ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

ปริเฉทที่ ๗ สมุจจยสังคหวิภาค
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=66&t=46000
หน้า 8 จากทั้งหมด 9

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 16 ก.ย. 2013, 07:36 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ปริเฉทที่ ๗ สมุจจยสังคหวิภาค

อีกนัยหนึ่งแสดงว่า นิโรธ หมายถึง นิพพาน ซึ่งเป็นความดับอย่างหนึ่ง ที่ดับอย่างสนิท ดับจริงดับจัง
ดับแล้วเป็นดับ ไม่กลับติดต่อก่อเกิดอีก ดับอย่างนี้ แหละ เรียกว่า นิพพาน
ดับกิเลส เรียก กิเลสนิพพาน ดับขันธ์ เรียกขันธนิพพาน ขันธ์ที่หมดกิเลส แล้ว เป็นขันธ์เปล่า ดุจดังสูญญาคาร เรือนเปล่า ไม่มีอะไรรกรุงรัง น่าสบายใจ เพราะเหตุนี้ท่านจึงกล่าวว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุญฺญํ พระนิพพานเปล่าอย่างยิ่ง หมายถึงความว่างเปล่าจากกิเลส เมื่อขันธ์เปล่าจากกิเลสแล้ว ไม่มีกิเลสแล้ว ก็เป็น สุขอย่างยิ่ง เป็นสุขพิเศษนอกจาก สุขเวทนา เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

จึงเป็นปัญหาต่อไปว่า สุขจะมีได้อย่างไรในพระนิพพาน เพราะพระนิพพาน ไม่มีการเสวยอารมณ์
ใน พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๒๓ หน้า ๒๒๕ แก้ไว้ว่า ความที่ไม่เสวย อารมณ์นั้นแหละ เป็นความสุขที่แท้จริง เป็นสุขอย่างยิ่ง เพราะสุขที่เสวยอารมณ์นั้น เป็นสุขที่ไม่เที่ยง ก็คือเป็นทุกข์นั่นเอง
ดังนั้น สุขเวทนา ซึ่งเป็นสุขที่ได้จากการเสวยอารมณ์ จึงได้ชื่อว่า วิปริฌามทุกข์ เพราะความสุขนั้นจะ
ต้องวิปริตผันแปรไปเป็นทุกข์อย่างแน่นอน
ส่วน สุขในนิพพาน ไม่ใช่สุขเวทนา แต่เป็น สันติสุข จึงไม่มีวันที่จะ ผันแปรไปเป็นอื่นเลย
การกล่าวถึงพระนิพพานเป็นการยากอย่างยิ่ง เพราะพระนิพพานไม่มีอะไร ไม่ใช่อะไร ไม่เหมือนอะไร ไม่คล้ายอะไร ในโลกทั้ง ๓ นี้เลย ทั้งพระบาลีก็มีห้าม ไว้ออกรอบทิศว่า
คมฺภีโร จายํ ธมฺโม ธรรมคือพระนิพพานเป็นของลึกซึ้ง
ทุทฺทโส อันบุคคลเห็นได้ยาก
ทุรานุโพโธ อันบุคคลตรัสรู้ตามด้วยยาก
สนฺโต เป็นของสงบระงับ
ปณีโต เป็นของประณีต
อตกฺกาวจโร ไม่เป็นที่เที่ยวแห่งการตรึก คือบุคคลจะนึกคาดคะเน เอาเองไม่ได้
นิปุโณ เป็นของละเอียด
ปณฺฑิตเวทนิโย เป็นของอันบัณฑิต คือพระอริยเจ้าจะพึงรู้
เมื่อยก พุทธภาษิต นี้ขึ้นอ้างแล้ว ก็เป็นอันว่าจะทราบซึ้งในพระนิพพานอย่าง แท้จริง ก็ต่อเมื่อได้แจ้งประจักษ์
ด้วยตนเอง เหตุนี้ พระพุทธองค์จึงได้ทรงเตือนว่า
อกฺขาตาโร ตถาคตา ตถาคตเป็นผู้บอกทางให้
ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ อันความเพียรนั้นท่านทั้งหลายต้องทำเอง

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 16 ก.ย. 2013, 07:59 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ปริเฉทที่ ๗ สมุจจยสังคหวิภาค

มัคคอริยสัจ

มัคคสัจจะ มัคคอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีอริยสัจ และ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เหล่านี้
ล้วนแต่เป็นชื่อของสัจจที่ ๔ นี้ ซึ่งมีความหมายว่า เป็นข้อปฏิบัติ เป็นเหตุ เป็นทาง ให้ถึงพระนิพพาน คือถึงซึ่งความดับตัณหา เป็นผล ให้สิ้นไปแห่งทุกข์ทั้งปวง
ทางที่ให้ถึงซึ่งความดับแห่งทุกข์นี้ มีทางเดียว อันมีส่วนประกอบ ๘ ประการ ที่มีชื่อว่า อัฏฐังคิกมัคค
คือ มัคคมีองค์ ๘ นี้เท่านั้น นอกจากมัคคมีองค์ ๘ นี้แล้ว ไม่มีทางอื่นใดที่จะให้บรรลุนิพพานได้เลย
ในมหาวัคคฎีกา ได้วิเคราะห์คำว่า มัคค (ซึ่งได้กล่าวมาข้างต้นครั้งหนึ่งแล้ว) ว่า กิเลเส มาเรนฺโต นิพฺพานํ คจฺฉนฺติ เอเตนาติ มคฺโค ฯ แปลความว่า ธรรมชาติที่ประหารกิเลสแล้ว ย่อมถึงพระนิพพานนั้น ชื่อว่า มัคค
ตามสาธกนี้จะเห็นได้ว่า มัคคมีองค์ ๘ แต่ละองค์มีหน้าที่ ๒ ประการ คือ
ก. ทำหน้าที่ ประหารกิเลส
ข. ทำหน้าที่ บรรลุพระนิพพาน
ดังนั้นจะได้กล่าวถึงหน้าที่ ๒ ประการแห่งมัคคมีองค์ ๘ มีโดยย่อ
๑. สัมมาทิฏฐิ ได้แก่ ปัญญาเจตสิกที่ในมัคคจิต ๔ ประหารมิจฉาทิฏฐิ คือ อวิชชา (โมหะ) ตามกำลังแห่งมัคค มีปัญญาเห็นแจ้ง ในอริยสัจจ ๔ โดยมีพระ นิพพาน เป็นอารมณ์
๒. สัมมาสังกัปปะ ได้แก่ วิตกเจตสิกที่ในมัคคจิต ๔ ประหาร กามวิตก พยาปาทวิตก และวิหิงสาวิตก ตามกำลังแห่งมัคค มีแต่การยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ พระนิพพาน คือมีวิตกในนิพพาน โดยมีพระนิพพานเป็นอารมณ์
๓. สัมมาวาจา ได้แก่ สัมมาวาจาวิรตีเจตสิกที่ในมัคคจิต ๔ ประหารมิจฉา วาจา คือ วจีทุจริต ๔ ตามกำลังแห่งมัคค โดยมีพระนิพพานเป็นอารมณ์

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 16 ก.ย. 2013, 08:00 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ปริเฉทที่ ๗ สมุจจยสังคหวิภาค

๔. สัมมากัมมันตะ ได้แก่ สัมมากัมมันตวิรตีเจตสิกที่ในมัคคจิต ๔ ประหาร มิจฉากัมมันตะ คือ
กายทุจริต ๓ ตามกำลังแห่งมัคค โดยมีพระนิพพานเป็นอารมณ์
๕. สัมมาอาชีวะ ได้แก่ สัมมาอาชีววิรตีเจตสิกในมัคคจิต ๔ ประหาร มิจฉาอาชีวะ คือมีความเป็นอยู่
ที่ทุจจริต ๗ ประการ โดยมีพระนิพพานเป็นอารมณ์
๖. สัมมาวายามะ ได้แก่ วิริยเจตสิกที่ในมัคคจิต ๔ ประหารมิจฉาวายามะ คือความเพียรที่ผิดที่เป็น
ทุจจริต มีแต่เพียรถึงพระนิพพาน โดยมีพระนิพพานเป็น อารมณ์
๗. สัมมาสติ ได้แก่ สติเจตสิกที่ในมัคคจิต ๔ ประหารมิจฉาสติ คือ ความ ปราศจากสติสัมปชัญญะ คงมีแต่สติที่ระลึกรู้อยู่แต่พระนิพพาน โดยมีพระนิพพาน เป็นอารมณ์
๘. สัมมาสมาธิ ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิกที่ในมัคคจิต ๔ ประหารมิจฉาสมาธิ คือการขาดความตั้งใจมั่น
โดยชอบ คงมีแต่ความตั้งใจมั่นแน่วแน่ในพระนิพพาน โดยมีพระนิพพานเป็นอารมณ์
อริยมัคคนี่แหละที่ได้ชื่อว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจจ เป็นข้อปฏิบัติไป สู่ธรรมที่ดับทุกข์ ให้สัตว์ที่ดับทุกข์โดยไม่มีเหลือ เป็นอริยสัจจของจริงอันบริสุทธิ ไปจากข้าศึก เป็นของจริงที่พระอริยเจ้าได้เข้าถึงแล้ว
อริยมัคคนี้เป็นวิชชาด้วย เป็นจรณะด้วยสัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ ๒ องค์นี้เป็นวิชชา ที่เหลืออีก ๖ องค์เป็นจรณะ ดุจบุคคลผู้สัญจรเดินทางไปตามปกติ ย่อมพร้อมด้วยจักษุสามารถในการเห็น และพร้อมด้วยเท้า
สามารถในการเดินไป จักษุที่สามารถในการเห็นนั้นเปรียบกับปัญญาคือวิชชา เท้าที่สามารถในการเดินนั้น เปรียบด้วยจรณะ
อริยมัคคนี้เป็นสมถะด้วย เป็นวิปัสสนาด้วย สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ ๒ องค์นี้ สงเคราะห์ด้วยวิปัสสนายาน (พาหนะ) เครื่องนำไป คือ วิปัสสนา ที่เหลืออีก ๖ องค์สงเคราะห์ด้วยสมถะ ยาน (พาหนะ) เครื่องนำไปคือสมถะ พระอริยสาวกท่านเว้นส่วน ๒ คือ เว้นกามสุขัลลิกานุโยค ด้วยวิปัสสนายาน และเว้นอัตตกิลมถานุโยค
ด้วยสมถยาน ดำเนินไปไต่ไปยังมัชฌิมาปฏิปทา คือทาง สายกลาง ทำลายกองโมหะด้วยปัญญาขันธ์ ทำลายกองโทสะด้วยสีลขันธ์ ทำลาย กองโลภะด้วยสมาธิขันธ์ ถึงปัญญาสัมปทาด้วยอธิปัญญาสิกขา ถึงสีลสัมปทาด้วย อธิสีลสิกขา ถึงสมาธิสัมปทาด้วยอธิจิตตสิกขา ทันทีที่ถึงพร้อมด้วยสิกขา ๓ นี้ ก็แจ้งซึ่ง พระนิพพาน

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 16 ก.ย. 2013, 08:01 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ปริเฉทที่ ๗ สมุจจยสังคหวิภาค

วิชชา และ จรณะ

ก. ที่ว่า สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ ๒ องค์นี้เป็นวิชชา นั้นหมายถึง วิชชา ๓ บ้างก็เรียกว่า ญาณ ๓ ซึ่งเป็นองค์แห่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ วิชชา ๓ หรือ ญาณ ๓ ได้แก่
๑. บุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติได้
๒. ทิพพจักขุญาณ หรือ จุตูปปาตญาณ ตาทิพย์ รู้จุติและปฏิสนธิของสัตว์ ทั้งหลาย
๓. อาสวักขยญาณ รู้วิชาที่ทำให้สิ้นกิเลสและอาสวะ (เป็นปัญญาเจตสิก ที่ในอรหัตตมัคคจิต)
นอกจากวิชชา ๓ ที่กล่าวแล้วนี้ ยังมีวิชชา ๖ และวิชชา ๘ อีก วิชชา ๖ หรือ ญาณ ๖ ได้แก่
วิชชา ๓ ที่กล่าวแล้ว และเพิ่มอีก ๓ คือ
๔. ปรจิตตวิชานนะ หรือ เจโตปริยญาณ รู้จิตใจผู้อื่น
๕. ทิพพโสตญาณ หูทิพย์
๖. อิทธิวิธญาณ สำแดงฤทธิได้
วิชชา ๘ หรือ ญาณ ๘ ได้แก่
วิชชา ๖ นั่นแหละ แล้วเพิ่มขึ้นอีก ๒ คือ
๗. มโนมยิทธิญาณ เนรมิตร่างกายได้
๘. วิปัสสนาญาณ ญาณที่รู้เห็นไตรลักษณ์ในการเจริญวิปัสสนาภาวนา มี ๑๐ ญาณด้วยกัน คือ
สัมมสนญาณ อุทยัพพยญาณ ภังคญาณ ภยญาณ อาทีนว ญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกามยตาญาณ
ปฏิสังขาญาณ สังขารุเบกขาญาณ และ อนุโลมญาณ
ยังมีอีก ๒ ญาณ ได้แก่
ยถากัมมุปาคญาณ รู้ว่าที่สัตว์นั้นทุกข์หรือสุข เพราะได้กระทำกรรมอะไร มาแต่ปางก่อน
อนาคตังสญาณ รู้เหตุการณ์ล่วงหน้า เช่นรู้ว่าสัตว์นั้นจะไปเกิดเป็นอะไร ที่ไหนมีความเป็นอยู่อย่างไร เป็นต้น

