วันเวลาปัจจุบัน 29 เม.ย. 2024, 11:27  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 เม.ย. 2012, 22:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ก.ย. 2010, 09:07
โพสต์: 761

แนวปฏิบัติ: อานาปาฯ
งานอดิเรก: ศึกษาพุทธธรรม
สิ่งที่ชื่นชอบ: ปฏิบัติธรรม
ชื่อเล่น: ปลีกวิเวก
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b41: มายาการแห่งความรัก Love & Learn
"ความรัก" เป็น "ความรู้สึก" ที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์ทุกรูปทุกนาม เพราะจากความรักเพียงอย่างเดียวนี้เองสามารถส่งอิทธิพลต่อชีวิตได้ทุกแง่ทุกมุม ความรักเป็นได้ทั้งแรงบันดาลใจในเชิงสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันก็เป็นทั้งต้นเหตุแห่งสงครามมหาวินาศในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

ความรักเป็นเหตุปัจจัยให้ปัจเจกบุคคลค้นพบสัจธรรม แต่ในมุมกลับกันก็เหตุแห่งความเนิ่นช้าของปุถุชน ผู้ยังหลงวนอยู่ในห้วงรักเหวลึกของกามารมณ์ความรักจึงเป็นวิทยาการที่มนุษย์ทุกคนควรเรียนให้รู้อย่างลึกซึ้งทุกแง่ทุกมุม ยิ่งเข้าใจความรักอย่างลึกซึ้งมากเพียงไร ก็ย่อมมีความเข้าใจต่อโลกและชีวิตมากขึ้นเพียงนั้น

หนังสือ Love Analysis หรือในชื่อภาษาไทยว่า มหัศจรรย์แห่งรัก เล่มนี้ เกิดจากการเรียบเรียงบทธรรมบรรยายอันว่าด้วยความรัก และเรื่องอื่นๆ
ที่นับเนื่องอยู่ในกิเลสกลุ่มเดียวกัน ที่ผู้เขียนเคยบรรยายไว้ต่างกรรมต่างวาระในรอบหลายปีที่ผ่านมา
โดยบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์เทน้ำเทท่า ได้เลือกสรรกลั่นกรอง จัดปรับเนื้อหาและเรียบเรียงให้เป็นภาษาหนังสือที่มีความสละสลวย พร้อมทั้งยังจัดหาภาพประกอบและจัดทำคำบรรยายเพิ่มเติมในบางประเด็น ซึ่งทำให้หนังสือเล่มนี้มีความสมบูรณ์ขึ้นเป็นอันมาก

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า Love Analysis มหัศจรรย์แห่งรัก คงจะทำให้ผู้ที่กำลังมองหาความรัก กำลังมีความรัก และเคยมีความรัก กระทั่งเคยหันหลังให้ความรัก คงจะมีมุมมอง ความรู้ ความเข้าใจ และปฏิสัมพันธ์ต่อความรักในทางที่เป็นบวกมากขึ้นตามสมควร

ว.วชิรเมธี
๑ พฤษภาคม ๒๕๕๒



Love Actually
ความจริงแห่งรัก
"ต่อเมื่อเรามี รักแท้ คือ กรุณาเกิดขึ้นมาแล้ว
เราจะก้าวข้ามความใจเล็ก
คือไม่เห็นแก่ตัว ก้าวข้ามความใจแคบ
คือรักคนได้ทั้งโลก และก้าวข้าวความใจมืด
คือเราจะมีปัญญาที่รู้เท่าทันความเป็นจริง
ของโลกและชีวิตว่า
แท้ที่จริงแล้วสรรพชีพสรรพสัตว์ทั่วทั้งโลก
ไม่มีใครเลย
ที่คู่ควรแก่ความโกรธเกลียดชิงชังของเรา"

เปิดตำนาน รัก
:b41: Love Legend
อะไรคือ....ความรัก?

"ความรัก" นั้น ถ้าจะมองกันในแง่ของภาษาศาสตร์แล้ว น่าจะมากจากคำว่า "ราคะ" พอเราเรียกว่าราคะมากๆ เข้า คำว่าราคะก็กร่อนลงเหลือเพียงคำสั้นๆ ว่า "รัก" ถ้าเราสันนิษฐานว่า "รัก"
มาจากคำว่า "ราคะ"

"ความรัก" ก็จะแปลความหมายได้ว่า
ความปรารถนา ความต้องการความอยากได้ใคร่ครอบครอง ความจริงจัง คลั่งไคล้ ใหลหลง ซึ่งเรามีต่อ
คน สัตว์ สิ่งของ ความทั้งภาวะนามธรรม ต่างๆ เช่น ลัทธิ นิกาย ตลอดจนถึงอุดมการณ์ ศาสนา แม้กระทั่งว่าเทวะโองการของพระเจ้าเบื้องบน

:b41: รักคือเรื่องของอารมณ์ จิตใจ หรือเหตุผล?
ความรักมีทั้งสัดส่วนที่เรียกกันว่า อารมณ์ ในขณะเดียวกันก็มีทั้งสัดส่วนที่เรียกกันว่า
ปัญญาหรือเหตุผลเช่น ในหลักธรรมชุดหนึ่งที่มีชื่อว่า พรหมวิหารธรรม ๔ คือ เมตตา กรุณา
มุทิตา อุเบกขา

เมตตา กรุณา มุทิตา นั้นแม้ต่างกันโดยชื่อแต่เนื้อหาโดยรวมแล้วล้วนกล่าวถึงความรักทั้งหมด เป็นความรักที่มีอยู่ในหมู่มนุษยชาติ เป็นความรักในส่วนของอารมณ์
พอมาถึงอุเบกขา ซึ่งก็คือความรักอีกประเภทหนึ่งเช่นกัน กล่าวคือ เป็นความรักต่อธรรม ต่อความเป็นธรรม ต่อความเป็นจริง ต่อความถูกต้อง ความรักชนิดนี้จึงเป็นความรักที่วางรากฐานอยู่บนปัญญา ซึ่งก็คือความรักในระดับของเหตุผลนั่นเอง ดังนั้น ความรักจึงมีฐานที่เกิดทั้งจากกิเลส ซึ่งส่งผลเป็นความรัก
ในระดับอารมณ์ และทั้งจากฐานคือปัญญา ซึ่งส่งผลเป็นความรักแท้ในระดับเหตุผล ที่เราเรียกกันว่า
"อุเบกขา"หรือในอีกชื่อหนึ่งว่า
"ความกรุณา"


รักแบ่งออกเป็นประเภทได้หรือไม่?
ความรักมีหลากหลายประเภท แล้วแต่ว่าใครจะเป็นผู้แบ่ง ใครจะเป็นผู้ขีดเส้น หรือใครจะเป็นผู้ให้คำนิยาม
แต่ในทัศนะของผู้เขียนเองมองว่า ความรักนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น ๔ ประเภทกล่าวคือ
๑.รักตัวกลัวตาย
๒.รักใคร่ปรารถนา
๓.รักเมตตาอารี
๔.รักมีแต่ให้

๑.รักตัวกลัวตาย คือ ความรักที่อิงสัญชาตญาณการเอาชีวิตรอดซึ่ง
มนุษย์และสัตว์ต่างก็มีเหมือนกันทั้งหมดทั้งสิ้นความจริงนั้นถ้าจะกล่าวให้ถูกต้องแล้ว แม้แต่ต้นไม้ใบหญ้า
หรือพืชพรรณทั้งหลาย ก็ล้วนแล้วแต่มีความรักชนิดนี้เป็นพื้นฐานเจือปนอยู่ด้วยกันแทบทั้งสิ้น
๒.รักใคร่ปรารถนารักใคร่ปรารถนานั้น เป็นความรักที่อิงสัญชาตญาณการ
ดำรงเผ่าพันธ์ ซึ่งมีอยู่ในคน ในสัตว์ และในพืชรวมไปถึงสิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ ความต้องการที่จะดำรงเผ่าพันธ์นี้ เป็นความต้องการขั้นพื้นฐานที่ลึกซึ้งและละเอียดอ่อนมาก และความต้องการชนิดนี้
ก็ฝังอยู่ในจิตส่วนที่ลึกซึ้งที่สุดของทุกสิ่งมีชีวิต ทั้งที่เป็นคน เป็นสัตว์ และพืชพรรณทั้งหมด
ด้วยเหตุนี้ ความรักใคร่ปรารถนาจึงเป็นความรักที่มีแรงขับที่ลึกซึ้ง เข้มข้น และก้มีพลังอย่างมหาศาล
ความรักที่เราพูดถึงกันอยู่ทุกวันนี้ โดยมากก็มักจะมาติดตันกันอยู่ที่ความรักใคร่ปรารถนานี่เอง
๓.รักเมตตาอารี คือความรักที่อิงเงื่อนไขในทางวัฒนธรรม ความเป็นสายเลือดเดียวกัน เป็นสัญชาติเดียวกัน เป็นศาสนาเดียวกัน เป็นเผ่าพันธ์เดียวกัน พูดจาภาษาเดียวกัน หรือ
แม้กระทั่งว่า สังกัดอยู่ในกลุ่มเดียวหรือในสปีชีส์ (Species) เดียวกัน ถ้าเรามีรากร่วมอย่างใดอย่างหนึ่งเช่นนี้ เราก็จะมีความรักประเภทนี้ได้ ความรักประเภทนี้อาศัยโครงสร้างทางวัฒนธรรม เช่น คนไทยได้เจอคนไทยด้วยกันในต่างประเทศคนไทยก็จะรู้สึกดีมาก รู้สึกอบอุ่นใจขึ้นมาในทันทีหรือชาวต่างประเทศมาเจอคนประเทศเดียวกันในเมืองไทย เขาก็จะรู้สึกดีมาก รู้สึกอบอุ่นใจมากเช่นเดียวกันเมื่อเราเดินทางไปต่างประเทศไม่ว่าจะไป ณ มุมใดประเทศไหนในโลก ไม่ว่าจะไปประเทศอินเดีย ประเทศจีน สหรัฐอเมริกา หรือ ประเทศฝรั่งเศส แล้วไปเจอคนไทยด้วยกันที่นั่น เราก็จะรู้สึกได้ถึงความมีพรรคมีพวกขึ้น
มาในทันที สิ่งนี้เอง ที่เราเรียกว่ารักเมตตาอารี คือพอเราสัมผัสได้ว่า รู้สึกได้ว่า เรามีรากร่วมทางวัฒนธรรมเดียวกัน เราก็จะรู้สึกผูกพันกับสิ่งนั้น กับบุคคลผู้นั้น หรือแม้กระทั่งกับข้าวของบางสิ่งบางอย่าง
ซึ่งมีบุคคลที่เราเคยผูกพันด้วยเป็นผู้ให้เรามา วันหนึ่งแม้เขาผู้นั้นจะไม่อยู่แล้ว แต่ของสิ่งนั้นก็ยังคงเป็นของสำคัญสำหรับเราอยู่เสมอ เพราะอะไร นั้นก็เพราะว่าเราเชื่อมโยงกลับไปหารากบางประการซึ่งใครคนนั้นเคยมีต่อเรานั่นเอง รักเมตตาอารี จึงเป็นความรักที่ยังมีข้อจำกัด กล่าวคือ จะต้องอาศัยบางสิ่งบางอย่างมาเป็นตัวเชื่อมโยงให้เกิดความรู้สึกนึกรัก ถ้าปราศจากบางสิ่งบางอย่างนั้นมาเป็นตัวเชื่อมโยงหรือเป็นสะพานแห่งความรักแล้ว เราก็จะรู้สึกเฉยเมย รู้สึกเย็นชา รู้สึกธรรมดากับสิ่งต่างๆ รอบตัวเรา
ฉะนั้น ความรักในระดับเมตตาอารี จึงยังเป็นความรักที่ไม่เพียงพอที่จะให้มนุษยชาติดำรงอยู่ในโลกนี้ได้อย่างมีความสุข
(มีต่อ)

.....................................................
วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุสเส
ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้คู่ความดี คือผู้ที่ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์และเทวดา
วรรคทอง วรรคธรรม โดยท่าน ว.วชิรเมธี


แก้ไขล่าสุดโดย ปลีกวิเวก เมื่อ 25 เม.ย. 2012, 20:46, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 เม.ย. 2012, 20:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ก.ย. 2010, 09:07
โพสต์: 761

แนวปฏิบัติ: อานาปาฯ
งานอดิเรก: ศึกษาพุทธธรรม
สิ่งที่ชื่นชอบ: ปฏิบัติธรรม
ชื่อเล่น: ปลีกวิเวก
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๔.รักมีแต่ให้เป็นความรักขั้นสูง ซึ่งวางรากฐานอยู่บนคุณธรรมที่ชื่อ
กรุณา และปัญญาที่แท้ ซึ่งความรักชนิดนี้จะเกิดขึ้นได้หลังจากที่ใครคนใดคนหนึ่งเกิดการรู้แจ้งทางจิต
วิญญาณหรือทางปัญญาอย่างลึกซื้ง อย่างที่ทางพุทธศาสนาเรียกว่า "ตื่นรู้" เมื่อใครคนใดคนหนึ่งเกิด
การรู้แจ้งทางจิตหรือทางปัญญาขึ้นมาแล้ว จิตใจของบุคคลผู้นั้นก็จะหลุดพ้นจากมายาคติ ซึ่งสิ่งนี้เปรียบ
เสมือนดั่งคุกที่กักขังจองจำเขาเหล่านั้นให้ตีบตันอยู่ในความโลภ ความโกรธ ความหลงหรือในอคติ ๔ เช่น
:b47: ความลำเอียงเพราะรัก (ฉันทาคติ)
:b47: ความลำเอียงเพราะชัง (โทสาคติ)
:b47: ความลำเอียงเพราะเขลา (โมหาคติ)
:b47: ความลำเอียงเพราะกลัว (ภยาคติ)
หรือ ความตระหนี่ถี่เหนียวที่หวงแหนกีดกั้นในสิ่ง ๕ ประการ ในนามของ มัจฉริยะ ๕ เช่น

:b50: หวงแหนแผ่นดินถิ่นที่ (อาวาสมัจฉริยะ)
:b50: หวงแหนตระกูลวงศ์พงษา (กุลมัจฉริยะ)
:b50: หวงแหนผลประโยชน์ (ลาภมัจฉริยะ)
:b50: หวงแหนชนชั้นวรรณะ (วัณณมัจฉริยะ)
:b50: หวงแหนภูมิปัญญาความดีงามและความจริง (ธัมมมัจฉริยะ)

รักแท้ คือ กรุณา เมื่อเกิดขึ้นเพราะล่วงรู้ความจริงอย่างถึงที่สุดแล้ว จะสามารถนำพาเราให้
ก้าวข้าวมายาคติ ก้าวข้ามอคติ และก้าวข้ามความตระหนี่หวงแหนทุกรูปแบบ ทำให้ผู้ที่บรรลุถึงความรักชนิดนี้ได้ค้นพบกับอิสรภาพภายในจิตใจของตนเองอย่างแท้จริง จนสามารถยกระดับความรักให้สูงขึ้น
กลายเป็นความรักที่ไร้ขอบเขต และสามารถมอบความรักนั้นให้กับผู้คนได้ทั้งโลกอย่างไร้ซึ่งขีดจำกัด
เหมือนกับที่แสงเดือนแสงตะวันสาดโลมผืนโลกโดยไม่เคยเลือกที่รักมักที่ชัง และไม่เคยทวงถามถึงการ
ตอบแทนอันใด

รักทั้ง ๔ ประเภท เกิดขึ้นได้อย่างไร
๑.ความรักตัวกลัวตาย
ความรักชนิดนี้เกิดขึ้นจากสัญชาติญาณในการเอาตัวรอด เนื่องจากสิ่งมีชีวิตทุกประเภทจะต้องมีความ
เห็นแก่ตัวอยู่เป็นพื้นฐานดั้งเดิม และความเห็นแก่ตัวนี่เองที่เราอาจเรียกได้ว่าเป็น "ความรักตัวเอง"
และเมื่อรักตัวเองแล้ว เราจึงพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะปกป้องตัวเองให้รอดพ้นจากภยันตรายในทุกๆ
รูปแบบ ความรักตัวเองนี้ ทำให้เราเรียนรู้ที่จะป้องกันตัวเองให้รอดพ้นจากทุกสถานการณ์ จากภัยอันตรายทุกชนิดที่อยู่รายรอบตัวเรา หรือที่จะสามารถทำอันตรายต่อชีวิตและต่อความมั่นคงของเราได้

ข้อดีของความรักชนิดนี้ ก็คือ ทำให้เราเรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดได้ในทุกๆ
สถานการณ์ของชีวิต
แต่ข้อเสีย ก็คือเพื่อที่จะเอาตัวรอดในบางครั้งอาจทำให้เราต้องทำร้าย
ทำลาย เข่นฆ่า ลงมือประหัตประหาร หรือแม้กระทั้งก่อสงครามต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อสัตว์อื่น เพื่ยงเพื่อ
ให้ตนเองได้อยู่รอดปลอดภัย

.....................................................
วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุสเส
ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้คู่ความดี คือผู้ที่ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์และเทวดา
วรรคทอง วรรคธรรม โดยท่าน ว.วชิรเมธี


แก้ไขล่าสุดโดย ปลีกวิเวก เมื่อ 19 เม.ย. 2012, 20:58, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 เม.ย. 2012, 20:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ก.ย. 2010, 09:07
โพสต์: 761

แนวปฏิบัติ: อานาปาฯ
งานอดิเรก: ศึกษาพุทธธรรม
สิ่งที่ชื่นชอบ: ปฏิบัติธรรม
ชื่อเล่น: ปลีกวิเวก
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษยชาตินั้น คือบทเรียนสำคัญที่สะท้อนให้เราได้เห็นว่า เพื่อที่จะทำให้ตนเองดำรงชีวิตรอด มนุษย์ต้องลุกขึ้นมาเข่นฆ่ากันเองนับครั้งไม่ถ้วน ฉะนั้น สงครามที่เกิดขึ้นจากเงื้อมมือของมนุษย์ในแต่ละครั้ง จึงมักวางรากฐานอยู่บนความรักชนิดรักตัวเอง หรือรักตัวกลัวตายนั้นเอง
คือกลัวว่าตนเองจะต้องตาย ก็เลยทำให้ผู้อื่นตายเสียก่อน เพื่อที่ว่าตนเองจะได้มีชีวิตรอด

ความรักชนิดนี้ แม้ว่าจะถูกลำดับให้เป็นความรักในขั้นพื้นฐาน แต่ก็นับเป็นความรักที่เคลือบแฝงไปด้วยอันตรายอย่างยิ่งเลยทีเดียว

บุคคลใดก็ตามที่มีความรักตัวกลัวตายมากๆ เขาผู้นั้นจึงมีโอกาสสูงยิ่งที่จะเป็นคนเห็นแก่ตัว และก็มีโอกาสสูงมากอีกเช่นกัน ที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อความอยู่รอดของตนเอง โดยพร้อมเสมอที่จะทำให้
ใครต่อใครต้องเดือดร้อน ต้องบาดเจ็บล้มตายลงไปเท่าไหร่ก็ได้ เพียงเพื่อขอให้ตนได้อยู่รอดปลอดภัย

:b41: ไม่ใช่เฉพาะชีวิตของเราเท่านั้น

ที่เราตระหนักว่ามีคุณค่าสูงสุด
หากรวมทั้งชีวิตของเพื่อนมนุษย์ทุกคนและสรรพสัตว์
จากนั้นเราก็จะไม่หลงอีกต่อไปว่า
การทำลายชีวิตผู้อื่นเพื่อความอยู่รอดของชีวิตเรานั้น
เป็นสิ่งจำเป็น....
:b41:

ติช นัท ฮันห์
มหาเถระแห่งหมู่บ้านพลัม

(มีต่อ)

.....................................................
วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุสเส
ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้คู่ความดี คือผู้ที่ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์และเทวดา
วรรคทอง วรรคธรรม โดยท่าน ว.วชิรเมธี


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 เม.ย. 2012, 21:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ก.ย. 2010, 09:07
โพสต์: 761

แนวปฏิบัติ: อานาปาฯ
งานอดิเรก: ศึกษาพุทธธรรม
สิ่งที่ชื่นชอบ: ปฏิบัติธรรม
ชื่อเล่น: ปลีกวิเวก
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๒.ความรักใคร่ปรารถนา
ความรักชนิดนี้วางรากฐานอยู่บนสัญชาตญาณของการดำรงเผ่าพันธ์ ซึ่งสัญชาตญาณในการดำรงเผ่าพันธ์นี้ ไม่ได้ฝังลึกอยู่ในระดับของดีเอ็นเอ (DNA)หรือใน (GENE) ของทุกสรรพชีวิตเพียงเท่านั้น แต่กลายเป็นว่าสัญชาตญาณในการดำรงเผ่าพันธ์นี้ ได้ถูกฝังรากอย่างลึกซึ้งถึงที่สุดในระดับของจิตใต้สำนึก
ทั้งในมนุษย์และสัตว์เลยทีเดียว ซึ่งศัพท์เทคนิคในทางพระพุทธศาสนา เราเรียกสิ่งที่ฝังรากลึกนี้ว่า
"ตัณหา" (CRAVING)

ตัณหาที่ต้องการจะดำรงเผ่าพันธ์ ตัณหาที่ต้องการจะมีตัวตนอย่างมีความหมาย เราเรียกตัณหาในประเภทนี้ว่า ภวตัณหาคือตัณหาที่ต้องการจะมีตัวตน ตัณหาที่ต้องการจะมีชีวิตอยู่อย่างมีความสำคัญ ตัณหาที่ต้องการจะมีชีวิตที่เป็นอมตะ

ตัณหาชนิดนี้ฝังตัวอย่างแนบเนียนละเอียดลึกซึ้งอยู่ภายใต้จิตใต้สำนึกของเราทุกคน ความลึกของมันสะท้อนออกมาถึงขั้นที่ว่า สามารถติดตามข้ามภพข้ามชาติได้และมนุษย์โดยมากก็มักตกเป็นทาสของ
ภวตัณหา เช่นนี้ และนั่นจึงเป็นเหตุให้มีมัมมี่เกิดขึ้น มัมมี่ทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นมัมมี่ที่ขุดพบ ณ
มุมใดตำแหน่งไหนในโลกไม่ว่าจะเป็นที่จีน อียิปต์ หรือ ที่ยุโรป ล้วนวางรากฐานอยู่บนความรักชนิด
รักใคร่ปรารถนาด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นนั่นคือ ความรักที่จะมีตัวตนตราบนิรันดร์ และความรักชนิดนี้นี่เอง
ที่จะเป็นอุปสรรคขวากหนามสำคัญต่อการพัฒนาความรักให้เจริญงอกงาม ไปจนถึงความรักในลำดับที่
๔ นั่นก็คือ รักมีแต่ให้ เนื่องจากความรักใคร่ปรารถนาที่มาพร้อมกับตัณหา
และ ภวตัณหา นี้จะเป็นเสมือนบ่วงบาศขนาดมหึมาที่ทรงพลังมหาศาลในการฉุดรั้ง ทำให้เราไม่สามารถ
หลุดพ้นจากวัฏจักรของการเวียนว่ายตายเกิดไปได้นั่นเอง

.....................................................
วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุสเส
ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้คู่ความดี คือผู้ที่ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์และเทวดา
วรรคทอง วรรคธรรม โดยท่าน ว.วชิรเมธี


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 เม.ย. 2012, 20:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ก.ย. 2010, 09:07
โพสต์: 761

แนวปฏิบัติ: อานาปาฯ
งานอดิเรก: ศึกษาพุทธธรรม
สิ่งที่ชื่นชอบ: ปฏิบัติธรรม
ชื่อเล่น: ปลีกวิเวก
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ในเสียย่อมมีดี :b41:

แต่หากจะยกเครดิตให้แล้ว ความรักใคร่ปรารถนานี้ก็จัดว่ามีคุณอยู่ไม่น้อยเช่นกัน เพราะด้วยความรักชนิดนี้นี่เอง ที่ทำให้เผ่าพันธ์ของมนุษยชาติยังคงดำรงอยู่ได้ และทำให้บุคคลสำคัญในระดับมหาบุรุษของโลกได้โอกาสมาอุบัติเพื่อสร้างคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงจนกลายเป็นตำนานระดับโลกได้

ฉะนั้น ถึงแม้ความรักใคร่ปรารถนาจะเป็นความรักที่มีโทษ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นความรักที่ทรงคุณด้วย
เช่นกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ความรักใคร่ปรารถนานั้นเป็นความรักที่มีคุณลึกซึ้ง และขณะเดียวกันก็มีโทษอย่างร้ายแรงที่สุด และความรักชนิดนี้นี่เอง เป็นความรักที่ทำให้มวลมนุษย์หมกมุ่นครุ่นคิด วุ่นวาย
มีสุขมีทุกข์ เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏอันยาวไกลนี้อย่างไม่รู้จบรู้สิ้น

.....................................................
วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุสเส
ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้คู่ความดี คือผู้ที่ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์และเทวดา
วรรคทอง วรรคธรรม โดยท่าน ว.วชิรเมธี


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 เม.ย. 2012, 20:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ก.ย. 2010, 09:07
โพสต์: 761

แนวปฏิบัติ: อานาปาฯ
งานอดิเรก: ศึกษาพุทธธรรม
สิ่งที่ชื่นชอบ: ปฏิบัติธรรม
ชื่อเล่น: ปลีกวิเวก
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๓.รักเมตตาอารี

ความรักชนิดนี้ เป็นความรักที่อิงอารมณ์และความรู้สึกอยู่เป็นพื้นฐาน แต่อย่างไรก็ตามก็ยังคงเป็นอารมณ์หรือความรู้สึกที่เป็นไปในเชิงบวกมากกว่าในเชิงลบ

ความรักตัวกลัวตาย และ รักใคร่ปรารถนา
นั้นอิงอารมณ์ในเชิงลบมากกว่าในเชิงบวก นั่นคือ อารมณ์ปรารถนา อารมณ์อยากได้ใคร่มี อารมณ์อยากครอบครอง อารมณ์จริงใจ คลั่งไคล้ ใหลหลง
แต่ รักเมตตาอารี นั้น เป็นความรักเชิงบวกที่อิงอารมณ์เชิงบวก กล่าวคือ มีความรู้สึกฝ่ายดีเป็นตัวขับเคลื่อน ถ้าเราเมตตาอารีต่อใคร เรามักรู้สึกอยากจะเป็นผู้ให้กับเขาคนนั้น
พ่อแม่ให้ความรัก ให้ความหวังดี ให้การดูแล ให้ความเอาใจใส่ ให้การเลี้ยงดู ให้การทุ่มเทต่อลูกๆ
ครูบาอาจารย์ให้ความรู้สึกต่อศิษย์ พระมหากษัตริย์ให้ความรัก ให้การดูแล ให้การปกครองต่อประชาชนพลเมือง รัฐบุรุษ นักการเมือง ผู้นำประเทศ ให้ความสนใจ รับใช้ ดูแล เป็นห่วงเป็นใยต่อราษฏรของตนเอง กระทั่งว่า มนุษยชาติให้ความเป็นเพื่อน ให้มิตรภาพ และให้น้ำใจไมตรีต่อมนุษยชาติทั้งโลก รวมไป
ถึงบรรดาสรรพสัตว์

(มีต่อ)

.....................................................
วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุสเส
ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้คู่ความดี คือผู้ที่ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์และเทวดา
วรรคทอง วรรคธรรม โดยท่าน ว.วชิรเมธี


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 เม.ย. 2012, 19:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ก.ย. 2010, 09:07
โพสต์: 761

แนวปฏิบัติ: อานาปาฯ
งานอดิเรก: ศึกษาพุทธธรรม
สิ่งที่ชื่นชอบ: ปฏิบัติธรรม
ชื่อเล่น: ปลีกวิเวก
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ในดีย่อมมีเสีย :b41:

จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า รักเมตตาอารีนั้นเป็นความรักในเชิงบวก แต่ก็ยังเป็นเชิงบวกที่ไม่สมบูรณ์แบบเนื่องจากยังมีขีดข้อจำกัดบางประการอยู่ นั่นก็คือ เราจะรักได้มากเมตตาได้มาก ก็เฉพาะคนที่มีรากร่วมทางวัฒนธรรมเดียวกันกับเราในแง่ใดแง่หนึ่งเท่านั้น เช่น เป็นคนชาติเดียวกัน ศาสนาเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน สีผิวเดียวกัน ถือสัญชาติเหมือนกัน หรือแม้จะทั่งว่า เป็นมนุษยชาติเหมือนกัน คราวนี้หากใครคนใดก็ตาม ที่ไม่มีรากร่วมทางวัฒนธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกันกับเราความรักชนิดนี้ก็จะมีข้อจำกัด หรือจะถูกปิดตายทันที เช่น ในนิทานพุทธปรัชญาเซนเรื่องหนึ่ง กล่าวไว้ว่า
มีชายผู้หนึ่งไปทำบุญที่วัด พอทำบุญเสร็จแล้วพระก็ให้พรและแผ่เมตตาตามลำดับด้วยประโยคที่ว่า
"ด้วยผลบุญที่คุณโยมได้ทำในครั้งนี้ ขอให้สรรพสัตว์ทั่วทั้งโลกทั้งจักรวาล จงมีส่วนแห่งบุญนี้ด้วยเถิด"
ชายผู้นี้ถามกลับไปทันทีว่า "หลวงพ่อครับ" คำว่าสรรพสัตว์ทั้งโลกที่ควรมีส่วนในบุญกุศลครั้งนี้ ผมขอเว้นไว้สักคนหนึ่งจะได้หรือไม่ครับ?" หลวงพ่อจึงถามกลับว่า "อ้าว...คุณโยมจะยกเว้น ใครละ?"
เขาก็ตอบว่า "เพื่อนบ้านผมเองครับ เพราะเขาเป็นกิ๊กกับภรรยาผม สำหรับผู้ชายคนนี้ ผมคงเมตตาเขาไม่ได้ครับ" หลวงพ่อก็เลยเข้าใจในทันทีว่า ความรัก คือ เมตตาอารี นั้นยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เพราะเป็นความรักที่วางอยู่บนเงื่อนไข ฉะนั้น รักด้วยเมตตาอารีถึงแม้จะเป็นความรักที่ดี และทำให้เราอยู่ในโลกนี้ร่วมกันได้อย่างมีไมตรีต่อกันและกัน แต่ก็ยังมีข้อจำกัดที่สำคัญกล่าวคือ เราจะเมตตาและอารีได้ก็เพียงเฉพาะบางคน บางกลุ่ม บางพวก หรือ บางเผ่าพันธุ์เท่านั้น

.....................................................
วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุสเส
ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้คู่ความดี คือผู้ที่ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์และเทวดา
วรรคทอง วรรคธรรม โดยท่าน ว.วชิรเมธี


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 เม.ย. 2012, 20:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ก.ย. 2010, 09:07
โพสต์: 761

แนวปฏิบัติ: อานาปาฯ
งานอดิเรก: ศึกษาพุทธธรรม
สิ่งที่ชื่นชอบ: ปฏิบัติธรรม
ชื่อเล่น: ปลีกวิเวก
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๔.รักมีแต่ให้

ความรักชนิดนี้เป็นความรักที่วางรากฐานอยู่บนปัญญาที่แท้ ปัญญาที่แท้นั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะทำให้เราก้าวข้ามความไม่รู้ (อวิชชา) ซึ่งเปรียบเสมือนผนังทองแดงกำแพงเหล็กที่กีดกั้นมนุษย์ออกจากกันและกันและทำให้หัวใจของเรานั้นสูญสิ้นอิสรภาพ เราจึงกลายเป็นคนใจเล็ก ใจแคบ และก็ใจมืด

ใจเล็ก ก็คือ เห็นแก่ตัว
ใจแคบ ก็คือ รักได้เฉพาะบางคน
ใจมืด ก็คือ บางครั้งเรายังหันมาเข่นฆ่าทำร้ายและทำลายเพื่อนมนุษย์ ซึ่งแท้ที่จริง ก็คือผู้ที่เป็นเผ่าพันธุ์เดียวกันกับเรานั่นเอง
ต่อเมื่อเรามี รักแท้ คือ กรุณาเกิดขึ้นมาแล้ว เราจะก้าวข้ามความใจเล็ก คือไม่เห็นแก่ตัว ก้าวข้ามความใจแคบ คือ รักคนได้ทั้งโลก และก้าวข้ามความใจมืด คือเราจะมีปัญญาที่รู้เท่าทันความเป็นจริงของโลกและชีวิต ว่าแท้ที่จริงแล้ว สรรพชีพสรรพสัตว์ทั่วทั้งโลก ไม่มีใครเลยที่คู่ควรแก่ความโกรธเกลียดชิงชัง ของเรา เขาเหล่านั้นทั้งหมดทั้งมวลก็คือพี่น้องท้องเดียวกันกับเรา

รักแท้ คือ กรุณา เมื่อผลิบานขึ้นมาแล้ว จะทำให้ผู้ที่มีความรักนี้เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก และก็พร้อมเสมอที่จะแบ่งปันความสุขและความรักนั้น ให้แก่สรรพชีพสรรพสัตว์ทั่วทั้งโลกทั้งสกลจักรวาล

:b41: "ฝึกทำสิ่งดีๆ ให้กับผู้อื่น
โดยไม่จำเป็นต้องให้เขารับรู้" :b41:

เอช.แจ็คสัน บราวน์ จูเนียร์
นักเขียนผลงานเบสท์เชลเลอร์ชาวอเมริกัน

.....................................................
วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุสเส
ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้คู่ความดี คือผู้ที่ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์และเทวดา
วรรคทอง วรรคธรรม โดยท่าน ว.วชิรเมธี


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 เม.ย. 2012, 20:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ก.ย. 2010, 09:07
โพสต์: 761

แนวปฏิบัติ: อานาปาฯ
งานอดิเรก: ศึกษาพุทธธรรม
สิ่งที่ชื่นชอบ: ปฏิบัติธรรม
ชื่อเล่น: ปลีกวิเวก
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทำไมทุกคนต้องการความรัก? :b41:

เหตุผลสำคัญที่มนุษย์ทุกคนต้องการความรักนั้นก็เพราะว่า เราแต่ละคนไม่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง อะไรก็ตามที่ยังไม่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง ก็มักจะต้องแสวงหาบางสิ่งบางอย่างจากภายนอกเข้ามาเสริม เข้ามาเติม เข้ามาเพิ่มพูน เพื่อให้เรารู้สึกอิ่ม รู้สึกเต็ม รู้สึกสมบูรณ์ เช่น การที่เรา รักตัวกลัวตาย เราก็จึงพยายามแสวงหาข้าวปลาอาหาร แสวงหายศศักดิ์อัครฐาน เกียรติคุณ ชื่อเสียง มาเติมแต่งให้ชีวิตของเราพรั่งพร้อม ให้ชีวิตของเรามั่นคงขึ้น เรา รักใคร่ปรารถนา ก็เพราะว่า มีบางสิ่งบางอย่างในตัวของเพศตรงข้ามซึ่งหาไม่ได้ในตัวเรา เราจึงอยากแสวงหาสิ่งเหล่านั้นมาเติมลงในชีวิตของเรา

รักเมตตาอารี ก็เพราะว่า เรายังคงรู้สึกได้ถึงความบกพร่องในตัวของเรา
เราจึงมองหามิตร มองหาพรรคพวก มองหารากร่วมทางวัฒนธรรม จากคนทั้งโลกเพื่อมาเสิรมมาเติมลงไปในชีวิตของเราให้เต็ม

(มีต่อ)

.....................................................
วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุสเส
ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้คู่ความดี คือผู้ที่ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์และเทวดา
วรรคทอง วรรคธรรม โดยท่าน ว.วชิรเมธี


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 เม.ย. 2012, 19:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ก.ย. 2010, 09:07
โพสต์: 761

แนวปฏิบัติ: อานาปาฯ
งานอดิเรก: ศึกษาพุทธธรรม
สิ่งที่ชื่นชอบ: ปฏิบัติธรรม
ชื่อเล่น: ปลีกวิเวก
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b41: รักมีแต่ให้เพียงชนิดเดียวเท่านั้น เป็นความรักที่เกิดจากการเผื่อแผ่แบ่งปันซึ่งล้นออกไปจากใจที่เต็มแล้ว ฉะนั้น รักตัวกลัวตาย รักใคร่ปรารถนา รักเมตตาอารี จึงเป็นความรักที่เกิดจากความพร่องส่วนรักมีแต่ให้เท่านั้น ที่เป็นความรักที่เกิดจากความเต็ม

มนุษย์ทุกคนควรมีโอกาสที่จะได้เรียนรู้ และพยายามพัฒนาตนเองให้ก้าวข้ามความรักที่เกิดจากความพร่อง ขึ้นไปสู่การมีความรักที่เกิดจากความเต็มจนกระทั่งวันหนึ่ง เราทุกคนสามารถเป็นผู้หว่านโปรย
ความรักจากหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยรักแท้ ให้แก่มนุษยชาติทั่วทั้งโลกได้ โดยที่ไม่เรียกร้องต้องการอะไรเป็นการตอบแทน

และเมื่อใดก็ตาม ที่มนุษยชาติสามารถพัฒนาตนเองจากความรักที่เกิดจากความพร่อง ขึ้นไปสู่ความรักที่เกิดจากความเต็มได้ จนกระทั่งวันหนึ่ง สามารถเป็นผู้หว่านโปรยความรักให้กับคนทั่วทั้งโลกได้แล้ว

เมื่อนั้น ก็จะเป็นชีวิตที่ได้รับการพัฒนาหรือวิวัฒนาการไปจนถึงจุดสูงสุด และมนุษยชาติก็จะสามารถร่วมกันสร้างสรรค์โลกที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักให้เกิดขึ้นได้ เหมือนดังที่พุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า

อัพยา ปัชชัง สุขัง โลเก
"โลกที่ไร้การเบียดเบียนนั้น
เป็นสิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ในชีวิตนี้"

.....................................................
วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุสเส
ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้คู่ความดี คือผู้ที่ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์และเทวดา
วรรคทอง วรรคธรรม โดยท่าน ว.วชิรเมธี


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 14 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron