วันเวลาปัจจุบัน 29 เม.ย. 2024, 19:35  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2008, 14:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


ครั้งที่ 001 ตอน คุยกันก่อน

เมื่อปี 2547 เพื่อนนักปฏิบัติได้ร่วมกันพิมพ์หนังสือ จัดรายการวิทยุ บันทึกเสียงและจัดทำแผ่น CD ประทีปส่องธรรม ออกเผยแพร่ให้ท่านผู้สนใจได้อ่านและรับฟังเป็นจำนวนมาก เฉพาะหนังสือก็แจกไปแล้วกว่าสองหมื่นเล่ม อย่างไรก็ตามเนื้อหาสาระของประทีปส่องธรรมค่อนข้างหนักไปสักหน่อย ในปี 2549 นี้ ผู้เขียนจึงได้เขียนหนังสือขึ้นใหม่อีกเล่มหนึ่ง เพื่อให้อ่านได้ง่ายขึ้นสำหรับเพื่อนนักปฏิบัติที่ไม่สนใจจะศึกษาพระปริยัติธรรมมากนัก

ทางเอก คือชื่อของหนังสือเล่มนี้ หมายถึง เอกายนมรรค ซึ่งพระอรรถกถาจารย์ได้แปลความหมายไว้หลายนัย เช่น (1) ทางของท่านผู้เป็นเอกคือพระพุทธเจ้า (2) ทางเอกไม่ใช่ทางสองแพร่งคือเป็นทางไปจากสังสารวัฏตัดตรงสู่พระนิพพาน (3) ทางเดียวที่จะนำผู้ปฏิบัติไปสู่มรรคผลนิพพาน (4) ทาง ที่บุคคลพึงไปผู้เดียว (5) ทาง ที่มีในธรรมวินัย (ศาสนา) นี้เท่านั้น (6) ทางที่ไปครั้งเดียวเมื่อถึงปลายทางแล้วไม่มีการย้อนกลับ และ (7) ทางที่แม้เบื้องต้นจะมีวิธีการปฏิบัติแตกต่างกันตามจริตนิสัยของบุคคล แต่ในเบื้องปลายก็ไปสู่พระนิพพานอันเดียวกัน เป็นต้น

ทางเอก ประกอบด้วยบทความ 8 เรื่อง คือ

1) ทางเอก เป็นการปูพื้นฐานเบื้องต้นเกี่ยวกับการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน สำหรับผู้ที่ไม่เคยสนใจศึกษาปฏิบัติธรรมมาก่อน

2) การละสักกายทิฏฐิ เป็นการชี้เป้าหมายแรกและทิศทางของการปฏิบัติ

3) ทางผิดที่ติดตาย เป็นการชี้แนวทางการปฏิบัติที่ผิดหรือทางสุดโต่งสองด้าน เพื่อให้พบทางสายกลางได้ง่ายขึ้น

4) จากต้นสายถึงปลายทาง เป็นการชี้แนวทางการปฏิบัติที่ถูกหรือทางสายกลาง โดยแจกแจงตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นของการปฏิบัติจนถึงปลายทาง

5) หัวใจกรรมฐาน เป็นการนำเสนอหลักการปฏิบัติธรรมในภาพรวม ทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน

6) เรื่องของพระใบลานเปล่า เป็นการเล่าตัวอย่างของการปฏิบัติธรรมอย่างง่ายๆ ซึ่งสามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน

7) สุญญตา เป็นการเล่าถึงปลายทางของการปฏิบัติจากประสบการณ์ที่ครูบาอาจารย์ถ่ายทอดให้ได้รับฟังมา

8) ของฝาก เป็นบันทึกการสนทนาธรรมกับเพื่อนนักปฏิบัติที่เดินมาในแนวทางต่างๆ กัน เพื่อไปสู่จุดหมายอันเดียวกัน

หากทางเอกจะเป็นเพื่อนคู่ใจของเพื่อนนักปฏิบัติ หรือช่วยกระตุ้นความสนใจของท่านที่ยังไม่เคยลงมือปฏิบัติได้บ้าง ผู้เขียนก็พอใจแล้วที่ได้มีโอกาสรับใช้พระพุทธศาสนา สังคม และเพื่อนชาวพุทธ แต่หากข้อความหรือแนวความคิดใดในหนังสือเล่มนี้ผิดพลาด หรือสร้างความไม่สบายใจให้แก่ท่านผู้ใด ผู้เขียนก็ต้องขออภัยในความโง่เขลาของตนด้วย อนึ่งผู้เขียนขอเรียนว่าผู้เขียนเป็นผู้อ่อนด้อยทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ คือในด้านปริยัติก็ศึกษาจากตำรับตำราต่างๆ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนในด้านปฏิบัติแม้จะได้รับการอบรมจากพ่อแม่ครูอาจารย์สายวัดป่าผู้ทรงคุณธรรมสูงหลายรูป เช่น หลวงปู่ดูลย์ อตุโล หลวงปู่เทสก์ เทสฺรํสี หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร หลวงปู่บุญจันทร์ จนฺทวโร หลวงพ่อพุธ ฐานิโย และหลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ เป็นต้น แต่ผู้เขียนก็เป็นเพียง "พระวัดบ้านที่สนใจกรรมฐาน" เท่านั้น ไม่ใช่พระธุดงคกรรมฐานที่เก่งกล้าสามารถเหมือนพ่อแม่ครูอาจารย์ทั้งหลาย ที่ล่วงลับไปแล้วหรือที่ยังดำรงขันธ์อยู่ ดังนั้นหากท่านใดอ่านหนังสือแล้วสนใจจะลงมือปฏิบัติ ก็โปรดแสวงหาครูบาอาจารย์ที่มีความสามารถและเข้ารับการศึกษาอบรมในภาคปฏิบัติให้จริงจังต่อไปเถิด

พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช 17 มกราคม 2549


ครั้งที่ 002 บทที่ 1 ทางเอก และ สารบัญในเล่ม

1. ทางเอก

มนุษย์ปรารถนาอิสรภาพ แต่มนุษย์ตกเป็นทาสของตัณหา ซึ่งเป็น เจ้านายที่มองไม่เห็นตัว เมื่อไม่รู้ว่าตนเป็นทาส มนุษย์จึงไม่คิดที่จะปลดปล่อย ตนเองให้เป็นอิสระ มีแต่จะทำตามคำสั่งของเจ้านายเท่านั้น และเจ้านายนั้นก็ดูจะรักและหวังดีต่อเรามาก เพราะจะสั่งให้เราแสวงหาความสุขและหลีกหนีความทุกข์ตลอดวันตลอดคืน ซึ่งมีผลให้เราต้องเหนื่อยกายเหนื่อยใจอย่างไม่รู้จักจบสิ้น เนื่องจากความสุขเป็นเพียงภาพลวงตาที่ไขว่คว้าเอาไว้ไม่ได้ ในขณะที่ความทุกข์เป็นสิ่งที่แนบประจำอยู่กับขันธ์นั่นเอง การจะให้ขันธ์มีความสุขหรือพ้นจากความทุกข์อย่างถาวรจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

การดิ้นรนแสวงหาความสุขและหลีกหนีความทุกข์ของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย มีอยู่ 3 วิธีคือ

1. การแสวงหาอารมณ์ที่เป็นสุขและหลีกหนีอารมณ์ที่เป็นทุกข์

เพราะคิดว่าอารมณ์เป็นเครื่องกำหนดให้เกิดความสุขหรือความทุกข์ อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครสามารถเลือกอารมณ์ได้ตามใจชอบ เพราะอารมณ์ที่มา กระทบย่อมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย คือหากกุศลวิบากให้ผลก็ได้ประสบกับอารมณ์ที่ดี หากอกุศลวิบากให้ผลก็ต้องประสบกับอารมณ์ที่ไม่ดี นอกจากนี้ อารมณ์ก็เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง แม้จะได้รับอารมณ์ที่ดีและเป็นสุข ไม่นานอารมณ์ ที่ดีและเป็นสุขนั้นก็ผ่านเลยไป จำเป็นต้องดิ้นรนแสวงหาความสุขและหลีกหนีความทุกข์ต่อไปอีก ดังนั้น วิธีการเลือกรับอารมณ์เพื่อให้เกิดความสุขและพ้นจากความทุกข์จึงไม่ได้ผลจริงตามที่คาดหวังไว้

2. การรักษาจิตให้สงบสบายในทุกๆ สถานการณ์

เพราะคิดว่าถ้าจิตดีเสียแล้ว ก็สามารถเป็นสุขอยู่ได้แม้จะต้องกระทบกับอารมณ์ที่ไม่ดีก็ตาม และการควบคุมจิตก็ทำได้ง่ายกว่าการควบคุมอารมณ์ เนื่องจากอารมณ์มักจะมาจากสิ่งภายนอกซึ่งควบคุมได้ยาก ในขณะที่การควบคุมจิตเป็นสิ่งที่ทำได้ด้วยตนเอง อย่างไรก็ตามจิตเป็นของไม่เที่ยงและเป็น อนัตตาคือบังคับไม่ได้จริง ดังนั้นแม้จะทำให้จิตสงบหรือมีความสุขก็ทำได้เพียงชั่วคราวด้วยอำนาจของการเพ่ง เมื่อจิตเสื่อมจากการเพ่ง จิตก็กลับมาวุ่นวายและเป็นทุกข์ต่อไปได้อีก

3. การหลีกเลี่ยงการกระทบอารมณ์

เป็นวิธีการรักษาจิตที่ประณีตยิ่งขึ้นไปอีก เพราะคิดว่าถ้าจิตไม่ต้องรับรู้อารมณ์หยาบๆ เสียแล้ว จิตจะมีความสงบสุขโดยอัตโนมัติ ดีกว่าจะต้องคอยรักษาจิต ที่ต้องกระทบอารมณ์หยาบๆ อยู่ตลอดเวลา จึงเกิดความพยายามน้อมจิตไปสู่อรูปฌาน หรือแม้กระทั่งการดับความรับรู้ด้วยการเข้าจตุตถฌาน (ตามนัยของพระสูตร) หรือปัญจมฌาน (ตามนัยของพระอภิธรรม) แล้วน้อมจิตไปสู่อสัญญสัตตาภูมิหรือพรหมลูกฟัก อย่างไรก็ตาม เมื่อหมดกำลังเพ่ง จิตก็ถอนออกมารู้อารมณ์ตามปกติต่อไปอีก

คนและสัตว์ทั้งหลายพยายามดิ้นรนหาความสุขและหลีกหนีความทุกข์ด้วยวิธีการต่างๆ แต่ไม่มีผู้ใดสามารถหนีพ้นจากความทุกข์ได้จริง เพราะความทุกข์เป็นสิ่งที่แนบประจำอยู่กับขันธ์คือร่างกาย

และจิตใจนี้เอง มีแต่พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงค้นพบทางรอดอันเป็นทางเอก คือทางสายเดียวที่จะพาผู้ดำเนินตามให้พ้นจากทุกข์ได้จริง ทางเอกนี้คือการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง

การเจริญวิปัสสนากรรมฐานเป็นการหันมาเผชิญหน้าและเรียนรู้ ความ จริงของทุกข์ เมื่อทุกข์อยู่ที่กายก็มีสติระลึกรู้กายตามความเป็นจริง เมื่อทุกข์ อยู่ที่จิตก็มีสติตามรู้จิตตามความเป็นจริง จนในที่สุดก็สามารถเข้าถึงความจริงสูงสุดคืออริยสัจจ์ข้อแรกได้ คือการรู้ทุกข์ ได้แก่การรู้ความจริงว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา ผู้ที่รู้ความจริงนี้เรียกว่าพระโสดาบัน เป็นผู้ละความเห็นผิดว่ากายกับใจคือตัวเรา เมื่อตามรู้กายและตามรู้ใจต่อไปอีก ถึงจุดหนึ่งจิตจะวางความยึดถือกายและใจลงได้อย่างสิ้นเชิง และไม่หยิบฉวยเอากายและใจขึ้นมาถือไว้ให้เป็นภาระกดถ่วงจิตใจอีกต่อไป

เมื่อไม่ยึดถือกายและใจแล้ว ความดิ้นรนทะยานอยากของจิตที่จะให้กาย และใจมีความสุขและพ้นจากความทุกข์ ทั้งด้วยการแสวงหา อารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจ การทำความสงบจิต และการหลีกหนีการรับรู้อารมณ์หยาบๆ ก็จะหมดสิ้นไป การรู้ทุกข์อย่างแจ่มแจ้งจึงเป็นเครื่องทำลายสมุทัยหรือตัณหาให้ดับสนิทลงโดยอัตโนมัติ

เมื่อปราศจากตัณหา จิตก็ได้ประจักษ์แจ้งถึงนิโรธหรือนิพพานอันเป็นสภาวธรรมซึ่งสงบสันติ ปราศจากทุกข์และกิเลสตัณหาทั้งปวง

การรู้ทุกข์จนสมุทัยถูกละไปเองและนิโรธปรากฏให้ประจักษ์โดยไม่ต้อง แสวงหานั้น คือมรรคหรือทางเอกนั่นเอง พวกเราควรเจริญมรรคให้มาก คือ หมั่นตามรู้กายตามรู้ใจอย่างถูกวิธีเนืองๆ แล้วจะพบความอัศจรรย์ของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสาวกด้วยตนเอง

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า/หลักการรู้ทุกข์หรือการเจริญวิปัสสนา)

**************************

ล ำดับเรื่อง/สารบัญที่จะนำเสนอในคอลัมน์ทางเอก

ทางเอก/การละสักกายทิฏฐิ/ทางผิดที่ติดตาย/ทางผิดสองสายที่ต้องทำความรู้จัก/ความสุดโต่งในข้างตามใจกิเลส/ความสุดโต่งในข้างการบังคับกดข่มตนเอง/การทรมานกาย/การทรมานใจ/ผลที่เกิดจากความสุดโต่ง/ความเป็นไปได้ที่จิตจะไม่หลงไปสู่ความสุดโต่งและเดินทางสายกลางได้เอง/วิธีสังเกตว่าจิตหลงสู่ทางที่สุดโต่งหรือไม่/ความสุดโต่งในข้างตามใจกิเลส/ความสุดโต่งในข้างการบังคับตนเอง/จะเข้าสู่ทางสายกลางได้อย่างไร/การทำความรู้จักทางที่ถูก/การทำความรู้จักทางที่ผิดและรู้ทันจิตที่เดินทางผิด/อาการของจิตที่รู้สึกตัว ไม่เผลอและไม่เพ่ง เป็นอย่างไร/เมื่อรู้สึกตัวได้แล้วจะต้องทำอะไรต่อไป/จากต้นสายถึงปลายทาง/บทนำ/ทางสายนี้เรียบง่าย ลัดสั้น และน่ารื่นรมย์/เครื่องขัดขวางการเรียนรู้ธรรม/มานะ/ทิฏฐิ/ตัณหา/จากปลายทางถึงต้นทางของการปฏิบัติธรรม/นิพพานคือจุดหมายสูงสุดของชาวพุทธ/นิพพานย่อมปรากฏแก่ผู้ถึงวิมุตติ/วิมุตติย่อมปรากฏแก่ผู้มีวิปัสสนาปัญญาบริบูรณ์/ปัญญามีสัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิด/สัมมาสมาธิมีความสุขอันเนื่องมาจาก/ความมีสติเป็นเหตุใกล้ให้เกิด/จิตที่มีสติคุ้มครองย่อมมีความสุข/สติมีการจดจำอารมณ์รูปนามได้แม่นยำเป็นเหตุใกล้ให้เกิด/การตามรู้อารมณ์รูปนามเนืองๆ /ทำให้จิตจำอารมณ์รูปนามได้แม่นยำ/จากต้นทางถึงปลายทางของการปฏิบัติธรรม/การเตรียมความพร้อมก่อนลงมือปฏิบัติธรรม/การลงมือเดินทาง/หัวใจกรรมฐาน/ธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง/สมถกรรมฐาน/อารมณ์กรรมฐาน/จริต/นิมิต/ระดับของความสงบ/วิปัสสนากรรมฐาน/หลักการเจริญวิปัสสนากรรมฐานที่ถูกต้อง/ต้องรู้อารมณ์ที่ถูกต้อง/ต้องรู้วิธีการรู้อารมณ์รูปนามอย่างถูกต้อง/ต้องรู้อารมณ์รูปนามเนืองๆ/ขยายความเกี่ยวกับ "อารมณ์ที่ถูกต้อง"/ความหมายของอารมณ์ /ประเภทของอารมณ์ /อารมณ์บัญญัติ /อารมณ์ปรมัตถ์ /ประเภทของอารมณ์ปรมัตถ์ /นิพพานไม่ใช่อารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐาน/สมมติบัญญัติปิดบังปรมัตถ์ /สติช่วยให้จิตพ้นออกชั่วคราว/จากอารมณ์บัญญัติและรู้อารมณ์ปรมัตถ์ได้ /การรู้กายง่ายกว่าการรู้จิตจริงหรือ/เรื่องแทรกเกี่ยวกับกายและจิต/วิธีการตามรู้รูปเพื่อให้เกิดสติ/วิธีการตามรู้นามเพื่อให้เกิดสติ/ขยายความ "วิธีการรู้รูปนามเพื่อให้เกิดปัญญา" /เครื่องมือ เหตุให้เกิดเครื่องมือและวิธีใช้เครื่องมือในการเจริญวิปัสสนา/วิธีการรู้รูปหรือกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน/วิธีการรู้นาม/วิธีการรู้รูปนามในธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน/ขยายความ "การรู้เนืองๆ"/ผลของการปฏิบัติธรรม/ความสุขจากการมีศีล/ความสุขจากการเจริญสมถกรรมฐาน/ความสุขจากการมีสติเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน/ความสุขจากการมีปัญญารู้รูปนามตามความเป็นจริง/ความสุขเมื่อละความเห็นผิดว่ารูปนามเป็นตัวเราของเราได้/ความสุขเมื่อละความยึดถือรูปนามได้/เรื่องของพระใบลานเปล่า/เรื่องราวของพระใบลานเปล่า/การทำกรรมฐานทางมโนทวารง่ายกว่าการทำกรรมฐานทั้ง 6 ทวาร/การทำกรรมฐานทางทวารทั้ง 6 เป็นงานมาก/การทำกรรมฐานทางทวารทั้ง 6 เป็นงานยาก/การทำกรรมฐานทางทวารทั้ง 6 เป็นเรื่องเกินความจำเป็นสำหรับนักปฏิบัติทั่วไป/วิธีเจริญวิปัสสนากรรมฐานโดยการรู้อารมณ์ทางมโนทวาร/สุญญตา/ ของฝาก


ครั้งที่ 003 หลักการรู้ทุกข์หรือการเจริญวิปัสสนา

การรู้ทุกข์หรือการเจริญวิปัสสนานั้นมี หลักการสำคัญ ดังนี้คือ

1. ต้องรู้อารมณ์ที่ถูกต้อง คือต้องรู้รูปนาม จะไปรู้อารมณ์อื่นๆ ที่เป็นสมมติบัญญัติหรือแม้กระทั่งนิพพานหรือมหาสุญญตาไม่ได้ นักปฏิบัติบางท่านพยายามจะรู้นิพพานและพยายามใช้ความว่างๆ เป็นอารมณ์ นั่นเป็นทางเดินที่ผิดเพราะบัญญัติและนิพพานไม่ใช่ทุกข์ ผู้ปฏิบัติต้องรู้ทุกข์คือรู้รูปนามจึงจะละความเห็นผิดว่ารูปนามเป็น
ตัวเราได้ในเบื้องต้น และละความถือมั่นในรูปนาม ได้ในเบื้องปลาย

2. ต้องมีวิธีที่ถูกต้องในการรู้อารมณ์ คือ ขั้นแรก ต้องมีความรู้สึกตัว ไม่หลงไปอยู่ในโลกของสมมติบัญญัติหรือโลกของความคิดฝัน จึงจะสามารถ รู้กายรู้ใจได้ ขั้นที่สอง ต้องรู้รูปที่กำลังปรากฏในปัจจุบัน หรือต้องรู้นามที่เพิ่งดับไปสดๆร้อนๆ และ ขั้นที่สาม เมื่อรู้แล้วอย่าปรุงแต่งสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ต่อไปอีก รู้แล้วให้จบลงแค่รู้ แต่เมื่อรู้บ่อยเข้าในที่สุดก็จะเกิดปัญญาคือความเข้าใจความเป็นจริงของรูปนาม ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ หรือไม่ใช่ตัวเรา เมื่อเข้าใจอย่างนี้ความเห็นผิดว่ารูปนามเป็นตัวเราจะถูกทำลายไปก่อน แล้วความยึดถือในรูปนาม
จะถูกทำลายในภายหลัง

ต่อไปนี้จะขอเล่าถึงวิธีการปฏิบัติธรรมอย่างง่ายๆ ให้เพื่อนนักปฏิบัติที่ยังไม่ทราบว่าจะลงมือปฏิบัติอย่างไรดีได้ลองนำไปพิจารณาดู ดังนี้

1. การเลือกอารมณ์กรรมฐานที่ถูกจริต บุคคลที่มีตัณหาจริตคือมีธรรมชาตินิสัยเด่นในด้านรักสวยรักงามรักสุขรักสบายควรจะรู้กาย แต่ถ้ามีสติปัญญาแก่กล้าแล้วก็ควรรู้เวทนา ส่วนคนที่มีทิฏฐิจริตคือมีธรรมชาตินิสัยเด่นในด้านคิดมาก เจ้าความคิด เจ้าทฤษฎี ชอบศึกษาเปรียบเทียบ ชอบวิพากษ์วิจารณ์ วิเคราะห์ โต้แย้ง ฯลฯ บุคคลเหล่านี้ควรจะรู้จิต แต่ถ้ามีสติปัญญาแก่กล้าแล้วก็ควรรู้ธรรม คือรูปนาม

2. การรู้กาย เวทนา จิต หรือธรรม เป็นเรื่องของการรู้หรือรู้สึกๆ เอา ไม่ใช่การคิด และการเพ่ง

3. เครื่องมือที่ใช้ในการรู้ 3 ประการ คือ สติ สัมมาสมาธิ ปัญญา


ครั้งที่ 004 เครื่องมือที่ใช้ในการรู้ 3 ประการ

3. เครื่องมือที่ใช้ในการรู้ 3 ประการ ประกอบด้วย

3.1 สติ คือความระลึกได้ถึงความปรากฏของ รูปนาม สติเป็นอนัตตาเช่นเดียวกับธรรมทั้งปวง ดังนั้นไม่มีใครที่จะสั่งหรือจงใจให้สติเกิดขึ้นได้ เว้นเสียแต่มีเหตุที่สมควรสติจึงจะเกิดขึ้นโดยไม่ต้อง พยายามทำให้เกิด เหตุให้เกิดสติได้แก่ การที่จิตรู้จักและจดจำสภาวะของรูปนามได้แม่นยำ เพราะได้เจริญสติปัฏฐานหรือตามรู้สภาวะของกาย เวทนา จิต หรือธรรมเนืองๆ และทันทีที่สติเกิดขึ้น สติจะทำหน้าที่คุ้มครองจิต คืออกุศลจะดับไปแล้วกุศลเกิดขึ้นทันที

สติหรือสัมมาสตินี้จะแตกต่างจากมิจฉาสติหรือสติธรรมดา ตรงที่สัมมาสตินั้นเป็นเครื่องระลึกรู้อารมณ์ปรมัตถ์ ได้แก่ รูปนามในขั้นการเจริญมรรคเบื้องต้น และระลึกรู้นิพพานในขณะที่เกิดอริยมรรค ส่วนมิจฉาสติเป็นเครื่องระลึกรู้อารมณ์ บัญญัติอันเป็นสาธารณกุศลต่างๆ ผู้เขียนมีข้อสังเกตส่วนตัวที่ขอฝากให้เพื่อนนักปฏิบัติก็คือ สัมมาสติจะสักว่าระลึกรู้อารมณ์ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปพร้อมกับจิตเป็นขณะๆ ส่วนสติธรรมดามักจะเข้าไปตั้งแข็งหรือนอนแช่อยู่ในอารมณ์ และให้ความรู้สึกเหมือนกับว่าสตินั้นเป็นของที่ตั้งอยู่ได้นานๆ โดยไม่เกิดดับ

3.2 สัมมาสมาธิ คือความตั้งมั่นของจิตในการ ระลึกรู้อารมณ์ปรมัตถ์ ได้แก่ ความตั้งมั่นของจิตในขณะที่รู้รูปนามในขั้นการเจริญมรรคเบื้องต้น และความตั้งมั่นของจิตในขณะที่รู้นิพพานเมื่อเกิด อริยมรรค ความตั้งมั่นนี้ไม่ได้หมายความว่าจิตเข้าไปตั้งแช่หรือนอนนิ่งอยู่กับอารมณ์ แต่เป็นสภาวะที่จิตไม่คลาดเคลื่อนจากอารมณ์ปรมัตถ์นั้นๆ แล้วไหลไปสู่อารมณ์บัญญัติแทน พูดง่ายๆ ก็คือในขณะที่รู้รูปนามก็รู้ด้วยความไม่ลืมตัว ไม่หลงไปหาอารมณ์อื่น และไม่เพ่งอารมณ์ที่กำลังรู้นั้นจนลืมตัว จิตจะตั้งมั่นและเป็นกลาง ไม่เผลอไป แต่ก็ไม่เพ่งอารมณ์ไว้

สัมมาสมาธิต่างจากมิจฉาสมาธิ ตรงที่จิตที่ตั้งมั่นอย่างมีสัมมาสมาธินั้นจะมีความเบา ความอ่อน ความควรแก่การงาน ความคล่องแคล่ว และความซื่อตรงในการรู้อารมณ์รูปนามโดยไม่เข้า ไปแทรกแซง และเกิดขึ้นได้เพราะจิตมีความสุขใน การรู้รูปนาม ซึ่งความสุขนั้นก็เกิดเพราะจิตมีสตินั่นเอง

ส่วนมิจฉาสมาธิมักจะเกิดจากโลภะ คือความ อยากจะรู้อารมณ์ให้ชัดๆ แล้วเกิดการกำหนด การ ประคอง การเพ่ง การรักษาจิตและอารมณ์ไว้ จิตมักจะเกิดโมหะและโลภะแทนที่จะเกิดปัญญา รู้ความจริงของรูปนาม จิตมักมีอาการหนักแทนที่จะเบา แข็งแทนที่จะอ่อน ถูกนิวรณ์ครอบงำแทนที่จะควรแก่การงาน ซึมทื่อแทนที่จะปราดเปรียว และเข้าไปแทรกแซงอารมณ์แทนที่จะรู้อารมณ์อย่างซื่อๆ ตรงๆ

3.3 ปัญญา คือ ความเข้าใจความเป็นจริงของรูปนามตรงตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ปัญญามีสัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่าเมื่อจิตตั้งมั่นในการรู้อารมณ์รูปนามเนืองๆ แล้ว ความเข้าใจความเป็นจริงของรูปนามหรือปัญญาก็จะเกิดขึ้น ปัญญาในที่นี้จึงเป็นวิปัสสนาปัญญาเกิดจากการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งไม่ใช่ปัญญาที่เกิดจากการอ่านและการฟังในขั้นการศึกษาพระปริยัติธรรม และไม่ใช่ปัญญาที่เกิดจากการคิด อนึ่งยังมีปัญญาขั้นสูงอีก อย่างหนึ่งเรียกว่าโลกุตตรปัญญา เป็นปัญญาที่เข้า ใจนิพพานในขณะที่เกิดอริยมรรค


4. วิธีการรู้กาย ทำได้ง่ายๆ คือ เบื้องต้นควรทำสมถกรรมฐานเสียก่อน เพราะการรู้กายเหมาะสมสำหรับสมถยานิก พึงทำสมถกรรมฐานจนจิตตั้งมั่นเป็นหนึ่งและมีอารมณ์เป็นหนึ่ง จิตจึงจะมีกำลังพอที่จะมองทะลุกายอันเป็นอารมณ์บัญญัติ เข้าไปเห็นรูปอันเป็นอารมณ์ปรมัตถ์ได้โดยง่าย จาก นั้นจึงใช้จิตที่ตั้งมั่นแล้วนั้นไปรู้รูป การรู้รูปไม่ใช่การ เผลอไปสู่อารมณ์อื่น ไม่ใช่การคิดเรื่องกาย และไม่ใช่การเพ่งหรือกำหนดกายทั้งกาย หรือกายอันเป็นอวัยวะน้อยใหญ่ เช่น ลมหายใจ มือ เท้า และท้อง เป็นต้น แต่การรู้รูปเป็นการรู้สึกถึงสภาวะหรือ อาการที่กำลังปรากฏของรูป ซึ่งกำลังยืน เดิน นั่ง นอน เหลียวซ้าย แลขวา คู้ เหยียด ก้ม เงย กิน ดื่ม พูด ขับถ่าย หายใจออก และหายใจเข้า และผู้ปฏิบัติจะรู้สึกได้โดยไม่ต้องน้อมคิดว่า สิ่งที่กำลังยืน เดิน นั่ง นอน เคลื่อนไหว และหยุดนิ่งอยู่นั้น เป็นสักว่ารูป ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา แต่อย่างใด และที่สำคัญผู้ปฏิบัติจะรู้ถึงจิตที่อาศัยอยู่กับรูปและเป็นผู้รู้รูปด้วย

5. วิธีการรู้จิต ทำได้ง่ายๆ คือ ให้มีความรู้สึกตัว ไม่ใช่เผลอ ไม่ใช่คิด ไม่ใช่เพ่ง หากจิตมีความรู้สึก หรือมีอาการอย่างไรก็ค่อยตามรู้ความรู้สึกหรืออาการนั้น และรู้ความจริงว่านั่นเป็นสักว่านาม ไม่ใช่ สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา แต่อย่างใด และที่สำคัญผู้ปฏิบัติจะรู้ถึงรูปอันเป็นที่อาศัยของจิตด้วย

อนึ่ง ไม่ว่าเบื้องต้นผู้ปฏิบัติจะรู้กายหรือรู้จิตก่อน แต่สุดท้ายผู้ปฏิบัติก็ย่อมรู้ทั้งกายและจิต จน เห็นความจริงของกายและจิตว่าเป็นไตรลักษณ์ได้ทั้งหมด

6. ความรู้สึกตัว เป็นสภาวะที่เข้าใจยากมาก ใครๆก็คิดว่าตนเองมีความรู้สึกตัวอยู่แล้ว ทั้งที่ในโลกนี้หาคนที่รู้สึกตัวจริงๆได้ยากเต็มที เพราะจิตของคนและสัตว์ทั้งหลายเคยชินที่จะส่งออกนอกคือหลงไปทางทวารทั้ง 6 และเคยชินที่จะรู้บัญญัติเกี่ยวกับอารมณ์ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ น้อยคนนักที่จะรู้สึกตัวและตื่นออกจากโลก ของความคิดและสามารถรู้อารมณ์รูปนามที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ได้จริง

7. รู้กับหลงเป็นสิ่งตรงข้ามกัน เมื่อใดจิตหลงดูรูป หลงฟังเสียง หลงดมกลิ่น หลงลิ้มรส หลงสัมผัสทางกาย หลงคิด และหลงเพ่ง หรือกำหนด เมื่อนั้นจิตจะลืมรูปนาม/กายใจ จิตจะหลับฝันทั้งๆที่ร่างกายนี้ลืมตาตื่นอยู่ แต่เมื่อใดจิตจดจำสภาวธรรม ได้แม่นยำ จิตจะเกิดสติขึ้นเองเมื่อสภาวธรรม อันนั้นปรากฏขึ้น จิตจะเกิดความรู้สึกตัว เป็นความรู้ ตื่น และเบิกบานขึ้นในฉับพลัน ยกตัวอย่างความหลงที่เกิดบ่อยที่สุดก็คือการหลงคิด เมื่อหลงคิด ผู้นั้นจะรู้เรื่องที่คิดบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง แต่เมื่อใดที่ผู้นั้นมีสติรู้ทันสภาวะของจิตว่ากำลังหลงคิดอยู่ ผู้นั้นจะเข้าถึงสภาวะแห่งความตื่นหรือความรู้สึกตัวในฉับพลัน ผู้ตื่นจะเป็นผู้ที่รู้ของจริงคืออารมณ์ปรมัตถ์ จะเห็นทันทีว่ารูปนาม/กายใจนี้ ไม่ใช่ตัวเราแต่อย่างใด เพราะแท้ที่จริงแล้วความเป็นตัวตนเกิดจากความคิดเท่านั้น เมื่อหลุดออกจากความคิด กายใจนี้ก็แสดงความจริงว่ามันเป็นแค่รูปนาม ไม่ใช่ตัวตนของเราของเขาแต่อย่างใด

8. การละความเห็นผิด เมื่อมีความรู้สึกตัวและระลึกรู้รูปนามอยู่เนืองๆ จิตจะค่อยๆสะสมปัญญาคือความรู้ความเข้าใจความเป็นจริงของรูปนามทีละน้อยๆ ถึงจุดหนึ่งจิตจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิ แล้วเกิดกระบวนการทำลายล้างความเห็นผิดว่ารูปนามเป็นตัวตนอย่างฉับพลัน ผู้ที่ไม่เห็นว่ารูปนามเป็นตนหรือตนเป็นรูปนามก็คือผู้ละสักกายทิฏฐิได้ หรือพระโสดาบันบุคคลนั่นเอง

9. จิตปล่อยวางสิ่งอื่นเข้ามายึดจำเพาะจิต เมื่อตาม รู้รูปนามต่อไป สติปัญญาจะยิ่งว่องไวขึ้น กำลังของ กิเลสจะเริ่มเบาบางลง จิตจะประจักษ์แจ้งว่าสิ่งทั้งปวงเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ หรือเป็นอนัตตา ในโลกนี้หาอะไรเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวไม่ได้เลย จิต จะปล่อยวางความถือมั่นในสิ่งภายนอก แล้วเข้ามา ยึดถือจิตเป็นที่พึ่งไว้อย่างเดียว เพราะเห็นว่าถ้าเมื่อ ใดจิตเกิดความอยากและความยึดถืออารมณ์ทั้งปวง จิตจะเป็นทุกข์ ถ้าไม่อยากและไม่ยึด จิตก็ไม่ทุกข์ จิตจึงจำกัดวงตัวเองเข้ามาอยู่จำเพาะจิต จิตตั้งมั่นมีสมาธิบริบูรณ์อยู่โดยไม่ต้องรักษา

10. การรู้แจ้งอริยสัจจ์ เมื่อสติปัญญาแก่รอบอย่างถึงที่สุดแล้ว ผู้ปฏิบัติจะเห็นความจริงว่า จิตนั้นเอง เป็นธรรมชาติที่ยังมีความแปรปรวน จิตเป็นทุกข์อยู่โดยตัวของมันเอง คือไม่ใช่เป็นทุกข์เมื่อกระทบอารมณ์ที่ไม่ดีเท่านั้น และจิตนั้นเองเป็นสิ่งเดียวกับธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่ ธรรมภายในคือจิต กับธรรมภายนอกคือสิ่งอื่นๆทั้งปวงนับตั้งแต่ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายเป็นต้นไปจนถึงโลกและจักรวาล ล้วนเป็นของโลก เป็นตัวทุกข์ล้วนๆ ไม่มีเจ้าของ แล้วฉับพลันนั้น จิตก็ปลดปล่อยความ ถือมั่นในตัวจิตเอง สลัดคืนจิตให้กับธรรมชาติ ในความรู้สึกจะเหมือนกับว่าจิตพรากออกจากขันธ์ สำรอกจากขันธ์ ไม่เกาะเกี่ยวขันธ์ ขันธ์ไม่กระทบเข้าถึงจิต จิตใหญ่ครอบโลกธาตุทั้งปวง จึงไม่มีการไปและการมาอีกต่อไป แล้วธรรมอันรุ่งเรืองเร้นลับที่ไม่เคยหายไปไหนก็ปรากฏเต็มบริบูรณ์อยู่ต่อหน้า ต่อตานั้นเอง

11. ธรรมนี้คือที่สุดแห่งทุกข์ การปฏิบัติธรรมในทางพระพุทธศาสนานั้นเมื่อปฏิบัติถึงที่สุดแล้ว ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกได้ว่า ธรรมนี้คือที่สุดแห่งทุกข์ เพราะเป็นที่สุดแห่งขันธ์และกิเลสตัณหาทั้งปวง

ขอกล่าวกับเพื่อนนักปฏิบัติอีกเพียงไม่กี่ประโยคว่า แท้จริงแล้วการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องง่าย แต่ง่ายจนยากเพราะเราคิดไม่ถึงว่าจะง่ายขนาดนี้ ดังนั้นแทนที่เราจะพยายามปรุงแต่งการปฏิบัติต่างๆ นานาขึ้นมาตั้งมากมายด้วยความยากลำบาก (ซึ่งเกือบทั้งหมดก็คือปุญญาภิสังขาร ซึ่งเราสร้างขึ้นเอง ด้วยอำนาจบงการของอวิชชา โดยหวังว่าเมื่อเราปรุง แต่งการปฏิบัติได้ดีถาวรแล้ว เราจะบรรลุมรรคผล ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง) เราก็ควรหันมารู้เท่าทันจิตที่แอบปรุงแต่งสิ่งต่างๆ ขึ้นมา เมื่อรู้ทันว่าจิตแอบปรุงแต่งแล้ว ความปรุงแต่งทั้งหลายนั้นก็จะดับไปเอง เมื่อความปรุงแต่งทั้งหลายดับลงแล้ว ความรู้สึกเป็นตัวตนจะมีไม่ได้เลย ขันธ์หรือรูปนามจะแสดงความเป็นของสูญต่อหน้าต่อตา เพราะความเป็นตัวตนเกิดจากความคิดนึกปรุงแต่งล้วนๆ เมื่อปราศจากความเป็นตัวตนของขันธ์ ก็ปราศจากเครื่องรองรับความทุกข์ทางใจ ความทุกข์ทางใจก็ตั้งอยู่ไม่ได้ นี้เองเป็นที่สุดแห่งทุกข์ทางใจในปัจจุบัน จนตราบถึงวันสิ้นขันธ์ก็เป็นอันสิ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงแต่เพียงเท่านั้น

2. ความสุดโต่งในข้างตามใจกิเลส

เรามาพูดกันถึงเรื่องความสุดโต่งอย่างแรก คือ ความสุดโต่งในด้านการพัวพันด้วยกามสุขเสียก่อน ทางนี้เป็นวิธีหาความสุขหรือหนีความทุกข์ ที่ธรรมดาที่สุด กระทั่งสัตว์ต่างๆ ก็รู้จักหาความสุขด้วยวิธีนี้ ความคิดพื้นฐานของวิธีการนี้ก็คือ หากเราได้รับอารมณ์ที่ดีเราจะมีความสุข แต่หากได้รับอารมณ์ที่ไม่ดีเราจะมีความทุกข์ มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายจึงวิ่งหาแต่อารมณ์ที่ดี และพยายามหลีกหนีจากอารมณ์ที่ไม่ดี

อารมณ์ที่ดีได้แก่อารมณ์ที่น่าชอบใจ เช่นรูปที่สวยงามหรือรูปของสิ่งที่เรารัก เสียงที่เพราะหรือ เสียงที่เราพอใจเช่นเสียงของคนที่รักหรือเสียงยกย่องสรรเสริญ กลิ่นที่หอมหรือกลิ่นที่ชอบใจ รส ที่อร่อยหรือรสที่ชอบใจ สัมผัสที่นุ่มนวลหรือถูกอก ถูกใจ ทั้งนี้รวมไปถึงความคิดนึกในเรื่องที่พึงพอใจ ด้วย เช่นคนที่อายุมากได้คิดถึงความหลังแล้วพอใจ ส่วนเด็กวัยรุ่นได้ฝันถึงอนาคตแล้วพอใจเป็นต้น ทั้งนี้ อารมณ์ที่ดีของคนคนหนึ่ง อาจจะเป็นอารมณ์ ที่เลวของอีกคนหนึ่งก็ได้

ถ้าใครได้อารมณ์ที่น่าเพลิดเพลินพอใจก็จะมี ความสุข แต่ถ้าไม่ได้ ก็จะมีความทุกข์ และเมื่อมีความสุข ราคะก็มักจะแทรกตัวเข้ามาคือเกิดความ พึงพอใจในอารมณ์และความสุขนั้น เมื่อมีความทุกข์ โทสะก็จะแทรกตัวเข้ามาคือเกิดความไม่พอใจ ในอารมณ์และความทุกข์นั้น ดังนั้นวิธีหาความสุข หรือหนีความทุกข์ด้วยการเที่ยวแสวงหาอารมณ์ที่ดี และหนีอารมณ์ที่ไม่ดี จึงเป็นความสุดโต่งไปในข้าง การสนองกิเลส การตามใจกิเลส และทำให้เราเดินทางสายกลางไม่ได้

ถึงตรงนี้ขอกล่าวถึงทางสายกลางไว้เสียเลยว่า ทางสายกลางอันเป็นข้อปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบนั้น ได้แก่ การเจริญวิปัสสนา หรือการมีสติตามรู้รูปนามหรือกายใจของ ตนตามความเป็นจริงนั่นเอง

อารมณ์รูปนามเป็นอารมณ์ชนิดที่เรียกว่าอารมณ์ปรมัตถ์ คือเป็นอารมณ์ที่มีอยู่จริงๆ ตรงข้ามกับอารมณ์อีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่าอารมณ์บัญญัติ อันได้แก่เรื่องที่คิดนึกปรุงแต่งขึ้นเอง ยกตัวอย่างเช่นสีที่เราเห็นอยู่ตรงหน้าเป็นอารมณ์ปรมัตถ์ การตีความสีนั้นว่าเป็นรูปผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก ผู้ใหญ่ คน สัตว์ สิ่งของ ฯลฯ เป็นสิ่งที่สมมติ บัญญัติกันขึ้นเพื่อสื่อความเข้าใจกันในชนกลุ่มต่างๆ ซึ่งบัญญัติออกมาแตกต่างกันไปได้ หรือเสียง ที่หูได้ยินเป็นอารมณ์ปรมัตถ์ การตีความเสียงนั้นว่าเสียงผู้หญิง เสียงผู้ชาย เสียงลมพัด เสียงสุนัขเห่า เสียงนกร้อง ถ้อยคำนั้นสุภาพ ถ้อยคำนี้ไม่สุภาพ ฯลฯ เป็นสมมติ-บัญญัติ ความรู้สึกทางใจเช่นความโกรธ ความโลภ ความหดหู่ เป็นอารมณ์ ปรมัตถ์ การเรียกขานว่านี่คือความโกรธ นี่คือความ โลภ นี่คือความหดหู่ เป็นอารมณ์บัญญัติ คือคนแต่ละชาติแต่ละภาษาก็บัญญัติเรียกขานแตกต่างกันออกไป ทั้งที่เป็นความรู้สึกอย่างเดียวกัน เป็นต้น

การเจริญวิปัสสนานั้นต้องมีสติระลึกรู้อารมณ์ปรมัตถ์ หากเป็นอารมณ์ในฝ่ายรูปธรรมจะต้องรู้ลงอย่างเป็นปัจจุบัน แต่หากเป็นอารมณ์ ในฝ่ายนามธรรมเช่นความรู้สึกต่างๆ จะต้องตามรู้ คืออารมณ์นั้นเกิดขึ้นก่อนจึงค่อยรู้ในภายหลัง แต่เป็นภายหลังที่กระชั้นชิดโดยไม่มีอารมณ์ อย่าง อื่นมาคั่นเสียก่อน เมื่อรู้อารมณ์ปรมัตถ์แล้ว อารมณ์ปรมัตถ์จะแสดงความจริงคือไตรลักษณ์ให้ดู การรู้ความจริงของรูปนามนี่แหละคือสิ่งที่เรียกว่าวิปัสสนาปัญญา เมื่อจิตรู้ความจริงแล้วว่ารูปนามไม่เที่ยง หรือเป็นทุกข์ หรือเป็นอนัตตาแล้ว จิตจะปล่อยวางความถือมั่นในรูปนาม ซึ่งก็คือการ ปล่อยวางก้อนทุกข์ลงได้นั่นเอง เพราะรูปนามนั่นแหละคือตัวทุกข์ตามนัยของอริยสัจจ์ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้

เมื่อใดจิตของเราสุดโต่งไปในข้างวิ่งตามกิเลส เสียแล้ว เราจะตามรู้กายหรือตามรู้ใจของตนเองอันเป็นอารมณ์ปรมัตถ์ภายในไม่ได้ และแม้แต่อารมณ์ปรมัตถ์อันเป็นอายตนะภายนอกอันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์ก็เห็น ไม่ได้ จะเห็นได้ก็เฉพาะอารมณ์บัญญัติเท่านั้น เช่น เราเห็น 'คน' เดินมา เราได้ฟังเสียง 'นก' ร้อง เรา ได้กลิ่น 'ดอกมะลิ' เรารู้รส 'ก๋วยเตี๋ยว' เท้าของเรากระทบ 'ก้อนหิน' และเราคิดถึง 'เพื่อน' เป็นต้น ทั้งนี้เพราะเมื่อเกิดอยากได้อารมณ์ที่ดีทางตาหรืออยากดู จิตก็จะส่งออกไปดูแล้วลืมรูปนามหรือกายใจของตนเอง เมื่ออยากฟัง จิตก็ส่งไปฟังแล้ว ลืมรูปนามหรือกายใจของตนเอง และเมื่ออยากรู้เรื่องจิตก็กระโจนเข้าไปในโลกของความคิด ไปรู้เรื่องที่คิด แล้วลืมรูปนามหรือกายใจของตนเอง เป็นต้น เมื่อใดลืมกายลืมใจของตนเอง เอาแต่รู้อารมณ์บัญญัติที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เมื่อนั้นเราก็ไม่สามารถเจริญวิปัสสนาอันเป็นทางสายกลางได้

อย่างไรก็ตามการรู้อารมณ์ภายนอกนั้น หาก มีสติปัญญารู้ลักษณะของรูปนามภายนอก ไม่ไปหลงอยู่เพียงบัญญัติ ก็เป็นทางเจริญวิปัสสนาได้เช่นกัน เพราะจะเห็นโลกภายนอกเป็นความว่างเปล่า ปราศจากสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา แล้วจึงค่อย เห็นรูปนามภายในหรือกายใจของตนเป็นความว่างเปล่าในภายหลัง อย่างนี้ก็สามารถกระทำได้ เพียงแต่อ้อมค้อมมากไปสักหน่อย เพราะสิ่งที่เรายึดถือว่าเป็นตัวตนของเราอย่างเหนียวแน่นนั้น ได้แก่กายใจของตนนี้เอง ไม่ใช่สิ่งภายนอกซึ่งถึงจะยึดถือก็ไม่มากเท่ากับความยึดถือตนเอง

อนึ่งเรื่องวิปัสสนา เรื่องอารมณ์ปรมัตถ์ และอารมณ์บัญญัติที่กล่าวมานี้ หากเพื่อนนักปฏิบัติยังไม่เข้าใจก็ขอให้กลับไปอ่านหนังสือ ประทีปส่องธรรม ที่เคยแจกให้เพื่อนนักปฏิบัติได้อ่านมาก่อนหน้านี้แล้ว


ความสุดโต่งในข้างการบังคับกดข่มตนเอง
(การทรมานกายและทรมานใจ)

คราวนี้เราจะพูดกันถึงเรื่องความสุดโต่งอย่าง ที่สอง ได้แก่การทำตนให้ลำบาก วิธีการนี้มีความคิดพื้นฐานอยู่ว่า การเที่ยวแสวงหาอารมณ์ที่ดีและหลีกหนีอารมณ์ที่เลวนั้นไม่สามารถให้ความสุข ที่แท้จริงและถาวรได้ เพราะอารมณ์เป็นของแปรปรวน ย่อมจะมีดีบ้างเลวบ้างเป็นธรรมดา เราจะเลือกรู้แต่อารมณ์ที่ดีๆ ไม่ได้ แต่ถ้าเราควบคุมตนเองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราควบคุมจิตใจ ของตนเองไว้ในอำนาจได้ หรือทำให้จิตใจสงบสุข อยู่ได้ตลอดกาล เราก็จะเกิดความสุขที่ถาวร และลึกล้ำยิ่งกว่าการแสวงหาอารมณ์ที่ดีเป็นไหนๆ

ภายใต้ความคิดพื้นฐานดังกล่าว พวกเรานักปฏิบัติซึ่งมักจะเป็นคนดีหรือคนที่พยายามจะดี จึงเลือกทางที่จะควบคุมจิตใจของตนเองเป็นทางแสวงหาความสุขหรือเป็นทางพ้นทุกข์ แทนการปล่อยตัวปล่อยใจตามกิเลสอย่างที่ชาวโลกเขาทำกัน โดยหวังว่าถ้าเราสามารถควบคุมจิตใจของตนเองได้อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว เราจะบรรลุมรรคผลนิพพานหรือได้รับบรมสุขอันถาวร เพราะจิตใจจะมีแต่ความสงบ ความสุข และความดีอย่างถาวร

วิธีการควบคุมตนเองที่ทำกันมาตั้งแต่ก่อนครั้งพุทธกาลก็คือการทรมานกาย เช่น การอดอาหาร การอยู่ในอิริยาบถเดียว การกลั้นลมหายใจ การรับประทานอาหารพิเศษพิสดารต่างๆ เช่น อุจจาระ และการประพฤติวัตรปฏิบัติแปลกๆ เช่น การเลียน แบบกิริยาอาการของสัตว์ เป็นต้น แต่สำหรับพวก เรานักปฏิบัติในยุคนี้ เราได้ทราบจากคำสอนของพระพุทธเจ้ากันแล้วว่านั่นไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง เราจึง ไม่ทรมานกายโดยตรงเช่นนั้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าพวกเรา จะข้ามพ้นการปฏิบัติที่เป็นการทรมานกายและใจไป ได้เสียทีเดียว เพียงแต่เป็นการทรมานที่ละเอียดประณีตมากขึ้นเท่านั้นเอง

การทำตนให้ลำบากนั้นพอจะแบ่งออกได้เป็น สองกลุ่มใหญ่ๆ คือ การทรมานหรือบังคับกาย กับการทรมานหรือบังคับใจ ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างการปฏิบัติที่เป็นการทรมานกายและใจอย่างประณีตจนนึกกันไม่ถึงให้เพื่อนนักปฏิบัติได้รับทราบกันดังนี้

3.1 การทรมานกาย

ตัวอย่างของการทรมานหรือการบังคับกายก็เช่น การดัดแปลงจังหวะการหายใจ การดัดแปลงจังหวะการยืนเดินนั่งนอน การทำจังหวะในการเคลื่อนไหวร่างกายบางส่วน การอยู่ในอิริยาบถเดียว และการมีข้อวัตรที่เป็นการกดข่มต่างๆ เช่น การอดอาหาร และการอดนอน เป็นต้น

