ลานธรรมจักร http://www.dhammajak.net/forums/ |
|
เข้าพรรษาและสัตตาหกรณียะ (พระมหาบุญไทย ปุญญมโน) http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=42706 |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 |
เจ้าของ: | สาวิกาน้อย [ 17 ก.ค. 2012, 18:48 ] |
หัวข้อกระทู้: | เข้าพรรษาและสัตตาหกรณียะ (พระมหาบุญไทย ปุญญมโน) |
เข้าพรรษาและสัตตาหกรณียะ เรียบเรียงโดย พระมหาบุญไทย ปุญญมโน วันที่ 9 กรกฎาคม พุทธศักราช 2552 หลังวันอาสาฬหบูชาหนึ่งวัน เป็นวันเริ่มต้นฤดูฝน และเป็นวันแรกของการเข้าพรรษา ซึ่งตรงกับวันแรมหนึ่งค่ำ เดือนแปด ของทุกปี ภิกษุต้องอยู่จำพรรษาในอาวาสแห่งใดแห่งหนึ่งตลอดเวลาสามเดือน วัดทุกแห่งต่างก็จัดให้มีพิธีกรรมอันสำคัญนี้ บางวัดจัดงานใหญ่ บางวัดจัดงานเล็กๆ ตามสมควรแก่ภูมิประเทศ การจำพรรษาเป็นพุทธานุญาต พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตการจำพรรษาไว้สองอย่าง ดังที่ปรากฏใน พระวินัยปิฎก มหาวรรค (4/206/224) ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้จำพรรษาในฤดูฝน วันเข้าพรรษานี้มี 2 วัน คือ 1. ปุริมิกา วันเข้าพรรษาต้น เมื่อพระจันทร์เพ็ญเสวยฤกษ์อาสาฬหะล่วงไปแล้ววันหนึ่ง พึงเข้าพรรษาต้น 2. ปัจฉิมิกา วันเข้าพรรษาหลัง เมื่อพระจันทร์เพ็ญเสวยฤกษ์อาสาฬหะล่วงไปแล้วเดือนหนึ่ง พึงเข้าพรรษาหลัง ดูกรภิกษุทั้งหลาย วันเข้าพรรษามีสองวันเท่านี้แล แม้พระพุทธเจ้าจะทรงอนุญาตให้ภิกษุอยู่จำพรรษาแล้วก็ตาม (207) พระฉัพพัคคีย์จำพรรษาแล้ว ยังเที่ยวจาริกในระหว่างพรรษา คนทั้งหลายจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร จึงได้เที่ยวจาริกตลอดฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน เหยียบย่ำติณชาติอันเขียวสด เบียดเบียนอินทรีย์อย่างหนึ่งซึ่งมีชีวะ ยังสัตว์เล็กๆ มีจำนวนมากให้ถึงความวอดวายเล่า ก็พวกอัญญเดียรถีย์เหล่านี้ เป็นผู้กล่าวธรรมอันต่ำทราม ยังพักอาศัยอยู่ประจำตลอดฤดูฝน อนึ่งฝูงนกเหล่านี้เล่าก็ยังทำรังบนยอดไม้แล้วพักอาศัยอยู่ประจำตลอดฤดูฝน ส่วนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ เที่ยวจาริกตลอดฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน เหยียบย่ำติณชาติอันเขียวสด เบียดเบียนอินทรีย์อย่างหนึ่งซึ่งมีชีวะ ยังสัตว์เล็กๆ ซึ่งมีจำนวนมากให้ถึงความวอดวาย ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา บรรดาที่เป็นผู้มักน้อยต่างก็เพ่งโทษ ติเตียนโพนทะนาว่า ไฉนพระฉัพพัคคีย์จำพรรษาแล้ว จึงได้เที่ยวจาริกระหว่างพรรษาเล่า จึงภิกษุเหล่านั้นกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุจำพรรษา ไม่อยู่ให้ตลอด 3 เดือนต้น หรือ 3 เดือนหลัง ไม่พึงหลีกไปสู่จาริก รูปใดหลีกไป ต้องอาบัติทุกกฎ” • ภิกษุไม่จำพรรษาได้หรือไม่ ถ้าหากภิกษุไม่อยู่จำพรรษาโดยการไม่อธิษฐานเข้าพรรษา จะทำได้หรือไม่ คำตอบนี้มีปฐมเหตุมาจากพระฉัพพัคคีย์ไม่จำพรรษา ดังข้อความในวินัยปิฎก มหาวรรค (4/208/225) ความว่า “พระฉัพพัคคีย์ไม่ประสงค์จะจำพรรษา ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาครับสั่งห้ามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุจะไม่จำพรรษาไม่ได้ รูปใดไม่จำพรรษา ต้องอาบัติทุกกฎ” ดังนั้น ภิกษุทุกรูปต้องจำพรรษา ถ้าไม่จำพรรษาจะมีโทษตามที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดไว้แล้ว สมัยต่อมาพระฉัพพัคคีย์ ไม่ประสงค์จะจำพรรษาในวันเข้าพรรษา แกล้งล่วงเลยอาวาสไปเสีย ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระองค์จึงสั่งห้ามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ประสงค์จะจำพรรษาในวันเข้าพรรษา ไม่พึงแกล้งล่วงเลยอาวาสไปเสีย รูปใดล่วงเลยไปเสีย ต้องอาบัติทุกกฎ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าภิกษุในสมัยพุทธกาล ไม่ได้อยู่ประจำวัดใดวัดหนึ่งเหมือนในปัจจุบัน แต่ท่องเที่ยวไปตามวัด อาราม วิหารต่างๆ พอถึงวันเข้าพรรษาจึงจะหาวัดอยู่จำพรรษา เมื่อถึงวันแรมหนึ่งค่ำ เดือนแปด ภิกษุเดินทางไปถึงวัดใดก็ต้องอธิษฐานเข้าพรรษาในวัดนั้น เมื่อออกพรรษาแล้วจึงท่องเที่ยวจาริกต่อไป • วันเข้าพรรษาอาจเลื่อนออกไปได้ โดยทั่วไป วันเข้าพรรษาตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 แต่ถ้ามีเหตุเกิดขึ้นก็อาจเลื่อนไปได้อีกหนึ่งเดือน ดังที่มีพุทธานุญาตไว้ในพระวินัยปิฎก มหาวรรค (4/209/225) ในครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสาร จอมเสนามาคธราช มีพระราชประสงค์จะทรงเลื่อนกาลฝนออกไป จึงทรงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า ถ้ากระไร ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายพึงจำพรรษาในชุณหปักษ์อันจะมาถึง ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระพุทธองค์จึงรับสั่งว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้คล้อยตามพระเจ้าแผ่นดิน” เหตุบางอย่างบางพื้นที่อาจมีเหตุผล ดังนั้น ภิกษุเมื่ออยู่ในราชอาณาจักรใด ก็พึงเคารพกฎหมายของบ้านเมืองนั้นๆ ด้วย ในสมัยนั้นพระเจ้าแผ่นดินเป็นใหญ่ก็ต้องคล้อยตาม • สัตตาหกรณียะ เมื่อภิกษุอยู่จำพรรษาในอาวาสแห่งใดแห่งหนึ่งแล้ว จะสามารถเดินทางไปค้างคืนในที่อื่นได้หรือไม่ ในเรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตเหตุแห่งการเดินทางไว้ เรียกว่า “สัตตาหกรณียะ” หมายถึง กิจที่สามารถค้างคืนที่อื่นนอกอาวาสที่อธิษฐานเข้าพรรษาได้ คือ ธุระเป็นเหตุไปด้วยสัตตาหกรณียะ ดังที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก มหาวรรค (4/210/236) คือ 1. สหธรรมิกหรือมารดาบิดาเจ็บไข้ รู้เข้า ไปเพื่อรักษาพยาบาลก็ได้ 2. สหธรรมิกกระสันจะสึก รู้เข้า ไปเพื่อระงับก็ได้ 3. มีกิจสงฆ์เกิดขึ้น เป็นต้นว่า วิหารชำรุดลงในเวลานั้น ไปเพื่อหาเครื่องทัพพสัมภาระมาปฏิสังขรณ์ 4. ทายกต้องการจะบำเพ็ญกุศล ส่งมานิมนต์ ไปเพื่อบำรุงศรัทธาของเขา แม้ธุระอื่นนอกจากนี้ที่เป็นกิจลักษณะ อนุโลมตามนี้เกิดขึ้น ไปก็ได้เหมือนกัน บิดามารดาถือว่าเป็นพรหมสำหรับบุตร แม้จะบวชเป็นภิกษุแล้วก็ตาม เมื่อได้ทราบข่าวว่าท่านเจ็บป่วยเป็นหน้าที่ของบุตรควรไปดูแล ในเรื่องนี้มีปฐมเหตุปรากฏในพระวินัยปิฎก มหาวรรค (4/212/241) ความว่า ในครั้งนั้นมารดาของภิกษุรูปหนึ่งได้ป่วยไข้ และบิดาของภิกษุอีกรูปหนึ่งป่วย จึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุผู้เป็นบุตรว่า กำลังป่วยไข้ ปรารถนาการมาของบุตร จึงภิกษุนั้นได้ดำริว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า เมื่อบุคคล 7 จำพวกส่งทูตมา ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ แต่เมื่อเขาไม่ส่งทูตมา จะไปไม่ได้ สำหรับสหธรรมิก 5 แม้มิได้ส่งทูตมาก็ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ จะต้องกล่าวไปไยเมื่อเขาส่งทูตมา ก็นี่บิดามารดาของเรากำลังป่วยไข้ และท่านก็มิใช่อุบาสกอุบาสิกา เราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสจึงตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เมื่อบิดามารดามิได้ส่งทูตมา ก็พึงไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ พึงไปด้วยตั้งใจว่า จักแสวงหาคิลานภัต คิลานุปัฐากภัต คิลานเภสัช จักถามอาการหรือจักพยาบาล แต่ต้องกลับใน 7 วัน นอกจากบิดามารดาแล้ว แม้พี่ชายน้องชาย พี่หญิงน้องหญิง หรือญาติคนใดคนหนึ่งป่วย ก็ควรไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ เมื่อภิกษุในพระพุทธศาสนาเกิดอาพาธ กระสัน เกิดความรำคาญ เกิดความเห็นผิด ต้องครุกาบัติควรอยู่ปริวาส ก็พึงไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ ในเรื่องทายกต้องการจะบำเพ็ญกุศล ส่งมานิมนต์ ไปเพื่อบำรุงศรัทธานั้น มีปฐมเหตุเกิดขึ้น (4/210/225) ความว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครราชคฤห์ ตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จจาริกไปทางพระนครสาวัตถี เสด็จจาริกไปโดยลำดับ ลุถึงพระนครสาวัตถี ทราบว่าพระองค์ประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถีนั้น ในครั้งนั้นอุบาสกชื่อ อุเทน ได้ให้สร้างวิหารอุทิศต่อสงฆ์ไว้ในโกศลชนบท เขาได้ส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายเพื่ออาราธนาพระคุณเจ้าทั้งหลายจงมา ข้าพเจ้าปรารถนาจะถวายทาน ฟังธรรม และพบเห็นภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายได้ทราบคำอาราธนาแล้วจึงได้ตอบว่า ท่านอุบาสก พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุจำพรรษาไม่อยู่ให้ตลอด 3 เดือนต้น หรือ 3 เดือนหลัง ไม่พึงหลีกไปสู่จาริก ขออุบาสกอุเทนจงรอชั่วระยะเวลาที่ภิกษุทั้งหลายจำพรรษา ออกพรรษาแล้วจึงจักไปได้ แต่ถ้าท่านจะมีกรณียกิจรีบด่วน จงให้ประดิษฐานวิหารไว้ในสำนักภิกษุเจ้าถิ่นในโกศลชนบท อุบาสกอุเทนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนเมื่อเราส่งทูตไปแล้ว พระคุณเจ้าทั้งหลายจึงได้ไม่มาเล่า เราก็เป็นทายก เป็นผู้ก่อสร้าง เป็นผู้บำรุงสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายได้ยินอุบาสกอุเทนเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระพุทธองค์ทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคล 7 จำพวกส่งทูตมา เราอนุญาตให้ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ แม้เมื่อเขาไม่ส่งมา เราไม่อนุญาต บุคคล 7 จำพวก คือ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี อุบาสก อุบาสิกา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคล 7 จำพวกนี้ ส่งทูตมา เราอนุญาตให้ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ แต่เมื่อเขาไม่ส่งมา เราไม่อนุญาต พึงกลับใน 7 วัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อุบาสกในศาสนานี้ได้ให้สร้างวิหารอุทิศสงฆ์ ถ้าเขาส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า ขออาราธนาพระคุณเจ้าทั้งหลายมา ข้าพเจ้าปรารถนาจะถวายทาน ฟังธรรม และพบเห็นภิกษุทั้งหลาย เมื่อเขาส่งทูตมา พึงไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ แต่เมื่อเขาไม่ส่งมา ก็ไม่พึงไป พึงกลับใน 7 วัน ถ้าทายกนิมนต์ไปเพื่อจะถวายวิหาร ถวายทาน หรือฟังธรรม ภิกษุพึงเดินทางไปเพื่อรักษาศรัทธาของทายกทายิกาได้ แต่ต้องกลับมายังอาวาสเดิมภายใน 7 วัน แม้เหตุอื่นๆ ที่นอกเหนือจากเหตุดังที่กล่าวมานั้น ก็อาจอนุโลมตามข้อที่ทรงอนุญาตไว้แล้ว • พรรษาขาดแต่ไม่เป็นอาบัติ เมื่อภิกษุเดินทางไปด้วยเหตุทั้ง 4 ประการนี้ และกลับมายังอาวาสที่อยู่จำพรรษาภายในกำหนด 7 วัน ก็ยังถือว่าพรรษาไม่ขาด แต่ถ้าไปด้วยเหตุอื่นพรรษาขาดแต่ไม่เป็นอาบัติ ดังที่มีปรากฏในพระวินัยปิฎก มหาวรรค (4/214/244) สมัยหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายจำพรรษาในอาวาสแห่งหนึ่งในโกศลชนบท ถูกเหล่าสัตว์ร้ายเบียดเบียน มันจับเอาไปได้บ้าง หนีมันรอดมาได้บ้าง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุทั้งหลายในศาสนานี้จำพรรษาแล้วถูกสัตว์ร้ายเบียดเบียน ถูกงูเบียดเบียน พวกโจรเบียดเบียน ถูกพวกปิศาจรบกวน หมู่บ้านประสบอัคคีภัย เสนาสนะถูกไฟไหม้ หมู่บ้านประสบอุทกภัย เสนาสนะถูกน้ำท่วม ไม่ได้โภชนาหารอันเศร้าหมองหรือประณีตบริบูรณ์ตามต้องการ ได้โภชนาหารอันเศร้าหมอง หรือประณีตบริบูรณ์ตามต้องการแต่ไม่ได้โภชนาหารอันเป็นที่สบาย ไม่ได้เภสัชอันเป็นที่สบาย ได้เภสัชอันเป็นที่สบายแต่ไม่ได้อุปัฏฐากที่สมควร มีหญิงมาเกลี้ยกล่อมหรือมีญาติมารบกวน ล่อด้วยทรัพย์ และสงฆ์ในอาวาสอื่นรวนจะแตกหรือแตกกันแล้ว ไปเพื่อจะห้ามหรือเพื่อจะสมาน ภิกษุพึงหลีกไปเพราะเห็นว่าเป็นอันตราย ไม่ต้องอาบัติ แต่พรรษาขาด สรุปว่า เมื่อภิกษุเดินทางจากอาวาสที่อยู่จำพรรษา ภายในพรรษาเพราะอันตรายเหล่านี้ พรรษาขาดแต่ไม่เป็นอาบัติ คือ 1. ถูกสัตว์ร้าย โจรหรือปีศาจเบียดเบียน 2. เสนาสนะถูกไฟไหม้หรือน้ำท่วม 3. ภัยเช่นนั้นเกิดขึ้นแก่โคจรคาม ลำบากด้วยการบิณฑบาต 4. ขัดสนด้วยอาหารโดยปกติ ไม่ได้อาหารหรือเภสัชอันสบายหรือไม่ได้อุปัฏฐากที่สมควร 5. มีหญิงมาเกลี้ยกล่อม หรือมีญาติมารบกวน ล่อด้วยทรัพย์ 6. สงฆ์ในอาวาสอื่นรวนจะแตกหรือแตกกันแล้ว ไปเพื่อจะห้ามหรือเพื่อจะสมานให้เกิดสามัคคี ในช่วงเข้าพรรษาเป็นเวลาที่ภิกษุและพุทธศาสนิกชนจะได้มีโอกาสศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้ภิกษุอยู่จำพรรษา แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นก็สามารถเดินทางได้ที่เรียกว่าสัตตาหกรณียะคือค้างคืนในที่อื่นได้แต่ไม่เกินเจ็ดวัน หากท่านใดเห็นภิกษุเดินทางไกลในช่วงเข้าพรรษาก็อย่าพึ่งตัดสินว่าถ้าขาดพรรษา แต่ให้เข้าใจไว้เบื้องต้นก่อนว่าท่านอาจจะมีความจำเป็นต้องเดินทางตามพุทธานุญาตนั่นเอง ขอกราบขอบพระคุณที่มาของข้อมูล... http://www.mbu.ac.th/index.php?option=c ... mitstart=0 รวมกระทู้ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ “วันเข้าพรรษา” http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=45498 ประเพณีการขอขมาคารวะ http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=30082 |
เจ้าของ: | Duangtip [ 13 ก.ค. 2015, 09:28 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: เข้าพรรษาและสัตตาหกรณียะ (พระมหาบุญไทย ปุญญมโน) |
ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ |
เจ้าของ: | น้องพลอย [ 02 ก.ค. 2018, 11:59 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: เข้าพรรษาและสัตตาหกรณียะ (พระมหาบุญไทย ปุญญมโน) |
ขออนุโมทนาสาธุการค่ะ |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 | เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง |
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group http://www.phpbb.com/ |