ลานธรรมจักร http://www.dhammajak.net/forums/ |
|
การอยู่ปริวาสกรรม http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=30&t=43529 |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 |
เจ้าของ: | Hanako [ 05 ต.ค. 2012, 14:17 ] |
หัวข้อกระทู้: | การอยู่ปริวาสกรรม |
การอยู่ปริวาสกรรม คำว่า ปริวาส นี้มีมาแต่สมัยพุทธกาล เป็นชื่อของสังฆกรรม ประเภทหนึ่ง ที่สงฆ์จะพึงกระทำเพื่อการอยู่ชดใช้ เรียกสามัญว่า “การอยู่กรรม” เรียกรวมกันว่า “ปริวาสกรรม” เป็นระเบียบปฏิบัติสำหรับภิกษุที่ต้องอาบัติ “สังฆาทิเสส” แล้วปกปิดไว้ ทั้งที่เกิดโดยความตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ และอาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม จึงต้องประพฤติเพื่อเป็นการลงโทษตัวเองให้ครบเท่ากับจำนวนวันที่ปกปิดอาบัติไว้ เพื่อให้พ้นมลทินและเพื่อความบริสุทธิ์ในการบำเพ็ญเพียรในทางจิตของพระภิกษุสงฆ์ต่อไป ปริวาส มี ๓ ประเภท คือ ๑. ปฏิจฉันนปริวาส (สำหรับผู้ที่ต้องครุกาบัติแล้วปิดไว้) ๒. สโมธานปริวาส (สำหรับผู้ที่ต้องอาบัติแล้วปิดไว้ ต่างวันที่ปิดบ้าง ต่างวัตถุที่ต้องบ้าง) ๓. สุทธันตปริวาส (สำหรับผู้ต้องอาบัติแล้วปิดไว้ มีส่วนเท่ากันบ้างไม่เท่ากันบ้าง) แต่ยังมีปริวาสอีกแบบหนึ่งซึ่งเป็นปริวาสสำหรับนักบวชนอกศาสนาที่ต้องประพฤติก่อนที่จะบวชเข้ามาอยู่ในพระธรรมวินัย เรียกว่า “ติตถิยปริวาส” ซึ่งจัดเป็น “อปฏิจฉันนปริวาส” (สำหรับผู้ที่ต้องครุกาบัติแล้วไม่ปิดไว้) การอยู่ปริวาสกรรมนั้น เจาะจงไว้บุคคล ๒ จำพวก คือ • สำหรับพระภิกษุสงฆ์ที่บวชอยู่แล้ว แต่ต้องครุกาบัติ • สำหรับคฤหัสถ์ หรือพวกเดียรถีย์ ปริวาสกรรมสำหรับพระภิกษุสงฆ์ ปริวาสกรรมสำหรับพระภิกษุสงฆ์นี้ เป็นปริวาสตามปกติสำหรับภิกษุในพระพุทธศาสนา แต่ต้อง “ครุกาบัติ” (ต้องโทษ) สังฆาทิเสสเข้า จึงจำเป็นต้องประพฤติปริวาสเพื่อให้หลุดพ้นจากความมัวหมอง ตามเงื่อนไขทางพระวินัยและเงื่อนไขของสงฆ์ (วิ.จุล.๖/๘๔/๑๐๖) ปริวาสกรรมสำหรับคฤหัสถ์ หรือพวกเดียรถีย์ เนื่องด้วยมีคฤหัสถ์จำนวนมากที่ไม่เคยนับถือพระพุทธศาสนามาก่อน คือ ไม่ได้นับถือพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือเป็นผู้ที่นับถือศาสนาอื่นหรือลัทธิอื่นๆ มาก่อน ที่เรียกว่า “เดียรถีย์” แต่ภายหลังเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และต้องการที่จะนับถือพุทธศาสนาด้วยการจะขอบวชหรือไม่ก็ได้ พระพุทธเจ้าจะทรงพิจารณาให้คนเหล่านี้ได้อบรมตนเสียก่อนเป็นเวลา ๔ เดือน ปริวาสประเภทนี้เรียกว่า “ติตถิยปริวาส” แต่เดิมผู้ที่ต้องอยู่ติตถิยปริวาส ๔ เดือนนั้น หมายถึง อัญเดียรถีย์ชาตินิครนถ์เท่านั้น แต่ต่อมาได้แก้ไขให้หมายถึง “อาชีวกหรืออเจลกะผู้เป็นปริพาชกเปลือยเท่านั้น ฯ” ส่วนเดียรถีย์ผู้ไม่เคยบวชในพระพุทธศาสนานี้ การอยู่ปริวาส ๔ เดือน ท่านเรียกว่า “อัปปฏิจฉันนปริวาส” ฯ (สมนต.๓/๕๓-๕๔) ขั้นตอนการปฏิบัติตนเพื่อการออกจากอาบัติสังฆาทิเสสนั้น เรียกว่า “การประพฤติวุฏฐานวิธี” แบ่งเป็น ๔ ขั้นตอนใหญ่ๆ ดังนี้ ๑. อยู่ประพฤติปริวาส ๒. ประพฤติมานัตอย่างน้อย ๖ ราตรี ๓. ประพฤติมูลายปฏิกัสสนา (อาบัติใหม่ที่ต้องโทษเพิ่มขึ้นอีก) ๔. พระสงฆ์ ๒๐ รูป ให้อัพภาน ในการทำสังฆกรรมตามขั้นตอนของ การประพฤติวุฏฐานวิธีนั้น ต้องประกอบด้วยคณะสงฆ์ ๒ ฝ่าย ได้แก่ - ฝ่ายคณะสงฆ์พระอาจารย์กรรม (พระพี่เลี้ยง) ที่เป็นผู้ดูแลความประพฤติของสงฆ์ผู้ขอปริวาส ให้เป็นไปตามขั้นตอนที่พระวินัยกำหนด และ - อีกฝ่ายหนึ่ง คือ พระภิกษุผู้ประพฤติปริวาส หรือพระลูกกรรม ซึ่งเป็นสงฆ์ที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ขั้นตอนการอยู่ประพฤติปริวาส สำหรับขั้นตอนของการอยู่ปริวาส หรือ “การอยู่กรรม” นั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของปริวาสนั้นๆ ว่าสงฆ์ผู้ต้องอาบัติขอปริวาสอะไร ซึ่งมีลักษณะและเงื่อนไขของปริวาสแต่ละประเภทแตกต่างกันไป ลักษณะและเงื่อนไขของปริวาสแต่ละประเภท ปฏิฉันนปริวาส (อาบัติที่ต้องครุกาบัติเข้าแล้วปิดไว้) เมื่อขอปริวาสประเภทนี้ จะต้องอยู่ประพฤติให้ครบตามจำนวนราตรีที่ตนปิดไว้ ซึ่งจำนวนราตรีที่ปิดไว้นานเท่าใดก็ต้องอยู่ประพฤติปริวาสนานเท่านั้น โดยไม่ประมวลอาบัติใดๆ สโมธานปริวาส (สำหรับผู้ที่ต้องอาบัติแล้วปิดไว้ ต่างวันที่ปิดบ้าง ต่างวัตถุที่ต้องบ้าง) ปริวาสประเภทนี้ต้องอยู่ประพฤติปริวาสตามจำนวนราตรีที่ปิดไว้นานที่สุด ตามการประมวลอาบัติที่ต้องแต่ละคราวเข้าด้วยกัน ถ้าในระหว่างที่ภิกษุกำลังอยู่ระหว่างประพฤติปริวาสนั้น ภิกษุนั้นต้องครุกาบัติซ้ำเข้าอีก ไม่ว่าจะเป็นอาบัติเดิม หรืออาบัติใหม่ที่ต้องเพิ่มโทษ ซึ่งทางวินัยเรียกว่า “มูลายปฏิกัสสนา” หรือ ปฏิกัสสนา ซึ่งการเพิ่มโทษนี้ไม่ได้ทำให้การอยู่ปริวาสเสียหายแต่อย่างใด เพียงแต่ทำให้การประพฤติปริวาสต้องล่าช้าออกไปเท่านั้นเอง อัปปฏิฉันนปริวาส สำหรับปริวาสประเภทนี้ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา ได้จัดให้เป็นปริวาสสำหรับพวกเดียรถีย์ตั้งแต่สมัยพุทธกาล เหตุที่ว่าเมื่อพวกเดียรถีย์มีความศรัทธาเลื่อมใสและต้องการที่จะบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ก็จะอนุญาตให้คนเหล่านี้ต้องอยู่เพื่อประพฤติอัปปฏิฉันนปริวาสเป็นเวลา ๔ เดือน แต่การอยู่ปริวาสประเภทนี้ใช้อยู่แต่ในสมัยของพระพุทธองค์เท่านั้น และได้ถูกยกเลิกไปแล้ว สุทธันตปริวาส สุทธันตปริวาส เป็นปริวาสที่นิยมจัดอยู่ในปัจจุบัน เป็นปริวาสที่ไม่มีกำหนดแน่นอน นับราตรีไม่ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะสงฆ์ที่จะให้อยู่ประพฤติเป็นเวลาเท่าใด จะมีความเห็นว่าให้อยู่เพียงราตรีหนึ่งหรืออยู่ถึง ๒-๓ ปี ก็ต้องยอมปฏิบัติตามโดยไม่มีทางเลือก ทั้งนี้ก็เพราะสุทธันตปริวาสมีเงื่อนไขน้อยที่สุดแต่ผู้ปฏิบัติเกิดความมั่นใจมากที่สุด ภิกษุที่จะขอปริวาสเพียงกล่าวกับคณะสงฆ์ว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าต้องอาบัติสังฆาทิเสสหลายตัว ไม่รู้ที่สุดแห่งอาบัติ ๑ ไม่รู้ที่สุดแห่งราตรี ๑ ระลึกที่สุดแห่งอาบัติไม่ได้ ๑ ระลึกที่สุดแห่งราตรีไม่ได้ ๑ สงสัยในที่สุดแห่งอาบัติ ๑ สงสัยในที่สุดแห่งราตรี ๑, ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอปริวาสจนกว่าจะบริสุทธิ์เพื่ออาบัติเหล่านั้น” (วิ.จุล.๖/๑๕๖/๑๘๒) เนื่องจากปริวาสประเภทนี้ไม่มีกำหนดแน่นอนดังกล่าว อยู่ไปเรื่อยๆ (ตามคำคณะสงฆ์) จนกว่าจะบริสุทธิ์ ดังนั้นจึงได้แบ่งการประพฤติ สุทธันตปริวาส นี้ออกเป็น ๒ ลักษณะ คือ ๑. จุฬสุทธันตปริวาส (สุทธันตปริวาสอย่างย่อย) เป็นปริวาสของภิกษุผู้ต้องอาบัติหลายคราวด้วยกัน แต่ละคราวก็ปิดไว้ แต่ก็ยังพอจำจำนวนครั้งที่อาบัติ และจำจำนวนวันได้บ้าง จึงขออยู่เพื่อประพฤติปริวาสจนกว่าจะเห็นว่าบริสุทธิ์ ซึ่งโดยทั่วไปในปัจจุบันนี้คณะสงฆ์จะให้อยู่ ๓ ราตรีเป็นเกณฑ์ น้อยกว่านี้ไม่ได้ แต่มากกว่านี้ไม่เป็นไร ๒. มหาสุทธันตปริวาส (สุทธันตปริวาสอย่างใหญ่) ใช้สำหรับภิกษุผู้ต้องอาบัติหลายคราวแต่ปกปิดไว้ และจำจำนวนอาบัติไม่ได้ จำจำนวนวันและจำนวนครั้งที่อาบัติไม่ได้ จึงใช้วิธีการกะประมาณวันที่ต้องอาบัติ ซึ่งอาจจะขอปริวาสประมาณ ๑ เดือนก็รู้สึกว่าควรถือว่าบริสุทธิ์และใช้ได้ แต่เนื่องจากวิธีนี้ไม่มีเวลาที่แน่นอนและเกิดความยุ่งยาก จึงไม่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน เงื่อนไขของการอยู่ประพฤติปริวาส การอยู่ประพฤติปริวาสทุกประเภท มีเงื่อนไขที่จะต้องปฏิบัติขณะที่อยู่ประพฤติปริวาส ๓ กรณีด้วยกัน คือ -สหวาโส (การอยู่ร่วม) -วิปวาโส (การอยู่ปราศ) -อนาโรจนา (การไม่บอกวัตรที่ประพฤติ) ภิกษุที่ประพฤติปริวาสและทำผิดเงื่อนไขก็จะถือว่าการอยู่ปริวาสของภิกษุนั้นเป็นโมฆะ นับราตรีไม่ได้ ซึ่งทางวินัย เรียกว่า “รัตติเฉท” (การขาดแห่งราตรี) ซึ่งจะทำให้เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ อีกเรื่องหนึ่งที่ภิกษุควรระวังสำหรับการอยู่ปริวาส คือ “วัตตเภท” (ความแตกต่างแห่งวัตร) เป็นความแตกต่างแห่งข้อปฏิบัติในขณะที่อยู่ในปริวาส อันทำให้วัตรมัวหมองด่างพร้อย การละเลยวัตร ละเลยหน้าที่ หรือกระทำผิดต่อพุทธบัญญัติโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น ภิกษุให้อุปัฏฐากเข้ามารับใช้ในขณะอยู่ปริวาส หรือ เข้านอนร่วมชายเดียวกันกับภิกษุรูปอื่น หรือนั่งบนอาสนะที่สูงกว่าอาสนะของคณะสงฆ์ผู้เป็นอาจารย์กรรม เป็นต้น สหวาโส (การอยู่ร่วม) การอยู่ร่วมนี้ หมายถึง การอยู่ร่วมระหว่างภิกษุที่อยู่ปริวาสด้วยกัน หรืออยู่ร่วมกับพระอาจารย์กรรมในที่มุงเดียวกัน ทั้งนี้ท่านก็เพ่งเจาะจงเฉพาะอาการ “นอน” ในที่มุงบังหรือหลังคาเดียวกันเป็นสำคัญ และคำว่าที่มุงบังนั้น ท่านหมายเอาแต่วัตถุที่เกิดขึ้นโดยที่มนุษย์ใช้เครื่องมือสร้างขึ้นมาเท่านั้น เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ภายในเต็นท์ ฯลฯ แต่ไม่รวมถึงที่มุงบังโดยธรรมชาติ เช่น ใต้ร่มไม้ เป็นต้น แต่ถ้าในระหว่างอยู่ปริวาสนั้นเกิดภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ฝนตกหนัก ลมแรง หรือต้องปฏิบัติธรรมร่วมกัน ก็อนุญาตให้อยู่ในที่มุงบังนั้นได้ แต่ทั้งนี้ ต้องไม่มีการทอดกายนอน และเมื่อจวนสว่าง ภิกษุต้องออกไปให้พ้นจากที่มุงบังนั้น หรือที่เรียกว่า “ออกไปรับอรุณ” วิปวาโส (การอยู่ปราศ) หมายถึง ห้ามภิกษุอยู่โดยปราศจากอาจารย์กรรม โดยที่ภิกษุที่อยู่ประพฤติปริวาสนั้นจะอยู่กันเองตามลำพังไม่ได้โดยเด็ดขาด อย่างน้อยต้องมีอาจารย์กรรมในคณะสงฆ์ ๑ รูป (๔ รูป สำหรับการอยู่มานัต) เพื่อเป็นการคุ้มกรรมไว้ แต่ทั้งนี้ตามวินัยได้กำหนดขอบเขตของ วิปวาโส ไว้ว่า ภิกษุซึ่งเป็นพระลูกกรรมผู้อยู่ประพฤติปริวาสนั้น จะต้องอยู่ไม่ไกลเกิน ๒ ช่วง “เลฑฑฺบาต” (ระยะที่คนอายุปานกลางขว้างก้อนดินให้ตกเป็นระยะทาง ๒ ช่วงต่อกัน) โดยมีจุดที่คณะสงฆ์พระอาจารย์อยู่นั้นเป็นจุดศูนย์กลาง แล้ววัดออกไปให้ถึงภิกษุผู้ที่ปักกลดอยู่องค์แรกที่ใกล้ที่สุด ส่วนภิกษุรูปอื่นก็ถือว่าปักกลดกันต่อๆ กัน เสมือนหนึ่งอยู่ในระยะหัตถบาส ซึ่งการกำหนดขอบเขตนี้ต้องขึ้นอยู่กับคณะสงฆ์ที่เป็นอาจารย์กรรมท่านชี้และอนุญาตให้อยู่ได้ ซึ่งรวมถึงภิกษุที่ต้องไปนอนโรงพยาบาลเพราะเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ต้องมีอาจารย์กรรมไปเฝ้าไข้ด้วยตลอดเวลา อย่าให้เกินขอบเขตที่กำหนดไว้ อนาโรจนา (การไม่บอกวัตร) การที่ภิกษุที่อยู่ประพฤติปริวาสโดยไม่บอกวัตร หรือไม่บอกอาการที่ตนประพฤติแก่คณะสงฆ์อาจารย์กรรมในสำนักที่ตนอยู่ปริวาสนั้น เพราะตามหลักพระวินัยจะต้องบอกวัตรแก่คณะสงฆ์อาจารย์กรรมเพียงครั้งเดียวก็อยู่จนครบ ๓ ราตรีได้ ส่วนลำดับของการบอกวัตร มีดังนี้ • สมาทานวัตร • การบอกวัตร • การเก็บวัตร การสมาทานวัตร การสมาทานวัตร มักนิยมสมาทานหลังจากที่เสร็จสิ้นจากการปฏิบัติธรรมประจำวันก่อนที่จะแยกย้ายกันเข้าปรก และเมื่อถึงเวลาก่อนทำวัตรเช้าก็สมาทานครั้งหนึ่ง ทั้งนี้การสมาทานเช่นนี้ไม่มีในหลักสูตรกำหนดให้ต้องสมาทานทั้งเช้าและเย็น ซึ่งพระอรรถกถาจารย์ท่านได้กล่าวไว้มีใจความว่า ห้ามสมาทานวัตรซ้อนวัตร หมายถึง ตราบใดที่ยังมิได้เก็บวัตรก็ไม่ต้องสมาทานอีก (ไม่เหมือนการ “บอกวัตร” ซึ่งจะบอกวันละกี่ครั้งก็ได้) การบอกวัตร “การบอกวัตร” นั้น ไม่จำเป็นต้องบอกทุกวัน (แต่สามารถบอกได้ทุกวัน วันละกี่ครั้งก็ได้ ไม่มีข้อกำหนด) แต่การบอกวัตรนั้นต้องบอกแก่อาจารย์กรรมทุกรูป และตราบใดที่ยังไม่ได้เก็บวัตรก็ต้องบอกวัตรแก่พระอาคันตุกะด้วยไม่ว่าจะเห็นเวลาไหน การไม่บอกวัตรถือเป็น “รัตติเฉท” และถ้ามีเจตนาไม่บอกก็เป็น “อาบัติทุกกฎ” ส่วนข้อกำหนดสำหรับการบอกวัตรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับมติของคณะสงฆ์อาจารย์กรรมเป็นผู้กำหนด เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการปฏิบัติ การเก็บวัตร “การเก็บวัตร” ก็คือ การพักวัตรไว้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งมักจะทำการเก็บวัตรในเวลากลางวัน เพราะเมื่อมีการเก็บวัตร (พักวัตรไว้ระยะหนึ่ง) ก็ไม่จำเป็นที่จะต้อง บอกวัตรบ่อยๆ เมื่อมีพระอาคันตุกะที่แวะผ่านเข้ามา และเพื่อประโยชน์ในการที่คณะสงฆ์ทำสังฆกรรมเมื่อมีสงฆ์ไม่ครบองค์ตามพระวินัยกำหนดด้วย มานัต มานัต หมายถึง “การนับราตรี” ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการประพฤติปริวาสของภิกษุผู้อยู่กรรม เช่น อยู่ประวาสต้องอยู่ให้ครบ ๓ ราตรีเป็นอย่างน้อย หรือตามที่คณะสงฆ์กำหนดแล้ว ภิกษุผู้ประพฤติปริวาสนั้นก็จะได้ชื่อว่า “มานัตตารหภิกษุ” แปลว่า ภิกษุผู้ควรแก่มานัต ส่วนการเข้ามานัต นั้น ภิกษุต้องประพฤติมานัต เป็นเวลา ๖ ราตรีเป็นอย่างน้อย และต้องอยู่ในเงื่อนไขข้อปฏิบัติคล้ายกับการนับราตรีของการอยู่ปริวาส ซึ่งมีดังนี้ สหวาโห (การอยู่ร่วม) ไม่มีข้อแตกต่างจากข้อกำหนดของการอยู่ปริวาส วิปปวาโส (การอยู่ปราศ) ภิกษุที่ประพฤติอยู่ในมานัตนี้จะต้องอยู่ภายในขอบเขต โดยมีคณะสงฆ์อาจารย์กรรมอย่างน้อย ๔ รูป (อยู่ปริวาส ใช้อาจารย์กรรมเพียง ๑ รูป) เป็นผู้คุ้มกรรมไว้ เช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าภิกษุซึ่งอาพาธนอนรักษาตัวอยู่ก็ต้องมีสงฆ์อย่างน้อย ๔ รูป ไปเฝ้าไข้เช่นกัน อนาโรจนา (การไม่บอกวัตร) การประพฤติมานัต จำเป็นต้องบอกวัตรทุกวัน ไม่บอกไม่ได้ (การอยู่ปริวาส บอกวัตรครั้งเดียวอยู่ได้ ๓ วัน โดยไม่ต้องบอกอีก) สำหรับการนับราตรีในการประพฤติมานัต มี ๔ ประเภท ดังนี้ ๑. อัปปฏิจฉันนมานัต เป็นการมานัตโดยที่ภิกษุไม่ต้องอยู่ปริวาส สามารถขอมานัตได้เลย (ไม่รวมพวกเดียรถีย์ ที่ต้องอยู่ปริวาสก่อน ๔ เดือน) ๒. ปฏิฉันนมานัต เป็นมานัตที่ให้แก่ภิกษุที่ปิดหรือไม่ปิดอาบัติไว้ก็ตาม ๓. ปักขมานัต เป็นมานัตที่ให้แก่ภิกษุณีที่ปิดหรือไม่ปิดอาบัติไว้ก็ตาม เป็นเวลา ๑๕ ราตรีเท่านั้น ๔. สโมธานมานัต เป็นมานัตที่สงฆ์นิยมใช้กันมากที่สุดในปัจจุบัน เพราะเป็นอานัตที่มีไว้เพื่ออาบัตที่ประมวลเข้าด้วยกัน อันเนื่องจากการสโมธานปริวาสนั้น อัพภาน (เรียกเข้าหมู่) หลังจากที่ภิกษุได้ชำระสิกขาบทจนตนพ้นจากความมัวหมอง โดยผ่านขั้นตอนประพฤติปริวาส อย่างน้อย ๓ ราตรี และ ผ่านการประพฤติมานัต ๖ ราตรีเป็นอย่างน้อย ซึ่งถือว่าได้ผ่านขั้นตอนของการประพฤติวุฏฐานวิธี ตามที่พระวินัยกำหนด ก็ถือว่าภิกษุนั้นไม่มีความมัวหมองหรือด่างพร้อยติดตัวแล้ว พระวินัยกำหนดให้คณะสงฆ์เรียกภิกษุผู้นั้นเข้าหมู่ได้ การเรียกเข้าหมู่นี้ เรียกว่า “อัพภาน” โดยการใช้สงฆ์สวด จำนวน ๒๐ รูปขึ้นไป เมื่อคณะสงฆ์ทำสังฆกรรมนี้แล้ว ภิกษุผู้นั้นถือว่าเป็น “ปริสุทโธ” คือเป็นภิกษุผู้บริสุทธิ์ คำขอปริวาสกรรม http://vimuttisuk.com/main/monk/images_monk/parivas.pdf ข้อมูลจาก http://vimuttisuk.com/main/monk/parivas.html ข้อสังเกตุเกี่ยวกับ...การต้องอาบัติ “สังฆาทิเสส” ขอให้ทุกท่านศึกษาแนวทางจากกระทู้ข้างล่างนี้นะคะ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ชัดเจน แจ่มแจ้งในเรื่องสังฆาทิเสส ผิดหรือไม่ผิด ในสังฆาทิเสส ข้อแรก ?? http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=20801 วินัยสงฆ์-อาบัติ-ปาราชิก-สังฆาทิเสส http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=30&t=22785 เรื่องพระสุทิน ? http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=30&t=30120 |
เจ้าของ: | Duangtip [ 10 ก.พ. 2019, 12:40 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: การอยู่ปริวาสกรรม |
ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 | เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง |
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group http://www.phpbb.com/ |