน้า” ไม่ใช่สิ่งที่ถูกซ่อนไว้ในวันวารหรือวันพรุ่ง
ต้องไม่ลืมว่า แก่นของเซน ไม่เน้นหัวสมอง หากแต่เน้น “หัวใจ”



เมื่อเราจับแก่นของเซนไม่ได้ เราจึงพลาดไปถกแถลงกันว่า ตกลงหินมีกี่ก้อน ?
พอติดกับดักอยู่กับจำนวนของก้อนหิน และพลาดจากปัจจุบันขณะไปใช้หัวสมองมากกว่าหัวใจ เราจึงได้ไปเยือนสวนเซนแค่กาย แต่ใจนั้นยังไปไม่ถึง

สวนหินแบบเซน ถูกออกแบบเพื่อเป้าหมายคือการเจริญสติ ถ้ามาเยือนสวนหินแห่งนี้แล้ว พลาดจากการเจริญสติไป ก็นับว่าน่าเสียดาย

น่าเสียดายที่เข้ามาอยู่ในสวนเซน แต่มองไม่เห็นหัวใจของสวนที่แท้จริง

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร