ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

วัดธรรมาราม-สังฆไมตรี ศรีลังกา (จ.พระนครศรีอยุธยา)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=23596
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  เจ้านาง [ 08 ก.ค. 2009, 13:28 ]
หัวข้อกระทู้:  วัดธรรมาราม-สังฆไมตรี ศรีลังกา (จ.พระนครศรีอยุธยา)

วัดธรรมาราม-สังฆไมตรี ศรีลังกา

วัดธรรมาราม เป็นวัดโบราณสร้างแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี อยู่ที่ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา ไม่ปรากฏว่าสร้างมาแต่รัชสมัยใด ใครเป็นผู้สร้าง แต่สันนิษฐานว่าสร้างมาแล้วไม่น้อยกว่า ๔๑๔ ปี

ที่ตั้งของวัดในปัจจุบัน แต่เดิมเคยเป็นที่ตั้งค่ายของพม่าทุกครั้งที่ยกทัพเข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยา เพื่อใช้ควบคุมเส้นทางคมนาคมทางน้ำ เพราะเหนือวัดนี้ไปเพียงเล็กน้อยคือ บริเวณปากน้ำลพบุรีที่ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา อันเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่ง และป้องกันการเคลื่อนย้ายกำลังของไทยมาจากภายนอกเสริมกำลังในเมืองหลวงได้เป็นอย่างดี เพราะด้านหลังวัดธรรมารามเป็นทุ่งกว้างมีชื่อว่า “ทุ่งประเชต” อันเป็นหนึ่งในสามของทุ่งที่มีการสัปประยุทธกันอย่างโชกโชนระหว่างไทยกับพม่า ทุ่งทั้งสามมีนามดังนี้ คือ ทุ่งพุดเลา ทุ่งชายเคือง และทุ่งประเชต มีเส้นทางไปสุพรรณบุรีและวิเศษชัยชาญ เนื่องจากวัดตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกตรงข้ามกับพระราชวังหลวง จึงเป็นหนึ่งในสี่ของท่าเรือข้ามฟากในสมัยนั้น อันได้แก่ ท่าข้ามวัดธรรมาราม ท่าข้ามวัดกษัตราธิราช ท่าข้ามวัดราชพีร์ และท่าข้ามวัดไชยวัฒนาราม

ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก พ.ศ.๒๑๑๒ บุเรงนองแม่ทัพพม่า ได้กรีธาทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินพระมหินทราธิราช ได้ตั้งค่ายที่วัดธรรมาราม และทำพม่าทำอุบายปล่อยเจ้าพระยาจักรี อดีตแม่ทัพไทย ซึ่งพม่าล้อมจับได้ที่ทุ่งลุ่มพลี โดยเกลี้ยกล่อมเจ้าพระยาจักรี ให้เข้ากับฝ่ายตน ด้วยการเอาลาภเข้าล่อ จนเจ้าพระยาจักรีเห็นผิดเป็นชอบยอมเป็นเครื่องมือของพม่า เมื่อปล่อยเจ้าพระยาจักรีข้ามไปเข้าเมือง โดยใช้ท่าข้ามวัดธรรมารามแล้ว พม่าก็ทำอุบายขึ้นมาอีกจับทหาร ๓๐ คน หาว่าเป็นผู้คุมแล้วปล่อยให้เชลยหนีไปได้จึงฆ่าเสีย แล้วเสียบศีรษะ ประจานไว้ที่หน้าค่ายวัดธรรมารามแห่งนี้

อนึ่งวัดนี้ หลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าใน พ.ศ.๒๓๑๐ อันเป็นการเสียกรุงครั้งสุดท้าย พม่าได้เผาทำลายเสียสิ้นกลายเป็นวัดร้าง จนถึงรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และพระโอรสทรงศรัทธาเสด็จมาบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั่วทั้งพระอาราม เมื่อการปฏิสังขรณ์เสร็จบริบูรณ์แล้ว ได้ประทานนามให้ใหม่ว่า "วัดราชธรรมาวาศวรวิหาร" มีฐานะเป็นพระอารามหลวงวัดหนึ่ง และต่อมาเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า" วัดธรรมาวาศ" จนถึงรัชกาลที่ ๔

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ มีพระราชาคณะเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดนี้ ที่สำคัญคือ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระบรมโกศ (พ.ศ.๒๒๗๖- พ.ศ.๒๓๐๑) มีพระราชาคณะผู้ใหญ่ดำรง ตำแหน่ง คือ
๑.พระอุบาลีมหาเถระ (มรณภาพ ณ ประเทศศรีลังกา)
๒.พระอริยมุนีมหาเถระ (มรณภาพ ณ วัดธรรมาราม)

ในพ.ศ. ๒๒๙๕ ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษ แห่งกรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้จัดส่งพระสงฆ์ไปบรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรชาวศรีลังกา ตามคำขอร้องของพระเจ้าเกียรติศิริราชสิงหะแห่งศรีลังกา ซึ่งส่งราชทูตเข้ามาขอพระสงฆ์ไทยไปศรีลังกา คณะธรรมทูตไทยมีจำนวน ๒๕ รูป ประกอบด้วยพระสงฆ์ ๑๘ รูป สามเณร ๗ รูป โดยมีพระอุบาลีมหาเถระและพระอริยมุนีมหาเถระเป็นหัวหน้า ออกเดินทางโดยเรือกำปั่นฮอลันดาจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือนอ้าย พ.ศ.๒๒๙๕ ถึงเมืองตรินโคมาลี อันเป็นเมืองท่าอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะลังกา เมื่อวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ โดยใช้เวลาเดินทางถึง ๕ เดือน ๔ วัน

เมื่อท่านไปถึงศรีลังกาได้พำนักอยู่ที่วัดบุปผาราม ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า “วัดมัลวัตตะ” และเป็นวัดของสังฆนายก คณะสงฆ์นิกายสยามวงศ์ คณะมัลวัตตะอยู่ตรงกันข้ามกับวัดพระเขี้ยวแก้ว ซึ่งมีทะเลสาบกั้นกลาง อยู่ในเมืองศิริวัฒนนคร ปัจจุบันคือเมืองแคนดี้

ท่านได้ให้บรรพชาอุปสมบทแก่ชาวศรีลังกาเป็นพระภิกษุ ๗๐๐ รูป เป็นสามเณร ๓,๐๐๐ รูป ในระยะ ๓ ปีที่ออกไปอยู่ในศรีลังกา คือ พ.ศ.๒๒๙๕-๒๒๙๘ รวมทั้งทำหน้าที่เผยแพร่ศาสนา สั่งสอนอบรมประชาชนทุกอย่างเท่าที่ทำได้ เพื่อให้ชาวศรีลังกาดำเนินชีวิตถูกต้องตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า และท่านยังเป็นผู้ฉลาดในอุบายเครื่องแนะนำอีกด้วย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อครั้งเสด็จไปถึงเมืองแคนดี้ ตอนหนึ่งว่า

“เมื่อครั้งพระอุบาลีมหาเถระออกไปอยู่ศรีลังกานั้น ราษฎรชาวเมืองศิริวัฒนนคร นับถือพระพุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์ปนกันอยู่ เมื่อถึงฤดูนักขัตฤกษ์เป็นประเพณีเมือง ที่จะเชิญเทวรูปซึ่งนับถือตามลัทธิศาสนาพราหมณ์ออกแห่ปีละ ๑ ครั้ง พระอุบาลีมหาเถระถวายพระพรพระเจ้าเกียรติศิริราชสิงหะว่า พระพุทธศาสนาก็ประดิษฐานมั่นคงในศรีลังกา การแห่นั้นควรแห่ปูชนียวัตถุทางพระพุทธศาสนาด้วย พระเจ้าเกียรติศิริราชสิงหะทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย จึงให้เชิญพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ขึ้นบนคชาธาร (ช้าง) นำหน้าไปในกระบวนแห่ ประเพณีอันนั้นยังมีมาตราบเท่าทุกวันนี้”

พระอุบาลีมหาเถระ รวมทั้งพระสงฆ์สามเณรที่ไปสืบต่อศาสนวงศ์เหล่านั้นเกิดป่วยไข้เพราะผิดอาหารบ้าง ผิดอากาศบ้าง เพราะว่าเมืองศิริวัฒนนครนั้นอยู่ในหุบเขา สูงกว่าระดับน้ำทะเล ๑,๖๐๒ ฟุต ปรากฏว่าพระสงฆ์มรณภาพเสีย ๑๑ รูป รวมทั้งพระอุบาลีมหาเถระด้วย สามเณรมรณภาพ ๒ รูป ในจำนวนพระสงฆ์ ๑๘ รูปเหลือกลับมาตุภูมิเพียง ๗ รูปเท่านั้น

ในพ.ศ. ๒๒๙๘ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกษได้ส่งพระสงฆ์ออกไปศรีลังกาอีก ๑ ชุด เพื่อผลัดเปลี่ยนชุดแรก เพราะได้ให้สัญญากับพระสงฆ์ไว้ว่า จะให้อยู่เพียง ๓ ปี พระธรรมทูตไทยชุดที่ ๒ ประกอบด้วยพระราชาคณะ ๒ รูป คือพระวิสุทธาจารย์และพระวรญาณมุนี กับพระสงฆ์อันดับ ๒๐ รูปและสามเณร ๒๐ รูป รวม ๔๒ รูป ออกเดินทางเมื่อวันแรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๑ พ.ศ. ๒๒๙๘ แต่เรือไปเกยหินโสโครก แล้วถูกคลื่นกระแทกเสียในทะเลระหว่างเกาะลังกากับอินเดีย ทำให้พระสงฆ์มรณภาพไป ๔ รูป สามเณร ๒ รูป ประสบความลำบากแสนสาหัส กว่าจะเดินทางไปถึงเมืองศิริวัฒนนครคือเมืองแคนดี้ แต่ขณะที่พระสงฆ์คณะนี้กำลังเดินทางอยู่ในเกาะลังกานั้น พระอุบาลีมหาเถระก็มรณภาพเสียแล้วในศรีลังกานั่นเอง

พระอุบาลีมหาเถระได้รับการยกย่องนับถือจากชาวศรีลังกามาก เนื่องจากผลงานหลายประการที่ท่านได้ทำไว้ให้แก่ชาวศรีลังกานี้เอง และท่านยังได้มรณภาพในประเทศศรีลังกาเพราะการปฏิบัติกิจพระศาสนา ถ้าจะเปรียบเหมือนนักรบแล้ว ท่านก็เป็นนักรบที่ตายในสมรภูมิโดยแท้ ผู้ที่เตรียมตัวเป็นพระธรรมทูตควรศึกษาปฏิปทาของท่านไว้ เพื่อจะได้เข้าถึงเจตนารมณ์ของการเป็นพระธรรมทูตที่แท้จริง

บริขารและสิ่งของที่ท่านเคยใช้สอยที่ยังเหลืออยู่ ชาวศรีลังกาก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรเคารพเช่นกันและได้เก็บรักษาไว้จนทุกวันนี้ ศพของท่านได้เผาที่วัดกิตติเก ซึ่งปัจจุบันได้ก่ออิฐล้อมสถานที่เผาศพท่านไว้ ส่วนอัฐิของท่านถูกบรรจุไว้ที่เจดีย์บนยอดเขาใกล้วัดอัสคีริยะ

สำหรับวัดธรรมารามในปัจจุบัน มีพระอธิการประสาท เขมปญฺโญ เป็นเจ้าอาวาสท่านได้พยายามบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่าง ๆ ภายในวัดอย่างเต็มกำลังแล้ว แต่เนื่องจากเสนาสนะต่าง ๆ ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ชาวพุทธที่ระลึกถึงคุณความดีที่พระอุบาลีมหาเถระได้ทำไว้ แวะเวียนไปนมัสการรูปปั้นของท่านได้ที่วัดธรรมาราม และทำบุญได้ที่เจ้าอาวาสโดยตรง :b41:

เจ้าของ:  rawisada [ 08 ก.ค. 2009, 13:34 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: วัดธรรมาราม-สังฆไมตรี ศรีลังกา(จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)

ขออนุโมทนาบุญด้วยนะค่ะ
:b8: :b8: :b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  ปิยาภา [ 08 ก.ค. 2009, 13:35 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: วัดธรรมาราม-สังฆไมตรี ศรีลังกา(จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)

:b8: เคยไปมาแล้ว เลยอยากเชิญชวนให้ทุกท่านได้ไปบ้าง :b51: :b52: :b53:

เจ้าของ:  เจ้านาย [ 08 ก.ค. 2009, 15:01 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: วัดธรรมาราม-สังฆไมตรี ศรีลังกา(จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)

:b48: :b35: ปันความรู้เรื่องวัด อนุโมทนาด้วยครับ...ขอทุกวัดในอยุธยาด้วยครับ

เจ้าของ:  Bwitch [ 09 ก.ค. 2009, 12:31 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: วัดธรรมาราม-สังฆไมตรี ศรีลังกา(จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)

:b8: อนุโมทนาสาธุสำหรับข้อมูลค่ะ
หากไม่เป็นการรบกวน ขอชมภาพวัดด้วยนะคะ :b8:

ส่วนตัวแล้วชอบใจเมืองกรุงเก่าของเรามากๆ เลยค่ะ
ใกล้กรุงเทพฯ ดี บริเวณวัดโบราณก็ร่มรื่น ชวนให้นึกถึงอดีตนะคะ

เจ้าของ:  เจ้านาง [ 09 ก.ค. 2009, 13:10 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: วัดธรรมาราม-สังฆไมตรี ศรีลังกา(จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)

:b42: ภาพของวัดจะนำมาลงให้ภายหลังนะคะ ขอเวลาสัก ๒ วัน ต้องขอโทษด้วยนะคะที่ล่าช้า แต่ก็ขอบพระคุณมากค่ะที่สนใจ รับรองว่าถ้ามาแล้วจะได้เห็นอีกบรรยากาศของคำว่าวัดในเขตเมืองค่ะ แล้วก็อิ่มใจไปกับบุญที่ได้รับจากการสนทนาธรรมค่ะ :b41: :b41: :b41:

เจ้าของ:  ไหว้พระปล่อยปลา [ 11 ก.ค. 2009, 19:37 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: วัดธรรมาราม-สังฆไมตรี ศรีลังกา (จ.พระนครศรีอยุธยา)

น่าไปจัง

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/