ขอให้พวกเราลองสังเกตตนเองดูก็ได้ว่า เมื่อเราคิดที่จะปฏิบัติธรรมนั้น เรามีสติรู้กายอย่างตรงไปตรงมาตามที่กายเป็นอยู่ หรือเรามีการดัดแปลง ควบคุม หรือบังคับกายให้ต่างออกไปจากในยามปกติหรือไม่ เช่น เราเคยหายใจอย่างสบายๆ มาตั้งแต่เกิด พอเราคิดจะปฏิบัติธรรมเรา ก็เริ่มเข้าไปควบคุมจังหวะการหายใจของตนเอง เช่นพยายามหายใจให้ยาวขึ้น พยายามหายใจให้ลึกขึ้น และพยายามตามรู้ลมหายใจอย่างตั้งอกตั้งใจมากเป็นพิเศษ เป็นต้น เราจะเกิดความรู้สึกว่าการหายใจเป็นเรื่องที่น่าเหน็ดเหนื่อย และจิตใจที่เคยปลอดโปร่งโล่งเบาก็เริ่มรู้สึกหนักๆแน่นๆ ถ้ามีอาการอย่างที่ว่านี้ก็พึงทราบเถิดว่า เราไม่ได้มีสติรู้ลมหายใจอย่างถูกต้อง แต่มีโลภะหรือตัณหาหรือความอยากจะปฏิบัติเกิดขึ้น แล้วเกิดการกระทำกรรมคือเกิดความจงใจบังคับเพ่งจ้องลมหายใจด้วยความอยากที่จะมีสติบ้าง อยาก ให้บรรลุคุณธรรมพิเศษต่างๆ บ้าง และผลที่ตามมาก็คือความทุกข์กายและความทุกข์ใจ อันเป็นวิบากจากการพยายามปฏิบัติด้วยอำนาจบงการของตัณหา

ส่วนเพื่อนนักปฏิบัติบางท่านที่หัดตามรู้อิริยาบถ4 หรือพยายามทำจังหวะในการเคลื่อนไหว ต่างๆ หากจิตเกิดความหนักๆ แน่นๆ ดังที่ได้กล่าว แล้วในเรื่องเกี่ยวกับการกำหนดลมหายใจ ก็พึงทราบว่าได้เกิดความผิดพลาดในการปฏิบัติธรรมขึ้นแล้วเช่นเดียวกัน คือมีตัณหาที่จะปฏิบัติธรรม แล้วลงมือดัดแปลงหรือควบคุมกายของตน ไม่ใช่มีความรู้สึกตัวและมีสติตามรู้กายอย่างถูกต้อง ด้วยจิตที่เป็นมหากุศลจิต ทั้งนี้จิตที่เป็นมหากุศลจิตนั้นจะต้องมีความเบาไม่ใช่ความหนัก มีความอ่อนไม่ใช่ความแข็ง มีความควรแก่การงานไม่ใช่ถูก นิวรณ์ครอบงำ มีความคล่องแคล่วไม่ใช่ซึมทื่อ และมีความซื่อตรงในการรู้อารมณ์ไม่ใช่พยายามเข้าไปควบคุมอารมณ์ จิตจะต้องมีสภาวะแห่งความรู้ตื่น และเบิกบาน มีความสงบ สะอาด และสว่าง ถ้าลงมือปฏิบัติแล้วเกิดสภาวะที่ตรงกันข้ามนี้ก็แสดงว่าเราปฏิบัติผิดพลาดไปแล้ว คือมีตัณหาที่จะปฏิบัติธรรม แล้วเกิดการสร้างภพ คือมีการกระทำกรรมบางอย่างซึ่งก็คือการบังคับกดข่มทำตนเองให้ลำบาก แล้วความทุกข์กายทุกข์ใจก็ติดตามมาในที่สุด

แทรกเรื่องอัตตกิลมถานุโยคกับทุกขา ปฏิปทา

ในเรื่องการบังคับกายนี้ท่านผู้อ่านโปรดอ่านด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจจะเข้าใจผิดว่าผู้เขียนปฏิเสธแนวทางปฏิบัติของหลายๆ สำนัก สิ่งที่ผู้เขียนปฏิเสธได้แก่การทำกายให้ลำบากโดยมุ่งหวังว่าการกระทำเช่นนั้นจะเป็นเหตุให้บรรลุมรรคผลนิพพาน แต่ผู้เขียนไม่ได้ปฏิเสธแนวทางการปฏิบัติของบางท่านที่ทำตนให้ลำบาก เพราะพบว่าการกระทำเช่นนั้นทำให้สติสัมปชัญญะเกิดได้ บ่อยๆ และเกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติของท่าน

ผู้ปฏิบัติบางท่านจำเป็นต้องใช้ทุกขาปฏิปทา คือปฏิบัติให้เคร่งตึงสักหน่อยก่อนในเบื้องต้น มิฉะนั้นสติสัมปชัญญะจะไม่คล่องตัว เป็นการเลือกหนทางปฏิบัติที่ค่อนข้างเข้มงวดเพราะมีปัญญาพบว่านั่นเป็นทางที่จะทำให้สติสัมปชัญญะ เกิดขึ้นได้บ่อยๆ ทุกขาปฏิปทาจึงไม่ใช่หนทางของ อัตตกิลมถานุโยคที่เป็นการทำตนให้ลำบากอย่างไร้เดียงสา โดยหวังว่าถ้าลำบากมากๆ แล้วจะพ้นทุกข์ได้ในที่สุด โดยที่การกระทำทั้งหมดนั้นไม่ใช่การเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้องตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

อัตตกิลมถานุโยคกับทุกขาปฏิปทาเป็นคนละเรื่องกัน เพราะอัตตกิลมถานุโยคเป็นทางสุดโต่งอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่ทางสายกลาง ส่วนทุกขาปฏิปทาเป็นการดำเนินทางสายกลางสำหรับท่านที่ยังมีกิเลสแรงกล้า

ตัวอย่างเช่น ท่านที่ปฏิบัติด้วยการทำจังหวะ ในการเดิน ทำจังหวะในการเคลื่อนไหวมือ จงใจตามรู้อิริยาบถ 4 จงใจอดอาหารและอดนอนเป็นครั้งคราว อยู่ในอิริยาบถเดียวนานๆ เช่น เดินจงกรม ทั้งวันทั้งคืน หรือนั่งนานๆ เพื่อพิจารณาเวทนา ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มีประโยชน์และควรทำทั้งสิ้นหากทำแล้ว สติปัญญาเกิดได้คล่องตัว เช่นบางท่านถ้า รับประทานอาหารแล้วมักจะซึม ท่านก็อาจจะ อดอาหาร บ้างเพราะเจริญสติได้คล่องตัว บางท่าน เดินจงกรม แล้วรู้สึกตัวได้ดี ท่านก็ขยันเดิน บางท่านต้องทำจังหวะหรือต้องจงใจตามรู้อิริยาบถไปก่อนเพื่อหัดเรียนรู้ตัวสภาวธรรมคือรูปนาม อย่างนี้ ก็ทำได้ แต่ถ้าทำไปด้วยความรู้สึกทรมานกายทรมานใจ โดยหวังว่าถ้าทรมานได้ที่แล้วจะละกิเลสและบรรลุ มรรคผลนิพพานได้เองโดยไม่รู้ไม่เข้าใจเรื่องของการเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้อง นั่นจึงเป็นการทรมาน กายหรือการปฏิบัติที่สุดโต่งในข้างการทำตนเองให้ลำบาก

ส่วนท่านที่มีสุขาปฏิปทาหากไปพยายามปฏิบัติด้วยวิธีการที่ลำบาก แทนที่สติปัญญาจะคล่องตัวก็อาจจะเกิดผลตรงกันข้าม คือจิตจะมีความฟุ้งซ่านมากยิ่งขึ้น ดังนั้นท่านใดจะดำเนินปฏิปทาใดก็ต้องพิจารณาตนเอง ว่าทำอย่างไรแล้ว สติปัญญาเกิดได้คล่องตัวก็ควรทำอย่างนั้นเนืองๆ แต่ก็พึงทราบว่าสุขาปฏิปทาไม่ได้แปลว่าให้กินๆ นอนๆ แล้วรอเวลาบรรลุมรรคผลนิพพาน สุขาปฏิปทาหมายถึงการปฏิบัติที่สบายเนื่องจากผู้ปฏิบัติมีราคะ โทสะ และโมหะไม่แรงกล้า แค่เลือกใช้อารมณ์กรรมฐานที่สบายๆ หรือทำความสงบบ้างเจริญสติบ้างก็บรรลุธรรมได้แล้ว ส่วนทุกขา ปฏิปทาเหมาะกับผู้ที่ยังมีกิเลสแรงกล้า ต้องเสวยทุกข์โทมนัสเพราะอำนาจของกิเลสอยู่เนืองๆ จำเป็น ต้องใช้อารมณ์กรรมฐานที่ไม่น่าชื่นใจ เช่น ต้องรู้ทุกขเวทนาหนักๆ จิตจึงจะยอมปล่อยวางความยึดถือในรูปนามหรือกาย ใจ เป็นต้น

อนึ่งผู้ที่มีสุขาปฏิปทาเพราะมีกิเลสไม่แรงกล้า กับผู้มีทุกขาปฏิปทาเพราะมีกิเลสแรงกล้านั้น อาจจะบรรลุธรรมได้ช้าหรือเร็วก็ได้ ไม่ใช่ว่าผู้มีกิเลสเบาบางจะต้องบรรลุธรรมก่อน และไม่ใช่ว่าปฏิบัติลำบากแล้วจะต้องรู้ธรรมก่อน ทั้งนี้เนื่องจากการบรรลุช้าหรือเร็วไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวปฏิปทาหรือความหนาบางของกิเลส แต่ขึ้นอยู่กับอินทรีย์ว่าแก่อ่อนเพียงใด ถ้ามีอินทรีย์กล้าเช่นมีสติ สมาธิ และปัญญาแก่กล้าก็บรรลุได้เร็ว แต่ถ้า มีอินทรีย์อ่อนก็บรรลุได้ช้า ทั้งนี้บุคคลอาจจะมีกิเลส กล้าพร้อมทั้งมีอินทรีย์กล้าด้วยก็ได้ อันจะทำให้ต้องปฏิบัติด้วยความลำบากแต่บรรลุธรรมเร็ว หรือ อาจจะมีกิเลสเบาบางแต่อินทรีย์ยังอ่อนก็ได้ อันจะทำให้ปฏิบัติได้สบายแต่รู้ธรรมได้ช้า เพราะผลของกุศลและอกุศลนั้นไม่ได้ลบล้างกัน แต่ต่างก็จะให้ผลของตนเมื่อถึงจังหวะเวลาอันสมควร

:b34:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2008, 14:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


3.2 การทรมานใจ

ได้กล่าวถึงการปฏิบัติที่สุดโต่งในข้างการทรมานกายไปแล้ว ต่อไปนี้จะกล่าวถึงความสุดโต่ง ที่เป็นการทรมานใจหรือการทำจิตใจให้ลำบากบ้าง เท่าที่สังเกตดูผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมมักจะมีความสุดโต่งไปในข้างการหลงตามกิเลส แล้วเที่ยว แสวงหาอารมณ์ที่ดีหรือหลีกหนีอารมณ์ที่เลวเพื่อให้ จิตเกิดความสุข แต่เพื่อนนักปฏิบัติจำนวนมากมักจะมีความสุดโต่งไปในข้างการบังคับกดข่มตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพยายามควบคุมจิตใจของตนเอง โดยหวังว่าจะทำให้จิตเกิดความสุขสงบ หมดความหวั่นไหวเมื่อต้องกระทบกับอารมณ์ที่ไม่ดีต่างๆ สามารถลดละกิเลสลงได้ และจะช่วยให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ในที่สุด เท่าที่สังเกตดูเห็นว่าการพยายามควบคุมหรือบังคับจิตใจนั้นมีอยู่ 4 ลักษณะ ดังนี้คือ

3.2.1 การพยายามปิดกั้นกิเลสไม่ให้เกิดขึ้น

ผู้ปฏิบัติส่วนมากมักเกลียดกิเลส เห็นกิเลสเป็นศัตรูผู้ทำลายความสงบสุขใน 'จิตใจของเรา' จึงพยายามปิดกั้นหรือหาทางป้องกันไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นด้วยวิธีการต่างๆ นานา เช่น

(1) การพยายามหลีกเลี่ยงการกระทบอารมณ์ทางทวารทั้ง 6 ด้วยการพยายามไม่ดูรูป ไม่ฟังเสียง ไม่ดมกลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่กระทบสัมผัส และไม่คิดนึก เป็นต้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเราหลีกเลี่ยงการกระทบอารมณ์ทางทวารทั้ง 6 ไม่ได้ จริง คือเมื่อมีตาก็ต้องเห็นรูป เมื่อมีหูก็ต้องได้ยินเสียง เมื่อมีจมูกก็ต้องได้กลิ่น เมื่อมีลิ้นก็ต้องกระทบรส เมื่อมีกายก็ต้องกระทบสัมผัสทางกาย และเมื่อมีใจก็ต้องคิดนึกปรุงแต่ง จะหลีกเลี่ยงอารมณ์ไปไม่ได้เลย แต่พวกเราบางคนก็พยายามเลี่ยงอารมณ์ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การเก็บตัวอยู่แต่ในห้องเพื่อจะได้ไม่ต้องได้เห็นหรือได้ยินสิ่งที่รบกวนจิตใจ การเอาน้ำร้อนล้างอาหารให้จืดชืดเพื่อ ทำลายรสก่อนจะรับประทาน การเพ่งใส่ความคิดเพื่อให้หยุดคิด และการทำสมถกรรมฐานเพื่อให้จิตแนบแน่นสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว เป็นต้น

แท้จริงความพยายามที่จะไม่ให้กิเลสเกิดขึ้น ก็เป็นไปด้วยอำนาจของตัณหาและทิฐินั่นเอง คือ เป็นไปตามความอยากที่จะไม่ให้อกุศลเกิดขึ้น และเป็นไปตามความเห็นผิดที่ว่าเราสามารถบังคับควบคุมจิตใจไม่ให้อกุศลเกิดขึ้นได้เพราะจิตใจเป็นตัวเราของเรา ดังนั้นวิธีการเช่นนี้จึงไม่ใช่ การปิดกั้นอกุศลไม่ให้เกิดขึ้น แต่เป็นการกระทำด้วยอำนาจบงการของอกุศลคือตัณหาและทิฐินั่นเอง นอกจากนี้อกุศลจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ไม่ได้เป็นไปตามใจอยาก แต่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมันเอง เช่น โทสะจะเกิดขึ้นได้หากจิตมี ปฏิฆานุสัยหรือความเคยใจที่จะขัดเคืองเป็นทุนเดิม อยู่แล้ว เมื่อเกิดการกระทบอารมณ์ที่ไม่ดี จิตก็จะปรุงแต่งโทสะขึ้นมาได้ หากจิตไม่มีปฏิฆานุสัย หรือได้รับการกระทบอารมณ์ที่ดี โทสะก็ไม่เกิดขึ้น เป็นต้น

หากการหลีกเลี่ยงการกระทบอารมณ์เป็นวิธี การปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง บรรดาท่านที่พิการทางสายตาหรือพิการทางหูก็น่าจะบรรลุธรรมได้เร็วกว่า คนปกติ เพราะสามารถลดการกระทบอารมณ์ลงได้ บางทวาร แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็น เช่นนั้นเลย บุคคลผู้บ้าใบ้บอดหนวกมาแต่กำเนิดกลับไม่สามารถปฏิบัติธรรมจนบรรลุมรรคผลนิพพานได้ เพราะหากไม่มีการกระทบอารมณ์ ผู้ปฏิบัติก็ไม่สามารถเจริญวิปัสสนากรรมฐานได้ เนื่องจากวิปัสสนากรรมฐานจะเริ่มต้นขึ้นได้เมื่อผู้ปฏิบัติมีสติระลึกรู้สภาวะของอารมณ์รูปนามที่ปรากฏทางทวารทั้ง 6 และมีปัญญาเข้าใจลักษณะของรูปนามนั้นได้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ดังนั้นการหลีกหนีอารมณ์แม้จะนำความสงบสุขมาให้ได้ก็จริง แต่ก็ปิดกั้นการเจริญปัญญาคือการรู้รูปนามตามความเป็นจริงไปด้วย พระพุทธเจ้าจึงไม่ได้ทรงสอนให้ผู้ปฏิบัติหลีกเลี่ยงอารมณ์ แต่ทรงสอนให้สำรวมอินทรีย์คือให้มีสติรู้เท่าทันจิตของตนเมื่อมีการกระทบอารมณ์

การหลีกหนีอารมณ์กับการสำรวมอินทรีย์เป็นสิ่งที่แตกต่างกัน เพราะการหลีกหนีอารมณ์คือ การหลีกเลี่ยงการรับรู้อารมณ์ แต่การสำรวมอินทรีย์ หมายถึงการมีสติคุ้มครองจิตเมื่อมีการกระทบอารมณ์ กล่าวคือเมื่อตามองเห็นรูปแล้วเกิดความยินดียินร้ายขึ้นที่ใจ ก็ให้มีสติรู้เท่าทันความยินดียินร้ายนั้น เมื่อหูได้ยินเสียง หรือเมื่อใจกระทบธัมมารมณ์แล้วเกิดความยินดียินร้ายขึ้นที่ใจ ก็ให้ มีสติรู้เท่าทันความยินดียินร้ายนั้น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งถ้าอารมณ์นั้นรุนแรงมาก เราจะสู้ไม่ไหวจริงๆ เราจะหลีกหนีอารมณ์นั้นก็ได้ แต่เป็นการหนีเพื่อตั้งหลัก ไม่ใช่หนีเพราะคิดว่า การหนีจะช่วยให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ง่ายๆ เช่น พระหนุ่มเณรน้อยไปพบสาวแล้วเกิดหลงรัก ถ้าไม่สามารถรักษาจิตใจของตนได้อย่างนี้ ครูบาอาจารย์ท่านก็สอนให้แบกกลดสะพายบาตรหนีเอาตัวรอดไปก่อน เพราะจำเป็นต้องทำอย่างนั้น แล้วค่อยไปฝึกฝนพัฒนาจิตเพื่อให้พ้นจากกามราคะในโอกาสต่อไป

(2) การพยายามควบคุมจิตไม่ให้กระเพื่อมหวั่นไหวเมื่อต้องกระทบอารมณ์ ด้วยการเพ่งอารมณ์อันใดอันหนึ่งอันเป็นวิธีการของสมถกรรมฐาน เช่น (ก) เมื่อตาเห็นรูปก็พยายามเพ่งจิตให้นิ่งให้ว่าง หรือ (ข) คอยเพ่งกายทั้งกายหรือเพ่งบางส่วนของกาย เช่น เพ่งลมหายใจ เพ่งมือ เพ่งเท้า และเพ่งท้องอยู่ตลอดเวลา จนจิตนิ่ง แข็ง หนัก และซึมทื่อ จะได้ไม่เกิดปฏิกิริยาเป็นยินดียินร้ายต่อรูปที่ตามองเห็น หรือ (ค) พยายาม บริกรรมหรือกำหนดลมหายใจเพื่อตัดกระแสความ คิดอันเป็นต้นทางให้เกิดกิเลส โดยพยายามไม่ให้เกิดกามวิตกเพื่อไม่ให้เกิดกามราคะ พยายามไม่ให้เกิดพยาบาทวิตกเพื่อไม่ให้เกิดโทสะ และ (ง) บางท่านพยายามตัดกระบวนการปรุงแต่งของจิตไม่ให้เกิดความยินดียินร้าย ด้วยการใช้ความคิดพิจารณาว่าสิ่งที่ตาเห็นเป็นรูปไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา จิตก็จะไม่ปรุงแต่งเป็นความยินดียินร้ายใดๆ ขึ้นมา เป็นต้น

วิธีการเช่นว่านี้แม้จะทำให้อกุศลธรรมหยาบๆ เกิดขึ้นไม่ได้ก็จริง แต่เป็นวิธีการที่ไม่เปิดทางให้เกิดวิปัสสนาปัญญา เพราะยิ่งปฏิบัตินานไปก็จะยิ่งพอกพูนความเห็นผิดว่าจิตเป็นสิ่งที่เราบังคับควบคุมได้ แทนที่จะเห็นความจริงว่า จิตและธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา

3.2.2 การพยายามละกิเลสที่เกิดขึ้นแล้ว

เพื่อนนักปฏิบัติมักจะเป็นคนดีหรือคนที่พยายามจะดี ดังนั้นจึงมีธรรมชาติที่เกลียดกิเลส เห็นกิเลสเป็นศัตรูผู้ทำลายคุณงามความดีและความสงบสุขของจิตใจ ดังนั้นเมื่อพบว่าจิตมีกิเลส ก็จะพยายามหาทางละกิเลสนั้นด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของการทำสมถกรรมฐานทั้งสิ้น เช่น

(1) การเพ่ง เช่น (ก) เมื่อโทสะเกิดขึ้นก็เพ่งจ้องใส่โทสะ ทำให้โทสะหดตัวและหลบลึกเข้าไปใน จิตใจ เป็นการกดข่มกิเลสไว้ชั่วคราว หรือ (ข) การ เพ่งอารมณ์อื่นๆ เช่น หันไปเพ่งลมหายใจหรือ เพ่งมือเพ่งเท้าและเพ่งท้อง เพื่อหลีกเลี่ยงการรับรู้อารมณ์ที่ทำให้เกิดกิเลส ทำให้กิเลสดับลงได้เพราะเหตุของกิเลสดับไป เช่น เมื่อจิตเกิดโทสะคือโกรธใครสักคนหนึ่ง ก็หันมาเพ่งลมหายใจเพื่อ ตัดพยาบาท-วิตกทำให้ลืมคิดถึงคนๆ นั้น จิตก็จะหายโกรธได้ เป็นต้น

(2) การบริกรรม เช่น เมื่อเกิดความโกรธก็พยายามบริกรรมพุทโธอย่างถี่ๆ หรือบริกรรมโกรธ หนอๆ แล้วความโกรธก็จะดับไป เพราะขณะที่บริกรรมนั้นจิตลืมอารมณ์อันเป็นต้นตอของความโกรธไปเสียแล้ว

(3) การคิดพิจารณา เมื่อกิเลสเกิดขึ้นบางท่าน ก็ใช้วิธีการคิดพิจารณาเพื่อแก้กิเลส เช่น เมื่อเกิดความรักหรือความใคร่ในใครสักคนหนึ่ง ก็หยิบยก เอาบุคคลนั้นมาคิดพิจารณาว่าเป็นปฏิกูลหรือเป็น อสุภะ หรืออาจจะคิดพิจารณาตนเองลงเป็นธาตุเป็น ขันธ์ก็ได้ และเมื่อเกิดความโกรธใครสักคนหนึ่ง ก็ คิดพิจารณาว่าเขากับเราต่างก็เป็นเพื่อนร่วมทุกข์กัน มาพบกันไม่นานต่างก็ต้องตายจากกันแล้วต่างก็ต้องร่อนเร่ไปตามกรรมของตน หรือคิดว่าที่เขาทำ กับเราได้นั้นก็เพราะเรามีกรรมเก่าจึงต้องได้พบกับเขาซึ่งเป็นคนไม่ดี เป็นต้น

(4) การทำสมถกรรมฐานอย่างอื่นๆ เช่น เมื่อจิตเกิดความโกรธก็พยายามเจริญเมตตา พรหมวิหารอันเป็นการเจริญเมตตาแบบเจาะจงตัวบุคคล หรือเมตตาอัปปมัญญาอันเป็นการเจริญเมตตากว้างขวางไม่เจาะจงตัวบุคคล เป็นต้น

แท้จริงพระพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้ทุกข์ ไม่ใช่ให้ละทุกข์ กิเลสเป็นสังขารขันธ์ซึ่งจัดอยู่ในกองทุกข์ เราจึงต้องรู้กิเลสตามความเป็นจริง เช่น จิตมีราคะก็ให้รู้ว่ามีราคะ จิตมีโทสะก็ให้รู้ว่ามีโทสะ จิตมีโมหะก็ให้รู้ว่ามีโมหะ จิตฟุ้งซ่านก็ให้รู้ว่าฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ก็ให้รู้ว่าหดหู่ เป็นต้น การรู้กิเลสนั้นหมายความว่าเราไม่คล้อยตามกิเลสเพราะถูกกิเลส ครอบงำ แต่ก็ไม่ควรพยายามต่อต้านกิเลส แต่ให้รู้กิเลสนั้นโดยมีสติรู้อย่างสักว่ารู้ รู้ด้วยใจที่เป็น กลาง แล้วปล่อยให้กิเลสไหลผ่านไปเองอย่างไร้พิษสง ถ้าพยายามฝืนหรือพยายามต่อต้านกิเลส กิเลสจะแสดงความพลังอำนาจและความรุนแรงให้เห็นทันที เราควรทำใจของเราให้เหมือนเรือลำใหญ่ที่จอดทอดสมออยู่ท่ามกลางกระแสน้ำ เรือย่อมไม่ไหลตามน้ำ แต่ก็ไม่ต้านน้ำ น้ำจะไม่สามารถ ทำลายเรือได้ เรื่องการไม่คล้อยตามและไม่ต่อต้านกิเลส เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้กันมากพอสมควร จึงจะเข้าใจได้

ยกตัวอย่างเช่น พอเราเกิดโกรธใครสักคนหนึ่งอย่างรุนแรง ถ้าเราเอาแต่คิดพยาบาทปองร้าย เขาก็คือการหลงตามกิเลส แต่ถ้าเราพยายามห้ามใจตนเองไม่ให้โกรธ หรือพยายามดับความโกรธด้วยวิธีการต่างๆ โดยเห็นว่าความโกรธเป็นสิ่งที่ไม่ดี ก็เท่ากับเรามีความโกรธตัวใหม่ไปโกรธความโกรธ ตัวแรก จิตจะไม่เป็นกลาง แต่จะเกิดความดิ้นรนปรุงแต่งเพื่อจะต่อต้านทำลายความโกรธนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือความทุกข์ทางใจ แต่ถ้าเราเห็นว่าจิตมีความโกรธ รู้ว่าความโกรธเป็นเพียงนามธรรมบาง อย่างที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่ใช่เราโกรธ เพียงเท่านี้ความโกรธก็จะหลุดร่วงไปจากจิตใจได้อย่างอัตโนมัติ แม้กิเลสอื่นๆ ก็ให้ใช้หลักเดียวกันนี้ คือไม่คล้อยตามแต่ก็ไม่ต่อต้าน ทั้งนี้การคล้อยตาม กิเลสเป็นความสุดโต่งอย่างแรก ส่วนการต่อต้านกิเลสก็เป็นความสุดโต่งอย่างที่สอง

อย่างไรก็ตาม หากเกิดสถานการณ์จวนตัว เรา ก็จำเป็นต้องออกกำลังต่อสู้กับกิเลสเพื่อเอาตัวรอด ไปชั่วคราวเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน ดังตัวอย่างเดิมคือพระหนุ่มเณรน้อยเมื่อเกิด กามราคะที่รุนแรงไปหลงรักสาวจนอยากจะลาสิกขา หากไม่มีกำลังพอที่จะเจริญสติเจริญปัญญาให้เห็นตนเอง ให้เห็นสาว และให้เห็นกามราคะว่าเป็น เพียงธาตุขันธ์ที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์และเป็นอนัตตาได้ ก็จำเป็นต้องใช้สมถกรรมฐานเข้าช่วยด้วยการพิจารณาอสุภกรรมฐาน เป็นต้น หาก ยังสู้ไม่ไหวอีก ก็ให้รีบหนีไปจากที่นั้นเพื่อเอาตัวรอด ไว้ก่อน ไม่ใช่ จะถือดีเจริญวิปัสสนาอย่างเดียวทั้งที่กิเลสมีกำลังกล้าจนจวนจะพ่ายแพ้อยู่แล้ว


3.2.3 การพยายามทำกุศลให้เกิดขึ้น

เพื่อนนักปฏิบัติมีธรรมชาติที่รักกุศล อยากให้กุศลเกิดขึ้น เช่น เมื่อจิตไม่มีสติก็พยายามจะทำให้มีสติ เมื่อจิตไม่สงบหรือไม่ตั้งมั่นก็พยายามทำให้สงบหรือตั้งมั่น และเมื่อจิตไม่มีปัญญารู้รูปนามตรงตามความเป็นจริง ก็พยายามช่วยจิตคิดพิจารณาเพื่อให้เกิดปัญญา เป็นต้น เมื่อพูดมาถึงตรงนี้เพื่อนบางท่านอาจจะเกิดความสับสนว่า แล้ว เราไม่ต้องพยายามทำสติ สัมมาสมาธิ และปัญญาให้เกิดขึ้นหรือ ขอตอบว่าสติ สัมมาสมาธิ และปัญญาต่างก็มีลักษณะเป็นอนัตตา ไม่มีใครทำให้เกิดขึ้นได้ตามใจชอบ แต่ถ้าเราทำเหตุใกล้ของ สติ สัมมาสมาธิ และปัญญาให้เกิดขึ้นได้แล้ว สติ สัมมาสมาธิ และปัญญาก็จะเกิดขึ้นได้ตามเหตุนั้น ไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะเราอยากให้เกิดและทำให้เกิดขึ้นได้โดยตรง

เหตุใกล้ให้เกิดสติคือการที่จิตจดจำสภาว-ธรรมหรือรูปนามได้แม่นยำ หน้าที่ของผู้ปฏิบัติจึงไม่ใช่การพยายามทำสติให้เกิดขึ้น แต่จะต้องหมั่นตามรู้กายตามรู้ใจของตนเนืองๆซึ่งได้แก่การเจริญสติปัฏฐานที่มีรูปนามเป็นอารมณ์ จนจิตจดจำ สภาวะของรูปนามได้ พอสภาวะที่จิตจำได้แล้วปรากฏขึ้น สติก็จะเกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องชักชวนให้เกิด เช่นเมื่อหมั่นตามรู้จิตเนืองๆ จนรู้จักว่าความเผลอ ความโลภ ความโกรธ ฯลฯ เป็นอย่างไร เมื่อจิตเกิดความเผลอ ความโลภ หรือความโกรธขึ้น สติจะเกิดขึ้นรู้เท่าทันว่าเผลอไปแล้ว โลภไปแล้ว หรือโกรธไปแล้ว ทั้งนี้สติ (ในที่นี้หมายถึงสัมมาสติ) จะ เป็นเครื่องระลึกรู้สภาวะของรูปนาม ที่ปรากฏขึ้น และเมื่อสติเกิดขึ้นนั้น สติจะทำหน้าที่ อารักขาคือคุ้มครองจิตให้เป็นกุศล จิตที่เป็นกุศลจะมีสภาวะรู้ ตื่น เบิกบาน สงบ สะอาด สว่างอยู่ใน ตัวเอง หรือกล่าวได้ว่าสติเกิดขึ้นเมื่อใด จิตจะมีความสุขด้วยโสมนัสเวทนาหรืออุเบกขา-เวทนาเมื่อนั้น

เหตุใกล้ของสมาธิคือความสุข หน้าที่ของผู้ปฏิบัติจึงไม่ใช่การพยายามบังคับจิตให้สงบ ถ้าปรารถนาความสงบด้วยการทำสมถกรรมฐาน ก็ต้องหาอารมณ์ที่เมื่อสติไประลึกรู้เข้าแล้วเกิดความสุขมาเป็นเหยื่อล่อจิต เช่นบางท่านกำหนดลมหายใจแล้วเกิดความสุข จิตชอบกำหนดลมหายใจ ก็ให้มีสติระลึกรู้ลมหายใจไปอย่างสบายๆ ไม่นานจิตก็จะเกิดความสงบสุขขึ้นเองโดยไม่ต้องพยายามบังคับ เพราะยิ่งพยายามบังคับกดข่มจิต จิตก็ยิ่งไม่มีความสุข เมื่อไม่มีความสุขสมาธิก็เกิด ขึ้นไม่ได้ ส่วนท่านที่ต้องการสัมมาสมาธิอันเป็นความตั้งมั่นของจิตในการระลึกรู้อารมณ์รูปนามก็ไม่ยากอะไรนัก เพียงมีสัมมาสติหรือสติที่ระลึกรู้รูปนาม จิตจะเกิดเป็นกุศลและมีความสุขที่ได้รู้อารมณ์รูปนามโดยอัตโนมัติ เมื่อจิตมีความสุขเพราะรู้อารมณ์รูปนาม สัมมาสมาธิคือความตั้งมั่นในการรู้อารมณ์รูปนามก็จะเกิดขึ้นมาเองชั่วขณะ

เหตุใกล้ให้เกิดปัญญาคือสัมมาสมาธิ หน้าที่ของผู้ปฏิบัติจึงไม่ใช่การพยายามศึกษาหาความรู้จากตำรับตำราหรือครูบาอาจารย์ และไม่ใช่การคิด พิจารณารูปนามกายใจแต่อย่างใด ถ้าปรารถนาปัญญาที่เป็นวิปัสสนาปัญญาก็มีทางเดียว คือจะต้องมีสติระลึกรู้รูปนามกายใจ แล้วจิตจะเกิดความ ตั้งมั่นในการรู้รูปนามกายใจ เมื่อรู้แล้วรู้อีกถึงจุดหนึ่งก็จะเกิดความเข้าใจความเป็นจริงของรูปนามกายใจ ซึ่งความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับรูปนามกายใจนี้เองคือ วิปัสสนาปัญญา อย่างไรก็ตามเนื่องจากพวกเราไม่ใช่พระพุทธเจ้า เราจึงต้องอาศัยการศึกษาตำรับตำราและฟังคำสอนของครูบาอาจารย์ เพื่อให้ทราบวิธีการเจริญสติเจริญปัญญาที่ถูกต้องเสียก่อน จึงจะลงมือเจริญสติปัญญาได้อย่างถูกต้อง



3.2.4 การพยายามรักษาและพัฒนากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว เมื่อกุศลธรรมเกิดขึ้นแล้ว เพื่อนนักปฏิบัติมักจะปรารถนาให้กุศลธรรมนั้นเกิดเนืองๆ และไม่เสื่อมสลายไป เช่น อยากจะให้สติเกิดขึ้นตลอดเวลา อยากจะให้จิตมีความตั้งมั่นแนบแน่นยิ่งๆ ขึ้นไป อยากให้เกิดวิปัสสนาปัญญาระดับที่สูง ยิ่งๆ ขึ้นไป รวมทั้งอยากให้บรรลุมรรคผลนิพพาน โดยเร็ว แต่สิ่งที่ได้รับก็คือ สติเกิดบ้างไม่เกิดบ้าง จิตตั้งมั่นบ้างไม่ตั้งมั่นบ้าง ปัญญาก็ไม่มีพัฒนาการ ที่เห็นได้ชัดเจน และมักจะเกิดกุกกุจจะ คือความรำคาญใจว่าเมื่อใดจะได้บรรลุมรรคผลเสียที

แท้จริงกุศลธรรมทั้งหลายก็ยังตกอยู่ใต้กฎของไตรลักษณ์ จะปลูกปั้นเอาตาม(ชอบไม่ได้ ยิ่งมีความอยากจะให้กุศลธรรมเกิดขึ้นมากเท่าใด กุศลธรรมก็ยิ่งเกิดได้ยากมากขึ้นเท่านั้น เพราะอกุศลคือความอยากได้เข้ามาครอบครองจิตใจเสียหมดแล้ว ดังนั้นผู้ปฏิบัติจึงไม่ต้องอยากรักษากุศลธรรมอันเป็นของไม่เที่ยงและทนได้ยาก และไม่ต้องอยากให้กุศลธรรมอันเป็นของที่ไม่อยู่ใน อำนาจบังคับเจริญขึ้นตามใจชอบ เพียงมีสติตามระลึกรู้รูปนามอย่างถูกต้องเนืองๆ กุศลธรรมย่อม เจริญขึ้นได้เองเพราะเราได้ทำเหตุของกุศลธรรมเหล่านั้นขึ้นมาแล้ว

แทรกเรื่องมิจฉาวายามะกับสัมมาวายามะ

ในเรื่องการบังคับใจนี้เพื่อนนักปฏิบัติโปรดอ่านด้วยความระมัดระวัง เพราะหากไม่ระมัดระวังก็อาจจะเข้าใจผิดว่าผู้เขียนปฏิเสธสัมมาวายามะหรือความเพียรชอบ แท้จริงแล้วการ ทรมานกายทรมานใจเป็นมิจฉาวายามะคือเป็นความเพียรที่ผิด ดังนั้นแม้จะเป็นการเพียรละอกุศล ที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิดขึ้น เพียรทำกุศลให้เกิดขึ้น และเพียรทำกุศลที่เกิดขึ้น แล้วให้มั่นคงและเจริญงอกงามยิ่งขึ้นเช่นเดียวกับสัมมาวายามะ แต่ก็เป็นคนละเรื่องกับสัมมาวายามะทีเดียว

มิจฉาวายามะหรือความเพียรที่ผิดนั้นเป็นความเพียรที่เกิดจากอำนาจบงการของตัณหา โดยอยากจะได้ผลหรือสิ่งที่ดีงามต่างๆ เมื่อจิตถูกบงการ ด้วยตัณหา จิตก็เกิดการกระทำกรรมหรือการสร้าง ภพขึ้นในจิต แล้วความทุกข์หรือความเครียดก็เกิดขึ้นในจิตเพราะการทำความเพียรนั้น

ส่วนสัมมาวายามะหรือความเพียรชอบนั้น เกิดจากผู้ปฏิบัติมีฉันทะ คือมีความพึงพอใจที่จะทำเหตุของกุศลธรรมโดยการตามรู้รูปนามกายใจอยู่เนืองๆ เพราะเห็นว่ารูปนามเป็นสิ่งที่น่าสนใจควร ค่าที่จะเรียนให้รู้ความจริง เมื่อมีฉันทะคือความพึงใจที่จะเรียนรู้ ก็เกิดวิริยะคือความหมั่นเพียรในการตามรู้สภาวะของรูปนามกายใจ เมื่อหมั่นตาม รู้ก็จำสภาวะของรูปนามได้มากและแม่นยำ เมื่อจำ สภาวธรรมได้ คราวใดที่สภาวะอันนั้นเกิดขึ้น สติก็จะเกิดขึ้นได้เองโดยไม่ต้องจงใจทำให้สติเกิดขึ้นด้วยอำนาจของตัณหา และเมื่อมีสติระลึกรู้รูปนาม อยู่นั้น อกุศลธรรมก็เป็นอันถูกละไปแล้ว ทั้ง อกุศลธรรมใหม่ก็เกิดขึ้นไม่ได้ในขณะนั้นเนื่องจากอกุศลธรรมจะเกิดร่วมกับสติไม่ได้ และการมีสติระลึกรู้รูปนามตามความเป็นจริงนี้แหละ เป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดได้บังเกิดขึ้น และกุศลธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งสติ สัมมาสมาธิ และวิปัสสนาปัญญาก็จะยิ่งงอกงามไพบูลย์ขึ้นทุกที หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระบุพพาจารย์ของพระป่า ท่านจึงได้สอนไว้ว่า "เมื่อมีสติก็มีความเพียร เมื่อขาดสติก็ขาดความเพียร"


4. ผลที่เกิดจากความสุดโต่ง

ความสุดโต่งทั้งสองด้านเป็นอุปสรรคต่อการ เจริญวิปัสสนา เพราะการเจริญวิปัสสนาคือการมีสติระลึกรู้รูปที่กำลังปรากฏอยู่เนืองๆ หรือมีสติตาม ระลึกรู้นามที่เพิ่งดับไปอยู่เนืองๆ โดยต้องเป็นการ รู้สภาวะของรูปนามตามความเป็นจริงด้วยจิตใจที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ไม่เข้าไปแทรกแซงบังคับกดข่มหรือดัดแปลงใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อรู้บ่อยเข้า ในที่สุด ก็จะเกิดปัญญาคือเกิดความรู้ความเข้าใจรูปนามอย่างถูกต้องว่า รูปนามมีลักษณะไม่เที่ยงคือเกิดแล้วก็ดับไป เป็นทุกข์คือทนอยู่ไม่ได้ และเป็นอนัตตาคือไม่อยู่ในอำนาจบังคับของใคร เมื่อเกิดปัญญาแจ่มแจ้งแล้ว จิตจะปล่อยวางความถือมั่นในรูปนาม แล้วได้ประจักษ์ถึงนิพพานอันเป็นสภาวะที่พ้นจากกิเลส และพ้นจากรูปนาม หรือทุกข์ทั้งปวง

เมื่อใดจิตสุดโต่งไปในข้างการหลงตามกิเลส เมื่อนั้นจิตจะหลงอารมณ์อันเป็นบัญญัติและจะรู้รูปนาม/กายใจของตนเองไม่ได้เลย และเมื่อใดเกิดการบังคับกดข่มกายและใจ เมื่อนั้นกายและใจจะถูกดัดแปลงให้ผิดไปจากธรรมดาที่ควรจะเป็น ผู้ปฏิบัติย่อมไม่สามารถรู้รูปนามตามความเป็นจริงได้ ยิ่งปฏิบัติก็ยิ่งเกิดความเห็นผิดว่ากายกับจิตใจเป็นอัตตา คือเป็นสิ่งที่บังคับควบคุมได้ตามใจปรารถนา

ดังนั้นถ้าจิตของผู้ปฏิบัติเดินทางผิดคือไปหลงอยู่ในทางสุดโต่งทั้งสองด้านนี้ หรือแม้เพียงด้านใดด้านหนึ่ง ผู้ปฏิบัติจะไม่สามารถเจริญวิปัสสนาได้ นั่นหมายถึงว่าไม่มีโอกาสที่จะบรรลุมรรคผลนิพพาน ได้เลย ทางผิดทั้งสองสายนี้จึงเป็นทางผิดที่ติดตาย คือติดไปเรื่อยๆ จนตายก็หาทางออกจากทุกข์ไม่ได้ และจะต้องเวียนว่ายตายเกิดไปอีกนับภพนับชาติไม่ถ้วน จนกว่าจะหลุดออกจากทางผิดทั้งสองสายนี้ได้

5. ความเป็นไปได้ที่จิตจะไม่หลงไปสู่ความสุดโต่ง และเดินทางสายกลางได้เอง

เรื่องนี้ขอตอบอย่างตรงไปตรงมาเลยว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่จิตของปุถุชนผู้ไม่ได้ศึกษาปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้า จะไม่หลงไปสู่ความสุดโต่งและเดินอยู่ในทางสายกลางได้เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสุดโต่งในด้านการหลงตามกิเลส แล้วเที่ยวแสวงหาอารมณ์ที่เพลิดเพลิน พอใจ ซึ่งมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายติดข้องกันอยู่แทบทั้งนั้น ส่วนผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติธรรม นอกจากจะหลงสุดโต่งตามใจกิเลสแล้ว พอคิดถึงการปฏิบัติเมื่อใด ก็มักจะหลงสุดโต่งไปในข้างการบังคับกายบังคับใจของตนเองอีกด้วย

ผู้ที่จะไม่หลงไปสู่ความสุดโต่งได้เด็ดขาดจริงๆ ก็คือผู้ที่ศึกษาและปฏิบัติธรรมจนมีมัคคา มัคคญาณทัสสนวิสุทธิ อันเป็นวิสุทธิมรรคลำดับที่ 5 ในหลักธรรมเรื่องวิสุทธิ 7 ซึ่งตรงกับโสฬสญาณ ที่ 3 และ 4 ชื่อสัมมสนญาณและอุทยัพพยญาณ แต่พวกเราจะข้ามความสนใจในศัพท์ที่จำยากเหล่านี้ไปก่อนก็ได้ เพราะเราสามารถศึกษาธรรมได้ โดยไม่ต้องรู้ศัพท์ภาษาบาลีอันเป็นบัญญัติ ขอให้รู้เห็นปรมัตถ์คือสภาวะของจริงของรูปนามเนืองๆ โดยไม่เผลอและไม่เพ่ง ก็พอจะเริ่มเข้าร่องเข้ารอย ของทางสายกลางได้บ้างแล้ว จากนั้นจิตจะค่อยพัฒนาไปได้เป็นลำดับๆ จนสามารถเห็นความเกิด ดับของรูปนามได้ ก็เป็นอันว่าได้รู้จักทางสายกลาง อย่างชัดเจนแล้ว ทั้งนี้การเห็นความเกิดดับของรูปนามนั้น ถ้าเห็นรูปนามใหม่ปรากฏขึ้นจึงอนุมาน ได้ว่ารูปนามเก่าดับไปแล้ว ก็เรียกว่าสัมมสนญาณ ซึ่งยังไม่ใช่วิปัสสนาญาณ เพราะยังเจือด้วยการคิด แต่ถ้าเห็นรูปนามเก่าดับไป แล้วเห็นรูปนามใหม่เกิดขึ้นโดยแยกขาดจากรูปนามเก่า ก็เรียกว่า อุทยัพพยญาณ ซึ่งจัดเป็นวิปัสสนาญาณขั้นต้น

6. วิธีสังเกตว่าจิตหลงสู่ทางที่สุดโต่งหรือไม่

คราวนี้ก็มาถึงปัญหาสำคัญของผู้ปฏิบัติว่าจะทราบด้วยตนเองได้อย่างไรว่า ขณะนี้จิตหลงไป สู่ความสุดโต่งด้านใดด้านหนึ่งแล้วหรือไม่ เรื่องนี้ เราพอจะทราบได้ด้วยการสังเกตจิตใจของตนเองดังนี้คือ

6.1 ความสุดโต่งในข้างตามใจกิเลส

ในเบื้องต้นจิตจะเกิดตัณหาหรือความอยากหรือความหิวอารมณ์ขึ้นก่อน แล้วจิตจะทะยานออก ไปเกาะเกี่ยวกับอารมณ์ที่ปรากฏทางตาหูจมูกลิ้นกายและใจ จนลืมกายลืมใจของตนเอง เช่น (1) เมื่ออยากจะดูโทรทัศน์ จิตก็ทะยานออกไปจดจ่ออยู่กับภาพและเสียงของโทรทัศน์ แล้วหลงคิดหลงปรุงแต่งและเพลิดเพลินหรือหมกมุ่นไปตามเรื่องราวนั้น จนลืมกายลืมใจของตนเอง (2) เมื่อได้รับประทานอาหารที่มีรสอร่อย ก็หลงเพลินอยู่กับรส จนลืมกายลืมใจของตนเอง (3) เมื่อคิด ก็หลงอยู่กับเรื่องราวที่คิด จนลืมกายลืมใจของตนเอง (4) เมื่ออยากปฏิบัติธรรม ก็ส่งจิตเที่ยวแสวงหาว่าจะดูอะไรดี จนลืมกายลืมใจของตนเอง และ (5) เมื่อสงสัยว่าการปฏิบัติธรรมที่ทำอยู่นี้ถูกต้องหรือไม่ ก็หลงคิดวิเคราะห์เหตุผลต่างๆ จนลืมกายลืมใจของตนเอง เป็นต้น จิตในขณะที่หลงเพลินไปกับอารมณ์จะมีหลายลักษณะ คือถ้าเป็นอารมณ์พื้นๆ ธรรมดาๆ จิตจะเผลอๆ เพลินๆ ถ้าเป็นอารมณ์ที่ดี จิตจะเกิดความยินดีพอใจในอารมณ์นั้น และถ้าเป็นอารมณ์ที่ไม่ดี จิตจะเกิดความยินร้ายหรือไม่พอใจในอารมณ์นั้น

6.2 ความสุดโต่งในข้างการบังคับตนเอง

ในเบื้องต้นจิตจะเกิดตัณหาคือความอยากที่จะปฏิบัติธรรมขึ้นก่อน แล้วเกิดอุปาทานคือการส่งจิตเข้าไปเกาะอารมณ์กรรมฐาน เช่นลมหายใจ มือ เท้า ท้อง อิริยาบถ ความรู้สึก จิตผู้รู้ หรือแม้กระทั่งความว่าง จากนั้นจะเกิดภพหรือการทำงาน ทางใจบางอย่างขึ้นมา เช่นการจงใจดู การกำหนด การประคอง การเพ่งจ้อง การควบคุม และการพยายามดัดแปลงแก้ไขจิตและอารมณ์ เป็นต้น แล้วจิตจะเกิดชาติคือการหยิบฉวยจิตขึ้นมาถือไว้ ทำให้จิตเกิดทุกข์อันมีความหนัก แน่น แข็ง ซึม ทื่อ เคร่งเครียดขึ้นมา เพราะสิ่งที่กำลังกระทำอยู่นั้นเป็นการปฏิบัติธรรมด้วยอำนาจบงการของตัณหาอันเป็นตัวสมุทัยหรือเหตุให้เกิดทุกข์ เช่น พอคิดถึงการเดินจงกรม ก็ส่งจิตเข้าไปเพ่งเท้าที่เคลื่อนไหว แล้วจิตก็จมแช่อยู่กับเท้า และโลกนี้ก็เหลือแต่เท้าเท่านั้น หรือบางท่านไม่เพ่งเท้าแต่เพ่งกายไว้ทั้งกายก็มี เพราะคิดว่าการเพ่งกายทั้งกายคือการมีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในขณะนั้นจิตจะเกิดความรู้สึกเครียดหรืออึดอัดขึ้นมาทันที

พึงทราบไว้ด้วยว่า จิตที่เครียดๆ หนักๆ แน่นๆ แข็งๆ ซึมๆ ทื่อๆ นั้น เป็นอกุศลจิต อนึ่งการเพ่ง กายเพ่งจิตนั้น ถ้าปฏิบัติได้ถูกต้องตามหลักของการทำสมถกรรมฐานก็จะไม่รู้สึกอึดอัด แต่จิตใจกลับจะสุขสงบสบายผิดกว่าปกติ นั่นแสดงว่าได้มีการดัดแปลงจิตใจขึ้นมาแล้วเหมือนกัน แต่เป็น การดัดแปลงให้จิตเป็นกุศล ผู้ปฏิบัติจะดัดแปลงอย่างนี้ก่อนก็ได้ จากนั้นจึงค่อยพลิกจากการทำสมถกรรมฐานไปสู่การเจริญวิปัสสนากรรมฐานใน ภายหลัง อย่างนี้ก็นับว่าเป็นทางเดินที่ถูกต้องเหมือนกันสำหรับผู้เป็นสมถยานิก และไม่ถือว่าเป็น การดัดแปลงกดข่ม ทำตนให้ลำบากโดยเปล่าประโยชน์อันจัดเป็นอัตตกิลมถานุโยค

สรุปแล้ว เราสามารถสังเกตสภาวะของความ สุดโต่งได้ด้วยตนเอง ว่าถ้าเมื่อใดลืมกายลืมใจของ ตนเอง เมื่อนั้นก็สุดโต่งไปข้างหลง เมื่อใดจิตไหลเข้าไปรวมเป็นเนื้อเดียวกับอารมณ์แล้วเกิดความหนักแน่น แข็ง ซึม ทื่อ หรือเคร่งเครียด เมื่อนั้นจิตสุดโต่งไปข้างการบังคับตนเอง แต่หากยังไม่ชำนาญ ในลักษณะของจิตเหล่านี้หรือสังเกตด้วยตนเองไม่ได้ ก็ควรปรึกษาครูบาอาจารย์ต่อไป

7. จะเข้าสู่ทางสายกลางได้อย่างไร

เมื่อผู้ใดทราบว่าตนเองกำลังเดินอยู่ใน เส้นทางที่สุดโต่งสองด้านนี้แล้ว ก็มาถึงปัญหาสุดท้ายที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะหลุดออกจากเส้นทาง ที่สุดโต่ง และเข้าสู่ทางสายกลางได้ต่อไป

สิ่งแรกที่ต้องเข้าใจเสียก่อนก็คือ ทางสายกลางคือการรู้รูปนามได้ตรงตามความเป็นจริง ใน ขณะที่ทางแห่งความสุดโต่งทั้งสองด้านทำให้รู้รูปนามตามความเป็นจริงไม่ได้ คือเมื่อหลงก็ไม่สามารถจะรู้รูปนามได้ และเมื่อบังคับกายบังคับใจก็ไม่สามารถจะรู้รูปนามตามความเป็นจริงได้

หากเรารู้จักทางที่ถูก เราก็ไม่เดินทางที่ผิด และหากเรารู้จักทางที่ผิด เราก็เดินทางถูก ดังนั้นวิธีที่จะเข้าสู่ทางสายกลางจึงมี 2 ด้าน คือ (1) ทำ ความรู้จักทางที่ถูก ด้วยการเรียนให้รู้จักตัว สภาวะของรูปนาม และวิธีรู้รูปนามตามความเป็นจริง หรือรู้วิธีการเจริญวิปัสสนานั่นเอง ซึ่งจะต้องมีสติระลึกรู้สภาวะของรูปนามที่ปรากฏ มีสัมมาสมาธิคือความตั้งมั่นของจิตในระหว่างการรู้รูปนาม และมีปัญญารู้ลักษณะของรูปนามด้วย ทั้งนี้เพราะเมื่อเรารู้จักทางที่ถูกแล้ว เราจะไม่หลงเดินทางที่ผิด หรือ (2) ทำความรู้จักทางที่ผิด ด้วยการเรียนรู้ให้เข้าใจความสุดโต่งทั้งสองด้านอันเป็นอุปสรรคของการรู้รูปนามตามความเป็นจริง เพราะเมื่อจิตไม่หลงเดินทางผิด จิตจะเริ่มต้นรู้จักทางที่ถูกได้เอง

วิธีการมีดังนี้คือ
7.1 การทำความรู้จักทางที่ถูก

เบื้องต้นเราต้องศึกษาพระปริยัติธรรมให้รู้จักสภาวะของรูปนามเสียก่อน จากนั้นจึงตามสังเกตสภาวะรูปนามจริงๆ ที่ปรากฏอยู่ที่กายที่ใจของตนเอง เมื่อรู้เห็นสภาวะจริงๆ จนจิตจดจำสภาวะนั้นได้แม่นยำแล้ว ก็เป็นอันว่าเราได้รู้จักรูปนามชนิดนั้นแล้ว

หากจะศึกษาสภาวะของรูปนาม ก็ต้องศึกษา เรื่องสภาวธรรม 72 ชนิด จำแนกเป็นจิต 1 เจตสิก 52 รูปแท้ 18 และนิพพาน 1 จากนั้นจึงใช้ความสังเกตสภาวธรรมที่ปรากฏจริงในกายและใจของตนเองต่อไป เมื่อใดรู้เห็นสภาวธรรมของจริงได้แล้ว จิตจะตื่นขึ้นมาชั่วขณะอย่างฉับพลัน หลุดออกจากทางที่สุดโต่งและเริ่มเข้าสู่ทางสายกลาง ก็ให้เจริญวิปัสสนาด้วยการตามรู้สภาวธรรมคือรูปนามตามความเป็นจริงต่อไป ด้วยจิตที่ตื่นแล้วนั้นเนืองๆ สภาวธรรมนั้นๆ จะแสดงธรรมเรื่องไตรลักษณ์ให้ได้ประจักษ์เอง

สำหรับพวกเราที่ไม่ประสงค์จะเริ่มต้นด้วยการเรียนพระอภิธรรม ก็ยังมีทางทำได้อีกอย่างหนึ่ง นั่นคือหมั่นสังเกตสภาวะรูปนามในกายและใจของตนเองไปเลย ค่อยๆ เรียนรู้ทำความรู้จักสภาวธรรมไปทีละอย่างสองอย่าง แม้จะรู้ได้ไม่ครบถ้วนทั่วถึงทุกอย่างเหมือนผู้ศึกษาพระปริยัติ-ธรรม แต่วิธีนี้ก็ใช้ได้เหมือนกัน

7.2 การทำความรู้จักทางที่ผิดและรู้ทันจิตที่เดินทางผิด

สำหรับเพื่อนนักปฏิบัติที่ไม่ชอบศึกษา พระปริยัติธรรม ยังมีวิธีการง่ายๆ อีกอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้เราหลุดออกจากทางที่สุดโต่ง เกิดภาวะแห่งความรู้ตื่น และสามารถรู้รูปนามตามความเป็นจริงต่อไปได้ วิธีการนี้ได้แก่ วิธีรู้ทันจิตที่เดินทางผิด แล้วจิตจะกลับเข้าสู่ทางที่ถูกได้เองโดยอัตโนมัติ

เริ่มต้นจากการรู้ทางแห่งความสุดโต่งในด้าน การหลงตามกิเลสก่อน ปกติจิตของพวกเราย่อมหลงทั้งวันอยู่แล้ว คือไม่หลงดูก็หลงฟัง ไม่หลงฟังก็หลงคิด เป็นต้น เราไม่ต้องพยายามป้องกันไม่ให้จิตหลง แต่เมื่อใดจิตเกิดอาการหลงก็ให้รู้ว่าหลง ทันทีที่รู้ว่าหลง จิตจะเกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา วับหนึ่ง แล้วก็หลงอารมณ์อย่างอื่นๆ ต่อไปใหม่ หน้าที่ของผู้ปฏิบัติมีแต่รู้ทันความหลงของจิตอยู่เนืองๆ แล้วความรู้สึกตัวก็จะเกิดถี่ขึ้นๆจนถี่ยิบ เมื่อ ความรู้สึกตัวเกิดมากขึ้นแล้ว ในที่สุดสติปัญญาก็จะเข้าใจสภาวะและลักษณะของจิตที่รู้สึกตัวนั้นได้เอง หลังจากนั้นจิตจะรู้สึกตัวเนืองๆ เพียงความ หลงเกิดขึ้นนิดเดียวก็รู้ทันแล้ว ความหลงจะดับไป ในทันทีโดยไม่ต้องทำอะไรเลยนอกจากการรู้ทันจิต ที่หลงเท่านั้น เมื่อจิตไม่หลง จิตก็สามารถรู้ของจริง คือรูปนามอันเป็นอารมณ์ปรมัตถ์ได้ ส่วนจิตที่หลง จะรู้ได้แค่อารมณ์บัญญัติอันเป็นภาพลวงตาที่เกิดจากความจำและความคิดเท่านั้น

ส่วนการบังคับตนเองนั้น เป็นสิ่งที่จิตหลุดออกมาได้ยากกว่าการหลุดออกจากความหลงหรือ เผลอเสียอีก คือแม้จะรู้ว่ากำลังกำหนดหรือประคองหรือเพ่งอารมณ์แล้วก็ตาม แต่บ่อยครั้งที่จิตของผู้ปฏิบัติไม่คลายตัวออกจากการเพ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ติดการทำสมถกรรมฐาน แม้จะรู้ว่าเพ่งอยู่ บางทีจิตก็ไม่หลุดจากการเพ่งนั้น ทางออกของผู้ปฏิบัติก็คือเมื่อใดจิตเกิดอาการเพ่งก็ให้รู้ว่าเพ่ง แต่ต้องรู้ด้วยจิตใจที่เป็นกลางปราศจากวิภวตัณหาคือความอยากจะเลิกเพ่ง จิต จึงจะเลิกเพ่งได้เอง หากยังมีความอยากจะปฏิบัติธรรมหรือมีความอยากจะเลิกเพ่งแฝงอยู่แม้แต่นิดเดียว จิตจะไม่เลิกเพ่ง แต่อาจจะกลายเป็น การเพ่งด้วยโทสะ คือเพ่งด้วยความรู้สึกว่าเมื่อไรจึงจะเลิกเพ่งได้เสียที

เมื่อจิตไม่เผลอและไม่เพ่ง จิตก็สามารถระลึกรู้รูปนามได้โดยไม่ประคอง ไม่กำหนด ไม่เพ่ง ไม่บังคับ ไม่ควบคุม ไม่แก้ไข รูปนามก็จะแสดงความจริงคือไตรลักษณ์ให้เห็นได้ทันที

การรู้ทันอาการของจิตที่หลง/เผลอและอาการ ของจิตที่เพ่งนี้ เป็นการรู้ทันสภาวธรรมชนิดหนึ่งคือ จิต และเป็นอุบายอันหนึ่งเพื่อให้เกิดความรู้สึกตัวเท่านั้น แท้จริงแล้วไม่ว่าจิตจะไปรู้สภาวธรรมคือรูปนามอันใด ถ้าสติระลึกรู้ได้ถูกต้องถึงตัวสภาวะจริงๆ แล้ว จิตย่อมจะเกิดความรู้สึกตัว อันประกอบด้วยความมีสติและสัมมาสมาธิใน ฉับพลัน จิตจะหลุดออกจากทางที่สุดโต่ง และเดินเข้าสู่ทางสายกลางได้เช่นเดียวกันทั้งสิ้น

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ พวกเราจะเลือกใช้อารมณ์กรรมฐานที่เป็นรูปนามอันใดก็ได้ตามจริตนิสัยของตน เช่น อารมณ์ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานได้แก่ลมหายใจ อิริยาบถ 4 อาการไหว ของกาย และธาตุกรรมฐาน หรืออารมณ์ในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งเวทนาทางกายและทางใจ ทั้งเวทนาที่มีอามิสหรือเหยื่อล่ออันได้แก่กามคุณ อารมณ์ และไม่มีอามิส หรืออารมณ์ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งจิตที่เป็นกุศลและอกุศล หรืออารมณ์ในธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เช่น นิวรณ์และอริยสัจจ์ เป็นต้น ขอเพียงให้ตามรู้อารมณ์รูปนามเนืองๆ อย่าเผลอยาว และอย่าให้เป็นการถลำเข้าไปกำหนด ประคอง เพ่งจ้องหรือ บังคับจิตและอารมณ์ หรือเข้าไปหลงคิดเรื่องอารมณ์อันนั้น ทำได้อย่างนี้ก็สามารถพัฒนาสติ สัมมาสมาธิ และปัญญาให้ก้าวหน้าไปตามลำดับจนบรรลุมรรคผลนิพพานได้ในที่สุด

ครั้งที่ 017 บทที่ 3 ทางผิดที่ติดตาม
ตอน จะเข้าสู่ทางสายกล่งได้อย่างไร

อนึ่ง การถกเถียงกันว่าอารมณ์กรรมฐานอันใดดีกว่าอันใด หรือกรรมฐานสายไหนดีกว่าสายไหน เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดมีขึ้นในวงการของผู้ปฏิบัติ และจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยสำหรับผู้ที่ศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างถ่องแท้แล้ว เพราะอารมณ์กรรมฐานนั้นเราต้องรู้จักเลือกใช้ให้เหมาะสมกับจริตนิสัยของตน คือถ้าเป็นผู้มีตัณหาจริตก็ควรเลือกใช้กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน และเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยควรทำสมถกรรมฐานให้จิตตั้งมั่นเสียก่อนจึงค่อยใช้จิตที่ตั้งมั่นแล้วนั้นตามรู้กายและเวทนาตามความเป็นจริงต่อไป ส่วนผู้มีทิฏฐิจริตก็ควรเลือกใช้จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานและธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยตามรู้จิตและธรรมไปได้เลยไม่ต้องทำฌานก่อน เพียงแค่ทำความสงบจิตเพื่อพักผ่อน บ้างเป็นระยะๆ ก็พอแล้ว

ดังนั้น สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้จักเลือกอารมณ์กรรมฐานที่เหมาะสมกับตนเอง ซึ่งจะทำให้สติและสัมมาสมาธิเกิดขึ้นได้บ่อยๆ และต้องรู้วิธีการ รู้อารมณ์อย่างถูกต้องโดยไม่หลงสุดโต่งไปด้านใด ด้านหนึ่งด้วย เช่น (1) ถ้าจะรู้กาย ก็อย่าหลงลืมกายไปหาอารมณ์อื่น หรือแม้แต่หลงคิดฟุ้งซ่านเรื่องกาย และอย่าเพ่งกาย (2) ถ้าจะรู้เวทนา ก็อย่าหลงลืมเวทนาไปหาอารมณ์อื่น หรือแม้แต่หลงคิดฟุ้งซ่านเรื่องเวทนา และอย่าเพ่งเวทนา และ (3) ถ้าจะรู้จิต ก็อย่าหลงลืมจิตไปหาอารมณ์ อื่น หรือแม้แต่หลงคิดฟุ้งซ่านเรื่องจิต และอย่าเพ่งจิต ทำได้อย่างนี้เราจึงจะประสบความสำเร็จในการปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ได้ในเวลาที่ไม่นานนัก เพราะไม่หลงไปตามทางที่สุดโต่ง ทั้งสองสายนั้น

8. อาการของจิตที่รู้สึกตัว ไม่เผลอและไม่เพ่ง เป็นอย่างไร

พวกเราหลายท่านเมื่อปฏิบัติไปช่วงหนึ่งแล้วเกิดสงสัยว่าที่ปฏิบัติอยู่นั้นตนเองรู้สึกตัวได้ถูกต้องแล้วหรือยัง ถ้าถูกต้องแล้วจะได้ตามรู้รูปนามกายใจเพื่อให้เกิดปัญญาตามทางสายกลางต่อไป วิธีสังเกตว่าเรารู้สึกตัวได้ถูกต้องแล้วหรือไม่ ให้สังเกตดังนี้

8.1 ความรู้สึกตัวนั้นเกิดขึ้นเองเพราะเราไปรู้ทันรูปนามของตนเอง หรือเกิดจากความจงใจและพยายามจะรู้สึกตัว หากสติเกิดไปตามรู้ทันรูปนามเข้าเองก็ใช้ได้ เช่น กำลังเผลอคิดเรื่องหนึ่ง เรื่องใดอยู่ แล้วเกิดสติระลึกขึ้นได้ว่า อ้าวเผลอไปแล้ว หรือกำลังโกรธอยู่ แล้วเกิดสติระลึกขึ้นได้ว่า อ้าวโกรธไปแล้ว อย่างนี้มักจะเกิดความรู้สึกตัวที่แท้จริง แต่ถ้ากายเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ จิตเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ จู่ๆ ก็นึกขึ้นได้ว่าจะต้องปฏิบัติธรรม แล้วเกิดความสงสัยว่ากายหรือจิตกำลังเป็น อย่างไร เกิดความอยากรู้ และเกิดอาการจงใจไปรู้กาย หรือรู้จิต อย่างนี้ก็ใช้ไม่ได้ ต้องให้สติเกิดเอง เพราะจิตจำสภาวะของรูปนามได้ จึงจะเกิดความรู้สึกตัวที่แท้จริง

8.2 ในขณะที่คิดว่ารู้สึกตัวนั้นจิตเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าจิตเป็นกุศลแสดงว่ามีความรู้สึกตัวเกิดขึ้นจริง จิตที่เป็นกุศลจะมีความเบา อ่อนโยน ปราศจากกิเลสและนิวรณ์ คล่องแคล่ว และรู้อารมณ์อย่างซื่อตรงโดยไม่เข้าไปแทรกแซง แต่ถ้า ในขณะนั้นจิตเป็นอกุศล มีอาการหนัก แน่น แข็ง มีกิเลสและนิวรณ์ ซึมทื่อ หรือพยายามเข้าไปแทรกแซงจิตและอารมณ์ อย่างนี้แสดงว่าไม่ได้เกิดความรู้สึกตัวที่แท้จริง

9. เมื่อรู้สึกตัวได้แล้วจะต้องทำอะไรต่อไป
เมื่อจิตเกิดความรู้สึกตัวแล้ว หน้าที่ของผู้ปฏิบัติก็คือจะต้องใช้จิตที่รู้สึกตัวแล้วนั้นไปเจริญวิปัสสนา อันได้แก่การมีสติระลึกรู้รูปที่กำลังปรากฏ ในปัจจุบัน และมีปัญญาเข้าใจลักษณะของรูปนั้นว่าเป็นไตรลักษณ์ หรือมีสติตามระลึกรู้นามที่เพิ่งดับไปสดๆ ร้อนๆ และมีปัญญาเข้าใจลักษณะของ นามนั้นว่าเป็นไตรลักษณ์ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดพัฒนาการทางวิปัสสนาปัญญา คือรู้รูปนามตรงตาม ความเป็นจริงตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ แล้วบรรลุมรรคผลนิพพานถึงความพ้นทุกข์ได้ ในที่สุด (13 พฤษภาคม 2548)

1. คำนำ

ทางแห่งความปรุงแต่งอันสุดโต่งมีสองฝั่ง คือ (1) การปล่อยตัวปล่อยใจไหลตามกิเลส หรือการหลงอยู่กับความปรุงแต่งฝ่ายอกุศล หรือกามสุขัลลิกานุโยค อันเป็นเหตุนำไปสู่ทุคติ และ (2) การบังคับกดข่มกายใจอันเป็นการทำตนเองให้ลำบาก หรือการหลงอยู่กับความปรุงแต่งฝ่ายกุศล หรืออัตตกิลมถานุโยค อันเป็นเหตุนำไปสู่สุคติ ทาง สองฝั่งนี้พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เว้นเสีย

พระพุทธเจ้าทรงประกาศทางสายกลางไว้ เพื่อ ให้จิตของผู้ดำเนินตามพ้นจากความปรุงแต่งทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล และโน้มน้อมไปสู่อมตธรรมคือนิพพาน เหมือนสายน้ำที่ไหลไปสู่มหาสมุทรโดย ไม่ติดนิ่งอยู่กับสองฝั่งของแม่น้ำ ทางสายกลางนี้คือ อริยมรรคมีองค์ 8 ประการ อันรวบย่อเข้ามาได้ในศีล สมาธิ และปัญญา และทรงสอนวิธีการปฏิบัติตามทางสายกลางไว้อย่างหมดจดงดงามใน มหาสติปัฏฐานสูตร เพื่อให้ผู้ปฏิบัติตามเกิดสติและปัญญา จนจิตสามารถปลดปล่อยความ ถือมั่นในรูปนามหรือ "ตนเอง" ลงได้ แล้วประจักษ์กับนิพพานได้ในที่สุด

การจะเริ่มต้นเดินทางสายกลางได้ถูกต้อง จำเป็นต้องรู้จักว่าต้นสายของทางสายนี้อยู่ที่ ตรงไหน นี้เป็นเรื่องที่สำคัญและน่าสนใจยิ่งกว่าเรื่องที่ว่าจะกำหนดลมหายใจอย่างไร จะเดินท่าไหน จะนั่งท่าไหน หรือจะเอาจิตวางไว้ที่ตรงไหน ฯลฯ เสียอีก เพราะถ้าผู้ปฏิบัติเข้าใจและเข้าสู่ต้นทางของ การปฏิบัติได้ โอกาสที่จะเดินถูกทางและไปถึงปลายทางก็เป็นไปได้มากทีเดียว

ผู้เขียนได้สำรวจหาต้นทางของการปฏิบัติธรรม ทั้งด้วยการศึกษาพระปริยัติธรรม และด้วยการรับฟังคำสอนของครูบาอาจารย์ในสายปฏิบัติ แล้วได้นำมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง เผื่อบางท่าน จะเกิดความสนใจที่จะศึกษาปฏิบัติธรรมกันบ้าง ซึ่งถ้าเพื่อนชาวพุทธสนใจศึกษาและปฏิบัติธรรมกันมากๆ พระพุทธศาสนาจะได้ตั้งมั่นเป็นสมบัติของชาวโลกสืบไปอีกนานๆ

2. ทางสายนี้เรียบง่าย ลัดสั้น และน่ารื่นรมย์

เส้นทางธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ เป็นเส้นทางเล็กๆ สายหนึ่งในบรรดาเส้นทางนับไม่ถ้วน สาย ที่บรรดานักปราชญ์ทั้งหลายทั้งในอดีตและปัจจุบันได้ค้นพบและประกาศกันไว้

ขอเชิญชวนให้เพื่อนนักปฏิบัติลองศึกษาพิจารณาถึงสิ่งที่ผู้เขียนนำเสนอไว้ในบทความนี้ แล้วทดลองเดินตามทางสายนี้ดูสักครั้งหนึ่ง ท่านไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรมากนักหรอก เพราะ (1) เส้นทางสายนี้เรียบง่ายและธรรมดาอย่างยิ่ง คือ "เพียงลืมตาตื่นก็เห็นได้แล้ว" ไม่จำเป็นต้องดิ้นรน แสวงหาทางพ้นทุกข์ที่ไหนให้ไกลตัวเลย (2) เส้นทางสายนี้ลัดสั้น คือเห็นผลเร็ว หมายความว่าพอเริ่มปฏิบัติได้ถูกต้อง คือพอเกิดมีสติสัมปชัญญะที่แท้จริงขึ้นเท่านั้น ความทุกข์ทางใจก็จะหลุดร่วงไปเองต่อหน้าต่อตาอย่างฉับพลัน และ (3) เส้นทางสายนี้รื่นรมย์ คือไม่มีความยากลำบากหรือความเสี่ยงใดๆ เลย แถมยังมีความสุข ความเบิกบานใจเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ด้วย ด้วยเหตุนี้ จึงขอเชิญชวนให้พวกเราทดลองเดินดูสักระยะหนึ่ง ถ้าทดลองแล้วไม่เห็นผลที่น่าพอใจก็เลิกกันไป แต่ถ้าเกิดได้ผลก็นับว่าเป็นกำไรอย่างมหาศาลแก่ผู้ทดลองทีเดียว เพราะเป็นการลงทุนน้อยที่สุดแต่ได้ผลมากที่สุด

ความยากในการเดินตามเส้นทางสายนี้มีอันเดียว คือทำอย่างไรจะค้นพบจุดตั้งต้นหรือต้นทางของเส้นทางสายนี้ได้ ถ้าจับได้ว่าต้นทางอยู่ที่ตรงไหน แล้วขึ้นต้นทางให้ถูกต้องเท่านั้น งาน ที่เหลือ จิตเขาจะดำเนินไปเองจนถึงความพ้นทุกข์ในที่สุด

3. เครื่องขัดขวางการเรียนรู้ธรรม

ก่อนที่เราจะพิจารณาว่าต้นทางของเส้นทาง การปฏิบัติธรรมอยู่ที่ตรงไหน ผู้เขียนขอเสนอให้เพื่อนนักปฏิบัติขจัดสิ่งที่จะเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ 3 ประการ เรียกว่า ปปัญจธรรม อันเป็นกิเลสเครื่องเนิ่นช้า เป็นตัวการทำให้คิด ปรุงแต่งยืดเยื้อพิสดาร ทำให้เขวห่างออกไปจากความเป็นจริงที่ง่ายๆ และเปิดเผย ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ และขัดขวางไม่ให้เข้าถึงความจริง กิเลส 3 ประการนี้ ได้แก่

3.1 มานะ คือความถือตัวว่าเรารู้ดีแล้ว เราเก่งแล้ว หรือผู้แสดงธรรมท่านอื่นก็รู้พอๆ กันกับเรา หรือเรามันโง่เขลาเบาปัญญาไม่มีทางที่จะเรียนรู้ธรรมได้เลย

3.2 ทิฏฐิ คือการมีความเชื่อมั่นหรือปักใจเชื่อในแนวทางปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดที่มีอยู่เดิม คิดว่าแนวทางของเราที่ทำอยู่นี้เท่านั้นถูกต้อง แนวทางอื่นๆ ไม่ถูกต้อง ความรู้สึกอย่างนี้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างมาก พอได้ฟังสิ่งใดที่ขัดแย้งหรือแตกต่างจากความเชื่อเดิมก็เกิดโทสะเสียแล้ว ทำให้การพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ ของตนเองทำไม่ได้ หรือพอได้รับฟังสิ่งใหม่ๆ ก็คิดเปรียบเทียบกับข้อมูลเดิมอยู่ตลอดเวลา ทำให้ขาดความตั้งใจมั่นที่จะศึกษาสิ่งใหม่ๆ ด้วยเหตุนี้เองพวกเราจึงควรทำตนให้เป็นเสมือน ถ้วยชาที่ว่างเปล่าเสียก่อน จึงจะเข้าใจในสิ่งที่ ผู้เขียนจะกล่าวต่อไปนี้ได้อย่างง่ายดาย และเมื่อเข้าใจแล้วจะไม่เชื่อถือก็ไม่ว่ากัน อย่าเพิ่งปฏิเสธทั้งที่ยังไม่เข้าใจก็ขอบคุณมากแล้ว

3.3 ตัณหา คือความอยาก ในที่นี้หมายถึงความอยากที่จะปฏิบัติธรรม และความอยากที่จะบรรลุธรรม เมื่อมีความอยากก็เกิดการกระทำตาม อำนาจของความอยากต่างๆ นานา ตรงกับคำสอน ของพระพุทธเจ้าที่ว่า "ตัณหาเป็นผู้สร้างภพ" คือสร้างความปรุงแต่งหรือการงานทางใจที่เรียกว่า "กรรมภพ' ขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพียรทำอะไรบางอย่างเพื่อละอกุศล และการเพียรทำอะไรบางอย่างเพื่อเจริญกุศล เช่นการพยายามทำสติ สมาธิ ปัญญา และวิมุตติให้เกิดขึ้น โดยเชื่อว่าถ้ามีความเพียรปฏิบัติและสร้างความปรุงแต่งฝ่ายกุศลให้เต็มที่แล้ว จะรู้ธรรมได้ในที่สุด

แท้จริงการมีความเพียรชอบนั้น ไม่ใช่เพียรโดยเอากำลังเข้าหักหาญกับกิเลสหรือพยายามบังคับให้กุศลเกิดขึ้น เพราะธรรมทั้งปวงทั้งฝ่ายกุศลและอกุศลต่างก็เป็นอนัตตาคือไม่อยู่ในอำนาจ บังคับของใคร ความเพียรเช่นนั้นจึงไม่ใช่สัมมาวายามะหรือความเพียรชอบ เพราะยังประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ ว่าเราจะละอกุศลและทำให้ธรรมฝ่ายกุศลเกิดขึ้นได้ตามใจปรารถนา แต่เป็น มิจฉาวายามะอันมีตัณหาอยู่เบื้องหลังการปฏิบัติธรรมและมีความหลงผิดเป็นเครื่องชี้นำ ส่วนความเพียรชอบนั้นเพียงมีสติก็เกิดความเพียรชอบแล้ว คือทันทีที่สัมมาสติเกิดขึ้น อกุศลก็เป็นอันถูกละ ไปแล้ว และกุศลก็เริ่มเจริญขึ้นแล้ว สมดังที่ หลวงปู่ มั่น ภูริทัตตเถระ ท่านสอนว่า "เมื่อใดมีสติเมื่อนั้นมีความเพียร เมื่อใดขาดสติเมื่อนั้นขาดความเพียร" ดังนั้นแม้จะพยายามเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิตลอดวันตลอดคืน ถ้าไม่มีสติก็ยังไม่ได้ชื่อว่าทำความเพียรชอบ

พวกเราควรสลัดภาพลวงตา ที่ว่าการปฏิบัติธรรมคือการที่ต้องเพียรพยายามทำอะไรที่ยากๆ ตั้งมากมายหลายอย่าง อันเป็นความปรุงแต่ง ฝ่ายดีหรือปุญญาภิสังขารหรือกุสลาภิสังขารซึ่งมีรากเหง้ามาจากอวิชชา เพราะแท้ที่จริงแล้วความเพียรพยายามปรุงแต่งฝ่ายดีนั้นแหละเป็นเครื่องขัดขวางการบรรลุธรรม ในขณะที่การบรรลุธรรมเกิดจากการรู้ทันและก้าวข้ามความปรุงแต่งทั้งปวงได้ต่างหาก ถ้าไม่ปรับทัศนคติเสียก่อน พวกเราจะเข้าใจในสิ่งที่ผู้เขียนบอกเล่าให้ฟังได้ยากเหลือเกิน เพราะแม้ผู้เขียนจะกล่าวว่า "จงอย่าปรุงแต่งการปฏิบัติขึ้นมา แต่ให้ รู้ ทันความปรุงแต่ง คือรูปนามโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานทางใจที่กำลังปรากฏอยู่" พวกเราก็จะต้องคิดว่า "ทำอย่างไรจึงจะไม่ปรุงแต่ง และทำอย่างไรจึงจะรู้ทันความปรุงแต่งได้" อันจะนำพวกเราให้ถลำเข้าไปในโลกของความคิดนึกปรุงแต่งต่อไปอีก แทนที่จะรู้ ตื่น และเบิกบานขึ้นในฉับพลัน เพราะพวกเรามุ่งแต่จะ "ทำ" โดยละเลยการ "รู้"

เมื่อผู้เขียนกล่าวว่า "การปฏิบัติธรรมเป็นสิ่ง ที่ไม่ต้องใช้ความเพียรทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ แม้กระทั่งการ ทำกุศล" ก็อาจทำให้เพื่อนนักปฏิบัติจำนวนมากไม่เชื่อถือ เพราะขนาดเพียรพยายามปฏิบัติธรรมกันแทบตาย ก็ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จในทาง ธรรมเลย คือยังไม่เห็นวี่แววว่าจะพ้นทุกข์ได้ที่ตรงไหน ส่วนมากพอเริ่มปฏิบัติก็มักจะมีความทุกข์ เพิ่มมากยิ่งขึ้น แล้วผู้เขียนยังมีหน้ามาเสนอได้ว่าไม่ต้องเพียร คำกล่าวนี้จะใช้ได้อย่างไรกัน เพราะใครๆก็สอนให้เพียรให้มากทั้งนั้น เพิ่งจะเคยได้ยิน จากผู้เขียนนี่แหละที่บอกว่าไม่ต้องเพียร เพราะถึงเพียรก็ไม่สำเร็จ

ความจริงผู้เขียนไม่ได้พูดเอาเอง แต่เรื่องเคย มีมาแล้ว ดังที่ท่านพระอานันทเถระ (พระอานนท์) ได้เล่าถวายคณะสงฆ์อันมีท่านพระมหากัสสป-เถระเป็นประธานในการสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก ดังนี้

(1) ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้วเทวดาองค์หนึ่งมีวรรณะงาม ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งฯ

(2) เทวดานั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลคำนี้กับพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ข้าพระองค์ขอทูลถาม พระองค์ข้ามโอฆะได้อย่างไร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ท่านผู้มีอายุ เราไม่พักอยู่ ไม่เพียรอยู่ ข้ามโอฆะได้แล้วฯ

ท.ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ก็พระองค์ไม่พักไม่เพียร ข้ามโอฆะได้อย่างไรเล่าฯ

พ. ท่านผู้มีอายุ เมื่อใดเรายังพักอยู่ เมื่อนั้นเรายังจมอยู่โดยแท้ เมื่อใดเรายังเพียรอยู่ เมื่อนั้นเรายังลอยอยู่โดยแท้ ท่านผู้มีอายุ เราไม่พัก เราไม่เพียร ข้ามโอฆะได้แล้วอย่างนี้แลฯ

เทวดานั้นกล่าวคาถานี้ว่า นานหนอ ข้าพเจ้าจึงจะเห็นขีณาสวพราหมณ์ผู้ดับรอบแล้ว ไม่พักอยู่ ไม่เพียรอยู่ ข้ามตัณหาเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในโลกฯ

(3) เทวดานั้นกล่าวคำนี้แล้ว พระศาสดาทรงอนุโมทนา ครั้งนั้นแล เทวดานั้นดำริว่า พระศาสดาทรงอนุโมทนาคำของเรา จึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วก็หายไป ณ ที่นั้นแลฯ

(โอฆตรณสูตรที่ 1 ว่าด้วยการข้ามโอฆะ พระไตรปิฎกเล่ม 15 พระสุตตันตปิฎกเล่ม 7 สัง-ยุตตนิกาย สคาถวรรค)

คำว่า "พักอยู่"นี้พระอรรถกถาจารย์ท่านอธิบายว่า หมายถึงการปล่อยตัวปล่อยใจตามกิเลส เป็นการหลงปรุงแต่งฝ่ายชั่วหรืออกุสลาภิสังขาร จัดเป็นการปฏิบัติที่ย่อหย่อนหรือกามสุขัลลิกานุ-โยค จะทำให้ผู้ปฏิบัติจมลงในอบายภูมิ ส่วนคำว่า "เพียรอยู่"หมายถึงการหลงปรุงแต่งฝ่ายกุศลหรือ กุสลาภิสังขาร จัดเป็นการปฏิบัติที่ตึงเกินไป ทำตน ให้ลำบาก หรืออัตตกิลมถานุโยค แต่ก็ทำให้ผู้ปฏิบัติไปสู่สุคติภูมิได้

ลองสังเกตดูเถิดว่า เมื่อพวกเราไม่ได้คิดถึงการปฏิบัติธรรม พวกเราก็มักจะหลงไปกับโลก จมแช่อยู่กับกิเลส แต่พอคิดถึงการปฏิบัติธรรมเท่านั้น พวกเราก็จะเริ่มเกิดการกระทำทางกายและทางใจตั้งมากมายหลายอย่างเพื่อปรุงแต่งกุศลขึ้นมา เช่น พยายามบังคับจิตที่ไม่สงบให้สงบ ทำจิตที่ไม่ดีให้ดี ขัดขวางหรือพยายามทำลายอารมณ์อันเป็นทุกข์และอกุศล ตลอดจนพยายามสร้างและรักษาอารมณ์อันเป็นสุขและกุศลไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพยายามสร้างสติ สัมมา-สมาธิ ปัญญา และวิมุตติให้เกิดมีขึ้น โดยหวังว่าถ้าทำสิ่งที่ดีๆให้เกิดขึ้นอย่างถาวรได้แล้ว ย่อมจะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ดังนั้นพวกเราจึงหลงสุดโต่งอยู่ในอาการสองอย่างคือ ถ้าไม่เพียรก็พัก และถ้าไม่พักก็เพียร

การพักเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่าย ส่วนการเพียร นั้นจะขอยกตัวอย่าง ให้พวกเราดูสักเล็กน้อยในเรื่องเกี่ยวกับการพยายามปรุงแต่งธรรมฝ่ายกุศลได้แก่ สติ ศีล สมาธิ ปัญญา แม้กระทั่งวิมุตติก็ยังมีผู้อุตส่าห์ปรุงแต่งขึ้นมาจนได้


ตัวอย่างของการปรุงแต่งสติ ก็เช่น (1) การพยายามจะทำให้สติเกิดขึ้นด้วยการ (ก) พยายาม เอาสติไปจดจ่อหรือตรึงความรู้สึกไว้กับอารมณ์อันใดอันหนึ่ง โดยมุ่งหวังว่าจะไม่ให้เผลอหรือขาดสติได้ เช่น เอาสติกำหนดไว้ที่ลมหายใจ ที่ท้อง ที่ร่างกายทั้งกาย ที่คำบริกรรม หรือแม้กระทั่งสิ่งภายนอกเช่นพระพุทธรูป ลูกแก้ว และเปลวเทียน เป็นต้น (ข) พยายามซอยขั้นตอนการเคลื่อนไหวร่างกายให้ละเอียดยิ่งขึ้น เช่น ทำจังหวะการเคลื่อนไหวมือ เท้า และลมหายใจ เป็นต้น และ (ค) พยายามกระทบผัสสะทางกายแรงๆ เพื่อให้เกิดความรู้สึกตัว เช่น เดินกระแทกส้นเท้าแรงๆ เดินโคลงตัวแรงๆ เคาะนิ้ว และเขกโต๊ะ เป็นต้น หรือ (2) การส่งสติเข้าไปจมแช่อยู่กับอารมณ์ที่กำลังปรากฏทางทวารทั้ง 6 ด้วยความจงใจอันเจือ ด้วยโลภะ เพราะทราบว่าสติมีหน้าที่จับอารมณ์ให้มั่น จึงจงใจจะจับอารมณ์ให้มั่น

ความจงใจทั้งหลายเหล่านี้ทำให้สติเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นเพียงเครื่องระลึกรู้อารมณ์ ไป เป็นเครื่องเพ่งอารมณ์โดยไม่รู้ตัว สิ่งที่เกิดขึ้นเนื่องจากการพยายามสร้างสติปลอมๆ ได้แก่ การ หลงเพ่งนิ่งอยู่กับอารมณ์บ้าง หลงจมแช่อยู่กับอารมณ์โดยมีความรู้สึกว่ากำลังรู้ความเกิดดับของอารมณ์บ้าง หลงเพ่งนิ่งอยู่กับกายบ้าง หลงจมแช่อยู่กับกายโดยมีความรู้สึกว่ากำลังรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลาบ้าง จิตจะเกิดอาการหนักๆ แน่นๆ แข็งๆ ซึมๆ ทื่อๆ อันเป็นลักษณะของอกุศลจิตทั้งสิ้น

อนึ่ง การเพ่งนิ่งอยู่กับอารมณ์ทั้งภายในและ ภายนอก ทั้งรูปและนามนั้น เป็นเรื่องที่สังเกตให้รู้ทันได้ง่าย แต่การส่งใจเข้าไปจมแช่เพลิดเพลินอยู่ กับอารมณ์นั้นรู้ทันได้ยาก เพราะเจ้าตัวจะรู้สึกว่า ตนเองรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่แท้ๆ และมีความรู้สึกตัวต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลาด้วย สิ่งใดจะเกิดขึ้นทางกายหรือทางใจก็รู้ได้หมด เรื่องนี้หากผู้ปฏิบัติจะเฉลียวใจสักนิดว่าตนกำลังจงใจเอาสติไปจมแช่อยู่กับรูปนามด้วยอำนาจของโลภะ และสภาวะรู้ดังกล่าวเกิดได้ต่อเนื่องมากเป็นชั่วโมงๆ แทนที่ความรู้สึกตัวจะเกิดดับเป็นขณะๆ พร้อมกับจิตอย่างที่ควรจะเป็น ถ้าเฉลียวใจมองเห็นสภาวะอย่างนี้ก็จะพ้นจากการปฏิบัติที่ผิดพลาดตรงนี้ได้ แต่ถ้าเชื่อมั่นว่าตนกำลังรู้ตัวทั่วพร้อม ทั้งที่กำลังหลงส่งจิตเข้าไปจมแช่อยู่กับอารมณ์ด้วยอำนาจของโลภะ ก็คงต้องติดอยู่ตรงนี้ต่อไปอีกนาน

ตัวอย่างของการปรุงแต่งศีล ก็เช่น การไปขอรับศีลจากพระภิกษุ แล้วพยายามกดข่มควบคุม จิตใจและร่างกายของตนไม่ให้ทำผิดศีล เป็นการถือศีลด้วยความยากลำบากและเคร่งเครียด ถ้ารักษาไว้ได้ก็พอใจและมีมานะเพิ่มขึ้น ถ้ารักษาไว้ไม่ได้ก็เสียใจหงุดหงิดเป็นทุกข์ใจ เป็นต้น

ตัวอย่างของการปรุงแต่งสมาธิ ก็เช่น การพยายามทำจิตให้สงบ พยายามให้จิตรวมสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว พยายามทำจิตให้เซื่องซึมไม่รู้ร้อนรู้หนาวนอนแช่อยู่กับอารมณ์อันหนึ่ง บ้างก็เตลิดเปิดเปิงไปถึงขั้นพยายามนั่งให้เกิดหูทิพย์ตาทิพย์ ยิ่งเห็นผีเห็นเทวดาหรือมีอำนาจทางจิตได้ ก็ยิ่งสำคัญว่าสมาธิของตนดี เป็นต้น

ตัวอย่างของการปรุงแต่งปัญญา ก็เช่น การใช้ความคิดพิจารณาร่างกายจิตใจของตนว่าเป็นปฏิกูล เป็นอสุภะ เป็นธาตุ เป็นขันธ์ เป็นรูปนาม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เป็นต้น ทั้งนี้บางท่านเชื่อว่าการเจริญ วิปัสสนาทำได้ด้วยการคิด แต่เป็นการคิดอย่างมีระบบระเบียบ หรือคิดอย่างมีโยนิโสมนสิการ ทั้งที่ความจริงวิปัสสนาไม่ใช่เรื่องของการคิด แต่วิปัสสนาเป็นเรื่องของการมีสติปัญญาเข้าไปประจักษ์สภาวธรรมและความเป็นจริงของ รูปนามจริงๆ ต่างหาก แม้ในขั้นเริ่มต้นเจริญวิปัสสนาในระดับอุทยัพพยญาณ ก็ต้องรู้รูปนามโดยพ้นจากจินตามยปัญญาไปแล้ว

ตัวอย่างของการปรุงแต่งวิมุตติ ก็เช่น การแกล้งทำจิตใจให้เลื่อนลอย แกล้งทำจิตใจให้กว้างขวาง แกล้งทำจิตใจให้ว่างเปล่าเกาะนิ่งอยู่กับอารมณ์ว่างๆ หรือความไม่มีอะไรอันเป็นการเจริญอรูปฌาน หรือดับความรับรู้คือดับจิตจนเหลือแต่รูปกายแข็งทื่อไร้ความรู้สึกอยู่ อันเป็น วิธีการที่จะนำไปเกิดเป็นพรหมลูกฟักหรือกำเนิดในอสัญญสัตตาภูมิ เป็นต้น

มีข้อที่ควรสังเกตประการหนึ่งก็คือ การปรุงแต่งสติ ศีล สมาธิ ปัญญา และกระทั่งวิมุตตินั้น สามารถปรุงแต่งทีละส่วนได้ ทั้งที่ในความเป็นจริง องค์ธรรมฝ่ายกุศลเหล่านี้ไม่ได้แยกขาดจากกัน แต่เป็นเหตุเป็นปัจจัยเกี่ยวเนื่องกันไป โดยเฉพาะศีล สมาธิ และปัญญานั้นจะต้องเกิดร่วมกันในเวลาที่อริยมรรคเกิดขึ้น แม้ในขั้นของการเจริญบุพพภาคมรรคคือขั้นที่ลงมือเจริญสติ ก็เป็นการอบรมทั้งศีล สมาธิ และปัญญานั่นเอง ไม่ใช่เวลาหนึ่งถือศีล เวลาหนึ่งทำสมาธิ และอีกเวลาหนึ่งเจริญปัญญา ทางสายกลางเป็นทางเล็กๆ สายเดียว ท่ามกลางเส้นทางแห่งความสุดโต่งมากมาย และเป็นเส้นทางที่พบเห็นได้ยาก เนื่องจากเป็นเส้นทาง ของการไม่พักและไม่เพียร ไม่ปรุงแต่งทั้งอกุศลและกุศล จึงเป็นกุศลชั้นเลิศ พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะทรงค้นพบทางสายกลางนี้ได้ด้วยพระองค์เอง ดังพระพุทธวัจนะที่ว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทาสายกลางไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น นั่นตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน"

ส่วนพวกเราผู้เป็นสาวกนั้น จะสามารถดำเนินไปตามทางสายกลางได้ถูกต้องก็ด้วยการศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจ ซึ่งบทความเรื่องนี้จะได้กล่าวถึงเส้นทางสายกลางและการดำเนินไปตามทางสายกลางในแง่มุมของการปฏิบัติโดยไม่พักและไม่เพียรต่อไป


4. จากปลายทางถึงต้นทางของการปฏิบัติธรรม

ก่อนที่เราจะพูดกันถึงเรื่องต้นทางของการปฏิบัติธรรม เราน่าจะพิจารณาถึงปลายทางที่เราปรารถนากันก่อน แล้วจึงค่อยพิจารณาย้อนทวนโดยปฏิโลมนัยเข้าหาต้นทาง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความ แน่ใจได้ว่า เมื่อรู้จักต้นทางแล้ว ต้นทางนั้นจะนำไปถึงปลายทางที่ปรารถนาได้จริง ขอเชิญติดตามการสืบสาวต้นทางของการปฏิบัติธรรมได้ดังนี้

4.1 นิพพานคือจุดหมายสูงสุดของชาวพุทธ หากศึกษาพระพุทธประวัติจะพบว่า พระโพธิสัตว์เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกแสวงหาโมกษธรรมคือความหลุดพ้นจากกองทุกข์และกองกิเลส หรือกล่าว อย่างง่ายๆ ว่าทรงแสวงหานิพพานก็ได้ และบรรดา คำสอนทั้งสิ้นของพระองค์ก็ไปจบลงที่นิพพาน ไม่มีสิ่งใดเกินไปกว่านิพพานอีก หรือแม้กระทั่ง พระอรหันตสาวกอื่นๆ หากท่านจะระบุว่าท่านประพฤติปฏิบัติธรรมไปเพื่อสิ่งใด ลงท้ายท่านก็สรุปว่า ท่านศึกษาปฏิบัติธรรมเพื่อให้บรรลุถึงนิพพานเช่นกัน เช่น ท่านพระปุณณมันตานีบุตรได้ตอบคำถามของท่านพระสารีบุตร ปรากฏในบทสนทนาอันเลื่องชื่อคือ รถวินีตสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 12 ว่า ท่านปฏิบัติธรรมมิใช่เพื่อความบริสุทธิ์แห่งศีล สมาธิ ปัญญา แม้กระทั่งวิมุตติ แต่ "(296)... ผมประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่ออนุปาทาปรินิพพาน" (หมายเหตุ พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่า อนุปาทาปรินิพพาน คือปรินิพพานที่หาปัจจัยมิได้ ที่ไม่เกิดขึ้นโดยปัจจัย ที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง ได้แก่อมตธาตุนั่นเอง)

นิพพานนั้นถ้าจำแนกโดยสภาวะก็มีประเภทเดียว ได้แก่ สันติ-ลักษณะ คือความสงบจากกิเลสและขันธ์

นิพพานนั้นถ้าจำแนกโดยอาการของขันธ์ก็มี 2 ประเภท ได้แก่ สอุปาทิเสสนิพพานหรือกิเลสนิพพาน หมายถึง ความพ้นกิเลสแต่ยังไม่สิ้นขันธ์ นิพพานชนิดนี้จะเป็นที่ประจักษ์แก่พระอรหันต์ซึ่ง จิตหลุดพ้นจากอาสวกิเลสได้อย่างเด็ดขาดเพราะความไม่ถือมั่นในรูปนาม ท่านเหล่านี้ยังมีขันธ์อยู่แต่ท่านไม่ยึดถือขันธ์ จิตของท่านพรากออกจากขันธ์ได้แล้ว หรือสำรอกขันธ์ออกได้แล้ว กับ อนุปาทิเสสนิพพานหรือขันธนิพพาน หมายถึง ความพ้นขันธ์ ซึ่งผู้ที่พ้นขันธ์ได้หมายถึงพระอรหันต์ที่มรณภาพ (นิพพาน) แล้ว ไม่มีขันธ์ให้เป็นภาระที่จะต้องบริหารจัดการอีกต่อไป

นิพพานนั้นถ้าจำแนกโดยอาการเข้าไปรู้แจ้งนิพพานก็มี 3 ประเภท ได้แก่ อนิมิตตนิพพาน คือ การรู้แจ้งถึงนิพพานได้ด้วยการเจริญวิปัสสนา รู้รูปนามโดยความเป็นอนิจจัง อัปปณิหิตนิพพาน คือ การรู้แจ้งถึงนิพพานได้ด้วยการเจริญวิปัสสนา รู้รูปนามโดยความเป็นทุกข์ และสุญญตนิพพาน คือ การรู้แจ้งถึงนิพพานได้ด้วยการเจริญวิปัสสนา รู้รูปนามโดยความเป็นอนัตตา

พวกเรานักปฏิบัติไม่ต้องมุ่งปฏิบัติเพื่อให้ รู้แจ้งขันธนิพพาน แต่ให้ปฏิบัติเพื่อรู้แจ้งกิเลสนิพพานหรือความสิ้นอาสวกิเลสก็พอ เพราะเมื่อสิ้นอาสวกิเลสแล้ว จิตใจจะมีความสุขและมีความสงบสันติเต็มเปี่ยมอยู่ในปัจจุบัน และไม่มีความกังวลไปถึงชีวิตหลังความตาย เนื่องจากผู้ที่สิ้นกิเลสแล้วย่อมรู้ดีว่ารูปนามไม่ใช่ตัวเราของเรา และไม่มีความถือมั่นในรูปนามว่าเป็นตัวเราของเรา ผู้นั้นย่อมไม่มีความวิตกหวั่นไหวว่าจะต้องสูญสิ้นรูปนาม หรือเมื่อสิ้นรูปนามแล้ว "เรา" จะมีสภาพ เป็นอย่างไร จึงไม่กังวลสนใจว่าขันธนิพพานจะเป็น อย่างไรต่อไปอีก ทั้งนี้ปัญหาเกี่ยวกับชีวิตหลัง ความตายย่อมมีอยู่เฉพาะกับผู้ที่ยังมีกิเลสเท่านั้น ส่วนการจะรู้แจ้งนิพพานได้ด้วยการเห็นรูปนามเป็นอนิจจัง หรือทุกข์ หรืออนัตตานั้น ก็เป็นเรื่องที่จิตเขาจะเป็นไปเอง ผู้ปฏิบัติมีหน้าที่ตามรู้รูปนามเรื่อยไปเท่านั้นเอง ไม่ต้องกังวลสนใจว่าตนจะบรรลุเพราะเห็นลักษณะอย่างใดของรูปนาม

4.2 นิพพานย่อมปรากฏแก่ผู้ถึงวิมุตติ

คำว่าวิมุตติหรือความหลุดพ้นนั้นพระปริยัติธรรมจำแนกไว้ 5 ชนิด คือ (1) วิกขัมภนวิมุตติ คือความ หลุดพ้นจากกิเลสชั่วคราวด้วยการข่มนิวรณ์ไว้ด้วย ฌาน (2) ตทังควิมุตติ คือความหลุดพ้นชั่วคราวด้วยธรรมที่เป็นคู่ปรับ เช่น ละความเห็นผิดว่าเที่ยงเพราะเห็นความไม่เที่ยงด้วยการเจริญวิปัสสนา เป็นต้น (3) สมุทเฉทวิมุตติ คือความหลุดพ้นด้วยตัดขาดในขณะแห่งโลกุตตรมรรค (4) ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ คือความหลุดพ้นด้วยความสงบ ระงับในขณะบรรลุโลกุตตรผล และ (5) นิสสรณวิมุตติ คือความหลุดพ้นด้วยสลัดออกได้และดำรงอยู่ในภาวะที่ดับกิเลสตลอดไปคือนิพพาน

สำหรับคำกล่าวที่ว่านิพพานย่อมปรากฏแก่ผู้ถึงวิมุตตินั้น ผู้เขียนหมายถึงวิมุตติ 3 อย่างหลัง ซึ่งมีนิพพานเป็นอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ ถึงวิมุตติจนรู้แจ้งถึงกิเลสนิพพานของพระอรหันต์ ซึ่งพระสูตรมักระบุสาเหตุของความหลุดพ้นนี้ไว้ว่า "จิตหลุดพ้นจากอาสวกิเลสเพราะความไม่ถือมั่น" เป็นการบอกไว้ในตัวเลยว่าไม่ได้หลุดพ้นเพราะฆ่า กิเลสตายหมด เนื่องจากกิเลสก็เป็นสิ่งที่เกิดดับไป ตามเหตุตามปัจจัย ไม่ต้องฆ่ามัน แต่เมื่อสิ้นเหตุสิ้นปัจจัย กิเลสก็ไม่เกิดขึ้น ดังนั้นจิตจึงไม่ได้หลุด พ้นจากอาสวกิเลสเพราะฆ่ากิเลสได้ แต่หลุดพ้นเพราะความไม่ถือมั่นในรูปนามหรือขันธ์ 5 ต่างหาก

เมื่อใดรู้แจ้งรูปนามตามความเป็นจริงก็คือหมดอวิชชา เมื่อหมดอวิชชาก็หมดอาสวกิเลส เพราะอาสวกิเลสย่อมมีได้เฉพาะกับผู้ที่ยังมีอวิชชา คือผู้ไม่รู้แจ้งในความจริงของรูปนามว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน แล้วหลงยึดมั่นในรูปนามเท่านั้น คือเมื่อยังยึดมั่นในรูปนามก็ย่อมปรารถนา ในรูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะที่ดีเพื่อให้ "เรา" พ้นจากทุกข์และมีความสุข คือยังตกอยู่ใต้อำนาจของกามาสวะ เมื่อยังยึดมั่นในรูปนามก็ยังไม่สิ้นการดิ้นรนทำงานหรือปรุงแต่งทางใจ เพื่อให้ "เรา" พ้นจากทุกข์และมีความสุข คือยังตกอยู่ใต้อำนาจของภวาสวะ และเมื่อยังยึดมั่นในรูปนามก็ย่อมแสดงว่ายังไม่รู้จักรูปนามอย่างถ่องแท้ คือยังตกอยู่ใต้อำนาจของอวิชชาสวะ

จิตของผู้ที่ยังยึดมั่นในรูปนามจะมีลักษณะในความรู้สึกเหมือนกับว่ายังมีสิ่งห่อหุ้มอยู่ ส่วนจิต ของผู้ที่ไม่ยึดมั่นในรูปนามแล้วจะมีสภาพเหมือน กับหลุดออกจากเปลือกหุ้ม จึงเป็นอิสระ ไร้รูปลักษณ์ ไร้จุด ไร้ดวง ไร้ขอบเขต และไร้ตำแหน่งที่ตั้งใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้จิตของผู้ที่หมดความยึดมั่นในรูปนาม ย่อมถึงวิมุตติ คือหลุดพ้นจากอาสวกิเลส และ รู้แจ้งถึงกิเลสนิพพานโดยอัตโนมัติ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2008, 14:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


4.3.2 วิธีทำให้เกิดวิปัสสนาปัญญา

วิปัสสนาปัญญาเป็นปัญญารู้ความจริงของรูปนามว่าเป็นไตรลักษณ์ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ทางเดียวที่จะทำให้เกิดวิปัสสนาปัญญาได้ ก็คือการตามรู้รูปนามตามความเป็นจริง หรือการเจริญวิปัสสนานั่นเอง ไม่ใช่เพ่งหรือกำหนดหรือบริกรรมเพื่อให้จิตนิ่ง ไม่ใช่ตรึงความรู้สึกไว้ที่กาย หรือใจเพราะกลัวจะขาดสติ ไม่ใช่คิดเพื่อจะทำความเข้าใจ และไม่ใช่พยายามเข้าไปแสวงหา ควบคุม หรือดัดแปลงรูปนามเพื่อบังคับรูปนามให้เป็นไปตามใจปรารถนา

เมื่อพูดถึงคำว่า "การเจริญวิปัสสนา" แล้ว จะพบว่าพระพุทธศาสนาอยู่ในภาวะที่น่าห่วงใยทีเดียว เพราะชาวพุทธจำนวนมากไม่รู้จักวิปัสสนา แม้กระทั่งคนที่ชอบเข้าวัดบางคนก็ยังตั้งคำถามว่า "จะนั่งวิปัสสนาได้อย่างไร?" ที่ถามอย่างนี้ก็เพราะคิดว่าวิปัสสนาคือการนั่งหลับตาแล้วออกรู้เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ พอตอบว่า "ให้นั่งด้วยความรู้สึกตัวและรู้สึกว่าสิ่งที่อยู่ในอิริยาบถนั่งนี้ไม่ใช่ตัวเรา" ก็มักจะงงไปเลยเพราะไม่เคยศึกษาเรื่องวิปัสสนามาก่อน หรือบางท่านก็มาถามว่า "ควรจะเดินวิปัสสนาท่าไหนจึงจะถูกต้อง?" ที่ถามอย่างนี้ก็เพราะคิดว่าวิปัสสนามีท่าเดินที่เหนือธรรมดา พอตอบว่า "เดินท่าไหนก็ได้ที่เคยเดินอยู่นั่นแหละ แต่ให้เดินด้วยความรู้สึกตัวและรู้สึกว่าสิ่งที่เดินอยู่นี้ไม่ใช่ตัวเรา" พอตอบซื่อๆอย่างนี้บางคนกลับเห็นว่าพระไม่เต็มใจสอนกรรมฐานให้ก็มี

ขอให้เพื่อนชาวพุทธสนใจศึกษาเรื่องการเจริญวิปัสสนาให้มากๆ เพราะวิปัสสนาเป็นมรดกธรรมอันล้ำค่าที่พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้ให้พวกเรา นานๆพระพุทธเจ้าจึงเสด็จอุบัติขึ้นมาสักพระองค์หนึ่ง ต่อเมื่อมีพระพุทธเจ้าจึงจะมีคำสอน เรื่องการเจริญวิปัสสนา ดังนั้นเมื่อมีโอกาสศึกษาเรื่องวิปัสสนาแล้ว ก็ควรตั้งใจศึกษาให้ดี อย่าหยุด การพัฒนาตนเองอยู่เพียงขั้นการทำทาน การรักษาศีล และการทำความสงบจิต โดยไม่สนใจที่จะศึกษาเรื่องการเจริญวิปัสสนา

แท้จริงการเจริญวิปัสสนาไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยาก อะไรเลย ถ้าเข้าใจหลักการที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ไว้แล้ว จะพบว่าวิปัสสนาเป็นเรื่องที่ทำง่ายที่สุด และทำได้แทบตลอดเวลา ยกเว้นในเวลาที่หลับและในเวลาที่ต้องใช้ความคิดเท่านั้น

หลักการสำคัญของการเจริญวิปัสสนา มีดังนี้คือ

1) ต้องรู้อารมณ์ที่ถูกต้อง เมื่อการเจริญวิปัสสนาทำไปเพื่อให้เกิดปัญญารู้ความเป็นจริงว่า สิ่งที่ประกอบกันเป็นตัวเรานั้น แท้จริงก็คือสิ่งที่เป็น รูปธรรมและนามธรรมนี่เอง ดังนั้นการเจริญวิปัสสนาจึงต้องทำด้วยการคอยตามรู้รูปนามหรือกายกับใจของตนเองเนืองๆ เพื่อให้เห็นความจริงว่า เราไม่มี มีแต่รูปกับนาม และรูปนามก็เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตาด้วย ดังนั้นอารมณ์ของวิปัสสนา หรือสิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะต้องมีสติตามรู้เนืองๆ ก็คือรูปนาม/ขันธ์ 5 หรือกล่าวตามภาษาสามัญซึ่งไม่ตรงกับคำว่ารูปนามทีเดียวนักว่า กายกับใจ ซึ่งเรามีกันอยู่แล้วนี่เอง จะไปรู้อย่างอื่นแทนรูปนามไม่ได้

พระพุทธเจ้าทรงประมวลอารมณ์รูปนามไว้ให้ พวกเราใช้เจริญวิปัสสนาหลายอย่าง ปรากฏใน คำสอนเรื่องสติปัฏฐาน ได้แก่ (1) กายานุปัสสนาสติปัฏฐานบางบรรพ ที่ขอแนะนำให้เพื่อนนักปฏิบัติสนใจให้มากคืออิริยาบถบรรพและสัมปชัญญบรรพ ส่วนที่เจริญได้ยากคืออานาปานสติบรรพเพราะพลิกเป็นสมถะได้ง่าย กับธาตุมนสิการบรรพ ซึ่งรู้ได้ยาก ส่วนอารมณ์ในบรรพอื่นใช้ทำสมถกรรมฐาน (2) เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานทุกบรรพ (3) จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานทุกบรรพ แต่ให้ระวังอย่าไปหลงเพ่งช่องว่างและเพ่งความไม่มีอะไรเข้า เพราะจะกลายเป็นการทำสมถะไป และ (4) ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ทุกบรรพ

เรื่องอารมณ์ในสติปัฏฐานนี้พวกเราต้องระวังเหมือนกัน เพราะมีอารมณ์ของสมถกรรมฐานปนอยู่ด้วย ไม่ใช่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาทั้งหมด เนื่องจากบุคคลบางท่านเหมาะที่จะดำเนินในแนวทางของสมถยานิก พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนอารมณ์ของสมถะไว้ด้วยบางอย่าง ซึ่งเมื่อ ปฏิบัติไปแล้วจิตจะรวมเข้าถึงอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ เมื่อจิตถอนออกจากอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิแล้ว ก็ให้มีสติระลึกรู้ลักษณะของ รูปนามเพื่อเจริญวิปัสสนาต่อไป


จุดที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ พวกเราบางคนสงสัยว่าเราควรจะเลือกเจริญสติปัฏฐานโดยการ (1) รู้กาย หรือเวทนา หรือจิต หรือธรรม อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ (2) รู้อะไรก็ได้ในปัฏฐานทั้ง 4 นี้ หรือ (3) ควรรู้ไปตามลำดับทั้ง 4 ปัฏฐาน

เรื่องนี้ขอเรียนว่าเราควรพิจารณาตนเองว่าเรามีจริตนิสัยอย่างไร แล้วเลือกอารมณ์ให้เหมาะ-สมกับจริตนิสัยของเราเอง ทั้งนี้จริตที่ใช้พิจารณาอารมณ์ในการเจริญวิปัสสนามีเพียง 2 จริต คือ ตัณหาจริต ได้แก่ ผู้ที่มักติดใจในอารมณ์ที่สวยงาม และมีความสุขกับ ทิฏฐิจริต ได้แก่ ผู้ที่มักมีความเห็นเกี่ยวกับอารมณ์ต่างๆ เช่น สิ่งนี้ควรแก่เรา สิ่งนี้ไม่ควรแก่เรา สิ่งนี้ถูก สิ่งนี้ผิด สิ่งนี้ดี สิ่งนี้เลว สิ่งนี้หยาบ สิ่งนี้ประณีต เป็นต้น บุคคลประเภทแรกเป็นพวกที่มีความอยากในอารมณ์ที่ดีนำหน้า จึงรักสนุก รักสบาย รักสงบ แต่บุคคลประเภทหลังมีความยึดในความเห็นนำหน้า จึงชอบคิด ชอบวิพากษ์วิจารณ์ ชอบตัดสิน มีมาตรฐานในการตัดสินผู้อื่นและสิ่งอื่นอยู่เสมอ หรือเป็นพวกเจ้าลัทธิอุดมการณ์ต่างๆ

ผู้มีตัณหาจริตเหมาะที่จะเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะจะทำให้เห็นได้ง่ายว่ากายไม่ใช่ของสวยงามที่น่าติดใจอะไร และเหมาะกับเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะจะทำให้เห็นว่า ในความเป็นจริงแล้วความทุกข์เกิดขึ้นเนืองๆ กายและเวทนาจึงเป็นกรรมฐานที่ใช้ปราบพวกตัณหาจริตโดยตรงทีเดียว

ผู้มีทิฏฐิจริตเหมาะกับการเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะจะทำให้เห็นได้ง่ายว่าจิตไม่เที่ยง มีความเกิดดับอย่างรวดเร็วตลอดเวลา เมื่อจิตไม่เที่ยงเสียแล้ว ความปรุงแต่ง อื่นๆ ก็ไม่เที่ยงไปทั้งหมด ไม่น่าจะจริงจังกับความคิดความเห็นซึ่งเป็นแค่ของลวงโลกที่คิดๆ ขึ้นมา แล้วยึดถือเอาไว้ก่อทุกข์ให้ตนเอง และเหมาะกับธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะจะเห็นได้ง่ายว่าธรรมทั้งหลายเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้ ไม่ใช่ตัวเราของเราและบังคับบัญชาไม่ได้ จิตและธรรมจึงเป็นกรรมฐานที่เหมาะกับคนเจ้าทิฏฐิหรือพวกที่ยึดมั่นใน "ความเห็นว่าเป็นตัวกูของกู" โดยตรงทีเดียว

ผู้มีตัณหาจริตมีอารมณ์ 2 อย่างคือกายกับเวทนา คือถ้าเป็นผู้ที่ปัญญายังไม่แหลมคมไม่สามารถตัดวางอารมณ์ได้ง่ายๆ ก็ควรจะเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน บรรพที่แนะนำคืออิริยาบถบรรพและสัมปชัญญบรรพ ส่วนผู้ที่มีปัญญาแหลมคมก็เหมาะสมกับเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ผู้มีทิฏฐิจริตก็มีอารมณ์ 2 อย่างเช่นกัน คือถ้าเป็นผู้ที่ปัญญายังไม่แหลมคม ก็ควรเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะทำได้ง่ายกว่าธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานซึ่งเหมาะกับผู้มีปัญญากล้า

เพื่อนนักปฏิบัติบางท่านมีความเห็นว่า ในยุค นี้พวกเราควรเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเท่านั้นเพราะ (1) กายเป็นของหยาบ รู้ได้ง่ายกว่าจิต (2) อาจารย์สอนกรรมฐานที่ใช้กายานุปัสสนา-สติปัฏฐานยังมีอยู่มาก แต่อาจารย์ที่ชำนาญทางจิตพอจะเป็นที่พึ่งพาหาไม่ได้แล้ว และ (3) คนยุคนี้มีเครื่องปรนเปรอทางวัตถุมาก แสดงว่า เป็นตัณหาจริตเป็นส่วนใหญ่

ผู้เขียนยังไม่ค่อยเห็นด้วยกับการวิเคราะห์เช่นนี้ กล่าวคือ

(1) เรื่องที่ว่ากายรู้ได้ง่ายกว่าจิตนั้น มีความจริงอยู่เหมือนกัน แต่กายที่รู้ได้ง่ายนั้นเป็นเพียงบัญญัติของกาย เช่น นี่แขน นี่ขา นี่มือ นี่เท้า นี่ท้อง นี่ลมหายใจ นี่รูปยืนไม่ใช่เรายืน นี่รูปเดินไม่ใช่เราเดิน นี่รูปนั่งไม่ใช่เรานั่ง นี่รูปนอนไม่ใช่เรานอน ฯลฯ ในขณะที่รูปปรมัตถ์รู้ได้ยากมาก เช่น การจะมีสติมีปัญญาเห็นว่ากายที่นั่งอยู่นี้เป็นรูป ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะต้องรู้ด้วยความรู้สึกจริงๆ ไม่ใช่รู้ด้วยการคิดว่านี่เป็นรูปนั่งไม่ใช่เรานั่ง ความยากของการรู้รูปนี้เองทำให้การเจริญกายานุปัสสนา- สติปัฏฐานเหมาะสำหรับสมถยานิก คือผู้ปฏิบัติต้อง มีจิตที่ตั้งมั่นอย่างมากจึงจะมีกำลังพอที่จะเห็นรูปปรมัตถ์ได้ง่าย ก็พวกเราในยุคที่ชีวิตมีเรื่องสับสนวุ่นวายมากมาย จะมีสักกี่คนที่ทำสมถกรรมฐานได้ จนถึงฌาน เพื่อเอาเป็นบาทฐานในการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เมื่อไม่มีกำลังความสงบพอ พอไปรู้กายก็มักจะเพ่งกาย กำหนดกาย หรือส่งจิตถลำเข้าไปจมแช่นิ่งๆ อยู่กับกาย หรือคิดถึงกายว่าเป็นรูปซึ่งก็เป็นเพียงการบัญญัติถึงรูปปรมัตถ์

ผู้เขียนเห็นว่าการจะรู้รูปปรมัตถ์หรือนามปรมัตถ์ได้ง่ายหรือยาก อยู่ที่จริตนิสัยอย่างหนึ่ง และอยู่ที่การเคยฝึกฝนอบรมมาในอดีตอีกอย่างหนึ่ง คือถ้าเป็นตัณหาจริตและเคยอบรมมาในทาง กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็จะพบว่าการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่ง่ายมาก ถ้าเป็น ทิฏฐิจริตและเคยอบรมมาในทางจิตตานุปัสสนา-สติปัฏฐาน ก็จะพบว่าการเจริญจิตตานุปัสสนาสติ-ปัฏฐานเป็นเรื่องที่ง่ายมาก

(2) การที่เห็นว่าผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะอาจารย์กรรมฐาน ที่สอนกายานุปัสสนาสติปัฏฐานมีอยู่มาก และหาอาจารย์ที่สอนจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานซึ่งเชี่ยวชาญในเรื่องจิตไม่ได้นั้น ผู้เขียนกลับเห็นว่าเราควรเจริญกรรมฐานให้เหมาะกับจริตของตน ไม่ใช่ปรับการปฏิบัติของตนตามอาจารย์ซึ่งปรับกัน ไม่ได้จริง คล้ายกับที่เราควรปรับขนาดของเสื้อผ้าให้เข้ากับรูปร่าง ไม่ใช่ปรับรูปร่างให้เข้ากับเสื้อผ้า ดังนั้นถ้าหาอาจารย์สอนทางจิตไม่ได้ก็ควรศึกษากับพระศาสดาของพวกเราซึ่งยังดำรงอยู่ ทำนองเดียวกับที่พระจูฬปัณถกะได้พึ่งพาพระศาสดา เมื่อถูกพระมหาปัณถกะขับไล่เพราะท่านเรียนกรรม-ฐานกับพระมหาปัณถกะไม่สำเร็จ เวลานี้พระศาสดา ของพวกเราก็คือพระธรรมวินัย ดังนั้น ถ้าหาอาจารย์ที่สอนจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานไม่ได้ ก็ควรศึกษาจากพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่าท่านสอน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานไว้อย่างไรบ้าง หากศึกษาเข้าใจแล้วก็พอจะปฏิบัติไปได้ด้วยตนเอง หมายความว่าถ้าหากัลยาณมิตรคืออาจารย์ไม่ได้ ก็ต้องศึกษาพระพุทธวัจนะและใช้โยนิโสมนสิการให้มาก เพราะการปฏิบัติธรรมโดยวิธีที่ไม่ถูกกับจริตนั้นมักจะไม่ได้ผล

(3) การชี้ขาดว่าคนในยุคนี้เป็นพวกตัณหา-จริตเพราะมีวัตถุมากนั้น เป็นเพียงทัศนะส่วนบุคคล ซึ่งอาจจะถูกหรือผิดก็ได้ เพราะไม่มีหลักฐานรองรับในพระไตรปิฎก และไม่มีงานวิจัยภาคสนาม มารองรับด้วย แต่ในทัศนะของผู้เขียนกลับเห็นว่า ไม่ว่ายุคสมัยใดก็น่าจะมีทั้งผู้ที่เป็นตัณหาจริตและทิฏฐิจริต แม้ในยุคของพวกเรานี้ก็พบว่ามีคนจำนวนมากทีเดียวที่เป็นพวกเจ้าทิฏฐิ ชอบคิด ชอบโต้แย้ง ชอบแสวงหาความจริง มีหลายคนที่ทะเลาะกันเพราะอุดมการณ์ทางการเมืองขัดกัน หรือเด็กรุ่นใหม่แม้จะพอใจในขนมและของเล่นที่พ่อแม่หามาให้ แต่ก็มักพอใจที่จะถามเหตุผลหรือมีความคิดเห็นเป็นของตนเองอยู่เสมอ เป็นต้น

สรุปแล้วผู้เขียนเห็นว่า ผู้ปฏิบัติพึงพิจารณาตนเองว่ามีจริตนิสัยอย่างไร แล้วเลือกอารมณ์กรรมฐานให้เหมาะสมกับตนเอง ถ้าเห็นว่าตนเองมีตัณหาจริตก็ควรศึกษาอบรมจิตให้ตั้งมั่นแนบ-แน่นในความสงบ แล้วจึงเจริญกายานุปัสสนาสติ-ปัฏฐาน ถ้ามีทิฏฐิจริตก็ควรเจริญจิตตานุปัสสนา-สติปัฏฐานไปได้เลย แต่ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติ เราควร (1) ศึกษาลักษณะของอารมณ์รูปนามให้ชัดเจน และ (2) ศึกษาวิธีการเจริญสติปัฏฐานที่เป็นวิปัสสนา เพื่อให้รู้วิธีการเจริญวิปัสสนาอย่างถ่องแท้เสียก่อน เพราะถ้าไม่ศึกษาทั้งสองเรื่องนี้ให้ดี โอกาสปฏิบัติผิดพลาดจะมีสูงมาก เพราะทางแห่งความผิดพลาด มีอยู่นับร้อยนับพัน เช่น ไปหลงเพ่งกายและเพ่งจิต หรือไปตรึงความรู้สึกไว้ที่กายและจิตเพราะต้องการ ให้เกิดความรู้ตัวทั่วพร้อม หรือไปคิดเรื่องกายและจิต หรือไปดูเรื่องราวความคิดแทนที่จะรู้อาการที่จิตคิด เป็นต้น ในขณะที่ทางสายกลางมีเพียงเส้นทางเล็กๆ เฉพาะตัวเส้นเดียวเท่านั้น และเป็นเส้นทางที่เราไม่ค่อยจะคุ้นเคยเสียด้วย

อนึ่ง การเจริญสติปัฏฐานนี้ เราทำไปเพื่อประโยชน์สองประการ คือเพื่อให้เกิดสติอย่างหนึ่ง และเพื่อให้เกิดปัญญาอีกอย่างหนึ่ง ดังจะกล่าวต่อไปในหนังสือเล่มนี้ นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้เขียนเรื่องอารมณ์รูปนามและวิธีเจริญสติปัฏฐานที่เป็นวิปัสสนาไว้มากแล้ว ขอให้เพื่อนนักปฏิบัติที่สนใจ หาอ่านได้จากหนังสือ ประทีปส่องธรรม ผู้เขียนขออนุญาตไม่เขียนซ้ำในที่นี้อีก


2) ต้องมีวิธีการรู้ที่ถูกต้อง เมื่อเราต้องการรู้ความจริงเกี่ยวกับรูปนาม เราก็ไม่มีทางอื่นสำหรับการเรียนรู้ นอกจากการตามรู้รูปนามเข้าไป ตรงๆ เลยทีเดียว วิธีการตามรู้มีหลักการสำคัญอยู่หลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรู้รูปนาม ต้องปลอดจากตัณหาและทิฏฐิ คือ

ก่อนรู้ อย่าพยายามจะรู้ด้วยความอยากรู้ หรือเห็นว่าการรู้จะต้องมีวิธีการรู้อย่างนั้นอย่างนี้ที่เหนือธรรมดาตั้งมากมาย เช่น ต้องเดินท่านั้น ต้องนั่งท่านี้ ต้องหายใจอย่างโน้น ต้องกำหนดอย่างนี้ ต้องตั้งจิตไว้ตรงนั้น และต้องจงใจส่งสติเข้าไปนอนแช่อยู่กับอารมณ์ทางทวารทั้ง 6 เป็นต้น

ระหว่างรู้ ต้องระวังตัณหาและทิฏฐิเข้าแทรก เช่น อยากจะรู้ให้ชัดยิ่งขึ้นทำให้เกิดการเพ่งจ้องหรือ การส่งจิตเข้าไปจมแช่อยู่กับอารมณ์ คล้ายกับคนที่ชะโงกดูสิ่งของที่จมอยู่ก้นบ่อน้ำจนตกน้ำเสียเอง และแม้จะตกน้ำแล้วก็ยังไม่รู้ตัวเพราะรู้สึกว่ายังเห็น อารมณ์ปรากฏอยู่ต่อหน้าต่อตาชัดเจน การรู้เช่นนี้ เป็นการหลงรู้หรือถลำรู้ด้วยอำนาจตัณหาคืออยาก รู้ให้ชัดยิ่งขึ้นบ้าง ด้วยอำนาจของทิฏฐิที่เห็นว่าต้อง ส่งจิตเข้าไปจมแช่กับอารมณ์จึงจะเรียกว่ามีสติบ้าง แท้จริงสติทำหน้าที่แค่ระลึกรู้เท่านั้น เขาจะรู้ได้ชัดขนาดไหนเป็นเรื่องของเขา ผู้ปฏิบัติไม่มีหน้าที่เคี่ยวเข็ญให้สติรู้อารมณ์ให้ชัดยิ่งขึ้น เพราะจะพลาดไปเป็นการเพ่งจ้องหรือถลำรู้ด้วยอำนาจบงการของตัณหาและทิฏฐิ อนึ่ง การรู้นี้หากรู้ได้ถูกต้องจริงๆ คือปราศจากการครอบงำของตัณหา และทิฏฐิ สภาวะแห่งการรู้จะมีลักษณะสักว่ารู้ เหมือนคนที่ดูละครอยู่นอกเวที และเหมือนคนที่ยืนอยู่บนตลิ่งแล้วเห็นสายน้ำไหลผ่านหน้าไป

เมื่อรู้แล้ว อย่าเข้าไปแทรกแซงจิตหรืออารมณ์ ด้วยอำนาจบงการของตัณหาและทิฏฐิ เช่นอยากละอกุศล อยากให้เกิดปัญญาจนแอบไปช่วยคิดพิจารณาจิตและอารมณ์ อยากรักษาอารมณ์ที่ดี เอาไว้นานๆ และไม่อยากจะรู้อารมณ์ เป็นต้น

ตัณหาและทิฏฐินี่แหละจะทำให้เกิดความปรุงแต่งทางใจอีกตั้งมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่จะพา ให้เราออกนอกลู่นอกทางของการเจริญวิปัสสนาได้ทั้งสิ้น สิ่งที่จะช่วยให้เราสามารถเจริญสติได้โดย ไม่ถูกกิเลสครอบงำก็คือการศึกษาเรื่องศีลสิกขาและจิตสิกขาให้ดีเสียก่อน จนสามารถจำแนกได้ว่า ขณะนี้จิตเป็นปกติหรือจิตผิดปกติเพราะถูกกิเลสครอบงำ และขณะนี้จิตตั้งมั่นในระหว่างการรู้อารมณ์รูปนาม หรือจิตหลงไปทางทวารทั้ง 6 ด้วยแรงบงการของตัณหา 6 ประการเสียแล้ว ทั้งนี้ตัณหา 6 ประการได้แก่ความอยากดูรูป อยากฟังเสียง อยากได้กลิ่น รส สัมผัส และความอยากรู้อารมณ์ทางใจ

นักปฏิบัติต้องสังเกตให้ดีเพราะเราพลาดกันมาก โดยเฉพาะในเวลาที่เกิดคิดถึงการปฏิบัติธรรม เราจะเกิดความอยากปฏิบัติธรรม แล้วเกิดความปรุงแต่งขึ้นตั้งมากมายด้วยอำนาจของทิฏฐิที่ว่าการปฏิบัติธรรมคือการที่ต้องทำอะไรบางอย่าง เช่น จงใจตรึงความรู้สึกไว้ที่กายหรือจิตเพื่อให้สติตั้งมั่นไม่เผลอตัว หรือจงใจส่งความรู้สึกเข้าไปจมแช่อยู่กับอารมณ์ที่กำลังปรากฏทางทวารทั้ง 6 เพราะสำคัญผิดว่าต้องเอาสติเข้าไปแช่ไว้ในอารมณ์ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำด้วย อำนาจบงการของตัณหาและทิฏฐิทั้งสิ้น

แท้จริงสติจะต้องเกิดขึ้นเอง ไม่ใช่จงใจทำให้ เกิด และไม่ใช่พยายามบังคับตนเองไม่ให้ขาดสติ จริงอยู่สติมีหน้าที่จับอารมณ์ให้มั่น แต่การส่งสติเข้าไปจมแช่อยู่กับอารมณ์เป็นความสำคัญผิด แท้จริงสติก็เกิดดับอยู่เป็นขณะๆ พร้อมๆ กับจิต จะให้สติเกิดต่อเนื่องอยู่นานๆ โดยจงใจส่งสติเข้า ไปนอนแช่อยู่กับอารมณ์ไม่ได้ สติมีหน้าที่จับอารมณ์ให้มั่นโดยการระลึกรู้อารมณ์ที่มาปรากฏเท่านั้นเอง และต้องทำงานประสานกับสัมมาสมาธิ และปัญญาด้วย การส่งสติเข้าไปแช่อยู่กับอารมณ์ เป็นการเพ่งจ้องอารมณ์ นับว่าขาดสัมมาสมาธิ และขณะนั้นโมหะจะเข้าแทรกคือลืมตัวเอง เรียกว่าขาด ปัญญาหรือขาดอสัมโมหสัมปชัญญะ ถ้าเราได้ศึกษาเรื่องศีลสิกขาและจิตสิกขาให้ดีเสียก่อน เราจะไม่พลาดในเรื่องเหล่านี้

น่าเสียดายที่เพื่อนนักปฏิบัติจำนวนมากมอง ข้ามการศึกษาเรื่องศีลสิกขาและจิตสิกขา จึงไปคิดว่าศีลสิกขาเป็นเรื่องแค่การสมาทานศีล แล้วละเลยอินทรียสังวรศีลอันเกิดจากการมีสติรู้ทันความยินดียินร้ายของจิตเมื่อกระทบอารมณ์ จนจิตเกิดความเป็นปกติคือไม่ถูกกิเลสครอบงำ บางท่านก็ละเลยจิตสิกขา จึงไปคิดว่าการนั่งสมาธิทำความสงบจนลืมเนื้อลืมตัวคือจิตสิกขาบ้าง หรือเห็นว่าไม่ต้องศึกษาจิตสิกขาแต่ข้ามไปเจริญปัญญาสิกขาเลยทีเดียวก็ได้แล้วสัมมาสมาธิจะเกิด ขึ้นเอง แท้จริงแล้วไม่ว่าจะดำเนินในแนวทางของสมถยานิกหรือวิปัสสนายานิกก็ต้องศึกษาไตรสิกขาให้ครบ จะมาตัดบทเรียนของพระพุทธเจ้าออกตามใจชอบไม่ได้ ตัวจิตสิกขานั้นเราต้องศึกษา จนรู้จักว่า จิตที่มีสัมมาสมาธิคือมีความตั้งมั่นในการ รู้อารมณ์รูปนามมีลักษณะอย่างไร ถ้าไม่ศึกษาเราจะหลงเพ่งหรือหลงกำหนดรูปนาม ไม่สามารถ จะระลึกรู้รูปนามตามความเป็นจริงได้เลย

ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับวิธีการรู้ที่ถูกต้องอีกอย่างหนึ่งก็คือ หากผู้ปฏิบัติรู้จักสภาวะของรูปนาม และตามรู้รูปนามด้วยวิธีการที่ถูกต้องแล้ว จะพบว่าการเจริญปัญญาหรือเจริญวิปัสสนาด้วยการรู้รูป และรู้นามมีความแตกต่างกันเล็กน้อย คือเราจะรู้ลักษณะของรูปที่กำลังปรากฏในปัจจุบัน แต่เรารู้นามได้ด้วยการตามรู้ถึงนามที่เพิ่งดับไปสดๆ ร้อนๆ

อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ถ้ารู้เข้าถึงตัวสภาวะจริงๆ ของรูปนามแล้ว เราจะต้องเห็นไตรลักษณ์ คือ เห็นว่ารูปนามนั้นไม่เที่ยงหมายถึงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปหรือมีแล้วก็ไม่มี เป็นทุกข์หมายถึงทนอยู่ไม่ได้ และเป็นอนัตตาหมายถึงว่าบังคับไม่ได้และไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา หากรู้สภาวะของ รูปนามได้แล้ว แม้ไม่อยากจะเห็นไตรลักษณ์ก็ต้องเห็น ไม่จำเป็นต้องอยากเห็นหรือพยายามจะเห็นไตรลักษณ์แต่อย่างใด เช่น ไม่ต้องพยายามคิดว่ารูปนามนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวเรา ยิ่งพยายามจะคิดก็จะยิ่งพลาดจากการรู้รูปนามไปเป็น การรู้เรื่องที่คิด อันเป็นอาการที่จิตตกจากอารมณ์ของวิปัสสนาไปแล้ว

เรื่องเกี่ยวกับการเจริญวิปัสสนานี้ ผู้เขียนได้เขียนไว้มากแล้วในหนังสือประทีปส่องธรรม และเพื่อนนักปฏิบัติก็ได้ช่วยกันพิมพ์แจกจ่ายกันอ่านในหมู่ผู้ปฏิบัติไปมากพอสมควรแล้ว จึงขอให้ท่าน ที่สนใจลองหาอ่านเอาได้ หรือจะศึกษาจากตำราเรียนพระอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ 9 ก็ได้ ถ้าเราปฏิบัติโดยไม่ศึกษาเสียก่อน เราอาจจะไปหลงเพ่ง หลงกำหนด หลงบริกรรม หลงตั้งท่าปฏิบัติ หลงแสวงหาอารมณ์รูปนาม และหลงแทรกแซงอารมณ์ได้ง่ายๆ ทีเดียว เพราะเราเคยชินที่จะ "ทำ" ไม่เคยชินที่จะ "รู้ตามความเป็นจริง" หรือเคยชินที่จะ "ปรุงแต่ง" ไม่เคยชินที่จะ "รู้ทันความปรุงแต่ง"

3) ต้องรู้เนืองๆ คือต้องตามรู้รูปนามเรื่อยๆไป ไม่ใช่รู้เพียงครั้งสองครั้งก็จะเรียกหามรรคผลนิพพานกันแล้ว ในสังสารวัฏนี้เราพอกพูนความรู้ผิดเข้าใจผิดเอาไว้มาก ดังนั้นกว่าจิตจะยอมจำนน กับข้อเท็จจริงที่ว่า "เราไม่มี มีแต่รูปนาม และ รูปนามไม่เที่ยง เป็นทุกข์ หรือเป็นอนัตตา" ได้ ก็ต้อง หมั่นป้อนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรูปนามให้จิตดูเนืองๆ จนจิตยอมรับความจริงด้วยปัญญา ไม่ใช่ด้วยการ น้อมใจเชื่อโดยการคิดพิจารณา หรือด้วยการบังคับจิตให้เชื่อ แท้จริงการเจริญวิปัสสนาก็คือการ เอาของจริงคือรูปกับนามมาให้จิตดู จนจิตยอมจำนนกับข้อเท็จจริง และหมดความเข้าใจผิดและความยึดถือว่ารูปนามเป็นตัวเราของเราไปเอง

4.3.3 พัฒนาการทางปัญญา การเจริญวิปัสสนาจะทำให้เกิดปัญญาไปตามลำดับ หากกล่าว ในเชิงพระปริยัติธรรมก็กล่าวได้ว่าจะเกิดวิปัสสนาปัญญาตามลำดับในโสฬสญาณ นับแต่อุทยัพพยญาณเป็นต้นไป ส่วนญาณก่อนหน้านี้ยังไม่จัดว่าเป็นวิปัสสนาญาณเพราะยังเจือด้วยความคิดอยู่ เรื่องนี้พวกเราสามารถศึกษาได้จากตำรับตำราพระอภิธรรมซึ่งเวลานี้ก็มีสำนักสอนอยู่หลายแห่ง สำหรับในที่นี้เราจะพูดกันในวงผู้ปฏิบัติ ก็อาจจะกล่าวได้ว่าปัญญามีอยู่ 3 ระดับ คือ

ปัญญาเบื้องต้น เป็นปัญญาที่รู้ว่ารูปนามมีลักษณะเป็นไตรลักษณ์ ซึ่งพระโสดาบัน และ พระสกทาคามีจะมีปัญญาในระดับนี้ คือในระดับที่รู้ว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น ทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา" กล่าวอีกนัยหนึ่ง เป็นปัญญาที่เห็นว่า "รูปนามไม่ใช่ตัวตนของตน" นั่นเอง เพราะเห็นดังนี้จึงทำลายสักกายทิฏฐิหรือความเห็นผิดว่ารูปนามเป็นตัวเราของเราลงได้

ปัญญาขั้นกลาง เป็นปัญญาในระดับพระอนาคามี คือรู้ว่า "แม้รูปนามจะมีอยู่ แต่ถ้าจิตไม่หลงเข้าไปยึดถือรูปนาม ความทุกข์ทางใจก็จะไม่เกิดขึ้น" กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การมีปัญญารู้ว่า "ถ้าจิตเป็นจิตผู้รู้ ไม่ใช่ผู้หลงผู้ไหลเข้าไปยึดอารมณ์ จิตก็ไม่ทุกข์" ปัญญาระดับนี้จะทำให้สมาธิบริบูรณ์ คือจิตที่มีปัญญาระดับนี้จะไม่หลงใหล แส่ส่าย ไปหาอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย อันจัดเป็น กามอารมณ์ แต่พอใจที่ระลึกอยู่กับจิตผู้รู้ หรือจิตที่ตั้งมั่นบริบูรณ์เป็นตัวของตัวเองอยู่ เพราะเห็น ว่าถ้าแส่ส่ายออกไปแล้วความทุกข์จะเกิดขึ้น

สำหรับปัญญาขั้นสูงนั้นจะเป็นปัญญาในระดับของพระอรหันต์ที่รู้แจ้งอริยสัจจ์อย่างบริบูรณ์ คือรู้ว่ารูปนามโดยเฉพาะตัวจิต แม้กระทั่งจิตผู้รู้นั่นแหละเป็นตัวทุกข์ล้วนๆ สมดังพระพุทธวัจนะที่ว่า "อุปาทานขันธ์เป็นตัวทุกข์" พอเห็นดังนี้ก็ปล่อย วางจิต แล้วเข้าไปประจักษ์นิพพานที่เต็มบริบูรณ์อยู่ต่อหน้าต่อตามาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เพียงแต่จิตก่อนหน้านี้ไม่มีคุณภาพพอที่จะรู้เห็นนิพพานได้อย่างแจ่มแจ้งและเข้าใจเท่านั้น


4.4 ปัญญามีสัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิด

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า วิปัสสนาปัญญาเกิดจากการเจริญวิปัสสนา หรือการตามรู้รูปนามของตนเองตามความเป็นจริง ซึ่งผู้ปฏิบัติจะตามรู้รูปนามของตนเองตามความเป็นจริงได้ ถ้าจิตมีสัมมาสมาธิคือมีความตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว หรืออยู่กับกายกับใจ แต่ถ้าจิตไม่มีสัมมาสมาธิ จิตย่อม หลงไปรู้อารมณ์อันเป็นสมมติบัญญัติ หรือหลงไปรู้อารมณ์ภายนอกทั้งปวง หรือแม้กระทั่งหลง/ไหลเข้าไปเพ่งจ้องจมแช่อยู่กับอารมณ์รูปนาม อันมีลักษณะเป็นการเพ่งอารมณ์หรืออารัมมณูปนิชฌาน ไม่ใช่การรู้ลักษณะหรือลักขณูปนิชฌานอันเป็นวิธีการเจริญวิปัสสนา ผู้ปฏิบัติย่อมไม่สามารถ จะตามรู้ลักษณะของกายและใจของตนเองได้ จึงไม่มีทางที่จะเกิดวิปัสสนาปัญญาหรือความรู้ถูกเข้า ใจถูก ว่าตัวเราไม่มี มีแต่รูปกับนาม

ก่อนที่จะกล่าวถึงสัมมาสมาธิต่อไปนั้น ผู้เขียน ขอแทรกกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างสติ สัมมาสมาธิ กับการเจริญวิปัสสนา เพื่อให้เกิดวิปัสสนาปัญญาอันเป็นตัวสัมมาทิฏฐิสักเล็กน้อย เพราะธรรมเหล่านี้มีความเกี่ยวพันกัน เกิดขึ้นมาทำงานร่วมกัน ถ้าเห็นภาพความสัมพันธ์ระหว่างธรรมเหล่านี้ก็จะช่วยให้เข้าใจสภาวะของธรรมเหล่านี้ได้ ชัดเจนยิ่งขึ้น คือในหลักคำสอนทางพระอภิธรรมมีอยู่ว่า การเจริญวิปัสสนาต้องรู้อารมณ์ปรมัตถ์ ซึ่งเป็นคำสอนที่ถูกต้องแล้ว แต่ผู้เขียนก็มีข้อสังเกตส่วนตัวว่า แม้การเจริญวิปัสสนาจะต้องรู้อารมณ์ปรมัตถ์ก็จริง แต่การรู้อารมณ์ปรมัตถ์ไม่จำเป็นต้องเป็นการเจริญวิปัสสนาเสมอไป ต้องมีวิธีรู้อารมณ์ปรมัตถ์ที่ถูกต้องด้วย จึงจะเป็นการเจริญวิปัสสนาที่แท้จริง มิฉะนั้นแล้วอาจจะเป็นเพียงการหลงเพ่งอารมณ์ปรมัตถ์ก็ได้ ซึ่งวิธีรู้อารมณ์ปรมัตถ์ที่ถูกต้องจำเป็นต้องมีทั้งสติที่ถูกต้องหรือสัมมาสติ สมาธิที่ถูกต้องหรือสัมมาสมาธิ และปัญญาที่ถูกต้องหรือสัมมาทิฏฐิ กล่าวคือ

สัมมาสติ คือ ความระลึกชอบ ต้องเกิดขึ้นเองโดยผู้ปฏิบัติไม่ได้จงใจทำให้เกิดขึ้นด้วยอำนาจ ของตัณหาและทิฏฐิ คำว่า "เกิดขึ้นเอง" นี้ไม่ได้หมายความว่าอยู่ๆ สติก็เกิดขึ้นเองได้ แต่หมายความว่า สติเกิดขึ้นเพราะมีเหตุให้เกิดขึ้น ไม่ใช่เกิดตามใจของผู้ปฏิบัติ ดังที่จะได้กล่าวต่อไปในข้อ 4.7

สัมมาสมาธิ คือ ความตั้งมั่นของจิต จะต้องเกิดร่วมกับจิตในฝ่ายกุศลเท่านั้น จิตที่มีสัมมาสมาธิ จึงต้องมีคุณสมบัติของจิตในฝ่ายกุศลครบถ้วน คือมีความเบา ความอ่อน ความไม่ถูกนิวรณ์ครอบงำ ความคล่องแคล่ว และความซื่อตรงในการรู้อารมณ์ เป็นต้น และจิตจะต้องไม่หลงคลาดเคลื่อนไปสู่อารมณ์บัญญัติ และไม่ไหลไปจมแช่อยู่กับอารมณ์ทางทวารทั้ง 6 ด้วยแรงผลักดันของตัณหาและทิฏฐิ สัมมาสมาธินี่แหละจะเป็นเครื่องสร้างความสมดุลทางจิตใจ คือเมื่อสติระลึกรู้อารมณ์นั้น สติจะจับเข้ากับอารมณ์ ถ้าขาดสัมมาสมาธิ จิตจะถลำเข้าไปจมแช่อยู่กับอารมณ์ กลายเป็นการเพ่งอารมณ์หรืออารัมม ณูปนิชฌานอันเป็นการทำสมถกรรมฐาน แต่ถ้ามีสัมมาสมาธิ จิตจะสักว่ารู้อารมณ์เหมือนคนที่ดูละครอยู่นอกเวที โดยไม่กระโจนเข้าไปจับและจมแช่อยู่กับอารมณ์ จึงจะเปิดทางให้ปัญญาเข้าใจลักษณะความเป็นจริงของรูปนาม หรือทำวิปัสสนาได้

ส่วนสัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบอันเป็นเรื่องของปัญญาหรือสัมปชัญญะ จะมีลักษณะไม่หลง รู้และเข้าใจสภาวธรรมตรงตามความเป็นจริง

ตัวอย่างเช่น ผู้ปฏิบัติอาจจะเห็นความโกรธเกิดขึ้นในจิต แล้วเพ่งจ้องใส่ความโกรธนั้น ทำอย่างนี้ความโกรธอาจจะไม่ดับไป แต่อาจจะตั้งอยู่ต่อหน้าต่อตาดังเดิม หรืออาจจะหดตัวไหลลึกเข้าไปภายใน ซึ่งผู้ปฏิบัติมักจะหลงตามดูลึกเข้าไปอีก ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะผู้ปฏิบัติขาดทั้งสติและสัมมาสมาธิ ถ้าสติที่แท้จริงเกิดขึ้น กิเลสจะต้องดับทันที เพราะสติกับกิเลสเกิดร่วมกันไม่ได้ และในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของกิเลสที่เพิ่งดับไปนั้น จิตจะต้องมีสัมมาสมาธิคือมีความตั้งมั่น เป็นอิสระ ไม่หลงไปกับความคิดหรืออารมณ์ จึงจะเกิดมีปัญญารู้ลักษณะของจิตที่มีโทสะที่เพิ่งดับไปนั้น ว่าเคยมี แล้วไม่มี เป็นต้น

ถ้าเราเข้าใจลักษณะการทำงานร่วมกันของสัมมาสติ สัมมาสมาธิ และสัมปชัญญะหรือปัญญาดีแล้ว จะทราบชัดว่าสัมมาสติทำหน้าที่ระลึกได้ว่ามีสภาวธรรมอันใดอันหนึ่งปรากฏขึ้นทางกายหรือทางใจ ระหว่างนั้นจิตจะต้องมีสัมมา-สมาธิคือต้องตั้งมั่นไม่หลงถลำไปรวมหรือจมแช่อยู่กับอารมณ์ที่สติไปสักว่าระลึกรู้เข้า เป็นการรู้อารมณ์อย่างเป็นตัวของตัวเอง ไม่หลงไปกับการรู้ แล้วปัญญาจึงจะเกิดขึ้นได้ คือเกิดความเข้าใจความเป็นจริงหรือลักษณะอันเป็นไตรลักษณ์ของอารมณ์รูปนามที่สติไประลึกรู้เข้า หากสติไประลึกรู้อารมณ์แล้ว จิตขาดสัมมาสมาธิ จิตจะถลำเข้าไปเพ่งจ้องอารมณ์ หรือตามรู้อารมณ์ไปจนลืมตัว อย่างนี้ปัญญาก็เกิดขึ้นไม่ได้ แม้จะรู้สึกเหมือนกับว่าเห็นความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ได้ แต่ก็เป็นการเห็นอย่างคนที่ตกน้ำแล้วเห็นสิ่งของที่ลอยอยู่ในน้ำ ไม่ใช่คนที่ยืนอยู่บนบกแล้วเห็นสิ่ง ของลอยอยู่ในน้ำ การรู้สองลักษณะนี้คล้ายกันสำหรับผู้ที่ไม่เคยศึกษาเรื่องจิตสิกขาจนจิตเกิดความตั้งมั่นมีสัมมาสมาธิจริงๆ แต่ต่างกันมากสำหรับคนที่เคยศึกษาเรื่องจิตจนรู้จักลักษณะของจิตที่ตั้งมั่นรู้อารมณ์ อย่างไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอารมณ์ ซึ่งแตกต่างเป็นอย่างมากกับจิตที่กระโจนเข้าไปมีส่วนได้เสียกับอารมณ์ สำหรับเรื่องของสัมมาสมาธิ มีแง่มุมที่ควรทราบเพิ่มเติมดังนี้คือ

4.4.1 ความหมายของสมาธิ

ก่อนที่จะกล่าวถึงประเภทและการทำงานของ "สัมมาสมาธิ" อันเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา พวกเราควรทำความรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า "สมาธิ" เสียก่อน ดังนี้

องค์ธรรมของสมาธิได้แก่เอกัคคตาเจตสิก คือความตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว

เอกัคคตาเจตสิก (1) มีความไม่ฟุ้งซ่านเป็นลักษณะ (2) มีการรวบรวมสหชาตธรรมเป็นกิจ คือสมาธิเป็นที่รวมของสภาวธรรมที่เกิดร่วมกัน เช่น เป็นที่รวมองค์ทั้ง 7 ของมรรคให้ทำกิจร่วมกันในการรู้รูปนามตามความเป็นจริงจนเกิดอริยมรรคขึ้น เป็นต้น (3) มีความสงบ (อุปสมะ) เป็นผล และ (4) มีสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิด

เอกัคคตาเจตสิก เป็นเจตสิก (หรือสภาวธรรม ที่ประกอบกับจิต) ชนิดที่เรียกว่าสัพพจิตสาธารณ-เจตสิก ซึ่งเป็นเจตสิกชนิดที่เกิดทั่วไปกับจิตทุกดวง จึงเกิดขึ้นได้แม้ในขณะที่จิตเป็นอกุศล ดังนั้นพวกเราจึงควรระมัดระวังในเรื่องการทำสมาธิกันให้ดี เพราะไม่จำเป็นว่าถ้าทำสมาธิได้แล้วจะเกิดปัญญาเสมอไป ต้องเป็นสัมมาสมาธิเท่านั้นจึงจะเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ส่วนสมาธิประเภทที่เกิด ร่วมกับอกุศล เช่นเกิดร่วมกับโมหะคือสมาธิประเภทลืมเนื้อลืมตัว หรือจิตเที่ยวฟุ้งซ่านออกไป รู้อะไรๆ ภายนอก และสมาธิที่เกิดร่วมกับโลภะคือ สมาธิประเภทเพลิดเพลินยินดีไปในความสุขความสงบ สมาธิเหล่านี้ไม่สามารถสนับสนุนให้เกิด ปัญญาได้ มีแต่จะกดถ่วงปิดกั้นการเจริญปัญญาเสียด้วยซ้ำไป

4.4.2 ประเภทของสมาธิ

สมาธิจำแนกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ สมาธิธรรมดาโดยทั่วไปหรือมิจฉาสมาธิ กับสมาธิ ในองค์มรรคหรือสัมมาสมาธิ

สมาธิธรรมดาหรือมิจฉาสมาธิไม่ใช่สิ่งที่ดีหรือ เลวในตัวของมันเอง เพราะสมาธิสามารถเกิดขึ้นกับจิตที่เป็นอกุศลก็ได้ และเกิดขึ้นกับจิตที่เป็นกุศล แต่ขาดปัญญาก็ได้ ความหมายของสมาธิประเภทนี้มีตั้งแต่อย่างกว้าง คือ

(1) หมายถึงเอกัคคตาเจตสิกที่ทำให้จิตทุกดวงสามารถรู้อารมณ์ได้เพียงอย่างเดียว คือทำให้ จิตจับหรือตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ได้เพียงอย่างเดียว เช่น จิตที่ทำหน้าที่ฟังก็ฟังได้อย่างเดียว คือรู้เสียง ได้อย่างเดียว จะคิดไม่ได้ เป็นต้น สมาธิในความ-หมายนี้เกิดร่วมกับจิตได้ทุกดวงทุกประเภท เพื่อนนักปฏิบัติบางท่านจึงมองข้ามความสำคัญของสัมมาสมาธิ เพราะไปคิดว่าเอกัคคตาเจตสิกคือสัมมาสมาธิ จึงเห็นว่าแม้ไม่ต้องอบรมสัมมาสมาธิ ก็มีสัมมาสมาธิอยู่แล้ว ความจริง ถ้าสัมมาสมาธิเกิดได้ง่ายอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็คงไม่ต้องทรงสอน เรื่องจิตสิกขาเอาไว้เลย ในความเป็นจริง สัมมาสมาธิไม่ได้เป็นเพียงเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตทุกดวง หากแต่มีลักษณะเฉพาะบางประการ ซึ่งยากมากที่จะเกิดขึ้นได้

และ (2) ความหมายของสมาธิในอีกลักษณะหนึ่งก็คือ การที่จิตตั้งมั่นจดจ่ออยู่กับการ งานอันใดอันหนึ่ง เช่นตั้งมั่นในการอ่านหนังสือ ทำให้อ่านได้รู้เรื่องเป็นอย่างดี และตั้งมั่นในการขับรถ ทำให้ขับได้ดี เป็นต้น สมาธิในลักษณะนี้แหละที่ทำให้พวกเรามักพูดกันว่า วันนี้จิตมีสมาธิ วันนี้จิตไม่มีสมาธิ หรือพูดว่าเด็กคนนี้มีสมาธิสั้น ส่วนเด็กอีกคนหนึ่งมีสมาธิดี เป็นต้น สมาธิใน ความหมายนี้จึงไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลากับจิตทุกดวง แต่เป็นสิ่งที่ต้องฝึก ต้องพัฒนาให้มีขึ้น อย่างไรก็ตามสมาธิอย่างนี้ก็ยังไม่ใช่สัมมาสมาธิอีกเช่นกัน แต่เป็นสมาธิอย่างโลกๆ ธรรมดาๆ และเอาไว้ใช้ประโยชน์เพื่อการอยู่กับโลกเท่านั้นเอง

ยังมีสมาธิอีกอย่างหนึ่งคือสัมมาสมาธิซึ่งเป็นสมาธิในองค์มรรค สมาธิประเภทนี้แหละที่เราต้องสนใจศึกษาและพัฒนาขึ้นมาให้ได้


ลักษณะสำคัญของสัมมาสมาธิ ก็คือ

(1) ต้องเกิดร่วมกับจิตในฝ่ายกุศลเท่านั้น จะเกิดร่วมกับอกุศลจิตไม่ได้เลย เรื่องของจิตที่เป็น กุศลและอกุศลนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ผู้ใดศึกษา ลักษณะของจิตจนจำแนกได้ว่า จิตในขณะใดเป็นกุศลหรืออกุศล จะพบความจริงที่น่าตกใจว่า ในแต่ละวันกุศลจิตเกิดได้น้อยเหลือเกิน แม้แต่ในเวลาที่เราทำบุญ ตักบาตร กระทั่งทำสมาธิและ "วิปัสสนา" จิตก็ยังมักจะมีอกุศลแทรกอยู่ด้วยซ้ำไป ทั้งนี้จิตที่เป็นกุศลจะมีลักษณะรู้ ตื่น เบิกบาน สงบ สะอาด สว่าง เบา อ่อนโยน ไม่ถูกนิวรณ์ครอบงำ คล่องแคล่วว่องไว และรู้อารมณ์อย่างซื่อตรง

(2) ต้องเกิดร่วมกับองค์มรรคที่เหลืออื่นๆทั้งหมด จะเกิดโดดๆไม่ได้ เช่นถ้าขาดสติก็มีสัมมาสมาธิไม่ได้ หรือถ้าขาดสัมปชัญญะ หรือสัมมาทิฏฐิก็มีสัมมาสมาธิไม่ได้ เป็นต้น ในขณะที่สมาธิโดยทั่วไปไม่ต้องเกิดร่วมกับองค์มรรคอื่นๆ เช่นคนที่จดจ่อจะจ้องยิงคนอื่นให้ตาย เขาย่อมมีสมาธิในการยิง แต่ไม่มีสติปัญญารู้ทันจิตที่เป็นอกุศลของตน เป็นต้น

(3) ต้องเป็นความตั้งมั่นของจิตในระหว่างที่รู้อารมณ์ปรมัตถ์ เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคืออารมณ์รูปนาม จะไปตั้งมั่นในการรู้อารมณ์บัญญัติไม่ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง จิตจะต้องไม่ฟุ้งซ่าน คลาดจากอารมณ์รูปนามไปหลงอารมณ์บัญญัติ

และ (4) ความตั้งมั่นนั้น เป็นความตั้งมั่นอย่างเป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่ถลำเข้าไปตั้งจมแช่อยู่ กับอารมณ์ที่สติไประลึกรู้เข้า เพราะถ้าถลำก็เป็น การเพ่งอารมณ์หรืออารัมมณูปนิชฌานอันเป็นเรื่อง ของการทำสมถะ แต่ถ้าไม่ถลำ จิตจะมีลักษณะสักว่ารู้อารมณ์ และสติจะมีลักษณะสักว่าระลึกรู้อารมณ์ อันเป็นการทำลักขณูปนิชฌานหรือการรู้ลักษณะอันเป็นไตรลักษณ์ของอารมณ์รูปนาม ซึ่งเป็นวิธีของการเจริญวิปัสสนา จิตจะมีสภาพเปรียบ เหมือนคนที่ยืนดูละครอยู่นอกเวทีละคร หรือเหมือนคนที่ยืนอยู่ขอบบ่อแล้วมองดูสิ่งของก้นบ่อ

ขอให้เพื่อนนักปฏิบัติสังเกตถ้อยคำสองประโยคต่อไปนี้ให้ดี คือ (1) "การที่จิตถลำเข้าไป ตั้งมั่นเกาะรวมหรือนิ่งแช่อยู่กับอารมณ์" กับ (2) "การที่จิตมีความตั้งมั่นในขณะที่สติสักว่าระลึกรู้อารมณ์รูปนาม" ถ้าเข้าใจความแตกต่างระหว่างถ้อยคำสองประโยคนี้ได้ ก็จะจำแนกมิจฉาสมาธิกับสัมมาสมาธิออกจากกันได้ มิจฉาสมาธินั้นจะมีลักษณะที่จิตจดจ่อ และถลำเข้าไปรวมอยู่กับอารมณ์อย่างลืมเนื้อลืมตัว โดยไม่คลาดเคลื่อนไปสู่อารมณ์อื่น ส่วนสัมมาสมาธิมีลักษณะที่ทำให้จิตเป็นอิสระจากอารมณ์ อยู่ต่างหากจากอารมณ์ ในระหว่างที่สติสักว่าระลึกรู้อารมณ์รูปนามโดยไม่ต้องจงใจรู้ โดยจิตไม่ถลำเข้าไปเกาะเกี่ยว กับอารมณ์อันเป็นการกระทำด้วยอำนาจของตัณหาและทิฏฐิ จิตจึงเป็นมหากุศลจิต และมีลักษณะสักว่ารู้ ไม่หลงรู้และไม่หลงเข้าไปแทรกแซงอารมณ์ และสามารถรู้อารมณ์รูปนามตามความเป็นจริง อันเป็นการเจริญวิปัสสนาได้

สัมมาสมาธิเป็นตัวเปิดทางให้เกิดปัญญารู้ลักษณะของรูปนาม ตามความเป็นจริงได้ พูดง่ายๆ ก็คือสัมมาสมาธิทำให้จิตไม่ถลำเข้าไปรู้ หรือเข้าไป จมแช่ หรือวิ่งตามอารมณ์ที่สติไประลึกรู้เข้า จนไม่ สามารถ เกิดปัญญาเข้าใจลักษณะอันเป็นไตรลักษณ์ ของอารมณ์รูปนามได้ ในขณะที่สมาธิโดยทั่วไปมีลักษณะเป็นการส่งจิตเข้าไปเพ่งอารมณ์ ซึ่งมักจะเป็นอารมณ์บัญญัติ โดยจิตจะถลำเข้าไปแช่นิ่งอยู่กับอารมณ์ด้วยแรงผลักดันของตัณหาและทิฏฐิ เช่น เมื่อเกิดความอยากจะอ่านหนังสือ ก็มีสมาธิจดจ่ออยู่กับการอ่านและคิดเรื่องหนังสือนั้น เมื่อเกิดความอยากจะฟังดนตรี ก็มีสมาธิจดจ่ออยู่กับการฟังนั้น เมื่อเกิดความอยากคิด จิตก็จดจ่อและหลงเข้าไปในโลกของความคิด และเมื่อเกิดความอยากจะปฏิบัติธรรม ก็เกิดการส่งจิตไปจดจ่อ เพ่งจ้องอารมณ์อันใดอันหนึ่งที่เชื่อว่า การรู้อารมณ์ อันนั้น หรือรู้ด้วยวิธีการอย่างนั้นคือการปฏิบัติธรรม ที่ถูกต้อง เป็นต้น และไม่เพียงแต่เพ่งอารมณ์บัญญัติเท่านั้น แม้กระทั่งอารมณ์รูปนามก็ยังอุตส่าห์นำมาเพ่งกันจนได้ เช่น พอความโกรธเกิดขึ้นในใจก็เอาจิตเพ่งใส่ความโกรธ จิตในขณะนั้นจึงเป็นอกุศลคือมีโมหะ ได้แก่การที่ไม่รู้ทันสภาว-ธรรมว่ากำลังหลงเพ่ง และมีโทสะหรือไม่พอใจความโกรธ อยากให้ความโกรธดับไป เป็นต้น หรือบางท่านก็เพ่งกาย คือตรึงความรู้สึกนิ่งไว้กับกายที่เคลื่อนไหวไปมา สภาวะขณะนั้นจะมีลักษณะกาย ไหวแต่ใจนิ่งสนิทอยู่ได้นานๆ เป็นต้น

สัมมาสมาธิ 3 ระดับ

ได้กล่าวแล้วว่าสมาธิมีอยู่ 2 ประเภท คือมิจฉาสมาธิกับสัมมาสมาธิ คราวนี้จะกล่าวให้เพื่อน นักปฏิบัติฟังต่อไปอีกว่า สัมมาสมาธิยังจำแนกออกไปตามระดับของความตั้งมั่นในอารมณ์ได้อีก 3 ระดับคือ (1) ขณิกสมาธิ เป็นความตั้งมั่นชั่วขณะของจิตในการรู้อารมณ์รูปนามซึ่งเกิดดับอยู่ตลอดเวลา (2) อุปจารสมาธิ เป็นความตั้งมั่นของจิตในการรู้ปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์ แต่ยังไม่สงบแนบแน่นถึงระดับฌาน และ (3) อัปปนาสมาธิ เป็นความตั้งมั่นของจิตในการรู้ปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์ มีความสงบแนบแน่นถึงระดับฌาน ซึ่งยังแยกออกไปได้เป็นรูปฌานกับอรูปฌาน

บุคคลผู้มีตัณหาจริตคือผู้ที่มีความอยากในอารมณ์มากๆ เหมาะสมที่จะเจริญสติด้วยการตามรู้กาย สมควรฝึกฝนอบรมจิตให้ได้อัปปนา-สมาธิซึ่งมีลักษณะที่จิตเป็นหนึ่ง มีอารมณ์เป็นหนึ่ง มีปีติสุข อุเบกขา เอกัคคตา หรืออย่างน้อยก็ควรทำอุปจารสมาธิให้ได้ เมื่อจิตถอดถอนออกจากสมาธิ จิตจะเกิดมีธรรมชาติอันหนึ่ง เป็นธรรมชาติ รู้ที่ตั้งมั่นเด่นดวงแยกออกจากอารมณ์ นักปฏิบัติบางท่านนิยมเรียกว่า "จิตผู้รู้" จากนั้นจึงตามรู้ลักษณะของรูปกายโดยมีจิตผู้รู้ ย่อมจะเห็นในทันทีว่า กายเป็นรูป ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน เราเขา แต่ถ้าไม่อบรมจิตจนเกิดจิตผู้รู้ เมื่อสติระลึกรู้กายก็มักจะกลายเป็นการเพ่งกาย เช่น เพ่งลมหายใจ เพ่งมือ เพ่งเท้า เพ่งท้อง เพ่งกายทั้งกาย ที่กำลังยืนเดินนั่งนอน เป็นต้น ในคัมภีร์อรรถกถา ท่านจึงสอนว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐานเหมาะสม กับสมถยานิก คือผู้ที่ทำฌานเสียก่อนแล้ว ค่อยเจริญวิปัสสนา คือมีสติระลึกรู้รูปในภายหลังจึงจะเห็นลักษณะของรูปได้ชัดเจน

ส่วนบุคคลผู้มีทิฏฐิจริตคือผู้คิดมาก เหมาะสมที่จะเจริญสติด้วยการตามรู้จิต โดยให้หัดสังเกตความรู้สึกและอาการของจิตอยู่เนืองๆ ต่อมาเมื่อความรู้สึกหรืออาการของจิตอย่างใดที่จิตจดจำได้แม่นยำแล้วเกิดขึ้น สติจะเกิดขึ้นเอง เมื่อสติเกิดขึ้นแล้ว จิตจะตั้งมั่นมีขณิกสมาธิขึ้นเองชั่วขณะ เพียงเท่านี้ก็จะเห็นลักษณะของจิตที่เพิ่งดับไป เป็นการเจริญวิปัสสนาได้แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องทำฌานก่อน ในคัมภีร์อรรถกถาท่านจึงสอนว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานเหมาะสมกับวิปัสสนายานิก คือผู้ที่เจริญปัญญาไปก่อน แล้วจิตค่อยเกิด สมาธิแนบแน่นทีหลัง กระทั่งอัปปนาสมาธิก็เกิดขึ้นได้เองพร้อมๆกับอริยมรรค

4.4.3 บทบาทของสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิเป็นเรื่องที่สำคัญมาก สำคัญถึงขนาดเป็นหนึ่งในสามของบทเรียนทางพระพุทธศาสนา คือเรื่อง จิตสิกขา เป็นสิ่งที่เพื่อนชาวพุทธจำเป็นต้องศึกษาให้ถ่องแท้อีกบทเรียนหนึ่งทีเดียว

เมื่อใดจิตมีสัมมาสมาธิ คือมีความตั้งมั่นอยู่กับกายกับใจตนเอง เมื่อนั้นย่อมมีการเจริญวิปัสสนาแม้ไม่จงใจจะเจริญวิปัสสนา เพราะเมื่อจิตไม่หลงไปสู่อารมณ์บัญญัติทางทวารทั้ง 6 จิตย่อมจะรู้กายรู้ใจ เมื่อรู้กายรู้ใจหรือรูปนามได้แล้ว ถึงไม่พยายามจะเห็นไตรลักษณ์ก็ต้องเห็นอยู่วันยังค่ำ แต่ถ้าเมื่อใดจิตไม่ตั้งมั่นอยู่กับกายกับใจ ลืมกาย ลืมใจ เมื่อนั้นย่อมไม่สามารถเจริญวิปัสสนาได้ เพราะไม่สามารถจะรู้อารมณ์รูปนาม ได้ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า การเจริญวิปัสสนาและวิปัสสนาปัญญามีสัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิด

ถ้าจะกล่าวอีกนัยหนึ่งซึ่งซับซ้อนยิ่งขึ้นก็กล่าว ได้ว่า การเจริญวิปัสสนาเป็นการเจริญมัคคปฏิปทา หรือปุพพภาคมรรค อันเป็นต้นทางให้เกิดอริย-มรรค เครื่องมือที่ใช้ในการเจริญปุพพภาคมรรคมี อยู่เป็นอันมาก ได้แก่ องค์ธรรมในฝ่ายการตรัสรู้ทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์แห่งมรรคทั้ง 7 ที่เหลือ เช่น สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาสติ และสัมมาวายามะ เป็นต้น สัมมาสมาธินี่แหละทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในขณะที่รู้อารมณ์รูปนาม และทำ ให้องค์มรรคทั้ง 7 ที่เหลือพร้อมทั้งเจตสิกธรรมในฝ่ายที่สนับสนุนการตรัสรู้สามารถประชุมลงที่จิต เพื่อช่วยกันทำงานสนับสนุนจิตให้เกิดปัญญารู้รูปนามตามความเป็นจริงได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้จึงกล่าวได้ว่า ปัญญาเกิดจากการเจริญวิปัสสนาหรือการตามรู้รูปนาม ด้วยจิตที่ตั้งมั่นมีสัมมาสมาธิ

4.5.2 สัมมาสมาธิสำหรับวิปัสสนายานิก

ผู้เป็นวิปัสสนายานิกแม้มีสัมมาสมาธิในระดับขณิกสมาธิก็สามารถเจริญวิปัสสนาได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องทำความสงบลึกในระดับอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิเหมือนผู้เป็นสมถยานิก ที่ต้องทำความสงบลึกเสียก่อน จึงค่อยเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานหรือเวทนานุปัสสนาสติ-ปัฏฐาน อันเป็นกรรมฐานที่เหมาะกับผู้มีตัณหาจริตหรือคนโลภมาก ทั้งนี้ กรรมฐานที่เหมาะกับวิปัสสนายานิกหรือผู้ที่เจริญสติเจริญปัญญาไปเลย โดยไม่ต้องทำฌานก่อน ได้แก่ จิตตานุปัสสนาสติ-ปัฏฐานหรือธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน อันเป็นกรรมฐานที่เหมาะกับผู้มีทิฏฐิจริตหรือคนคิดมากนั่นเอง

ขณิกสมาธิเป็นสมาธิที่เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะ ไม่ตั้งอยู่นาน เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วพร้อม กับจิตและสติทีละขณะๆ เป็นสมาธิที่จำเป็นที่สุดสำหรับการเจริญวิปัสสนา เพราะเป็นความตั้งมั่น ของจิตชั่วขณะที่สติเกิดไประลึกรู้สภาวะของรูปหรือนามเข้า ทำให้ (1) จิตไม่หลงคลาดเคลื่อนไปจากอารมณ์รูปนาม ในขณะเดียวกันก็ (2) ไม่หลงเพ่งรูปนาม แต่ (3) ทำให้จิตสักว่าระลึกรู้รูปนามตามความเป็นจริงเท่านั้น

การที่จิตสักว่าระลึกรู้รูปนามตามความเป็นจริงมากเข้าๆ เป็นทางให้เกิดปัญญาคือเกิดความรู้ความเข้าใจรูปนามตรงตามความเป็นจริง ซึ่งหาก ขาดขณิกสมาธิเสียแล้ว ถ้าจิตไม่เผลอหรือคลาดเคลื่อนไปจากอารมณ์รูปนามอันเป็นปัจจุบันทำให้รู้รูปนามไม่ได้ ก็ต้องเพ่งรูปนาม ทำให้รูปนามแข็งทื่อ ผิดความจริงไม่สามารถแสดงไตรลักษณ์ให้จิตเห็นได้

สิ่งที่เป็นเหตุใกล้ให้เกิดขณิกสมาธิก็คือความสุขเช่นเดียวกับเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิอื่นๆนั่นเอง แต่ความสุขอันเป็นเหตุใกล้ของขณิกสมาธิ กลับไม่ได้เกิดจากการมีสติไประลึกรู้อารมณ์บัญญัติดังที่ใช้ในการทำให้เกิดอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ แต่เป็นความสุขอันเกิดจากการมีสติ ไประลึกรู้สภาวะของอารมณ์ปรมัตถ์คือรูปนามเข้า กล่าวให้เข้าใจง่ายๆ ขณิกสมาธิก็คือสมาธิที่เกิดขึ้น ร่วมกับสัมมาสตินั่นเอง ถ้ามีสัมมาสติเมื่อใด ก็มีขณิกสมาธิเมื่อนั้น เรื่องนี้จะได้กล่าวเพิ่มเติม
ในหัวข้อถัดไป


เมื่อทราบแล้วว่าสติเป็นต้นทางให้เกิดสัมมา-สมาธิและวิปัสสนาปัญญา ต่อไปก็ถึงปัญหาที่ว่า ก็แล้วสติเล่า เกิดขึ้นได้อย่างไร

พระอภิธรรมสอนพวกเราไว้ตรงๆ แล้วว่า ถิรสัญญาหรือการจดจำสภาวธรรมได้แม่นยำเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติ ทั้งนี้ก็เนื่องจากสติคือความระลึกได้ การที่จิตจะระลึกถึงสิ่งใดได้ จิตต้องเคยรู้จักสิ่งนั้นมาก่อน

พวกเราผู้ปฏิบัติบางท่านปรารถนาจะให้สติเกิดขึ้น ด้วยการฝึกจิตนานาวิธี เช่น พยายามกำหนดรู้อิริยาบถ หรือกำหนดรู้ความเคลื่อนไหวของกาย หรือกำหนดรู้ลมหายใจ หรือเดินกระแทกเท้าแรงๆ หรือพยายามเคาะนิ้ว หรือแม้แต่การตั้งนาฬิกาปลุก ฯลฯ โดยหวังที่จะกระตุ้นตนเองให้มีสติอยู่ตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่วิธีทำให้เกิดสติ เพราะเราทำสติให้เกิดขึ้นไม่ได้ เนื่องจากสติเองก็เป็นอนัตตาคือไม่อยู่ในอำนาจ บังคับของใคร ถ้ามีเหตุมีปัจจัยอันสมควรสติก็เกิด หากไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยอันสมควรสติก็ไม่เกิด ดังนั้นเราจึงควรทำเหตุใกล้ให้เกิดสติ คือการจดจำสภาวธรรมได้แม่นยำ แล้วสติก็จะเกิดขึ้นเอง โดยไม่ต้องจงใจทำสติขึ้นมา เช่น เมื่อจิตจดจำได้ว่าความใจลอยเป็นอย่างไร ความโลภ ความโกรธ ความสุข ความทุกข์เป็นอย่างไร พอเกิดอาการหรือความรู้สึกเหล่านี้ขึ้น สติก็จะเกิดขึ้นเองคือเกิดระลึกได้ว่าอาการและความรู้สึกเหล่านั้นเกิดขึ้นแล้ว

4.8 การตามรู้อารมณ์รูปนามเนืองๆ ทำให้จิตจำอารมณ์รูปนามได้แม่นยำ

เมื่อเราทราบแล้วว่าการจำสภาวธรรมได้แม่นยำเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติ คราวนี้ก็มาถึงปัญหาสุดท้ายที่ว่า แล้วทำอย่างไรจิตจึงจะจดจำสภาวธรรมได้แม่นยำ

จิตจะจดจำสภาวธรรมได้แม่นยำ หากจิตเคยรู้เคยเห็นสภาวธรรมนั้นบ่อยๆ เช่นเดียวกับเมื่อเราใช้เส้นทางใดบ่อยๆ เราก็จำเส้นทางนั้นได้แม่นยำ หรือถ้าเราเคยพบเคยเห็นใครบ่อยๆ เราก็จำคนคนนั้นได้แม่นยำ แต่ถ้านานๆ จึงจะใช้เส้นทางนั้นสักคราวหนึ่ง หรือนานๆ จึงจะได้พบคนคนนั้นสักคราวหนึ่ง อย่างนี้จิตก็จะจำเส้นทางหรือบุคคลนั้นไม่ค่อยได้

การที่จิตจะรู้จะเห็นสภาวธรรมได้บ่อยๆ ก็มีวิธีการซื่อๆ ตรงๆ อย่างเดียวเท่านั้น คือหมั่นตามรู้สภาวธรรมอันได้แก่รูปนามหรือกายใจตนเองบ่อยๆ จนรู้จักและจดจำสภาวธรรมนั้นๆ ได้แม่นยำ เช่น ตามรู้กายบ่อยๆ จนจำรูปยืน รูปเดิน รูปนั่ง รูปนอน รูปคู้ รูปเหยียด ฯลฯ ได้แม่นยำ หรือตามรู้ความรู้สึกสุข ทุกข์ และเฉยๆ เนืองๆ จนจิตจำความรู้สึกแต่ละชนิดได้แม่นยำ หรือตามรู้จิตที่เป็นกุศลและอกุศลเนืองๆ จนจิตจำสภาวะของกุศลและอกุศลได้แม่นยำ หรือตามรู้สภาว-ธรรมแต่ละอย่าง เช่น นิวรณ์ ขันธ์ โพชฌงค์ และอริยสัจจ์ได้แม่นยำ จนจิตจำสภาวธรรมเหล่านี้ได้แม่นยำ

การตามรู้กายมีชื่อเรียกเฉพาะว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตามรู้เวทนามีชื่อเรียกเฉพาะว่าเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตามรู้จิตมีชื่อเรียกเฉพาะว่าจิตตานุปัสสนาสติปัฏ-ฐาน และการตามรู้ธรรมมีชื่อเรียกเฉพาะว่าธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ถ้าจะพูดอย่างรวบย่อก็กล่าวได้ว่า การเจริญสติปัฏฐานนี้เองคือต้นทางของการปฏิบัติ เพราะจะทำให้จิตจดจำสภาวะของรูปนามได้แม่นยำ เมื่อรูปนามใดที่จิตจดจำได้แล้วปรากฏขึ้น สติอันเป็นสัมมาสติก็จะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ สติปัฏฐานนี้แหละเมื่อเจริญแล้วเป็นเหตุให้สติเกิดขึ้นเนืองๆ เมื่อสติเกิดขึ้นแล้ว ศีล และสัมมาสมาธิก็จะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ และเมื่อเจริญสติปัฏฐานคือการ ตามรู้รูปนามต่อไปด้วยจิตที่มีสติ มีศีล และมีสัมมาสมาธิเนืองๆ วิปัสสนาปัญญาย่อมจะเกิดขึ้นเอง ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าการเจริญสติปัฏฐานนี้มีผลให้เกิดสติกับปัญญา จนกระทั่งจิตเข้าถึงความหลุดพ้นจากอาสวกิเลสได้ด้วยความไม่ถือมั่นในรูปนามในที่สุด

ขอจบคำบรรยายเส้นทางการปฏิบัติธรรมอันเป็นทางสายกลาง ซึ่งเริ่มต้นจากปลายทางสู่ต้นทางของการปฏิบัติแต่เพียงเท่านี้ ต่อไปจะได้กล่าวถึงเส้นทางการปฏิบัติอันเดียวกันนี้ แต่กล่าวตั้งแต่ต้นทางไปสู่ปลายทาง เพื่อเพื่อนนักปฏิบัติจะได้จำเส้นทางนี้ได้แม่นยำยิ่งขึ้น เส้นทางสายนี้ถ้าเราเข้าใจได้ถ่องแท้แล้ว จะเป็นเส้นทางเพื่อความพ้นทุกข์ที่ลัดสั้นอย่างยิ่ง แต่ถ้าไม่ทำความเข้าใจให้ดี จู่ๆ ก็ลงมือปฏิบัติธรรมเอาเลย โอกาสที่จะพลาดจากเส้นทางสายนี้ก็มีมากเหลือเกิน

5.2.2 เมื่อรู้จักรูปนาม และรู้จักลักษณะของจิตที่เป็นกุศลกับอกุศล และรู้จักลักษณะของจิตที่ ตั้งมั่นกับจิตที่ไม่ตั้งมั่นแล้ว ก็ให้ตามรู้รูปนามเนืองๆ ด้วยจิตที่เป็นกุศลและตั้งมั่นเป็นกลาง เมื่อตามรู้เนืองๆ ก็ย่อมรู้จักและจดจำสภาวะของรูปนามได้ มากและแม่นยำยิ่งขึ้น สติก็จะยิ่งเกิดได้บ่อยและรวดเร็วยิ่งขึ้นๆ ทั้งนี้สติเป็นความระลึกได้ถึงสภาวธรรมคือรูปนามที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้จงใจจะรู้ ส่วนความจงใจรู้นั้นไม่ใช่สติ แต่เป็นการกำหนดหรือเพ่งจ้องด้วยแรงผลักดันของตัณหาหรือโลภะ

5.2.3 สติจะทำหน้าที่อารักขาคือรักษาจิตจากบาปอกุศลทั้งปวง ดังนั้นทันทีที่สติเกิดขึ้น อกุศลย่อมเป็นอันถูกละไปแล้ว และกุศลได้เจริญขึ้นแล้ว เมื่ออกุศลไม่มี มีแต่กุศล จิตในขณะนั้นย่อมเป็นจิตในฝ่ายกุศล และเมื่อจิตเป็นกุศล จิตย่อมปราศจากความทุกข์หรือโทมนัสเวทนา เพราะโทมนัสเวทนาเกิดร่วมกับอกุศลจิตเท่านั้น จิตจะมีได้เฉพาะโสมนัสเวทนาและอุเบกขาเวทนา ซึ่งอุเบกขาเวทนาก็นับเนื่องเข้าในความสุขได้ด้วย เพราะจิตพ้นจากความบีบคั้นของโทมนัสเวทนา ดังนั้นทันทีที่สติเกิดขึ้น ความสุขย่อมเกิดขึ้นแล้ว

5.2.4 ความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ และเมื่อความสุขนั้นเกิดจากการมีสติระลึกรู้สภาวะของรูปนามโดยไม่มีความจงใจจะรู้ สมาธิอันนี้จึงเป็นสัมมาสมาธิ คือความตั้งมั่นชอบในอารมณ์ฝ่ายกุศลที่ประกอบด้วยสติปัญญา ได้แก่ความตั้งมั่นในการรู้อารมณ์รูปนาม

5.2.5 สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา เนื่องจากเมื่อจิตมีสัมมาสมาธิ หรือมีความตั้งมั่นใน การรู้อารมณ์รูปนาม จิตย่อมสามารถเจริญวิปัสสนาอันเป็นการตามรู้รูปนามตามความเป็นจริงได้เนืองๆ จนเกิดปัญญาหรือความเข้าใจความเป็นจริงของรูปนาม ว่ารูปนามไม่เที่ยงคือเกิดแล้วก็ดับไป เป็นทุกข์คือถูกบีบคั้น และไม่ใช่ตัวตนคือบังคับไม่ได้และไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ทั้งนี้การเจริญวิปัสสนาก็คือการเจริญสติปัฏฐานเพื่อให้เกิดปัญญารู้และเข้าใจลักษณะของรูปนามตามความเป็นจริง

5.2.6 ปัญญามีหน้าที่ทำลายความหลงผิด โดยปัญญาเบื้องต้นจะทำลายสักกายทิฏฐิหรือความเห็นผิดว่ารูปนาม/ขันธ์ 5 คือตัวเรา ซึ่งผู้ที่ละความ เห็นผิดนี้ได้คือผู้ที่เป็นพระโสดาบัน เมื่อปัญญาแก่ กล้ามากขึ้นเป็นปัญญาขั้นกลางจะทำให้จิตของผู้ปฏิบัติเกิดความรู้ว่า ถ้าจิตส่งส่ายออกยึดถืออารมณ์ ทางตา หู จมูก ลิ้น และกายแล้ว จิตจะเกิดความทุกข์ขึ้น จิตของผู้ปฏิบัติในขั้นนี้จึงไม่แสวงหากามคุณอารมณ์ และพึงพอใจที่จะหยุดอยู่กับความสุขสงบภายใน โดยไม่ต้องจงใจรักษาจิตให้สงบตั้งมั่นแต่อย่างใด ผู้ที่ดำเนินมาถึงขั้นนี้คือผู้ที่ เป็นพระอนาคามี และเมื่อปัญญาแก่รอบเป็นปัญญาชั้นสูงหรือวิชชา ก็จะทำลายอวิชชาหรือความไม่รู้อริยสัจจ์ได้อย่างราบคาบ คือทำลายความไม่รู้ทุกข์ คือไม่รู้ว่ารูปนามนั่นแหละเป็นทุกข์ ไม่ใช่รูปนามเป็นทุกข์บ้างสุขบ้างอย่างที่เคยเข้าใจมา แม้แต่ตัวจิตผู้รู้เองก็เป็นของไม่เที่ยงจะทำให้เที่ยงไปไม่ได้ เป็นทุกข์จะทำให้เป็นสุขไปไม่ได้ และเป็นอนัตตาคือไม่อยู่ในอำนาจบังคับก็จะบังคับไม่ได้

เมื่อรู้ทุกข์แจ่มแจ้งแล้วสมุทัยคือความดิ้นรน ทะยานอยากของจิตที่จะแสวงหาความสุขและหลีกหนีความทุกข์ ก็เป็นอันหมดสิ้นไปอย่างอัตโนมัติ เพราะเมื่อไม่ยึดถือกระทั่งจิตแล้วจะดิ้นรนเพื่อให้จิตเป็นสุขถาวรไปทำไมกัน ยิ่งดิ้นรน ก็ยิ่งทุกข์ซ้ำซ้อน คือทุกข์เพราะมีขันธ์แล้วไม่พอ ยัง ทุกข์เพราะมีกิเลสตัณหาเพิ่มขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง เมื่อจิตปล่อยวางจิตหรือขันธ์ทั้งปวงแล้ว จิตก็ประจักษ์ ถึงนิโรธคือความสิ้นทุกข์ เพราะสิ้นขันธ์ และสิ้นภาระทางใจที่จะต้องแบกหามขันธ์อันเป็นของหนักเครื่องกดถ่วงจิตใจที่เคยแบกหามมาตลอด เวลาที่เดินทางในสังสารวัฏ จิตเข้าถึงความสงบสันติอันแจ่มจ้าบริบูรณ์เต็มเปี่ยมอยู่ต่อหน้าต่อตานี้ เอง ความสงบสันตินี้ไม่ใช่ภพอันหนึ่งที่มีการเข้าและการออก แต่เป็นสภาวะแห่งความสิ้นกิเลส และสิ้นขันธ์ที่เคยแบกหามไว้ในใจนั่นเอง และผู้ปฏิบัติ จะรู้ว่าการรู้ทุกข์ ละสมุทัย และมีนิโรธเป็นอารมณ์ นี้เองคือมรรคที่แท้จริง ส่วนการประพฤติปฏิบัติใดๆ ที่เคยทำมาเป็นเพียงต้นทางของมรรคเท่านั้น กล่าวอย่างรวบรัดก็กล่าวได้ว่า สภาวะที่ขาดจากความปรุงแต่งนั่นแหละคือมรรคที่แท้จริง ส่วนการ อบรมศีล สมาธิ และปัญญาที่ผ่านมาเป็นเพียงความ ปรุงแต่งเพื่อให้เข้าถึงความไม่ปรุงแต่งเท่านั้นเอง

เมื่อปราศจากอวิชชา จิตย่อมปราศจากกิเลส คือตัณหาอันเป็นความดิ้นรนทะยานอยากของ จิต เมื่อจิตปราศจากตัณหา การทำกรรมทางใจหรือ ภพย่อมมีไม่ได้ เมื่อไม่มีภพ ชาติหรือความปรากฏ แห่งขันธ์หรือรูปนามทั้งหลายย่อมมีไม่ได้ เมื่อไร้รูปนามย่อมไร้ทุกข์ นิพพานคือความพ้นจากทุกข์หรือความพ้นจากรูปนามก็จะปรากฏขึ้น ต่อหน้าต่อตานั้นเอง

ทั้ง 6 ขั้นตอนนี้คือทางสายกลาง อันเป็นทาง แห่งความพ้นทุกข์ ซึ่งเริ่มจากการตามรู้กาย การตามรู้ใจ จนถึงฝั่งแห่งนิพพานอันเป็นที่สุดแห่งทุกข์ในที่สุด


(3) "กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ อันยอดเยี่ยม" หมายความว่าที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ของแต่ละศาสนามีต่างๆ กัน แต่สิ่งที่เรียกว่าที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยมจริงๆ ในทางพระพุทธศาสนาคือนิพพาน ไม่ใช่กามสุข ไม่ใช่สวรรค์และพรหมโลก และการกระทำให้ถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์ก็กระทำด้วยการรู้แจ้งนิพพาน ไม่ใช่ด้วยการสร้างนิพพานขึ้นมา เพราะนิพพานเป็น สิ่งที่มีอยู่แล้ว เป็นสภาวธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ และไม่มีสิ่งใดปรุงแต่งได้ ผู้ปฏิบัติมีหน้าที่ทำให้รู้แจ้งเท่านั้น ตรงกับกิจต่อนิโรธคือ "การทำให้แจ้ง" ได้แก่การเข้าไปประจักษ์และเข้าใจถึงสภาวะของนิพพาน

แม้นิพพานจะมีอยู่แล้ว แต่ก็หาผู้ที่รู้แจ้งนิพพานได้ยากยิ่งนัก เพราะจิตของสัตว์ทั้งหลายมีแต่ความอยากในอารมณ์อยู่เสมอๆ คืออยากได้อารมณ์ที่เป็นสุข และอยากพ้นจากอารมณ์ที่เป็นทุกข์ เมื่อมีความอยาก จิตก็เกิดความดิ้นรนหรือเกิดความปรุงแต่งนานาประการ ความอยากและความดิ้นรนปรุงแต่งนี้แหละที่ทำให้จิตน้อมไปหาอารมณ์อื่นๆ จึงละเลยและมองไม่เห็นอารมณ์นิพพาน ซึ่งเป็นสภาวะที่สิ้นความอยากและสิ้นความปรุงแต่งทั้งปวง

ดังนั้นถ้าผู้ใดสามารถตามรู้รูปนามจนเกิดปัญญาเข้าใจความจริงของรูปนามว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ หรือเป็นอนัตตาแล้ว จิตจะเข้าถึงวิราคะหรือ ความสิ้นตัณหา และเข้าถึงวิสังขารหรือความสิ้นความปรุงแต่ง มีความสงบสันติ และสามารถเห็นสภาวธรรมที่พรากจากขันธ์และสงบสันติ คือนิพพานได้

(4) "ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน" หมายความว่าการจะถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์หรือบรรลุพระอรหันต์ได้นั้น ต้องมีปัญญาอันยิ่ง ไม่ใช่บรรลุเพราะสิ่งอื่น มีการทำทาน การรักษาศีล และการทำสมาธิ เป็นต้น ซึ่งคุณงามความดีทั้งหลายเหล่านั้นเป็นเพียงเครื่องสนับสนุนให้เกิดปัญญาเท่านั้น และปัญญานั้นต้องเป็นปัญญาที่เกิดจากการ รู้ลักษณะของรูปนาม ซึ่งรูปนามของแท้ย่อมปรากฏ อยู่ในปัจจุบันเท่านั้น เพราะรูปนามในอดีตก็ดับไปแล้ว ส่วนรูปนามในอนาคตก็ยังไม่เกิดมีขึ้น

ปัญญามีหลายระดับดังที่ได้กล่าวแล้วในข้อ 5.2.6 แต่ขอกล่าวซ้ำอีกครั้งหนึ่งเพราะเป็นเรื่องสำคัญมากที่เพื่อนนักปฏิบัติควรทราบ เนื่องจากเรา จะเข้าถึงความบริสุทธิ์ได้ก็ด้วยปัญญานี้แหละ คือ ปัญญาเบื้องต้น รู้ว่ารูปนามมีลักษณะเป็นไตรลักษณ์ไม่ใช่ตัวเราของเรา ทุกสิ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมต้องดับไป จิตต้องมีปัญญาในระดับนี้จึงจะบรรลุเป็นพระโสดาบันและพระสกทาคามีได้ ปัญญาขั้นกลาง รู้ว่าความทุกข์เกิดจากความยึดมั่นในรูปนาม ถ้าจิตไม่เข้าไปยึด จิตก็ไม่ทุกข์ จิตต้องมีปัญญาในระดับนี้จึงจะบรรลุเป็นพระอนาคามี ได้ ส่วนปัญญาขั้นสูงหรือปัญญาอันยิ่ง เป็นความ รู้ถ่องแท้ว่า รูปนามนั่นแหละคือตัวทุกข์ โดยเฉพาะจิตเป็นตัวทุกข์อย่างน่าอัศจรรย์จริงๆ คือไม่ต้องเข้าไปยึดอะไรจิตก็เป็นตัวทุกข์โดยตัวเองอยู่แล้ว ความจริงอันนี้รู้ได้ยากยิ่งนัก เพราะตัวจิตเองนั้นคนทั่วไปไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น และยากที่จะรู้เห็นได้ สิ่งที่รู้เห็นกันได้ก็มักจะไม่ใช่จิตแต่เป็นธัมมารมณ์อื่นๆ ส่วนพระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันจนถึงพระอนาคามี แม้จะไปรู้ไปเห็นจิตเข้า ก็จะพบว่าจิตเป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ดูจะ เป็นของดีวิเศษเสียเหลือเกิน เพราะดูประภัสสรผ่องใส มีความสุขอิ่มเอิบอยู่ในตัวเอง จึงยากที่จะเห็นว่าจิตเป็นตัวทุกข์ได้ จิตต้องมีปัญญาอันยิ่ง จึงจะเห็นว่ารูปนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตนี้เป็นตัวทุกข์ จึงจะบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้เพราะปล่อย วางความถือมั่นในรูปนามลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความถือมั่นในจิต พอจิตวางรูปนามปุ๊บ ก็ประจักษ์นิพพานในขณะนั้นเลยทีเดียว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2008, 14:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


ครั้งที่ 050
บทที่ 4 จากต้นสายถึงปลายทาง
ตอน ถ้อยคำสำคัญ 7 ประการ ในพระไตรปิฎกที่กล่าวถึงที่สุดแห่งทุกข์หรือการบรรลุพระอรหันต์

(5) "เข้าถึงอยู่" หมายความว่าจิตประจักษ์ถึงนิพพานและเข้าถึงนิพพาน แต่ไม่ได้เข้าไปอยู่ใน นิพพาน

ในทางปริยัติถือว่านิพพานเป็นธัมมารมณ์อันหนึ่งที่จิตไปรู้เข้า แต่ใครก็เข้าไปอยู่ในนิพพานไม่ได้ เพราะนิพพานไม่ใช่สถานที่ หรือสภาวะที่จะรองรับรูปนามให้ตั้งอยู่ในนิพพานได้ และพระอริยบุคคลจะเห็นนิพพานได้ ก็เมื่อเวลาที่เกิดมรรคญาณ ผลญาณ และในเวลาที่เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ

ส่วนนักปฏิบัติได้พบเห็นสภาวะที่แปลกประหลาดบางอย่าง เป็นสภาวะที่รู้เห็นได้ในเวลาปกตินี้เอง โดยไม่ต้องเกิดมรรคเกิดผลและไม่ต้อง เข้าฌานสมาบัติใดๆทั้งสิ้น คือเมื่อปฏิบัติจนจิตปล่อยวางจิตไปแล้ว จะพบว่า

(1) จิตพรากออกจากขันธ์หรือรูปนาม ไม่เกาะเกี่ยวและไม่หยั่งลงสู่รูปนาม แม้รูปนามยังมีอยู่ แต่จิตก็ไม่ได้มาซึ่งรูปนามเพราะไม่ได้เข้าไปกำหนดหมาย ดังนั้นชาติคือความเกิดหรือความได้มาซึ่งรูปนามในปัจจุบันก็มีไม่ได้ ชาติคือความเกิดต่อไปในอนาคตก็มีไม่ได้ด้วย จิตไม่มีความยินดียินร้ายหรือสำคัญมั่นหมายในรูปนาม และจิตไม่มีความยินดียินร้ายในอารมณ์ทั้งปวงด้วย

(2) ในเวลาที่มีกิจจะต้องรู้รูปนาม จิตจะเห็นความเป็นปรมัตถ์ของรูปนามโดยอัตโนมัติ เห็นรูปนามโดยความเป็นของว่างเปล่า เป็นของสูญจากความเป็นตัวตน เป็นภาพลวงตา และปล่อยให้รูปนามทำงานไปตามหน้าที่ หรือตามความเมตตากรุณาที่มีเหลืออยู่ในจิตตามความเคยชิน ส่วนในเวลาที่จำเป็นต้องรู้อารมณ์บัญญัติ ก็รู้อารมณ์บัญญัติ แต่รู้ด้วยความเข้าใจถึงความว่างเปล่าของอารมณ์บัญญัตินั้นด้วย และดำรงตนอยู่อย่างอนุโลมตามโลก แต่ก็ไม่อนุโลมจนเสียธรรม

(3) มีสภาวะที่แปลกประหลาดน่าอัศจรรย์อีกอย่างหนึ่ง คือผู้ที่ปล่อยวางจิตแล้วจะพบว่ามีสภาวะบางสิ่งซึ่งรู้ได้ด้วยจิตปรากฏอยู่ เป็นสภาวะที่สว่างรุ่งเรือง มีสันติ สงบสงัด ปราศจากขันธ์ ปราศจากกิเลส ปราศจากความเคลื่อนไหว ปราศจากรูปลักษณ์ และปราศจากความผันแปร สภาวะอันนี้ปรากฏเต็มบริบูรณ์อยู่ต่อหน้าต่อตา ในคำสอนฝ่ายเถรวาทไม่พบคำสอนเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่เซนเรียกสภาวะอันนี้ว่า "มหาสุญตา" และเรียกจิตที่ไปรู้มหาสุญตาว่าจิตเดิมแท้บ้าง หรือจิตหนึ่งบ้าง

มหาสุญตาเป็นสิ่งที่จิตไปรู้ได้ แต่ไม่มีรูปนามใดๆ ที่จะเข้าไปตั้งอยู่ในมหาสุญตาได้ แม้รูปนามมีอยู่ แต่ก็เข้าไม่ถึงมหาสุญตานี้ ปนเปื้อน เข้าไม่ได้ในมหาสุญตานี้ มหาสุญตานี้ครอบคลุมรูปนามและโลกธาตุทั้งปวงอยู่ ไม่เกิดขึ้นและไม่เคยหายไปไหน แต่หาผู้ที่รู้เห็นได้ยาก เว้นแต่ผู้ที่ปล่อยวางรูปนามได้ทั้งหมดแล้วเท่านั้น

จิตที่เข้าถึงสภาวะอันนี้จะโปร่งโล่ง กว้างขวาง ไม่มีขอบเขต ไม่มีขนาดและที่ตั้งให้เป็นเครื่องกดถ่วงบีบคั้น ปราศจากความยินดียินร้ายต่ออารมณ์ ทั้งปวง เพราะไม่ยึดถือใส่ใจในอารมณ์เหล่านั้น แม้กระทั่งมหาสุญตาก็ไม่ได้มีไว้เพื่อความยึดถือ อนึ่งเรื่องเหล่านี้ผู้เขียนเคยได้ฟังครูบาอาจารย์เล่ามา จึงนำมาเล่าต่อให้เพื่อนนักปฏิบัติได้ทราบไว้บ้างเป็นการแบ่งปันข้อมูลกัน เพราะเป็นสิ่งที่แปลก ประหลาดจนคิดไปไม่ถึง อย่างไรก็ตามเราอย่าด่วน เรียกสภาวะอันนี้ว่านิพพาน แต่เรียกว่ามหาสุญตา ก็แล้วกัน เพราะคำสอนเรื่องนี้ไม่มีปรากฏในคัมภีร์ฝ่ายเถรวาทของเรา

(6) "รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว" หมายความว่าชาติหรือความได้มาซึ่งรูปนามในชาติใหม่ไม่มีอีกแล้ว เพราะจิตปราศจากตัณหาจึงปราศจากอุบัติภพ ที่จะทำให้มีรูปนามต่อไปอีก

ส่วนรูปนามที่เหลืออยู่ในปัจจุบันชาติ ก็ยังคง ดำรงอยู่ต่อไปจนกว่าจะสิ้นวิบาก แต่เมื่อจิตปราศจากตัณหา ก็ย่อมปราศจากอุปาทานคือไม่เข้าไปตั้งไว้ หรือไม่เข้าไปยึดถือเกาะเกี่ยวรูปนามให้เกิดภาระทางใจ จิตไม่หยิบฉวยรูปนามขึ้นมาเพื่อการยึดถืออีก ดังนั้นแม้รูปนามยังมีอยู่ก็เหมือนไม่มี คือไม่มีภาระทางใจอีกต่อไป ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกว่าได้วางภาระหนักที่จิตต้องหยิบฉวยยึดถือรูปนามลงได้ สภาวธรรมภายในกับสภาวธรรมภายนอกเป็นความว่างเปล่าเสมอกัน นี้ก็เป็นความสิ้นชาติในปัจจุบัน

(7) "พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี" หมายความว่าจิตของผู้ปฏิบัติเข้าถึงความอิ่ม ความเต็ม ความพอ หมดความกระหาย และหมดความ ดิ้นรนที่จะปฏิบัติธรรมอีกต่อไป เพราะรู้ชัดว่า รูปนามไม่ใช่ตัวเราของเรา เมื่อปล่อยวางได้แล้ว ก็ไม่ต้องหยิบฉวยเอามาศึกษาให้เป็นภาระอีกต่อไป ผู้ปฏิบัติจะไม่รู้สึกว่าเราเป็นพระอรหันต์แล้ว เพราะไม่มีความสำคัญมั่นหมายใดๆ ว่าเราเป็นผู้ทรงธรรม มีแต่จิตนั่นแหละเป็นผู้ทรงธรรม ส่วนขันธ์ก็อยู่ส่วนขันธ์และเป็นไปตามปัจจัยปรุงแต่งของเขา เมื่อสิ้นขันธ์คือจิตสิ้นความสืบต่อแล้ว ธรรมก็ทรงธรรม เต็มบริบูรณ์อยู่ดังเดิมนั่นเองไม่มีขาดตกบกพร่อง แต่อย่างใดเลย

