ลานธรรมจักร http://www.dhammajak.net/forums/ |
|
ธรรมะของพระครูญาณวิศิษฐ์ (ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก) http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=29244 |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 |
เจ้าของ: | ธรรมบุตร [ 01 ก.พ. 2010, 13:44 ] |
หัวข้อกระทู้: | ธรรมะของพระครูญาณวิศิษฐ์ (ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก) |
ธรรมะของพระครูญาณวิศิษฐ์ (ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก) • ก่อนที่จะพูดอะไร ให้ถามตัวเองว่าที่จะพูดนี้จำเป็นหรือเปล่า ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าพูด นี่เป็นขั้นแรกในการอบรมใจ เพราะถ้าเราควบคุมปากตัวเองไม่ได้เราจะควบคุมใจได้อย่างไรฯ • หูเราก็มี ๒ หู ปากก็มีปากเดียว แสดงว่าเราต้องฟังให้มาก ต้องพูดให้น้อยฯ • ศิษย์ที่เป็นคนช่างพูดเคยถูกท่านพ่อเตือนว่า “ อย่าให้ลมออกมากนะ ลมออกมากได้อะไรขึ้นมา มีแต่เรื่อง ให้กำหนดลมเข้าจะดีกว่าฯ • เรามีอะไรเกิดขึ้นในระหว่างภาวนา เราไม่ต้องไปเล่าให้ใครฟังนอกจาก อาจารย์ของเรา เรามีอะไรจะไปอวดเขาทำไม เป็นกิเลสไม่ใช่หรือฯ • คนชอบขายความดีของตัวเอง ที่จริงขายความโง่ของตัวเองมากกว่าฯ • ของดีจริงไม่ต้องโฆษณาฯ • ให้มีคมในฝัก ให้ถึงเวลาที่จะต้องใช้จริง ๆ จึงค่อยชักออกมาจะได้ไม่เสียคมฯ • ท่านพ่อได้ยินศิษย์สองคนนั่งคุยกัน คนหนึ่งถามปัญหาอีกคนหนึ่งตอบโดยเริ่มต้น “ เข้าใจว่า คงจะ... ” แต่ท่านพ่อก็ตัดบททันที “ ถ้าไม่รู้ก็ตอบว่าไม่รู้ก็หมดเรื่อง เขาขอความรู้เราก็ให้ความเดามันจะถูกที่ไหนฯ • ลูกศิษย์อีกคนหนึ่งรู้ตัวว่า เป็นผู้ที่พูดจาไม่ค่อยเรียบร้อยจึงถามท่านพ่อว่า ข้อนี้จะเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติใจไหม ท่านตอบว่า “ อย่าไปข้องใจกับกิริยาภายนอก ให้ภายในใจของเราดีเป็นสำคัญฯ • เวลากินข้าวให้ใจอยู่กับลม แล้วพิจารณาดูว่า เรากินเพื่ออะไร ถ้าเรามัวแต่กินเพื่อเอร็ดอร่อย อาหารที่กินเข้าไปนั้นให้โทษกับเราได้ฯ • สร้างพระไว้ในใจของเรา ได้บุญยิ่งกว่าสร้างพระข้างนอกฯ • วันหนึ่งท่านพ่อชี้หญ้าที่ขึ้นรกบริเวณกุฏิท่านให้โยม คนหนึ่งดู แล้วถามเขาว่า “ หญ้าปากคอกโยมไม่เอาหรือ ” • อีกครั้งหนึ่งท่านพ่อพาลูกศิษย์จากกรุงเทพฯ ขึ้นไปทำความสะอาดบริเวณพระเจดีย์ พอดีเจอเศษขยะที่ใครไม่ทราบทิ้งไว้บนนั้น ลูกศิษย์คนหนึ่งจึงบ่นว่า “ แหมไม่น่าจะมีใครขาดความเคารพถึงขนาดนี้ ” แต่ท่านพ่อบอกว่า “ อย่าไปว่าเขานะถ้าเขาไม่ได้ทิ้งของไว้ พวกเราจะไม่มีโอกาสเอาบุญฯ • ทำดีให้มันถูกตัวดี อย่าให้มันดีแต่กิริยาฯ • มีคนมาปรารภกับท่านพ่อว่า อยากจะทำบุญวันเกิดท่านก็บอกว่า “ ทำไมต้องทำวันเกิด ทำวันอื่นไม่เป็นบุญหรือ คิดอยากจะทำบุญเมื่อไร ก็ให้รีบทำวันนั้น อย่าไปรอวันเกิดกว่าจะถึงวันเกิด เราอาจจะถึงวันตายนั่นแหละฯ • อีกคนหนึ่งบอกกับท่านพ่อว่า จะทำบุญฉลองวันเกิดท่านก็ตอบว่า “ ฉลองมันทำไม วันเกิดก็คือวันตายนั่นแหละฯ • มัวแต่นึกถึงวันเกิด ให้นึกถึงวันตายเสียบ้าง • คนเราทุกคนก็อยู่ในบัญชีตาย พอเกิดมาเราก็เข้าคิวรอเขาประหารชีวิต จะถึงตัวเราเมื่อไรก็ไม่มีใครรู้ ฉะนั้น เราจะประมาทไม่ได้ ต้องรีบสร้างความดีของเราให้ถึงพร้อมฯ • มีลูกศิษย์ต่างชาติมาปฏิบัติธรรมกับท่านพ่อใหม่ ๆ ถามถึงเรื่องชาติก่อน-ชาติหน้า ว่ามีจริงหรือไม่ ท่านตอบว่า “ คนเราจะปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าสอนให้เชื่ออย่างเดียว คือเชื่อกรรมนอกจากนั้นจะเชื่อหรือไม่ก็ไม่สำคัญฯ • ท่านพ่อเคยปรารภคนที่ไม่สนใจนั่งภาวนา แต่ยินดีช่วยงานก่อสร้างในวัด ว่า “ บุญเบา ๆ เขาไม่ชอบ ต้องหาบุญหนัก ๆ ให้เขาทำ จึงจะถึงใจเขาฯ • คนเราถ้าทำดีแล้วติดดี ก็ไปไม่รอด เมื่อใจยังมีติดภพชาติยังมีอยู่ฯ • บางครั้งเวลาลูกศิษย์นั่งภาวนาหรือทำการบุญใดๆ ท่านพ่อจะสอนให้ อธิษฐานใจไว้ก่อน แต่คำที่สอนให้อธิษฐานนั้น จะขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล บางครั้งท่านจะสอนให้อธิษฐานตามแบบฉบับของพระเจ้าอโศกว่า “ เกิดชาติหน้า ขอให้มีความสามารถในตัวของตัวเอง นั่นก็พอฯ • บางครั้งท่านจะสอนว่า “ อย่าไปอธิษฐานอะไรให้มากมาย เกิดชาติหน้าฉันใด ขอให้เกิดตามพระพุทธศาสนาก็แล้วกันฯ • แต่ไม่ใช่ว่า ท่านพ่อจะสอนลูกศิษย์ทุกคนให้อธิษฐานใจเวลาทำบุญ ศิษย์คนหนึ่งเคยกราบเรียนท่านว่า เวลาทำบุญจิตรู้สึกเฉยๆ ไม่นึกอยากจะขออะไรทั้งสิ้น ท่านก็บอกว่า “ ถ้าจิตมันเต็มแล้ว ไม่ต้องขอก็ได้ เหมือนเราทานข้าวมันก็ต้องอิ่ม ถึงจะขอหรือไม่ขอให้มันอิ่ม อย่างไรมันก็ต้องอิ่มฯ • โยมคนหนึ่งมาวัดธรรมสถิตเป็นครั้งแรก กำหนดจะอยู่ถือศีล-ภาวนา เป็นเวลา ๒ อาทิตย์ ท่านพ่อก็เตือนว่า “ ฆราวาสออกจากบ้าน ก็เหมือนสมภารออกจากวัด จะไปหาความสะดวกสบายไม่ได้นะฯ • ในระหว่างการก่อสร้างเจดีย์ที่วัดธรรมสถิตย์ มีช่วงหนึ่งที่ลูกศิษย์ที่ไปช่วยงานก่อสร้างเกิดทะเลาะกัน ลูกศิษย์คนหนึ่งที่ไม่พอใจในเหตุการณ์ไปรายงานท่านพ่อ ซึ่งขณะนั้นพักอยู่ที่วัดมกุฎฯ พอเขารายงานเสร็จ ท่านพ่อก็ถามว่าฯ “ รู้จักหินไหม ” “ รู้จักค่ะ ” “ รู้จักเพชรไหม ” “ รู้จักค่ะ ” “ แล้วทำไมไม่เลือกเก็บเพชรล่ะเก็บมันทำไมหินฯ • ถ้าใจเรามั่นใจคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พวกที่เขาเล่นของไสยศาสตร์ จะทำอะไรเราไม่ได้ฯ • ท่านพ่อเคยปรารภนักปฏิบัติที่ยังนับถือคนเข้าทรง ว่า “ ถ้าต้องการให้การปฏิบัติได้ผลดีต้องอธิษฐานว่า จะขอถือองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอย่างเดียว อย่างอื่นไม่ใช่ที่พึ่งฯ • เราเป็นผู้ปฏิบัติธรรม ไม่ต้องไปอัศจรรย์ใครทั้งนั้นว่าเขาดีวิเศษวิโสแค่ไหน จะทำอะไรก็ต้องมีหลักฯ • ท่านผู้รู้ทั้งหลาย เราไม่ต้องไปเที่ยวกราบท่านหรอกเป็นการลำบากเปล่า ๆ ทั้งสองฝ่าย ให้กราบท่านในใจดีกว่าเรากราบท่านในใจนั่นแหละเราถึงท่านแล้วฯ • ของจริงขึ้นอยู่กับเรา ถ้าเราทำจริงเราจะได้ของจริง ถ้าเราทำไม่จริงเราจะได้แต่ของปลอมฯ • ไปกี่วัดกี่วัด รวมแล้วก็วัดเดียวนะละ คือวัดตัวเราฯ • ลูกศิษย์คนหนึ่งเป็นคนช่างถาม สงสัยอะไรก็ถามท่านพ่ออยู่เรื่อย เรื่องภาวนาบ้าง ปัญหาชีวิตบ้าง บางครั้งท่านก็ตอบดี ๆ บางครั้งท่านก็ย้อนถามว่า “ ทำไมจะต้องให้มีคนป้อนให้ถึงปากอยู่ตลอดเวลา ให้คิดเอาเองบ้างซิฯ • ท่านพ่อเคยปรารภเรื่องคนที่ต้องให้ครูบาอาจารย์แก้ปัญหาในชีวิตทุกอย่างว่า “ เหมือนลูกหมาพอมีขี้ติดตูดอยู่นิดหนึ่งก็ต้องรีบวิ่งไปหาแม่ ไม่รู้จักล้างตัวเองบ้าง อย่างนี้เรียกว่า ลูกแหง่เลี้ยงไม่โตสักทีฯ • คนติดครูบาอาจารย์ก็เหมือนแมลงหวี่มาตอม ไล่เท่าไร ๆ ก็ไม่ยอมไปฯ • พวกภาวนาที่อยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ แต่ไม่รู้จักท่านก็เหมือนทัพพีอยู่ในหม้อแกง ไม่มีโอกาสรู้รสของแกงว่า เปรี้ยว เผ็ด มันอย่างไรฯ • คนหลายอาจารย์ ที่จริงไม่มีอาจารย์เลยฯ • ถ้าครูบาอาจารย์ชมใครต่อหน้า แสดงว่าคนนั้นก็หมดแค่นั้น ชาตินี้ก็คงไม่ได้ปฏิบัติอะไรให้ยิ่งกว่านั้น ที่ท่านชมก็เพื่อให้เขาภูมิใจว่าในชาตินี้เขาได้ปฏิบัติถึงขนาดนี้ ใจจะได้มีอะไรไว้ยึดเหนี่ยวต่อไปฯ • มีลูกศิษย์คนหนึ่งมาขอรูปเล็ก ๆ ของท่านพ่อเพื่อห้อยไว้ที่คอ ท่านก็บอกว่า “ ไม่ต้องห้อยรูปครูบาอาจารย์หรอก ไม่ต้องไปบอกว่า ใครเป็นอาจารย์รู้ไว้ที่ใจก็พอฯ • ศิษย์หลายคน ในเมื่อรับความเมตตาจากท่านพ่อก็อดไม่ได้ที่จะพูดกับท่านว่า รักท่าน เคารพท่าน เหมือนพ่อบังเกิดเกล้า บางครั้งท่านก็ย้อนถามว่า “ จริงอย่างที่พูดหรือเปล่าถ้าจริงก็อย่าลืมลมซิ รักพ่อจริงอย่าทิ้งลมนะลูกฯ • อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเองฯ • จะดูคนอื่น ต้องดูที่เจตนาเขาฯ • เราจะให้คนอื่นเขาดี เราต้องดูว่า ดีของเขามีอยู่แค่ไหนถ้าดีของเขามีอยู่แค่นั้น เราจะให้เขาดีกว่านั้น เราก็โง่ฯ • ใครจะดีอย่างไรจะชั่วอย่างไร ก็เรื่องของเขา เราดูเรื่องของเราดีกว่า • ศิษย์คนหนึ่งเล่าให้ท่านพ่อฟังถึงปัญหาทั้งหลายแหล่ที่เข้ามาเรื่อย ๆ ในที่ทำงาน ตัวเองก็อยากจะลาออก อยู่เงียบ ๆ แต่ก็ลาไม่ได้ ท่านพ่อจึงแนะนำว่า “ ในเมื่อเราต้องอยู่กับมันเราต้องรู้จักให้อยู่เหนือมันเราจึงจะอยู่ได้ฯ • เราทำงาน อย่าให้งานทำเราฯ • ศิษย์อีกคนหนึ่งมาบ่นกับท่านพ่อว่า ทั้งในบ้าน ทั้งในที่ทำงาน ตัวองต้องเจอแต่ปัญหาหนัก ๆ แทบเป็นแทบตายทั้งนั้น ท่านจึงบอกว่า “ เราเป็นคนจริง จึงต้องเจอของจริงฯ • เจออุปสรรคอะไร เราก็ต้องสู้ ถ้าเรายอมแพ้เอาง่าย ๆ เราจะต้องแพ้ อยู่เรื่อยฯ • ข้างในเราก็ต้องแกร่ง มีอะไรมากระทบ เราจะได้มีหวั่นไหว • ให้พกหิน อย่าพกนุ่นฯ • ให้ทำตัวเป็นแก่น อย่าทำตัวเป็นกระพี้ฯ • เขาว่าเราไม่ดีมันก็อยู่แค่ปากเขา ไม่เคยถึงตัวเราสักทีฯ • คนอื่นเขาด่าเรา เขาก็ลืมไป แต่เราไปเก็บมาคิดเหมือนเขาคายเศษอาหารทิ้งไป แล้วเราไปเก็บมากิน แล้วจะว่าใครโง่ฯ • ใครจะด่าว่ายังไง ก็ช่างหัวมัน อย่าไปสนใจ ให้หัดเอาหินถ่วงหูไว้บ้าง อย่าเอามาหาบมาคอนหนักเปล่า ๆ ของไร้สาระฯ • เวลาลูกศิษย์คนไหนถือโกรธอยู่ในใจ ท่านพ่อจะสอนว่า “ ความโกรธแค่นี้เราสละกันไม่ได้หรือ ให้คิดว่าเราให้ทานเขาไปคิดดูสิ พระเวสสันดรสละไปแค่ไหน ท่านก็ยังสละได้ ไอ้ของแค่นี้ไม่มีค่าอะไร ทำไมเราสละกันไม่ได้ฯ • โกรธคือโง่ โมโหคือบ้าฯ • ทิฏฐิกับสัจจะ มันคนละอย่างกันนะ ถ้ารักษาคำพูดด้วยใจขุ่นมัว คิดจะเอาชนะเขา นั่นคือตัวทิฏฐิ ถ้ารักษาด้วยใจปลอดโปร่ง สงบเยือกเย็น นั่นคือสัจจะ ถ้าเวลารักษาสัจจะเราก็สงบเบาสบาย • สุขในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ฯลฯ ที่เราปรารถนามากเป็นพิเศษ แสดงว่าเราเคยเสวยแล้วในชาติก่อนๆ เราจึงคิดถึงมันในชาตินี้ คิดอยู่แค่นี้ ก็น่าจะเกิดความสลดสังเวชในตัวเองได้ฯ • เวลาเราทำงานอะไรอยู่ ถ้าเราสังเกตว่าใจเราเสียก็ให้หยุดทำทันที แล้วกลับมาดูใจของตัวเอง เราต้องรักษาใจของเราไว้เป็นงานอันดับแรกฯ • วัดนอกเราดูแลพอประมาณ สำคัญอยู่ที่วัตรในของเราอย่าให้ขาดฯ • เราบวชเป็นพระ ต้องพยายามลดละอารมณ์ฯ • เย็นวัดหนึ่งที่วัดธรรมสถิต ขณะที่พระอาทิตย์กำลังตกหลังเขา มีพระหนุ่ม ๆจากกรุงเทพฯ องค์หนึ่งนั่งที่ระเบียงกุฏิท่านพ่อแล้วพูดชมว่า “ แหม วิวที่นี่สวย ไม่ใช่เบานะ ท่านพ่อ ” ท่านพ่อก็สวนทางทันที “ ใครว่าสวย ดูซิตัวไหนที่ว่าสวย ให้ดูตัวนั้นดีกว่าฯ • วันหนึ่งในระหว่างที่ถูกุฏิท่านพ่ออยู่ พระที่ปฏิบัติท่านพ่อเป็นประจำ เกิดนึกขึ้นมาว่า ที่ตัวเองทำอย่างนี้คงจะได้อานิสงส์ไม่ใช่น้อย คิดไปก็ถูไป พอดี ท่านพ่อเดินขึ้นกุฏิแล้วพูดขึ้นมาว่า “ อยากได้อานิสงส์เต็มที่ ก็ต้องให้ใจอยู่กับลมซิฯ • เรื่องความสะอาด การเช็ดของ การวางของเข้าระเบียบ ฯลฯ เหล่านี้ ท่านพ่อเป็นคนละเอียดมาก ถ้าท่านสังเกตว่าลูกศิษย์คนไหนตั้งใจปฏิบัติท่านก็จะสอนเรื่องราวนี้อย่างเข้มงวดกวดขัน เพราะท่านเองถูกครูบาอาจารย์ฝึกมาอย่างนี้ และท่านถือว่า “ แค่ของหยาบ ๆ อย่างนี้ทำไม่ได้ แล้วการทำใจซึ่งเป็นของละเอียดกว่านี้จะทำได้อย่างไรฯ • การเป็นผู้ปฏิบัติ ไม่ใช่เรื่องแต่นั่งหลับหูหลับตาอย่างเดียว ต้องทำให้เป็นทุกสิ่งทุกอย่างจึงจะใช้ได้ฯ • คนเราจะได้ดีนั้น ก็ต้องรู้จักขโมยวิชา คืออย่ารอให้อาจารย์บอกทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องใช้ความสังเกตเอาเองว่าท่านทำอะไร เพราะอะไร เพื่ออะไร เพราะท่านทำอะไรท่านก็มีเหตุผลของท่านฯ • สมัยก่อนสร้างเจดีย์ เครื่องมือของวัดส่วนใหญ่เก็บรักษาไว้ในห้องเก็บของที่กุฏิท่านพ่อ วันหนึ่งพระที่มาอยู่วัดได้ ๓-๔ เดือนขึ้นกุฏิท่านพ่อเพราะต้องการหาไขควง พอเห็นท่านพ่อนั่งอยู่หน้าห้อง จึงถามท่านว่า “ ท่านพ่อครับ ในห้องมีไขควงไหมครับ ” ท่านพ่อก็ตอบสั้น ๆ ว่า “ ถามฉันทำไม ฉันไม่ได้ขายฯ • พระองค์หนึ่ง ที่อยู่กับท่านพ่อหลายปีเข้าไปหาท่านพ่อแล้วขอพรวันเกิด ท่านพ่อก็ให้พรสั้น ๆ ว่า “ ให้ตายเร็ว ๆ ” ตอนแรกพระองค์นั้นใจหาย ต้องเอาไปพิจารณาความหมายของท่านพ่อหลาย ๆ วันจึงจะเข้าใจว่า ท่านพ่อให้พรจริง ๆ ฯ • การอยู่กับหมู่ที่ไม่ดี มันก็ดีเหมือนกัน จะได้รู้จักพึ่งตัวเอง ถ้าเราไปอยู่กับหมู่ที่มีแต่คนดี ๆ ทุกคนเราจะต้องติดหมู่ แล้วจะไปไหนไม่รอดฯ • คนไม่ดี เราก็มีไว้เพื่อทดสอบกิเลสของเราว่าหมดจริงหรือยังฯ • การถือธุดงควัตร ก็มีจุดประสงค์ที่จะขัดเกลากิเลสของเราให้หมดไปถ้าเราคิดจะถือเพื่อให้คนอื่นศรัทธาเราเราอย่าไปถือเลยดีกว่าฯ • การอดอาหาร ไม่ใช่ว่าจะให้ผลดีเสมอไป บางทียิ่งอดกิเลสก็ยิ่งกำเริบ กายหมดแรง ไม่ใช่ว่ากิเลสจะต้องหมดแรงไปด้วยเพราะกิเลสเกิดที่ใจไม่ได้เกิดที่กายฯ • คำเตือนสำหรับพระที่ชอบปล่อยใจให้คิดถึงเรื่องกาม “ เอามือลูบหัวของเจ้าซะ จะได้ไม่ลืมว่าเราเป็นอะไรฯ • พระธรรมท่านบอกว่า “ วันคืนล่วงไป ล่วงไป บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ” แล้วเราจะตอบท่านว่ายังไงฯ • ปฏิบัติยังไม่เข้าขั้น แล้วเที่ยวไปสอนเขา มันมีโทษนะฯ • วันหนึ่งในขณะที่พระลูกศิษย์องค์หนึ่งกำลังเตรียมตัวที่จะขึ้นธรรมาสน์ เทศน์เป็นครั้งแรก ท่านพ่อก็ให้กำลังใจโดยบอกว่า “ ให้คิดว่าเรามีดาบอยู่ในมือ ใครคิดดูถูกเรา เราก็ตัดหัวซะฯ • ถ้าใครมาหาผม ผมก็ให้นั่งสมาธิก่อนให้เขารู้จักทำใจให้สงบ จากนั้นถ้ามีอะไรก็ค่อยว่ากันไป ถ้าจะพูดอะไรให้เขาฟังในเมื่อใจเขายังไม่สงบก็พูดกันไม่รู้เรื่องฯ • มีหลายครั้งที่คนมาพูดกับท่านพ่อ ว่าตัวเองทำงานหนักมีภาระมาก จึงไม่มีเวลานั่งภาวนา และมีหลายครั้งที่ท่านพ่อจะย้อนถามเขาว่า “ แล้วตายแล้วจะมีเวลาหรือฯ • ให้ภาวนาอย่ามัวแต่ห่วงนอน นอนกันมาไม่รู้กี่ชาติแล้วไม่รู้จักอิ่มสักที มัวแต่เป็นผู้ประมาท ไม่รู้จักรักษามนุษย์สมบัติเอาไว้ ระวังจะเหลือไม่เท่าเก่าฯ • คนเราทุกคนต้องการความสุข แต่ส่วนใหญ่ไม่สนใจสร้างเหตุของความสุข จะเอาแต่ผลอย่างเดียว แต่ถ้าเราไม่สนใจกับตัวเหตุ ตัวผลจะอยู่ได้อย่างไรฯ • เรียน พุท-โธ แค่นี้ก็พอ เรียนอย่างอื่นไม่รู้จักจบ ไม่เป็นไปเพื่อพ้นทุกข์ พุท-โธ ตัวเดียวถ้าเรียนจบได้เมื่อไหร่ก็สบายเท่านั้นฯ • คิดอะไรก็ทำใจให้เป็นหนึ่ง แล้วจะสำเร็จฯ • เมื่อคิดที่ พุทโธ แล้วไม่ต้องลังเลว่า จะนั่งไม่ได้ดี ถ้าตั้งใจจริงแล้วมันต้องได้ สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเราเป็นมารผจญ เขาจะเล่นละครอะไร เราก็ดูไป ไม่ใช่ว่าไปเล่น กับเขาด้วยฯ • จิตเปรียบเหมือนพระราชา อารมณ์ทั้งหลายเปรียบเหมือนเสนา เราอย่าเป็นพระราชาที่หูเบา • เวลาภาวนาอย่าไปกลัวว่า ภาวนาแล้วจะเป็นนั่นเป็นนี่เพราะเป็นของที่แก้กันได้ ให้กลัวอย่างเดียวว่า จะภาวนาไม่เป็นฯ • การปฏิบัติจะให้เป็นไปตามที่เรานึกคิดไม่ได้นะใจของเรามีขั้นมีตอน ของเขาเอง เราต้องให้เขาปฏิบัติเป็นไปตามขั้นตอนของเขา เราจึงจะได้ผล ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นอรหันต์ดิบขึ้นมาฯ • คนเราต้องบ้าภาวนา จึงจะภาวนาได้ดีฯ • อะไร ๆ ก็ขึ้นอยู่กับความสังเกตของเรา ถ้าความสังเกตของเรายังหยาบ ๆ เราจะได้แต่ของหยาบ ๆ การภาวนาของเราก็ไม่มีทางที่จะเจริญก้าวหน้าไปได้ฯ • มีสติทำให้เกิดปัญญา มีศรัทธาทำให้เกิดความเพียรฯ • ความเพียรเป็นเรื่องของใจ ไม่ใช่เรื่องของอิริยาบถ คือจะทำอะไรก็ตาม