ลานธรรมจักร http://www.dhammajak.net/forums/ |
|
พระพุทธชินสีห์และพระสุวรรณเขต (พระโต) วัดบวรนิเวศวิหาร http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19305 |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 |
เจ้าของ: | เว็บมาสเตอร์ [ 06 ต.ค. 2009, 14:35 ] |
หัวข้อกระทู้: | พระพุทธชินสีห์และพระสุวรรณเขต (พระโต) วัดบวรนิเวศวิหาร |
![]() ![]() ![]() พระพุทธชินสีห์และพระโต พระประธานในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร (วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร) ภายในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร (วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร) มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองสำคัญอยู่ ๒ องค์ คือ พระสุวรรณเขต (พระโต) และ พระพุทธชินสีห์ พระพุทธรูปองค์ข้างหลังชื่อ “พระสุวรรณเขต” หรือ “พระโต” หรือ “หลวงพ่อเพชร” (พระประธานในพระอุโบสถสมัยแรก) เป็นพระพุทธรูปโบราณหล่อโลหะขนาดใหญ่ ขนาดหน้าพระเพลา (หน้าตัก) กว้าง ๙ ศอก ๒๑ นิ้ว พุทธลักษณะเป็นฝีมือช่างสมัยรัตนโกสินทร์ผสมผสานกับศิลปะขอม หันพระพักตร์ออกมาทางด้านหน้าของพระอุโบสถ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ วังหน้าในรัชกาลที่ ๓ ผู้สร้างวัดบวรนิเวศวิหาร ได้ทรงอัญเชิญมาจากวัดสระตะพาน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อมาเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร โดยรื้อออกเป็นท่อนๆ ตามรอยประสานเดิม แล้วนำมาประกอบขึ้นใหม่ สันนิษฐานว่าเดิมเป็นพระทวาราวดี ลักษณะแบบขอม พระศกเดิมโต พระยาชำนิหัตถการ นายช่างของสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ เลาะพระศกเดิมออกเสีย แล้วทำพระศกใหม่ด้วยดินเผาให้เล็กลง ตามที่เห็นว่างามในเวลานั้น ประดับเข้าที่แล้วลงรักปิดทอง มีพระสาวกใหญ่นั่งคู่หนึ่ง เป็นพระปั้นขนาดหน้าตักกว้าง ๒ ศอก ส่วนพระพุทธรูปองค์ข้างหน้าชื่อ “พระพุทธชินสีห์” (พระประธานในพระอุโบสถสมัยหลัง) ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าพระสุวรรณเขตหรือพระโต ลักษณะของพระพุทธชินสีห์ต่างจากพระพุทธรูปอื่นแบบเก่าในบางอย่าง เช่น มีนิ้วพระหัตถ์ทั้ง ๔ นิ้ว นิ้วพระบาททั้ง ๔ นิ้ว ยาวเสมอกัน ต้องตามคัมภีร์มหาปุริสลักษณะ แสดงว่าผู้สร้างได้ทราบคัมภีร์นั้น พระพุทธรูปที่ได้สร้างกันขึ้นชั้นหลังได้ถือเป็นแบบสืบมาจนทุกวันนี้ แต่ก่อนนั้นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในเมืองไทย ทั้งทางเมืองเหนือและเมืองใต้ ทำปลายนิ้วพระหัตถ์เป็นหลั่นกัน เหมือนกับนิ้วมือคนสามัญ แต่เดิมพระพุทธชินสีห์เป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญของหัวเมืองฝ่ายเหนือ พระพุทธรูปสำริดขนาดหน้าพระเพลา (หน้าตัก) กว้าง ๕ ศอก ๔ นิ้ว เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองปางมารวิชัยสมัยสุโขทัยผสมเชียงแสน และเป็นที่กราบสักการะของพระมหากษัตริย์และสาธุชนมาเกือบ ๗๐๐ ปี ประดิษฐาน ณ พระวิหารทิศเหนือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก ประวัติการสร้างพระพุทธชินสีห์ ตำนานกล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ. ๑๕๐๐ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกมหาราช แห่งเมืองเชียงแสน เสด็จมาตีเมืองสองแควได้ แล้วสร้างเมืองสองแควขึ้นใหม่ พระราชทานนามว่า เมืองพิษณุโลก จากนั้นได้สร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นพระอารามหลวง อีกทั้ง ได้ทรงหล่อพระพุทธรูป ๓ องค์ ได้แก่ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา โปรดให้ประดิษฐานพระพุทธชินสีห์ ณ พระวิหารทิศเหนือ และประดิษฐานพระศรีศาสดา ณ พระวิหารทิศใต้ พระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา (พระศาสดา) จึงประดิษฐานอยู่ในพระวิหารเดียวกันตลอดมาถึง ๙๐๐ กว่าปี ![]() ![]() “พระสุวรรณเขต” หรือพระโต (องค์หลัง) และ “พระพุทธชินสีห์” (องค์หน้า) พระประธานในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเบื้องหน้ามี พระรูปหล่อสมเด็จพระสังฆราช ๓ พระองค์ประดิษฐานเรียงกันบนฐานชุกชี ครั้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พระวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธชินสีห์ชำรุดทรุดโทรมขาดผู้รักษาดูแล สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ จึงโปรดให้อัญเชิญมายังกรุงเทพฯ เพื่อมาประดิษฐาน ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นวัดที่ประทับของ สมเด็จพระสังฆราชถึง ๔ พระองค์ และเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ครั้งทรงผนวช อีกหลายพระองค์ด้วย “พระพุทธชินสีห์” จึงเป็นพระคู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระสังฆราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มาช้านาน พระพุทธชินสีห์นั้นเป็นพระพุทธรูปที่ชาวพิษณุโลกและชาวเมืองเหนือ เคารพบูชาอย่างยิ่งองค์หนึ่ง ในคราวที่อัญเชิญพระพุทธชินสีห์ลงมากรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. ๒๓๗๓ นั้น มีบันทึกที่กล่าวถึงความรู้สึกของชาวเมืองไว้ว่า “..เมื่ออัญเชิญออกจากวิหารนั้น ราษฎรพากันมีความเศร้าโศกร้องไห้เป็นอันมาก เงียบเหงาสงัดไปทั้งเมือง เหมือนศพลงเรือน แลแต่นั้นมาฝนก็แล้งไป ๓ ปี ชาวเมืองพิษณุโลกได้ความยากยับไปเป็นอันมาก ตั้งแต่พระพุทธชินสีห์ลงมาถึง กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพก็ทรงพระประชวรพระโรคมานน้ำ ได้ปีเศษก็เสด็จสวรรคต ราษฎรพากันกล่าวว่า เพราะเหตุที่ไปอัญเชิญพระพุทธชินสีห์อันเป็นสิริของเมืองพิษณุโลกลงมา..” ‘พระพุทธชินสีห์’ แต่เดิมประดิษฐานไว้ในมุขหลัง ของพระอุโบสถของวัดบวรนิเวศวิหารที่เป็นจตุรมุข ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ สมัยยังทรงผนวชและทรงครองวัดบวรนิเวศวิหารนั้น ได้ทูลขอพระบรมราชานุญาต พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ อัญเชิญพระพุทธชินสีห์มาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ ออกสถิตหน้าพระสุวรรณเขตหรือพระโต พระพุทธรูปองค์ใหญ่ ดังทุกวันนี้ พระพุทธชินสีห์ประทับบนแท่นหล่อสำริด สถิตสถาพรมั่นคง ภายใต้ฉัตรตาล ๙ ชั้น ดูร่มเย็นเป็นสุข พระอุณาโลมฝังเพชร มีเครื่องราชสักการะ ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง ถวายเป็นพุทธบูชา เป็นพระพุทธรูปที่พระมหากษัตริย์ชาติไทย เสด็จพระราชดำเนินมาถวายเครื่องราชสักการะสืบมายาวนาน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนับถือเลื่อมใสพระพุทธชินสีห์มาก เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๓ ได้โปรดให้ทำกาไหล่พระรัศมีองค์พระด้วยทองคำ ฝังพระเนตรฝังเพชรใหม่ และตัดพระอุณาโลม แล้วปิดทองทั้งองค์พระ ปี พ.ศ. ๒๓๙๗ ทรงให้หล่อฐานด้วยทองสำริด ปิดทองใหม่ทั้งองค์พระและฐาน ใต้ฐานพุทธบัลลังก์ของ “พระพุทธชินสีห์” เป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร (ขี้เถ้าที่เหลือนอกจากกระดูก) ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ผู้ทรงเคยผนวช ณ วัดแห่งนี้ เมื่อยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร หลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ก็ได้มีพระราชพิธีอัญเชิญ พระบรมราชสรีรางคารของพระองค์จากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ในพระบรมมหาราชวัง มาบรรจุไว้ที่ใต้ฐานพุทธบัลลังก์ของ “พระพุทธอังคีรส” พระประธานในพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และบรรจุไว้ที่ใต้ฐานพุทธบัลลังก์ของ “พระพุทธชินสีห์” พระประธานในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร (วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร) เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ วัดทั้งสองแห่งนี้ถือเป็นวัดสำคัญของประเทศไทย พระพุทธรูปทั้งสององค์อันเป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ก็เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมือง มีพุทธลักษณะที่งดงามและเป็นที่เคารพสักการะ ของพุทธศาสนิกชนมานับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เบื้องหน้าพระพุทธชินสีห์มีโต๊ะหมู่บูชาตั้งอยู่บนฐานชุกชีที่รับฐานพระ ถัดลงมาเป็นม้าหมู่บูชา ๓ ที่ เป็นผลงานการออกแบบของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สถาปนิกเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระรูปหล่อ ๓ องค์ ซึ่งประดิษฐานเรียงกันบนฐานชุกชี ประกอบไปด้วย พระรูปหล่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (พระองค์เจ้าฤกษ์ ปญฺญาอคฺโค) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๘ พระรูปหล่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ มนุสฺสนาโค) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐ และ พระรูปหล่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓ ซึ่งทุกพระองค์ทรงเคยเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร พระสุวรรณเขต (พระโต) และพระพุทธชินสีห์ เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงามอย่างน่าพิศวง และเป็นที่สักการบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ![]() ![]() ![]() พระพุทธชินสีห์ และพระสุวรรณเขต (พระโต) พระประธานในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร หรือวัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร ---------- ![]() วัดประจำรัชกาลที่ ๖ : วัดบวรนิเวศวิหาร http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19342 = ๙ สิ่งมงคล ในงานสมโภช ๑๗๕ ปี วัดบวรนิเวศวิหาร http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=40735 |
เจ้าของ: | วรานนท์ [ 06 ต.ค. 2009, 18:16 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: ‘พระพุทธชินสีห์และพระโต’ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ |
![]() ![]() ![]() อนุโมทนาสาธุครับ ![]() ![]() ![]() |
เจ้าของ: | AAAA [ 13 ก.พ. 2015, 12:36 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: พระพุทธชินสีห์และพระโต วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ |
วัดบวรนิเวศวิหาร วัดประจำรัชกาลที่ ๖ วัดซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ถึง ๔ พระองค์ พระพุทธรูปประจำวัด ไม่ว่า พระพุทธชินสีห์-พระโต (พระสุวรรณเขต) พระประธานในพระอุโบสถ, พระศรีศาสดา, พระไพรีพินาศ, พระพุทธไสยาสน์ เป็นต้น แต่ละองค์ล้วนงดงามและศักดิ์สิทธิ์มากเช่นกันค่ะ ไปวัดบวรนิเวศวิหารทีไหร ก็จะพยายามไปสักการะให้ครบเกือบทุกองค์เลยค่ะ ![]() ![]() ![]() |
เจ้าของ: | Duangtip [ 14 ส.ค. 2019, 08:22 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: พระพุทธชินสีห์และพระโต วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ |
เว็บมาสเตอร์ เขียน: หลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ก็ได้มีพระราชพิธีอัญเชิญ พระบรมราชสรีรางคารของพระองค์จากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ในพระบรมมหาราชวัง มาบรรจุไว้ที่ใต้ฐานพุทธบัลลังก์ของ “พระพุทธอังคีรส” พระประธานในพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และบรรจุไว้ที่ใต้ฐานพุทธบัลลังก์ของ “พระพุทธชินสีห์” พระประธานในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร (วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร) เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ วัดทั้งสองแห่งนี้ถือเป็นวัดสำคัญของประเทศไทย พระพุทธรูปทั้งสององค์อันเป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ก็เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมือง มีพุทธลักษณะที่งดงามและเป็นที่เคารพสักการะ ของพุทธศาสนิกชนมานับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ![]() (๑) ใต้ฐานพุทธบัลลังก์ “พระพุทธอังคีรส” พระประธานในพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=38541 (๒) ใต้ฐานพุทธบัลลังก์ “พระพุทธชินสีห์” พระประธานในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร หรือวัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19305 เพิ่งจะได้มีโอกาสไปสักการะมาค่ะ ปีติๆ ค่ะ ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |
เจ้าของ: | sirinpho [ 05 ก.ย. 2020, 09:55 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: พระพุทธชินสีห์และพระสุวรรณเขต (พระโต) วัดบวรนิเวศวิหาร |
![]() ![]() ![]() วัดบวรฯ มีตำนานที่สำคัญยิ่งสำหรับเมืองไทย ศาสนวัตถุก็งดงามทรงคุณค่ามากค่ะ |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 | เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง |
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group http://www.phpbb.com/ |