ลานธรรมจักร http://www.dhammajak.net/forums/ |
|
รักต่างภพ บทที่ 11 คำสอนของพระอาจารย์ http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=5&t=38143 |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 |
เจ้าของ: | วันทนา เมืองจันทร์ [ 20 พ.ค. 2011, 05:22 ] |
หัวข้อกระทู้: | รักต่างภพ บทที่ 11 คำสอนของพระอาจารย์ |
วัดซึ่งเป็น ที่พำนักของพระอาจารย์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง บริเวณวัดเป็นเนินเขาสูงชันที่มีทางลาดลงไปสู่ตลิ่งริมแม่น้ำโขง พื้นที่ของของวัดจรดตลิ่งริมแม่น้ำ มีต้นไม้ขึ้นครึ้ม ร่มรื่น ท่านอาจารย์พำนักอยู่ในถ้ำกว้างที่อยู่ใต้ลานวัด ภายในถ้ำเป็นลานกว้าง สะอาด โล่ง บรรยากาศ สงบ สงัด เหมาะเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ด้านในติดกับผนังถ้ำ มีพระพุทธรูป หลายองค์ตั้งเรียงรายอยู่ เมื่อจอดรถที่บริเวณหน้าวัดแล้วก็พากันเดินลงบันไดประมาณยี่สิบกว่าขั้น เข้าสู่ตัวถ้ำ ได้พบโยมอุปฐากของท่าน ทั้งสามก็เข้าไปสอบถามว่า หลวงปู่พระอาจารย์อยู่หรือเปล่า พอถามเสร็จ โยมอุปฐากท่านยังไม่ได้ตอบว่าอย่างไร พระอาจารย์ หลวงปู่ท่านก็เดินมาพอดี คำพูดแรกที่ท่านพูดโดยที่ยังไม่ได้ถาม และสร้างความงุนงงให้แก่ทั้งเจ้านาเคนทร์นาคราช เกตุดารา และรุ้งระวี คือ ท่านพูดว่า “พากันมาแล้วหรือ? แล้วพอท่านเดินมานั่งลงที่อาสนะ ท่านก็พูดว่า “จะมาขอฟังธรรม คงจะไม่ได้อะไรมาก เพราะธรรมต้องอาศัยการปฏิบัติถึงจะได้ เรียนเอาไม่ได้ ธรรมนั้นเป็นคำสอนเป็นวิธีปฏิบัติทั้งนั้น รู้แล้ว ไม่ปฏิบัติ ถือว่ารู้เฉย ๆต้องลงมือปฏิบัติจึงจะเห็นจริง เห็นแจ้งได้ กล่าวคือ ต้องปฏิบัติ กาย วาจา ใจ ให้ดี คือสิ่งที่ไม่ควรทำ อย่าทำ สิ่งที่ไม่ควรพูด อย่าพูด สิ่งที่ไม่ควรคิด อย่าคิด ให้ทำในสิ่งที่ดี ให้พูดในสิ่งที่ดี ให้คิดในสิ่งที่ดี นี่คือ ปฏิบัติดี ส่วนปฏิบัติชอบ กล่าวคือ ตั้งใจชอบ ระลึกชอบ ปฏิบัติชอบ อยู่ชอบ กินชอบ ไปชอบ มาชอบ และการปฏิบัติอย่างอื่น ต้องให้อยู่ในกรอบของศีล ของธรรม” หลวงปู่หยุดชั่วครู่ กวาดสายตามองหน้าทุกคน แล้วไปหยุดนิ่งอยู่ที่เจ้านาเคนทร์นาคราช แล้วสอนต่อว่า “ คนเราเกิดมาชีวิตหนึ่ง อยู่ไม่นานก็ตาย อยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรเลยก็ตาย ให้ทำดีให้สุดยอดก่อนตาย อย่าได้เสียทีที่เกิด เป็นคน และแม้มิได้เกิดเป็นมนุษย์ แต่โชคดีได้พบพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบตามคำสอนของพุทธศาสนา ก็จะต้องมีหน้าที่ต้อง รักษาตนเองให้ดี มีหน้าที่ปฏิบัติตนเองให้ดีที่สุดจนตาย คนที่ไม่รักษาตนเอง ได้ชื่อว่า ไม่รักตนเอง และปล่อยตนให้ไหลไปตามกระแสโลก ไปตามกระแสกิเลส โดยเฉพาะกิเลสที่เกิดจากความรัก ความหลงใน รูป เสียง กลิ่น รส และ สัมผัส ย่อมก่อกำเนิด เกิดทุกข์อยู่ทุกหย่อมหญ้า เพราะไม่สนใจตนเอง ไม่สนใจศีลธรรม เจ้าไม่ต้องสงสัย ในโลกนี้ไม่มีอะไรเกินธรรม คำสอนของพระพุทธเจ้าไปได้ นอกนั้นพึ่งไม่ได้ ไม่มีแก่นสารสาระอะไร ขอให้มอบกาย มอบใจให้แก่ศาสนา แก่ธรรมคำสอนเพราะจะเป็นที่พึ่ง ที่อาศัย ให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ได้ตลอดกาลนาน” สิ้นคำสอนของพระอาจารย์ ทั้งสามก้มลงกราบพร้อม ๆกัน ด้วยความเคารพสูงสุด อีกทั้งรู้สึกซาบซึ้งในคำสอนของท่าน ที่สอนได้ตรงกับใจของทั้งสามเป็นที่สุด โดยที่ยังไม่มีใครเอ่ยถามท่านก่อนเลย ว่าต้องการมาพบท่านเพราะเหตุใด เหมือนท่านสามารถ อ่านใจของทั้งสามคนได้ทะลุปรุโปร่งว่ากำลังทุกข์ร้อนด้วยเรื่องของกิเลส คือความรัก รักที่ทำให้เกิดทุกข์ใหญ่หลวง รักจนขาดสติ จนเกือบจะเอาชีวิตไปตกอยู่ในมือของโจรโฉด รักจนกลายเป็นแค้นอยากจะฆ่าทำลายคนที่คิดปองร้ายกับคนรักของตน เป็นการสร้างบาปสร้างกรรมต่อเนื่องไม่รู้จบสิ้น หลวงปู่มองทั้งสามด้วยสายตาที่เมตตาสูงสุด พูดว่า “ทีนี้ ใครมีอะไรอยากจะถามอาตมา ก็ถามมาได้” รุ้งระวีปากไวกว่าเพื่อนรีบถามขึ้นทันทีว่า “หนูถูกพ่อบังคับให้แต่งงานกับคนที่ไม่ได้รัก อีกทั้งผู้ชายคนนั้นเป็นคนเจ้าชู้ คบผู้หญิงมากหน้าหลายตา พอไม่ยอมแต่งงานด้วย พ่อก็ว่าหนูเป็นลูกอกตัญญู หนูจะทำอย่างไรดีค่ะ?” “ที่หลานไม่ยอมแต่งงานด้วย ก็เพราะหลานมีคนอื่นอยู่ในใจแล้วด้วย” “ใช่เจ้าค่ะ หลวงปู่รู้ได้อย่างไร หลานมีคนรักแล้ว เรารักกันมาก ถ้าเราไม่ได้แต่งงานกัน หลานก็จะไม่ขอแต่งกับใคร แต่หลานก็จะกลายเป็นลูกอกตัญญู หลานจะทำอย่างไรดีค่ะ ตอนนี้พ่อก็กำลังป่วยอยู่ด้วย” “หลานกำลังสับสน ขาดสติ ต้องฝึกสติ ให้มีสติระลึกรู้อยู่ตลอดเวลา แล้วจะสามารถหาคำตอบให้ตัวเองได้” “หลานสวดมนต์ ไหว้พระ ทำบุญ ตักบาตรอยู่เสมอ ๆ แต่หลานก็ยังไม่เห็นทางออกเลย” “ เท่านั้นยังไม่พอจะต้องปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ต้องมีศีล คือ การทำกาย วาจาใจ ให้เป็นปกติ สะอาด ปราศจากโทษ แต่กระนั้นกิเลสก็ยังกองสั่งสมอยู่ที่ใจ ต้องฝึกสมาธิ คือทำใจให้ปกติ จะช่วยทำให้มีสติ แต่ฝึกสมาธิแล้ว กิเลสก็ยังมีอยู่ มันไปซ่อนอยู่ ยังไม่ออกมา เพราะจิตมีสมาธิคุมไว้ หลานจะต้องปฏิบัติจนเกิด ปัญญา ปัญญา คือการรู้แจ้ง เห็นจริง ตามหลักธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ปัญญาเป็นข้าศึกของกิเลส ปัญญาจะกวาดล้างกิเลสให้หมดสิ้นได้ ปัญญาจะทำให้มองเห็นตามความเป็นจริง โดยเห็นทุกข์ ทุกคนคือเพื่อนทุกข์ ไม่มีใครหนีทุกข์ได้พ้น เราคือเพื่อนทุกข์ เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ดังนั้นเมื่อมีปัญหาอะไร ก็อภัยให้กัน ช่วยเหลือกัน สอง เห็น อนิจจัง เห็นความไม่เที่ยงแท้แห่งชีวิต เห็นการเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์ และสาม เห็น อนัตตา คือ เห็นความไม่มีตัวตนและไม่ยึดมั่นถือมั่น” พระอาจารย์หลวงปู่ยังสอนอีกว่า “ การศึกษาธรรมะ ก็คือการศึกษาชีวิตจิตใจของตนเอง การที่จะรู้จักชีวิตจิตใจของตนเองได้ ก็ต้องเฝ้ามองเฝ้าสังเกต ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับจิต เฝ้ามองไป สังเกตไป พินิจ พิจารณาไป ในที่สุดจะพบว่า จิตตามสภาพธรรมดาของธรรมชาตินั้น มันว่าง จาก ความรัก ความโลภ ความโกธร และความหลง กิเลส ๔ ตัวนี้ เป็นเพียงแขกที่มาเยือนชั่วคราว ภายหลังที่ตากระทบรูป หูได้ยินเสียง ในฐานะเป็นเหยื่ออันยั่วยวนในโลก จนกระทั่งเวทนา ( ความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ) ปรุงแต่งเป็นตัณหา ( ความอยากที่เป็นกิเลส ) เพราะฉะนั้น ก่อนที่กิเลสจะเข้ามาครอบงำจิต จิตจึงว่างจากความยึดมั่นถือมั่น ( ตัวตน ของตน) อยู่ในภาวะสุญญตา อยู่ตามธรรมชาติ ธรรมดาของมัน และภาวะของจิตอย่างนี้แหละ จึงจะปราศจากทุกข์ ผิดจากนี้แล้วจะปราศจากทุกข์ไม่ได้เลย” “ หนูเข้าใจแล้ว แต่การปฏิบัติมันทำได้ยากมากเลยนะเจ้าคะ” “ ยาก เพราะต้องเอาชนะกิเลส ตัณหา ให้ได้” พระอาจารย์สอนอีก “ คือ ต้องปฏิบัติให้ได้ ตามคำกล่าวที่ว่า ชนะใจตนเอง คือชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนั่นเอง ใช่หรือไม่ ขอรับ พระคุณเจ้า” นาเคนทร์นาคราชถามบ้าง “ ใช่แล้ว ถูกต้อง ต้องเอาชนะกิเลส ตัณหา โดยการฝึก สติ การเดินจงกรม หรือ นั่งสมาธิ จะทำให้มีสติ รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่เผลอสติ ไม่ขาดสติ คนที่ทำผิด เช่นไปทำร้ายเขาถึงตาย ก็เพราะโกธรจนขาดสติ ขาดความยับยั้งชั่งใจ ถ้าเราฝึกสติ เราก็จะรู้เท่าทันกิเลส เพราะกิเลส เป็นตัวปั่น คือเสกสรรปั้นแต่งเรื่องราว ปั่นให้ใจเป็นทุกข์ สับสน วุ่นวาย ปัญหาที่ยังไม่เกิด ก็ทำให้เกิดมีขึ้น ปัญหาที่มีอยู่แล้ว ก็ไม่อาจจะแก้ไขอย่างตรงไปตรงมาตามเหตุที่เกิด แต่กลับทำให้ยุ่งยาก ซับซ้อนยิ่งขึ้น เป็นตัวบงการที่ทำให้มนุษย์พล่านไปมา ขัดแย้ง แข่งขัน แย่งชิงกัน ไม่รู้จบสิ้น” “ ตั้งแต่เกิดมาหลานยังไม่เคยได้ฟังคำสอนที่มีค่าเช่นนี้เลย” “ ปู่ไม่ได้ คิดเอง ทั้งหมดเป็นคำสอนของพระพุทธองค์ ถ้าปฏิบัติได้ ก็จะทุกข์น้อยลง แล้วพ้นทุกข์ได้ในที่สุด” “ เป็นบุญของเราที่ได้มาพบ พระอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ” นาเคนทร์นาคราชซาบซึ้งใจจนก้มลงกราบงามๆ อีกสามครั้งเกตุดาราและรุ้งระวีก็กราบด้วย “ เรารบกวนเวลาของท่านมามากแล้ว ท่านช่วยชี้ทางสว่างให้มากมาย เราคงต้องกราบนมัสการลาท่านเสียที” เกตุดาราบอกเพื่อน “ แล้วเรื่องที่เตี่ยของหนู บังคับให้หนูแต่งงานกับคนที่ไม่ได้รัก เล่าเจ้าค่ะ หนูจะทำอย่างไร?” รุ้งระวียังไม่อยากกลับ “ สติ ตั้งสติให้ได้ ค่อยๆ คิดหาทางออก ต้องอดทน จำไว้ อดทนให้มาก แล้ว ต้องคิดดี พูดดี ทำดี เท่านั้น พ่อและแม่จะเห็นใจ แล้วหลานจะแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้ ชีวิตจะอยู่เย็นเป็นสุข” “ อย่าลืม อีกอย่างหนึ่ง ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี หลานจะต้องทดแทนบุญคุณของบิดา มารดา อดทน คิดดี พูดดี ทำดี จำเอาไว้ แล้วจะสมหวัง” พระอาจารย์สอนด้วยเมตตาธรรม รุ้งระวีถึงกลับยิ้มออก ก้มลงกราบนมัสการลาอีกครั้ง ทั้งหมดกราบลาท่านด้วยจิตใจที่ผ่องแผ้ว ตระหนักในคำสอนของพระพุทธองค์ ที่ได้รับเมตตาถ่ายทอดจากพระอาจารย์ด้วยจิตใจที่เบิกบานแจ่มใส ทั้งสามคนแวะรับประทานอาหารแล้ว จึงเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 | เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง |
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group http://www.phpbb.com/ |