ลานธรรมจักร http://www.dhammajak.net/forums/ |
|
พุทธเจดีย์ ๔ ประเภท http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=28577 |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 |
เจ้าของ: | ธรรมบุตร [ 14 ม.ค. 2010, 01:44 ] |
หัวข้อกระทู้: | พุทธเจดีย์ ๔ ประเภท |
พุทธเจดีย์ เจดีย์ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า ๔ ประเภท เมื่อพูดถึง “พุทธเจดีย์” สาธุชนหลายท่านคงนึกถึงสิ่งก่อสร้างที่ก่ออิฐถือปูน มีรูปร่างดังลอมฟ่าง มีสัณฐานทรงกลมยอดแหลม ภายในบรรจุสิ่งที่นับถือ มีพระบรมธาตุ เป็นต้น แต่ความจริงแล้ว ที่เรียกว่า “พุทธเจดีย์” นั้น ไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีรูปพรรณสัณฐานดังกล่าวแล้ว แม้เป็นสถานที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือเป็น 'พระพุทธรูป' ก็จัดเป็นพุทธเจดีย์ทั้งสิ้น ดังนั้น ท่านจึงจัดพุทธเจดีย์ออกเป็น ๔ อย่าง คือ ๑. พระธาตุเจดีย์ คือ พระบรมธาตุ หรือ พระบรมสารีริกธาตุ ที่ “โทณพราหมณ์” แบ่งแก่กษัตริย์เมืองต่างๆ ๘ นคร มีพระเจ้าอชาตศัตรู จอมกษัตริย์แห่งมคธรัฐ เป็นต้น เป็น ๘ ส่วนเท่าๆ กัน แล้วมอบให้กษัตริย์ผู้ครองนครทั้ง ๘ นำไปบรรจุไว้ในพระสถูปเพื่อสักการบูชาที่บ้านเมืองของตน จัดเป็นพระธาตุเจดีย์ ๒. บริโภคเจดีย์ ได้แก่ สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง คือ สถานที่ประสูติ สถานที่ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ สถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนา และสุดท้าย สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน สังเวชนียสถาน ๔ แห่งนี้ จัดเป็นบริโภคเจดีย์ตามพระบรมพุทธานุญาต และเมื่อนับรวมกับพระพุทธสรีรางคาร คือ เถ้าถ่านที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า ซึ่งโมริยกษัตริย์ได้รับไป แล้วทรงสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสรีรังคาร (พระอังคารสถูป) ณ เมืองปิปผลิวัน องค์หนึ่ง และตุมพะทะนาน ที่โทณพราหมณ์ใช้ตวงพระบรมสารีริกธาตุแจกแก่กษัตริย์เมืองต่างๆ ๘ นคร มีพระเจ้าอชาตศัตรู จอมกษัตริย์แห่งมคธรัฐ เป็นต้น ซึ่งโทณพราหมณ์ได้รับไป แล้วสร้างพระสถูปบรรจุไว้ ณ เมืองกุสินารา องค์หนึ่ง พระสถูปทั้ง ๒ องค์ดังกล่าวนี้ก็นับเป็นบริโภคเจดีย์เช่นกัน เพราะเนื่องด้วยพระพุทธองค์ เมื่อรวมกับสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง จึงเป็นบริโภคเจดีย์ในชั้นแรก ๖ แห่งด้วยกัน ต่อมาชนชั้นหลังได้นับเอา บาตร จีวร และบริวาร มี “ธมกรก” (อ่านว่า ทะ-มะ-กะ-หฺรก หมายถึง กระบอกกรองนํ้าของพระสงฆ์ เป็นบริขารอย่างหนึ่งในบริขาร ๘ ซึ่งพระภิกษุจะขาดเสียมิได้) เป็นต้นก็ดี เสนาสนะ เตียง ตั่ง และกุฏี วิหาร ที่พระพุทธองค์ทรงบริโภคทรงใช้สอยก็ดี เป็นบริโภคเจดีย์ทั้งสิ้น ๓. พระธรรมเจดีย์ คือ พระเจดีย์ที่บรรจุพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ กล่าวคือ วิญญูชนทั้งหลายมีศรัทธาตั้งมั่นในพระพุทธศาสนา ใคร่จะบูชาบริโภคเจดีย์และพระธาตุเจดีย์ แต่พระเจดีย์ดังกล่าวอยู่ไกลจนไม่สามารถจะไปบูชาได้ จึงได้สร้างพระเจดีย์ขึ้น แต่ไม่อาจจะหาพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุได้หรือไม่มีพระบรมสารีริกธาตุจะบรรจุ จึงถือเอาพุทธวจนะคือพระธรรมจารจารึกลงบนแผ่นทอง เงิน และศิลา เป็นคัมภีร์พระไตรปิฎก แล้วบรรจุไว้ในพระเจดีย์ พระธรรมที่มักใช้จารจารึกได้แก่ หัวใจของพระพุทธศาสนา ที่ว่า “เย ธมฺม เหตุปฺปภวา เตสํ ตถาคโต (อาห) เตลัญฺจโย นิโรโธจ เอวํ วาที มหาสมโณ” แปลว่า : ธรรมเหล่าใด มีเหตุเป็นแดนเกิด (เกิดแต่เหตุ) พระตถาคตเจ้าทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติทรงสั่งสอนอย่างนี้ เมื่อมีการจารจารึกพระธรรมวินัยลงเป็นตัวอักษรแล้ว ก็นับเอาคัมภีร์พระไตรปิฎกว่าเป็นพระธรรมเจดีย์ด้วย ๔. อุทเทสิกเจดีย์ (อ่านว่า อุท-เท-สิ-กะ-เจ-ดี) เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นด้วยเจตนาอุทิศเจาะจงต่อพระพุทธเจ้า อันเปรียบเสมือนตัวแทนของพระพุทธเจ้า มิได้กำหนดว่าเป็นอะไร ถ้ามิใช่พระธาตุเจดีย์ บริโภคเจดีย์ และพระธรรมเจดีย์แล้วก็ถือว่าเป็นอุทเทสิกเจดีย์ทั้งสิ้น เช่น พระพุทธปฏิมากรหรือพระพุทธรูป, รอยพระพุทธบาทจำลอง, พุทธบัลลังก์, พระธรรมจักร, พระเครื่องหรือพระพิมพ์, ต้นพระศรีมหาโพธิ์ และสัตตมหาสถาน ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อยังความปีติศรัทธาเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็นให้เกิดกุศลจิต จึงน้อมนำเอาเงิน ทอง ศิลา โลหะ และไม้แก่น มาสร้างเป็นอุทเทสิกเจดีย์ ในบรรดาพุทธเจดีย์ทั้ง ๔ นี้ พระธาตุเจดีย์หรือพระบรมสารีริกธาตุนับว่าหาได้ยากยิ่ง แต่ก็มักมีผู้อวดอ้างว่ามีอยู่มากมาย จึงขอน้อมนำมาเอาพระนิพนธ์ของท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในหนังสือพุทธประวัติ เล่ม ๓ มาลงไว้ให้พิจารณากัน ความว่า... “อนึ่ง ผู้ที่นำสิ่งของนั้นๆ มีกรวดบ้าง ศิลาบ้าง มาแสดงว่าเป็นพระธาตุ ดั่งนี้ก็มีมากในสถานบ้านเมืองนั้นๆ จนประชุมชนไม่ทราบว่าพระธาตุแท้นั้นอย่างไร พระสถูปที่สร้างๆ ขึ้นไว้ก็มีมากหนาไป ผู้เห็นก็จืดจิต ไม่เลื่อมใส” รวบรวมและเรียบเรียงเนื้อหามาจาก :: (๑) หนังสือธรรมลีลา ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓๘ โดย มหานาลันทา (๒) พระพุทธรูปแห่งบามิยัน (Buddhas of Bamiyan) และพระคัมภีร์พุทธเก่าแก่ที่สุดในโลก http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=34022 “ถูปารหบุคคล” บุคคลผู้ควรแก่การสร้างสถูปไว้บูชา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=43001 เจดีย์ บุญเขตต์อันเยี่ยม เชื่อมโยงใจพระพุทธเจ้า http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=24507 โทณพราหมณ์ ผู้แจกพระบรมสารีริกธาตุ http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=50448 |
เจ้าของ: | AAAA [ 03 มี.ค. 2015, 13:46 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: พุทธเจดีย์ ๔ ประเภท |
เจ้าของ: | น้องพลอย [ 14 ก.ค. 2021, 09:59 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: พุทธเจดีย์ ๔ ประเภท |
เจ้าของ: | sirinpho [ 23 ก.พ. 2022, 14:46 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: พุทธเจดีย์ ๔ ประเภท |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 | เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง |
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group http://www.phpbb.com/ |