ต้องรักษาสติไว้เรื่อย ๆ อย่าให้ขาด ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ให้ใจมีความเพียรอยู่ในตัวฯ • การรักษาสติเป็นเรื่องรู้นิด ๆ แต่ต้องทำให้เป็นนิตย์ฯ • อย่าทำตัวเป็นไม้หลักปักขี้เลน เคยเห็นไหม ไม้หลักปักขี้เลน ปักลงไปก็คลอนไปคลอนมา ทำอะไรก็ต้องทำให้มันจริงให้มั่นให้หนึ่งจริง ๆ อย่างลมนี้ เอาให้เป็นหนึ่ง ปักลงแล้วให้มันมั่นคงจริง ๆ อย่าให้คลอนแคลนง่อนแง่นฯ • อย่าทำแค่ถูกใจ ต้องทำให้ถึงใจฯ • คนเราเวลานั่งภาวนา กว่าใจจะสงบได้ก็ต้องใช้เวลานานแต่พอจะออกจากที่นั่งก็ทิ้งเลย อย่างนี้เรียกว่า เวลาขึ้นบ้านก็ขึ้นบันได เวลาลงก็กระโดดหน้าต่างฯ • การภาวนาไม่ใช่ว่าจะให้ใจอยู่ว่าง ๆ นะใจของเราต้องมีงานทำ ถ้าปล่อยให้ว่าง ๆ เดี๋ยวอะไร ๆ ก็เข้าได้ ดีก็เข้าได้ ไม่ดีก็เข้าได้ เหมือนเราเปิดประตูบ้านทิ้งไว้ อะไร ๆ ก็เดินเข้าไปในบ้านเราได้ฯ • ภาวนาดีอย่าไปดีใจ ภาวนาไม่ดีอย่าไปเสียใจ ให้ดูเอาเฉยๆ ว่าที่ภาวนาดีไม่ดีนั้น เป็นเพราะอะไร ถ้าเราสังเกตได้อีกไม่นานก็จะกลายเป็นวิชชาขึ้นมาในตัวเราฯ • ถ้าไปยินดีในความเป็นของผู้อื่นก็เท่ากับว่าเราไปยินดีในทรัพย์สมบัติของคนอื่นเขา แล้วมันจะได้อะไร ให้สนใจในสมบัติของเราเองดีกว่าฯ • เมตตา กรุณา ถ้าขาดอุเบกขา ก็ยังเป็นทุกข์อยู่ ฉะนั้นใจของเรา ต้องมีฌาน สิ่งเหล่านี้จึงจะสมบูรณ์ได้ฯ • การภาวนาของเราไม่ต้องไปบันทึกไว้นะ ถ้าบันทึกไว้เดี๋ยวเราจะภาวนาเพื่อให้มันเกิดเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เพื่อจะให้มีเรื่องบันทึก แล้วเราจะได้แต่ของปลอมฯ • สมาธิของเราต้องให้ สัมมา นะ คือพอดีสม่ำเสมออยู่เรื่อย ทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน อย่าให้มีขึ้นมีลงฯ • ต้องรู้จักทำ รู้จักรักษา รู้จักใช้ฯ • พอเราจับจิตให้อยู่ มันจะอยู่กับปัจจุบันอย่างเดียว ไม่ได้วอกแวกถึงเรื่องอดีต-อนาคตนั่นแหละ เราจะใช้มันทำอะไรตามที่เราต้องการฯ • วันหนึ่งมีลูกศิษย์มาบ่นให้ท่านพ่อฟังว่า ตัวเองฝึกภาวนามาหลายปี แต่ไม่เห็นมันได้อะไรขึ้นมา ท่านพ่อก็ตอบทันที “ เขาภาวนาเพื่อให้ละ ไม่ภาวนาเพื่อให้เอาฯ • คืนวันหนึ่ง หลังจากพาลูกศิษย์ฆราวาสทำงานที่วัด • เริ่มแรกให้ดูลมที่มีอยู่ ไม่ต้องไปปรุงไปแต่งอะไรมากมายฯ • เวลาจิตอยู่กับลมแล้ว ไม่ต้องว่าพุทโธ ก็ได้เหมือนเราเรียกควายของเรา พอควายมาแล้วจะเรียกชื่อมันอีกทำไม • ให้ลมกับจิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เอาให้เป็นหนึ่งอย่าให้มีสองฯ • ให้เกาะลมไว้เหมือนอย่างมดแดงเวลามันกัด ถึงหัวมันขาด มันก็ไม่ยอมปล่อยฯ • เมื่อรู้ลมแล้วก็ให้รู้จริง ๆ ไม่ใช่สักแต่ว่ารู้เฉยๆ ฯ • การดูลมต้องเอาความสบายเป็นหลัก ถ้าลมสบายใจสบาย นั่นแหละใช้ได้ ถ้าลมไม่สบาย-ใจไม่สบาย อันนั้นต้องแก้ไขฯ • เวลาภาวนาต้องใช้ความสังเกตเป็นข้อใหญ่ ถ้ารู้สึกไม่สบายให้ปรับปรุง แก้ไขลมให้สบายขึ้น ถ้ารู้สึกหนักก็นึกแผ่ลมให้มันเบา ให้นึกว่าลมเข้า-ออก ได้ทุกขุมขนฯ • ที่ท่านบอกว่าให้กำหนดลมในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายหมายความว่า ให้กำหนดความรู้สึกที่มีอยู่ในตัวฯ • การภาวนาของเราต้องมีปีติเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ไม่อย่างนั้นทำไป ๆ มันจะเหี่ยวแห้งเกินไปฯ • คนปฏิบัติพอปฏิบัติได้ ก็เปรียบเหมือน ว่าวติดลมแล้วมันไม่อยากจะลงฯ • เข้าธาตุถึงลมที่สม่ำเสมอ เมื่อเห็นแสงขาวนวลให้น้อมเข้ามาในตัว จิตก็จะนิ่ง กายก็เบา กายจะขาวสะอาดหมดไปทั้งตัว ใจก็จะเป็นสุข • พอลมเต็มอิ่มก็เหมือนน้ำเต็มโอ่ง ถึงจะเทเข้าไปอีกสักเท่าไร มันก็เก็บได้อยู่แค่นั้น มันก็พอดีของมันเอง • การภาวนาต้องทิ้งเป็นขั้น ๆ เหมือนเขายิงจรวดในอวกาศพอพ้นจากโลก แล้วกระสวยอวกาศก็ต้องทิ้งยานแม่จึงจะไปถึงโลกพระจันทร์ได้ฯ • เวลาจิตอยู่ตัวแล้ว ถึงจะทิ้งลมมันก็ไม่ได้วอกแวกไปไหน เหมือนเราเทปูน ถ้าปูนยังไม่แข็งตัว เรายังทิ้งแบบไม่ได้แต่เมื่อปูนแข็งตัวดีแล้ว มันก็อยู่ได้ โดยไม่ต้องอาศัยแบบฯ • กระจายลมแล้วจนกายเบา จิตเบา ไม่มีตัว เหลือแต่ตัวรู้จิตก็จะใส เหมือนน้ำที่ใส เราจะชะโงกลงไปในน้ำก็เห็นหน้าตัวเอง จะได้เห็นจิตตัวเองว่าเป็นยังไงฯ • การพิจารณาตัวเอง เรื่องธาตุจะต้องมาเป็นอันดับแรกเราแยกธาตุ รวมธาตุ เหมือนเราเรียนแม่กบแม่เกย ต่อไปเราจะผสมกับอะไรก็ได้ฯ • ฐานอันนี้ เอาให้มั่นคงก็แล้วกัน แล้วต่อจากนั้นจะสร้างกี่ชั้น ๆ มันก็เร็ว • จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก มันก็อยู่ที่ตัวเราฯ • หลักอานาปาน์ที่ท่านพ่อใหญ่ (ท่านพ่อลี) เขียนไว้ในตำราเป็นแต่หลักใหญ่ๆ เท่านั้น ส่วนปลีกย่อยนั้นเราต้องปฏิภาณของเราเอง เอาหลักวิชชาของท่านดัดแปลงพลิกแพลง ให้เข้ากับจริตของเรา เราจึงจะได้ผลฯ • ที่หนังสือเขาว่า อานาปานสติเป็นกรรมฐานที่ถูกกับจริตของทุกคนนั้น ที่จริงไม่ใช่ เพราะคนที่จะกำหนดลมได้ผลต้องเป็นผู้ที่มีความละเอียดฯ • เคยมีครูบาอาจารย์มาว่าท่านพ่อใหญ่ (ท่านพ่อลี) “ ทำไมสอนคนให้ดูลม มันจะมีอะไรให้ดูมีแต่สูดเข้า-สูดออก แล้วดูแค่นี้จะเกิดปัญญาได้อย่างไร ” ท่านพ่อใหญ่ ก็ตอบว่า “ ถ้าดูแค่นั้นก็ได้อยู่แค่นั้น • ไม่ต้องไปอัศจรรย์พวกที่เขามีนิมิตหรอก นิมิตก็คือฝันนั้นเองที่จริงก็มี ไม่จริงก็มี เอาแน่นอนไม่ได้ฯ • อดีตไม่ได้เอา อนาคตไม่ให้เอา เอาแต่ปัจจุบันอย่างเดียวก็พอ ขนาดเอา ท่านไม่ให้ยึด แล้วสิ่งที่ไม่ให้เอา จะยึดได้ที่ไหนฯ • ขนาดนิมิตของเราเอง ท่านไม่ให้เชื่อ แล้วเรื่องอะไรจะต้องไปเชื่อนิมิตของคนอื่นเขาฯ • จุดประสงค์ของการปฏิบัติก็คือ ทำใจให้บริสุทธิ์ เรื่องนอกจากนั้นเป็นแค่เรื่องเล่นฯ • มีอะไรมากระทบ ก็ให้มันอยู่แค่ “ รู้ ” อย่าให้มันเข้ามาถึงใจฯ • ให้รักษาตัวรู้ของเราให้เหนียวแน่นมั่นคงอย่างเดียว ก็ไม่มีอะไรจะมาครอบงำเราได้ฯ • ให้อยู่กับเราตลอดเวลา เว้นเวลาหลับ ตื่นเช้าขึ้นมาก็อยู่กับรู้ อีกหน่อยปัญญาแท้จะปรากฏฯ • รู้ที่ถูก ต้องควบคู่ไปกับลมหายใจฯ • รู้ คือ รู้เท่าทันกิเลส เห็นกิเลส ไม่ทำไปตามกิเลสฯ • ไม่มีอดีต อนาคต มีแต่ปัจจุบัน