วันเวลาปัจจุบัน 16 มิ.ย. 2024, 04:18  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 25 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2008, 12:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ที่มา
macroart.diaryis.com/?20060518

การเอาแต่ถาม ทำให้ไม่มีทางรู้เท่าทันการเกิดดับของความสงสัยในใจเพราะปัญหาไม่ได้จบด้วยคำพูดของคนอื่น แต่มันจบด้วยการกระทำของตัวเราเอง

ความลังเลสงสัย เป็นนิวรณ์ที่มักเป็นอุปสรรคสำคัญของนักปฏิบัติ ที่มีการศึกษาในระดับสูง เพราะการศึกษาทางโลกทำให้คนคิดมากขึ้น รู้จักเปรียบเทียบ วิเคราะห์วิจัย ใช้เหตุผล ซึ่งมีประโยชน์มากในชีวิตประจำวัน แต่โทษที่อาจเกิดขึ้นก็คือ ผู้รู้มากมักสงสัยมาก นักปฏิบัติพวกนี้ตกเป็นเหยื่อของนิวรณ์ตัวนี้ จึงกลายเป็นนักภาวนาจับจด ไม่เอาจริงเอาจัง เพราะไม่แน่ใจว่าถูกหรือผิด แคลงใจว่าวิธีการหรือเทคนิคของตนไม่ถูกจริง สงสัยในอาจารย์ สงสัยในความสามารถของตน วิจิกิจฉาก็เหมือนไวรัสที่ทำให้การปฏิบัติธรรมหยุดชะงัก เมื่อลูกศิษย์ขี้สงสัยชอบมาถามปัญหากับหลวงพ่อ อย่างไม่รู้จักอิ่ม ท่านมักไม่ตอบคำถาม แต่จะบอกว่า

"ถ้าผมตอบปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ทุกปัญหาของท่าน ท่านก็จะไม่มีทางรู้เท่าทันถึงการเกิดดับของความสงสัยในใจท่าน เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ท่านต้องเรียนรู้ที่จะสำรวจตัวท่านเอง สอบถาม ตัวท่านเอง"

และหลวงพ่อเตือนสติว่า

"ปัญหาไม่ได้จบด้วยคำพูดของคนอื่น แต่มันจบด้วยการกระทำของตัวเราเอง"

"ถ้าเราสงสัยสิ่งทั้งหลายทั้งปวง มันก็ไม่เป็นอันอยู่อันกินหรอก เดี๋ยวก็วิ่งไปตามไอ้โน่นบ้าง ไอ้นี่บ้าง ให้เรารู้จักว่า คนคนนี้คือคนโกหก เราจับมันไว้ เรื่องอารมณ์มันเป็นอยู่อย่างนี้ เป็นของไม่แน่นอน อย่าวิ่งไปกับมันเลย รู้มันเฉยๆ อยู่นั่นแหละ ถ้ารู้เช่นนี้ มันจะมีปัญหาอื่นเกิดขึ้นมาอีก เราก็รับรู้สิ่งที่มันเกิดขึ้นมานี้ มันถึงจะสบายใจ ถ้าเราไปวิ่งตามสิ่งที่เราสงสัย มันก็ไม่สบายใจ และมันจะเกิดมากกว่านี้ขึ้นไป ท่านจึงว่า อย่าไปยึดมั่นถือมั่น"

นักปฏิบัติบางคนภาวนาไปแล้วก็สงสัยว่า ตนเองได้ทำไปถึงขั้นไหนแล้ว และบรรลุอะไรหรืออยู่ระหว่างไหน ในขณะทำสมาธิ เรื่องนี้หลวงพ่อชี้แจงว่า

"มันไม่มีป้ายบอกเหมือนทางจะเข้าวัดป่าพงนี้หรอก"

แล้วท่านอธิบายต่อว่า "อย่างผลไม้ผลหนึ่งนะ โยมเอามาถวายอาตมา รสผลไม้มันหวานอาตมาก็รู้จัก มันหอมก็รู้จัก รู้จักทุกอย่าง แต่ว่ามันขาดอยู่อย่างหนึ่ง คือไม่รู้จักชื่อของผลไม้ว่าชื่ออะไร อันนี้ก็เหมือนกัน ไม่ใช่ของจำเป็นอะไรหรอก ถ้าเรารู้จักว่าชื่อนั้นๆ มันก็ไม่เพิ่มความหวานขึ้นมาอีก มันก็อยู่แค่นั้นแหละ อันนั้นก็เห็นว่า ถึงเหตุที่ควรจะรู้ก็ให้รู้ แต่ว่าไม่รู้ชื่อของมันก็ไม่เป็นไร รสของมันเรารู้มันแล้ว เช่นว่า เรากำขามันไว้ทั้งสองขา แล้วมันจะไปตรงไหนก็ให้มันไปเถอะ อย่างนั้นจะเป็นชื่อของแอปเปิ้ลหรืออะไรก็ช่าง รสมันเรารู้แล้ว เรื่องชื่อมัน ก็ไม่จำเป็นเท่าไหร่ ถ้ามีใครมาบอกก็รับไว้ แต่ถ้าไม่มีใครมาบอกก็ไม่เดือดร้อน."

อีกโอกาสหนึ่ง หลวงพ่อปลอบใจลูกศิษย์ชาวต่างประเทศซึ่งมักเป็นพวกช่างสงสัยดังนี้

"ความสงสัยนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทุกคนเริ่มต้นด้วยความสงสัย ท่านอาจได้เรียนรู้อย่างมากมายจากความสงสัยนั้น ที่สำคัญก็คือ ท่านอย่าถือเอาความสงสัยนั้นเป็นตน นั่นคือ อย่าติดข้องอยู่กับมัน ซึ่งจะทำให้จิตใจของท่านหมุนวนเป็นวัฏฏะอันไม่มีที่สิ้นสุด แทนที่จะเป็นเช่นนั้น จงเฝ้าดูความเกิดดับของความสงสัย ของความฉงนสนเท่ห์ ดูว่าใครคือผู้ที่สงสัย ดูว่าความสงสัยนั้นเกิดขึ้นและดับไปอย่างไร แล้วท่านจะไม่ตกเป็นเหยื่อของความสงสัยอีกต่อไป ท่านจะก้าวพ้นความสงสัยออกมาได้ และจิตของท่านก็จะสงบ

ท่านจะเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นและดับไปอย่างไร จงปล่อยวางสิ่งต่างๆ ที่ท่านยังยึดมั่นอยู่ สลัดทิ้งความสงสัยของท่าน และเพียงแต่เฝ้าดู นี้คือที่สิ้นสุดของความสงสัย."


สมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ทรงรับนิมนต์ไม่เว้นแต่ละวัน หลังจากฉันเสร็จ จากนั้นก็จะทรงแสดงธรรมเพื่อโปรดญาติโยม พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย

ทาน-ศีล-ภาวนา มีผลจริงแก่ผู้กระทำ
ทานนั้นมีผลแน่ เพราะมีประโยชน์ อย่างเช่นการมาใส่บาตรก็ทำให้พระสงฆ์ ที่ได้ฉันได้มีชีวิตอยู่ไปอีกวันหนึ่ง เพราะหากขาดอาหารหลายวันก็จะยิ่งเพลีย การใส่บาตรนี้จึงเป็นการให้ชีวิตเป็นทานแก่พระสงฆ์ซึ่งไม่ได้ทำงาน ไม่ได้ หุงหาอาหาร เพราะว่าพระพุทธองค์ทรงบัญญัติห้าม โดยทรงให้พระสงฆ์ ทำเฉพาะแต่การเจริญสมถะและวิปัสสนาภาวนา เพียรเผากิเลส เพราะจุดมุ่งหมายของผู้บวช คือ ฆ่ากิเลส ไม่ใช่เพื่อลาภสักการะ อติเรกลาภ แต่เพื่อปฏิบัติธรรม ชำระจิตให้ผ่องใสสะอาดปราศจากกิเลส ถ้าเราจิตใจผ่องใสเบิกบานก็จะมีความสุข และตรงกันข้าม ถ้าหากใจ ขุ่นมัว ก็จะไม่มีความสุข แต่กลับจะเป็นทุกข์เดือดร้อน เพราะว่า จิตมัวหมอง ตกเป็นทาสของอกุศล แถมยังมักไม่ค่อยรู้ตัวว่าเป็น เพราะอะไรจิตใจจึงมัวหมอง จึงคลางแคลงสงสัยอยู่เสมอ

ดังนั้น ศีล การมาฝึกฝนอบรมใจ ปฏิบัติด้วย ทาน-ศีล-ภาวนาและไหว้พระ จิตก็ผ่องใส คัดเลือกบาปออกไป ให้เพียรพยายามให้ทาน รักษาศีลให้บริสุทธิ์ เพื่อกันขโมย (คือ กิเลส อกุศล) ไม่ให้เข้าบ้านได้ เมื่อสมาทาน ศีลแล้วก็ต้อง รักษาศีล ด้วย อย่าสมาทานเสร็จแล้วก็วางคืน ไว้ที่พระหรือที่วัด ต้องสมาทานด้วยจิตยินดี และตั้งใจรักษา ไม่ควรให้สูญหายไป พากันรักษากาย-วาจา-ใจ ให้บริสุทธิ์ อย่างเช่น ไม่สร้างเวร ให้กับตัวเองด้วยการฆ่าหรือทำทุกข์ให้แก่สัตว์ตัวเล็กเท่าที่มองเห็นด้วย ตาไปจนถึงตัวใหญ่ที่สุดคือช้าง โดยเจตนา เป็นต้น

ภาวนา พยายามเพ่งใจให้สงบ บริสุทธิ์จากนิวรณ์ 5 ภาวนามีอานิสงส์มากกว่า ทานและศีลเพราะว่ากิเลสบาปธรรมนั้นอยู่ภายใน เมื่อใครสามารถเข้าถึง ก็จะเกิดการละ อกุศลก็จะอยู่ไม่ได้ เพราะเหตุว่าการภาวนานั้นจะโน้ม สติและสัมปชัญญะเข้าไปสู่จิต ถ้าไม่ภาวนา สติและสัมปชัญญะก็จะไม่มี จิตก็จะคอยแต่ส่งออกนอกไปสู่นอก เช่น การงานและกิเลสต่างๆ บุญกุศลก็ไม่เกิด เกิดไม่ได้ จิตไม่น้อมต่อบุญกุศล

กิเลสนั้น นำไปเกิดในที่ทุกข์ยากลำบาก กิเลสบาปอธรรมก็อยู่ที่จิตใจ ไม่ใช่ที่อื่น ถ้าเราเพียรเพ่งบริกรรม กิเลสก็มาครอบงำจิตไม่ได้ ก็จะห่างออกไป บุญกุศลก็จะเข้ามาใกล้ ใจก็อิ่ม เป็นสุข

เราทุกคนมีบาปกันทั้งนั้นไม่มากก็น้อย จงสะดุ้ง หวาดกลัวต่อบาปต่อกรรม ต่อเวร และระมัดระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในใจ เช่น ระวังไม่ให้เกิดความโลภ ยินดีเท่าที่มีอยู่ เท่าที่หาได้ ไม่ผูกโกรธ เพราะความโกรธเป็นไฟ เผาจิตใจให้ร้อนทั้งวันและคืน ให้อโหสิกรรมเสีย ยกโทษ โทษก็จะหมดไปเพราะว่าไม่ถือมั่นในความโกรธ ความพยาบาท ตรงกันข้าม เมื่อจิตถือมั่น บาปก็ติดตามไป เมื่อได้โอกาส เมื่อไหร่ก็ให้ผลเมื่อนั้น

ให้เพียรดูจิตใจ ถ้าบาปครอบงำก็รู้ ถ้าจิตผ่องใสก็รู้ ถ้าใจจะเผลอ สติก็รู้ก็ระลึกได้ จะโกรธจะว่าใคร สติก็จะคอยเตือนคอยห้าม และไม่ยึด อโหสิกรรมให้เค้าไป บาปกิเลสก็จะเบาบางไป

ดังนั้น อย่าชอบใจกับคำว่าใจเศร้าหมอง ขุ่นมัว ก็คือทุกข์ คือบาป ใจผ่องใสเบิกบาน ก็คือบุญ
พากันมีสติสัมปชัญญะเสมอ ระลึกเข้ามารู้ตัวทั่วพร้อมไม่ว่าจะยืน-เดิน-นั่ง-นอน ทำการงานหรืออะไรก็ตาม

เมื่อรู้ว่าจิตเป็นกุศลก็จะเกิดปิติในใจ การสร้างจิตใจให้เป็นกุศลเสมอ จิตใจก็จะสุข สงบ ทั้งกลางวันกลางคืน เมื่อใครมาว่ามาทำอะไร จิตใจก็ไม่หวั่นไหว ดังนั้นจึงไม่ควรประมาท แต่มีสติเสมอ

มีสติรู้ว่ากายนี้ไม่เที่ยง-เป็นทุกข์-ไม่เป็นไปตามบังคับของใคร เมื่อรู้ก็เบื่อ เมื่อเบื่อก็คลายความยึดความถือ อาจยังยึดกาย แต่ไม่ยึดความโกรธ

ขอให้พากันฝึกฝนอบรมตนไปเรื่อยๆ กิเลสก็จะเบาบางไป จนหมดไปได้ และนี่เอง คือจุดหมายปลายทางของพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2008, 13:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


เพื่อนนักปฏิบัติบางท่านแม้จะอ่านหนังสือวิมุตติปฏิปทาและวิถีแห่งความรู้แจ้งแล้ว ก็ยังไม่ทราบว่าจะเริ่มต้นการปฏิบัติได้อย่างไร จึงต้องการให้อธิบายถึงวิธีการปฏิบัติให้ละเอียดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องเกี่ยวกับความรู้สึกตัวและการดูจิต ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยได้ยินได้ฟังบ่อยนัก และบางท่านต้องการทราบว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนธรรมภาคปฏิบัติไว้อย่างไรบ้าง ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยว่าน่าสนใจ เพราะนักปฏิบัติไม่ควรทิ้งพระปริยัติธรรม ซึ่งเป็นทั้งแผนที่ที่มั่นใจได้ และเป็นทั้งเครื่องสอบทานผลการปฏิบัติที่ดีอย่างหนึ่งด้วย

นี่คือที่มาของคอลัมน์นี้ ซึ่งประกอบด้วยบทความ 12 เรื่อง ได้แก่ (1) บทความ 6 เรื่องแรก เขียนขึ้นเพื่อเพื่อนนักปฏิบัติที่ไม่สนใจพระปริยัติธรรม เรื่องที่ขอเสนอให้สนใจมากสักหน่อยได้แก่เรื่อง "ประทีปส่องธรรม" และเรื่อง "การตามรู้จิต : วิธีการปฏิบัติธรรมที่เรียบง่ายและลัดสั้น" (2) บทความ 5 เรื่องถัดไปเขียนขึ้นเพื่อเพื่อนนักปฏิบัติที่สนใจจะศึกษาพระปริยัติธรรมในระดับที่พอเป็นแนวทางในการปฏิบัติ (แต่ถ้าต้องการศึกษาพระปริยัติธรรมให้ลึกซึ้ง ก็คงต้องขวนขวายเข้ารับการศึกษาอย่างเป็นระบบต่อไป) ทั้งนี้ผู้เขียนต้องขอเรียนไว้ก่อนว่า ผู้เขียนมีความรู้ในด้านพระปริยัติธรรมน้อย ข้อเขียนจึงอาจจะมีข้อบกพร่องในประเด็นปลีกย่อยอยู่บ้าง จึงต้องขออภัยให้ความเขลาไว้ล่วงหน้า แต่ที่ฝืนใจเขียนขึ้นมาก็เพราะเห็นว่า นักปฏิบัติส่วนใหญ่ไม่สนใจจะศึกษาพระปริยัติธรรม ส่วนนักปริยัติธรรมก็มักไม่เข้าใจจุดที่นักปฏิบัติต้องการทราบ จึงไม่ทราบว่า จะไปกราบไหว้วิงวอนให้นักปฏิบัติหรือนักปริยัติท่านใดช่วยเขียนเรื่องเหล่านี้มาให้เพื่อนๆ อ่านกันได้ จำเป็นจำใจต้องเขียนขึ้นเสียเอง และ (3) เรื่องสุดท้ายเป็นบันทึกการถามตอบปัญหาธรรมะ

บทความแทบทุกเรื่องมุ่งเน้นไปที่จุดเดียวกัน คือการเจริญสติปัฏฐานที่เป็นวิปัสสนานั้น ต้องทำด้วยการมีความรู้สึกตัว แล้วตามรู้กายและ/หรือตามรู้ใจอยู่เนืองๆ โดยต้องรู้ให้ถูกตรงตามวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ในหลัก "กิจในอริยสัจจ์" ด้วย ฉะนั้น ท่านผู้อ่านสามารถเลือกอ่านบทความเพียงบางเรื่องที่เห็นว่าเข้าใจง่ายสำหรับตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องอ่านทั้งหมด เพราะอาจจะมีแง่มุมหลากหลายเกินความจำเป็นสำหรับการปฏิบัติของบุคคลคนหนึ่ง

และเช่นเดียวกับ หนังสือเล่มอื่นๆ ที่ผู้เขียนได้เขียนมาแล้ว คือหากท่านใดอ่านแล้วเกิดความสนใจใคร่ปฏิบัติ ขอได้โปรดแสวงหาครูบาอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อเข้ารับการศึกษาอบรมในภาคปฏิบัติต่อไป ส่วนตัวผู้เขียนเองด้อยความรู้ความสามารถ คงทำหน้าที่ได้เพียงการเป็นผู้กระตุ้น และให้กำลังใจ ให้เพื่อนชาวพุทธสนใจการปฏิบัติธรรมมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

ขอแสงสว่างแห่งธรรมจงสว่างไสวในจิตใจของเพื่อนชาวพุทธโดยทั่วกันเถิด

1. จุดหมายสูงสุดทางพระพุทธศาสนา
จุดหมายสูงสุดของการปฏิบัติธรรมในทางพระพุทธศาสนา คือความพ้นทุกข์สิ้นเชิง (นิพพาน) ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภทคือ

(1) ความพ้นทุกข์ทางจิตใจอย่างสิ้นเชิงในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่เพราะสิ้นกิเลสตัณหา (สอุปาทิเสสนิพพาน หรือกิเลสปรินิพพาน หรือจะเรียกว่า วิราคธรรมก็ได้) คงเหลือแต่ความทุกข์ทางร่างกายซึ่งปฏิเสธไม่ได้ เพราะได้เกิดมามีร่างกายเสียแล้ว และ

(2) ความพ้นทุกข์สิ้นเชิงเมื่อสิ้นขันธ์ (อนุปาทิเสสนิพพาน หรือขันธปรินิพพาน หรือจะเรียกว่า วิสังขารธรรมก็ได้) คือหมดรูปนาม หรือหมดกายหมดใจอันเป็นกองทุกข์ที่เหลืออยู่หลังจากกิเลสปรินิพพาน พร้อมทั้งไม่มีขันธ์เกิดขึ้นใหม่ให้ต้องเป็นทุกข์อีกในภพต่อไป

แม้นิพพานจะมี 2 ประเภท แต่ถ้าทำประเภทแรกให้แจ้ง โดยขจัดตัณหาอันเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ทางจิใจให้หมดสิ้นไปในปัจจุบันได้แล้ว นิพพานประเภทที่ 2 ก็จะตามมาเอง เพราะเมื่อสิ้นตัณหาผู้สร้างภพ ความเกิดใหม่ก็มีอีกไม่ได้

การบรรลุถึง หรือการประจักษ์ถึงกิเลสปรินิพพานหรือความพ้นทุกข์ เพราะสิ้นกิเลสตัณหาจะเกิดขึ้นได้ เมื่อสามารถขจัดตัณหาหรือความทะยานอยากในจิตใจอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ลงได้ เพราะนิพพานชนิดนี้ก็คือความดับสนิทของตัณหา

วิธีที่จะขจัดความทะยานอยากในจิตใจลงได้มีอยู่ทางเดียว คือการเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 ประการ หรือการเจริญวิปัสสนาคือการมีสติสัมปชัญญะตามรู้กายตามรู้ใจนั่นเอง โดยมีสติ (มีสัมมาสติ) ตามรู้ทุกข์ คือตามรู้กาย ตามรู้ใจ อยู่เนืองๆ (มีสัมมาวายามะ) ตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ (มีสัมมาทิฏฐิในภาคปริยัติธรรม) ด้วยจิตที่ตั้งมั่น (มีสัมมาสมาธิ) ไม่นานก็จะเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสภาวธรรมว่า กายและใจ หรือรูปนามเป็นทุกข์จริง แต่ไม่ใข่ตัวเรา (มีสัมมาทิฏฐิในภาคปฏิบัติ) แล้วจิต (ไม่ใช่เรา) ก็ปล่อยวางความถือมั่นในรูปนามเสียได้ในที่สุด จิตที่ปล่อยวางรูปนามนั่นแหละ คือจิตที่พ้นทุกข์และได้ประจักษ์ถึงนิพพานอันเป็นสภาวะที่สงบสันติจากขันธ์และกิเลสตัณหาทั้งปวง

การตามรู้กายมีหลักการง่ายๆ คือให้มีความรู้สึกตัว แล้วตามรู้กายไปอย่างสบายๆ หากกายอยู่ในอาการอย่างไร ก็รู้ว่ารูป (ไม่ใช่เรา) อยู่ในอาการอย่างนั้น

การตามรู้ใจก็มีหลักการปฏิบัติง่ายๆ เช่นกัน คือให้มีความรู้สึกตัว แล้วตามรู้จิตใจไปอย่างสบายๆ หากจิตใจมีความรู้สึก หรือมีอาการอย่างไร ก็รู้ว่านาม (ไม่ใช่เรา) มีความรู้สึกหรือมีอาการอย่างนั้น เช่น จิตมีความสุขก็รู้ มีความทุกข์ก็รู้ เฉยๆ ก็รู้ ดีก็รู้ ชั่วก็รู้ ส่งออกหรือหลงไปตามอารมณ์ทางทวารทั้ง 6 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ก็รู้ และสักว่ารู้อารมณ์ทางทวารทั้ง 6 คือรู้โดยไม่หลง ก็รู้ เป็นต้น

ความรู้สึกตัวเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับการตามรู้กายและตามรู้ใจ เพราะถ้าจิตมีความรู้สึกตัวคือไม่หลงไปกับอารมณ์ที่ปรากฏทางทวารทั้ง 6 (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล สอนว่า อย่าส่งจิตออกนอก) จิตก็ย่อมจะอยู่กับเนื้อกับตัว เกิดความรู้สึกตัว แล้วรู้เนื้อรู้ตัว หรือรู้กายรู้ใจได้

ผู้ปฏิบัติพึงทำความรู้จักสภาวะของความรู้สึกตัว โดยการหัดสังเกตความแตกต่างระหว่างความหลงกับความรู้สึกตัวซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกัน ความหลงมี 6 ชนิดคือ เมื่อดูรูปก็หลงรูปแล้วลืมกายลืมใจของตนเอง เมื่อฟังเสียงก็หลงเสียงแล้วลืมกายลืมใจของตนเอง เมื่อได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส ก็หลงกลิ่น รส และสัมผัสแล้วลืมกายลืมใจของตนเอง และเมื่อรู้อารมณ์ทางใจก็หลงอารมณ์ทางใจแล้วลืมกายลืมใจของตนเอง

เมื่อรู้สึกตัวเป็นแล้วก็ต้องเจริญสติปัฏฐานเพื่อ (1) กระตุ้นความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้นเนืองๆ และ (2) ตามรู้รูปนามอันเป็นอารมณ์วิปัสสนาในสติปัฏฐาน จนเห็นความจริงว่า กายและใจไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จึงจะสามารถละสักกายทิฏฐิหรือความเห็นผิดว่ารูปนามหรือกายใจ คือตัวตนลงได้ในเบื้องต้น และสามารถทำลายความยึดถือรูปนามลงได้ในที่สุด

การเจริญสติปัฏฐานเช่น การตามรู้กายในอิริยาบถเดิน หรือการตามรู้ความเคลื่อนไหวของกาย จะช่วยกระตุ้นความรู้สึกตัวได้ง่ายกว่าการตามรู้อารมณ์ที่นิ่งๆ เช่น การรู้รูปนั่ง (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนั่งหลับตา) เพราะเมื่อนั่งนานก็มักจะเคลิ้มง่าย อย่างไรก็ตาม ผู้ปฏิบัติพึงสังเกตตนเองว่าใช้อารมณ์กรรมฐานอันใดแล้วสติเกิดบ่อย ก็ควรใช้อารมณ์อันนั้นเป็นเครื่องอยู่ประจำไว้ จะเป็นการตามรู้กาย เวทนา จิต หรือธรรมก็ใช้ได้ทั้งสิ้น เพราะแต่ละคนมีจริตนิสัยต่างๆ กัน ทั้งนี้การเจริญสติแม้จะต้องอยู่ภายใต้หลักการอันเดียวกันที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ แต่ต่างคนก็มีทางเดินเฉพาะตัวที่ไม่ซ้ำรอยกัน เพราะทางนี้เป็นทางของผู้ไปคนเดียว ดังนั้นจึงไม่มีรูปแบบสำเร็จรูปของการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งที่ดีที่สุด มีแต่รูปแบบที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลเท่านั้น

เมื่อรู้สึกตัวได้แล้วก็ให้หมั่นรู้สึกถึงอาการปรากฏของกายและของจิตใจอยู่เนืองๆ (แล้วแต่สิ่งใดจะปรากฏชัด เพราะการรู้กายก็ช่วยกระตุ้นให้รู้ใจ และการรู้ใจก็ช่วยกระตุ้นให้รู้กายได้) แต่ไม่จำเป็นจะต้องรู้แบบไม่ให้คลาดสายตา เพราะจะกลายเป็นการกำหนด เพ่งจ้อง หรือดักดูกายและใจ ด้วยอำนาจบงการของตัณหา ให้รู้ไปอย่างสบายๆ รู้บ้าง เผลอบ้างก็ยังดี ไม่ต้องอยากรู้หรืออยากให้สติเกิดขึ้นตลอดเวลา เพียงหมั่นตามรู้กายและใจเนืองๆ สติจะเกิดได้บ่อยขึ้นเอง และไม่ต้องพยายามห้ามไม่ให้จิตหลง เพราะจิตเป็นอนัตตา คือห้ามไม่ได้ บังคับไม่ได้ เพียงทำความรู้จักสภาวะของความหลงให้ดี และเคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆ แล้วความหลงจะสั้นลงได้ นอกจากนี้จะต้องจับหลักการปฏิบัติให้แม่นยำว่า จะต้อง ตามรู้กายตามรู้ใจ ตามที่เป็นจริง ไม่ใช่เข้าไปดัดแปลง แก้ไข หรือควบคุมกายและใจแต่อย่างใดเลย ทั้งนี้บรรดาคำสอนที่ให้เพ่งกายเพ่งจิต หรือให้แก้ไขดัดแปลงจิตใจ เป็นคำสอนในขั้นสมถกรรมฐานทั้งสิ้น

จิตที่มีความรู้สึกตัวย่อมไม่หลงไปตามอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่หลงไปในโลกของความคิด เมื่อไม่หลงไปกับความคิดอันเป็นเรื่องของสมมติบัญญัติ จิตก็อยู่กับความจริง และสามารถเห็นอารมณ์ปรมัตถ์คือกายและใจ หรือรูปนาม ได้ตรงตามความเป็นจริง

การที่รู้กายรู้ใจได้ตรงตามความเป็นจริงนี้เอง จะส่งให้เกิดผล 2 ขั้นตอน คือเบื้องต้นจะละความเห็นผิดว่ากายและใจคือตัวเราลงได้ และเบื้องปลายจะละความยึดถือกายและใจลงได้

การละความเห็นผิดว่ากายและใจคือตัวเรานั้น เกิดจากการที่ผู้ปฏิบัติตามรู้กาย ตามรู้ใจอยู่เนืองๆ จะเห็นความจริงว่า กายและใจเป็นสิ่งที่แปรปรวน เป็นทุกข์ และบังคับไม่ได้จริง เช่นเมื่อตามรู้รูปยืน เดิน นั่ง นอนอยู่เนืองๆ ก็จะเห็นว่ารูปแต่ละชนิดล้วนถูกความทุกข์บีบคั้น ทำให้รูปเก่าดับไป แล้วรูปใหม่เกิดขึ้น เช่น ต้องเปลี่ยนอิริยาบถจากรูปนั่งเป็นรูปยืนและรูปเดิน เป็นต้น จะบังคับให้รูปคงที่ตลอดไปไม่ได้ ส่วนความรู้สึกทางใจก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และบังคับไม่ได้เช่นกัน

สำหรับการละความยึดถือกายและใจเป็นการปฏิบัติในเบื้องสูง วิธีปฏิบัติก็เป็นไปในทำนองเดียวกับการปฏิบัติในเบื้องต้นนั่นเอง เพียงแต่ผู้ปฏิบัติมีสติสัมปชัญญะหรือมีความรู้สึกตัวแก่กล้ามากขึ้น สามารถรู้สึกตัวได้อย่างถี่ยิบโดยไม่มีเจตนาจะรู้ ในขั้นนี้จึงไม่ต้องจงใจทำอะไร เพราะจิตเขาจะทำของเขาเอง คล้ายกับผลไม้ที่รอเวลาสุกเท่านั้น ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกเหมือนกับว่า ความรู้สึกตัวแผ่กว้างออก ในขณะที่ความหลงหดสั้นลง อนุสัยและอาสวกิเลสทั้งหลายไม่สามารถทำงานได้ดังเดิม กำลังของกิเลสที่ห่อหุ้มปกคลุมจิตและผูกมัดจิตให้ยึดติดอยู่กับขันธ์ (คือกายและใจอันเป็นของหนัก) ก็จะอ่อนกำลังลง ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกว่า จิตใจมีน้ำหนักน้อยลงเรื่อยๆ เพราะวางภาระที่ต้องแบกหามขันธ์ไปตามลำดับ และรู้สึกว่าจิตเป็นเพียงสภาวธรรมบางอย่างที่ไม่สนใจจะเรียกตัวเองว่าจิตด้วยซ้ำไป ความคิดนึกปรุงแต่งจะจางลงๆ เว้นแต่มีกิจที่จะต้องคิดก็คิดปรุงไปตามหน้าที่ และเมื่อถึงจุดหนึ่งจิตก็จะสลัดตัวหลุดพ้นจากอาสวกิเลสที่ห่อหุ้มอยู่ เกิดการปล่อยวางขันธ์หรือกายและใจ ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกได้ว่า จิตกับสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งที่ว่างและปราศจากน้ำหนักเช่นเดียวกัน คือธรรมและภายในได้แก่จิตใจ ซึ่งปราศจากเปลือกหุ้มคืออาสวกิเลส ก็ว่างไร้ขอบเขตแผ่กว้างผ่าน ทวารตา หู จมูก ลิ้น และกาย รวมเข้าถึงความว่างของธรรมภายนอกเป็นสิ่งเดียวรวดเสมอกัน จิตจึงไม่มีการหลงหรือไหลไปมา และเป็นจิตที่ไม่ทำกรรมอีกต่อไป อนึ่งจิตที่ปล่อยวางขันธ์ก็คือจิตที่พ้นทุกข์ เพราะอุปาทานขันธ์นั่นแหละคือตัวทุกข์ นี่คือปรินิพพานประเภทแรกคือความพ้นทุกข์ทางจิตใจอย่างสิ้นเชิงในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ (สอุปาทิเสสนิพพาน)

การปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์มีแนวทางปฏิบัติหลักๆ อยู่เพียงเท่านี้ ไม่ต้องทำอะไรมากหรอก เพียงแต่รู้สึกตัวเนืองๆ แล้วตามรู้กายตามรู้ใจไปตามความเป็นจริง ซึ่งตรงตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ทำได้อย่างนี้จิตจะพัฒนาไปสู่ความพ้นทุกข์ได้เอง

เมื่อรู้แจ้งสอุปาทิเสสนิพพาน หรือนิพพานประเภทที่เป็นความพ้นทุกข์ทางจิตใจอย่างสิ้นเชิงในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่แล้วนั้น จิตที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย ก็ยังคงทำงานไปตามปกติ และอารมณ์ที่รู้ก็มีทั้งอารมณ์ที่ดีและเลว ด้วยอำนาจของกุศลวิบากและอกุศลวิบากเหมือนกับผู้อื่นเช่นกัน

จิตที่ทำหน้าที่การงานทางใจ ก็ยังคงทำหน้าที่ไปตามปกติ มีแปลกอยู่อย่างเดียวคือ จิตชนิดที่เป็นมหากุศลจิตและอกุศลจิตจะหมดสิ้นไป เหลือแต่จิตที่สักว่ารู้อารมณ์ทางใจ มีสภาพหมดภาระ โปร่ง โล่ง ไร้ขอบเขต สามารถมองเห็นความว่างจากความเป็นตัวตนและทุกข์ซึ่งแทรกอยู่ในสรรพสิ่ง เป็นหนึ่ง สงบ เบิกบาน และไม่ส่งส่ายไปมา จิตนี้เกิดดับแต่ไม่มีทุกข์ เพราะไม่ได้เกาะเกี่ยวกับขันธ์ (รูปนาม/กายใจ) เหมือนหลุดล่อนออกจากเปลือก คือ ขันธ์ เหมือนอยู่ต่างระดับกับขันธ์ แต่ก็ไม่ได้แยกชั้นเป็นสองส่วน ระหว่างจิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ เพราะไม่ได้กำหนดหมาย จิตไม่ได้ยึดเกาะอยู่กับกายและใจอันเป็นกองทุกข์ รวมทั้งไม่ยึดเกาะกับสิ่งอื่นๆ เช่น ความว่างด้วย แต่จิตนี้ก็ไม่ปฏิเสธขันธ์ คงปล่อยขันธ์ คือกายและใจคืนให้เป็นสมบัติของโลกไป แล้วแต่ขันธ์เขาจะเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แต่จิตนี้ก็อาศัยขันธ์ และรักษาขันธ์ เหมือนการรักษาของที่ยืมผู้อื่นมาใช้ เพื่อใช้ขันธ์ทำประโยชน์ไปตามกระแสของความเมตตากรุณาอันเป็นความเคยชินที่มีเหลืออยู่ อนึ่งจิตนี้ไม่มีกิเลส เพราะกิเลสเข้าไม่ถึงจิตนี้

จิตไม่ใช่นิพาาน และนิพพานก็ไม่ใช่จิต ต่างก็เป็นธรรมคนละประเภทกัน คือจิตเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ และนิพพานเป็นอารมณ์อย่างไนึ่งที่จิตไปรู้เข้า เป็นสภาพที่ว่าง บริสุทธิ์ เต็มบริบูรณ์ ปราศจากความปรุงแต่ง ปราศจากกิเลส และที่สำคัญคือ ปราศจากทุกข์ คือปราศจากขันธ์หรือรูปนามใดๆ ด้วย ดังนั้นนิพพานที่เป็นบ้านเป็นเมือง หรือเป็นตัวเป็นตน จึงไม่ใช่นิพพานในทางพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2008, 13:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


ความทุกข์มี 2 อย่าง คือ ความทุกข์กาย กับความทุกข์ใจ

ความทุกข์กายเป็นความทุกข์ตามธรรมชาติ เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องทุกข์ คือ ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ต้องหิว ต้องกระหาย ต้องหนาว ต้องร้อน ส่วนความทุกข์ทางใจเป็นความทุกข์ที่เกิดจากความรัก (โลภะ/ตัณหา) คือ ความรักกายบ้าง ความรักใจบ้าง

เมื่อรักกายก็อยากให้กายได้รับแต่สิ่งที่ดีๆ เช่น มีสุชภาพดี ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ได้อาหารที่ดี ได้ชับถ่ายอย่างสบาย ได้พักผ่อนอย่างสบาย ได้รับสัมผัสทางกายที่นุ่มนวลไม่แข็งกระด้าง ไม่แหลมคม และไม่ร้อนหนาวเกินไป เป็นต้น หากไม่ได้สิ่งเหล่านี้ หรือได้สิ่งตรงข้าม ก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้น

เมื่อรักใจ ก็อยากให้ใจได้รับแต่ความสุขความเพลิดเพลิน สิ่งใดที่คิดว่าได้มาแล้วจะสบายใจก็พยายามแสวงหามาปรนเปรอตนเอง เช่น หาของสวยงามมาดู หาเสียงที่ไพเราะมาฟัง หากลิ่นที่ดีมาดม หารสที่อร่อยมากิน หาสัมผัสที่สะอาด อบอุ่น นุมนวล และสวยงามมาให้กาย และหาความบันเทิงใจต่างๆ เช่น การดูหนังดูละคร การชื่นชมงานศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ตลอดจนการได้มี ได้เป็นต่างๆ เช่น ได้มีบ้านที่สุขสบายสวยงาม มีเครื่องประดับตกแต่ง มีครอบครัวที่อบอุ่น มีงานที่ดี มีรายได้ที่ดี มีชื่อเสียงเกียรติยศ มีผู้แวดล้อม เช่น ญาติและเพื่อนที่ดี ที่อยากได้สิ่งเหล่านี้มาก็เพราะคิดว่าถ้ามีอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ หรือไม่มีไม่เป็นอย่างนี้แล้ว (จิตใจ) จะมีความสุข บางคนก็แสวงหาความสุชอย่างถูกทำนองคลองธรรม บางคนมีความหลงผิด ก็แสวงหาความสุช ในลักษณะที่เป็นการเบียดเบียนตนเอง ผู้อื่น สัตว์อื่น และธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

พระพุทธเจ้าทรงสอนทางพ้นทุกข์ โดยเริ่มจากากรขจัดความทุกข์ทางจิตใจก่อน ดังได้กล่าวแล้วว่า ความทุกข์ทางจิตใจเกิดจากความรักกายรักใจเป็นตัวตั้ง แล้วจึงเกิดความอยากได้ อยากมี อยากเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ทำให้จิตใจเกิดความเร่าร้อนกระวนกระวายไปด้วยความอยากนั้น

ทางจะแก้ทุกข์จึงต้องจัดการเข้ามาที่ต้นตอ โดยมุ่งขจัดความรักกายรักใจอย่างผิดๆ คือท่านสอนให้ตามรู้ตามสังเกตเข้ามาที่ร่างกายและจิตใจนี้ จนรู้ความจริงว่า กายนี้ใจนี้เป็นอสรพิษที่เราไปหลงนอนกอดอยู่แท้ๆ คือ กายนี้ในนี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่อยู่ในอำนาจบังคับของเรา เมื่อรู้ความจริงอย่างนี้ก็จะเลิกหลงผิดว่า กายนี้ใจนี้คือตัวเราของเรา เมื่อไม่หลงผิดอย่างนี้ก็นับว่าเดินได้ถูกทาง หรือเข้ากระแสธรรมแล้ว ย่อมจะมีความพ้นทุกข์เด็ดขาดรออยู่เบื้องหน้า

เมื่อตามรู้กายตามรู้ใจมากเช้า ในที่สุดก็จะหมดความรักกายและความรักใข เพราะรู้ว่ามันเป็นตัวทุกข์แท้ๆ ไม่ใช่ตัวดีอะไรเลย มีแต่คอยหาเรื่องเดือดร้อนมาให้เสมอๆ เช่น เดี๋ยวก็หิว หนาว ร้อน ปวดเมื่อย เจ็บป่วย เดี๋ยวก็อยากนั่นอยากนี่ ทำให้จิตใจต้องเร่าร้อนกระวนกระวายอยู่เสมอ เมื่อหมดรักกายหมดรักใจแล้ว การดิ้นรนเร่าร้อนของจิตใจที่จะอยากได้สิ่งนั้นอยากได้สิ่งนี้ และไม่อยากได้ไม่อยากเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็จะหมดไป เช่น เมื่อร่างกายเจ็บป่วยใกล้ตายก็จะไม่เกิดความทุกข์ทรมานใจ เพราะเห็นประจักษ์อยู่แล้วว่า กายเป็นก้อนทุกช๋ไม่น่าหวงแหนแต่อย่างใด นี้เป็นความพ้นทุกข์อย่างแรก คือความพ้นทุกข์ทางใจเพราะหมดความอยาก เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน และสมมุติเรียกผู้พ้นทุกข์ว่าพระอรหันต์ ต่อมาเมื่อร่างกายแตกดับลง ก็เป็นอันหมดความทุกข์ทางกายลงอีกอย่างหนึ่ง และเมื่อไม่มีความอยากหรือความดิ้นรนทางใจเหลืออยู่ การแสวงหากายใหม่และใจใหม่ในภพต่อไปจีงไม่มี เรียกว่าไม่เกิดอีก นี้เป็นความพ้นทุกข์อย่างที่สอง เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน

นี้คือ ใจความสำคัญของพระพุทธศาสนา ที่พุทธศาสนิกชนควรทำความเข้าใจให้ได้

5.1. คำสอนของหลวงปู่ดูลย์
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ กล่าวกับศิษย์ผู้หนึ่งเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2525 ว่า "การปฏิบัติธรรมไม่ใช่เรื่องยาก จะยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติเท่านั้น"

คำกล่าวนี้ไม่ใช่คำปลอบใจผู้เริ่มฝึกปฏิบัติธรรม แต่เป็นความจริงที่ตรงไปตรงมาอย่างยิ่ง กล่าวคือ การปฏิบัติธรรมนั้นไม่ยาก เพียงมีความรู้สึกตัวอยู่เนืองๆ แล้วตามรู้กาย ตามรู้ใจไปอย่างธรรมดาๆ (หมายเหตุ : คำว่า "ตามรู้" ในที่นี้หมายถึงให้รู้ตามความเป็นจริง คือกายมีอาการอย่างไรก็รู้ จิตมีอาการอย่างไรก็รู้ ตรงกับคำว่า อนุปัสสนาในมหาสติปัฏฐานสูตร ไม่ใช่ให้ส่งจิตถลำตามสิ่งที่ถูกรู้ไป) แล้วจะเห็นความจริงเองว่า กายไม่ใช่เรา จิตไม่ใช่เรา แล้วจิตจะค่อยคลายความยึดถือกายและจิตไปเป็นลำดับๆ จนเข้าถึงความปล่อยวาง ว่าง ผ่องใส ไร้ขอบเขต พ้นจากความปรุงแต่ง และพ้นจากทุกข์ในที่สุด แต่ถ้าไม่ปฏิบัติคือไม่มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ไม่ตามรู้กาย ไม่ตามรู้ใจ เอาแต่คิดหาวิธีปฏิบัติ หรือพยายามจะปฏิบัติ (ทำ) อย่างนั้นอย่างนี้ ก็จะรู้สึกว่าการปฏิบัติเป็นเรื่องที่ยากจริงๆ เพราะไม่มีวันจะเข้าใจการปฏิบัติได้เลย

หลวงปู่ดูลย์สอนศิษย์ผู้นั้นต่อไปอีก หลังจากนิ่งพิจารณาอยู่เกือบชั่วโมงว่า "อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อนี้ไปให้อ่านจิตตนเอง" ที่ท่านให้เริ่มต้นปฏิบัติด้วยการดูจิต ก็เพราะท่านพิจารณาเห็นว่าเหมาะสมกับจริตนิสัยของศิษย์ที่เป็นพวกชอบคิดชอบศึกษา ซึ่งก็สอดคล้องกับคำสอนในอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตรที่ว่า "กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน และเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานเหมาะสมกับผู้มีตัณหาจริต ส่วนจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานและธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานเหมาะสมกับผู้มีทิฏฐิจริต"

5.2. หนึ่งในพยานคำสอนของหลวงปู่
มีตัวอย่างที่เป็นพยานยืนยันคำสอนของหลวงปู่ ที่ว่าการปฏิบัติธรรมไม่ใช่เรื่องยากอยู่หลายราย เช่นมีผู้หญิงกลางคนคนหนึ่ง ขายเต้าหู้อยู่ที่ตลาดท่าเรือ เธอมีความทุกข์ความกังวลในชีวิตครอบครัวมาก ต้องเที่ยวปรับทุกข์กับผู้อื่นอยู่เสมอ ต่อมาเธอได้พากเพียรมาฟังธรรมเป็นประจำ โดยไม่เคยถามอะไรเลย เพราะไม่ทราบว่าจะถามอะไรดี เนื่องจากไม่รู้อะไรสักอย่าง มาแล้วก็หลบมุมนั่งเงียบๆ อยู่หลังศาลา ฟังธรรมบ้าง ฟังการตอบปัญหาที่ผู้อื่นถามบ้าง ฟังไปนานเข้าจิตก็เกิดความรู้สึกตัวสามารถปฏิบัติธรรมได้เป็นอย่างดี มีสติสัมปชัญญะอยู่เนืองๆ จิตใจผ่องใส หน้าตาก็ผ่องใส จนผู้คนถามว่าทำได้อย่างไร เธอตอบว่า "ฉันไม่ทราบเหมือนกัน ฟังธรรมไปเรื่อยๆ แล้วก็ทำได้เอง แต่ฉันก็ไม่ได้ทำอะไรหรอก จิตเขาทำของเขาเอง ฉันแค่คอยรู้ไปเรื่อยๆ เท่านั้นเอง" เวลานี้คนอื่นกลับต้องมาปรับทุกข์ให้เธอฟังบ้างแล้ว ที่สำคัญก็คือบรรดานักถามปัญหาธรรมะทั้งหลายที่เธอมานั่งฟังเขาถามนั้น ส่วนมากก็ยังปฏิบัติไม่เป็นอยู่เหมือนเดิม

แท้จริงเธอเกิดสติสัมปัชัญญะขึ้นมาก็เพราะเธอไม่คิดมาก คือไม่คิดว่า "การปฏิบัติธรรมคืออะไร จะลงมือทำได้อย่างไร และทำแล้วจะมีผลอย่างไร" เมื่อได้รับคำแนะนำว่าให้ตามรู้ความรู้สึกเรื่อยไป เธอก็สังเกตจิตใจตนเองเสมอๆ จิตเขารู้สึกอย่างไรก็รู้ไปตามนั้น แล้วก็เห็นว่าความรู้สึกทั้งหลายเป็นเพียง "อะไรบางอย่าง" (เธอเรียกไม่ถูกว่ามันคือนาม) ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่ใช่ตัวเราและบังคับไม่ได้ เธอเห็นอยู่เพียงเท่านี้เองโดยไม่หลงเข้าไปแทรกแซงหรือแก้ไขอาการของจิต แล้วความทุกข์ทางใจที่เคยมีเป็นภูเขาเลากาก็ค่อยสลายตัวไป จิตใจมีความอิ่มเอิบเบิกบานในธรรมเพราะสามารถปล่อยวางความรู้สึกต่างๆ ลงได้เป็นลำดับ ในขณะที่ผู้คิดมาก ถามมาก ฟังธรรมมาหลายปีก็ยังปฏิบัติไม่เป็น เพราะไม่ได้ลงมือปฏิบัติคือไม่ลงมือตามรู้กาย ตามรู้ใจเสียที บุคคลเหล่านี้จะรู้สึกว่า การปฏิบัติธรรมช่างเป็นเรื่องยากเย็นเสียเหลือเกิน ตรงกับที่หลวงปู่ดูลย์ท่านกล่าวว่า "ยากสำหรับผู้ไม่ปฏิบัติ" คือยากสำหรับนักคิดนักถามและนักเพ่งนักจ้อง แต่ไม่ยากสำหรับนักตามรู้กายและนักตามรู้ใจ

3. การตามรู้จิตเป็นวิธีการปฏิบัติธรรมที่เรียบง่าย
การตามรู้จิตใจของตนเองเป็นเรื่องเรียบง่าย ไม่มีขั้นตอนหรือวิธีการใดๆ เป็นพิเศษเลย เพียงแค่ให้รู้ความรู้สึกเข้าไปตรงๆ คือจิตใจมีความรู้สึกอย่างไรก็รู้ไปตามนั้น เช่นจิตรู้สึกมีความสุขก็รู้ จิตรู้สึกมีความทุกข์ก็รู้ จิตเฉยๆก็รู้ จิตมีโลภะคือรู้สึกโลภ/ใคร่/รัก/หวง/ห่วงก็รู้ จิตมีโทสะคือรู้สึกโกรธ/หงุดหงิด/ขุ่นข้องหมองใจ/เกลียด/กลัว/กังวล/อิจฉา/พยาบาทก็รู้ จิตมีโมหะคือฟุ้งซ่านหรือซึมเซาก็รู้ จิตสงบปลอดโปร่งผ่องใสเบิกบานก็รู้ ตัวความรู้สึกทั้งหลายนั่นแหละคือธรรมอย่างหนึ่งเรียกว่า"นามธรรม"ไม่ใช่ตัวเรา เมื่อเห็นนามธรรม นามธรรม ก็แสดงธรรมให้ดู คือเขาจะแสดงความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปให้ได้เห็น เมื่อเห็นมากเข้าจิตใจก็จะเริ่มปล่อยวางความรู้สึกต่างๆ ซึ่งไม่ใช่ตัวเราหรือของเราลงได้ คือความสุขเกิดขึ้นก็ไม่หลงยินดี ความทุกข์เกิดขึ้นก็ไม่หลงยินร้าย กุศลเกิดขึ้นก็ไม่หลงยินดี และอกุศลเกิดขึ้นก็ไม่หลงยินร้าย จิตใจเข้าถึงความเป็นกลางในสิ่งทั้งปวง ตรงกับที่หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จังหวัดหนองคาย กล่าวว่า "ผู้ใดเข้าถึงความเป็นกลางจะพ้นจากทุกข์ทั้งปวง" (อนึ่งเมื่อหัดตามรู้นามธรรมอย่างนี้ ก็จะพลอยรู้จักและตามรู้รูปธรรมคือกายได้ด้วย เพราะกายกับจิตเป็น ของคู่กัน เมื่อรู้กายได้ก็รู้จิตได้ และเมื่อรู้จิตได้ก็รู้กายได้ กายกับใจหรือรูปกับนามนี่แหละคือธรรมะที่ต้องตามรู้เขา คือกายอยู่ในอาการอย่างไรก็รู้ว่ารูปอยู่ในอาการอย่างนั้น)

ทั้งผู้ปฏิบัติและผู้ไม่ได้ปฏิบัติต่างก็รู้จักความรู้สึกทางใจด้วยกันทั้งนั้น ความแตกต่างระหว่างผู้ปฏิบัติกับผู้ไม่ปฏิบัติมีไม่มากคือ ผู้ไม่ปฏิบัติมีความรู้สึกใดๆขึ้นมาแล้วก็ไม่รู้ ถึงรู้ก็รู้ตามหลังนานๆ เช่น โกรธไปเมื่อวานมาวันนี้เพิ่งนึกได้ว่าเมื่อวานนี้โกรธ เป็นต้น ส่วนผู้ปฏิบัติเมื่อมีความรู้สึกอย่างไรเกิดขึ้นในจิตใจ ก็รู้ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่มีความรู้สึกอย่างอื่นมาคั่นเสียก่อน เช่นพอโกรธก็ตามรู้ได้ว่าจิตก่อนหน้าที่จะรู้ทันนี้กำลังโกรธอยู่ หลักของการปฏิบัติมีอยู่เพียงแค่ว่า จิตใจมีความรู้สึกอย่างไรก็ตามรู้ไปตามนั้นเท่านั้น โดยไม่ต้องทำอะไรก่อนจะรู้ ระหว่างรู้ และรู้แล้วก็ไม่ต้องทำอะไรต่อไปอีก เช่นไม่ต้องดักดูไว้ก่อนว่าเมื่อไรจะโกรธ ไม่ต้องพยายามห้ามหรือป้องกันไม่ให้โกรธ และเมื่อโกรธแล้วก็ไม่ต้องอยากและพยายามทำให้หายโกรธเร็วๆ เพียงรู้ว่านามธรรมอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปเท่านั้นก็พอแล้ว สำหรับอารมณ์ในฝ่ายที่น่าพอใจ ก็ไม่ต้องอยากให้เกิดขึ้น ไม่ต้องพยายามทำให้เกิดขึ้น และถ้าเกิดขึ้นแล้วก็ไม่ต้องพยายามรักษาเอาไว้ ให้ตามรู้ไปตามความเป็นจริงเช่นเดียวกับอารมณ์ที่ไม่น่าพึงใจนั่นเอง

การตามรู้จิตนี้แม้เบื้องต้นจะเป็นเพียงแค่การตามรู้ความรู้สึก (ซึ่งจะทำให้เรารู้จักตัวสภาวะหรือความรู้สึกชนิดต่างๆ และจะเห็นว่าตัวสภาวะทั้งหลายมีลักษณะเป็นไตรลักษณ์) ก็ตาม แต่เมื่อปฏิบัติมากเข้าก็จะได้รู้และเข้าใจถึงกระบวนการทำงาน หรือการกระทำของจิต (หลวงปู่ดูลย์ท่านเรียกว่าพฤติของจิต) ซึ่งมี 2 ชนิดได้แก่

3.1 การทำงานตามปกติของจิต คือการรู้อารมณ์โดยไม่เจือด้วยเจตนาทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว เช่นการรู้รูป การรู้เสียง การรู้กลิ่น การรู้รส การรู้การกระทบสัมผัสทางกาย และการรู้อารมณ์ทางใจ เป็นต้น

3.2 การทำกรรมของจิต หรือจะเรียกว่าพฤติกรรมของจิตก็ได้ (ขอให้สังเกตว่าผู้เขียนใช้คำที่ต่างกันระหว่าง พฤติของจิต กับพฤติกรรมของจิต) คือการทำงานที่เจือด้วยเจตนาทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว (พระปริยัติธรรมเรียกจิตที่ทำหน้าที่นี้ว่า "ชวนจิต" สำหรับการกระทำกรรมเรียกว่าภพ ซึ่งภพนั้นมีตัณหาหรือความอยากเป็นปัจจัยส่งทอดให้เกิด)

ขอยกตัวอย่างสักเล็กน้อย เช่นเมื่อลืมตามองออกไปข้างหน้า แล้วได้เห็นรูปบางอย่าง โดยไม่ได้มีความอยากหรือเจตนาที่จะเห็น แต่เพราะมีรูป มีตา และมีจิตหรือความรับรู้เกิดขึ้นทางตา จึงมองเห็นรูป อย่างนี้เรียกว่าการทำงานตามปกติ แต่ถ้าเจตนาจะดูด้วยความอยากจะชมทิวทัศน์ที่สวยงามแล้วหันไปดู อย่างนี้ถือว่าเป็นการทำกรรม โดยเบื้องต้นเป็นการทำกรรมทางใจคือตกลงใจจะดูด้วยกำลังผลักดันของ ความอยากเห็นรูป แล้วกายก็เกิดอาการดูตามคำสั่งของจิต (ทำงานทางกาย) เมื่อดูแล้วจิตพิจารณารูปว่าคือรูปอะไร (ทำงานทางใจ) แล้ว เกิดความชอบ (หรือไม่ชอบ) รูปนั้น (ทำกรรมทางใจ) แล้วตามดู (ทำงาน ทางกาย) ด้วยความเพลิดเพลินพอใจ (ทำกรรมทางใจ) เป็นต้น อนึ่งที่ยกตัวอย่างมานี้ก็เพียงเพื่อประโยชน์ในการทำความเข้าใจเรื่องพฤติของจิตเท่านั้น ในเวลาปฏิบัติจริงไม่ต้องตามดูละเอียดอย่างนี้ เพียงรู้ว่าขณะนี้จิตมีความสุข/ทุกข์/เฉยๆ หรือจิตเป็นกุศล/อกุศล หรือจิตส่งนอก/ส่งใน และรู้สึกว่าสิ่งทั้งปวงนั้นเป็นเพียงนามธรรมบางอย่างไม่ใช่ตัวเรา เท่านี้ก็พอแล้ว

การรู้พฤติของจิตนี้ เมื่อถึงที่สุดจะทำให้เข้าใจอริยสัจจ์ (ปฏิจจสมุปบาท) คือจะทราบว่า เมื่อใดมีความอยาก(ตัณหา)และมีการกระทำกรรมทางใจ(ภพ)เมื่อนั้นมีทุกข์ เมื่อใดหมดความอยากและหมดการกระทำกรรมทางใจ เมื่อนั้นหมดทุกข์ ทั้งนี้ผู้ใดเห็นอริยสัจจ์ ผู้นั้นย่อมเห็นธรรม

ผู้ใดสามารถตามรู้จิตได้ จะสามารถปฏิบัติธรรมได้ในชีวิตประจำวัน การดำรงชีวิตกับการปฏิบัติธรรมจะดำเนินควบคู่กันไปได้เลย อนึ่งผู้ตามรู้กายได้อย่างถูกต้องก็สามารถปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันได้เช่นกัน เพราะการเจริญสติปัฏฐานหรือการตามรู้กายตามรู้ใจนั้น เราต้องทำให้ได้ในชีวิตปกตินี่เอง เพียงแต่เบื้องต้นที่ยังไม่ชำนาญก็จำเป็นต้องหลีกเร้นหาที่สงบบ้างเป็นครั้งคราว


4. การตามรู้จิตเป็นวิธีการปฏิบัติธรรมที่ลัดสั้น

การตามรู้จิตใจเป็นวิธีการปฏิบัติธรรมที่ลัดสั้นตัดตรงเข้าสู่เป้าหมายแรกของการปฏิบัติธรรมคือการทำลายสักกายทิฏฐิ (ผู้ทำลายสักกายทิฏฐิได้คือพระโสดาบัน) และมุ่งตรงต่อจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติธรรมคือการบรรลุถึงสอุปาทิเสสนิพพาน หรือความพ้นทุกข์เพราะสิ้นกิเลสตัณหา (ผู้พ้นทุกข์เพราะสิ้นตัณหาคือพระอรหันต์) กล่าวคือ
4.1 การทำลายสักกายทิฏฐิสักกายทิฏฐิคือความเห็นผิดว่า ขันธ์ 5 หรือรูปนาม หรือร่างกายจิตใจเป็นตัวเรา วิธีละความเห็นผิดมีอยู่ทางเดียวคือเห็นให้ถูก จะเห็นถูกก็ต้องเห็นรูปนามหรือกายใจได้ตรงตามความเป็นจริง ซึ่งการตามรู้จิตจะส่งผลสำคัญ 2 ประการคือ
4.1.1 เมื่อตามรู้จิต จิตจะหลุดออกจากโลกของความคิดนึกปรุงแต่งมาอยู่กับโลกของความรู้สึกตัว และในขณะนั้นถ้าสติปัญญารู้ทันก็จะพบว่าจิตและรูปนามอื่นๆ ไม่ได้มีความเป็นตัวตนของตนใดๆ อยู่เลย โดยเฉพาะรูปหรือกายนั้นจะแสดงความไม่ใช่ตัวเราให้เห็นได้ในทันทีที่รู้สึกตัว แต่จิตใจนั้นแม้ผู้ปฏิบัติจะตามรู้อยู่ ก็ยังเคยชินที่จะรู้สึกว่าเป็นตัวเรา (การเห็นว่ารูปกายไม่ใช่เรา จะเห็นได้ง่ายกว่าการเห็นว่าจิตไม่ใช่เรา)
ต้องทำความรู้สึกตัวเนืองๆ แล้วตามรู้จิตต่อไป จนสติปัญญากล้าแข็งพอก็จะทราบได้ว่า ถ้าไม่หลงคิด จิตก็ไม่ใช่เรา เพราะความเป็นเราเกิดจากความคิดเท่านั้นเอง
4.1.2 ถ้าปฏิบัติตามข้อแรกคือสังเกตเข้าที่จิตโดยตรงไม่ได้ ก็อย่าพยายามแสวงหาจิต ให้มีความรู้สึกตัวเนืองๆ แล้วตามรู้ความรู้สึกและพฤติของจิต จะพบว่าความรู้สึกทั้งหลายและจิตล้วนเกิดดับ มีแล้วไม่มี และทำงานไปได้โดยที่เราบังคับควบคุมไม่ได้จริง เมื่อตามเห็นอย่างนี้ ก็ย่อมเห็นว่าจิตไม่ใช่เราแล้วละสักกายทิฏฐิจนได้ในที่สุด
การตามรู้จิตจะทำให้เห็นสภาวธรรม 2 อย่างทำงานอยู่ด้วยกันคือ (1) จิต (ธรรมชาติที่รู้อารมณ์) และ (2) เจตสิก (ธรรมที่ประกอบ จิตได้แก่ ความรู้สึก/เวทนา ความจำได้หมายรู้/สัญญา และความปรุงแต่ง ของจิต/สังขาร ซึ่งผู้เขียนขอรวมเรียกง่ายๆ ว่าความรู้สึกเช่นความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ความรู้สึกในฝ่ายดี และความรู้สึกในฝ่ายชั่วเช่นความรู้สึกโกรธ เป็นต้น ตำราบางเล่มแปลคำว่าเจตสิกว่าความรู้สึกนึกคิด แต่ผู้เขียนไม่ใช้คำนี้เพราะไม่นิยมคำว่า "คิด")
ในเบื้องต้นผู้ปฏิบัติมักจะรู้ความรู้สึกได้ก่อนที่จะรู้จิต เพราะมันแสดงความเปลี่ยนแปลงให้เห็นได้ง่ายๆ เช่นเห็นว่าความโกรธเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ส่วนจิตนั้นดูยากขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง เพราะจิตเป็นผู้รู้ผู้ดู บางคนถึงกับสำคัญผิดว่าจิตเที่ยงอยู่อย่างนั้นตลอดกาลก็มี แต่ถ้าคอยตามรู้พฤติของจิตเนืองๆ ก็จะพบว่า เดี๋ยวจิตก็เกิดทางตาคือไปรู้รูปแล้วก็ดับไป เดี๋ยวจิตก็ไปเกิดทางหูคือไปฟังเสียงแล้วก็ดับไป เดี๋ยวจิตก็เข้าไปทำงานหรือทำกรรมทางใจแล้วก็ดับไป โดยที่เราเลือกไม่ได้บังคับไม่ได้ เมื่อหมั่นตามรู้ไปเนืองๆ ก็จะเห็นความจริงของจิตว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตาได้ในที่สุด
4.2 ความพ้นทุกข์เพราะสิ้นตัณหา จุดมุ่งหมายแรกของการปฏิบัติธรรมในทางพระพุทธศาสนา ก็คือความพ้นทุกข์ทางใจอย่างสิ้นเชิงเพราะสิ้นกิเลสตัณหา ในเมื่อความทุกข์และความพ้นทุกข์เกิดขึ้นที่จิต ตัณหาและความสิ้นตัณหาก็เกิดขึ้นที่จิต ดังนั้นการตามรู้จิตจึงเป็นการหันมาเผชิญหน้าและเรียนรู้เรื่องทุกข์และตัณหาโดยตรงแล้วจะรู้ว่า ความทุกข์เกิดขึ้นได้เพราะตัณหา ส่วนตัณหาเกิดขึ้นได้ก็เพราะความไม่รู้ทุกข์อย่างแจ่มแจ้ง นี้คือการเรียนรู้อริยสัจจ์นั่นเอง เมื่อใดรู้แจ้งอริยสัจจ์ เมื่อนั้นย่อมพ้นจากทุกข์ทางใจได้อย่างสิ้นเชิง เพราะสามารถ ปล่อยวางขันธ์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการปล่อยวางจิต ซึ่งปล่อยวางได้ยากที่สุดในบรรดาขันธ์ทั้งปวง
แม้จะยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจ์และยังไม่พ้นทุกข์ทางใจอย่างสิ้นเชิง แต่เมื่อใดที่มีสติรู้เท่าทันความรู้สึกทางใจ หรือพฤติของจิต จิตจะเกิดความรู้สึกตัวและตั้งมั่น บรรดากิเลสตัณหาและความทุกข์ทางใจก็เป็นอันระงับไปชั่วคราว เพราะกิเลสตัณหาและความทุกข์ทางใจจะเกิดขึ้นได้เมื่อหลง คือเมื่อขาดสติหรือขาดความรู้สึกตัวเท่านั้น
แม้การดูจิตจะเป็นวิธีการปฏิบัติที่ทรงประสิทธิภาพ และรวบรัดตรงเข้ามาทำลายความเห็นผิดว่าจิตเป็นเรา และทำลายความยึดถือจิตได้ในที่สุดก็ตาม แต่ (1) ถ้าผู้ใดไม่มีกำลังพอที่จะตัดตรงเข้ามารู้จิตโดยตรง ก็ให้ตามรู้ความรู้สึกและพฤติของจิตไปก่อน หมดพฤติกรรมของจิตก็จะเห็นจิตเอง (2) ถ้ายังรู้ความรู้สึกและพฤติของจิตไม่ได้อีก ก็ให้ตามรู้กายไปก่อน เมื่อรู้กายแล้วก็ย่อมจะรู้จิตได้ในภายหลัง การรู้กายแม้จะเป็นทางที่อ้อมสักหน่อย (เพราะกิเลสตัณหาไม่ได้เกิดที่กาย เพียงแต่กายเป็นเหยื่อล่ออย่างหนึ่งที่จะทำให้กิเลสตัณหาเกิดขึ้นเท่านั้น)
แต่ถ้าจำเป็นก็ต้องเดิน (3) ถ้ายังตามรู้กายไม่ได้อีกก็ให้ทำสมถะคือ ความสงบจิตไปก่อน (บรรดาคำสอนที่ให้แก้อาการของจิต เช่นจิตมีราคะให้พิจารณาอสุภะ จิตมีโทสะให้แผ่เมตตา ฯลฯ ล้วนเป็นคำสอนในระดับการทำสมถะทั้งสิ้น)
เมื่อจิตสงบแล้วจึงตามรู้ความเปลี่ยนแปลง ของจิตต่อไป นี้ก็เป็นทางอ้อมแต่ถ้าจำเป็นก็ต้องเดินไปทางนี้ แต่ (4) ถ้ากระทั่งความสงบก็ยังทำไม่ได้ ก็ควรเหลือความดีในระดับที่รองลงมา ซึ่งไม่ว่าจะปฏิบัติธรรมในระดับใดก็ไม่ควรทอดทิ้ง ได้แก่ การทำทานและการรักษาศีล ตลอดจนการศึกษาธรรมทั้งภาคปริยัติและภาคปฏิบัติเท่าที่พอจะกระทำได้ แม้ทางสายสุดท้ายนี้จะอ้อมมาก แต่เดินไปก้าวหนึ่งก็ยังดีกว่าไม่เดินเลยแม้เพียงสักหนึ่งก้าว


..................

ถาม – การปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลใช้เวลานานไหมคะ แล้วทำไมการรู้กายรู้ใจถึงทำให้พ้นทุกข์ได้คะ

ธรรมะของพระพุทธเจ้านี้อัศจรรย์จริงๆ นะ ถ้าทำถูกต้อง ใช้เวลาไม่นาน
แต่ถ้าทำไม่ถูกต้อง ใช้เวลานาน ที่ไม่ถูกต้องก็คือ ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า
คำสอนของพระพุทธเจ้าจริงๆ ท่านไม่ได้สอนให้พวกเราหนี
ชาวพุทธจริงๆ ต้องเป็นนักต่อสู้ ไม่ใช่คนขี้แพ้ ความทุกข์อยู่ที่ไหน ท่านสอนให้เราไปเรียนรู้ที่นั่น

ความทุกข์อยู่ที่กายของเรานี้ เข้ามาเรียนรู้ที่กาย
ความทุกข์อยู่ที่จิตใจ เข้ามาเรียนรู้ที่จิตใจของเรา

ที่จริงแล้วคนก็แสวงหาทางพ้นทุกข์มาตลอด ใครๆ ก็อยากพ้นทุกข์ทั้งนั้น
ก่อนพระพุทธเจ้าเขาก็แสวงหาทางพ้นทุกข์แล้ว
กระทั่งหมูเห็ดเป็ดไก่อะไร มันก็แสวงหาทางพ้นทุกข์ของมัน
ทีนี้การแสวงหาทางพ้นทุกข์ที่มีมาตลอดนี้ มันก็แสวงหาตามชั้นตามภูมิ
ตามความเข้าใจ ตามสติปัญญาของแต่ละคนแต่ละท่านไม่เหมือนกัน

บางคนหาทางพ้นทุกข์โดยการเสพสุข
แสวงหาอารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เช่น กลุ้มใจขึ้นมา ไปดูหนัง ไปฟังเพลง ไปหาอะไรสวยๆ ดู
ไปทัศนาจร ไปหาของอร่อยๆ กินแก้กลุ้ม
หรือไปคิดอะไรให้เผลอๆ เพลินๆ
นี่ก็เป็นวิธีหาความสุขอย่างหนึ่ง หาความสุขอย่างโลกๆ
หาความสุขโดยอาศัยการกระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
วิธีหาความสุขอย่างนี้ พวกสัตว์เดรัจฉานก็ทำเป็น
เช่น มันหิวขึ้นมาก็ไปหาอะไรกิน กินอิ่มแล้วมีความสุข

ทีนี้ต่อมาคนมีสติปัญญามากขึ้น
เห็นว่าลำพังวิ่งหาความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ยังไม่สุขจริงหรอก
ต้องเที่ยวหาอารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจไปเรื่อยๆ มันพึ่งพิงสิ่งภายนอกมากไป
หลายคนก็เลยมาหาความสุขทางจิตใจของตัวเอง

โดยเฉพาะพวกเข้าวัดทั้งหลาย มีความรู้สึกขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ เลยว่า
ถ้าเราสามารถควบคุมจิตใจของเราให้อยู่ในอำนาจของเราได้ เราจะมีความสุข
ก็เลยเกิดการแสวงหาความสุขวิธีที่สอง ก็คือการรักษาใจของเราให้ดี
คนด่าใจเราก็เฉย คนชมใจเราก็เฉย
วิธีหาความสุขอย่างนี้ เพื่อตัวเราจะได้มีความสุข
นี้ก็ยังไม่ใช่ทางของพระพุทธเจ้า เป็นการปรุงแต่งฝ่ายกุศล ปรุงแต่งความดีขึ้นมา
แล้วชีวิตจะได้มีความสุขอย่างคนดีๆ สุขอย่างคนดีได้ ก็ทุกข์อย่างคนดีได้

ทีนี้บางคนฉลาดกว่านี้อีก
เห็นว่าถ้าตราบใดที่ยังต้องคอยรักษาจิตใจเอาไว้
มีการกระทบมันคอยกระเทือนก็คอยรักษาอยู่เรื่อยๆ ยังไม่สุขจริง
อีกพวกหนึ่งก็เลยคิดพัฒนาขึ้นไป
ถ้าเราไม่ต้องกระทบอารมณ์เสียเลย มันจะมีความสุข
พวกนี้ก็ฝึกเข้าฌานกันนะ ฝึกเข้าอรูปฌาณ หรือฝึกเข้าอสัญญี พรหมลูกฟัก
ไม่รับรู้โลกภายนอก ไม่สนใจโลกภายนอก ไม่มีอะไรมากระเทือน
ไม่มีสิ่งใดมากระทบ พอไม่มีอะไรมากระทบ ใจก็ไม่ต้องกระเทือน

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา วิธีหาความสุขมีสามแบบ
อันแรก เที่ยวหาอารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจ
ตอบสนองกิเลสไปเรื่อยๆ แล้วก็มีความสุข
การหาความสุขแบบนี้เป็นความปรุงแต่งฝ่ายอกุศล เรียกว่า อปุญญาภิสังขาร
หรือเป็นความสุดโต่งในข้างที่เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค ตามใจกิเลสแล้วมีความสุข

อย่างที่สอง มีการควบคุม คอยบังคับตัวเอง
อันนี้เป็นความปรุงแต่งฝ่ายกุศล เรียก ปุญญาภิสังขาร
หรือเรียก อัตตกิลมถานุโยค การบังคับควบคุมตัวเอง

ความปรุงแต่งอย่างที่สาม หลีกเลี่ยงการกระทบอารมณ์ เรียก อเนญชาภิสังขาร

ในโลกมีความปรุงแต่งทั้งสามอย่างนี้
ความปรุงแต่งทั้งสามอย่างนี้ กระทำไปเพื่อตอบสนองอัตตาตัวตนทั้งสิ้น

เพราะเราไม่รู้ความจริงว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา
เราคิดว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวเรา อยากให้ตัวเรามีความสุข
อยากให้ตัวเราพ้นทุกข์ ก็เลยต้องดิ้นรนปรุงแต่งสามแบบ

ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านฉลาดแหลมคม
ท่านบอกว่าตราบใดที่ยังปรุงแต่งอยู่ มันไม่ได้แก้ปัญหาตรงจุด
มันแก้ที่ปลายทางเท่านั้นเอง
ตรงจุดจริงๆ ก็คือ ตัวตนมีมั้ย ถ้ามาศึกษา ศึกษากาย ศึกษาใจของเราเอง
จนวันหนึ่งปัญญามันแจ้ง ละอวิชชาได้
รู้แจ้งว่ากายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา
ก็ปล่อยวางความยึดถือกาย ปล่อยวางความยึดถือใจได้

อวิชชาคือความไม่รู้อริยสัจจ์
ความไม่รู้อริยสัจจ์ข้อที่หนึ่ง ได้แก่ ความไม่รู้ทุกข์
คือเราไม่รู้ว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวทุกข์

เราคิดว่ากายนี้ใจนี้คือตัวเรา เป็นตัวดี ตัววิเศษ
เราก็ต้องดิ้นรน อยากให้มันดีไปเรื่อยๆ อยากให้มันเป็นสุขไปเรื่อยๆ
อยากให้มันพ้นทุกข์ไปเรื่อยๆ ให้เราเรียนรู้ รู้เข้ามาที่กาย รู้ลงเข้ามาที่ใจ
นี่วิธีการของพระพุทธเจ้า เรียนรู้ลงมาที่กายที่ใจของเราเอง
จนเห็นความจริงเลย กายนี้ไม่ใช่ตัวเราหรอก กายนี้เป็นวัตถุเป็นก้อนธาตุ
ความดิ้นรนหวงแหนร่างกายนี้จะสลายไป
หรือเรียนรู้ลงไปที่จิตใจจะเห็นเลยจิตใจเป็นของไม่เที่ยง
เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย สุขก็ชั่วคราวนะ ทุกข์ก็ชั่วคราว
ดีก็ชั่วคราว ชั่วก็ชั่วคราว ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาถึงจิตถึงใจเราล้วนแต่ของชั่วคราวทั้งนั้น
กระทั่งตัวจิตตัวใจเองก็ของชั่วคราว จิตเดี๋ยวก็เกิดทางตาแล้วก็ดับไป
เกิดทางหูแล้วก็ดับไป เกิดทางใจแล้วก็ดับไป มีแต่ของชั่วคราวทั้งหมด

พอเห็นอย่างนี้เห็นความจริงแล้ว จิตนี้ไม่ใช่ตัวเราที่เที่ยงแท้ถาวรอะไร
ความดิ้นรนที่จะให้จิตมีความสุข ความดิ้นรนที่จะให้จิตพ้นทุกข์มันก็จะสลายไป
ความพ้นทุกข์ที่แท้จริงเกิดจากการที่จิตของเราฉลาด

รู้ความจริงของจิตของใจจนมันหมดความดิ้นรน การที่เรารู้กายรู้ใจนั้นเรียกว่า รู้ทุกข์


ถาม – วิธีที่จะเห็นกายเป็นทุกข์เห็นใจเป็นทุกข์ทำยังไงคะ

หลวงพ่อจะบอกวิธีเห็นกายเป็นทุกข์ กับวิธีเห็นจิตเป็นทุกข์
วิธีเห็นกายเป็นทุกข์ไม่ยากนะ อย่างเรานั่งอยู่นี่ คอยรู้สึกไว้
อย่าใจลอยอย่าเผลอไปคิดอะไรเรื่อยเปื่อยนะ คอยรู้สึกตัวเองเป็นระยะๆ
เราจะเห็นเลยว่า เรานั่งอย่างสบายๆ ประเดี๋ยวเดียวก็เมื่อยแล้ว
นั่งประเดี๋ยวเดียวก็เมื่อย พอเมื่อยแล้วเราทำยังไง

เราก็ขยับตัว เราเปลี่ยนอิริยาบถ พอเมื่อยปุ๊บเราก็ขยับอัตโนมัติเลย
เพราะเราหนีความเมื่อยด้วยวิธีนี้มาตลอดชีวิต เราไม่เคยรู้สึกเลย
พอเมื่อยขึ้นมาเราก็ขยับตัวปั๊บ ความเมื่อยหายไปนะ

เรารู้สึกไม่เห็นจะทุกข์ตรงไหนเลย ประเดี๋ยวความเมื่อยก็ตามมาทันอีก เราก็ขยับอีกนะ
นั่งอยู่ก็นั่งขยับไปเรื่อยๆ ยืนอยู่ก็ยืนขยับไปเรื่อยๆ

เดินมันก็ขยับอยู่แล้วล่ะ เราเดินมากๆ ก็เมื่อยนะ นอนอยู่ยังเมื่อยเลย
คนปกติ สมมตินอนแปดชั่วโมง จะนอนพลิกซ้ายพลิกขวา พลิกซ้ายพลิกขวา ไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าสิบครั้ง

ทำไมต้องนอนพลิก ก็เพราะมันเป็นทุกข์นั่นเอง ความทุกข์มันบีบคั้นร่างกาย มันทำให้ต้องขยับหนีไปเรื่อยๆ

อิริยาบถหรือการเคลื่อนไหวร่างกายนี้ มันปิดบังทำให้เรามองเห็นความทุกข์ของกายไม่ได้
เพราะฉะนั้น อย่างเรานั่งอยู่นี่ นั่งให้สบายๆ นะ
มีสตางค์มากๆ ไปซื้อเก้าอี้ตัวละแสนมานั่งก็ได้ ดูซิ มันจะมีความสุขจริงมั้ย
ถ้าไม่ขาดสตินั่งประเดี๋ยวเดียวก็จะเห็นแล้วว่ามันทุกข์นะ มันทุกข์จริงๆ มันทุกข์ล้วนๆ
นั่งไม่ขยับนี่ทุกข์ตายเลย ถ้าเป็นอัมพาตเป็นอะไรยิ่งกระดุกกระดิกไม่ได้นะ ทุกข์มากเลย
เราก็ดิ้นหนีความทุกข์ไปทั้งวันตั้งแต่ตื่นจนหลับ หลับแล้วก็ยังดิ้นไปดิ้นมา

คราวนี้มาดูจิตใจบ้าง

ธรรมะก็มีแต่กายกับใจนี่แหละ รู้กายแล้วว่ากายเป็นทุกข์ก็มาดูใจของเรา
จะเห็นว่าใจเรามันไม่เที่ยง ความสุขก็อยู่ชั่วคราวนะ
ความทุกข์ก็อยู่ชั่วคราว กุศลเกิดขึ้นก็ชั่วคราว
เช่น เราเกิดความรู้สึกตัวขึ้น เราจะรู้สึกตัวได้แวบเดียว เดี๋ยวก็จะเผลอเดี๋ยวก็จะลืมตัวครั้งใหม่
เพราะฉะนั้น ตัวกุศล ตัวรู้สึกตัว หรือตัวสติเองก็เกิดชั่วคราวเหมือนกัน
ไม่มีใครรักษาความรู้สึกตัวให้ต่อเนื่องยาวนานได้
สิ่งที่ทำให้จิตตั้งมั่นต่อเนื่องยาวนานได้มีอย่างเดียว คือ สมาธิ ไม่ใช่ตัวสตินะ
สติไม่ต่อเนื่องยาวนาน เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับเป็นขณะๆ ไป
อกุศลอย่างความโลภ ความโกรธ ความหลงก็เกิดเป็นขณะๆ เหมือนกัน
เช่น ที่หลวงพ่อบอกให้หัดตะกี๊นะ นั่งอยู่นี่ เดี๋ยวก็ดู ใจมันไปดูนะ

อาศัยตา เป็นทางผ่านไปดูรูป อาศัยหูเป็นทางผ่านไปฟังเสียง อาศัยใจเป็นทางผ่านให้คิด
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำงานหมุนจี๋ๆ อยู่ทั้งวัน

เดี๋ยวก็ดู เดี๋ยวก็ฟัง เดี๋ยวก็คิด สังเกตใจของเรา หาความเที่ยงแท้อะไรไม่ได้

ใจเรานี่พล่านๆ ตลอดเวลา ใจเราถูกความอยากบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา
เดี๋ยวก็อยากดู เดี๋ยวก็อยากฟัง เดี๋ยวก็อยากคิด เดี๋ยวอยากโน่นอยากนี่
รวมทั้งอยากปฏิบัติ อยากฟังธรรม อยากไปวัดนะ อยากมาศาลาลุงชินนะ
ความอยากมันบงการเราตลอดเวลา ถ้าเราคอยรู้อยู่ที่ใจเรา เราจะเห็นเลยจิตใจเราไม่เคยเป็นอิสระเลย

จิตใจเราเป็นขี้ข้าของความอยากตลอดเวลานะ
ถ้าพูดหยาบๆ นะ เหมือนเป็นขี้ข้าเป็นทาสเขาตลอดเวลา
มันสั่งเราทั้งวันนะ สั่งอย่างโน้นสั่งอย่างนี้เราก็ต้องทำตามมัน

เช่น มันสั่งให้ไปเที่ยว ตัณหามันสั่งให้ไปเที่ยว เราไม่รู้ทันนะ เราก็ไปเที่ยว สบายใจ
ตัณหา เป็นเจ้านายที่ฉลาดที่สุด รู้จักให้คุณให้โทษ

มันสั่งให้เราไปเที่ยว ถ้าเราได้ไปเที่ยว มันจะให้รางวัลเรานิดนึง จะสบายใจ จะสบายใจแวบเดียวนะ

มันจะสั่งงานชิ้นใหม่อีกละ ถ้ามันสั่งให้ไปเที่ยวแล้วเราไม่ไปเที่ยว มันจะลงโทษเรา
เราจะรู้สึกกลุ้มใจ อึดอัด มันสั่งให้ไปจีบสาวสักคนนะ ได้ไปจีบสาวหนึ่งคนมีความสุขละ
พอได้หนึ่งคน มันสั่งอีกให้จีบสองคน ถ้าไม่จีบจะทุกข์ใจอีกละ นี่มันจะสั่งเราทั้งวันเลย

ดูคนที่ตกเป็นทาส มันจะมีความสุขที่ตรงไหน คอยดูอยู่ที่ใจนี่จะเห็นเลย
ใจเรานี้ถูกโขกถูกสับอยู่ทั้งวัน หาความสุขที่แท้จริงไม่ได้เลย
มีแต่ความเหน็ดเหนื่อยนะ ร่างกายของเรายังได้นอนพัก แต่จิตใจนี่แทบไม่ได้พักผ่อนเลย
กลางคืนก็ฝันต่ออีกนะ ทรมานมากมีความทุกข์มาก
คอยรู้อยู่ที่จิตใจเรานี่จะเห็นเลยว่าจิตใจเรานี่ทุกข์มาก
จิตใจต้องทำงานทั้งวันทั้งคืนไม่ได้พักผ่อน ถูกโขกสับตลอดเวลา
เจ้านายมันโขกมันสับตลอดเวลา ทีนี้เราก็ไม่รู้ เราก็ไม่เคยเห็น

เราเป็นทาสที่ไม่รู้ตัวว่าเป็นทาส
เมื่อเราเป็นทาสที่ไม่รู้ตัวว่าเป็นทาส เราก็ไม่สามารถปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระได้
เพราะเราไม่รู้ว่าเราเป็นทาสอยู่ เพราะฉะนั้น คอยดูใจเราไว้นะ
ใจเราเดี๋ยวก็อยากไปโน่น เดี๋ยวก็อยากไปนี่ เดี๋ยวอยากคุยกับคนนี้

เดี๋ยวอยากรู้อยากมี คิดว่าอยากได้อย่างนี้นะ ได้มาแล้วจะมีความสุข กิเลสมันหลอกเรานะ
ให้มันวิ่งหาความสุข วิ่งทั้งชาติก็ไม่ได้นะ

ความสุขน่ะ อย่างตอนเราเด็กๆ เราจะรู้สึกเลย ถ้าเรียนหนังสือจบจะมีความสุข
พอเรียนจบปริญญาตรีมันบอกต่อนะต้องจบโทถึงจะมีความสุข

ถ้าได้ด๊อกเตอร์ก็ยิ่งมีความสุขใหญ่ พอเรียนหนังสือจบแล้วก็อย่างนั้นๆ แหละนะ
ไม่เห็นมันจะมีความสุขตรงไหนเลย ด๊อกเตอร์ก็มีหลายคนนะ ไม่เห็นจะมีความสุขเท่าไหร่
มันสอนเราต่ออีกนะ ถ้าได้งานดีๆ จะมีความสุข ถ้าได้เงินเดือนเยอะๆ จะมีความสุข
มีแต่คำว่า "ถ้า" ตลอดเลยนะ ถ้าได้ตำแหน่งใหญ่ๆ จะมีความสุข
มีแต่คำว่า "ถ้า" เพราะฉะนั้น ชีวิตวิ่งหาความสุขทั้งชาติเลยนะ

ต่อไปถ้าได้มีครอบครัวที่ดีๆ จะมีความสุข ถ้ามีลูกฉลาดๆ จะมีความสุข
ต่อไปพอแก่ๆ นะ ถ้าวันไหนไม่เจ็บไม่ไข้จะมีความสุข
พอแก่มากใกล้จะตาย เจ็บปวดทรมานมากแล้ว จะรู้สึกขึ้นมาอีกละ
ถ้าตายซะได้จะมีความสุข คือจนตายยังคิดอีกนะ ถ้าตายได้จะมีความสุข
วิ่งหาความสุขไปเรื่อยๆ นะ วิ่งพล่านๆ พล่าน ยิ่งกว่าหมาถูกน้ำร้อนนะ
พูดแบบง่ายๆ มันพล่านตลอดเวลา แล้วมันจะมีความสุขที่ไหน มันไม่ได้มีความสุข

ความสุขมันรออยู่ข้างหน้าตลอดเวลา วิ่งหาตลอดชีวิตก็ไม่ได้มันมา
วิ่งเหมือนจะหยิบได้แล้ว เหมือนจะคว้าเอามาได้แล้วก็เลื่อนหายไป
หลุดมือไปลอยอยู่ข้างหน้าอีกแล้ว วิ่งไปเรื่อยๆ นี่ถ้าเรามาคอยรู้อยู่ที่ใจเราจะเห็นเลย
โอ้ย น่าอเนจอนาถน้ำตาแทบร่วงเลยนะ มีแต่ทุกข์ล้วนๆ เลย ดีตรงไหน
เฝ้ารู้ไปเรื่อยๆ นะ รู้กายไป ดูกายนี้เป็นวัตถุเป็นก้อนธาตุ มีความทุกข์บีบคั้นตลอดเวลา
จิตใจมีแต่ความไม่เที่ยง มีความไม่เป็นอิสระ ถูกกดขี่ ถูกบังคับอยู่ตลอดเวลา
ไม่ใช่เจ้านายของตัวเองนะ ไม่ได้เป็นอัตตาได้หรอก ไม่ใช่เจ้าข้าวเจ้าของของมันได้
ต้องดูเรื่อยๆ นะ พอดูไปเรื่อยๆ ต่อไปเราก็จะเริ่มเห็นความจริง
ความจริงเป็นตัวปัญญาเห็นเป็นลำดับๆ ไป
จนเห็นว่า ร่างกายนี้จิตใจนี้ไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง ก็ได้ธรรมชั้นต้น
หัดแรกๆ จะเห็นว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเราก่อน

ร่างกายดูง่ายว่าไม่ใช่ตัวเรา แต่จิตใจดูยากว่าไม่ใช่ตัวเรา ต้องดูกันนานๆ

พระพุทธเจ้าท่านถึงสอนว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

ปุถุชนที่ไม่ได้สดับ คนศาสนาอื่นก็ได้ ปุถุชนที่ไม่ได้สดับ สามารถเห็นว่ากายนี้ไม่ใช่ตัวเรา
เพราะว่าเห็นน่ะ คนโน้นก็ตายคนนี้ก็ตายนะ

หน้าตาของเราวันนี้กับหน้าตาของเราตอนเด็กๆ ก็ไม่เหมือนกัน เห็นละ
แต่ท่านบอกว่าปุถุชนที่ไม่ได้สดับไม่ได้ฟังธรรมของท่าน ไม่สามารถเห็นได้ว่าจิตไม่ใช่ตัวเรานะ

พวกเรารู้สึกมั้ย ในกายนี้มีเราอยู่คนหนึ่ง เราตอนนี้กับเราตอนเด็กๆ ก็เป็นเราคนเดิม
รู้สึกมั้ย ในนี้มีเราอยู่คนหนึ่ง เราเดี๋ยวนี้กับเราตอนเด็กๆ ก็ยังเป็นเราคนเดิม
นี่เพราะอะไร เพราะเราไม่เห็นความเกิดดับของจิตนั่นเอง เราเลยคิดว่าจิตเที่ยง
จิตของเราตอนเด็กกับตอนนี้คนเดียวกัน จิตของเราวันนี้กับจิตของเราเย็นนี้ก็คนเดียวกัน
เรายังเป็นคนเดิมอยู่นะ จิตของเราเดี๋ยวนี้กับจิตของเราปีหน้านะ ก็ยังเป็นคนเดิมอีก
ตายไปแล้วเราก็ยังว่าอยู่ว่าจิตชาติหน้ากับจิตเดี๋ยวนี้ยังเป็นคนเดิมอีกนะ

เป็นเพราะเราไม่เห็นความจริง เราไม่เห็นความจริงว่าจิตนั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป
พระพุทธเจ้าท่านสอน จิตอาศัยอยู่ในกาย ดวงหนึ่งเกิดขึ้นดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน
และก็วิ่งไปอย่างรวดเร็ว เราไม่เคยเห็น

ถ้าเรามาคอยรู้มาคอยดูนะ ดูใจของเรา ดูไปเรื่อยๆ สักวันก็จะเห็นความจริงได้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2008, 13:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


สันตินันท์(พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช ในปัจจุบัน)

เมื่อรักธรรม ก็ต้องสละอหังการในทางโลกเสีย แล้วปฏิบัติธรรมด้วยความนอบน้อมต่อธรรม ซื่อสัตย์จริงใจต่อธรรม ซึ่งความจริงก็คือความซื่อสัตย์ต่อตนเองนั่นเอง คือจะต้องเรียนรู้ตนเองตามความเป็นจริงให้ได้ เช่นจิตมีความชั่ว ต้องรู้ว่ายังชั่วอยู่

อย่าปฏิบัติธรรมเพื่อโอ้อวด อย่าปฏิบัติธรรมเพื่อได้รับการยอมรับจากหมู่เพื่อน ประการสำคัญ อย่าเอานิสัยฉาบฉวยทางโลก มาใช้ในการปฏิบัติธรรม เพราะการปฏิบัติธรรมต้องการความต่อเนื่องเป็นอย่างมาก คือจะต้องปฏิบัติด้วยความจริงใจจนตลอดชีวิต


จาก: http://santidharma.com/
ความเห็นที่ 11 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 31 ตุลาคม 2543 14:53:27
http://board.agalico.com/showthread.php?t=10493


พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช


ถาม- เคยฝึกกรรมฐานแบบอานาปานสติมาก่อนไม่ทราบว่าจะต่อวิปัสสนาได้อย่างไรคะอานาปานสติเป็นกรรมฐานที่ทำยากมาก เวลาทำแล้วมักจะหลงไปเป็นสมถะง่าย เพราะอานาปานสติเป็นกรรมฐานที่ละเอียด เวลาเราไปรู้ลมหายใจ ใจมักจะไหลเข้าไปเกาะนิ่งๆ อยู่กับลมหายใจเพราะฉะนั้นเวลาเราทำอานาปานสติ จิตใจพลิกแพลงได้หลายแบบ เช่น เรารู้ลมหายใจเข้า หายใจออกแล้วก็ใจลอยไปอย่างนี้ขาดสติไปแล้ว ไม่มีสติเลย ไม่มีทั้งสมถะทั้งวิปัสสนา อีกอย่างหนึ่งเรารู้อยู่ที่ลมหายใจ จิตเราแนบไปไว้ที่ลมหายใจ ลมเคลื่อนไป มันตามรู้ตามเห็นไปได้เรื่อยๆ โดยที่ไม่ได้บังคับ อันนี้จะได้สมถะ อีกอันหนึ่งมันเห็นว่ารูปนี้กำลังหายใจอยู่ ใจเป็นแค่คนดู เห็นว่าร่างกายนี้หายใจ เห็นว่ารูปนี้เคลื่อนไหว ไอ้ตัวนี้ก็เป็นรูปเป็นวัตถุเป็นก้อนธาตุ หายใจเข้าหายใจออกก็เป็นธาตุที่ไหลเข้าไหลออกเห็นจิตใจเป็นแค่คนดูเห็นร่างกายนี้หายใจไป นี่ไปขึ้นวิปัสสนาในการรู้กาย ไม่เหมือนกับการเข้าไปเกาะที่ลม เกาะที่ลมเป็นสมถะ ถ้าเห็นร่างกายหายใจแล้วใจเป็นแค่คนดูอยู่อันนี้จะทำวิปัสสนารู้กาย อีกอันหนึ่งหายใจไปแล้วจิตใจก็ฟุ้งซ่านไป รู้ว่าฟุ้งซ่าน จิตสงบรู้ว่าสงบ จิตเป็นสุขรู้ว่าสุข จิตเป็นทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์ นี่คือหายใจแล้วมาดูจิต เพราะฉะนั้นอานาปานสติพลิกแพลงได้เยอะแยะเลย ในแต่ละขณะๆ บางทีก็เป็นสมถะ บางทีก็เป็นวิปัสสนา บางทีหลงไปไม่มีสมถะ ไม่มีวิปัสสนา

............................

5. วิธีการตามรู้จิต
วิธีการตามรู้จิตหรือการดูจิตจนเกิดความรู้ความเข้าใจว่าจิตไม่ใช่ ตัวตนในเบื้องต้น และเกิดการปล่อยวางจิตในเบื้องปลายนั้น จะกระทำได้ภายใต้เงื่อนไข 3 ประการคือ
5.1 ต้องดูจิตให้ถึงจิต คือต้องรู้ให้ถึงตัวสภาวะของจิตใจจริงๆ อันเป็นปัจจุบันอารมณ์ จะดูจิตแต่ไปรู้แค่ความคิดไม่ได้ เพราะความคิดหรือสมมุติบัญญัตินั่นแหละเป็นสิ่งที่ปิดกั้นการรู้ของจริงคืออารมณ์ปรมัตถ์ (อันได้แก่ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน) ตัวสภาวะของจิตใจที่จะต้องตามรู้ในเบื้องต้นได้แก่ ความรู้สึกต่างๆ เช่นความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ความรู้สึกในฝ่ายกุศล และความรู้สึกในฝ่ายอกุศลทั้งหลาย อันเป็นเจตสิกหรือธรรมที่ประกอบจิต ยังไม่ใช่ตัวจิตจริงๆ และในเบื้องปลายได้แก่ การตามรู้พฤติของจิต ต้องตามรู้จนจิตหมดพฤติกรรมจึงจะรู้จิตได้จริงๆ (หลวงปู่เทสก์ท่านเรียกจิตชนิดนี้ว่าใจ คือเป็นธรรมชาติรู้ที่เป็นกลางและไม่ปรุงแต่ง)
5.2 ต้องดูให้เป็น คือเมื่อจะดูจิตก็อย่าให้ความอยาก (ตัณหา) ที่จะปฏิบัติธรรมเข้าแทรก (การตามรู้กายก็ต้องรู้โดยไม่ถูกตัณหาแทรกเช่นกัน) เพราะถึง
ไม่อยากรู้ เราก็สามารถตามรู้ความรู้สึกได้อยู่แล้ว แต่ถ้าอยากตามรู้จิต เราจะเกิดการกระทำทางใจอีกตั้งมากมายอันเป็นการก่อภาระและก่อทุกข์ให้จิตโดย
เปล่าประโยชน์ และเป็นอุปสรรคขัดขวางการตามรู้จิตตามความเป็นจริงทั้งสิ้น เช่นเกิดการตั้งท่าปฏิบัติเกิดการแสวงหาอารมณ์หรือจิต เกิดการกำหนดและการเพ่งจ้องอารมณ์ หรือจิต และเกิดอาการพยายามแก้อารมณ์หรือแก้อาการของจิต เป็นต้น ทั้งนี้การรู้ที่ถูกต้องนั้นต้องรู้ถูกต้องทั้ง 3 กาล ดังนี้คือ
5.2.1 ก่อนจะดู ก็ไม่ต้องอยากดู ไม่ต้องตั้งท่า ไม่ต้องแสวงหาว่าจะดูอะไรดี และไม่ต้องพยายามจะดูจิต เพียงให้มีความรู้สึกตัวแล้วตามรู้จิตใจไปอย่าง
ธรรมดาๆ คือจิตมีความรู้สึกหรือมีพฤติกรรมอย่างใดก็รู้ไปตามนั้นเลย เพราะความอยากดู การตั้งท่าดู การแสวงหา หรือความพยายามจะดูนั่นแหละ จะเป็นเครื่องปิดกั้นการตามรู้จิตซึ่งเป็นของง่ายทำให้กลายเป็นของยาก
5.2.2 ระหว่างดู ก็อย่าเติมความปรุงแต่งสิ่งใดลงไปอีก เช่น
(1) ไม่ต้องเพ่งแต่ให้รู้ไปอย่างสบายๆ หรือรู้ไปอย่างเบาๆ
(2) ไม่ต้องคิดพิจารณา
(3) ไม่ต้องกำหนดหรือบริกรรมซ้ำ
(4) ไม่ต้องตามพากย์หรือบรรยายหรือวิพากษ์วิจารณ์ปรากฏการณ์หรือสภาวะ ที่เกิดขึ้น เพราะเพียงแค่รู้สภาวะที่ถูกต้องของจิตและเจตสิกแล้ว ก็ย่อมเห็นความจริงของจิตใจว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ หรือเป็นอนัตตาได้เอง เปรียบเหมือนเราดูฟองน้ำที่ผุดขึ้น ไม่ต้องเพ่งเราก็เห็น และไม่ต้องคิดว่า
มันไม่เที่ยง มันก็ต้องแสดงความไม่เที่ยงให้เห็นคือแตกไปจนได้ ส่วนการบริกรรมและการตามพากย์ก็เป็นการสร้างภาระส่วนเกินให้จิตใจ และอาจทำให้
พลาดจากการรู้อารมณ์ปรมัตถ์ไปหลงอารมณ์บัญญัติแทนได้ นอกจากนี้จะต้อง (5) ไม่ตามรู้จนถลำเข้าไปในอารมณ์ต่างๆ คือต้องดูอย่างสบายๆ ดูอยู่ห่างๆ
ชำเลืองรู้เข้ามาให้ถึงจิตถึงใจจึงจะเป็นการรู้ที่ถูกต้อง แต่ถ้าหลงมองตามอารมณ์ไป หรือรู้จนถลำตามอารมณ์ก็คือหลงรู้ หรือรู้จนลืมตัว อย่างนั้นเป็นการรู้ที่ใช้ไม่ได้และไม่ใช่อาการสักว่ารู้
5.2.3 ดูแล้ว ก็ไม่มีกิจกรรมที่จะต้องทำหลังการดู เช่น
(1) ไม่ต้องทำกระทั่งความพยายามจะละอกุศล (2) ไม่ต้องพยายามรักษากุศลที่ทำแล้วเอาไว้ด้วยรวมทั้ง (3) ไม่ต้องช่วยจิตคิดสรุปความรู้ ผู้ปฏิบัติต้องกล้าหาญพอที่จะไม่กลัวโง่ เพราะการรู้นั้นทำให้จิตเกิดความรู้หรือปัญญา แต่การคิดทำให้เราเกิดความรู้ซึ่งที่จริง ก็คือความคิดและความจำเท่านั้นเอง ควรปล่อยให้ทุกอย่างเขาดำเนินไปตามที่เขาเป็น ผู้ปฏิบัติมีหน้าที่ตามรู้อย่างซื่อตรงเท่านั้น เพราะเมื่อใดมีสติที่ถูกต้อง เมื่อนั้นอกุศลเป็นอันถูกละไปแล้วโดยไม่ต้องทำอะไรเลย และกุศลก็ได้เจริญขึ้นแล้ว
5.3 ต้องดูบ่อยๆ หรือตามรู้เนืองๆ ยิ่งรู้ได้ถี่ยิบโดยไม่ตั้งใจจะรู้ได้มากเท่าไรก็ยิ่งดี สิ่งที่จะช่วยให้ตามรู้จิตได้ดีก็คือการเคลื่อนไหวกาย อย่านั่งนิ่งๆ ยิ่ง
นั่งหลับตาแล้วเปิดเทปธรรมะคลอไปด้วยก็จะยิ่งถูกโมหะแทรกได้ง่าย ถ้าหมั่นเคลื่อนไหวกายไว้ จิตจะเกิดความตื่นตัวหรือรู้สึกตัวได้ง่าย ทำให้การตามดูจิตง่ายไปด้วย แต่การเคลื่อนไหวกายในอาการซ้ำๆ เช่นการเดินจงกรมหรือการทำจังหวะต่างๆ ก็อาจจะ ถูกโมหะแทรกได้ เป็นสิ่งที่ต้องคอยระวังสังเกตเช่นกัน
อนึ่งการตามรู้กายก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขทั้ง 3 ประการนี้เช่นกัน คือ
(1) ต้องดูหรือรู้ให้ถึงสภาวะของกาย ไม่ใช่คิดเรื่องกายหรือเพ่งกาย
(2) ต้องดูให้เป็น และ
(3) ต้องดูบ่อยๆ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2008, 13:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


6. ขยายความเรื่องการตามรู้ความรู้สึกและพฤติของจิต
การเจริญวิปัสสนานั้นจะต้องตามรู้อารมณ์ที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ซึ่งการดูจิตเป็นวิธีการเจริญวิปัสสนาอย่างหนึ่งที่มุ่งรู้อารมณ์ ในฝ่ายนามธรรม ได้แก่ เจตสิกหรือความรู้สึกอันเป็นความปรุงแต่งทางใจ และจิตซึ่งจะรู้ได้โดยการตามสังเกตพฤติหรือกิริยาอาการของจิต
เมื่อตามรู้มากเข้าก็จะเกิดวิปัสสนาปัญญาคือสามารถรู้ลักษณะของนามธรรมทั้งปวงว่าเป็นไตรลักษณ์ และจะพัฒนาไปสู่การรู้อริยสัจจ์ ก่อนที่จิตจะวางอารมณ์รูปนามแล้วไปรู้อารมณ์นิพพานในขั้นที่เกิดโลกุตรปัญญา กล่าวคือ
6.1 การตามรู้ความรู้สึก ในเบื้องต้นผู้ปฏิบัติส่วนมากยังไม่สามารถรู้จิตได้จริงๆ แต่อย่าได้เที่ยวแสวงหาจิตเป็นอันขาดเพราะถึงหาอย่างไรก็ไม่พบ ให้เริ่มปฏิบัติไปตามลำดับคือรู้ถึงสิ่งที่ปรุงแต่งจิตเสียก่อน ทำนองเดียวกับเมื่อจะดูของขวัญในกล่อง เบื้องต้นเรายังไม่เห็นของขวัญ แต่เห็นกระดาษห่อของขวัญ ต้องแกะสิ่งห่อหุ้มออกเสียก่อนจึงจะเห็นของขวัญได้ การดูจิตก็เหมือนกันคือเบื้องต้นเรายังเห็นจิตไม่ได้ ก็ให้รู้สิ่งที่ปรุงแต่งจิตหรือจิตสังขารไปก่อน ได้แก่ ความรู้สึกสุขทุกข์ดีชั่วทั้งหลายอันเป็นเวทนาบ้างเป็นสังขารบ้าง
วิธีการรู้ได้กล่าวไว้แล้วในข้อ 5 โดยเริ่มต้นให้ทำใจให้สบายๆ อย่า เคร่งเครียดจริงจัง แล้วตามรู้ความรู้สึกในจิตใจของตนเองไปเลย ระวังอย่าไปเพ่งหรือกำหนดจดจ้องคอยดูจนจิตนิ่ง รู้บ้างเผลอบ้างก็ยังดีกว่า การนั่งจ้องแบบไม่ให้คลาดสายตา เพียงเท่านี้ก็จะทราบได้ว่าขณะก่อนหน้านั้นมีความรู้สึกใดเกิดขึ้น เช่นมีความรู้สึกสุขใจ (โสมนัส เวทนา) มีความรู้สึกทุกข์ใจ (โทมนัสเวทนา) มีความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ (อุเบกขาเวทนา) มีความโลภ มีความโกรธ มีความหลง มีความฟุ้งซ่าน มีความหดหู่ซึมเซา มีความลังเลสงสัย หรือมีความผ่องใสของจิตใจ เป็นต้น เมื่อทราบถึงสภาวะดังกล่าวแล้วก็ให้หยุดอยู่แค่นั้น ไม่ต้องทำอะไรต่อไป เช่นไม่ต้องบริกรรมชื่อของสภาวะนั้น ไม่ต้องวิจารณ์ว่าสภาวะนั้นดีหรือไม่ดี ควรหรือไม่ควร ไม่ต้องคิดรักษาหรือแก้ไขสภาวะนั้น เช่นไม่ต้องพยายามรักษาความสงบสุขที่เกิดขึ้น และไม่ต้องพยายามละอกุศล เป็นต้น
เมื่อเราสามารถรู้ตัวสภาวะได้แล้ว ตัวสภาวะหรือความรู้สึกทั้งหมดนั้นจะแสดงไตรลักษณ์ให้ดูโดยไม่ต้องไปคิดถึงไตรลักษณ์ เพราะความจริงความรู้สึกทั้งหลายเหล่านั้นล้วนแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปในที่สุด เมื่อตามรู้มากเข้าในที่สุดก็จะพบความจริงอีกว่า การเกิดและดับนั้นก็ไม่ได้เป็นไปเอง แต่เมื่อมีเหตุก็เกิดขึ้น เมื่อหมดเหตุก็ดับไป เราไม่สามารถควบคุมบังคับได้แต่อย่างใด
6.2 การตามรู้พฤติของจิต
การตามรู้จิตหรือการดูจิตตามคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ ไม่ได้มีความหมายเพียงแค่การให้ตามรู้ความรู้สึกสุขทุกข์ดีชั่วเท่านั้น แต่ท่านมุ่งสอนให้ตามรู้จิตจนรู้เท่าทันพฤติของจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติประเภทที่เป็นพฤติกรรมคือการทำงานทางใจที่เจือด้วยความอยาก
ผู้ใดรู้ถึงพฤติกรรมของจิต จนจิตหมดพฤติกรรม จิตจะเกิดความรู้สึกตัว ตั้งมั่น และถอดถอนตนเองออกจากโลกของความคิดนึกปรุงแต่ง ก็จะเป็นบันไดเอื้อให้ก้าวขึ้นไปรู้อริยสัจจ์แห่งจิตได้ต่อไป เพราะ เพียงจิตหลงหรือไหลเข้าไปทำงานทางใจด้วยความอยากแม้เพียงเล็กน้อย อีกเมื่อใด ความทุกข์ของจิตจะปรากฏขึ้นอย่างแจ่มชัด จนจิตหมดความอยากที่จะหลง/ไหลเข้าไปทำกรรมทางใจอีก เพราะรู้ทุกข์ได้แจ่มแจ้งแล้ว(ในขณะที่ผู้ซึ่งหลงอยู่กับโลกของความปรุงแต่งและการมีพฤติกรรมของจิตมาแต่ไหนแต่ไร จิตย่อมจมแช่อยู่กับทุกข์โดยมองทุกข์ไม่ออก เปรียบเหมือนทาสที่ถูกขังและต้องทำงานหนักมาแต่กำเนิดจะไม่รู้สึกถึงความทุกข์มากนัก แต่เมื่อใดเคยได้รับอิสระและไม่ต้องถูกบังคับให้ทำงาน ครั้นภายหลังถูกจับมาขังและถูกบังคับให้ทำงานหนักอีก เขาจะเห็นทุกข์ได้ชัดเจนยิ่งกว่าเมื่อก่อน)
พฤติกรรมของจิตนั้นมีตัณหาและความหลงเป็นพื้นฐานอยู่เสมอ พ่อแม่ครูอาจารย์วัดป่าบางรูปท่านเรียกจิตที่หลงออกทำงานทางปัญจทวาร (ตา หู จมูก ลิ้น และกาย) ว่าจิตส่งออกนอกและเรียกจิตที่หลงเข้าไปทำงานทางมโนทวาร (ใจ) ว่าจิตส่งใน ซึ่งจิตส่งในจะทำงานได้ 2 แบบหลักๆ คือทำหน้าที่
(1) หลงรู้อารมณ์จนถลำตามอารมณ์ไปอย่างหนึ่ง และ
(2) หลงทำกรรมด้วยเจตนาที่ดีบ้างชั่วบ้างอีกอย่างหนึ่ง บรรดากุศลธรรมเช่นศีล สติ สมาธิ ปัญญา ก็ดี บรรดากิเลสตัณหาทั้งหลายก็ดี บรรดาความทุกข์ทางใจก็ดี เกิดขึ้นในช่วงที่จิตทำกรรมนี่เอง เมื่อจิตทำกรรมดีก็มีภาระหรือทุกข์อย่างคนดี เมื่อจิตทำกรรมชั่วก็มีภาระหรือทุกข์อย่างคนชั่ว แม้แต่นักปฏิบัติทั้งหลายก็มีภาระหรือทุกข์อย่างนักปฏิบัติ
แต่เมื่อใดจิตไม่ส่งนอกไม่ส่งในคือไม่หลง จิตจะมีความรู้สึกตัวโปร่ง ว่าง สว่าง ผ่องใส ไร้ขอบเขต ตั้งมั่น เป็นกลาง และสักว่ารู้อารมณ์หรือรู้โดยไม่หลงและทำโดยไม่หลง คือทำงานไปตามหน้าที่ของจิตเท่านั้น จิตชนิดนี้ถ้ากล่าวโดยนัยของพระปริยัติธรรมก็คือมหากุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาอย่างยิ่งอย่างหนึ่ง กับมหากิริยาจิตของ พระอรหันต์อีกอย่างหนึ่ง (ขอให้สังเกตด้วยว่า จิตส่งในแม้จะมีพื้นฐานมาจากอกุศลคือความหลง แต่ก็สามารถหลงทำกุศลได้ ส่วนจิตที่รู้สึกตัวนั้น ตามความรู้สึกของผู้ปฏิบัติจะรู้สึกว่าเป็นกลางๆ ไม่ส่งนอกไม่ส่งใน แต่ในทางพระปริยัติธรรมก็จัดว่าเป็นชวนจิตเหมือนกับจิตที่ส่งในนั่นเอง แต่ครูบาอาจารย์วัดป่าท่านจำแนกตามสภาวะที่ผู้ปฏิบัติรู้สึกได้ เพื่อประโยชน์ในทางปฏิบัติเท่านั้นเอง)
หน้าที่ของผู้ปฏิบัติมีเพียงการตามรู้พฤติของจิต คือถ้าจิตเคลื่อนไปทำงานทางปัญจทวารได้แก่ ทางตาหูจมูกลิ้นและกายก็ให้รู้ (ถ้าไม่รู้ก็คือหลง ซึ่งหลวงปู่ดูลย์และหลวงปู่เทสก์ท่านเรียกตรงกันว่า "จิตส่งออกนอก") ทั้งนี้ให้รู้พฤติกรรมของจิตว่าส่งออกนอกไปทางใด โดยไม่จำเป็นต้องรู้ว่าจิตไปดูรูปอะไร ไปฟังเสียงหรือเรื่องราวอะไร และไปดมกลิ่นอะไร เป็นต้น เพราะบรรดาสิ่งที่คิดว่า "อะไรๆ" ทั้งหลายนั้น ล้วนแต่เป็นบัญญัติซึ่งไม่จำเป็นต้องใส่ใจในระหว่างการเจริญวิปัสสนา
ถ้าจิตเคลื่อนไปทำงานทางมโนทวารคือทางใจก็ให้รู้ (ถ้าไม่รู้ก็คือ หลง ซึ่งหลวงปู่ดูลย์ท่านเรียกว่า "จิตส่งออกนอก" เช่นเดิม คือส่งออกไปนอกเหนือจากการรู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและรู้สึกตัว ส่วนหลวงปู่เทสก์ท่านเรียกให้เห็นภาพตรงตามความรู้สึกว่า "จิตส่งใน")
อนึ่งการรู้ความรู้สึกทางใจของจิตนั้น (1) ไม่จำเป็นต้องรู้อย่างละเอียดถี่ยิบ และ (2) ไม่ต้องพยายามรู้ให้ชัดเจนเกินกว่าที่จะรู้ได้ตามปกติ การพยายามรู้ให้ละเอียดยิบหรือพยายามรู้ให้ชัด อาจจะทำให้เกิดอาการหรือพฤติกรรม "หลงรู้" ขึ้นมาได้ สภาวะหลงรู้นั้นคล้ายกับผู้ปฏิบัติรู้สภาวะทั้งปวงอยู่ แต่ความจริงจิตไม่ตั้งมั่นแต่ส่งในตามอารมณ์ไป หรือจมแช่อยู่กับอารมณ์ไปแล้ว คล้ายกับคนที่ดูละครจนลืมตัว กระโดดขึ้นไปบนเวทีละครเสียแล้ว หรือคล้ายคนที่ดูสิ่งที่ลอยน้ำมา แล้วชะโงกจนตกน้ำไปแล้วแต่ไม่รู้ตัว นอกจากนี้ก็ (3) ไม่จำเป็นต้องรู้ว่ารู้ "อะไร" เช่นไม่ต้องใส่ชื่อว่าสภาวะอันนี้ชื่อนี้ๆ การพยายามใส่ชื่อ การตามพากย์ตามบรรยาย และการทำงานอย่างอื่นเกินจากการรู้ว่าสิ่งบางสิ่ง (นามธรรม) เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เป็น การสร้างภาระส่วนเกินสำหรับการเจริญวิปัสสนาทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตามถ้ามีกำลังความสามารถพอ ผู้ปฏิบัติจะไม่ตามรู้ความรู้สึกก็ได้ เพียงตามรู้ทันว่าจิตมีพฤติกรรมไปทำงานทางใด เท่านี้ก็พอแล้ว เมื่อใดรู้เท่าทันพฤติกรรมของจิตที่ส่งนอกและส่งใน เมื่อนั้นจิตจะเลิกส่งนอกและส่งใน แล้วถอดถอนตนเองออกจากอารมณ์ที่จิตไปจมแช่อยู่ เกิดเป็นจิตรู้หรือจิตที่รู้สึกตัวขึ้นมาแทน จิตรู้เป็นจิตที่ทำหน้าที่รู้โดยไม่มีเจตนาจะรู้ ผู้ปฏิบัติไม่ต้องทำจิตรู้ขึ้นมา เพียงรู้ว่าจิตหลงส่งนอกส่งใน จิตรู้ก็จะเกิดขึ้นเอง จิตรู้เป็นจิตที่ตั้งมั่น เป็นกลาง ปราศจากน้ำหนัก แต่เกิดอยู่ได้วับเดียวก็ดับไป หน้าที่ของผู้ปฏิบัติก็คือ หมั่นตามรู้ทันความรู้สึกและพฤติกรรมของจิตเนืองๆ เพื่อให้จิตรู้เกิดบ่อยๆ ถ้าเกิดบ่อยมากผู้ปฏิบัติจะรู้สึกเหมือนกับว่า ความรู้สึกตัวแผ่กว้างออกแล้วเบียดเอาความหลงปรุงแต่งขาดสะบั้นไป ในขณะที่ความหลงหดแคบลง คือหลงสั้นลงเรื่อยๆ