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 17 ก.ย. 2013, 04:53 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ปริเฉทที่ ๗ สมุจจยสังคหวิภาค

ถ้านับ ๒ ญาณนี้เข้าอีกด้วย ก็เป็น ๑๐ แต่ส่วนมากมักจะถือว่า ๒ ญาณนี้ รวมอยู่ในจุตูปปาตญาณด้วยแล้ว เพราะต้องมีจุตูปปาตญาณแล้ว จึงจะมีญาณทั้ง ๒ นี้ได้
วิชชา หรือ ญาณ ทั้งหมดนี้เป็นโลกียทั้งนั้น เว้นแต่ อาสวักขยญาณ ญาณเดียวเท่านั้นที่เป็น โลกุตตรญาณ คือเป็นปัญญาเจตสิกที่ในอรหัตตมัคคจิต
ข. ที่ว่าที่เหลืออีก ๖ องค์ (คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ)
เป็น จรณะ นั้น จรณะ มี ๑๕ คือ
(๑) สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยสีล
(๒) อินทรียสังวร สำรวมอินทรีย
(๓) โภชเนมัตตัญญุตา รู้จักประมาณในการบริโภค
(๔) ชาคริยานุโยค ตื่นอยู่เสมอ คือนอนน้อย ในอรรถกถาแสดงว่า วันและ คืนหนึ่ง แบ่งเป็น ๖ ส่วน ตื่นทำความเพียร ๕ ส่วน นอนหลับ ๑ ส่วน คือ ตื่น ๒๐ ชั่วโมง หลับ ๔ ชั่วโมง
(๕) สัทธา ความเชื่อถือเลื่อมใสในธรรมที่เป็นฝ่ายดี
(๖) หิริ ความละอายแก่ใจในอันที่จะกระทำบาป
(๗) โอตตัปปะ ความเกรงกลัวผิด กลัวผลแห่งการกระทำบาป
(๘) พหุสัจจะ ความเป็นผู้ได้ศึกษามามาก
(๙) วิริยะ ความพากเพียร
(๑๐) สติ ความไม่ประมาท
(๑๑) ปัญญา ความรอบรู้

ฌานจตุกนัย

(๑๒) ปฐมฌาน
(๑๓) ทุติยฌาน
(๑๔) ตติยฌาน
(๑๕) จตุตถฌาน

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 17 ก.ย. 2013, 04:57 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ปริเฉทที่ ๗ สมุจจยสังคหวิภาค

ทางอันลามก

ในข้อความที่ว่า พระอริยสาวกท่านเว้นส่วน ๒ คือ เว้นกามสุขัลลิกานุโยค ด้วยวิปัสสนายาน และเว้น
อัตตกิลมถานุโยคด้วยสมถยาน นั้น
กามสุขัลลิกานุโยค เป็นการประพฤติปฏิบัติของผู้ที่มีความคิดเห็นว่า จะพ้น จากทุกข์ก็ต้องให้มีความสุข ความสบายอยู่ตลอดเวลา เมื่อไม่มีทุกข์ก็ชื่อว่าพ้นทุกข์ เพราะความสำคัญผิดเช่นนี้ จึงได้บำรุงบำเรอตนด้วยกามคุณ ให้มีแต่ความสนุกสนาน เพลิดเพลินเจริญใจในความสุขอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
ส่วน อัตตกิลมถานุโยค เป็นการประพฤติปฏิบัติของผู้ที่มีความคิดเห็นว่า อัน การที่จะให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ก็จะต้องดำเนินการไปในทางที่เป็นทุกข์ จึงจะถึงที่สุด แห่งทุกข์ได้ ทำนองเดียวกับที่จะไปให้ถึงเชียงใหม่ ก็ต้องเดินไปตามทางที่ไป เชียงใหม่ ด้วยความสำคัญผิดเช่นนี้ จึงได้ประพฤติปฏิบัติโดยทรมานตนด้วยประการ ต่าง ๆ ในอาการที่เป็นทุกข์ เพื่อจะให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์
ข้อปฏิบัติทั้ง ๒ อย่างนี้ ได้ชื่อว่าเป็นทางอัน ลามก ไม่ได้ประโยชน์ ไม่ทำให้ พ้นไปจากทุกข์ได้เลย อันการที่จะพ้นทุกข์ จะถึงที่สุดแห่งทุกข์ ต้องประพฤติปฏิบัติ แต่พอปานกลาง ไม่ให้เข้าใกล้ไปในทางอันลามกทั้ง ๒ นั้น กล่าวคือไม่หย่อนยาน เพลิดเพลินในความสุข แต่ก็ไม่ได้เคร่งเครียดทรมานจนเกิดทุกข์ ให้ปฏิบัติตามทาง สายกลางที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือดำเนินตาม อัฏฐังคิกอริยมัคค นี้เอง

ปริวัฏฏ ๓ อาการ ๑๒

ในสัมมาทิฏฐิที่ว่าปัญญาเห็นแจ้งในอริยสัจจ ๔ นั้น ต้องเห็นแจ้งในอริยสัจจ ๔ ถึง ๓ รอบ เรียกว่า
ปริวัฏฏ ๓ คือ สัจจญาณ กิจจญาณ และ กตญาณ
รู้ว่านี่ทุกข์ นี่สมุทัย นี่นิโรธ นี่มัคค รู้ดังนี้เรียกว่า สัจจญาณ เป็นการรู้ตาม ความเป็นจริง
รู้ว่าทุกข์ควรกำหนดรู้ สมุทัยควรละ นิโรธควรทำให้แจ้ง มัคคควรให้เจริญ รู้ดังนี้เรียกว่า กิจจญาณ เป็นการรู้ตามหน้าที่
รู้ว่าทุกข์ที่ควรกำหนดรู้นั้นได้กำหนดรู้แล้ว สมุทัยที่ควรละนั้นได้ละแล้ว นิโรธที่ควรทำให้แจ้งนั้นก็ได้
กระทำจนแจ้งแล้ว มัคคที่ควรให้เจริญนั้น ก็ได้เจริญ แล้ว รู้ดังนี้เรียกว่า กตญาณ เป็นการรู้ตามการกระทำ

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 17 ก.ย. 2013, 07:00 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ปริเฉทที่ ๗ สมุจจยสังคหวิภาค

ปริวัฏฏ ๓ เป็นไปในอริยสัจจ ๔ จึงเป็นอาการ ๑๒ เขียนให้ง่ายแก่การ จดจำได้ดังนี้

สัจจญาณ ๑ รอบ

รู้ว่านี่คือ ทุกข์
รู้ว่านี่คือ สมุทัย
รู้ว่านี่คือ นิโรธ
รู้ว่านี่คือ มัคค

กิจจญาณ ๑ รอบ

รู้ว่า ทุกข์ควรกำหนดรู้
รู้ว่า สมุทัยควรละ
รู้ว่า นิโรธควรทำให้แจ้ง
รู้ว่า มัคคควรทำให้เจริญ

กตญาณ ๑ รอบ

รู้ว่า ทุกข์นี้ได้กำหนดรู้แล้ว
รู้ว่า สมุทัยนี้ได้ละแล้ว
รู้ว่า นิโรธนี้ได้ทำให้แจ้งแล้ว
รู้ว่า มัคคนี้ได้เจริญแล้ว

ถ้าจะยกอริยสัจจ ๔ ขึ้นกล่าวก่อน ว่า อริยสัจจ ๔ นี้มี ปริวัฏฏ ๓ คือ จะต้องรอบรู้ถึง ๓ รอบ ก็เขียนได้ดังนี้

ทุกขสัจ

สัจจญาณ รู้ว่าทุกข์นี้ มีอยู่จริง
กิจจญาณ รู้ว่าทุกข์นี้ ควรกำหนดรู้
กตญาณ รู้ว่าทุกข์นี้ ได้กำหนดรู้แล้ว

สมุทยสัจ

สัจจญาณ รู้ว่าเหตุให้เกิดทุกข์นี้ มีอยู่จริง
กิจจญาณ รู้ว่าเหตุให้เกิดทุกข์นี้ ควรละ
กตญาณ รู้ว่าเหตุให้เกิดทุกข์นี้ ได้ละแล้ว

นิโรธสัจ

สัจจญาณ รู้ว่าความดับสิ้นแห่งทุกข์นี้ มีจริง
กิจจญาณ รู้ว่าความดับสิ้นแห่งทุกข์นี้ ควรทำให้แแจ้ง
กตญาณ รู้ว่าความดับสิ้นแห่งทุกข์นี้ ได้ทำให้แจ้งแล้ว

มัคคสัจ

สัจจญาณ รู้ว่าข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์นี้ มีจริง
กิจจญาณ รู้ว่าข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์นี้ ควรเจริญ
กตญาณ รู้ว่าข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์นี้ ได้เจริญแล้ว

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 17 ก.ย. 2013, 07:03 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ปริเฉทที่ ๗ สมุจจยสังคหวิภาค

โสฬสกิจ

อริยสัจ ๔ มีกิจ ๑๖ เรียกว่า โสฬสกิจ คือปริญญากิจ ปหานกิจ สัจฉิกิริยา กิจ และภาวนากิจ กิจ ๔ ประเภทนี้ เป็นไปในอริยมัคคจิตทั้ง ๔ จึงรวมเป็น ๑๖ กิจ
ทุกขอริยสัจ เป็นธรรมที่ควรรู้นั้น เห็นแจ้งโดยปริญญากิจ บ้างก็เรียกว่า ปริญญาตัพพกิจ และที่เรียกว่า
ปริญเญยยกิจ ก็มี
ทุกขสมุทยอริยสัจ เป็นธรรมที่ควรละนั้น ละโดย ปหานกิจ บ้างก็เรียกว่า ปหาตัพพกิจ
ทุกขนิโรธอริยสัจ เป็นธรรมที่ควรกระทำให้แจ้งนั้น กระทำให้แจ้งโดย สัจฉิกิริยากิจ บ้างก็เรียกว่า สัจฉิกาตัพพกิจ และที่เรียกว่า สัจฉิกรณกิจ ก็มี
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นธรรมที่ควรเจริญนั้น เจริญโดยภาวนา กิจ บ้างก็เรียกว่า ภาเวตัพพกิจ
โสดาปัตติมัคคจิต เห็นแจ้งอริยสัจจโดยกิจทั้ง ๔ และ สกทาคามิมัคคจิต อนาคามิมัคคจิต อรหัตตมัคคจิตนั้น แต่ละจิตก็เห็นแจ้งอริยสัจโดยกิจทั้ง ๔ นี้ เช่นเดียวกัน จึงรวมได้เป็น ๑๖ กิจ ดังที่เรียกว่า โสฬสกิจ นี้

ลำดับการเทสนาอริยสัจจ

ในการที่พระองค์ทรงเทสนา ทุกขอริยสัจจ เป็นลำดับต้นก็เพราะว่า ทุกข์เป็น ของหยาบ และปรากฏอยู่เป็นเนืองนิจ จึงรู้ได้ง่ายกว่าสมุทัย
สังขารทั้งหลายล้วนแต่เป็นทุกข์ และทุกข์ก็เกิดมีขึ้นได้เอง ตามธรรมดาของ สังขาร ส่วนสุขมีได้เฉพาะที่ตั้งใจเป็นธุระประกอบโดยชอบด้วยอุบาย ถึงกระนั้นก็ ต้องผันแปรไปเป็นทุกข์อีก รวมความว่า มีทุกข์เป็นพื้นฐาน จะมีสุขเฉพาะเมื่อ แก้ทุกข์ให้สงบชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 17 ก.ย. 2013, 07:29 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ปริเฉทที่ ๗ สมุจจยสังคหวิภาค