ไม่มีหญิงมีชาย ไม่มีเครื่องหมายอะไรทั้งสิ้น มันไม่มีอะไรเลยแม้แต่ตัวตน มีก็สักแต่ว่าสมมติทั้งนั้นฯ • เมื่อรู้แล้วก็ให้อยู่เหนือรู้ฯ • เราอยู่บนที่สูงแล้ว ก็สามารถมองเห็นอะไร ๆ ได้หมดฯ • ทุกสิ่งทุกอย่างที่มันเกิดกับเรา มันต้องมีเหตุปัจจัย เมื่อเราพิจารณาให้แยบคายจนรู้เหตุของมันแล้ว เราก็สามารถที่จะดับมันได้ฯ • การที่ปัญญาจะเกิดนั้นต้องเป็นเรื่องอุบายของใครของมันจะเอามาใช้แทนกันไม่ได้ฯ • เมื่อปัญญาเกิดแล้ว ไม่ต้องไปจดจำเอาไว้ ถ้าเป็นปัญญาแท้มันจะเกิดกับเรา ถ้าไปจำเอาไว้ มันก็กลายเป็นสัญญาเสียแล้ว กั้นปัญญาใหม่ไม่ให้เกิดฯ • ถึงความเห็นของเราจะถูก แต่ถ้าเรายึดเข้าไว้มันก็ผิดฯ • ปัญญาที่จะละกิเลสได้นั้นเป็นปัญญาส่วนพิเศษไม่ใช่ปัญญาธรรมดา ต้องมีสมาธิเป็นบาทเป็นฐาน จึงจะละเขาได้ฯ • กิเลสมันทรมานเรามากมาแล้ว เราต้องหัดทรมานมันบ้าง ต้องระวังตัวของเราให้ดีฯ • พวกแขกเขาบูชาศิวลึงค์ เราเห็นว่าเขาแปลก แต่ที่จริงคนทั้งโลกเขาก็บูชาอยู่ คือบูชากาม เป็นแต่พวกแขกเขาทำอย่างเปิดเผย กามนี้เป็นพระเจ้าสร้างโลก คนเราทุกคนที่เกิดมาในโลกก็เพราะเราบูชาศิวลึงค์อยู่ในใจฯ • ไม่ต้องกลัวหรอกการตาย ให้กลัวการเกิดดีกว่าฯ • ที่เราเป็นทุกข์อยู่ก็เพราะเรายังมี “ เรา ” อยู่ฯ • สักวันหนึ่ง ความตายจะมาถึงเรา มาบีบบังคับให้เราปล่อยทุกสิ่งทุกอย่าง ฉะนั้นเราต้องหัดปล่อยวางล่วงหน้าให้มันเคย ไม่อย่างนั้นพอถึงเวลาไปจะลำบากนะจะบอกให้ฯ • เวลาตายอย่าไปติดอาการตอนตายฯ • ยกจิตให้เหนืออารมณ์ฯ • อะไรจะตายก็ให้มันตาย แต่อย่าให้ใจเราตายฯ • การปฏิบัติที่เป็นขั้นนั้นขั้นนี้ แท้ที่จริงเวลาถึงขั้นนั้น ๆ เขาไม่ได้บอกว่า เขาเป็นอะไร เราเองไปสมมติเขาต่างหาก ตราบใดที่เรายังติดสมมติเหล่านี้ เรายังไปไม่รอดฯ • จะสอนคนก็ต้องสอนให้ตามจริตนิสัยเขา แต่สุดท้ายก็รวมลงที่จุดเดียวกัน คือให้วางฯ • นิพพานนั้นเป็นเรื่องละเอียด ต้องใช้ปัญญาเอามาก ๆ ไม่ใช่ของที่จะถึงด้วยแรงอยาก ถ้าเป็นของที่จะถึงได้ด้วยแรงอยากพวกเราคงจะตรัสรู้กันหมดแล้วทั้งโลกฯ • ที่เขาว่านิพพานชั่วคราว นิพพานชั่วคราวมันจะชั่วคราวได้ที่ไหน ถ้าเป็นนิพพานก็ต้องเที่ยง ถ้ามันชั่วคราวมันก็ไม่ใช่นิพพานฯ • นิพพานสูญหมายความว่า สูญจากกิเลสฯ • มันไม่มีใครเจ็บ มันไม่มีใครตาย นั่นแหละตรงนั้นแหละมันมีอยู่แล้วทุกคนเหมือนเราคว่ำมืออยู่เราก็หงายมือเสีย แต่ผู้มีปัญญาเท่านั้นที่จะทำได้ถ้าโง่ก็ไม่เห็นก็ไม่ได้ ไม่พ้นเกิดไม่พ้นตายฯ • ใจที่วิมุติหลุดพ้นก็เหมือนไฟที่อยู่ในอากาศ เวลาดับไฟมันได้ไม่สูญไปไหน มันยังแทรกแซงอยู่ในอากาศ เพียงแต่ไม่ติดเชื้อ มันจึงไม่ปรากฏ เมื่อใจดับจากกิเลส มันก็ยังอยู่ แต่เวลาเชื้อมาใหม่ มันก็ไม่ติดอีก ตัวของมันเองก็ไม่ติด นั่นแหละท่านเรียกว่า พ้นฯ |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 | เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง |
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group http://www.phpbb.com/ |