ลานธรรมจักร http://www.dhammajak.net/forums/ |
|
หน้าที่ของชีวิต : ท่านพุทธทาสภิกขุ http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=27232 |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 |
เจ้าของ: | วรานนท์ [ 24 พ.ย. 2009, 21:50 ] |
หัวข้อกระทู้: | หน้าที่ของชีวิต : ท่านพุทธทาสภิกขุ |
![]() ![]() ![]() หน้าที่ของชีวิต โดย พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาส อินฺทปญฺโญ) เพื่อใช้ในโอกาส งานฌาปนกิจศพ บัดนี้เป็นโอกาสแห่งการศึกษาฉากสุดท้ายสำหรับสิ่งที่มีชีวิต คือบัดนี้ได้มีการแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าชีวิตนี้จะจบลงอย่างไร ปรากฏการณ์อันนี้ควรจะได้รับความสนใจศึกษาให้เป็นประโยชน์ จึงควรถือว่าเป็นโอกาสสุดท้ายของการศึกษาจากสิ่งที่มีชีวิต หน้าที่ของสังขาร ความตายเป็นหน้าที่ของสังขาร สังขารคือสิ่งปรุงแต่งจากเหตุจากปัจจัย เมื่อเหตุปัจจัยบางส่วนหยุดปรุงแต่ง มันก็มีความตายบางส่วนปรากฏออกมาสำหรับสังขารส่วนนั้น จึงถือว่าการตายเป็นหน้าที่ของสังขาร หรือสังขารมีหน้าที่ที่จะต้องตาย ดังนั้นจึงไม่ควรมีความประหลาดใจอะไรในส่วนนี้ หน้าที่ของชีวิต ส่วนการทำประโยชน์ให้ดีที่สุด เป็นหน้าที่ของคนที่มีชีวิตอยู่ คนที่มีชีวิตอยู่จะต้องบำเพ็ญหน้าที่ของตนสืบต่อไป ในความหมายที่ว่า จะให้ชีวิตนี้มีประโยชน์ที่สุด ส่วนตัวก็ได้รับประโยชน์ ส่วนสังคมในวงแคบ เช่น บ้านเมือง ประเทศชาติก็ได้รับประโยชน์ ในวงกว้างที่สุด โลก ก็ควรจะได้รับประโยชน์ แต่ดูจะเป็นคำกล่าวที่ยากจะปฏิบัติได้ แต่ก็ควรระลึกนึกไว้ ถ้าคนทุกคนในโลกคิดกันอย่างนี้แล้ว โลกก็จะเป็นโลกที่น่าอยู่ น่าอาศัยยิ่งกว่านี้ ความปรารถนาของผู้ล่วงลับไปแล้ว ถ้าเราจะมานึกกันดูว่า ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วนี่ จะขอร้องอะไรแก่เรา เข้าใจว่าเขาจะต้องขอร้องว่า ขอให้ผู้ที่มีชีวิตอยู่นี้ พยายามทำความเป็นมนุษย์ของตนให้เต็ม คือเป็นมนุษย์โดยแท้จริงและเต็มเปี่ยม มนุษย์ที่เต็มเปี่ยมแห่งความเป็นมนุษย์ นั้นหมายความว่า เป็นมนุษย์ที่ไม่มีปัญหา มีความเยือกเย็นทั้งในแง่ของวัตถุ ในแง่ของร่างกาย และในแง่ของจิตใจ และมีการสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์ โดยแผนการหรือทรัพย์สินที่ตั้งไว้ กำหนดไว้ แต่งตั้งไว้ เพื่อการนั้นโดยเฉพาะ ถ้าเห็นแต่ประโยชน์ของตน ไม่มองเห็นประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์แล้ว ไม่เรียกว่าเป็นมนุษย์ที่เต็มไปได้เลย มนุษย์ที่เต็มแห่งความเป็นมนุษย์ อีกอย่างหนึ่งอยากจะพูดว่า มนุษย์ที่เต็มไปด้วยความเป็นมนุษย์นั้น ดูไม่จำเป็นที่ใครจะต้องบำเพ็ญกุศลอุทิศให้ ในความเป็นมนุษย์ที่เต็มนั้น มันมีความดี ความงาม ความถูกต้อง ครบถ้วนอยู่ทุกอย่าง