มีจุดที่ควรกล่าวถึงอีกอย่างหนึ่ง คือที่กล่าวว่าจิตเคลื่อนไปทำงาน ทางปัญจทวารบ้าง และเคลื่อนไปทำงานทางมโนทวารบ้างนั้น เป็นเพียง โวหารที่กล่าวตามความรู้สึกของผู้ปฏิบัติซึ่งรู้สึกไปเองว่าจิตเคลื่อนไหวไปมาได้ แท้จริงจิตไม่ได้เคลื่อนที่ไปไหน เพราะจิตนั้นเกิดที่ใดก็ดับที่นั้นเช่นเกิดทางตาก็ดับที่ตา และเกิดทางใจก็ดับที่ใจ เพียงแต่จิตเกิดดับสืบต่อกันรวดเร็วมาก จนผู้ปฏิบัติรู้สึกไปเองว่าจิตมีดวงเดียวแล้วเคลื่อนไหวไปมาได้ เป็นทำนองเดียวกับการสร้างหนังการ์ตูน คือรูปแต่ละรูปเคลื่อนไหวไม่ได้ แต่พอรูปเกิดดับสืบต่อกัน เราก็เห็นว่าตัวการ์ตูนตัวนั้นเคลื่อนไหวไปมาได้ มิหนำซ้ำยังเป็นรูปของการ์ตูนตัวเดิม ทั้งที่ความจริงเป็นรูปจำนวนมากที่เกิดดับสืบเนื่องกัน
การตามรู้พฤติของจิต จะทำให้ได้ทราบกลไกการทำงานของจิตได้กว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้นด้วย เช่นจะพบว่าอาการส่งนอกและส่งในมีความเกี่ยวเนื่องกันได้ บางคราวจิตส่งนอกอย่างเดียวไม่มีการส่งในตามมา เช่นเมื่อเรานั่งรถผ่านไปตามย่านชุมชน และได้เห็นผู้คนที่ไม่รู้จักมากมาย อย่างนี้จิตก็ไม่ส่งในคือไม่มีการทำงานทางใจต่อไป เพราะสิ่งที่เห็นนั้นไม่มีคุณค่าที่น่าสนใจ บางคราวจิตส่งนอกแล้วก็ส่งในด้วย เช่นเราเกิดมองเห็นเพื่อนรักยืนอยู่ข้างถนน จิตเกิดความยินดีขึ้นมา แล้วคิดเพลินไปถึงความสนุกสนานที่เคยเที่ยวเล่นด้วยกันมาก่อน เป็นต้น บางคราวจิตก็ส่งในอย่างเดียว เช่นเรานั่งอยู่เฉยๆ แล้วจู่ๆ ก็เกิดนึกไปถึงศัตรูคู่อาฆาต ทั้งที่ไม่ได้เห็นหรือไม่ได้ยินสิ่งใดเกี่ยวกับคนๆนั้น เป็นแต่จิตคิดขึ้นมาเอง ถัดจากนั้นจิตก็เกิดโทสะคือรู้สึกเคียดแค้นชิงชังขึ้นมา เป็นต้น (การส่งนอกส่งในนี้สอดคล้องกับคำสอน ของพระปริยัติธรรมในเรื่องวิถีสังคหวิภาค) แต่นี่ก็เป็นความรู้ที่มากเกินจำเป็นสำหรับการเจริญวิปัสสนาไปสักหน่อย ดังนั้นไม่ต้องตั้งอกตั้งใจสังเกต เพียงแต่เป็นความรู้ที่ผู้ปฏิบัติจะเห็นได้เท่านั้นเอง เมื่อรู้แล้วก็ควรปล่อยวางเสีย คืออย่าไปหลงค้นคว้าพิจารณาจนลืมรู้สึกตัว
พฤติกรรมของจิตในลักษณะอื่นก็ยังมีอีก เช่นบางคราวจิตก็ปรุงแต่งกิเลส บางคราวกิเลสก็ปรุงแต่งจิต กล่าวคือเมื่อรู้อารมณ์ทางทวารทั้ง 6 แล้ว จิตมักจะหลงให้ค่าต่ออารมณ์นั้นๆ แล้วปรุงแต่งเป็นความยินดียินร้ายขึ้นมา ถ้าเห็นว่าอารมณ์นั้นเป็นของดีก็ปรุงความยินดี พอใจคืออยากได้อยากมีอยากเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ แล้วเกิดการกระทำทางใจ ได้อีกตั้งมากมายเพื่อให้ได้อารมณ์อันนั้นมา ถ้าเห็นว่าอารมณ์นั้นเป็น ของไม่ดีก็ปรุงความยินร้ายคือปฏิเสธอารมณ์นั้น แล้วเกิดการกระทำทางใจได้อีกตั้งมากมายเพื่อผลักอารมณ์นั้นออกไป สำหรับการกระทำทางกายและวาจาก็เป็นผลพวงของการกระทำทางใจนั่นเอง ปรากฏการณ์ เหล่านี้แสดงให้เราเห็นว่า จิตนั้นแหละปรุงแต่งกิเลสขึ้นมาคือปรุงความยินดียินร้ายขึ้นมา และกิเลสก็เข้ามาปรุงแต่งจิตคือเข้ามาบงการพฤติกรรมของจิต(ถ้าเรามีสติรู้เท่าทันกระบวนการทำงานดังกล่าวนี้ จิตก็จะสักว่ารู้อารมณ์โดยไม่ปรุงแต่งกิเลส หรือถ้าสติรู้ได้ช้าคือจิตปรุงแต่งกิเลสขึ้นมาแล้วจึงค่อยมีสติรู้ทัน ก็ยังพอใช้ได้ เพราะกิเลสจะหลุดร่วงออกจากจิตใจในทันทีที่รู้ทัน พฤติกรรมที่จะตอบสนองต่อกิเลสก็เป็นอันระงับไปเพียงนั้น จิตจะเข้าถึงความสงบผ่องใส ก่อนที่จะรู้อารมณ์แล้วปรุงกิเลสรอบใหม่ต่อไปอีก เพราะจิตยังมีอนุสัยกิเลสอยู่)
การเห็นพฤติของจิต ไม่เพียงแต่จะทำให้กิเลสและพฤติกรรมซ่อนเร้นของจิตดับไป แต่ยังจะทำให้เกิดวิปัสสนาปัญญาเห็นความจริงว่า เดี๋ยวจิตก็เกิดทางตาแล้วก็ดับไป เดี๋ยวจิตก็เกิดทางหูแล้วก็ดับไป และเดี๋ยวจิตก็เกิดทางใจแล้วก็ดับไป เป็นต้น จะทำให้เห็นความจริงว่าจิตเองก็เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงคือเกิดแล้วก็ดับไป จิตเองเป็นทุกข์คือทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และจิตเองเป็นอนัตตาคือบังคับบัญชาไม่ได้ เช่น จะเลือกให้เกิดหรือไม่ให้เกิดทางทวารใดก็ไม่ได้ เกิดแล้วจะสั่งให้เป็นกุศลหรือห้ามเป็นอกุศลก็ไม่ได้ และจะสั่งให้จิตมีแต่ความสุขห้ามไม่ให้มีความทุกข์ก็ไม่ได้ เป็นต้น นี้เป็นการเรียนรู้จิตปรมัตถ์ และจะทำลายความเห็นผิดว่าจิต (ผู้รู้) เป็นตัวตนของตนลงได้ต่อไป
สรุปแล้วอาการที่จิตหลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจนี้เอง คือสิ่งที่พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านเรียกว่า จิตส่งออกนอกบ้าง จิตส่งในบ้าง เมื่อจิตส่งออกไปรู้อารมณ์แล้วหลงอารมณ์ จนลืมกายลืมใจอันเป็นอารมณ์ปรมัตถ์ ก็ทำให้เจริญวิปัสสนาไม่ได้ ดังนั้นผู้ปฏิบัติพึงทำความรู้สึกตัวเนืองๆ ด้วยการรู้เท่าทันจิตที่ส่งนอกและส่งใน อย่าพยายามแสวงหาหรือพยายามทำจิตให้เป็นกลาง เพราะความพยายามทั้งหลาย นั้นส่วนมากก็คือการส่งในเข้าไปหลงทำงานทางใจ เมื่อใดจิตเกิดความรู้สึกตัวหรือเกิดจิตรู้ได้แล้ว ก็จะสามารถเจริญวิปัสสนาได้ต่อไป คือรู้ว่าจิตที่เพิ่งดับไปนั้นเป็นอย่างหนึ่ง และจิตขณะนี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง ความสุขทุกข์ดีชั่วทั้งหลายก็ดี จิตที่เกิดทางทวารทั้งหลายก็ดี เมื่อเกิดแล้วในที่สุดก็ต้องดับไปทั้งสิ้น


7. ขยายความเรื่องการตามรู้จิตกับการรู้แจ้งอริยสัจจ์
บทความนี้ได้กล่าวถึงการตามรู้จิตกับการรู้แจ้งอริยสัจจ์ไว้หลายแห่ง จึงขอขยายความเพิ่มเติมสักเล็กน้อยดังนี้
7.1 การตามรู้จิตเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า การตามรู้จิตหรือการดูจิตเป็นสิ่งที่หลวงปู่ดูลย์ท่านนำมาสอนบ่อยครั้งก็จริง แต่ความจริงก็คือคำสอนของพระพุทธเจ้า ได้แก่ การเจริญสติปัฏฐานที่เริ่มต้นปฏิบัติโดยใช้อารมณ์ในฝ่ายนามธรรม หลักของการตามรู้จิตจึงเป็นอันเดียวกับหลักของการเจริญสติปัฏฐานที่เป็นวิปัสสนา จะผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากกันไม่ได้เลย เช่น จะต้องรู้ให้ถึงสภาวะของนามธรรม ได้แก่ จิตซึ่งเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ และเจตสิกหรือธรรมที่ประกอบจิต เช่นความรู้สึกสุขทุกข์ (เวทนา) และความรู้สึกโลภโกรธหลง (สังขาร) เป็นต้น
บางท่านอาจจะสงสัยว่า ในเมื่อจิตเป็นผู้รู้อารมณ์ ก็แล้วใครกันเป็นผู้รู้จิต คำตอบก็คือจิตนั่นแหละเป็นผู้รู้จิต เพราะจิตเป็นสิ่งหนึ่งในธัมมารมณ์หรือสิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ (จิต) หลวงปู่ดูลย์ท่านจึงสอนว่า "จิตเห็นจิต"
ปัญหาประการต่อมาก็คือ ในเมื่อจิตเป็นผู้ไปรู้อารมณ์อื่นอยู่แล้ว เช่นไปรู้รูปที่ปรากฏทางตา หรือไปรู้ความโกรธที่ปรากฏทางใจ แล้ว จิตจะรู้จิตพร้อมกันได้อย่างไร ในเมื่อจิตย่อมรู้อารมณ์ได้เพียงครั้งละอย่างเดียว คำตอบก็คือเมื่อจิตดวงหนึ่งรู้อารมณ์เช่นรูปบางอย่างหรือความรู้สึกต่างๆ แล้วจิตดวงนั้นก็ดับไป แล้วจึงมีจิตอีกดวงหนึ่งตามรู้จิตดวงแรกอย่างกระชั้นชิดโดยไม่มีอารมณ์อย่างอื่นมาคั่น ไม่ใช่มีจิตดวงเดียวไปรู้อารมณ์อื่นๆ พร้อมๆ กับการรู้จิต นี้เองคือการตามรู้จิต
ลองอ่านเรื่อง "การเจริญสติปัฏฐาน" ในหนังสือเล่มนี้ และทบทวนข้อ 5 ของบทความนี้เรื่อง "วิธีการตามรู้จิต" เพื่อทราบถึงความ สอดคล้องกันของทั้ง 2 เรื่องนี้
7.2 การตามรู้จิตมีกี่วิธีกันแน่ ผู้ศึกษาคำสอนเกี่ยวกับการตามรู้จิต อาจจะเกิดความสงสัยอย่างที่ผู้เขียนเคยสงสัยมาแล้วว่า (1) ควรตามรู้เข้าไปให้ถึงจิตโดยตรง โดยไม่ต้องสนใจกับความปรุงแต่งของจิตเช่นความรู้สึกสุขทุกข์ดีชั่วทั้งหลาย หากความปรุงแต่งเหล่านั้นเกิดขึ้น ก็ให้สลัดทิ้งไปเลยแล้วย้อนกลับมาดูจิต หรือ (2) ควรจะรู้ความปรุงแต่ง ของจิตจนดับไป แล้วให้จิตย้อนกลับมาดูจิตเองโดยไม่ต้องตั้งใจ
ที่ผู้เขียนเคยสงสัยเรื่องนี้ก็เพราะหลวงปู่ดูลย์ท่านสอนเสมอๆ ว่าให้ดูจิต ท่านไม่ได้สอนให้ดูความปรุงแต่งของจิตหรือจิตสังขาร ในขณะที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ตามรู้เวทนาบ้าง ตามรู้จิตที่เป็นกุศลและอกุศลบ้าง และตามรู้ธัมมารมณ์ที่เป็นนามธรรมเช่นนิวรณ์และโพชฌงค์บ้าง แสดงว่าพระองค์ท่านไม่ได้ทรงสอนว่าให้ดูจิตอย่างเดียว แต่ผู้เขียนก็ไม่เชื่อว่าหลวงปู่จะสอนธรรมขัดกับพระพุทธเจ้า เพราะหลวงปู่เป็นสาวกผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของพระพุทธเจ้า
ในเวลาลงมือปฏิบัติจริงผู้เขียนก็ลงมือดูจิตตามคำสอนของหลวงปู่ แต่สิ่งที่ดูได้จริงในเบื้องแรกกลับเป็นความรู้สึกสุขทุกข์และกุศลอกุศลต่างๆ อันเป็นจิตสังขารไม่ใช่จิต ซึ่งก็ตรงกับคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะสิ่งเหล่านี้ดูได้ง่ายกว่าจิตซึ่งเป็นอะไรอยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบ ได้เพียร ตามรู้ไปจนสามารถแยกได้ว่าอันไหนจิต(ผู้รู้)อันไหนอารมณ์ที่ถูกรู้แล้วตามรู้อารมณ์จนจิตวางอารมณ์รูปนามอื่นเข้ามารู้จิต (ใจ) ต่อมาเมื่อปฏิบัติชำนาญขึ้น พอจิตไหวตัวจะออกไปรู้ความปรุงแต่ง จิตก็รู้ทันจิตแล้วความปรุงแต่งก็หยุดลงเพียงนั้น ปฏิบัติถึงตรงนี้จึงทราบว่าที่หลวงปู่สอนให้ดูจิตก็ถูกของท่านเช่นกัน เพราะถ้าจะรอดูจิตสังขารก็ต้องปล่อยให้จิตหลงปรุงแต่งไปช่วงหนึ่งแล้ว การปรุงแต่งหรือการทำกรรมทางใจก็คือภพ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ภพแม้เพียงเล็กน้อยก็ไม่น่าปรารถนาเลย
จึงได้ทราบว่าวิธีการปฏิบัติ 2 อย่างนี้ต่างกันโดยเทศนาโวหารคือ ลีลาการสั่งสอนของครูบาอาจารย์ แต่วิธีการปฏิบัติที่ผู้ปฏิบัติจะทำได้จริงมีอันเดียวตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ คือการตามรู้ทุกข์ (รูปนาม/กายใจ)จนปล่อยวางได้ แต่ที่ครูบาอาจารย์ท่านเน้นให้รู้จิต ก็เพราะพวกเรามักชอบหลงจิตสังขารจนลืมจิต เช่น (1) ละเลยที่จะมีสติตามรู้การเริ่มทำงานของจิต จนกว่าจิตจะส่งในเข้าไปปรุงแต่งจิตสังขารขึ้นมาเสียก่อน แล้วจึงจะมีสติไปตามรู้จิตสังขาร (2) พอพบจิตสังขารก็เกาะติด ตามรู้ด้วยใจจดจ่อว่ามันจะเป็นอย่างไรต่อไป บางทีก็ตามจนถลำลึกเข้าไปภายใน หรือรอดูว่าเมื่อไรมันจะดับสักที หรือเกิดการทำงาน ทางใจอื่นๆ อีกมากมายเพื่อจะจัดการกับจิตสังขาร เช่นการเพ่ง การกำหนด และการหาทางละ เป็นต้น เหล่านี้เป็นการกระทำด้วยความหลงผิด อันเป็นการก่อภพ (การทำกรรมทางใจ) ด้วยอำนาจของตัณหา คือความอยากจะปฏิบัติธรรม
เมื่อครูบาอาจารย์เน้นให้รู้จิต เราผู้เป็นศิษย์จะได้เกิดความเฉลียวใจ ไม่หลงจิตสังขารจนลืมจิต ที่ท่านสอนให้สลัดความปรุงแต่งทิ้งไปโดยไม่ต้องตามดูความปรุงแต่ง ก็เพื่อประโยชน์ตรงนี้เอง พวกเราอย่าได้พยายามละความปรุงแต่งโดยจงใจเพื่อเข้ามารู้จิตโดยตรง เพราะผู้ฝึกใหม่จะทำได้เพียงแค่การแสวงหาจิต และการเพ่งจิตเท่านั้นเอง ไม่ใช่การรู้จิตอย่างถูกต้อง หลวงปู่จึงสอนไว้นักหนาว่า "อย่าใช้จิตแสวงหาจิต" เพียงไม่หลงจิตสังขาร ก็จะเข้ามารู้จิตได้เอง

7.3 ความรู้สึกตัวกับการปฏิบัติเพื่อเห็นแจ้งอริยสัจจ์
ธรรมดาจิตของปุถุชนย่อมหลงจมแช่และวุ่นวายอยู่กับกายและใจอันเป็นกองทุกข์มาแต่ไหนแต่ไร จนชินกับความทุกข์และดูความทุกข์ไม่ออก แต่หากจิตเคยพ้นออกจากกองทุกข์แม้เพียงชั่วคราว แล้วเกิดย้อนหลง/ไหล ส่งนอกส่งในเข้าไปในกองทุกข์อีกครั้งหนึ่ง ย่อมจะเห็นทุกข์ได้ชัดเจนถึงอกถึงใจทีเดียว
การปฏิบัติธรรมเพื่อให้จิตหลุดพ้นจากกองทุกข์หรือพ้นจากความปรุงแต่งอันวุ่นวายทางใจชั่วคราวเรียกว่า จิตสิกขาซึ่งเป็นหนึ่งในไตรสิกขาอันประกอบด้วยศีลสิกขา จิตสิกขา และปัญญาสิกขา
จิตที่พ้นจากกองทุกข์ชั่วคราวก็คือจิตที่มีสัมมาสมาธิคือมีความตั้งมั่นไม่หลงส่งนอกส่งใน มีสติ มีสัมปชัญญะ พูดง่ายๆ ก็คือจิตมีความรู้สึกตัว เมื่อผู้ปฏิบัติคุ้นเคยกับจิตชนิดนี้แล้ว ต่อมาเมื่อจิตเคลื่อนส่งนอกส่งในเข้าไปอีก จิตจะเห็นความทุกข์อันเกิดจากความปรุงแต่งซึ่ง เป็นภาระอันหนักอึ้ง และรู้สึกได้ถึงความทุกข์เพราะการขาดอิสรภาพ ได้อย่างชัดเจนยิ่งกว่าที่เคยรู้สึกมาตลอดชีวิต
วิธีทำให้จิตพ้นจากกองทุกข์ชั่วคราวมี 2 วิธีคือ
7.3.1 การทำสมถกรรมฐานให้จิตตั้งมั่น มีปีติ มีความสุข มีอุเบกขา พ้นจากความทุกข์หยาบๆ ทางใจชั่วคราว ต่อมาเมื่อออกจากความสงบ จิตเริ่มทำงานมากขึ้น (เมื่อทำความสงบจิตทำงานทางมโนทวารอย่างเดียวและรู้อารมณ์อันเดียว เมื่อออกจากความสงบจิตต้องกระทบอารมณ์ทั้ง 6 ทวาร จิตจึงเกิดการทำกรรมต่างๆ นานามากมาย ผู้ปฏิบัติจะเห็นได้ชัดเจนว่า การที่จิตมีความอยากและเกิดการดิ้นรนทำกรรมไปตามความอยากนั้น เป็นเหตุให้จิตหมดอิสระฟุ้งซ่านวุ่นวาย หนัก แน่น เป็นทุกข์ การทำสมถกรรมฐานจึงช่วยให้เห็นทุกข์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ก็มีจุดอ่อนคือจิตจะไปติดอกติดใจความสงบจากการทำสมถะ ยากที่จะเห็นว่าความสงบนั้นก็ยังเป็นความปรุงแต่งในขั้นละเอียดหรือเป็นทุกข์อีกอย่างหนึ่ง เว้นแต่ว่าพอจิตถอนออกจากความสงบจะมีสติตามระลึกรู้ถึงองค์ฌานที่เพิ่งดับไปสดๆ ร้อนๆ จนเห็นว่ากระทั่งความสงบสุขเหล่านั้นก็เป็นของแปรปรวนเอาเป็นที่พึ่งถาวรไม่ได้ จิตจึงจะไม่ติดสมถะ และเกิดปัญญาเห็นว่า ไม่ว่าภพหรือการทำกรรมใดๆ ของจิตก็เป็นทุกข์ทั้งสิ้น
7.3.2 การมีความรู้สึกตัวขึ้นมา ด้วยการมีสติรู้ทันความไม่ตั้งมั่นของจิต (โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการจิตส่งใน) จิตที่รู้สึกตัวจะพ้นจากความทุกข์ทางใจได้ชั่วขณะ ต่อมาเมื่อจิตเคลื่อนส่งนอกส่งใน ผู้ปฏิบัติจะเห็นความทุกข์ได้อย่างชัดเจนเช่นกัน วิธีนี้มีข้อดีคือแม้แต่จิตจะส่งในเข้าไปหาความสงบสุขด้วยความอยากจะทำสมถะ ผู้ปฏิบัติก็จะสามารถรู้ทันได้ง่าย และเห็นทุกข์เพราะการทำกรรม (ฐาน) ของจิต การปฏิบัติในแนวทางนี้จึงไม่เสี่ยงกับการติดสมถะ
สรุปแล้วการปฏิบัติธรรมเริ่มต้นได้ 2 แนวทาง ทางหนึ่งของสมถยานิกคือทำสมถะจนจิตดิ่งรวมสงบลงถึงฌานก่อน แล้วค่อยเจริญสติเจริญปัญญาในภายหลัง อีกทางหนึ่งของวิปัสสนายานิกคือมีความรู้สึกตัวแล้วตามรู้กายตามรู้ใจไปได้เลย ทั้ง 2 แนวทางนี้เมื่อปฏิบัติไปเต็มที่แล้วก็จะเห็นอริยสัจจ์ได้เช่นเดียวกัน คือจะรู้ว่าความทุกข์คืออะไร เกิดได้อย่างไร และพ้นไปได้อย่างไร
พวกเราส่วนใหญ่ทำฌานไม่ได้จริงเว้นแต่จะทิ้งโลกแล้วฝึกกันหนักอย่างพระป่า หรือมีบุญบารมีเก่าเคยสะสมมาเป็นการเฉพาะตัว ส่วนใหญ่ที่ทำสมถะกันในเวลานี้ ก็มักจะเป็นแค่การทำความสงบเพียงเล็กน้อย แล้วเคลิบเคลิ้มลืมตัวหรือออกเห็นโน่นเห็นนี่หรือเกิดปีติเล็กน้อยเช่นรู้สึกตัวใหญ่ตัวหนักตัวโคลง ฯลฯ ซึ่งไม่ใช่ฌานที่แท้จริง แต่เป็นมิจฉาสมาธิที่ประกอบด้วยโมหะและโลภะเป็นส่วนมาก ดังนั้นในความเป็นจริงแล้วเราจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการมีความรู้สึกตัวขึ้นมา ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากนักหากเรากล้าพอที่จะสลัดความคิดนึกปรุงแต่งและพฤติกรรมทางใจทั้งปวง แม้กระทั่งสิ่งที่เรียกว่า "การปฏิบัติธรรม" ออกไป แล้วมีสติระลึกรู้สภาวะของจิตใจที่หลงส่งนอกส่งในเข้าไปตรงๆ ง่ายๆ และธรรมดาๆ เพียงเท่านี้ความรู้สึกตัวก็จะเกิดขึ้นในทันที ความรู้สึกตัวเมื่อจิตไม่ส่งนอกไม่ส่งในนั่นแหละ เป็นเงื่อนไขสำคัญของการเจริญปัญญา อันจะเป็นเครื่องนำเราไปสู่ความบริสุทธิ์และความพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง แต่ถ้าจิตไม่ถอดถอนตนเองออกจากการส่งนอกและส่งใน และเกิดเป็นจิตที่รู้สึกตัว ตั้งมั่น และเป็นกลางต่ออารมณ์ทั้งปวงแล้ว จิตจะเห็นทุกข์ อันเป็นเครื่องละสมุทัยและทำนิโรธให้แจ้ง ได้ไม่ชัดเจนเลย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2008, 13:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


7.4 การตามรู้จิตกับการรู้แจ้งอริยสัจจ์ การตามรู้จิตทำให้จิตรู้เท่าทันความรู้สึกและพฤติของจิต และสามารถถอดถอนตนเองออกจากโลกของความปรุงแต่งภายใน มาสู่โลกของความรู้สึกตัวได้ ต่อมาเมื่อจิตเกิดความอยาก (ตัณหา) ในอารมณ์ทางทวารทั้ง 6 ผู้ปฏิบัติก็จะรู้ทันความอยากนั้นด้วยสติและไม่ถูกความอยากครอบงำ ก็จะไม่เกิด พฤติกรรมทางใจอันเป็นภาระต่อไป แต่ถ้าจิตถูกความอยากครอบงำ จิตจะเริ่มส่งในและเกิดพฤติกรรมทางใจขึ้นก่อน (แล้วอาจเกิดพฤติกรรม ทางกายและวาจาตามมา) เพื่อพยายามตอบสนองความอยากนั้น ผู้ปฏิบัติที่ตามรู้จิตอยู่เนืองๆ จะสังเกตพบว่า พฤติกรรมทางใจหรือการคิดนึกปรุงแต่งทางใจเรื่องนั้นเรื่องนี้ที่ไม่มีวันจบสิ้นนั้นเอง เป็นภาระหนัก และจิตที่มีภาระย่อมมีความเครียด ความหนัก หรือความทุกข์เกิดขึ้น
เมื่อมีพฤติกรรมทางใจ (และทางกาย ทางวาจาแล้ว) หากจิตยังไม่ได้รับอารมณ์ที่สมอยาก จิตก็ทุรนทุรายเพราะความอยากได้บ้าง เพราะกลัวจะไม่ได้บ้าง เมื่อได้อารมณ์ที่ต้องการมาแล้วก็กลัวจะสูญเสียไป และถ้าไปได้อารมณ์ที่ไม่ต้องการก็เกิดความทุกข์อีก นี้เป็นกระบวน การเกิดความทุกข์ซ้อนทุกข์ กล่าวคือการที่จิตต้องดิ้นรนทำกรรมทางใจด้วยความอยากก็เป็นทุกข์อยู่ชั้นหนึ่งแล้ว(คล้ายกับคนที่ต้องทำงานหนัก) และความไม่สมอยากก็ทำให้จิตเป็นทุกข์เพิ่มขึ้นอีกชั้นหนึ่ง(คล้ายกับคนที่อุตส่าห์ทำงานแทบตายแล้วได้ผลตอบแทนที่ไม่น่าพอใจ)
เมื่อตามรู้จิตมากเข้าก็จะพบทุกข์เพิ่มขึ้นอีกชนิดหนึ่ง คือพบว่ามีจิตก็ทุกข์เพราะจิต (สมดังคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า "มีสิ่งใดก็ทุกข์เพราะสิ่งนั้น" เช่นมีโคก็ทุกข์เพราะโค มีนาก็ทุกข์เพราะนา เป็นต้น) ตราบใดยังยึดว่าจิตเป็นตัวเรา ก็ยังต้องรักต้องหวงแหนจิต ก็ยังต้องทำกรรมเพื่อแสวงหาความสุขหรือหนีความทุกข์ต่อไปอีก ภาระในการตอบสนองความต้องการของจิตจึงไม่มีที่สิ้นสุด เพราะตัวจิตเองก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็อยากนั่นเดี๋ยวก็อยากนี่ อยากได้สิ่งนี้เมื่อได้มาแล้วไม่นาน ก็เบื่อ เกิดไปอยากได้อารมณ์อื่นอีก ตัวอารมณ์เองก็ไม่เที่ยง เช่นอุตส่าห์ ดิ้นรนหาอารมณ์ที่ดีๆ มาให้จิตแล้ว ไม่นานอารมณ์นั้นก็แปรปรวนเปลี่ยนไปอีก ก็เกิดภาระให้ต้องแสวงหาอารมณ์มาปรนเปรอให้จิตต่อไปอีก ดังนั้นตราบใดที่ยังยึดว่าจิตเป็นเราหรือเรามีจิต ยังรักยังหวงแหนจิต ตราบนั้นภาระรุงรังทางใจจะไม่มีวันจบสิ้นได้เลย เมื่อเห็นเช่นนี้แล้วจิตก็ปล่อยวางจิต ความอยากแสวงหาอารมณ์ทั้งหลายเพื่อสนองความพอใจของจิตก็จะดับไป การดิ้นรนแส่ส่ายทำกรรมทางใจก็จะหมดไป ภาระของจิตก็หมดไป เรียกว่าจิตหมดภาระหรือจิตเสร็จงาน นี้คือนิโรธหรือความสิ้นทุกข์ทางใจเพราะสิ้นตัณหา และนี้คือสิ่งที่พ่อแม่ครูอาจารย์ พระป่าท่านกล่าวอยู่เสมอว่า "รู้ทุกข์ก็เป็นอันละสมุทัย"
(ถ้าจะกล่าวโดยเปรียบเทียบก็กล่าวได้ว่า จิตนี้เหมือนลูกหัวแก้ว หัวแหวนของพ่อแม่ พ่อแม่อยากให้ลูกมีความสุข ก็พยายามทำงานทุกอย่างเพื่อหาสิ่งที่ดีๆ ให้กับลูก ก่อความเหน็ดเหนื่อยทุกข์ยากอย่างยิ่ง ต่อมาได้สังเกตพบว่าลูกรักนั้นหาความดีไม่ได้เลย มีแต่สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้พ่อแม่อยู่เสมอ พ่อแม่ต้องเป็นทุกข์ซ้ำซ้อน คือทุกข์เพราะต้องทำงานหนักเพื่อหาสิ่งดีๆ ให้ลูก และทุกข์เพราะลูกก่อความเดือดร้อนมาให้ เมื่อเห็นเช่นนี้มากเข้าก็เกิดปัญญารู้รวบยอดว่า มีลูกก็ทุกข์เพราะลูก ความรักก็ถดถอยลง ความปล่อยวางก็เกิดขึ้นเกิดการ "ตัดหางปล่อยวัด"
ต่อแต่นั้นไปพ่อแม่ก็ไม่ต้องเหนื่อยยากเกินจำเป็น ในการดิ้นรนทำงานเพื่อหาสิ่งที่ดีมาให้ลูก และลูกจะดีหรือเลว จะสุขหรือทุกข์ก็เป็นเรื่องของลูกเอง นี้เป็นที่สุดแห่งทุกข์ในเรื่องลูกของผู้เป็นพ่อแม่)
เมื่ออ่านเรื่องการตามรู้จิตแล้วก็อยากชวนเพื่อนๆ มาลองปฏิบัติดู หลวงปู่ดูลย์ อตุโลสอนว่า "การปฏิบัติธรรมไม่ใช่เรื่องยาก จะยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติเท่านั้น" ขอเชิญเพื่อนนักปฏิบัติมาลองพิสูจน์คำสอนของท่าน เผื่อจะมีพยานยืนยันคำสอนของท่านเพิ่มขึ้นอีกสักหลายๆ คน


4. จุดอ่อนของนักปฏิบัติธรรม 10 ประการ
การปฏิบัติธรรมหรือการดำเนินมรรคปฏิปทา เปรียบเหมือนการเดินทางไกลไปสู่ดินแดนที่นักสำรวจและนักเดินทางในอดีต (คือพระพุทธเจ้าและพระอริยสาวก) ทรงค้นพบและดำเนินล่วงหน้าไปก่อนแล้ว แต่เรายังไม่เคยไปยังดินแดนนั้นด้วยตนเอง ก่อนการเดินทางเราจึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อม ด้วยการศึกษาเส้นทางและเรียนรู้ถึงสิ่งที่จะเป็นอันตรายในระหว่างทาง ตามคำบอกเล่าของท่านผู้ประเสริฐ เหล่านั้น รวมทั้งพัฒนาศักยภาพและป้องกันแก้ไขจุดอ่อนของตนเองให้ดีเสียก่อน เพื่อการเดินทางจะได้สะดวก ราบรื่น ปลอดภัย และถึงที่หมายโดยเร็ว บทความเรื่องนี้จึงจะกล่าวถึงจุดอ่อนที่พบบ่อยในหมู่เพื่อนนักปฏิบัติ และการเตรียมความพร้อมก่อนลงมือปฏิบัติธรรม เพื่อการปฏิบัติธรรมจะได้ประสบผลสำเร็จสมตามความมุ่งหมายโดยเร็ว
จุดอ่อนที่พบบ่อยในหมู่นักปฏิบัติมี 10 ประการ ดังนี้คือ
1. การไม่ศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ดี นักปฏิบัติส่วนมาก ไม่ค่อยใส่ใจศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า พูดง่ายๆ ก็คือไม่สนใจพระ ปริยัติธรรม พอนึกอยากปฏิบัติธรรมก็มักจะกระทำกันใน 2 ลักษณะคือ
1.1 การลงมือปฏิบัติธรรมไปตามความรู้ความเข้าใจที่คิดเอาเอง แล้วเกิดพฤติกรรมสำคัญ 2 กลุ่มคือ กลุ่มแรกลงมือนั่งสมาธิเพื่อเพ่งจ้องบังคับจิตใจให้สงบ เพราะคิดว่าการปฏิบัติธรรมก็คือการนั่งสมาธิ อีกกลุ่มหนึ่งคือพวกนักคิด ก็จะลงมือคิดพิจารณาธรรมะเอาเองโดยอัตโนมัติ หรือหาหนังสือธรรมะมาอ่านแล้วก็คิดๆ เอา เช่นคิดถึงความไม่มีตัวตนและความว่าง เป็นต้น ทั้งที่การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนานั้น จะหยุดอยู่ในขั้นของการคิดหรือการใช้จินตามยปัญญาไม่ได้
1.2 การแสวงหาอาจารย์ ซึ่งก็พอจะแบ่งตามพฤติกรรมได้ 2 กลุ่มคือ กลุ่มแรกเข้าไปปฏิบัติธรรมในสำนักใดสำนักหนึ่งที่คิดหรือได้ยินว่า "น่าจะดี" ทั้งที่ตนเองก็ไม่มีความรู้ความเข้าใจพอที่จะแยกแยะ ได้ว่า คำสอนใดดีจริงเพราะสอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือ คำสอนใดเป็นสิ่งที่อาจารย์คิดขึ้นเองซึ่งอาจจะขัดกับคำสอนของพระ พุทธเจ้าก็ได้ การเลือกสำนักอาจารย์จึงกลายเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงตามบุญตามกรรม คือหากกุศลวิบากให้ผลก็ได้พบอาจารย์ดี หากอกุศลวิบากให้ผลก็ได้พบอาจารย์ผิด ต้องเสียเวลาบ้าง เสียทรัพย์สินเงินทองบ้าง เสียสุขภาพและเสียสติบ้าง อีกกลุ่มหนึ่งคือพวกที่เข้าสำนักนั้นออกสำนักนี้ไปเรื่อยๆ เพราะแยกแยะไม่ออกว่า คำสอนของแต่ละสำนักแตกต่างกันอย่างไร จึงคิดว่าที่ไหนๆ ก็ดีเหมือนกันทั้งนั้น ถ้าได้ฟังธรรมหลายแห่ง เผื่อจะเกิดความรู้ความเข้าใจธรรมะขึ้นมาบ้าง คนกลุ่มนี้ยากที่จะปฏิบัติธรรมได้จริง เพราะวันหนึ่งหัดบริกรรมพุทโธ อีกวันหนึ่งหัดกำหนดลมหายใจ อีกวันหนึ่งหัดกำหนดพองยุบ อีกวันหนึ่งหัดกำหนดรูปนามในอิริยาบถ 4 เป็นต้น รวมความแล้วก็คือ แม้จะพบอาจารย์ที่ดีก็ไม่สามารถเข้าถึงแก่นธรรมได้เลยเพราะความจับจดในการศึกษาปฏิบัติธรรม
เพื่อป้องกันจุดอ่อนในเรื่องนี้ เราควรศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมให้ชัดเจน ถึงจะไม่ศึกษามาก อย่างน้อยที่สุดก็ควรศึกษาเรื่องเกี่ยวกับ กิจในอริยสัจจ์ และ มหาสติปัฏฐาน แต่ก็ต้องระวังอย่าไปยึดถือตำราที่แต่งเติมกันขึ้นในชั้นหลังมากนักก็แล้วกัน เพราะอาจจะพาฟั่นเฝือเข้ารกเข้าพงมากยิ่งขึ้นก็เป็นได้


1. การไม่ศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ดี(ดังได้นำเสนอไปเมื่อสัปดาห์ก่อน)
2. การติดใจในกามคุณอารมณ์ พูดง่ายๆ ก็คือการติดในความสุขสนุกสนานเพลิดเพลินต่างๆในทางโลก ได้แก่ ความเพลิดเพลินพอใจในความสุขจากการได้เห็นรูปสวย ได้ยินเสียงเพราะ ได้ดมกลิ่นหอม ได้ลิ้มรสอร่อย และได้รับสิ่งสัมผัสทางกายที่ดี ทำให้ขาดความตั้งใจจริง หรือเกิดความท้อถอยที่จะปฏิบัติธรรม คล้ายกับคนที่อยากเดินทางไกลด้วย แต่ก็เสียดายความสุขสบายเมื่ออยู่บ้านด้วย กลัวว่าถ้าต้องเดินทางแล้วจะได้รับความลำบาก ดังนั้นพอออกเดินทางไปได้เพียงเล็กน้อยก็มักย่อท้อถอยหลังกลับ
ด้วยเหตุนี้เองครูบาอาจารย์บางท่าน จึงมีปณิธานที่จะอบรมสั่งสอนบรรพชิตผู้ประพฤติพรหมจรรย์เป็นพิเศษ เพราะเห็นว่าเป็นผู้สละความเพลิดเพลินในกามคุณอารมณ์ออกมาแล้ว แต่ในความเป็นจริงท่านก็ไม่ได้รังเกียจฆราวาส เพราะฆราวาสก็สามารถปฏิบัติธรรมได้ (ที่ปฏิบัติจนถึงขั้นสำเร็จเป็นพระอรหันต์ก็มีหลายท่าน เช่นยสกุลบุตร พาหิยทารุจีริยะ และพระเจ้าสุทโธทนะ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ฆราวาสผู้นั้นก็ต้องมีบารมี คือเคยฝึกฝนจิตใจจนไม่หลงใหลในกามคุณอารมณ์จนลืม ธรรมะ) อย่างไรก็ตามการจะให้ฆราวาสศึกษาปฏิบัติธรรมจนถึงความบริสุทธิ์หมดจดบริบูรณ์อย่างบรรพชิตนั้นยากเต็มที เพราะวิถีชีวิตไม่เอื้ออำนวยให้ใช้ความเพียรได้เต็มที่นัก ในขณะที่เพศบรรพชิตมีภาระรุงรังน้อยกว่า นี่คือเหตุผลความจำเป็นอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ชาวพุทธควรรักษาสืบทอดการบรรพชาอุปสมบทเอาไว้ อย่าปล่อยให้สมณวงศ์ขาดสูญ เพราะจะเป็นความสูญเสียโอกาสในการปฏิบัติธรรมของผู้ต้องการความหลุดพ้น ซึ่งก็คือความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่อย่างหนึ่งของมนุษยชาติทีเดียว
เพื่อป้องกันแก้ไขจุดอ่อนในเรื่องการติดใจในกามคุณอารมณ์ ผู้ปฏิบัติควรศึกษาหลักการเจริญสติให้ดีเสียก่อนที่จะลงมือปฏิบัติ จะได้ไม่ประสบความยากลำบากมากนัก ถ้าเมื่อใดสามารถเจริญสติได้ถูกต้อง เมื่อนั้นผู้ปฏิบัติจะพบเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน คือทันทีที่มีสติ จิตจะเกิดโสมนัสเวทนาคือความสุขทางใจบ้าง เกิดอุเบกขาเวทนาคือความรู้สึกเป็นกลางและมีความสงบมั่นคงทางใจบ้าง ความสุขอันแสนประณีตนี้เอง จะทดแทนกามสุขซึ่งกลายเป็นของหยาบๆ ในความรู้สึกไปทันที จิตจะค่อยคลายออกจากความผูกพันในกามคุณอารมณ์ โดยไม่ต้องบังคับกดข่ม คล้ายกับเราสามารถทิ้งกระดูกไก่ที่มีอยู่เดิมไปได้อย่างไม่เสียดาย เมื่อมีอาหารใหม่ที่สะอาดและอร่อยกว่ามาทดแทนอย่างเหลือเฟือ
ความจริงยังมีวิธีการปฏิบัติอย่างอื่นอีกที่จะแก้ปัญหาความติดใจในกามคุณอารมณ์ได้ เช่นการฝึกสมาธิ แต่ผู้เขียนไม่ได้แนะนำเรื่องนี้ เพราะการฝึกสมาธิเหมือนดาบสองคม ถึงมีคุณก็มีอันตรายหลายอย่าง เช่นถ้าฝึกพลาดก็อาจจะวิกลจริต หรือเกิดมิจฉาทิฏฐิ หรือไปติดสุขในสมาธิ เป็นต้น ต่างจากการฝึกเจริญสติ ซึ่งได้รับความสุขด้วย และเป็น ต้นทางของการเจริญวิปัสสนาได้ด้วย อย่างไรก็ตามท่านใดสนใจจะฝึกสมาธิก็ขออนุโมทนาด้วย เพราะถ้ามีครูบาอาจารย์ที่ดีคอยดูแลให้ ก็สามารถก้าวหน้าในทางธรรมได้เช่นกัน

1. การไม่ศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ดี
2. การติดใจในกามคุณอารมณ์(ดังได้นำเสนอไปเมื่อสัปดาห์ก่อน)
จุดอ่อนประการที่ 3 คือการชอบคลุกคลีกับหมู่คณะ เช่นการชอบพูดคุย หรือห่วงคนนั้นห่วงคนนี้จนลืมห่วงตนเอง แม้กระทั่งความห่วงใยในกิจกรรมของส่วนรวม เมื่อสนใจหรือห่วงคนอื่น/สิ่งอื่น ก็เป็นเหตุให้จิตใจฟุ้งซ่าน ไม่ตั้งมั่นและเด็ดเดี่ยวในการปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติเฉพาะตัว คือต้องใช้เวลาในการตามรู้กายและตามรู้ใจของตนเองค่อนข้างสูง การคลุกคลีกับหมู่คณะนั้นมีความหมายกว้าง แม้กระทั่งการสนทนาธรรม (ทั้งต่อหน้า ทางโทรศัพท์ และทาง Internet) แบบไม่รู้จักกาลเทศะ ก็จัดเป็นการคลุกคลี เพราะจะทำให้จิตฟุ้งซ่าน และเกิดกิเลสหยาบๆ ได้ง่าย
เพื่อป้องกันจุดอ่อนในเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนอยู่เสมอว่าไม่ควรคลุกคลีกับหมู่คณะ ไม่ติดตระกูล และให้สำรวมอินทรีย์ เป็นต้น
จุดอ่อนประการที่ 4ได้แก่ ความเกียจคร้านและการผลัดวันประกันพรุ่ง เพื่อนนักปฏิบัติจำนวนมากอยากบรรลุมรรคผลนิพพานไวๆ แต่เกียจคร้านที่จะปฏิบัติธรรม หรือบางท่านห่วงงานทางโลก จะขอทำงาน ต่างๆ ให้เสร็จเสียก่อนจึงจะเริ่มลงมือปฏิบัติธรรม ทั้งที่ธรรมชาติของงานนั้นไม่มีวันเสร็จ ดังนั้น ถ้าไม่ลงมือเจริญสติไปทำงานไป จะรอให้ทำงานเสร็จเสียก่อนก็มักจะไม่มีโอกาสได้ปฏิบัติธรรมจนตลอดชีวิต แท้จริงแล้วในระหว่างการทำงานที่ไม่ต้องใช้ความคิดมากนัก ถ้าเข้าใจเรื่องการปฏิบัติธรรมก็สามารถปฏิบัติธรรมไปพร้อมกับการทำงานได้เลย
อุบายในการแก้ความเกียจคร้านเฉื่อยชามีหลายอย่าง เช่นการหมั่นไปพบครูบาอาจารย์เป็นครั้งคราว การข่มใจด้วยการตั้งใจมั่นว่า ขี้เกียจก็จะปฏิบัติ ขยันก็จะปฏิบัติ และการพิจารณามรณสติ เป็นต้น


การลงพรหมทัณฑ์ เช่น
เลิกอบรมสั่งสอน
คือมาตรการสุดท้าย
ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงใช้กับศิษย์
ผู้ไม่อดทนต่อคำสั่งสอน
ของครูบาอาจารย์

1. การไม่ศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ดี
2. การติดใจในกามคุณอารมณ์
3. การชอบคลุกคลีกับหมู่คณะ
4. ความเกียจคร้านและการผลัดวันประกันพรุ่ง
(ดังได้นำเสนอไปเมื่อสัปดาห์ก่อน)
จุดอ่อนประการที่ 5 ได้แก่ ความไม่อดทนต่อคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ นับตั้งแต่การไม่ทำในสิ่งที่ครูบาอาจารย์แนะนำให้ทำ ไม่เว้นในสิ่งที่ครูบาอาจารย์ให้เว้น หรือถือความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่ เช่นสั่งให้ทำสมถะก็จะทำวิปัสสนา สั่งให้ทำวิปัสสนาก็จะทำสมถะ สั่งให้ตามรู้กายก็จะตามรู้จิต สั่งให้ตามรู้จิตก็จะตามรู้กาย หรือดื้อรั้น ตีโพยตีพาย หรือโกรธเคืองครูบาอาจารย์ที่สั่งสอน เป็นเหตุให้ครูบาอาจารย์ท้อใจและทอดธุระที่จะอบรมสั่งสอน นับว่าเสียประโยชน์ของตนโดยแท้ แต่ทั้งนี้จุดอ่อนในข้อนี้หมายถึงการไม่อดทนต่อคำสั่งสอนของครูบา อาจารย์ที่สอนถูกต้องตามพระธรรมวินัยเท่านั้น หากครูบาอาจารย์สอนไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ก็ควรพิจารณาตนเองว่าเหตุใดจึงได้ครูบาอาจารย์เช่นนั้น แล้วอย่าทำผิดเช่นนั้นอีก
อุบายแก้ดื้อนั้นพวกเราควรคิดพิจารณาเอาเอง เพราะหากแก้ไขตนเองไม่ได้ และครูบาอาจารย์แก้ให้ไม่ไหว ครูบาอาจารย์ก็จำเป็นต้อง ใช้มาตรการสุดท้าย ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงสั่งท่านพระอานนท์ให้นำไปใช้กับท่านพระฉันนะจอมดื้อ คือการลงพรหมทัณฑ์ ได้แก่ การเลิกอบรมสั่งสอน
จุดอ่อนประการที่ 6 ได้แก่ การละเลยศีลสิกขา เรื่องนี้เพื่อนนักปฏิบัติบางท่านไม่เห็นความจำเป็นของการรักษาศีล มุ่งแต่จะทำสมาธิหรือเจริญปัญญา ซึ่งนับว่าเป็นการข้ามขั้นตอนของการปฏิบัติ คล้ายกับการสร้างอาคารบนพื้นที่ไม่แข็งแรงและไร้การวางฐานรากที่ดี สมาธิที่ไร้ศีลนั้นเสื่อมง่าย ส่วนปัญญาที่ไร้ศีลก็มักจะเป็นปัญญาจอมปลอมที่เป็นเครื่องมือของกิเลสมากกว่าจะเป็นเครื่องชำระกิเลส ดังนั้นถ้าเราต้องการปฏิบัติธรรมเพื่อให้ถึงมรรคผลนิพพานกันจริงๆ ก็ไม่ควรละเลย การรักษาศีล อย่างต่ำก็ต้องมีศีล 5 ประจำใจไว้ทุกวันๆ จึงจะนับได้ว่าเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เหมาะแก่การจะสร้างคุณงามความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
จุดอ่อนประการที่ 7ได้แก่ การละเลยจิตสิกขา คือไม่ใส่ใจจะศึกษาเรื่องการเตรียมจิตให้พร้อมสำหรับการเจริญวิปัสสนา จำแนกได้ 2 ลักษณะคือ กลุ่มแรกสนใจการทำสมาธิแต่หลงไปทำมิจฉาสมาธิ ประเภทมุ่งทำจิตให้สงบแบบลืมเนื้อลืมตัวบ้าง มุ่งจะเอาฤทธิ์เดชหรืออภิญญาบ้าง หรือมุ่งจะเที่ยวรู้เที่ยวเห็นสิ่งที่เหนือธรรมดาต่างๆ บ้าง อีกกลุ่มหนึ่งไม่สนใจการเตรียมความพร้อมของจิตเลย คือไม่สนใจเรื่องสัมมาสมาธิ จู่ๆ ก็เอาจิตที่ไม่มีคุณภาพไปกำหนดรู้กาย กำหนดรู้ใจ ลักษณะเช่นนี้มักเกิดขึ้นกับนักปฏิบัติที่อ่านมาก รู้มาก หรือคิดมาก จึงเห็นความสำคัญเฉพาะศีลสิกขาและ/หรือปัญญาสิกขาเท่านั้น แท้จริงก่อนการปฏิบัติธรรมในขั้นการเจริญสติเจริญปัญญา จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมของจิตหรือมีจิตสิกขาเสียก่อน จนกระทั่งจิตมีสัมมาสมาธิคือตั้งมั่น อ่อน ควรแก่การงาน ปราศจากกิเลสและอุปกิเลสนั่นแหละ จึงควรใชจิตชนิดนี้ไปเจริญสติเจริญปัญญา มิฉะนั้นแล้วจิตจะฟุ้งซ่านจับอารมณ์ปรมัตถ์ได้ไม่ชัดเจนบ้าง ไปหลงเพ่งอารมณ์ บัญญัติบ้าง ไปคิดถึงอารมณ์ปรมัตถ์บ้าง ถูกกิเลสครอบงำจนลืมการปฏิบัติบ้าง และที่สำคัญก็คือ ถ้าขาดสัมมาสมาธิจะรู้ทุกข์ได้ไม่ชัดเจนถึงอกถึงใจ จึงไม่สามารถปล่อยวางความยึดถือรูปนามได้
จิตสิกขาไม่ได้หมายความถึงการนั่งสมาธิหรือการทำฌานอย่างเดียว มีมากทีเดียวที่พวกเราทำสมาธิกันแล้วจิตไม่ตั้งมั่น แต่กลับถูกโมหะบ้าง ถูกราคะบ้างเข้าแทรก เรื่องจิตสิกขาเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเป็นการทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว เกิดความรู้สึกตัวหรือรู้เนื้อรู้ตัว แล้วรู้กายรู้ใจได้ ดังจะได้กล่าวต่อไปในหนังสือเล่มนี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2008, 13:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


1. การไม่ศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ดี
2. การติดใจในกามคุณอารมณ์
3. การชอบคลุกคลีกับหมู่คณะ
4. ความเกียจคร้านและการผลัดวันประกันพรุ่ง
5. ความไม่อดทนต่อคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์
6. การละเลยศีลสิกขา
7. การละเลยจิตสิกขา
(ดังได้นำเสนอไปเมื่อสัปดาห์ก่อน)
จุดอ่อนประการที่ 8 ได้แก่ ความอยากปฏิบัติธรรม นักปฏิบัติธรรมเกือบทั้งหมดเจริญสติปัฏฐานด้วยจิตที่ถูกตัณหาหรือความอยากจะปฏิบัติเข้าแทรก จึงเกิดการดิ้นรนทางจิตต่างๆ นานา เช่นเกิดการตั้งท่าหรือจงใจปฏิบัติ เกิดการแสวงหาอารมณ์ เกิดการเพ่งอารมณ์หรือจงใจกำหนดอารมณ์ คือส่งจิตเข้าไปเพ่งอารมณ์ภายในบ้าง ตรึงความรู้สึกไว้ที่กายบ้าง และเกิดการแทรกแซงจิตและอารมณ์ หรือคิดพิจารณาอารมณ์และธรรมอื่นๆ ด้วยจิตที่ฟุ้งซ่านบ้าง ทำให้จิตพลาดจากการรู้สภาวธรรมอย่างถูกต้อง
แท้จริงการเจริญสติปัฏฐานก็ไม่มีอะไรมากนักหรอก เพียงมีความรู้สึกตัว แล้วตามรู้กายหรือตามรู้ใจไปตามความเป็นจริงของกายหรือใจเท่านั้นเอง หากมีความรู้สึกตัวได้แล้ว ถึงไม่อยากจะรู้ ก็ต้องรู้กายหรือรู้ใจอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน
จุดอ่อนประการที่ 9ได้แก่ การคาดหวังผลของการปฏิบัติ โดยมุ่งความสำเร็จของการปฏิบัติด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา ประเภทอยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ในสิ่งที่ดีงามต่างๆ ทำให้จิตไม่ตั้งมั่นและฟุ้งซ่านวุ่นวาย ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว หากนักปฏิบัติท่านใด ตั้งเป้าหมายไว้เพียงการจะตามรู้กายตามรู้ใจ เพื่อรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง จะมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงกว่าผู้ที่ปฏิบัติด้วยความคาดหวังว่าจะได้ผลอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อนั้นเมื่อนี้ ซึ่งเมื่อไม่ได้ผลตามที่คาดหวังไว้ก็มักจะหมดกำลังใจที่จะปฏิบัติธรรมในเวลาอันรวดเร็ว
จุดอ่อนประการที่ 10ได้แก่ ความประมาท คือการละทิ้งการเจริญสติ หรือทิ้งความรู้สึกตัว และทอดทิ้งการตามรู้กายตามรู้ใจของตนเอง จะทอดทิ้งด้วยเหตุใดก็ตาม จัดว่าเป็นความประมาทได้ทั้งสิ้น บุคคลผู้ไม่มีความรู้สึกตัวก็เหมือนคนตายหรือคนนอนหลับ มีชีวิตอยู่ร้อยปีก็ไร้ความหมายเพราะมัวแต่อยู่ในโลกของความฝัน ไม่ได้อยู่ในโลกของความเป็นจริง สู้ผู้มีชีวิตเพียงวันเดียวซึ่งเจริญสติอยู่ด้วยความไม่ประมาทไม่ได้
วิธีการทำให้ความรู้สึกตัวเกิดบ่อยๆ ก็คือการเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในหนังสือเล่มนี้
เพื่อนนักปฏิบัติที่สามารถขจัดจุดอ่อนในตนเองได้มากเท่าใด ก็มีความพร้อมในการเจริญมรรคมากขึ้นเท่านั้น เปรียบเหมือนคนที่เตรียมตัวอย่างดีในการเดินทางไกล นับตั้งแต่การศึกษาแผนที่คือศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า หาผู้นำทางคือกัลยาณมิตรหรือครูบาอาจารย์ หาอุปกรณ์ที่จำเป็นคือศีลและสมาธิ เตรียมกายเตรียมใจให้พร้อมที่จะรับสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงด้วยความมีสติไม่ประมาท และมีใจเด็ดเดี่ยวไม่ห่วงหน้าพะวงหลัง บุคคลเช่นนี้มีโอกาสประสบความสำเร็จในการปฏิบัติธรรม คือสามารถพ้นทุกข์ ได้มากกว่าคนที่ลงมือปฏิบัติธรรมไปตามยถากรรม


บทความหลายเรื่องในหนังสือเล่มนี้ ได้เล่าถึงเส้นทางสายเอกของการเจริญวิปัสสนาที่พระพุทธเจ้าประทานไว้ให้กับพุทธสาวกทั้งหลาย แต่เส้นทางสายนี้มีทางแยกให้เราสับสนและเดินทางผิดอยู่เป็นระยะๆ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเราเอง การได้รู้เส้นทางที่ผิด จะช่วยให้การเดินทางตรงเป้าหมายยิ่งขึ้นและไม่เสียเวลามากนัก

1. จุดมุ่งหมายของการปฏิบัติธรรม
การเดินทางต้องมีจุดหมาย การปฏิบัติธรรมในทางพระพุทธศาสนาก็ต้องมีจุดมุ่งหมายเช่นกัน ซึ่งจุดมุ่งหมายในระยะยาวได้แก่ การพ้นจากการเวียนว่ายในสังสารวัฏ หรือพ้นจากการต้องเกิดมีขันธ์ 5 / รูปนาม / กายใจ อันเป็นกองทุกข์ (ลองพิจารณาดูเถิดว่าอะไรเป็นทุกข์ ถ้าไม่ใช่กายทุกข์ ก็ต้องใจทุกข์นั่นแหละ ดังนั้นถ้ายังมีกายมีใจ ก็ต้องมีทุกข์ร่ำไป) ส่วนจุดมุ่งหมายระยะสั้นได้แก่ การพ้นทุกข์ทางจิตใจอันเนื่องมาจากกิเลสตัณหาต่างๆ ที่คอยบีบคั้นจิตใจอยู่เกือบตลอดเวลา

ดังนั้นถ้านักปฏิบัติธรรมมุ่งไปสู่จุดหมายอื่น นอกเหนือจากการปฏิบัติเพื่อให้เกิดสติปัญญาลดละตัณหา เช่นมุ่งปฏิบัติเพื่อจะได้เกิด ในภพภูมิที่ดี นับตั้งแต่พรหมโลกลงมาจนถึงกามสุคติภูมิ คือสวรรค์ หรือมนุษย์ประเภทหล่อ/สวย รวย เก่ง และโชคดีตลอดกาล หรือปฏิบัติเพื่อแก้กรรม สะเดาะเคราะห์ ต่อชะตาชีวิต หรือเพื่อความมีโชคลาภและกามสุขต่างๆ ในชาติปัจจุบัน เหล่านี้ก็นับว่าหลงแยกออก นอกเส้นทางของพระพุทธศาสนาไปแล้ว

2. เป้าหมายแรกของการปฏิบัติธรรม
หากต้องการพ้นทุกข์ สิ่งที่ต้องทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าก็คือการรู้ทุกข์ ได้แก่ การตามรู้กายและตามรู้ใจของตนเนืองๆ จนเห็นความจริงว่ากายกับใจนี้เป็นสิ่งที่บังคับบัญชาไม่ได้ หรือไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง หากเห็นว่ากายกับใจไม่ใช่ตัวเราเมื่อใด ก็จัดว่าเป็นผู้เห็นธรรมเมื่อนั้น ครูบาอาจารย์วัดป่าจึงมักจะสอนอยู่เสมอๆ ว่า "รู้ทุกข์คือรู้ธรรม"

ดังนั้นถ้านักปฏิบัติไม่สนใจที่จะคอยตามรู้กายหรือตามรู้ใจของตนอยู่เนืองๆ แต่มุ่งไปทำสิ่งอื่น เช่นการกดข่มทรมานกายทรมานใจเพื่อดัดแปลงจิตดัดแปลงอารมณ์ การส่งจิตไปอยู่กับความว่างไม่ยอมรู้กายรู้ใจ การปล่อยกายปล่อยใจให้หลงเพลินไปกับโลก การหนีโลกหนีความจริงด้วยการปิดหูปิดตานั่งสมาธิให้ลืมเนื้อลืมตัว และการทำสมาธิเพื่อจะเที่ยวรู้เห็นนิมิตหรือเที่ยวออกไปภายนอก ฯลฯ เหล่านี้ก็นับว่าหลงแยกออกนอกเส้นทางของพระพุทธศาสนาไปแล้ว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2008, 13:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


:b54: ทางแยก ตอน สติที่ถูกต้อง

3. สติที่ถูกต้อง
การตามรู้กายหรือตามรู้ใจมีศัพท์เฉพาะเรียกว่าการเจริญ สติปัฏฐาน ซึ่งเครื่องมือสำคัญคือ สติ และมีหลักการสำคัญประการหนึ่งคือ จะต้องเจริญสติโดยไม่ถูกตัณหาหรือความอยากเข้าครอบงำ สติที่ถูกต้องหรือสัมมาสติจึงต้องเกิดขึ้น โดยไม่จงใจกำหนดด้วยความอยากจะรู้กายรู้ใจ

เดิมเรามักแปลคำว่า "สติ" ว่า "ความระลึกได้" ซึ่งหมายความว่ารูปนามมีอาการอย่างไร ก็มีสติตาม รู้อาการนั้นไปอย่างซื่อตรง โดยรูปนามเป็นเพียงเครื่องอาศัยรู้ของจิต เครื่องอาศัยระลึกของสติ

แต่ในระยะหลังๆ นี้เราชอบแปลคำว่า "สติ" ว่า "การกำหนดรู้" ซึ่งคำว่า "กำหนด" นั้น มักมีกิจกรรม ที่ต้องทำมากกว่าการตามรู้ เช่น (1) การดักรู้ไว้ก่อน คือจงใจเพ่งจ้องกายเพ่งจ้องใจเพื่อรอดูว่าจะมีสิ่งใดเกิดขึ้นบ้าง เมื่อเพ่งจ้องมากๆ เข้า กายก็แข็ง ใจก็แข็ง หรือเกิดนิมิตและอาการของจิตต่างๆ ขึ้น แล้วหลงว่าเกิดวิปัสสนาญาณ และ(2) การเอาความคิดเห็นเข้าไปเจือปนกับการรู้ นี้ก็คือทางแยกอีก 2 สายของนักเจริญสติ

จุดที่ผิดพลาดกันมากอีกอย่างหนึ่งในระหว่างการเจริญสติก็คือ การเข้าไปแก้ไขอาการของจิต เช่นเมื่อจิตไม่สงบก็พยายามหาทางทำให้สงบ เมื่อจิตมีกิเลสก็พยายามหาทางแก้กิเลส การแก้อาการของจิต เป็นเรื่องของการทำสมถกรรมฐาน ในขณะที่การทำวิปัสสนานั้น กายอยู่ ในอาการอย่างไรก็ให้รู้ไปตามนั้น และ จิตมีอาการอย่างไรก็ให้รู้ไปตามนั้น

จุดที่ผิดพลาดกันอีกจุดหนึ่งในระหว่างการเจริญสติ แต่มีไม่มากรายนัก ได้แก่ การเกิด วิปัสสนูปกิเลสซึ่งมีหลายชนิด ที่พบบ่อยก็เช่น การเกิดความฟุ้งซ่าน ในธรรม คือในเวลาปกติก็เหมือนคนปกติ แต่เวลาได้ยินได้ฟังธรรมะแล้วจิตจะเกิดความฟุ้งซ่านพลุ่งพล่านในธรรมจนลืมตัว หรือบางคนก็ตั้งสติจนกล้าแข็งมากผิดธรรมดา เป็นต้น

ทางแยกเหล่านี้มีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมายในแต่ละบุคคล บางอย่างทำให้เกิดความเครียด หรือเกิดความเจ็บป่วยทางกายและจิตใจ บางอย่างทำให้เนิ่นช้า บางอย่างทำให้กิเลสเกิดมากขึ้น เช่นงมงายมากขึ้น ถือว่าตนเก่งมากขึ้น หรือขาดสติมากขึ้น

4. สมาธิที่ถูกต้อง

สมาธิที่ถูกต้องหรือสัมมาสมาธิ คือ "ความตั้งมั่นของจิต" เป็น สภาวะที่จิตตั้งมั่นและเป็นกลางเมื่อสติระลึกรู้อารมณ์รูปนามอันเป็น อารมณ์ของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ทั้งนี้ จิตที่มีสัมมาสมาธิจะมีลักษณะสำคัญ 2 ประการได้แก่ (1) จิตไม่หลง ไม่ไหล ไม่คลาดเคลื่อนไปจากอารมณ์รูปนามที่สติกำลังระลึกรู้ แล้วไปหลงอารมณ์บัญญัติแทน เช่น คลาดเคลื่อนจาก การตามรู้กายไปเป็นการคิดเรื่องกาย หรือหลงไปคิดเรื่องอื่นๆ และ (2) จิตไม่หลงเข้าไปจมแช่อยู่กับอารมณ์กรรมฐานอย่างลืมเนื้อลืมตัว

ความผิดพลาดอย่างแรกสังเกตได้ง่าย แต่ความผิดพลาดอย่างหลังสังเกตได้ยากสักหน่อย เพราะนักปฏิบัติบางท่านกลับคิดว่าเวลารู้อารมณ์แล้ว ต้องส่งจิตเข้าไปจมแช่กับอารมณ์จึงจะดี เพราะจะได้รู้อารมณ์ได้ชัดเจน ดังนั้น เมื่อรู้ลมหายใจจิตก็จมแช่กับลมหายใจ เมื่อรู้เท้า รู้ท้อง รู้มือ จิตก็เคลื่อนเข้าไปจมแช่อยู่ที่เท้า ที่ท้อง และที่มือ เป็นต้น จริงอยู่ การรู้อารมณ์ ในลักษณะนี้เหมือนกับจะรู้อารมณ์ได้ชัด แต่ก็ชัดแบบคนที่กระโจนเข้า ไปมีส่วนร่วมใน
สถานการณ์ เช่น ดูละครก็โดดเข้าไปดูอยู่บนเวที หรือ ดูปลาในน้ำก็โดดลงไปในน้ำ เป็นต้น

นอกจากนี้พวกเราบางคนมักนิยมแปลความหมายของสมาธิว่า "ความสงบของจิต" ดังนั้น พอเราคิดถึงการปฏิบัติธรรมก็มักจะคิดถึงการนั่งหลับตาเข้าสมาธิ นั่งจนลืมตัวบ้าง หรือนั่งจนจิตใกล้สงบแล้วสติอ่อนกำลังลง แล้วจิตกลับฟุ้งซ่านออกไปเห็นนั่นเห็นนี่อย่างที่เรียกว่าเกิดนิมิตบ้าง นักทำสมาธิที่ไปหลงนิมิตนั้นมีมากและแก้ไขยากเพราะเจ้าตัวมักจะภูมิใจใน "ความสามารถพิเศษ" ของตนเอง นี่เป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก เพราะสมาธิที่แท้ในทางพระพุทธศาสนานั้นต้องมีประจำอยู่กับจิตที่เจริญสติในทุกๆ อิริยาบถ ไม่ใช่มีสมาธิเฉพาะตอนนั่งหลับตาเท่านั้น และไม่เกี่ยวกับการรู้เห็นนิมิตพิสดารใดๆ เลย

เพื่อนนักปฏิบัติอีกส่วนหนึ่งก็สุดโต่งไปอีกข้างหนึ่ง คือไม่สนใจเรื่องของสมาธิเลยเพราะจะเอาแต่ปัญญา ทั้งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนทั้งเรื่องศีล สมาธิ และปัญญา เพื่อน กลุ่มนี้บางคนก็มุ่งคิดพิจารณาธรรมเข้าไปตรงๆบ้าง มุ่งเอาสติกำหนดจี้ใส่อารมณ์บ้าง เหล่านี้ล้วนเป็นทางแยกหลายสายที่พาให้หลงทางได้ทั้งสิ้น

5. ปัญญาที่ถูกต้อง

ปัญญาที่ใช้ในการเจริญวิปัสสนาต้องเป็น ภาวนามยปัญญา อันเป็นปัญญาที่เกิดจากการมีสติตามรู้กายตามรู้ใจด้วยจิตใจที่ตั้งมั่น จนรู้และเข้าใจความจริงของกายและใจว่าไม่ใช่ตัวเราของเรา และสามารถปล่อยวางความยึดถือกายและใจได้ในที่สุด เพื่อนนักปฏิบัติอย่าไปหลงเข้าใจว่า (1) วิปัสสนาปัญญาเกิดจากการทำใจให้สงบนิ่งเฉย หรือ (2) วิปัสสนาปัญญาเกิดจากการอ่านและการฟังซึ่งเรียกว่าสุตตมยปัญญา หรือ (3) วิปัสสนาปัญญาเกิดจากการคิดพิจารณาซึ่งเรียกว่าจินตามยปัญญา

จริงอยู่ที่เบื้องต้นเราต้องฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจ และคิดใคร่ครวญทำความเข้าใจถึงวิธีการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่เมื่อรู้วิธีการปฏิบัติแล้ว เราก็มีหน้าที่มีสติตามรู้กายตามรู้ใจด้วยจิตที่ตั้งมั่นจนเกิดวิปัสสนาปัญญาไปตามลำดับ

เรื่องการใช้ปัญญาผิดประเภท ก็เป็นทางแยกใหญ่อีกเส้นหนึ่ง เพราะพวกเราไม่คุ้นเคยและไม่รู้จักปัญญาที่เกิดจากการตามสังเกตการณ์ รูปนาม หรือการตามรู้กายใจ แต่พวกเรามักเคยชินกับการแสวงหาปัญญาด้วยการอ่าน การฟัง และการคิดเท่านั้น บางท่านถึงขนาดประกาศทัศนะว่า "การเจริญวิปัสสนาคือการคิดอย่างเป็นระบบ" ทัศนะเช่นนี้ผิดทั้งหลักปริยัติและหลักปฏิบัติ คือในภาคปริยัติระบุชัดเจนว่า การเจริญวิปัสสนาที่แท้จริงซึ่งเริ่มต้นที่อุทยัพพยญาณนั้น จะต้องไม่เจือด้วยจินตามยปัญญา ส่วนในภาคปฏิบัตินั้น ครูบาอาจารย์วัดป่าหลายรูปท่านสอนอยู่เนืองๆ ว่าให้รู้ ไม่ใช่ให้คิด เพราะความคิดนั่นแหละเป็นเครื่องปิดบังการรู้ (รายละเอียดจะอ่านได้จากบทความหลายเรื่องในหนังสือเล่มนี้ ส่วนการคิดพิจารณาอย่างเป็นระบบ สมเหตุ สมผล ตรงตามหลักการปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ น่าจะใกล้กับคำว่า "โยนิโสมนสิการ" มากกว่าคำว่า "วิปัสสนา")

ตอนที่ 021

ทางแยก ตอน วิมุตติ
การบรรลุมรรคผลที่ถูกต้อง

6. วิมุตติ/การบรรลุมรรคผลที่ถูกต้อง

เพื่อนนักปฏิบัติบางท่านไปหลงในอาการของจิตบางอย่างว่าเป็นการบรรลุมรรคผล เช่นจิตเกิดดับวูบหมดความรู้สึกไปชั่วขณะ พอเกิดความรู้สึกตัวก็คิดว่าช่วงที่จิตหายไป หรือช่วงที่เหมือนกับไม่มีจิตนั้น เป็นการบรรลุมรรคผลเพราะไม่รู้สึกถึงความมีอยู่ของรูปนาม แท้จริงการไม่รู้รูปนามก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องรู้นิพพาน และในขณะที่เกิดมรรคผลซึ่งมีอารมณ์นิพพานนั้นก็มีจิตและเจตสิก ไม่ใช่ไม่มีจิตและเจตสิก เรื่องนี้พระอภิธรรมจะอธิบายได้อย่างชัดเจนถึงวิถีจิตในขณะที่บรรลุมรรคผล

บางท่านจิตเกิดถ่ายทอดธรรมะขึ้นมาบ้าง จิตเทศน์ให้ตนเองฟังบ้าง ตนเองคลุ้มคลั่งอยากแสดงธรรมะบ้าง จิตวูบวาบหรือมีอาการแปลกๆ อย่างอื่นบ้าง จิตหลงไปเกาะอยู่กับความว่างบ้าง ก็เกิดความสำคัญมั่นหมายว่าได้บรรลุธรรมแล้ว นี้เป็นทางแยกที่น่ากลัวมากทีเดียว

7. เครื่องป้องกันการหลงทาง

แม้ทางแยกที่ชวนให้หลงทางในระหว่างการปฏิบัติจะมีอยู่มาก แต่พวกเราก็มีเครื่องช่วยป้องกันการหลงทางอยู่ 2 ประการคือ

(1) กัลยาณมิตร คือครูบาอาจารย์ที่เคยเดินทางไปก่อนแล้ว และ
(2) โยนิโสมนสิการ คือการรู้จักเฉลียวใจคิดพิจารณาว่า ทางที่เดินอยู่นั้นตรงตามหลักการและวิธีการที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้หรือไม่ เช่นถ้าสังเกตพบว่ามีตัณหาแทรกอยู่ในระหว่างการปฏิบัติธรรม หรือถ้าไม่รู้ทุกข์คือกายกับใจ แต่พยายามละทุกข์ ก็แสดงว่าปฏิบัติผิดพลาดไปแล้ว เป็นต้น

สำหรับผู้เขียนเองก็มีเครื่องสังเกตอยู่อย่างหนึ่ง คือถ้าปฏิบัติไขว้เขวออกจากการมีความรู้สึกตัวแล้วตามรู้จิตตนเองเมื่อใด ก็แสดงว่าเดินพลาดแล้ว เช่นถ้ามัวตามจัดการกับกิเลสตัวใดตัวหนึ่ง โดยละทิ้งการรู้จิตใจตนเอง ก็แสดงว่าถูกกิเลสหลอก เพราะพ่อแม่ครูอาจารย์พระป่าท่านมักสอนว่า กิเลสจะพยายามหลอกให้เราเลิกรู้จิตใจตนเองเสมอๆ เนื่องจากหัวหน้ากิเลสมันซ่อนอยู่ที่จิตใจเรานี่เอง

ธรรม 2 ประการนี้สำคัญมากสำหรับผู้ปฏิบัติ ถึงขนาดที่พระ พุทธเจ้าทรงกล่าวว่า กัลยาณมิตรอย่างหนึ่ง และโยนิโสมนสิการอีกอย่างหนึ่ง คือทั้งหมดของพรหมจรรย์ (การประพฤติปฏิบัติธรรม)


ตอนที่ 022

การเจริญสติในชีวิตประจำวัน

6. การเจริญสติในชีวิตประจำวัน

การเจริญสติ มีทั้งส่วนที่เป็นสมถกรรมฐาน อันได้แก่การเจริญอนุสติ 10 ประการ เช่นพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ ฯลฯ และส่วนที่เป็นวิปัสสนากรรมฐาน อันได้แก่การเจริญสติปัฏฐาน 4 เฉพาะในบรรพที่มีรูปนามเป็นอารมณ์ สำหรับคำว่าการเจริญสติในบทความนี้ หมายความถึงการเจริญวิปัสสนาเท่านั้น แต่ที่ผู้เขียนไม่ตั้งหัวข้อบทความว่า "การเจริญวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน" ก็เพราะพวกเรามักคุ้นเคยกับคำว่า "การเจริญสติในชีวิตประจำวัน" มากกว่า

การเจริญสติในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถึงขนาดเรียกได้ว่าเป็นหัวใจของการเจริญวิปัสสนาทีเดียว แต่พวกเรากลับให้ความสำคัญน้อยกว่าการเจริญสติตามรูปแบบ ซึ่งมีอารมณ์กรรมฐานและมีรูปแบบการปฏิบัติที่ตายตัวอย่างใดอย่างหนึ่ง

ก่อนจะกล่าวถึงการเจริญสติในชีวิตประจำวัน จะขอกล่าวถึงตัวอย่างของการเจริญสติตามรูปแบบสักเล็กน้อย เช่นผู้ที่เจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จะมีอารมณ์ของวิปัสสนาอย่างใดอย่างหนึ่งคือ (1) ลมหายใจ (2) อิริยาบถใหญ่ (3) อิริยาบถย่อย (ผู้ที่ใช้อิริยาบถใหญ่เมื่อปฏิบัติมากเข้าก็มักจะควบการรู้อิริยาบถย่อยเข้าไปด้วย) และ (4) ธาตุ 4 ส่วนรูปแบบหรือวิธีการรู้อารมณ์ก็แตกต่างกันออกไปอีกในแต่ละสำนัก เช่นบางท่านรู้ลมหายใจที่กระทบปลายจมูก บางท่านตามลมซึ่งกระทบฐานกายที่จมูก อก และท้อง บางท่านรู้ธาตุไฟในลมหายใจ บางท่านใช้ลมเป็นนิมิตในการทำสมถกรรมฐานแล้วไปเจริญวิปัสสนากรรมฐานในแนวทางของสมถยานิก บางท่านรู้อิริยาบถใหญ่โดยหน่วงการเคลื่อนไหวให้ช้าลง บางท่านสร้างจังหวะการเคลื่อนไหวให้ละเอียดมากขึ้น บางท่านใช้อิริยาบถอย่างเดียวเป็นหลักเช่นการเดินจงกรม และบางท่านรู้อิริยาบถ 4 ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เป็นต้น

ผู้เจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน แม้จะมีอารมณ์คือเวทนอย่างเดียว แต่ก็มีรูปแบบหรือวิธีการรู้อารมณ์ที่ต่างกันอีก เช่นบางท่านรู้เวทนาทางใจไปตามธรรมชาติ แต่บางท่านเฝ้ารู้เวทนาทางกายแบบยอมตายถวายชีวิต คือไม่ยอมเปลี่ยนอิริยาบถแม้ความทุกข์จะบีบคั้นหนักหน่วงเพียงใดก็ตาม

ผู้เจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน แม้จะมีอารมณ์คือจิตอย่าง เดียว แต่ก็มีรูปแบบหรือวิธีการรู้อารมณ์ที่แตกต่างกันออกไปบ้าง เช่นบางท่านรู้จิตไปตามธรรมชาติ คือปล่อยให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจทำงานไปตามธรรมชาติ แล้วเฝ้ารู้จิตที่ผันแปรไปเรื่อยๆ ในขณะที่บางท่านปิดอายตนะทางกายทั้งหมด แล้วเฝ้ารู้อยู่ที่จิตอย่างเดียว

ผู้เขียนเห็นว่าการเจริญสติตามรูปแบบนั้น หากทำได้ถูกต้องตรงตามหลักการและวิธีการปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ก็เป็นประโยชน์ทั้งสิ้น แต่สิ่งสำคัญที่ผู้ปฏิบัติไม่ควรละเลยก็คือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน เพราะชีวิตส่วนใหญ่ของพวกเราใช้ไปกับกิจกรรมธรรมดาๆ ทั้งหลายนี่เอง เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน ขยับ กิน ดื่ม ขับถ่าย ทำ พูด คิด ดู ฟัง ดม ฯลฯ ไม่ใช่ชีวิตในห้องฝึกกรรมฐานซึ่งเราเข้าฝึกกันเพียงชั่วครั้งชั่วคราว หากละเลยการเจริญสติในชีวิตประจำวันก็เท่ากับละเลยโอกาสส่วนใหญ่ในการเจริญสติทีเดียว

การเจริญสติในชีวิตประจำวันนั้น เป็นการปฏิบัติที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของชีวิต ซึ่งมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คือบางครั้งตาก็เห็นรูป บางครั้งหูได้ยินเสียง บางครั้งจมูกได้กลิ่น บางครั้งลิ้นรับรส บางครั้งกายรับสัมผัส และบางครั้งใจรับธัมมารมณ์ ในชีวิตจริงเราจึงเลือกอารมณ์กรรมฐานไม่ได้ เช่นจะรู้กายอย่างเดียว หรือจะรู้จิตอย่างเดียวไม่ได้ การเจริญสติในชีวิตประจำวันนั้น หากอารมณ์รูปนามอย่างใดปรากฏทางทวารใด ก็พึงใช้อารมณ์นั้นเป็นอารมณ์เจริญวิปัสสนาไปได้เลย ไม่จำเป็นต้องยึดอยู่ในอารมณ์ที่แน่นอนตายตัวอย่างหนึ่งอย่างใดโดยเฉพาะ ทั้งนี้การเจริญวิปัสสนากรรมฐานที่ใช้อารมณ์ทั้งรูปและนาม ก็คือการเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานนั่นเอง

นอกจากนี้การรู้รูปนามทั้งหลายเหล่านั้นก็ไม่มีรูปแบบหรือวิธีการที่ตายตัว คือไม่มีการตั้งท่าหรือการกำหนดจดจ้องอย่างนั้นอย่างนี้เช่นให้เดินท่านั้น ให้นั่งท่านี้ ให้กำหนดจิตตั้งไว้ที่จุดนั้นจุดนี้ เป็นต้น เพียงแต่มีเงื่อนไขว่า (1) ต้องรู้รูปนามที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ด้วยจิตที่มีสติสัมปชัญญะ (ในความเห็นของผู้เขียนสัมมาสมาธิและโยนิโสมนสิการเป็นเครื่องสนับสนุนให้เกิดปัญญาหรือสัมปชัญญะ) หรือ (2) ต้องรู้รูปนามด้วยจิตที่ตั้งมั่น (มีสัมมาสมาธิ) หรือ (3) ต้องรู้รูปนามโดยมีความรู้สึกตัว หรือ (4) ต้องรู้รูปนามด้วยความไม่หลง คือไม่หลงดู หลงฟัง หลงดม หลงลิ้มรส หลงสัมผัส และหลงคิดนึกปรุงแต่งทางใจ (เช่นไม่หลงส่งจิตถลำเข้าไปจมแช่ในอารมณ์ ไม่หลงตามดูอารมณ์ภายในที่เคลื่อนไหวไปจนลืมตัว และไม่หลงปรุงแต่งสมมุติบัญญัติสิ่งใดเพิ่มเติมลงไปในการรับรู้นั้น) หรือ (5) ต้องรู้รูปนามด้วยจิตที่ปราศจากตัณหา 6 ประการ คือปราศจากความทะยานอยากในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์ หรือ (6) ต้องรู้รูปนามอย่างสักว่ารู้ คือไม่ทำสิ่งใดหลังจากการรู้ (เช่นไม่แทรกแซงจิตและอารมณ์ รู้แล้วจบอยู่แค่รู้นั้น ไม่ทำกระทั่งการพยายามละอกุศลธรรม และการพยายามสร้างและรักษากุศลธรรม แต่ปล่อยให้สภาวธรรมทั้งหลายนั้นเป็นไปตามที่เขาเป็น เพียงแต่มีสติตามรู้เขาไปด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลางเท่านั้น)

สภาวะทั้ง 6 ประการนี้มีเนื้อหาเป็นอันเดียวกัน ต่างกันแต่ถ้อยคำและแง่มุมที่มองเท่านั้น คือจิตที่มีสติสัมปชัญญะจะต้องประกอบด้วยสัมมาสมาธิเสมอ จิตที่มีสัมมาสมาธิก็ย่อมตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัวหรือมีความรู้สึกตัว จิตที่รู้สึกตัวก็คือจิตที่ไม่หลงตามอารมณ์ จิตที่ไม่หลงตามอารมณ์ก็คือจิตที่ไม่ถูกตัณหาผลักดัน และจิตที่มีสติสัมป ชัญญะ มีสัมมาสมาธิ มีความรู้สึกตัว มีความไม่หลง หรือไม่ถูกตัณหาผลักดัน ก็ย่อมสักว่ารู้อารมณ์ได้ตรงตามความเป็นจริง

เมื่อใดผู้ปฏิบัติสามารถรู้รูปนามด้วยจิตที่มีสภาวธรรมเหล่านี้ ก็ย่อมสามารถจำแนกรูปนามอันเป็นอารมณ์ปรมัตถ์กับความคิดนึกปรุงแต่งหรือสมมุติบัญญัติออกจากกันได้ สมมุติบัญญัติทั้งหลาย จึงไม่อาจปิดบังความจริงหรืออารมณ์ปรมัตถ์ได้ต่อไป

เมื่อรู้อารมณ์ปรมัตถ์ได้แล้ว จะพบความจริงว่ารูปนามไม่ใช่ตัวตนของตน ความเห็นผิดว่ารูปนามเป็นตน และความยึดถือรูปนาม ก็จะถูกทำลายไปตามลำดับ แล้วความทุกข์เพราะความยึดมั่นว่ารูปนามเป็นตนก็จะหมดไป เหลือแต่ความทุกข์ของรูปนาม/ขันธ์ 5 ไปตามธรรมชาติจนกว่าจะสิ้นวิบากขันธ์เท่านั้น

ผู้เขียนเห็นว่า ไม่ว่าเพื่อนนักปฏิบัติจะชอบแนวทางการปฏิบัติที่ผู้เขียนกล่าวถึงนี้หรือไม่ก็ตาม หากท่านเจริญสติปัฏฐานด้วยการตามรู้รูปหรือนามอย่างใดอย่างหนึ่ง ถูกต้องตรงตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้แล้ว ท่านย่อมพัฒนาการปฏิบัติไปสู่การเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานได้เอง คือจะรู้ได้ทั้งรูปและนาม ไม่ใช่รู้ได้เฉพาะรูปบางอย่างหรือนามบางอย่างดังที่เคยทำมาเมื่อเริ่มการปฏิบัติใหม่ๆ และรู้ได้โดยไม่มีวิธีการอะไรมากมาย คือแค่ลืมตาขึ้นมาเห็นรูปก็เจริญวิปัสสนาได้แล้ว ขอเพียงมีสัมมาทิฏฐิ คือมีความรู้ถูกเข้าใจถูกเกี่ยวกับหลักการและวิธีการเจริญวิปัสสนาตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ เราก็จะสามารถเจริญสติได้แทบทั้งวัน ยกเว้นในเวลาหลับ ในเวลาเผลอ และในเวลาที่ต้องทำงานซึ่งใช้ความคิดเท่านั้น


ตอนที่ 023

ศีล : พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับมนุษย์

ต่อจากนี้ไปจะเล่าถึงการเจริญสติในชีวิตประจำวัน ดังนี้

1. ศีล : พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับมนุษย์

ก่อนการเจริญสติ ไม่ว่าจะเป็นการเจริญสติตามรูปแบบ หรือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน สิ่งที่จำเป็นและขาดไม่ได้ก็คือการรักษาศีล เพราะศีลเป็นเครื่องกั้นไม่ให้ผู้ปฏิบัติตกไปสู่ความชั่วหยาบทางกายและวาจา และเป็นเครื่องนำความสงบร่มเย็นมาสู่จิตใจของผู้ปฏิบัติอันเอื้อต่อการปฏิบัติธรรมในขั้นสูงต่อไป ผู้ปฏิบัติที่ไม่มีศีลแล้วข้ามขั้นไปเจริญสมาธิและปัญญาจะมีโอกาสพลาดมากเหลือเกิน (ผู้ไม่มีสัมมา สมาธิแล้วข้ามไปเจริญปัญญาก็มีโอกาสพลาดมากเช่นกัน ทั้งนี้ศีลสมาธิและปัญญาเปรียบเหมือนไม้ 3 ท่อนที่วางพิงกัน ดึงออกอันเดียว ก็ล้มทั้งหมด หรือถึงตั้งอยู่ได้ก็อยู่อย่างคลอนแคลนเต็มที) ตัวอย่างเช่นพระเทวทัตซึ่งฝึกสมาธิจนได้อัปปนาสมาธิและอภิญญาจิต แต่เพราะไม่มีศีลจึงใช้ความสามารถทางจิตไปในทางที่ชั่วและนำความหายนะมาสู่ตนเองในที่สุด ส่วนผู้เจริญปัญญาหากละเลยศีล ก็อาจหลงเตลิดไปเป็นมิจฉาทิฏฐิหรือกระทำความผิดบาปได้โดยง่าย เช่นเคยได้ยินว่ามีบุคคลผู้หนึ่งตบหน้าผู้อื่นด้วย "จิตว่าง" คือเห็นว่าผู้อื่นไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา จะทำร้ายอย่างไรก็ได้ไม่เป็นบาป เพราะทำไปด้วยความไม่ถือมั่น นี่ถ้าผู้นี้มีศีลก็จะไม่ทำบาปเช่นนี้เลย

ผู้ปฏิบัติควรชำระจิตใจให้หมดจดจากเครื่องกังวล ด้วยการตั้งใจงดเว้นการทำบาปอกุศลอย่างน้อย 5 ประการ หรือการสมาทานศีล 5 นั่นเอง ผู้เขียนจะไม่บรรยายเรื่องศีล 5 เพราะถือว่าศีล 5 เป็นมาตรฐานของความเป็นมนุษย์ ซึ่งผู้สนใจการเจริญสติทุกคนมีหน้าที่จะต้องศึกษาและถือปฏิบัติด้วยตนเอง

2. สัมมาสมาธิ : เงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับผู้เจริญสติเพื่อให้เกิดปัญญา

นอกจากการรักษาศีลอันเป็นเรื่องศีลสิกขาแล้ว ผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องฝึกจิตให้พร้อมสำหรับการเจริญวิปัสสนาอันเป็นเรื่องของจิตสิกขาด้วย ทั้งนี้ผู้เขียนเห็นว่าเพื่อนนักปฏิบัติจำนวนมากมักละเลยจิตสิกขาใน 2 ลักษณะ คือ (1) บางท่านมุ่งทำสมาธิเพื่อเอาความสงบแบบขาดสติลืมเนื้อลืมตัว จนจิตประกอบด้วยโมหะและโลภะ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่นผู้ที่ชอบเปิดเทปธรรมะคลอไปในระหว่างการนั่งสมาธิ แล้วปล่อยจิตให้เคลิบเคลิ้มไป การกระทำเช่นนี้ไม่ได้ประโยชน์เลยทั้งในด้านปริยัติและปฏิบัติ คือจะฟังเอาความก็ไม่ได้ความ และจะฟังเอาสติก็ไม่ได้สติ และ (2) บางท่านไม่สนใจเรื่องการสร้างสัมมาสมาธิเลย ตัวอย่างเช่นผู้ที่จู่ๆ ก็กระโดดเข้าไปจงใจกำหนดรู้รูปนามด้วยอำนาจของ ตัณหา โดยคิดว่าถ้ากำหนดรู้รูปนามได้แล้วจิตจะเกิดสัมมาสมาธิขึ้นเอง ผลที่ได้ก็คือการเพ่งกับเพ่ง เช่นเพ่งมือ เพ่งเท้า เพ่งท้อง เพ่งเวทนา เพ่งกิเลส และเพ่งจิต เป็นต้น

พวกเราควรตระหนักว่าจิตสิกขาเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าไม่ใช่สิ่งจำเป็นแล้ว พระพุทธเจ้าคงไม่ทรงสอนไว้ให้เสียเวลา เรื่องจิตสิกขาเป็นสิ่งจำเป็นมากที่จะต้องเรียนรู้ และลงมือพัฒนาจิตให้เกิดสัมมาสมาธิหรือธรรมเอกหรือความตั้งมั่นของจิตหรือความรู้สึกตัวขึ้นมา เพื่อว่าเมื่อเวลาที่สติระลึกรู้อารมณ์แล้ว จิตจะได้เป็นกลางและไม่หลงอารมณ์ จึงจะเกิดปัญญารู้ลักษณะของอารมณ์ได้ตรงตามความเป็นจริง หากจิตขาดสัมมาสมาธิคือไม่ตั้งมั่น ผู้นั้นจะไม่มีทางเจริญสติให้เกิดปัญญาได้เลย ทั้งนี้อาการของจิตที่ตั้งมั่นมีสัมมาสมาธิจะตรงกับคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า "ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสนะ"

ตอนที่ 024

วิธีการสร้างความตั้งมั่นของจิต

วิธีการสร้างความตั้งมั่นของจิตที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ในพระสูตรจำนวนมาก ได้แก่การทำอัปปนาสมาธิในระดับจตุตถฌาน แต่สำหรับผู้ที่ทำฌานไม่ได้ก็ยังไม่สิ้นหวังเสียทีเดียว ผู้เขียนขอเสนอวิธีการง่ายๆ อย่างหนึ่งคือ การหัดสังเกตความไม่ตั้งมั่นของจิต โดย

1. เบื้องต้นให้ทำใจให้สบายๆ แล้วมีสติระลึกรู้อยู่ในอารมณ์อันเดียวอันไม่ยั่วกิเลส เช่นการคิดถึงคุณของพระพุทธเจ้า คุณของพระธรรม คุณของพระสงฆ์ หรือคิดถึงคุณงามความดีเช่นทานหรือศีลอันไม่ด่างพร้อยของตน หรือจะใช้การบริกรรมภาวนาเช่นบริกรรมพุทโธ หรือจะตามรู้ลมหายใจ รู้อาการยืนเดินนั่งนอน รู้การคู้เหยียดมือ รู้การยกย่างเท้า รู้อาการพองยุบของท้อง ฯลฯ ก็ได้

2. จากนั้นให้คอยสังเกตจิตใจของตนเองเป็นระยะๆ จะพบว่าบางขณะจิตก็รู้อยู่ที่อารมณ์อันเดียวนั้น บางขณะจิตก็หนีไปจากอารมณ์ นั้น บางขณะจิตก็จมแช่เข้าไปในอารมณ์นั้น และบางขณะจิตก็แยกอยู่ต่างหากจากอารมณ์นั้น เป็นต้น ตัวอย่างเช่นเรากำหนดลมหายใจอยู่อย่างสบายๆ แล้วสังเกตรู้ทันจิตว่า บางคราวจิตก็สงบอยู่กับลมหายใจ บางคราวจิตก็หนีไปรู้อารมณ์อื่น บางคราวจิตก็เคลื่อนเข้าไปเพ่งจ้องจมแช่อยู่กับลมหายใจ บางคราวจิตก็สักว่ารู้ลมหายใจอยู่ห่างๆ หรืออย่างพวกเราบางคนเดินจงกรม ก็ให้เดินอย่างสบายๆ แล้วสังเกตรู้ทันจิตว่า บางคราวจิตก็สงบอยู่กับการเดิน บางคราวจิตก็หนีไปรู้อารมณ์ อื่น บางคราวจิตก็เคลื่อนเข้าไปเพ่งจ้องจมแช่อยู่กับเท้า บางคราวจิตก็สักว่ารู้ความเคลื่อนไหวของกายอยู่ห่างๆ

วิธีการเช่นนี้คล้ายๆ กับการตกปลา คือเราหาเหยื่อ (อารมณ์อันหนึ่ง) มาล่อปลา (จิต) แต่ต่างกับการตกปลาตรงที่การตกปลานั้นต้องการจับปลา ส่วนที่เราฝึกหัดกันนี้ต้องการเพียงแค่การรู้ทันจิตที่ส่งส่ายเคลื่อนไหวไปมาเท่านั้นเอง

3. เมื่อฝึกหัดจนสังเกตกิริยาอาการหรือพฤติกรรมของจิตได้แล้ว ก็ทิ้งอารมณ์กรรมฐานเดิมได้ แล้วหันมาใช้อารมณ์กรรมฐานชนิดที่ไม่ต้องตั้งใจกำหนด ได้แก่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์ทั้งปวงนั่นเอง แล้วแต่อารมณ์ใดจะปรากฏเข้ามาสู่ความรับรู้ของจิต เช่นเมื่อตาเห็นรูป หรือหูได้ยินเสียง หรือใจเกิดความคิด เราก็จะสังเกตเห็นว่า บางคราวจิตก็รู้สึกตัวอยู่ บางคราวจิตก็หลงไปดู หรือหลงไปฟัง หรือหลงไปคิด เหมือนที่เคยหัดสังเกตในข้อ 2 นั่นเอง สิ่งที่น่าอัศจรรย์ก็คือ เมื่อใดผู้ปฏิบัติมีสติรู้ทันความไม่ตั้งมั่นของจิต หรือรู้ทันกิริยาอาการของจิต เมื่อนั้นจิตจะเกิดความตั้งมั่นขึ้นมาเองชั่วขณะ โดยไม่ต้องพยายามสร้างความตั้งมั่นขึ้นมาเลย อย่างไรก็ตามเพื่อนนักปฏิบัติบางท่านสามารถข้ามมาหัดรู้ความไม่ตั้งมั่นของจิตตามที่อธิบายไว้ในข้อนี้ได้เลย โดยไม่ต้องเริ่มจากข้อ 1 และข้อ 2 ก็มี

สิ่งที่เป็นศัตรูสำคัญของการสร้างความตั้งมั่นของจิต หรือการสร้างสัมมาสมาธิ หรือการสร้างความรู้สึกตัว ได้แก่ (1) ความใจลอย/ความเผลอ/ความเหม่อ/ความขาดสติ เพราะเมื่อใดใจลอย เมื่อนั้นจิตใจย่อมไม่อยู่กับเนื้อกับตัว จึงรู้เนื้อรู้ตัวหรือรู้กายรู้ใจไม่ได้ ความใจลอยนั้นมีหลายระดับ ถ้าใจลอยรุนแรงจะลืมตัวไปเลย แม้คิดอยู่ก็ไม่ทราบว่าคิดอะไร ความใจลอยในระดับที่รองลงมาก็คือการหลงคิดผู้นั้นจะรู้เรื่องที่คิด แต่ไม่รู้กายไม่รู้ใจ คือไปรู้สมมุติบัญญัติจึงไม่รู้รูปนาม/กายใจอันเป็นอารมณ์ปรมัตถ์ และ (2) การเพ่งจ้องใส่รูปนาม/กายใจอันเกิดจากความอยากจะปฏิบัติธรรม

แท้จริงการสร้างความตั้งมั่นของจิต ด้วยการใช้สติตามรู้ความไม่ตั้งมั่นหรือกิริยาอาการต่างๆของจิตนั้น ต้องฝึกด้วยการตามสังเกต จิตใจอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะทำด้วยความอยากไม่ได้ เพราะถ้ามีความ อยากเจือปน แทนที่ผู้ปฏิบัติจะมีสติตามรู้เท่าทันจิตไปอย่างสบายๆ กลับจะเกิดการดักจ้องจิต อันเป็นการดักรู้ไม่ใช่ตามรู้ ซึ่งนอกจากจิตจะไม่ตั้งมั่นมีสัมมาสมาธิแล้ว ยังจะเกิดการเพ่งจ้องกาย เพ่งจ้องใจ จนเกิดความแข็ง ความหนัก และความทื่อๆ ทางกายและทางใจอีกด้วย ซึ่งอาการเช่นนั้นไม่ใช่อาการของจิตที่มีสัมมาสมาธิ หรือมีความรู้สึกตัวที่แท้จริงเลย

สภาวะของจิตที่ตั้งมั่นอันเนื่องมาจากการมีสติรู้ทันความไม่ตั้งมั่นของจิตนั้น จะมีลักษณะเช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในเรื่องสัมมาสมาธินั่นเอง คือมีจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ถ้าพูดตามสำนวนครูอาจารย์พระป่าก็กล่าวได้ว่า จิตเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน หรือกล่าวได้ว่าจิตในขณะนั้นมีความสงบระงับ เบา อ่อนโยน ควรแก่การงาน คล่องแคล่ว และซื่อตรง นอกจากนี้จิตในขณะนั้นจะมีเวทนาได้เพียง 2 อย่างคือโสมนัสเวทนาและอุเบกขาเวทนา จิตชนิดที่กล่าวมานี้แหละเป็นจิตที่พร้อมสำหรับการเจริญปัญญาต่อไป

สรุปแล้วเมื่อใดรู้ว่าจิตไม่ตั้งมั่นหรือหลงไปทางทวารทั้ง 6 เมื่อนั้น จิตก็จะตั้งมั่นชั่วขณะโดยไม่ต้องบังคับ และเมื่อใดจิตตั้งมั่น เมื่อนั้นจิตจะอยู่กับเนื้อกับตัว และรู้เนื้อรู้ตัว/รู้กายรู้ใจ/รู้รูปรู้นามได้ เราก็พร้อมแล้วที่จะทำวิปัสสนาหรือเจริญปัญญาสิกขาต่อไป โดยให้มีสติตามรู้รูปนามอยู่เนืองๆ ด้วยจิตที่ตั้งมั่นมีความรู้สึกตัวต่อไป ก็จะเห็นว่า เราไม่มี มีแต่รูปกับนาม รูปไม่ใช่เรา นามก็ไม่ใช่เรา และไม่มีเราในที่อื่นภายนอกรูปนามด้วย ทั้งนี้ความเป็นเราเกิดจากการหลงคิดหรือหลงในสมมุติบัญญัตินั่นเอง เมื่อมีความรู้สึกตัวไม่หลงคิด ก็จะสามารถรู้รูปนามตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่เราได้ในที่สุด

อนึ่งจิตที่ตั้งมั่นนั้นสามารถทรงตัวอยู่ได้เพียงชั่วขณะสั้นๆ คือพอมีสติรู้ทันจิตที่หลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจเมื่อใด จิตก็จะตั้งมั่นและรู้สึกตัวขึ้นมาเองอย่างอัตโนมัติในขณะนั้น แล้วอีก แวบเดียวต่อมาจิตก็หลงไปกับอารมณ์ใหม่อีกครั้งหนึ่ง ผู้ปฏิบัติไม่ต้องตกใจว่าเรารักษาจิตให้ตั้งมั่นอยู่ไม่ได้ เพราะความจริงแล้วจิตเป็น อนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับของผู้ใดทั้งสิ้น เพียงทำความรู้สึกตัวให้เกิดบ่อยๆ ด้วยการตามรู้จิตที่ไม่ตั้งมั่นเพราะหลงไปทางทวารทั้ง 6 เนืองๆ ต่อไปจิตก็จะตั้งมั่นหรือรู้สึกตัวได้ถี่ขึ้นเรื่อยๆ และหลงหรือเผลอสั้นลงเรื่อยๆ


:b52: :b53: :b49:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2008, 13:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


ตอนที่ 025

การเจริญสติในชีวิตประจำวัน

3. การเจริญสติในชีวิตประจำวัน
เมื่อจิตมีสัมมาสมาธิ หรือมีความตั้งมั่น หรือมีความรู้สึกตัวแล้ว ผู้ปฏิบัติพึงน้อมจิตไปเพื่อให้เกิดปัญญาด้วยการเจริญสติในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีหลักปฏิบัติที่ง่ายๆ ดังนี้คือ

3.1 รู้อารมณ์กรรมฐานที่ถูกต้อง อารมณ์ของวิปัสสนาคือ รูปนาม/กายใจ ดังนั้นสิ่งที่ผู้เจริญสติในชีวิตประจำวันจะต้องมีสติคอยระลึกรู้เนืองๆ ก็คือรูปนามหรือกายกับใจของตนเอง

3.2 รู้วิธีการตามรู้กายและตามรู้ใจที่ถูกต้อง มีวิธีการดังนี้

3.2.1 ผู้ปฏิบัติต้องมีความรู้สึกตัว เพราะการตามรู้กายหรือใจจะทำไม่ได้ถ้าผู้ปฏิบัติไม่รู้สึกตัว เช่น (1) ขาดสติลืมเนื้อลืมตัวลืมกายลืมใจ (2) หลงไปในความคิด ลืมตามรู้กายหรือใจ และ (3) เพ่ง กายเพ่งใจ เพื่อคอยดักดูว่าจะมีสิ่งใดเกิดขึ้นทางกายหรือทางใจบ้าง

3.2.2 วิธีการตามรู้กายมีหลักปฏิบัติง่ายๆ คือ "ให้มีความรู้สึกตัว และหากกายมีอาการอย่างไร ก็รู้ว่ากายมีอาการอย่างนั้น" เช่น กายอยู่ในอาการยืน ก็รู้สบายๆ ถึงอาการของรูปยืน (ไม่ต้องช่วยคิดว่านี่เป็นรูปยืน ไม่ใช่เรายืน แต่ทำแค่มนสิการหรือรู้สึกสบายๆ ถึงรูปยืน แม้การรู้รูปนามอื่นๆ ก็เพียงมนสิการถึงรูปนามนั้นๆ ไม่ต้องคิดว่านี่รูปนี่นามแต่อย่างใด) หรือกายคู้กายเหยียด เหลียวซ้ายแลขวา ก็รู้สบายๆ ว่ากายมีอาการอย่างนั้นๆ ทั้งนี้ไม่ต้องตามพากย์หรือคิดบรรยายว่ารูปกำลังมีอาการอย่างนั้นอย่างนี้ ขอเพียงมีความรู้สึกตัว ไม่ลืมตัว ไม่เอาแต่คิด หรือไม่เอาแต่เพ่งกาย กายนั้นย่อมแสดงความเป็นจริงที่เขาเป็นเพียงรูป ไม่ใช่ตัวเรา ออกมาให้เห็นได้ไม่ยากเลย

3.2.3 วิธีการตามรู้ใจมีหลักปฏิบัติง่ายๆ คือ "ให้มีความรู้สึกตัว และหากจิตมีอารมณ์หรือมีอาการอย่างไร ก็รู้ว่าจิตมีอารมณ์หรือมีอาการอย่างนั้น" เช่นจิตรู้สึกหรือมีอารมณ์เป็นสุขก็รู้ว่าจิตสุข (ไม่ต้องช่วยคิดว่านี่เป็นนามสุข ไม่ใช่เราสุข) จิตเป็นทุกข์ก็รู้ว่าจิตทุกข์ จิตเฉยๆ ก็รู้ว่าจิตเฉยๆ จิตโลภก็รู้ว่าจิตโลภ จิตโกรธก็รู้ว่าจิตโกรธ จิตหลงก็รู้ว่าจิตหลง จิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ก็รู้ว่าจิตหดหู่ ฯลฯ หรือจิตมีอาการรู้สึกตัวอยู่ก็รู้ว่าจิตรู้สึกตัวอยู่ จิตสักว่ารู้อารมณ์ก็รู้ว่าจิตสักว่า รู้อารมณ์อยู่ หรือจิตหลงอารมณ์ก็รู้ว่าจิตหลงอารมณ์อยู่ (เช่นจิตหลงไป (ดูรูป) ทางตาก็รู้ว่าจิตหลงดู จิตหลงไป (ฟังเสียง) ทางหูก็รู้ว่าจิตหลงฟัง จิตหลงไปทางใจก็รู้อาการตรงตามความเป็นจริงว่าจิตหลงไปทำอะไร เช่นหลงใจลอย หลงคิด หลงตั้งท่าปฏิบัติ หลงแสวงหาอารมณ์ หลงเพ่งอารมณ์ และหลงแก้ไขอารมณ์ เป็นต้น) ทั้งนี้ไม่ต้องตามพากย์หรือคิดบรรยายว่าจิตกำลังมีอารมณ์หรืออาการอย่างนั้นอย่างนี้ ขอเพียงมีความรู้สึกตัว ไม่ลืมตัว ไม่เอาแต่คิด หรือไม่เอาแต่เพ่งจิตหรืออารมณ์ที่จิตไปรู้เข้า จิตและความรู้สึกทั้งหลายในจิตย่อมแสดงความเป็นจริงที่เขาเป็นเพียงนาม ไม่ใช่ตัวเรา ออกมาให้เห็นได้

หากจับหลักปฏิบัติได้เท่านี้ก็เจริญสติในชีวิตประจำวันได้แล้ว คือให้หมั่นมีความรู้สึกตัว แล้วตามรู้อาการทางกายและทางใจเรื่อยๆ ไปแบบไม่หวังผล เช่นกายไหวก็รู้กาย จิตไหวก็รู้จิต เป็นต้น




ตอนที่ 026

ตัวอย่างการเจริญสติ
ในชีวิตประจำวัน

4. ตัวอย่างการเจริญสติในชีวิตประจำวัน

ต่อจากนี้จะยกตัวอย่างการเจริญสติในชีวิตประจำวัน ให้เพื่อนนักปฏิบัติฟังโดยสังเขป ดังนี้

4.1 ตามรู้กายหรือตามรู้ใจในทันทีที่ตื่นนอน

นักปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน จะเริ่มต้นการปฏิบัติธรรมสำหรับ วันใหม่ในทันทีที่ตื่นนอน ในขณะที่คนทั่วไปจะปล่อยใจให้คิดฝัน ล่องลอยไปในทันทีที่ตื่นนอน เช่นปล่อยใจให้สะลึมสะลืออยู่กับอาการ ครึ่งหลับครึ่งตื่นไปอีกช่วงหนึ่ง หรือฝันหวานกลับไปถึงอดีต หรือกังวลไปถึงอนาคต เป็นต้น

แต่สำหรับนักปฏิบัตินั้น ทันทีที่รู้สึกตัวตื่น สติอาจจะระลึกรู้อิริยาบถของกายที่นั่งหลับหรือนอนหลับอยู่ เป็นการรู้สบายๆ ทั่วกาย ไม่ได้จำกัดอยู่ที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง และมีความรู้สึกทางใจ (ไม่ใช่คิด) ว่า สิ่งที่นอนอยู่นี้คือรูปธรรม หรือก้อนธาตุที่มากองอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่ ตัวเรานั่งหรือนอนอยู่ และรูปนี้เป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้เท่านั้น

หรือนักปฏิบัติบางท่านซึ่งถนัดจะรู้จิต ก็จะเริ่มอ่านจิตใจตนเองในทันทีที่รู้สึกตัวตื่น เช่นผู้ที่เป็นนักเรียนหรือข้าราชการ อาจจะรู้สึกเบื่อหน่ายเมื่อตื่นขึ้นและนึกได้ว่าวันนี้เป็นวันจันทร์ หรือรู้สึกสดชื่นและผ่อนคลายเมื่อนึกได้ว่าวันนี้เป็นวันศุกร์และพรุ่งนี้ไม่ต้องทำงาน และนักปฏิบัติจะมีความรู้สึกทางใจ (ไม่ใช่คิด) ว่า ความเบื่อหน่ายหรือ ความสดชื่นนั้นเป็นเพียงนามธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ตัวเราและเป็นเพียง สิ่งที่ถูกรู้เท่านั้น

4.2 ตามรู้ความเปลี่ยนแปลงทางกายและทางใจต่อไป
เมื่อตื่นนอนแล้ว คนทั่วไปอาจจะบิดขี้เกียจ แต่นักปฏิบัติอาจรู้สึกได้ถึงความปวดเมื่อยกาย และรู้ถึงความต้องการบิดขี้เกียจเพื่อแก้เมื่อย แล้วก็บิดขี้เกียจ ถัดจากนั้นก็รู้สึกถึงความสบายกายและรู้ถึงความรู้สึกผ่อนคลายทางใจที่เกิดตามมา และมีความรู้สึกทางใจ (ไม่ใช่คิด) ว่า รูปกายหรือความรู้สึกทางใจทั้งหลายนั้น เป็นเพียงรูปธรรมหรือ นามธรรมบางอย่าง ไม่ใช่ตัวเราและเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้เท่านั้น

เมื่อนึกได้ว่าวันนี้เป็นวันทำงานจะชักช้าอยู่ไม่ได้ คนทั่วไปอาจจะรีบเผ่นจากที่นอนไปอาบน้ำ รับประทานอาหาร หรือแต่งตัวให้เสร็จๆ ไปเพื่อจะรีบออกจากบ้าน ระหว่างนั้นก็คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ แม้แต่เจ้าตัวเองก็จำไม่ได้ว่าคิดไปแล้วกี่สิบเรื่องในเวลาไม่กี่นาที

นักปฏิบัติใช้เวลาทำกิจวัตรเหล่านั้นเท่ากับหรือน้อยกว่าคนทั่วไป (เพราะไม่ต้องเสียเวลาให้กับความใจลอย) และทำกิจด้วยความรู้สึกตัว รู้กายรู้ใจ เช่นเมื่อจะอาบน้ำ หากอากาศเย็นและน้ำที่จะอาบก็เย็น นักปฏิบัติจะรู้ถึงความสยองใจอันเกิดจากความกลัวน้ำเย็น หากอากาศ ร้อนแต่น้ำเย็น นักปฏิบัติจะรู้ถึงความพอใจที่เกิดขึ้น หรือบางคนที่ถนัดจะรู้กาย ก็จะเห็นรูปเคลื่อนไหวไปตามหน้าที่ และจะมีความรู้สึกทางใจ (ไม่ใช่คิด) ว่า รูปและความรู้สึกทั้งหลายไม่ใช่ตัวเราและเป็นเพียง สิ่งที่ถูกรู้เท่านั้น

คนทั่วไปเมื่อจะรับประทานอาหาร หากพบว่ามีแต่ของอร่อย ก็จะเกิดความยินดีพอใจ หากพบของไม่อร่อยก็จะไม่พอใจ ส่วนนักปฏิบัติก็เกิดความพอใจและไม่พอใจเช่นเดียวกัน เพียงแต่พอใจก็รู้ว่าพอใจ ไม่พอใจก็รู้ว่าไม่พอใจ และจะมีความรู้สึกทางใจ (ไม่ใช่คิด) ว่า ความรู้สึกทั้งหลายไม่ใช่ตัวเราและเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้เท่านั้น

คนทั่วไปเมื่อรับประทานอาหารอร่อยก็อาจจะตัก เคี้ยว และกลืนอย่างเมามัน ส่วนนักปฏิบัติจะรู้สบายๆ ถึงรูปกายที่เคลื่อนไหวในอาการตัก เคี้ยว กลืน และจะมีความรู้สึกทางใจ (ไม่ใช่คิด) ว่า รูปที่เคลื่อนไหวอยู่นั้นไม่ใช่ตัวเราและเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้เท่านั้น (ตรงจุดนี้ขอแทรกข้อเท็จจริงสักเล็กน้อย คือคนจำนวนมากมักคิดว่านักปฏิบัติจะต้องมีชีวิตที่แห้งแล้ง เช่นเมื่อรับประทานอาหารก็ไม่รู้สึกถึงรสของอาหาร เพราะจิตเป็นกลางวางเฉยเสียแล้ว ที่คิดอย่างนี้ก็เพราะเจริญสติไม่เป็น ได้แต่กดข่มจิตใจให้นิ่งให้ซึมทื่อจนไม่รู้ร้อนรู้หนาว ไม่รู้สุขรู้ทุกข์ ถ้าเจริญสติถูกต้องจิตจะคล่องแคล่วปราดเปรียวในการรู้อารมณ์ กระทั่งรสอาหารก็รู้ได้ละเอียดยิบทีเดียว)

คนทั่วไปเมื่อแต่งตัวอาจจะแต่งไปอย่างอัตโนมัติ (ในกรณีที่แต่งเครื่องแบบเหมือนกันทุกวัน) หรือคิดอุตลุตว่าวันนี้จะแต่งอย่างไรดี ถ้ารู้สึกว่าแต่งแล้วตนเอง "ดูดี" ก็พอใจ ถ้ารู้สึกว่า "ไม่ดี" ก็ชักจะไม่สบายใจ หรือคิดอยากได้เครื่องแต่งกายอย่างนั้นอย่างนี้ต่อไปอีก ส่วนนักปฏิบัติคิดจะแต่งกายอย่างไรก็ตามรู้ความเคลื่อนไหวของร่างกาย ที่ทำหน้าที่แต่งกายไป และความรู้สึกทางใจเกิดขึ้นอย่างใดก็รู้ และจะมีความรู้สึกทางใจ (ไม่ใช่คิด) ว่า รูปและความรู้สึกทั้งหลายไม่ใช่ตัวเรา และเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้เท่านั้น


ตอนที่ 027

การเจริญสติบนถนน

4.3 การเจริญสติบนถนน
สำหรับคนทั่วไปที่ต้องอาศัยรถประจำทางไปทำงาน ถ้าต้องรอรถนานก็อาจจะหงุดหงิด กังวล กระสับกระส่ายเพราะกลัวไปทำงานสาย หรือเห็นรถประจำทางว่างวิ่งมาก็จะรู้สึกดีใจ แต่พอรถนั้นไม่จอดรับผู้โดยสาร ความรู้สึกดีใจก็จะเปลี่ยนไปเป็นความโกรธ จิตใจของเขาถูกเหวี่ยงขึ้นเหวี่ยงลงอยู่ตลอดเวลา สำหรับนักปฏิบัติก็มองเห็นสิ่งเดียว กับผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติ และอาจเกิดปฏิกิริยาของจิตในทำนองเดียวกัน แต่จะมีสติตามรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิตอยู่เนืองๆ และจะมีความรู้สึกทางใจ (ไม่ใช่คิด) ว่า รูปที่เห็นและความรู้สึกทั้งหลายไม่ใช่ตัวเราและเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้เท่านั้น

สำหรับคนทั่วไปที่ขับรถเอง วันไหนรถติดหรือติดไฟแดงบ่อย ก็จะหงุดหงิด แล้วปล่อยใจให้จมแช่อยู่กับความหงุดหงิดนั้น หรือวันไหนเห็นถนนว่างก็จะรู้สึกดีใจ แล้วปล่อยใจหลงฟุ้งซ่านคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ไปเลย สำหรับนักปฏิบัติจะรู้ทันจิตใจของตนอยู่เนืองๆ และจะมีความรู้สึกทางใจ (ไม่ใช่คิด) ว่า ความรู้สึกทั้งหลายไม่ใช่ตัวเราและเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้เท่านั้น

คนทั่วไปที่ขับรถในเมืองใหญ่หรือขับรถตามทางหลวง มักจะได้พบ การถูกขับรถปาดหน้าในบางครั้ง สิ่งที่ตามมาคือความโกรธ แล้วเกิดพฤติกรรมเช่นการด่าเพื่อระบายโทสะ (แม้คู่กรณีจะไม่ได้ยินก็ตาม) หรือการพยายามขับรถเพื่อแข่งหรือปาดคืนเพื่อแก้แค้น แต่ถ้าเป็นนักปฏิบัติจะมีสติระลึกรู้การปาดหน้านั้นว่าเป็นเพียงรูปที่ตาเห็น ถ้าสติ ไม่ทันตรงจุดนี้ก็จะมีสติระลึกรู้ว่า จิตคิดให้ค่าสิ่งที่ตาเห็นว่าเป็นอารมณ์ที่ไม่ดี ถ้าสติไม่ทันตรงจุดนี้ก็จะมีสติระลึกรู้ความโกรธที่พุ่งขึ้นกลางอกซึ่งถ้าโทสะมีกำลังกล้าก็จะเกิดอาการเลือดขึ้นหน้า ถ้าสติไม่ทันตรงจุดนี้ก็จะมีสติระลึกรู้ความอยากด่าหรือความอยากขับรถไปปาดหน้าคืน ซึ่งความอยากนี้ก็พุ่งขึ้นที่กลางอกเช่นกัน ถ้าสติไม่ทันตรงจุดนี้ก็จะเกิดพฤติกรรมทางกายและวาจา หากมีสติรู้ตรงจุดนี้ก็ยังพอจัดว่าเป็นผู้เจริญสติได้เหมือนกัน ทั้งนี้คนทั่วไปจะรู้สึกว่า "มันขับรถปาดเรา" ส่วนผู้ปฏิบัติจะมีความรู้สึกทางใจ (ไม่ใช่คิด) ว่า รูปและความรู้สึกทั้งหลายไม่ใช่ตัวเราและเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้เท่านั้น

4.4 การเจริญสติในเวลาทำงาน
หากทำงานที่ใช้ร่างกาย เช่นงานรดน้ำต้นไม้ งานทำความสะอาด งานเฝ้ายาม งานบรรจุผลไม้กระป๋อง ฯลฯ คนทั่วไปจะคิดว่าเราทำงานบ้าง ใจลอยไปที่อื่นบ้าง รู้สึกเบื่อหน่ายงานบ้าง รู้สึกว่าเราเมื่อยบ้าง ส่วนนักปฏิบัติจะมีความรู้สึกทางใจ (ไม่ใช่คิด) ว่า รูปและความรู้สึกทั้งหลายไม่ใช่ตัวเราและเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้เท่านั้น

หากทำงานที่ใช้กำลังสมอง เช่นเรียนหนังสือ หรือทำงานที่ต้องใช้ความคิด ในระหว่างที่มีกิจต้องทำงานนั้นคนทั่วไปจะรู้สึกว่าเราทำงาน ส่วนนักปฏิบัติไม่ต้องเจริญสติ เพราะจิตต้องดู ต้องฟัง และต้องคิดนึกปรุงแต่งให้รู้เรื่อง จึงไม่สามารถจะเจริญสติได้ แต่เมื่อทำงานไปแล้วเกิดมีสภาวธรรมเช่นเกิดความสุขใจที่งานสำเร็จด้วยดี เกิดความทุกข์ ใจที่งานถูกตำหนิ เกิดกุศลเช่นอิ่มใจว่างานที่ทำสำเร็จเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และเกิดอกุศลเช่นโกรธผู้ที่คัดค้านความเห็นของเราในที่ประชุม ฯลฯ จึงค่อยมีสติระลึกรู้สภาวธรรมดังกล่าว และจะมีความรู้สึกทางใจ (ไม่ใช่คิด) ว่า รูปและความรู้สึกทั้งหลายไม่ใช่ตัวเราและเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้เท่านั้น จนเมื่อจิตใจเป็นกลางแล้วจึงตั้งใจทำงานด้วยความมีสมาธิในการทำงานต่อไป

4.5 การเจริญสติเมื่อใช้ชีวิตในครอบครัวและสังคม
การใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคม นับตั้งแต่ครอบครัวจนถึงสังคมที่ใหญ่มากขึ้น ไม่สามารถจะหนีจากโลกธรรมได้ คือบางคราวก็มีลาภยศสรรเสริญสุข บางคราวก็เสื่อมลาภเสื่อมยศถูกนินทาและทุกข์ บางคราวก็มีเรื่องให้ดีใจ บางคราวก็เสียใจ บางคราวก็สมหวัง บางคราวก็ผิดหวัง คนทั่วไปก็จะมีใจฟูขึ้นบ้างแฟบลงบ้าง และรู้สึกว่าเราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ส่วนนักปฏิบัติก็อาจมีใจฟูขึ้นบ้างแฟบลงบ้าง แต่จะมีความรู้สึกทางใจ (ไม่ใช่คิด) ว่า สิ่งทั้งหลายนั้นไม่ใช่ตัวเราและเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้เท่านั้น

ตอนที่ 028

การเจริญสติ
เมื่อมีปัญหาชีวิตที่รุนแรง

4.6 การเจริญสติเมื่อมีปัญหาชีวิตที่รุนแรง
บางสถานการณ์เราอาจต้องเผชิญกับปัญหาชีวิตที่รุนแรงโดยไม่ได้คาดหมายไว้ก่อน เช่นเจ็บป่วยรุนแรงและกะทันหันถึงขั้นพิการหรือใกล้ตาย ลูกติดยาเสพติด สามีหรือภรรยานอกใจ คนที่รักเสียชีวิตหรือพิการ ไฟไหม้บ้าน ธุรกิจการงานมีปัญหา ต้องคดีอาญาเช่น ขับรถชนคนตาย เป็นต้น ในกรณีเช่นนี้คนทั่วไปจะเกิดความเครียด อย่างรุนแรงถึงขั้นกินไม่ได้นอนไม่หลับ และไม่สามารถใช้สติปัญญาแก้ไขปัญหาชีวิตได้อย่างเหมาะสม ส่วนนักปฏิบัติก็ย่อมมีความทุกข์ทางใจที่รุนแรงเช่นกัน แต่ก็ต้องใช้ธรรมะช่วยแก้ปัญหาชีวิตให้ดีที่สุด สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือขจัดความทุกข์หรือความเครียดออกจากจิตใจเสียก่อน ให้เหลือแต่ตัวปัญหาจริงๆ แล้วจึงใช้สติปัญญาแก้ไขที่สาเหตุของปัญหาต่อไป หากพยายามแก้ปัญหาจนสุดความสามารถแล้วได้ผลแค่ไหน ก็ต้องยอมรับแค่นั้น

การขจัดความเครียดออกจากจิตใจ มีเครื่องมือหลายอย่างให้เลือกใช้ตามความเหมาะสมเช่น (1) การเจริญวิปัสสนา ได้แก่การเจริญสติตามรู้ใจที่เป็นทุกข์ และรู้ทันความอยากที่จะให้หายทุกข์ จนจิตเป็นกลางต่อความทุกข์และสลัดตัวหลุดออกจากความทุกข์ (2) การยอมรับสถานการณ์ว่าเป็นผลของกรรมเก่า ได้แก่การตรึกตรองว่าสิ่งทั้งปวงที่ต้องมาประสบนั้นเป็นผลของกรรมเก่า ไม่ควรปฏิเสธ แต่ควรตั้งสติเผชิญสถานการณ์อย่างใจเย็น และทำกรรมใหม่ที่ดีเพื่อแก้ไขปัญหานั้น (3) การทำสมถะคือมีสติน้อมไประลึกอยู่ในอารมณ์อันเดียว เช่นคิดถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ และระลึกถึงลมหายใจ ฯลฯ และ (4) การแก้ปัญหาอย่างโลกๆ เช่นปรึกษาหารือกับคนที่ไว้ใจได้ว่าจะไม่แนะนำในทางเสียหาย อ่านหนังสือ ฟังเพลง แต่อย่าแก้ปัญหาอย่างผิดศีลธรรม เช่นการพึ่งพาสิ่งเสพย์ติดและการใช้ความรุนแรง ทั้งนี้เมื่อจิตใจสบายแล้วจึงค่อยคิดพิจารณาแก้ไขปัญหาชีวิตต่อไป ที่สำคัญก็คืออย่าอยากให้ไม่มีปัญหา เพราะปัญหามันมีขึ้นมาแล้ว จำเป็นต้องวิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหาและคิดวิธีการแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ ขอย้ำคำว่า "เท่าที่จะกระทำได้"

4.7 การเจริญสติในภาพรวม
คนทั่วไปเมื่อดูก็คิดว่าเราดู ส่วนนักปฏิบัติจะรู้สึกว่าจิตเป็นผู้ดไม่ใช่เราดู คนทั่วไปเมื่อฟังก็คิดว่าเราฟัง ส่วนนักปฏิบัติจะรู้สึกว่าจิตเป็นผู้ฟังไม่ใช่เราฟัง คนทั่วไปเมื่อได้กลิ่นก็คิดว่าเราได้กลิ่น ส่วนนักปฏิบัติจะรู้สึกว่ารูป (จมูก) เป็นผู้ได้กลิ่นไม่ใช่เราได้กลิ่น คนทั่วไปเมื่อ รู้รสก็คิดว่าเรารู้รส ส่วนนักปฏิบัติจะรู้สึกว่ารูป (ลิ้น) เป็นผู้รับรสไม่ใช่เรารับรส คนทั่วไปเมื่อรู้กระทบความเย็นร้อนอ่อนแข็งตึงไหวก็คิดว่าเรากระทบ ส่วนนักปฏิบัติจะรู้สึกว่ารูป (กาย) เป็นผู้กระทบไม่ใช่เรากระทบ คนทั่วไปเมื่อใจรู้สิ่งใดก็คิดว่าเรารู้ ส่วนนักปฏิบัติจะรู้ว่าใจรู้ไม่ใช่เรารู้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2008, 13:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


ตอนที่ 029
พัฒนาการทางปัญญา

5. พัฒนาการทางปัญญา
การเจริญสติในชีวิตประจำวัน ด้วยการมีสติตามรู้กายและตามรู้ใจด้วยจิตที่มีความตั้งมั่น/รู้สึกตัวอยู่เนืองๆ จะก่อให้เกิดพัฒนาการทางปัญญา คือเกิดความรู้ถูกเข้าใจถูกตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า มากขึ้นตามลำดับ ดังนี้

5.1 ผู้ปฏิบัติจะเริ่มสังเกตเห็นว่าตัวเราไม่มี มีแต่รูปกับนามเพราะเห็นว่ากายซึ่งถูกรู้อยู่นั้นเป็นเพียงรูป ไม่ใช่เรา และเห็นว่าจิตก็เป็นเพียงนาม ไม่ใช่เราเช่นกัน

5.2 ผู้ปฏิบัติที่ตามรู้กายและตามรู้ใจมากเข้าๆ จะพบความจริงว่ารูปนามหรือกายใจนั้นเป็นสิ่งที่มีเหตุทำให้เกิดขึ้น ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นลอยๆ และถ้าเหตุนั้นดับไป รูปนามนั้นก็ดับไปด้วย ตัวอย่างเช่นได้เห็นความจริงว่ารูปยืน เดิน นั่ง นอนนั้นเกิดจากจิตสั่ง คือเมื่อนั่งนานกายก็เป็นทุกข์ จิตก็สั่งให้กายเปลี่ยนอิริยาบถ ทำให้รูปนั่งที่มีอยู่เดิมดับไป เกิดรูปใหม่เช่นรูปยืนหรือรูปนอนขึ้นแทนที่ เป็นต้น และได้เห็นความจริงว่านามเองก็เกิดเพราะรูปได้ เช่นอาศัยตากับรูปเป็นปัจจัย ทำให้เกิดนามจิตคือความรับรู้อารมณ์ทางตา เป็นต้น และบางทีก็ได้เห็นความจริงว่านามทำให้เกิดนามก็มี เช่นเมื่อจิตเกิดความโกรธ จิตก็เกิดความอยากจะทำลายอารมณ์ที่ไม่ดีนั้น เป็นต้น

5.3 ผู้ปฏิบัติที่ตามรู้กายและตามรู้ใจมากเข้าๆ จะได้พบว่ารูปนามหรือกายใจมีลักษณะเป็นไตรลักษณ์ คือเป็นสิ่งที่มีความแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถดำรงอยู่ได้นาน และไม่อยู่ในอำนาจบังคับตามใจปรารถนา แต่ในเบื้องต้นจะเห็นจะรู้ว่ารูปนามเป็นไตรลักษณ์เพราะการเห็นความแตกต่างว่า รูปปัจจุบันกับรูปเมื่อกี้นี้เป็นคนละรูปกัน (เช่นเดิมนั่งอยู่แต่เดี๋ยวนี้กำลังยืน แสดงว่ารูปนั่งไม่เที่ยง) หรือจิตใจในขณะนี้ ต่างจากจิตใจก่อนหน้านี้ (เช่นเดิมดีใจที่ได้พบเพื่อนเก่า แต่พอคุยกันแล้วเกิดความโกรธเพราะเพื่อนพูดขัดคอ แสดงว่าความดีใจไม่เที่ยง) อย่างไรก็ตามการเห็นไตรลักษณ์ด้วยวิธีนี้ยังไม่ใช่การเจริญวิปัสสนาที่แท้จริง เพราะยังเจือด้วยการคิด คือคิดเปรียบเทียบรูปนามปัจจุบันกับรูปนามในอดีต

5.4 ผู้ปฏิบัติที่ตามรู้กายและตามรู้ใจมากเข้าๆ จะเริ่มสังเกตเห็นความเกิดดับ/เปลี่ยนแปลงของรูปนามในปัจจุบัน เช่นเห็นรูปนั่งต้องขยับกายหนีความปวดเมื่อยอยู่เสมอๆ และเห็นรูปหายใจเข้าเปลี่ยนเป็นรูปหายใจออก เป็นต้น ส่วนความรู้สึกทางใจก็มีความเกิดดับเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่สติก็ตามรู้ทันว่ารูปและนามนั้นเมื่อดับลงจะมีช่องว่างเล็กๆอันหนึ่งมาคั่นไว้ ก่อนที่จะเกิดรูปนามใหม่ต่อไปอีก เช่นในขณะที่นั่งฟังพระแสดงธรรมอยู่นั้น ประเดี๋ยวก็ใช้ตาดูพระผู้แสดงธรรม ประเดี๋ยวก็ใช้หูฟังเสียงพระผู้แสดงธรรม ประเดี๋ยวก็ใช้ใจคิดพิจารณาเนื้อธรรมที่ได้ฟัง พอคิดไปได้หน่อยเดียว ความรู้สึกนึกคิดก็ถูกหน่วงแล้วดับลง มีช่องว่างมาคั่นนิดหนึ่งแล้วจิตจึงออกรู้อารมณ์ครั้งใหม่ ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง หรือทางใจบ้าง หรืออย่างเวลามองหน้า ใครสักคนหนึ่ง ถ้าสติดีพอจะพบว่า เรามองหน้าเขาได้เพียงรูปเล็กๆ หรือจุดเล็กๆ เท่านั้น แล้วการเห็นภาพนั้นก็เลือนลางไป เราก็ต้องดูรูปใหม่บ่อยๆ คล้ายกับการต่อรูปจิ๊กซอร์ แล้วอาศัยความจำรูปได้เรียบเรียงขึ้นเป็นหน้าคนๆหนึ่ง การเห็นว่ารูปดับไปแล้วเกิดรูปใหม่ หรือนามดับไปแล้วเกิดนามใหม่นี้ จัดเป็นขั้นการเจริญวิปัสสนา เพราะรู้ถึงความเกิดดับของรูปนามอยู่ต่อหน้าต่อตา โดยเห็นว่าความสืบเนื่อง หรือสันตติของรูปนามนั้นขาดออกจากกันได้ต่อหน้าต่อตาทีเดียว

5.5 ผู้ปฏิบัติที่ตามรู้กายและตามรู้ใจมากเข้าๆ สติปัญญาจะกล้าแข็งขึ้นตามลำดับ คือพอรูปหรือนามเกิดขึ้นสติก็รู้ทัน แล้วปัญญาก็ตัดรูปนามนั้นดับวับไปอย่างรวดเร็ว เช่นเพียงแต่มีความไหวยิบยับขึ้นกลางอกนิดเดียว สติก็รู้ทันแล้วไม่ปรุงแต่งต่อ ความไหวยิบยับนั้นก็ดับลงทั้งที่ยังไม่ทราบว่านั่นเป็นความปรุงแต่งเรื่องอะไรเลย ในขั้นนี้สติปัญญาเข้ามารู้ความดับยิ่งกว่าจะสนใจว่าสิ่งใดเกิดขึ้น

5.6 ผู้ปฏิบัติที่ตามรู้กายและตามรู้ใจมากเข้าๆ จะรู้สึกถึงความไร้สาระของรูปนามที่เห็นเกิดดับๆอยู่นั้น บางคนเห็นว่ารูปนามเป็นสิ่งที่พึ่งพาอาศัยไม่ได้เพราะแปรปรวนตลอดเวลา บางคนรู้สึกกลัว บางคนรู้สึกเบื่อหน่าย ผู้ปฏิบัติมีหน้าที่รู้เท่าทันความรู้สึกนึกคิดของ ตน อย่าให้โทสะครอบงำจิตได้ จิตก็จะเริ่มเป็นกลางและเรียนรู้ความจริงของรูปนามต่อไป

5.7 ผู้ปฏิบัติที่ตามรู้กายและตามรู้ใจมากเข้าๆ จะเริ่มเห็นความจริงว่ารูปนามทั้งหลายนั้นมีลักษณะเป็นไตรลักษณ์ จิตใจก็เริ่มเป็นกลางต่อรูปนามทั้งหลาย เช่นเห็นว่ารูปทั้งหลายเป็นสิ่งที่บังคับไม่ได้ หรือจิตใจจะหยาบหรือละเอียด จะเป็นอกุศลหรือกุศล จะทุกข์หรือสุข ล้วนแต่บังคับให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ จิตใจก็จะก้าวเข้าสู่สภาวะที่เป็นกลางต่อสังขารหรือรูปนาม ด้วยปัญญาที่รู้ว่ารูปนามมีสภาวะเป็นไตรลักษณ์ จากนั้นจิตใจก็จะพัฒนาออกห่างจากทุกข์คือรูปนามไปตามลำดับ โดยเบื้องต้นจะเห็นความจริงว่ารูปนามไม่ใช่เรา เราไม่มี มีแต่รูปนาม และเบื้องปลายจะละความยึดถือในรูปนามเสียได้ โดยจิตจะสลัดความยึดถือว่าจิตเป็นตัวเป็นตนของตนทิ้ง เข้าถึงความปลอดโปร่ง โล่งสบายเพราะความไม่ถือมั่นในรูปนามให้เป็นภาระกดถ่วงจิตใจอีกต่อไป

อนึ่งผู้ปฏิบัติที่รู้สึกตัวเป็นแล้ว จะรู้สึกได้ในทันทีว่ากายไม่ใช่เรา แต่จิตยังเป็นเราอยู่ และถ้าสังเกตดูโลกภายนอกเช่นรูป เสียง กลิ่น รส ทั้งหลาย จะพบว่าโลกภายนอกเป็นของว่างจากความเป็นตัวตน และปราศจากน้ำหนักอยู่แล้ว แต่จิตใจภายในยังมีน้ำหนัก (ทุกข์เพราะอุปาทานขันธ์) อยู่

แม้เมื่อละความเห็นผิดว่าจิตเป็นตัวเราได้แล้ว จิตใจก็ยังมีน้ำหนักมากกว่าโลกภายนอกอยู่ เพียงแต่น้ำหนักนั้นลดน้อยลงไปตามลำดับ ต่อเมื่อปฏิบัติจนถึงจุดที่ความยึดจิตขาดกระเด็นออกจากจิตแล้ว จะพบว่าโลกภายในก็ว่างเปล่าและปราศจากน้ำหนัก เสมอกันกับโลกภายนอก ธรรมจึงไม่มีนอกไม่มีใน แต่เป็นสิ่งเดียวรวดที่ว่างและปราศจากความทุกข์ทางใจโดยสิ้นเชิง


ตอนที่ 030
ข้อสรุปเกี่ยวกับการเจริญสติ
ในชีวิตประจำวัน

6. ข้อสรุปเกี่ยวกับการเจริญสติในชีวิตประจำวัน

6.1 วัตถุประสงค์ของการเจริญสติ ก็คือการเรียนรู้กายใจหรือรูปนามตามความเป็นจริง จนเกิดปัญญารู้ว่ารูปนามไม่ใช่ตัวเราของเรา และเป็นวิธีเรียนรู้รูปนามต่อไปอีก จนจิตหลุดพ้นจากกองทุกข์คือรูปนามด้วยความไม่ถือมั่นในรูปนามได้ในที่สุด

6.2 ก่อนการเจริญสติผู้ปฏิบัติจะต้องมีศีลตั้งใจงดเว้นการทำบาปอกุศลอย่างน้อย 5 ประการ เพื่อตัดเครื่องกังวลใจต่างๆ และจะต้องพัฒนาคุณภาพของจิตให้พร้อมสำหรับการเจริญสติ นั่นคือการสร้างสัมมาสมาธิให้เกิดขึ้น อันได้แก่การสร้างความรู้สึกตัว ให้จิตใจตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่หลงไปทางทวารทั้ง 6 เพื่อสามารถรู้เห็นกายใจตามความเป็นจริงได้ สภาวะดังกล่าวนี้ก็คือสิ่งที่หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ท่านสอนไว้ว่า อย่าส่งจิตออกนอก นั่นเอง เพื่อว่าเวลาดูจะได้ไม่หลงดู เวลาฟังจะได้ไม่หลงฟัง .. เวลาคิดนึกปรุงแต่งจะได้ไม่หลงไปในความคิดนึกปรุงแต่ง

6.3 เมื่อจิตมีความตั้งมั่นแล้ว ผู้ปฏิบัติจึงอาศัยสติตามรู้กาย (รูปปรมัตถ์) ก็ได้ ตามรู้เวทนาก็ได้ หรือตามรู้จิตก็ได้ แล้วแต่จริตนิสัยว่ารู้สิ่งใดแล้วสติจะเกิดได้บ่อยๆ และเมื่อฝึกซ้อมจนชำนาญแล้วในที่สุด ก็จะสามารถรู้รูปนามได้กว้างขวาง คือเมื่ออารมณ์ปรากฏขึ้นทางทวารใดก็มีสติระลึกรู้สภาวะของอารมณ์นั้นได้โดยไม่ต้องตั้งใจรู้ และรู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง ไม่หลงเข้าไปในอารมณ์ที่จิตไปรู้เข้านั้น อนึ่งการตามรู้กายหรือการตามรู้จิตใจ จะต้องมีลักษณะเป็นการตามรู้ไปอย่างสบายๆ ไม่ใช่รู้อย่างเอาเป็นเอาตาย ต้องเหมือนกับรู้เล่นๆ ไปเป็นระยะๆ ก็พอ เมื่อสติแก่กล้าขึ้นแล้วจึงจะเกิดการตามรู้อย่างถี่ยิบได้เอง หากจู่ๆ ก็จะรู้ให้ได้ตลอดเวลา ก็มักจะกลายเป็นการหลงเพ่งจ้องอย่างลืมเนื้อลืมตัว ซึ่งนับว่าเป็นข้อผิดพลาดของการปฏิบัติ

6.4 สติเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นตามใจไม่ได้ หากแต่เกิดขึ้นเพราะจิตจดจำสภาวธรรมได้แม่นยำ เช่นผู้ที่เคยฝึกมีสติตามรู้รูปยืนเดินนั่งนอนอยู่เนืองๆ ต่อมาเมื่อเผลอขาดสติแล้วเกิดการเคลื่อนไหวกายขึ้น สติก็จะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ หรือผู้ที่เคยฝึกรู้จิตอยู่เสมอๆ ต่อมาเมื่อเผลอขาดสติแล้วเกิดการเคลื่อนไหวทางจิตขึ้น เช่นเกิดสุขทุกข์ กุศลอกุศล หรือเกิดการส่งจิตทะยานไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สติก็จะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ดังนั้นในเบื้องต้นจึงต้องหมั่นตามระลึกรู้อาการปรากฏทางกายและอาการหรืออารมณ์ที่ปรากฏทางใจไว้เป็นระยะๆ พอถึงเบื้องปลายสติจะเกิดระลึกรู้ได้เองเมื่อสภาวธรรมที่จิตรู้จักแล้วปรากฏขึ้นมา

6.5 ปัญญาเป็นสิ่งที่จงใจทำให้เกิดไม่ได้ ดังนั้นไม่ต้องช่วยคิดพิจารณาสภาวธรรมใดๆ หากมีสติตามรู้กายตามรู้ใจอย่างถูกต้องจริงๆ คือรู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง จิตจะต้องเกิดปัญญารู้ความจริงของกายและใจว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ หรือเป็นอนัตตาเข้าจนได้ไม่ยากเลย แต่ถ้าปฏิบัติไปด้วยตัณหาคือความอยากรู้ธรรม หรือเอาทิฏฐิคือความคิดความเห็นเข้ามาเจือปนในการรู้ กลับจะยิ่งทำให้การรู้ความจริงต้องเนิ่นช้า ออกไปอีก เพราะตัณหาและทิฏฐินั่นแหละเป็นธรรมเครื่องเนิ่นช้า

6.6 เมื่อจิตเข้าใจรูปนามหรือกายใจตรงตามความเป็นจริงว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาแล้ว จิตจะทำลายความเห็นผิดว่า รูปนามคือตัวเรา ลงได้ และเมื่อปฏิบัติมากเข้า จิตก็ยิ่งปล่อยวางรูปนามและถอดถอนตนเองออกห่างไปจากกองทุกข์คือรูปนามไปตามลำดับ และความหนักหน่วงในจิตเพราะความยึดมั่นในขันธ์จะค่อยคลายสลายตัวออกจากจิต

6.7 ผู้ปฏิบัติที่มีความรู้สึกตัวแล้ว จะเห็นธรรมภายนอกว่างเปล่าจากตัวตน คือเห็นโลกเป็นของว่างและไร้น้ำหนักได้โดยไม่ยากเลย เพราะความจริงโลกก็ว่างอยู่แล้วเพียงแต่เรามองไม่เห็นเพราะมัวแต่หลง โลกเท่านั้นเอง แต่ธรรมภายในคือจิตของตนนั้นยังมีน้ำหนักมากกว่าธรรมภายนอก แต่ถ้าปฏิบัติถูกต้อง ธรรมภายในก็จะเบาลงเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งความเป็นตัวตนของจิตก็จะกระเด็นออกไปเองโดยไม่ได้จงใจ จิตจะเป็นอิสระจากขันธ์ และเป็นธรรมชาติที่ว่างจากตัวตนและทุกข์ และไร้น้ำหนักเช่นเดียวกับธรรมภายนอกนั่นเอง ความว่างภายในกับความว่างภายนอกก็รวมเป็นอันเดียวรวด ถ้าเรียกอย่างเซ็นนี่ก็คือ มหาสุญญตา และนี่คือสิ่งที่หลวงปู่ดูลย์ อตุโลท่านกล่าวว่า จิตกับสภาวะที่แวดล้อมอยู่เป็นสิ่งเดียวกันนั่นเอง สำหรับพวกเราชาวเถรวาทเพียงทราบไว้ประดับความรู้เล่นๆ ก็พอแล้ว จุดสำคัญอยู่ที่การมีสติรู้ทุกข์คือรู้กายรู้ใจ และรู้ในลักษณะของการตามรู้ไปเนืองๆ ด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง ส่วนผลจะปรากฏเป็นความพ้นทุกข์อย่างไรก็จะสัมผัสได้ด้วยตนเองเป็นลำดับๆ ไป

หมายเหตุ ผู้เขียนได้เขียนข้อ 5 ของบทความนี้ไว้อีกสำนวนหนึ่ง แต่เห็นว่าอ่านยากเกินไปสำหรับเพื่อนนักปฏิบัติทั่วไป จึงตัดออกแล้วเขียนข้อ 5 ใหม่ตามที่ได้อ่านผ่านมาแล้ว สำหรับสำนวนเดิมที่เขียนไว้ก็น่าเสียดายที่จะทิ้งไป เพราะอาจถูกกับจริตนิสัยของเพื่อนนักปฏิบัติบางท่านที่ชอบศึกษาสิ่งที่ยุ่งยากซับซ้อน จึงเก็บมาลงพิมพ์ไว้ในที่นี้ด้วย


ตอนที่ 031
การพัฒนาทางปัญญา
(สำนวนเดิม)

5. พัฒนาการทางปัญญา
การเจริญสติในชีวิตประจำวัน ด้วยการมีสติตามรู้กายและตามรู้ใจด้วยจิตที่มีความตั้งมั่น/รู้สึกตัวอยู่เนืองๆ จะก่อให้เกิดพัฒนาการทางปัญญา คือเกิดความรู้ถูกเข้าใจถูกตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า มากขึ้นตามลำดับ ดังนี้

5.1 การจำแนกรูปนามและสมมุติบัญญัติ การที่นักปฏิบัติมีความรู้สึกตัวเนืองๆ แล้วมีสติตามระลึกรู้อารมณ์ที่มากระทบสัมผัสทางทวารทั้ง 6 อยู่นั้น จะทำให้เกิดปัญญาจำแนกรูปนามและสมมุติบัญญัติได้อย่างเป็นธรรมชาติยิ่ง ขอยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่งคือ การรู้ว่าจิตมีความสุข

เมื่อจิตมีความสุข ผู้ปฏิบัติรู้ว่าจิตมีความสุข ปฏิบัติใหม่ๆ ก็อาจหลงผิดว่าเราสุข แต่เมื่อระลึกรู้บ่อยเข้าก็จะสังเกตเห็นว่า (1) ความสุข เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง (เรียกว่าสุข/โสมนัสเวทนา) ไม่ใช่จิต และไม่ใช่ตัวเรา เป็นแต่เพียงสิ่งบางสิ่งที่จิตไปรู้เข้าเท่านั้น มีอาการแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา มีแล้วก็ดับไป และบังคับไม่ได้ (2) จิตก็เป็นธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งที่ไปรู้ความสุข/โสมนัสเข้า (3) ความคิดว่าสภาวะอย่างนี้ คือความสุขและดีเหลือเกิน ก็เป็นอะไรอีกอย่างหนึ่ง (4) กายอันเป็นที่ตั้งของสุขเวทนาก็เป็นธรรมชาติอีกอย่างหนึ่ง และ (5) จุดกลางอกอันเป็นที่ปรากฏของโสมนัสเวทนาก็เป็นธรรมชาติอีกอย่างหนึ่ง

หากจะใช้ภาษาในเชิงปริยัติธรรมก็กล่าวได้ว่า (1) สุข/โสมนัสเป็นเวทนา จัดเป็นนามชนิดที่เป็นส่วนประกอบจิต คือนามเจตสิก (2) จิตซึ่งเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ จัดเป็นนามอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่านามจิต (3) ความคิดว่า "เวทนาอย่างนี้เรียกว่าความสุข หรือเราสุข" เหล่านี้เป็นสมมุติบัญญัติ ไม่ใช่รูปนาม มีแค่ชื่อเรียกขาน มีลักษณะอันเดียวคือเป็นอนัตตา (4) กายอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา เป็นรูปและ (5) จุดอันเป็นที่ปรากฏแห่งโสมนัสเวทนาเรียกว่า หทยรูป เป็นรูปอีกชนิดหนึ่ง (หทยรูปนี้ตำราระบุว่าอยู่ที่หัวใจ แต่นักปฏิบัติถ้ารู้สึกว่าความรู้สึกทางใจผุดขึ้นที่ไหน ก็ควรเข้าใจว่านั่นคือหทยรูป)

เมื่อหัดระลึกรู้บ่อยๆ ไม่ช้าก็จะเข้าใจสภาวธรรมที่จำเป็นสำหรับการเจริญวิปัสสนา เช่น รู้รูปยืนเดินนั่งนอน (ว่าเป็นรูป ไม่ใช่จิต/ไม่ใช่เจตสิก/ไม่ใช่เรา) รู้สุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัส และอุเบกขาเวทนา (ว่าเป็นนามเจตสิก ไม่ใช่รูป/ไม่ใช่จิต/ไม่ใช่เรา) รู้โลภะ โทสะ โมหะ ฟุ้งซ่าน หดหู่ ฯลฯ (ว่าเป็นนามเจตสิก ไม่ใช่รูป/ไม่ใช่จิต/ไม่ใช่เรา) และรู้จิตคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ซึ่งเกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ (ว่าเป็นจิต ไม่ใช่รูป/ไม่ใช่เจตสิก/ไม่ใช่เรา)

5.2 การรู้เหตุเกิดของรูปนาม เมื่อหมั่นรู้สึกตัวและมีสติระลึกรู้รูปนามเสมอๆ จะสังเกตพบเหตุให้เกิดรูปนาม คือรู้ว่า นามทำให้เกิดรูปก็ได้ ได้แก่จิตนั่นเองเป็นผู้สั่งการให้เกิดการเปลี่ยนอิริยาบถ ทำให้รูปเก่าเช่นรูปนั่งดับไป แล้วเกิดรูปใหม่เช่นรูปยืนขึ้นแทน เป็นต้น

นามทำให้เกิดนามก็ได้ เช่นบางคราวความจำได้หมายรู้ผุดขึ้นทางใจ จิตเกิดรำพึงถึงอารมณ์ทางใจ แล้วก็เกิดจิตและเจตสิกที่เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เป็นต้น

รูปทำให้เกิดนามก็ได้ เช่นเมื่อตา (รูปภายใน) กระทบกับสี (รูปภายนอก) โดยจิตเกิดมนสิการคือรำพึงถึงอารมณ์ทางตาหรือออกรู้อารมณ์ ทางตา นามเห็นหรือจิตเห็น (จักขุวิญญาณจิต) ก็เกิดขึ้น เป็นต้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2008, 13:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


ตอนที่ 032
การรู้ความผันแปรของรูปนาม

5.3 การรู้ความผันแปรของรูปนาม เมื่อหมั่นรู้สึกตัวและมีสติระลึกรู้รูปนามเสมอๆ จะสังเกตพบความผันแปรของรูปนาม คือได้เห็นว่ารูปใหม่เกิดขึ้นแทนที่รูปเก่า แสดงว่ารูปเก่าไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ บังคับเอาไว้ไม่ได้ เช่นเมื่อนั่งอยู่ไม่นานก็จะเกิดความปวดเมื่อยทำให้ต้องเปลี่ยนอิริยาบถเช่นลุกขึ้นยืนและเดินเพื่อหนีทุกข์ไปชั่วคราว รูปนั่งที่มีอยู่เดิมก็ดับไป แล้วเกิดรูปยืนรูปเดินขึ้นมาแทนที่ เป็นต้น

ส่วนความรู้สึกทางใจก็เกิดความผันแปรตลอดเวลา และผันแปรเร็วกว่ารูปมากมายนัก คือจะเห็นว่า (1) บางคราวจิตก็มีความสุข บางคราวจิตก็มีความทุกข์ (2) บางคราวจิตก็เป็นกุศล บางคราวจิตก็เป็นอกุศลคือเกิดราคะ โทสะ โมหะ ฟุ้งซ่าน หดหู่ ฯลฯ (3) บางคราว จิตก็ตั้งมั่นรู้ตัวอยู่ต่างหากจากอารมณ์ในขณะที่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ และบางคราวจิตก็เผลอไหลไปเกาะแน่นอยู่กับอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่านามคือจิตและเจตสิกไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ และบังคับไม่ได้

การรู้รูปนามในขั้นนี้ยังไม่จัดว่าเป็นการเจริญวิปัสสนาที่แท้จริง เป็นแค่การรู้ว่ารูปนามมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาโดยอาศัยจินตามยปัญญาไปรู้ว่า รูปนามเก่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เพราะเห็นว่ารูปนามในขณะนี้ต่างจากรูปนามเก่า แต่ผู้ปฏิบัติก็ไม่ต้องตกใจว่ายังไม่ได้ทำวิปัสสนาที่เป็นภาวนามยปัญญา หมั่นรู้สึกตัวแล้วตามรู้อารมณ์รูปนามเรื่อยไป จิตจะพัฒนาไปสู่การรู้ที่เป็นวิปัสสนาได้เองเมื่อสติปัญญาแก่กล้าพอ

5.4 การรู้ความเกิดดับของรูปนาม เมื่อหมั่นรู้สึกตัวและมีสติระลึกรู้รูปนามเสมอๆ จะรู้ความเกิดดับของรูปนาม คือจะสังเกตพบว่ารูปเก่ากับรูปใหม่เป็นคนละรูปกัน นามเก่ากับนามใหม่ก็เป็นคนละนาม กัน ระหว่างรูปเก่ากับรูปปัจจุบัน และระหว่างจิตที่รู้อารมณ์เก่ากับจิตที่รู้อารมณ์ปัจจุบัน ไม่ได้ต่อเนื่องกันสนิท แต่มีความดับมาคั่นอยู่เป็นจุดๆ ไป

ผู้เขียนเคยชี้ให้ผู้ที่มาสนทนาด้วย สังเกตตนเองในระหว่างที่ฟังผู้เขียนพูด ว่าบางคราวก็ใช้ตาดูหน้าผู้เขียนวับหนึ่ง แล้วความรู้สึกก็ดับไปวับหนึ่ง แล้วก็ใช้หูฟังเสียงผู้เขียนวับหนึ่ง เวลาที่ฟังนั้นภาพหน้าของผู้เขียนก็เลือนลางไป ที่ชัดคือเสียง แล้วถัดจากนั้นก็ใช้ใจคิดนึกพิจารณาเรื่องราวที่ผู้เขียนพูดอีกช่วงหนึ่งซึ่งยาวกว่าเวลาที่ดูและฟังหลายเท่านัก ในขณะนั้นภาพหน้าของผู้เขียนก็ดี เสียงของผู้เขียนก็ดี เลือนลางไป สิ่งที่ชัดเจนคือเรื่องที่คิดหรือความคิด ถัดจากนั้นความรู้สึกก็เริ่มเลือนลางลง แล้วดับไปวับหนึ่ง จึงเกิดการรับรู้ทางตา หรือทางหู หรือทางใจขึ้นใหม่ (ส่วนมากจะตามสังเกตได้ในเวลาไม่ถึง 1 นาที เพียงแต่ความหยาบ/ละเอียดและความเข้าใจ มีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล อย่างน้อยก็รู้ว่า เดี๋ยวตาก็ดู เดี๋ยวหูก็ฟัง เดี๋ยวใจก็คิด และบังคับไม่ได้ว่าจะดู หรือฟัง หรือคิด ซึ่งเป็นการปฏิบัติในระดับข้อ 5.3)

การรู้ได้ถึงจุดที่เห็นรูปนามเก่าดับไปแล้วเกิดรูปนามใหม่ คือการเริ่มเจริญวิปัสสนาที่แท้จริง เพราะสันตติหรือความสืบต่อของรูปนามขาดลง และผู้ปฏิบัติสามารถรู้สภาวธรรมได้ด้วยสติสัมปชัญญะเป็น การเจริญภาวนามยปัญญา

ในเวลาทำวิปัสสนาสิ่งที่สำคัญคือ ถ้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งปรากฏเข้ามาสู่ความรับรู้ของจิตก็ให้สักว่ารู้สิ่งนั้น คือรู้แค่ว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่ง" ปรากฏขึ้นก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องสาธยายว่านี่รูปนั่ง นี่ความสุข นี่ความทุกข์ นี่กุศล นี่โทสะ นี่เป็นรูป นี่เป็นนาม นี่ไม่ใช่ตัวเรา ฯลฯ อันเป็นการบัญญัติถึงอารมณ์ปรมัตถ์

ผู้ปฏิบัติบางท่านมีความเห็นว่า สิ่งใดปรากฏต้องมี "สัมปชัญญะ" เน้นย้ำลงไปด้วยว่า "สิ่งนี้คือสิ่งนี้" เช่นความโกรธปรากฏให้ใจรู้ ก็ต้องเน้นว่า "นี้คือความโกรธ ไม่ใช่เราโกรธ แต่เป็นนามโกรธ" เป็นต้น

แท้จริงตรงคำว่า "นี้คือความโกรธ" เป็นการบัญญัติถึงอารมณ์ ปรมัตถ์ ตรงที่ว่า "ไม่ใช่เราโกรธ แต่เป็นนามโกรธ" ก็เป็นความคิดจัดเป็นความฟุ้งซ่านของจิต ไม่ใช่ปัญญาของจิต และแม้จะคิดว่า "ความโกรธไม่ใช่เรา เราไม่ได้รู้ความโกรธ เป็นเพียงนาม (จิต) รู้นาม (โกรธ)" แต่จิตใจลึกๆ ก็ยังมักมีความรู้สึกว่า "เราคือผู้ไปรู้ความโกรธเข้า"

ดังนั้นผู้ปฏิบัติจึงต้องมีสติระลึกรู้สภาวะหรืออาการปรากฏของความโกรธ ซึ่งเป็นอารมณ์ปรมัตถ์ตัวจริง จนเกิดปัญญาเห็นความเปลี่ยน แปลงของความโกรธซึ่งอยู่นอกเหนือการบังคับ ผู้ปฏิบัติต้องไม่กลัวจิตโง่ จนต้องช่วยสอนจิตอีกชั้นหนึ่งเพื่อให้จิตน้อมใจเชื่อธรรม เพราะถ้าเอาตัวจริงของอารมณ์ปรมัตถ์มาให้จิตรู้ได้บ่อยๆ ความจริงที่ว่าธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตัวเรา ก็ย่อมปรากฏให้จิตรู้ได้เองไม่วันใดก็วันหนึ่ง

เพื่อนนักปฏิบัติที่เริ่มสนใจการปฏิบัติใหม่ๆ จะอ่านเพียงข้อ 5.4 นี้ก็ได้ เพราะถ้าทำตามข้อ 5.4 ได้ ก็จะเข้าใจข้อ 5.5 ได้เอง

ตอนที่ 033 พัฒนาการทางวิปัสสนาปัญญา

5.5 พัฒนาการทางวิปัสสนาปัญญา
เมื่อหมั่นรู้สึกตัวและมีสติระลึกรู้รูปนามเสมอๆ จะรู้ว่ารูปที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย มีความเกิดดับตลอดเวลาและรวดเร็วมาก คือรู้ได้เพียงครั้งละวับเดียว เพราะจิตที่ไปรู้รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะเกิดได้เพียงคราวละ 1 ขณะเท่านั้น ถ้าเห็นตรงนี้มากๆ ก็จะบรรเทาความปรารถนา (ตัณหา) ในรูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะได้เป็นอย่างดี เพราะไม่ทราบว่าจะแสวงหาสิ่งที่สัมผัสได้เพียงวับเดียวไปทำไมให้เหนื่อยยาก และจะทำให้เห็นว่า รูปที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา แม้แต่น้อย เป็นแต่ธรรมชาติบางอย่างที่ปรากฏขึ้นเป็นคราวๆ ตามปัจจัยปรุงแต่งเท่านั้น

เหตุผลง่ายๆ ที่รูปปรมัตถ์แสดงความจริงว่าไม่ใช่สัตว์ บุคคลตัวตน เรา เขา ก็เพราะความเห็นว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นแค่ความคิดนึกปรุงแต่งของจิตเท่านั้น ไม่ได้มีอยู่จริงในรูปปรมัตถ์ ในขณะที่จิตทำหน้าที่รู้รูปปรมัตถ์ด้วยวิญญาณจิตทางทวารทั้ง 5 จิตไม่ได้ คิดปรุงแต่ง ความเป็นตัวตนจึงไม่เกิดมีขึ้น และหากมีจิตที่ประกอบด้วยปัญญาเกิดตามรู้รูปทางทวารทั้ง 5 ได้ชัดเจน ก็จะบรรเทาความเห็นผิด (ทิฏฐิ) ว่ารูปเป็นตน ตนเป็นรูปได้ รวมทั้งบรรเทาความถือตัวถือตน (มานะ) ลงได้ด้วย

สำหรับจิตหรือความรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น และกายนั้น เกิดขึ้นโดยไม่ได้เจตนาจะให้เกิด แต่มีธรรมชาติอีกชนิดหนึ่ง (ปัญจทวาราวัชชนจิต) เป็นตัวสับสวิตช์ให้เกิดความรับรู้ได้ทีละทวาร การที่เห็นชัดว่าจิตเกิดดับทางทวารทั้ง 5 แสดงให้เห็นถึงความเป็นอนัตตาของจิตและอารมณ์ คือจิตจะเกิดทางใดก็บังคับไม่ได้ เกิดแล้วจะรู้อารมณ์ที่ดีหรือเลว ประณีตหรือหยาบ ก็เลือกไม่ได้อีก ท่านจึงจัดว่าจิตที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์ทางทวารทั้ง 5 เป็นวิบากจิต แม้อารมณ์ที่ดีหรือเลวก็เกิดจากวิบากกรรมในอดีตส่งผลให้ปรากฏ และการที่รู้ว่าอารมณ์ทางทวารทั้ง 5 เกิดแต่วิบากนี้ คือเหตุผลสำคัญที่ว่าเราควรรู้อารมณ์ (อันเกิดแต่วิบากนั้น) ไม่ใช่ละอารมณ์ซึ่งเท่ากับพยายามหลบหนีวิบาก หากไม่ปฏิเสธเรื่องนี้ก็เท่ากับว่าเรามีปัญญารู้เรื่องกฎแห่งกรรมในระดับหนึ่งแล้ว

สำหรับจิตหรือความรับรู้ทางใจนั้น ก็เกิดขึ้นโดยไม่ได้เจตนาจะให้เกิดเช่นกัน เมื่อเกิดแล้วก็เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เลือกไม่ได้ บังคับไม่ได้ เพราะมีธรรมชาติอีกชนิดหนึ่ง (มโนทวาราวัชชนจิต) เป็นตัวสับสวิตช์ให้เกิดความรับรู้ทางใจ และเกิดจิตที่เป็นกุศลหรืออกุศล

ผู้ที่เข้าใจได้ถึงขนาดว่า จิตที่เป็นอกุศลเช่นจิตเผลอ กับจิตที่เป็นมหากุศลหรือจิตรู้หรือจิตที่มีสติสัมปชัญญะ เป็นของที่เลือกไม่ได้ บังคับไม่ได้เหมือนๆ กัน ก็จะละทิ้งการปฏิบัติประเภทที่พยายามละอกุศลที่เกิดแล้ว หรือป้องกันไม่ให้อกุศลเกิดขึ้น รวมทั้งจะไม่ปฏิบัติเพื่อให้เกิดกุศลจิต หรือพยายามรักษากุศลจิตเอาไว้นานๆ เช่นบางท่านเมื่อจิต เกิดโมหะ ก็พยายามบดส้นเท้าหรือกระแทกเท้ากับพื้นแรงๆ เพื่อขจัดโมหะ หรือพยายามกำหนดจดจ้องเท้าตลอดเวลาเพราะคิดว่านั่นคือการเจริญกุศล แท้จริงก็คือการกระทำไปด้วยอำนาจของโมหะคือความไม่รู้นั่นเอง

เมื่อมโนทวาราวัชชนจิตหรือโวฏฐัพพนจิต จะตัดสินให้ชวนจิตที่เกิดตามมาประกอบด้วยโมหะหรือให้มีสติปัญญา ก็ไม่มีผู้ใดปฏิเสธหรือทำให้เป็นอย่างอื่นได้ เพราะจิตเป็นอนัตตาคือห้ามไม่ได้ บังคับไม่ได้ สิ่งที่ผู้ปฏิบัติทำได้ก็คือการหมั่นน้อมใจไปในอารมณ์ที่เป็นกุศลบ่อยๆ จนจิตคุ้นเคยกับอารมณ์ที่เป็นกุศล แล้วมโนทวาราวัชชนจิตก็จะตัดสินให้เกิดกุศลจิตบ่อยๆ เช่น

(1) เมื่อจะคิด ก็หมั่นน้อมใจคิดนึกบ่อยๆ ถึงอนุสติ 1๐ เช่นพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ และสีลานุสติ จิตจะได้คุ้นเคยที่จะเกิดความสงบสุขทางใจ ดีกว่าจะไปบังคับจิตที่ฟุ้งซ่านให้สงบ ซึ่งเป็น การกระทำด้วยตัณหาล้วนๆ

(2) เมื่อจะพูด ก็พูดเรื่องกถาวัตถุ 1๐ ดีกว่าพูดเรื่องติรัจฉานกถาต่างๆ เพราะจิตจะสงบง่ายและเกิดกำลังใจในการปฏิบัติธรรม แต่ควรเป็นการพูดสนทนาธรรมตามกาลอันเหมาะสมเท่านั้น ไม่ใช่พูดทั้งวัน หรือไม่ยอมพูดเลยแม้เมื่อมีกิจจะต้องพูด ซึ่งเป็นการกระทำด้วยตัณหาอีกเช่นกัน

(3) หมั่นตามรู้สภาวธรรมคือรูปนามที่ปรากฏบ่อยๆ เช่นเผลอไปก็หัดรู้ว่าเมื่อสักครู่นี้เผลอไป โกรธก็หัดรู้ว่าเมื่อสักครู่นี้โกรธไป ฯลฯ หัดตามรู้บ่อยๆ จนจิตคุ้นเคยที่จะรู้สภาวธรรมทั้งหลาย เมื่อสภาวธรรม เหล่านั้นเกิดขึ้น สติจะเกิดขึ้นมารู้สภาวธรรมเหล่านั้นโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่ รู้เพราะผู้ปฏิบัติอยากจะรู้แล้วพยายามบังคับให้จิตรู้

เมื่อจิตรู้เท่าทันสภาวะรูปนามทั้งปวงแล้ว จิตจะท่องเที่ยวไปในปัฏฐานทั้ง 4 ได้อย่างไม่มีติดขัด เป็นการรู้สภาวธรรมทุกอย่างที่ปรากฏ โดยไม่จำเป็นต้องเลือกอารมณ์กรรมฐานอีกต่อไป ผู้ปฏิบัติจะเห็นธรรมในธรรม (รูป/นาม) อันเป็นภายในบ้าง เห็นธรรมในธรรมอันเป็นภายนอกบ้าง เห็นธรรมในธรรมเกิดขึ้นบ้าง เห็นธรรมในธรรมเสื่อมไปบ้าง เป็นการเห็นที่ปราศจากตัณหาและทิฏฐิใดๆ เคลือบแฝง

เมื่อปฏิบัติอยู่อย่างนี้ จิตย่อมเกิดพัฒนาการในการประหารกิเลส และสังโยชน์ไปตามลำดับ ผู้ปฏิบัติยิ่งปฏิบัติ การปฏิบัติก็ยิ่งราบรื่น ในด้านจิตใจนั้น เดิมจิตมีสภาพเหมือนเรือกลางทะเล คือถูกคลื่นลม (อภิชฌา/ความยินดี และโทมนัส/ความยินร้าย) กระทบกระทั่งอยู่ตลอดเวลา เมื่อปฏิบัติมากเข้าจิตก็ถอดถอนตนเองออกจากโลก คล้ายกับเป็นเครื่องบินที่ถูกกระทบกระทั่งได้น้อยลง ต่อไปก็คล้ายกับดาวเทียมที่ลอยเด่นอยู่โดยไม่มีสิ่งใดไปกระทบกระเทือนถึง แต่ก็ยังมีวันที่จะต้องแตกดับ จึงเป็นสภาวะที่ยังนิ่งนอนใจไม่ได้

เมื่อหมั่นรู้สึกตัวและมีสติระลึกรู้รูปนามมากเข้าก็จะพบว่า อาการที่จิตเกิดพฤติกรรมทั้งหลายในเบื้องต้นนั้น เป็นเพียงความไหวตัวของจิตยิบยับๆ เล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ผู้ปฏิบัติยังไม่ทราบเสียด้วยซ้ำไปว่าเป็น ความปรุงแต่งในเรื่องใด เพียงเห็นว่าสิ่งบางสิ่งเกิดขึ้น สติปัญญาก็ตามรู้ทัน แล้วความปรุงแต่งก็ดับไปๆ ถ้ารู้ไม่ทันนั่นแหละความไหวยิบยับ จึงจะพัฒนาไปสู่ความปรุงแต่งที่หยาบขึ้นจนรู้ได้ว่าปรุงแต่งเรื่องอะไร

เมื่อหมั่นรู้สึกตัวและมีสติระลึกรู้รูปนามเสมอๆ จะรู้ว่าพฤติกรรมทั้งหลายของจิตดังกล่าวนั้น เกิดขึ้นในลักษณะของความหิวอารมณ์ โดยหิวกามคุณอารมณ์บ้าง หิวอารมณ์อยากทำทาน รักษาศีล หรือเจริญสมถะและวิปัสสนาบ้าง และหิวอารมณ์สงบสุขของฌานสมาบัติบ้าง พลังผลักดันให้จิตหิวอารมณ์หรือเกิดเจตนาที่จะแสวงหาอารมณ์นี้เกิดจากความไม่รู้แจ้งในอริยสัจจ์ คือยังไม่รู้จักถ่องแท้ว่าอารมณ์รูปนามทั้งปวงเป็นทุกข์ จึงเกิดความอยากหรือความปรารถนาในอารมณ์เหล่านั้น

เมื่อรู้เท่าทันพฤติกรรมชั้นในของจิตได้อย่างนี้ จิตก็หยุดพฤติกรรมทั้งฝ่ายที่เป็นโลกียกุศลและอกุศล เข้าถึงสภาวะรู้อันประณีตลึกซึ้งโดยไม่มีเจตนาจะเข้ามารู้สภาวะอันนี้ ถึงจุดนี้ผู้ปฏิบัติจะสามารถเห็นธรรมในธรรมทั้งที่เป็นภายในทั้งที่เป็นภายนอก และเห็นธรรมในธรรมเกิดขึ้น บ้างเสื่อมลงบ้าง เรื่องนี้บางท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมจึงรู้ได้พร้อมกันหลายอย่างนัก แท้จริงจิตก็รู้อารมณ์ได้ทีละอย่างนั่นแหละ แต่เมื่อปฏิบัติจนถึงจุดที่จิตไม่เกาะเกี่ยวกับอารมณ์ และไม่เกาะเกี่ยวแม้แต่กับตัวจิตเอง ธรรมภายในกับธรรมภายนอกก็จะถูกปลดปล่อยจนเสมอภาคเป็นสิ่งเดียวกัน คือเป็นสิ่งที่ว่างจากความเป็นตัวตน จัดเป็นอารมณ์อันเดียวคืออารมณ์ไตรลักษณ์ที่มีรูปนามเป็นเพียงฉากหลัง เพราะไม่มีความรู้สึกแบ่งแยกว่านี่จิต นี่อารมณ์ นี่เรา นี่สิ่งอื่นนอกจากเรา มีแต่ธรรมชาติอันเดียวกันรวด จัดเป็นความเป็นกลางด้วยปัญญาอันลึกซึ้ง ในสภาวะนั้นทุกสิ่งนั่นแหละแสดงความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปตามเหตุตามปัจจัยที่ไหลเวียนเป็นกระแสวัฏฏะเรื่อยไป

เมื่อรู้กองทุกข์อย่างแจ่มแจ้ง คือเห็นความจริงว่าอารมณ์รูปนามทั้งปวงล้วนเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตนที่จะครอบครองเอาไว้ได้ ตัณหาคือความทะยานอยากของจิตในอารมณ์ทางทวารทั้ง 6 ก็จะหมดไป จิตจะหมดพฤติกรรมการแสวงหาอารมณ์ แล้วปฏิวัติตนเองไปสู่ธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งปราศจากตัณหาและอยู่เหนือความปรุงแต่งทั้งปวง คล้ายกับว่าความเป็นตัวตนได้กระโจนหนีลงบันไดไปต่อหน้าต่อตาทีเดียว

ตอนที่ 034
หลักธรรมสำคัญในภาคปฏิบัติ
7. หลักธรรมสำคัญในภาคปฏิบัติ
เพื่อนนักปฏิบัติหลายท่านปรารภกับผู้เขียนอยู่เสมอว่า ผู้สนใจการปฏิบัติธรรมมักประสบความยุ่งยากในการแสวงหาสำนักปฏิบัติ เพราะสำนักต่างๆมีอยู่มาก ทุกสำนักล้วนมีครูบาอาจารย์ที่น่าเคารพนับถือ และต่างก็ประกาศจุดยืนว่า สำนักของตนสอนได้ตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้จะทราบได้อย่างไรว่าสำนักใดสอนได้ถูกต้องบ้าง

ผู้เขียนมักตอบว่า ถ้าต้องการทราบว่าผู้ใดสอนได้ตรงตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้หรือไม่ ก็ต้องศึกษาพระปริยัติธรรม เพราะพระปริยัติธรรมคือแหล่งรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่มีหลักฐานชัดเจนและได้รับการรักษาสืบทอดกันมาเป็นอย่างดี นับตั้งแต่วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระธรรมวินัยซึ่งได้รับการเก็บรักษาไว้ในรูปของพระปริยัติธรรมก็คือศาสดาของพวกเราชาวพุทธทั้งปวง

เพื่อนนักปฏิบัติก็ยังปรารภต่อไปว่า พระธรรมวินัยมีอยู่มากกว่าจะศึกษาได้ทั่วถึงก็ต้องใช้เวลาหลายปี บางคนมีเวลาไม่พอ หรือมีกำลังไม่พอที่จะศึกษาได้ เป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้เขียนจะสรุปย่อพระปริยัติสัทธรรมที่จำเป็นที่สุดที่ผู้ปฏิบัติควรจะทราบไว้ แล้วนำมาเล่าสู่กันฟัง

นี้คือที่มาของบทความ 4 เรื่องต่อไปนี้ ได้แก่ (1) หลักธรรมสำคัญในภาคปฏิบัติ (2) แม่บทหลักของการปฏิบัติธรรม (3) การเจริญสติปัฏฐาน และ (4) รูปนามที่จำเป็นต้องรู้จัก

ในการประมวลธรรมทั้ง 4 หัวข้อนี้ ผู้เขียนได้ศึกษาข้อมูลจากพระไตรปิฎกและอรรถกถา รวมทั้งคำอธิบายธรรม (อภิธรรม) ซึ่งปรากฏในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและวิสุทธิมรรค เป็นต้น ทั้งนี้ผู้เขียนต้องขอขอบคุณสำนักเรียนพระอภิธรรมหลายแห่ง ซึ่งผู้เขียนได้อาศัยคำบรรยายและตำรับตำราเป็นคู่มือในการศึกษาธรรมเหล่านี้ด้วย

ขอเชิญเพื่อนนักปฏิบัติที่สนใจ อ่านพระปริยัติสัทธรรมที่จำเป็นสำหรับนักปฏิบัติได้แล้ว โดยเริ่มจากเรื่อง หลักธรรมสำคัญในภาคปฏิบัติ ส่วนผู้ที่ไม่สนใจและเกรงความสับสน จะข้ามบทความที่อ่านยากเหล่านี้ไปก่อนก็ได้ เมื่อได้ปฏิบัติจนบังเกิดผลเป็นที่น่าพอใจแล้ว จึงค่อยย้อนมาศึกษาพระปริยัติธรรม เพื่อใช้เป็นเครื่องตรวจสอบผลการปฏิบัติของตนต่อไป

1. แม่บทหลักของการปฏิบัติธรรม
ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า "รอยเท้าเหล่าใดเหล่าหนึ่งแห่งสัตว์ทั้งหลายผู้เที่ยวไปบนแผ่นดิน รอยเท้าเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมถึงการประชุมลงในรอยเท้าช้าง .. แม้ฉันใด ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง กุศลธรรมเหล่านั้นทั้งหมดย่อมถึงการสงเคราะห์ เข้าในอริยสัจจ์สี่ ฉันนั้นเห็นเหมือนกันแล"

(มหาหัตถิปโทปมสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระสุตตันตปิฎกเล่ม 4 พระไตรปิฎกเล่ม 12)

หมายความว่ากุศลธรรมทั้งหลาย จะต้องอยู่ในขอบเขตของหลักธรรมเรื่องอริยสัจจ์ 4 จะออกนอกขอบเขตนี้ไม่ได้เลย แม้การปฏิบัติธรรมอันเป็นการเจริญกุศลธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศีล สมาธิ หรือปัญญา ก็ต้องอยู่ในขอบเขตนี้เช่นกัน

อริยสัจจ์ คือตัวความจริงสูงสุดของพระอริยเจ้า ส่วนการปฏิบัติธรรมเพื่อเข้าถึงความจริงสูงสุดนี้ มีหลักธรรมสำคัญคือ กิจในอริยสัจจ์ ซึ่งหากดำเนินตามกิจในอริยสัจจ์แล้ว ย่อมเข้าถึงอริยสัจจ์หรือเข้าถึงธรรมนั่นเอง ในทางตรงข้ามหากเราปฏิบัติธรรมออกนอกแนวทางของกิจในอริยสัจจ์ เราจะเข้าถึงอริยสัจจ์หรือธรรมไม่ได้เลย หากเปรียบเทียบในทางโลกแล้ว กิจในอริยสัจจ์ก็คือรัฐธรรมนูญซึ่งกฎหมาย อื่นจะขัดแย้งไม่ได้ หมายความว่าแนวทางปฏิบัติใดที่ขัดกับคำสอนเรื่องกิจในอริยสัจจ์ แนวทางนั้นย่อมไม่ใช่แนวทางการปฏิบัติธรรม เพื่อให้เกิดปัญญาพ้นทุกข์ในทางพระพุทธศาสนา

อนึ่งกิจในอริยสัจจ์นี้เป็นหลักธรรมสำคัญยิ่งยวด ถึงขนาดที่พระ พุทธเจ้าทรงออกพระโอษฐ์ว่า จะไม่ทรงปฏิญาณพระองค์เป็นพระ พุทธเจ้า หากไม่ทรงรอบรู้ใน (1) อริยสัจจ์ 4 ประการ (2) กิจในอริยสัจจ์ 4 ประการ และ (3) ได้ทรงดำเนินกิจในอริยสัจจ์ทั้ง 4 ประการเสร็จสิ้นแล้ว ดังที่พระองค์ตรัสว่า "(1670) ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ญาณทัสสนะ (ความรู้ความเห็น) ตามความเป็นจริงมีวนรอบ 3 อย่างนี้ มีอาการ 12 ในอริยสัจ 4 เหล่านี้ของเรา ยังไม่บริสุทธิ์เพียงใด เราก็ยังไม่ปฏิญาณตนว่า เป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก ..เพียงนั้น ก็เมื่อใด ญาณทัสสนะ (ความรู้ความเห็น) ตามความเป็นจริง มีวนรอบ 3 อย่างนี้ มีอาการ 12 ในอริยสัจ 4 เหล่านี้ของเราบริสุทธิ์ดีแล้ว เมื่อนั้นเราจึงปฏิญาณตนว่า เป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก" (ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรวรรคที่ 2 ตถาคตสูตรที่ 1 สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค พระสุตตันตปิฎกเล่ม 11 พระไตรปิฎกเล่ม 19)

กิจในอริยสัจจ์ 4 ประการคือ (1) ทุกข์ควรรู้ (ปริญญากิจ คือควรศึกษาให้เข้าใจชัดตามสภาพความเป็นจริง) (2) สมุทัยควรละ (ปหานกิจ คือกำจัด ทำให้หมดสิ้นไป) (3) นิโรธควรทำให้แจ้ง (สัจฉิกิริยากิจ คือเข้าถึง หรือบรรลุ) และ (4) มรรคควรทำให้เจริญ (ภาวนากิจ คือลงมือปฏิบัติ)

ตอนที่ 035 ขั้นตอนของการปฏิบัติธรรม

2. ขั้นตอนของการปฏิบัติธรรม
ภายใต้แม่บทหลักของการปฏิบัติธรรมดังกล่าว ท่านพระสารีบุตรได้แสดงขั้นตอนของการปฏิบัติธรรมไว้ 7 ขั้นตอน คือธรรมชื่อวิสุทธิ 7 ปรากฏในบทสนทนาอันเลื่องชื่อกับท่านพระปุณณมันตานีบุตร (รถวินีตสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระสุตตันตปิฎกเล่ม 4 พระไตรปิฎกเล่ม 12) สาระโดยสรุปของวิสุทธิ 7 ก็คือไตรสิกขาหรือเรื่องศีล สมาธิ และปัญญา นั่นเอง เพียงแต่ซอยขั้นตอนของปัญญาสิกขาให้ละเอียดชัดเจนยิ่งขึ้น ว่ามีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

3. วิธีปฏิบัติในขั้นการเจริญปัญญา
พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องการเจริญสติปัฏฐานไว้ (มหาสติปัฏฐานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค พระสุตตันตปิฎกเล่ม 2 พระไตรปิฎกเล่ม 10)

4. พัฒนาการทางด้านปัญญา
เมื่อเจริญสติปัฏฐานอย่างถูกต้องแล้ว จิตจะเกิดพัฒนาการทางด้านปัญญา คือเกิดความรู้ถูกเข้าใจถูก จนถึงขั้นการประหารกิเลสไปตามลำดับ ปรากฏในหลักธรรมเรื่องโสฬสญาณ (โสฬสญาณเป็นคำสอนในชั้นหลังพุทธกาลค่อนข้างมาก และมีส่วนที่แตกต่างจากคำสอนในชั้นพระไตรปิฎก อันปรากฏในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค ขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎกเล่ม 23 พระไตรปิฎกเล่ม 31 อยู่บ้าง จึงควรศึกษาด้วยวิจารณญาณให้มากสักหน่อย)
จากการสำรวจหลักธรรมสำคัญในภาคปฏิบัติข้างต้น ผู้เขียนขอเสนอให้เพื่อนนักปฏิบัติเลือกศึกษาเฉพาะหลักธรรมที่จำเป็นอย่างยิ่งเพื่อการปฏิบัติเท่านั้น ประกอบด้วย (1) หลักของการปฏิบัติธรรมได้แก่ หลักธรรมเรื่องกิจในอริยสัจจ์ และ (2) วิธีการปฏิบัติธรรม ได้แก่หลักธรรมเรื่องสติปัฏฐาน ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้เป็นคำสอนตรงของพระพุทธเจ้า สำหรับเรื่องขั้นตอนของการปฏิบัติและพัฒนาการทางด้านปัญญานั้น จะเว้นไว้ศึกษาในภายหลังก็พอได้ เพราะถ้ารู้หลักของการปฏิบัติธรรมและวิธีการปฏิบัติธรรมชัดเจน ก็พอจะเริ่มลงมือปฏิบัติได้แล้ว อย่างไรก็ตามก่อนที่จะลงมือปฏิบัติ เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมในเรื่อง (3) รูปนามที่นักปฏิบัติจำเป็นต้องทราบ เพราะรูปนามนี้แหละคือทุกข์ที่จะต้องรู้ตามกิจในอริยสัจจ์ และคืออารมณ์ วิปัสสนาในสติปัฏฐานด้วย เพียงเข้าใจธรรม 3 เรื่องนี้ก็สามารถลงมือปฏิบัติธรรมอย่างไม่หลงทางได้แล้ว


ตอนที่ 036
แม่บทหลักของการปฏิบัติธรรม

8. แม่บทหลักของการปฏิบัติธรรม
หลักธรรมเรื่อง กิจในอริยสัจจ์ คือแม่บทหลักหรือหลักการสำคัญของการปฏิบัติธรรม ถ้าพวกเราปฏิบัติผิดพลาดจากกิจในอริยสัจจ์ เราจะประสบความสำเร็จในการปฏิบัติธรรมไม่ได้เลย กิจในอริยสัจจ์มี 4 ประการดังนี้คือ
1. ทุกข์ควรรู้ กิจต่อทุกขสัจจ์คือการรู้หรือปริญญากิจ มีประเด็นสำคัญที่ควรสนใจ 4 ประการคือ (1) ทุกข์คืออะไร (คือรูปนาม) (2) ทำไมจึงต้องรู้ทุกข์ (เพื่อดับเหตุแห่งทุกข์) (3) การรู้ทุกข์นั้นต้องทำอย่างไร (ต้องเจริญสติปัฏฐาน 4) และ (4) พัฒนาการของการรู้ทุกข์ เป็นอย่างไร (ปริญญา 3 วิสุทธิ 7 โสฬสญาณ) มีสาระสำคัญดังนี้คือ
1.1 ทุกข์คืออะไร ตามนัยแห่งพระสูตร พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตายเป็นทุกข์ การประสบกับสิ่งที่ไม่รัก การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก และความไม่สมปรารถนาก็เป็นทุกข์ ความเศร้าโศกร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจก็เป็นทุกข์ แล้วท่านทรงขมวดท้ายว่า "ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง 5 คือทุกข์"
ความหมายของทุกข์ตามคำสอนของพระพุทธเจ้ามีความลึกซึ้งมาก คือท่านไม่ได้สอนว่า คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย คนอกหัก หรือคนล้มละลายคือทุกข์ แต่ท่านชี้ขาดเอาไว้แล้วว่า อุปาทานขันธ์คือ ทุกข์ หมายความว่า ความทุกข์มีอยู่จริง แต่ไม่มีผู้ทุกข์ อธิบายได้ว่า ความเกิดมีอยู่จริง เป็นทุกข์จริง แต่ไม่มีผู้เกิด มีแต่กลุ่มของรูปธรรมและนามธรรมเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้น แต่ผู้ไม่รู้ความจริง (อริยสัจจ์) ไปหลงยึดถือกลุ่มของรูปนามนั้นว่าเป็นเรา เป็นของเรา หรือ เป็นคนอื่นสัตว์อื่น เมื่อรูปนามเกิดจึงคิดว่าเราเกิด หรือคนอื่นสัตว์อื่นเกิด และความตายก็มีอยู่จริง เป็นทุกข์จริง แต่ไม่มีผู้ตาย มีเพียงความดับของรูปนามที่รวมกันขึ้นมาชั่วคราวแล้วดับไปตามเหตุตามปัจจัยแต่ผู้ไม่รู้ความจริง (อริยสัจจ์) ไปหลงยึดถือกลุ่มของรูปนามนั้นว่าเป็นคนหรือสัตว์ เมื่อรูปนามดับจึงคิดว่าเราตาย หรือคนอื่นสัตว์อื่นตาย เท่านั้นเอง
สำหรับองค์ธรรมของทุกขสัจจ์ (อุปาทานขันธ์) ตามนัยแห่งพระอภิธรรมระบุว่า อุปาทานขันธ์ประกอบด้วยสภาวธรรม 160 ชนิด ได้แก่ โลกียจิต 81 ดวง (จิตมี 89 ดวง แบ่งเป็นโลกียจิต 81 ดวง กับโลกุตรจิตอีก 8 ดวง) เจตสิก 51 ชนิด (เจตสิกมี 52 ชนิด แบ่งเป็นเจตสิกที่เป็นอุปาทานขันธ์อันจัดอยู่ในกองทุกข์ 51 ชนิด และเป็นเจตสิกที่เป็นตัวสมุทัยหรือเหตุให้เกิดทุกข์อีก 1 ชนิด ได้แก่โลภเจตสิกหรือตัณหา) และรูป 28 รูป ดังนั้นการรู้ทุกข์จึงได้แก่การตามรู้สภาวธรรม 160 นี้เอง
(ในเวลาปฏิบัติจริงเราไม่จำเป็นต้องรู้สภาวธรรมมากมายถึงขนาดนี้ แค่รู้รูปและนามเพียงบางชนิดก็พอจะเริ่มต้นปฏิบัติได้แล้ว โดยอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง "รูปนามที่นักปฏิบัติจำเป็นต้องทราบ" นอกจากนี้ผู้เขียนยังมีความเห็นเพิ่มเติมว่าในเวลาปฏิบัติจริง เมื่อโลภเจตสิกเกิดขึ้นก็ต้องตามรู้ด้วย สมดังที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ไว้ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานว่า "จิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ" คือเมื่อรู้จิตที่มีราคะแล้วก็ย่อมจำแนกได้ว่า อันนี้จิต อันนี้ราคะหรือโลภเจตสิกและในธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน นิวรณบรรพ ทรงแสดงว่า "เมื่อกามฉันท์มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่ากามฉันท์มีอยู่ ณ ภายในจิต" แสดงว่าทรงให้ตามรู้กามฉันท์อันเป็นโลภเจตสิกด้วย ดังนั้นตัวโลภ เจตสิกจึงมี 2 สถานะ สถานะแรกในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในสังขารขันธ์ จึงเป็นตัวทุกข์ที่ต้องตามรู้ อีกสถานะหนึ่งในฐานะที่เป็นปัจจัยให้เกิดภพ ชาติ และทุกข์ จึงเป็นตัวสมุทัยที่จะต้องละ แต่วิธีละสมุทัยก็ทำด้วยการรู้ทุกข์นั่นเอง ดังจะได้กล่าวในหัวข้อถัดไป)
1.2 ทำไมจึงต้องรู้ทุกข์ เพราะไม่รู้อริยสัจจ์คือความจริงของพระอริยเจ้า เราจึงไปหลงยึดถือรูปนาม หรือขันธ์ 5 หรือกายใจนี้ว่าเป็นตัวเราของเรา เมื่อรูปนามนั้นต้องแปรปรวนไปตามเหตุตามปัจจัย หรือไม่เป็นไปอย่างที่อยาก ก็เกิดความทุกข์ เกิดความกระสับกระส่ายในจิตใจขึ้นมาเผาผลาญตนเอง
การรู้ทุกข์เป็นการป้อนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรูปนามให้จิตดู จนจิตยอมรับด้วยปัญญาว่าตัวเราไม่มี มีแต่รูปนามที่มาประชุมกันชั่วคราวตามเหตุตามปัจจัยปรุงแต่ง เมื่อเหตุเมื่อปัจจัยเปลี่ยนแปลงไป รูปนามก็เปลี่ยนแปลงหรือดับไป ไม่สามารถคงทนอยู่ได้ตามใจปรารถนา หากเกิดความปรารถนาหรือความอยาก (ตัณหา) แล้วเกิดความยึดถือรูปนาม ขึ้น (ความยึดถือหรืออุปาทานนั้น แท้จริงก็คือตัณหาที่มีกำลังกล้านั่นเอง) จิตใจก็จะเกิดความทุกข์เพราะความปรารถนานั้น การรู้ทุกข์ซึ่งเป็นการเรียนรู้ความจริงของรูปนาม จะส่งผลให้จิตหมดตัณหาหรือความทะยานอยาก (สอุปาทิเสสนิพพาน/กิเลสนิพพาน) และหมดทุกข์ อันเกิดจากความยึดถือในรูปนามและสิ่งต่างๆ เหลือแต่ความทุกข์ของขันธ์อย่างเดียว เมื่อถึงวันดับขันธ์ (อนุปาทิเสสนิพพาน/ขันธนิพพาน) ก็เท่ากับไม่มีทั้งกิเลสและขันธ์เหลืออยู่ จัดเป็นนิพพานที่ดับรอบหมดจด (สำหรับพระพุทธเจ้าเราเรียกกันว่าปรินิพพาน) ทั้งขันธ์ใหม่ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะไม่มีอวิชชาตัณหาอุปาทานอันเป็นเหตุให้เกิดรูปนามหรือขันธ์ใน ภพใหม่ต่อไปอีก


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2008, 13:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


ตอนที่ 037
วิธีรู้ทุกข์

1.3 วิธีรู้ทุกข์ มีประเด็นที่ควรทราบดังนี้คือ
1.3.1 ปรารถนาจะรู้ทุกข์ ก็ต้องรู้ให้ถูกตัวทุกข์ ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าทุกข์คือรูปนาม หรือขันธ์ 5 หรือกายใจนี้เอง ดังนั้นการจะรู้ทุกข์จึงต้องรู้ลงในรูปนาม ขันธ์ 5 หรือกายใจ จะไปรู้สิ่งอื่นไม่ได้ ครูบาอาจารย์วัดป่าท่านเคยสอนผู้เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า "การปฏิบัติธรรมไม่มีอะไรมาก เพียงให้มีสติสัมปชัญญะรู้ลงในวงของขันธ์ 5 หรือกายใจอันเป็นปัจจุบันนี้เท่านั้น"
ที่เน้นว่าต้องเป็นปัจจุบัน ก็เพราะรูปนามของจริงมีอยู่ในปัจจุบัน เพราะรูปนามในอดีตก็ดับไปแล้ว ส่วนรูปนามในอนาคตก็ยังไม่เกิดขึ้น รูปนามในอดีตเหลืออยู่เพียงความจำ ส่วนรูปนามในอนาคตก็เป็นเพียงความคิด ทั้งความจำและความคิดล้วนไม่ใช่ของจริง ของจริงคือของที่ปรากฏชัดอยู่ต่อหน้าต่อตาเรานี้ ไม่ต้องไปค้นหาในที่อื่นเลย
1.3.2 ต้องการรู้ความจริงก็อย่าบิดเบือน หรือดัดแปลงการรับรู้ ความจริงที่ต้องรู้คือรูปกับนาม เครื่องมือรู้รูปนามก็คือตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจธรรมดาๆ ซึ่งมีกันอยู่แล้ว เราไม่ต้องฝึกตาทิพย์ หูทิพย์ จมูกทิพย์ ลิ้นทิพย์ กายทิพย์ หรือใจทิพย์เพื่อจะทำวิปัสสนา
ผู้ปฏิบัติต้องไม่ปลอมแปลงจิต (จิตแปลว่าธรรมชาติที่รู้อารมณ์) และไม่ปลอมแปลงอารมณ์ (อารมณ์แปลว่าสิ่งที่ถูกรู้ ไม่ใช่อารมณ์ในความหมายตามภาษาไทยทั่วไป) คือไม่ต้องแกล้งบังคับกดข่มจิตใจให้ผิดธรรมดา เพื่อจะรู้รูปนามที่ผิดธรรมดา และไม่ต้องแสวงหาหรือดัดแปลงอารมณ์ เพราะอารมณ์รูปนามของจริงปรากฏอยู่ตรงหน้าแล้ว
แต่ผู้ปฏิบัติส่วนมากชอบปลอมแปลงจิต และปลอมแปลงอารมณ์ อันเป็นการบิดเบือนการรับรู้ เช่นก่อนจะรู้อารมณ์มักชอบทำจิตให้ทื่อๆ นิ่งๆ ซึมๆ เคลิ้มๆ แข็งๆ (อ่านหนังสือวิถีแห่งความรู้แจ้ง ข้อ 6.2 เพิ่มเติม) แล้วแสวงหาหรือเพ่งจ้องใส่อารมณ์ อย่างเอาเป็นเอาตาย ทั้งที่อารมณ์นั้นมีปรากฏอยู่ตลอดเวลา เช่นแค่ลืมตาขึ้นตรงๆ ในสภาพแวดล้อมที่มีแสงสว่างพอก็เห็นสีได้แล้ว หรือแค่มีกลิ่นโชยมา กระทบจมูกก็รู้กลิ่นได้แล้ว นอกจากนี้ผู้ปฏิบัติยังมักเข้าไปแทรกแซงอารมณ์ เช่นเปลี่ยนจังหวะการหายใจ และเปลี่ยนจังหวะการเคลื่อนไหวกาย เป็นต้น (สำนักปฏิบัติบางแห่งอาจมีการดัดแปลงอารมณ์บ้างในขั้นเริ่มต้น โดยมุ่งหวังว่าในขั้นสุดท้ายศิษย์จะรู้รูปนามได้ตรงตามความเป็นจริง ทั้งนี้เป็นไปตามอุบายของครูบาอาจารย์แต่ละสำนักซึ่งมักจะไม่ปรากฏในคำสอนตรงของพระพุทธเจ้า)
1.3.3 ต้องมีโยนิโสมนสิการและ/หรือกัลยาณมิตร ผู้ปฏิบัติไม่เพียงแต่ต้องรู้อารมณ์อย่างซื่อตรงโดยไม่บิดเบือนการรับรู้ หากแต่ยังต้องรู้โดยมีโยนิโสมนสิการและ/หรือกัลยาณมิตรด้วย
แท้จริงนักปฏิบัติกับผู้ไม่ได้ปฏิบัติก็รู้เห็นสิ่งเดียวกัน ด้วยเครื่องมืออย่างเดียวกันนั่นเอง คือด้วย (1) ตา (รูปชนิดหนึ่ง) เห็นรูป (สี/รูปอีกชนิดหนึ่ง) (2) หู (รูปอีกชนิดหนึ่ง) ฟังเสียง (รูปอีกชนิดหนึ่ง) (3) จมูก (รูปอีกชนิดหนึ่ง) ดมกลิ่น (รูปอีกชนิดหนึ่ง) (4) ลิ้น (รูปอีกชนิดหนึ่ง) รับรส (รูปอีกชนิดหนึ่ง) (5) กาย (รูปอีกชนิดหนึ่ง) กระทบโผฏฐัพพะ (สิ่งสัมผัสกายคือความเย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว/ รูปอีก 3 ชนิด) และ (6) ใจ (นามชนิดหนึ่ง) รู้ธัมมารมณ์ (รูปบางอย่าง นามบางอย่าง และบัญญัติ ไม่รวมถึงโลกุตรจิตและนิพพาน ซึ่งปุถุชนไม่มีทางเห็นได้เลย)
แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้นักปฏิบัติกับผู้ไม่ปฏิบัติแตกต่างกันก็คือ นักปฏิบัติรู้อารมณ์โดยมีโยนิโสมนสิการ พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ นักปฏิบัติรู้อารมณ์ได้ตรงมุมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ เช่น (1) เมื่อตามองเห็นภาพบางอย่างก็สามารถรู้สึกได้ว่า สิ่งที่ถูกเห็นคือรูป(สี)ไม่ใช่ตัวตน ส่วนที่มองเห็นเป็นคน สัตว์ ต้นไม้ หรือภูเขาใดๆ นั้น เป็นเพียงภาพ ลวงตา หรือความคิด หรือสมมุติบัญญัติ ที่เราใส่ลงไปตามอำนาจของสัญญาหรือความจำได้หมายรู้เท่านั้น และรู้สึกได้ด้วยว่า ธรรมชาติ ที่รู้รูปคือนาม (จิต) ก็ไม่ใช่ตัวตนเช่นกัน หรือ (2) เมื่อความรู้สึกบางอย่างผุดขึ้นในใจ นักปฏิบัติก็สามารถรู้สึกถึงสภาวะอันเป็นนามธรรม ของสิ่งที่ผุดขึ้นมานั้น และรู้ด้วยว่าชื่อเรียกสิ่งนั้นๆ (เช่นความสุข ความ ทุกข์ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ฯลฯ) เป็นสมมุติบัญญัติที่เราใส่ลงไปตามอำนาจของความจำเช่นกัน รวมทั้งรู้สึกได้ด้วยว่ามีนามอีกชนิดหนึ่ง (จิต) ไปรู้นาม (เจตสิก) เหล่านั้นด้วย และไม่มีสิ่งใดเลยที่เป็นตัวตน ไม่ว่าจะเป็นจิตหรือเจตสิก
พูดง่ายๆ ว่าผู้ไม่ปฏิบัติเขาเห็นกายของตน คน สัตว์ ต้นไม้ ภูเขา ฯลฯ ส่วนนักปฏิบัติก็เห็นเหมือนผู้ไม่ปฏิบัตินั่นแหละ เพียงแต่สามารถมองทะลุสมมุติบัญญัติอันเป็นเพียงภาพลวงตา เข้า ไปรู้สึกถึงตัวจริงของรูปธรรมที่สมมุติเรียกว่ากายตนเอง คน สัตว์ ต้นไม้ ภูเขา ฯลฯ ผู้ไม่ปฏิบัติเกิดความโกรธก็สำคัญว่าเราโกรธ ส่วนนักปฏิบัติรู้สึกถึงความโกรธ ก็รู้สึกได้ว่าความโกรธเป็นนามธรรมอันหนึ่งที่ผ่านเข้ามาสู่ความรับรู้ของจิต ซึ่งจิตเองก็เป็นนามธรรมอีกอย่างหนึ่ง ทั้งนี้นักปฏิบัติก็รู้สมมุติบัญญัติเช่นเดียวกับคนอื่นๆ นั่นเอง แต่รู้สึกและเข้าใจถึงของจริง (อารมณ์ปรมัตถ์/รูปนาม) ที่อยู่เหนือสมมุติบัญญัติอันเป็นภาพลวงตา อย่างไรก็ตาม จงอย่าได้พยายามลบสมมุติบัญญัติทิ้งเพื่อจะได้รู้สึกถึงอารมณ์ปรมัตถ์ แต่จงพัฒนาสติสัมปชัญญะให้ถูกต้องจนรู้สึกถึงอารมณ์ปรมัตถ์ได้เอง จึงจะปลอดภัย (ที่ใช้คำว่าปลอดภัยในที่นี้ เป็นการใช้ด้วยความจงใจทีเดียว)
อนึ่งการรู้อารมณ์ได้ถูกตรงหรือรู้อย่างมีโยนิโสมนสิการนั้น ไม่ใช่การคิดถึงอารมณ์นั้นว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนไว้อย่างไร แต่เป็นการรู้สึกเมื่อรู้นามก็รู้สึกได้ว่านามนั้นเป็นเพียงนาม ไม่ใช่ตัวตน ความรู้สึกที่ถูกต้องตรงนี้แหละเป็นสิ่งที่อธิบายยากมาก ถ้า "รู้ตัวเป็น" คือสามารถมีสติระลึกรู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏ โดยมีสัมมาสมาธิคือความตั้งมั่นของจิตในขณะนั้นด้วย จึงจะเกิดความรู้สึกถึงความไม่ใช่ตัวตนของรูปนามได้ เรื่องนี้กัลยาณมิตรหรือครูบาอาจารย์ที่ชำนาญในการปฏิบัติจะช่วยได้มาก พระพุทธเจ้าจึงทรงยกย่องว่า โยนิโสมนสิการก็ดี กัลยาณมิตรก็ดี คือทั้งหมดของพรหมจรรย์ (การประพฤติปฏิบัติธรรม)
1.3.4 รู้ทุกข์ ไม่ใช่ละทุกข์ มีประเด็นสำคัญมากที่ต้องเน้นเป็นพิเศษคือ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้ทุกข์ ไม่ได้ทรงสอนให้ละทุกข์ (รูปนาม) สิ่งที่ท่านสอนให้ละคือสมุทัยหรือตัณหาเท่านั้น แต่นักปฏิบัติ ส่วนมากมีตัณหาหรือความอยากที่จะละทุกข์ แล้วเกิดการกระทำตั้งมากมายเพื่อหาทางละทุกข์ เช่น (1) การคิดค้นคว้าหาทางพ้นทุกข์ (2) การเพ่งจิต การเพ่งอารมณ์ และ (3) การหลีกเลี่ยงการรับรู้อารมณ์ ด้วยการทำใจให้ว่างเปล่าหรือการดับความรู้สึก ฯลฯ แต่ยิ่งดิ้นรนหนีทุกข์ ความทุกข์ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ไม่เหมือนการรู้ทุกข์ ซึ่งเมื่อรู้ทุกข์แจ่มแจ้งแล้วก็เป็นอันละสมุทัยคือเหตุแห่งทุกข์ได้ ความทุกข์จะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป
ดังนั้นนักปฏิบัติ พึงเจริญสติสัมปชัญญะรู้ลงในกายในจิตของตนอย่างซื่อตรงและเป็นปัจจุบัน ไม่มีงานที่จะต้องทำมากกว่าการรู้เท่านั้น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งอย่าหลงคิดและหลงเพ่ง) ยกเว้นการทำความสงบจิตเมื่อสมควรพักทำความสงบ แต่ไม่ใช่พักทำความสงบจิต โดยหวังว่า ถ้าสงบมากๆ แล้วจะเกิดปัญญาได้เอง ปัญญาก็เหมือนทรัพย์สิน จะเกิดขึ้นด้วยการนอนรอไม่ได้

ตอนที่ 038
เมื่อรู้รูปนามถูกต้องแล้ว
จะรู้อะไรบ้าง

1.4 เมื่อรู้รูปนามถูกต้องแล้ว จะรู้อะไรบ้าง หากผู้ปฏิบัติมีสติสัมปชัญญะระลึกรู้รูปนามที่กำลังปรากฏตรงตามความเป็นจริงแล้ว ก็จะเกิดความรู้ขึ้นมา 3 ขั้นตอน คือรู้สภาวะ รู้จริง และรู้ละ ดังนี้คือ
1.4.1 ขั้นแรกจะรู้สภาวะของรูปนามที่กำลังปรากฏอยู่ (ญาตปริญญา) เช่นพอมีสติรู้สึกตัวขึ้นมาก็รู้ว่า รูปนั่งกำลังปรากฏอยู่ หรือโทสะ (นามเจตสิก) กำลังปรากฏอยู่ เป็นต้น อย่างไรก็ตามถ้ามีสภาวะบางอย่างที่ผู้ปฏิบัติไม่รู้จักชื่อปรากฏขึ้นก็ไม่ต้องกังวล สิ่งสำคัญคือตัวสภาวะ ไม่ใช่ชื่อของสภาวะ แค่รู้ว่าสิ่งบางสิ่งปรากฏอยู่ก็พอแล้ว
1.4.2 ขั้นต่อมาเมื่อสติปัญญาพัฒนามากขึ้น ก็จะเริ่มรู้จริง (ตีรณปริญญา) ว่า รูปนามหรือสิ่งบางสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่นั้น มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สิ่งเหล่านั้นล้วนแสดงความจริงคือการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตาคือไม่อยู่ในอำนาจบังคับของใคร
1.4.3 ขั้นต่อมาเป็นขั้นของการรู้ละ (ปหานปริญญา) คือละความรู้ผิดเข้าใจผิดเกี่ยวกับรูปนาม แล้วลดหรือหมดความยึดถือรูปนามไปตามลำดับ แต่ทั้งนี้ต้องเข้าใจเสียก่อนว่า คำว่ารู้ละไม่ได้หมายถึงการละอารมณ์รูปนาม แต่เป็นการรู้รูปนามตรงตามความเป็นจริง จนละความเห็นผิดและความยึดถือรูปนามลงได้เท่านั้น
อีกนัยหนึ่ง เมื่อรู้รูปนามได้อย่างถูกต้องแล้ว ปัญญาจะพัฒนาไปตามลำดับ นับตั้งแต่ (1) การมีความเห็นถูกว่าสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ไม่มี มีแต่รูปกับนาม (ทิฏฐิวิสุทธิ/นามรูปปริจเฉทญาณ) (2) รูปนามมีเหตุมีปัจจัยก็เกิดขึ้น หมดเหตุหมดปัจจัยก็ดับไป (กังขาวิตรณวิสุทธิ/ปัจจยปริคคหญาณ) (3) รู้หนทางที่จะเรียนรู้ความจริง ของรูปนามให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ด้วยการเจริญสติสัมปชัญญะจนเห็นไตรลักษณ์ และรู้ว่านอกจากการเจริญสติสัมปชัญญะแล้ว ไม่ใช่วิธีเรียนรู้เรื่องรูปนาม (มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ/สัมมสนญาณและตรุณอุทยัพพยญาณ) (4) ลงมือรู้รูปนาม เห็นความเกิดดับของรูปนามตามความเป็นจริง จนจิตเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด และจิตเป็นกลางต่อรูปนามด้วยปัญญา จนกระทั่งจิตยอมรับหรือคล้อยตามความจริงของอริยสัจจ์ในที่สุด (ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ/พลวอุทยัพพยญาณ - อนุโลมญาณ และนับโคตรภูญาณเข้าไว้ด้วยโดยอนุโลม) แล้ว (5) ปล่อยวางความยึดมั่น รูปนาม หลุดพ้นเพราะความไม่ยึดมั่น (ญาณทัสสนวิสุทธิ/มัคคญาณ และนับผลญาณกับปัจจเวกขณญาณเข้าไว้ด้วยโดยอนุโลม) (ศึกษาเพิ่มเติมจากหลักธรรมเรื่องวิสุทธิ 7 และโสฬสญาณ หรืออภิธัมมัตถ สังคหะปริจเฉทที่ 9 กัมมัฏฐานสังคหวิภาค)

.................

สันตินันท์
(พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช ในปัจจุบัน)
ถาม: การแยกจิตผู้คิดกับจิตผู้รู้ออกจากกันทำยังไงคะเวลานั้นยังคงเป็นจิตดวงเดียวกันหรือเปล่าคะเรื่อง "จิตคิด" กับ "จิตรู้"ที่จริงถ้าเราแยกนามธรรมได้ชำนาญ เราจะไม่กล่าวถึง "จิตคิด" กับ "จิตรู้"เพราะจิตนั้น มันมีคุณสมบัติหลายอย่าง ตั้งแต่ รู้สึก จำ คิด รับรู้ และเสพอารมณ์หากเราแยกนามได้ชำนาญ เราจะพบว่า คุณสมบัติแต่ละอย่างของจิตนั้นก็คือนามขันธ์ แต่ละตัวนั่นเองคือความรู้สึกสุข ทุกข์ ก็คือเวทนา ไม่ใช่จิตความจำก็คือสัญญา ไม่ใช่จิตความคิดนึกปรุงแต่งก็คือสังขาร ไม่ใช่จิตความรับรู้ก็คือวิญญาณ ไม่ใช่จิตเอาเข้าจริง สิ่งที่เราเรียกว่าจิต ก็ไม่ใช่จิตแต่เพราะเราไม่รู้เท่าทัน ไม่ปล่อยให้ขันธ์แต่ละขันธ์เขาทำหน้าที่ของเขาจึงไปยึดเอานามธรรมว่าเป็นจิตเรา แล้วให้มันร่วมมือกันทำงานจนหลอกเราได้เช่น พอรู้ว่ามีความสุข ก็ยึดเอาว่า จิตสุข หรือเราสุขไม่ได้เห็นว่าความสุข ก็เป็นสิ่งภายนอก เป็นสิ่งที่ถูกรู้ ไม่ใช่เราพอมีความจำได้หมายรู้ ก็ยึดว่าเราจำได้หมายรู้ไม่เห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ไม่ใช่เราพอมีความคิดนึกปรุงแต่ง ทั้งที่เป็นอกุศล กุศล และเป็นกลางก็ว่าจิตเราดี จิตเราชั่ว จิตเราเป็นกลางไม่เห็นว่าความคิดนึกปรุงแต่งเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ไม่ใช่เราพอมีความรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ว่าจิตเรารับรู้ไม่เห็นว่าความรับรู้เป็นสภาพธรรมที่เป็นอิสระ อยู่นอกเหนือการบังคับบัญชาของเราจิตนั้นอาศัย "จิตตสังขาร" คือเวทนา สัญญา และสังขาร จึงรู้สึกว่าเป็นจิตขอเพียงปล่อยวางนามขันธ์เสียให้หมด ไม่เห็นว่าเป็นเราธรรมชาติรับรู้ล้วนๆ ก็จะปรากฏขึ้นและธรรมชาติอันนั้น จะไม่มีความรู้สึกแม้แต่นิดเดียวว่า เป็นตัวเรา หรือจิตเราอย่าไปสำคัญว่า นี่คือจิตรู้ จิตคิด จิตจำ จิตเห็นสิ่งเหล่านั้น เป็นการประกอบกันขึ้นของนามขันธ์เท่านั้นเองครับรักษาสติ สัมปชัญญะไว้ให้แจ่มใส ต่อเนื่องรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงรูป และนาม เขาจะทำหน้าที่ของเขาไปตามเหตุปัจจัย ให้ดูต่อหน้าต่อตาทีเดียว


ถาม: ธรรมชาติรับรู้คืออะไรคะ ไม่ใช่จิตแล้วเป็นอะไรธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์ก็คือจิตนั่นแหละครับเพียงแต่เมื่อจิตไม่ถูกปรุงแต่งด้วยความคิดนึกปรุงแต่ง (สังขารขันธ์)จิตจะไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่ามันคือจิตที่มันคิดว่า อันนี้คือจิต และเป็นเรา ก็เพราะสังขารหรือความคิดนึกปรุงแต่งนั่นเองท่านจึงสอนว่า "สังขารทั้งหลาย สงบเสียได้ เป็นสุข"คือจิตที่พ้นจากความปรุงแต่งนั้น มันเป็นสุข เป็นอิสระโดยไม่ต้องอิงอาศัยอารมณ์ภายนอกเลยถาม: การรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงหมายถึงเรารู้สิ่งที่กำลังเกิดตอนนั้นว่าเกิดจากเหตุปัจจัยอะไรแล้วไม่เข้าไปยึดมั่นหมายมั่น ใช่รึเปล่าเราเพียงรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจรู้อย่างเดียวก็พอครับ ไม่จำเป็นต้องไปใช้ความคิดว่า สิ่งนี้คืออะไร สิ่งนี้เกิดจากอะไรเพราะขณะที่หลงคิดนั้น เราไม่ได้รับรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั้นแล้วแต่หลงไปในโลกของความคิดเสียแล้วก่อนที่เราจะรู้สภาพธรรมหรืออารมณ์ที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้นั้นจิตจะต้องมีสัมมาสมาธิเสียก่อนคือจิตจะต้องตั้งมั่นไม่วอกแวก รู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏด้วยความเป็นกลางและไม่มีความยินดียินร้ายต่ออารมณ์นั้นจิตจึงจะเห็นสภาพที่แท้จริงของอารมณ์หรือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริงได้แต่ถ้าระหว่างที่รู้อารมณ์อยู่นั้น จิตเกิดความยินดียินร้ายขึ้นแล้วเกิดแรงผลักดันให้เข้าไปยึดถือ หรือให้มีพฤติกรรมต่าง ๆก็ให้รู้ทันจิตใจตนเองที่กำลังถูกผลักดันด้วยกระแสตัณหาไม่ใช่ไปกดข่มไม่ให้จิตยินดียินร้ายนะครับ


ถาม: เคยฝึกให้สมองตัวเองว่างโดยการคิดว่า ตอนนี้กำลังคิดอะไรอยู่ฉะนั้น พอลองมองดูจิต ผมก็เลยไปมองดูว่า ตอนนี้คิดอะไรอยู่ ไม่ทราบถูกหรือเปล่าแล้วก็กลายเป็นว่า หาอะไรไม่เจอครับ ทั้งความคิด ทั้งอารมณ์ ขณะนั้นไม่ทราบว่าต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไรครับแล้วอีกอย่างหนึ่งผมจะรู้ได้ยังไงว่าตัวรู้ผมอยู่ตรงไหนครับแล้วตัวรู้มันออกอาการยังไงบ้างครับ ผมแยกไม่ออกครับ ระหว่างความคิด กับตัวรู้ครับเรื่องตัวรู้นั้น มันไม่มีตัว มีตน หรือมีจุด มีดวง อะไรหรอกครับเอาเข้าจริงในการปฏิบัตินั้น ก็มีแต่เรื่อง จิต กับ อารมณ์"จิต" เป็นผู้รู้ ผู้คิด ผู้นึกส่วน "อารมณ์" เป็นสิ่งที่ถูกจิตรู้ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ (สิ่งที่รู้ได้ทางใจ)เวลาที่คุณเกิด "ความสงสัย"ถ้ามีสติระลึกรู้เข้าไปที่ความรู้สึกสงสัยนั้น(ไม่ใช่รู้ "เรื่อง" ที่สงสัย นะครับ แต่รู้ที่ "ความรู้สึก" สงสัย)จะเห็นชัดว่า ความสงสัยเป็นสิ่งที่ถูกรู้ในร่างกายและจิตใจเรานั้น มีอีกสิ่งหนึ่ง ที่เป็นผู้ไปรู้ความสงสัยนั้นเข้าอันนี้แหละครับที่สมมุติเรียกไปก่อนว่าผู้รู้เอาเข้าจริง ผู้รู้ ก็คือจิตที่ประกอบด้วยสติ สัมปชัญญะ อุเบกขา เอกัคตาหรือจิตที่ประกอบด้วยสัมมาสมาธินั่นเองคือเป็นจิตที่เป็นผู้รู้ ที่มีความเป็นกลางและตั้งมั่น ไม่หลง"ไหล" ไปตามอารมณ์ที่จิตไปรู้เข้า(ผมจงใจใช้คำว่า หลง"ไหล" ไม่ได้ใช้คำว่า หลงใหล)ในขั้นแรก อย่าพยายามไปค้นหาจิตผู้รู้ เพราะหาอย่างไรก็หาไม่พบเนื่องจากจิตกำลังหลงอยู่กับอาการเที่ยวค้นหาผู้รู้แต่ให้พยายามรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏไปก่อนเช่น สงสัย ก็รู้ว่าสงสัย เห็นชัดว่าความสงสัยไม่เที่ยงคือมีระดับความรุนแรงของความสงสัยที่ไม่คงที่เดี๋ยวก็สงสัยมาก เดี๋ยวก็สงสัยน้อย เดี๋ยวก็ดับหายไปจิตก็จะว่าง ๆ อยู่ ต่อมาความคิดเกิดขึ้นอันนี้อย่าไปเพ่งใส่ความคิดนะครับ มันจะดับไปเฉย ๆควรปล่อยให้จิตมันคิดของมันไปเมื่อจิตทำงานอยู่อย่างนั้น ไม่นานก็จะเห็นกิเลสตัณหาต่าง ๆ เกิดขึ้นอีกหรืออาจเกิดเวทนา เช่น รู้สึกเป็นสุขสบาย หรืออึดอัดขัดข้องใจก็ให้รู้สภาวธรรมทั้งปวงที่ปรากฏขึ้นนั้น ในลักษณะเดียวกับที่รู้ความสงสัยนั่นเองคือให้รู้มัน ในฐานะที่มันถูกรู้ แล้วมีผู้รู้เป็นคนดูอยู่ต่างหากหัดทำอย่างนี้ไม่นาน ก็จะเข้าใจได้ว่า อะไรคือจิต (ผู้รู้) อะไรคืออารมณ์ (ที่ถูกรู้)และเห็นสิ่งที่ถูกรู้ แสดงไตรลักษณ์อยู่ตลอดเวลารวมทั้งเห็นด้วยว่า เมื่อใดจิตเกิดความยินดียินร้ายต่ออารมณ์จิตเข้าไปยึดอารมณ์ จิตจะเกิดทุกข์พอรู้ทันอย่างนั้น จิตจะกลับมาตั้งมั่น เป็นกลาง และรู้อารมณ์ต่อไปอีกจิตเพียง "รู้สักว่ารู้" จะเห็นอารมณ์เกิดดับไปเรื่อย ๆโดยจิตเป็นกลาง ไม่เข้าไปแทรกแซงอารมณ์ก็ให้เพียรปฏิบัติไปมาก ๆ ครับ


ถาม: ในพาหิยสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรที่ได้กล่าวถึงการบรรลุอรหัตตผลของท่านพาหิยะเมื่อได้อ่านครั้งแรกผมก็มีความรู้สึกว่า "เป็นไปได้" แต่ผมไม่รู้ว่า "เป็นไปได้อย่างไร"เพียงคำว่า "สักแต่ว่าๆ" ไม่น่าจะทำให้คนๆหนึ่ง สามารถบรรลุอรหัตตผลได้เลยไม่มีเหตุผลกลใดเลยที่จะทำให้เราคิดออกว่า จะเป็นไปได้ด้วยเหตุผลกลใดผมไม่สงสัยในความเป็นไปได้ แต่ผมสงสัยว่า "เป็นไปได้อย่างไร"ถ้าสติปัญญาทำงานทันผัสสะจริงๆจึงจะ "สักแต่ว่า" ได้ครับคือจิตไม่ปรุงแต่งต่อไป รู้แล้ววางอยู่แค่นั้นเลยหรือแม้ว่า จิตจะปรุงแต่งต่อไปอีกถ้าจิตไม่หลงยึดถือไปตามความปรุงแต่งนั้นอันนี้ก็ยังถือว่า "สักแต่ว่า" ได้เหมือนกันเมื่อวานซืน ยืมลูกคุณหมอท่านหนึ่งมาเป็นอุปกรณ์ทางการศึกษาคือชี้ให้ดูว่า สิ่งที่เห็นเป็นเด็กนั้น ที่จริงคือสีที่ตัดกันเท่านั้นแล้วตาก็ไม่รู้หรอกว่า นี่สีอะไร รวมกันแล้วเป็นรูปอะไรอาศัยสัญญา จึงรู้ว่า นี้เป็นรูปที่บัญญัติเรียกว่าอะไรเมื่อจิตรู้ว่า นี้คือลูกแล้วสังขารคือความคิดนึกปรุงแต่งก็ทำงานต่อ มีความรักเกิดขึ้นปกติจิตของเราทำงานเร็วมากในทางทฤษฎี ถ้าตาเห็นสีแล้วหยุดอยู่เพียงนั้น ก็เรียกว่า สักแต่ว่าเห็นแต่ในความเป็นจริง ช่วงต่อระหว่างที่ตาเห็นสี กับสัญญาแปลความหมายนั้นสั้นมากพอเห็นปุ๊บ ก็สรุปว่านี้คือ ลูกเรา เสียแล้วแล้วสังขารก็ทำงานต่ออย่างรวดเร็วปรุงเป็นความรักใคร่หวงแหนห่วงใยขึ้นมาแล้วนักปฏิบัติที่ยึดตำรามากเกินไป ที่บอกว่าทำสติรู้ สี อย่างเดียวนั้นเอาเข้าจริงจึงเป็นการหลอกตัวเองเพราะพอเกิดผัสสะทางตาแล้ว วับเดียวก็เกิดผัสสะทางใจตามมาแล้วถ้าเมื่ออารมณ์ทางใจเกิดขึ้น แล้วทำเป็นไม่รับรู้เพราะ "อยาก" รู้สีอย่างเดียวเพื่อให้เป็นปัจจุบันและต่อเนื่องมันจึงไม่ใช่ปัจจุบัน เพราะปัจจุบันมันย้ายไปเป็นอารมณ์ทางใจเสียแล้วเมื่ออารมณ์ทางใจปรากฏเด่นชัด ก็ควรรู้มันไม่ใช่ปฏิเสธมันเพราะจะเอาแต่รู้อารมณ์ทางตาอย่างเดียวแต่การรู้อารมณ์ทางใจนั้น ก็ให้ "สักแต่ว่ารู้"คือรู้ตามที่มันเป็น ไม่ใช่หลงปล่อยให้เกิดตัณหาผลักดันจิตให้ทะยานเข้าไปยึดอารมณ์แบบไม่รู้ทันรวมความแล้ว สักแต่ว่า ก็ต้องอาศัย สติ รู้อารมณ์ตามที่มันเป็นตามที่คุณถามไว้นั่นเองแม้ตอนแรกจะรู้อารมณ์ทางตา ขณะต่อมารู้อารมณ์ทางใจก็สามารถ สักแต่ว่ารู้ ได้ทั้งนั้น ทั้งที่ตาและที่ใจหากไม่สักแต่ว่ารู้ อะไรจะเกิดขึ้น?สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือปฏิจจสมุปบาทจาก ผัสสะ เวทนาตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ จนถึงทุกข์ นั่นเองหากสักแต่ว่ารู้ แม้มันจะก้าวกระโดดจากการรู้สีด้วยตาไปรู้ธรรมารมณ์ทางใจก็ตามจิตที่ไม่หลงยินดีไปกับธรรมารมณ์ก็จะไม่ปรุงแต่งจนเกิดความทุกข์ขึ้นมาคำว่า "สักแต่ว่า" จึงเป็นสิ่งที่จะตัดวงจรของปฏิจจสมุปบาทให้ขาดตอนลงไม่เกิดตัณหา อุปาทาน ขึ้นหรือแม้เกิดตัณหา ก็ไม่ หลง "ไหล" ตามตัณหาไปจนเป็นอุปาทานท่านพระพาหิยะ ฟังธรรมแค่ สักแต่ว่า สักแต่ว่า เพียง ๑-๒ คำท่านเข้าใจ และตัดวงจรปฏิจจสมุปบาทขาดและท่านก็เข้าใจปฏิจจสมุปบาทหรืออริยสัจจ์ตลอดสายคือ "รู้" ว่าทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร ไม่เกิดขึ้นได้อย่างไรอวิชชา ความ "ไม่รู้" ก็ขาดออกจากจิตของท่านในขณะนั้น

พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช

ถาม: เคยได้ยินหลวงพ่อเล่าพระสูตรหนึ่งว่า
มีเทวดาไปถามพระพุทธเจ้าว่าพระองค์ข้ามโอฆะได้อย่างไร
พระพุทธองค์ตอบว่าพระองค์ไม่พัก และพระองค์ไม่เพียร
อยากจะเรียนถามว่า โอฆะคืออะไรคะ

กิเลสที่เราต้องข้ามให้ได้ เค้าเรียกว่าโอฆะ จะเรียกอาสวะก็ได้ มีอยู่ ๔ ตัว

โอฆะแปลว่าห้วงน้ำ หมายถึงกิเลสที่เหมือนเราหล่นลงไปแล้วจมน้ำตายอยู่ในนั้นเลย พาให้เราจมตายอยู่ในสังสารวัฏ เวียนตายเวียนเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกนั่นเอง อาสวะเป็นกิเลสที่ยั่วย้อมใจทำให้กิเลสอย่างอื่นเข้ามาครอบงำจิตใจได้

องค์ธรรมของโอฆะหรือองค์ธรรมของอาสวะเป็นอันเดียวกัน
คือมีกาม มีทิฏฐิ มีภพ มีอวิชชา มี ๔ อย่างนี้
มันเหมือนทะเลใหญ่ ๔ ทะเล เราจะต้องข้ามให้ได้ถ้าจะข้ามสังสารวัฏนะ
ข้ามห้วงมหรรณพอันใหญ่ ในทะเลใหญ่นี้มีทะเลย่อยๆ อยู่ ๔ อัน ต้องข้ามให้ได้ แต่ละอันข้ามยากมากเลย

ทะเลอันที่ ๑ ชื่อว่าทิฏฐิ โอฆะอันที่ ๑ ชื่อ ทิฏฐิ
ทิฏฐิคือความเห็นผิด เช่น เราเห็นผิดว่าตัวเรามีอยู่จริงๆ
พอร่างกายนี้ตายไป จิตใจที่ไปเกิดใหม่ ยังเป็นจิตใจคนเก่าอยู่
จิตใจดวงเดิมไปเกิดใหม่ อันนี้เป็นมิจฉาทิฏฐินะ ชื่อสัสสตทิฏฐิ
แท้จริงจิตไม่ได้ไปเกิดใหม่ จิตเกิดขึ้นตรงนี้ก็ดับตรงนี้

เกิดตรงตาก็ดับที่ตา เกิดที่หูก็ดับที่หู เกิดที่ใจก็ดับที่ใจนั่นเอง จิตเกิดดับอยู่อย่างนี้ตลอด
เหมือนเวลาที่เราตาย จิตดวงสุดท้ายในชีวิตนี้เรียกว่าจุติจิตดับลงไปปั๊บ
มันเกิดจิตดวงใหม่ในชีวิตใหม่ เรียกว่า ปฏิสนธิจิต
มันเกิดสืบเนื่องไปเรื่อยๆ มันไม่ใช่จิตดวงเก่า ไม่ใช่ตัวนี้ถอดออกจากร่างนะ
ส่วนใหญ่ชอบคิดว่า วิญญาณเราออกจากร่างไปหาที่เกิดใหม่ อันนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ
ถ้าเราหัดภาวนาก็จะเห็นว่าจิตเกิดดับตลอดเวลา
ไม่มีหรอกจิตที่อยู่นานๆ ถึงขนาดถอดออกจากร่างไปเกิดใหม่ได้ ไม่มี
มิจฉาทิฏฐิอีกอย่างนึงคือคิดว่าถ้าตายแล้วสูญไปเลย
พวกนี้เชื่อทางวัตถุ คิดว่าตายแล้วสูญไปเลย มองไม่เห็นความสืบต่อของจิต
ถ้าเราจะข้ามมิจฉาทิฏฐิพวกนี้ได้ต้องมาดูที่กายที่ใจของเรา
จนเห็นความจริงของกายของใจนี้ จึงจะข้ามมิจฉาทิฏฐิได้ ข้ามความเห็นผิดได้

มิจฉาทิฏฐิมีเยอะนะ เช่น ไม่เชื่อเรื่องกรรมกับผลของกรรม
ไม่เชื่อเรื่องการกระทำกับผลของการกระทำ ไม่เชื่อเรื่อง action กับ reaction
พวกหนึ่งก็เชื่อว่าสัตว์มีเฉพาะที่เรามองเห็น เทวดา สัตว์นรก เปรต อสุรกาย พวกนี้ไม่มี
เพราะตัวเองไม่เห็นก็ว่ามันไม่มี พวกนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งนั้นเลย
มันไม่เชื่อในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านะ มันเป็นพวกมิจฉาทิฏฐิ
ทีนี้เราจะข้ามมิจฉาทิฏฐิได้ยังไง

มิจฉาทิฏฐิเป็นทะเลที่กว้างที่สุด ลักษณะของทะเลมิจฉาทิฏฐิคือทะเลที่กว้างมากเลย ไม่เห็นฝั่ง
คนทั้งหลายที่ตกอยู่ในมิจฉาทิฏฐิจะเวียนว่ายตายเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่อย่างนั้นเอง
เพราะไม่รู้ว่าฝั่งอยู่ตรงไหน ขึ้นฝั่งไม่ได้
พระพุทธเจ้าท่านถึงสอนบอกว่าเราตถาคตไม่เห็นว่าอะไรจะมีโทษเท่ากับมิจฉาทิฏฐิเลย
มิจฉาทิฏฐิมีโทษมากที่สุด ตัวศาสนาพุทธแท้ๆ นั่นแหละคือตัวสัมมาทิฏฐิ

แล้วเราจะข้ามทะเลที่กว้างนี้นั้น เราไม่มีปัญญาจะข้ามด้วยตนเองเพราะเราไม่ใช่พระพุทธเจ้า
อาศัยพระพุทธเจ้าท่านบอกทางให้ เหมือนท่านอยู่บนบกนะ ท่านตั้งประภาคารขึ้นมา
เราเห็นแสงไฟแล้ว เรารู้ทิศทางแล้วว่าต้องเข้ามาทางนี้นะ ถึงจะเข้าฝั่งได้
ผู้ที่ข้ามทะเลทิฏฐิที่กว้างขวางอันนี้ได้คือพระโสดาบันเท่านั้น
จะเป็นโสดาบันได้จะต้องเห็นความจริงของกายของใจ
ถ้าเห็นความจริงก็จะล้างความเห็นผิดได้ เห็นความจริงของกายของใจ
มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตานะ มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป
มันเป็นสิ่งที่ถ้ามีเหตุมันก็เกิดอีก ถ้าไม่มีเหตุมันก็ไม่เกิดอีก มันจะเห็นอย่างนี้
เพราะฉะนั้นมันจะไม่มีตายแล้วเกิดหรือตายแล้วสูญหรอก
มันมีแต่ว่ามันสืบเนื่องไปเรื่อยๆ ถ้ามันมีเหตุ
ถ้าไม่มีเหตุ คือไม่มีกิเลสแล้ว มันจะไม่สืบเนื่องไป
แต่ก็ไม่ได้แปลว่าสูญนะ อย่าไปแปลว่าสูญนะ
มันมีธรรมชาติอย่างหนึ่งซึ่งมีแต่ไม่มี หรือไม่มีความมี
เป็นธรรมะอีกชนิดนึงซึ่งเรายังไม่รู้จัก มันไม่ใช่สาบสูญไปเลย
เพราะฉะนั้นให้คอยมาดูกายมาดูใจมากๆ
วันนึงละความเห็นผิดได้ ได้โสดาบัน ข้ามทะเลอันที่หนึ่งได้แล้ว คือทะเลของทิฏฐิ

ทะเลตัวที่สองคือทะเลกาม ถ้าบอกว่าทะเลทิฏฐิคือทะเลที่กว้างหาขอบเขตไม่เจอนะ
ทะเลกามนี้มีขอบมีเขต ขอบเขตของกามอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้เอง
อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ทะเลกามเป็นทะเลน้ำวนนะ
จิตเราจะวนเที่ยวแสวงหาอารมณ์อยู่ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่ตลอดเวลา
มันหิวตลอด มันหิวอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะหมุนติ้ว ติ้ว ติ้ว อยู่ทั้งวัน
เดี๋ยวก็อยากได้อารมณ์ทางตา เดี๋ยวอยากทางหู เดี๋ยวอยากทางลิ้น ทางจมูก ทางกาย ทางใจ
จะหมุนจี๋ จี๋ จี๋ อยู่ทั้งวันทั้งคืน เป็นทะเลตัณหานั่นเอง ทะเลของกาม หมุนติ้ว ติ้ว ติ้ว ไม่หยุด

คนที่จะข้ามทะเลกามได้หรือทะเลน้ำวนนี้ได้ ต้องเห็นความจริงลงมาในกายนี้ได้
เห็นถ่องแท้เลย ตา หู จมูก ลิ้น กาย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เนื่องด้วยตา หู
จมูก ลิ้น กาย ล้วนเป็นของไม่เที่ยง ล้วนเป็นของเป็นทุกข์ ล้วนเป็นของไม่ใช่ตัวเรา
ถ้าเห็นอย่างนี้แจ่มแจ้ง เห็นกายนี้เป็นทุกข์ล้วนๆได้นะ
ปล่อยวางความยึดถือกายได้ก็จะข้ามกามได้

แต่คำว่ากามนี้ ในตำรานะ ตำราชั้นหลังๆ อธิบายมากกว่านี้
กามไม่ใช่แค่กามราคะ ถ้ากามราคะนี่ แค่พระอนาคามีละได้
ถ้าไปถือเอารูปราคะ อรูปราคะเป็นกามด้วย ก็จะมีแต่พระอรหันต์ถึงจะละได้เด็ดขาด
ทีนี้พวกเราเข้าใจยากอย่างนี้ ก็จะพูดแค่กามที่พวกเรารู้จักก็แล้วกัน พระอนาคาก็ละได้แล้ว
เพราะฉะนั้นทะเลน้ำวนนี้ข้ามยากนะ ถูกดูด เห็นมั้ยมันดึงดูดใจเรา กามมันดึงดูดนะ

ใครเคยได้ยินชื่อเจ้าคุณนรฯ บ้างมั้ย เจ้าคุณนรฯ แต่งกลอนไว้อันนึงนะ
แต่งไว้เจ็บๆ แสบๆ นะ เออ..คนสมัยนี้อาจจะว่าไม่ค่อยสุภาพ
ท่านบอกว่า บ่อน้อยเท่ารอยโค รอยโค คือบ่อน้อยเนี่ยเท่าตีนวัวเท่านั้นแหละ เท่ารอยตีนวัว
บ่อน้อยเท่ารอยโค หรือจะโผข้ามพ้น หมายถึงข้ามยาก เป็นมหาเปรียญก็ยังเวียนไปหาก้น
ท่านบอกอย่างนี้ ท่านว่าแสบนะ กามไม่ใช่ของสู้ได้ง่ายนะ
ถ้าใจไม่ถึงจริงๆ สติปัญญาไม่แก่รอบจริงๆ รู้ลงมาไม่เห็นความจริงของกายนี้
มันยังรักกาย ยังหวงแหนกายอยู่ มันจะรักรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ไปด้วย
ถ้าเราเห็นกายเรา มีแต่ความทุกข์ล้วนๆ มันจะไม่รักรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ยกตัวอย่าง อย่างเราชอบอะไรที่นุ่มๆ ใช่มั้ย อย่างหนุ่มๆ นี่ ชอบสาวๆ ตัวนุ่มๆ
ถ้าตัวเราเป็นแผลนะ เป็นแผลเหวอะหวะ ทั้งตัวเลย ใครมาถูกเรา เราก็เจ็บก็แสบ
เราจะไม่อยากสัมผัสทางกายแล้ว
ถ้าสติปัญญาเราแก่รอบจริงๆ เห็นกายนี้เป็นทุกข์ล้วนๆ เลยนะ มันจะไม่เอากาม มันจะไม่เอากาม
เพราะฉะนั้นทะเลน้ำวนมันจะดูดเราไม่ได้ เพราะเรารู้แล้วว่ามันทุกข์นะ มันทุกข์

ทะเลที่สามนะมีชื่อว่าภพ ภวโอฆะ
ภพก็คือ การทำงานของจิต มันก็เนื่องมาจากตัณหานั่นแหละ
จิตของเรามันทำงานทั้งวันทั้งคืน ไม่เคยหยุดพักเลย
ปรุงแต่ง คิดนึกปรุงแต่ง ปรุงดี ปรุงชั่ว ปรุงสุข ปรุงทุกข์ มันปรุงทั้งวันทั้งคืน
ทันทีที่จิตปรุงแต่งอะไรขึ้นมา จิตก็มีความทุกข์ขึ้นมาทุกที
ทะเลภพนี้เป็นทะเลที่ไม่ใช่หมุนวนแล้ว มีลักษณะอีกชนิดหนึ่ง เป็นทะเลที่น้ำเชี่ยว
มันพัดพาเราจากภพหนึ่งไปสู่อีกภพหนึ่งตลอดเวลาเลย
จิตเราจะเปลี่ยนภพตลอดเวลานะ จากภพอันนึงไปสู่ภพอีกอันนึง จากภพหนึ่งไปสู่ภพอีกอันหนึ่ง
เราจะเวียนตายเวียนเกิดไม่มีเงื่อนต้นเงื่อนปลายใดๆ ในสังสารวัฏนี้
แม้กระทั่งในชีวิตเดียวของเราขณะนี้ จิตของเราก็เปลี่ยนภพย่อยๆ อยู่ในใจตลอดเวลา
เดี๋ยวเราก็เป็นคนดี เดี๋ยวเราก็เป็นคนร้าย เดี๋ยวเราเป็นนักปฏิบัติ เดี๋ยวเราเป็นจอมเจ้าเล่ห์แสนกล
เดี๋ยวเราเป็นคนเมตตา เดี๋ยวเราเป็นคนขี้โมโห จิตใจเราเปลี่ยนภพอยู่ตลอดเวลา
เวลาเราโมโหทีนะ เราก็เป็นสัตว์นรกที เพราะมันเป็นโทสะ
เวลาเราโลภขึ้นมาทีนะ เราก็เป็นเปรตทีนึง
เวลาเรายึดถือในความคิดความเห็น เราก็ไปอยู่ในภพของอสุรกายทีนึง
เวลาเราใจลอยไป เผลอไป เหม่อไป เราไปภพของเดรัจฉาน
ถ้าเราเป็นคนมีศีลมีธรรมนะ เราก็ไปภพมนุษย์
ถ้าเราเป็นคนที่มีหิริโอตตัปปะ ละอายบาป กลัวผลของบาป เราก็ไปภพของเทวดา
ถ้าเรามีใจสงบ มีใจตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว เราก็ไปภพของพรหม
จิตใจของเราหมุนเวียนอยู่ตามภพต่างๆ ภพทั้งหมดเป็นทุกข์ทั้งหมดนะ
ไม่มีนะภพที่ไม่ทุกข์ ถึงเป็นพรหมเป็นเทวดาก็มีความทุกข์ ทุกข์แบบเทวดา ทุกข์แบบพรหม
ไม่ว่าภพอะไรก็ลำบากหมดเลย มีแต่ความทุกข์ล้วนๆ เลย
นี่ถ้าสติปัญญาของเราแก่กล้าไม่พอ เราจะมองไม่ออก
การจะข้ามทะเลน้ำเชี่ยวอันนี้ได้ มีทางเดียว ต้องละอวิชชาได้
เพราะฉะนั้นการข้ามภพ กับการละอวิชชานี้จะควบกันไป เป็นเรื่องของพระอรหันต์ที่จะเห็น

ทะเลของอวิชชานี้ไม่เหมือนทะเลของทิฏฐิที่เป็นทะเลกว้างไม่มีขอบมีเขต หาฝั่งไม่เจอ
ไม่เหมือนทะเลกามที่เป็นทะเลน้ำวน ไม่เหมือนทะเลภพที่เป็นทะเลน้ำเชี่ยว
ทะเลของอวิชชาเป็นทะเลน้ำตื้น คลื่นลมสงบ แต่หมอกลง เป็นทะเลหมอกนะ
เพราะฉะนั้นเราว่ายน้ำมาจนถึงริมฝั่งแล้ว ขึ้นฝั่งไม่ได้หรอก
ว่ายไปว่ายมานะมันหลุดออกไปทะเลลึกได้อีกนะ
เพราะฉะนั้นอย่างปุถุชนหลายคนนะ ที่คิดจะสู้อวิชชา ไม่ได้กินหรอก แป๊ปเดียวก็กลับไปมีทิฏฐิอย่างเดิม
อย่างถ้าเราไม่ใช่พระอนาคานะ จะมาริหาญสู้อวิชชา มวยคนละชั้นนะ แป๊ปเดียวก็หลงกามไปอีกแล้ว
หลงในกาม หลงในทิฏฐิอีกแล้ว ถ้าไม่ใช่พระอนาคานะ
ทีนี้เราจะละอวิชชา ทะเลน้ำตื้นหรือทะเลหมอกนี้ได้ต้องมีวิชชา คือรู้แจ้งอริยสัจจ์ก่อน
การรู้แจ้งอริยสัจจ์นี้ทำให้เราขึ้นฝั่งได้ ถ้ายังไม่รู้แจ้งอริยสัจจ์ได้นะ จะขึ้นฝั่งไม่ได้
พระไตรปิฎกสอนไว้ว่า ตราบใดที่ไม่รู้แจ้งอริยสัจจ์ ยังข้ามภพไม่ได้ ยังวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ
เพราะฉะนั้นการเรียนธรรมะนะ ต้องรู้แจ้งอริยสัจจ์ถึงจะข้ามภพข้ามชาติได้ ข้ามทุกข์ได้
ถ้ารู้แจ้งอริยสัจจ์ซะอย่างเดียว ทิฏฐิก็ไม่มี กามก็ไม่มีนะ ภพก็ไม่มี อวิชชาก็ไม่มี

การรู้แจ้งอริยสัจจ์ตัวที่ ๑ เรียกว่า ทุกขสัจจ์
ทุกขสัจจ์คืออะไร คือกายกับใจนี้เอง
เพราะฉะนั้นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติ ตั้งแต่เบื้องต้นเลย จนสุดท้ายมีแต่การรู้กายรู้ใจตนเอง รู้ลงมาเรื่อยๆ กายของเราเป็นยังไง รู้สึกไว้ จิตใจของเราเป็นยังไง คอยรู้สึกไว้ อย่าลืมกาย อย่าลืมใจ ถ้าลืมกายลืมใจเรียกว่าขาดสติ
แต่ก็ห้ามเพ่งกายเพ่งใจ ให้รู้กายรู้ใจ ไม่ได้ให้เพ่งกายเพ่งใจ
ไม่ได้ให้กำหนดกายกำหนดใจ คนละเรื่องเลยนะ

รุ่นหลังๆ นี้ชอบกำหนดนะ กำหนดเป็นสมถะ กำหนดลงไป จิตจะไปแน่วไปนิ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว บังคับให้อยู่ในอารมณ์อันเดียว ถ้าบังคับไม่เป็น หรือบังคับแบบฝืนใจ ก็จะหนักๆ ขึ้นมา แน่นๆ แข็งๆ ทื่อๆ เครียดๆ ขึ้นมา
ถ้าน้อมใจเก่ง จะสงบ จะสบาย จะโปร่ง โล่ง เบานะ
จะเป็นสมาธิไปอีกแบบนึง

แต่ส่วนใหญ่ที่พวกเราทำจะเป็นมิจฉาสมาธิแท้ๆ เลย
เป็นสมาธิที่หนักๆ แข็งๆ ตัวก็เกร็งๆ กายก็เกร็งๆ ใจก็เกร็งๆ ใช้ไม่ได้จริงนะ
เราคอยรู้สึกนะ คอยรู้ รู้ลงมาในกาย รู้ลงมาในใจ

ร่างกายของเราเคลื่อนไหวคอยรู้สึก จิตใจของเราเคลื่อนไหวเราคอยรู้สึก
แต่อย่าไปเพ่งให้นิ่ง ไม่ใช่คอยบังคับกายให้นิ่ง

จะเดินก็เดินไม่เหมือนคนธรรมดา คล้ายๆ ผีดิบนะ เดินต้องตัวทื่อๆ อย่างนั้นใช้ไม่ได้นะ

จิตใจก็อย่าไปข่มให้มันซึมกะทือซื่อบื้ออยู่อย่างนั้นทั้งวันทั้งคืน
เราต้องการเห็นความจริงของกายของใจ เพราะฉะนั้นอย่าไปบังคับมัน แต่คอยดูมันไป

แต่ถ้ามันจะเอากายเอาใจไปทำผิดศีลห้าไม่เอานะ ตรงนี้ต้องฝืนใจ
ศีลห้านี้มาตรฐานปราการขั้นสุดท้ายแล้ว มาตรฐานของเราเลย
ถ้าขาดศีลห้าเราไม่ใช่มนุษย์แล้ว ต้องระมัดระวังนะ

ขนาดพระโพธิสัตว์ยังตกนรกได้เลย นับประสาอะไรกับพวกเราจะไม่ตก ยังเชื่อใจตัวเองไม่ได้นะ อย่าประมาทกิเลสนะ

http://dungtrin.com/mag/?19.pra
..........................

ตอนที่ 039
สมุทัยควรละ

2. สมุทัยควรละ กิจต่อสมุทัยคือการละหรือปหาน เรื่องนี้มีประเด็นที่สำคัญ 2 ประการคือ (1) สมุทัยที่จะต้องละนั้นคืออะไร (คือตัณหา) และ (2) การละสมุทัยนั้นทำอย่างไร (รู้ทุกข์) มีสาระสำคัญ ดังนี้คือ
2.1 สมุทัยคืออะไร สมุทัยคือตัณหาหรือความทะยานอยากของจิต สมุทัยมีองค์ธรรมอันเดียวคือโลภเจตสิก ช่างน่าทึ่งเสียจริงที่โลภเจตสิกตัวเดียวนี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ซึ่งมีองค์ธรรมถึง 160 ประการ นับว่าตัณหาเป็นผู้สร้างโลกได้อย่างแท้จริงทีเดียว
ตัณหาตามนัยแห่งปฏิจจสมุปบาทท่านจำแนกไว้ 3 ชนิดคือ (1) กามตัณหา คือความทะยานอยากได้ในกามคุณอารมณ์ (รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ) (2) ภวตัณหา คือความอยากมีอยากเป็น อยากดำรงอยู่อย่างถาวร (สัสสตทิฏฐิ) และ (3) วิภวตัณหา คือความไม่อยากมีไม่อยากเป็น หรืออยากดับสูญ (อุทเฉททิฏฐิ)
แต่สำหรับนักปฏิบัติน่าจะสนใจตัณหาตามนัยที่ทรงแสดงในมหาสติปัฏฐานสูตรดูบ้าง คือทรงแสดงตัณหา 6 ประการ ได้แก่ ตัณหาในรูป ตัณหาในเสียง ตัณหาในกลิ่น ตัณหาในรส ตัณหาในสิ่งสัมผัสทางกาย และตัณหาในธัมมารมณ์ ในขั้นนี้ฝากเพื่อนนักปฏิบัติให้จำเรื่องตัณหา 6 ไว้ก่อน เมื่อถึงขั้นการปฏิบัติจะได้กล่าวถึงอีกครั้งหนึ่ง

2.2 วิธีการละสมุทัย จะดับทุกข์ต้องดับที่สาเหตุของทุกข์คือ ตัวสมุทัย เมื่อจะดับตัวสมุทัยก็ต้องดับที่สาเหตุของสมุทัยเช่นกัน
ตัณหาหรือความทะยานอยากของจิต เกิดจากความไม่รู้อริยสัจจ์ (อวิชชา) คือ (1) ความไม่รู้ว่ารูปนามเป็นทุกข์ (2) ความไม่รู้ว่าความอยากในรูปนาม (คืออยากได้ อยากมีอยากเป็น ไม่อยากมีไม่อยากเป็น) เป็นเหตุให้จิตใจกระสับกระส่ายเป็นทุกข์อยู่ในปัจจุบัน และเป็นเหตุให้เกิดมีรูปนามใหม่ในอนาคต (3) ความไม่รู้แจ้งสภาวะที่พ้นจากรูปนามเพราะความดับสนิทแห่งตัณหา คือไม่รู้ความดับทุกข์ (นิพพาน) และ (4) ความไม่รู้ข้อปฏิบัติเพื่อดับความทะยานอยากในรูปนาม
ถ้ามองในแง่ว่าตัณหาเกิดจากอะไรดูจะยุ่งยากสักหน่อย จึงควรลองมองกลับด้านดูบ้าง ว่าตัณหาดับได้ด้วยอะไร
แท้จริงแล้วตัณหาดับได้ ด้วยการรู้ทุกข์คือรู้ความจริงของรูปนามเท่านั้นเอง ครูบาอาจารย์วัดป่าท่านมักสอนว่า รู้ทุกข์นั่นแหละเป็นการละสมุทัย หมายความว่าถ้าสามารถรู้ความจริงว่ารูปนามไม่ใช่เรา เราไม่มี เขาไม่มี มีแต่รูปนามที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ตามเหตุตามปัจจัย และรูปนามไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พอรู้ความจริงอย่างนี้แล้ว ความทะยานอยากทั้งด้านพอใจและไม่พอใจในรูปนามก็จะดับไปโดยอัตโนมัติ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2008, 13:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


ตอนที่ 040
นิโรธควรทำให้แจ้ง

3. นิโรธควรทำให้แจ้ง กิจต่อนิโรธคือการทำให้แจ้งหรือสัจฉิกิริยา มีประเด็นที่สำคัญ 2 ประการคือ (1) นิโรธที่จะต้องทำให้แจ้งนั้นคืออะไร (คือนิพพาน) และ (2) การทำนิโรธให้แจ้งนั้นทำอย่างไร (ละสมุทัยด้วยการรู้ทุกข์)
3.1 นิโรธคืออะไร นิโรธหรือความดับมีหลายประเภท เช่น การข่มนิวรณ์ไว้ด้วยสมถกรรมฐานก็ถือเป็นนิโรธระดับหนึ่ง การดับกิเลส ด้วยธรรมอันเป็นคู่ปรับกันในขั้นการเจริญวิปัสสนาก็เป็นนิโรธอีกอย่างหนึ่ง เป็นต้น แต่นิโรธในที่นี้หมายถึงความดับตัณหาหรือนิพพาน เป็น ธรรมที่พ้นจากความปรุงแต่งคือไม่ใช่รูปนาม (อสังขตธรรม/วิสังขารธรรม) หรือธรรมที่ดับตัณหา (วิราคธรรม) หากกล่าวโดยองค์ธรรม นิโรธมีองค์ธรรมอันเดียว คือนิพพานซึ่งมีสันติลักษณะคือสงบจากกิเลสและสงบจากทุกข์ (รูปนาม) โดยนัยนี้ผู้ใดเห็นว่านิพพานยังมีรูปนาม (เช่นเห็นนิพพานเป็นบ้านเมือง หรือเป็นพระพุทธรูป) ผู้นั้นยังไม่เห็นแจ้งนิพพานตรงตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ แต่อาจจะเป็น "นิพพานพรหม" ซึ่งเกิดจากการทำสมถะและยังไม่พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด เรื่อยไป
มีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ บางท่านคิดว่า นิพพานคือ ความว่างหรือความไม่มีอะไรเลย เพราะมีพุทธพจน์รองรับว่า "นิพพานัง ปรมัง สุญญัง" แล้วเที่ยวแสวงหาความว่าง นี่ก็เป็นความเห็นสุดโต่ง อีกด้านหนึ่งที่ตรงข้ามกับพวกแรกซึ่งคิดว่านิพพานยังมีรูปนามอยู่
แท้จริงเราแสวงหานิพพานจากความว่างตรงๆไม่ได้ เพราะจะกลายเป็นการหลงเพ่งช่องว่างบ้าง หรือเพ่งความไม่มีอะไรบ้าง หรือหลงเตลิดอยู่ในโลกของความคิดว่าสิ่งทั้งหลายไม่ใช่ตัวตนบ้าง หนทางที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ได้แก่การเจริญอริยมรรค ด้วยการรู้ทุกข์คือรู้รูปนามจนดับสมุทัยได้ นิพพานซึ่งเป็นความสิ้นตัณหาก็จะปรากฏให้ประจักษ์ได้เอง
3.2 การทำนิโรธให้แจ้ง ก่อนอื่นควรสลัดความเห็นผิดที่ว่านิพพานคือ "อะไรอย่างหนึ่งที่ลึกลับ อยู่ไกลๆ และต้องปฏิบัติไปอีกนานๆ จึงจะแจ่มแจ้งในนิพพานได้"
ลองปรับความรู้สึกใหม่ว่า นิพพานคือ "ความสิ้นตัณหา" ถ้าคิดได้อย่างนี้แล้วก็ตั้งใจเรียนรู้ความจริงของรูปนามต่อไปเพื่อละตัณหาให้ได้โดยเร็วที่สุด แต่อย่าได้มีตัณหาที่จะละตัณหา แล้วลงมือปรุงแต่งการปฏิบัติที่วุ่นวาย อันเป็นการออกนอกกรอบของการรู้ทุกข์หรือการตามรู้รูปนาม/กายใจก็แล้วกัน


ตอนที่ 041
มรรคควรทำให้เจริญ

4. มรรคควรทำให้เจริญ กิจต่อมรรคคือการทำให้เจริญหรือภาวนา มีประเด็นสำคัญ 3 ประการคือ (1) ความหมายของมรรค (ทางดับทุกข์) (2) มรรคที่ควรเจริญ (มรรค 2 ประเภท) และ (3) วิธี การเจริญมรรค (การเจริญสติปัฏฐาน)
4.1 ความหมายของมรรค มรรคโดยทั่วไปหมายถึงทาง ซึ่งรวมถึงทางไปสู่ทุคติ สุคติ และนิพพานด้วย แต่มรรคในที่นี้หมายเฉพาะถึง "ข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลาง เป็นทางให้ถึงพระนิพพาน คือถึงซึ่งความดับตัณหา เป็นผลให้ทุกข์ทั้งปวงสิ้นไป" บางตำราท่านก็ว่า มรรคคือ "ธรรมชาติที่ประหารกิเลสแล้วย่อมถึงพระนิพพาน" มรรคนี้มีชื่อเรียกได้หลายอย่างคือ มัคคสัจจ์ มัคคอริยสัจจ์ และทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจจ์ เป็นต้น
มรรคมีหนึ่งหมายความว่า ทางที่ให้ถึงความดับทุกข์มีทางเดียวนี้เท่านั้น ไม่มีทางที่สอง แต่มีองค์ประกอบ 8 ประการ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ) สัมมาวาจา (วาจาชอบ) สัมมากัมมันตะ (การงานชอบ) สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) สัมมาวายามะ (ความเพียรชอบ) สัมมาสติ (สติชอบ) และสัมมาสมาธิ (สมาธิชอบ)
4.2 มรรคที่ควรเจริญ มรรคที่ควรเจริญเพื่อถึงนิพพานมี 2 ประเภท ดังนี้
4.2.1 มรรคที่มีรูปหรือนามเป็นอารมณ์ มรรคชนิดนี้จัดเป็นโลกียมรรค มีองค์ประกอบ 8 ประการประชุมกันโดยมีอารมณ์อันเดียวคือรูปหรือนาม ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง คือในขณะใดมีสัมมาสติระลึกรู้รูปหรือนามอันใดอันหนึ่งอยู่ ในขณะนั้นจัดว่าเป็นการรู้ทุกข์เป็นส่วนของสัมมาทิฏฐิ ในขณะนั้นย่อมมีสัมมาสังกัปปะคือมีดำริออกจากกาม ดำริไม่พยาบาทและดำริไม่เบียดเบียน ในขณะนั้นย่อมมีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะและสัมมาอาชีวะ ในขณะนั้นย่อมมีสัมมาวายามะ คือมีความเพียรชอบ เพราะในระหว่างที่มีสติอยู่นั้นกิเลสที่มีอยู่จะดับไป กิเลสใหม่จะเกิดขึ้นไม่ได้ และเมื่อมีสติอยู่นั้นได้ชื่อว่ากำลังทำกุศลให้เกิดขึ้นและพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไป และในขณะนั้นย่อมมีสัมมาสมาธิ คือมีจิตตั้งมั่นใน การระลึกรู้อารมณ์รูปหรือนาม โดยจิตไม่ถลำลงไปในสิ่งที่ถูกรู้นั้น (ไม่หลง ดู ฟัง คิด เพ่ง ฯลฯ) จิตเป็นเพียงผู้ดูละครเรื่องรูปนามไม่ใช่ผู้แสดงละครเสียเอง
ทั้งนี้สัมมาสมาธิที่จำเป็นสำหรับการเจริญวิปัสสนาคือขณิกสมาธิ เป็นสภาพความตั้งมั่นของจิตในชั่วขณะของการรู้อารมณ์รูปหรือนาม โดย (1) จิตไม่ซัดส่ายหรือคลาดจากอารมณ์รูปหรือนามที่สติไประลึกรู้อยู่นั้น ไปที่อื่น และ (2) ในระหว่างที่รู้อารมณ์รูปหรือนามอยู่นั้น จิต เป็นตัวของตัวเอง ไม่หลง ไม่ไหลไปทางทวารทั้ง 6 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ถลำเข้าไปเพ่งจ้องหรือจมแช่อยู่กับอารมณ์รูปหรือนามที่สติไประลึกรู้เข้า พูดง่ายๆ ก็คือจิตตั้งมั่นไม่ถลำไปด้วยอำนาจของตัณหา 6 ประการนั่นเอง และจุดนี้เองที่หลวงปู่ดูลย์ อตุโลท่านกล่าวสอนอยู่เสมอว่า "อย่าส่งจิตออกนอก"
คำว่า อย่าส่งจิตออกนอก หมายถึงการไม่หลงไปตามอำนาจของตัณหาในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์ แต่พ่อแม่ครูอาจารย์อีกรูปหนึ่งของผู้เขียนคือ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี แห่งวัดหินหมากเป้ง จังหวัดหนองคาย ท่านแยกแยะคำว่าส่งจิตออกนอก ออกเป็น ส่งนอก กับส่งใน คำว่าส่งนอกหมายถึงการขาดสติแล้วจิตทะยานหลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย ส่วนคำว่าส่งในหมายถึงการขาดสติแล้วจิตหลงไปทางใจ เช่นหลงคิด หลงเคลิ้ม หลง นิมิต หลงแสวงหา หลงเพ่ง หลงยินดี หลงยินร้าย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ เป็นศัตรูของการเจริญสติทั้งสิ้น
ถ้าจิตมีสัมมาสมาธิสนับสนุนอยู่ จิตก็จะไม่หลงส่งนอกส่งใน จิตจะตั้งมั่น เป็นกลาง เป็นตัวของตัวเองในขณะที่รู้อารมณ์ แล้วจะเห็นอารมณ์ตรงตามความเป็นจริงได้ จุดนี้เองที่ตำราปริยัติธรรม ท่านสอนว่าสัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ขอเน้นว่าต้องเป็นสัมมาสมาธิคือสมาธิที่ประกอบด้วยสติปัญญาเท่านั้นจึงจะใช้เจริญสติ สัมปชัญญะได้ ส่วนมิจฉาสมาธิอันประกอบด้วยโมหะและโลภะนั้นเป็นอาการหลง จัดเป็นศัตรูตัวฉกาจของการเจริญสติทีเดียว
4.2.2 มรรคที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ มรรคชนิดนี้คือ อริยมรรค เกิดขึ้นครั้งละขณะจิตเดียว และเกิดในผู้ปฏิบัติคนหนึ่งได้เพียง 4 ครั้งเท่านั้น มีองค์ประกอบ 8 ประการเช่นเดียวกับโลกียมรรค แต่มีนิพพานเป็นอารมณ์ เราไม่จำเป็นต้องพยายามทำมรรคชนิดนี้ให้เกิดขึ้น เพียงหมั่นเจริญวิปัสสนาหรือเจริญโลกียมรรคตามข้อ 4.2.1 เข้าไว้ แล้ววันหนึ่งก็จะเกิดอริยมรรคเอง
4.3 วิธีการเจริญมรรค ได้แก่การรู้ทุกข์ ด้วยการเจริญสติปัฏฐานในส่วนที่เป็นวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งก็คือการเจริญโลกียมรรคเพื่อให้บรรลุถึงอริยมรรคนั่นเอง


ตอนที่ 042
การเจริญสติปัฏฐาน

9.การเจริญสติปัฏฐาน
ต่อจากนี้ไปจะกล่าวถึงการเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งก็คือวิธีการเจริญมรรค ในปัจจุบันมีการสอนสติปัฏฐานอยู่อย่างกว้างขวางทั่วไป สำนักปฏิบัติธรรมแทบทุกแห่งนำมหาสติปัฏฐานสูตรไปอธิบายตีความเป็นรูปแบบหรืออุบายการปฏิบัติในสำนักของตน ซึ่งทำให้มีข้อปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไปบ้าง ทำให้ผู้แรกศึกษาเกิดความสับสนว่ารูปแบบใดถูกต้องมากกว่ากัน นอกจากนี้ยังมีผู้เขียนหนังสืออธิบายมหาสติปัฏฐาน สูตรไว้อย่างพิสดาร ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเพื่อนนักปฏิบัติควรศึกษาพระปริยัติธรรมชั้นเดิมจะถูกต้องแน่นอนกว่า
ผู้เขียนไม่สามารถอธิบายตีความมหาสติปัฏฐานสูตรได้เอง จำเป็นต้องศึกษาจากพระไตรปิฎก อรรถกถา และคัมภีร์พระอภิธรรมเช่นคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและคัมภีร์วิสุทธิมรรค รวมทั้งใช้ตำราเรียนพระอภิธรรมของสำนักเรียน 2-3 แห่งประกอบด้วย อนึ่งในหัวข้อเรื่องการเจริญสติปัฏฐานนี้ ผู้เขียนจะแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก จะเล่าให้เพื่อนนักปฏิบัติฟังว่า พระปริยัติธรรมท่านสอนไว้อย่างไร โดยประมวลสรุปคำสอนจากคัมภีร์และตำราที่กล่าวถึงไว้แล้วนั้น และส่วนที่ 2 หากมีประเด็นที่ผู้เขียนมีข้อสังเกตเพิ่มเติม ผู้เขียนก็จะเขียนไว้ด้วย แต่จะแยกหัวข้อให้เห็นได้ชัดเจนว่าส่วนใดเป็นข้อสังเกตของผู้เขียน ทั้งนี้เพื่อป้องกันความสับสนที่อาจจะเกิดขึ้นกับ ผู้อ่าน เพราะข้อสังเกตของผู้เขียนอาจจะผิดพลาดได้เสมอ ในขณะที่พระปริยัติสัทธรรมมีการรักษาสืบทอดกันมาเป็นอย่างดี โอกาสผิดพลาดจึงมีน้อยมากหรือไม่มีเลย
สาระสำคัญของเรื่องสติปัฏฐานมีดังนี้คือ
1. ความหมายของสติปัฏฐาน คือการตั้งมั่นในการระลึกรู้อารมณ์ที่เป็นฝ่ายดี มีความหมายเฉพาะถึงอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งสติ 4 ประการคือ กาย เวทนา จิต และธรรม
ข้อสังเกตของผู้เขียน ขอแทรกข้อสังเกตส่วนตัวบางประการดังนี้
ก. ตำราเก่าๆ มักแปลคำว่า สติ ว่าการระลึกรู้ หรือการระลึกได้ ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะการระลึกรู้นั้นเกิดขึ้นจากการที่จิตจดจำสภาวธรรมคือรูปนามได้แม่นยำ ไม่ได้เกิดจากความอยากจะรู้ (อาจารย์สอนพระอภิธรรมบางท่านในยุคนี้เห็นว่าคำว่า "ระลึกรู้" ก็ยัง ไม่ดี เพราะผู้ฟังอาจแปลความหมายว่า การระลึกคือการคิดๆ เอาก็ได้ ในที่นี้โปรดทราบว่า ผู้เขียนไม่ต้องการใช้คำว่าระลึกรู้ในความหมายของการคิด หรือแม้แต่การพยายามจะรู้ แต่หมายถึงการ "รู้สึกๆ เอา" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรู้สึกถึงอาการปรากฏทางกาย และการรู้สึกถึงอาการปรากฏทางใจ ซึ่งจะให้ปนเปื้อนด้วยการคิดหรือการหลงคิดไม่ได้เลย) แต่บ่อยครั้งมากที่ในชั้นหลังเราไปแปลคำว่าสติว่า การกำหนดรู้ซึ่งแสดงถึงความจงใจที่จะรู้ อันมีตัณหาอยู่เบื้องหลังของการกระทำดังกล่าว ดังที่อรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า "สติอันกำหนดรู้รูปนามเป็นอารมณ์ เป็นทุกขสัจจ์ ตัณหาที่อยู่เบื้องหลังการกำหนดรู้รูปนามเป็นอารมณ์ เป็นสมุทัย"
ข. คำว่า อารมณ์ที่เป็นฝ่ายดีนั้นท่านระบุชัดว่า คำนี้มีความหมายเฉพาะ หมายถึงกาย เวทนา จิต ธรรม ไม่ได้หมายถึงอารมณ์ที่ดี เพราะกายเป็นรูป เป็นวิบากซึ่งไม่มีดีไม่มีชั่ว เวทนาเป็นนาม เป็นวิบากซึ่งไม่มีดีไม่มีชั่วเช่นกัน ส่วนจิตมีทั้งที่เป็นกุศล อกุศล และวิบาก ไม่ได้มีเฉพาะจิตที่ดีอย่างเดียว สำหรับธรรมซึ่งมีทั้งรูปและนาม จึงมีทั้ง ธรรมที่เป็นวิบาก เป็นกุศล และอกุศล การที่ท่านระบุว่ากาย เวทนาจิต และธรรมเป็นอารมณ์ที่เป็นฝ่ายดีนั้น อาจเป็นเพราะเป็นอารมณ์ที่เมื่อสติระลึกรู้แล้วสามารถบรรเทาหรือละความเห็นผิดในรูปนามเสียได้ คือละความเห็นผิดว่า รูปเป็นของงาม เวทนาเป็นสุข จิตเที่ยง และธรรมเป็นตัวตน เป็นต้น

ตอนที่ 043
การเจริญสติปัฏฐาน

2. อารมณ์ของสติปัฏฐาน
อารมณ์ในสติปัฏฐานจำแนกได้ 4 ปัฏฐานคือ กาย เวทนา จิต และธรรม และมีทั้งอารมณ์ที่เป็นบัญญัติซึ่งใช้ในการทำสมถภาวนา และอารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์ซึ่งใช้ในการทำวิปัสสนาภาวนา ดังนี้

2.1 กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คำว่า กายหมายความถึงที่ประชุมแห่ง (1) รูปธรรมคือกัมมชรูป (2) วิบากจิต และ (2) เจตสิกที่ประกอบจิตนั้น ส่วนคำว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมายถึงการตั้งมั่นในการตามระลึกรู้กายอยู่เนืองๆ แบ่งเป็น 14 บรรพ ได้แก่

2.1.1 อานาปานสติ ได้แก่ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ใช้ทำได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา คือถ้ากำหนดบัญญัติคือลมหายใจ ออก/เข้า ให้เป็นที่ตั้งแห่งการเพ่ง ก็เป็นสมถะ ถ้าระลึกรู้ความร้อนเย็นของลมที่กระทบริมฝีปากบนหรือปลายจมูก เพื่อรู้รูปธรรมจนเห็นไตรลักษณ์ ก็เป็นวิปัสสนา

ข้อสังเกตของผู้เขียน
ก. การที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ระลึกรู้ลมหายใจออกก่อนนั้น น่าจะเป็นด้วยการหายใจออกเป็นไปตามธรรมชาติ ส่วนการหายใจเข้านั้น ง่ายต่อการตั้งท่าปฏิบัติหรือเกิดความเกร็งทางกายและจิตใจ ซึ่งเป็นอุปสรรคทั้งในการทำสมถะและวิปัสสนา

ข. การเพ่งลมหายใจอันเป็นการทำสมถะ หากทำไปจนเกิดฌาน ก็สามารถใช้สติตามระลึกรู้องค์ฌานที่ดับไป เป็นการทำวิปัสสนาในแนวทางของสมถยานิก (ผู้มีสมถะเป็นยาน คือผู้ทำความสงบก่อนแล้ว เจริญปัญญาในภายหลัง) ได้อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ถ้าพิจารณาดูคำสอนเรื่องอานาปานสติ จะเห็นได้ว่าท่านสอนถึงเรื่องการระงับกายสังขาร หรือลมหายใจไว้ด้วย ซึ่งเป็นสภาวะที่จะปรากฏเมื่อจิตดำเนินถึงรูปฌาน 4 (ตามนัยแห่งพระสูตร) และรูปฌาน 5 (ตามนัยแห่งพระอภิธรรม) อันแสดงให้เห็นว่า การเจริญอานาปานสติจริงๆ นั้น ท่านน่าจะมุ่งเน้น สำหรับสมถยานิก จึงเป็นเรื่องยากที่ผู้คนทั่วไปจะเจริญสติโดยใช้อานาปานสติได้จริง

ค. ลมหายใจมีธรรมชาติที่ละเอียด อ่อนไหว และนุ่มนวลชวนเคลิ้มง่าย ยิ่งลมละเอียดก็ยิ่งยากที่สติสัมปชัญญะจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้น ผู้เจริญอานาปานสติจึงมักนั่งหลงเคลิบเคลิ้มลืมตัวกันเสียมาก นอกจากนี้การจะเฝ้ารู้รูปของลมหายใจจนเห็นลักษณะความเกิดดับของรูป (การทำลักขณูปนิชฌาน อันเป็นการเจริญวิปัสสนา) ก็ยากมาก แต่สิ่งที่เป็นไปได้ง่ายก็คือการเพ่งตัวลมหายใจ (การทำอารัมมณูปนิชฌาน อันเป็นการทำสมถะ) จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้เจริญอานาปานสติส่วนมากที่ผู้เขียนได้พบ มักเพลินอยู่กับความสุขความสงบ หรือเพ่งจ้องนิ่งแช่อยู่กับลมหายใจอันเป็นการทำสมถะ ยิ่งกว่าจะก้าวเข้าไปถึงขั้นการเจริญวิปัสสนาได้จริง

ง. แม้การเจริญอานาปานสติจะเหมาะกับสมถยานิก แต่ถ้าผู้ปฏิบัติอาศัยการระลึกรู้ลมหายใจออก/เข้า เพื่อเป็นฐานก้าวไปเจริญ วิปัสสนาด้วยการระลึกรู้อารมณ์รูปนามในบรรพและปัฏฐานอื่น นอกเหนือจากอานาปานสติบรรพ กลับเป็นเรื่องที่พอจะกระทำได้ไม่ยากเกินไปนัก กล่าวคือ

- การระลึกรู้ลมหายใจแล้วเห็นถึงธาตุของลมหายใจ เป็นการเจริญสติปัฏฐานในธาตุมนสิการบรรพ ซึ่งตำราปริยัติธรรมมักสอนให้เจริญอานาปานสติโดยการรู้ธาตุไฟ แต่ความจริงจะรู้ธาตุอื่นด้วยก็ได้ คือถ้าระลึกรู้มวลของลมหายใจที่กระทบริมฝีปากบนหรือปลายจมูกเพื่อรู้รูปธรรมคือความอ่อนแข็งก็คือการรู้ธาตุดิน ถ้ารู้ความไหวของลมหายใจก็คือการรู้ธาตุลม หากรู้จนเห็นไตรลักษณ์ก็เป็นการเจริญวิปัสสนาได้เช่นกัน

- การระลึกรู้ความไหวของลมหายใจด้วยความรู้สึกตัว ก็อาจพลิกไปเป็นการเจริญสติปัฏฐานในสัมปชัญญบรรพได้

- การระลึกรู้ลมหายใจออก/เข้าไปอย่างสบายๆ แล้วพลิกสติไประลึกรู้เวทนาทางใจแทนการรู้ลม เป็นการทำเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เช่นหายใจไปแล้วเกิดรู้สึกถึงความสุขสงบใจหรือความอึดอัดใจที่เกิดขึ้นเป็นต้น หรืออาจพลิกสติไประลึกรู้จิตแทนการรู้ลม เป็นการทำจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ได้ เช่นรู้ว่าจิตเกิดราคะคือความพอใจ ในความสุขสงบที่เกิดจากการทำอานาปานสติ เป็นต้น(เชิญอ่านปริยัติธรรมต่อ)



ตอนที่ 044
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

2.1.2 กายานุปัสสนาสติปัฏฐานอีก 3 บรรพคือ (1) อิริยาบถ 4 หรืออิริยาบถใหญ่ เช่นการก้าวไปข้างหน้า ถอยไปข้างหลัง เหลียวซ้ายแลขวา คู้เหยียด เป็นต้น และ (3) ธาตุทั้ง 4 คือดิน น้ำ ไฟ ลม อารมณ์ทั้ง 3 บรรพนี้เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาจะนำไปเพ่งให้เกิดฌานจิตไม่ได้
การรู้อิริยาบถใหญ่และอิริยาบถย่อยนั้น ต้องมีสติระลึกรู้อิริยาบถ และต้องมีสัมปชัญญะคือความรู้ตัวอยู่ทุกขณะที่เคลื่อนไหวไม่ใช่ทำไปเรื่อยๆโดยไม่รู้สึกตัว อีกนัยหนึ่งต้องเคลื่อนไหวโดยชอบด้วยเหตุผล ไม่ใช่ทำไปตามความอยาก
การระลึกรู้รูปก็เพื่อจะได้เห็นความจริงว่า รูปกายที่เคยยึดว่าเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขานั้น แท้จริงก็เป็นแต่เพียงรูปธรรมมาประชุมร่วมกันเป็นรูปกาย แม้การเคลื่อนไหวกายก็เป็นไปด้วยอำนาจผลักดันของธาตุลมตามคำสั่งของจิต ไม่ใช่เราเดินหรือเขาเดิน
ข้อสังเกตของผู้เขียน
ก. ผู้ปฏิบัติไม่ควรประมาทว่าอิริยาบถใหญ่ อิริยาบถย่อย และธาตุ 4 เป็นอารมณ์ปรมัตถ์ใช้ทำสมถะไม่ได้ เพราะในความเป็นจริงผู้เขียนสังเกตเห็นว่าผู้ปฏิบัติจำนวนมากไปหลงเพ่งบัญญัติกาย แทนที่จะระลึกรู้รูปและลักษณะไตรลักษณ์ของรูป เช่นเพียรเพ่งมือ เพ่งเท้า เพ่งท้อง และคอยกำหนดบัญญัติถึงการยกการย่างเป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นการเพ่งอารมณ์บัญญัติซึ่งบัญญัติถึงอารมณ์ปรมัตถ์ ไม่ใช่การตามระลึกรู้อารมณ์ปรมัตถ์เพื่อจะเห็นลักษณะ จึงควรระมัดระวังให้ดี เพราะจะเป็นการหลงทำสมถะทั้งที่คิดว่ากำลังเจริญวิปัสสนาอยู่ พอเกิดนิมิตหรืออาการของปีติ เช่นเห็นร่างกายเป็นโครงกระดูก ตัวเบา ตัวหนัก ฯลฯ จึงหลงผิดว่าเกิดวิปัสสนาญาณได้
อีกประการหนึ่งการรู้อิริยาบถ 4 เป็นการรู้รูปด้วยใจ หากผู้ปฏิบัติสามารถระลึกรู้จนสัญญากำหนดจดจำรูปได้แม่นยำ บางครั้งแทนที่จะรู้สภาวะของรูปที่เป็นปัจจุบันด้วยความมีสติสัมปชัญญะ กลับไปหลงเพ่งรูปในความจำแทน ซึ่งรูปดังกล่าวก็คืออุคคหนิมิต สามารถเพ่งจนเกิดปฏิภาคนิมิตและฌานจิตได้เช่นเดียวกับการเพ่งปฐวีกสิณนั่นเอง และมีนักปฏิบัติจำนวนมากสามารถเพ่งจนรูประเบิดหรือเกิดแปรสภาพ เป็นโครงกระดูกหรือเพ่งจนรูปกายอันเป็นอุคคหนิมิตในอิริยาบถนั่งนั้น เกิดความใสเป็นแก้ว นึกย่อและขยายได้เป็นปฏิภาคนิมิต จนเกิดความสำคัญผิดว่าพบ "กายพระอริยะ" เข้าแล้ว ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วปฏิภาคนิมิตดังกล่าว เกิดอยู่ในระดับของอุปจารสมาธิเท่านั้นเอง หรือบางคนเพ่งรูปทางใจจนดับนามขันธ์ เหลือเพียงรูปกายนั่งแข็งทื่อหมดความรู้สึก เป็นการพลิกไปสู่อสัญญสัตตาภูมิหรือพรหมลูกฟักก็มี ดังนั้นจึงไม่ควรประมาทว่า หากระลึกรู้อิริยาบถ 4 แล้ว จะไม่มีทางพลิกไปเป็นการทำสมถภาวนาได้เลย
ข. ประเด็นที่ว่าต้องเคลื่อนไหวไปอย่างมีเหตุผล ไม่ใช่จงใจเคลื่อนไหวด้วยอำนาจของตัณหาและทิฏฐิเป็นเรื่องที่น่ารับฟังมาก และเป็นประเด็นถกเถียงที่สำคัญในระหว่างสำนักปฏิบัติ คือฝ่ายหนึ่งเห็นว่าต้องจงใจทำอิริยาบถไปก่อน หรือกำหนดจังหวะการเคลื่อนไหวไปก่อน เพื่อให้สติที่ยังอ่อนอยู่สามารถตามรู้การเคลื่อนไหวได้ทัน แต่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าการจงใจเดินจงกรม การจงใจนั่งปฏิบัติธรรม แม้กระทั่ง การจงใจเดินให้ช้าและมีการแยกซอยจังหวะการเดิน ล้วนเป็นการกระทำด้วยตัณหาคือความอยากปฏิบัติทั้งสิ้น จึงควรรู้ทันความอยากแล้วเคลื่อนไหวไปอย่างมีเหตุผล
หากจะถามความเห็นของผู้เขียนว่าทำอย่างไรจึงจะถูกต้อง ผู้เขียน มีความเห็นส่วนตัวว่า การปฏิบัติธรรมควรจะปลอดจากตัณหาและทิฏฐิ หากจงใจดัดแปลงจิตให้สงบผิดปกติ หรือจงใจดัดแปลงอารมณ์ เช่นเดินให้ช้าลงและเป็นจังหวะ จะทำความทุกข์ทางใจให้เกิดขึ้น เพราะเมื่อมีตัณหาก็ต้องมีทุกข์ นอกจากนี้ความจงใจนั้นเองง่ายที่จะนำไปสู่การเพ่งกาย ดังนั้นแทนที่จิตจะดำเนินไปในแนวทางของวิปัสสนา กลับจะพลิกไปเป็นสมถะเสียอีก ผู้ปฏิบัติจึงเกิดอาการของสมถะกันมาก เช่นรู้สึกตัวเบา ตัวลอย ตัวหนัก ตัวใหญ่ รู้สึกวูบวาบ รู้สึกเหมือนมีแมลงมาไต่ตอมร่างกาย เห็นร่างกายเป็นโครงกระดูก เห็นโครงกระดูกเดินล้อมร่างกาย หรือขาดสติดับความรู้สึกวูบไป เป็นต้น
อย่างไรก็ตามการปฏิบัติตามรูปแบบก็มีข้อดี คือทำให้ผู้ปฏิบัติสบายใจว่าได้ปฏิบัติธรรม เกิดความพากเพียร ได้ฝึกความอดทนอดกลั้น ที่สำคัญคือบางท่านอาจมองทะลุบัญญัติเข้าไปเห็นสภาวะจริงของรูป ปรมัตถ์ก็เป็นได้เหมือนกัน อย่างเช่นบางท่านจงใจเดินจงกรมหามรุ่ง หามค่ำเพื่อแก้ความง่วงและความขาดสติ เดินไปถึงจุดหนึ่งสติปัญญาเกิดตื่นตัวไปเห็นอารมณ์ปรมัตถ์ก็มี หรือบางท่านเคลื่อนไหวมือเป็นจังหวะแล้วเกิดความรู้สึกตัว จิตก็พ้นจากการครอบงำของความคิดนึกปรุงแต่ง แล้วสามารถเห็นอารมณ์ปรมัตถ์ได้ อย่างนี้ก็มีไม่น้อย ดังนั้น ผู้เขียนจึงไม่โต้แย้งแนวทางจงใจปฏิบัติ จะจงใจก่อนแล้วรู้ทันความจงใจ ในภายหลังก็ได้ เอาเป็นว่าผู้เขียนไม่ถนัดเพราะรู้สึกเป็นภาระก็แล้วกัน แต่ถ้าถามว่าผู้เขียนเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิบ้างหรือไม่ ก็ขอตอบตามตรง ว่าทำบ้าง แต่ทำเพื่อแก้เมื่อย หรือเพื่อให้จิตมีเครื่องอยู่ที่สบายเป็น การพักผ่อนบ้างในบางโอกาส แต่ส่วนมากในระหว่างที่เดินหรือนั่งนั้น ก็รู้สึกตัวแล้วรู้รูปรู้นามไปด้วยตามแต่สิ่งใดจะปรากฏ เพราะจำเป็นต้องเดินและนั่งอยู่แล้ว หากมีสติไปด้วยจะได้ไม่เปลืองเวลาไปเปล่าๆ
ค. ประเด็นที่ว่า ต้องมีสติระลึกรู้อิริยาบถและการเคลื่อนไหวต่างๆ และต้องมีสัมปชัญญะคือความรู้ตัวอยู่ทุกขณะที่เคลื่อนไหวนั้น จัดว่าเป็นหัวใจของการปฏิบัติวิปัสสนาทีเดียว คือต้องมีสติทำหน้าที่ ระลึกรู้อาการปรากฏและความไหว/นิ่งของรูป และขณะที่รู้นั้นจิตต้อง มีสัมมาสมาธิคือความตั้งมั่นสักว่ารู้รูป ไม่ใช่หลงเพ่ง หรือหลงคิดเรื่อง รูป หรือหลงใจลอยไปถึงเรื่องอื่น แล้วสัมปชัญญะ/ปัญญาก็จะเกิดขึ้น คือเกิดความรู้สึกตัว และเห็นรูปเป็นเพียงสักว่ารูป ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา โดยไม่ต้องคิดนำแต่อย่างใด


ตอนที่ 046
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

2.2 เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมายถึงการตั้งมั่นในการตามระลึกรู้เวทนาอยู่เนืองๆ มีประเด็นที่ควรทราบดังนี้

2.2.1 เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานแบ่งเป็น 9 บรรพ ได้แก่ (1) ระลึกรู้เนืองๆ ซึ่งสุขเวทนา (2) ระลึกรู้เนืองๆ ซึ่งทุกขเวทนา (3) ระลึกรู้เนืองๆ ซึ่งอุเบกขาเวทนา (4) ระลึกรู้เนืองๆ ซึ่งสุขเวทนาที่เจือด้วยอามิส (สิ่งล่อใจ / กามคุณคือรูป เสียง กลิ่น รส และสิ่ง สัมผัสทางกาย) (5) ระลึกรู้เนืองๆ ซึ่งทุกขเวทนาที่เจือด้วยอามิส (6) ระลึกรู้เนืองๆ ซึ่งอุเบกขาเวทนาที่เจือด้วยอามิส (7) ระลึกรู้เนืองๆ ซึ่งสุขเวทนาที่ไม่เจือด้วยอามิส (เช่นสุขเวทนาที่เกิดจากการเจริญสมถะหรือวิปัสสนา) (8) ระลึกรู้เนืองๆ ซึ่งทุกขเวทนาที่ไม่เจือด้วยอามิส (เช่นทุกขเวทนาที่เกิดจากสภาพแห่งสังขาร) และ (9) ระลึกรู้เนืองๆ ซึ่งอุเบกขาเวทนาที่ไม่เจือด้วยอามิส (เช่นอุเบกขาเวทนาที่เกิดมีความสงบจากอารมณ์ของสมถะหรือวิปัสสนา)

2.2.2 เวทนาทั้ง 9 บรรพมีองค์ธรรมอันเดียวคือ เวทนาเจตสิก เวลาปฏิบัติจึงตามรู้เวทนาทั้ง 9 บรรพไปได้เลย โดยไม่ต้องแยกย่อยตามรู้เฉพาะบรรพใดบรรพหนึ่ง หากขณะนั้นเวทนาในเวทนาอย่างใดปรากฏ ก็รู้สภาวะและลักษณะของเวทนานั้นไปเลย อนึ่งเวทนาเป็นนามปรมัตถ์ จึงใช้เจริญวิปัสสนาเท่านั้น

ข้อสังเกตของผู้เขียน
การระลึกรู้สภาวะของเวทนาที่กำลังปรากฏเป็นการเจริญวิปัสสนาจริง แต่ถ้าเกิดความปวดแล้วเพ่งความปวด อันเป็นการเพ่งใส่ตัวอารมณ์ (อารัมมณูปนิชฌาน) หรือบริกรรมถึงความปวดก็เป็นการรู้อารมณ์บัญญัติถึงปรมัตถ์ กลายเป็นการทำสมถะได้เช่นเดียวกับการเพ่งรูปหรือการบริกรรมถึงรูปต่างๆ เช่นกัน
(เชิญอ่านปริยัติธรรมต่อ)

2.2.3 คำว่า "เวทนาในเวทนา" หมายถึงการตามรู้เวทนาทีละอย่างในบรรดาเวทนาที่มีอยู่หลายอย่าง เวทนาที่เกิดกับสังขารร่างกายนี้ก็เป็น "เวทนาในเวทนาอันเป็นภายใน" เวทนาที่เกิดกับสังขารร่างกายอื่นก็เป็น "เวทนาในเวทนาอันเป็นภายนอก"

2.2.4 กล่าวโดยสรุป เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานเมื่อเจริญแล้ว ย่อมทำให้เห็นความเป็นจริงว่า เวทนาเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่รูปและไม่ใช่จิตด้วย แต่เป็นนามเจตสิก เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา ต่อเมื่อมีเหตุมีปัจจัยเวทนาก็ปรากฏขึ้น จะห้ามไม่ให้เกิดก็ห้ามไม่ได้ ครั้นหมดเหตุหมดปัจจัยแล้ว เวทนาก็ดับไป ไม่ดำรงอยู่ตลอดไป จะห้ามไม่ให้ดับก็ไม่ได้ อนึ่งการเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานจะทำลายวิปัลลาสที่เห็นว่าเวทนาเป็นสุขได้
ข้อสังเกตของผู้เขียน

การเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานจะทำให้พบด้วยว่ากายและจิตถูกความทุกข์เบียดเบียนอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เรียกว่าความสุขนั้นเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริง (ปรมัตถ์) ก็จริง แต่เกิดขึ้นเพราะความทุกข์ ในขณะนั้นเบาบางลง เช่นเมื่อนั่งนานเกิดความเมื่อย พอได้เปลี่ยนอิริยาบถความเมื่อยหายไปก็รู้สึกเป็นสุข แต่สุขไม่นานความทุกข์ก็ตามมาทันอีก กลายเป็นภาระที่ต้องขยับหนีความทุกข์เรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด ในทางจิตใจก็มีอารมณ์ที่เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง หมุนเวียนไปไม่สิ้นสุดเช่นกัน เป็นภาระที่น่าเหนื่อยหน่ายยิ่งนัก การเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานจึงไม่เพียงแต่เป็นเครื่องทำลายวิปัลลาสว่าเวทนาเป็นสุข แต่ยังทำลายวิปัลลาสที่เห็นว่ารูปนามเป็นสุขลงได้ด้วย ทำให้สามารถละความยึดถือรูปนามเสียได้ เนื่องจากรู้ความจริงแล้วว่ารูปนามเป็นทุกข์ที่ไม่น่าปรารถนาอีกต่อไป


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2008, 13:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


ตอนที่ 048
ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

2.4 ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมายถึงการตั้งมั่นในการตามระลึกรู้ธรรมอยู่เนืองๆ มีสาระสำคัญคือ

2.4.1 ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน แบ่งเป็น 5 บรรพ ได้แก่ (1) นิวรณ์ 5 (2) ขันธ์ 5 (3) อายตนะ 12 (4) โพชฌงค์ 7 และ (5) อริยสัจจ์ 4 หลักในการปฏิบัติก็เป็นเช่นเดียวกับปัฏฐานอื่นๆ คือเมื่อธรรมใดปรากฏขึ้นก็รู้ทันว่าธรรมนั้นๆ เกิดขึ้น เมื่อธรรมที่เกิดขึ้น นั้นดับไป ก็ให้รู้ทันว่าธรรมนั้นๆ ดับไป

2.4.2 ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานใช้ในการเจริญวิปัสสนา อย่างเดียว เป็นการพิจารณารู้เห็นทั้งรูปและนาม กล่าวได้ว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน และจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ทั้ง 3 นี้ย่อมรวมลงได้ในธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งสิ้น

2.4.3 คำว่า "ธรรมในธรรม" "ธรรมในธรรมอันเป็น ภายใน" และ "ธรรมในธรรมอันเป็นภายนอก" มีความหมายทำนองเดียวกับกายในกาย ฯลฯ นั่นเอง

2.4.4 กล่าวโดยสรุป ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานเมื่อเจริญแล้ว ย่อมทำให้เห็นความเป็นจริงว่า ธรรมคือรูปนามไม่ใช่เรา บังคับไม่ได้ เป็นสิ่งที่เกิดดับไปตามเหตุตามปัจจัยปรุงแต่ง และจะทำลายวิปัลลาสที่เห็นว่าธรรมเป็นอัตตาตัวตนลงได้

ข้อสังเกตของผู้เขียน
ก. การเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน และจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ทั้ง 3 นี้ถ้าเปรียบก็คล้ายกับการหัดว่ายน้ำในสระ ในคลอง และในแม่น้ำ จะเริ่มหัดว่ายน้ำในที่ใดก่อนก็ได้แล้วแต่โอกาส เมื่อว่ายน้ำเป็นแล้วต่อแต่นั้นเมื่อพบน้ำที่ใดก็ว่ายได้ ไม่มีขีดจำกัดว่าต้องว่ายน้ำในสระอย่างเดียว ผู้ที่เจริญสติในปัฏฐานใดปัฏฐานหนึ่งจนชำนาญแล้ว จิตย่อมสามารถเที่ยวไปในปัฏฐานทั้งปวงได้อย่างไม่มีขีดจำกัดด้วยกำลังของมหาสติ จะรู้รูปก็เข้าใจรูป จะรู้นามก็เข้าใจนาม เป็นการเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานไปได้เอง เช่น เมื่อชำนาญในอิริยาบถ 4 สามารถมีสติสัมปชัญญะตามรู้ตามเข้าใจรูป ยืนเดินนั่งนอนได้จัดเจนแล้ว ต่อมาเมื่อตากระทบรูป หูกระทบเสียง ใจกระทบความคิดนึกปรุงแต่ง สติก็จะเกิดขึ้นเองเป็นอัตโนมัติในการรู้ทั้งรูปและนาม

ข. มีผู้ถามผู้เขียนเสมอว่า ในนีวรณบรรพนั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า "นิวรณ์ที่เกิดขึ้นแล้วจะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการ นั้นด้วย" แสดงว่าในการเจริญสติปัฏฐานนั้น ท่านสอนให้รู้ด้วยและละด้วยใช่ไหม เรื่องนี้ผู้เขียนต้องตอบอยู่เสมอนับเป็นปีมาแล้ว ว่าคำกิริยาหลักในประโยคที่ยกมานั้นคือรู้ชัด ขอย้ำว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้ชัด ไม่ได้สอนให้ละ เพราะนิวรณ์เป็นนาม จึงเป็นทุกขสัจจ์ ซึ่งมีกฎแน่นอนตายตัวว่าทุกข์ต้องรู้ การปฏิบัติวิปัสสนาจะผิดจากกฎข้อนี้ไม่ได้เลย


"สติที่ระลึกก็เพียงสักว่าอาศัยระลึก
ตัณหาและทิฏฐิไม่อิงอาศัย
ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งหนึ่งสิ่งใดว่านั่นเป็นเรา (ยึดมั่นในตัณหา)เราเป็นนั่น (ยึดมั่นในมานะ) และ นั่นเป็นตัวเรา (ยึดมั่นในทิฏฐิ)"

ตอนที่ 049
สรุปสติปัฏฐาน

3.สรุปสติปัฏฐาน

3.1 การเจริญสติปัฏฐานทำไปเพื่อให้เกิดปัญญารู้เห็นว่า กาย ก็สักแต่ว่ากาย เวทนาก็สักแต่ว่าเวทนา จิตก็สักแต่ว่าจิต ธรรมก็สักแต่ว่าธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา แม้ญาณความรู้นั้นก็เพียงสักแต่ว่ารู้ สติที่ระลึกก็เพียงสักว่าอาศัยระลึก ตัณหาและทิฏฐิไม่อิงอาศัย ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งหนึ่งสิ่งใด กล่าวคือไม่ยึดมั่นว่านั่นเป็นเรา (ยึดมั่นในตัณหา) เราเป็นนั่น (ยึดมั่นในมานะ) และ นั่นเป็นตัวเรา (ยึดมั่นในทิฏฐิ)

ข้อสังเกตของผู้เขียน
ก. ตรงคำว่า "ญาณความรู้นั้นก็เพียงสักแต่ว่ารู้" เป็นเรื่องน่ารับฟังมาก เพราะผู้เขียนสังเกตเห็นเสมอว่า ผู้ปฏิบัติมักหลงไปให้ความสำคัญกับตัวองค์ความรู้ มากกว่าการรู้หรือการเจริญสติ เช่นเมื่อเกิดความสงสัยว่าจะเจริญสติอย่างใดจึงจะถูกต้อง แทนที่จะรู้ว่ากำลังสงสัยอยู่ (คือรู้ที่อาการสงสัยของจิต เพื่อจะได้เห็นว่า ความสงสัยเป็นเพียงสภาวธรรมอันหนึ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป) กลับไปพยายามคิดหาคำตอบในเรื่องที่สงสัยนั้น เพราะอยากมีความรู้ความเข้าใจ เป็นการทิ้งอารมณ์ปรมัตถ์ (ความสงสัย) ไปวุ่นวายอยู่กับความคิดซึ่งเป็นสมมุติ บัญญัติ ผู้นั้นจึงถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำอย่างน่าเสียดาย

ข. ตรงคำว่า "สติที่ระลึกก็เพียงสักว่าอาศัยระลึก" ก็น่ารับฟังมากเช่นกัน หมายความว่า (1) ให้สักว่าอาศัยระลึกรู้อารมณ์รูปนามไปอย่างสบายๆ ไม่ใช่ระลึกอย่างเอาเป็นเอาตายด้วยอำนาจของตัณหาและทิฏฐิ และ (2) ระลึกแล้วอย่าเข้าไปแทรกแซงในทางพยายามแก้ไขหรือรักษาอารมณ์รูปนามทั้งปวงนั้น ปล่อยให้อารมณ์ทั้งปวงนั้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของเขา ผู้ปฏิบัติมีหน้าที่เพียงการเรียนรู้ความเป็นจริงของอารมณ์เหล่านั้นเท่านั้น

ตอนที่ 050
สรุปสติปัฏฐานเชิงปริยัติธรรม

3.2 กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีอารมณ์หยาบ เป็นเหตุแห่ง ความบริสุทธิ์จากกิเลสของมันทบุคคล (ผู้รู้ช้า) ที่มีตัณหาจริต

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีอารมณ์ละเอียดสุขุม เป็นเหตุแห่งความบริสุทธิ์จากกิเลสของติกขบุคคล (ผู้รู้เร็วเพราะมีปัญญากล้า) ที่มีตัณหาจริต

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีอารมณ์ไม่กว้างขวางนัก เป็นเหตุแห่งความบริสุทธิ์จากกิเลสของมันทบุคคล (ผู้รู้ช้า) ที่มีทิฏฐิจริต

ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีอารมณ์กว้างขวางมาก เป็นเหตุแห่งความบริสุทธิ์จากกิเลสของติกขบุคคล (ผู้รู้เร็วเพราะมีปัญญากล้า) ที่มีทิฏฐิจริต

3.3 กายานุปัสสนาสติปัฏฐานและเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เหมาะกับสมถยานิก (ผู้มีสมถะเป็นยาน คือผู้ทำความสงบก่อนแล้วเจริญปัญญาในภายหลัง) ส่วนจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานและธัมมานุ ปัสสนาสติปัฏฐาน เหมาะกับวิปัสสนายานิก (ผู้มีวิปัสสนาเป็นยาน)

3.4 ผู้ปรารถนามรรคผลจำเป็นต้องเจริญสติปัฏฐานอย่างใด อย่างหนึ่ง

3.5 หนทางคือสติปัฏฐานทั้ง 4 นี้ เมื่อบุคคลอบรมทำให้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน

ข้อสังเกตของผู้เขียน
ก. ตำราเรียนอภิธรรมและอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตรท่านยืนยันไว้ว่า "อารมณ์ทั้ง 4 ของมหาสติปัฏฐาน เหมาะสมกับบุคคลหลายประเภทที่แตกต่างกัน" จุดนี้ผู้เขียนเห็นด้วยยิ่งกว่าคำสอนที่ว่า "กายานุปัสสนาสติปัฏฐานทำง่ายกว่าสติปัฏฐานอย่างอื่น" ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ได้ยินได้ฟังทั่วไปในสำนักปฏิบัติต่างๆ เพราะความง่ายหรือยากย่อมขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่างคือ

(1) ความแก่รอบของปัญญาที่ต่างกัน

(2) การเลือกอารมณ์ได้ถูกกับจริตที่ต่างกัน (ระหว่างตัณหาจริตกับทิฏฐิจริต ไม่เกี่ยวกับเรื่องราคจริต โทสจริต โมหจริต พุทธิจริต สัทธาจริต และวิตกจริต ซึ่งเป็นจริตที่ใช้พิจารณาเลือกอารมณ์ในการทำสมถกรรมฐาน) และ

(3) ความถนัดของจิตที่จะดำเนินในแนวทางของสมถยานิกหรือวิปัสสนายานิก

ตัวอย่างเช่น (1) ผู้ที่มีปัญญากล้าและมีทิฏฐิจริต สมควรเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หากให้ไปเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตอาจจะเบื่อหน่ายกับความคับแคบของอารมณ์กาย และไม่สนใจที่จะตามระลึกรู้กายอยู่เนืองๆ ก็ได้ หรือ (2) บุคคลผู้หนึ่งไม่สามารถกระทำฌานได้ หากต้องเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานซึ่งเหมาะกับสมถยานิก ก็อาจจะรู้สึกฝืดฝืนอย่างมาก หรืออาจหลงเปลี่ยนจากการตามรู้กายไปเป็นการเพ่งกาย ก็เป็นได้

ข. ในตำราท่านขมวดท้ายไว้ด้วยว่าให้ทำสติปัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ว่าต้องทำให้ครบทุกอย่าง ในอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตรท่านเปรียบสติปัฏฐาน 4 เหมือนประตูเมือง 4 ทิศ ให้เข้าเพียงประตูเดียวก็เข้าเมืองได้แล้ว ตรงจุดนี้มีเหตุผลที่น่ารับฟังยิ่ง เพราะสติปัฏฐานอันใดอันหนึ่งก็สามารถทำให้เกิดความเห็นถูกได้เหมือนๆ กันว่า รูปนามอันเป็นภายในและภายนอกทั้งปวงล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา เมื่อปฏิบัติมากเข้า ตัณหาและทิฏฐิจะไม่อิงอาศัยในจิต และจิตไม่ถือมั่นอะไรเลยได้เหมือนๆ กัน

แม้จะฝึกระลึกรู้รูปหรือนามเพียงบรรพเดียว แต่เมื่อเกิดความเข้าใจ ก็ย่อมเข้าใจธรรมทั่วถึงทั้งรูปและนาม เช่นการระลึกรู้รูปยืนเดินนั่งนอน แม้จะเป็นการรู้รูป แต่เมื่อปฏิบัติแล้วก็จะรู้นามได้ด้วย เพราะนามเป็นผู้สั่งให้เกิดการเปลี่ยนอิริยาบถ หรือการรู้จิตซึ่งเป็นนาม ก็จะรู้รูปได้ด้วย เพราะรูปเป็นที่เกิดของจิต เช่นหูกระทบเสียงแล้วเกิดนามรู้ทางหู แล้วส่งข้อมูลต่อให้เกิดจิตที่เป็นกุศลและอกุศล เป็นต้น ดังนั้นแม้จะเริ่มปฏิบัติโดยใช้อารมณ์รูปนามเพียงอย่างหนึ่งอย่างใด พอจิตชำนาญในการเจริญสติแล้ว จิตจะสามารถท่องเที่ยวไปในสติปัฏฐาน 4 ได้อย่างไม่มีอะไรติดขัดเลย

นอกจากนี้การเจริญสติปัฏฐานไม่ว่าจะใช้ปัฏฐานใดก็เป็นเหตุให้สติเกิดขึ้นเนืองๆได้เหมือนกัน เมื่อสติเกิดขึ้นแล้วบรรดาธรรมฝ่ายกุศลทั้งหลายก็มีโอกาสเกิดตามมา คือย่อมเกิดหิริโอตตัปปะ อินทรียสังวร ศีล สัมมาสมาธิ ยถาภูตญาณทัสสนะ วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะ ตามกันมาได้ ดังนั้นไม่ว่าจะเจริญสติปัฏฐานอย่างหนึ่งอย่างใด ก็สามารถทำนิพพานให้แจ้งได้เหมือนกัน

ค. บางท่านสงสัยว่าในเบื้องต้นจะเริ่มหัดเจริญสติปัฏฐานโดยใช้ธรรมเป็นอารมณ์เลยทีเดียวได้หรือไม่ ขอตอบว่าได้ถ้ามีกำลังของสติและสัมมาสมาธิเพียงพอ ดังเช่นที่พระพุทธเจ้าเมื่อทรงตรัสรู้ด้วยการประจักษ์แจ้งอริยสัจจ์ 4 ตามปฏิจจสมุปบาทนัยแล้ว พระองค์ทรงแสดงอริยสัจจ์ 4 (ในธัมมจักกัปวัตตนสูตร) และความเป็นไตรลักษณ์ของขันธ์ ๕ (ในอนัตตลักขณสูตร) ให้นักบวช/ภิกษุปัญจวัคคีย์ฟัง ทรงแสดง อริยสัจจ์ให้ยสกุลบุตรรวมทั้งครอบครัวและสหายฟัง และทรงแสดงเรื่อง อายตนะ (ในอาทิตตปริยายสูตร) ให้ชฎิล 1,000 รูปฟัง จะเห็นได้ว่าเรื่องอริยสัจจ์ ขันธ์ และอายตนะ ล้วนเป็นเรื่องในธัมมานุปัสสนาสติ ปัฏฐานทั้งสิ้น ดังนั้นจึงไม่ควรคิดว่าการเจริญสติปัฏฐานหรือการปฏิบัติวิปัสสนาจะต้องเริ่มต้นจากฐานกายก่อนเสมอไป เพราะเป็นความเชื่อที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงทั้งด้านพระสูตรและพระอภิธรรม

ตอนที่ 051
ตามรอยธรรมย้ำรอยครู

ในยุคสมัยนี้ แม้ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระปรมาจารย์ของพระป่า จะมีชื่อเสียงในด้านการสอนให้ศิษย์บริกรรมพุทโธและพิจารณากาย แต่ท่านก็สอนศิษย์บางรูปด้วยกรรมฐานชนิดอื่น เช่นสอนให้ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เจริญสติในข้อธรรมว่า "สัพเพสังขารา สัพพสัญญา อนัตตา" ซึ่งก็คือการเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในขันธบรรพ ทั้งที่หลวงปู่ดูลย์ในครั้งกระนั้นเพิ่งจะเข้ารับการอบรมธรรมจากหลวงปู่มั่นไม่นานนัก และมีคุณธรรมในขั้นเบื้องต้นเท่านั้น นอกจากนี้หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ ได้กรุณาเล่าว่าเมื่อท่านเข้าไปกราบหลวงปู่มั่นในครั้งแรกๆ หลวงปู่มั่นสอนท่านว่า "การปฏิบัติธรรมจะต้องมีสติรู้กายหรือรู้จิต ถ้ารู้กายไม่ได้ก็ให้รู้จิต ถ้ารู้จิตไม่ได้ก็ให้รู้กาย และที่ให้รู้กายก็เพื่อจะรู้จิต" (จากเทปธรรมของหลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ ม้วนที่ 15 เรื่องสติ/กฐินวัด เมตตาวนาราม) นี้แสดงถึงอัจฉริยภาพของหลวงปู่มั่น ที่ท่านสามารถจำแนกแจกธรรมได้อย่างกว้างขวางเหมาะสมกับจริตนิสัยของศิษย์ จนสามารถสร้างพระดีได้นับเป็นร้อยองค์

สำหรับหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ท่านสอนเรื่องการดูจิต ซึ่งความจริงไม่ใช่การเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานเท่านั้น แต่เป็นการเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือเป็นที่รวมของการเจริญสติปัฏฐานด้วยการรู้อารมณ์ที่เป็นรูปนาม กล่าวคือ

- ก่อนการดูจิตท่านมักสอนว่า "อย่าส่งจิตออกนอก" ซึ่งก็คืออย่าหลง อย่าเผลอไปใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์ ด้วยอำนาจของตัณหา 6 อย่าง เพราะถ้าหลงหรือเผลอแล้ว ความคิดหรือสมมุติบัญญัติจะปิดบังอารมณ์ปรมัตถ์ ถ้าไม่หลง อารมณ์ปรมัตถ์ใดกำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นรูปหรือนาม ก็จะสามารถรู้อารมณ์นั้นได้โดยไม่ต้องจงใจรู้ อย่างไรก็ตามท่านไม่เคยสอนให้หาทางดับความคิดโดยตรง แต่เมื่อไม่หลงส่งจิตออกนอก ความคิดจะไม่สามารถปิดบังความจริงได้เลย นี้ก็คือการเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในอริยสัจบรรพนั่นเอง

- ในระหว่างที่ดูจิตนั้น อารมณ์ที่จิตไปรู้เข้าเป็นรูปก็มี ดังที่ท่านสอนว่า "ตาเห็นรูป - จิตยินดียินร้ายก็รู้ หูได้ยินเสียง - จิตยินดียินร้ายก็รู้" ตรงจุดนี้ถ้ารู้ทันจิตจริงๆ แล้วจะพบว่าสิ่งที่ตาได้ดู หูได้ยิน ล้วนเป็นรูปปรมัตถ์ ไม่มีดีมีชั่วอะไร (ต่อเมื่อจิตเกิดความสำคัญมั่นหมายไปตามอำนาจของสัญญาแล้ว จิตจึงปรุงแต่งกุศลหรืออกุศลขึ้นมาที่จิต) ตรงที่ตาเห็นรูปนั้น รูปเป็นรูป ตาเป็นรูป ความรู้อารมณ์ทางตาเป็นนามจิต กิเลส/สังโยชน์ที่แฝงตัวตามภายหลังการกระทบอารมณ์ทางตาเป็นนามเจตสิก เป็นต้น นี้ก็คือการเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในอายตนบรรพนั่นเอง

- ในระหว่างที่ดูจิตอยู่นั้น เวทนาเกิดขึ้นก็รู้ชัดด้วยใจ เวทนา เป็นนามเจตสิก ร่างกายที่เวทนาอาศัยเกิดเป็นรูป ความรู้อารมณ์ทางใจเป็นนามจิต และหากเป็นเวทนาทางใจ จุดที่เวทนาทางใจผุดขึ้นนั้นคือหทยรูปเป็นรูป การรู้เวทนาทั้งหลายทั้งที่เป็นสุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัส และอุเบกขา เหล่านี้เป็นการเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน และเป็นการเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในขันธบรรพด้วย

- ในระหว่างที่ดูจิตอยู่นั้น กุศลหรืออกุศลเกิดขึ้นก็รู้ชัดด้วยใจ กุศลและอกุศลเป็นนามเจตสิก จุดที่กุศลและอกุศลผุดขึ้นคือหทยรูปเป็นรูป ความรู้อารมณ์ทางใจเป็นนามจิต การรู้จิตที่เป็นกุศลและอกุศล ทั้งหลายเหล่านี้เป็นการเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และเป็นการเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในขันธบรรพด้วย

- ในระหว่างที่ดูจิตอยู่นั้น นิวรณ์ปรากฏขึ้นและดับไปก็รู้ อายตนะใดทำงานก็รู้ องค์ธรรมในโพชฌงค์องค์ใดปรากฏขึ้นก็รู้ ตัณหาเกิดขึ้นทางทวารใดก็รู้ เหล่านี้เป็นการเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งสิ้น

ง. คำสอนที่ว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐานเหมาะสมกับสมถยานิกนั้น เป็นเรื่องที่ครูบาอาจารย์พระป่าท่านถือปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด คือท่านจะต้องทำความสงบจิตก่อนด้วยการเจริญสติปัฏฐานในส่วนที่เป็นอารมณ์สมถะ คือเจริญอานาปานสติบ้าง เจริญปฏิกูลสัญญาและอสุภกรรมฐานบ้าง จนข่มนิวรณ์ได้ มีจิตเป็นหนึ่งมีอารมณ์เป็นหนึ่ง บรรลุถึงอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิตามชนิดของอารมณ์กรรมฐาน ที่ทำอยู่อันจัดเป็นจิตวิสุทธิ เมื่อจิตถอดถอนออกจากสมาธิแล้ว ท่านที่ได้อัปปนาสมาธิก็ย้อนพิจารณาอารมณ์ขององค์ฌาน และทุกท่านจะต้องเจริญสติรู้รูปยืนเดินนั่งนอนบ้าง รู้อิริยาบถย่อยบ้าง รู้ธาตุกรรมฐานบ้าง เป็นการเจริญวิปัสสนาภายหลังจากการทำความสงบจิตจนถึงอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิแล้ว ซึ่งก็เกิดผลดียิ่ง เพราะในขณะที่มีสติระลึกรู้กายนั้น จิตมีความตั้งมั่นคือมีสัมมาสมาธิเป็นกำลังสนับสนุนอยู่ จึงมีปัญญาเห็นว่ารูปไม่ใช่เรา ในทันทีที่สติระลึกรู้รูปนั้นเอง

นอกจากนี้ครูบาอาจารย์พระป่าบางรูปยังทำสมาธิจนจิตเข้าถึงความตั้งมั่น มีสติรู้อยู่ที่จิตได้อย่างชำนาญ เมื่อออกจากสมาธิแล้วก็น้อมนึกพิจารณากายให้เป็นปฏิกูล เป็นอสุภะ เป็นธาตุ เป็นขันธ์ตรงจุดนี้ยังไม่ใช่การเจริญวิปัสสนา แต่เป็นการน้อมคิดนำร่องให้จิตคุ้นเคยที่จะรู้กาย เมื่อพิจารณากายพอสมควรแล้วก็กลับทำความสงบเข้าไปอีก จิตก็เกิดนิมิตเห็นกายเป็นอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต แล้วกายก็สลายตัวลง อาศัยที่จิตเคยทำความสงบจนเข้าถึงฐานของจิตมาอย่างชำนาญแล้ว พอหมดกาย จิตก็รวมเข้ามาที่จิต แล้วเห็นอารมณ์เกิดดับอยู่ที่จิต เป็นการเจริญวิปัสสนาโดยรู้นามปรมัตถ์ หากไม่ทำสมาธิเป็นกำลังสนับสนุน จู่ๆ ก็ไปคิดพิจารณากาย เมื่อกายสลายลงแล้วจิตจะไม่สามารถรวมลงที่จิตและเจริญวิปัสสนาไม่ได้จริง ดังนั้นท่านจึงเน้นกันนักหนาว่า อย่าทิ้งสมาธิ และก็อย่าเอาแต่ทำสมาธิจนละเลยการเจริญปัญญาด้วย

แต่นักปฏิบัติรุ่นหลังบางท่านนิยมเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยไม่สนใจการทำสมาธิ จิตจึงไม่มีความตั้งมั่นพอ ดังนั้นเมื่อมีสติไประลึกรู้รูป จิตจึงมักถลำลงไปเพ่งหรือกำหนดรูป เช่นเพ่งเท้า เพ่งท้อง เพ่งมือ เพ่งกายทั้งกาย หรือเพ่งรูปยืนเดินนั่งนอน หรือหลงคิดเรื่องรูป อันเป็นการหลงทำสมถะทั้งที่คิดว่ากำลังเจริญวิปัสสนาอยู่

จ. จากการศึกษาเรื่องสติปัฏฐานที่ผ่านมานี้ จะเห็นว่าไม่มีที่ใด เลยที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ดัดแปลงจิตและอารมณ์รูปนามให้ผิดไปจากความเป็นจริง สิ่งที่นักปฏิบัติทั้งหลายปฏิบัติกันอยู่นั้น มักเป็นเพียงอุบายเฉพาะตัวที่อาจารย์ผู้มีประสบการณ์ถ่ายทอดให้ โดยหวังว่าเมื่อศิษย์ทำตามแล้ว ถึงจุดหนึ่งจะรู้อารมณ์ปรมัตถ์และเกิดพัฒนาการทางวิปัสสนาปัญญาต่อไปได้

ฉ. การเจริญสติปัฏฐานในเบื้องต้นจะเป็นเพียงการตามรู้ (อนุ ปัสสนา) รูปนามที่ปรากฏ ยังเจือด้วยจินตามยปัญญา ไม่ใช่การเจริญวิปัสสนา ต่อเมื่อสามารถระลึกรู้และมีปัญญาเห็น (1) สันตติ (ความสืบต่อ) ของรูปนามขาดไปต่อหน้าต่อตา คือเห็นอารมณ์อันหนึ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วเห็นอีกอารมณ์หนึ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป หรือเห็น (2) ฆนบัญญัติ (การบัญญัติหรือมองกลุ่มของรูปนามว่าเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ไม่สามารถจำแนกสิ่งที่เป็นกลุ่มก้อนนั้นว่าเป็น เพียงรูปนามได้) แตกไป จึงจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเจริญวิปัสสนา เป็นภาวนามยปัญญา เรื่องนี้จะได้กล่าวถึงอย่างเป็นรูปธรรมในหัวข้อต่อๆ ไป


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2008, 13:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


ตอนที่ 045
ปฏิกูลสัญญา

2.1.3 ปฏิกูลสัญญา และอสุภะอีก 9 บรรพ ใช้ในการเจริญสมถภาวนาอย่างเดียวนอกจากนี้ ในมหาสติปัฏฐานสูตรท่านกล่าวถึงคำว่า "กายในกาย" "กายในกายอันเป็นภายใน" "กายในกายอันเป็นภายนอก" คำเหล่านี้มีความหมายดังนี้คือ
กายในกาย กายคือที่ประชุมแห่งรูปจำนวนมาก รวมทั้งจิตและเจตสิกด้วย ส่วนคำว่ากายในกายหมายความว่าให้รู้รูปเดียวในหลายๆรูป เช่นถ้าจะทำอานาปานสติก็รู้ธาตุลมหรือธาตุไฟอย่างเดียว ถ้าจะรู้รูปเดินก็รู้การเคลื่อนไปแห่งกายนี้อย่างเดียวด้วยอำนาจของธาตุลม เป็นต้น
กายในกายอันเป็นภายใน และกายในกายอันเป็นภายนอก มีหมายความเช่น ถ้ารู้ลมหายใจที่เป็นไปในรูปกายนี้ก็เป็นภายใน ถ้ารู้ลมหายใจที่เป็นไปในรูปกายอื่นก็เป็นภายนอก
ข้อสังเกตของผู้เขียน
ก. คำว่า "กายในกาย" "เวทนาในเวทนา" "จิตในจิต" และ"ธรรมในธรรม" น่าจะหมายถึงกาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งแยกย่อยตามที่พระพุทธเจ้าทรงแจกแจงไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตรนั่นเอง ไม่น่าจะมีความหมายให้ต้องคิดมาก เช่น ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ก็เป็นกายในกาย รูปยืน รูปเดิน รูปนั่ง รูปนอน ก็เป็นกายในกาย ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ ก็เป็นเวทนาในเวทนา จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง ก็เป็นจิตในจิต กามฉันทะ พยาบาท รูปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ก็เป็นธรรมในธรรม เป็นต้น
ข. เรื่องกายในกายที่ว่าให้รู้รูปเดียวในหลายๆรูปนั้น ผู้เขียน เห็นว่าในเบื้องต้นจะจงใจทำเช่นนั้นก็ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วเมื่อจิตเกิดสติอัตโนมัติ ผู้ปฏิบัติจะไม่มีความจงใจรู้รูปใดรูปหนึ่ง แต่หากจิตจะรู้รูปใดก็รู้รูปนั้นเพียงรูปเดียวในขณะนั้น จะต่างกับการจงใจรู้รูปใดรูปหนึ่งเพียงรูปเดียวแล้วไม่ยอมรับรู้รูปอื่นๆ แท้จริงรูปเป็นเพียงสิ่งที่จิตสักว่าอาศัยรู้ สติสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น จิตจะรู้รูปใดก็ได้เพราะรูปทุกรูปล้วนแสดงไตรลักษณ์เหมือนกันทั้งสิ้น
ค. ทราบว่ามีผู้ศึกษาพระอภิธรรมบางท่าน ไม่เห็นด้วยกับตำราปริยัติธรรมที่ว่า "กายในกายอันเป็นภายใน" คือรูปกายนี้ และ "กายในกายอันเป็นภายนอก" คือรูปกายอื่น ด้วยเหตุผลที่ว่ามหาสติปัฏฐาน สูตรมีการกล่าวถึง "การรู้ทั้งกายในกายอันเป็นภายในและกายในกายอันเป็นภายนอก" ซึ่งเกิดปัญหาว่าจะรู้ได้อย่างไรทีละหลายอย่าง จึงคิดว่าน่าจะตีความคำว่าภายในและภายนอกเป็นอย่างอื่น เช่น "กายภายในคือจิต ที่ไปรู้รูปกายซึ่งเป็นกายภายนอก" เป็นต้น ความจริงการตีความอย่างนี้ก็ยังไม่พ้นปัญหาเดิม คือจะรู้จิตกับกายพร้อมกันได้หรือ
เรื่องนี้ผู้เขียนเห็นว่าตำราปริยัติธรรมที่เรียนกันอยู่นั้น น่าจะถูกต้องแล้ว ไม่ควรตีความคำว่ากายภายในกับกายภายนอก ให้ยุ่งยากซับซ้อน ยิ่งกว่าเดิม เพราะผู้ที่เจริญสติจนมีสติปัญญาเป็นอัตโนมัติแล้ว จะพบเห็นสภาวะอย่างหนึ่งที่สามารถรู้เห็นธรรมอันเป็นภายในและภายนอกกลมกลืน ราบเรียบ และเสมอกันในความรู้สึกได้ในคราวเดียว เพราะสิ่งที่เห็นอันเดียวในขณะนั้นคืออนัตตลักษณะ (หรืออนิจจลักษณะ หรือทุกขลักษณะ) ที่มีรูปนามทั้งปวงเป็นเพียงฉากหลังของการรับรู้เท่านั้น (สภาวะดังกล่าวนี้อาจเปรียบเทียบได้กับเรื่องที่ตำราเรียนพระอภิธรรมปริจเฉทที่ 9 ของบางสำนักระบุว่า สังขารุเบกขาญาณ มีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ โดยมีรูปนามเป็นเครื่องรองรับความปรากฏของไตรลักษณ์ อนึ่งความเห็นของผู้เขียนในจุดนี้ อาจจะไม่ถูกต้องในเชิงปริยัติธรรมก็ได้ โปรดอ่านด้วยความระมัดระวัง) จิตในขณะนั้นจะเปิดโล่ง โปร่งเบา รู้สึกตัวอยู่โดยไม่ต้องประคับประคอง และไม่มีการแบ่งแยกภายในกับภายนอกแต่อย่างใด เพราะไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่า นี่เป็นเรา เราเป็นนี่ ส่วนอันนั้นเป็นของภายนอกไม่ใช่เรา และก็คือสภาวะที่พ่อแม่ครูอาจารย์พระป่าหลายรูปท่านพูดถึงว่า เป็นสภาวะที่โลกราบเป็นหน้ากลอง และหลวงปู่ดูลย์ อตุโลท่านกล่าวว่า เมื่อเห็นจิตกับสภาวะที่แวดล้อมอยู่เป็นสิ่งเดียวกัน (เป็นไตรลักษณ์) จิตจะหมดการดิ้นรนแสวงหา แล้วปล่อยวางรูปธรรมนามธรรมทั้งปวงได้
ถ้าจะเปรียบเทียบสภาวะดังกล่าวให้เข้าใจง่ายขึ้นก็อาจเปรียบได้ว่า เดิมเราอยู่ในที่ต่ำและคับแคบ การมองสิ่งต่างๆ ย่อมมองได้ในมุมแคบ และเห็นภาพที่จำกัดและใกล้ชิด ต่อมาเราขึ้นไปอยู่บนที่สูงเช่นบนยอดเขา เมื่อมองภาพที่ปรากฏกลับเห็นภาพที่กว้างขวางมากและเห็นอยู่ห่างๆ นี้ฉันใด จิตที่มีกำลังน้อยก็เห็นอารมณ์ได้อย่างคับแคบและใกล้ชิด พอจิตอบรมสติปัญญามากขึ้นจะถอดถอนตนเองออกห่างจากอารมณ์ ไม่คลุกคลีติดยึดกับอารมณ์ และเห็นอารมณ์ได้กว้างขวางขึ้นในการมองเพียงครั้งเดียว นี้ฉันนั้น
ในสภาวะดังกล่าวนี้ผู้ปฏิบัติจะเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นของรูปนาม เห็นธรรมคือความเสื่อมไปของรูปนาม เห็นธรรมคือเห็นทั้ง ความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปของรูปนามทั้งหลายนั้น ซึ่งก็คือการเห็นไตรลักษณ์นั่นเอง โดยรูปนามทั้งหลายเป็นเพียงเครื่องอาศัยรู้ของจิต เครื่องอาศัยระลึกของสติ หรือเป็นฉากหลังอันเป็นที่ปรากฏของไตรลักษณ์ ในสภาวะนี้ตัณหาและทิฏฐิจะไม่อิงอาศัยในจิต (แต่ถ้ายัง มีเรา/มีเขา มีใน/มีนอก มีละเอียด/มีหยาบ มีดี/มีชั่ว อยู่ตราบใด ตัณหาและทิฏฐิ ก็ยังครอบงำจิตได้อยู่ตราบนั้น)
(เชิญอ่านปริยัติธรรมต่อ)
กล่าวโดยสรุป กายานุปัสสนาสติปัฏฐานเมื่อเจริญแล้ว ย่อมทำให้เห็นความเป็นจริงว่า รูปไม่ใช่เรา แล้วละความยึดถือรูปเสียได้ บางคราวท่านก็สอนว่า การมีสติตามรู้กายเนืองๆ ทำให้ละวิปัลลาสที่ว่า กายเป็นของสวยงาม (สุภะ) ลงได้
ข้อสังเกตของผู้เขียน
การเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานไม่เพียงแต่ทำให้เห็นว่ากายไม่งามเท่านั้น แต่ยังทำให้เห็นว่ากายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ด้วย ซึ่งการเห็นไตรลักษณ์นั้นผู้เขียนเห็นว่าสำคัญยิ่งกว่าการเห็นว่า กายไม่งามเสียอีก เพราะถ้ากล่าวโดยสภาวธรรมแล้ว กายไม่มีความงาม หรือความไม่งาม ทั้งความเห็นว่างามและความเห็นว่าไม่งาม เป็นความหลงของจิตด้วยกันทั้งคู่ และในทางปฏิบัติจริง การเห็นว่ารูปเป็นทุกข์นั้นเห็นได้ง่ายมาก เพราะถ้ารู้รูปเช่นรูปยืนเดินนั่งนอน ก็จะเห็นทุกข์ตามบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา และรูปเหล่านั้นล้วนแต่ทนอยู่ไม่ได้นาน

ตอนที่ 047
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

2.3 จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมายถึงการตั้งมั่นในการตามระลึกรู้จิตอยู่เนืองๆ มีประเด็นที่ควรทราบดังนี้คือ
2.3.1 จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานแบ่งเป็น 16 บรรพ ได้แก่
คู่ที่ 1 จิตมีราคะ จิตไม่มีราคะ
คู่ที่ 2 จิตมีโทสะ จิตไม่มีโทสะ
คู่ที่ 3 จิตมีโมหะ จิตไม่มีโมหะ
คู่ที่ 4 จิตมีถีนมิทธะ (หดหู่) จิตมีความฟุ้งซ่าน
คู่ที่ 5 จิตเป็นมหัคคตะ (รูปาวจร อรูปาวจร)
จิตเป็นอมหัคคตะ (กามาวจร)
คู่ที่ 6 จิตเป็นสอุตตระ (มีจิตอื่นยิ่งกว่า/กามาวจร)
จิตเป็นอนุตตระ (ไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า/รูปาวจร และอรูปาวจร)
คู่ที่ 7 จิตเป็นสมาธิ จิตไม่เป็นสมาธิ
คู่ที่ 8 จิตประหารกิเลส จิตไม่ประหารกิเลส

ข้อสังเกตของผู้เขียน
ถึงแม้จิตในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานจะมีถึง 8 คู่หรือ 16 บรรพ แต่ในทางปฏิบัติจริงสำหรับผู้ที่ไม่ได้ฌาน ก็ให้ตามระลึกรู้จิตเพียง 4 คู่แรกก็พอแล้ว เพราะจิตที่เกินกว่านั้นไม่ได้เกิดมีขึ้นเนืองๆ
(เชิญอ่านปริยัติธรรมต่อ)

2.3.2 จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้ไม่ได้กล่าวถึงโลกุตรจิตเลย เพราะโลกุตรจิตใช้เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานไม่ได้เนื่องจากไม่ได้เกิดเนืองๆ อีกประการหนึ่งโลกุตรจิตไม่จัดเป็นอุปาทานขันธ์ จึงไม่ใช่ทุกขสัจจ์ที่จะต้องรู้ตามหลักของการปฏิบัติในเรื่องกิจในอริยสัจจ์

2.3.3 จิตทั้ง 16 บรรพในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานใช้ เจริญวิปัสสนาได้อย่างเดียว ยกเว้นอรูปาวจรจิต 4 ดวงคือ อากาสานัญจายตนกุสลจิต อากาสานัญจายตนกิริยาจิต อากิญจัญญายตนกุสลจิต และอากิญจัญญายตนกิริยาจิต ใช้เป็นอารมณ์ในการเจริญสมถภาวนาได้ด้วย

ข้อสังเกตของผู้เขียน
ก. จิต 4 ดวงนี้เป็นจิตที่รู้อารมณ์ 2 ชนิดคือรู้ช่องว่างอย่างหนึ่ง กับรู้ความไม่มีอะไรเลยอีกอย่างหนึ่ง และถ้าเป็นจิตของผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ยังเป็นจิตที่ไม่พ้นการกระทำกรรมก็เรียกว่ากุสลจิต ถ้าเป็นจิตพระอรหันต์พ้นจากการกระทำกรรมแล้วก็เรียกว่ากิริยาจิต

ข. นักดูจิตส่วนมากมักหลงเพ่งช่องว่าง (ในใจ) บ้างเพ่งความว่าง คือความไม่มีอะไร (ในใจ) บ้างเป็นการหลงไปทำสมถะทั้งที่คิดว่ากำลังเจริญวิปัสสนาอยู่ จุดนี้จะต้องระมัดระวังให้มาก แต่หากมีสตติระลึกรู้จิตที่เพ่งช่องว่างหรือความว่างเป็นอารมณ์ รู้ว่าจิตนั้นเป็นแต่เพียง นามธรรม เมื่อมีเหตุมีปัจจัยก็เกิดขึ้น เมื่อหมดเหตุหมดปัจจัยก็ดับไป อย่างนี้จึงจะเป็นการเจริญวิปัสสนา

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ท่านเคยสอนผู้เขียนไว้ว่า ผู้ดูจิตบางคน สามารถจะได้อรูปฌานโดยอัตโนมัติคือไม่ต้องฝึกหัดเป็นการเฉพาะ ก็เพราะจิตพลิกไปมาระหว่างการทำสมถะและวิปัสสนาอย่างนี้เอง(เชิญอ่านปริยัติธรรมต่อ)

2.3.4 การเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานทำให้รู้ว่า (1) จิตที่ปรากฏอยู่นั้นเป็นจิตชนิดใด เช่นจิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง และไม่ใช่เราโลภ เราโกรธ เราหลง (2) เมื่อเจริญสติมากเข้าก็จะรู้ความจริงที่ละเอียดยิ่งขึ้นไปอีกว่า สภาวะของโลภ โกรธ หลงที่ปรากฏอยู่นั้นเป็นเพียงอาการของจิต หรือเป็นสิ่งที่เข้ามาประกอบจิต (เจตสิก) ยังไม่ใช่จิต ส่วนจิตเป็นนามธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งทำหน้าที่รู้อารมณ์ และจิตก็ไม่ใช่เราด้วย และ (3) จิตเป็นสิ่งที่เกิดดับรวดเร็วมากและบังคับไม่ได้ คือจะห้ามไม่ให้จิตอย่างนั้นเกิดก็ไม่ได้ จะให้เกิดแต่จิตอย่างนี้ก็ไม่ได้ จะห้ามไม่ให้ดับก็ไม่ได้ เพราะจิตย่อมเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยปรุงแต่งเมื่อหมดเหตุหมดปัจจัยปรุงแต่งจิตก็ดับไป

2.3.5 จิตทั้ง 16 บรรพมีองค์ธรรมอันเดียวคือจิต ซึ่งเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ เวลาปฏิบัติจึงตามรู้จิตทั้ง 16 บรรพหรือ 8 คู่ไปได้เลย ไม่ต้องแยกย่อยตามรู้เฉพาะบรรพใดบรรพหนึ่ง แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้ฌานก็ดูจิตเพียง 8 บรรพแรกหรือ 4 คู่แรก เพราะมีจิตเกิดอยู่จริงเพียงเท่านั้น

2.3.6 คำว่า "จิตในจิต" "จิตในจิตอันเป็นภายใน" "จิต ในจิตอันเป็นภายนอก" มีความหมายทำนองเดียวกับกายในกาย ฯลฯ นั่นเอง

2.3.7 กล่าวโดยสรุป จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานเมื่อเจริญแล้ว ย่อมทำให้เห็นความเป็นจริงว่า จิตไม่ใช่เรา แล้วละความยึดถือจิตเสียได้ และทำให้เห็นความจริงว่า จิตเกิดดับเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เป็นการทำลายวิปัลลาสที่เห็นว่าจิตเที่ยงลงได้

ข้อสังเกตของผู้เขียน
ก. การเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น แม้จะได้ชื่อว่าเป็น การมีสติระลึกรู้จิตเนืองๆ แต่เมื่อปฏิบัติมากเข้าก็จะพบว่า บรรดาราคะ โทสะ โมหะ ความฟุ้งซ่าน และความหดหู่นั้นไม่ใช่จิต หากแต่เป็นธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งที่สามารถปรุงแต่งจิตได้ (เจตสิก) ตัวจิตเองมีลักษณะเพียงอย่างเดียวคือเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ไม่ดีหรือชั่วด้วยตัวเอง แต่ดีหรือชั่วไปตามเจตสิก เปรียบเหมือนน้ำที่สะอาดปราศจากสี กลิ่น รส แต่มีสี กลิ่น รส ไปตามสิ่งที่ปะปนเข้ามา จิตที่เป็นธรรมชาติรู้อารมณ์นี้บางทีนักปฏิบัติก็นิยมเรียกกันว่าจิตผู้รู้ และบางท่านเกิดความสำคัญผิดว่าจิตผู้รู้เที่ยงคือไม่แตกดับ แท้จริงจิตก็ไม่ได้มีอยู่ดวงเดียว แต่จิตเกิดดับอยู่ทางทวารทั้ง 6 สืบเนื่องกันไปไม่ขาดสาย (มีข้อยกเว้นบ้างบางกรณีที่มีการเข้าสมาบัติบางอย่างที่จิตดับ แต่ก็ดับได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น)

ข. ผู้ปฏิบัติที่เห็นความจริงว่าจิตเกิดดับอยู่ทางทวารทั้ง 6 ไม่ใช่มีจิตดวงเดียวที่ไม่เกิดไม่ดับ จะหมดความสนใจที่จะรักษาจิตให้ดีตลอดไปเพราะรู้ว่าจิตไม่เที่ยง และไม่ต้องหาทางดับอกุศลจิตด้วยเพราะถึงไม่หาทางดับ มันก็ดับของมันเองเมื่อเหตุเมื่อปัจจัยเปลี่ยนไป

ค. เบื้องต้นที่เจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น กำลังของสติปัญญายังไม่แก่กล้าพอ ผู้ปฏิบัติก็อาจรู้สึกว่าจิตกำลังมีกิเลส เช่นจิตกำลังมีราคะ แต่เมื่อสติปัญญาแก่กล้าขึ้นก็จะพบว่า ทันทีที่เกิดสติหรือเกิดความรู้สึกตัว จิตไม่มีกิเลสเสียแล้ว แต่ก็รู้ได้ว่าจิตในอดีตที่เพิ่งดับไปแล้วนั้นเป็น "จิตมีราคะ" ส่วนจิตที่รู้สึกตัวอยู่เป็น "จิตไม่มีราคะ" นี้คือการเห็นจิตมีราคะ และจิตไม่มีราคะเป็นของคู่กัน สำหรับจิตมีโทสะและจิตไม่มีโทสะ กับจิตมีโมหะและจิตไม่มีโมหะ ก็มีลักษณะทำนองเดียวกันนี้

ง. การเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานแม้จะทำลายนิจจสัญญาคือความเห็นผิดว่าจิตเที่ยง และทำให้รู้ความจริงว่าจิตไม่เที่ยงหรือเป็นอนิจจังก็ตามแต่ผู้ปฏิบัติบางคนได้รู้ได้เข้าใจว่าจิตเป็นอนัตตาก็มีเหมือนกัน ไม่มีข้อจำกัดว่าจะเห็นได้เฉพาะจิตเป็นอนิจจังเท่านั้น

โดยพระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช




วิธีขจัดความทะยานอยากในจิตใจลงได้มีอยู่ทางเดียว คือการเจริญอริยมรรคมีองค์๘ประการ หรือการเจริญวิปัสสนาคือการมีสติสัมปชัญญะตามรู้กายตามรู้ใจนั่นเอง โดยมีสติ(มีสัมมาสติ) ตามรู้ทุกข์ ตามรู้กาย ตามรู้ใจอยู่เนืองๆ(มีสัมมาวายามะ) ตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้(มีสัมมาทิฎฐิในภาคปริยัติธรรม) ด้วยจิตที่ตั้งมั่น(มีสัมมาสมาธิ) ไม่นานก็จะเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสภาวธรรมว่า กายและใจหรือรูปนามเป็นทุกข์จริง แต่ไม่ใช่ตัวเรา(สัมมาทิฎฐิในภาคปฏิบัติ) แล้วจิต(ไม่ใช่เรา) ก็ปล่อยวางความถือมั่นในรูปนามเสียได้ในที่สุด จิตที่ปล่อยวางรูปนามนั่นแหละคือจิตที่พ้นทุกข์ และได้ประจักษ์ถึงนิพพานอันเป็นสภาวะที่สงบสันติจากขันธ์และกิเลสตัณหาทั้งปวง


การตามรู้กายก็มีหลักง่ายๆคือ ให้มีความรู้สึกตัวแล้วตามรู้กายไปอย่างสบายๆ หากกายอยู่ในอาการอย่างไร ก็รู้ว่ารูป(ไม่ใช่เรา) อยู่ในอาการอย่างนั้น การตามรู้ใจก็มีหลักการปฏิบัติง่ายๆเช่นกันคือ ให้มีความรู้สึกตัวแล้วตามจิตรู้จิตใจไปอย่างสบายๆ หากจิตใจมีความรู้สึกหรือมีอาการอย่างไรก็รู้ว่านาม(ไม่ใช่เรา) มีความรู้สึกหรือมีอาการอย่างนั้น เช่นจิตมีความสุขก็รู้ มีความทุกข์ก็รู้ เฉยๆก็รู้ ชั่วก็รู้ส่งออกหรือหลงไปตามอารมณ์ทางทวารทั้ง๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ก็รู้และสักว่ารู้อารมณ์ทางทวารทั้ง๖ คือรู้โดยไม่หลงก็รู้ เป็นต้น


ความรู้สึกตัวเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับการตามรู้กายและตามรู้ใจ เพราะถ้าจิตมีความรู้สึกตัวคือไม่หลงไปกับอารมณ์ที่ปรากฏทางทวารทั้ง๖ (หลวงปู่ดุลย์ อตุโล สอนว่า อย่าส่งจิตออกนอก) จิตก็ย่อมจะอยู่กับเนื้อกับตัว เกิดความรู้สึกตัวแล้วรู้เนื้อรู้ตัวหรือรู้กายรู้ใจได้


ผู้ปฏิบัติพึงทำความรู้จักสภาวะของความรู้สึกตัว โดยหัดการสังเกตความแตกต่างระหว่างความหลงกับความรู้สึกตัวซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกัน ความหลงมี๖ชนิดคือ เมื่อดูรูปก็หลงรูปแล้วลืมกายลืมใจของตนเอง เมื่อได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส ก็หลงกลิ่น ก็หลงรส หลงสัมผัส แล้วลืมกายลืมใจของตนเอง และเมื่อรู้อารมณ์ทางใจก็หลงอารมณ์ทางใจแล้วลืมกายลืมใจของตนเอง


เมื่อรู้สึกตัวเป็นแล้วก็ต้องเจริญสติปัฏฐานเพื่อ (๑) กระตุ้นความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้นเนืองๆ และ(๒) ตามรู้รูปนามอันเป็นอารมณ์วิปัสสนาในสติปัฏฐาน จนเห็นความจริงว่ากายและใจไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จึงจะสามารถละสักกายทิฏฐิหรือความเห็นผิดว่ารูปนาม หรือกายใจคือตัวตนลงได้ในเบื้องต้น และสามารถทำลายความยึดถือรูปนามลงได้ในที่สุด


การเจริญสติปัฏฐาน เช่น การตามรู้กายใน อริยาบถเดิน หรือการตามรู้ความเคลื่อนไหวของกาย จะช่วยกระตุ้นความรู้สึกตัวได้ง่ายกว่าการตามรู้อารมณ์ที่นิ่งๆ เช่นการรู้รูปนั่ง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนั่งหลับตา) เพราะเมื่อนั่งนานก็มักจะเคลิ้มง่าย อย่างไรก็ตามผู้ปฏิบัติพึงสังเกตตนเองว่าใช้อารมณ์กรรมฐานอันใดแล้วเกิดสติบ่อย ก็ควรใช้อารมณ์นั้นเป็นเครื่องอยู่ประจำไว้ จะเป็นตามรู้กาย เวทนา จิต หรือธรรมก็ใช้ได้ทั้งสิ้น เพราะแต่ละคนมีจริตนิสัยต่างๆกัน ทั้งนี้การเจริญสติ แม้ต้องอยู่ภายใต้หลักการอันเดียวกันที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ แต่ต่างคนก็มีทางเดินเฉพาะตัวที่ไม่ซ้ำรอยกัน เพราะทางนี้เป็นทางของผู้ไปคนเดียว ดังนั้นจึงไม่มีรูปแบบสำเร็จรูปของการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งที่ดีที่สุด มีแต่รูปแบบที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลเท่านั้น


เมื่อรู้สึกตัวได้แล้วก็ให้หมั่นรู้สึกถึงอาการปรากฏของกายและของจิตอยู่เนืองๆ (แล้วแต่สิ่งใดจะปรากฎชัด เพราะการรู้กายก็ช่วยกระตุ้นให้รู้ใจ และการรู้ใจก็ช่วยกระตุ้นให้รู้กายได้) แต่ไม่จำเป็นต้องรู้แบบไม่ให้คลาดสายตา เพราะจะกลายเป็นการกำหนด เพ่งจ้อง หรือดักดูกายและใจ ด้วยอำนาจบงการของตัณหา ให้รู้ไปอย่างสบายๆ รู้บ้าง เผลอบ้างก็ยังดี ไม่ต้องอยากรู้หรืออยากให้สติเกิดขึ้นตลอดเวลา เพียงหมั่นตามรู้กายและใจเนืองๆ สติจะเกิดได้บ่อยขึ้นเอง และไม่ต้องพยายามห้ามไม่ให้จิตหลง เพราะจิตเป็นอนัตตาคือห้ามไม่ได้ บังคับไม่ได้ เพียงทำความรู้จักสภาวะของความหลงให้ดี และเคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆ แล้วความหลงจะสั้นลงได้ นอกจากนี้จะต้องจับหลักการปฏิบัติให้แม่นยำว่า จะต้องตามรู้กายตามรู้ใจ ตามที่เป็นจริงไม่ใช่เข้าไปดัดแปลง แก้ไข หรือควบคุมกายและใจแต่อย่างใดเลย ทั้งนี้บรรดาคำสอนที่ให้เพ่งกายเพ่งจิต หรือให้แก้ไขดัดแปลงจิตใจ เป็นคำสอนในขั้นสมถะกรรมฐานทั้งสิ้น


จิตที่มีความรู้สึกตัวย่อมไม่หลงไปตามอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่หลงไปในโลกของความคิด เมื่อไม่หลงไปกับความคิดอันเป็นเรื่องของสมมติบัญญัติ จิตก็อยู่กับความจริง และสามารถเห็นอารมณ์ปรมัตถ์คือ กายและใจหรือรูปนาม ได้ตรงตามความเป็นจริง



การที่รู้กายรู้ใจได้ตรงความเป็นจริงนี้เอง จะส่งให้เกิดผล๒ ขั้นตอน คือเบื้องต้นจะละความเห็นผิด ว่ากายและใจคือตัวเราลงได้ และเบื้องปลายจะละความยึดถือกายและใจลงได้


การละความเห็นผิดว่ากายและใจคือตัวเรานั้น เกิดจากการที่ผู้ปฏิบัติตามรู้กาย ตามรู้ใจอยู่เนืองๆ จนเห็นความจริงว่ากายและใจเป็นสิ่งที่แปรปรวน เป็นทุกข์ และบังคับไม่ได้จริง เช่น เมื่อตามรู้รูป ยืน เดิน นั่ง นอนอยู่เนืองๆก็จะเห็นว่า รูปแต่ละชนิดล้วนถูกความทุกข์บีบคั้น ทำให้รูปเก่าดับไปแล้วรูปใหม่เกิดขึ้น เช่นต้องเปลี่ยนอิริยาบถจากรูปนั่งเป็นรูปยืนและรูปเดิน เป็นต้น จะบังคับให้รูปคงที่ตลอดไปไม่ได้ ส่วนความรู้สึกทางใจก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและบังคับไม่ได้เช่นกัน


สำหรับการละความยึดถือ กายและใจเป็นการปฏิบัติในเบื้องสูง วิธีปฏิบัติก็เป็นไปในทำนองเดียวกับการปฏิบัติในเบื้องต้นนั่นเอง เพียงแต่ผู้ปฏิบัติมีสติสัมปชัญญะหรือมีความรู้สึกตัวแก่กล้ามากขึ้น สามารถรู้สึกตัวได้อย่างถี่ยิบโดยไม่เจตนารู้ ในขั้นนี้จึงไม่ต้องจงใจทำเพราะจิตเขาจะทำของเขาเอง คล้ายกับผลไม้ที่รอเวลาสุกเท่านั้น ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกเหมือนกับว่า ความรู้สึกแผ่กว้างออกในขณะที่ความหลงหดสั้นลง อนุสัยและอาสวะกิเลสทั้งหลายไม่สามารถทำงานได้ดังเดิม กำลังของกิเลสที่ห่อหุ้มปกคลุมจิตและผูกมัดจิตให้ยึดติดอยู่กับขันธ์ (คือกายและใจอันเป็นของหนัก) ก็จะอ่อนกำลังลง ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกว่าจิตใจมีน้ำหนักน้อยลงเรื่อยๆ เพราะวางภาระที่ต้องแบกหามขันธ์ไปตามลำดับ และรู้สึกว่าจิตเป็นเพียงสภาวธรรมบางอย่างที่ไม่สนใจจะเรียกตัวเองว่าจิตด้วยซ้ำไป ความคิดนึกปรุงแต่งจะจางลงๆ เว้นแต่มีกิจที่จะต้องคิดก็คิดปรุงไปตามหน้าที่ และเมื่อถึงจุดหนึ่งจิตก็จะสลัดตัวหลุดพ้นจากอาสาวกิเลสที่ห่อหุ้มอยู่ เกิดการปล่อยวางขันธ์หรือกายและใจ ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกได้ว่าจิตกับสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งที่ว่าง และปราศจากน้ำหนักเช่นเดียวกัน คือธรรมภายในได้แก่จิตใจซึ่งปราศจากเปลือกหุ้ม คืออาสวกิเลสก็ว่างไร้ขอบเขตแผ่กว้างผ่านทวารตา หู จมูก ลิ้น กาย รวมเข้าถึงความว่างของธรรมภายนอกเป็นสิ่งเดียวรวดเสมอกัน จิตจึงไม่มีการหลงหรือไหลไปมา และเป็นจิตที่ไม่ทำกรรมอีกต่อไป อนึ่งจิตที่ปล่อยวางขันธ์ก็คือจิตที่พ้นทุกข์ เพราะอุปาทานขันธ์นั่นแหละคือตัวทุกข์ นี้คือนิพพานประเภทแรกคือความพ้นทุกข์ทางจิตใจอย่างสิ้นเชิงในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ (สอุปาทิเสสนิพพาน)


การปฏิบัติธรรมเพื่อการพ้นทุกข์ มีแนวทางปฏิบัติหลักๆอยู่เพียงเท่านี้ ไม่ต้องทำอะไรมากหรอก เพียงแต่รู้สึกตัวเนืองๆ แล้วตามรู้กายตามรู้ใจไปตามความเป็นจริง ซึ่งตรงตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ทำได้อย่างนี้จิตจะพัฒนาไปสู่ความพ้นทุกข์ได้เอง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 25 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron