ลานธรรมจักร http://www.dhammajak.net/forums/ |
|
การถวายทานด้วยเครื่องบริโภคที่ถูกต้องตามพระวินัย http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=30&t=43419 |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 |
เจ้าของ: | Hanako [ 26 ก.ย. 2012, 17:29 ] |
หัวข้อกระทู้: | การถวายทานด้วยเครื่องบริโภคที่ถูกต้องตามพระวินัย |
![]() การถวายทานด้วยเครื่องบริโภคที่ถูกต้องตามพระวินัย ผู้พิมพ์ได้อ่านพบเรื่องการถวายทานด้วยเครื่องบริโภค ที่ถูกต้องตามพระวินัยแด่พระภิกษุสงฆ์ที่ คุณเมืองแก้ว ได้เขียนไว้ เห็นว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับบางท่านที่อาจจะยังไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน จึงได้พิมพ์มาฝากท่านผู้อ่าน เผื่อจะได้ทราบเรื่องอาหารที่เราควรจะนำไปถวายพระภิกษุกัน อาหารที่ถวายพระนั้นถ้ามีเนื้อสัตว์ ก่อนจะถวายต้องทำให้สุกด้วยไฟเสียก่อน เช่น ต้ม ทอด ย่าง ถ้าอาหารนั้นไม่สุกด้วยไฟ เช่น สุกด้วยมะนาว หรือยังดิบอยู่ หรือยังสุกๆ ดิบๆ หากพระฉันเข้าไปจะเป็นอาบัติทุกกฎ อาหารบางอย่างเรามักนึกไม่ถึงว่ายังไม่สุกด้วยไฟ เช่น น้ำพริกปลาทู ก่อนจะนำกะปิมาตำน้ำพริก จะต้องนำมาห่อใบตองปิ้งให้สุกก่อน หรือไข่ดาวและไข่ต้ม จะต้องต้มหรือทอดให้ไข่ขาวและไข่แดงสุกแข็งทั่วกัน หากยังเหลวเป็นยางมะตูมอยู่ถือว่ายังไม่สุก หรือส้มตำใส่ปลาร้าหรือปูก็จะต้องต้มปูเค็มหรือต้มปลาร้าเสียก่อน เป็นต้น มีเนื้อ ๑๐ ชนิดที่ห้ามพระเณรฉันทุกกรณี ได้แก่ เนื้อมนุษย์ เนื้อสุนัข เนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้องู เนื้อราชสีห์ เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือดาว เหนือเสือเหลือง เนื้อหมี นอกจากนั้นฉันได้ทุกชนิด แต่ต้องไม่ประกอบด้วยสามเหตุ คือ - ไม่เห็นว่าเขาฆ่ามาเพื่อตน - ไม่ได้ยินว่าเขาฆ่ามาเพื่อตน - ไม่สงสัยว่าเขาฆ่ามาเพื่อตน เพราะฉะนั้นชาวพุทธเราเวลาประกอบอาหารถวายพระ ห้ามบอกพระล่วงหน้าว่าจะเอาอาหารชื่อนั้นชื่อนี้มาถวาย เพราะจะทำให้ท่านฉันไม่ได้ หากฉันเข้าไปจะเป็นอาบัติ อีกประการหนึ่งผักหรือผลไม้ที่จะนำมาถวายพระ หากมีเมล็ดแก่ที่สามารถนำไปปลูกให้งอกได้ อย่างส้ม แตงโม มะเขือสุก หรือมีส่วนอื่นที่นำไปปลูกได้ไม่ว่าจะเป็น ลำต้น ราก หัวก็ดี เช่น ผักบุ้ง ใบโหรพา หัวหอม จะต้องทำวินัยกรรม ที่มักเรียกว่า “กัปปิยะ” เสียก่อน พระท่านจึงจะฉันได้ หากไม่ทำกัปปิยะก่อนแล้วพระฉันเข้าไปจะเป็นอาบัติทุกกฎ เรื่องนี้สืบเนื่องมาจากพระวินัยที่ห้ามภิกษุพรากของเขียว คือตัดต้นไม้ เด็ดใบไม้นั่นเอง ซึ่งรวมไปถึงผลไม้หรือลำต้นที่สามารถนำไปปลูกให้งอกได้ด้วย วิธีการทำกัปปิยะ คือ นำผักหรือผลไม้ที่ต้องทำกัปปิยะมาวางตรงหน้าพระ แล้วพระท่านจะถามว่า “กัปปิยัง กโรหิ” แปลว่า “ทำให้สมควรแล้วหรือ” โยมหรือเณรจะใช้เล็บหรือมีดเด็ดหรือตัดพืชนั้นเพียง ๑ ต้นหรือ ๑ ผล ให้ขาดออกจากกัน พร้อมกับพูดว่า “กัปปิยัง ภันเต” แปลว่า “ทำให้สมควรแล้ว” การทำกัปปิยะกับพืชหรือผลไม้เพียงต้นเดียวหรือลูกเดียว จะมีผลทำให้พระฉันพืชหรือผลนั้นได้ทั้งจานหรือทั้งถาด วินัยข้อนี้เห็นนิยมทำกันแต่เฉพาะในสายวัดป่าเท่านั้น เพราะหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านสอนลูกศิษย์ลูกหาสืบกันมา ไม่ค่อยได้เห็นวัดในเมืองทำกันสักเท่าใด สมัยหนึ่ง หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล เที่ยวธุดงค์ไปพักที่วัดหนึ่งใน จ.สกลนคร เจ้าอาวาสวัดนั้นซึ่งมีพรรษามากแล้ว เห็นหลวงปู่เสาร์ให้โยมทำกัปปิยะ ก็ไม่เชื่อถือและกล่าวปรามาสท่าน หลวงปู่เสาร์ท่านก็อธิบายว่า ท่านทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ได้คิดขึ้นเอง ทันใดนั้นหลวงตาเจ้าอาวาสท่านก็ล้มลงชักกับพื้น ด้วยอำนาจกรรมที่กล่าวปรามาสพระธรรมและพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ฝ่ายพระลูกวัดก็พากันมาเขย่าตัวถามว่าเป็นอะไรไป ท่านจึงรู้สึกตัวขึ้นและกล่าวขอขมาหลวงปู่เสาร์ทันที และแต่นั้นมาท่านก็ทำตามหลวงปู่เสาร์มาจนตลอดชีวิต ครูบาอาจารย์บางรูปท่านสอนลูกศิษย์ว่าหากไปฉันในวัดที่เขาไม่ทำกัปปิยะก่อน ก็ควรเลี่ยงไม่ฉันพืชผลไม้นั้นและไม่ควรไปพูดตำหนิเขาด้วย แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็ให้ฉันแต่เนื้อ ระวังอย่าเคี้ยวเมล็ดจนแตก ![]() ![]() กระทู้บอร์ดเก่าโพสโดยคุณ poivang http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=9501 |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 | เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง |
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group http://www.phpbb.com/ |