วันเวลาปัจจุบัน 02 พ.ค. 2024, 02:04  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 126 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1 ... 5, 6, 7, 8, 9  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ย. 2011, 18:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 พ.ค. 2010, 23:10
โพสต์: 194

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว




304600_165572513524125_100002141326677_332161_1898711073_n.jpg
304600_165572513524125_100002141326677_332161_1898711073_n.jpg [ 9 KiB | เปิดดู 3175 ครั้ง ]
ภาพแสดงอายุของรูป ๑ รูป มีอายุเท่ากับจิตขณะใหญ่เกิดดับ ๑๗ ขณะ แต่ต้องเทียบให้ละเอียดขึ้นไปอีกจึงต้อง แตกอายุของรูปออกเป็นขณะเล็กของจิต จึงจะได้สภาพที่เกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป ดังนั้นเมื่อรูปกำลังเกิดขึ้นแล้ว เท่ากับ ๑ ขณะเล็กของขณะจิตใหญ่ ยังมีเวลาของอายุที่ตั้งอยู่ ๔๙ ขณะเล็กของจิต พอเข้าขณะที่ ๕๑ รูปนี้ก็จะดับลงทันที แต่ถ้ายังเพ่งมองดูอยู่ ภาพนี้ก็จะปรากฏต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าเลิกมองดู

พระมหาธีระยุทธ ปราชญ์นิวัฒน์
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ก.ย. 2011, 22:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 พ.ค. 2010, 23:10
โพสต์: 194

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เรื่อง พวกเรามารู้จักพระพุทธเจ้ากันเถอะ! (ต่อครั้งที่แล้ว) ตอนที่ ๑๑๗ คุณสมบัติ อรหํ (อ่านว่า “อะระหัง”)

เจริญพร
ในขณะปฏิสนธิจิต เข้าร่วมกระบวนการกับ อสุจิของพ่อ ที่เจาะเข้าไปในไข่ของแม่ สำเร็จเสร็จสิ้นพร้อมกันไม่ก่อนไม่หลัง
ได้แสดงภาพและคำอธิบายฝ่ายรูปธรรม ยังเหลือส่วนที่เป็นนามธรรมก็คือ จิต ซึ่งธรรมชาติของจิตนั้นต้องรับรู้อารมณ์เสมอ หากไม่มีอารมณ์แล้ว จิตย่อมไม่เกิดขึ้น และเมื่อจิตเกิดขึ้นแล้ว ก็เกิดขึ้นทำหน้าที่ของตนๆ ในขณะนั้นๆ ในตอนนี้ จิตทำหน้าที่ “ปฏิสนธ...ิ” ซึ่งจิตนี้ต้องรับรู้อารมณ์(คำว่า “อารมณ์” ที่เข้าใจกันนั้นหมายถึงจิต ซึ่งผิดจากหลักศาสนา ถ้าจะให้ตรงแล้ว คำว่าอารมณ์ คือ สภาวะอย่างหนึ่งที่ทำให้จิตรับรู้ได้ เช่น สีต่างๆ เป็นอารมณ์ให้แก่จิตที่เกิดทางตา และจิตที่เกิดทางตาทำหน้าที่เห็น เสียงต่างๆ เป็นอารมณ์ให้แก่จิตที่เกิดทางหู และจิตที่เกิดทางหูทำหน้าที่ได้ยินเสียง อย่างนี้เป็นต้น) ดังนั้น จิตที่ทำหน้าที่ “ปฏิสนธิ” เรียกว่า ปฏิสนธิจิต เมื่อเป็นจิต ก็ต้องรับอารมณ์ แล้วรับอารมณ์อะไร? คือ รับอารมณ์เหมือนกับจิตก่อนที่จะตายในภพก่อนๆ จะมาเกิดปฏิสนธิในภพนี้ ดังนั้นสายทางปฏิจจสมุปบาทจึงเข้ามาทำหน้าที่อธิบาย จึงขอรวบรัดเอาที่สังขารเป็นเหตุให้เกิด วิญญาณ(ที่ไม่เอาอวิชชามาอธิบายในที่นี้ ก็เพราะคำอธิบายจะกว้างมากๆ จึงเอาพอสังเขปในเรื่องกำเนิดนี้ก่อน ส่วนต้องการรายละเอียดให้ศึกษาในตอนต้น) ก็สังขารท่านกล่าวว่า ได้แก่ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอาเนญชาภิสังขาร ก็คือ ผลกุศลกรรม(ดี) อกุศลกรรม(ชั่ว) ที่ได้ทำมาในอดีตก่อน หรือในอดีตก่อนจะตายปรากฏเป็นอารมณ์ให้แก่จิตก่อนตายที่ท่านเรียกว่า มรณาสันนวิถีจิต ส่วนอารมณ์ที่ปรากฏนั้น ท่านเรียกว่า กัมมอารมณ์ กัมมนิมิตอารมณ์ และคตินิมิตอารมณ์ ซึ่งอารมณ์ทั้งหมดนี้ ก็เป็นเหมือนกระจกเงาทำให้เราได้รู้ว่า จะไปเกิดในภพใด รวมทั้งส่งผลให้เกิดปฏิสนธิจิตในชาติภพต่อไป
สำหรับผู้ที่จะต้องตาย จุติจิตเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับลงทันที่นั้นเองปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ไม่มีระหว่าง เพราะเนื่องด้วยต้องสืบต่อชาติใหม่ สังขาร ๓ อย่างๆ ใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีอวิชชานุสัยเป็นผู้ครอบครอง และมีตัณหานุสัยเป็นรากฐาน อันถูกสังขารที่เป็นกุศลและอกุศลจัดแจงให้ไปเกิด ปฏิสนธิจิตนี้เองจะยึดเอาอารมณ์ที่มรณาสันนวิถีจิตรับรู้(กัมมอารมณ์ กัมมนิมิตอารมณ์ คตินิมิตอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ปรากฏทางทวารใดทวารหนึ่งใน ๖ ทวาร)ตามสมควร เอามาเป็นอารมณ์ให้แก่ตน และเป็นตัวหลักร่วมกับกัมมชรูป(ไข่ของแม่ กับอสุจิของพ่อ) ทำหน้าที่ก่อกำเนิดในครรภ์มารดาของภพใหม่ทันที
ในเรื่องของคตินิมิตอารมณ์(ฝ่ายกุศลกรรม) มีตัวอย่างให้ได้รับทราบตามคัมภีร์อรรถกถาพระธรรมบท เรื่องธัมมิกอุบาสก ดังต่อไปนี้
สมัยพุทธกาลครั้งนั้น ในเมืองสาวัตถี ได้มีอุบาสกผู้ปฏิบัติธรรมประมาณ ๕๐๐ คน บรรดาอุบาสกเหล่านั้น แต่ละคน จะมีอุบาสกเป็นบริวารคนละ ๕๐๐ คน อุบาสกที่เป็นหัวหน้าแห่งอุบาสกเหล่านั้นมีบุตร ๗ คน ธิดา ๗ คน บรรดาบุตรและธิดาเหล่านั้น ซึ่งแต่ละคน เป็นเจ้าภาพสลากยาคู สลากภัต ปักขิกภัต สังฆภัต อุโปสถิกภัต อาคันตุกภัต วัสสาวาสิกภัต อย่างละที่ ชนแม้เหล่านั้น ได้เป็นผู้ชื่อว่า อนุชาตบุตร ด้วยกันทั้งหมดทีเดียว (เป็นอันว่า) สลากยาคูเป็นต้น ๑ ที่ คือ ของบุตร ๑๔ คน ของภรรยาหนึ่ง ของอุบาสกหนึ่ง ย่อมเป็นไปด้วยประการฉะนี้ เขาพร้อมทั้งบุตรและภรรยา ได้เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม มีความยินดีในอันจำแนกทาน ด้วยประการฉะนี้ ต่อมาในกาลอื่น โรคเกิดขึ้นแก่เขา อายุสังขารเสื่อมรอบแล้ว

เรื่อง พวกเรามารู้จักพระพุทธเจ้ากันเถอะ! (ต่อครั้งที่แล้ว) ตอนที่ ๑๑๘ คุณสมบัติ อรหํ (อ่านว่า “อะระหัง”)

เจริญพร
เขาใคร่จะสดับธรรม จึงส่งคนไปสู่สำนักพระศาสดา แล้วกราบทูลว่า "ขอพระองค์ได้โปรดส่งภิกษุ ๘ รูป หรือ ๑๖ รูป ประทาน แก่ข้าพระองค์เถิด"

พระศาสดา ทรงส่งภิกษุทั้งหลายไป ภิกษุเหล่านั้นไปแล้วนั่งบนอาสนะที่ตบแต่งไว้ ล้อมเตียงของเขา อันเขากล่าวว่า "ท่านผู้เจริญการเห็นพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย จักเป็นของอันกระผมได้โดยยาก กระผมเป็นผู้ทุพพลภาพ ขอพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย จงสาธยายพระสูตรๆ ...หนึ่งโปรดกระผมเถิด"
จึงถามว่า "ท่านประสงค์จะฟังสูตรไหน ?อุบาสก"
เมื่อเขาเรียนว่า "สติปัฏฐานสูตร ที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ไม่ทรงละแล้ว"
จึงเริ่มสวดพระสูตรว่า "เอกายโน อย ภิกฺขเว มคฺโค สตฺตาน วิสุทฺธิยา" เป็นต้น (ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางไปอย่างเอก เพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย)
ขณะ นั้น รถ ๖ คัน ประดับด้วยอลังการทุกอย่าง เทียมด้วยม้าสินธพพันตัว ใหญ่ประมาณได้ ๑๕๐ โยชน์ มาจาก เทวโลก ๖ ชั้นเทวดายืนอยู่บนรถเหล่านั้นต่างก็เชื้อเชิญว่า "ข้าพเจ้า จักนำไปยังเทวโลกของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักนำไปยังเทวโลกของข้าพเจ้า ท่านผู้เจริญ ขอจงเกิดในที่นี้ เพื่อความยินดีในเทวโลกของข้าพเจ้า เหมือนคนทำลาย ภาชนะดินแล้วถือเอาภาชนะทองคำ"

อุบาสก ไม่ปรารถนาจะให้เป็นอันตรายแก่การฟังธรรม จึงกล่าวว่า "ท่านทั้งหลาย จงรอก่อน จงรอก่อน" ภิกษุ ต่างหยุดนิ่ง ด้วยเข้าใจว่า อุบาสกพูดกับพวกเรา
ลำดับนั้น บุตรและธิดา ของเขา คิดว่า "บิดาของพวกเราแต่ก่อน เป็นผู้ไม่อิ่มด้วยการฟังธรรม แต่บัดนี้ให้นิมนต์ภิกษุมาให้ทำสาธยายแล้ว กลับห้ามเสียเอง ชื่อว่าสัตว์ผู้ไม่กลัวต่อมรณะไม่มี" ดังนี้แล้ว ก็พากันร้องไห้
พวก ภิกษุ ปรึกษากันว่า "บัดนี้ไม่เป็นโอกาสแล้ว" จึงลุกจากอาสนะหลีกไป อุบาสกยังเวลานิดหน่อยให้ล่วงไปแล้ว กลับได้สติถามลูกๆ ว่า "เพราะเหตุไร พวกเจ้าจึงคร่ำครวญกันเล่า ?"
พวก บุตร จึงบอกว่า "พ่อ ก็พ่อให้นิมนต์ภิกษุมาแล้ว กำลังฟังธรรม อยู่ๆ ก็ห้ามเสียเอง เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกผมจึงคิดว่า ชื่อว่าสัตว์ผู้ไม่กลัวต่อมรณะไม่มี ดังนี้ จึงคร่ำครวญ"
อุบาสก “ก็พระคุณเจ้าทั้งหลาย ไปไหนเสีย ?”
บุตร “พ่อ พระคุณเจ้าทั้งหลาย จึงพูดกันว่า ไม่เป็นโอกาส ลุกจากอาสนะหลีกไปแล้ว”
อุบาสก “พ่อมิได้พูดกับพระผู้เป็นเจ้า”
บุตร “ถ้าเช่นนั้น พ่อพูดกับใคร ?”
อุบาสก “เทวดาประดับรถ ๖ คัน นำมาจากเทวโลก ๖ ชั้น พักอยู่ในอากาศ ต่างเปล่งเสียงว่า “ขอท่านจงยินดีในเทวโลกของข้าพเจ้า ขอท่านจงยินดีในเทวโลกของข้าพเจ้า' พ่อพูดกับเทวดาเหล่านั้นต่างหาก”
บุตร “พ่อ รถที่ไหน ? พวกผมไม่เห็น”

พระมหาธีระยุทธ ปราชญ์นิวัฒน์


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ย. 2011, 16:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 ต.ค. 2009, 15:47
โพสต์: 417

แนวปฏิบัติ: ดูจิต
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
สิ่งที่ชื่นชอบ: วิปัสนา-กรรมฐาน เล่ม 1-2
ชื่อเล่น: นา
อายุ: 44
ที่อยู่: 140/19 ถ.อภัย อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์

 ข้อมูลส่วนตัว




ARNUMOTANAMI.JPG
ARNUMOTANAMI.JPG [ 33.32 KiB | เปิดดู 3142 ครั้ง ]
:b8: :b8: :b8:

.....................................................
อย่าแก้ไขคนอื่น จงแก้ไขตัวเราเอง

....................................................

เจ้าเกิดมามีอะไรมาด้วยเล่า
เจ้าจะเอาแต่สุขสนุกไฉน
เจ้ามาเปล่าแล้วเจ้าจะเอาอะไร
เจ้าก็ไปตัวเปล่าเหมือนเจ้ามา

...................................................
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.ย. 2011, 13:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 พ.ค. 2010, 23:10
โพสต์: 194

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เรื่อง พวกเรามารู้จักพระพุทธเจ้ากันเถอะ! (ต่อครั้งที่แล้ว) ตอนที่ ๑๑๙ คุณสมบัติ อรหํ (อ่านว่า “อะระหัง”)
เจริญพร
อุบาสก “ก็ดอกไม้ที่ร้อยเป็นพวงเพื่อพ่อมีไหม
บุตร “มี พ่อ”
อุบาสก “เทวโลกชั้นไหน ? ควรเป็นที่รื่นรมย์”
บุตร “ภพดุสิต อันเป็นที่ประทับอยู่ของพระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ของพระพุทธมารดา และของพระพุทธบิดา เป็นที่รื่นรมย์นะซิ พ่อ”

อุบาสก “ถ้ากระนั้น พวกเจ้าจงเสี่ยงว่า ขอพวงดอกไม้ จงคล้องที่รถมาจากภพดุสิต ดังนี้แล้ว เหวี่ยงพวงดอกไม้ขึ้นไปเถอะ”
บุตร เหล่านั้นได้เหวี่ยงขึ้นไปแล้ว พวงดอกไม้นั้น ได้คล้องที่แอกรถห้อยลงในอากาศ มหาชนเห็นแต่พวงดอกไม้นั้น หาเห็นรถไม่
อุบ...าสก พูดว่า “เจ้าทั้งหลายเห็นพวงดอกไม้นั่นไหม ?”
เมื่อ บุตร ตอบว่า “เห็นจ้ะ”
อุบาสก จึงกล่าวว่า "พวงดอกไม้นั่น ห้อยที่รถซึ่งมาจากดุสิต เราจะไปสู่ภพดุสิต พวกเจ้าอย่าวิตกไปเลย พวกเจ้ามีความปรารถนาจะเกิดในสำนักเรา ก็จงทำบุญทั้งหลาย ตามทำนองที่เราทำแล้วเถิด" ดังนี้แล้ว ทำกาละ ดำรงอยู่บนรถที่มาจากภพดุสิต อัตภาพของเขาสูงประมาณ ๓ คาวุต ประดับด้วยอลังการหนักได้ ๖๐ เล่มเกวียน เกิดในทันใดนั่นเอง นางอัปสรพันหนึ่งแวดล้อมแล้ว วิมานแก้วประมาณ ๒๕ โยชน์ปรากฏแล้ว
พระศาสดา ตรัสถามภิกษุแม้เหล่านั้น ผู้มาถึงวิหารแล้วโดยลำดับว่า "ภิกษุทั้งหลาย อุบาสกได้ฟังธรรมเทศนาแล้วหรือ ?"
ภิกษุ “ฟังแล้ว พระเจ้าข้า แต่อุบาสกได้ห้ามเสียในระหว่างนั่นแลว่า ขอท่านจงรอก่อน ลำดับนั้น บุตรและธิดาของอุบาสกนั้น พากันคร่ำครวญกันใหญ่ พวกข้าพระองค์ปรึกษากันว่า บัดนี้ไม่เป็นโอกาส จึงลุกจากอาสนะออกมา”
พระศาสดา “ภิกษุทั้งหลาย อุบาสกนั้นหาได้กล่าวกับพวกเธอไม่ ในตอนนั้น เหล่าเทวดาประดับรถ ๖ คัน นำมาจากเทวโลก ๖ ชั้น กำลังเชื้อเชิญอุบาสกอยู่นั้น ก็เพราะอุบาสกไม่ให้เป็นการขัดขวางการฟังธรรมของตน จึงกล่าวกับเทวดาเหล่านั้นต่างหาก”
ภิกษุ “อย่างนั้นหรือ ? พระเจ้าข้า”
พระศาสดา “อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย”
ภิกษุ “บัดนี้เขาเกิดแล้ว ณ ที่ไหน ?”
พระศาสดา “ในภพดุสิต ภิกษุทั้งหลาย”
ภิกษุ “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุบาสกนั้น ได้รับความชื่นชมยินดี ของมวลญาติมิตรในโลกนี้แล้ว พอได้ไปเกิดในสวรรค์ ก็ได้รับฐานะเป็นที่ชื่นชมยินดีของเหล่าเทวดานั่นอีกหรือ ?”
พระศาสดา ตรัสว่า “อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย เพราะคนผู้ไม่ประมาทแล้วทั้งหลาย เป็นคฤหัสถ์ก็ตาม เป็นบรรพชิตก็ตาม ย่อมรื่นเริงเปรมปรีดิ์อิ่มอกอิ่มใจในที่ทั้งปวงทีเดียว” ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า
อิธ โมทติ เปจฺจ โมทติ กตปุญฺโ อุภยตฺถ โมทติ
โส โมทติ โส ปโมทติ ทิสฺวา กมฺมวิสุทฺธิมตฺตโน
บุคคลผู้ทำบุญกุศลไว้มีประการต่างๆ มากมาย ย่อมรื่นเริงเปรมปรีดิ์ อิ่มอกอิ่มใจในโลกนี้ เพราะกุศลกรรมดี ทำให้มีความปลื้มใจว่า “กรรมชั่วเราไม่ได้ทำเลย กรรมดีเราทำแล้วหนอ” จึงได้รับการสรรเสริญ เป็นที่เคารพรักนับถือของคนทั่วไป พอละสังขารจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมรื่นเริงเปรมปรีดิ์ อิ่มอกอิ่มใจ เพราะวิบากผลแห่งกรรมดีส่งผลในโลกหน้า ได้ไปเกิดเป็นเทวดา มนุษย์ ชื่อว่า ย่อมรื่นเริงเปรมปรีดิ์อิ่มอกอิ่มใจ ในโลกทั้งสองนี้ แม้ธัมมิกอุบาสกนี้ ได้เห็นกรรมอันหมดจด คือ ความถึงพร้อมแห่งบุญกรรมของตนก่อนตาย ได้ความรื่นเริงเปรมปรีดิ์อิ่มอกอิ่มใจในโลกนี้ ครั้นตายในบัดนี้ ก็ได้รับความรื่นเริงเปรมปรีดิ์อิ่มอกอิ่มใจอย่างยิ่งในโลกหน้า คือ เป็นเทวดาในสวรรค์ชั้นดุสิต

ปล.หลังจากจบบทนี้อาจาร์ยมีงานใหญ่เข้ามาทำให้ไม่ได้ส่งมาให้ และใกล้จะสอบเปรียญธรรม ๘ ประโยค คือวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๕ จึงต้องเตรียมสอบประมาณ ๒-๓ เดือน จึงขอหยุดพักชั่วคราว ประมาณ กุมภาพันธ์จะส่งมาให้ใหม่ เจริญพร

พระมหาธีระยุทธ ปราชญ์นิวัฒน์


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ส.ค. 2012, 08:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 พ.ค. 2010, 23:10
โพสต์: 194

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ว่าด้วยเรื่องพระไตรปิฎก จร้า

พระวินัยปิฎก
เล่ม ๑
มหาวิภังค์ ปฐมภาค
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เวรัญชกัณฑ์
เรื่องเวรัญชพราหมณ์
[๑] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ควงไม้สะเดาที่นเฬรุยักษ์
สิงสถิต เขตเมืองเวรัญชา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เวรัญชพราหมณ์
ได้สดับข่าวถนัดแน่ว่า ท่านผู้เจริญ พระสมณะโคดมศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยตระกูล
ประทับอยู่ ณ บริเวณต้นไม้สะเดาที่นเฬรุยักษ์สิงสถิต เขตเมืองเวรัญชา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ก็แลพระกิตติศัพท์อันงามของท่านพระโคดมพระองค์นั้น ขจรไปแล้ว
อย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคองค์นั้น ทรงเป็นพระอรหันต์แม้เพราะเหตุนี้ ทรงตรัสรู้เองโดยชอบ
แม้เพราะเหตุนี้ ทรงบรรลุวิชชาและจรณะแม้เพราะเหตุนี้ เสด็จไปดีแม้เพราะเหตุนี้ ทรงทราบ
โลกแม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่าแม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็น
ศาสดาของเทพและมนุษย์ทั้งหลายแม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็นพุทธะแม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็นพระ
ผู้มีพระภาคแม้เพราะเหตุนี้ พระองค์ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกให้แจ้งชัด
ด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เอง แล้วทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทพ
และมนุษย์ ให้รู้ ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศ
พรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์บริสุทธิ์ อนึ่ง การเห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็น
ปานนั้น เป็นความดี.
เวรัญชพราหมณ์กล่าวตู่พระพุทธเจ้า
[๒] หลังจากนั้น เวรัญชพราหมณ์ได้ไปในพุทธสำนัก ครั้นถึงแล้วได้ทูลปราศรัยกับ
พระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการทูลปราศรัยพอให้เป็นที่บันเทิงเป็นที่ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ
ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เวรัญชพราหมณ์นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาค
ว่า ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าได้ทราบมาว่า พระสมณะโคดม ไม่ไหว้ ไม่ลุกรับพวกพราหมณ์ผู้แก่
ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ผู้ล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ หรือไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะ ข้อที่ข้าพเจ้าทราบมานี้
นั้นเป็นเช่นนั้นจริง อันการที่ท่านพระโคดมไม่ไหว้ ไม่ลุกรับพวกพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ผู้
ล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ หรือไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะนี้นั้น ไม่สมควรเลย.
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ในโลก ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ใน
หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทพ และมนุษย์ เราไม่เล็งเห็นบุคคลที่เราควรไหว้ ควร
ลุกรับ หรือควรเชื้อเชิญด้วยอาสนะ เพราะว่า ตถาคตพึงไหว้ พึงลุกรับ หรือพึงเชื้อเชิญ
บุคคลใดด้วยอาสนะ แม้ศีรษะของบุคคลนั้นก็จะพึงขาดตกไป.
ว. ท่านพระโคดมมีปกติไม่ไยดี.
ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมมีปกติไม่ไยดี
ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะความไยดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหล่านั้น ตถาคต
ละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีก
ต่อไปเป็นธรรมดา นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมมีปกติไม่ไยดี ดังนี้ชื่อว่า
กล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.
ว. ท่านพระโคดมไม่มีสมบัติ.
ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมไม่มีสมบัติ ดังนี้
ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะสมบัติ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหล่านั้น ตถาคตละได้แล้ว
ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็น
ธรรมดา นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมไม่มีสมบัติ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่
ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.
ว. ท่านพระโคดมกล่าวการไม่ทำ.
ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมกล่าวการไม่ทำ
ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเรากล่าวการไม่ทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรากล่าวการ
ไม่ทำสิ่งที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมกล่าวการ
ไม่ทำ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.
ว. ท่านพระโคดมกล่าวความขาดสูญ.
ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมกล่าวความขาดสูญ
ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเรากล่าวความขาดสูญแห่ง ราคะ โทสะ โมหะ เรากล่าวความ
ขาดสูญแห่งสภาพที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดม
กล่าวความขาดสูญ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.
ว. ท่านพระโคดมช่างรังเกียจ.
ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมช่างรังเกียจ ดังนี้
ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเรารังเกียจกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรารังเกียจความถึงพร้อมแห่ง
สภาพที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมช่างรังเกียจ
ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.
ว. ท่านพระโคดมช่างกำจัด.
ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมช่างกำจัด ดังนี้
ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเราแสดงธรรมเพื่อกำจัด ราคะ โทสะ โมหะ แสดงธรรมเพื่อกำจัดสภาพ
ที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่างนี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมช่างกำจัด ดังนี้ ชื่อว่า
กล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.
ว. ท่านพระโคดมช่างเผาผลาญ.
ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมช่างเผาผลาญ ดังนี้
ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเรากล่าวธรรมที่เป็นบาปอกุศล คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ว่า
เป็นธรรมที่ควรเผาผลาญ ธรรมที่เป็นบาปอกุศลซึ่งควรเผาผลาญ อันผู้ใดละได้แล้ว ตัดราก
ขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา
เรากล่าวผู้นั้นว่าเป็นคนช่างเผาผลาญ พราหมณ์ ธรรมทั้งหลายที่เป็นบาปอกุศล ซึ่งควรเผาผลาญ
ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง
มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมช่างเผาผลาญ
ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.
ว. ท่านพระโคดมไม่ผุดเกิด.
ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมไม่ผุดเกิด ดังนี้
ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะการนอนในครรภ์ต่อไป การเกิดในภพใหม่ อันผู้ใดละได้แล้ว ตัดราก
ขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา
เรากล่าวผู้นั้นว่าเป็นคนไม่ผุดเกิด พราหมณ์ การนอนในครรภ์ต่อไป การเกิดในภพใหม่ ตถาคต
ละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีก
ต่อไปเป็นธรรมดา นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมไม่ผุดเกิด ดังนี้ ชื่อว่า
กล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.
ทรงอุปมาด้วยลูกไก่
[๓] ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนฟองไก่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ฟองไก่
เหล่านั้น อันแม่ไก่พึงกกดีแล้ว อบดีแล้ว ฟักดีแล้ว บรรดาลูกไก่เหล่านั้น ลูกไก่ตัวใดทำลาย
กะเปาะฟอง ด้วยปลายเล็บเท้า หรือด้วยจะงอยปาก ออกมาได้โดยสวัสดีก่อนกว่าเขา ลูกไก่
ตัวนั้นควรเรียกว่ากระไร จะเรียกว่าพี่หรือน้อง.
ว. ท่านพระโคดม ควรเรียกว่าพี่ เพราะมันแก่กว่าเขา.
ทรงแสดงฌาน ๔ และวิชชา ๓
ภ. เราก็เหมือนอย่างนั้นแล พราหมณ์ เมื่อประชาชนผู้ตกอยู่ในอวิชชา เกิดในฟอง
อันกะเปาะฟองหุ้มห่อไว้ ผู้เดียวเท่านั้นในโลก ได้ทำลายกะเปาะฟอง คือ อวิชชา แล้วได้
ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม เรานั้นเป็นผู้เจริญที่สุด ประเสริฐที่สุดของโลก
เพราะความเพียรของเราที่ปรารภแล้วแล ไม่ย่อหย่อน สติดำรงมั่นไม่ฟั่นเฟือน กายสงบ ไม่
กระสับกระส่าย จิตตั้งมั่น มีอารมณ์เป็นหนึ่ง.
ปฐมฌาน
เรานั้นแล สงัดแล้วจากกาม สงัดแล้วจากอกุศลธรรม ได้บรรลุปฐมฌาน มีวิตก
มีวิจาร มีปีติและสุขซึ่งเกิดแต่วิเวกอยู่.
ทุติยฌาน
เราได้บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิต ณ ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก
ไม่มีวิจาร เพราะวิตก วิจาร สงบไป มีปีติและสุขซึ่งเกิดแต่สมาธิอยู่.
ตติยฌาน
เรามีอุเบกขาอยู่ มีสติ มีสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป
ได้บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ มีสุขอยู่ ดังนี้ อยู่.
จตุตถฌาน
เราได้บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัส โทมนัส
ก่อนๆ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่.
บุพเพนิวาสานุสสติญาณ
เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ควร
แก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเพื่อบุพเพนิวาสานุสสติญาณ เรานั้น
ย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกชาติได้หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง
สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง
ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัลป์เป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัลป์
เป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัลป์เป็นอันมากบ้าง ว่าในภพโน้นเราได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตร
อย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียง
เท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพโน้นนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น
มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนด
อายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพโน้นนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เราย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็น
อันมาก พร้อมทั้งอุเทส พร้อมทั้งอาการ ด้วยประการฉะนี้ พราหมณ์ วิชชาที่หนึ่งนี่แล เรา
ได้บรรลุแล้วในปฐมยามแห่งราตรี อวิชชา เรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิดแก่เราแล้ว ความมืด
เรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างเกิดแก่เราแล้ว เหมือนที่เกิดแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร
เผากิเลส ส่งจิตไปแล้วอยู่ฉะนั้น ความชำแรกออกครั้งที่หนึ่งของเรานี้แล ได้เป็นเหมือนการ
ทำลายออกจากกะเปาะฟองแห่งลูกไก่ฉะนั้น.
จุตูปปาตญาณ
เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ควร
แก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเพื่อญาณเครื่องรู้จุติและอุปบัติ
ของสัตว์ทั้งหลาย เรานั้นย่อมเล็งเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี
มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์
ผู้เข้าถึงตามกรรมว่า หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่
เหล่านั้น เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หรือว่าหมู่สัตว์ผู้เกิด
เป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็น
สัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านั้น เบื้องหน้าแต่แตก
กายตายไป เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เราย่อมเล็งเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต
มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อม
รู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เข้าถึงตามกรรมด้วยประการดังนี้ พราหมณ์ วิชชาที่สองนี้แล เราได้บรรลุแล้ว
ในมัชฌิมยามแห่งราตรี อวิชชา เรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิดแก่เราแล้ว ความมืดเรากำจัดได้แล้ว
แสงสว่างเกิดแก่เราแล้ว เหมือนที่เกิดแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส ส่งจิตไป
แล้วอยู่ฉะนั้น ความชำแรกออกครั้งที่สองของเรานี้แล ได้เป็นเหมือนการทำลายออกจากกะเปาะ
ฟองแห่งลูกไก่ ฉะนั้น.
อาสวักขยญาณ
เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ควร
แก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ เรานั้นได้รู้ชัด
ตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ความ
ดับทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า เหล่านี้
อาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดอาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ความดับอาสวะ ได้รู้
ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ เมื่อเรานั้นรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จิตได้
หลุดพ้นแล้วแม้จากกามาสวะ ได้หลุดพ้นแล้วแม้จากภวาสวะ ได้หลุดพ้นแล้วแม้จากอวิชชาสวะ
เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ได้มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ได้รู้ด้วยปัญญาอันยิ่งว่า ชาติสิ้นแล้ว
พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี พราหมณ์
วิชชาที่สามนี้แล เราได้บรรลุแล้วในปัจฉิมยามแห่งราตรี อวิชชา เรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิด
แก่เราแล้ว ความมืดเรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างเกิดแก่เราแล้ว เหมือนที่เกิดแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท
มีความเพียรเผากิเลสส่งจิตไปแล้วอยู่ ฉะนั้น ความชำแรกออกครั้งที่สามของเรานี้แล ได้เป็น
เหมือนการทำลายออกจากกะเปาะฟองแห่งลูกไก่ ฉะนั้น.
เวรัญชพราหมณ์แสดงตนเป็นอุบาสก
[๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว เวรัญชพราหมณ์ได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาค
ว่า ท่านพระโคดมเป็นผู้เจริญที่สุด ท่านพระโคดมเป็นผู้ประเสริฐที่สุด ข้าแต่ท่านพระโคดม
ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดย
อเนกปริยายอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง
หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักเห็นรูปดังนี้ ข้าพเจ้านี้ขอถึงท่านพระโคดม
พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ
ตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป และขอพระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จงทรงรับอาราธนาอยู่
จำพรรษา ที่เมืองเวรัญชาของข้าพเจ้าเถิด.
พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาด้วยพระอาการดุษณี ครั้นเวรัญชพราหมณ์ทราบการรับ
อาราธนาของพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ลุกจากที่นั่งถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ
หลีกไป.
เมืองเวรัญชาเกิดทุพภิกขภัย
[๕] ก็โดยสมัยนั้นแล เมืองเวรัญชา มีภิกษาหารน้อย ประชาชนหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง
มีกระดูกคนตายขาวเกลื่อน ต้องมีสลากซื้ออาหาร ภิกษุสงฆ์จะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการ
ถือบาตรแสวงหา ก็ทำไม่ได้ง่าย ครั้งนั้นพวกพ่อค้าม้าชาวอุตราปถะ มีม้าประมาณ ๕๐๐ ตัว ได้
เข้าพักแรมตลอดฤดูฝนในเมืองเวรัญชา พวกเขาได้ตกแต่งข้าวแดงสำหรับภิกษุรูปละแล่งไว้ที่
คอกม้า เวลาเช้าภิกษุทั้งหลายครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรเข้าไปบิณฑบาตในเมืองเวรัญชา
เมื่อไม่ได้บิณฑบาต จึงเที่ยวไปบิณฑบาตที่คอกม้า รับข้าวแดงรูปละแล่ง นำไปสู่อารามแล้วลงครก
โขลกฉัน ส่วนท่านพระอานนท์บดข้าวแดงแล่งหนึ่งที่ศิลา แล้วน้อมเข้าไปถวายแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคเสวยพระกระยาหารที่บดถวายนั้นอยู่ ได้ทรงสดับเสียงครกแล้ว.พระพุทธประเพณี
พระตถาคตทั้งหลายทรงทราบอยู่ ย่อมตรัสถามก็มี ทรงทราบอยู่ย่อมไม่ตรัสถามก็มี
ทรงทราบกาลแล้วตรัสถาม ทรงทราบกาลแล้วไม่ตรัสถาม พระตถาคตทั้งหลายย่อมตรัสถามสิ่ง
ที่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ตรัสถามสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ สิ่งที่ไม่ประกอบด้วย
ประโยชน์ พระองค์ทรงกำจัดด้วยข้อปฏิบัติ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงสอบถาม
ภิกษุทั้งหลายด้วยอาการสองอย่าง คือ จักทรงแสดงธรรมอย่างหนึ่ง จักทรงบัญญัติสิกขาบทแก่
พระสาวกทั้งหลายอย่างหนึ่ง.
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า อานนท์ นั่นเสียงครกหรือหนอ
จึงท่านพระอานนท์กราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญว่า ดีละ
ดีละ อานนท์ พวกเธอเป็นสัตบุรุษ ชนะวิเศษแล้ว พวกเพื่อนพรหมจารีชั้นหลังจักดูหมิ่นข้าว
สาลีและข้าวสุกอันระคนด้วยเนื้อ.
พระมหาโมคคัลลานะเปล่งสีหนาท
[๖] ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง
ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้เมืองเวรัญชา
มีภิกษาหารน้อย ประชาชนหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง มีกระดูกคนตายขาวเกลื่อน ต้องมีสลากซื้อ
อาหาร ภิกษุสงฆ์จะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการถือบาตรแสวงหา ก็ทำไม่ได้ง่าย พระพุทธเจ้าข้า
พื้นเบื้องล่างแห่งแผ่นดินผืนใหญ่นี้ สมบูรณ์ มีรสอันโอชา เหมือนน้ำผึ้งหวี่ที่ไม่มีตัวอ่อนฉะนั้น
ขอประทานพระวโรกาส ข้าพระพุทธเจ้าจะพึงพลิกแผ่นดิน ภิกษุทั้งหลายจักได้ฉันง้วนดิน
พระพุทธเจ้าข้า.
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรโมคคัลลานะ ก็สัตว์ผู้อาศัยแผ่นดินเล่า เธอจะทำ
อย่างไรแก่สัตว์เหล่านั้น?
ม. ข้าพระพุทธเจ้าจักนิรมิตฝ่ามือข้างหนึ่งให้เป็นดุจแผ่นดินใหญ่ ยังสัตว์ผู้อาศัยแผ่นดิน
เหล่านั้นให้ไปอยู่ในฝ่ามือนั้น จักพลิกแผ่นดินด้วยมืออีกข้างหนึ่ง พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. อย่าเลย โมคคัลลานะ การพลิกแผ่นดิน เธออย่าพอใจเลย สัตว์ทั้งหลายจะพึง
ได้รับผลตรงกันข้าม.
ม. ขอประทานพระวโรกาส ขอภิกษุสงฆ์ทั้งหมดพึงไปบิณฑบาตในอุตรกุรุทวีป พระ-
พุทธเจ้าข้า.
ภ. ก็ภิกษุผู้ไม่มีฤทธิ์เล่า เธอจักทำอย่างไรแก่ภิกษุเหล่านั้น?
ม. ข้าพระพุทธเจ้าจักทำให้ภิกษุทั้งหมดไปได้ พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. อย่าเลย โมคคัลลานะ การที่ภิกษุสงฆ์ทั้งหมดไปบิณฑบาตถึงอุตรกุรุทวีป เธออย่า
พอใจเลย.
เหตุให้พระศาสนาดำรงอยู่ไม่นานและนาน
[๗] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิด
ขึ้นอย่างนี้ว่า พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย พระองค์ไหนไม่ดำรงอยู่นาน ของ
พระองค์ไหนดำรงอยู่นาน ดังนี้ ครั้นเวลาสายัณห์ท่านออกจากที่เร้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระ-
ภาค ถวายบังคม นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าไปใน
ที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ณ ตำบลนี้ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า พระศาสนาของพระผู้มี
พระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย พระองค์ไหนไม่ดำรงอยู่นาน ของพระองค์ไหนดำรงอยู่นาน.
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรสารีบุตร พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามวิปัสสี
พระนามสิขี และพระนามเวสสภู ไม่ดำรงอยู่นาน ของพระผู้มีพระภาคพระนามกกุสันธะ พระ
นามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะดำรงอยู่นาน.
ส. อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามวิปัสสี
พระนามสิขี และพระนามเวสสภู ไม่ดำรงอยู่นาน พระพุทธเจ้าข้า?
ภ. ดูกรสารีบุตร พระผู้มีพระภาคพระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภู
ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรงแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวกทั้งหลาย อนึ่ง สุตตะ เคยยะ
เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ของพระผู้มีพระภาคทั้ง
สามพระองค์นั้นมีน้อย สิกขาบทก็มิได้ทรงบัญญัติ ปาติโมกข์ก็มิได้ทรงแสดงแก่สาวก เพราะ
อันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า
เหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึง
ยังพระศาสนานั้นให้อันตรธานโดยฉับพลัน ดูกรสารีบุตร ดอกไม้ต่างพรรณที่เขากองไว้บนพื้น
กระดาน ยังไม่ได้ร้อยด้วยด้าย ลมย่อมกระจาย ขจัด กำจัด ซึ่งดอกไม้เหล่านั้นได้ ข้อนั้น
เพราะเหตุอะไร เพราะเขาไม่ได้ร้อยด้วยด้าย ฉันใด เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
เหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน
ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงยังพระศาสนานั้นให้อันตรธานโดยฉับ
พลัน ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรง
กำหนดจิตของสาวกด้วยพระหฤทัย แล้วทรงสั่งสอนสาวก.
ดูกรสารีบุตร เรื่องเคยมีมาแล้ว พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนาม
เวสสภู ทรงกำหนดจิตภิกษุสงฆ์ด้วยพระหฤทัยแล้วทรงสั่งสอน พร่ำสอน ภิกษุสงฆ์ประมาณ
พันรูป ในไพรสนฑ์อันน่าพึงกลัวแห่งหนึ่งว่า พวกเธอจงตรึกอย่างนี้ อย่าได้ตรึกอย่างนั้น จง
ทำในใจอย่างนี้ อย่าได้ทำในใจอย่างนั้น จงละส่วนนี้ จงเข้าถึงส่วนนี้อยู่เถิด ดังนี้ ลำดับนั้นแล
จิตของภิกษุประมาณพันรูปนั้น อันพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามเวสสภูทรง
สั่งสอนอยู่อย่างนั้น ทรงพร่ำสอนอยู่อย่างนั้น ได้หลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น
ในเพราะความที่ไพรสณฑ์อันน่าพึงกลัวนั้นซิ เป็นถิ่นที่น่าสยดสยอง จึงมีคำนี้ว่า ผู้ใดผู้หนึ่งซึ่ง
ยังไม่ปราศจากราคะเข้าไปสู่ไพรสณฑ์นั้น โดยมากโลมชาติย่อมชูชัน.
ดูกรสารีบุตร อันนี้แลเป็นเหตุ อันนี้แลเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาค
พระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภูไม่ดำรงอยู่นาน.
ส. อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามกกุสันธะ
พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ ดำรงอยู่นาน พระพุทธเจ้าข้า?
ภ. ดูกรสารีบุตร พระผู้มีพระภาคพระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนาม
กัสสปะ มิได้ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรงแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวกทั้งหลาย อนึ่ง สุตตะ
เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ของพระผู้มี
พระภาคทั้งสามพระองค์นั้นมีมาก สิกขาบทก็ทรงบัญญัติ ปาติโมกข์ก็ทรงแสดงแก่สาวก เพราะ
อันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า
เหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึง
ดำรงพระศาสนานั้นไว้ได้ตลอดระยะกาลยืนนาน ดูกรสารีบุตร ดอกไม้ต่างพรรณที่เขากองไว้บน
พื้นกระดาน ร้อยดีแล้วด้วยด้าย ลมย่อมกระจายไม่ได้ ขจัดไม่ได้ กำจัดไม่ได้ซึ่งดอกไม้เหล่านั้น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาร้อยดีแล้วด้วยด้าย ฉันใด เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่
ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงดำรงพระศาสนานั้นไว้ได้
ตลอดระยะกาลยืนนาน ฉันนั้น เหมือนกัน.
ดูกรสารีบุตร อันนี้แลเป็นเหตุ อันนี้แลเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาค
พระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ ดำรงอยู่นาน.
ปรารภเหตุให้ทรงบัญญัติสิกขาบท
[๘] ลำดับนั้นแล ท่านพระสารีบุตรลุกจากอาสนะ ทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
ประณมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาคแล้วกราบทูลว่า ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่พระสุคต
ถึงเวลาแล้ว ที่จะทรงบัญญัติสิกขาบท ที่จะทรงแสดงปาติโมกข์แก่สาวก อันจะเป็นเหตุให้
พระศาสนานี้ยั่งยืนดำรงอยู่ได้นาน.
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า จงรอก่อน สารีบุตร จงยับยั้งก่อนสารีบุตร ตถาคตผู้เดียวจักรู้
กาลในกรณีย์นั้น พระศาสดายังไม่บัญญัติสิกขาบท ยังไม่แสดงปาติโมกข์แก่สาวก ตลอดเวลา
ที่ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะบางเหล่า ยังไม่ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ ต่อเมื่อใดอาสวัฏ-
ฐานิยธรรมบางเหล่า ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ เมื่อนั้นพระศาสดาจึงจะบัญญัติสิกขาบท แสดง
ปาติโมกข์แก่สาวก เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้นแหละ อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ยังไม่
ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ ตลอดเวลาที่สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่โดยภิกษุผู้บวชนาน ต่อ
เมื่อใดสงฆ์ถึงความเป็นหมู่ใหญ่โดยภิกษุผู้บวชนานแล้ว และอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่าย่อม
ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ เมื่อนั้นพระศาสดาจึงจะบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวก
เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้นแหละ อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ยังไม่ปรากฏในสงฆ์ใน
ศาสนานี้ ตลอดเวลาที่สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่โดยแพร่หลาย ต่อเมื่อใดสงฆ์ถึงความเป็น
หมู่ใหญ่โดยแพร่หลายแล้ว และอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ย่อมปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้
เมื่อนั้นพระศาสดาจึงจะบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวกเพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรม
เหล่านั้นแหละ อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ยังไม่ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ ตลอดเวลาที่สงฆ์
ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่เลิศโดยลาภ ต่อเมื่อใดสงฆ์ถึงความเป็นหมู่ใหญ่เลิศโดยลาภแล้ว และ
อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ย่อมปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ เมื่อนั้นพระศาสดาจึงจะบัญญัติ-
สิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวก เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้นแหละ ดูกรสารีบุตร
ก็ภิกษุสงฆ์ไม่มีเสนียด ไม่มีโทษ ปราศจากมัวหมองบริสุทธิ์ผุดผ่องตั้งอยู่ในสารคุณ เพราะบรรดา
ภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้ ภิกษุที่ทรงคุณธรรมอย่างต่ำ ก็เป็นโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็น
ผู้เที่ยง เป็นผู้ที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.
เสด็จนิเวศน์เวรัญชพราหมณ์
[๙] ครั้นปวารณาพรรษาแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า
ดูกรอานนท์ พระตถาคตทั้งหลายยังมิได้บอกลาผู้ที่นิมนต์ให้อยู่จำพรรษาแล้ว จะไม่หลีกไปสู่ที่
จาริกในชนบท ข้อนี้เป็นประเพณีของพระตถาคตทั้งหลาย มาไปกันเถิดอานนท์ เราจะบอกลา
เวรัญชพราหมณ์.
ท่านพระอานนท์ทูลสนองพระพุทธดำรัสว่า เป็นดังรับสั่ง พระพุทธเจ้าข้า.
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวร มีท่านพระอานนท์เป็น
ปัจฉาสมณะ เสด็จพระพุทธดำเนินไปสู่นิเวศน์ของเวรัญชพราหมณ์ ครั้นถึงแล้วประทับนั่งเหนือ
พระพุทธอาสน์ที่เขาจัดถวาย ทันใดนั้น เวรัญชพราหมณ์ดำเนินเข้าไปสู่ที่ประทับ ครั้นแล้วถวาย
บังคม นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระองค์รับสั่งว่า ดูกรพราหมณ์ เราเป็นผู้อันท่านนิมนต์
อยู่จำพรรษาแล้ว เราขอบอกลาท่าน เราปรารถนาจะหลีกไปสู่ที่จาริกในชนบท.
เวรัญชพราหมณ์กราบทูลว่า เป็นความจริง ท่านพระโคดม ข้าพเจ้านิมนต์พระองค์อยู่
จำพรรษา ก็แต่ว่าไทยธรรมอันใดที่จะพึงถวาย ไทยธรรมอันนั้นข้าพเจ้ายังมิได้ถวาย และไทย-
ธรรมนั้นมิใช่ว่าจะไม่มี ทั้งประสงค์จะไม่ถวายก็หาไม่ ภายในไตรมาสนี้ พระองค์จะพึงได้ไทย-
ธรรมนั้นจากไหน เพราะฆราวาสมีกิจมาก มีกรณียะมาก ขอท่านพระโคดมพร้อมด้วยพระสงฆ์
จงทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของข้าพเจ้า เพื่อเจริญบุญกุศลและปีติปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้แก่
ข้าพเจ้าด้วยเถิด.
พระผู้มีพระภาคทรงรับอัชเฌสนาโดยดุษณีภาพ และแล้วทรงชี้แจงให้เวรัญชพราหมณ์
เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุกจากที่ประทับเสด็จกลับ.
หลังจากนั้น เวรัญชพราหมณ์สั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของฉันอันประณีตในนิเวศน์ของตน
โดยผ่านราตรีนั้นแล้ว ให้เจ้าพนักงานไปกราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ถึงเวลาแล้ว ท่าน
พระโคดม ภัตตาหารเสร็จแล้ว.
ขณะนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสกแล้วถือบาตรจีวรเสด็จพระพุทธ-
ดำเนินไปสู่นิเวศน์ของเวรัญชพราหมณ์ ครั้นถึงแล้ว ประทับนั่งเหนือพระพุทธอาสน์ที่เขาจัดถวาย
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จึงเวรัญชพราหมณ์อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนีย-
โภชนียาหารอันประณีต ด้วยมือของตนจนให้ห้ามภัตรแล้ว ได้ถวายไตรจีวรแด่พระผู้มีพระภาค
ผู้เสวยเสร็จทรงนำพระหัตถ์ออกจากบาตรแล้วให้ทรงครอง และถวายผ้าคู่ให้ภิกษุครอง รูปละ
สำรับ จึงพระองค์ทรงชี้แจงให้เวรัญชพราหมณ์เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา
แล้วทรงลุกจากที่ประทับเสด็จกลับ ครั้นพระองค์ประทับอยู่ที่เมืองเวรัญชาตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว
เสด็จพระพุทธดำเนินไปยังเมืองท่าปยาคะ ไม่ทรงแวะเมืองโสเรยยะ เมืองสังกัสสะ เมือง
กัณณกุชชะ ทรงข้ามแม่น้ำคงคาที่เมืองท่าปยาคะ เสด็จพระพุทธดำเนินถึงพระนครพาราณสี ครั้น
พระองค์ประทับอยู่ที่พระนครพาราณสีตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จจาริกไปโดยมรรคาอันจะไป
สู่พระนครเวสาลี เมื่อเสด็จจาริกไปโดยลำดับ ถึงพระนครเวสาลีนั้นแล้ว ทราบว่าพระองค์ประทับ
อยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลีนั้น.
เวรัญชภาณวาร จบ.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.ย. 2012, 11:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 พ.ค. 2010, 23:10
โพสต์: 194

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕
มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์๖. อังคุลิมาลสูตร
พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดองคุลิมาลโจร
[๕๒๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
เขตพระนครสาวัตถี. ก็สมัยนั้นแล ในแว่นแคว้นของพระเจ้าปเสนทิโกศล มีโจรชื่อว่าองคุลีมาล
เป็นคนหยาบช้า มีฝ่ามือเปื้อนเลือด ปักใจ มั่นในการฆ่าตี ไม่มีความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย.
องคุลิมาลโจรนั้น กระทำบ้านไม่ให้เป็นบ้านบ้าง กระทำนิคมไม่ให้เป็นนิคมบ้าง กระทำชนบท
ไม่ให้เป็นชนบทบ้าง. เขาเข่นฆ่าพวกมนุษย์แล้วเอานิ้วมือร้อยเป็นพวงทรงไว้.
ครั้งนั้นแล ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไป
บิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี ครั้นแล้วในเวลาปัจฉาภัต เสด็จกลับจากบิณฑบาตแล้ว ทรงเก็บ
เสนาสนะ ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จดำเนินไปตามทางที่องคุลิมาลโจรซุ่มอยู่. พวกคนเลี้ยงโค
พวกคนเลี้ยงปศุสัตว์ พวกชาวนาที่เดินมา ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จดำเนินไปตามทางที่
องคุลิมาลโจรซุ่มอยู่ ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่สมณะ อย่าเดินไปทางนั้น
ที่ทางนั้นมีโจรชื่อว่าองคุลิมาลเป็นคนหยาบช้า มีฝ่ามือเปื้อนเลือด ปักใจในการฆ่าตี ไม่มีความ
กรุณาในสัตว์ทั้งหลาย องคุลิมาลโจรนั้น กระทำบ้านไม่ให้เป็นบ้านบ้าง กระทำนิคมไม่ให้เป็น
นิคมบ้าง กระทำชนบทไม่ให้เป็นชนบทบ้าง เขาเข่นฆ่าพวกมนุษย์แล้วเอานิ้วมือร้อยเป็นพวง
ทรงไว้ ข้าแต่สมณะ พวกบุรุษสิบคนก็ดี ยี่สิบคนก็ดี สามสิบคนก็ดี สี่สิบคนก็ดี ย่อมรวม
เป็นพวกเดียวกันเดินทางนี้ แม้บุรุษผู้นั้นก็ยังถึงความพินาศ เพราะมือขององคุลิมาลโจร.
เมื่อคนพวกนั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคทรงนิ่ง ได้เสด็จไปแล้ว.
[๕๒๒] แม้ครั้งที่สอง พวกคนเลี้ยงโค พวกคนเลี้ยงปศุสัตว์ พวกชาวนาที่เดินมา
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่สมณะ อย่าเดินไปทางนั้น ที่ทางนั้นมีโจรชื่อว่าองคุลิมาล
เป็นคนหยาบช้า มีฝ่ามือเปื้อนเลือด ปักใจในการฆ่าตี ไม่มีความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย
องคุลิมาลโจรนั้น กระทำบ้านไม่ให้เป็นบ้านบ้าง กระทำนิคมไม่ให้เป็นนิคมบ้าง กระทำชนบท
ไม่ให้เป็นชนบทบ้าง เขาเข่นฆ่าพวกมนุษย์แล้วเอานิ้วมือร้อยเป็นพวงทรงไว้ ข้าแต่สมณะ
พวกบุรุษสิบคนก็ดี ยี่สิบคนก็ดี สามสิบคนก็ดี สี่สิบคนก็ดี ย่อมรวมเป็นพวกเดียวกันเดิน
ทางนี้ ข้าแต่สมณะ แม้บุรุษพวกนั้นก็ยังถึงความพินาศเพราะมือขององคุลิมาล ดังนี้. ครั้งนั้น
พระผู้มีพระภาคทรงนิ่ง ได้เสด็จไปแล้ว.
[๕๒๓] แม้ครั้งที่สาม พวกคนเลี้ยงโค พวกคนเลี้ยงปศุสัตว์ พวกชาวนาที่เดินมา
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่สมณะ อย่าเดินไปทางนั้น ที่ทางนั้นมีโจรชื่อว่าองคุลิมาล
เป็นคนหยาบช้า มีฝ่ามือเปื้อนเลือด ปักใจในการฆ่าตี ไม่มีความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย
องคุลิมาลโจรนั้น กระทำบ้านไม่ให้เป็นบ้านบ้าง กระทำนิคมไม่ให้เป็นนิคมบ้าง กระทำชนบท
ไม่ให้เป็นชนบทบ้าง เขาเข่นฆ่าพวกมนุษย์แล้วเอานิ้วมือร้อยเป็นพวงทรงไว้ ข้าแต่สมณะ
พวกบุรุษสิบคนก็ดี ยี่สิบคนก็ดี สามสิบคนก็ดี สี่สิบคนก็ดี ย่อมรวมเป็นพวกเดียวกัน
เดินทางนี้ ข้าแต่สมณะ แม้บุรุษพวกนั้นก็ยังถึงความพินาศเพราะมือขององคุลิมาลโจร ดังนี้.
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงนิ่ง ได้เสด็จไปแล้ว.
[๕๒๔] องคุลิมาลโจรได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล. ครั้นแล้วเขาได้มีความ
ดำริว่า น่าอัศจรรย์จริงหนอ ไม่เคยมีเลย พวกบุรุษสิบคนก็ดี ยี่สิบคนก็ดี สามสิบคนก็ดี
สี่สิบคนก็ดี ก็ยังต้องรวมเป็นพวกเดียวกันเดินทางนี้ แม้บุรุษพวกนั้นยังถึงความพินาศเพราะ
มือเรา เออก็สมณะนี้ผู้เดียว ไม่มีเพื่อนชะรอยจะมาข่ม ถ้ากระไร เราพึงปลงสมณะเสียจากชีวิต
เถิด. ครั้งนั้น องคุลิมาลโจรถือดาบและโล่ห์ผูกสอดแล่งธนู ติดตามพระผู้มีพระภาคไปทาง
พระปฤษฎางค์. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงบันดาลอิทธาภิสังขาร โดยประการที่องคุลิมาลโจร
จะวิ่งจนสุดกำลัง ก็ไม่อาจทันพระผู้มีพระภาคผู้เสด็จไปตามปกติ.
ครั้งนั้น องคุลิมาลโจรได้มีความดำริว่า น่าอัศจรรย์จริงหนอ ไม่เคยมีเลยด้วยว่าเมื่อก่อน
แม้ช้างกำลังวิ่ง ม้ากำลังวิ่ง รถกำลังแล่น เนื้อกำลังวิ่ง เราก็ยังวิ่งตามจับได้ แต่ว่าเราวิ่งจน
สุดกำลัง ยังไม่อาจทันสมณะนี้ซึ่งเดินไปตามปกติ ดังนี้ จึงหยุดยืนกล่าวกะพระผู้มีพระภาคว่า
จงหยุดก่อนสมณะ จงหยุดก่อนสมณะพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เราหยุดแล้ว องคุลิมาล ท่านเล่า
จงหยุดเถิด.
องคุลิมาลโจรละพยศ
[๕๒๕] ครั้งนั้น องคุลิมาลโจรดำริว่า สมณศากยบุตรเหล่านั้นมักเป็นคนพูดจริง
มีปฏิญญาจริง แต่สมณะรูปนี้เดินไปอยู่เทียว กลับพูดว่า เราหยุดแล้ว องคุลิมาล ท่านเล่าจง
หยุดเถิด ถ้ากระไร เราพึงถามสมณะรูปนี้เถิด.
ครั้งนั้น องคุลิมาลโจรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถา ความว่า
ดูกรสมณะ ท่านกำลังเดินไป ยังกล่าวว่า เราหยุดแล้ว และ
ท่านยังไม่หยุด ยังกล่าวกะข้าพเจ้าผู้หยุดแล้วว่าไม่หยุด ดูกร
สมณะ ข้าพเจ้าขอถามเนื้อความนี้กะท่าน ท่านหยุดแล้วเป็น
อย่างไร ข้าพเจ้ายังไม่หยุดแล้วเป็นอย่างไร?
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรองคุลิมาล เราวางอาชญาในสรรพสัตว์ได้แล้ว จึงชื่อว่า
หยุดแล้วในกาลทุกเมื่อ ส่วนท่านไม่สำรวมในสัตว์ทั้งหลาย
เพราะฉะนั้นเราจึงหยุดแล้ว ท่านยังไม่หยุด.
องคุลิมาลโจรทูลว่า
ดูกรสมณะ ท่านอันเทวดามนุษย์บูชาแล้ว แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
มาถึงป่าใหญ่เพื่อจะสงเคราะห์ข้าพเจ้าสิ้นกาลนานหนอ ข้าพเจ้า
นั้นจักประพฤติละบาป เพราะฟังคาถาอันประกอบด้วยธรรม
ของท่าน องคุลิมาลโจรกล่าวดังนี้แล้ว ได้ทิ้งดาบและอาวุธ
ลงในเหวลึกมีหน้าผาชัน องคุลิมาลโจรได้ถวายบังคมพระบาท
ทั้งสองของพระสุคต แล้วได้ทูลขอบรรพชากะพระสุคต ณ ที่
นั้นเอง. ก็แลพระพุทธเจ้าผู้ทรงประกอบด้วยพระกรุณา ทรง
แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นศาสดาของโลกกับทั้งเทวโลก ได้
ตรัสกะองคุลิมาลโจรในเวลานั้นว่า ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด
อันนี้แหละเป็นภิกษุภาวะขององคุลิมาลโจรนั้น ดังนี้.
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคมีพระองคุลิมาลเป็นปัจฉาสมณะ เสด็จจาริกไปทางพระนคร
สาวัตถี เสด็จจาริกไปโดยลำดับ เสด็จถึงพระนครสาวัตถีแล้ว.
พระเจ้าปเสนทิโกศลเข้าเฝ้า
[๕๒๖] ได้ยินว่า ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่าน
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี. ก็สมัยนั้น หมู่มหาชนประชุมกันอยู่ที่ประตูพระราชวัง
ของพระเจ้าปเสนทิโกศล ส่งเสียงอื้ออึงว่า ข้าแต่สมมติเทพ ในแว่นแคว้นของพระองค์ มีโจร
ชื่อว่าองคุลิมาล เป็นคนหยาบช้า มีฝ่ามือเปื้อนเลือด ปักใจในการฆ่าตี ไม่มีความกรุณาในสัตว์
ทั้งหลาย องคุลิมาลโจรนั้น กระทำบ้านไม่ให้เป็นบ้านบ้าง กระทำนิคมไม่ให้เป็นนิคมบ้าง
กระทำชนบทไม่ให้เป็นชนบทบ้าง เขาเข่นฆ่าพวกมนุษย์แล้วเอานิ้วมือร้อยเป็นพวงทรงไว้ ขอ
พระองค์จงกำจัดมันเสียเถิด.
ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จออกจากพระนครสาวัตถี ด้วยกระบวนม้าประมาณ
๕๐๐ เสด็จเข้าไปทางพระอารามแต่ยังวันทีเดียว เสด็จไปด้วยพระยานจนสุดภูมิประเทศที่ยานจะ
ไปได้ เสด็จลงจากพระยานแล้ว ทรงพระราชดำเนินด้วยพระบาทเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
[๕๒๗] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะพระเจ้าปเสนทิโกศลผู้ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้าง
หนึ่งแล้วว่า ดูกรมหาบพิตร พระเจ้าแผ่นดินมคธจอมเสนา ทรงพระนามว่า พิมพิสาร ทรงทำ
ให้พระองค์ทรงขัดเคืองหรือหนอ หรือเจ้าลิจฉวี เมืองเวสาลี หรือว่าพระราชาผู้เป็นปฏิปักษ์
เหล่าอื่น?
พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าแผ่นดินมคธ จอม
เสนาทรงพระนามว่า พิมพิสาร มิได้ทรงทำหม่อมฉันให้ขัดเคือง แม้เจ้าลิจฉวีเมืองเวสาลี
ก็มิได้ทรงทำให้หม่อมฉันขัดเคือง แม้พระราชาที่เป็นปฏิปักษ์เหล่าอื่น ก็มิได้ทำให้หม่อมฉัน
ขัดเคือง แต่ข้าพระองค์ผู้เจริญ ในแว่นแคว้นของหม่อมฉัน มีโจรชื่อว่าองคุลิมาล เป็นคน
หยาบช้า มีฝ่ามือเปื้อนเลือด ปักใจในการฆ่าตี ไม่มีความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย องคุลิมาล
โจรนั้น กระทำบ้านไม่ให้เป็นบ้านบ้าง กระทำนิคมไม่ให้เป็นนิคมบ้าง กระทำชนบทไม่ให้
เป็นชนบทบ้าง เขาเข่นฆ่าพวกมนุษย์แล้วเอานิ้วมือร้อยเป็นพวงทรงไว้ หม่อมฉันจักกำจัด
มันเสีย.
ภ. ดูกรมหาราช ถ้ามหาบพิตรพึงทอดพระเนตรองคุลิมาลผู้ปลงผมและหนวด นุ่งห่ม
ผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้น
จากการพูดเท็จ ฉันภัตตาหารหนเดียว ประพฤติพรหมจรรย์ มหาบพิตรจะพึงทรงกระทำอย่างไร
กะเขา?
ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันพึงไหว้ พึงลุกรับ พึงเชื้อเชิญด้วยอาสนะ พึง
บำรุงเขาด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร หรือพึงจัดการรักษา
ป้องกันคุ้มครองอย่างเป็นธรรม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่องคุลิมาลโจรนั้น เป็นคนทุศีล
มีบาปธรรม จักมีความสำรวมด้วยศีลเห็นปานนี้ แต่ที่ไหน?
ทรงเห็นพระองคุลิมาลแล้วตกพระทัย
[๕๒๘] ก็สมัยนั้น ท่านพระองคุลิมาล นั่งอยู่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค
ทรงยกพระหัตถ์เบื้องขวาขึ้นชี้ตรัสบอกพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า ดูกรมหาราช นั่นองคุลิมาล.
ลำดับนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงมีความกลัว ทรงหวาดหวั่น พระโลมชาติชูชันแล้ว. พระผู้มี
พระภาคทรงทราบว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงกลัว ทรงหวาดหวั่น มีพระโลมชาติชูชันแล้ว
จึงได้ตรัสกะพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า อย่าทรงกลัวเลย มหาราช อย่าทรงกลัวเลย มหาราช
ภัยแต่องคุลิมาลนี้ไม่มีแก่มหาบพิตร. ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงระงับความกลัว ความ
หวาดหวั่น หรือโลมชาติชูชันได้แล้ว จึงเสด็จเข้าไปหาท่านองคุลิมาลถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้
ตรัสกะท่านองคุลิมาลว่า ท่านผู้เจริญ พระองคุลิมาลผู้เป็นเจ้าของเรา.
ท่านพระองคุลิมาลถวายพระพรว่า อย่างนั้น มหาราช.
ป. บิดาของพระผู้เป็นเจ้ามีโคตรอย่างไร มารดาของพระผู้เป็นเจ้ามีโคตรอย่างไร?
อ. ดูกรมหาบพิตร บิดาชื่อ คัคคะ มารดาชื่อ มันตานี.
ป. ท่านผู้เจริญ ขอพระผู้เป็นเจ้าคัคคะมันตานีบุตร จงอภิรมย์เถิด ข้าพเจ้าจักทำ
ความขวนขวาย เพื่อจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร แก่พระผู้เป็นเจ้า
คัคคะมันตานีบุตร.
ก็สมัยนั้น ท่านองคุลิมาล ถือการอยู่ในป่าเป็นวัตร ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือผ้า
บังสุกุลเป็นวัตร ถือผ้าสามผืนเป็นวัตร. ครั้งนั้น ท่านองคุลิมาลได้ถวายพระพรพระเจ้าปเสนทิ-
*โกศลว่า อย่าเลย มหาราช ไตรจีวรของอาตมภาพบริบูรณ์แล้ว.
[๕๒๙] ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
บังคมพระผู้มีพระภาคแล้วจึงประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. แล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์นัก ไม่เคยมีมา ที่พระผู้มีพระภาคทรงทรมานได้ซึ่งบุคคลที่ใครๆ
ทรมานไม่ได้ ทรงยังบุคคลที่ใครๆ ให้สงบไม่ได้ ให้สงบได้ ทรงยังบุคคลที่ใครๆ ให้ดับไม่ได้
ให้ดับได้ เพราะว่าหม่อมฉันไม่สามารถจะทรมานผู้ใดได้ แม้ด้วยอาชญา แม้ด้วยศาตรา ผู้นั้น
พระผู้มีพระภาคทรงทรมานได้โดยไม่ต้องใช้อาญา ไม่ต้องใช้ศาตรา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
หม่อมฉันขอทูลลาไปในบัดนี้ หม่อมฉันมีกิจมาก มีกรณียะมาก พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ขอ
มหาบพิตรจงทรงทราบกาลอันควรในบัดนี้เถิด ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จลุกจากที่
ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วเสด็จหลีกไป.
พระองคุลิมาลโปรดหญิงมีครรภ์
[๕๓๐] ครั้งนั้น เวลาเช้า ท่านพระองคุลิมาลครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรและจีวร
เข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี. กำลังเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกอยู่ในพระนครสาวัตถี
ได้เห็นสตรีคนหนึ่งมีครรภ์แก่หนัก. ครั้นแล้วได้มีความดำริว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมอง
หนอ สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมองหนอ ดังนี้. ครั้งนั้น ท่านพระองคุลิมาลเที่ยวบิณฑบาต
ในพระนครสาวัตถี เวลาปัจฉาภัตกลับจากบิณฑบาตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เวลาเช้า ข้าพระองค์ครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรและจีวร
เข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี กำลังเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกอยู่ในพระนครสาวัตถี
ได้เห็นสตรีคนหนึ่งมีครรภ์แก่หนัก. ครั้นแล้วได้มีความดำริว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมองหนอ
สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมองหนอ ดังนี้.
[๕๓๑] พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ดูกรองคุลิมาล ถ้าอย่างนั้น เธอจงเข้าไปหาสตรีนั้น
และกล่าวกะสตรีนั้นอย่างนี้ว่า ดูกรน้องหญิง ตั้งแต่เราเกิดมาแล้วจะได้รู้สึกว่าแกล้งปลงสัตว์
จากชีวิตหามิได้ ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน ขอความสวัสดีจงมีแก่ครรภ์
ของท่านเถิด.
ท่านพระองคุลิมาลกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็อาการนั้นจักเป็นอันข้าพระองค์
กล่าวเท็จทั้งรู้อยู่เป็นแน่ เพราะข้าพระองค์แกล้งปลงสัตว์เสียจากชีวิตเป็นอันมาก.
ภ. ดูกรองคุลิมาล ถ้าอย่างนั้น เธอจงเข้าไปหาสตรีนั้น แล้วกล่าวกะสตรีนั้น
อย่างนี้ว่า ดูกรน้องหญิง ตั้งแต่เราเกิดแล้วในอริยชาติ จะได้รู้สึกว่าแกล้งปลงสัตว์เสียจาก
ชีวิตหามิได้ ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน ขอความสวัสดีจงมีแก่ครรภ์ของ
ท่านเถิด.
พระองคุลิมาลทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปหาหญิงนั้นถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าว
กะหญิงนั้นอย่างนี้ว่า ดูกรน้องหญิง ตั้งแต่เวลาที่ฉันเกิดแล้วในอริยชาติ จะแกล้งปลงสัตว์
จากชีวิตทั้งรู้หามิได้ ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน ขอความสวัสดีจงมีแก่ครรภ์
ของท่านเถิด.
ครั้งนั้น ความสวัสดีได้มีแก่หญิง ความสวัสดีได้มีแก่ครรภ์ของหญิงแล้ว.
พระองคุลิมาลบรรลุพระอรหัต
[๕๓๒] ครั้งนั้น ท่านพระองคุลิมาล หลีกออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว เป็นผู้ไม่ประมาท
มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วอยู่ไม่นานนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุด พรหมจรรย์อันไม่มีธรรมอื่น
ยิ่งกว่าที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน
แล้วเข้าถึงอยู่ ได้รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่น
เพื่อความเป็นอย่างนี้อีกมิได้มี ดังนี้. ก็ท่านพระองคุลิมาลได้เป็นอรหันต์องค์หนึ่งในจำนวนพระ
อรหันต์ทั้งหลาย.
[๕๓๓] ครั้งนั้น เวลาเช้า ท่านพระองคุลิมาลนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไป
บิณฑบาตในพระนครสาวัตถี. ก็เวลานั้นก้อนดิน ... ท่อนไม้ ... ก้อนกรวดที่บุคคลขว้างไปแม้
โดยทางอื่นก็มาตกลงที่กายของท่านพระองคุลิมาล ท่านพระองคุลิมาลศีรษะแตก โลหิตไหล
บาตรก็แตก ผ้าสังฆาฏิก็ฉีกขาด เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ. พระผู้มีพระภาคได้ทอด
พระเนตรท่านพระองคุลิมาลเดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วได้ตรัสกะท่านพระองคุลิมาลว่า เธอจงอด
กลั้นไว้เถิดพราหมณ์ เธอจงอดกลั้นไว้เถิดพราหมณ์ เธอได้เสวยผลกรรมซึ่งเป็นเหตุ จะให้เธอ
พึงหมกไหม้อยู่ในนรกตลอดปีเป็นอันมาก ตลอดร้อยปีเป็นอันมาก ตลอดพันปีเป็นอันมาก
ในปัจจุบันนี้เท่านั้น.
พระองคุลิมาลเปล่งอุทาน
[๕๓๔] ครั้งนั้น ท่านพระองคุลิมาลไปในที่ลับเร้นอยู่ เสวยวิมุติสุข เปล่งอุทานนี้ใน
เวลานั้นว่า
ก็ผู้ใด เมื่อก่อน ประมาท ภายหลัง ผู้นั้น ไม่ประมาท เขา
ย่อมยังโลกนี้ให้สว่าง ดังพระจันทร์ซึ่งพ้นแล้วจากเมฆ ฉะนั้น
ผู้ใด ทำกรรมอันเป็นบาปแล้ว ย่อมปิดเสียได้ด้วยกุศล ผู้นั้น
ย่อมยังโลกนี้ให้สว่าง ดุจพระจันทร์ซึ่งพ้นแล้วจากเมฆ ฉะนั้น
ภิกษุใดแล ยังเป็นหนุ่ม ย่อมขวนขวายในพระพุทธศาสนา
ภิกษุนั้น ย่อมยังโลกนี้ให้สว่าง ดุจพระจันทร์ซึ่งพ้นแล้วจากเมฆ
ฉะนั้น ขอศัตรูทั้งหลายของเรา จงฟังธรรมกถาเถิด ขอศัตรูทั้ง
หลายของเรา จงขวนขวายในพระพุทธศาสนาเถิด ขอมนุษย์ทั้ง
หลายที่เป็นศัตรูของเรา จงคบสัตบุรุษผู้ชวนให้ถือธรรมเถิด
ขอจงคบความผ่องแผ้วคือขันติ ความสรรเสริญคือเมตตาเถิด
ขอจงฟังธรรมตามกาล และจงกระทำตามธรรมนั้นเถิด ผู้ที่เป็น
ศัตรูนั้น ไม่พึงเบียดเบียนเราหรือใครๆ อื่นนั้นเลย ผู้ถึงความ
สงบอย่างยิ่งแล้ว พึงรักษาไว้ซึ่งสัตว์ที่สะดุ้งและที่มั่นคง คนทด
น้ำ ย่อมชักน้ำไปได้ ช่างศร ย่อมดัดลูกศรได้ ช่างถาก ย่อมถาก
ไม้ได้ ฉันใด บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมทรมานตนได้ ฉันนั้น คน
บางพวก ย่อมฝึกสัตว์ ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยขอบ้าง ด้วยแส้
บ้าง เราเป็นผู้ที่พระผู้มีพระภาคทรงฝึกแล้ว โดยไม่ต้องใช้อาญา
ไม่ต้องใช้ศาตรา เมื่อก่อน เรามีชื่อว่าอหิงสกะ แต่ยังเบียดเบียน
สัตว์อยู่ วันนี้ เรามีชื่อตรงความจริง เราไม่เบียดเบียนใครๆ เลย
เมื่อก่อน เราเป็นโจร ปรากฏชื่อว่าองคุลิมาล ถูกกิเลสดุจ
ห้วงน้ำใหญ่พัดไป มาถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะแล้ว เมื่อก่อน
เรามีมือเปื้อนเลือด ปรากฏชื่อว่า องคุลิมาล ถึงพระพุทธเจ้า
เป็นสรณะ จึงถอนตัณหาอันจะนำไปสู่ภพเสียได้ เรากระทำ
กรรมที่จะให้ถึงทุคติเช่นนั้นไว้มาก อันวิบากของกรรมถูกต้อง
แล้ว เป็นผู้ไม่มีหนี้ บริโภคโภชนะ พวกชนที่เป็นพาลทราม
ปัญญา ย่อมประกอบตามซึ่งความประมาท ส่วนนักปราชญ์
ทั้งหลาย ย่อมรักษาความไม่ประมาทไว้ เหมือนทรัพย์อัน
ประเสริฐ ฉะนั้น ท่านทั้งหลาย จงอย่าประกอบตามซึ่งความ
ประมาท อย่าประกอบตามความชิดชมด้วยสามารถความยินดี
ในกาม เพราะว่าผู้ไม่ประมาทแล้ว เพ่งอยู่ ย่อมถึงความสุข
อันไพบูลย์ การที่เรามาสู่พระพุทธศาสนานี้นั้น เป็นการมาดีแล้ว
ไม่ปราศจากประโยชน์ ไม่เป็นการคิดผิด บรรดาธรรมที่พระผู้
มีพระภาคทรงจำแนกไว้ดีแล้ว เราก็ได้เข้าถึงธรรมอันประเสริฐ
สุดแล้ว (นิพพาน) การที่เราได้เข้าถึงธรรมอันประเสริฐสุดนี้
นั้น เป็นการถึงดีแล้ว ไม่ปราศจากประโยชน์ ไม่เป็นการคิด
ผิด วิชชา ๓ เราบรรลุแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้าเรากระทำ
แล้วดังนี้.
จบ อังคุลิมาลสูตร ที่ ๖.


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 126 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1 ... 5, 6, 7, 8, 9

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร