ลานธรรมจักร http://www.dhammajak.net/forums/ |
|
กฎแห่งกรรมในพระไตรปิฎก : เปรตไร่อ้อย http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=4&t=19880 |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 |
เจ้าของ: | ดาราวรรณ [ 31 ธ.ค. 2008, 09:04 ] |
หัวข้อกระทู้: | กฎแห่งกรรมในพระไตรปิฎก : เปรตไร่อ้อย |
![]() กฎแห่งกรรมในพระไตรปิฎก : เปรตไร่อ้อย ความดีที่ได้กระทำไว้แล้วย่อมไม่สูญเปล่า ย่อมตามส่งผลให้เราได้พบเจอแต่สิ่งที่ดี ในทางตรงกันข้าม หากกระทำความชั่ว ผลของกรรมชั่วก็จะทำให้เราต้องไปเกิดในสถานที่ที่ได้รับแต่ความทุกข์ยากลำบากเดือดร้อนทั้งทางกายและทางใจ คนที่มีปัญญาจึงเลือกทำแต่สิ่งที่ดี รักษาศีล ปฏิบัติสมาธิ และเจริญปัญญา ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ กรรมที่เรากระทำไว้นั้นเป็นของใครของมัน ไม่มีใครสามารถทำแทนกันได้ หากอยากได้มีความสุข ก็ต้องทำกรรมดีด้วยตนเอง เหมือนกับเราหิวจะต้องกินข้าวเอง คนอื่นกินแทนไม่ได้ ความสุขความทุกข์ของตัวเราจึงขึ้นอยู่กับผลกรรมของเราเป็นสำคัญ สิ่งที่เรามีเราเป็นอยู่ทุกวันนี้ ก็ล้วนแต่เป็นผลจากกรรมที่เราเคยกระทำไว้ทั้งนั้น กรรมอันใดที่เราไม่ได้กระทำไว้ ถึงเราอยากจะได้เราก็จะไม่ได้ เพราะเราไม่เคยสร้างไว้ ดังเรื่องของเปรตตนหนึ่งที่เกิดอยู่ในไร่อ้อย แต่ไม่สามารถกินอ้อยได้ เรื่องมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ในพระเวฬุวันมหาวิหาร มีชายคนหนึ่งมัดลำอ้อย เดินกัดกินอ้อยไปตามถนน ขณะนั้นมีอุบาสกคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้มีศีลมีกัลยาณธรรม เดินผ่านมาพร้อมกับเด็กเล็กๆ คนหนึ่ง พวกเขาได้เดินตามหลังชายคนนั้น เด็กที่มาด้วยมองเห็นอ้อยที่เขากำลังกินอยู่ จึงร้องไห้อยากจะกินอ้อยบ้าง อุบาสกเห็นเด็กร้องไห้ จึงเกิดความสงสาร อยากจะให้เด็กได้กินบ้าง จึงขอแบ่งอ้อยจากชายคนนั้นสักเล็กน้อยมาให้เด็ก แต่ชายคนนั้นกลับเงียบเฉยไม่พูดจาอะไรเลย และไม่ยอมให้อ้อยแม้แต่นิดเดียวแก่เด็ก อุบาสกจึงอ้อนวอนเขาว่า “ดูสิ เด็กร้องไห้ใหญ่แล้ว ขอท่านจงแบ่งอ้อยสักนิดหน่อยให้เด็กบ้างเถิด เด็กจะได้หยุดร้องไห้สักที” ชายคนนั้นทนฟังคำอ้อนวอนไม่ได้ เกิดความขัดเคืองจิตขึ้นมาอย่างแรง จึงขว้างอ้อยลำหนึ่งไปข้างหลังโดยไม่ได้ตั้งใจให้เด็ก ต่อมาชายคนนั้นก็เสียชีวิตลง หลังจากที่เขาตายแล้วก็ไปบังเกิดในหมู่เปรต ด้วยอำนาจของความโลภที่ครอบงำอยู่ในจิตใจมานานแสนนาน รวมทั้งผลแห่งกรรมชั่วที่เขาเคยทำไว้นั่นเอง ส่งผลให้เขาได้รับกรรมสมกับที่เคยทำไว้ กรรมชั่วที่ทำไว้นั้นทำให้ต้องไปเกิดอยู่ในไร่อ้อยใหญ่อันแน่นทึบไปด้วยอ้อย ประมาณเท่าท่อนสาก มีสีเหมือนดอกอัญชัน เต็มสถานกว้างใหญ่ไพศาล ครั้นเมื่อเขาเข้าไปจะหักเอาอ้อยมากิน ก็จะถูกตี จนกระทั่งสลบล้มลงนอนกองกับพื้น เป็นอย่างนี้อยู่ประจำ เขาจึงไม่สามารถจะกินอ้อยที่มีอยู่มากมายมหาศาลนั้นได้เลย!! ต่อมาวันหนึ่ง ท่านพระมหาโมคคัลลานะ เข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ได้เห็นเปรตนั้นในระหว่างทาง เปรตก็เห็นพระเถระ จึงถามถึงกรรมที่ตนได้กระทำไว้ว่า “ไร่อ้อยใหญ่นี้บังเกิดแก่ข้าพเจ้า เป็นผลบุญไม่น้อย แต่ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะกินอ้อยเหล่านั้นได้เลย ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านโปรดบอกหน่อยเถิดว่า นี้เป็นผลจากกรรมอะไร ข้าพเจ้าจึงได้รับความเดือดร้อนเพราะถูกใบอ้อยบาด ข้าพเจ้าพยายามตะเกียกตะกายเพื่อที่จะกินอ้อยสักลำ แต่พยายามอย่างไรก็ไม่สามารถที่จะกินได้ จึงรู้สึกท้อแท้ใจเหลือเกิน ข้าพเจ้าเคยกระทำกรรมอะไรไว้จึงได้รับผลเช่นนี้ นอกจากนั้นแล้ว ข้าพเจ้ายังรู้สึกมีความหิวและความกระหายอย่างมากอยู่ตลอดเวลา รู้สึกเวียนศีรษะจนหัวหมุนล้มลงนอนกองอยู่กับพื้นดิน กลิ้งเกลือกไปมาเหมือนปลาดิ้นรนอยู่ในน้ำร้อน หากข้าพเจ้าร้องไห้หลั่งน้ำตาออกมา สัตว์ทั้งหลายก็จะพากันมากินน้ำตาของข้าพเจ้า ทำให้ข้าพเจ้าได้รับแต่ความทุกข์ทรมานไม่รู้จักจบจักสิ้น ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านโปรดบอก นี้เป็นผลแห่งกรรมอะไร ข้าพเจ้าจึงเป็นผู้หิวกระหายลำบากขนาดนั้น ทำไมต้องได้รับทุกข์ทรมานดิ้นรนไปมาอย่างนั้น ทั้งไม่เคยได้พบสิ่งที่น่าปรารถนาน่ายินดี หรือสิ่งที่มีความสุขเลย ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงโปรดบอกข้าพเจ้าหน่อยเถิดว่าข้าพเจ้าจะบริโภคอ้อยนั้นได้อย่างไร” พระมหาโมคคัลลานเถระถูกเปรตถามอย่างนั้นแล้ว จึงเล่าให้ฟังว่า เมื่อชาติก่อนท่านเกิดเป็นมนุษย์ ได้เคยสร้างเวรสร้างกรรมไว้ด้วยตัวท่านเอง ในอดีตชาติท่านเคยเดินกัดกินอ้อยไปตามถนน และมีชายคนหนึ่งเดินตามหลังท่านมา เขาอยากจะกินอ้อย จึงได้เอ่ยปากขออ้อยจากท่าน แต่ท่านก็ไม่พูดอะไรกับเขาเลย ทั้งยังไม่ได้ให้อ้อยแก่เขาแม้สักนิดเดียว เขาพยายามพูดขอร้องวิงวอนจากท่าน เมื่อท่านทนคำอ้อนวอนไม่ไหวจึงได้โยนอ้อยไปข้างหลังให้แก่บุรุษคนนั้นโดยไม่ได้ตั้งใจ นี้เป็นผลแห่งกรรมที่ท่านเคยทำไว้ในอดีต “ถ้าท่านอยากจะกินอ้อย ก็จงไปถือเอาอ้อยข้างหลังซิ หากถือเอาได้แล้ว จงกินให้อิ่มหนำสำราญเถิด เพราะท่าน เคยให้อ้อยผู้อื่นข้างหลัง ท่านจึงต้องถือเอาอ้อยข้างหลัง เมื่อท่านรู้วิธีกินอ้อยอย่างนี้แล้ว ก็ขอให้ท่านจงมีความสุข เบิกบาน ร่าเริง บันเทิงใจเถิด” เปรตได้ฟังเช่นนั้นแล้ว จึงได้ทำตามที่พระเถระแนะนำ จึงสามารถกินอ้อยได้จนอิ่มหนำสำราญตามที่ตนปรารถนา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เปรตจึงได้เป็นผู้เบิกบาน ร่าเริง บันเทิงใจ เพราะได้รับคำแนะนำจากพระเถระผู้มีเมตตาคุณอันยิ่งใหญ่นั่นเอง พระเถระเกิดความสงสารเปรต ต้องการจะอนุเคราะห์เปรตยิ่งขึ้น จึงบอกให้เปรตเอาอ้อยมัดหนึ่งไปถวายพระพุทธเจ้า เปรตจึงได้ทำตามคำแนะนำ ได้ถือเอามัดอ้อยเดินทางมุ่งหน้าไปยังมหาวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่อยู่ของพระพุทธเจ้าในขณะนั้น แล้วได้ถวายอ้อยแก่พระพุทธเจ้า ครั้นพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายฉันอ้อยที่เปรตนำมาถวายแล้ว ได้ให้พรอนุโมทนาบุญแก่เปรต เมื่อเปรตได้รับอนุโมทนาแล้วก็มีจิตเลื่อมใส กราบลาพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์แล้วจากไป ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เปรตก็สามารถกินอ้อยได้ตามที่ตนเองต้องการ อยากจะกินตอนไหนก็ได้ โดยไม่ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนเหมือนที่เคยเป็น ในเวลาต่อมา หลังจากที่เปรตตายจากอัตภาพของตนแล้ว ก็ได้ไปบังเกิดในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์ ได้รับแต่ความสุขสบาย เพราะบุญที่เคยได้กระทำไว้แล้วนั่นเอง ประวัติของเปรตตนนี้จึงได้นำมาเล่าสู่กันฟังในโลกมนุษย์ เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติของคนที่ทำชั่วทั้งหลาย ให้ได้ระมัดระวังไม่หลงทำในสิ่งที่ผิดอีกต่อไป พวกชาวบ้านได้ยินได้ฟังเรื่องราวของเปรตตนนี้ต่อๆ กันมา จึงพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อกราบทูลถาม พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟังอย่างละเอียด แล้วจึงแสดงธรรมให้ฟัง หลังจากได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้ว ทุกคนก็ได้เป็นผู้เว้นขาดจากความตระหนี่ถี่เหนียว รู้จักทำบุญให้ทาน มีจิตเบิกบานในการทำความดี ตั้งอยู่ในศีลในธรรมตลอดไป เมื่อผลของความชั่วปรากฏให้เห็นเช่นนี้แล้ว ก็จงหลีกเว้นจากความชั่วให้เด็ดขาด จงหมั่นให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาเป็นประจำ เพื่อชีวิตของเราจะได้พบแต่ความสุขความเจริญ ไม่ตกไปสู่สถานที่ที่มีความทุกข์ยากลำบาก ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่จะสามารถคุ้มครองป้องกันเราได้เท่ากับความดี ความดีเท่านั้นเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด ที่จะตามรักษาคุ้มครองป้องกันเราให้พ้นภัยไปทุกภพทุกชาติ โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 30 ธันวาคม 2551 15:20 น. |
เจ้าของ: | ศิษย์หลวงปู่ทา [ 19 ม.ค. 2015, 10:53 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: กฎแห่งกรรมในพระไตรปิฎก : เปรตไร่อ้อย |
![]() ![]() ![]() |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 | เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง |
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group http://www.phpbb.com/ |