ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

...เทียนเล่มนี้...(ท่านชยสาโรภิกขุ)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=26917
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  ลูกโป่ง [ 13 พ.ย. 2009, 13:13 ]
หัวข้อกระทู้:  ...เทียนเล่มนี้...(ท่านชยสาโรภิกขุ)

รูปภาพ


โบราณาจารย์มักจะเปรียบเทียบจิตที่ยังไม่ได้รับการฝึกอบรมว่าเหมือนกับเทียนเล่มนี้
คือ เหมือนกับเทียนที่อยู่ในสายลม เห็นไหมเปลวเทียนไม่นิ่ง
เราใช้แสงเทียนในการอ่านหนังสือหรือการทำงานที่ละเอียดไม่ค่อยได้
แต่ถ้าเรานำเทียนเล่มนี้ให้พ้นจากสายลม ให้มาอยู่ในที่วิเวกจากลม ในที่ปราศจากลม
เปลวเทียนจะมั่นคง จะนิ่ง จะสว่าง เราจะได้ทำงานของเราได้สะดวก
จิตใจของคนที่ยังไม่ได้ปฏิบัติหรือยังไม่เป็นสมาธิมันก็มีลักษณะเหมือนกับเทียนเล่มนี้
วอกแวกกวัดแกว่งอยู่ตลอดเวลา


ความนิ่งสว่างไม่ใช่เป้าหมายในตัวของมันเอง
การเอาเทียนไว้ในที่วิเวกจากลม ก็เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการทำงาน
การทำสมาธิก็เหมือนกัน เราต้องการทำสมาธิเพื่ออะไร ?
คำถามนี้อาจจะตอบได้หลายนัย อย่างน้อยเราได้ความสุขความสบาย
ได้หายจากความตึงเครียดวิตกกังวล แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ
สมาธิเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดของการเกิดขึ้นแห่งปัญญา
เพราะจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว สามารถรักษาความเป็นกลางของมันไว้ได้

ขออภัยที่ต้องใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษว่า สามารถเป็น objective ได้
จิตใจที่ไม่เป็นสมาธิเป็น subjective
แต่จิตใจที่เป็นสมาธิเป็น objective ทำไมเป็นอย่างนั้น ?
เพราะว่าในเมื่อมีการกระทบระหว่างตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
กับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ เวทนา
คือ ความรู้สึกย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ซึ่งยังไม่เป็นปัญหาอะไร
แต่พอเกิดเวทนาแล้ว จิตใจมีความเคยชินที่จะเกิดปฏิกิริยา
ด้วยการตะครุบเอาสุขเวทนาและผลักไสทุกขเวทนา
พูดง่าย ๆ เราชอบความสุข รังเกียจความทุกข์
ในขณะใดที่จิตขยับออกจากที่ของมัน
ความเป็น objective ก็หายทันที ความเป็นอคติเกิดขึ้นแทน
จิตที่ไม่ทนต่อเวทนาจึงไม่สามารถเห็นอะไรตามความเป็นจริง


ถ้าเราจะเปรียบพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์
เราจะเห็นความแตกต่างกันอยู่ตรงนี้ว่า
ทางวิทยาศาสตร์ถือว่า objectivity หรือความเป็น objective
จะเกิดขึ้นได้ด้วยความพยายามที่จะอยู่กับข้อมูลล้วน ๆ
ไม่ตามความคิดเห็นหรืออารมณ์ ซึ่งพุทธศาสนาเห็นด้วย
แต่ยืนยันว่ามันจะเป็นไปได้เฉพาะผู้ที่ได้ฝึกจิตอยู่เหนืออำนาจของนิวรณ์
วิทยาศาสตร์ไม่เข้าใจนิวรณ์ ถือว่าเป็น objective
โดยไม่ต้องพูดถึงจิตของนักวิทยาศาสตร์ แต่พุทธศาสนาถือว่า
การค้นคว้าอย่างแท้จริงจะเริ่มต้นเมื่อจิตใจของผู้ค้นคว้านั้นปราศจากนิวรณ์
เพราะถ้าไม่ปราศจากนิวรณ์ เราจะปรุงแต่งในเวทนาที่เกิดขึ้นจากการสัมผัส


ปฏิกิริยาต่อการสัมผัสนั้น เรามักจะเรียกง่าย ๆ ว่า ความยินดียินร้าย
เราเคยชินที่จะยินดีในสุขเวทนา และยินร้ายในทุกขเวทนา
แต่ความยินดียินร้ายนั้นอาจจะเป็นลักษณะที่ละเอียดอ่อนมาก
เพราะจิตที่ยังไม่ตั้งมั่น ไม่หนักแน่นด้วยสมาธิ
จะยังไม่มีจุดยืนของตน ยังหลักลอยอยู่
เพราะฉะนั้นถ้ามีสิ่งใดมากระตุ้นให้เรายินดี เราจะต่อต้านไม่ค่อยได้
เราก็ยินดีทันที มีสิ่งใดมาชวนให้เรายินร้าย เราก็ยินร้ายทันที
เราไม่เป็นตัวของตัวเอง เรายังเป็นหุ่นที่อารมณ์เชิดอยู่ตลอดเวลา
ถ้าเราพิจารณาเห็นตรงนี้ เราจะมีกำลังใจที่จะปฏิบัติ
เราจะรู้จัก เราจะรู้สึกในความไร้ศักดิ์ศรีของตน
จะเกิดความคิดที่จะพ้นภาวะอันนั้น
เหมือนกับนกที่เพิ่งรู้สึกตัวเองว่าติดอยู่ในกรง
ถึงแม้ว่าอาจจะเป็นกรงที่ใหญ่ ถึงแม้ว่าลูกกรงทำด้วยทองคำ
นกคงไม่พอใจที่จะอยู่ในกรงนั้นต่อไป


วิปัสสนา คือ ความรู้แจ้ง เกิดในจิตที่สงบแล้ว
ถ้าจิตไม่สงบมันอดยุ่งกับอารมณ์ไม่ได้
เมื่อมันยุ่งกับอารมณ์ไปถือกรรมสิทธิ์ในอารมณ์
ไปหลงใหลหรือปฏิเสธในอารมณ์ จิตไม่สามารถที่จะเห็นอารมณ์ตามความเป็นจริง
วิปัสสนาไม่เกิด เงื่อนไขสำคัญของวิปัสสนาจึงอยู่ที่จิตใจที่ตั้งมั่นเป็นสมาธิ
จิตที่แน่วแน่เป็นสมาธิแล้วนั้น จะรู้สึกคล้าย ๆ กับขี้เกียจ
คือ ขี้เกียจที่จะไปยินดีกับมัน ขี้เกียจจะไปยินร้ายกับมัน
และสิ่งต่าง ๆ ที่แต่ก่อนเมื่อมีการกระทบทำให้จิตใจสะทกสะท้าน
ตอนนี้รู้สึกเหมือนกับเข้าไม่ถึงเนื้อแท้ของจิต
คล้ายกับเราอยู่ในบ้านในขณะที่ข้างนอกฝนตกหรือหิมะตก
ลมพัดแรง เราอยู่ในบ้านก็อบอุ่น ไม่หนาว ไม่เปียก แต่ก็ยังได้ยินเสียงลมอยู่
ยังมองเห็นหิมะกระทบหน้าต่างอยู่ มันอยู่นอกบ้านของเรา เข้ามาไม่ได้
และเมื่อได้ยินเสียงจากลม เห็นหิมะตกข้างนอกบ้าน ก็ยิ่งรู้สึกอบอุ่นมากยิ่งขึ้น


สำหรับจิตใจที่สงบพอสมควรแล้ว แต่ไม่ได้เข้าไปอยู่ในห้อง (ในอัปปนาสมาธิ)
การสัมผัสกับโลกภายนอกยังมีอยู่ แต่มันมีเสมือนกับไม่มี มันมี
แต่ไม่มีพิษภัย สักแต่ว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ
เสียงที่เคยกวนใจเรา เราก็ไม่รู้สึกว่ากวนอีกแล้ว เราก็อยู่เฉย ๆ
แต่ความอยู่เฉย ๆ ของเรานั้น มันเต็มไปด้วยความรู้ ความตื่น ความเบิกบาน
และเมื่อจิตสงบแล้ว เราไม่ต้องกำหนดจดจ่อในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
เราสักแต่ว่ารับรู้สิ่งที่มาปรากฏแก่จิต ซึ่งเราไม่ต้องไปแสวงหา
สิ่งที่จะพิจารณามันก็เกิดขึ้นเองของมัน เราเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานเท่านั้น
คอยดูความเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปตามอารมณ์
อารมณ์ในที่นี้ก็หมายถึง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ในวาระนี้ เราไม่ต้องเลือกอารมณ์ สิ่งใดเกิด เราก็ดูสิ่งนั้น
แล้วปล่อยวาง สักแต่ว่าดู ตามดูความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่ได้สงสัย
ไม่ได้สำคัญมั่นหมายในเนื้อหา
แต่เพ่งพิจารณาอยู่ที่กระบวนการเปลี่ยนแปลงที่กำลังปรากฏ
ถ้าหากว่าดูไปดูมา จิตเริ่มจะมีอาการยินดีพอใจ
หรือยินร้ายไม่พอใจกับสิ่งที่ตนกำลังดูอยู่
แสดงว่าพลังจิตใจไม่พอที่จะทำงานอันละเอียดนี้ได้
ต้องกลับไปสร้างพลังจิตให้มากขึ้น
ด้วยการกำหนดลมหายใจเข้า หายใจออกต่อ



