ลานธรรมจักร http://www.dhammajak.net/forums/ |
|
รัก... ที่แท้จริง (พระพจนารถ ปภาโส) http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=27&t=31886 |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 |
เจ้าของ: | ลูกโป่ง [ 21 พ.ค. 2010, 20:55 ] |
หัวข้อกระทู้: | รัก... ที่แท้จริง (พระพจนารถ ปภาโส) |
![]() รัก... ที่แท้จริง พระพจนารถ ปภาโส ความรัก.....คืออะไร? คำตอบมีมากมาย มีทั้งส่วนดีและส่วนไม่ดี คละกันไป ตามแต่จินตนาการของคนตอบจะสรรค์สร้างขึ้นจากประสบการณ์ชีวิตของตน ไม่มีคำตอบที่สมบูรณ์พร้อมสำหรับคนที่ถาม ฃแต่น่าแปลกที่ยังมีคนแสวงหาความรักอยู่มากมาย และมีคนให้ความหมายความรักอีกมากมาย ปรารภเรื่องความรักขึ้นมา ด้วยเหตุที่จะแสวงหาคำตอบว่า รักที่จริงแท้คืออะไร? มุ่งหวังให้คนที่กำลังแสวงหาความรักได้ตระหนักถึงความรักที่จริงแท้ อันจักก่อแต่สุขประโยชน์แก่ชีวิตของตนและคนที่ตนรัก และเพื่อสวัสดิผลอันงดงามของวัฒนธรรมประเพณีไทย ที่บรรพชนไทยได้ก่อกำเนิดไว้ ให้ดำรงอยู่สืบไปอย่างวัฒนาสถาพร ความรัก เป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป เป็นปฏิกิริยาพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่ดีที่พึงมีต่อกัน เป็นปฏิกิริยาตรงข้ามกับความเกลียดชัง มนุษย์ทุกคนจึงสัมผัสความรัก มาตั้งแต่ลืมตาขึ้นดูโลกใบนี้ เริ่มแต่ความรักอันบริสุทธิ์ที่พ่อแม่มอบให้แก่ลูกน้อย ฃมาสู่ความรักในครอบครัวเช่นจากพี่น้องและวงศาคณาญาติ ความรักจากสังคม เช่น จากครู เพื่อน เจ้านาย พระมหากษัตริย์ ความรักจากอุดมคติ คือจากพระศาสดา ความรู้สึกถึงความรักเหล่านี้สามารถสัมผัสได้จากหน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อกัน ตามนัยแห่งหน้าที่ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในสิงคาลกสูตร เรื่องทิศ ๖ ดังนี้ ![]() “ดูกรคฤหบดีบุตร มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้า อันบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ ด้วยตั้งใจไว้ว่าท่านเลี้ยงเรามา เราจักเลี้ยงท่านตอบ ๑ จักรับทำกิจของท่าน ๑ จักดำรงวงศ์สกุล ๑ จักปฏิบัติตนให้เป็นผู้สมควรรับทรัพย์มรดก ๑ ก็หรือเมื่อท่านละไปแล้ว ทำกาลกิริยาแล้ว จักตามเพิ่มให้ซึ่งทักษิณา ๑ ฯ มารดา บิดา ผู้เป็นทิศเบื้องหน้าอันบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์บุตรด้วยสถาน ๕ คือ ห้ามจากความชั่ว ๑ ให้ตั้งอยู่ในความดี ๑ ให้ศึกษาศิลปวิทยา ๑ หาภรรยาที่สมควรให้ ๑ มอบทรัพย์ให้ในสมัย ๑ ฯ มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้าอันบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์บุตรด้วยสถาน ๕ เหล่านี้ ทิศเบื้องหน้านั้น ชื่อว่าอันบุตรปกปิดให้เกษมสำราญ ให้ไม่มีภัยด้วยประการฉะนี้ ฯ” ![]() “ดูกรคฤหบดีบุตร อาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวาอันศิษย์พึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ ด้วยลุกขึ้นยืนรับ ๑ ด้วยเข้าไปยืนคอยรับใช้ ๑ ด้วยการเชื่อฟัง ๑ ด้วยการปรนนิบัติ ๑ ด้วยการเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ ๑ ฯ อาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวา อันศิษย์บำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ด้วยสถาน ๕ คือ แนะนำดี ๑ ให้เรียนดี ๑ บอก ศิษย์ด้วยดีในศิลปวิทยาทั้งหมด ๑ ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง ๑ ทำความป้อง กันในทิศทั้งหลาย ๑ ฯ อาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวาอันศิษย์ บำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่า นี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ด้วย สถาน ๕ เหล่านี้ ทิศเบื้องขวานั้น ชื่อว่าอันศิษย์ ปกปิดให้เกษมสำราญ ให้ไม่มีภัยด้วยประการฉะนี้ฯ” ![]() “ดูกรคฤหบดีบุตร ภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลังอันสามีพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ ด้วยยกย่องว่าเป็นภรรยา ๑ ด้วยไม่ดูหมิ่น ๑ ด้วยไม่ประพฤตินอกใจ ๑ ด้วยมอบความเป็นใหญ่ให้ ๑ ด้วยให้เครื่องแต่งตัว ๑ ฯ ภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลังอันสามีบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยสถาน ๕ คือ จัดการงานดี ๑ สงเคราะห์คนข้างเคียงของ ผัวดี ๑ ไม่ประพฤตินอกใจผัว ๑ รักษาทรัพย์ที่ผัวหามา ได้ ๑ ขยัน ไม่เกียจคร้านในกิจการทั้งปวง ๑ ฯ ภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลังอันสามีบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยสถาน ๕ เหล่านี้ ทิศเบื้องหลังนั้น ชื่อว่า อันสามีปกปิดให้เกษมสำราญ ให้ไม่มีภัยด้วยประการฉะนี้ฯ” ![]() “ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรผู้เป็นทิศเบื้องซ้ายอันกุลบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ ด้วยการให้ปัน ๑ ด้วยเจรจาถ้อยคำเป็นที่รัก ๑ ด้วยประพฤติ ประโยชน์ ๑ ด้วยความเป็นผู้มีตนเสมอ ๑ ด้วยไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความ จริง ๑ ฯ มิตรผู้เป็นทิศเบื้องซ้ายอันกุลบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน ๕ คือ รักษามิตรผู้ประมาทแล้ว ๑ รักษาทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว ๑ เมื่อมิตรมีภัยเอาเป็นที่พึ่งพำนักได้ ๑ ไม่ละทิ้ง ในยามวิบัติ ๑ นับถือตลอดถึงวงศ์ของมิตร ๑ ฯ มิตรผู้เป็นทิศเบื้องซ้ายอันกุลบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน ๕ เหล่านี้ ทิศเบื้องซ้ายนั้น ชื่อว่า อันกุลบุตรปกปิดให้เกษมสำราญ ให้ไม่มีภัยด้วยประการฉะนี้ ฯ” ![]() “ดูกรคฤหบดีบุตร ทาสกรรมกรผู้เป็นทิศ เบื้องต่ำอันนายพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ ด้วยจัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง ๑ ด้วยให้อาหารและรางวัล ๑ ด้วยรักษาในคราวเจ็บไข้ ๑ ด้วยแจกของมีรสแปลกประหลาดให้กิน ๑ ด้วยปล่อยในสมัย ๑ ฯ ทาสกรรมกรผู้เป็นทิศเบื้องต่ำอันนายบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์นายด้วยสถาน ๕ คือ ลุกขึ้นทำการงานก่อนนาย ๑ เลิกการงานทีหลังนาย ๑ ถือเอาแต่ของที่นายให้ ๑ ทำการงานให้ดีขึ้น ๑ นำคุณของนายไปสรรเสริญ ๑ ฯ ทาสกรรมกรผู้เป็นทิศเบื้องต่ำ อันนายบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์นายด้วยสถาน ๕ เหล่านี้ ทิศเบื้องต่ำนั้น ชื่อว่า อันนายปกปิดให้เกษมสำราญ ให้ไม่มีภัย ด้วยประการฉะนั้นฯ” ![]() “ดูกรคฤหบดีบุตร สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน อันกุลบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ ด้วยกายกรรมประกอบด้วยเมตตา ๑ ด้วยวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา ๑ ด้วยมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา ๑ ด้วยความเป็นผู้ไม่ปิดประตู ๑ ด้วยให้อามิสทานเนืองๆ ๑ ฯ สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน อันกุลบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์ กุลบุตรด้วยสถาน ๖ คือ ห้ามไม่ให้ทำ ความชั่ว ๑ ให้ตั้งอยู่ในความดี ๑ อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงาม ๑ ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ๑ ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง ๑ บอกทางสวรรค์ให้ ๑ ฯ สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน อันกุลบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์ กุลบุตรด้วยสถาน ๖ เหล่านี้ ทิศเบื้องบนนั้น ชื่อว่าอันกุลบุตรปกปิดให้เกษมสำราญ ให้ไม่มีภัย ด้วยประการ ฉะนี้ฯ” เมื่อทราบถึงหน้าที่ที่ควรปฏิบัติต่อกันตามฐานะแล้ว ลองย้อนพิจารณาตัวเราเองว่า ได้ทำหน้าที่เหล่านี้ต่อบุคคล อื่นแล้วหรือไม่? แล้วถามตนเองต่อไปว่า เรามีความรักให้บุคคลเหล่านั้นแล้วหรือ? เมื่อพิจารณาถึงที่สุดจะพบว่า ความรักที่ตนเองมีต่อพ่อแม่หรือลูก, ครูอาจารย์หรือศิษย์, สามีหรือภรรยา, มิตร, นายหรือบ่าว และสมณพราหมณ์หรือผู้ที่เคารพ เป็นอย่างไร การมีความรักและไม่มีความรักให้ผลต่างกันอย่างไร? คำตอบเหล่านี้จะสะท้อนถึงความรักที่เรามีต่อคนอื่น สุขหรือทุกข์จากความรัก จึงเป็นผลของการไม่ปฏิบัติตนตามหน้าที่ที่ควรทำนั่นเอง ความรักที่เกิดจากการทำหน้าที่ของตน เป็นความรักที่จริงแท้ อำนวยผลเป็นสุขประโยชน์ให้แก่บุคคลผู้ทำหน้าที่ของตนเสมอ ทั้งยังก่อให้เกิดกระแสความรักที่ไหลหลั่งหมุนเวียนในจิตใจของบุคคลรอบข้างอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ยังสุขประโยชน์ให้เป็นไปในสังคมของตน ด้วยอำนาจแห่งสุขประโยชน์นั้น ก็จะทำให้เกิดความปรารถนา ให้ผู้อื่นได้รับสุขประโยชน์เช่นตนบ้าง จึงแนะนำและทำตนให้เป็นตัวอย่างแก่คนอื่นอยู่เสมอ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงความรักต่อเพื่อนมนุษย์ นำให้เกิดพระพุทธศาสนาสืบมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อทราบความหมายแห่งรักที่จริงแท้ดังนี้แล้ว ก็จะเข้าใจได้ว่าความรักที่ทุกคนแสวงหาในวัยหนุ่มวัยสาวนั้น ไม่ใช่ความรักที่จริงแท้ แต่เป็นความใคร่ ความปรารถนา ที่มุ่งหวังแต่สุขประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว ซึ่งเมื่อแต่ละคนประพฤติตนโดยมุ่งหวังสุขประโยชน์ของตนเช่นนี้ ก็ทำให้กล้าที่จะทำลายประเพณีที่ดีงามอันบรรพชนได้สร้างสรรค์ไว้ เพศสัมพันธ์จึงเป็นคำตอบสุดท้ายของคนกลุ่มนี้ นี่เป็นเหตุทำให้เขาเหล่านี้ มีพฤติกรรมที่ต่ำกว่าสัตว์ดิรัจฉาน เพราะเหตุว่าสัตว์จะมีเพศสัมพันธ์ตามเวลา เพื่อการดำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์ของมัน เพราะตระหนักถึงภัยที่เกิดจากความใคร่อันจักก่อปัญหาขึ้นในสังคม ทำให้สังคมเต็มไปด้วยอบายมุข ไร้ซึ่ง ศีลธรรม และความดีงาม พระพุทธเจ้าจึงทรงกำหนดศีลข้อที่ ๓ ไว้ว่า กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี เว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ทรงบัญญัติศีลข้อนี้ด้วยหวังปลูกความสามัคคี สร้างความเป็นปึกแผ่น ป้องกันความแตกร้าวในหมู่มนุษย์ และทำให้วางใจกันและกัน ชายกับหญิงแม้ไม่ได้เป็นญาติกัน ก็ยังมีความรักใคร่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ด้วยอำนาจความปฏิพัทธ์ในทางกามสิกขาบทข้อนี้ แปลว่า เว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย คำว่า “กามทั้งหลาย” ในที่นี้ได้แก่ กิริยาที่รักใคร่กันทางประเวณี หมายถึง เมถุน คือ การส้องเสพระหว่างชายหญิง พระพุทธเจ้าทรงแสดงผลแห่งการผิดศีลข้อ ๓ นี้ของ พระองค์ไว้ มีบันทึกหนังสือสัมภารวิบาก (กว่าจักเป็นพระพุทธเจ้า) ว่า ณ กาลเมื่อปุณฑริกกัป ๑ บังเกิด ครั้งนั้น พระบรมโพธิสัตว์ ได้เสวยพระชาติกำเนิดในตระกูลช่างทอง เมื่อเจริญวัยใหญ่กล้าขึ้นแล้ว ก็เป็นช่างทองผู้ ฉลาด ทรงรูปสิริเลิศล้ำบุรุษ ณ กาลนั้นท่านได้ปลอมตัวเป็นขัตติยนารี แล้วใช้อุบายร่วมภิรมย์สังวาสกามรดีกับนางกาญจนวดี ธิดาของกรัณฑกะ มหาเศรษฐี ผู้เป็นภรรยาของบุตรชายแห่งวิสาลมหาเศรษฐี ด้วยอำนาจแห่งความปรารถนาของตน เมื่อตายจากชาตินั้น พระองค์ต้องไปตกนรกได้รับทุกขเวทนานานนับหมื่นปี เมื่อพ้นกรรมจากนรก ก็มาเกิดเป็นกระเทย ลา โค อย่างละ ๕๐๐ ชาติ จึงจะพ้นวิบากกรรมนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสพระสัทธรรมสอนพุทธเวไนยนิกรว่า “สัตว์ทั้งหลายในโลกสันนิวาสนี้ ย่อมได้เสวย ทุกขเวทนาแสนสาหัสในอบายภูมิ ๔ เพราะเดือดร้อน ด้วยราคาทิกิเลส ผู้ไม่รู้พระสัทธรรมเป็นเหตุให้เจริญภพ เจริญชาติ ความก่อเกิดเป็นร่างกายเที่ยวเวียนว่ายอยู่ในโอฆสงสาร แม้จะกำหนดกำเนิดด้วยอนากโกฏิอสงไขยกัป นั้นนับมิได้ เมื่อเป็นพุทธบุคคลแล้วนั้นแล จึงจัดได้ชื่อว่าเป็นผู้พ้นจากจตุราบาย” เหตุนี้ จึงพอสันนิษฐานได้ว่า กระเทย ทอม ดี้ ผู้มีความผิดปกติทางเพศ ย่อมเป็นผู้ได้เคยกระทำผิดศีลข้อ ๓ มาแต่อดีต ผลแห่งกรรมนั้น จึงทำให้มาดำรงสภาพเป็น กระเทย ทอม ดี้ ในชาตินี้ เพราะความปรารถนาที่ผิดปกติครอบงำ ทำให้เขาเหล่านั้น มีดวงตามืดบอดต่อความดีงามและจารีตประเพณี เกิดความคิดเห็นว่าสิ่งที่ตนทำ นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง จึงเผยแพร่ความคิดที่วิปริตไปในสังคม ชักจูงให้เยาวชนผู้ไร้ความคิดดำเนินชีวิตแบบวิปริต ตามไปอีกมากมาย ทำให้ทราบว่าคนทำผิดศีลข้อ ๓ แต่อดีตกาลนั้นมีมากเพียงใด ผลที่ติดตามมาก็คือความเสื่อมสูญของจารีตประเพณีและพระพุทธศาสนา แม้จะมีพระสงฆ์ที่มุ่งมั่นสอนแนวทางการดำเนินชีวิตไปตามหลักการแห่งรักที่จริงแท้ ตามพระบรมพุทโธวาท อยู่เป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่สามารถนำวิถีสังคมไทยที่งดงาม ให้สามารถคงอยู่สืบไป เพราะคนไทยเสพความรักจอมปลอม จากสื่อสารมวลชนไปจนติดใจแล้ว สังเกตได้จากละครทีวี ที่เป็นเรื่องราวประโลมโลกเป็นส่วนใหญ่ นี่ จึงเป็นสาเหตุนำให้เกิดปัญหาทางสังคม อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ยากที่จะแก้ไขให้กลับมาได้ในสถานการณ์ทุนนิยมเช่นปัจจุบัน การแก้ไขปัญหาสังคมที่เกิดจากความรัก จึงเป็นหน้าที่ ของคนในสังคมทุกคน ที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบตามฐานะ แห่งตน ด้วยการทำความรักที่จริงแท้ ให้ปรากฎในครอบครัวของตน และผลแห่งความรักเช่นนี้ จะแพร่กระจายไปในสังคม ทำให้สังคมมีแต่สุขประโยชน์ตลอดไป ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ เป็นวันวาเลนไทน์และวันตรุษจีน ควรที่เยาวชนผู้ปรารถนาความรัก พึงแสดงความ รักที่จริงแท้แก่บุพการีชนของตน ให้เหมือนกับคนจีนที่รักษาพิธีการวันตรุษจีนไว้อย่างเหนียวแน่น พร้อมกับสอนนัยยะแห่งการดำเนินชีวิตผ่านพิธีการวันตรุษจีนแก่ลูกหลาน ซึ่งการณ์นั้นก็เป็นไปตาม พระโอวาทปาฏิโมกข์ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ในวันมาฆบูชาว่า “การไม่ทำ บาปทั้งปวง การยังกุศลให้ถึงพร้อม และการทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว” นี่ล่ะคือสุขประโยชน์ที่แท้จริง อย่าทำตนให้มีความรักที่เศร้าหมอง เหมือนคนที่ให้นิยามความรักไว้ว่า LOVE : L = Lake of tears (ทะเลสาบแห่งน้ำตา) O = Ocean of sorrow (มหาสมุทรแห่งความเสียใจ) V = Valley of death (หุบเขาของความตาย) E = End of life (จุดจบของชีวิต) แล ที่มา...ASTVผู้จัดการออนไลน์ (จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 111 กุมภาพันธ์ 2553 โดยพระพจนารถ ปภาโส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม) ![]() ![]() ![]() |
เจ้าของ: | วรานนท์ [ 21 พ.ค. 2010, 22:03 ] | ||
หัวข้อกระทู้: | Re: รัก... ที่แท้จริง | ||
![]() ![]() ![]() อนุโมทนาสาธุด้วยครับคุณลูกโป่ง ![]() ![]() ![]()
|
เจ้าของ: | ทักทาย [ 22 พ.ค. 2010, 01:02 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: รัก... ที่แท้จริง |
รักที่แท้จริง.... คือการให้อย่างไม่มีเงื่อนไข ดีใจและสุขใจที่ได้ให้.... ชื่นใจที่เห็นคนที่เรารักเป็นสุขในทุกกรณี อนุโมทนาค่ะ ![]() |
เจ้าของ: | ธรรมบุตร [ 22 พ.ค. 2010, 15:29 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: รัก... ที่แท้จริง |
![]() ![]() ![]() |
เจ้าของ: | สาวิกาน้อย [ 26 พ.ค. 2010, 05:52 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: รัก... ที่แท้จริง |
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |
เจ้าของ: | ฟ้าใสใส [ 07 ต.ค. 2010, 13:09 ] | ||
หัวข้อกระทู้: | Re: รัก... ที่แท้จริง | ||
ความรักที่แท้จริง คือ อะไร โดย ท่าน ว.วชิรเมธี >> ท่าน ว. วชิรเมธี << ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ อาตมาต้องขอทบทวนความรักและพัฒนาการของความรักเสียก่อน คือถ้าเราเห็นพัฒนาการของความรัก เราก็จะตอบได้ว่า อะไรคือรักที่แท้ในทรรศนะพระพุทธศาสนา ความรักนั้นในทรรศนะของอาตมภาพจัดเป็น 4 ระดับด้วยกันคือ 1. รักตัวกลัวตาย : เป็นความรักขั้นพื้นฐานที่สุดของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน และที่เรียกว่าสรรพชีพ สรรพสัตว์ทุกชนิด สรรพชีพ หมายถึง สิ่งมีชีวิตทั้งหลายซึ่งเราไม่สามารถมองเห็นด้วยตา ทั้งอยู่ในโลกเดียวกันกับเราหรืออยู่ในโลกอื่นออกไปสรรพสัตว์ หมายถึง สัตว์ทั้งปวงที่เรามองเห็นได้ด้วยตา สิ่งมีชีวิตทั้งหมดไม่ว่าจะเรียกว่าคน หรือไม่เรียกว่าคนก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีความรักขั้นพื้นฐานคือรักตัวกลัวตาย ความรักอย่างนี้ เป็นความรักอิงสัญชาติญาณการดำรงชีวิตรอด สิ่งมีชีวิตทั้งหมดเกิดมาก็มีความรักชนิดนี้อยู่กับตัวแล้ว แต่ยังไม่ใช่รักแท้ เพราะในแง่ลบมันมีโอกาสสูงมากที่จะกลายเป็นความเห็นแก่ตัว นั่นคือด้วยเหตุที่พยายามจะเอาตัวรอด ก็เป็นเหตุให้ต้องทำร้ายทำลายชีวิตอื่นดังนั้นความรักตัวกลัวตายจึงไม่เพียงพอ และยังไม่ใช่รักที่แท้ ต้องพัฒนาต่อไป 2. รักใคร่ปรารถนา : เป็นความรักในเชิงชู้สาว เกิดขึ้นทั้งกับคนและกับสิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งคือสรรพชีพ สรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่มีความผูกพันกันในเชิงชู้สาว ความรักชนิดนี้อิงอยู่กับสัญชาตญาณการสืบพันธุ์ แท้ที่จริงรากฐานของความรักชนิดนี้ก็มาจากความรักชนิดที่ 1 คือ รักตัวกลัวตายนั่นเอง แต่ว่าประณีตขึ้น แสดงออกละเมียดละไมมากขึ้น ดูเหมือนว่าแทนที่จะรักตัวกลัวตายอย่างเดียว ก็เผื่อแผ่ใจออกไปรักคนอื่นด้วยแต่แท้ที่จริงที่รักคนอื่นก็เพื่อให้คนอื่นนั้นมารักตัวเอง หากมองอย่างลึกซึ้ง รักใคร่ปรารถนาก็ยังเป็นความรักที่มีความเห็นแก่ตัวปนอยู่นั่นเอง ฉะนั้นรักใคร่ปรารถนาจึงยังไม่พอ 3. รักเมตตาอารี : ความรักอิงความผูกพันทางสายเลือด นามสกุล ศาสนา ชาติพันธุ์ ชนชั้นวรรณะ ภาษาและวัฒนธรรม พูดง่ายๆว่า เป็นความรักที่เกิดขึ้นจากการที่มนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ตระหนักรู้ว่าผู้ที่ร่วมสายพันธุ์เดียวกันกับตนนั้นเป็นพวกเดียวกันกับตน ความรักชนิดนี้บางครั้งเราก็เรียกว่า ความรักอิงสายเลือดบ้าง ความรักอิงความเมตตาบ้าง เช่น พ่อแม่รักลูก ครูบาอาจารย์รักลูกศิษย์ เพื่อนรักเพื่อน นายรักลูกน้อง มนุษย์ด้วยกันรักมนุษย์ สัตว์ด้วยกันรักสัตว์ คนชาติเดียวกันรักคนชาติเดียวกัน เช่นคนไทยรักคนไทยมากกว่าฝรั่ง ฝรั่งก็จะรักฝรั่งมากกว่าคนไทย จีนก็จะรักจีนมากกว่าแขก นี่เรียกว่ารักเมตตาอารี แม้จะเป็นความรักที่มีรากฐานอยู่บนพื้นฐานของความเมตตา แต่ก็ยังไม่ปลอดภัยอยู่นั่นเอง เพราะยังมีข้อจำกัดว่าเลือกรักเลือกเมตตาเฉพาะเผ่าพันธุ์พงศสคณาญาติของตน แม้จะดูกว้างขวางแต่ก็ยังไปไม่พ้นพรมแดนของการถือเขาถือเราอยู่นั่นเอง 4. รักมีแต่ให้ : เป็นความรักของมนุษย์ผู้ที่ได้ค้นพบภาวะความเป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานในหัวใจอย่างลึกซึ้ง แล้วหลุดพ้นจากกิเลสขึ้นมากลายเป็นอารยชน ความรักชนิดนี้เกิดขึ้นจากการมองเห็นความไร้แก่นสารหรือความไม่มีตัวตนของตนเอง จึงไม่มีตัวตนไว้สำหรับเห็นแก่ตัว เมื่อไม่เห็นแก่ตัว จึงเห็นแก่โลกทั้งผอง หัวใจไร้พรมแดน เกิดเป็นความรักขั้นสูงสุด มองคน มองสรรพชีพ มองสรรพสัตว์ทั้งหลายในลักษณะโลกทั้งผองพี่น้องกัน ความรักชนิดนี้เป็นความรักแท้ เปิดเผย บริสุทธิ์ จริงใจ โดยไม่เรียกร้องการตอบแทน เปรียบเสมือนแสงเดือนแสงตะวันที่สาดโลมผืนโลกโดยไม่เคยเรียกร้องสิ่งตอบแทน เปรียบเสมือนสายฝนและดงดอกไม้ที่ชโลมผืนโลก ให้ความชุ่มชื่นเย็น งดงาม และไม่ต้องการให้ใครมองเห็นคุโณปการของตัวเอง เป็นดอกไม้ก็ส่งกลิ่นหอม แล้วร่วงโรยไปตามวันเวลาอย่างสงบเงียบ ไม่ปรารถนาจะเป็นที่ปรากฎอะไร เช่นเดียวกัน พระอรหันต์ อริยชนทั้งหลาย ตั้งแต่พระโสดาบัน บุคคลขึ้นไป ก็ทำงานเพราะมีความรักที่แท้เป็นแรงผลักดัน ทำงานก็เพราะว่างานนั้นเป็นสิ่งที่วิถีชีวิตของท่านควรทำไม่มีแรงจูงใจในลักษณะเกิดจากลาภสักการะ หรือผลประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น เหมือนเราทุกคนเกิดมาแล้วหายใจ ที่เราหายใจเพราะการหายใจคือส่วนหนึ่งของชีวิต เราหายใจโดยไม่จำเป็นต้องเรียกร้อง ไม่จำเป็นต้องบังคับ การหายใจก็คือการหายใจ การหายใจมีความสมบูรณ์อยู่ในตัวเองฉันใด ผู้ที่มีรักแท้ในหัวใจก็พร้อมรักคนทั้งโลกโดยไม่เรียกร้องอะไรตอบแทน ฉันนั้น ทั้งนี้เพราะมันเป็นธรรมชาติอันเป็นธรรมดานั่นเอง ด้วยเหตุนี้รักแท้จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า "กรุณา" หรือ "การุณยธรรม" เกิดขึ้นหลังจากที่ปัจเจกบุคคลผู้หนึ่งได้ค้นพบปัญญา คือ ความตื่นรู้ แล้วเกิดวิสุทธิภาวะ คือจิตใจที่หลุดพ้น เป็นอิสรภาพจากอวิชชาอย่างสิ้นเชิง ปัญญาที่ตื่นรู้ และวิสุทธิภาวะของจิตที่หลุดพ้นจากอวิชชาอย่างสิ้นเชิง ก่อให้เกิดคุณธรรมชนิดใหม่ซึ่งเปรียบเสมือนธารน้ำที่หลั่งไหลมาของความรักก็คือ กรุณา ฉะนั้นพระพุทธองค์จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า "มหาการุณิกะ" แปลว่าบุคคลผู้เปี่ยมด้วยความรักอันไพศาล นั่นแหละ รักแท้ คือ กรุณา " มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่จะค้นพบรักแท้ในหัวใจของตัวเองได้เพราะรักแท้หรือกรุณามาจากพุทธภาวะในหัวใจของเราทุกคนฉะนั้นขอแค่เราเป็นคนเท่านั้นแหละ เราก็มีธรรมชาติเดิมแท้เป็นความรักแท้ที่จำพรรษาในใจอยู่แล้ว รอแต่ว่าเมื่อไหร่เราจะค้นพบเท่านั้นเอง เขารอเราอยู่ตลอดเวลา ทุกภพทุกชาติทุกวินาที " พรหมวิหาร 4 ก็เป็นวิธีอธิบายพัฒนาการของความรักในอีกรูปแบบหนึ่ง คนที่จะปฏิบัติพรหมวิหาร 4 ให้สมบูรณ์ได้นั้นต้องใช้ปัญญาขั้นสูงพอสมควร ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ เมตตา (ต่อคนและสรรพสัตว์ทั้งโลก) กรุณา (ต่อคนและสรรพสัตว์ทั้งโลก) มุทิตา (ต่อคนและสรรพสัตว์ทั้งโลก) อุเบกขา (ต่อคนและสรรพสัตว์ทั้งโลก) พรหมวิหาร 4 เป็นหลักธรรมที่เป็นคุณสมบัติของบุคคลผู้เป็นพรหม คนที่จะเป็นพรหมได้จึงต้องใช้ปัญญากันมากพอสมควร เป็นที่รู้กันว่าในวัฒนธรรมความเชื่อแบบอินเดียโบราณ พรหม คือ พระผู้สร้างโลกและสร้างสรรพสิ่ง เพราะฉะนั้นคนที่ได้ชื่อว่าเป็นพรหมก็ต้องมีคุณธรรมของพรหม 4 ประการคือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ให้สมบูรณ์ แต่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขานั้น จะปฏิบัติให้สมบูรณ์เป็นเรื่องยากมาก เพราะธรรมชาติของมนุษย์มักจะเมตตาเฉพาะคนที่ตัวเองรัก คนที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง กรุณาเฉพาะคนที่ตัวเองรัก คนที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง มุทิตาเฉพาะกับคนที่ตัวเองรัก คนที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง เห็นไหม สามข้อนี้ปฏิบัติยากมากเพราะเป็นเรื่องของคนกับคน คนกับอารมณ์ พอมาถึง อุเบกขา ยิ่งยากมากกว่านั้นนับร้อยนับพันเท่า เพราะอุเบกขาเป็นเรื่องของคนกับธรรม หรือคนกับหลักธรรม ธรรมชาติของมนุษย์มักจะมีความโน้มเอียงตกเป็นฝักฝ่าย ไม่บวกก็ลบ ไม่สูงก็ต่ำ ไม่ขวาก็ซ้าย ไม่เธอก็ฉัน แต่อุเบกขา คนที่จะปฏิบัติได้นั้นต้องมีลักษณะหรือพฤติกรรมในทางจิตใจ สามารถมองทะลุสมมุติบัญญัติทั้งปวง มีโลกทัศน์ในลักษณะที่เรียกว่า Duality คือ เหนือสิ่งซึ่งเป็นคู่ตรงข้ามทั้งหมดทั้งปวง สามารถทะลุทะลวงสิ่งสมมุติ แล้วลอยเด่นอยู่เหนือสิ่งสมมุติทั้งหลายทั้งปวง มองโลกได้ทั้งในแง่ดีแง่ร้าย มองคนได้ทั้งคนดีและคนร้าย มองสรรพสัตว์ทั้งดีและร้าย ด้วยระดับเดียวกัน ไม่มีใครสูงกว่าใคร ไม่มีใครต่ำกว่าใคร และตัวเองก็ไม่เลือกเข้าข้างใคร การที่จะปฏิบัติตัวให้เป็นคนที่อยู่ในโลกที่มีภาวะจิตใจเหนือโลกเช่นนี้ได้นั้น ต้องการปัญญาขั้นสูง ฉะนั้นพรหมวิหารธรรมจึงเป็นธรรมที่ทำให้บุคคลเป็นพรหม ไม่ใช่ธรรมะตื้นๆ ธรรมดาๆ แต่เป็นธรรมขั้นสูงผู้ที่จะบำเพ็ญพรหมวิหารธรรมได้ครบสมบูรณ์จึงหาไม่ได้ง่ายๆ แต่ใครก็ตามสามารถบำเพ็ญพรหมวิหารธรรมได้ครบสมบูรณ์ ต้องถือว่าคนนั้นมีคุณค่าเท่ากับเป็นพรหมทีเดียว เพราะคนๆนั้น สามารถสร้างโลกสร้างชีวิตได้อย่างร่มเย็นเป็นสุข พอๆ กับที่พระพรหมสร้างโลกทั้งผองให้มีความลงตัวสมบูรณ์ สร้างครั้งเดียวแล้ว ไม่ต้องกลับมาสร้างใหม่ เห็นไหม ใครก็ตามที่มีพรหมวิหารธรรมในหัวใจ ก็สามารถปฏิบัติต่อคนทั้งโลก สามารถปฏิบัติต่อธรรมะซึ่งเป็นแกนกลางที่ทำให้โลกนี้มีความร่มเย็นเป็นสุขอยู่ได้อย่างสมดุล โดยสรุปคนที่จะปฏิบัติพรหมวิหารธรรมในหัวใจได้นั้น ต้องมีพุทธภาวะ คือ มีปัญญา มีสุทธิภาวะ คือมีจิตใจซึ่งหลุดพ้นจากอวิชชา และแน่นอนที่สุดก็ต้องมีกรุณาภาวะ คือ รักแท้เป็นเรือนใจ จึงจะสามารถปฏิบัติพรหมวิหารธรรมได้อย่างสมบูรณ์ ไปๆ มาๆ ทั้งพรหมวิหารธรรม และรักสี่ประการที่อาตมภาพกล่าวมาข้างต้นทั้งหมดเป็นเนื้อเดีวกัน อุเบกขาจึงเป็นเรื่องที่คนจำนวนมากปฏิบัติกันผิดๆ ไหนๆ ถามแล้วก็ขออธิบายลงลึกในรายละเอียดว่า พรหมวิหารธรรมทั้งสี่ประการนั้น ต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับบริบทหรือสภาพแวดล้อมนั้นๆ ดังนี้ เมตตา ใช้ในสถานการณ์ปกติ คือมองดูคนทั้งโลก มองดูสรรพชีพ สรรพสัตว์ทั้งโลกด้วยสายตาแห่งไมตรีจิต และเป็นมิตร ในลักษณะ " We are the world " หรือ "โลกทั้งผองพี่น้องกัน" กรุณา ใช้ในสถานการณ์ที่คนซึ่งอยู่ข้างหน้าเรา สรรพชีพ สรรพสัตว์กำลังตกทุกข์ได้ยาก เราจึงยื่นมือเข้าไปช่วย ถ้าเขาอยู่เฉยๆ เรายื่นมือเข้าไปช่วย อาจจะโดนข้อหาหวังดีแต่ประสงค์ร้าย ใช่ไหม เขาไม่ต้องการอาหาร เรายกอาหารไปให้เขา ก็อาจถูกข้อหายัดเยียดอาหารให้เขาทั้งๆ ที่เราหวังดี แต่เพราะทำไม่ถูกกาลเทศะ กลายเป็นหวังดีประสงค์ร้าย ฉะนั้นกรุณาถ้าไม่ถูกกาลเทศะ อาจกลายเป็นยุ่งเรื่องคนอื่นได้ มุทิตา ใช้ในสถานการณ์ที่คนซึ่งอยู่เบื้องหน้าของเราได้ดีมีความสุข เราให้กำลังใจเขา ทำไมต้องให้กำลังใจเขา เพราะถ้าเราไม่รีบให้กำลังใจ ใจของเราจะพลิกจากมุทิตาเป็นริษยา คือ จะทนต่อคุณงามความดีของคนอื่นไม่ได้ เมื่อปล่อยให้ริษยาก่อตัวขึ้นในใจ ริษยานั้นจะเผาไหม้ใจของเราให้เป็นจุณ จากนั้นจะลุกลามไปเผาไหม้คนที่เราริษยา พระพุทธเจ้าแนะให้มุทิตาก็เพื่อป้องกันริษยา และเพื่อยกระดับจิตใจเราให้สูงขึ้น ปรารถนาให้คนอื่นดีกว่าตน นั่นคือ เป็นปฏิบัติการที่ฝึกใจให้เป็นพระโพธิสัตว์องค์น้อยๆ มุทิตาเป็นรอยต่อทำให้คนเป็นพระโพธิสัตว์นะ ถ้าเราเห็นคนอื่นได้ดี แล้วเข็มไมล์หัวใจของเราไม่กระดิกด้วยริษยา แสดงว่าเราเริ่มมีพัฒนาการที่จะเป็นพระโพธิสัตว์เกิดขึ้นแล้ว ฉะนั้นใครอยากเป็นพระโพธิสัตว์ให้บำเพ็ญมุทิตาจิตให้มากๆ เห็นคนอื่นได้ดีมีสุขแล้วเข็มไมล์หัวใจนี่ไม่กระดิกในทางลบเลย มีแต่เบิกบาน ผ่องใสกับเขา เหมือนสายฝนตกมาแล้ว หลังฝนพรำ เห็ดก็งอกออกจากพื้นดิน เพราะมุทิตาต่อสายฝน เห็ดจึงสามารถผุดออกมาจากผืนดินได้ เช่นเดียวกันเพราะมุทิตาต่อคนอื่น หัวใจจึงสามารถหลุดพ้นจากความคับแคบของโซ่ตรวนแห่งความริษยาได้ อุเบกขา ใช้ในสถานการณ์ที่คนกำลังขัดแย้งกับหลักธรรม หลักการแห่งความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม และหลักกฎหมาย เราควรปล่อยให้คนเหล่านั้นได้รับผิดชอบจากผลแห่งการกระทำนั้นด้วยตัวของเขาเองโดบปราศจากการแทรกแซง เราวางตัวเป็นกลางด้วยความตื่นรู้ แล้วก็กันตัวเองออกมา เฝาดูคนทำผิดหลักการ ผิดหลักธรรม ผิดหลักธรรมนั้น รับผลแห่งการกระทำของเขาเองอย่างตรงไปตรงมา ตามลักษณะของความเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ว่า "สิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี สิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะสิ่งนี้เกิดขึน สิ่งนี้ดับไปก็เพราะสิ่งนี้ดับไป" เราเป็นผู้ดู ผู้สังเกตุการณ์ ปล่อยให้คนที่สวนทางกับหลักการ หลักธรรม หลักกรรมทั้งหลายนั้น รับผลซึ่งเค้าได้ก่อเหตุเอาไว้อย่างตรงไปตรงมานั่นแหละคือการวางตัวเป็นกลาง การวางตัวเป็นกลาง อย่างนี้ต้องใช้ปัญญาขั้นสูง เพราะมีคนจำนวนมากที่พยายามวางตัวเป็นกลาง แต่เนื่องจากปราศจากปัญญา การพยายามวางตัวเป็นกลาง เลยการเป็นการปล่อยปละละเลย " ฉะนั้นอุเบกขาจึงมีสองลักษณะ หนึ่ง อุเบกขาที่มาพร้อมกับปัญญา เป็นอุเบกขาที่แท้จริง พึงประพฤติปฏิบัติ สอง อุเบกขา ที่มาพร้อมกับความโง่ เรียกว่า อัญญานุเบกขา เป็นอุเบกขาที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะหากวางอุเบกขาด้วยความโง่ ยิ่งพยายามวางอุเบกขากลายเป็นว่ายิ่งทอดธุระ ยิ่งปล่อยปละละเลย " ฉะนั้นการปฎิบัติพรหมวิหารธรรมทั้งสี่ประการให้สมบูรณ์ต้องดูสภาพแวดล้อมด้วยเสมอ ถ้าไม่ดูสภาพแวดล้อม แล้วจู่ๆก็มีเมตตา อาจกลายเป็นเมตตาจนเกินพอดี เขามีปัญหาช่วยเหลือมากเกินไป กลายเป็นแบกภาระแทนเขา เขาได้ดีมีสุข มุทิตาไม่ดูกาลเทศะ ทำให้คนที่ถูกมุทิตาหลงตัวเอง หากใช้อุเบกขาโดยไม่ใช้ปัญญาก็อาจกลายเป็นการทอดธุระปล่อยปละละเลย เฉยมั่ว เฉยเมย และเฉยเมิน ในการฝึกมุทิตากับคนอื่น ให้เรามองตัวเรากับมองตัวเขาว่า เราทั้งคู่นี่ช่างโชคดีจังเลยนะ ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ทั้งที่กว่าจะเกิดมาก็แสนยาก กว่าจะดำรงชีวิตรอดก็แสนยาก แล้วทั้งๆที่เกิดแสนยาก ดำรงชีวิตแสนยากนั้นก็ยังอุตส่าห์สู้ฟันฝ่าอุปสรรคมาได้จนประสบความสำเร็จ คนเช่นนี้ช่างน่านับถือในความวิริยะอุตสาหะจังเลย ฉันขอชื่นชมต่อคุณนะ แล้ววันหนึ่งฉันจะพยายามพัฒนาตัวเองให้เป็นเหมือนคุณบ้าง นี่เห็นไหม มองกว้างๆ อย่างนี้แล้วเราจะไม่อิจฉาไม่ริษยาเขาเลยเพราะอะไร เพราะเขาก็คือเพื่อนร่วมโลกเหมือนกับเรา ให้มองคนที่อยู่ตรงหน้าว่าเขากับเราต่างก็เป็นเพื่อนผู้ร่วมเกิดแก่เจ็บตายในสังสารวัฏเดียวกัน การที่เราชิงชังรังเกียจเขา ริษยาเขา ก็คือเรากำลังโกรธเกลียดชิงชังเพื่อนของเรานั่นเอง แล้วคนที่เกลียดเพื่อนสุดท้ายก็จะเสียเพื่อน และกลายเป็นคนไม่มีเพื่อน ดังนั้นการทำร้ายเพื่อน การริษยาเพื่อน แท้ที่จริงก็คือการทำร้ายตัวเรานั่นแหละ เรื่องอะไรเราจะทำร้ายตัวเราด้วยการทำร้ายเพื่อน แต่หากเราแผ่มุทิตาต่อเขา ใจของเราก็เบิกบาน เหมือนดอกไม้ ทันทีที่แสงตะวันสาดมาต้อง ดอกไม้ไม่ขังตัวเองไว้ แต่เปิดใจรับแสงตะวัน ดอกตูมจึงกลายเป็นดอกบาน เห็นไหม ถ้าดอกไม้ตูมไม่เปิดใจรับแสงตะวัน ทั้งปีทั้งชาติก็ตูมอยู่อย่างนั้น แล้วกลิ่นหอมจะมาแต่ไหน ความเป็นดอกไม้ก็ไม่สมบูรณ์ ความสมบูรณ์ของดอกไม้อยู่ที่เป็นดอกไม้แล้วได้บาน ได้ร่วงโรยไปตามกาลเวลา ความสมบูรณ์ของคนก็อยู่ที่ คุณเป็นคน มีจิตใจเบิกบานเพราะปราศจากไฟริษยา " ความริษยานับเป็นคุกชนิดหนึ่ง เมื่อเราเติมมุทิตาเข้าไป จิตใจของเราก็เบิกบาน เมื่อเบิกบาน ความเป็นมนุษย์ของเราก็สมบูรณ์ ดุจเดียวกับดอกไม้ เมื่อเปิดใจรับแสงตะวัน กลีบของดอกไม้ก็คลี่บานแล้วส่งกลิ่นหอม ความเป็นดอกไม้ก็สมบูรณ์ เมื่อคนๆหนึ่งสามารถเปิดหัวใจให้กว้าง ผลิบานต่อความเจริญก้าวหน้าของเพื่อนมนุษย์ แสดงว่าเขากำลังก้าวสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เพราะว่ามุทิตาซึ่งเป็นภาวะของจิตใจของคนที่กำลังเป็นพระโพธิสัตวว์องค์น้อยๆ ได้เกิดขึ้นแล้ว " ขอขอบคุณหนังสือ รักแท้ คือ กรุณา โดย ท่านว.วชิรเมธี ที่มา :: Oknation กราบอนุโมทนาบุญกับท่านผู้เจริญในธรรมและกัลยาณมิตรทุกท่านค่ะ ![]() ![]() ![]()
|
เจ้าของ: | saisawan [ 10 ม.ค. 2011, 11:29 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: รัก... ที่แท้จริง |
ขอบคุณสำหรับข้อคิดดีๆๆค่ะ ![]() |
เจ้าของ: | petermac [ 13 ต.ค. 2011, 13:07 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: รัก... ที่แท้จริง (พระพจนารถ ปภาโส) |
ขอบคุณครับ ![]() |
เจ้าของ: | บัวฟ้า [ 04 เม.ย. 2014, 15:57 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: รัก... ที่แท้จริง (พระพจนารถ ปภาโส) |
ลูกโป่ง เขียน: ![]() รัก... ที่แท้จริง พระพจนารถ ปภาโส การแก้ไขปัญหาสังคมที่เกิดจากความรัก จึงเป็นหน้าที่ ของคนในสังคมทุกคน ที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบตามฐานะ แห่งตน ด้วยการทำความรักที่จริงแท้ ให้ปรากฎในครอบครัวของตน และผลแห่งความรักเช่นนี้ จะแพร่กระจายไปในสังคม ทำให้สังคมมีแต่สุขประโยชน์ตลอดไป พระโอวาทปาฏิโมกข์ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ในวันมาฆบูชาว่า “การไม่ทำ บาปทั้งปวง การยังกุศลให้ถึงพร้อม และการทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว” นี่ล่ะคือสุขประโยชน์ที่แท้จริง อย่าทำตนให้มีความรักที่เศร้าหมอง เหมือนคนที่ให้นิยามความรักไว้ว่า LOVE : L = Lake of tears (ทะเลสาบแห่งน้ำตา) O = Ocean of sorrow (มหาสมุทรแห่งความเสียใจ) V = Valley of death (หุบเขาของความตาย) E = End of life (จุดจบของชีวิต) แล ที่มา...ASTVผู้จัดการออนไลน์ (จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 111 กุมภาพันธ์ 2553 โดยพระพจนารถ ปภาโส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม) ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ให้ปรากฎในครอบครัวของตน และผลแห่งความรักเช่นนี้ จะแพร่กระจายไปในสังคม ทำให้สังคมมีแต่สุขประโยชน์ตลอดไป ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() และการทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว” นี่ล่ะคือสุขประโยชน์ที่แท้จริง ... ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 | เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง |
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group http://www.phpbb.com/ |