สุขเป็นสิ่งที่ปรารถนาเมื่อได้สุขก็มักจะไม่ใคร่รู้สึก มีแต่ยังไม่พอและปรารถนา ต่อไปอีก ส่วนทุกข์เป็นสิ่งที่ไม่ปรารถนา เมื่อเกิดขึ้นแม้มีปริมาณน้อย ผู้เสวยทุกข์ก็ ย่อมรู้สึกเหมือนว่ามากมายเสียเหลือเกิน
ดังนี้ ทุกข์จึงเป็นสิ่งที่รู้ได้ง่ายกว่าสมุทัย ตัวอย่างเช่น เกิดปวดท้องก็รู้สึกทันที ว่าปวดท้อง แต่เหตุอะไรที่ทำให้ปวดท้องนั้นรู้ได้ยาก
ที่ว่า ทุกข์เกิดมีขึ้นได้เองตามธรรมดาของสังขาร ส่วนสุขมีได้เฉพาะที่ตั้งใจ ประกอบชอบด้วยอุบายนั้น ยกตัวอย่างที่เห็นได้ง่าย ๆ เช่น นั่งอยู่นาน ๆ ก็ปวด เมื่อยเป็นทุกข์ขึ้นมาแล้ว จึงลงนอนหรือลุกขึ้นเดินเสีย ก็หายปวด หายเมื่อยไป ชั่วคราว ครั้นเมื่อนอนหรือเดินนาน ๆ หน่อย ก็เมื่อยหรือเหนื่อยขึ้นมาอีก ต้อง เปลี่ยนอริยาบถเรื่อย ๆ ไปไม่มีที่สิ้นสุด สังขารของมนุษย์อยู่ได้ด้วยอาหาร ก็เป็น ทุกข์ในการหาใส่ปากใส่ท้อง หิวขึ้นมาก็ต้องตะเกียกตะกาย
ทนหนาวทนร้อนหามา บำบัดความหิว ดังนี้ เมื่อกล่าวตามสภาพแห่งความเป็นจริงแล้ว ในโลกนี้เกือบไม่มี อะไรสุข มีแต่ทุกข์ทั้งนั้น เพราะเหตุนี้ วชิราภิกษุณีจึงกล่าวคาถาเฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคเจ้า โดยใจความว่า
นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเกิด
นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรตั้งอยู่
นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรดับ
ทุกข์นั่นแหละเกิด
ทุกข์นั่นแหละตั้งอยู่
ทุกข์นั่นแหละดับไป
ดังในพระธรรมบท กล่าวว่า
ทุกฺขเมว หิ สมฺโภติ อันที่จริงทุกข์เท่านั้นเองเกิดขึ้น
ทุกฺขํ ติฏฺฐติ เวติ จ ทุกข์นั่นเองตั้งอยู่และเสื่อมไปด้วย
นาญฺญตฺร ทุกฺขา สมฺโภติ นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
นาญฺญตฺร ทุกฺขา นิรุชฺฌติ นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรดับ
ตามที่ท่านสอนให้เห็นทุกข์ ให้รู้จักทุกข์ ก็เพื่อจะตัดความเข้าใจผิดว่าทุกข์นี้ เป็นสุข และเพื่อจะได้สาวหาสาเหตุของทุกข์ว่ามาแต่อะไร
เมื่อเห็นทุกข์อันเป็นสิ่งที่เห็นได้ง่ายนั้นก่อนแล้ว จึงสาวหาเหตุที่ทำให้เกิด ทุกข์ซึ่งเป็นตัว สมุทัย อันได้แก่ตัณหา ดังนั้น จึงแสดงสมุทัยในอันดับที่ ๒ เพราะสมุทัย เป็นของที่ชอบใจ เป็นสิ่งที่น่าปรารถนา จึงสำคัญไปว่าเป็นสุข ต่อเมื่อเห็นแจ้งว่า สมุทัยเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ จึงจะเกิดความเบื่อหน่ายต่อสมุทัย ความเบื่อหน่ายเช่นนี้ เป็นปัญญา

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 17 ก.ย. 2013, 07:32 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ปริเฉทที่ ๗ สมุจจยสังคหวิภาค

ความเบื่อหน่ายนั้นมี ๒ ประการ ความเบื่อหน่ายที่เนื่องมาจากโทสะ โมหะ นั้น เลือกเบื่อหน่าย สิ่งใดไม่ชอบก็เบื่อหน่ายในสิ่งนั้น แต่ว่าสิ่งใดที่ยังชอบใจ ติดใจ อยู่ ก็หาเบื่อหน่ายไม่ หรือเบื่อหน่ายตามวัยตามกาล เช่น สิ่งใดที่ผิดวัยก็เบื่อหน่าย ที่ถูกวัยก็ไม่เบื่อหน่าย เวลาอิ่มก็เบื่อหน่าย ครั้นหิวขึ้นมาก็ไม่เบื่อหน่าย เป็นต้น ส่วนความเบื่อหน่ายที่เกิดจากปัญญานั้น เป็นการเบื่อหน่ายต่อสิ่งทั้งปวง ไม่ใช่เลือก เบื่อหน่ายบ้าง ไม่เบื่อหน่ายบ้างอย่างที่ว่านั้น
ความเบื่อหน่ายต่อทุกข์ ทำให้เห็นโทษของสมุทัย อันเป็นต้นเหตุให้เกิดทุกข์ ก็เลยเบื่อหน่ายต่อสมุทัย ทำให้คลายความโลภลง ครั้นความโลภคือตัณหาคลายลง จนดับหมดสิ้นเมื่อใด เมื่อนั้นก็เป็นพระนิพพาน เพราะนิพพานเป็นที่ดับสิ้นแห่ง ตัณหา เหตุนี้จึงแสดงนิโรธสัจจอันหมายถึงพระนิพพานไว้เป็นอันดับที่ ๓
นิโรธสัจ อันเป็นสัจจที่ ๓ นี้เป็นผล เมื่อทรงแสดงผลพอให้เกิดปัญญาเห็น อานิสงส์แห่งพระนิพพานแล้ว จึงทรงแสดงมัคคอริยสัจ เป็นอันดับที่ ๔ อันเป็น สัจจที่เป็นเหตุเป็นหนทางให้ถึงพระนิพพาน
หนทางที่จะถึงพระนิพพาน ต้องประหารตัณหา ตัณหาจะเกิดก็เพราะมีเวทนา กล่าวคือ เมื่อมีสุขเวทนาก็อยากให้สุขนั้นคงอยู่ตลอดไป ครั้นเมื่อมีทุกขเวทนาก็ อยากให้ทุกข์นั้นหายไป และอยากให้สุขเกิดขึ้นมาแทน ขณะที่ไม่ทุกข์ไม่สุข ก็อยาก ให้คงเป็นอยู่เช่นนั้น เพราะแม้ว่าจะไม่สุขแต่ที่ไม่มีทุกข์ก็ดีอยู่แล้ว ถ้ายิ่งเป็นสุขก็ยิ่ง ดีมาก ปรารถนาเช่นนี้ ก็ด้วย
อำนาจแห่งตัณหา ถ้าหยุดได้แค่เวทนา ตัณหาไม่เข้า มาต่อ ความอยากอย่างนั้นอย่างนี้ก็ไม่มี จะหยุดอยู่แค่เวทนาได้ ก็ต้องใช้สติเข้าไปกั้น เพราะฉะนั้น เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ท่านจึงกล่าวว่าสำหรับแก้ตัณหาจริต อย่างละเอียด เมื่อมามีสติรู้เท่าทันของเวทนาอยู่เสมอ ตัณหาก็เกิดขึ้นไม่ได้ ด้วยเหตุ ฉะนี้ พระพุทธองค์จึงได้ทรงตรัสแก่อชิตมาณพ ว่า
สติ เตสํ นิวารณํ สติเป็นเครื่องกั้นตัณหาทั้งหลาย
ปญฺญาเยเต ปิถิยฺยเร ตัณหานั้นอันบุคคลจะตัดเสียได้ด้วยปัญญา
เพียงแต่สติก็กั้นหรือยับยั้งตัณหาไว้ได้แล้ว ยังเติมปัญญาลงไปอีก ตัณหาที่ถูก ยับยั้งไว้นั้น จึงเป็นอันถึงซึ่งความตัดขาดให้ดับสูญไปเลย สติและปัญญาทั้ง ๒ นี้ก็ คือ มัคคอริยสัจจนี่เอง
มัคคอริยสัจ หรือ อัฏฐังคิกอริยมัคค เป็นมัชฌิมาปฏิปทา เป็นทางปฏิบัติที่ เป็นท่ามกลาง เป็นสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนที่ผิดอันลามก ๒ ประการ คือ กามสุขัลลิกานุโยค และ อัตตกิลมถานุโยค ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 18 ก.ย. 2013, 06:38 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ปริเฉทที่ ๗ สมุจจยสังคหวิภาค