ที่ว่าการทำงานก็คือการพักผ่อน
การพักผ่อนเอาแรงเป็นการเจริญสมาธิหรือสมถะ
ส่วนวิปัสสนาคือการทำงาน ทำงานแล้วเหนื่อยเราก็พักผ่อนด้วยสมาธิ
พักผ่อนพอสมควรแล้ว อิ่มแล้วเรากำทำงาน
วิปัสสนาคือการพิจารณาไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
สามข้อนี้ไม่ได้แยกออกจากกันทีเดียว จริง ๆ แล้วแยกออกจากกันไม่ได้
เห็นความไม่เที่ยงของอนิจจังถูกต้อง ก็ย่อมเห็นความเป็นทุกข์
ความเป็นอนัตตาอยู่ในขณะเดียวกัน ความไม่เที่ยงกำหนดง่ายกว่าเพื่อน
ฉะนั้น นักปฏิบัติส่วนมากจะเน้อนอยู่ที่การพิจารณาความไม่เที่ยง
คือความเปลี่ยนแปลง ดุจนกระทั่งรุ้สึกว่ามันซ้ำซาก
ทุกสิ่งทุกอย่างมีธรรมชาติอันเดียวกัน
คือเกิดขึ้นแล้วดับไป เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่มีอะไรมากกว่านั้น
ตรงนี้ที่เราจะเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายในการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งว่างเปล่าอย่างนี้
ตรงนี้แหละ การปล่อยวางที่แท้จริงอาจจะเกิดขึ้น
ความไม่ยึดมั่นถือมั่นที่แท้จริง จะเกิดขึ้นตามขั้นตอนของการปฏิบัติ


อย่างนี้ไม่ใช่สักแต่ว่าตั้งใจที่จะไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด
มันจะเป็นไปได้ต่อเมื่อเราต้องเข้าใจในเรื่องกระบวนการของการปฏิบัติ
เจตนาที่จะงดเว้นจากสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง นั่นเป็นระดับของศีล

ซึ่งเราตั้งใจที่จะงดเว้นการฆ่าสัตว์
การลักขโมย การประพฤติผิดในกาม การโกหก หรือการกินเหล้าเมายา
ทำได้ด้วยการตั้งใจว่าจะไม่ทำ แล้วก็ไม่ทำ ทำได้
แต่เราจะตั้งสัตย์อธิษฐานว่าตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
เราจะไม่โกรธใคร มันก็ทำไม่ได้ เพราะเป็นกิเลสคนละระดับ
กิเลสแบบนี้ฝังลึกอยู่ในใจ ฉะนั้นต้องพัฒนาในระดับสูงขึ้นไป คือระดับของสมาธิ
การพัฒนาชีวิตของเราจะสมบูรณ์ ต้องพัฒนาในด้านกาย วาจา ด้วยศีล
ต้องพัฒนาทางจิตด้วยสมาธิและปัญญา เรามีปัญหาอะไร
เราต้องวิเคราะห์ว่าเป็นปัญญาระดับไหน
คือทางจิตใจเราก็ยังต้องแยกระหว่างสมาธิกับปัญญา
ซึ่งแยกง่าย ๆ ว่าสมาธินั้นมีบทบาทเกี่ยวกับความรู้สึก
และปัญญาเกี่ยวกับความคิด บางทีพวกเราจะมีปัญหาในด้านความรู้สึก
แต่แทนที่จะแก้ด้วยคุณธรรมโดยการเจริญสมาธิ
กลับพยายามแก้ด้วยปัญญา แล้วแก้ไม่ตก เช่นเมื่อเรากลัวสิ่งใด
จะยกเหตุผลอย่างไรก็ตามมาสอนตังเองว่า
สิ่งนั้นไม่น่ากลัว ไม่ควรจะกลัวเลย ไม่มีเหตุผลที่จะต้องกลัว
เหตุผลของเรานั้นจะไม่ได้ผล
เพราะว่าไม่ใช่ปัญหาระดับเหตุผล เป็นปัญหาระดับความรู้สึก


ฉะนั้นในคุณธรรมต่าง ๆ ที่เราหยิบมาใช้พัฒนาชีวิต
เราต้องรู้จักหน้าที่ของคุณธรรมนั้นแต่ละข้ออย่างชัดเจน
รู้จักของเขตการทำงานของมัน รู้จักว่ามันสัมพันธ์กับคุณธรรมข้ออื่น ๆ อย่างไร
เพราะว่าถ้าเรามีปัญหาในด้านใดด้านหนึ่ง
แล้วก็พยายามแก้ด้วยธรรมที่ไม่เหมาะ หรือแก้ไม่ถูกจุดก็ไม่ได้ผล
เช่นอดทนต่อความเสียหายที่ควรรีบขจัด หรือใช้เหตุผลแก้ความกลัว เป็นต้น



ปัญญามีหลายระดับ ปัญญาที่เกิดจากการได้ยินได้ฟังก็ระดับหนึ่ง
ปัญญาที่เกิดจากการคิดพิจารณาก็ระดับหนึ่ง
แต่สองระดับนี้สู้กิเลสไม่ค่อยได้ เช่นเรารู้ว่า
วันใดวันหนึ่งเราต้องพลัดพรากจากคนที่เรารักทุกคน
เขาไม่ตายจากเรา เราก็ต้องตายจากเขา เรารู้ มีปัญญาในเรื่องนี้ เข้าใจ จำได้
แต่เมื่อเราประสบกับสิ่งนี้ในชีวิตของตนจริง ๆ ทำไมเราทำใจไม่ได้
ทำไมเราโศกเศร้าเสียใจเหมือนกับคนไม่เคยปฏิบัติ
หรือคนไม่รู้จักพุทธศาสนา ก็เพราะว่าความรู้ของเรามันยังขังอยู่ในสมอง
เส้นทางระหว่างสมองและหัวใจยังอุดตันอยู่
เพราะฉะนั้นสมองของเราก็รกรุงรังด้วยสัญญาความจำ พูดได้
คุยให้เพื่อนฟังได้ สอนคนอื่นได้ แต่เมื่อตัวเองเจอปัญหาถึงขั้นคับขัน ทำใจไม่ได้


การใช้เหตุผลมีบทบาทในพุทธศาสนามาก
เราให้เกียรติแก่สติปัญญาของมนุษย์ว่า
สามารถแก้ปัญหาของมนุษย์ทั้งหมดได้ แต่ในขณะเดียวกันเราไม่ประมาท
เรารู้ว่าเหตุผลเป็นลูกจ้าง ถ้าผู้จ้างไม่ดี ก็อาจถูกใช้ในทางที่ไม่ดีได้
เหตุผลต้องตั้งไว้บนพื้นฐานคือความเชื่อเป็นธรรมดา
ถ้าพื้นฐานของเหตุผลไม่ดี ถึงแม้จะถูกหลักตรรกศาสตร์ เป็นเหตุผลที่ถูกต้อง
แต่อาจจะไม่ตรงกับความจริงและอาจจะไม่เกิดประโยชน์
เราต้องรู้เท่าทันความเชื่อที่เป็นพื้นฐานของความคิด
เราถือกันว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีเหตุมีผล
แต่เราต้องยอมรับว่า เรายังหนีไม่พ้นที่จะมีความเชื่อไว้เป็นพื้นฐานของเหตุผล
เช่นเชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
สิ่งนี้เราพิสูจน์ไม่ได้เราเชื่อว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ในฐานะตัวแทนของมนุษย์
เราเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ที่จะตรัสรู้ธรรม
เมื่อเป็นอย่างนี้ เหตุผลที่เราใช้
ก็ต้องสอดคล้องกับความเชื่อที่เป็นหลักสำคัญเหล่านั้น



แต่บางทีเราสักแต่ว่า อ้างเหตุผลว่าตัณหาเป็นตัวนำ
เพราะเราไม่กล้ายอมรับว่าเราทำตามตัณหา
แต่กลับหาเหตุผลมาอ้างสนับสนุนสิ่งที่เราอยากทำ
เช่นสมมติว่าหลวงตาอยากฉันส้มตำ
แล้วบอกชาวบ้านว่ามันมีวิตามินเยอะ เป็นยาที่ดี
ฉันแล้วรู้สึกว่าการขับถ่ายดี ท่านไม่ได้โกหก เล่าความจริง
แต่ว่ามันไม่ใช่เหตุผลที่บริสุทธิ์ เป็นเหตุผลปิดบังตัณหา
ฉะนั้นเราไม่ควรหลงงมงายในเรื่องเหตุผล
ถึงจะมีเหตุผลดีมันอาจจะจริงแต่ไม่ถูก ถูกแต่ไม่จริง
การใช้เหตุผลเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง
พราะเป็นวิธีที่เราหลอกตัวเองได้ง่าย
วิธีป้องกันก็คือรู้จักพูดใช้เหตุผลอย่างรู้เท่าทัน


ในการประพฤติปฏิบัติไม่ต้องศึกษาอะไรมากมาย
เพราะถ้าอ่านหนังสือมาก เรียนมาก พูดมาก มันก็จะมี concept มาก
เนื่องจากวาดภาพเอาไว้ว่า จิตใจที่สงบเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
มันควรจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ และเมื่อมันไม่เป็นอย่างนั้นก็เสียใจ น้อยใจ
เมื่อมันชักจะเป็นแล้ว ก็สงสัยว่าใช่หรือไม่ใช่
อ่านมากก็มีโทษอยู่ตรงที่ว่า ครูบาอาจารย์แต่ละองค์
มักจะพูดอะไรไม่ค่อยตรงกัน สำนวนไม่เหมือนกัน
ทำให้เกิดความสงสัย ในบรรดากิเลสทั้งหลาย
ความสงสัยเป็นกิเลสที่น่ากลัวที่สุด
เพราะกิเลสอย่างอื่นสามารถมองเห็นว่ามันเป็นศัตรูอย่างชัดเจน
แต่เมื่อมีศรัทธาก็พยายามสู้กับมัน
ความสงสัยเมื่อครอบงำจิตใจแล้วก็ไม่รู้จะไปทางไหน
ไม่รู้จะสู้กับใครหรือสิ่งใด หรือจะกลับทางเดิน
หรือจะเลี้ยวซ้าย เลี้ยวซ้ายก็อาจจะไม่ใช่ เลี้ยวขวา
เลี้ยวขวาคงไม่ใช่ หรือใช่ คงจะใช่นะ เอ๊ะ! ไม่ใช่ เลยไม่ไปไหนเลย
การที่เราไม่ไปไหน เอ๊ะ! ถูกหรือเปล่า ไม่ไปไหนไม่ดีนะ
ควรจะไป เอ๊ะ! ถ้าไปแล้วสมมติว่าไปผิดทางยิ่งไปกันใหญ่ เราก็ยิ่งแย่ซิ
เอ ไม่ไปดีกว่า ถ้าเราอยู่ที่นี่ก็ได้เหมือนกัน ไปทำไม อยู่ดีกว่า
น่ากลัวมากนะ ความสงสัยนี่ ไปหาครูบาอาจารย์
ท่านอาจารย์ครับ ผมไปทางซ้ายดี หรือทางขวาดี ขวา
ขวาดีนะโยม กลับไปแล้ว เอ๊ะ! ถูกหรือเปล่า ไม่แน่ใจ
เดี๋ยวเราต้องไปถามครุบาอาจารย์อีกองค์หนึ่งเพื่อมั่นใจ
ไปถามครูบาอาจารย์องค์ที่สอง ท่านบอกซ้าย
ไปหาครูบาอาจารย์องค์ที่สาม ท่านบอกขวา
ครูบาอาจารย์บอกขวาสององค์ ซ้ายองค์หนึ่ง
เราจะเอาหลักประชาธิปไตยดีไหม เอาเสียงข้างมากดีไหม
เอ๊ะ! แต่องค์ที่ว่าซ้ายนี่ท่านเก่งนะ
คนนับถือท่านมาก ซึ่งจะเป็นอย่างนี้ไม่มีที่จบสิ้น