เป็นเหตุเป็นปัจจัยอันบริบูรณ์ที่จะให้เขาได้รับประโยชน์สุขอย่างแท้จริงทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ไม่ใช่พูดอย่างโอหัง แต่พูดอย่างมีเหตุผล หรือตามความเป็นจริงที่จะพูดว่ามนุษย์ที่เต็มแห่งความเป็นมนุษย์ ดูไม่จำเป็นที่ใครจะต้องบำเพ็ญกุศลอุทิศให้ เดี๋ยวนี้เขามัวแต่หลงในประเพณี ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กันเสียเรื่อย จนดูคล้าย ๆ กับว่าคงจะหอบหรือหาบเอาไปด้วยไม่ไหว แต่แล้วก็ดูจะยังไม่สำเร็จประโยชน์อะไร เพราะว่าไม่มีคุณธรรมแห่งความเป็นมนุษย์แล้วทำอย่างไรเสียมันก็ไปสู่สุคติไม่ได้ นี่เราจึงถือว่ามนุษย์ที่เต็ม ไม่ต้องมีใครทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ก็ได้ ไม่ใช่เป็นการท้าทาย แต่มันเป็นความจริงที่ไม่ใคร่จะมีใครมอง หลักการเป็นมนุษย์ที่เต็ม ทีนี้จะพูดกันสักหน่อยว่า การเป็นมนุษย์ที่เต็มนั้นจะต้องทำอย่างไรบ้าง ขอร้องให้พิจารณากันให้ดี ๆ ว่า มนุษย์ที่เต็มแห่งความเป็นมนุษย์นั้น เขาจะตั้งต้นไปตั้งแต่ความเป็นบุตรที่ดีของมารดา เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ เป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อน เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ เป็นศาสนิกที่ดีของศาสนา เป็นบุตรที่ดี ดังนั้น ทุกคนควรจะสำรวจดูตัวเองว่า เดี๋ยวนี้เป็นบุตรที่ดีของบิดามารดาหรือเปล่า แม้จะอายุมากและหัวหงอกแล้ว มันก็ยังมีความเป็นบุตรที่ดีของบิดาคนใดคนหนึ่งอยู่นั่นเอง แม้ว่าจะล่วงลับไปแล้ว ได้ทำตนให้เป็นบุตรที่ดีของบิดามารดาหรือเปล่า ได้ทำให้บิดามารดาชื่นอกชื่นใจตลอดเวลาที่มีชีวิตอยู่หรือเปล่า ถ้ายังมันก็ได้คะแนนศูนย์ในข้อนี้ เป็นศิษย์ที่ดี เป็นศิษย์ที่ดีทีนี้ เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์นั้น ก็หมายความว่า ครูบาอาจารย์นำไปได้ตามต้องการหรือเปล่า ไปสู่ความดี ความงาม ความถูกต้องยิ่ง ๆ ขึ้นไปนั้น ครูบาอาจารย์นำไปได้หรือเปล่า ถ้าปรากฏว่านำไปไม่ได้ ก็ไม่เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ เป็นเพื่อนที่ดี ทีนี้ เป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อนนั้น ได้ช่วยเหลือกันอย่างเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือเปล่า ถ้าไม่ได้ช่วยเหลือเพื่อนกันอย่างขนาดนั้น ก็ยังไม่เรียกว่าเพื่อนที่ดีของเพื่อน เป็นพลเมืองที่ดี เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติหรือเปล่า ข้อนี้ก็พูดกันมากแล้ว อยากจะขอย้ำสักหน่อยว่า ถ้าชาติตาย เราตายด้วย แต่ถ้าเราตาย ชาติไม่จำเป็นต้องตาย เราให้ชาติอยู่อย่างมั่นคง สำหรับเป็นที่ตั้งแห่งเพื่อนมนุษย์ทุกคน เป็นศาสนิกที่ดี ทีนี้ เป็นศาสนิกที่ดีของศาสนาหรือเปล่า คิดดูเถิดว่าได้ใช้เวลาที่เปอร์เซ็นต์ของเวลาที่มีอยู่ สนใจเรื่องพระศาสนา ใช้เวลากี่เปอร์เซ็นต์ในเรื่องของการทำมาหากิน เรื่องสรวลเสเฮฮา เรื่องความสุขสนุกสนาน ถ้าพูดกันจริง ๆ แล้ว ดูจะไม่ถึง ๐.๕ เปอร์เซ็นต์หรือบางที ๐.๐๕ เปอร์เซ็นต์เข้าไปอีก ที่สนใจในเรื่องราวของพระศาสนา นอกนั้นเกิน ๙๙ เปอร์เซ็นต์ สนใจเรื่องส่วนตัว ทำงานให้กิเลส ไม่ได้ทำงานให้แก่พระศาสนาซึ่งเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ชื่อว่าเป็นศาสนิกที่ดีของศาสนา จึงขอทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่า การที่จะเป็นมนุษย์ที่เต็มนั้น ต้องเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา คือทำให้บิดามารดาชื่นอกชื่นใจเพราะบุตรคนนี้อยู่ตลอดเวลา, เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ ก็คือครูบาอาจารย์นำไปได้ตามประสงค์ ศิษย์คนนี้ประสบความสำเร็จสูงสุดของความเป็นมนุษย์, เป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อนนั้น ได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในลักษณะเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย, เป็นพลเมืองที่ดีของชาติ หมายความว่า เห็นแก่ชาติยิ่งกว่าเห็นแก่ตัวเองหรือเห็นแก่พรรคพวกของตัวเอง คนเรามักจะเห็นแก่ตัวเองหรือพรรคพวกของตัวเองมากกว่าเห็นแก่ชาติ, เห็นแก่ศาสนานั้นหมายความว่า เห็นแก่เพื่อนมนุษย์หรือโลกเป็นส่วนรวม เพราะว่าศาสนานั้นมีอยู่สำหรับคนทั้งโลกรอดได้ คำขอร้องครั้งสุดท้าย ในที่สุดนี้ ขอให้เป็นเสมือนหนึ่งว่า ท่านผู้ล่วงลับไปแล้วนั้นได้กล่าวแก่เราทุกคนอย่างนี้ ได้แสดงความหวังในลักษณะเป็นคำขอร้องก็ได้ ว่าอย่างนี้ ว่าให้เพื่อนทุกคน มิตรสหายผู้รักใคร่หวังดีทุกคน จงรีบทำความเป็นมนุษย์ของตนให้เต็มเถิด ก็ไม่เสียที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบกับพระพุทธศาสนา คำกล่าวนี้พอสมควรแก่เวลาแล้ว ขอแสดงความหวังว่า ท่านทั้งหลายจะได้นำไปพินิจพิจารณา เสมือนหนึ่งคำขอร้องของผู้เป็นที่รักที่ได้ล่วงลับไปแล้ว มีสรีระทิ้งไว้เฉพาะหน้าเป็นอนุสรณ์ทางวัตถุครั้งสุดท้าย ทุกคนควรทำให้ท่านผู้ล่วงลับไปแล้วได้รับความพอใจ ถ้ามีความรู้สึกได้โดยทางใดทางหนึ่งแล้วก็จะได้รับความพอใจ จะดีกว่าบำเพ็ญกุศลกันอย่างลม ๆ แล้ง ๆ ตามขนบธรรมเนียมประเพณี แล้วมิได้ประพฤติกระทำให้สมตามความประสงค์แท้จริงของผู้ล่วงลับไปแล้วเลย ![]() ![]() ![]() |
เจ้าของ: | ลูกโป่ง [ 25 พ.ย. 2009, 11:36 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: หน้าที่ของชีวิต โดย พระธรรมโกศาจารย์ |
สาธุ สาธุ สาธุค่ะ...คุณวรานนท์ ![]() ![]() |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 | เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง |
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group http://www.phpbb.com/ |