ในบรรดาสังขตธรรมอันมีปัจจัยปรุงแต่งแล้ว อัฏฐังคิกอริยมัคค นี้เป็นยอดของสังขตธรรมทั้งปวง เพราะเป็นหนทางที่ดับตัณหา ดับกิเลส ดับอกุสล พ้นจาก ทุจจริตทั้งปวง เป็นทางที่ให้เกิดปัญญารู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจทั้ง ๔ โดยประจักขสิทธิ
อัฏฐังคิกอริยมัคค เป็นทางแห่ง วิวัฏฏกุสล เป็นกุสลชนิดที่ไม่ต้องกลับมา วนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏอีก
เป็น อกุปปธรรม คือ ธรรมที่ไม่รู้กำเริบ หมายความ ว่า เมื่อมัคคมีองค์ ๘ นี้ได้ประหารกิเลสใดแล้ว กิเลสนั้น ๆ เป็นไม่มีวันที่จะกำเริบ ขึ้นมาได้อีกเลยเป็นอันขาด
เท่าที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นอันว่าจบเนื้อหาแห่งอริยสัจจทั้ง ๔ แล้ว แม้จะเป็น โดยย่อก็คงพอจะเห็นได้ว่า
ทุกข์เป็นของจริง ใครจะเห็นว่าเป็นสุขก็ตาม แต่ทุกข์คงเป็นทุกข์อยู่นั่นเอง
สมุทัยคือตัณหา เป็นเหตุให้เกิดทุกข์จริง แม้ใครจะเห็นว่าเป็นเหตุให้เกิดสุข ตัณหาก็คงเป็นเหตุให้เกิดทุกข์อยู่นั่นเอง
นิโรธคือดับ ดับตัณหาจนตัณหาดับ ทุกข์ก็ดับได้จริง ทุกข์ดับสิ้นก็เป็น พระนิพพาน แม้ใครจะว่าพระนิพพานมีหรือไม่มีก็ตาม แต่ว่าพระนิพพานก็มีอยู่จริง
มัคค เป็นธรรมดาที่ดับทุกข์โดยแท้ แม้ผู้ใดจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม ถ้าได้ดำเนิน ทางมัคคมีองค์ ๘ นี้แล้ว ก็เป็นทางที่ดับทุกข์ได้จริง
อริยสัจจธรรมทั้ง ๔ ย่อมต้องเกี่ยวเนื่องกัน ดังที่ได้กล่าวมานี้ จึงกล่าวไว้ว่า เมื่อปัญญาได้แจ้งในสัจจะใดสัจจะหนึ่งแล้ว ย่อมเกี่ยวเนื่องต่อโยงกันให้แจ้งในสัจจะทั้ง ๔ นั้นด้วย

อุปมาอริยสัจ

ด้วยความเกี่ยวเนื่องกันแห่งสัจจธรรมดังกล่าวแล้วนั้น จึงได้มีข้ออุปมาอริยสัจจไว้เป็นหลายนัย เป็นต้นว่า
ก. ทุกขสัจ เปรียบเหมือนกับผู้ที่แบกของหนัก สมุทยสัจเปรียบเหมือนกับ ของที่หนัก นิโรธสัจเปรียบเหมือนกับได้ทิ้งของที่หนักนั้นเสียแล้ว มัคคสัจเปรียบ ได้กับอุบายในการที่จะทิ้งของหนักนั้น
ข. ทุกขสัจเปรียบเหมือนอาการของโรค สมุทยสัจเหมือนตัวเชื้อโรค นิโรธสัจเหมือนความหายจากโรค มัคคสัจก็เหมือนกับยารักษาโรค
ค. ทุกขสัจ เปรียบด้วยฝั่งนี้ สมุทยสัจเปรียบด้วยแม่น้ำ นิโรธสัจเปรียบ กับฝั่งโน้น มัคคสัจก็เปรียบเหมือนพาหนะที่นำไปถึงฝั่งโน้น
ด้วยความเกี่ยวพันต่อเนื่องกันดังนี้ จึงมีคำกล่าวไว้ว่า ผู้ใดเห็นทุกข์ผู้นั้นย่อม เห็นสมุทัย ผู้ใดแจ้งในนิโรธ ผู้นั้นย่อมแจ้งในมัคคด้วย

