ลานธรรมจักร http://www.dhammajak.net/forums/ |
|
พระพุทธชินศรี วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=47905 |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 |
เจ้าของ: | สาวิกาน้อย [ 11 มิ.ย. 2014, 16:29 ] |
หัวข้อกระทู้: | พระพุทธชินศรี วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) |
![]() ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด ![]() ![]() ![]() พระพุทธชินศรี พระประธานในพระวิหารทิศตะวันตกมุขหน้า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) “วัดโพธิ์” หรือ “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร” เดิมชื่อว่า “วัดโพธาราม” เป็นวัดโบราณเก่าแก่ ซึ่งราษฎรสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แม้ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างวัดโพธารามที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นหลังจากปีพุทธศักราช ๒๒๓๑ ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาต่อกับรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นวัดราษฎร์ขนาดเล็กอยู่ในเขตตำบลบางกอก ปากน้ำเจ้าพระยา เมืองธนบุรี ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า “วัดโพธิ์” มาจนถึงกระทั่งทุกวันนี้ พระพุทธชินศรี หรือพระนาคปรก พระประธานในพระวิหารทิศตะวันตกมุขหน้า เดิมเป็นพระพุทธรูปขนาดหน้าตักสามศอกคืบสิบนิ้ว อัญเชิญมาจากเมืองลพบุรี ครั้นบูรณปฏิสังขรณ์แล้วจึงประดิษฐานไว้เป็นพระประธานในพระวิหารทิศตะวันตก และได้สร้างพญานาคแผลงฤทธิ์และต้นจิกไว้ด้านหลังองค์พระประธานด้วย จึงเรียกพระนามขององค์พระประธานว่า “พระนาคปรก” ดังปรากฏความใน “จารึกเรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพนครั้งรัชกาลที่ ๑” ว่า “...พระพุทธรูปน่าตักสามศอกคืบสิบนิ้ว เชิญมาแต่ลพบุรีปติสังขรณ์เสรจ์แล้ว ประดิษถานไว้ในพระวิหารทิศตะวันตกบันจุพระบรมธาตุ์ ถวายพระนามว่าพระนาคปรก มีพญานาคแผลงฤทธิ์เลิกพั้งพานมีต้นจิกด้วยแลผนังนั้นเขียนเรื่องระเกษธาตุ์...” พระพุทธรูปพระประธานในพระวิหารทิศตะวันตก มีเจตนาให้เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก มาแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ พระองค์จึงถวายพระนามพระพุทธรูปว่า พระนาคปรก และทำพญานาคพร้อมด้วยต้นจิกประกอบ แม้ว่าต่อมาจะอัญเชิญพระพุทธชินศรีจากสุโขทัย มาประดิษฐานแทนพระพุทธรูปองค์เดิม แต่แนวคิดเรื่องการเป็นพระพุทธรูปนาคปรกก็มิได้สูญหายไป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จึงถวายพระนามใหม่ว่า “พระพุทธชินศรีมุนีนารถ อุรุคอาศนบัลลังก์ อุทธังทิศภาคนาคปรก ดิลกภพบพิตร” ซึ่งย่อมมีเจตนาให้มีความหมายถึงพระพุทธประวัติตอนนาคปรกนั่นเอง ปัจจุบันภายใน พระวิหารทิศตะวันตกมุขหน้า มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก ขนาดหน้าตัก ๕ ศอกคืบกับนิ้วหนึ่งประดิษฐานอยู่ นามว่า “พระพุทธชินศรี” หรือนามทางการว่า “พระพุทธชินศรีมุนีนารถ อุรุคอาศนบัลลังก์ อุทธังทิศภาคนาคปรก ดิลกภพบพิตร” และภายใน พระวิหารทิศใต้มุขหน้า มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก ๕ ศอกคืบกับนิ้วหนึ่งประดิษฐานอยู่ นามว่า “พระพุทธชินราช” หรือนามทางการว่า “พระพุทธชินราช วโรวาทธรรมจักร อัครปฐมเทศนา นราศภบพิตร” พระพุทธชินราช และพระพุทธชินศรีทั้ง ๒ พระองค์นี้ ปรากฏว่าเดิมได้ประดิษฐาน อยู่ ณ เมืองสุโขทัย แต่ใครจะเป็นผู้สร้างและสร้างขึ้นเมื่อใดนั้นยากที่จะทราบได้ ถึงในศิลาจารึกครั้งสมัยรัชกาลพระเจ้าขุนรามคำแหง ก็กล่าวไว้แต่เพียงว่า “กลางเมืองสุโขทัยนี้ มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฎฐารส มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันงาม” ดังนี้ และในศิลาจารึกครั้งสมัยรัชกาลพระเจ้าลิไทย ต่อนั้นมา ก็กล่าวไว้ว่า “พระเจ้าลิไทยได้หล่อพระพุทธรูปด้วยทองสัมฤทธิ์และพระศรีอาริย์” ดังนี้เป็นต้น ในจารึกทั้ง ๒ รัชกาลนี้ หาได้กล่าวถึงพระพุทธชินราช และพระพุทธชินศรี ทั้ง ๒ พระองค์นี้ไม่ เพราะฉะนั้นจึงน่าจะสันนิษฐานว่าพระยาไสยฤาไทย ซึ่งเป็นพระราชโอรสพระเจ้าลิไทย ผู้ครองกรุงสุโขทัยต่อนั้นมาทรงพระนามว่า พระมหาธรรมราชา ได้สร้างขึ้น เพื่อเป็นพระพุทธรูปสำคัญในรัชกาลของพระองค์ และคงจะได้ถวายพระนามว่า พระพุทธชินราชพระองค์หนึ่ง พระพุทธชินศรีพระองค์หนึ่ง มาตั้งแต่แรกสร้างนั้นแล้ว ดังปรากฏในศิลาจารึกวัดพระเชตุพนฯ ว่า “ครั้นเสร็จการฉลองพระอารามแล้ว ภายหลังทรงพระกรุณาให้เชิญพระปฏิมากรทั้ง ๒ ซึ่งสถิตย์อยู่ในพระวิหารฝ่ายทักขิณทิศและประจิมทิศนั้น ขึ้นไปประดิษฐานไว้ ณ พระวิหารวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ให้เชิญพระปฏิมากรทั้ง ๒ พระองค์ ซึ่งเชิญมาแต่เมืองสุโขทัย น่าตัก ๕ ศอกคืบกับนิ้วหนึ่งเท่ากัน พระองค์หนึ่งทรงพระนาม พระพุทธชินราช เข้าประดิษฐานไว้แทนที่ในพระวิหารฝ่ายทักขิณทิศ พระองค์หนึ่งทรงพระนาม พระพุทธชินศรี เข้าประดิษฐานไว้แทนที่ในพระวิหารฝ่ายประจิมทิศ” ดังนี้ และพระนามทั้ง ๒ นี้ก็น่าจะเลียนอย่างพระนาม พระพุทธชินราชและพระพุทธชินศรีเมืองพิษณุโลกนั้นด้วย พระพุทธชินศรี เป็นพระพุทธรูปที่อยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบ ลักษณะคือพระชงฆ์ขวาวางอยู่เหนือพระชงฆ์ซ้าย ทำให้แลเห็นฝ่าพระบาทขวาเพียงข้างเดียว ในขณะที่ฝ่าพระบาทซ้ายอยู่ใต้พระชานุขวา พระหัตถ์ทำปางมารวิชัย ลักษณะคือพระหัตถ์ขวาวางอยู่หน้าพระชงฆ์ขวา พระหัตถ์ซ้ายวางอยู่เหนือพระเพลา พระองค์ประทับอยู่บนขนดนาคซ้อนกัน ๔ ชั้น เบื้องหลังเป็นพังพานและเศียรนาค ๗ เศียร และมีต้นจิกอยู่ถัดออกไปทางเบื้องหลัง ตามปกติแล้วพระพุทธรูปปางนาคปรกนิยมทำพระหัตถ์ในท่าสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองวางเหนือพระเพลา โดยพระหัตถ์ขวาวางบนพระหัตถ์ซ้าย แต่พระพุทธชินศรีกลับอยู่ในท่ามารวิชัย เป็นสิ่งที่อยู่นอกแบบแผนประเพณี ที่เป็นเช่นนี้อธิบายได้ว่า เพราะขนดนาคกับพระพุทธรูปมิได้สร้างขึ้นครั้งเดียวกัน โดยขนดนาคทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ ส่วนพระพุทธชินศรีสร้างขึ้นครั้งกรุงสุโขทัย ซึ่งเป็นยุคสมัยที่นิยมพระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นอย่างยิ่ง สร้างขึ้นโดยมิได้ตั้งใจให้เป็นพระพุทธรูปนาคปรกมาแต่แรก แต่ด้วยพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่โปรดอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ มาประดิษฐานไว้เหนือขนดนาค จึงทำให้เกิดเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับอยู่บนขนดนาค สำหรับในส่วนของนาคยังมีข้อน่าสังเกตเพิ่มเติมอีก กล่าวคือ คัมภีร์พุทธศาสนาต่างพรรณนาเหตุการณ์นี้ว่าพญานาคมุจลินท์ขนดกาย ล้อมองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๗ รอบ และแผ่พังพานปกป้องพระเศียร แต่ขนดนาคที่ปรากฏร่วมกันกับพระพุทธชินศรีกลับทำในลักษณะของบัลลังก์ ให้พระพุทธองค์ประทับ มิได้ล้อมรอบ และพังพานนาคก็มิได้ปกเหนือพระเศียรอย่างมิดชิด แต่เหมือนแผ่อยู่เบื้องหลังมากกว่า แม้ว่าจะไม่สอดคล้องกับคัมภีร์พุทธศาสนา แต่นาคในลักษณะเช่นนี้ก็นิยมทำกันมาเนิ่นนานแล้ว และสร้างพลังศรัทธาในองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อผู้พบเห็นได้เป็นอย่างดี ประหนึ่งว่าแสดงอิทธิปาฏิหาริย์เหนือพญานาค แต่หากทำขนดนาคล้อมรอบ ๗ รอย และแผ่พังพานคุ้มกันอย่างมิดชิด อาจให้ความรู้สึกอึดอัดต่อผู้พบเห็น เพราะเสมือนว่าพระพุทธองค์กำลังถูกนาคทำร้าย พระพุทธชินศรี มีรูปแบบตามอย่างพระพุทธรูปสุโขทัย สอดคล้องกันกับประวัติที่ระบุว่าอัญเชิญมาจากเมืองสุโขทัย แต่ทั้งนี้ลักษณะบางประการโดยเฉพาะพระพักตร์ในสมัยรัชกาลที่ ๑ โปรดให้อัญเชิญมาจากเมืองสุโขทัย แต่ทั้งนี้ลักษณะบางประการโดยเฉพาะพระพักตร์ ก็ดูละม้ายกับพระพุทธสมัยรัตนโกสินทร์อยู่บ้าง ชวนให้นึกถึงข้อมูลเอกสารที่ระบุว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๑ โปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปที่ชำรุดหักพังจากหัวเมืองต่างๆ คือ พิษณุโลก สวรรคโลก สุโขทัย ลพบุรี อยุธยา จำนวน ๑,๒๔๘ องค์ มาปฏิสังขรณ์ อาทิ ต่อพระศอ พระเศียร พระบาท พระหัตถ์ที่ชำรุดเสียหาย แปลงพระพักตร์ แปลงพระองค์ให้งดงาม อาจเป็นไปได้ว่า พระพุทธชินศรี ก็เป็นหนึ่งในพระพุทธรูปที่อัญเชิญมาในครั้งนี้ด้วย ![]() ![]() “พระพุทธชินศรี” พระประธานในพระวิหารทิศตะวันตกมุขหน้า ![]() ![]() ![]() ![]() วัดประจำรัชกาลที่ ๑ : วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19426 |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 | เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง |
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group http://www.phpbb.com/ |