ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

หลวงพ่อดีบุก วัดบ้านหงาว จ.ระนอง
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=46297
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  ฟ้าใสใส [ 09 ก.ย. 2013, 23:22 ]
หัวข้อกระทู้:  หลวงพ่อดีบุก วัดบ้านหงาว จ.ระนอง

รูปภาพ

พระติปุกะพุทธมหาศากยมุนีศรีรณังค์
หรือ “หลวงพ่อดีบุก” พระประธานในอุโบสถ
วัดบ้านหงาว ต.หงาว อ.เมือง จ.ระนอง


สถานที่ตั้ง

วัดบ้านหงาว เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลหงาว อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ห่างจากถนนเพชรเกษมประมาณ 300 เมตร และอยู่ใกล้กับสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด คือ บริเวณภูเขาหญ้า

ประวัติความเป็นมา

วัดบ้านหงาว เริ่มก่อตั้งเป็นที่พักสงฆ์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 โดยในปีนั้น มีพระธุดงค์ที่มีอายุพรรษามากรูปหนึ่ง ท่านธุดงค์มาจากจังหวัดปัตตานี มีชื่อว่า หลวงพ่อเขียด ไม่ทราบนามฉายาของท่านมาปักกรดโปรดสัตว์อยู่ที่บริเวณสถานีอนามัยตำบลหงาวในปัจจุบัน เนื่องจากตำบลหงาวไม่มีวัดมาก่อน ชาวบ้านมีความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระพุทธศาสนามาก จึงพากันไปนมัสการ ทำบุญ ฟังธรรมกันมาก ต่อมาคุณแม่ลำไย สกุลสิงห์ คหบดีในตำบลหงาวอุทิศที่ดินจำนวน 2 ไร่ สร้างเป็นพี่พักสงฆ์ หลวงพ่อเขียด รับนิมนต์และย้ายไปปักกรดในที่ดินที่คุณแม่ลำไยอุทิศให้คือบริเวณที่ตั้งวัดปัจจุบัน เนื่องจากหลวงพ่อเขียดเป็นพระธุดงค์ ชอบความสงบวิเวก

เมื่อสร้างที่พักสงฆ์เสร็จแล้ว มีพระภิกษุสามเณรมาอยู่กันมาก คนก็เริ่มเข้าวัดมากขึ้น ท่านเห็นว่ามีพระอยู่กันหลายรูปแล้ว ในปี พ.ศ. 2502 ท่านก็จาริกธุดงค์ไปที่อื่นต่อไป โดยไม่มีใครทราบว่าท่านธุดงค์ไปที่ไหนจนกระทั่งปัจจุบัน ต่อมาที่พักสงฆ์ บ้านหงาวได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นสำนักสงฆ์สาขาวัดอุปนันทาราม มี พระครูสมุห์นิคม อรุโณ มาอยู่เป็นเจ้าสำนัก จึงมีการพัฒนาและก่อสร้างอาคารต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น กุฏิพระสงฆ์ หอฉัน ศาลาการเปรียญ เป็นต้น เพื่อเตรียมการขอตั้งเป็นวัดให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกรมการศาสนา จะต้องมีที่ดินอย่างน้อย 6 ไร่ ขึ้นไป และมีกุฏิ เสนาสนะ สิ่งสาธารณูปโภค อย่างอื่น เช่น เมรุเผาศพ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ดร.แหลม พิชัยศรทัต ซึ่งเป็นผู้จัดการใหญ่ของบริษัทไซนัสทินชินทีเกรด ทำธุรกิจเหมืองเรือขุดแร่อยู่ในตำบลหงาวและเป็นกำนันอยู่ในตำบลหงาวในขณะนั้น ได้ของบประมาณจากทางจังหวัดมาสร้างเมรุเผาศพ และขอบริจาคที่ดินจากผู้ที่มีที่ดินติดกับวัด จึงทำให้วัดบ้านหงาวมีที่ดินเพิ่มขึ้น รวมทั้งสิ้น 22 ไร่เศษดังปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2530 สำนักสงฆ์ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นวัดในพระพุทธศาสนา ใช้ชื่อว่า “วัดบ้านหงาว” มี พระอธิการน้อม จนฺทสโร เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก พระอธิการน้อมมรณภาพในปี พ.ศ. 2532 ทางคณะสงฆ์จังหวัดระนองจึงได้ส่ง พระสมุห์โกศล กุสโล (อาจารย์ฉลวย กุสโล) มาเป็นเจ้าอาวาสแทน พระสมุห์โกศลท่านเป็นพระนักพัฒนา ท่านได้วางแผนพัฒนาวัดบ้านหงาวอย่างต่อเนื่อง สร้างกุฏิ หอฉัน ศาลาการเปรียญ เมรุเผาศพขึ้นใหม่ รวมทั้งจัดตั้งแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดขึ้นในเมืองเก่า หาพันธุ์ปลามาปล่อย และตั้งชื่อขุมเหมืองแร่เก่านี้ว่า “วังมัจฉา” มีพันธุ์ปลาน้ำจืดที่หายาก เช่น ปลาบึก มาปล่อยลงวังมัจฉานี้ จนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดระนองในปัจจุบัน ต่อมาพระสมุห์โกศล ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระครูพัฒนกิจโกวิท” เป็นพระนักพัฒนาตัวอย่าง และวัดบ้านหงาวได้รับการพิจารณาจากกรมการศาสนาให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น ในปี พ.ศ. 2540 และวัดอุทยานการศึกษา ในปี พ.ศ. 2539

ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 พระครูพัฒนโกวิท ได้ลาสิกขาออกไปเป็นฆราวาส ในปีเดียวกันนั้นคณะกรรมการและชาวบ้านตำบลหงาว ได้ไปนิมนต์ พระมหาเทียม ธมฺมิโก จากสำนักสงฆ์สวนผึ้ง มาเป็นเจ้าอาวาสสืบแทนจนถึงปัจจุบัน และในปี พ.ศ. 2549 พระมหาเทียม ธมฺมิโก ได้รับสมณศักดิ์เป็น “พระครูประจักษ์สุตสาร” ท่านเป็นพระนักปฏิบัติ อดีตท่านเป็นคณาจารย์สอนวิปัสสนากรรมฐาน ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) วัดมหาธาตุฯ กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2549 สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดระนองได้ดำเนินการปรับภูมิทัศน์วัฒนธรรมบริเวณวัดบ้านหงาว เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ในการจัดภูมิทัศน์วัฒนธรรมของตนเองอันก่อให้เกิดการรักษาคุณค่าความสำคัญของการอนุรักษ์และพัฒนาสภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่นให้ยั่งยืนตลอดไป ต่อมาได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างองค์พระพุทธรูป นามว่า “หลวงพ่อดีบุก”

ปัจจุบัน วัดบ้านหงาว กำลังก่อสร้างอุโบสถเป็น 2 ชั้น หรือที่เรียกว่า อุโบสถลอยฟ้ากว้าง 8 เมตร ยาว 15 เมตร รอบอุโบสถเทคอนกรีตเป็นลานกว้าง 14.50 เมตร ยาว 63 เมตร มีลูกกรงล้อมรอบ ในแต่ละมุมทั้ง 4 ด้าน มีอาคารจัตุรมุขกว้าง 3 เมตร ยาว 4.50 เมตร มีบันไดขึ้นลงรอบทิศเหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก ด้านล่างของอุโบสถเป็นห้องโถงใช้สำหรับการประชุมสัมมนา

ในอุโบสถวัดบ้านหงาว เป็นที่ประดิษฐานพระประธาน มีนามว่า “หลวงพ่อดีบุก” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีชื่อเป็นทางการว่า “พระติปุกะพุทธมหาศากยมุนีศรีรณังค์” อันมีความหมายว่า “พระพุทธรูปดีบุกองค์ใหญ่เป็นสิริมงคลและศักดิ์ศรีของเมืองระนอง”

ด้วยเมืองระนอง มีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ คือ แร่ดีบุก อุดมสมบูรณ์ วิถีชีวิตของผู้คนผูกพันกับแร่ดีบุกมายาวนาน แร่ดีบุกเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงคนระนอง สร้างความมั่งคั่งมั่นคงและความเป็นปึกแผ่นให้เกิดขึ้นในแผ่นดินเมืองระนอง

ผู้บุกเบิกตำนานแร่ดีบุกเมืองระนอง คือ “คอซู้เจียง” ที่เข้ามายื่นขอประมูลอากรดีบุก เมื่อปีมะโรง พ.ศ. 2387 ปลายรัชกาลที่ 3 ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี ต้นตระกูล ณ ระนอง เป็นเจ้าเมืองระนองคนแรก รับราชการมาตั้งแต่รัชกาลที่ 3 จนถึงรัชกาลที่ 5 ถึงอสัญกรรมเมื่ออายุได้ 86 ปี

แม้ปัจจุบันการทำเหมืองดีบุกจะไม่มีแล้ว จะมีเพียงการร่อนแร่ในลำคลองที่พอมีให้เห็นบ้างเท่านั้น จึงเป็นการย้อนอดีตคืนสู่ความทรงจำให้แก่คนรุ่นหลังได้รู้จักแร่ดีบุก และรู้คุณค่า

หลวงพ่อดีบุก วัดบ้านหงาว สร้างเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2551 ตรงกับวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 มหาฤกษ์ 13.39 น. ขนาดพระประธานหลวงพ่อดีบุก เป็นตัวเลขล้วนมีความหมายลึกซึ้งในแง่ของธรรมะและประวัติศาสตร์ คือ หน้าตักกว้าง 9 ฟุต หมายถึง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 9 หรือมงคล 9 สูงสุดแห่งมงคล ส่วนสูงจากฐานถึงเกตุมาลา 4 เมตร หรืออริยสัจ 4 ที่พระพุทธองค์แสดงปฐมเทศนา หรืออีกความหมายหนึ่งในอดีตพระมหากษัตริย์ได้เคยเสด็จเมืองระนองถึง 4 พระองค์ คือ รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9

นับว่าเป็น พระประธานที่หล่อด้วยแร่ดีบุกองค์แรกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ใช้แร่ดีบุกถึง 3 ตัน รวมถึงพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ รวมค่าใช้จ่ายประมาณ 4 ล้านบาท

หลวงพ่อดีบุก วัดบ้านหงาว แม้จะไม่ได้เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ แต่เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ แร่ดีบุกที่ใช้ในการสร้างองค์พระประธานเป็นแร่ที่มีนัยแห่งความดี คือ ดีบุก หมายถึง ความดีที่บุกเอาชนะความชั่ว

ในวันประกอบพิธีพราหมณ์ ประกอบพิธีอัญเชิญเทวดา พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์เจริญชัยมงคลคาถา เกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกลด ท่ามกลางแดดจ้า และมีเสียงฟ้าร้อง เสมือนหนึ่งการรับรู้ของฟ้าดิน

วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ก่อนประกอบพิธียกพระประธานขึ้นประดิษฐานไว้บนพระอุโบสถชั้น 2 ซึ่งใช้รถเครนขนาดใหญ่ 2 คันยก ได้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนักเสมือนหนึ่งว่าเทวดามาอวยพรสรงน้ำให้กับพระประธาน

ครั้นถึงเวลาตามฤกษ์ เวลา 14.39 น. ท้องฟ้าเปิดขึ้นมาทันที เป็นที่น่ามหัศจรรย์ สำหรับพุทธศาสนิกชนที่เข้าร่วมพิธีนับพันคน ต่างยกมือขึ้นสาธุพร้อมกัน

หลวงพ่อดีบุก เป็นธงชัยของวัดบ้านหงาวและชาวระนอง อันจะนำไปสู่ความสำเร็จในการก่อสร้างอุโบสถลอยฟ้า ใครจะกราบไหว้สักการะพระพุทธรูปดีบุกองค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก จะต้องนึกถึงจังหวัดระนอง และมากราบไหว้บูชาหลวงพ่อดีบุกที่วัดบ้านหงาวซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองระนอง เพียง 12 กิโลเมตรเท่านั้น

คาถาบูชาหลวงพ่อดีบุก

ตั้งนะโม 3 จบ

“วันทามิ ภันเต ติปุกะพุทธมหาศากยมุนีศรีรณังค์
ตัสสะ เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เม โหตุ สัพพะทา”


คำขวัญหลวงพ่อดีบุก

หลวงพ่อดีบุกมุกเเท้เมืองเเร่นอง ร่วมกันหลอมเเร่ดีบุกเป็นพระใหญ่
ถือเอาชื่องของเเร่เป็นหัวใจ ภาคภมิใจเพระเป็นเเร่ของชาวระนอง


ฉัตชัต กีรติสุธิพร
(เจ้าเกี๊ย)


รูปภาพ



:b8: ขอขอบพระคุณที่มาของข้อมูลและรูปภาพ
หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน ออนไลน์
คอลัมน์ เดินสายไหว้พระ โดย วิมล หนูแก้ว
และ facebook วัดบ้านหงาว จ.ระนอง

เจ้าของ:  Hanako [ 10 ก.ย. 2013, 21:40 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: หลวงพ่อดีบุก วัดบ้านหงาว จ.ระนอง

เคยอยู่ จ.ระนอง ตั้งนาน...ไม่เคยรู้จักเลยค่ะ พลาดโอกาสจะได้นมัสการเลย :b20: :b8:

เจ้าของ:  daoduan [ 24 ม.ค. 2014, 16:06 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: หลวงพ่อดีบุก วัดบ้านหงาว จ.ระนอง

สาธุ ขออนุโมทนาค่ะ :b8: rolleyes

เจ้าของ:  น้องพลอย [ 27 ก.ค. 2015, 13:08 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: หลวงพ่อดีบุก วัดบ้านหงาว จ.ระนอง

Kiss องค์พระงดงามมาก ขออนุโมทนาค่ะ :b8: :b16:

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/