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 18 ก.ย. 2013, 06:42 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ปริเฉทที่ ๗ สมุจจยสังคหวิภาค

สงเคราะห์อริยสัจโดยนัยต่าง ๆ

อริยสัจทั้ง ๔ สงเคราะห์โดยนัยต่าง ๆ ได้ดังนี้ คือ
๑. ทุกขสัจ มีเพียง ๑ คือ มีสภาพที่ทนอยู่ไม่ได้ ไม่ยั่งยืนคงทนอันเป็น ตัวทุกข์จริง ๆ
สงเคราะห์ว่ามี ๒ ก็ได้ คือ ทุกขสัจที่เป็นรูปธรรม และทุกขสัจที่เป็น นามธรรม
สงเคราะห์ว่ามี ๓ ก็ได้ คือ ทุกขสัจในกามภูมิ ทุกขสัจในรูปภูมิ และทุกขสัจในอรูปภูมิ
สงเคราะห์ว่ามี ๔ ก็จำแนกโดยอาหาร ๔ ซึ่งได้แก่ ชาติ ชรา พยาธิ และ มรณะ ธรรมทั้ง ๔ นี้ ล้วนแต่เป็นอาหารของทุกข์ คือเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะ ถ้าไม่มีชาติ ไม่มีความเกิดแล้วทุกข์ทั้งหลายก็จะเกิดมีขึ้นมาไม่ได้
สงเคราะห์ว่ามี ๕ ก็จำแนกโดยอุปาทานขันธ์ ๕ คือ ทุกขสัจ แห่งรูปขันธ์ แห่งเวทนาขันธ์ แห่งสัญญาขันธ์ แห่งสังขารขันธ์ และแห่งวิญญาณขันธ์
๒. สมุทยสัจ ก็มีเพียง ๑ คือ ตัณหา ได้แก่ โลภะ อันเป็นต้นเหตุ เป็นมูลเหตุ ให้เกิดทุกขสัจ
สงเคราะห์ว่ามี ๒ ก็จำแนกตัณหาเป็น ทิฏฐิคตสัมปยุตต และ ทิฏฐิคต วิปปยุตต
สงเคราะห์ว่ามี ๓ ก็จำแนกได้เป็น กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา
สงเคราะห์ว่ามี ๔ ก็จำแนกด้วยอำนาจแห่งการประหารของมัคคจิตทั้ง ๔
สงเคราะห์ว่ามี ๕ ก็จำแนกโดยกามคุณทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และ การสัมผัสถูกต้อง
สงเคราะห์ว่ามี ๖ ก็จำแนกตามอารมณ์ทั้ง ๖ เป็น รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา
โผฏฐัพพตัณหา และ ธัมมตัณหา

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 18 ก.ย. 2013, 06:43 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ปริเฉทที่ ๗ สมุจจยสังคหวิภาค

๓. นิโรธสัจ มีเพียง ๑ คือ พระนิพพาน
สงเคราะห์ว่ามี ๒ คือ จำแนกโดยปริยายแห่งเหตุ ก็ได้แก่ สอุปาทิเสส นิพพาน และอนุปาทิเสสนิพพาน
สงเคราะห์ว่ามี ๓ คือ จำแนกโดยอาการที่เข้าถึง ก็ได้แก่ อนิมิตตนิพพาน อัปปณิหิตนิพพาน และ
สุญญตนิพพาน
สงเคราะห์ว่ามี ๔ คือจำแนกไปตามมัคคจิต ๔ ซึ่งเป็นผู้เห็นแจ้งพระนิพพาน มีโสดาปัตติมัคคจิต เป็นต้น
สงเคราะห์ว่ามี ๕ ก็ด้วยการนับความดับแห่งขันธ์ทั้ง ๕ คือ ความดับ แห่งรูปขันธ์ แห่งเวทนาขันธ์
แห่งสัญญาขันธ์ แห่งสังขารขันธ์ แห่งวิญญาณขันธ์
สงเคราะห์ว่ามี ๖ ก็ด้วยการนับความดับแห่งอารมณ์ทั้ง๖ และหรือทวารทั้ง ๖
๔. มัคคสัจ มีเพียง ๑ คือ อัฏฐังคิกมัคค มัคคมีองค์ ๘ อันเป็นทางเดียว ที่ให้บรรลุถึงพระนิพพานด้วย
การประหารกิเลส
สงเคราะห์ว่ามี ๒ เป็นการจำแนกตามนัยแห่งมาติกาคือ ทสฺสเนน ปหาตพฺ พา ธมฺมา หมายถึงมัคคสัจแห่งโสดาปัตติมัคคจิต และ ภาวนาย ปหาตพฺพา ธมฺ มา หมายถึงมัคคสัจจแห่งมัคคจิตเบื้องบนอีก ๓ มัคค
สงเคราะห์ว่ามี ๓ เป็นการจำแนกโดยขันธ์ ๓ คือ สีลขันธ์ สมาธิขันธ์ และ ปัญญาขันธ์
สงเคราะห์ว่ามี ๔ คือ จำแนกโดยมัคคจิต ๔
๕. ปัญญา ความรู้ในอริยสัจจธรรมนี้ยังสงเคราะห์ให้เป็น ๒ คือ โลกียะ และ โลกุตตระ
โลกียะ เรียกว่า อนุโพธญาณ ได้แก่ญาณที่หยั่งรู้ในสัจจธรรมด้วยสุตญาณ และ จินตาญาณ
โลกุตตระ เรียกว่า ปฏิเวธ เพราะเหตุมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ และรู้แจ้งแทง ตลอดในอริยสัจทั้ง ๔

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 18 ก.ย. 2013, 06:45 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ปริเฉทที่ ๗ สมุจจยสังคหวิภาค

