ลานธรรมจักร http://www.dhammajak.net/forums/ |
|
...ความประมาทหนทางสู่ความตาย...(หลวงพ่อลี ธมฺมธโร) http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=26271 |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 |
เจ้าของ: | ลูกโป่ง [ 14 ต.ค. 2009, 14:52 ] |
หัวข้อกระทู้: | ...ความประมาทหนทางสู่ความตาย...(หลวงพ่อลี ธมฺมธโร) |
![]() ออกพรรษาในปี ๒๔๗๔ หลวงพ่อลีมีจิตผ่องใสเบิกบานเต็มที่ การเข้าโมกธรรมอย่างเต็มที่ในพรรษาที่ผ่านมา คือ ธรรมอันเป็นเครื่องหลุดพ้นจากการเกิดแก่เจ็บตาย ทำให้เบาสบายตลอดวันคืน หลวงพ่อลีได้กราบลาพระอุปัชฌาย์จากวัดสระปทุมออกธุดงค์ ผ่านจังหวัดอยุธยา สระบุรี ลพบุรี อำเภอท่าตะโก และบึงบอระเพ็ด เพื่อไปโปรดพี่ชายและเพื่อนฝูงเมื่อครั้งยังเป็นฆราวาส ในระหว่างที่อยู่ในจังหวัดนครสวรรค์ได้ออกไปพักอยู่ในป่า ห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๒๐ เส้น วันหนึ่งได้ยินเสียงช้างป่ากับช้างบ้านที่ตกมันร้องเสียงดัง ชาวบ้านที่แวะเวียนมากราบนมัสการบอกให้ทราบว่าช้างทั้งสองกำลังต่อสู้กัน ช้างทั้งคู่สู้กันหลายครั้งนานถึง ๓ วัน ช้างป่าสู้ไม่ได้บาดเจ็บและหมดแรงตายไปในที่สุด ส่วนช้างบ้านตกมันไม่เป็นไร แต่ช้างผู้ชนะกลับยิ่งเพิ่มความบ้าคลั่งขนาดหนักพลุกพล่าน อาละวาดดุร้ายจนควาญช้างผู้เลี้ยงเอาไม่อยู่ เอางาไล่ทิ่มแทงผู้คนรอบบริเวณนั้น ขุนจบฯ เจ้าของช้างเห็นเหตุการณ์ไม่ดีเช่นนั้นจึงนิมนต์หลวงพ่อลี เข้าไปพักในบ้านเสียก่อน จนกว่าอาการตกมันของช้างจะหายเป็นปกติ หลวงพ่อลีปฏิเสธคำขอเช่นนั้น แม้จะมีอาการหวาดหวั่นต่อภัยที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ท่านเชื่อในอำนาจเมตตาแห่งอิทธิพุทธะ คืนนั้น...ขณะที่เจริญภาวนาสำรวจภาวนาจิตของตนเอง ถึงความกลัวช้างตกมันทำร้าย และได้วิเคราะห์แล้วว่าสิ่งที่ตนกลัวก็คือ "กลัวตาย" จิตได้ถามอีกว่า "แล้วทำไมจะต้องกลัวตาย?" ด้วยเหตุนี้เองท่านจึงสืบเสาะหาที่มาของความกลัวตาย จึงได้ความว่า...ความตายนั้นเป็นของน่ากลัวสำหรับมนุษย์และสัตว์ สำหรับสัตว์เมื่อกลัวแล้วก็ได้แต่วิ่งหนีอะไรที่มันนึกว่าจะทำให้มันตายได้ มันก็หลบไปชั่วครั้งชั่วคราวไปจนกว่ามันจะตายจริง ! แต่สำหรับมนุษย์นั้นมีปัญหารู้ได้ว่า ตัวเองนั้นจะต้องตายแน่ ถึงจะไปทางไหนก็ต้องตายจนได้ในวันหนึ่งวันใด แต่ก็ไม่อยากตาย อยากมีชีวิตอยู่ไปนาน ๆ ถึงจะเจ็บไข้พิการอย่างไรก็ยังขอให้มีชีวิตเอาไว้ !! ดังนั้นหากมีวิธีใดที่ยืดอายุได้ก็จะรีบทำ แม้กระทั่งหาพระหาเจ้าช่วยก็ต้องเอา คนทั่วไปคิดถึงเรื่องความตายเป็นของน่ากลัวเพราะอะไรนั้นหรือ ? ก็เพราะความหวงและห่วงชีวิตนี้ประการหนึ่ง ด้วยความไม่รู้ว่าตายแล้วจะเป็นอย่างไรอีกประการหนึ่ง และประการสุดท้าย คือ คนไม่รู้ว่าตายแล้วไปไหน ! เพราะตอนนี้ชีวิตอยู่ทั้งบุญและบาปที่ทำไว้นั้นจะติดตามไปหรือไม่ ? ด้วยเหตุนี้คนจึงกลัวความตายกันอย่างมาก ! ภาวะจิตของหลวงพ่อลียังคิดต่อไปอีกว่า เกิดก็ทุกข์ ตายก็ทุกข์..แล้วจะไปคิดถึงเรื่องความตายทำไมให้เสียเวลา... เมื่อตายแล้วยังมีที่ไป ก็แปลว่าตายแล้วก็ต้องไปเกิดอีก เมื่อเกิดอีกทีก็ต้องทุกข์อีก "สู้มานั่งคิดว่า ทำอย่างไรตายแล้วจะไม่เกิดไม่ดีกว่าหรือ ?!" ใช่แล้ว...พุทธศาสนามีคำตอบ คือ นิพพาน เป็นสถานที่ไม่มีทุกข์ เพราะไม่เกิดอีก เป็นการดับสูญโดยสิ้นเชิง เมื่อหลวงพ่อลีคิดได้เช่นนี้ ความกลัวตายจึงมลายหายไปสิ้น หายใจเข้าก็ตาย หายใจออกก็ตาย หลวงพ่อจึงมอง เห็นความตายเหมือนสายฟ้าแลบ เกิดขึ้นแล้วหายไปชั่วพริบตา รุ่งขึ้น...เวลาบ่าย ๆ ช้างตกมันเชือกนั้นตะเวนมาหยุดห่างที่หลวงพ่อปักกลดเพียง ๒๐ วา ท่านก็มิได้ตระหนักกลัว แต่อย่างใด กลับแผ่เมตตาจิตให้มัน เจ้าช้างตกมันเชือกนั้นจ้องมาทางท่านเป็นเวลาเกือบ ๑๐ นาที แล้วมันก็หันหลังกลับเดินเข้าป่า เช้าวันต่อมามีญาติโยมที่ต่าง ๆ ทราบข่าวว่าช้างตกมันไม่สามารถทำอะไรหลวงพ่อลีได้ พากันมากราบนมัสการท่านเพื่อขอของดีไปป้องกันตัวกันมากมาย หลวงพ่อกล่าวว่า "ของดีของอาตมานั้น คือความเมตตา" เมื่อมาถึงพระอุปัชฌาย์(หนู) ได้มอบหน้าที่งานแทนพระใบฎีกาบุญรอด พร้อมกันนั้นได้เรียนพระธรรมตรี และเรียนกรรมฐานอีก จึงมีภาระยุ่งยากหลายอย่าง อาการของจิตจึงมีอาการเสื่อมคลายไปบ้างบางเวลา จึงต้องใช้กรรมฐานข่มจิตมิให้วอกแวกออกไปนอกลู่นอกทาง ในพรรษานี้พระอุปัชฌาย์ ได้เรียกให้ไปอยู่กุฏิใหม่กับท่านซึ่งเป็นกุฏิหลังใหญ่ ที่ท่านผู้หญิงตลับ ภริยาเจ้าพระยายมราช (ปั้นสุข) เป็นผู้สร้างถวาย โดยช่วยท่านแต่งโน่นแต่งนี่ ส่วนงานที่เคยทำพระอุปัชฌาย์ได้มอบหมาย ให้พระรูปอื่นทำแทนทำให้เบาใจไปได้ในบางเวลา ช่วงนี้หลวงพ่อลี ได้ตรวจจิตของตนเอง รู้สึกว่าเลื่อมใสในทางปฏิบัติ คือ จิตจะหันไปทางโลกเสียบ้าง ได้คิดต่อสู้อยู่จนตลอดพรรษา จู่ ๆ วันหนึ่งได้เกิดความคิดในใจว่า ถ้าเราอยู่ในพระนคร (กรุงเทพ) นี้เราคงต้องสึกแน่ ถ้าเราจะไม่สึกเราต้องออกจากพระนครไปอยู่ป่าครั้นตกลางคืน ฝันเห็นพระอาจารย์หลายท่านมากล่าวตักเตือนอยู่บ่อย ๆ ช่วงนี้กองทัพกิเลสเข้ารบกวนจิตใจท่านหลายอย่าง และหลวงพ่อพยายามต่อสู้อย่างเต็มที่ ความอัศจรรย์ได้เกิดขึ้นเป็นข้อเตือนใจ ให้ท่านได้อยู่ในสมณเพศต่อไป ครั้งแรก ขณะที่ออกบิณฑบาตในตรอกวัดสระปทุม พอเดินไปถึงหน้าบ้านที่เขาจะใส่บาตร เกิดรู้สึกปวดหนักจนแทบไม่ไหวจะเดินออกไปรับบิณฑบาตก็เดินไม่ได้ ก้าวขาไม่ออก พยายามอดกลั้นขยับขาเดินได้ทีละคืบไปถึงป่ากฐินข้าง รีบวางบาตรลอดรั้วเข้าป่า เมื่อทำธุระเสร็จออกจากป่าอุ้มบาตรออกมาบิณฑบาตต่อไป วันนั้นได้ข้าวไม่พอฉัน กลับถึงวัดจึงเตือนตนเองว่า "มัวแต่คิดเรื่องไร้สาระมิหาแก่นสารในธรรม ใครจะมาใส่บาตรให้ฉัน" ครั้งที่สอง ออกบิณฑบาตแต่เช้า เดินข้ามสะพานหัวช้างวกเข้าถนนเพชรบุรี ข้าวแม้แต่ทัพทีเดียวก็ไม่ลงบาตร บังเอิญมองเข้าไปในบ้านหลังหนึ่ง เห็นยายแก่ไว้ผมยาวมวยคว้าไม้กวาดตีหัวตาแป๊ะส่วนตายแป๊ะคว้ามวยผมถีบหลังยายแก่ จึงได้ข้อธรรมว่า "หากสึกออกไปเป็นฆราวาสมีครอบครัว ตัวเราโดนอย่างนี้ จะทำอย่างไรกัน คงบ้านแตกสาแหรกขาดแน่" เมื่อหลวงพ่อกำหนดพิจารณาเห็นเช่นนั้น เกิดความเบื่อหน่ายสังเวชสลดในชีวิตฆราวาสออกไปโดยลำดับ ครั้งที่สาม วันนั้นเป็นวันเทศกาลได้ออกบิณฑบาตแต่เช้ามืด เดินไประหว่างตลาดประตูน้ำสระปทุม แล้ววกกลับมาทางหลังวัด บริเวณนั้นมีคอกม้า มีถนนดินเวลาฝนตกถนนลื่นมากในบาตรมีข้าวเต็ม ในจิตคิดไปถึงเรื่องอื่น ๆ จนเผลอตัว หลวงพ่อได้ก้าวลื่นถลาล้มลงไปในบ่อข้างถนนหัวเข่าทั้งสอง จมลงไปอยู่ในโคลน ข้าวในบาตรหกหมดเกลี้ยงเนื้อตัวเลอะเทอะ ไปด้วยโคลน จึงรีบกลับวัดทันที ท่านนึกตรึกตรองบอกว่า หากจิตยังโลดโผน แล่นไปอย่างนี้ไม่มีจุดหมายเพราะขาดสติ จนการทำให้เกิดการประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น...เป็นเพราะสติตัวเดียวแท้ ๆ ครั้งที่สี่ ออกบิณฑบาตเช่นเคย เดินไปถึงวังพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าธานีนิวัตร ซึ่งพระองค์ท่านใส่บาตรประจำวันแก่พระทั่ว ๆ ไป วันนั้นมีญาติโยมมาตั้งโต๊ะใส่บาตรอยู่ตรงข้าง จึงเดินไปรับบาตรญาติโยมคนนั้นเสียก่อน พอรับเสร็จแล้วหันกลับไปยังหน้าวัง พอดีมีเมล์ขาวนายเลิศวิ่งมาอย่างรวดเร็วเฉียดศีรษะห่างหนึ่งคืบ คนโดยสารบนรถพากันร้องโวยวายกันใหญ่ ตนเองก็ยืนตะลึงอยู่เป็นเวลาหลายอึดใจ กลับถึงวัดสติก็ร้องบอกเตือนว่า "นี่เป็นอีกคราหนึ่งที่เราขาดสติและประมาท" คืนนั้น...ท่านจึงได้ปฏิบัติภาวนาพิจารณาจิตของตนเองที่บกพร่อง จึงเห็นว่า...คนที่นับถือศาสนาพุทธอยู่ทุกวันนี้ดูออกจะแสวงหาสิ่งต่าง ๆ จากศาสนาพุทธ ไม่ตรงกันเป็นต้นว่า แสวงหาความสงบบ้าง แสวงหาฤทธิ์อำนาจที่อยู่นอกเหนือธรรมชาติบ้าง ตลอดจนถึงแสวงหาความอยู่ยงคงกระพันเมื่อมีสิ่งเหล่านี้ ก็ปฏิบัติธรรมะต่างกัน โดยบรรลุให้ถึงความประสงค์ แต่ความจริงที่แท้แล้ว ธรรมทุกอย่าง การปฏิบัติทุกอย่างย่อมนำไปสู่สติ คือ ความไม่ประมาทอย่างเดียวกันทั้งนั้น หากคนทั้งหลายที่นับถือศาสนาพุทธ เข้าใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในความจริงข้อนี้ การปฏิบัติศาสนาพุทธก็จะอยู่ในร่องรอยมากขึ้น ไม่แตกออกไปเป็นลัทธิต่าง ๆ อย่างที่มีอยู่ในปัจจุบัน และผู้ปฏิบัติธรรมของศาสนาพุทธ จะได้รับประโยชน์มาก... คือ...จะมีสติ หรืออยู่ในความไม่ประมาทอันเป็นอมฤตธรรมที่พิสูจน์ได้และถูกต้องที่สุด !!... ที่มา : ประตูสู่ธรรม คัดลอกจาก: แก่นธรรมพระแท้แสงเพชร ด้วยจิตกราบบูชา จากคุณ : mayrin [ 16 ก.ค 2545 ] ![]() ![]() ![]() ความประมาทหนทางสู่ความตาย หลวงพ่อลี ธมฺมธโร โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 005775 โดยคุณ : mayrin [ 16 ก.ค 2545 ] |
เจ้าของ: | วรานนท์ [ 14 ต.ค. 2009, 16:42 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: ...ความประมาทหนทางสู่ความตาย...(หลวงพ่อลี ธมฺมธโร) |
![]() ![]() ![]() ขอบคุณ คุณลูกโป่งครับ ที่นำกระทู้เก่ามาให้อ่านครับ เก่าเก็บด้วยคุณธรรม ควรค่าแก่การจดจำ ![]() ![]() ![]() |
เจ้าของ: | bbb [ 20 ต.ค. 2009, 15:05 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: ...ความประมาทหนทางสู่ความตาย...(หลวงพ่อลี ธมฺมธโร) |
![]() ![]() ![]() |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 | เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง |
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group http://www.phpbb.com/ |