ที่กล่าวมานี้เป็นทางสายกลางที่ไม่ข้องแวะกับความปรุงแต่งอันสุดโต่งทั้งสองฝ่าย นี้เป็นทาง ข้ามภพข้ามชาติที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์สิ้นเชิงคือนิพพาน และเป็นสิ่งที่ผู้เขียนได้ยินได้ฟังมาจากครูบาอาจารย์ในสายปฏิบัติบ้าง ศึกษาจากพระปริยัติธรรมบ้าง จึงจดจำมาแบ่งปันเล่าสู่กันฟังในหมู่เพื่อนนักปฏิบัติด้วยกัน แต่ความจำของ ผู้เขียนอาจจะผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้ เพื่อนนักปฏิบัติจึงอย่าได้เชื่อถือหรือใช้อ้างอิงเป็นตำรา เพียงรับฟังเพื่อความเพลิดเพลินในธรรมและเทียบเคียงกับผลการปฏิบัติที่ทำอยู่ก็พอแล้ว


2.3 นิมิต

คำว่า "นิมิต" ในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงสิ่งที่ จิตไปรู้ไปเห็นหรือปรุงแต่งขึ้น เช่นภาพผี ภาพเปรต ภาพเทวดา เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่างๆ ตลอดจน สิ่งที่ใจไปรู้เข้าเช่นอดีตและอนาคต ซึ่งนักปฏิบัติผู้เจริญสมถกรรมฐานได้พบเห็นกันมาก แต่นิมิตในที่นี้หมายถึง "ตัวอารมณ์กรรมฐาน" นั่นเอง สามารถจำแนกได้เป็น 3 ลักษณะคือ

บริกรรมนิมิต คำว่า "บริกรรม" แปลว่าท่องบ่นหรือกำหนดไว้ในใจ ส่วนบริกรรมนิมิตได้แก่อารมณ์ของสมถกรรมฐานทั้งหมด ที่ใช้เป็นเครื่องล่อจิตให้มาสนใจอยู่ในสิ่งเดียว ไม่ฟุ้งซ่านแส่ส่ายไปสู่อารมณ์อื่นๆ เช่นเมื่อจะทำอานาปานสติ ก็ใช้ลมหายใจเป็นบริกรรม-นิมิต เมื่อจะเพ่งไฟก็ใช้ไฟเป็นบริกรรมนิมิต เมื่อจะเจริญพุทธานุสติก็ใช้ความคิดถึงคุณของพระพุทธเจ้าเป็นบริกรรมนิมิต เป็นต้น

อุคคหนิมิต มี 2 อย่างคือ (1) ถ้าเพ่งบริกรรม นิมิตที่เป็นรูปร่างสีสันวรรณะ เช่นเมื่อเพ่งเปลวเทียนหรือศพ จนหลับตาก็เห็นภาพเปลวเทียนหรือ ศพนั้นเหมือนจริงเมื่อลืมตาเห็น ภาพที่หลับตาก็เห็น เหมือนจริงนี่แหละเรียกว่าอุคคหนิมิต จัดว่าเป็นนิมิตติดตา และ (2) ถ้าเพ่งบริกรรมนิมิตด้วยใจ ไม่ได้ใช้ตาเพ่ง เช่นการเจริญอนุสติมีพุทธานุสติเป็นต้น เมื่อจิตเกิดความซาบซึ้งในสิ่งที่คิดพิจารณา นั้นอย่างชัดเจน เช่นคิดจนซาบซึ้งถึงคุณของพระพุทธเจ้า ก็เรียกว่าอุคคหนิมิตเหมือนกัน แต่เป็นนิมิตติดใจ เป็นความรู้สึก ไม่มีรูปร่างแสงสีใดๆ

ปฏิภาคนิมิต ก็คือภาพของอุคคหนิมิตบางอย่างที่พัฒนาต่อไปจนเป็นความใสกระจ่างปราศจากริ้วรอย และสามารถย่อหรือขยายภาพนั้นได้ตามใจปรารถนา เช่นเมื่อเพ่งศพอันเป็นบริกรรมนิมิต จนจิตจำภาพศพนั้นได้ แม้หลับตาก็เห็นภาพ นั้นเหมือนลืมตา จัดเป็นอุคคหนิมิตประเภทนิมิตติดตา เมื่อเพ่งอุคคหนิมิตไปเรื่อยๆ ภาพศพที่ติดตา กลายเป็นแสงสว่างรูปศพ ไม่มีหน้าตาหรือรายละเอียดอีกต่อไป ถัดจากนั้นแสงสว่างจะรวมตัวเข้า เป็นดวงสว่างซึ่งจะกำหนดจิตให้ดวงนั้นเล็กหรือใหญ่ก็ได้ อย่างนี้เรียกว่าปฏิภาคนิมิต นักปฏิบัติบางท่านไม่ได้เพ่งศพจริงๆ แต่คิดพิจารณากายว่าเป็นอวัยวะน้อยใหญ่หรืออาการ 32 อันเป็นการเจริญกายคตาสติ คิดไปจนจิตเกิดความซาบซึ้งสลด สังเวชใจก็จัดเป็นอุคคหนิมิตประเภทนิมิตติดใจ เมื่อพิจารณากายส่วนใดส่วนหนึ่งหรือพิจารณากาย ทั้งกายต่อไปก็เกิดปฏิภาคนิมิตได้ คือกายสลายตัวไปหมดเหลือแต่แสงสว่าง อันนี้ก็เป็นปฏิภาคนิมิต สามารถข่มกามฉันทนิวรณ์ลงได้ แต่ก็ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ

กรรมฐานทั้ง 40 อย่างสามารถเป็นได้ทั้งบริกรรมนิมิตและอุคคหนิมิต แต่ปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นได้กับกรรมฐาน 22 อย่าง คือกสิณ 10 อสุภะ 10 กายคตาสติและอานาปานสติเท่านั้น แม้แต่อัปมัญญา 4 และ อรูป 4 ที่ใช้ทำฌานหรืออัปปนาภาวนาได้ ก็เป็นได้เพียงอุคคหนิมิต ไม่ถึงปฏิภาคนิมิต


2.4 ระดับของความสงบ

มี 3 ระดับ คือ

บริกรรมสมาธิ เป็นความสงบจิตในเบื้องต้น อันเนื่องมาจากการเพ่งบริกรรมนิมิตและอุคคหนิมิตอย่างสบายๆ

อุปจารสมาธิ เป็นความสงบจิตในระดับที่ใกล้จะได้ฌาน หากมองในแง่ตัวอารมณ์ก็ใช้ปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์ ยกเว้นกรรมฐานบางอย่าง ที่ไม่มีปฏิภาคนิมิต ก็ยังคงต้องใช้อุคคหนิมิตเป็นอารมณ์ต่อไป เพียงแต่มีความสงบแนบแน่นลึกซึ้งยิ่งขึ้นกว่าในขั้นที่จิตมีบริกรรมสมาธิ ในขั้นนี้จิต จะไม่แส่ส่ายไปสู่อารมณ์อื่นโดยไม่ต้องประคองรักษาไว้

อัปปนาสมาธิ เป็นความสงบจิตในระดับฌาน หมายถึงความสงบแนบแน่นของจิตอยู่กับอารมณ์ กรรมฐาน จนไม่โยกคลอนแส่ส่ายไปสู่อารมณ์อื่น และกิเลสไม่สามารถรบกวนจิตได้ วิธีการที่จะทำอัปปนาสมาธิให้เกิดขึ้นก็คือการเพ่งอุคคหนิมิตเมื่อ ทำอัปมัญญา 4 และอรูปกรรมฐาน 4 หรือเพ่งปฏิภาคนิมิตเมื่อทำกรรมฐานที่มีปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นได้อันได้แก่กสิณ 10 อสุภะ 10 กายคตาสติและอานาปานสติ ไม่ใช่การเพ่งบริกรรมนิมิต ให้รักษาอุคคหนิมิตหรือปฏิภาคนิมิตนั้นไว้ให้บริบูรณ์ ด้วยอุปจารสมาธิ จนกระทั่งฌานจิตเกิดขึ้น จึงเรียกว่าได้อัปปนาสมาธิ

ตัวอย่างเช่นในการเจริญอานาปานสติ เราใช้ การรู้ลมหายใจ ลมหายใจจัดเป็นบริกรรมนิมิต เมื่อตามรู้ลมหายใจไปจนจิตเริ่มสงบ จะเห็นลมหายใจ เป็นแสงสว่าง ก็ให้รู้แสงสว่างนั้นแทนลมหายใจที่เคยรู้อยู่เดิม แสงสว่างนั้นจัดเป็นอุคคหนิมิต ให้รู้แสงสว่างนั้นจนเกิดปฏิภาคนิมิตและฌานจิต ทั้งนี้การทำความสงบในระดับลึกนั้น บางท่านที่เคยทำ ได้มาแล้วในกาลก่อน จิตก็จะรวมสงบเข้ามาได้อย่างรวดเร็ว แต่ท่านที่ไม่เคยทำมาในกาลก่อนก็ยากที่จะทำได้ แต่ก็ไม่ต้องกังวลใจ เพราะเพียงทำ ความสงบในระดับหนึ่งก็พอจะใช้เป็นฐานในการเจริญปัญญาต่อไปได้แล้ว

แท้จริงอารมณ์ของสมถกรรมฐานมีมากไม่มี ประมาณเพราะใช้บัญญัติเป็นอารมณ์ แต่ที่ท่านสรุป เป็นกรรมฐาน 40 ก็เพียงแสดงเป็นตัวอย่างไว้เท่านั้น ตามประวัติของพระเถระและพระเถรี ก็มีอยู่หลาย ท่านที่ทำสมถกรรมฐานด้วยอารมณ์ที่นอกเหนือจากกรรมฐาน 40 เช่น บางท่านพิจารณาดอกบัวแดง บางท่านขยี้ผ้าขาว บางท่านดูน้ำแข็งละลาย บางท่านดูดวงประทีปที่ดับไปแล้วคิดพิจารณาชีวิต บางท่านดูดวงจันทร์ ใช้ดวงจันทร์แทนดวงกสิณจนเกิดปฏิภาคนิมิต เป็นต้น

สรุปแล้วกรรมฐานทั้ง 40 อย่างสามารถทำให้เกิดบริกรรมสมาธิ และอุปจารสมาธิได้ กรรมฐาน 30 อย่างคือกสิณ 10 อสุภะ 10 กายคตาสติ 1 อานาปานสติ 1 อัปมัญญา 4 และอรูปกรรมฐาน 4 สามารถทำให้เกิดอัปปนาสมาธิได้ แต่กรรมฐาน 10 อย่างคืออนุสติ 8 (ยกเว้นกายคตาสติและอานาปานสติ) อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 และจตุธาตุววัตถาน 1 สามารถทำให้เกิดได้เพียง อุปจารสมาธิเท่านั้น ไม่ถึงอัปปนาสมาธิ

อนึ่งเรื่องการทำสมถกรรมฐานในระดับลึกนั้น ท่านผู้สนใจควรปลีกตัวออกไปเรียนจากครูบาอาจารย์ ซึ่งบางรูปจะชำนาญในเรื่องสมถกรรมฐาน แต่ในหนังสือเล่มนี้จะไม่แนะนำวิธีการปฏิบัติไว้ เพราะการทำสมถกรรมฐานในระดับลึกควรอยู่ภายใต้การดูแลของครูบาอาจารย์อย่างใกล้ชิดจึงจะปลอดภัย

สมถกรรมฐานมีประโยชน์มาก นอกจากการ ทำให้เกิดความสงบสุขทางจิตใจแล้ว สมถกรรมฐาน ยังมีประโยชน์อย่างอื่นอีก เช่น ในเบื้องต้นที่ยังเจริญวิปัสสนาไม่เป็น ก็อาจจะเริ่มจากการเจริญสมถกรรมฐานไปก่อนก็ได้ เช่นมีสติตามระลึกรู้ลมหายใจเข้าออกไปอย่างสบายๆ หรือรู้ท้องพองยุบอย่างสบายๆ หรือบริกรรมพุทโธอย่างสบายๆ เมื่อรู้อารมณ์นั้นไปสักช่วงหนึ่งก็ให้สังเกตดูความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงไปของตนเอง เช่นเมื่อกี้จิตฟุ้งซ่านตอนนี้จิตสงบ หรือเมื่อกี้จิตสงบตอนนี้จิตฟุ้งซ่าน เมื่อกี้จิตไม่มีปีติตอนนี้จิตมีปีติ หรือเมื่อกี้จิต มีปีติตอนนี้จิตไม่มีปีติ เมื่อกี้จิตไม่มีความสุขตอน นี้จิตมีความสุข หรือเมื่อกี้จิตมีความสุขตอนนี้จิตไม่มีความสุข เป็นต้น นี้เป็นการเจริญสมถกรรมฐาน เพื่อเป็นพื้นฐานในการเจริญวิปัสสนานั่นเอง

ประโยชน์อย่างอื่นยังมีอีก คือเมื่อเจริญวิปัสสนาไปนานๆ จิตจะสูญเสียพลังงานและเกิดความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าขึ้นได้ จนไม่สามารถ ตามรู้กายหรือตามรู้จิตใจอันเป็นการเจริญวิปัสสนาได้อีกต่อไป ก็ให้กลับมาเจริญสมถกรรม-ฐานเพื่อให้จิตใจได้พักผ่อน เมื่อจิตใจได้พักผ่อนเพียงพอแล้ว รู้สึกสดชื่นแล้ว ก็กลับไปเจริญวิปัสสนาต่อไป การเจริญวิปัสสนารวดเดียวโดยไม่รู้จักการพักผ่อนจิต เป็นความยากลำบากของผู้ปฏิบัติ เหมือนคนมีสองขาแต่เดินเพียงขาเดียว อนึ่งจิตที่มีความสงบสุขเพียงพอย่อมจะมีสติมีปัญญาแหลมคมกว่าจิตที่ขาดความสงบสุข การรู้สภาวธรรมใดๆด้วยจิตที่มีความสงบตั้งมั่นเพียงพอ จะเป็นความรู้ที่ซาบซึ้งถึงใจดีมากทีเดียว

สมถกรรมฐานเป็นดาบสองคม เมื่อจะเจริญ สมถกรรมฐานอย่าทิ้งสติปัญญาเป็นอันขาด มิฉะนั้นอาจจะหลงเพลินไปกับความสงบสุขจนไม่ยอมเจริญวิปัสสนา หรืออาจจะเกิดอาการที่เรียกว่านิมิตแปลกปลอมต่างๆ หากนิมิตใดเกิดขึ้นให้ย้อนดูจิตตนเอง หรือพิจารณานิมิตนั้นลงเป็นไตรลักษณ์เสียให้หมดก็จะไม่มีอันตรายใดๆเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่นบางท่านทำสมถกรรมฐานด้วยการคิดพิจารณากายลงเป็นปฏิกูล เป็นอสุภะ เมื่อจิตเกิดความสงบแล้วเกิดนิมิตเห็นกายเป็นของน่าเกลียดน่าขยะแขยง ถ้าจิตติดความรู้สึกเช่นนี้อยู่จะเกิดความเกลียดหรือกลัวตนเองอย่างรุนแรง ดังนั้นหากจะพิจารณากายเป็นปฏิกูลหรือเป็นอสุภะก็ตาม ในช่วงสุดท้ายจะต้องน้อมพิจารณา ลงเป็นไตรลักษณ์ให้ได้ จิตจึงจะถึงความสงบสุขได้จริงๆ


การรู้นิวรณ์นั้นไม่ต้องทำสมถกรรมฐานก่อน เพราะถ้าจิตเป็นสมาธิจะไม่มีนิวรณ์ให้ดู หากมีนิวรณ์ใดเกิดขึ้น ก็ให้ระลึกรู้นิวรณ์นั้นเข้าไปตรงๆ นิวรณ์จะดับไปเองในทันทีที่สติเกิดขึ้น

ครั้งที่ 75
บทที่ 5 หัวใจกรรมฐาน
ตอน วิธีการรู้รูปนามในธัมมานุปัสสนาสติปัฎฐาน
เรื่อง นิวรณ์

6.4 วิธีการรู้รูปนามในธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

การรู้สภาวธรรมของรูปนามในธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็ใช้วิธีการเดียวกับการ รู้รูปและนามที่กล่าวมาแล้ว และส่งผลให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์เพราะมีปัญญารู้ทั่วถึงความจริงของรูปนามได้เช่นเดียวกัน

การเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น สามารถพัฒนาไปจากการเจริญสติปัฏฐานด้วยการรู้กาย เวทนา และจิตนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าชำนาญในการรู้จิต จะเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานได้ง่าย เพราะอารมณ์ส่วนใหญ่ในธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นนามธรรม ทั้งนี้การเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานสามารถกระทำได้ดังนี้คือ

6.4.1 นิวรณ์ เป็นนามธรรมล้วนๆ ทั้งกามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา การรู้นิวรณ์นั้นไม่ต้องทำสมถกรรมฐานก่อน เพราะถ้าจิตเป็นสมาธิจะไม่มีนิวรณ์ให้ดู หากมีนิวรณ์ใดเกิดขึ้นก็ให้ระลึกรู้นิวรณ์นั้นเข้าไปตรงๆ เลยทีเดียว นิวรณ์ จะดับไปเองในทันทีที่สติเกิดขึ้น

การรู้นิวรณ์ไม่ได้กระทำเพื่อจะข่มหรือ ละนิวรณ์ เพราะการข่มหรือละนิวรณ์เป็นหน้าที่ของ สมถกรรมฐาน แต่เรารู้นิวรณ์เพื่อจะได้เข้าใจความ จริงว่า นิวรณ์เป็นนามธรรมอันหนึ่งซึ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา เมื่อมีเหตุ นิวรณ์ก็เกิดขึ้น เมื่อหมดเหตุ นิวรณ์ก็ดับไป แม้จิตที่รู้นิวรณ์ รวมทั้งรูปและเวทนาทั้งหลายอันเป็นเหยื่อล่อให้นิวรณ์เกิดขึ้น ก็เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และ เป็นอนัตตาเช่นกัน ดังนั้นแม้เพียงเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานในนีวรณบรรพอย่างเดียว ก็ทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์เพราะมีปัญญารู้ทั่วถึงความจริงของรูปนามได้ทั้งหมด

6.4.2 ขันธ์ แม้ขันธ์จะมีทั้งรูปและนาม แต่การจำแนกสิ่งที่เรียกว่า 'ตัวเรา' ออกเป็นขันธ์คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็เป็น คำสอนที่เน้นหนักสำหรับผู้ที่สนใจนามมากกว่ารูป เพราะพระพุทธเจ้าทรงจำแนกรูปไว้เพียง 1 ขันธ์ แต่ทรงจำแนกนามไว้ถึง 4 ขันธ์

การรู้ขันธ์นั้น ถ้าสติระลึกรู้ขันธ์ใด ก็ตามรู้และเข้าใจความเป็นจริงของขันธ์นั้นไปได้เลย ไม่จำเป็นต้องรู้ไปตามลำดับขันธ์หรือจงใจใช้ขันธ์ใดขันธ์หนึ่งเป็นอารมณ์ ดังเช่นที่เคยเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน และจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานที่ผ่านมาแล้ว ทั้งนี้การรู้ขันธ์ไม่ใช่รู้เพื่อจะควบคุมขันธ์ แต่รู้เพื่อจะได้เห็นความจริงว่า ตัวเราไม่มี มีแต่รูปกับนาม และรูปนามหรือขันธ์ทั้งหมดนั้นมีลักษณะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ดังนั้นแม้เพียงเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานในขันธบรรพอย่างเดียว ก็ทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์เพราะมีปัญญารู้ทั่วถึงความจริงของรูปนามได้ทั้งหมด

โพชฌงค์เป็นนามธรรมจึงต้องใช้การตามรู้
ให้ตามรู้อารมณ์กรรมฐานที่ปรากฏง่ายๆ และเป็นสามัญไปก่อน
เช่นการระลึกรู้ความเคลื่อนไหวของรูปกาย และการรู้จิต เป็นต้น
เมื่อสติปัญญาแก่กล้าแล้ว โพชฌงค์ก็จะเกิดขึ้น และสติปัญญาก็จะตามระลึก
และเข้าใจความเป็นไตรลักษณ์ของโพชฌงค์ได้เอง

ครั้งที่ 77
บทที่ 5 หัวใจกรรมฐาน
ตอน วิธีการรู้รูปนามในธัมมานุปัสสนาสติปัฎฐาน

6.4.4 โพชฌงค์

โพชฌงค์คือองค์ธรรมที่เป็นเครื่องให้ตรัสรู้อริยสัจจ์ 4 หรือทำให้เกิดอริยมรรค องค์ธรรมของโพชฌงค์เป็นนามธรรมล้วนๆ ได้แก่ สติ ธัมมวิจัย วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา

สติสัมโพชฌงค์ คือสติเจตสิกที่ระลึกรู้อารมณ์รูปนามในสติปัฏฐาน 4 จนมีกำลังแก่กล้าเป็นสัมมาสติในอริยมรรค

ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ คือปัญญาเจตสิกที่รู้ความจริงของรูปนามว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็น อนัตตา จนแก่กล้าเป็นสัมมาทิฏฐิในอริยมรรค

วิริยสัมโพชฌงค์ คือวิริยเจตสิกที่ทำกิจในการละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้ เกิดขึ้น ทำกุศลให้เกิดขึ้น และทำกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เจริญขึ้น วิริยเจตสิกนี้เมื่อแก่กล้าขึ้นก็จะเป็นสัมมาวายามะในอริยมรรค

ปีติสัมโพชฌงค์ คือปีติเจตสิกหรือความอิ่มใจในการเจริญสติปัฏฐาน เป็นปีติที่เกิดขึ้นด้วย อำนาจของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน องค์ธรรม ได้แก่ปีติเจตสิกที่เกิดในจิต 34 ดวง คือ (1) มหากุศลจิตอันประกอบด้วยโสมนัส เวทนา และปัญญา ซึ่งเกิดได้ทั้งด้วยการชักชวนให้เกิดและเกิดขึ้นเองโดยไม่ได้ชักชวนให้เกิดรวม 2 ดวง (2) มหากิริยาจิตของพระอรหันต์ อันประกอบด้วยโสมนัส เวทนา และปัญญา ซึ่งเกิดได้ด้วยการชักชวนให้เกิดและเกิดขึ้นเองโดยไม่ได้ชักชวนให้เกิดรวม 2 ดวง (3) มหัคคตจิตในฌานที่ 1-3 ทั้งที่เป็นกุศล 3 ดวง เป็นกิริยาในพระอรหันต์อีก 3 ดวง และ (4) โลกุตตรจิตอันประกอบด้วยฌานที่ 1-3 ในพระอริยบุคคล 8 ประเภทอีก 24 ดวง

ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ คือปัสสัทธิเจตสิกที่เป็นความสงบกาย สงบใจในการเจริญสติปัฏฐาน

สมาธิสัมโพชฌงค์ คือเอกัคคตาเจตสิกหรือความตั้งมั่นของจิตในการรู้อารมณ์รูปนาม จนแก่กล้าเป็นสัมมาสมาธิในอริยมรรค

อุเบกขาสัมโพชฌงค์ คือตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกที่ทำให้จิตเป็นกลาง ไม่ยินดียินร้ายในรูปนามอันเป็นอารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐาน ทำให้จิตดำเนินไปในทางสายกลางได้อย่างมั่นคง

โพชฌงค์เป็นนามธรรมจึงต้องใช้การตามรู้ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า

"เมื่อสติสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าสติสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อสติสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าสติสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง สติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วย ประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สติ สัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้วจะเจริญบริบูรณ์ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย อีกอย่างหนึ่ง เมื่อธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิ สัมโพชฌงค์ ฯลฯ เมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าอุเบกขาสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าอุเบกขา สัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วยอุเบกขา สัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะเจริญบริบูรณ์ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย"

เมื่อตามรู้มากเข้าในที่สุดก็จะเห็นความจริงว่า สภาวธรรมทั้งหมดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา และทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้

อย่างไรก็ตามโพชฌงค์เป็นองค์ธรรมที่ละเอียดลึกซึ้ง และเกินจากเรื่องขันธ์ อายตนะ ธาตุ ซึ่งเป็นวิปัสสนาภูมิขั้นพื้นฐาน ผู้เขียนจึงขอเชิญชวนเพื่อนนักปฏิบัติให้ตามรู้อารมณ์กรรมฐานที่ปรากฏง่ายๆ และเป็นสามัญไปก่อน เช่น การระลึกรู้ความเคลื่อนไหวของรูปกาย และการรู้จิตเป็นต้น เมื่อสติปัญญาแก่กล้าแล้ว โพชฌงค์ ก็จะเกิดขึ้น และสติปัญญาก็จะตามระลึกและเข้าใจความเป็นไตรลักษณ์ของโพชฌงค์ได้เอง

กล่าวคือเมื่อตามรู้รูปนามอยู่นั้นสติสัม-โพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้น การตามรู้รูปนามก็คือธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เมื่อสติเกิดเนืองๆ จิตก็ยิ่งขยันรู้รูปนามได้เร็วขึ้นๆ อกุศลที่มีอยู่ก็เป็นอันถูกละไปและอกุศลใหม่ก็ไม่เกิดขึ้น ธรรมฝ่ายกุศลที่ไม่เคยเกิดขึ้นก็เกิดขึ้นและเจริญงอกงาม นี้คือวิริย สัมโพชฌงค์ เมื่อตามรู้ตามดูรูปนามเรื่อยไปจิตใจจะมีความสุข มีความอิ่มใจที่ได้มีสติระลึกรู้รูปนาม นี้คือปีติสัมโพชฌงค์ เมื่อปีติเกิดขึ้นและสติระลึกรู้ปีตินั้น จิตก็เข้าสู่ความสงบระงับหรือปัสสัทธิ สัมโพชฌงค์ เมื่อจิตมีความสงบระงับและอิ่มเอิบใจอยู่นั้น สมาธิ

สัมโพชฌงค์คือความตั้งมั่นของจิตในการรู้รูปนามก็เกิดขึ้น แล้วสามารถรู้รูปนามได้ ด้วยจิตที่เป็นกลาง หากจิตไม่เป็นกลาง สติก็ระลึก รู้ความไม่เป็นกลางนั้น ความไม่เป็นกลางอันเกิดขึ้นด้วยอำนาจของอกุศลก็จะดับไปเพราะการเจริญสติ จิตจะเข้าสู่ความเป็นกลางด้วยอำนาจของการเจริญวิปัสสนา นี้คืออุเบกขาสัมโพชฌงค์

โพชฌงค์เป็นองค์ธรรมที่จะเจริญขึ้นเพราะการเจริญสติปัฏฐาน และแม้โพชฌงค์จะเป็นองค์ธรรมอันดีเลิศ แต่เราก็ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อจะยึดถือ ผู้ปฏิบัติมีหน้าที่เพียงการตามรู้และเข้าใจความเป็นจริงขององค์ธรรมในโพชฌงค์ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตาเท่านั้น ก็ขนาดองค์ธรรมที่ดีเลิศปานนี้ยังไม่ยึดถือแล้ว จิตจะยึดถืออะไรได้อีกง่ายๆ เล่า ในที่สุดจิตก็จะปล่อยวางสภาวธรรม ทั้งปวง แล้วบรรลุมรรคผลนิพพานได้ต่อไป

การรู้รูปให้รู้ลงเป็นปัจจุบัน ส่วนการรู้จิตให้ตามรู้
ให้สังเกตตนเองว่า รู้สิ่งใดแล้วสติเกิดบ่อย
ก็ให้ใช้สิ่งนั้นเป็นวิหารธรรม

ครั้งที่ 79
บทที่ 5 หัวใจกรรมฐาน
ขยายความ "การรู้เนืองๆ"

7.ขยายความ"การรู้เนืองๆ"

จาก 2 หัวข้อที่ผ่านมาคงทำให้เพื่อนนักปฏิบัติรู้จักอารมณ์ที่ถูกต้องของการเจริญวิปัสสนากรรมฐานแล้วว่า จะต้องเป็นอารมณ์รูปนามเท่านั้น และรู้วิธีที่จะรู้รูปและนามได้อย่างถูกต้องแล้วว่า ก่อนจะรู้ต้องไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำให้เกิดความอยากรู้และนำไปสู่การดักรู้ ระหว่างรู้ต้องสักว่ารู้ ไม่ถลำเข้าไปรู้อันเป็นการกำหนดหรือเพ่งจ้อง และเมื่อรู้แล้วไม่ต้องทำสิ่งใดเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากการรู้รูปนามตามความเป็นจริง อนึ่ง การรู้รูปให้รู้ลงเป็นปัจจุบัน ส่วนการรู้จิตให้ตามรู้

เมื่อทราบถึงอารมณ์กรรมฐาน และวิธีรู้อารมณ์ที่ถูกต้องแล้ว ถัดจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติที่จะต้องรู้รูปนามเนืองๆ ไม่ใช่รู้คราวเดียวแล้วเลิก หรือรู้ 2-3 วันแล้วเลิก แต่จะต้องรู้รูปนามกันไปตลอดชีวิตทีเดียว และยิ่งรู้ได้บ่อยเท่าใดก็ยิ่งดี เพราะจะทำให้เข้าใจความเป็นจริงของรูปนามได้มากยิ่งขึ้นเท่านั้น

ขอให้เพื่อนนักปฏิบัติสังเกตให้ดีว่า ผู้เขียนใช้คำว่ารู้บ่อยๆ หรือ รู้เนืองๆ ไม่ได้ใช้คำว่ารู้ต่อเนื่อง เพราะธรรมชาติของการรู้นั้นเรารู้ได้ทีละขณะๆ เท่านั้น จึงเป็นไปได้ที่จะรู้บ่อยๆ แต่จะให้จิตตั้งมั่นรู้อารมณ์ นานๆนั้นเป็นไปไม่ได้เลย เพราะจิตเกิดดับอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา

เมื่อแรกหัดนั้นนานๆ ผู้ปฏิบัติจะเกิดรู้ได้สักครั้งหนึ่ง เพราะจิตยังไม่ค่อยรู้จักสภาวธรรมมากนัก ต้องเป็นอารมณ์ที่รุนแรงเช่นโกรธแรงๆ หรือตกใจแรงๆ จึงจะเห็นได้ แต่เมื่อฝึกหัดไปนาน เข้า จิตจะรู้จักและจดจำสภาวธรรมได้มากขึ้นๆ สติก็จะยิ่งเกิดได้ถี่ขึ้นๆ เพราะการจดจำสภาวธรรม ได้แม่นยำเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติ

การรู้บ่อยๆนั้นถ้าผู้ปฏิบัติรู้ได้เองก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่บางคนจิตมีความหลงรุนแรง มักจะเผลอลืมตัวไปคราวละนานๆ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ให้หาเครื่องช่วย โดยการหาอารมณ์อันหนึ่งมาเป็น วิหารธรรม หรือมาเป็นสิ่งที่จิตจะคอยรู้เป็นประจำไว้ เมื่อไม่มีอารมณ์ใดเด่นชัดให้รู้ ก็กลับมารู้อารมณ์อันเป็นวิหารธรรมของตนต่อไป พอมีอารมณ์อื่นแปลกปลอมเข้ามาก็ค่อยรู้สิ่งที่แปลกปลอมเข้ามานั้น

วิหารธรรมที่ว่านี้ พระพุทธเจ้าประทาน ไว้ให้พวกเราแล้ว ได้แก่อารมณ์รูปนามในสติปัฏฐานนั่นเอง

เช่นบางท่านถนัดที่จะรู้ลมหายใจ เมื่อรู้ลมหายใจแล้วสติเกิดได้บ่อย ก็ให้ใช้ลมหายใจเป็นวิหารธรรม หายใจออกก็รู้สึกตัว หายใจเข้าก็รู้สึกตัว หายใจไปแล้วจิตเกิดหลงไปคิดก็ค่อยรู้ทันว่าจิตหลงไปคิด หายใจไปแล้วจิตสงบก็ค่อยรู้ว่าจิตสงบ หายใจแล้วเกิดปีติสุขก็ค่อยรู้ว่ามีปีติสุข เป็นต้น

บางท่านถนัดที่จะรู้รูปที่เคลื่อนไหวก็หมั่นเดินจงกรม เดินเพื่อจะรู้สึกตัว เมื่อเดินอยู่หากจิตเกิดหลงไปคิดก็ค่อยรู้ทันว่าจิตหลงไปคิด เดินไปแล้วจิตสงบก็ค่อยรู้ว่าจิตสงบ เดินไปแล้วเกิดปีติสุขก็ค่อยรู้ว่ามีปีติสุข เป็นต้น

ใครถนัดรู้เวทนาก็ใช้เวทนาเป็นวิหารธรรม ใครถนัดดูจิตก็ใช้จิตเป็นวิหารธรรม เรื่องนี้Mให้สังเกตตนเองว่ารู้สิ่งใดแล้วสติเกิดบ่อยก็ให้ใช้สิ่งนั้นเป็นวิหารธรรม

หากรู้รูปนามไปนานๆ แล้วจิตเกิดความอ่อนล้าลงก็ให้พักผ่อนทำความสงบจิต เช่นผู้ที่ใช้ลมหายใจเป็นวิหารธรรมก็ให้จิตเข้าพักอยู่กับลมหายใจ ผู้ที่เดินจงกรมเป็นวิหารธรรมก็เดินต่อไปแต่ไม่ใช่เดิน รู้รูปนาม ให้ใช้สติจับเบาๆ เข้าไปที่กายหรือที่จิตก็ได้ เป็นการพักผ่อน ผู้ที่รู้เวทนาทางกายก็ให้ใช้สติจับเบาๆ เข้าที่กายทั้งกาย ผู้ที่รู้เวทนาทางใจและผู้ที่รู้จิตก็ให้ใช้สติจับเข้าที่ความรู้สึกว่างๆ หรือความไม่มีอะไรเลยเป็นที่พักผ่อน อนึ่ง จิตที่ว่างๆ เรียกว่าอากาสานัญจายตนจิต จิตที่รู้ความไม่มีอะไรเลยเรียกว่าอากิญจัญญายตนจิต จิต 2 ดวงนี้เป็นอารมณ์ที่ใช้ทำสมถกรรมฐานของนักดูจิตได้

เมื่อจิตใจได้พักผ่อนแช่มชื่นแล้ว ก็กลับมารู้รูปนามเพื่อการเจริญปัญญาต่อไปอีก จนกว่าจะบรรลุมรรคผลนิพพาน เมื่อถึงที่สุดเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็จะมีวิหารธรรมเป็นที่พักเฉพาะตัวอีก แต่ละท่านจะมีวิหารธรรมแตกต่างกันไปตามความคุ้นเคยของท่าน


ครั้งที่ 83
บทที่ 6. เรื่องของพระใบลานเปล่า

6. เรื่องของพระใบลานเปล่า

1. เรื่องราวของพระใบลานเปล่าอรรถกถาธรรมบท ได้กล่าวถึงเรื่องราวการปฏิบัติธรรมของพระเถระรูปหนึ่งชื่อพระโปฐิละ ความจริงท่านคงมีชื่ออย่างอื่น ส่วนคำว่าโปฐิละน่าจะเป็นฉายาใหม่ของท่านที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกขึ้นก่อน

คำว่า 'โปฐิละ' แปลว่าใบลานเปล่า ได้แก่ คัมภีร์ที่ปราศจากตัวอักษร เปรียบเหมือนจิตที่ปราศจากธรรม

พระโปฐิละเป็นพระเถระรูปหนึ่งที่ทรงจำและแตกฉานในพระธรรมวินัยมาก ท่านเป็นอาจารย์สั่งสอนศิษย์จำนวนมาก แต่ท่านก็ไม่เคยลงมือปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง คงเรียนแต่ พระปริยัติธรรมเท่านั้น ในเวลาที่ท่านเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจะเรียกท่านว่า 'โปฐิละๆ' เป็นการกระตุ้นให้ท่านเกิดความสำนึกตัวว่า ท่านมีแต่ความทรงจำธรรมะได้ แต่ใจไม่มีธรรม ทั้งนี้ก็ด้วยพระมหากรุณาของพระพุทธเจ้านั่นเอง

ธรรมดาของครูบาอาจารย์ผู้มีความกรุณาต่อ ศิษย์ ย่อมขวนขวายที่จะให้ศิษย์ได้ดี พระพุทธเจ้าได้ชื่อว่าเป็นบรมครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จึงทรงขวนขวายสั่งสอนพุทธสาวกด้วยวิธีการต่างๆ ตามจริตนิสัยและวาสนาบารมีของแต่ละคน โดยมุ่งประโยชน์ของศิษย์ผู้นั้นเป็นสำคัญ แม้บางกรณี จะต้องทรมานให้ได้อายก็ตาม

พระโปฐิละถูกเรียกเช่นนี้ก็ได้อายจริงๆ เมื่อทนไม่ไหวท่านจึงทูลลาพระพุทธเจ้าออกไปปฏิบัติธรรม เพื่อเติมใบลานคือใจของท่านให้เต็มไปด้วย อักษรคือธรรม

ท่านมุ่งหน้าเข้าสู่วัดป่า เข้าไปขอเรียนกรรมฐาน จากพระอาจารย์ใหญ่ของวัดป่า ซึ่งพระอาจารย์ ใหญ่ก็ปฏิเสธที่จะสอนท่าน เพื่อทรมานให้ท่านลดมานะละทิฏฐิเสียก่อน ท่านก็เข้าไปขอเรียนกรรมฐานจากพระเถระลำดับรองลงไปตามลำดับจนถึงพระหนุ่มๆ แต่ไม่มีพระป่าแม้แต่รูปเดียวที่ยอมสอนท่าน

แล้วท่านก็ยอมลดทิฏฐิมานะจริงๆ เพราะใน ที่สุดท่านก็เข้าไปขอเรียนกรรมฐานกับสามเณรน้อย ในวัดป่า

สามเณรน้อยซึ่งพระอรรถกถาจารย์ไม่ได้กล่าวว่าท่านชื่ออะไร ระบุแต่ว่าท่านเป็นพระอรหันต์ ได้ทรมานพระโปฐิละให้สิ้นพยศ ด้วยการคาดคั้นพระเถระว่า ถ้าต้องการให้สามเณรสอนจริงๆ ท่านจะต้องเชื่อฟังคำสั่งของอาจารย์เณรนะ พระเถระอยากได้ธรรมก็ยอมรับปาก แล้วทันใดนั้นสามเณร ก็ออกคำสั่งที่เหมือนการกลั่นแกล้งท่านพระโปฐิละ ด้วยการสั่งให้ท่านลุยลงไปในสระน้ำทั้งที่ครองจีวร เนื้อดีราคาแพงอยู่ พระเถระท่านก็ลุยลงน้ำทันทีโดยไม่อิดเอื้อนเลย

นี่เป็นตัวอย่างของศิษย์กรรมฐานที่มุ่งต่ออรรถต่อธรรมจริงๆ พวกเรารุ่นนี้ควรดูตัวอย่าง เอา ไว้บ้าง การเรียนกรรมฐานเป็นการขัดเกลากิเลส ตนเอง ถ้าเรียนด้วยจิตใจที่เต็มไปด้วยทิฏฐิคือความคิดเห็นส่วนตัว หรือเรียนด้วยมานะคือความ ถือตัว เรียนอย่างไรก็หวังความสำเร็จได้ยาก แต่ถ้าพยายามขัดเกลาตนเองให้มาก โอกาสประสบความสำเร็จก็มีมากขึ้น

พระมหาเถระลุยลงน้ำพอชายจีวรเปียกสามเณรก็เรียกท่านให้กลับมา แล้วกล่าวว่า 'ท่านผู้เจริญ ในจอมปลวกแห่งหนึ่งมีช่องอยู่ 6 ช่อง มีเหี้ยเข้าไปอยู่ภายใน บุคคลผู้ประสงค์จะจับมัน พึงอุดช่องทั้ง 5 ทำลายช่องที่ 6 แล้วจึงจับเอา แม้ท่านก็จงปิดทวารทั้ง 5 จงเริ่มตั้งกรรมฐานไว้ในมโนทวาร' สามเณรกล่าวเพียงเท่านี้ ท่านพระโปฐิละ ก็เกิดความเข้าใจแจ่มแจ้งในหนทางปฏิบัติทันที


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2008, 14:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


ผู้ที่จะเจริญวิปัสสนาด้วยการรู้รูป ควรฝึกอบรมจิตให้เป็นหนึ่ง
ตั้งมั่น สงบ เบา อ่อน ปราดเปรียวแต่ไม่ฟุ้งซ่าน ควรแก่การงานเสียก่อน
เมื่อจิตถอนออกจากความสงบแล้ว รู้ลมหายใจ หรือรู้รูป ก็จะเห็นเป็นธาตุที่เคลื่อนไหว
ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา แม้แต่รูปภายนอกที่ปรากฏก็เช่นกัน

ครั้งที่ 85

บทที่ 6. เรื่องของพระใบลานเปล่า

ตอน การทำกรรมฐาน

ทางทวารทั้ง 6 เป็นงานยาก

2.2 การทำกรรมฐานทางทวารทั้ง 6 เป็นงานยาก

ที่กล่าวว่าเป็นงานยากนั้น ก็สืบเนื่องมาจาก เหตุผลหลายประการ คือ

ประการแรก ยากที่จะรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางกายทวารซึ่งมีอยู่หลายช่องทางได้ทันและ ถูกต้อง ตัวอารมณ์ที่เป็นรูปปรมัตถ์ซึ่งปรากฏทางกายทวาร คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ เป็นสิ่งที่รู้ได้ยาก และปรากฏให้รู้ได้ด้วยวิญญาณจิตเพียงครั้งละ 1 ขณะจิตเท่านั้น บ่อยครั้งมากที่จิตยังไม่ทันรับ พิจารณา ตัดสิน และเสพอารมณ์ ก็มีอารมณ์อื่นแทรกเข้ามาทางทวารเดิมหรือทางทวารอื่นๆ อีกแล้ว

นอกจากนี้พวกเรามักจะคิดว่ารูปเป็นสิ่งที่รู้ได้ง่ายเพราะเป็นของหยาบ ทั้งที่ความจริงรูปปรมัตถ์เป็นสิ่งที่รู้ได้ยากมากทีเดียว สิ่งที่รู้ได้ง่ายคือ "กาย" ที่เป็นบัญญัติ ผู้เขียนเคยชูมือให้เพื่อนนักปฏิบัติที่มาสนทนาธรรมด้วยดู แล้วถามว่าเห็นอะไร ส่วนมากจะตอบว่าเห็นมือบ้าง เห็นหลวงพ่อชูมือบ้าง น้อยรายเฉพาะผู้ที่ได้รับการศึกษาอบรมมาแล้วเป็นอย่างดี จึงจะเห็นรูปปรมัตถ์ คือเห็น "สีที่ตัดกัน" จนปรากฏเป็นรูปร่างของสิ่งที่เรียกว่ามือหรือหลวงพ่อชูมือ หรือเมื่อถามว่าเวลาที่รับประทานอาหาร อะไรมากระทบลิ้น ผู้ที่ไม่เคยฟังธรรมมาก่อนก็จะตอบว่า อาหารกระทบลิ้น ผู้ที่เคยฟังธรรมมาบ้างก็จะตอบว่า รสเปรี้ยวหวานมันเค็มกระทบลิ้น น้อยรายที่จะรู้สึกได้ว่า "รสกระทบลิ้น" ส่วนที่เรียกว่ารสเปรี้ยวหวานมันเค็ม ยังเป็นสมมติบัญญัติถึงรสอันเป็นอารมณ์ปรมัตถ์ หรือเมื่อถามว่าอะไรมากระทบกาย ผู้ที่ไม่เคยฟังธรรมมาก่อนจะตอบว่า ลมพัดมากระทบกาย ผู้ที่เคยฟังธรรมมาบ้างก็จะตอบว่า ความเย็นคือธาตุไฟมากระทบกาย นี่ก็ตอบถูกเหมือนกัน แต่แท้จริงสิ่งที่มากระทบกายไม่ใช่ความเย็นหรือธาตุไฟอย่างเดียว แต่ยังมีธาตุดินคือมวลของลม และธาตุลมคือความไหวของลมรวมอยู่ด้วย สิ่งเหล่านี้ รู้เห็นอย่างซาบซึ้งได้ยากมากทีเดียว หรือเมื่อ ผู้เขียนถามว่าใครกันที่นั่งอยู่ หรือใครเดินอยู่ ผู้ที่ไม่เคยฟังธรรมก็จะตอบว่าตัวเรานั่งอยู่ หรือตัวเขาเดินอยู่ บางท่านที่เคยฟังธรรมมาบ้างแล้วก็จะตอบว่า รูปนั่งไม่ใช่เรานั่ง หรือรูปเดินไม่ใช่เขาเดิน ที่ตอบอย่างนี้ส่วนมากก็เป็นการตอบจากความทรงจำธรรมที่เคยฟังมา ที่จะรู้สึกถึงรูปซึ่งมีอาการที่สมมติเรียกว่านั่งหรือเดินจริงๆนั้น มีน้อยรายเหลือเกิน เว้นแต่ผู้ที่ได้ฝึกหัดเจริญวิปัสสนามาพอสมควรแล้ว

การจะรู้สึกถึงรูปปรมัตถ์ที่กำลังปรากฏไม่ใช่ เรื่องง่ายเลย เพราะพวกเราสะสมความรู้ผิดเข้าใจผิดเกี่ยวกับรูปมามาก คือตั้งแต่เกิดมาเราก็ได้เห็นรูป ได้ยินเสียง ได้ดมกลิ่น ได้ลิ้มรส ได้กระทบ สัมผัสทางกายมามากต่อมาก ทุกครั้งที่กระทบก็พอกพูนความรู้ผิดเข้าใจผิด คือไปเห็นแต่อารมณ์ บัญญัติจนเคยชิน เช่นพอตาเห็น ก็เห็นแม่เห็นพ่อเห็นพี่เห็นน้อง เมื่อรู้สึกถึงร่างกายตนเองก็รู้สึกแต่ว่านี่คือตัวเรา เรายืนเราเดินเรานั่งเรานอน ไม่เคยเห็นไม่เคยรู้จักรูปปรมัตถ์เลย เป็นต้น ดังนั้นเมื่อคิดจะเจริญวิปัสสนาจึงมักไปรู้เห็นแค่ "กาย" ที่เป็นเพียงอารมณ์บัญญัติเท่านั้น เช่นนี่ลมหายใจ นี่มือ นี่เท้า นี่ท้อง นี่รูปเดินไม่ใช่เราเดิน เป็นต้น

ถ้าจิตไม่มีกำลังของสัมมาสมาธิสนับสนุนอย่างเพียงพอ ก็มักจะรู้สึกถึงความมีอยู่ของรูปปรมัตถ์ไม่ได้จริง พระอรรถกถาจารย์จึงสอนว่า "กายานุปัสสนาสติปัฏฐานเหมาะสมกับสมถยานิก" คือถ้าไม่ทำสมถกรรมฐานจนมีจิตเป็นหนึ่งและมีอารมณ์เป็นหนึ่งจริงๆ แล้ว จู่ๆ ก็ไปตามรู้รูปเลย ทีเดียว ส่วนมากก็จะทำได้แค่การเพ่งรูปหรือการรู้บัญญัติของรูปเท่านั้น เช่นเพ่งลมหายใจ เพ่งมือ เพ่งเท้า เพ่งท้อง แล้วก็เกิดอาการของปีติ เช่นรู้สึกว่าตัวหนัก ตัวเบา ตัวใหญ่ ตัวพอง ตัวโคลง หรือเกิดความรู้สึกซู่ซ่าต่างๆ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นอาการที่เกิดจากการทำสมถกรรมฐาน ไม่ใช่วิปัสสนาญาณแต่อย่างใด เพราะการเจริญวิปัสสนาที่แท้จริงต้องรู้รูปปรมัตถ์ ไม่ใช่เพ่งรูปในลักษณะของการเพ่งกสิณดิน

ส่วนผู้ที่ทำสมถกรรมฐานจนมีจิตเป็นหนึ่งมีอารมณ์เป็นหนึ่ง จิตจะมีความตั้งมั่น มีความสงบ มีความเบา มีความอ่อน ปราศจากกิเลส ควรแก่การงาน และปราดเปรียวแต่ไม่ฟุ้งซ่าน เมื่อจิตถอน ออกจากความสงบแล้ว ก็มีสติระลึกรู้รูป เช่นรู้รูปยืนเดินนั่งนอน ก็จะเห็นรูปที่เคลื่อนไหวไปมา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาแต่อย่างใด โดยไม่ต้องคิดนำหรือน้อมใจเชื่อด้วย หรือเมื่อรู้ลมหายใจ ก็จะเห็นเป็นธาตุที่เคลื่อนไหว ลมหายใจก็เป็นธาตุ กายก็เป็นเพียงธาตุ ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา หรือแม้แต่รูปภายนอกที่ปรากฏทางกายทวาร ทั้งหลาย ก็จะรู้ว่าเป็นเพียงรูป ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาเช่นกัน

ดังนั้นผู้ที่จะเจริญวิปัสสนาด้วยการรู้รูป จึงควรจะฝึกอบรมจิตให้ตั้งมั่นและสงบเสียก่อน จะช่วยให้รู้รูปปรมัตถ์ได้ง่ายขึ้น

ส่วนการรู้อารมณ์ทางมโนทวารทำได้ง่ายกว่ากันมาก เพราะพวกเราไม่ค่อยสนใจที่จะรู้ความรู้สึกนึกคิดของตนเองมาแต่ไหนแต่ไร จึงไม่ค่อยได้พอกพูนความรู้ผิดเข้าใจผิดเอาไว้มากนัก เพียงแต่เมื่อพวกเราได้ยินว่าจะให้รู้นามธรรมก็มักตีโพยตีพายว่ายากเอาไว้ก่อน เพราะเชื่อว่า รูปธรรมมองเห็นได้ง่ายกว่านามธรรม แท้จริงอารมณ์ ทางใจเช่นความยินดียินร้าย และกุศลกับอกุศลต่างๆ ซึ่งเกิดร่วมกับชวนจิตนั้น เกิดอยู่ได้คราวละ 7 ขณะจิต มากกว่าจิตที่รู้รูปเสียงกลิ่นรสและโผฏฐัพพะซึ่งรู้อารมณ์ได้เพียงครั้งละขณะจิตเดียว นอกจากนี้พวกเราต่างก็รู้จักอารมณ์ทางใจกันอยู่แล้วทั้งนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ลึกลับอะไรเลย เพียงแต่ ไม่ค่อยได้ใส่ใจถึงเท่านั้นเอง ในขณะที่รูปปรมัตถ์นั้นแทบไม่เคยมีใครเห็นมาก่อนเลย บรรดารูปที่ว่ารู้ได้ง่ายเห็นได้ง่ายและเห็นกันดาษดื่นอยู่เสมอนั้น ไม่ใช่รูปปรมัตถ์ แต่เป็นอารมณ์บัญญัติ เช่นสิ่งที่ตามองเห็นอาจจะเป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย เป็นพระ เป็นดอกไม้ และดวงดาว และเสียงที่ได้ยินก็อาจจะได้ยินเป็นเสียงพูด เสียงเพลง เสียงพระสวดมนต์ เสียงลมพัด และเสียงสุนัขเห่า แม้แต่ ร่างกายของตนก็เห็นว่าเป็นตัวเรา เป็นมือ เท้า ท้อง ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่รูปปรมัตถ์ แต่เป็นอารมณ์บัญญัติซึ่งเราคุ้นเคยมานาน จนปิดบังรูปปรมัตถ์เอาไว้ได้อย่างมิดชิดทีเดียว

