ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

เปรียบเทียบ ตัณหา กับ ฉันทะ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=66&t=60477
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 20 มิ.ย. 2021, 04:52 ]
หัวข้อกระทู้:  เปรียบเทียบ ตัณหา กับ ฉันทะ

การศึกษาเชิงเปรียบเทียบ : ตัณหา กับ ฉันทะ

ตามที่ได้ทำความเข้าใจและได้มองเห็นกันมา มีจุดเริ่มต้นสำหรับพิจารณาในขั้นต่อไป คือ ให้ถือว่าแรงจูงใจในการกระทำของมนุษย์แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ดังนี้

๑. ความพอใจ ชอบใจ ยินดี อยาก รักใคร่ ต้องการ ที่ไม่ดี ไม่สบาย ไม่เกื้อกูล เป็นอกุศล เรียกว่า ตัณหา

๒. ความพอใจ ชอบใจ ยินดี อยาก รักใคร่ ต้องการ ที่ดีงาม สบาย เกื้อกูล เป็นกุศล เรียกว่า ฉันทะ

แรงจูงใจแห่งตัณหา

ตัณหา แปลว่า ความกระหาย ความทะยาน ความอยาก ความเสน่หา ความรน ความร่าน ความกระสับกระส่าย ความกระวนกระวาย ไม่รู้อิ่ม

หลักสำคัญที่ควรทราบเกี่ยวกับตัณหา คือ ตามหลักปฏิจจสมุปบาท ตัณหาเกิดจากเวทนาเป็นปัจจัย โดยมีอวิชชาเป็นมูลราก กล่าวคือ เมื่อบุคคลรับรู้อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่น่าชอบใจ หรือไม่น่าชอบใจก็ตาม เช่น เห็นรูปสวย หรือน่าเกลียด ได้ยินเสียงไพเราะ หรือหนวกหู เป็นต้น แล้วเกิดความรู้สึกสุข หรือทุกข์ หรือเฉยๆ ขึ้น ในเวลานั้น ตัณหาก็จะเกิดขึ้นในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ถ้ารู้สึกสุข ก็ยินดี ชื่นชอบ คล้อยตามไป ติดใจ ใฝ่รัก อยากได้ ถ้ารู้สึกทุกข์ ก็ยินร้าย ขัดใจ ชัง อยากเลี่ยงหนี หรืออยากให้สูญสิ้นไปเสีย ถ้ารู้สึกเฉยๆ ก็เพลินๆ เรื่อยเฉื่อยไป

อาการอย่างนี้เป็นไปของมันได้เอง โดยไม่ต้องใช้ความคิด ไม่ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจอะไรเลย (ตรงข้าม ถ้ามีความรู้ความเข้าใจ หรือใช้ความคิดแทรกเข้ามาในเวลานั้น เช่น รู้ว่า รูปที่น่าเกลียดนั้น เป็นสิ่งมีประโยชน์ หรือรู้ว่าเสียงไพเราะนั้น เป็นสัญญาณอันตราย หรือเกิดสำนึกทางจริยธรรม หรือวัฒนธรรมประเพณี ว่าสิ่งนั้นไม่เหมาะสมกับภาวะหรือฐานะของตน เป็นต้น ตัณหาอาจถูกตัดตอน กระบวนการไม่ไหลต่อเนื่องเรื่อยไปอย่างเดิม แต่เกิดพฤติกรรมรูปอื่นรับช่วงไปแทน) จึงอาจพูดอย่างง่ายๆ ว่า ตัณหาอิงอาศัยเวทนา โดยมีอวิชชาเป็นตัวหนุน หรือตัณหาแอบอิงเวทนา อยู่บนฐานแห่งอวิชชา

ในเมื่อตัณหาใฝ่ หรือผูกพันมุ่งหมายเวทนาอย่างนี้ ตัณหาจึงร่านรนหันไปหาสิ่งที่จะให้เวทนาแก่มันได้ และสิ่งที่ตัณหาต้องการ ก็คือสิ่งใดก็ตามที่จะอำนวยเวทนาอันอร่อยซึ่งตัณหาชอบ สิ่งทั้งหลายที่อำนวยเวทนาได้เมื่อจัดรวมเข้าเป็นประเภทแล้ว ก็มีเพียง ๖ อย่าง เรียกว่าอารมณ์ ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งต้องกาย) และธรรมารมณ์ (เรื่องในใจ)

เฉพาะอย่างยิ่ง อารมณ์จำพวกที่เด่นชัดกว่า เป็นรูปธรรม คือ ๕ อย่างแรก ซึ่งเรียกว่า กามคุณ ๕ (ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าใคร่น่าพอใจ) อารมณ์ ๖ โดยเฉพาะกามคุณ ๕ นี้ เป็นสิ่งที่ตัณหาต้องการ และเป็นที่เกิดของตัณหา โดยนัยนี้ จึงขยายความหมายของตัณหาออกไปได้ว่า ตัณหา คือ ความกระหายอยากในสิ่งที่ให้เวทนา หรือความกระหายอยากในอารมณ์ที่ชอบใจ หรือในกามคุณทั้งหลาย หรือความกระหายอยากได้อารมณ์ที่ชอบใจมาเสพเสวยเวทนาอันอร่อย พูดสั้นๆ ว่า อยากได้ หรืออยากเอา

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 20 มิ.ย. 2021, 05:02 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: เปรียบเทียมตัณหากับฉันทะ

อย่างไรก็ตาม เรื่องของตัณหายังไม่จบเพียงเท่านั้น การเสพเสวยเวทนาจากอารมณ์เช่นนี้ ได้สร้างเสริมความรู้สึกอย่างหนึ่งที่สั่งสมขึ้นด้วยความหลงผิด คือความรู้สึกว่า มีตัวตนหรืออัตตาผู้เสพเสวยเวทนา

เมื่อเข้าใจอย่างนั้นแล้ว ก็ต้องมีความเห็นต่อเนื่องไปอีกว่า การที่จะได้เสพเสวยเวทนาอยู่เรื่อยไป ก็ต้องมีตัวตนผู้เสพเสวยที่เที่ยงแท้ถาวร คราวนี้ ความกระหายอยากในความมีอยู่เป็นอยู่เที่ยงแท้ถาวรของอัตตาก็เกิดมีขึ้น ควบคู่ไปกับความเห็นว่ามีตัวตนที่คงอยู่เที่ยงแท้ถาวรได้

แต่เมื่อความเข้าใจเช่นนี้ เป็นเพียงความเห็นที่ยึดถือเอาเอง และเมื่อความเห็นนั้นเอียงไปข้างหนึ่งแล้ว ก็ย่อมมีความเห็นอีกอย่างหนึ่งซึ่งเอียงไปในทางตรงข้าม เกิดขึ้นมาซ้อนเป็นคู่คอยแย้งกันไว้ว่า ตัวตนนั้นมีอยู่เพียงชั่วคราว แล้วก็จะดับสิ้นพินาศขาดสูญไป ไม่คงอยู่เที่ยงแท้ถาวร

ความเห็นหรือความยึดถือนี้ กลับไปสัมพันธ์กันอีกกับการเสพเสวยเวทนา กล่าวคือ ความมีอยู่คงอยู่แห่งตัวตนนั้น จะมีความหมาย ก็เพราะได้เสพเสวยเวทนาที่ชื่นชอบใจ เมื่อใดได้เสพสม เมื่อนั้นความกระหายอยากในความเที่ยงแท้ถาวรของอัตตาก็ยิ่งได้รับการเสริมย้ำให้แรงกล้า แต่เมื่อใดไม่ได้เสพสม ความดำรงอยู่ของตัวตนก็ดูจะไร้ความหมาย เมื่ออาการที่ไม่สมนั้นเป็นไปอย่างรุนแรง ก็ถึงกับเบื่อหน่ายเกลียดชัง ไม่ปรารถนาความดำรงอยู่แห่งตัวตน อยากให้ตัวตนพรากขาดสูญสิ้นไปเสียจากภาวะเช่นนั้น ซึ่งเรียกว่าเป็นความกระหายอยากในความขาดสูญแห่งอัตตา เกิดเป็นตัณหาขึ้นอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งมีขึ้นควบคู่ไปกับความเห็นที่คอยรอให้โอกาสอยู่แล้วว่า มีตัวตนชั่วคราวซึ่งดับสิ้นขาดสูญไปได้

ตัณหาในความพินาศขาดสูญของอัตตานี้ เกิดขึ้นมาเคียงซ้อน เป็นคู่แย้ง คอยขัดกันกับตัณหาในความคงอยู่เที่ยงแท้ถาวรของอัตตา

ส่วนตัณหาอย่างแรกนั้น ถึงตอนนี้ก็มิใช่มีความหมายเพียงว่า ความกระหายอยากในสิ่งที่ให้เวทนาเท่านั้น แต่ควรขยายออกไปให้ชัดเจนขึ้นอีกว่า เป็นความกระหายอยากที่จะได้สิ่งอำนวยเวทนามาปรนปรืออัตตา หรืออยากให้อัตตาได้เสพเสวยเวทนาอันอร่อยจากอารมณ์ที่น่าชื่นชม

เป็นอันว่า ตัณหาทุกอย่าง มีศูนย์รวมมุ่งมาที่ตัวตน หรือเพื่ออัตตาทั้งสิ้น

บทบาทและการทำหน้าที่ของตัณหาเหล่านี้ ได้เป็นตัวกำกับการดำเนินชีวิตส่วนใหญ่ของมนุษย์ ผู้คอยพะเน้าพะนอหล่อเลี้ยงมันไว้ และเทิดทูนให้มันเป็นผู้บังคับบัญชาที่ตนจงรักเชื่อฟัง พร้อมกันนั้น มันก็เป็นแหล่งก่อปมปัญหาให้แก่ชีวิตและสังคมของมนุษย์ เป็นที่มาของความหวัง ความหวาดกลัว ความระแวง ความเคียดแค้นชิงชัง ความมัวเมาลุ่มหลง และความทุกข์ความเดือดร้อนต่างๆ

รวมความว่า ตัณหา แยกออกได้เป็น ๓ อย่าง หรือ ๓ ด้าน คือ

๑. ความกระหายอยากได้อารมณ์ที่น่าชอบใจ มาเสพเสวยปรนเปรอตน หรือความทะยานอยากในกาม เรียกว่า กามตัณหา

๒. ความกระหายอยากในความถาวรมั่นคง มีอยู่คงอยู่ตลอดไป (รวมถึงใหญ่โตโดดเด่น) ของตนหรือความทะยานอยากในภพ เรียกว่า ภวตัณหา

๓. ความกระหายอยากในความดับสิ้นขาดสูญ (รวมทั้งพรากพ้น บั่นรอน) แห่งตัวตน หรือความทะยานอยากในวิภพ เรียกว่า วิภวตัณหา

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 20 มิ.ย. 2021, 05:12 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: เปรียบเทียมตัณหากับฉันทะ

สามอย่างนี้ เรียกสั้นๆ ว่า ความอยากในกาม ในภพ และในวิภพ

ตามกฎแห่งปัจจยาการ ตัณหานำไปสู่การแสวงหา ที่เรียกเป็นคำศัพท์ว่า ปริเยสนา (จะเรียกสั้นๆ ว่า เอสนา ก็ได้) คือ ไปหา ไปเอา หรือรับเอา หรือหาทางอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะให้ได้สิ่งที่ต้องการนั้นๆ มาเสพเสวย ผลสนองการแสวงหานั้น ก็คือการได้ เมื่อได้สิ่งที่ต้องการนั้นมาให้ตนเสพเสวยแล้ว ก็เป็นอันตัดตอนได้ ถือว่าจบไปช่วงหนึ่ง