๖. ทุกขสัจ กับ สมุทยสัจ เป็นโลกียสัจ นิโรธสัจ กับ มัคคสัจ เป็นโลกุตตรสัจ
ทุกขสัจกับสมุทยสัจ สงเคราะห์ว่าเป็นธรรมที่เสมอกัน เพราะเป็นโลกีย ด้วยกัน และเป็นธรรมที่เป็นไปกับอาสวะได้เหมือนกัน แต่ต่างกันที่ทุกขสัจเป็นผล สมุทยสัจเป็นเหตุ และต่างกันที่ ทุกขสัจเป็นกิจที่ต้องกำหนดรู้ สมุทยสัจเป็นกิจ ที่ต้องละ
นิโรธสัจกับมัคคสัจ สงเคราะห์ว่าเป็นธรรมที่เสมอกัน เพราะเป็นโลกุตตระ ด้วยกันแต่ต่างกันที่ นิโรธสัจนั้นเป็นอารมณ์ มัคคสัจเป็นอารัมมณกะ คือเป็น ผู้จับอารมณ์ และต่างกันที่ นิโรธสัจเป็นกิจที่ต้องทำให้แจ้ง มัคคสัจเป็นกิจที่ต้องเจริญ กับต่างกันที่ นิโรธสัจเป็นผล มัคคสัจเป็นเหตุ
๗. ทุกขสัจกับนิโรธสัจ สงเคราะห์ว่าเหมือนกันเพราะเป็นฝ่ายผลเหมือน กัน แต่ต่างกันที่ทุกขสัจเป็นฝ่ายโลกียธรรม เป็นสังขตธรรม เป็นสังขารธรรม ส่วนนิโรธสัจเป็นฝ่ายโลกุตตรธรรม เป็นสังขตธรรม เป็นวิสังขารธรรม
สมุทยสัจกับมัคคสัจ สงเคราะห์ว่าเหมือนกัน เพราะเป็นฝ่ายเหตุเหมือนกัน เป็นสังขตธรรมเหมือนกัน แต่ต่างกันที่สมุทยสัจเป็นฝ่ายโลกียะและเป็นอกุสล ส่วน มัคคสัจเป็นฝ่ายโลกุตตระและเป็นกุสล
สังขตะ กับสังขารนั้น พยัญชนะต่างกัน แต่มีอรรถเหมือนกันว่าเป็นธรรม ที่มีปัจจัยปรุงแต่ง กล่าวคือ จิต และเจตสิก ก็ปรุงแต่งด้วย อารมณ์ วัตถุ มนสิการ และรูปก็ปรุงแต่งด้วยกรรม จิต อุตุ อาหาร ส่วนนิพพานเป็นอสังขตะ เป็นวิสังขาร เพราะไม่มีอะไรปรุงแต่งเลย
๘. สงเคราะห์โดยความเป็น นามสัจ และ นามรูปสัจ
ทุกขอริยสัจ เป็น นามรูปสัจ เพราะทุกขสัจนี้มีทั้งรูปทั้งนาม คือ โลกีย ๘๑, เจตสิก ๕๑ (เว้นโลภเจตสิก)
และรูป ๒๘
ทุกขสมุทยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ และทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นนามสัจ เพราะมีแต่นาม
อย่างเดียวทั้ง ๓ สัจจ คือ ทุกขสมุทยอริยสัจ ได้แก่ โลภเจตสิก ทุกขนิโรธอริยสัจ ได้แก่พระนิพพาน และ
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ได้แก่มัคคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นเจตสิกทั้ง ๘ ดวง
๙. สงเคราะห์โดยความเป็น สุทธิสัจ และ มิสสกสัจ
ทุกขสมุทยอริยสัจ และทุกขนิโรธอริยสัจ เป็นสุทธิสัจเพราะทุกขสมุทยอริยสัจก็มีองค์ธรรมคือ โลภ เจตสิกแต่อย่างเดียว ทุกขนิโรธอริยสัจก็มีองค์ธรรม คือ นิพพาน แต่อย่างเดียว ไม่มีธรรมอย่างอื่นมาปะปนด้วยอีกเลย จึงได้ชื่อว่า สุทธิสัจ

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 18 ก.ย. 2013, 06:47 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ปริเฉทที่ ๗ สมุจจยสังคหวิภาค

ทุกขอริยสัจ และ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ นั้นเป็นมิสสกสัจ เพราะทุกขอริยสัจมีองค์ธรรม
ถึง ๑๖๐ องค์ และทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ก็มีองค์ธรรมถึง ๘ องค์ คือ มีปะปนกันหลายสิ่งหลายอย่างจึงเรียกว่า มิสสกสัจ
๑๐. สงเคราะห์โดยความเป็น วัฏฏสัจ และ วิวัฏฏสัจ
ทุกขอริยสัจ และทุกขสมุทยอริยสัจ เป็นวัฏฏสัจ เป็นความจริงที่อยู่ในวัฏฏะ ยังต้องวนเวียนอยู่ใน
โลกทั้ง ๓ คือ กามโลก รูปโลก และอรูปโลก
ทุกขนิโรธอริยสัจ และทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นวิวัฏฏสัจ เป็น ความจริงที่พ้นจากวัฏฏะ
พ้นจากโลกทั้ง ๓

สัจจวิมุตติ

มีคาถาสังคหะเป็นคาถาที่ ๑๔ กล่าวถึงธรรมที่พ้นจาก อริยสัจ ๔ ว่า

๑๔. มคฺคยุตฺตาผลา เจว จตุสจฺจวินิสฺสฏา
อิติ ปญฺจปเภเทน ปวุตฺโต สพฺพสงฺคโห ฯ

แปลความว่า มัคคจิต ผลจิต และธรรมที่ประกอบด้วยนั่นเทียว พ้นพิเศษจากอริยสัจ ๔
นี่แหละคือ ธรรม ๕ ประเภทที่แสดงในสัพพสังคหะนี้
มีความหมายว่า ในสัพพสังคหะนี้แสดงธรรม ๕ ประเภท คือ ๑.เบ็ญจขันธ์ ๒.อุปาทานขันธ์ ๓.อายตนะ
๔.ธาตุ และ ๕.อริยสัจ
ถึงกระนั้นก็ยังมีธรรมอีกจำพวกหนึ่งซึ่งพ้นพิเศษจาก อริยสัจ ๔ อันมีชื่อว่า สัจจวิมุตติ
ธรรมที่พ้นจากอริยสัจ ๔ คือ สัจจวิมุตติ นั้น ได้แก่ มัคคจิตและเจตสิก ที่ประกอบกับผลจิตและ
เจตสิกที่ประกอบ รวมจิต ๒ ประเภทนี้เท่านั้น
มัคคจิตเป็นโลกุตตรจิตไม่ใช่โลกียจิต จึงไม่ใช่ทุกขสัจ และมัคคจิตก็ไม่ใช่ โลภเจตสิก ไม่ใช่นิพพาน ไม่ใช่อัฏฐังคิกมัคคด้วยเลยสักอย่างเดียว ดังนั้นมัคคจิตจึง พ้นพิเศษจากสัจจะทั้ง ๔ นี้ ได้ชื่อว่าเป็น สัจจวิมุตติ

หน้า 8 จากทั้งหมด 9 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/