ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

สิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=66&t=60285
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 14 พ.ค. 2021, 05:22 ]
หัวข้อกระทู้:  สิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์

สิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์

ทั้งที่ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา นี้ เป็นลักษณะสามัญของสิ่งทั้งหลาย
เป็นความจริงที่แสดงตัวของมันเองอยู่ตามธรรมดาตลอดทุกเวลา แต่คนทั่วไปก็
มองไม่เห็น ทั้งนี้เพราะเป็นเหมือนมีสิ่งปิดบังคอยซ่อนคลุมไว้ ถ้าไม่ คือไม่ใส่ใจ
พิจารณาอย่างถูกต้อง ก็มองไม่เห็น สิ่งที่เป็นเหมือนเครื่องปิดบังซ่อนคลุมเหล่านี้ คือ

๑. สันตติ บังอนิจจลักษณะ
๒. อิริยาบถ บังทุกขลักษณะ
๓. ฆนะ บังอนัตตลักษณะ

๑. ท่านกล่าวว่า เพราะมิได้มนสิการความเกิดและความดับ หรือความเกิดขึ้นและ
ความเสื่อมสิ้นไป ก็ถูก สันตติ คือ ความสืบต่อหรือความเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
ปิดบังไว้ อนิจจลักษณะจึงไม่ปรากฏ, สิ่งทั้งหลายที่เรารู้เราเห็นนั้น ล้วนแต่มี
ความเกิดขึ้นและความแตกสลายอยู่ภายในตลอดเวลา แต่ความเกิดดับนั้นเป็น
ไปอย่างหนุนเนื่องติดต่อกันรวดเร็วมาก คือ เกิด-ดับ-เกิด-ดับ-เกิด-ดับ ฯลฯ
ความเป็นไปต่อเนื่องอย่างรวดเร็วยิ่งนั้น ทำให้เรามองเห็นเป็นว่า สิ่งนั้นคงที่ถาวร
เป็นอย่างหนึ่งอย่างเดิม ไม่มีความเปลี่ยนแปลง เหมือนอย่างตัวเราเองหรือคนใกล้
เคียงอยู่ด้วยกัน มองเห็นกันเสมือนว่าเป็นอย่างเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่เมื่อเวลา
ผ่านไปนาน สังเกตดู หรือไม่เห็นกันนานๆ เมื่อพบกันอีกจึงรู้ว่าได้มีความเปลี่ยน
แปลงไปแล้วจากเดิม แต่ตามความเป็นจริง ความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอด
เวลาทีละน้อยและต่อเนื่องจนไม่เห็นช่องว่าง

ตัวอย่างเปรียบเทียบพอให้เห็นง่ายขึ้น เช่น ใบพัดลมที่กำลังหมุนอยู่อย่างเร็วยิ่ง มอง
เห็นเป็นแผ่นกลมแผ่นเดียวนิ่ง เมื่อทำให้หมุนช้าลง ก็เห็นเป็นใบพัดกำลังเคลื่อน
ไหวแยกเป็นใบๆ เมื่อจับหยุดมองดู ก็เห็นชัดว่าเป็นใบพัดต่างหากกัน ๒ ใบ ๓ ใบ
หรือ ๔ ใบ หรือเหมือนคนเอามือจับก้านธูปที่จุดไฟติดอยู่แล้วแกว่งหมุนอย่างรวด
เร็ว เป็นรูปวงกลม มองดูเหมือนเป็นไฟรูปวงกลม แต่ความจริงเป็นเพียงธูปก้านเดียว
ที่ทำให้เกิดรูปต่อเนื่องติดเป็นพืดไป หรือเหมือนหลอดไฟฟ้าที่ติดไฟอยู่สว่างจ้า
มองเห็นเป็นดวงไฟที่สว่างคงที่ แต่ความจริงเป็นกระแสไฟฟ้าที่เกิดดับไหลเนื่องผ่าน
ไปอย่างรวดเร็ว หรือเหมือนมวลน้ำในแม่น้ำที่มองดูเป็นผืนหนึ่งผืนเดียว แต่ความจริง
เป็นกระแสน้ำที่ไหลผ่านไปๆ เกิดจากน้ำหยดน้อยๆ มากมายมารวมกันและไหลเนื่อง
สิ่งทั้งหลายเช่นดังตัวอย่างเหล่านี้ เมื่อใช้เครื่องมือหรือวิธีการที่ถูกต้องมากำหนดแยก
มนสิการเห็นความเกิดขึ้น และความดับไป จึงจะประจักษ์ความไม่เที่ยงแท้ ไม่คงที่
เป็นอนิจจัง