ความสงสัยมีสองอย่าง ความสงสัยที่เป็นกิเลสก็มี และที่ไม่เป็นกิเลสก็มี
สงสัยแล้วเป็นบาปก็มี สมมติว่าเราไปวัดป่านานาชาติ ไม่เคยไป
สงสัยว่าจะไปทางไหนดี ความสงสัยอย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นกิเลส
เราก็ถามคนที่เขาเคยไป เขาก็บอกว่าต้องขึ้นรถไฟที่หัวลำโพงแล้วลงที่อุบล
จากนั้นขึ้นแท็กซี่หรือรถสองแถวไปวัด แต่ถ้าเรารู้ทางไปวัดป่านานาชาติแล้ว
แต่มานั่งคิดว่า เอ๊ะ! จะไปทางรถไฟดีไหมหนอ
หรือจะไปทางรถทัวร์ดีไหมหนอ หรือจะไปทางเครื่องบินดีไหมหนอ
หรือว่าจะขับรถไปเอง อย่างนี้แหละการที่เราตัดสินใจไม่ได้เป็นกิเลส


ชาวกาลามะไปเฝ้าพระพุทธองค์
บ่นกันว่ามีเจ้าลัทธิมากมายมาเผยแพร่ศาสนาที่บ้านเรา
แต่ละองค์ก็บอกว่าคำสอนของท่านเท่านั้นที่ถูก
คำสอนขององค์อื่นผิดหมด แล้วเราสงสัยว่าเราจะเชื่อใครดี
พระพุทธองค์ทรงชมว่า พวกโยมสงสัยในสิ่งที่ควรสงสัย
ไม่ได้เรียกว่าเป็นกิเลส
หากตรัสว่า เขาสงสัยในสิ่งที่ควรสงสัย
ฉะนั้นเมื่อเราสงสัย จงถามตัวเองว่าเราสงสัยเพราะอะไร
สงสัยเพราะข้อมูลไม่พอที่จะตัดสิน
หรือเพราะข้อมูลพอแล้วแต่เรายังต้องการอีก
อะไรเป็นหลักประกันว่า เราทำอย่างนี้แล้วจะดีที่สุด
มันสำคัญตรงนี้แหละที่อยากให้มันดีที่สุด
กลัวว่าตัดสินอย่างนี้แล้วมันจะไม่ถูกใจ อยากจะให้มันดีที่สุด
แต่ว่าโลกนี้มันอนิจจัง เพราะเหตุปัจจัยที่มาเกี่ยวข้องกับชีวิตเรา
ซึ่งไม่ได้อยู่ในการควบคุมของเรามีมากมายเหลือเกิน
เราทำอะไรถึงแม้ว่าเจตนาดี มีเหตุมีผลดี ก็ไม่ใช่ว่าจะมีผลดีเสมอ
ฉะนั้นเราต้องกล้าตัดสินใจ และเมื่อตัดสินใจแล้ว
ต้องกล้ารับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตัวเอง
บาปก็ยอมรับว่าบาป บุญก็ยอมรับว่าบุญ ได้บอกแล้วว่า
ปัญญาจะเกิดขึ้นเฉพาะในจิตที่สงบ สงบจากกาม
สงบจากอกุศลธรรม สงบจากความวุ่นวาย
สมาธินั้นจะเกิดเฉพาะในจิตใจของผู้ที่มีศีลบริสุทธิ์
บางคนอาจจะตกใจมากเมื่อได้ยินคำว่าศีลบริสุทธิ์ บริสุทธิ์แค่ไหน
ศีลบริสุทธิ์ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่เคยทำอะไรผิดพลาด
ไม่เคยผิดศีล แต่หมายถึงศีลที่ชำระแล้ว
คือเมื่อเราทำสิ่งที่ไม่ดีแล้ว เราไม่ควรผิดบังอำพราง
แต่ควรเปิดเผยให้คนอื่นรู้ จะเป็นครูบาอาจารย์ก็ได้
เป็นกัลยาณมิตรหรือเพื่อนที่เคารพก็ได้
ขั้นตอนแรกในการชำระศีลที่ขาดไปแล้ว หรือเปื้อนไปแล้ว
คือการเปิดเผย ขั้นที่สอง คือการยอมรับผิด ยอมรับว่าเราผิด
เปิดเผยก็เปิดเผยทั้งหมด ถึงแม้เรารู้สึกละอาย เราก็ต้องพูดหมด
เหมือนกับว่ามีเสี้ยนตำเท้า เราเอาออกไม่หมดมันจะเป็นอันตราย
เปิดเผยยอมรับว่าตัวเองผิดด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน
ไม่ได้ปิดบัง ไม่ได้แก้ตัว
ขั้นที่สาม สำคัญมาก โดยตั้งใจว่าจะไม่ทำอย่างนั้นอีกต่อไป
ถ้าขาดข้อที่สามนี่ ถือว่าไม่เป็นการชำระศีลอย่างสมบูรณ์

ซึ่งในเรื่องนี้เคยได้อ่านบันทึกของพระญี่ปุ่นองค์หนึ่ง
ที่ไปธุดงค์ในประเทศธิเบตเมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว
และท่านเดินทางไปถึงทะเลสาบอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธธิเบต
ซึ่งผู้ที่มีศรัทธาแรงกล้าจะมีประเพณีหรือมีข้อวัตรเดินรอบสระน้ำ
แบบเวียนเทียนของเรา ระยะทางหลายสิบกิโล แต่ไม่ใช่เดินธรรมดา
เดินสามก้าวแล้วกราบ เดินสามก้าวแล้วกราบ
การกราบนั้นไม่เหมือนของเรา การกราบแบบธิเบตคือหมอบทั้งตัว
เดินสามก้าวแล้วก็กราบ บางคนก็กราบตลอดทาง
ใช้เวลานานมาก มีศรัทธาจริง ๆ และพระญี่ปุ่นองค์นี้ ไปถึงที่นั่น
ไปเจอชาวบ้านคนหนึ่งที่พึ่งเสร็จจากการเดินนมัสการทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์พอดี
แล้วกำลังจะไปไหว้พระอุทิศส่วนกุศล ทำพิธีกรรมตามประเพณีของชาวธิเบต
แล้วท่านนั่งฟังคำกล่าวของชาวบ้านคนนี้
เขากล่าวว่า ในชีวิตของข้าพเจ้าที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้ฆ่าคนเป็นจำนวนมาก
ได้ลักขโมยมาก ได้ประพฤติผิดในกาม ได้ข่มขืนผู้หญิงจำนวนมาก
ได้โกหกมาก ได้กินเหล้าเมายาเป็นประจำ
ด้วยผลานิสงส์ของการนมัสการทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์นี้
ขอให้ข้าพเจ้าได้พ้นจากวิบากกรรมทั้งหลายทั้งปวง
ข้าพเจ้ากลับไปถึงบ้านแล้ว ต่อไปคงจะได้ฆ่าคนเป็นจำนวนอีกมาก
คงจะลักขโมยของอีกมาก คงประพฤติผิดในกามอีกมาก
คงจะโกหกเขาอีกมาก และคงจะกลับไปกินเหล้าเหมือนเดิม
ด้วยผลานิสงส์ของการปฏิบัติธรรมครั้งนี้
ขอให้ข้าพเจ้าได้พ้นจากวิบากกรรมแห่งความชั่วที่ข้าพเจ้าจะทำในอนาคตด้วย
นี้เรียกว่าเป็นการชำระศีลที่ไม่ชำระ คือต้องเห็นโทษ ต้องเข็ดหลาบ
และต้องตั้งใจว่าจะไม่ทำอย่างนั้นอีกต่อไป จึงจะเป็นการชำระ
ทำเสร็จแล้วท่านเรียกว่าศีลที่บริสุทธิ์ และก็ไม่มีอะไรตะขิดตะขวงอยู่ในใจ
ไม่ต้องระแวง เคารพนับถือตัวเองได้ จิตใจก็พร้อมจะเป็นสมาธิ


การฝึกสมาธิต้องเข้าใจในความหมาย เข้าใจจุดมุ่งหมายของการฝึก
อย่าไปคาดหวังอะไรมาก อย่าไปยึดมั่นในหนังสือที่เปิดอ่าน
อย่ามัวแต่คิดว่ามันควรจะเป็นอย่างไร
มันเป็นอย่างไรก็ตามเถิด ให้ดูภาวะอันนั้น
ให้อยู่กับความจริงในปัจจุบัน พร้อมที่จะรับรู้ต่อความจริงอยู่เสมอ
อย่าไปดีใจกับผลที่เกิดขึ้นมากเกินไป
และก็อย่าไปเสียใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น ความรู้สึกว่าเราก้าวหน้า เราถอยหลัง
หรือเราอยู่กับที่ ก็เป็นแค่ความรู้สึกอันหนึ่งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติเหมือนกัน
บางครั้งเราอาจจะรู้สึกว่าเราก้าวหน้า
ที่แท้ไม่ใช่ บางครั้งเราอาจจะรู้สึกว่าเราถอยหลัง ที่จริงเราไม่ถอยหลัง
ความรู้สึกที่เรามีต่อการปฏิบัติเป็นของไม่แน่นอนเหมือนกัน
ที่สำคัญคืออย่าเชื่อ อย่าเชื่อความคิดของตน
อย่าเชื่อความรู้สึกของตน อย่างมงายในเรื่องความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง



อาตมาขออภัย ขอเล่าเรื่องส่วนตัวให้ฟัง เป็นเรื่องความโง่เขลาของตัวเอง
ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยที่ยังไม่บวช ไมใช่อาตมาโง่เฉพาะที่ยังไม่บวชหรอก
แต่ว่าโง่หลังบวชไม่อยากเล่า ตอนนั้นกำลังแสวงหาอยู่
เดินทางไปอินเดียแล้วไปเนปาล
ตอนนั้นเราเป็นนักหาประสบการณ์แบบไม่ค่อยมีขอบเขต
แต่ความสนใจหลักก็คือพระพุทธศาสนา แล้วก็อ่านหนังสือธรรมะมาก
เริ่มปฏิบัติธรรม แต่บางทีหลงเหมือนกัน
มีอยู่ครั้งหนึ่งไปเจอคณะหนุ่มญี่ปุ่นที่กำลังเตรียมจะปีนเขาหิมาลัย
เขาเชิญไปสูบกัญชาที่โรงแรมเขา
สมัยนั้นอาตมาได้เริ่มศึกษาปรัชญาชั้นสูงเช่นเรื่องสุญญตาแล้ว
แต่ยังไม่รู้ศีลห้า ก็เลยไป สูบกัญชาแล้วก็เมาตามเหตุตามปัจจัย
และในขณะที่สูบกัญชาที่น่าละอายที่สุด
ตอนนี้ผ่านมา ๒๐ กว่าปีแล้ว นึกถึงเมื่อไรก็หน้าแดงทุกที
คือ เขารู้ว่าอาตมาสนใจในทางพุทธศาสนาเขาก็ซักถาม
อาตมาก็เลยสูบพลางสอนธรรมะพลาง เขาซาบซึ้งมาก
รู้สึกอาตมาเทศน์ดีวันนั้น และก็เกิดความสำคัญตัวว่าเก่ง
พอดีตอนนั้นได้ฝึกโยคะด้วย
และทางโยคะก็พูดถึงจุดสำคัญในร่างกายเรียกว่าจักร
รู้สึกว่าทั้งหมดมีหกจุดด้วยกัน จุดหนึ่งหรือจักรหนึ่งอยู่กลางหน้าผาก
บางแห่งเรียกว่าดวงตาที่สาม ซึ่งจะมีกล่าวถึงในคัมภีร์โยคี
และคัมภีร์ในพุทธศาสนามหายานแบบตันตระมากเหมือนกัน
ตอนที่นั่งสมาธิใหม่ ๆ ที่อินเดีย บางทีเรามีความรู้สึกอยู่ตรงจุดนี้
รู้สึกเต้น ๆ เหมือนกับว่าดวงตาที่สามจะลืมแล้ว
คืนนั้นตอนดึก นักเทศน์เถื่อนเดินกลับไปที่พักซึ่งเป็นโรงแรมเล็ก ๆ
พอเปิดประตูเข้าไปในห้องที่มืดตึ๊ดตื๋อ
พ่ะ! เหมือนกับมีอะไรระเบิดอยู่ที่หน้าผาก
ดวงตาที่สามเปิดแล้ว แหมเราคิดว่าเราบรรลุแล้ว
รู้สึกปลาบปลื้ม ปิติ บรรลุมันง่ายดีแฮะ
คิดว่าจะยากกว่านี้ แต่เมื่อเปิดไฟ มองลงมาที่พื้น
ปรากฏว่ามีแมลงสาบตัวเบ้อเริ่ม นอนสลบอยู่ต่อหน้าเรา
ตอนที่เปิดประตู มันคงบินออกมาชนหน้าผากเราพอดี
โอ้โห! การบรรลุธรรมของเราคือการชนแมลงสาบเท่านั้นเอง ดีเหมือนกัน
ตั้งแต่นั้นเราก็ไม่ค่อย Serious กับประสบการณ์ต่าง ๆ ในการภาวนา
นิทานเรื่องนี้สอนอาตมาว่า นั่งสมาธิอย่าสูบกัญชา มันเข้ากันไม่ได้
อาตมาจึงเลิก และเลิกไม่ยาก เพราะเราเห็นว่า
การฝึกอบรมจิตนี้เป็นสิ่งที่ดีกว่า ไม่มีใครมาบังคับให้เลิก
เพียงแต่เราเห็นว่าการสูบกัญฯชา การละเมิดศีลต่าง ๆ นำเราไปทางหนึ่ง
การภาวนาก็ไปอีกทางหนึ่ง เราจะเลือกอย่างไหนดี ก็ไม่ต้องสงสัย
เลิกทางนี้ นี่เป็นความโง่ของอาตมาสมัยก่อน
ฉะนั้นประสบการณ์ในการปฏิบัติก็ไม่มีอะไรมากมาย
มีเกิด มีดับ ไม่ต้องไปสนใจมัน อย่าไปแปลกใจ อย่าไปกลัว
อย่าไปสงสัยมัน สักแต่ว่ารับรู้ว่ามันก็แค่นั้นแหละ เป็นของไม่แน่


ภาพนิมิตที่เกิดขึ้น เช่นพระพุทธองค์กำลังเสด็จมาโปรด
หรือยักษ์มาทำร้าย มารมาหลอก มันไม่แน่ เชื่อไม่ได้
มันเป็นเรื่องจินตนาการ เป็นเรื่องของสัญญา
ของจิตใต้สำนึกโผล่ขึ้นมาเท่านั้นเอง เราก็อยู่ด้วยความรู้
ความตื่น ความเบิกบาน สิ่งนี้ไม่ใช่เป้าหมายของการปฏิบัติ
เราไม่ได้ภาวนาเอาสิ่งนี้ ชาวพุทธไม่ได้ปฏิบัติเพื่อจะได้อะไร
เพื่อจะเป็นอะไร เพื่อจะมีอะไร แต่ปฏิบัติเพื่อปล่อยวาง
มีอะไรก็ปล่อย ไป ๆ ในที่สุดจิตก็เข้าถึงความสงบ เมื่อสงบแล้วอิ่มแล้ว
เราก็พิจารณาความจริงต่อไป
จนกระทั่งเราสามารถรู้เท่าทันความเกิดดับของสังขารแล้วหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง

เอาละวันนี้ได้แสดงธรรมพอสมควรแก่เวลา จะขอยุติลงเพียงแค่นี้ เอวัง



ทีึ่มา...ประตูสู่ธรรม
เทียนเล่มนี้...ท่านชยสาโรภิกขุ (ฌอน ชิเวอร์ตัน Shaun Chiverton)
วัดป่านานาชาติ ตำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
ธรรมเทศนา ณ เสถียรธรรมสถาน ๑๐ มิถุนายน ๒๕๓๗


:b48: :b8: :b48:

เจ้าของ:  กุหลาบสีชา [ 15 พ.ย. 2009, 15:34 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ...เทียนเล่มนี้...(ท่านชยสาโรภิกขุ)

ขออนุโมทนากับ คุณลูกโป่ง ด้วยค่ะ

:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  วรานนท์ [ 15 พ.ย. 2009, 16:52 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ...เทียนเล่มนี้...(ท่านชยสาโรภิกขุ)

:b8: :b8: :b8:

ลูกโป่ง เขียน:
ภาพนิมิตที่เกิดขึ้น เช่นพระพุทธองค์กำลังเสด็จมาโปรด
หรือยักษ์มาทำร้าย มารมาหลอก มันไม่แน่ เชื่อไม่ได้
มันเป็นเรื่องจินตนาการ เป็นเรื่องของสัญญา
ของจิตใต้สำนึกโผล่ขึ้นมาเท่านั้นเอง เราก็อยู่ด้วยความรู้
ความตื่น ความเบิกบาน สิ่งนี้ไม่ใช่เป้าหมายของการปฏิบัติ
เราไม่ได้ภาวนาเอาสิ่งนี้ ชาวพุทธไม่ได้ปฏิบัติเพื่อจะได้อะไร
เพื่อจะเป็นอะไร เพื่อจะมีอะไร แต่ปฏิบัติเพื่อปล่อยวาง
มีอะไรก็ปล่อย ไป ๆ ในที่สุดจิตก็เข้าถึงความสงบ เมื่อสงบแล้วอิ่มแล้ว
เราก็พิจารณาความจริงต่อไป


อนุโมทนาสาธุด้วยครับคุณลูกโป่ง

:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  jintana63 [ 15 พ.ย. 2009, 19:23 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ...เทียนเล่มนี้...(ท่านชยสาโรภิกขุ)

ขออนุโมทนาสาธุค่ะ คุณลูกโป่ง :b8:

เจ้าของ:  ภยังค์ [ 15 พ.ย. 2009, 20:30 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ...เทียนเล่มนี้...(ท่านชยสาโรภิกขุ)

สาธุๆ ขอให้จิตสว่างดั่งแสงเทียนนะคุณลูกโป่ง :b39: :b39: :b8:

เจ้าของ:  -dd- [ 15 พ.ย. 2009, 22:19 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ...เทียนเล่มนี้...(ท่านชยสาโรภิกขุ)

:b8: :b8: :b8:
สาธุ สาธุ สาธุ

เจ้าของ:  ทักทาย [ 15 พ.ย. 2009, 23:31 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ...เทียนเล่มนี้...(ท่านชยสาโรภิกขุ)

อนุโมทนา สาธุค่ะ :b8:

เจ้าของ:  หนอนน้อย [ 16 พ.ย. 2009, 16:07 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ...เทียนเล่มนี้...(ท่านชยสาโรภิกขุ)

อนุโมทนาขอรับ :b8:

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/