ลานธรรมจักร http://www.dhammajak.net/forums/ |
|
พระปัจฉิมโอวาท http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=66&t=61257 |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 |
เจ้าของ: | ลุงหมาน [ 04 พ.ย. 2021, 06:14 ] |
หัวข้อกระทู้: | พระปัจฉิมโอวาท |
ปัจฉิมโอวาท คำสอนครั้งสุดท้าย หมายถึง ปัจฉิมวาจา คือ พระดำรัสสุดท้ายของพระพุทธเจ้าก่อนจะปรินิพพานว่า “วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ” แปลว่า “สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจง (ยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น) ให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด” เมื่อครั้งที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรทมอยู่บนพระแท่นที่จะปรินิพพานที่อุทยานไม้รังของกษัตริย์มัลละกรุงกุสินารานั้น ได้มีทวยเทพเทวดาอินทร์พรหมทั้งหลายทั่วหมื่นจักรวาลมาเฝ้าอย่างเนืองแน่น ซึ่งเป็นการมาเฝ้าเคารพสักการะพระผู้มีพระภาคเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ชนทั้งหลายได้บูชาด้วยอามิสทั้งหลาย มีของหอมและดุริยางค์ชนิดต่างๆ พระผู้มีพระภาคทรงปรารภเรื่องการบูชานั้นจึงได้ตรัสพระปัจฉิมโอวาท ดังต่อไปนี้ ดูก่อนอานนท์ ด้วยการบูชาด้วยของหอมดุริยางค์ชนิดต่างๆ เหล่านี้ ยังไม่ชื่อว่า เป็นการบูชาเราตถาคตอย่างแท้จริง ดูก่อนอานนท์ ภิกษุก็ตาม ภิกษุณีก็ตาม อุบาสก อุบาสิกาก็ตาม หากมีการประพฤติปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่มรรคผลนิพพานแล้ว ผู้นั้นแลได้ชื่อว่า เป็นผู้บูชาสักการะเราตถาคตอย่างถูกต้อง และการบูชานั้นชื่อว่า เป็นการบูชาอันเลิศยิ่ง ดูก่อนอานนท์ เพราะฉะนั้น เธอทั้งหลายจะต้องทำความเพียรตั้งใจมุ่งมั่นดังนี้ว่า พวกเธอทั้งหลายจะปฏิบัติธรรมอันสมควรแก่ธรรม คือสมควรแก่มรรคผลนิพพานอย่างยิ่งยวด การบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการกราบไหว้ก็ดี การถวายเครื่องหอม ดอกไม้ก็ดี ล้วนเป็นกุศลธรรมทั้งสิ้น เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ของพระอริยเจ้าทั้งหลาย แต่ถึงกระนั้น การบูชากราบไหว้ การถวายของหอมเป็นต้นนั้นยังไม่ดีพอที่จะเรียกได้ว่าเป็นการบูชาพระผู้มีพระภาคอย่างแท้จริง ก็การที่พระผู้มีพระภาคตรัสเช่นนี้นั้นในคัมภีร์อรรถกถาท่านได้อธิบายไว้ให้ตรงตามพุทธประสงค์ของพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงเสียสละเวลาบำเพ็ญพระบารมีมาตั้งแต่ ๔ อสงไขยแสนกัปป์ด้วยการยากลำบาก เช่น มีการเสียสละสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่เรียกว่ามหาบริจาคะ อันเป็นการกระทำที่บุคคลทั่วไปกระทำได้ยากนั้น ก็เพียงเพื่อให้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเข้าถึงมรรคผลนิพพาน และหลุดพ้นจากกองทุกข์นั่นเอง มิได้บำเพ็ญบารมีเพื่อให้การได้มาซึ่งการบูชาด้วยอามิส มีของหอมเป็นต้น แต่อย่างใด” |
เจ้าของ: | ลุงหมาน [ 04 พ.ย. 2021, 07:29 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: พระปัจฉิมโอวาท |
เพราะฉะนั้น การบูชาเล็กน้อยเช่นนั้น ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของพระผู้มีพระภาค โยคีจึงไม่ควรหยุดอยู่แค่การบูชาเช่นนั้นว่า เราได้บูชาสิ่งที่ยิ่งใหญ่แล้วก็ไม่เจริญศีล สมถะวิปัสสนาซึ่งเป็นกุศลที่สูงขึ้นไปซึ่งเรียกว่านิยยานธรรม ซึ่งหากไม่เจริญกุศลมีศีลเป็นต้นเหล่านั้น ก็อาจจะทำให้พลาดมรรคผลนิพพานในภพชาติปัจจุบันนี้ได้ ทั้งยังต้องเป็นบุคลผู้อยู่ในวัฏฏทุกข์ตลอดไป แต่นี้ยังไม่พอ การบูชาด้วยอามิสนั้นไม่สามารถจะช่วยให้ศาสนาของพระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายั่งยืนแม้เพียงเวลาชั่วหนึ่งวันหรือชั่วข้าวยาคูหนึ่งมื้อได้ แม้ว่าบุคคลจะสร้างวัดใหญ่โตมโหฬารจำนวนพันๆ วัด หรือสร้างสถาปนามหาเจดีย์จำนวนพันๆ องค์ ก็ตาม กุศลนั้น ก็เป็นเพียงกุศลที่ให้ผลอันยิ่งใหญ่แก่ทายกผู้ถวายทานเท่านั้น แต่ไม่สามารถที่จะยังพระพุทธศาสนาให้ตั้งมั่นจีรังยั่งยืนได้ ดังนั้น การปฏิบัติธรรมานุธรรม เช่น การรักษาศีล เจริญสมถะและเจริญวิปัสสนาเท่านั้น จึงจะชื่อว่าเป็นการบูชาที่เหมาะสมต่อการบูชาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และยังสามารถยังพระศาสนาของพระองค์ให้ตั้งมั่นยั่งยืนได้ ด้วยเหตุนี้ โยคีพึงตระหนักถึงการบูชาด้วยปฏิบัติหรือเรียกสั้นๆ ว่า การปฏิบัติบูชา แล้วเอาใจใส่ในพระโอวาทของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดังกล่าวมาแล้วข้างต้น นี้คือคำอธิบายที่มาในคัมภีร์อรรถกถา นอกจากนี้แม้ในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ธัมมทายาทสูตร พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงสั่งสอนไว้อย่างนี้ว่า โค้ด: ธมฺมทายาทา เม ภิกฺขเว ภวถ, มา อามิสทายาทา. อตฺถิ เม ตุมฺเทสุ อนุ (ม.๑/๑๕)กมฺปา กินฺติ เม สาวกา ธมฺมทายาทา ภเวยฺยุ โน อามิสทายาทาติ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นธรรมทายาท “ผู้รับมรดกธรรมอันประเสริฐของเราตถาคตเถิด จงอย่าได้เป็นทายาทผู้รับมรดกที่เป็นอามิสซึ่งเป็นมรดกที่ไม่ประเสริฐเลย” ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตมีความกรุณาต่อเธอทั้งหลายโดยทำนองนี้ว่า “สาวกของเราตถาคตทั้งหลายจะเป็นธรรมทายาทและจะไม่เป็นอามิสทายาทแต่อย่างไร” |
เจ้าของ: | ลุงหมาน [ 04 พ.ย. 2021, 09:12 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: พระปัจฉิมโอวาท |
ดังมีคำอธิบายว่า ปัจจัย ๔ ที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาติให้ใช้สอยได้ เช่น จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัช ได้ชื่อว่า เป็นอามิสทายัชชะ ซึ่งเป็นมรดกทราม เพียงแค่แสวงหา รับปัจจัย ๔ เหล่านั้นมาใช้สอยก็จะทำให้ภิกษุได้ชื่อว่าเป็นอามิสทายาทคือเป็นผู้รับมรดกชนิดทราม แม้กุศลที่บุคคลทำด้วยการตั้งความปรารถนาเพียงภวสมบัติคือความสุขของชีวิตเท่านั้น ก็ได้ชื่อว่าเป็นอามิสทายัชชะ เป็นมรดกซึ่งของทรามโดยนัยเดียวกันนั้น ภิกษุผู้ที่พอใจอยู่เพียงแค่กุศลเบื้องต้นนั้น เหมือนฆารวาสพอใจอยู่เพียงแค่กุศลดังกล่าวนั้นได้ชื่อว่าเป็นอามิสทายาท เป็นทายาทที่มิใช่ทายาทที่แท้จริงเป็นผู้รับมรดกชนิดทราม เมื่อมีโอกาสได้มาพบพระพุทธศาสนาเนื่องจากเป็นผู้มีวิบากดีแล้ว ถ้ายังขืนเป็นอามิสทายาทอยู่ก็จะไม่สามารถออกจากวัฏฏทุกข์ได้ แต่จะต้องประสบกับทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงน้อยใหญ่อยู่ร่ำไป พระพุทธองค์เห็นเหตุนี้แล้ว ทรงมีพระมหากรุณาเป็นล้นพ้นต่อเหล่าสัตว์ เปรียบเหมือนบิดามารดาสงสารบุตรธิดาผู้เป็นที่รัก ไม่ทรงต้องการให้สรรพสัตว์ทุกข์ยาดลำบากไม่ต้องการให้พึงพอใจอยู่เพียงแค่มรดกที่เป็นอามิสเท่านั้น จึงทรงสั่งสอนธรรมภาคปฏิบัติเพื่อให้ได้มรรคผลนิพพาน ดังนั้น มรรคผลนิพพาน จึงได้ชื่อว่ามรดกทางธรรม เป็นมรดกที่ประเสริฐอย่างแท้จริง มรรคผลนิพพานนั้น เป็นสภาวธรรมที่เนื่องด้วยการปฏิบัติซึ่งธรรมฝ่ายเหตึ หมายความว่า จะต้องลงมือปฏิบัติจึงจะได้มา เพราะฉะนั้น ศีล สมาธิ วิปัสสนาอันเป็นเหตุให้เข้าถึงมรรคผลในชาติปัจจุบันเท่านั้น จึงได้ชื่อว่าเป็นมรดกทางธรรมอย่างแท้จริงเหมือนกับมรรคผลนั้นเช่นกัน ทั้งนี้ถือเอาโดย อวินาภาวนานัย คือเป็นนัยที่สงเคราะห์เอาโดยอาศัยความไม่แยกจากกันระหว่างมรรคผลกับศีล สมาธิวิปัสสนาซึ่งเป็นฝ่ายเหตุ |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 | เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง |
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group http://www.phpbb.com/ |