ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

มรรคเป็นอุปกรณ์ที่สำหรับใช้
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=66&t=60428
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 11 มิ.ย. 2021, 05:33 ]
หัวข้อกระทู้:  มรรคเป็นอุปกรณ์ที่สำหรับใช้

มรรค ในฐานะอุปกรณ์สำหรับใช้ มิใช่สำหรับยึดถือหรือแบกโก้ไว้

“ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้เดินทางไกล พบห้วงน้ำใหญ่ ฝั่งข้างนี้ น่าหวาดระแวง
น่ากลัวภัย แต่ฝั่งข้างโน้น ปลอดโปร่ง ไม่มีภัย ก็แล เรือ หรือสะพาน สำหรับข้ามไปฝั่งโน้น
ก็ไม่มี บุรุษนั้นจึงดำริว่า “ห้วงน้ำนี้ใหญ่ ฝั่งข้างนี้ น่าหวาดระแวง...ถ้ากระไร เราพึงเก็บรวม
เอาหญ้า ท่อนไม้ กิ่งไม้ และใบไม้ มาผูกเป็นแพ แล้วอาศัยแพนั้น พยายามเอาด้วยมือและ
เท้า พึงข้ามถึงฝั่งโน้นได้โดยสวัสดี”

“คราวนั้น เขาจึง...ผูกแพ...ข้ามถึงฝั่งโน้นโดยสวัสดี ครั้นเขาได้ข้ามไป ขึ้นฝั่งข้างโน้นแล้ว
ก็มีความดำริว่า ‘แพนี้ มีอุปการะแก่เรามากแท้ เราอาศัยแพนี้…ถ้ากระไร เราพึงยกแพนี้ขึ้น
เทินบนศีรษะ หรือแบกขึ้นบ่าไว้ ไปตามความปรารถนา”

“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะเห็นเป็นอย่างไร? บุรุษนั้น ผู้กระทำอย่างนี้ จะชื่อว่า เป็นผู้
กระทำถูกหน้าที่ต่อแพนั้น หรือไม่?”

(ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า ไม่ถูก จึงตรัสต่อไปว่า)

“บุรุษนั้นทำอย่างไร จึงจะชื่อว่าทำถูกหน้าที่ต่อแพนั้น? ในเรื่องนี้ บุรุษนั้น เมื่อได้ข้ามไปถึง
ฝั่งโน้นแล้ว มีความดำริว่า ‘แพนี้ มีอุปการะแก่เรามากแท้…ถ้ากระไร เราพึงยกแพนี้ขึ้นไว้บน
บก หรือผูกให้ลอยอยู่ในน้ำ แล้วจึงไปตามปรารถนา’ บุรุษผู้นั้นกระทำอย่างนี้ จึงจะชื่อว่า
เป็นผู้กระทำถูกหน้าที่ต่อแพนั้น นี้ฉันใด”

“ธรรม ก็อุปมาเหมือนแพ เราแสดงไว้ เพื่อมุ่งหมายให้ใช้ข้ามไป มิใช่เพื่อให้ยึดถือไว้ ฉันนั้น
เมื่อเธอทั้งหลาย รู้ทั่วถึงธรรม อันมีอุปมาเหมือนแพ ที่เราแสดงแล้ว พึงละเสียแม้ซึ่งธรรม
ทั้งหลาย จะป่วยกล่าวไปไยถึงอธรรมเล่า”

“ภิกษุทั้งหลาย ทิฏฐิ (ทฤษฎี หลักการ ความเข้าใจธรรม) ที่บริสุทธิ์ถึงอย่างนี้ ผุดผ่องถึง
อย่างนี้ ถ้าเธอทั้งหลาย ยังยึดติดอยู่ เริงใจกระหยิ่มอยู่ เฝ้าถนอมอยู่ ยึดถือว่าเป็นของเรา
อยู่ เธอทั้งหลายจะพึงรู้ทั่วถึงธรรม อันมีอุปมาเหมือนแพ ที่เราแสดงแล้วเพื่อมุ่งหมายให้
ใช้ข้ามไป มิใช่เพื่อให้ยึดถือเอาไว้ ได้ละหรือ?”

พุทธพจน์ทั้งสองแห่งนี้ นอกจากเป็นเครื่องเตือนไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นในธรรมทั้งหลาย (แม้ที่
เป็นความจริง ความถูกต้อง) โดยมิได้ถือเอาประโยชน์จากธรรมเหล่านั้นตามความหมาย
คุณค่า และประโยชน์ตามความเป็นจริงของมันแล้ว ข้อที่สำคัญยิ่งก็คือ เป็นการย้ำให้มอง
เห็นธรรมทั้งหลาย ในฐานะเป็นอุปกรณ์ หรือวิธีการที่จะนำไปสู่จุดหมาย มิใช่สิ่งลอยๆ หรือ
จบในตัว
ด้วยเหตุนี้ เมื่อปฏิบัติธรรมข้อใดข้อหนึ่ง จะต้องรู้ตระหนักชัดเจนถึงวัตถุประสงค์ของธรรมนั้น
พร้อมทั้งความสัมพันธ์ของมันกับธรรมอย่างอื่นๆ ในการดำเนินไปสู่วัตถุประสงค์นั้น

วัตถุประสงค์ในที่นี้ มิได้หมายเพียงวัตถุประสงค์ทั่วไปในขั้นสุดท้ายเท่านั้น แต่หมายถึงวัตถุ
ประสงค์เฉพาะตัวของธรรมข้อนั้นๆ เป็นสำคัญ ว่าธรรมข้อนั้นปฏิบัติ เพื่อช่วยสนับสนุนหรือ
ให้เกิดธรรมข้อใด จะไปสิ้นสุดลงที่ใด มีธรรมใดรับช่วงต่อไป ดังนี้เป็นต้น

เหมือนการเดินทางไกล ที่ต่อยานพาหนะหลายทอด และอาจใช้ยานพาหนะต่างกัน ทั้งทาง
บก ทางน้ำ ทางอากาศ จะรู้คลุมๆ เพียงว่าจะไปสู่จุดหมายปลายทางที่นั่นๆ เท่านั้นไม่ได้
จะต้องรู้ด้วยว่า ยานแต่ละทอดแต่ละอย่างนั้น ตนกำลังอาศัยเพื่อไปถึงที่ใด ถึงที่นั้นแล้ว
จะอาศัยยานใดต่อไป ดังนี้เป็นต้น

การปฏิบัติธรรมที่ขาดความตระหนักในวัตถุประสงค์ ความเป็นอุปกรณ์ และความสัมพันธ์กับ
ธรรมอื่นๆ ย่อมกลายเป็นการปฏิบัติที่เลื่อนลอย คับแคบ ตัน และที่ร้ายยิ่งคือ ทำให้เขวออก
นอกทาง ไม่ตรงจุดหมาย และกลายเป็นธรรมที่เฉื่อยชา เป็นหมัน ไม่แล่นทำการ ไม่ออกผล
ที่หมาย

เพราะการปฏิบัติธรรมอย่างไร้จุดหมายเช่นนี้ ความไขว้เขว และผลเสียหายต่างๆ จึงเกิดขึ้น
แก่หลักธรรมสำคัญๆ เช่น สันโดษ อุเบกขา เป็นต้น

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/