มีสิ่งที่ขอย้ำไว้ เพื่อให้กำหนดไว้ในใจ เป็นสิ่งเตือนความสังเกตอย่างหนึ่งในตอนนี้ คือ การแสวงหาไม่ใช่สิ่งเดียวกับการกระทำ และอาจจะไม่เกี่ยวข้อง หรือไม่ต้องใช้การกระทำเลยก็ได้ ดังจะพิจารณากันต่อไป

แรงจูงใจแห่งฉันทะ

หันไปพูดถึงฉันทะบ้าง ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า ฉันทะในที่นี้ หมายถึง กุศลธรรมฉันทะ ที่เรียกสั้นๆ ว่า กุศลฉันทะ หรือธรรมฉันทะ ซึ่งโดยทั่วไปจะระบุชื่อ กัตตุกัมยตา พ่วงไว้ด้วย

กุศลธรรมฉันทะ แปลว่า ฉันทะในกุศลธรรม คือ ความพอใจ ความชอบ ความอยากในสิ่งที่ดีงาม กุศลฉันทะ แปลว่า ฉันทะในกุศล ถึงแม้จะตัดคำว่าธรรมออก ก็มีความหมายเท่าเดิม คือตรงกับกุศลธรรมฉันทะนั่นเอง

กุศล แปลว่า ดีงาม ฉลาด เกื้อกูล คล่อง สบาย ไร้โรค เอื้อต่อสุขภาพ ได้แก่ สิ่งที่เกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจ สิ่งที่มีผลดี เกื้อกูลแก่ความเจริญงอกงามในทางที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขทั้งแก่ตนและคนอื่น

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 20 มิ.ย. 2021, 05:22 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: เปรียบเทียมตัณหากับฉันทะ

ส่วนธรรมฉันทะ แปลว่า ฉันทะในธรรม หรือความต้องการธรรม คำว่า ธรรม ที่มาในคำว่า กุศลธรรม มีความหมายกลางๆ คือแปลว่า สิ่ง หรือ หลัก แต่เมื่อแยกออกมาใช้ลำพังเดี่ยวๆ ก็อาจแปลความหมายได้กว้างขึ้น

ความหมายหลักของธรรมในกรณีนี้มี ๒ อย่าง คือ ความจริง (สภาวธรรม หรือคำสอนที่แสดงสภาวธรรมนั้น ตรงกับที่บัดนี้ใช้คำว่าสัจธรรม) และความดีงาม สิ่งที่ดีงาม หรือภาวะที่ดีงาม (คุณธรรม ปัจจุบัน ดูเหมือนนิยมเรียกส่วนหนึ่งของความหมายนัยนี้ว่า จริยธรรม) ธรรมฉันทะ จึงแปลได้ว่า ฉันทะในความจริง ฉันทะในความดีงาม หรือความต้องการความจริง ความต้องการสิ่งที่ดีงาม

ความต้องการความจริง เล็งไปถึงความรู้ คือ เท่ากับพูดว่า ต้องการรู้ความจริง ต้องการเข้าถึงตัวธรรม คือตัวจริง ตัวแท้ ความหมายที่แท้ เนื้อหาสาระที่เป็นแก่นแท้ ภาวะที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลาย ตลอดจนความดีงามที่เป็นคุณค่าอันแท้จริงของสิ่งนั้นๆ

แล้วในแง่ที่ต้องการความดีงาม ก็โยงต่อไปถึงการกระทำ คือต้องการทำให้สิ่งหรือภาวะที่ดีงามเกิดมีขึ้น

โดยนัยนี้ ธรรมฉันทะก็แปลได้ว่า ความใฝ่ความจริง หรือความรักความจริง (ใฝ่รู้) ความใฝ่ในสิ่งดีงาม หรือรักความดีงาม (ใฝ่ดี รักดี) พูดให้ง่ายว่า ความอยากรู้ อยากทำ หรือใฝ่รู้ใฝ่ทำ อาจใช้คำสั้นๆ คำเดียวว่า ความใฝ่ธรรม แล้วให้เข้าใจร่วมกันไว้ว่า คลุมถึงความหมายที่กล่าวมาทั้งหมด เมื่อนัดหมายรู้กันอย่างนี้แล้ว จะแปลฉันทะเดี่ยวๆ ล้วนๆ ว่า ความใฝ่ธรรม ก็ได้

เป็นอันว่า สิ่งที่ฉันทะต้องการ ก็คือ ธรรม หรือกุศล (ธรรม) พูดอย่างไทยแท้ว่า สิ่งที่ฉันทะต้องการ คือ ความจริง และสิ่งที่ดีงาม แล้วมีความหมายขยายออกไปว่า ต้องการรู้ความจริง ต้องการทำให้สิ่งที่ดีงามหรือภาวะที่ดีงามเกิดมีขึ้น อยากทำให้สิ่งที่เป็นคุณประโยชน์สำเร็จผลเป็นจริงขึ้น

ความหมายที่แยกแยะออกไปนี้ ส่องให้เห็นว่า ฉันทะสัมพันธ์กับการกระทำ คือ การกระทำเพื่อให้รู้ความจริง และการกระทำเพื่อสร้างภาวะที่ดีงาม หรือทำให้สิ่งที่ดีงามเกิดขึ้น

ตรงนี้เท่ากับอธิบายแล้วว่า ทำไมพอพูดถึงฉันทะที่ดี คือกุศลธรรมฉันทะนี้ ตามปกติจึงระบุกัตตุกัมยตา คือความใคร่ที่จะทำ หรือความอยากทำ พ่วงไว้ด้วย

ความต้องการความรู้และภาวะที่ดี เรียกร้องการกระทำ จะเข้าถึงความรู้ เข้าถึงความจริง ลุถึงภาวะดีงามสมบูรณ์ ก็ต้องทำ พูดเชิงล้อว่า อยากธรรม ก็อยากทำ หรือใคร่ธรรม ก็ใคร่ทำ

ดังนั้น กัตตุกัมยตา คือความใคร่ทำ หรืออยากทำ จึงเป็นลักษณะของกุศลฉันทะ หรือธรรมฉันทะนี้ จนกระทั่งถือกันง่ายๆ พูดกันสั้นๆ ว่า ฉันทะเป็นชื่อของกัตตุกัมยตา หรือกัตตุกัมยตานี่แหละคือฉันทะ ไปๆ มาๆ พอพูดถึงฉันทะ คือกุศลฉันทะ หรือธรรมฉันทะนี้ คัมภีร์ทั่วไปก็พูดสั้นๆ ว่า ฉันทะ คือกัตตุกัมยตาฉันทะ

ด้วยเหตุนี้ ตามกฎแห่งปัจจยาการ ท่านจึงกล่าวว่า ฉันทะนำไปสู่อุตสาหะ หรือไม่ก็กล่าวไว้นำหน้าวายามะ หรือวิริยะ พูดง่ายๆ ว่า ฉันทะทำให้เกิดการกระทำ (เทียบกับตัณหา ซึ่งทำให้เกิดการแสวงหา)

พร้อมกันนั้น ท่านก็กล่าวถึงมูลฐานของฉันทะว่า ฉันทะมีโยนิโสมนสิการเป็นสมุฏฐาน หมายความว่า ฉันทะเกิดจากโยนิโสมนสิการ (การคิดแยบคาย คิดถูกวิธี รู้จักคิด หรือคิดเป็น)

ความข้อนี้แสดงให้เห็นว่า ฉันทะอยู่ในกระบวนธรรมฝ่ายปัญญา ฉันทะตั้งต้น เมื่อเริ่มมีการใช้ปัญญา (เทียบกับตัณหา ซึ่งอาศัยอวิชชาเป็นฐานก่อตัว) เนื้อความตอนนี้ยังจะต้องชี้แจงกันต่อไป

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/