ผู้เขียนเคยถามเพื่อนนักปฏิบัติบ่อยๆ ว่า รู้จักความโกรธไหม รู้จักความเสียใจ ความแค้นใจ ความคับข้องใจ ความอาฆาต ความกังวล ความกลัว และความอิจฉาหรือไม่ รู้จักความโลภ ความรัก ความใคร่ ความดีใจ ความห่วง ความหวง และความตระหนี่หรือไม่ รู้จักความเผลอใจลอย ความฟุ้งซ่าน ความลังเลสงสัย และความซึมเซาหรือไม่ ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่ารู้จัก ดังนั้นจะกล่าวว่านามธรรมเป็นสิ่งที่รู้ได้ยากได้อย่างไร ถ้าใส่ใจตามสังเกตเพียงไม่นาน ก็รู้จักสภาวะของนามธรรมทั้งหลายได้แล้ว

ความจริงทั้งผู้ปฏิบัติและผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติ ต่างก็รู้จักนามธรรมด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่ผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติจะรู้นามธรรมได้ช้า เช่นโกรธไปเมื่อวานนี้ วันนี้จึงเพิ่งนึกได้ว่าเมื่อวานโกรธมากไปหน่อย ส่วนผู้ปฏิบัติรู้ได้เร็ว คือพอโกรธก็รู้ว่าโกรธ โดยไม่มีอารมณ์อย่างอื่นมาคั่นเสียก่อน ผู้ปฏิบัติและผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติมีความต่างกันเพียงเท่านี้เอง

ดังนั้นการตามรู้นามธรรมซึ่งปรากฏทางมโนทวาร จึงไม่มีเรื่องยุ่งยากหรือมีกรรมวิธีพิเศษ พิสดารใดๆ หากนามธรรมใดปรากฏก็ตามรู้ไปตามนั้นได้เลย

ครั้งที่ 86
บทที่ 6 เรื่องของพระใบลาเปล่า
ตอน ยากที่จะอบรมให้เกิดสติ
ระลึกรู้ได้ทันอารมณ์ที่ปรากฎทางทุกๆ ทวาร

ประการที่สอง

ยากที่จะอบรมให้เกิดสติระลึกรู้ได้ทันอารมณ์ที่ปรากฏทางทุกๆ ทวาร การจะให้สติเกิดขึ้นทางทวารทั้ง 6 เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะจะต้องหัดตามรู้สภาวธรรมมากมายดังที่ได้กล่าวมาแล้วในข้อ 2.1 เพื่อว่าเมื่อสภาวธรรมใดที่จิตรู้จักแล้วปรากฏขึ้น สติจะได้เกิดขึ้นระลึกรู้สภาวธรรมนั้นโดยไม่ต้องจงใจทำให้สติเกิดขึ้น ในขณะที่การตามรู้อารมณ์ที่เกิดทางมโนทวารที่เดียวเป็นงานที่น้อยกว่ากันมาก และไม่ก่อความสับสนให้จิตที่จะต้องคอยเปลี่ยนไปตามรู้อารมณ์ทางทวารนั้นที ทางทวารนี้ที จิตจึงมีโอกาสรู้จักและจดจำสภาวะของอารมณ์ได้ง่าย แล้วสติก็จะเกิดขึ้นได้เองโดยไม่ต้องจงใจทำสติให้เกิดขึ้น เช่นเมื่อจิตรู้จักว่าความใจลอยเป็นอย่างไร ต่อมาพอใจลอย สติก็จะเกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องจงใจ คือระลึกได้ว่าความใจลอยเกิดขึ้นและดับไปแล้ว แล้วจิตจะเกิดความรู้ตื่น และเบิกบานขึ้นเองโดยอัตโนมัติ

การตามรู้อารมณ์ทางทวารทั้ง 6 ก็คล้ายกับการที่พนักงานของศูนย์การค้าจะต้องจำสินค้าให้ได้ทั้งศูนย์การค้า เผื่อว่าลูกค้าถามถึงสินค้าใดก็จะระลึกได้ว่าวางขายอยู่ที่ไหน นี้เป็นงานที่ยากกว่าการจำของในบ้านตนเอง หรือในห้องนอนของ ตนเอง หรือบนโต๊ะทำงานของตนเอง ซึ่งมีสิ่งของไม่มากนัก จึงสามารถระลึกได้โดยง่ายว่าของสิ่งไหนอยู่ที่ไหน

ขอขยายความเรื่องสติสักเล็กน้อย คือสตินั้นเป็นสภาวธรรมในฝ่ายกุศลก็จริง แต่สติก็มี 2 ประเภท คือ มิจฉาสติหรือสติธรรมดา กับสัมมาสติ มิจฉาสติเป็นเครื่องระลึกรู้อารมณ์อันเป็นบัญญัติ เช่น มีสติไม่หลงลืมคำบริกรรมภาวนา มีสติไม่หลงลืมการยกเท้าย่างเท้า มีสติไม่หลงลืมงานที่กำลังทำอยู่ มีสติในการอ่านหนังสือ และมีสติในการขับรถ เป็นต้น ส่วนสัมมาสติเป็นความระลึกได้ถึงอารมณ์ปรมัตถ์ที่กำลังปรากฏอยู่ ไม่ประมาทหลงลืมปล่อยให้อารมณ์ปรมัตถ์เกิดขึ้นโดยไม่รู้เท่าทัน

สติธรรมดาใช้ประโยชน์ในการทำงานที่เป็นกุศลและใช้ในการทำสมถกรรมฐาน ส่วนสัมมาสติใช้ประโยชน์ในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

สติธรรมดาเกิดขึ้นโดดๆ ได้ แต่สัมมาสติต้องเกิดร่วมกับองค์มรรคทั้ง 7 ที่เหลือเสมอ

สติเป็นอนัตตา ไม่มีใครทำสติให้เกิดขึ้นได้ และไม่มีใครรักษาสติเอาไว้ได้ตามใจปรารถนา

สติที่อยากให้เกิดแล้วพยายามทำให้เกิดขึ้นด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การจงใจกำหนดรู้อารมณ์ ไม่ใช่สติจริงๆ เพราะในระหว่างที่จงใจทำสติอยู่นั้น ตัณหายังแทรกอยู่ในจิต จิตจึงเป็นอกุศลจิตซึ่งจะมีสติไม่ได้เลย ดังนั้นไม่ต้องพยายามกำหนดรู้อารมณ์เพื่อให้เกิดสติ แต่ควรหมั่นทำเหตุใกล้ของสติ คือหมั่นตามรู้กายหมั่นตามรู้จิตอยู่เนืองๆ จนจิตจดจำสภาวะของรูปนามได้แม่นยำ แล้วสติจะเกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องมีความอยากเป็นตัวนำหน้า

สติเป็นธรรมชาติที่เกิดดับๆ พร้อมกับจิตเป็นขณะๆ จึงไม่มีใครสามารถรักษาสติให้ตั้งอยู่นานๆ ได้ ดังนั้นไม่ต้องพยายามทำสติให้เกิดขึ้นนานๆ เพียงให้สติเกิดบ่อยๆ ก็พอแล้ว ยิ่งบ่อยมากเท่าไรก็ยิ่งเป็นผลดีเท่านั้น ทั้งนี้สติจะเกิดได้บ่อย ถ้าจิตรู้จักและจดจำสภาวะของรูปนามได้มากและแม่นยำ


การมีสติตามระลึกไปทางทวารนั้นทวารนี้ตลอดเวลา

ทำให้จิตฟุ้งซ่าน และรู้อารมณ์ได้ไม่ชัดเจน

จึงพยายามส่งจิตถลำเข้าไปจมแช่อยู่กับอารมณ์นานๆ

เป็นการถลำรู้ ไม่ใช่การสักว่ารู้

ครั้งที่ 87
บทที่ 6.เรื่องของพระใบลานเปล่า
ตอน การทำกรรมฐานทางทวารทั้ง 6 เป็นงานยาก

ประการที่สาม ยากที่จิตจะตั้งมั่นได้จริงเมื่อมีอารมณ์หมุนเวียนเข้ามาทางทวารต่างๆอย่างรวดเร็ว

การจะให้จิตเกิดความตั้งมั่นในการรู้อารมณ์ทางทวารทั้ง 6 เป็นเรื่องที่ยากมากกว่า การจะให้จิตตั้งมั่นในการรู้อารมณ์ทาง มโนทวารเพียงทวารเดียว เพราะอารมณ์ที่มากระทบทางทวารทั้ง 6 จะเกิดดับสืบต่อกัน อย่างรวดเร็วและย้ายที่ไปเรื่อยๆ นอกจากนี้การมีสติตามระลึกไปทางทวารนั้นทวารนี้ตลอดเวลา ย่อมล่อแหลมที่จะทำให้จิต ฟุ้งซ่านได้ง่าย เมื่อจิตฟุ้งซ่านก็จะรู้อารมณ์ได้ไม่ชัดเจน เมื่อรู้อารมณ์ได้ไม่ชัดเจนจิตก็มักจะเกิดความอยากและความพยายามที่จะรู้อารมณ์ให้ชัดเจน จึงเกิดการเพ่งอารมณ์ หรือเกิดการส่งจิตถลำเข้าไปจมแช่อยู่กับอารมณ์นานๆ เป็นการถลำรู้ ไม่ใช่การสักว่ารู้

ในขณะที่การทำกรรมฐานอยู่ทาง มโนทวารที่เดียว จะทำให้สติระลึกรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางใจที่เดียว โอกาสที่จิตจะฟุ้งซ่าน ไปทางทวารนั้นทวารนี้ย่อมมีน้อยลง และหาก จิตเกิดความไม่ตั้งมั่น คือเกิดความฟุ้งซ่าน หรือแม้แต่จะเกิดการถลำเข้าไปรู้และจมแช่อยู่กับอารมณ์ทางใจ ผู้ปฏิบัติก็จะสังเกตเห็น ความฟุ้งซ่านและอาการถลำรู้ได้ง่าย เพราะมี งานที่ต้องทำไม่มากอยู่แล้ว จิตก็จะเกิดสติได้เร็ว และเกิดความตั้งมั่นในการรู้อารมณ์อย่างสักว่ารู้ต่อไป

ขอขยายความเรื่องสมาธิสักเล็กน้อย คือสมาธินั้นเป็นสภาวธรรมที่เกิดร่วมกับจิต ได้ทุกประเภท ดังนั้นแม้แต่อกุศลจิตก็ยัง ประกอบด้วยสมาธิได้ เพราะสมาธิคือความตั้งมั่นของจิต ซึ่งจิตที่จะทำกรรมชั่วก็ต้องมีความตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่ชั่ว

ในทางพระอภิธรรมถือว่า องค์ธรรมของสมาธิคือเอกัคคตา-เจตสิกซึ่งเกิดร่วมกับจิตทุกดวง ทำให้จิตทุกดวงมีความ ตั้งมั่นในการทำหน้าที่รู้อารมณ์อันเดียว แต่ใน ความหมายทั่วไปที่พวกเราใช้กัน เรามักจะมองสมาธิในแง่ของความจดจ่อในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถ้าจิตไม่จดจ่อก็ถือว่าไม่มีสมาธิหรือสมาธิสั้น เช่น กล่าวกันว่าเด็กคนนี้มีสมาธิสั้น หมายถึงจิตใจของเด็กไม่จดจ่อในการเรียนหนังสือ เป็นต้น ความหมายของสมาธิอย่างหลังนี้เป็นความหมายที่พวกเราคิดๆ กันเอาเอง โดยยืมคำว่าสมาธิของพระพุทธศาสนามาใช้ในความหมายที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และบางทีเราก็ไปเอาความขาดสติมาเป็นสมาธิ เช่นบางคนนั่งทำสมถกรรมฐานอยู่ แล้วจิตเกิดขาดสติมีความเคลิบเคลิ้มลืมตัว เกิดความปรุงแต่งที่เรียกว่านิมิต ก็บอกว่าวันนี้จิตรวมเป็นสมาธิได้ดี เป็นต้น

สมาธิจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภท คือ มิจฉาสมาธิ กับสัมมาสมาธิ

มิจฉาสมาธิ เป็นความตั้งมั่นของจิตในการรู้อารมณ์สมมติบัญญัติ เป็นสภาพที่จิตจดจ่อถลำเข้าไปรู้อารมณ์จนลืมตัวหรือจมแช่อยู่กับอารมณ์ เป็นความตั้งมั่นอยู่กับอารมณ์ เกิดขึ้นกับจิตทุกประเภท คือเกิดกับจิตที่เป็นกุศลก็ได้ เกิดขึ้นกับจิตที่เป็นอกุศลก็ได้ แม้แต่ในจิตที่ฟุ้งซ่านก็ยังมีเอกัคคตาเจตสิกหรือความตั้งมั่นในการรู้อารมณ์นั้นอารมณ์นี้ เพียงแต่ตั้งอยู่ได้สั้นมาก เพราะอารมณ์เปลี่ยนแปลงบ่อยมากจนรู้ได้ไม่ชัดเจน จึงเรียกว่าจิตฟุ้งซ่านเพราะมีความจับจดในการรู้อารมณ์

ส่วนสัมมาสมาธิ เป็นความตั้งมั่นของจิตที่เป็นกลางและเป็นตัวของตัวเองในระหว่างการรู้อารมณ์ปรมัตถ์ ไม่ใช่การถลำเข้าไปตั้งหรือจมแช่อยู่ในอารมณ์ปรมัตถ์ เป็นสภาพที่รู้อย่างสักว่ารู้อารมณ์ และเกิดขึ้นได้กับจิตที่เป็นกุศลอันประกอบด้วยสติปัญญาเท่านั้น

สัมมาสมาธิจำแนกได้เป็น 3 ระดับ คือขณิกสมาธิ เป็นความตั้งมั่นอยู่ชั่วขณะเมื่อจิตมีสติระลึกรู้อารมณ์ปรมัตถ์ อุปจารสมาธิ เป็นความตั้งมั่นแน่วแน่ในอารมณ์อันหนึ่งแต่ไม่ถึงระดับที่เป็นฌาน และอัปปนาสมาธิเป็นความตั้งมั่นแน่วแน่ในอารมณ์อันหนึ่งถึงระดับที่เป็นฌาน ขณิกสมาธิใช้ในการเจริญวิปัสสนา สมาธิชนิดนี้แหละที่ผู้เขียนกล่าวว่าเป็นความตั้งมั่นอยู่ชั่วขณะเมื่อจิต มีสติระลึกรู้อารมณ์ปรมัตถ์ ส่วนอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิใช้เป็นบาทฐานเพื่อการเจริญวิปัสสนาของผู้เป็นสมถยานิก โดยในเบื้องต้นให้ผู้ปฏิบัติมีสติรู้อารมณ์บัญญัติอันใดอันหนึ่งที่ถูกจริต จนเกิดปฏิภาคนิมิตและรู้นิมิตนั้นต่อไปจนจิตมีอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ จิตจะมีความตั้งมั่น มีสติ ปราศจากกิเลสและอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน เมื่อจิตถอนออกจากอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิแล้ว ก็เจริญวิปัสสนาด้วยจิตที่มีขณิกสมาธิต่อไป ส่วนอาการที่จิตเคลิบเคลิ้มลืมตัวและขาดสติ ไม่ใช่อุปจาร-สมาธิและอัปปนาสมาธิอย่างที่พวกเราบางคนเข้าใจกัน เพราะจิตที่ขาดสติ ลืมเนื้อลืมตัว ใช้ในการเจริญวิปัสสนาไม่ได้ อย่างมากก็เป็นแค่มิจฉาสมาธิเท่านั้น


การเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานทำให้รู้และเข้าใจ

ความเป็นจริงของทั้งรูปและนามว่า มีลักษณะเป็นไตรลักษณ์

จึงสามารถช่วยให้ผู้ปฏิบัติบรรลุถึงนิพพานได้

ครั้งที่ 88
บทที่ 6. เรื่องของพระใบลานเปล่า
ตอน การทำกรรมฐานทางทวารทั้ง 6
เป็นเรื่องเกินความจำเป็นฯ

2.3 การทำกรรมฐานทางทวารทั้ง 6 เป็นเรื่องเกินความจำเป็นสำหรับนักปฏิบัติทั่วไป

การเจริญวิปัสสนาโดยการรู้อารมณ์ทางทวารทั้ง 6 จัดเป็นการเจริญสติปัฏฐานที่เป็นวิปัสสนาในอายตนบรรพ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีผลเช่นเดียวกับการเจริญสติปัฏฐานด้วยอารมณ์อื่นๆ ที่ง่ายกว่า เช่น การเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน และจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะแท้ที่จริงแล้วไม่ว่าจะเจริญสติปัฏฐานในบรรพและปัฏฐานใดที่มีอารมณ์รูปนาม ก็มีผลเป็นอันเดียวกัน คือเพื่อความมีสติเนืองๆ และเพื่อให้เกิดปัญญาเข้าใจรูปนามตามความเป็นจริง

พระอรรถกถาจารย์ท่านกล่าวไว้ว่า สติปัฏฐานทั้ง 4 เปรียบเหมือน ประตูเมือง 4 ทิศ เพียงเข้าประตูหนึ่งประตูใดก็เข้าเมืองคือถึงนิพพานได้แล้ว

ประตูแรก คือกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เหมาะสำหรับผู้มีตัณหาจริตที่มีปัญญาไม่มากนัก

ประตูที่ 2 คือเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เหมาะสำหรับผู้มีตัณหาจริตที่มีปัญญากล้า

ประตูที่ 3 คือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เหมาะสำหรับผู้มีทิฏฐิจริตที่มีปัญญาไม่ มากนัก

ประตูที่ 4 คือธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เหมาะสำหรับผู้มีทิฏฐิจริตที่มีปัญญากล้า

พวกเราส่วนมากมีปัญญาไม่กล้านัก จึงควรสนใจกายานุปัสสนาสติปัฏฐานหรือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานให้มากสักหน่อย ทั้ง 2 ปัฏฐานนี้ เป็นทางบรรลุมรรคผลนิพพานได้เช่นเดียวกับปัฏฐานอื่นที่ยากกว่านั่นเอง

ตัวอย่างเช่น หากเราจะเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานด้วยอิริยาบถบรรพ คือการตามรู้กายที่อยู่ในอาการยืนเดินนั่งนอนเนืองๆ ในที่สุดจิตก็จะจดจำสภาวะของรูปที่เคลื่อนไหวและหยุดนิ่งได้ จะเห็นกายเป็นรูปยืนเดินนั่งนอน ไม่เห็นว่าเรายืนเดินนั่งนอน พอรูปยืนเดินนั่งนอนปรากฏ สติก็จะเกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องพยายามทำให้เกิดขึ้น เมื่อจิตมีสติ จิตก็เป็นกุศล เมื่อจิตเป็นกุศล จิตก็มีความสุข เมื่อจิตมีความสุข จิตก็ตั้งมั่นอยู่กับการรู้กายรู้ใจตนเอง ไม่หลงไปที่อื่น เมื่อจิตมีความตั้งมั่น จิตก็สามารถเจริญวิปัสสนาคือตามรู้รูปยืนเดินนั่งนอนได้โดยไม่ต้องพยายามจะรู้ เมื่อจิตตามรู้รูปยืนเดินนั่งนอนมากเข้า ก็จะเกิดปัญญาเข้าใจความจริงของรูปว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อนึ่ง การรู้รูปไม่ใช่จะรู้ได้แต่รูป เพราะการเจริญวิปัสสนานั้นไม่ว่าจะใช้อารมณ์ในบรรพใดก็ต้องมีการจำแนก รูปนามด้วยกันทั้งสิ้น เพราะการจำแนก รูปนามเป็นปัญญาขั้นพื้นฐานก่อนที่จะเกิดการเจริญวิปัสสนาอันเป็นการเห็นความเกิดดับของรูปนาม ดังนั้นผู้ที่เริ่มการปฏิบัติด้วยการรู้รูปเช่นอิริยาบถ 4 ก็จะรู้จักนามอันได้แก่จิตและความรู้สึกทั้งหลายด้วย โดยนามเป็นผู้รู้รูปและเป็นผู้สั่งให้รูปเคลื่อนไหว นามและรูปมีความสัมพันธ์กัน และนามก็เกิดดับมีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตาเช่นกัน ด้วยเหตุนี้การเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานจึงทำให้ (1) รู้และเข้าใจความเป็นจริงของทั้งรูปและนามว่ามีลักษณะเป็นไตรลักษณ์ (2) ละความเห็นผิดว่ารูปนามเป็นตัวตน และ (3) ละความยึดถือรูปนามได้ในที่สุด การเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเพียงอย่างเดียว จึงสามารถช่วยให้ผู้ปฏิบัติบรรลุถึงนิพพานได้ดังที่กล่าวมานี้

ส่วนการเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการตามรู้สภาพของจิตใจที่เป็นกุศล และอกุศลเนืองๆ ในที่สุดจิตจะจดจำสภาวะของจิตได้ ว่าจิตที่เป็นกุศลเป็นอย่างนี้ จิตที่เป็นอกุศลเป็นอย่างนี้ อาการของจิตต่างๆ นานาเป็นอย่างนี้ พอสภาวะใดที่จิตจดจำได้แล้วปรากฏ สติก็จะเกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องพยายามทำให้เกิดขึ้น แล้วจิตจะเป็นกุศล มีความสุข มีความตั้งมั่น และเกิดปัญญารู้ความจริงของจิตใจได้ในที่สุด อนึ่งการรู้จิตก็ไม่ใช่จะรู้ได้แต่จิต เพราะผู้ปฏิบัติก็ย่อมจะรู้จักรูปไปได้ด้วย รวมทั้งสามารถเห็นลักษณะของรูปนามจนเกิดปัญญาละความเห็นผิดและปล่อยวางความถือมั่นในรูปนาม เข้าถึงนิพพานได้เช่นกัน

สรุปแล้ว ไม่ว่าจะเจริญสติปัฏฐานในบรรพใดที่มีอารมณ์ปรมัตถ์ ก็ล้วนแต่เป็น การฝึกซ้อมให้จิตเกิดสติระลึกรู้รูปนามตามความเป็นจริงได้ด้วยกันทั้งนั้น จนกระทั่งเกิดปัญญาและวิมุตติในที่สุด เพื่อนนักปฏิบัติไม่จำเป็นจะต้องเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานซึ่งละเอียดลึกซึ้งมาก ก็เข้าถึงความหลุดพ้นได้เช่นกัน แต่ถ้าผู้ใดมีปัญญากล้า จะเจริญธัมมานุปัสสนาหรือเจริญสติด้วยการทำกรรมฐานทางทวารทั้ง 6 ก็เป็นเรื่องที่สมควรอนุโมทนาด้วย เพราะ ผู้มีปัญญากล้าจะรู้สึกว่าการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานและจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นเรื่องน่าเบื่อ คับแคบ และไม่น่าสนใจเท่าใดนัก



พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนให้ใช้ความว่าง
เป็นอารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐาน
ไม่ได้ให้คิดเรื่องความว่าง
แต่ทรงสอนให้มีสติตามรู้รูปนาม
จนเห็นว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน
หรือไร้แก่นสารทั้งปวง

ครั้งที่ 91 บทที่ 7. สุญญตา
ตอน ความหมายของการพิจารณาสุญญตา

พวกเราคงเคยได้ยินว่า สุญญตา หรือ มหาสุญญตา กันบ่อยๆ และอาจเคยพบเพื่อนชาวพุทธบางท่าน โดยเฉพาะปัญญาชน ที่สนใจศึกษาเรื่องสุญญตาด้วยการอ่าน การฟัง การคิด และการถกแถลงธรรม ท่านเหล่านี้ได้รับความอิ่มอกอิ่มใจ ว่ามีความรู้ความเข้าใจพระพุทธศาสนาลึกซึ่งเพียงพอ แล้ว จนไม่สนใจการเจริญสติ ซึ่งเราคงเข้าไปเกี่ยวข้องอะไรด้วยไม่ได้ แต่ที่น่า เป็นห่วงก็คือ เพื่อนผู้สนใจการปฏิบัติบางท่าน กลับพยายามเจริญสติด้วยการใช้สุญญตาเป็นอารมณ์กรรมฐาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดพลาด มาก เพราะพระพุทธเจ้าทรงสอนให้ใช้ขันธ์หรือรูปนามเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา กรรมฐาน ไม่ได้ทรงสอนให้ใช้สุญญตา หรือความว่างเป็นอารมณ์แต่อย่างใด

บางท่านถึงกับนำพระไตรปิฎกมาอ้างว่า พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนให้ใช้สุญญตาเป็นอารมณ์กรรมฐานเหมือนกัน เนื้อหาของพระไตรปิฎกส่วนนี้มีอยู่ว่า โมฆราชมาณพ พร้อมด้วยเพื่อนร่วมสำนักผู้เป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรีรวม 16 ท่าน ได้ไปเฝ้าทูลถามปัญหากับพระพุทธเจ้า ท่านเหล่านี้ภายหลังได้อุปสมบทและบรรลุเป็นพระอรหันต์ชั้นแนวหน้าทั้งสิ้น เฉพาะท่านโมฆราชนั้น ได้ทูลถามพระพุทธเจ้าถึง 3 ครั้งว่า บุคคลผู้พิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชจึงจะไม่เห็น

พระอรรถกถาจารย์ท่านอธิบายว่า เหตุที่ท่านโมฆราชต้องถามถึง 3 ครั้ง ก็เพราะพระพุทธเจ้าทรงรอให้โมฆราชมาณพมีอินทรีย์แก่กล้าเสียก่อน จึงยังมิได้ทรงตอบเมื่อทูลถามปัญหา 2 ครั้งแรกต่อจากท่าน อชิตะและท่านติสสเมตเตยยะ

เมื่อท่านโมฆราชทูลถามเป็นครั้งที่ 3 โดยได้ถามเป็นบุคคลลำดับที่ 15 แทนที่จะได้ถามเป็นท่านที่ 2 หรือ 3 จึงทรงตอบว่า ดูกรโมฆราช ท่านจงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า เถิด จงถอนความตามเห็นว่าเป็นตัวตนเสียแล้ว พึงเป็นอย่างนี้ มัจจุราชจึงจะไม่เห็น

เมื่ออ่านคำตอบตรงนี้แล้ว ท่านที่ชอบเรื่องสุญญตาก็มักจะสรุปเอาเลยว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ปฏิบัติด้วยการคิดพิจารณาให้เห็นว่าโลกเป็นของว่างเปล่าหรือเป็นสุญญตา

ความจริงพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ทรงสอนอย่างนั้น แต่พระองค์ระบุชัดเจนว่า จงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ แสดงว่าพระองค์สอนให้ เจริญสติ ถ้าถามต่อไปว่า พระองค์ให้ เจริญสติโดยใช้สิ่งใดเป็นอารมณ์กรรมฐานก็ตอบได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ใช้โลกเป็นอารมณ์กรรมฐาน และคำว่าโลกก็หมายความถึง รูปนาม นั่นเอง

พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนให้ใช้สุญญตา หรือความว่างเปล่าเป็นอารมณ์กรรมฐาน เพียงแต่ทรงแนะนำให้ตามรู้รูปนามในแง่มุมของความว่างเปล่าจากตัวตนหรืออนัตตาเท่านั้นเอง เพราะท่านโมฆราชเป็นผู้มีปัญญามาก จึงเหมาะที่จะบรรลุธรรมด้วยสุญญตวิโมกข์ คือการเห็นรูปนามเป็น อนัตตา ทั้งนี้ ในบรรดาคณะศิษย์ของพราหมณ์พาวรีทั้ง 16 ท่านนั้น พระไตรปิฎก กล่าวถึงฉายาต่อท้ายชื่อไว้ 2 ท่าน คือ ท่านโมฆราชผู้มีปัญญา กับท่านปิงคิยะผู้แสวงหา คุณอันใหญ่ แสดงว่าท่านโมฆราชน่าจะมีจุดเด่นในด้านมีปัญญามากจริงๆ เพียงแต่ไม่ถึงระดับท่านพระสารีบุตรผู้เป็นอัครสาวกผู้เลิศด้วยปัญญาเท่านั้น

มีคำอธิบายเพิ่มเติมในพระไตรปิฎก (โมฆราชมาณวกปัญหานิทเทส พระไตรปิฎก เล่มที่ 30 ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส) ว่า "บุคคลพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญด้้วยเหตุ 2 ประการ คือ (1) ด้วยสามารถความกำหนดว่า ไม่เป็นไปในอำนาจ หมายความว่า ใครๆ ย่อมไม่ได้อำนาจในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ และ (2) ด้วยสามารถการพิจารณาเห็นสังขารโดยเป็นของว่างเปล่า หมายความว่า ใครๆ ย่อมไม่ได้แก่นสารในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ ที่ไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร เพราะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา

มีคำที่อาจก่อความสับสนได้อีกคำหนึ่ง คือคำว่า พิจารณา บางท่านตีความว่า การพิจารณาคือการคิด แท้จริงคำว่าพิจารณา หมายถึงการเจริญสติตามรู้รูปนามนั่นเอง ไม่ใช่การคิดเรื่องรูปนาม เพราะการคิดเรื่องรูปนามว่าเป็นความว่างนั้น ไม่สามารถจะทำให้เห็นรูปนามเป็นความว่างได้ แต่ถ้าเจริญสติโดยมีรูปนามเป็นอารมณ์ จึงจะเห็นอนัตตลักษณะของรูปนามได้

สรุปแล้ว พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนให้ใช้ความว่างเป็นอารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐาน และไม่ได้ให้คิดเรื่องความว่าง แต่ทรงสอนให้มีสติตามรู้รูปนาม จนเห็นรูปนามว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนหรือไร้แก่นสารทั้งปวง ดังนั้น พวกเราจึงควรลงมือเจริญสติตามรู้รูปนามไปเลย ดีกว่าจะเที่ยวคิดหรือเที่ยวแสวงหาสุญญตาจนลืมการเจริญสติ แล้ววันหนึ่งพวกเราจะได้เห็นโลกคือรูปนามอันประกอบขึ้นเป็นสรรพสิ่ง ทั้งหลายนั้น แม้มีอยู่ แต่ก็ว่างเปล่าจากความ เป็นตัวตนและหาแก่นสารใดๆ ไม่ได้เลย

อันที่จริงคำสอนโดยตรงเรื่องสุญญตา ในฝ่ายเถรวาทมีไม่มากนัก กลับไปมีมากในคำสอนของเซน แต่สุญญตาที่เซนกล่าวถึง ก็อาจมีนัยแตกต่างไปจากคำสอนที่พระพุทธเจ้าประทานแก่ท่านโมฆราช ซึ่งหมายถึงความว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนและความไร้แก่นสารของรูปนาม ในขณะที่สุญญตาตามคำสอนของเซนน่าจะมีนัยใกล้เคียงกับคำว่านิพพาน ซึ่งรูปนามกับนิพพานนั้นเป็นสภาวธรรมต่างชนิดกัน อย่างไรก็ตาม แม้ฝ่ายเถรวาทจะไม่ค่อยได้เอ่ยถึงคำว่าสุญญตาโดยตรง แต่ก็กล่าวถึงสุญญตา ไว้ทั้งสองนัย คือนัยแรกสอนว่า รูปนามว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน และนัยที่ 2 สอนว่า นิพพานเป็นความว่างอย่างยิ่ง ซึ่งถ้าจะกล่าวอย่างรวบย่อก็กล่าวได้ว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา คือทั้งรูปนามและนิพพาน ต่างก็ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนด้วยกันทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2008, 14:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนให้ใช้ความว่าง
เป็นอารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐาน
ไม่ได้ให้คิดเรื่องความว่าง
แต่ทรงสอนให้มีสติตามรู้รูปนาม
จนเห็นว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน
หรือไร้แก่นสารทั้งปวง

ครั้งที่ 91 บทที่ 7. สุญญตา
ตอน ความหมายของการพิจารณาสุญญตา

พวกเราคงเคยได้ยินว่า สุญญตา หรือ มหาสุญญตา กันบ่อยๆ และอาจเคยพบเพื่อนชาวพุทธบางท่าน โดยเฉพาะปัญญาชน ที่สนใจศึกษาเรื่องสุญญตาด้วยการอ่าน การฟัง การคิด และการถกแถลงธรรม ท่านเหล่านี้ได้รับความอิ่มอกอิ่มใจ ว่ามีความรู้ความเข้าใจพระพุทธศาสนาลึกซึ่งเพียงพอ แล้ว จนไม่สนใจการเจริญสติ ซึ่งเราคงเข้าไปเกี่ยวข้องอะไรด้วยไม่ได้ แต่ที่น่า เป็นห่วงก็คือ เพื่อนผู้สนใจการปฏิบัติบางท่าน กลับพยายามเจริญสติด้วยการใช้สุญญตาเป็นอารมณ์กรรมฐาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดพลาด มาก เพราะพระพุทธเจ้าทรงสอนให้ใช้ขันธ์หรือรูปนามเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา กรรมฐาน ไม่ได้ทรงสอนให้ใช้สุญญตา หรือความว่างเป็นอารมณ์แต่อย่างใด

บางท่านถึงกับนำพระไตรปิฎกมาอ้างว่า พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนให้ใช้สุญญตาเป็นอารมณ์กรรมฐานเหมือนกัน เนื้อหาของพระไตรปิฎกส่วนนี้มีอยู่ว่า โมฆราชมาณพ พร้อมด้วยเพื่อนร่วมสำนักผู้เป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรีรวม 16 ท่าน ได้ไปเฝ้าทูลถามปัญหากับพระพุทธเจ้า ท่านเหล่านี้ภายหลังได้อุปสมบทและบรรลุเป็นพระอรหันต์ชั้นแนวหน้าทั้งสิ้น เฉพาะท่านโมฆราชนั้น ได้ทูลถามพระพุทธเจ้าถึง 3 ครั้งว่า บุคคลผู้พิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชจึงจะไม่เห็น

พระอรรถกถาจารย์ท่านอธิบายว่า เหตุที่ท่านโมฆราชต้องถามถึง 3 ครั้ง ก็เพราะพระพุทธเจ้าทรงรอให้โมฆราชมาณพมีอินทรีย์แก่กล้าเสียก่อน จึงยังมิได้ทรงตอบเมื่อทูลถามปัญหา 2 ครั้งแรกต่อจากท่าน อชิตะและท่านติสสเมตเตยยะ

เมื่อท่านโมฆราชทูลถามเป็นครั้งที่ 3 โดยได้ถามเป็นบุคคลลำดับที่ 15 แทนที่จะได้ถามเป็นท่านที่ 2 หรือ 3 จึงทรงตอบว่า ดูกรโมฆราช ท่านจงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า เถิด จงถอนความตามเห็นว่าเป็นตัวตนเสียแล้ว พึงเป็นอย่างนี้ มัจจุราชจึงจะไม่เห็น

เมื่ออ่านคำตอบตรงนี้แล้ว ท่านที่ชอบเรื่องสุญญตาก็มักจะสรุปเอาเลยว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ปฏิบัติด้วยการคิดพิจารณาให้เห็นว่าโลกเป็นของว่างเปล่าหรือเป็นสุญญตา

ความจริงพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ทรงสอนอย่างนั้น แต่พระองค์ระบุชัดเจนว่า จงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ แสดงว่าพระองค์สอนให้ เจริญสติ ถ้าถามต่อไปว่า พระองค์ให้ เจริญสติโดยใช้สิ่งใดเป็นอารมณ์กรรมฐานก็ตอบได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ใช้โลกเป็นอารมณ์กรรมฐาน และคำว่าโลกก็หมายความถึง รูปนาม นั่นเอง

พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนให้ใช้สุญญตา หรือความว่างเปล่าเป็นอารมณ์กรรมฐาน เพียงแต่ทรงแนะนำให้ตามรู้รูปนามในแง่มุมของความว่างเปล่าจากตัวตนหรืออนัตตาเท่านั้นเอง เพราะท่านโมฆราชเป็นผู้มีปัญญามาก จึงเหมาะที่จะบรรลุธรรมด้วยสุญญตวิโมกข์ คือการเห็นรูปนามเป็น อนัตตา ทั้งนี้ ในบรรดาคณะศิษย์ของพราหมณ์พาวรีทั้ง 16 ท่านนั้น พระไตรปิฎก กล่าวถึงฉายาต่อท้ายชื่อไว้ 2 ท่าน คือ ท่านโมฆราชผู้มีปัญญา กับท่านปิงคิยะผู้แสวงหา คุณอันใหญ่ แสดงว่าท่านโมฆราชน่าจะมีจุดเด่นในด้านมีปัญญามากจริงๆ เพียงแต่ไม่ถึงระดับท่านพระสารีบุตรผู้เป็นอัครสาวกผู้เลิศด้วยปัญญาเท่านั้น

มีคำอธิบายเพิ่มเติมในพระไตรปิฎก (โมฆราชมาณวกปัญหานิทเทส พระไตรปิฎก เล่มที่ 30 ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส) ว่า "บุคคลพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญด้้วยเหตุ 2 ประการ คือ (1) ด้วยสามารถความกำหนดว่า ไม่เป็นไปในอำนาจ หมายความว่า ใครๆ ย่อมไม่ได้อำนาจในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ และ (2) ด้วยสามารถการพิจารณาเห็นสังขารโดยเป็นของว่างเปล่า หมายความว่า ใครๆ ย่อมไม่ได้แก่นสารในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ ที่ไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร เพราะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา

มีคำที่อาจก่อความสับสนได้อีกคำหนึ่ง คือคำว่า พิจารณา บางท่านตีความว่า การพิจารณาคือการคิด แท้จริงคำว่าพิจารณา หมายถึงการเจริญสติตามรู้รูปนามนั่นเอง ไม่ใช่การคิดเรื่องรูปนาม เพราะการคิดเรื่องรูปนามว่าเป็นความว่างนั้น ไม่สามารถจะทำให้เห็นรูปนามเป็นความว่างได้ แต่ถ้าเจริญสติโดยมีรูปนามเป็นอารมณ์ จึงจะเห็นอนัตตลักษณะของรูปนามได้

สรุปแล้ว พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนให้ใช้ความว่างเป็นอารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐาน และไม่ได้ให้คิดเรื่องความว่าง แต่ทรงสอนให้มีสติตามรู้รูปนาม จนเห็นรูปนามว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนหรือไร้แก่นสารทั้งปวง ดังนั้น พวกเราจึงควรลงมือเจริญสติตามรู้รูปนามไปเลย ดีกว่าจะเที่ยวคิดหรือเที่ยวแสวงหาสุญญตาจนลืมการเจริญสติ แล้ววันหนึ่งพวกเราจะได้เห็นโลกคือรูปนามอันประกอบขึ้นเป็นสรรพสิ่ง ทั้งหลายนั้น แม้มีอยู่ แต่ก็ว่างเปล่าจากความ เป็นตัวตนและหาแก่นสารใดๆ ไม่ได้เลย

อันที่จริงคำสอนโดยตรงเรื่องสุญญตา ในฝ่ายเถรวาทมีไม่มากนัก กลับไปมีมากในคำสอนของเซน แต่สุญญตาที่เซนกล่าวถึง ก็อาจมีนัยแตกต่างไปจากคำสอนที่พระพุทธเจ้าประทานแก่ท่านโมฆราช ซึ่งหมายถึงความว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนและความไร้แก่นสารของรูปนาม ในขณะที่สุญญตาตามคำสอนของเซนน่าจะมีนัยใกล้เคียงกับคำว่านิพพาน ซึ่งรูปนามกับนิพพานนั้นเป็นสภาวธรรมต่างชนิดกัน อย่างไรก็ตาม แม้ฝ่ายเถรวาทจะไม่ค่อยได้เอ่ยถึงคำว่าสุญญตาโดยตรง แต่ก็กล่าวถึงสุญญตา ไว้ทั้งสองนัย คือนัยแรกสอนว่า รูปนามว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน และนัยที่ 2 สอนว่า นิพพานเป็นความว่างอย่างยิ่ง ซึ่งถ้าจะกล่าวอย่างรวบย่อก็กล่าวได้ว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา คือทั้งรูปนามและนิพพาน ต่างก็ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนด้วยกันทั้งสิ้น


ไม่ว่าเราจะเริ่มต้นการปฏิบัติ
ด้วยการทำสมถะก่อน หรือด้วยการทำวิปัสสนาก่อน
ในที่สุดก็ต้องมีทั้งสมถะและวิปัสสนาจึงจะละสังโยชน์ได้

ครั้งที่ 97 บทที่ 8. ของฝาก
ตอน แก่นคำสอนของพระวัดป่า

ถาม ดิฉันทราบว่าหลวงพ่อเป็นลูกศิษย์ครูบาอาจารย์สายวัดป่า จริงไหมคะ

ตอบ จริง แต่ขอให้คุณเข้าใจให้ถูกต้อง เสียก่อนว่า อาตมาเป็นเพียงผู้ได้รับการอบรม สั่งสอนถึงวิธีการปฏิบัติธรรมจากพ่อแม่ครูอาจารย์สายวัดป่าบางรูปมาตั้งแต่สมัยที่เป็นฆราวาสเท่านั้น เริ่มต้นตั้งแต่หลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่อพุธ หลวงปู่เทสก์ หลวงปู่สิม ท่านพระอาจารย์บุญจันทร์ และหลวงปู่สุวัจน์ เป็นต้น และครูบาอาจารย์ท่านคงพิจารณาเห็นว่าอาตมาเป็นพวกทิฏฐิจริต ท่านจึงสอนให้เริ่มต้นการปฏิบัติด้วยการดูจิตตนเอง โดยไม่ได้เน้นหนักเรื่องการทำสมาธิพิจารณา กาย ซึ่งจะแตกต่างจากพระธุดงคกรรมฐานส่วนใหญ่ ที่ท่านทำสมาธิและพิจารณากายกันก่อนแล้วค่อยมาดูจิตในภายหลัง นอกจากนี้อาตมาไม่ใช่พระป่าหรือพระฝ่ายอรัญวาสีเพราะไม่เคยอยู่ป่า แต่เป็นพระบ้านหรือพระฝ่ายคามวาสี และอาตมาไม่ใช่พระธุดงค กรรมฐานเพราะไม่ได้สมาทานธุดงควัตร เป็นแต่เพียงพระกรรมฐานธรรมดาๆ เท่านั้น นอกจากนี้ อาตมาก็ไม่ใช่พระฝ่ายปฏิบัติอย่างเดียว แต่ยังศึกษาพระปริยัติธรรมด้วย ดังนั้น ถ้าคุณต้องการทราบเรื่องราวของ พระป่าหรือพระธุดงคกรรมฐานให้ละเอียดลึกซึ้ง ก็คงต้องไปถามท่านที่เป็นพระป่าแท้ๆ เอาเอง

ถาม เป็นไปได้อย่างไรคะ ที่จะปฏิบัติธรรมโดยไม่เริ่มต้นจากการทำสมาธิก่อน

ตอบ ขอให้คุณอ่าน พระไตรปิฎกเล่ม 31 พระสุตตันตปิฎก ยุคนัทธวรรค ยุคนัทธกถา ในพระสูตรนี้ท่านพระอานนท์กล่าวถึง (1) การเจริญวิปัสสนาอันมีสมถะเป็นเบื้องต้น (2) การเจริญสมถะอันมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น (3) การเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป ท่านว่าทำให้เกิดมรรค ละสังโยชน์และอนุสัยได้ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเราจะเริ่มต้นการปฏิบัติด้วยการทำสมถะก่อน หรือด้วยการทำวิปัสสนาก่อน ในที่สุดก็ต้องมีทั้งสมถะและวิปัสสนาจึงจะละสังโยชน์ได้

ถาม ทำไมครูบาอาจารย์จึงสอนให้หลวงพ่อ ดูจิตคะ

ตอบ ครูบาอาจารย์ที่อาตมาไปศึกษากับท่านนั้น ท่านสอนกรรมฐานตามจริตลูกศิษย์ อาตมาเป็นพวกทิฏฐิจริตคือพวกคิดมากซึ่งเหมาะกับการดูจิต อาตมาจึงได้กรรมฐานที่ต่างจากศิษย์สายวัดป่าส่วนใหญ่ที่ท่านเป็นตัณหาจริตซึ่งเหมาะกับการรู้กาย

ถาม ขอทราบแก่นคำสอนของวัดป่า อย่างสั้นๆ ด้วยค่ะ

ตอบ แก่นคำสอนของวัดป่าประกอบด้วยการปฏิบัติ 3 ส่วนด้วยกัน คือ (1) ให้ทำความ สงบจิตเข้ามาก่อน โดยใช้อารมณ์กรรมฐานเช่น อานาปานสติ พุทธานุสติ และมรณานุสติ เป็นต้น จนจิตตั้งมั่นเป็นหนึ่งมีอารมณ์เป็นหนึ่ง (2) เมื่อจิตถอดถอนออกจากความ สงบแล้ว ท่านสอนให้เจริญกายคตาสติคือคิดพิจารณากายตามอาการ 32 ในเบื้องต้นอาจจะพิจารณาหยาบๆ ให้เห็นว่ากายแต่ละส่วนเป็นปฏิกูล เป็นอสุภะ เมื่อสติปัญญาแก่กล้าขึ้นก็พิจารณากายแต่ละส่วนเป็นขันธ์ เป็นธาตุ จนกระทั่งเมื่อสติปัญญาแก่กล้าขึ้นไปอีกก็พิจารณากายแต่ละส่วนเป็นความว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนเป็นลำดับๆ ไป เมื่อพิจารณาไปพอสมควรแล้วก็ให้ทำความ สงบเข้ามาอีก เมื่อสงบแล้วก็ออกพิจารณาอีก ให้เข้าออกสลับกันไปอย่างนี้ อย่าให้จิตไปติด ความสงบเฉยหรือคิดพิจารณากายจนฟุ้งซ่าน เพราะหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตท่านสอนว่า 'ทำความสงบมากก็เนิ่นช้า คิดพิจารณามากก็ฟุ้งซ่าน' ให้พิจารณากายสลับกับการทำ ความสงบเรื่อยๆ ไป จนจิตใจได้รับความ สงบสุข หรือบางท่านจะเกิดปฏิภาคนิมิตของ กาย ก็อาศัยปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์ กรรมฐานในขั้นละเอียดต่อไปจนจิตเข้าถึงความสงบแนบแน่น บางท่านสลายกายไปจนหมดแล้วก็เข้ามารู้จิตต่อไป และ (3) เมื่อหมดเวลาที่จะปฏิบัติอย่างเป็นพิธีการในแต่ละวันแล้ว ต่อจากนั้นไม่ว่าจะยืนเดินนั่งนอน ก็จะต้องมีสติรู้รูปยืนเดินนั่งนอน โดยความเป็นรูป เป็นธาตุ หรือเป็นความว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนอยู่เนืองๆ หรือมีสติรู้จิตใจตนเองเมื่อมีการกระทบอารมณ์ทางทวารทั้ง 6 อยู่เสมอ ในขั้นนี้เป็นการรู้สึกถึงสภาวะและเข้าใจถึงลักษณะของรูปนามตามความเป็นจริง ไม่ใช่การคิดพิจารณา อีกแล้ว เรื่องนี้หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ ท่านเคยเล่าว่า หลวงปู่มั่นสอนท่านว่า 'ถ้ารู้กายได้ก็ให้รู้กาย ถ้ารู้จิตได้ก็ให้รู้จิต และที่รู้กายก็เพื่อจะรู้จิตนั่นเอง' นอกจากนี้หลวงปู่มั่นยังเน้นว่า 'การเจริญสติในชีวิตประจำวัน นี่แหละเป็นหัวใจของการปฏิบัติธรรม' ซึ่งก็เป็นความจริงอย่างนั้นเพราะวิปัสสนาแท้ๆ เกิดที่ตรงนี้เอง


การเจริญสติในชีวิตประจำวันสำคัญที่สุด
เพราะคือการเจริญวิปัสสนากรรมฐานที่แท้จริง
สิ่งที่พระป่าส่วนมากท่านทำก็คือ การมีความรู้สึกตัว
รู้รูปยืนเดินนั่งนอน ว่าคือสิ่งที่ใจไปรู้เข้า
ส่วนใจเป็นธรรมชาติรู้ที่อยู่ต่างหากจากรูป

ครั้งที่ 98 บทที่ 8. ของฝาก
ตอน จุดควรระวังในการปฏิบัติ

ถาม ทำไมจึงต้องเริ่มจากการทำสมถะก่อนคะ

ตอบ พระป่าท่านเน้นการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นหลัก จึงจำเป็นต้องทำสมถกรรมฐานก่อนเพื่อให้จิตตั้งมั่นและสามารถรู้รูปที่แท้จริงได้ ซึ่งพระอภิธรรมก็สอนไว้ให้ทำอย่างนี้เช่นกัน เพราะหากจิตไม่ตั้งมั่นพอ ผู้ปฏิบัติจะรู้รูปได้ยากมาก จะเห็นได้แค่อวัยวะหรือกายทั้งกายอันเป็นบัญญัติ แล้วเข้าไปเพ่งอารมณ์บัญญัตินั้นอยู่ อันเป็นการทำสมถกรรมฐานโดยคิดว่ากำลังเจริญวิปัสสนาอยู่ นอกจากนี้ในระหว่างการเจริญสตินั้น หากจิตเกิดความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า ก็ให้ทำความสงบจิตเป็นที่พักผ่อน ชีวิตของพระนั้นหากามสุขได้ยาก การทำความสงบจิตจึงเป็นความสุขที่พระหาได้โดยชอบด้วยพระธรรมวินัย

ถาม แล้วทำไมต้องต่อด้วยการพิจารณากายล่ะคะ การพิจารณากายที่เรียกว่ากายคตา สตินั้นเป็นสมถกรรมฐานอีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่หรือคะ

