ลานธรรมจักร http://www.dhammajak.net/forums/ |
|
สิ่งที่ไม่รู้-ไม่ได้ http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=24884 |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 |
เจ้าของ: | Bwitch [ 13 ส.ค. 2009, 10:18 ] |
หัวข้อกระทู้: | สิ่งที่ไม่รู้-ไม่ได้ |
สิ่งที่ไม่รู้-ไม่ได้ ![]() ว่า ... ในภายใน ร่างกายอันมีประมาณยาววาหนาคืบนี้ คือ "กองทุกข์" ... จักต้อง ใช้สติปัญญาเข้าไปกำหนดทำความรู้แจ้ง เห็นการเกิดดับของมันตามความเป็นจริง ให้ได้ในชาตินี้ ... ความรู้เช่นนี้ต้องกำหนดรู้ ไม่รู้-ไม่ได้ ..... ![]() ว่า ... ทุกคน เป็นอริยบุคคลได้ ในชาตินี้ ... ถ้าไม่ประมาท และ ปฏิบัติตามคำแนะนำของ ผู้รู้ ..... ![]() ว่า ... ผลกรรมทำให้ มีลมหายใจ ลมหายใจทำให้ มีชีวิต ชีวิตทำให้ มีทุกข์ ทุกข์ทำให้ กำหนดรู้ กำหนดรู้ทำให้ ทุกข์ดับ ชีวิตคือ "ความทุกข์" ..... ![]() คำว่า "ไม่รู้-ไม่ได้" ในที่นี้ หาใช่คำบังคับแต่อย่างใด หากเป็นเพียงหัวข้อเรื่อง ที่น่าจะใช้ได้กับเรื่องที่มีความสำคัญ อย่างยิ่งยวดต่อชีวิตของคนเรา รู้นี้ก็คือ มีสติรู้ตัว เอาตัวหรือร่างกายของตัวเอง ที่มีประมาณยาววาหนาคืบนี้ ให้รอดพ้นจากทุกข์ให้ได้ ในชาตินี้นี่เอง วิธีที่จะมีสติ "รู้ตัว" อยู่เสมอเป็นนิจ ก็คือการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน วิธีเดียว ..... ![]() ... วิชชาคือ "ความรู้" "ความรู้" คือ รู้ทุกข์ ... อวิชชา คือ ความไม่รู้ในสิ่งที่ควรจะรู้อันเกี่ยวกับการดับทุกข์ ผู้ใดละอวิชชาเสียได้ ผู้นั้นก็กลายเป็นพระอรหันต์ มีความ "รู้" เต็มเปี่ยมที่สุดในเรื่องที่จะต้อง "รู้" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือ เรื่องอริยสัจจ์ เรื่องความดับทุกข์ เรื่องความจริงของกรรมดีกรรมชั่ว เรื่องกรรมชนิดที่อยู่เหนือดีเหนือชั่ว "รู้" เรื่องอริยมรรค อันเป็นที่สิ้นสุดของกรรมดีกรรมชั่ว ท่านเห็นชัดแจ้งหมดเพราะท่าน ปฏิบัตแล้วจริงๆ ท่านจึงเห็นชัดกว่าคนอื่นซึ่งยังอยู่ ใต้กฏแห่งกรรม การหมดอวิชชา ก็ทำให้ "รู้อย่างแจ่มแจ้งจริงๆ" ในเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท เรื่องไตรลักษณ์ เรื่อง "ความว่าง" (สุญญตา ซึ่งแปลว่า ความว่างจากการ "รู้สึกว่ามีตัวตน" โดยแท้จริง) ..... ![]() ... เมื่อสังโยชน์ถูกละไปได้ ก็กลายเป็นคนที่เต็มเปี่ยม เป็น "คนที่สมบูรณ์ที่สุด" ของความเป็นมนุษย์ (คือ พระอรหันต์) เป็นสภาพสูงสุดตามหลักของพระพุทธศาสนา พระอรหันต์มี "ความว่างจากตัวตน-ของตน" โดยสิ้นเชิง มีอิสระเหนือทุกอย่าง เพราะว่าเป็นผู้ "รู้จริงถึงที่สุด" ที่เรียกว่า "ว่าง" นี้ ว่างอย่างถูกต้องตามหลักของพระพุทธศาสนา คือไม่ใช่ว่างชนิดที่เขาพูดกันว่า เช่นว่า จิตนึกคิดอะไรไม่ได้ กายก็แข็งทื่อเป็นท่อนไม้ แต่ที่ถูกนั้น เป็นความว่างจากกิเลส ว่างที่เฉลียวฉลาดที่สุด ว่องไวที่สุด เต็มไปด้วย "สติ ปัญญาถึงที่สุด" ไม่มีการยึดมั่นถือมั่นในตัวตน-ของตน หรือความเห็นแก่ตัว เมื่อไม่มีตัณหาอุปาทาน มรรคผลนิพพานจึงอยู่แค่จมูก แค่หน้าผากนี่เอง จะคลำพบได้ถ้า "รู้" ว่ามันอยู่ที่ไหน ไม่ใช่เป็นเรื่องเหลือวิสัย หรืออยู่นอกฟ้าป่าหิมพานต์ หรือจะได้ก็ต่อเมื่อ "ตายแล้วเกิดแล้วหลายร้อยหลายพันชาติ" ... นี่คือ ลักษณะ ความหมาย คุณค่า และอานิสงส์ของ "ความรู้" เพื่อนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า มรรค ผล นิพพาน ซึ่งยังไม่พ้นสมัยเลย ..... ![]() ... ความรู้ คือ วิชชา วิชชา คือ "รู้ทุกข์" ... เกิดมาแล้วชาตินี้อย่างต่ำที่สุด ต้อง "รู้" เพื่อละ ให้ได้จริง ๓ ข้อ ... การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุถึงมรรคผลนิพพานนั้น พระพุทธเจ้าท่านให้ละกิเลสหมวที่เรียกว่า "สังโยชน์" คือ ละความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน-ของตน ชั้นหยาบไปสู่ละเอียด ให้ได้มากขึ้นตามลำดับ ..... ![]() ... สังโยชน์ แปลว่า เครื่องผูกมัด คือ ผูกมัดชีวิตจิตใจของคน อยู่ในวิสัยของชาวโลก ... สิ่งที่ผูกมัดจิตใจก็คือความ "รู้สึก" ยึดมั่นเราให้ติดถือมั่น ว่าเป็นตัวเราหรือมีอะไรๆ เป็นของเรา ... ฉะนั้น สังโยชน์ก็คือความเห็นแก่ตัว นับตั้งแต่หยาบที่สุด จนถึงละเอียดประณีตที่นิยมกันว่าดี แม้ชั้นดีนี้ก็ต้องละไปด้วยสังโยชน์ ๓ ข้อ ที่ถ้าละได้แล้วจะทำให้ ปุถุชนกลายเป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน "ทันที" นั้น คือ ข้อที่ ๑ สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นแก่ตัวจัด ข้อที่ ๒ วิจิกิจฉา คือ ความลังเลใจในเรื่องดำเนินชีวิตของตน ข้อที่ ๓ สีลัพตปรามาส คือ การเชื่ออย่างงมงายไร้เหตุผล ..... ![]() ... เมื่อเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็จะมีแต่กำลังเดินอยู่ในทางที่แน่นอน ต่อความดับทุกข์ขั้นสูง (คือ นิพพาน) ... คนเช่นนี้เรียกว่าเป็นพระอริยเจ้า ... อันดับแรก คำว่า "อริยะ" เป็นภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต คือ "อารยะ" ... "อารยะ" ตามความหมายของพระพุทธเจ้า ก็คือ คนที่ไม่เห็นแก่ตัวจัด ไม่ลังเลในการเชื่อพระพุทธ พระธรรมและพระอริยสงฆ์ และไม่หลงงมงายไร้เหตุผล ..... ![]() ... "รู้" เพื่อละ ให้ได้จริง สามข้อ จึงไม่เสียที ที่เกิดมา เป็นมนุษย์ ดังนี้ ..... ![]() ... "คุณภาพ" ของ "ชีวิต" คือ "การพิชิต" ความประมาท และอวิชชา ..... ![]() ... เมื่อละสังโยชน์ได้ ๓ อย่างนี้แล้ว (สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพตปรามาส) ก็เป็นสุภาพบุรุษได้ และเป็นอริยชนที่แท้ได้ เรียกว่า พระโสดาบัน ... อันเป็นพระสงฆ์ที่แท้จริงของพระพุทธศาสนา ที่เราควรกราบไหว้และประพฤติตาม เป็นที่พึ่งที่ระลึกได้ ไม่เป็นอันตรายแก่ใครๆ ... เพราะท่านเป็นพระแท้ที่จะสืบต่อพระศาสนา ท่านจะเป็นฆราวาสก็ได้ เป็นหญิง เป็นชาย หรือแม้เป็นเด็ก ก็ได้ ..... ![]() ... ทำอย่างไร จึงจะเห็น ("รู้") ทุกข์ ด้วยปัญญาจักษุได้ ... ถาม วิปัสสนาแปลและหมายความว่าอย่างไร ตอบ แปลว่า เห็นแจ้ง หมายความว่า เห็นปัจจุบัน เห็นรูปนาม เห็นพระไตรลักษณ์และเห็น มรรค ผล นิพพาน ... ถาม ธุระ คือ หน้าที่อันสำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้นั้น มีอยู่เท่าไร อะไรบ้าง ตอบ มีอยู่ ๒ อย่าง คือ คันถธุระ ๑ วิปัสสนาธุระ ๑ การเรียนพระพุทธพจน์นิกายหนึ่ง สองนิกายหรือ ว่าจบทั้งพระไตรปิฎกแล้วจำได้ แสดงได้ บอกได้ ตามสมควรแก่ปัญญาของตน นี้ชื่อว่า คันถธุระ ส่วนการเริ่มตั้งความสิ้นความเสื่อมไว้ ในอัตตภาพ แล้วเจริญวิปัสสนาด้วยสามารถกระทำความเพียร เป็นไปติดต่อกัน จนได้บรรลุพระอรหันตของภิกษุ ผู้มีความประพฤติปอนๆ ยินดีอยู่ในเสนาสนะอันสงัด นี้ชื่อว่า วิปัสสนาธุระ ... ถาม เรื่อง วิปัสสนา นี้ มีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกหรือไม่ ตอบ มีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกมากมายหลายเล่ม เช่น ในมหาสติปัฏฐานสูตร ธัมมจักกัปวัตตนสูตร อนัตตลักขนสูตร อาทิตตปริยายสูตร เป็นต้น ว่าด้วย วิปัสสนา และในที่อื่น ก็ยังมีอยู่อีกมาก ตัวอย่างเช่น ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ หน้าที่ ๗๘ ว่า (ยกเอาคำแปล เป็นไทยมาเท่านั้นค่ะ- deedi) ดูกร ท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย บุคคลเจริญวิปัสสนาเพื่อประโยชน์อะไร- เพื่อปัญญา ปัญญาที่บุคคลอบรมมาแล้ว เพื่อประโยชน์อะไร- เพื่อละอวิชชา ดังนี้ เป็นต้น ..... ![]() ... ถาม สมถะกับวิปัสสนาต่างกันที่ตรงไหน ตอบ ต่างกันที่ตัวหนังสืออย่างหนึ่ง ต่างกันที่อารมณ์อย่างหนึ่ง คือ สมถะเขียนอย่างหนึ่ง และมีอารมณ์ ๔๐ อย่าง ส่วนวิปัสสนาเขียนอีกอย่างหนึ่ง และมีปรมัตถ์คือ รูปนาม เป็นอารมณ์ ... ถาม ภูมิของวิปัสสนามีเท่าไร มีอะไรบ้าง ตอบ มี ๖ คือ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ ... ถาม อารมณ์ของสมถกรรมฐาน ๔๐ อย่างนั้น ได้แก่อะไรบ้าง จงยกมาแสดงย่อๆ ตอบ อารมณ์ของสมถกรรมฐานนั้น ท่านแสดงไว้สำหรับผู้ มีศรัทธา จะได้น้อมนำมาประพฤติปฏิบัติตาม มีอยู่ ๔๐ อย่าง แบ่งออกเป็น ๗ หมวด ดังนี้ คือ ๑. หมวดกสิณ มี ๑๐ อย่างคือ ปฐวีกสิณ เอาดินเป็นอารมณ์ อาโปกสิณ เอาน้ำเป็นอารมณ์ เตโชกสิณ เอาไฟเป็นอารมณ์ วาโยกสิณ เอาลมเป็นอารมณ์ นีลกสิณ เอาสีเขียวเป็นอารมณ์ ปีตกสิณ เอาสีเหลืองเป็นอารมณ์ โลหิตกสิณ เอาสีแดงเป็นอารมณ์ โอทาตกสิณ เอาสีขาวเป็นอารมณ์ อากาสกสิณ เอาอากาศเป็นอารมณ์ อาโลภกสิณ เอาแสงสว่างเป็นอารมณ์ ๒. หมวดอสุภะ มี ๑๐ อย่าง คือ อุทธุมาตกะ เอาซากศพที่ขึ้นพองเป็นอารมณ์ วีนีลกัง เอาซากศพที่มีสีเขียวเป็นอารมณ์ วิปุพพกัง เอาซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลออกมาเป็นอารมณ์ วิจฉิททกัง เอาซากศพที่ขาดเป็นท่อนเป็นอารมณ์ วิกขายิตกัง เอาซากศพที่ถูกสัตว์กัดขาดวิ่นไปเป็นอารมณ์ วิกขิตตกัง เอาซากศพที่ถูกสัตว์กัดกระจุยกระจายอยู่ในที่นั้นๆ เป็นอารมณ์ หตวิกขิตตกัง เอาซากศพที่ถูกฆ่าตายเป็นอารมณ์ โลหิตกัง เอาซากศพที่มีโลหิตไหลออกอยู่เป็นอารมณ์ ปุฬุวกัง เอาซากศพที่มีหมู่หนอนไหลออกอยู่เป็นอารมณ์ อัฏฐิกัง เอาซากศพที่เป็นโครงกระดูเป็นอารมณ์ ๓. หมวดอนุสสติ มี ๑๐ อย่าง คือ พุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ธัมมานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระธรรม สังฆานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ สีลานุสสติ ระลึกถึงศีลของตน จาคานุสสติ ระลึกถึงทานที่ตนได้บริจาคแล้ว เทวตานุสสติ ระลึกถึงคุณธรรมที่ทำบุคคลให้เป็นเทวดา อุปสมานุสสติ ระลึกถึงคุณพระนิพพานซึ่งเป็นที่ระงับกิเลสและกองทุกข์ มรณานุสสติ ระลึกถึงความตายอันจะมาถึงตน กายคตาสติ ตั้งสติไว้ในกาย (พิจารณาอาการ ๓๒ เช่น ผม ขน เล็บ) อานาปานสติ ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก มีหลายนัย ๔. หมวดอัปปมัญญา มี ๔ อย่าง คือ (อัปมัญญา คือ ธรรมที่แผ่ไปไม่มีประมาณ- พจนานุกรมพุทธศาสตร์) เมตตา ความรักใคร่ ปรารถนาจะให้เป็นสุข กรุณา ความสงสารสัตว์ที่ตกทุกข์ได้ยาก อยากจะช่วยให้พ้นทุกข์ มุทิตา ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี อุเปกขา ความวางเฉยในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ๕. หมวดสัญญาณ มี ๑ อย่าง คือ อาหาเรปฏิกูลสัญญา การพิจารณาอาหาร โดยความเป็นของปฏิกูล เช่น อาหารที่ใช้บริโภคใช้เคี้ยว ใช้ลิ้ม เป็นต้น ๖. หมวดธาตุ มี ๑ อย่าง คือ จตุธาตุววัตถานัง การกำหนดพิจารณาธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ๗. หมวดอรูป มี ๔ อย่าง คือ อากาสานัญจายตนะ เพ่งความว่างเปล่าไม่มีที่สุดเป็นอารมณ์ วิญญาณัญจายตนะ เพ่งวิญญาณไม่มีที่สุดเป็นอารมณ์ อกิญจัญญายตนะ เพ่งความไม่มีอะไรเป็นที่สุดเป็นอารมณ์ เนวสัญญานาสัญญายตนะ เพ่งความมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ เป็นอารมณ์ ... หมายเหตุ ดิฉันยกเอารายละเอียดเกี่ยวกับอารมณ์ทั้ง ๔๐ ในการปฏิบัติ สมถกรรมฐาน มาให้อ่านผ่านๆ ตา เพราะสิ่งที่ดิฉันมุ่งอยากเน้นพูดถึง จริงๆ นั้น คือ วิปัสสนากรรมฐาน และสติปัฏฐานสี่ อันจะนำออกจากทุกข์ได้จริง ด้วยการพิจารณาเอารูปนามเป็นอารมณ์ มากกว่าค่ะ- deedi ..... ![]() ... อภิญญา ๕ ผลแห่งการเจริญสมถกรรมฐาน เมื่อได้รูปาวจรปัญจมฌาน อันเป็นบาทสองอภิญญาแล้ว ถ้าปฏิบัติต่อๆ ไป ย่อมจะได้ บรรลุอภิญญาทั้ง ๕ คือ ๑. อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้ ๒. ทิพพโสต มีหูทิพย์ ๓. ปรจิตตวิชานนะ รู้วาระจิตของบุคคลอื่น ๔. บุพเพนิวาสนุสสติ ระลึกชาติได้ ๕. ทิพพจักขุ มีตาทิพย์ ... สมถยานิก สมถยานิก แปลว่า เอาสมถกรรมฐานเป็นยานพาหนะ นำพาไปสู่วิปัสสนา แล้วเอาวิปัสสนาเป็นทางนำไปสู่ มรรค ผล นิพพาน ต่อไป หมายความว่า ผู้ที่เจริญสมถกรรมฐานจนได้ฌานแล้ว เอาฌานเป็นบาทเจริญวิปัสสนาต่อ สามารถจะได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน แต่ถ้าไม่เจริญวิปัสสนาต่อไป ก็จะไม่มีโอกาสจะบรรลุ มรรค ผล นิพพาน ได้เป็นแน่นอน ..... ![]() ... ถาม วิปัสสนาภูมิ ๖ กับ รูปนาม เป็นอันเดียวกันหรือคนละอัน ตอบ เป็นอันเดียวกัน คือ อันหนึ่งพูดไว้พิสดาร อันหนึ่งพูดไว้ย่อๆ ดังนี้ ก. วิปัสสนาภูมิ ๖ คือ ๑. ขันธ์ ๕ ย่อลงมา ได้แก่ รูปนาม ๒. อายตนะ ๑๒ ย่อลงมา ได้แก่ รูปนาม ๓. ธาตุ ๑๘ ย่อลงมา ได้แก่ รูปนาม ๔. อินทรีย์ ๒๒ ย่อลงมา ได้แก่ รูปนาม ๕. อริยสัจ ๔ ย่อลงมา ได้แก่ รูปนาม ๖. ปฏิจจสมุปบาท ย่อลงมา ได้แก่ รูปนาม ข. คำว่า "รูปนาม" ก็หมายเอาคำที่ย่อลงมาแล้วนั่นเอง ... ถาม เมื่อขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ เป็นต้น เป็นอันเดียวกัน คือ รูปนาม เท่านั้น ทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงไว้ มากมายนัก ตอบ เพราะอัธยาศัยของเวไนยสัตว์ไม่เหมือนกัน บางพวกถือนามเป็นตัวเป็นตน บางพวกถือรูปเป็น ตัวเป็นตน บางพวกถือทั้งรูปทั้งนามเป็นตัวเป็นตน เพราะฉะนั้น สมเด็จพระทศพลผู้ฉลาดในการแสดงธรรม จึงทรงเทศนาไว้หลายนัย คือ ถ้าชนเหล่าใดถือนามว่าเป็นตัวเป็นตน พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงขันธ์ ๕ แก่คนเหล่านั้น เพื่อจะได้ถอนสักกายทิฏฐิออกได้ง่าย เพราะในขันธ์ ๕ นั้น มี นาม มากกว่า รูป ถ้าชนเหล่าใดถือรูปเป็นตัวเป็นตน พระพุทธองค์ก็แสดงอายตนะ ๑๒ แก่ชนเหล่านั้น เพื่อจะได้ถอนสักกายทิฏฐิออกได้ง่าย ถ้าชนเหล่าใดถือทั้งรูปทั้งนามเป็นตัวเป็นตน พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงธาตุ ๑๘ แก่ชนเหล่านั้น เพื่อจะได้ถอนสักกายทิฏฐิออกได้ง่าย เพราะในธาตุ ๑๘ นั้น มี รูป กับ นาม เกือบเท่าๆ กัน ..... ![]() ... ถาม วิปัสสนา มีประโยชน์อย่างไร ตอบ มีประโยชน์มากมายเหลือที่จะนับจะประมาณได้ จะยกมาแสดงที่มีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก สักเล็กน้อยก่อน คือ ๑. สัตตานัง วิสุทธิยา ทำกาย วาจา ใจ ของสรรพสัตว์ ให้บริสุทธิ์หมดจด ๒. โสกะปะริเทวานัง สะมะติกกะมายะ ดับความเศร้าโศกปริเทวนาการต่างๆ ๓. ทุกขะโทมะนัสสานัง อัตถังคะมายะ ดับความทุกข์กาย ดับความทุกข์ใจ ๔. ญาญัสสะ อธิคะมายะ เพื่อบรรลุมรรค ๕. นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง ... ถาม ประโยชน์ของการเจริญวิปัสสนามีเพียงเท่านี้หรือ ตอบ ยังมีอยู่อีกมาก เช่น ๑. ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท ๒. ชื่อว่าเป็นผู้ได้เตรียมตัวตายก่อนตาย ๓. ชื่อว่าเป็นผู้ได้ป้องกันภัยในอบายภูมิทั้ง ๔ ๔. ชื่อว่าได้บำเพ็ญไตรสิกขา ๕. ชื่อว่าได้เดินตามทางสายกลาง คือ มรรค ๘ ๖. ชื่อว่าไดรักษาสัทธรรม ๓ ไว้ให้เจริญวัฒนาสถาพรต่อๆ ไป ๗. ชื่อว่าได้บูชาพระพุทธเจ้าด้วยการบูชาอย่างสูงที่สุด ๘. ชื่อว่าได้บำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา ให้เป็นอุปนิสัยปัจจัย ในภายหน้าต่อๆ ไป ในเมื่อยังไม่ถึงพระนิพพาน ๙. ชื่อว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามพระไตรปิฎกโดยแท้จริง ๑๐. ชื่อว่าเป็นผู้มีชีวิตไม่เปล่าจากประโยชน์ทั้ง ๓ ๑๑. ชื่อว่าเป็นผู้เข้าถึงพระรัตนตรัยอย่างถูกต้องแท้ สมกับนามว่า อุบาสกอุบาสิกา ๑๒. ชื่อว่าได้ปฏิบัติตามพระพุทธโอวาททั้ง ๓ ข้อนี้เป็นอย่างดี ๑๓. ชื่อว่าได้ปฏิบัติเพื่อให้เกิดวิปัสสนาญาณ ๑๖ ๑๔. ชื่อว่าได้สั่งสมอริยทรัพย์ไว้ในภายใน ๑๕. ชื่อว่าเป็นคนไม่จน ๑๖. ชื่อว่าเป็นผู้มาดีไปดี อยู่ดีกินดี ไม่เสียทีได้เกิดมาพบ พระพุทธศาสนา ๑๗. ชื่อว่าได้รักษาอมตมรดก ของสมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้าไว้เป็นอย่างดี ๑๘. ชื่อว่า ได้ช่วยกันเผยแพร่พระพุทธศาสนาให้เจริญ รุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ๑๙. ชื่อว่า ได้ตัวอย่างอันดีงามแก่อนุชนรุ่นหลัง ๒๐. ชื่อว่าตนเองได้มีธนาคารบุญติดตัวไปทุกฝีก้าว ..... ![]() ... ถาม ผู้ประสงค์จะเจริญวิปัสสนาจะต้องเรียนให้รู้เสียก่อน จึงจะปฏิบัติได้ใช่ไหม ตอบ ใช่ ต้องเรียนให้รู้เสียก่อน จึงจะปฏิบัติได้ ... ถาม วิธีเรียนวิปัสสนานั้น มีอยู่กี่อย่าง อะไรบ้าง ตอบ มีอยู่ ๒ อย่าง คือ เรียนอันดับ ๑ เรียนสันโดษ ๑ ... ถาม วิธีเรียนทั้ง ๒ อย่างนั้น ต่างกันอย่างไร ตอบ ต่างกันอย่างนี้ คือ ก. เรียนสันโดษ คือ เรียนย่อๆ สั้นๆ เอาเฉพาะที่จะปฏิบัติเท่านั้น เรียนขณะนั้น ปฏิบัติขณะนั้นก็ได้ เช่น สอนวิธีเดินจงกรม สอนวิธีนั่งกำหนด สอนวิธีกำหนดเวทนา สอนวิธีกำหนด ในขณะนอน เพียงเท่านี้ก็พอแล้ว ใช้เวลาเพียง ๕ นาที หรือ ๑๐ กว่านาทีเท่านั้น ข. เรียนอันดับ คือ เรียนให้รู้จักขันธ์ ๕ ว่าได้แก่อะไรบ้าง ย่อให้สั้นในแนวปฏิบัติ เหลือเท่าไร ได้แก่อะไร เกิดขึ้นที่ไหน เกิดขึ้นเมื่อไร เมื่อขันธ์ ๕ เกิดขึ้นแล้ว อะไรเกิดตามมาอีก จะกำหนดตรงไหนจึงจะถูกขันธ์ ๕ เมื่อกำหนดถูกแล้ว จะได้ประโยชน์อย่างไรบ้าง ดังนี้เป็นต้น นอกจากนี้ ก็ต้องเรียนให้รู้ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ โดยละเอียดเสียก่อนแล้วจึงลงมือปฏิบัติก็ได้ ... ถาม ในวิธีเรียนทั้ง ๒ อย่างนี้ อย่างไหนจะดีกว่ากัน ตอบ ดีด้วยกันทั้ง ๒ อย่าง ใครชอบวิธีใดก็เรียนวิธีนั้นเถิด แต่เท่าที่ปฏิบัติมา เรียนวิธีสันโดษสะดวกดีสบายดี ง่ายดีและได้ผลเร็วดี ..... ![]() ... ถาม การเจริญวิปัสสนาที่นิยมกันอยู่ทุกวันนี้ ปฏิบัติตามแบบไหน ตอบ ปฏิบัติตามแบบของพระพุทธเจ้า เพราะวิปัสสนานี้มีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกแล้ว เป็นแบบของพระพุทธเจ้าแบบเดียวเท่านั้น ไม่มีศาสดาอื่นใดที่จะมาบัญญัติให้พิเศษ กว่าพระพุทธเจ้าได้อีกเลย ... ถาม ที่ตอบอย่างนี้อาศัยอะไรเป็นหลัก ตอบ อาศัยมหาสติปัฏฐานสูตรเป็นหลัก คือ พระพุทธองค์ทรงแสดงวิธีปฏิบัติไว้ใน มหาสติปัฏฐานสูตรอย่างละเอียดละออที่สุดแล้ว ถ้าใครปฏิบัติถูกต้องตามนั้น ก็เป็นอันว่า ไม่ผิดหวัง ๑๐๐ เปอร์เซนต์ ... ถาม จะมีทางอื่นนอกจากวิปัสสนานี้อีกหรือไม่ ที่จะยังผู้ปฏิบัติให้เข้าถึง มรรค ผล นิพพาน ได้ ตอบ ไม่มีเลย มีทางเดียวเท่านั้น ดังพระบาลีในมหาสติปัฏฐานสูตรว่า "เอกายะโน อะยัง ภิกขะเว มัคโค สัตตานัง วิสุทธิยา" ดังนี้เป็นต้น แปลเป็นใจความว่า ดูกร ท่านผูเห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย ทางสายนี้ เป็นทางสายเอก คือ เป็นทางสายเดียวเท่านั้น ที่เป็นไป พร้อมเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อดับความเศร้าโศกปริเทวนาการต่างๆ เพื่อดับความทุกข์ทางกาย ทางใจ เพื่อบรรลุมรรค ๔ เพื่อทำให้แจ้งพระนิพพาน ดังนี้ เป็นตัวอย่าง ..... ![]() ... ถาม ผลของสมถะอย่างสูงจะไปถึงไหน ตอบ ไปถึงพรหมโลก ๒๐ ชั้น ... ถาม ถ้าเจริญสมถะอย่างเดียว จะไปสู่นิพพาน ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด ตอบ ไม่ได้ เพราะละกิเลสเพียงด้วยการข่มกิเลส ไว้เท่านั้น ไม่สามารถจะตัดกิเลสที่นอนเนื่อง อยู่ในขันธสันดานให้ขาดได้ ... ถาม ผู้เจริญสมถะแล้ว ประสงค์จะต่อวิปัสสนา ได้หรือไม่ ตอบ ได้ ยิ่งเป็นการดีมากทีเดียว เพราะมีสมาธิเป็นพื้นฐานดีอยู่แล้ว ถ้าต่อวิปัสสนาก็ง่าย ..... ![]() ... ถาม การเจริญสติปัฏฐาน ๔ กับการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เป็นอันเดียวกัน หรือเป็นคนละอัน ตอบ เป็นอันเดียวกัน ต่างกันแต่ชื่อเท่านั้น ..... ![]() ... ถาม ในการภาวนาครั้งหนึ่งๆ พระพุทธองค์ทรงวางหลัก ไว้อย่างไรบ้าง ตอบ พระพุทธองค์ทรงวางหลักไว้ ๓ ประการอย่างนี้คือ ๑. อาตาปี มีความเพียรเผากิเลสให้ร้อนทั่ว คือ ตั้งใจทำจริงๆ ๒. สติมา มีสติ คือ ระลึกอยู่กับรูปนาม ทันปัจจุบัน ทันรูปนาม ๓. สัมปชาโน มีสัมปชัญญะ คือ กำหนดรูปนาม อยู่ทุกๆ ขณะ ..... ![]() ... เพราะฉะนั้น จึงเป็นอันสรุปความได้ว่า การปฏิบัติธรรมนั้น โดยส่วนใหญ่ๆ มีอยู่ ๒ ประเภท คือ สมถกรรมฐาน ๑ วิปัสสนากรรมฐาน ๑ ... กรรมฐานทั้ง ๒ นี้ เป็นหนทางอันไม่ตาย ของชาวพุทธ เป็นอมตมรดกของพระพุทธองค์ เป็นทางเดินของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย และเหล่าพระอริยสาวกทุกๆ พระองค์ ดังมีพระบาลีรับรองไว้ว่า เยเนวะ ยันติ นิพพานัง พุทธา เตสัญจะ สาวะกา เอกายะเน มัคเคนะ สติปัฏฐานะสัญญินา ฯ แปลว่า พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ และพระอริยสงฆ์สาวก ของพระองค์ทุกๆ รูป ไปสู่พระนิพพานด้วยทาง สายใด ซึ่งเป็นทางสายเอก ทางสายนั้น นักปราชญ์รู้ทั่วถึงกันแล้วว่า ได้แก่ สติปัฏฐานทั้ง ๔ ดังนี้ ฯ ..... ![]() ... อริยบุคคลสนทนา ... ถาม เกิดเป็นคนต้องรู้ "ไม่รู้-ไม่ได้" เพราะอะไร ตอบ เพราะหากบุคคลยังมีกิเลสอยู่ก็จะต้องเกิดอีก และอาจพลาดพลั้งไปเกิดในอบายภูมิได้ ถ้าผู้นั้นมีความประมาทและประกอบแต่ กรรมชั่วอยู่เป็นนิจ ... ถาม ถ้าอย่างนั้น จะต้องรู้อะไร ตอบ ต้องรู้แจ้งเห็นจริงภายใจร่างกายของเราเอง ไม่ใช่เพียงแต่รู้ๆ ธรรมดาๆ อย่างคนธรรมดาทั่วๆ ไป เขารู้กัน ... ถาม ที่ว่ารู้แจ้งเห็นจริง จะต้องรู้อย่างไร ตอบ รู้แจ้งเห็นจริง ต้องรู้ทุกข์ โดยต้องปฏิบัติ หรือที่เรียกว่าการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งเป็นทางเดียวที่จะทำให้ "รู้แจ้งเห็นจริง" ในสิ่งทั้งปวง หรือกองทุกข์ในภายในร่างกาย ของเราได้ ... ถาม ถ้าจะให้รู้แจ้งเห็นจริงจะให้ทำอย่างไร ตอบ ก็ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของท่านผู้รู้ในหนังสือนี้ หรืออาจารย์ที่ท่านเห็นว่าจะนำท่านให้พ้นทุกข์ในชาตินี้ได้ จึงขอได้โปรดใช้ความพยายามอ่านหนังสือเล่มนี้ ไปให้จบโดยช้าๆ และอย่างพินิจพิเคราะห์ หลายๆ ครั้ง ..... ![]() ... ทิ้งท้าย อยากรวย ให้ทำทาน อยากสวยสคราญ ให้รักษาศีล อยากพ้นมลทิน ให้เจริญวิปัสสนา ... จบ เรื่อง "ไม่รู้-ไม่ได้" แต่เพียงเท่านี้ ... คัด ย่อ และ เรียบเรียง มาจากหนังสือ "ไม่รู้-ไม่ได้" โดย พระเทพสิทธิมุนี (โชดก ป.๙) หัวหน้าคณะพระธรรมทูตสายประเทศอังกฤษ |
เจ้าของ: | bbb [ 26 ต.ค. 2009, 16:16 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: สิ่งที่ไม่รู้-ไม่ได้ |
ไม่รู้ไม่ได้เสียแล้ว ![]() |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 | เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง |
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group http://www.phpbb.com/ |