๒. ท่านกล่าวว่า เพราะมิได้มนสิการความบีบคั้นกดดันที่มีอยู่ตลอดเวลา ก็ถูก อิริยาบถ
คือความยักย้ายเคลื่อนไหว ปิดบังไว้ ทุกขลักษณะจึงไม่ปรากฏ, ภาวะที่ทนอยู่มิได้
หรือภาวะที่คงสภาพเดิมอยู่มิได้ หรือภาวะที่ไม่อาจคงอยู่ในสภาพเดิมได้ ด้วยมีแรงบีบ
คั้นกดดันขัดแย้งเร้าอยู่ภายในส่วนประกอบต่างๆ นั้น จะถึงระดับที่ปรากฏแก่สายตาหรือ
ความรู้สึกของมนุษย์ มักจะต้องกินเวลาระยะหนึ่ง แต่ในระหว่างนั้น ถ้ามีการคืบเคลื่อน
ยักย้ายหรือทำให้แปรรูปเป็นอย่างอื่นไปเสียก่อน ก็ดี สิ่งที่ถูกสังเกตเคลื่อนย้ายพ้นจาก
ผู้สังเกตไปเสียก่อน หรือผู้สังเกตแยกพรากจากสิ่งที่ถูกสังเกตไปเสียก่อน ก็ดี ภาวะที่
บีบคั้นกดดันขัดแย้งนั้น ก็ไม่ทันปรากฏให้เห็น ปรากฏการณ์ส่วนใหญ่มักเป็นไปเช่นนี้
ทุกขลักษณะจึงไม่ปรากฏ

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 14 พ.ค. 2021, 05:49 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์

ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ ในร่างกายของมนุษย์นี้แหละไม่ต้องรอให้ถึงขั้นชีวิตแตกดับดอก
แม้ในชีวิตประจำวันนี้เอง ความบีบคั้นกดดันขัดแย้งก็มีอยู่ตลอดเวลาทั่วองคาพยพ
จนทำให้มนุษย์ไม่อาจอยู่นิ่งเฉยในท่าเดียวได้ ถ้าเราอยู่หรือต้องอยู่ในท่าเดียวนาน
มาก ๆ เช่น ยืนอย่างเดียว นั่งอย่างเดียว เดินอย่างเดียว นอนอย่างเดียว ความบีบคั้น
กดดัน ตามสภาวะจะค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้น ๆ จนถึงระดับที่เกิดเป็นความรู้สึกบีบคั้นกดดัน
ที่คนทั่วไปเรียกว่าเป็นทุกข์ เช่น เจ็บปวดเมื่อย จนในที่สุดก็จะทนไม่ไหว และต้องยัก
ย้ายเปลี่ยนไปสู่ท่าอื่นที่เรียกว่าอิริยาบถอื่น เมื่อความบีบคั้นกดดันอันเป็นทุกข์ตามสภาวะ
นั้นสิ้นสุดลง ความรู้สึกบีบคั้นกดดันที่เรียกว่า ความรู้สึกทุกข์ (ทุกขเวทนา) ก็หายไปด้วย
(ในตอนที่ความรู้สึกทุกข์หายไปนี้ มักจะมีความรู้สึกสบายที่เรียกว่าความสุขเกิดขึ้นมา
แทนด้วย แต่อันนี้เป็นเพียงความรู้สึกเท่านั้น ว่าโดยสภาวะแล้ว มีแต่ความทุกข์หมด
ไปอย่างเดียว เข้าสู่ภาวะปราศจากทุกข์)

ในความเป็นอยู่ประจำวันนั้น เมื่อเราอยู่ในท่าหนึ่งหรืออิริยาบถหนึ่งนานๆ พอจะรู้สึกปวด
เมื่อยเป็นทุกข์ เราก็ชิงเคลื่อนไหวเปลี่ยนไปสู่ท่าอื่นหรืออิริยาบถอื่นเสีย หรือเรามักจะ
เคลื่อนไหวเปลี่ยนท่าเปลี่ยนอิริยาบถอยู่เสมอ จึงหนีรอดจากความรู้สึกทุกข์ไปได้ เมื่อ
ไม่รู้สึกทุกข์ ก็เลยพลอยมองข้ามไม่เห็นความทุกข์ที่เป็นความจริงตามสภาวะไปเสียด้วย
ท่านจึงว่า อิริยาบถบังทุกขลักษณะ

๓. ท่านกล่าวว่า เพราะมิได้มนสิการ ความแยกย่อยออกเป็นธาตุต่างๆ ก็ถูก ฆนะ คือความ
เป็นแท่งเป็นก้อนเป็นชิ้นเป็นอันเป็นมวลหรือเป็นหน่วยรวม ปิดบังไว้ จึงไม่ปรากฏ

สิ่งทั้งหลายที่เรียกชื่อว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ล้วนเกิดจากเอาส่วนประกอบทั้งหลายมารวบรวม
ปรุงแต่งขึ้น เมื่อแยกย่อยส่วนประกอบเหล่านั้นออกไปแล้ว สิ่งที่เป็นหน่วยรวมซึ่งเรียกชื่อ
ว่าอย่างนั้นๆ ก็ไม่มี โดยทั่วไป มนุษย์มองไม่เห็นความจริงนี้ เพราะถูกฆนสัญญาคือความ
จำหมายหรือความสำคัญหมายเป็นหน่วยรวมคอยปิดบังไว้ เข้ากับคำกล่าวอย่างชาวบ้านว่า
เห็นเสื้อ แต่ไม่เห็นผ้า เห็นแต่ตุ๊กตา มองไม่เห็นเนื้อยาง คือคนที่ไม่ได้คิดไม่ได้พิจารณา
บางทีก็ถูกภาพตัวตนของเสื้อปิดบังตาหลอกไว้ ไม่ได้มองเห็นเนื้อผ้าที่ปรุงแต่งขึ้นเป็นรูป
เสื้อนั้น ซึ่งว่าที่จริง ผ้านั้นเองก็ไม่มี มีแต่เส้นด้ายมากมายที่มาเรียงกันเข้าตามระเบียบ ถ้า
แยกด้ายทั้งหมดออกจากกัน ผ้านั้นเองก็ไม่มี หรือเด็กที่มองเห็นแต่รูปตุ๊กตา เพราะถูกภาพ
ตัวตนของตุ๊กตาปิดบังหลอกตาไว้ ไม่ได้มองถึงเนื้อยางซึ่งเป็นสาระที่แท้จริงของตัวตุ๊กตานั้น
เมื่อจับเอาแต่ตัวจริง ก็มีแต่เนื้อยาง หามีตุ๊กตาไม่ แม้เนื้อยางนั้นเองก็เกิดจากส่วนผสมต่างๆ
มาปรุงแต่งขึ้นต่อๆ กันมา

ฆนสัญญา ย่อมบังอนัตตลักษณะไว้ในทำนองแห่งตัวอย่างง่ายๆ ที่ได้ยกมากล่าวไว้นี้ เมื่อใช้
อุปกรณ์หรือวิธีการที่ถูกต้องมาวิเคราะห์มนสิการเห็นความแยกย่อยออกเป็นส่วนประกอบต่างๆ
จึงจะประจักษ์ในความมิใช่ตัวตน มองเห็นว่าเป็นอนัตตา

๓. วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์

พึงสังเกตว่า หลัก (เบญจขันธ์) ในบทที่ ๑ ก็ดี หลักอายตนะ ๖ (สฬายตนะ) ในบทที่ ๒ ก็ดี
แสดงเนื้อหาของชีวิต เน้นการศึกษาพิจารณาเกี่ยวกับชีวิต คือ ว่าด้วยขันธ์ ๕ ที่เป็นภายใน
และอายตนะภายในเป็นสำคัญ ส่วนหลักไตรลักษณ์ในบทที่ ๓ นี้ ขยายขอบเขตการพิจารณา
ออกไปอย่างกว้างขวางครอบคลุมทั้งขันธ์ ๕ ที่เป็นภายใน และขันธ์ ๕ ที่เป็นภายนอก
(อนัตตตาคลุมทั้งสภาวะที่นอกเหนือจากขันธ์ ๕ ด้วย) ทั้งอายตนะภายในและอายตนะภายนอก
เป็นการมองทั้งชีวิตและสิ่งทั้งปวงที่ชีวิตเกี่ยวข้อง คือว่าด้วยชีวิตและโลกและสภาวะทั้งปวง
ทั้งหมดทั้งสิ้น

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 14 พ.ค. 2021, 10:44 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์

เบื้องแรก ขอทบทวนย้ำว่าให่ตั้งมั่นอยู่ในความหมายหลักของไตรลักษณ์
ซึ่งง่ายๆ สั้นๆ ดังนี้

๑. สังขารทั้งปวง (สังขตธรรมทั้งปวง รวมหมดขันธ์ทั้ง ๕) เป็น อนิจจา ไม่เที่ยง
คือ มีแล่วไมามีมีขึ้นแล้วดับหาย เกิดขึ้นแล้วก็สลาย (หุตวา-อภาวโต)

๒. สังขารทั้งปวง (สังขตธรรมทั้งปวง รวมหมดขันธ์ทั้ง ๕) เป็นทุกขา คงทนอยู่
ไม่ได้คือ ถูกบีบคั้นด่วยการเกิดขึ้นและสลายไป (อุทยัพพยปฏิปีฬนโต)

๓. ธรรมทั้งปวง (ทั้งสังขตธรรม และอสังขตธรรม หมดทั้งสิ้น) เป็น อนัตตา
ไม่เป็นไม่มีตัวตน คือ ไม่เป็นไปในอํานาจของใคร ไม่เป็นไมามีตัวตนอะไร
ครอบครอง ที่จะสั่งบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาได้(อวสวัตตนโต)

เนื่องจากไตรลักษณ์นี้ เป็นหลักธรรมใหญ่ เกี่ยวข้องกับชีวิตและการปฏิบัติธรรม
อย่างมาก มีกล่าวถึงบ่อยในที่ทั่วไป คัมภีร์ทั้งหลายเช่นบรรดาอรรถกถา จึงอธิบาย
แยกแยะแจกแจงแตกแง่แตกมุมออกไป ผู้ศึกษาให้รู้เข้าใจหลักทั่วไปพึงจับความ
หมายสําคัญสั้นๆ ที่แสดงข่างบนนี้เป็นหัวใจหรือเป็นแกนไว่ ก็นับว่าพอ

ส่วนความหมายที่วิเคราะห์แยกแยะแจกแจงอธิบายไว้มากมายละเอียดลึกซึ้งลง
ไปโดยนัยและตามแนวของคัมภีร์ต่างๆ ดังจะพูดต่อไปนี้ ถือได้ว่าแสดงไว้สําหรับ
ผู้สนใจพิเศษ และควรเข้าใจไว้ก่อนด้วยว่า โดยทั่วไปหรือตามปกตินั้น ท่านอธิบาย
ไตรลักษณ์ โดยมุ่งให้ผู้ศึกษาผู้ปฏิบัติ ซึ่งโดยทั่วไปยังเป็นปุถุชน ได้รู้เข้าใจใน
เรื่องของสังขารคือสังขตธรรม หรือขันธ์ ๕ แม้แต่ข้ออนัตตา ที่ครอบคลุมทั้ง
สังขารและวิสังขาร โดยทั่วไปท่านก็อธิบายแค่ในความหมายที่บรรดาสังขาร
เป็นอนัตตา จึงมีความหมายของความเป็นอนัตตาที่ท่นแสดงเพิ่มขึ้นมาซึ่งมุ่ง
หมายสําหรับความเป็นอนัตตาของสังขารหรือเบญจขันธ์เป็นสําคัญ ผู้ศึกษาจึง
ควรเข้าใจตระหนักไว้ไม่พึงสับสนปนเป และพึงแม้นใจไว้ว่า ความหมายอันแท้
ได้แก่ความที่แสดงไว้ ๓ ข้อข้างบนนั้น

เมื่อทําความเข้าใจพื้นฐานกันไว้ดังนี้แล้ว ก็มาดูคําอธิบายที่ค่อนข้างละเอียดต่อไป

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/