ตอบ กายคตาสติหรือการมีสติคิดพิจารณาในอาการ 32 มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้นนั้น เป็นการทำสมถกรรมฐานจริงอย่างที่คุณพูด แต่ที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนให้พิจารณากาย ก็เพราะผู้มีตัณหาจริตที่ทำสมถกรรมฐานด้วยอานาปานสติและ พุทโธนั้น พอจิตสงบแล้วก็มักจะติดความสงบ และเกิดความเกียจคร้านที่จะเจริญปัญญา ครูบาอาจารย์ท่านจึงสอนให้ทิ้งความสงบนิ่งเฉย ให้น้อมจิตออกมาคิดเรื่องกาย เป็นการนำร่องให้จิตสนใจการเจริญปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ในชีวิตประจำวัน จิตจะเห็นรูปยืนเดินนั่งนอนคู้เหยียดได้ทั้งวัน เพราะคุ้นเคยที่จะรู้กายโดยความไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาอยู่แล้ว และเหตุที่ให้คิดเรื่องกายตนเองก็เพราะเป็นความปลอดภัยสำหรับพระหนุ่มเณรน้อย หากให้คิดเรื่องอื่นที่ไม่สมควร ก็อาจอยากสึกไปครองเรือนได้

ถาม แล้วการเจริญสติในชีวิตประจำวันล่ะคะ สำคัญอย่างไร

ตอบ สำคัญอย่างที่สุดทีเดียว เพราะนี่แหละ คือการเจริญวิปัสสนากรรมฐานที่แท้จริง สิ่งที่พระป่าส่วนมากท่านทำก็คือการมีความรู้สึกตัว แล้วรู้รูปยืนเดินนั่งนอนนั่นเอง จะเห็นว่ารูปเป็นสิ่งที่ใจไปรู้เข้า ส่วนใจเป็นธรรมชาติรู้ที่อยู่ต่างหากจากรูป มีน้อยท่านที่เริ่มด้วยการรู้จิตไปเลย แต่ไม่ว่าจะรู้รูปหรือนาม ในที่สุดก็จะรู้ได้ทั้งรูปและนามเช่นกัน และการปฏิบัติในขั้นสุดท้ายท่านก็จะเข้ามารู้จิตกันทุกๆ รูป

ถาม ในขั้นตอนทั้ง 3 นี้ถ้าจะตัดออกสัก 1 ขั้นตอน แล้วทำเพียง 2 ขั้นตอนจะได้ไหมคะ

ตอบได้ โดยให้ทำความสงบจิต แล้วเจริญสติในชีวิตประจำวันไปเลย

ถาม ถ้าจะตัดออกอีก 1 ขั้นตอน แล้วทำเพียงขั้นตอนเดียวจะได้ไหมคะ

ตอบได้ ถ้าจะทำอย่างเดียวก็ให้เจริญสติในชีวิตประจำวันเข้าไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตามรู้จิตซึ่งเป็นกรรมฐานที่เหมาะกับวิปัสสนายานิก แต่ถ้าจะเจริญสติในชีวิตประจำวันด้วยการตามรู้รูปก็อย่าละเลยการทำสมถกรรมฐาน สำหรับท่านที่ดูจิต อย่างน้อยก็ต้องไหว้พระสวดมนต์หรือแผ่เมตตาให้จิตใจสงบบ้าง เพราะถ้าดูจิตอย่างเดียวจิตอาจจะมีความตั้งมั่นไม่พอ และทางที่ดีก็ให้รู้กายบ้างรู้จิตบ้างไปเรื่อยๆ เช่นเดินจงกรมไปรู้จิตไป หรือทำงานบ้านไปรู้จิตไป อย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน จะได้กำลังมากกว่าดูจิตล้วนๆ ซึ่งถ้าสติ สัมมาสมาธิ และปัญญาไม่พอ จิตอาจถลำเข้าไปแช่อยู่กับความ ว่างๆ ได้ แต่คนที่ดูจิตล้วนๆ แล้วได้ผลในการปฏิบัติอย่างรวดเร็วก็มีเหมือนกัน อันนี้แล้วแต่บารมีที่อบรมมา

ถาม ดิฉันปฏิบัติในแนววัดป่า มีจุดใดที่ควรระมัดระวังบ้างคะ

ตอบ ต้องไม่ละเลยการเจริญสติรู้กายรู้ใจ จะต้องรู้สึกตัวอยู่เสมอๆ จะเอาแต่สมาธิอย่างเดียวไม่ได้เพราะจะไม่เกิดปัญญา และต้องระวังเรื่องการติดสมถะ เพราะผู้ปฏิบัติบางท่านติดสมถะ คือพอใจที่จะน้อมจิตเข้าสู่ความสงบภายในอันประณีตจนเกียจคร้าน ที่จะเจริญปัญญาบ้าง น้อมจิตเข้าไปภายในแล้วนิ่งซึมแช่หรือตรึงความรู้สึกแข็งๆ ทื่อๆ ไว้ภายในบ้าง กดความรู้สึกของจิตให้นิ่งไม่ให้กระเพื่อม หวั่นไหวเมื่อกระทบอารมณ์บ้าง หรือติดนิมิตคือพอใจและภูมิใจที่จะรู้เห็นนิมิตต่างๆ เพราะเห็นว่านิมิตเป็นของดีที่จะพาให้เกิดปัญญาพ้นทุกข์ หรือเกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินต่างๆ บ้าง พวกเราอย่าเอาแต่หลงนิมิต เพราะการเห็นกายเห็นจิตหรือแม้แต่เห็นกิเลส ก็ยังดีกว่าเห็นนิมิตอันเป็นของแปลกปลอมทั้งหลาย

ถาม หลวงพ่อมีอะไรจะฝากเป็นการบ้านให้คณะของเราไปพิจารณาบ้างคะ

ตอบ ผู้ปฏิบัติแนวพุทโธควรทำตามที่ครูบาอาจารย์สอนให้ครบถ้วน คือทำความสงบเข้ามา แล้วออกคิดพิจารณากาย เมื่อหมดเวลาปฏิบัติตามรูปแบบแล้ว จะยืนเดินนั่งนอนก็ให้มีสติรู้กายรู้ใจของตนเองอยู่เนืองๆ อย่าทำเฉพาะสมถกรรมฐานแล้วติดอยู่กับความสงบหรือนิมิตจนไม่ยอมเจริญปัญญา หรือทำสมถกรรมฐานแล้วคิดพิจารณากาย โดยละเว้นการเจริญสติในชีวิตประจำวัน โปรดจำไว้ว่าจะทิ้งอะไรก็พอทิ้งได้ แต่อย่าทิ้งการเจริญสติรู้กายรู้ใจในชีวิตประจำวัน ก็แล้วกัน

ค่อยๆ สังเกตให้ดี คุณก็จะเห็นว่ากายนี้ไม่ใช่ตัวเรา
แต่เป็นเพียงรูปที่เคลื่อนไหวไปมาเพราะจิตสั่งเท่านั้นเอง
จากนั้นรูปไหวก็รู้ว่ารูปไหว จิตไหวก็รู้ว่าจิตไหว


ครั้งที่ 99 บทที่ 8. ของฝาก
ตอน ร่างกายกับรูป
มีความแตกต่างกันอย่างไร

ถาม ดิฉันเจริญสติด้วยวิธีกำหนดรู้ท้องที่พองยุบ กำหนดรู้จังหวะในการเดินจงกรม และกำหนดรู้นามธรรมที่กำลังปรากฏด้วย ทำมาหลายปีแล้ว จนมีความรู้สึกตัวเด่นชัดจะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวก็กำหนดทันเป็นส่วนมาก จิตได้รับความสงบสุขมาก นิ่งและไม่กระเพื่อมหวั่นไหวเมื่อกระทบอารมณ์ ต่างๆ บางครั้งก็วูบหมดความรู้สึกนึกคิดลง นับว่าเป็นความสงบสุขอย่างยิ่ง แต่การปฏิบัติก็ติดตันอยู่เพียงเท่านี้หลายปีแล้ว บางคราวกิเลสก็ฟูขึ้นมาได้อีก ขอเรียนถามว่า ดิฉันควรจะปฏิบัติอย่างไรต่อไป จิตจึงจะก้าวหน้าต่อไปได้อีก

ตอบ จุดเด่นของการปฏิบัติในแนวทางที่คุณทำอยู่ก็คือการพยายามรู้รูปนามให้ตรงตามความเป็นจริง ซึ่งจัดว่าเป็นหัวใจของการเจริญวิปัสสนาทีเดียว เบื้องต้นแม้จะเน้นการรู้รูป แต่ในที่สุดจะสามารถรู้เวทนาและจิตได้ด้วย การปฏิบัติแนวนี้จึงช่วยให้ผู้ปฏิบัติรู้ได้ทั้งรูปและนาม นับว่าเป็นแนวทาง ปฏิบัติที่น่าสนใจศึกษาอีกแนวทางหนึ่ง

มีจุดสังเกตที่ขอฝากให้คุณลอง พิจารณาถึงความสอดคล้องกับพระปริยัติธรรม บางประการคือ (1) ในเวลาที่คุณดูท้องพองยุบ และดูเท้าที่ยกย่างเหยียบนั้น คุณรู้รูปจริงๆ หรือเพ่งอวัยวะคือท้องและเท้า ถ้าคุณมองทะลุบัญญัติของร่างกายหรืออวัยวะต่างๆ เข้าไปรู้ลักษณะของรูปได้จริงๆ จึงจะเป็น การเจริญวิปัสสนา แต่ถ้าเพ่งร่างกายหรืออวัยวะต่างๆ ก็เป็นการทำสมถะ (2) การรู้นั้นคุณระลึกรู้ด้วยสติที่เกิดขึ้นเองโดยไม่ได้จงใจ แต่เกิดเพราะมีเหตุให้เกิด หรือรู้ด้วยความจงใจกำหนด ถ้าสติเกิดขึ้นเพราะมีเหตุ คือจิตจดจำสภาวะของรูปนามได้แม่นยำ สติอย่างนี้จึงจะเป็นสัมมาสติและใช้เป็นเครื่องมือ ในการเจริญวิปัสสนาได้ แต่หากจงใจกำหนด จิตจะถูกตัณหาครอบงำและสัมมาสติ จริงๆ จะไม่เกิดขึ้น จิตจะขาดเครื่องมือที่จะเจริญวิปัสสนา และ (3) เมื่อคุณรู้รูปนามแล้ว คุณทำอะไรต่อจากการรู้หรือเปล่า หรือไม่ได้ปรุงแต่งสิ่งใดต่อไปอีก ทั้งนี้ถ้าคุณรู้แล้วเติมบัญญัติลงไปก็จะกลายเป็นการคิดเรื่องอารมณ์ หรือถ้าคุณอยากรู้อารมณ์ให้ชัดๆ แล้วเกิดการกำหนดจดจ้อง ก็จะกลายเป็นการเพ่งอารมณ์หรืออารัมมณูปนิชฌาน อันเป็นการทำสมถะไม่ใช่การเจริญวิปัสสนา แต่ถ้าคุณรู้รูปนามเพื่อจะรู้ลักษณะความเป็น ไตรลักษณ์ของรูปนามโดยไม่ปรุงแต่งสิ่งใดต่อไป ก็เป็นการเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้องแล้ว

ถาม ขอความกรุณาช่วยขยายความว่า 'ร่างกาย' กับ 'รูป' มีความแตกต่างกันอย่างไรค

ตอบ ร่างกายอันประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นสมมติบัญญัติ ส่วนรูปอันประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นปรมัตถ์ การรู้ร่างกายจึงเป็นการทำสมถกรรมฐาน ส่วนการรู้รูปเป็นการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

ถ้าคุณเคยศึกษาพระอภิธรรมคุณจะทราบว่า อารมณ์ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีทั้งส่วนที่เป็นบัญญัติและปรมัตถ์ คือมีทั้งส่วนที่เป็นร่างกายและเป็นรูป ส่วนที่เป็นร่างกายก็เช่นลมหายใจ และร่างกายอันเป็นอสุภะ ส่วนที่เป็นรูปก็เช่นรูปยืนเดินนั่งนอน รูปคู้รูปเหยียด และธาตุ 4 อันประชุมอยู่ในกายนี้

ทำไมอาตมาจึงกล่าวว่าลมหายใจและร่างกายอันเป็นปฏิกูลและอสุภะเป็นบัญญัติ ก็เพราะรูปที่แท้จริงของลมหายใจและร่างกายได้แก่มหาภูตรูป 4 หรือธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ตัวธาตุนั่นแหละคือรูป แต่เมื่อธาตุมารวมตัวกันเป็นรูปร่างอย่างนี้ๆ จึงเกิดมีสมมติบัญญัติเรียกว่าลมหายใจ และผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น

การรู้ร่างกายเป็นของง่าย เพราะจิตของ เราคุ้นเคยกับการรู้อารมณ์บัญญัติอยู่แล้ว แต่การรู้รูปเป็นของยากเพราะเราไม่คุ้นเคยกับการรู้อารมณ์ปรมัตถ์ผู้ที่จะรู้รูปได้ดีคือสามารถเห็นรูปซึ่งซ่อนอยู่ในร่างกายได้ จะต้องมีจิตที่ตั้งมั่นพอ พระอภิธรรมจึงกล่าวไว้ ว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้นเหมาะสมกับสมถยานิก ถ้าทำความสงบจนจิตตั้งมั่นเสียก่อนก็จะเห็นรูปได้โดยง่าย แต่คุณไม่สนใจเรื่องสมถกรรมฐานเลย พอเริ่มลงมือปฏิบัติก็มักจะตั้งสติกำหนดรู้ท้องที่พองยุบ หรือทำจังหวะในการเดินจงกรม 6-7 จังหวะเลยทีเดียว เมื่อทำอย่างนี้จิตมักจะไม่มีกำลังพอที่จะถอดถอนตนเองออกมาเป็น ผู้รู้รูป แต่มักจะเคลื่อนเข้าไปเพ่งร่างกาย มีการเพ่งท้อง เพ่งเท้า เพ่งมือ หรือเพ่งกายทั้งกาย เป็นต้น

การรู้รูปนั้นหากทำด้วยจิตที่มีกำลังความตั้งมั่นอันเนื่องมาจากการทำสมถกรรมฐานจนจิตเป็นหนึ่ง จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติมองทะลุร่างกายคืออวัยวะน้อยใหญ่อันเป็นอารมณ์บัญญัติ เข้าไปเห็นรูปอันเป็นอารมณ์ ปรมัตถ์ได้ง่ายขึ้น เพราะจิตจะถอดถอนตนเองออกมาเป็นผู้รู้รูป โดยไม่หลงเข้าไปคลุกอยู่กับอวัยวะต่างๆ กระทั่งการเข้าไปคลุกอยู่กับกายทั้งกาย

ผู้ปฏิบัติจะเห็นวิญญัติรูปหรือรูปที่มีอาการเคลื่อนไหวและหยุดนิ่ง เห็นว่าสิ่งที่ไหวและนิ่งอยู่นี้เป็นเพียงรูป ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่การคิดว่านี่คือรูปไหว รูปนิ่ง รูปยืน รูปเดิน รูปนั่ง รูปนอน แต่เป็นความรู้สึกถึงรูปที่ไหว และนิ่งในอาการหรืออิริยาบถต่างๆ เท่านั้น

นอกจากนี้ บางท่านอาจรู้สึกได้ถึงมหาภูตรูปคือธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม โดยเฉพาะธาตุดินคือความเป็นก้อนแข็งของรูปกายนี้ หรือรู้สึกได้ถึงธาตุไฟอันเป็นความเย็นร้อนของก้อนธาตุนี้ รู้ว่าก้อนธาตุนี้ไม่ใช่คนไม่ใช่สัตว์แต่เป็นธาตุ เป็นต้น

ถาม หมายความว่าดิฉันจะต้องไปฝึกทำสมถกรรมฐานเพิ่มเติมก่อนใช่ไหมคะ

ตอบ ไม่ต้องถึงขนาดนั้นก็ได้แต่ต้องปรับมุมมองให้ถูกต้องเสียก่อน เพราะความจริงการที่คุณเพียรเพ่งท้อง เพ่งเท้า หรือเพ่งกาย ทั้งกายนั่นแหละเป็นการทำสมถกรรมฐานอยู่ในตัวแล้ว แต่คุณไปคิดว่าเป็นการทำวิปัสสนาจึงเดินต่อไปไม่ได้ เพราะจิตไม่ตั้งมั่น พอที่จะถอดถอนตนเองออกมาเป็นผู้รู้ผู้ดูรูปนาม มีแต่จะหลงเข้าไปแช่นิ่งอยู่กับกายอย่างเดียว ต่อไปนี้ลองดูใหม่ คุณก็ปฏิบัติไปอย่างเดิมนั่นแหละ แล้วค่อยๆ สังเกตให้ดีว่า ท้องก็ดี เท้าก็ดี กายทั้งกายก็ดีเป็นวัตถุที่ถูกรู้ถูกดู มีธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งเป็นผู้รู้ผู้ดู ธรรมชาตินี้เองคือจิต ถ้าคุณรู้สึกได้ว่าสิ่งที่เรียกว่าตัวเรามีองค์ประกอบ 2 อย่าง คือกายนี้ที่ถูกรู้ กับจิตที่เป็นผู้รู้กาย คุณก็จะเห็นต่อไปได้ว่า กายนี้ไม่ใช่ตัวเรา แต่เป็นเพียงรูปที่เคลื่อนไหวไปมาเพราะจิตสั่งเท่านั้นเอง จากนั้นรูปไหวก็รู้ว่ารูปไหว จิตไหวก็รู้ว่าจิตไหว ทำอย่างนี้ก็ใช้ได้แล้ว แต่ถ้าเอาแต่กำหนดท้องและกำหนดเท้าเรื่อยๆไป จะเป็นการทำสมถกรรมฐาน แล้วอาจจะเกิดอาการเช่นตัวเบา ตัวหนัก ตัวเล็ก ตัวใหญ่ ตัวโคลง หรือเกิดปีติวูบวาบต่างๆ เป็นต้น

การที่คุณเอาแต่ทำสมถกรรมฐานโดยคิดว่ากำลังเจริญวิปัสสนากรรมฐานอยู่นี้เอง ทำให้ไม่เกิดปัญญาที่แท้จริง เกิดได้แต่ความสงบสุขกระทั่งการดับความรับรู้อารมณ์ ได้เป็นครั้งคราว คุณจึงรู้สึกว่าการปฏิบัติของคุณวนเวียนอยู่ที่เดิม เหมือนพบทางตันมาหลายปีและหาทางเดินไปต่อไม่ได้


จุดเด่นของการปฏิบัติแนวการกำหนดอิริยาบถ 4
คือการพยายามรู้รูปนามให้ตรงตามความเป็นจริง
ซึ่งจัดว่าเป็นหัวใจของการเจริญวิปัสสนาทีเดียว

ครั้งที่ 101 บทที่ 8. ของฝาก

ตอน การปฏิบัติด้วยการกำหนดรู้อิริยาบถ 4

ถาม ดิฉันเคยกำหนดอิริยาบถย่อยอย่างละเอียดจนจิตวูบหายไป นั่นเป็นการบรรลุมรรคผลเบื้องต้นใช่ไหมคะ เพราะขณะนั้นไม่มีรูปนาม คือไม่มีทั้งจิต เจตสิก รูป ซึ่งสิ่งที่ พ้นจากจิต เจตสิกและรูปก็คือนิพพานใช่ไหม

ตอบ นิพพานพ้นจากรูปนามก็จริง แต่การที่ จิตของคุณดับวูบไปนั้นเกิดจากการเพ่งรูปโดยไม่สนใจนาม เป็นการเอาจิตไปผูกไว้กับรูปจนมีความสงบแนบแน่นถึงระดับจตุตถฌาน เมื่อรูปซึ่งเป็นอารมณ์ดับลง จิตซึ่งเป็นผู้รู้อารมณ์ก็ย่อมดับลงไปพร้อมกัน เพราะจิตกับอารมณ์เป็นสิ่งที่อิงอาศัยกันอยู่ แต่นั่นไม่เกี่ยวอะไรกับการบรรลุมรรคผลเลย เพราะในขณะที่บรรลุมรรคผลต้องมีจิตเรียกว่ามัคคจิตและผลจิต ทั้งยังประกอบด้วยเจตสิกเป็นจำนวนมากด้วย อย่างน้อยก็ต้องมีเจตสิกที่เป็นองค์มรรค และเจตสิกที่เป็นองค์ฌาน เป็นต้น ส่วนอารมณ์ที่มัคคจิต และผลจิตไปรู้คืออารมณ์นิพพาน การที่จิตของคุณดับลงไปนั้นเป็นการน้อมไปสู่อสัญญสัตตาภูมิหรือพรหมลูกฟัก เหลือเพียงร่างกายที่นั่งแข็งทื่ออยู่เท่านั้น

ถาม ดิฉันยังไม่แน่ใจในสิ่งที่หลวงพ่อกล่าวมานี้ จะขอรับไปพิจารณาดูอีกครั้งหนึ่ง

ตอบ ดีแล้วที่ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ที่กล่าวมานี้ก็เป็นเพียงความเห็นของอาตมาเท่านั้น คุณลองไปพิจารณาดูก็แล้วกัน

ถาม ผมชอบปฏิบัติด้วยการกำหนดรู้อิริยาบถ 4 ปฏิบัติมาหลายปีแล้วจิตใจได้รับความสงบพอสมควร แต่ยังไม่เห็นผลของ การปฏิบัติมากกว่านี้ คงต้องค่อยๆ ปฏิบัติไปอีกเป็นแสนๆ ชาติกระมังครับ

ตอบ ขออนุโมทนาด้วยที่คุณมีโอกาสได้ศึกษา พระอภิธรรม คนที่จะศึกษาพระอภิธรรมได้ดีจะต้องเป็นคนที่มีเหตุผล และพระพุทธศาสนาก็เป็นศาสนาที่เต็มบริบูรณ์ไปด้วยเหตุผล ถ้ามีแต่ศรัทธาก็ยากที่จะรู้จริงได้

จุดเด่นของการปฏิบัติแนวการกำหนด อิริยาบถ 4 คือการพยายามรู้รูปนามให้ตรง ตามความเป็นจริง ซึ่งจัดว่าเป็นหัวใจของการเจริญวิปัสสนาทีเดียว แต่อยากจะฝากให้คุณลองพิจารณาใน 2-3 ประเด็น

คือ (1) คุณจงใจรู้รูปนามโดยมีตัณหา และทิฏฐินำหน้าหรือเปล่า ทั้งนี้ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้นต้องทำด้วยจิตที่เป็นมหากุศลญาณสัมปยุต จะทำโดยมีตัณหาแทรกอยู่ไม่ได้ (2) คุณคิดใช้เหตุผลเพื่อข่มตัณหาหรือตัดความปรุงแต่งของจิตหรือเปล่า หรือคุณรู้ลักษณะของรูปนามจนตัณหาไม่อาจเกิดขึ้นได้ (3) สติของคุณระลึกรู้สภาวะของรูปนามโดยไม่ได้จงใจแล้วสติก็ดับไปตามธรรมดา หรือคุณบังคับให้สติเข้าไปตั้งแช่อยู่กับอารมณ์รูปนามได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน ขอฝากให้คุณลองพิจารณาในประเด็นเหล่านี้ดู

ถาม หลวงพ่อช่วยขยายความเรื่องการจงใจ รู้รูปนามด้วยเถอะครับ

ตอบ เครื่องมือในการรู้รูปนามคือสติ และสติที่แท้จริงนั้นต้องเกิดขึ้นเพราะมีเหตุอันได้แก่ การที่จิตจดจำสภาวะของรูปนามได้แม่นยำ ไม่ใช่เกิดขึ้นได้ด้วยความจงใจหรือความอยากจะให้สติเกิดขึ้น แล้วพยายามไปกำหนดจดจ้องรูปนาม โดยหวังว่าจะทำสติให้ เกิดขึ้นได้ หรือจะบังคับจิตไม่ให้ขาดสติได้ตามใจปรารถนา นักปฏิบัติจำนวนมากพยายามบังคับให้สติเกิดขึ้นด้วยความอยาก ซึ่งคุณก็ศึกษาพระอภิธรรมมาแล้วก็คงทราบดีว่าสติเป็นอนัตตา สติไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเราอยากให้เกิดหรือเราบังคับให้เกิดได้ แต่ถ้ามีเหตุ สติจึงจะเกิดขึ้น

อาตมารู้จักผู้ที่ปฏิบัติในแนวอิริยาบถ 4 หลายท่าน แต่ละท่านล้วนปฏิเสธแนวทางการปฏิบัติที่จะต้องมีการกระทำ "บางสิ่งบางอย่าง" ขึ้นมาก่อนเพื่อจะเจริญสติ เช่นการกำหนดจังหวะการเคลื่อนไหวมือ และเท้า อันเป็นการดัดแปลงอาการทางกายและ ทางใจ

แนวทางของคุณต้องการ ใช้อารมณ์รูปนามที่ปกติธรรมดาที่สุดเป็นอารมณ์กรรมฐาน แต่อาตมาก็สังเกตว่าผู้ปฏิบัติแนวอิริยาบถ 4 บางท่านก็อาจจะเผลอสร้าง "บางสิ่งบางอย่าง" ขึ้นมาได้เหมือนกัน เพราะเท่าที่เคยเห็นมาจะพบว่า ผู้ปฏิบัติแนวนี้มีความเคลื่อนไหวทางกายและวาจาน้อยกว่าคนปกติมาก ไม่ว่าจะยืนเดินนั่งนอนก็อดจะช้ากว่าปกติไม่ได้ ทั้งนี้อาจ เกิดจากความจงใจจะรู้รูปยืนเดินนั่งนอนก็เป็นได้ คือพอจงใจก็เกิดการรอดู ทำให้ทุกอย่างนิ่งหรือช้าผิดความเป็นจริงไปได้ อนึ่งความจงใจนั้นเกิดจากความอยากจะปฏิบัติธรรมนั่นเอง คุณลองพิจารณาดูเถิดว่ากายกับ จิตใจของคุณในเวลาที่ปฏิบัติ มันถูกดัดแปลง ให้ต่างไปจากในเวลาอื่นหรือเปล่า

การมีปัญญารู้ลักษณะของขันธ์จนสิ้นตัณหา
เป็นวิธีแตกต่างจากการพยายามควบคุมตนเอง
ไม่ให้ทำตามคำบงการของตัณหา

ครั้งที่ 102 บทที่ 8.ของฝาก
ตอน การคิดใช้เหตุผลเพื่อข่มตัณหา

ถาม หลวงพ่อช่วยอธิบายเรื่องการคิดใช้เหตุผลเพื่อข่มตัณหาด้วยเถอะครับ

ตอบ นี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่ขอฝากให้คุณลองไปสังเกตการปฏิบัติของตนเอง ว่ามีการคิดใช้เหตุผลเพื่อข่มตัณหา แทนการรู้ลักษณะของรูปนามจนสิ้นตัณหาหรือเปล่า

การที่คุณเฝ้าดูอิริยาบถ 4 จนเกิดทุกขเวทนาและเกิดความอยากเปลี่ยนอิริยาบถนั้นเป็นประเด็นเรื่องความจงใจปฏิบัติดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่ก่อนจะเปลี่ยนอิริยาบถคุณใช้ความคิดพิจารณาว่า "ทำไมจึงต้องเปลี่ยนอิริยาบถ" และ "เมื่อเห็นความจำเป็นต้องเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อแก้ทุกข์จึงค่อยเปลี่ยนอิริยาบถ" นั้น เป็นการรู้อารมณ์-ปรมัตถ์แล้วเจือด้วยความคิดลงไปอีกทีหนึ่งหรือไม่ ตรงจุดนี้ดูไปก็คล้ายกับผู้ปฏิบัติแนวพองยุบนั่นเอง เพียงแต่ต่างกันตรงที่ว่า แทนที่จะบริกรรมถึงอาการทางกายเช่นพองหนอยุบหนอ หรือบริกรรมถึงความรู้สึกทางใจเช่นโกรธหนอ อย่างที่เพื่อนนักปฏิบัติแนวพองยุบทำอยู่ ก็เปลี่ยนจากการบริกรรมเป็นการคิดถึงเหตุผลในการเปลี่ยนอิริยาบถ วิธีการเช่นนี้อาตมาไม่ถนัด สิ่งที่ถนัดก็คือ หากจะรู้รูปก็รู้สภาวะและลักษณะของรูปตามอาการที่ปรากฏไปเลย หากจะรู้เวทนาก็รู้สภาวะและลักษณะของเวทนาตามอาการที่ปรากฏไปเลย หากจะรู้ความอยากเปลี่ยนอิริยาบถก็รู้สภาวะและลักษณะของตัณหาตามอาการที่ปรากฏไปเลย เมื่อใดรู้สภาวะของรูปนามตามความเป็นจริงได้แล้ว เมื่อนั้นจะเห็นไตรลักษณ์แสดงตัวอยู่แล้ว และเพียงเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของขันธ์ 5 ก็น่าจะเพียงพอแก่การละตัณหา โดยไม่จำเป็นต้องเอาความคิดมาใช้สอนจิตให้มีเหตุผลในการเปลี่ยนอิริยาบถ อันเป็นการควบคุมตนเองด้วยเหตุผลเพื่อจะไม่ทำตามอำนาจบงการของตัณหา ทั้งนี้ การมีปัญญารู้ลักษณะของขันธ์จนสิ้นตัณหาเป็นวิธีการอย่างหนึ่ง แตกต่าง จากการพยายามควบคุมตนเองไม่ให้ทำตามคำบงการของตัณหา ซึ่งเป็นวิธีการอีกอย่างหนึ่ง

ถาม แล้วเรื่องการเอาสติเข้าไปตั้งไว้ในอารมณ์รูปนามล่ะครับ ตรงนี้เป็นวิธีการที่ระบุไว้ในพระไตรปิฎกไม่ใช่หรือครับ ทำไมหลวงพ่อจึงหยิบยกมาเป็นประเด็นตั้งข้อสังเกตด้วย

ตอบ นักปฏิบัติจำนวนมากในแทบทุกสำนักนิยมเอาสติเข้าไปตั้งไว้ในอารมณ์ เพราะได้ศึกษาพระไตรปิฎกซึ่งกล่าวไว้ว่า "อุปัฏฐานัฏเฐนะ สติปัฏฐานา อภิญเญยยา" (ขุ.ปฏิ. 31/28) แปลว่า "ชื่อว่าสติปัฏฐานโดยความหมายว่า เข้าไปตั้งไว้ที่อารมณ์ เป็นของควรรู้ยิ่ง" เช่นเมื่อตาเห็นรูป บางท่านก็จงใจเอาสติกำหนดเข้าไปตั้งไว้ที่จิตซึ่งรู้รูป บางท่านเอาสติกำหนด เข้าไปตั้งไว้ที่ประสาทตา บางท่านเอาสติกำหนดเข้าไปตั้งไว้ที่รูป แต่ตามแนวทางของคุณถือว่าต้องเอาสติกำหนดที่จิตซึ่งรู้รูปจึงจะถูกต้อง

อาตมามีความเห็นตรงกับพระไตรปิฎก ที่ว่า หากจะเจริญสติปัฏฐานก็ต้องมีสติ ตั้งไว้ที่อารมณ์ แต่การเจริญสติปัฏฐานนั้นมีทั้งส่วนที่เป็นสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ในส่วนของสมถกรรมฐานนั้นสติจะต้องจดจ่อแนบเคล้าหรือตั้งไว้ที่อารมณ์กรรมฐานอย่างต่อเนื่อง อันเป็นลักษณะของการเพ่งอารมณ์หรืออารัมมณูปนิชฌาน และมีแต่การทำฌานจิตเท่านั้นที่สติจะเกิดซ้ำๆ ต่อเนื่องกันได้ยาวนานพร้อมๆ กับการเกิดฌานจิตจำนวนมาก นี้คือความหมายของคำว่า "สติเข้าไปตั้งไว้ที่อารมณ์" ในเวลา ที่เจริญสมถกรรมฐาน

แต่ถ้าเป็นการเจริญวิปัสสนาแล้ว คำว่า "สติเข้าไปตั้งไว้ที่อารมณ์" น่าจะเป็นคำอธิบายถึงสภาวธรรม 2 ลักษณะ คือ (1) ไม่เผลอ หมายความว่าสติจะต้องระลึกรู้อารมณ์รูปนามโดยไม่หลงคลาดเคลื่อนไปสู่อารมณ์บัญญัติ ไม่เช่นนั้นจิตก็จะตกจากการเจริญวิปัสสนาทันที และ (2) ไม่เพ่ง หมายความว่าสติจะทำหน้าที่จับหรือระลึกรู้อารมณ์รูปนามโดยไม่ได้จงใจ คือไม่มีตัณหาหรือความอยากจะปฏิบัติธรรมนำหน้า และเมื่อจับหรือระลึกรู้รูปนามแล้ว สติก็จะดับไปอย่างรวดเร็วเป็นขณะๆ ตามการเกิดดับของชวนจิตอันเป็นกามาวจรกุศล สติไม่สามารถจะตั้งแช่อยู่กับอารมณ์รูปนามได้นานๆ เพราะเราไม่ได้ทำฌานจิต

แท้จริงแล้วอย่าว่าแต่จะสั่งสติให้ตั้งอยู่กับอารมณ์รูปนามได้นานๆ เลย แม้แต่จะสั่งให้สติเกิดสักเพียงขณะเดียวก็ทำไม่ได้ เพราะสติก็เป็นอนัตตา ต่อเมื่อมีเหตุคือมีสภาวธรรมที่จิตรู้จักจดจำได้ดีแล้วเกิดขึ้น สติจึงจะเกิดขึ้น และเกิดขึ้นเพียง 7 ขณะหรือวับเดียว ชวนจิตและสติที่เกิดร่วมกันนั้นก็จะดับไปด้วยกัน เมื่อจิตจะเกิดขึ้นในวิถีอันใหม่ เราเลือกไม่ได้เสียด้วยซ้ำไปว่าจะให้เกิดทางทวารเดิมที่เราใช้ทำวิปัสสนาอยู่ เพราะปัญจทวาราวัชชนจิตจะกำหนดให้ว่าจิตจะขึ้นสู่วิถีทางทวารตา หู จมูก ลิ้น หรือกาย และแม้จะเกิดทางทวารเดิม แต่จิตจะเกิดสติหรือไม่ก็เป็นเรื่องที่ไม่แน่นอนอีก ต้องแล้วแต่โวฏฐัพพนจิตจะกำหนดให้ ดังนั้นในการเจริญวิปัสสนา เราจึงจงใจเอาสติจับอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่องไม่ได้ ได้แต่รู้ไปตามความเป็นจริงเท่านั้น ไม่เหมือนกับการทำฌานจิตที่จิตจะเกิดทางทวารเดิมและรู้อารมณ์เดิมติดต่อกันได้เป็นเวลานานๆ สติที่เกิดร่วมกับฌานจิตจึงมีลักษณะเหมือนตั้งแช่ไว้ในอารมณ์อย่างเดิมได้นานๆ (อ่านเพิ่มเติมได้จากบทความเรื่อง "หัวใจ กรรมฐาน" ข้อ 6.1.1)

นอกจากนี้ การจงใจเอาสติจดจ่อ แช่ไว้ หรือแนบไว้กับอารมณ์ รูปนามด้วยอำนาจบงการของตัณหา ยังเท่ากับว่าเราใช้อารมณ์นั้นเป็นคุกขังจิต หรือเป็นเครื่องกีดกันไม่ให้จิตทำงานไปตามธรรมชาติ

ธรรมดา แท้จริงแล้วการเจริญวิปัสสนาจะต้องใช้อารมณ์รูปนามเป็นบ้านพักของจิต เรียกว่าเป็นเครื่องอยู่สบายหรือเป็นวิหารธรรม จิตจึงจะสามารถทำงานไปตามธรรมชาติธรรมดาได้ แล้วสติก็มีหน้าที่ระลึกรู้รูปนามอย่างสบายๆ อยู่เนืองๆ

ถาม ผมยังไม่ค่อยเข้าใจครับ

ตอบ คุณต้องลองสังเกตดูว่า การที่สติของคุณเข้าไปตั้งในอารมณ์รูปนามนั้นเป็นไปด้วยอำนาจของโลภะ หรือเป็นเพียงแค่สติมีเหตุก็เกิดขึ้นระลึกรู้อารมณ์รูปนามได้โดยไม่ได้จงใจ สองอย่างนี้ไม่เหมือนกันและมีผลไม่เหมือนกันด้วย อันหนึ่งจิตถูกขังไว้ด้วยอารมณ์ อีกอันหนึ่งจิตสักว่ารู้อารมณ์ด้วยความปลอดโปร่งโล่งเบา ไม่มีการควบคุมบังคับทั้งจิตและอารมณ์

ความจริงคุณจะพยายามทำความเข้าใจด้วยการฟังหรือการคิดยังไม่ได้หรอก คุณต้องลองสังเกตสภาวะจริงๆ ดู ลองจงใจเอาสติเข้าไปตั้งไว้ที่อารมณ์ดูสิ คุณจะพบว่านั่นคุณกำลังเกิดการทำงานบางอย่างทางใจด้วยอำนาจของความจงใจหรือความอยากขึ้นแล้ว จิตของคุณก็จะเกิดอาการหนักๆ แน่นๆ แข็งๆ ซึมๆ ทื่อๆ และผิดธรรมดา แต่ถ้าเมื่อใดคุณรู้อารมณ์อย่างคนวงนอก จิตของคุณจะรู้ ตื่น เบิกบาน เบา อ่อน ควรแก่การงาน คล่องแคล่วและรู้อารมณ์ไปอย่างซื่อตรงโดยไม่มีการเข้าไปดัดแปลงจิตและอารมณ์ ถ้าจะกล่าวโดยเปรียบเทียบก็ต้องกล่าวว่า การจงใจเอาสติเข้าไปตั้งไว้ที่อารมณ์ เปรียบเหมือนคุณขึ้นไปดูละครอยู่กลางเวที แต่การสักว่ารู้อารมณ์ เปรียบเหมือนคุณดูละครอยู่นอกเวที ถ้าคุณมองความแตกต่างของสภาวะ 2 อย่างนี้ได้ คุณจึงจะเข้าใจในสิ่งที่อาตมากล่าวได้

ฝากให้คุณไปลองพิจารณาดูก็แล้วกัน อาตมาอาจจะเข้าใจจิตใจของคุณผิดก็ได้


คำสอนใดขัดแย้งกับคำสอนของพระพุทธเจ้า
แม้จะเป็นคำสอนของท่านที่เราเคารพ ก็ไม่ควรเชื่อถือ

ครั้งที่ 108 บทที่ 8. ของฝาก

ถาม เราจะหาอารมณ์อื่นนอกเหนือจากอารมณ์รูปนามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในสติปัฏฐานมาเป็นอารมณ์กรรมฐาน ได้ไหมครับ เช่นการมีสติตามรู้ความว่างหรือนิพพาน เป็นต้น

ตอบ ไม่ได้หรอกพระพุทธเจ้าทรงประมวลอารมณ์รูปนามทั้งหมดที่ควรใช้เจริญวิปัสสนาไว้ให้แล้วในสติปัฏฐาน ไม่มีอารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐานที่ตกหล่นนอกเหนือไปจากที่ทรงแสดงไว้ในสติปัฏฐาน หรอก โดยเฉพาะนิพพานนั้นเป็นสิ่งที่ปุถุชนไม่มีทางเห็นได้และไม่ใช่รูปนาม จึงนำมาใช้เจริญวิปัสสนากรรมฐานไม่ได้

อาตมาอยากจะเตือนเพื่อนทั้งหลายว่าอย่าทำตนเก่งกว่าพระพุทธเจ้าเลย หลายคน ทีเดียวชอบมาอวดทิฏฐิว่าการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่อง 'ทางใครทางมัน' และประกาศวาทะ ว่าตนจะปฏิบัติธรรมด้วยวิธีที่คิดขึ้นเอง คุณจะทำอย่างนั้นก็ได้ แต่อย่าเรียกตนเองว่าเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าเลย เพราะสาวกของพระพุทธเจ้าต้องทำในสิ่งที่ท่านอนุญาต และต้องเว้นในสิ่งที่ท่านห้าม ไม่ใช่ทำสิ่งต่างๆ ตามใจชอบของตนเอง

ถาม การปฏิบัติมีแนวทางต่างๆตั้งมากมาย ถ้าเราทำถูกแล้วเราจะเห็นธรรมอันเดียวกันใช่ไหมครับ

ตอบ ใช่ เปรียบเหมือนเราจะเดินขึ้นยอดเขา ทางขึ้นมีหลายด้าน แต่ละคนก็มีทางเฉพาะที่ เหมาะกับตนเอง สะดวกบ้าง ลำบากบ้าง ขึ้นได้เร็วบ้าง ช้าบ้าง แต่เมื่อขึ้นถึงยอดเขาแล้วก็จะพบเห็นสภาวะอันเดียวกันนั่นเอง การปฏิบัติก็เหมือนกัน บางท่านปฏิบัติลำบาก ด้วยรู้ธรรมได้ช้าด้วย บางท่านปฏิบัติลำบาก แต่รู้เร็ว บางท่านปฏิบัติสบายและรู้ช้า และบางท่านปฏิบัติสบายด้วยแล้วยังรู้ธรรมได้เร็ว ด้วย แต่ถ้าปฏิบัติถูก สติ สัมมาสมาธิ ปัญญา และวิมุตติก็เป็นอันเดียวกันทั้งหมดนั่นเอง

ถาม อะไรเป็นปัจจัยให้ต้องปฏิบัติลำบากหรือสบาย และรู้เร็วหรือรู้ช้าครับ

ตอบ ผู้ปฏิบัติที่กิเลสมีกำลังกล้าจะปฏิบัติได้ลำบากเพราะต้องต่อสู้กับกิเลสอย่างหนัก ส่วนผู้ที่กิเลสเบาบางจะปฏิบัติได้สบายกว่า แต่คำว่าสบายก็ไม่ได้หมายความว่าแค่กินๆ นอนๆ แล้วก็บรรลุธรรม แต่หมายถึงไม่มีอุปสรรคขัดขวางการปฏิบัติรุนแรงนัก เช่นราคะโทสะไม่รุนแรง จิตใจก็สงบสบายสามารถเจริญปัญญาได้ง่าย หรือมีโมหะเบาบาง ก็เกิดความรู้ตื่นได้ง่าย หรือมีความอยากความเร่าร้อนที่จะปฏิบัติไม่รุนแรง การปฏิบัติจะค่อยเป็นค่อยไปไม่ต้องดิ้นรนกระเสือก-กระสนให้เหน็ดเหนื่อยมากนัก เป็นต้น

ส่วนผู้ที่ปฏิบัติได้ผลเร็วเกิดจากความมีอินทรีย์แก่กล้า คือเคยอบรมจิตมามากแล้ว จนมีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิและปัญญา แก่กล้า

หลวงพ่อกล่าวสรุป เอกายนมรรค แปลว่า ทางที่แม้เบื้องต้นจะมีวิธีการปฏิบัติ แตกต่างกันตามจริตนิสัยของบุคคล แต่ในเบื้องปลายก็ไปสู่พระนิพพานอันเดียวกัน

ในบ้านเมืองของเรายังมีสำนักปฏิบัติสำคัญอีกหลายแห่ง และมีแนวทางการปฏิบัติธรรมอีกหลายอย่าง รวมทั้งยังมีวิธีปฏิบัติที่เจ้าสำนักต่างๆ ถ่ายทอดไปตามประสบการณ์เฉพาะตนก็มีอีกมาก หลายอย่าง ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับพระพุทธศาสนาก็มี หากจะกล่าวถึงทุกๆ สำนักก็คงเป็นภาระเกินกว่าที่จะมีเวลาทำได้ จึงจะขอตั้งข้อสังเกตในภาพรวมว่า พวกเราเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เราควรศึกษา พระธรรมคำสอน ของพระพุทธเจ้าเป็นหลักไว้ คำสอนใดที่ลงกันได้กับคำสอนของพระพุทธเจ้าจึงควรเชื่อถือ คำสอนใดขัดหรือแย้งกับคำสอนของพระพุทธเจ้า แม้จะเป็นคำสอนของท่านที่เราเคารพ ก็ไม่ควรเชื่อถือ

ตัวอย่างเช่น (1) พระพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้ทุกข์คือรู้รูปนาม ท่านใดสอนให้ทำอย่างอื่นที่เกินจากการรู้ เช่นการเพ่ง การประคอง การกำหนด และการควบคุม หรือสอนให้รู้อย่างอื่นที่เกินจากทุกข์ เช่นให้รู้ความว่าง และนิมิตต่างๆ หรือสอนให้ พยายามละทุกข์ เราก็ต้องระวังสักหน่อย (2) พระพุทธเจ้าทรงสอนว่าธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ท่านใดสอนว่าธรรมบางอย่างเป็นอัตตา เราก็ต้องระวังสักหน่อย และ (3) พระพุทธเจ้าทรงสอนว่านิพพานเป็นความสิ้นกิเลสและสิ้นขันธ์ ท่านใดสอนว่านิพพานเป็นบ้านเป็นเมือง เราก็ต้องระวังสักหน่อย เป็นต้น

กระทั่งสิ่งที่อาตมาบอกกล่าวก็ไม่ได้บอกเพื่อให้เชื่อ แต่บอกเพื่อให้นำไปพิจารณา ดู และที่บอกก็ในฐานะที่เราเป็นเพื่อนร่วมทุกข์กันเท่านั้น อาตมาเองก็เป็นเพียงสาวกปลายแถว มีความรู้ความเข้าใจ ในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเพียงส่วนน้อย ครูบาอาจารย์ที่ฉลาดรอบรู้ในภาคปริยัติหรือภาคปฏิบัติยังมีอยู่อีกมาก ขอให้พวกเราไปศึกษากับท่านต่อไป เมื่อได้ความรู้ดีๆ แล้วค่อยกลับมาบอกอาตมาบ้างก็แล้วกัน

ขอยุติแต่เพียงเท่านี้

การรู้ว่าจิตนึกคิดนั้น ต้องเป็นการตามรู้
ระวังอย่าให้เป็นการดักรู้หรือรอที่จะรู้
และอย่าให้เป็นการเพ่งจิต
เพราะการดักรู้เป็นไปด้วยอำนาจของตัณหา

ครั้งที่ 104 บทที่ 8. ของฝาก
ตอน ใจคิดนึกก็ให้รู้สึก

ถาม แล้วที่ว่าใจคิดนึกก็ให้รู้สึกล่ะครับ เป็นอย่างไร
ตอบ เมื่อจิตเกิดอาการคิด คุณต้องรู้หรือรู้สึกว่าจิตกำลังคิดอยู่ ไม่ต้องสนใจว่าจิตคิด เรื่องอะไร การรู้จิตที่คิดเป็นการรู้อารมณ์ปรมัตถ์ แต่เรื่องที่จิตคิดเป็นอารมณ์บัญญัติ

ช่วงหลังมานี้เริ่มมีผู้มาเล่าให้อาตมาฟังว่า หลวงพ่อเทียนสอนให้ดูความคิด ตรงนี้อาตมาเห็นว่าน่าจะเข้าใจผิดเสียแล้ว ความจริงท่านให้รู้ว่าจิตคิดต่างหาก การไปดูความคิดจะทำให้จิตสงบเพราะเป็นการทำสมถกรรมฐานอย่างหนึ่งโดยมีความคิดซึ่งเป็นบัญญัติเป็นอารมณ์ แต่การรู้อาการที่จิตคิดจะทำให้เกิดปัญญาเห็นความจริงว่า จิตเป็นอนัตตา คือเขาทำงานของเขาได้เอง โดยไม่อยู่ในอำนาจบังคับของใคร

ทันทีที่รู้ว่าจิตคิด จิตจะหยุดคิด เกิดความตื่น รู้สึกตัว หลุดออกจากโลกของความ คิดมาอยู่ในโลกของความจริง และสามารถรู้ กายรู้ใจอันเป็นของจริงหรือเป็นปรมัตถธรรม ได้ หลวงพ่อเทียนท่านจึงกล่าวว่า ต้นทางของ การปฏิบัติอยู่ตรงที่เห็นจิตใจตนเองที่กำลังคิด เพราะตรงจุดนี้แหละเป็นจุดที่เริ่มเห็นรูปนาม อันเป็นจุดเริ่มต้นหรือเป็นต้นทางของการเจริญปัญญาหรือการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง

อีกอย่างหนึ่ง การรู้ว่าจิตนึกคิดนั้น ต้องเป็นการตามรู้ ระวังอย่าให้เป็นการดักรู้หรือรอที่จะรู้ และอย่าให้เป็นการเพ่งจิต เพราะการ ดักรู้เป็นไปด้วยอำนาจของตัณหา จิตในขณะนั้นจะไม่มีสติแต่มีตัณหาครอบงำอยู่ ส่วนการเพ่งก็เป็นไปด้วยอำนาจของตัณหาเช่นกัน เมื่อเพ่งแล้วก็เกิดความนิ่ง จิตไม่สามารถจะแสดงไตรลักษณ์ให้เห็นได้ตามธรรมชาติธรรมดาของเขา

ถาม แล้วที่ว่ารู้สึกแล้วให้ปล่อยวางนั้น เป็นอย่างไรครับ
ตอบ คำว่าปล่อยวางน่าจะมีความหมายได้ 2 ลักษณะ คือ ประการแรก เป็นการปล่อยวาง ในขั้นของการเจริญวิปัสสนา ท่านหมายความ ว่าให้สักว่ารู้รูปนาม คือเมื่อสติระลึกรู้รูปนาม แล้วก็อย่าไปจงใจจับรูปนามไว้ แต่ให้ปล่อยคือให้สักว่ารู้ แต่พวกเรามักจะชอบส่งจิตเข้าไปจมแช่อยู่กับอารมณ์ เช่นแช่อยู่กับมือ หรือแช่อยู่กับความคิด หลายคนคิดว่าจะต้อง แช่ไว้นานๆ จึงจะเกิดปัญญา อาตมาเพิ่งตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปเมื่อกี้นี้เองในเรื่องเกี่ยวกับการเอาสติเข้าไปตั้งไว้ในอารมณ์รูปนาม คุณลองทบทวนดูก็แล้วกัน

อีกประการหนึ่ง เป็นการปล่อยวางรูปนามอันเป็นผลของการเจริญวิปัสสนา คือเมื่อเราสักว่ารู้รูปนาม รูปนามก็จะแสดงความจริงคือไตรลักษณ์ให้ดู เมื่อจิตเกิดปัญญารู้ถ่องแท้ในความเป็นไตรลักษณ์ของรูปนามแล้ว จิตจะปล่อยวางความถือมั่นในรูปนาม อันนี้จิตเขาปล่อยของเขาเอง เป็นการปล่อยเพราะเกิดปัญญาอันเป็นผลจากการเจริญวิปัสสนานั่นเอง


ที่มา http://board.agalico.com/showthread.php?t=20657


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ส.ค. 2009, 20:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 18 มิ.ย. 2009, 15:39
โพสต์: 90


 ข้อมูลส่วนตัว


๐๐๐ Kiss ๐๐๐


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 14 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร