ลานธรรมจักร http://www.dhammajak.net/forums/ |
|
พระเจ้าองค์แสน หรือ “พระเจ้าแสนห่า” วัดโพธิ์ชัยนาพึง จ.เลย http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=46011 |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 |
เจ้าของ: | วรานนท์ [ 31 ก.ค. 2013, 20:09 ] |
หัวข้อกระทู้: | พระเจ้าองค์แสน หรือ “พระเจ้าแสนห่า” วัดโพธิ์ชัยนาพึง จ.เลย |
![]() องค์กลางหลังสุด คือ พระเจ้าองค์แสน หรือ “พระเจ้าแสนห่า” (ทางวัดต้องทำลูกกรงปิดไว้ป้องกันการลักโขมย) ![]() ![]() ![]() ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด พระเจ้าองค์แสน หรือ พระเจ้าแสนห่า พระคู่บ้านคู่เมืองเลย ประดิษฐานอยู่ภายในกุฏิเจ้าอาวาส วัดโพธิ์ชัยนาพึง บ้านนาพึง ต.นาพึง อ.นาแห้ว จ.เลย ![]() ![]() ![]() วัดโพธิ์ชัยนาพึง หรือ “วัดโพธิ์ชัย” ตั้งอยู่ที่บ้านนาพึง ต.นาพึง อ.นาแห้ว จ.เลย ถือเป็นวัดที่เก่าแก่อีกวัดหนึ่งของจังหวัดเลย ที่มีมาก่อนการตั้งหมู่บ้าน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อปลายกรุงศรีอยุธยา ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 104 ตอนที่ 18 วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2530 ให้เป็นพื้นที่โบราณสถาน วัดมีเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ 1 งาน 73 ตารางวา ณ วัดแห่งนี้มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง คือ “พระเจ้าองค์แสน” หรือชาวบ้านเรียกว่า “พระเจ้าแสนห่า” ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ภายในกุฏิเจ้าอาวาส นอกจากนี้ภายในวัดยังมี วิหารเก่าแก่ ที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างพื้นถิ่นที่งดงาม วิหารเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ผนังก่ออิฐถือปูน หันหน้าไปทางทิศเหนือ มีประตูทางเข้า 3 ทาง คือด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ที่ประตูทางเข้าทั้งสามทิศมีสัตว์หิมพานต์หมอบอยู่ด้านละ 1 คู่ ส่วนผนังด้านทิศใต้ก่อทึบ หลังคาทรงจั่วมุงด้วยไม้แป้นเกล็ด มีชายคาปีกนก โดยรอบรองรับด้วยเสาไม้ หลังคาวิหารคลุมต่ำมากซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะของอาคารท้องถิ่นจังหวัดเลย ทั้งยังช่วยป้องกันภาพจิตรกรรมฝาผนังอีกด้วย รวมทั้งยังมี อุโบสถ หอพระไตรปิฎก ศาลาการเปรียญ เสาหลักคำ เจดีย์ และกำแพง ในสมัยนั้นให้ได้ชมและศึกษาอีกด้วย ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภายในวิหารเก่าแก่ของวัดโพธิ์ชัยนาพึง บ้านนาพึง ที่ปรากฏอยู่มีทั้งผนังด้านในและด้านนอกของวิหาร โดยที่ผนังด้านในจะเขียนเรื่องพุทธประวัติ และพระเวชสันดรชาดก ผนังด้านนอกจะเขียนเรื่องเนมิราชชาดก สังข์ศิลป์ชัย และการะเกด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่และการนับถือศาสนาของชาวบ้านนาพึง ลักษณะของลายเส้นและการใช้สีบ่งบอกถึงความมีอิสระและเป็นศิลปพื้นถิ่นอย่างแท้จริง สำหรับ “พระเจ้าองค์แสน” หรือ “พระเจ้าแสนห่า” องค์พระพุทธรูปโบราณคู่บ้านคู่เมืองมาหลายชั่วอายุคนนั้น มีประวัติความเป็นมาจากการเล่าขานและจากการรวบรวมหลักฐานว่า เป็นองค์พระพุทธรูปบูชาที่สร้างขึ้น ณ เมืองเชียงแสน หล่อด้วยทองสำริด ศิลปะแบบล้านช้าง ประทับนั่งขัดสมาธิราบ มีพระพักตร์ยาวรี ยอดพระเมฬี (ผม) เป็นเปลวเพลิง พระสังฆาฏิเป็นท้องนาค สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นประมาณปีพุทธศตวรรษที่ 22-23 มีขนาดหน้าตักกว้าง 13 นิ้ว สูง 24 นิ้ว และรอบอก 23 นิ้ว พระเจ้าองค์แสน เดิมประทับอยู่ที่เมืองหงสาวดี ประเทศพม่า ต่อมาได้ย้ายมาประดิษฐานอยู่ที่จังหวัดลำพูน จากเมืองลำพูนก็ย้ายไปประดิษฐานอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว และจากเมืองหลวงพระบาง ได้เสด็จมาประทับ ณ วัดโพธิ์ชัยนาพึง หรือวัดโพธิ์ชัย จ.เลย เป็นธรรมสถานสุดท้าย ตามประวัติของพระเจ้าองค์แสนได้เล่าสืบทอดต่อกันมาว่า เหตุที่ตั้งชื่อว่า “พระเจ้าแสนห่า” ก็เพราะ พระเจ้าองค์แสนเมื่อไปประดิษฐาน ณ ที่แห่งใด ก็จักมีฝนตกต้องตามฤดูกาล น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ เมื่อครั้งที่พระเจ้าองค์แสนเสด็จมาประทับที่วัดโพธิ์ชัยนาพึงนั้น พระเจ้าองค์แสนได้เสด็จมาทางอากาศ ขณะที่เสด็จมานั้นได้นำ ฆ้องน้อยห้อยศอก และปืนห้อยศอกติดตัวมาด้วย 1 กระบอก พร้อมกับมีพระพุทธรูปองค์เล็กติดตามมาด้วยอีก 2 องค์ มีชื่อว่า พระเจ้าแก้ว หรือชาวบ้านเรียกว่า ลูกพระเจ้าองค์แสน เมื่อพระเจ้าองค์แสนเหาะมาประทับที่วัดโพธิ์ชัยนาพึง ก็เกิดความอัศจรรย์แก่คนในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก และได้นำเอาความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ ทำให้ชาวบ้านเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงได้สร้างพระเจ้าองค์แสนอีกองค์หนึ่ง คู่กับพระเจ้าองค์แสน เรียกชื่อว่า “พระเจ้าองค์แสนเทียม” นอกจากนี้ยังเชื่ออีกว่า หากแยก พระเจ้าองค์แสน กับ พระเจ้าองค์แสนเทียม ออกจากกัน จะทำให้เกิดอุบัติเหตุ เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ในอดีตกล่าวกันว่า พระเจ้าองค์แสนเสด็จมาอยู่ที่วัดโพธิ์ชัยนาพึง บางครั้งก็เสด็จไปประทับที่อื่นบ้างอยู่เป็นประจำ โดยใช้แก้วที่อยู่พระเกศนำพาเสด็จ แต่เมื่อครั้งที่่ไฟไหม้อุโบสถวัดโพธิ์ชัยนาพึง พระเจ้าองค์แสนได้เสด็จออกมาและเกิดเหตุไปชนกับประตูอุโบสถ ทำให้พระเกศแก้วหัก แก้วที่อยู่บนพระเกศเสด็จไปอยู่ที่ใต้ต้นโพธิ์ภายในวัด พอถึงวันสำคัญก็จะส่องแสงสว่างไปทั่ววัดเป็นเวลา 3 เดือน ต่อมาก็หายไป พระเจ้าองค์แสนก็ประดิษฐานอยู่ที่วัดโพธิ์ชัยนาพึง บ้านนาพึง ตั้งแต่นั้นมา โดยไม่ได้เสด็จไปไหนอีกเลย อภินิหารอย่างหนึ่งของพระเจ้าองค์แสน คือทางเมืองหลวงพระบาง ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือสปป.ลาว ได้สืบค้นหาพระเจ้าองค์แสน จนทราบว่าท่านได้เสด็จมาอยู่ที่วัดโพธิ์ชัยนาพึง ทางเจ้าเมืองหลวงพระบางจึงมาอัญเชิญพระเจ้าองค์แสนกลับเมืองหลวงพระบาง โดยจัดขบวนช้างมาอัญเชิญพระเจ้าองค์แสนกลับ แต่ไม่สามารถนำกลับไปได้ เนื่องจากช้างไม่ยอมก้าวเดิน จึงต้องอัญเชิญพระเจ้าองค์แสนประทับอยู่ที่เดิม และเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของบ้านนาพึงมาจนถึงทุกวันนี้ จากการสันนิษฐานของเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและผู้รู้บางท่าน ซึ่งได้มีการนำเอารูปถ่ายของพระเกศในสมัยต่างๆ ไปเปรียบเทียบกับพระเจ้าองค์แสน พบว่าเป็นพระเชียงแสนยุคหลัง เป็นศิลปะลักษณะคล้ายไปทางหลวงพระบาง สมัยต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ถ้ามองแบบทางสุโขทัยก็เป็นยุคปลายสุโขทัย ข้อมูลนี้บันทึกโดย ปู่ช่วย บ้านนาพึง เรียบเรียงโดย นายอดิเรก คุณศิริ อาสาพัฒนารุ่นที่ 61 มีติดไว้ที่กุฏิเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัยนาพึง บ้านนาพึง จ.เลย พุทธศาสนิกชนที่มีโอกาสเดินทางไปเที่ยวเมืองเลย ควรแวะเข้าไปกราบขอพรจาก “พระเจ้าองค์แสน” หรือ “พระเจ้าแสนห่า” พระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเลย เพื่อความเป็นสิริมงคล ![]() ป้ายชื่อวัดโพธิ์ชัยนาพึง จ.เลย ![]() วิหารเก่าแก่ วัดโพธิ์ชัยนาพึง จ.เลย ![]() ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารเก่าแก่ ที่มา...หนังสือพิมพ์ข่าวสด พระพุทธรูปปางต่างๆ คอลัมน์ เดินสายไหว้พระ โดย วิชัย จินดาเหม http://www.jorpor.com/forum/index.php?topic=8386.0 ![]() ![]() ![]() |
เจ้าของ: | sirinpho [ 29 ก.ย. 2013, 06:33 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: พระเจ้าองค์แสน หรือ “พระเจ้าแสนห่า” วัดโพธิ์ชัยนาพึง จ.เ |
ขอสักการะ “พระเจ้าองค์แสน” หรือ “พระเจ้าแสนห่า” วัดโพธิ์ชัยนาพึงคะ ![]() ![]() ![]() |
เจ้าของ: | ศิษย์หลวงปู่ทา [ 31 พ.ค. 2014, 18:12 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: พระเจ้าองค์แสน หรือ “พระเจ้าแสนห่า” วัดโพธิ์ชัยนาพึง จ.เ |
ขอกราบครับ องค์พระงดงามมากครับ |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 | เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง |
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group http://www.phpbb.com/ |