ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

การอุทิศบุญได้บุญสองต่อ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=45209
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  lc_kukko [ 18 เม.ย. 2013, 16:41 ]
หัวข้อกระทู้:  การอุทิศบุญได้บุญสองต่อ

การอุทิศบุญ หมายถึง การแบ่งปันบุญอันเกิดแต่การทำความดี มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ไหว้พระ สวดมนต์ หรือจากการทำความดีอื่นๆ ให้กับเทพเทวดา เจ้ากรรมนายเวร บิดามารดา และญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว รวมถึงผู้มีพระคุณ และสรรพสัตว์ทั้งหลาย

เมื่อท่านเหล่านั้นได้รับส่วนบุญที่เราอุทิศให้ ก็จะทำให้พ้นจากความทุกข์ มีความสุขเพิ่มขึ้น สัตว์หรือดวงวิญญาณใดที่อาฆาตพยาบาทต่อเรา ก็จะอนุโมทนาในส่วนบุญของเรา และอโหสิกรรมแก่เรา เป็นการตัดห่วงโซ่เวรกรรมระหว่างเจ้ากรรมนายเวรกับตัวเรา

รูปภาพ

อนึ่ง การอุทิศบุญนั้นจัดเป็นการทำบุญอย่างหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ เรียกว่า ปัตติทานมัย บุญเกิดจากการให้ส่วนบุญ ผู้ที่ทำความดีแล้วอุทิศบุญ จึงชื่อว่าได้บุญ ๒ ต่อ คือ ได้บุญจากการทำดีอย่างหนึ่ง และได้บุญจากการอุทิศบุญอย่างหนึ่ง

การอุทิศบุญนั้นแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
๑. การอุทิศบุญด้วยการกรวดน้ำ
๒. การอุทิศบุญด้วยใจ


๑. การอุทิศบุญด้วยการกรวดน้ำ หมายถึง การอุทิศบุญด้วยการเทน้ำลงในภาชนะ

ซึ่งอาจแยกเป็น ๒ ลักษณะ คือ

- กรวดน้ำในพิธีที่มีพระสงฆ์อยู่ด้วย เช่น ทำบุญถวายสังฆทาน ทำบุญบ้าน การกรวดน้ำอุทิศบุญแบบนี้ ให้กรวดน้ำตอนพระสวดให้พรขณะขึ้นบท ยถา วาริวหา... เมื่อพระขึ้นบท สัพพี... ให้เทน้ำให้หมด จากนั้นนำน้ำไปรดต้นไม้ ขณะที่เทให้ตั้งจิตกล่าวคำอุทิศบุญซึ่งมีหลายแบบด้วยกัน ให้เลือกตามสะดวก

- กรวดน้ำแบบไม่มีพระสงฆ์ เป็นการกรวดน้ำหลังจากที่ไหว้พระสวดมนต์ หรือทำบุญอย่างอื่นเสร็จ วิธีการให้เตรียมน้ำใส่ภาชนะ เสร็จแล้วให้กรวดใส่ภาชนะที่เตรียมไว้รองน้ำ พร้อมกับกล่าวคำอุทิศตามแต่สะดวก

๒. การอุทิศบุญด้วยใจ หมายถึง การอุทิศบุญด้วยการน้อมส่งบุญไปให้โดยไม่กรวดน้ำ ใช้ในกรณีที่ไม่มีน้ำกรวด นิยมเรียกกันว่า กรวดน้ำแห้ง ซึ่งการกรวดน้ำแห้งก็นิยมกล่าวคำอุทิศบุญเหมือนกับการกรวดน้ำทั่วไป เพียงแต่การกรวดน้ำด้วยใจจะไม่มีน้ำ ส่วนคำอุทิศบุญยังคงต้องกล่าวอยู่ ซึ่งมีหลายแบบจะเลือกแบบไหนก็ได้ เพราะคำอุทิศบุญนี้ไม่มีรูปแบบกำหนดตายตัว


เครดิต : หนังสือ โรคประหลาด หนามแทงหลัง เลขเด็ด เห็นเลขกรรม

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/