ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

เนื่องจากวิจิกิจฉาในพระไตรปิฎก : สมเด็จฯ กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=44712
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  TU [ 21 ก.พ. 2013, 20:30 ]
หัวข้อกระทู้:  เนื่องจากวิจิกิจฉาในพระไตรปิฎก : สมเด็จฯ กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

รูปภาพ

พระพุทธศาสนาครั้งพุทธกาล

พระนิพนธ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
(หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต)
วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร


ครั้งพุทธกาล พระพุทธศาสนาแยกออกไปเป็น ๒ คือ
ธรรม กับ วินัย เท่านั้น ยังไม่มีศัพท์ว่า ไตรปิฎก หรือ ติปิฎก

ภาษาบาลีว่า ติปิฎก หรือ เรียก เตปิฏก
“ติ” หรือ “เต” แปลว่า
เอา “ติ” หรือ “เต” เป็น “ไตร”
จึงเรียกว่า “ไตรปิฎก” แปลว่า ปิฎก ๓

ปิฎก หรือ ปิฎกะ แปลว่า ตะกร้าหรือกระจาด
“ไตรปิฎก” ก็คือ ตะกร้า ๓ ใบ

แต่ว่าความมุ่งหมายของท่านไม่ใช่เช่นนั้น

มุ่งหมายถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ซึ่งเรียกว่าพระพุทธศาสนา แยกออกเป็น ๓
ที่แยกออกเป็น ๓ ก็ปรากฏเอาตอนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว
เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพานแล้ว
พระสงฆ์ก็รวมกันเข้าประชุมกันทำสังคายนา
เรื่องสังคายนาเป็นกันอย่างไรไว้รู้กันทีหลัง หรือจะอ่านดูในสังคีติก็ได้

ท่านแยกออกเป็น ๓ เรียกว่า ไตรปิฎก นั้น
เพราะท่านแยกพระธรรมออกเป็น ๒


คือส่วนที่มีเรื่องราว เช่น ครั้งนั้นพระพุทธเจ้าประทับที่นั่น
ทรงแสดงธรรมชื่อนั้นแก่บุคคลนั้น หรือพวกนั้น
เหมือนดังทรงแสดงธัมมจักรกัปปวัตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ ที่อิสปตนมฤคทายวัน
เช่นนี้ เรียกว่า พระสูตร หรือว่า สุตตันตะ ส่วนที่เป็นพระสูตร

ส่วนที่ไม่กล่าวถึงบุคคล ไม่กล่าวถึงเรื่องราว
กล่าวแต่ธรรมล้วนๆ

เช่นท่านแสดงไว้ว่า

กุศลธรรม ธรรมที่เป็นกุศลส่วนดี
อกุศลธรรม ธรรมที่เป็นอกุศลส่วนชั่ว
อัพยากตธรรม ธรรมที่ท่านไม่ยืนยันว่าดีหรือชั่ว
ท่านไม่พูดถึงคน พูดแต่ธรรมะเท่านั้น
เช่นนี้เรียกว่า อภิธรรม
แปลว่า ธรรมอย่างยิ่ง หรือ ปรมัตถ์

หมายความว่า มีเนื้อความเป็นอย่างยิ่ง
ไม่กล่าวถึงบุคคล และเรื่องราวอะไรต่างๆ อีกส่วนหนึ่ง


จึงเป็น ๓ ปิฎก คือ
พระวินัย ๑ พระสูตร ๑ และพระอภิธรรมหรือพระปรมัตถ์อีก ๑


แต่เรื่องสังคายนาครั้งที่ ๑-๒ ที่มีในพระวินัยปิฎก
ไม่ได้กล่าวแยกเป็น ๓
น่าจะแยกเป็น ๓ หลังจากสังคายนา ครั้งที่ ๒ แล้ว
เดี๋ยวนี้เรียกว่า ไตรปิฎก เป็นพื้น

รวมความว่าแต่ครั้งพุทธกาล
(พุทธกาล หมายความว่า เวลาที่พระพุทธยังทรงพระชนม์อยู่)
พระพุทธศาสนาแยกเพียง ๒
คือ พระธรรม ๑ และพระวินัย ๑ ดังกล่าวมาแล้ว
ปรากฏในพระพุทธภาษิตที่ตรัสแก่พระภิกษุ มีพระอานนท์ เป็นต้น


ความว่า “โดยกาลล่วงไปแห่งเรา
ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้ว และบัญญัติแล้ว
เป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย”


แต่เมื่อพระสาวกทำสังคายนา
เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว
จึงแยกออกเป็น ๓
ด้วยแยกพระธรรมออกเป็น ๒
คือ พระสูตรหรือพระสุตตันตะ ๑
และพระอภิธรรมหรือพระปรมัตถ์ อีก ๑


:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  TU [ 21 ก.พ. 2013, 20:33 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: เนื่องมาจากวิจิกิจฉาในพระไตรปิฎก :สมเด็จฯ กรมหลวงวชิรญาณ

พระธรรมวินัยคือศาสดา

พึงสังเกตว่า ศาสนาอื่นๆ ที่ปรากฏ
เช่น ศาสนาคริสต์ เมื่อ พระเยซู ตายหรือขึ้นสวรรค์ไปแล้วก็ตาม
ก็มีหัวหน้าเป็นผู้แทนสืบมาจนถึงบัดนี้

ใน ศาสนาอิสลาม เมื่อ พระมะหะหมัด ตายไปแล้ว
ก็มีผู้แทนเป็นลำดับสืบมา ซึ่งเรียกว่า “กาหลิบ”

แต่ทางพระพุทธศาสนา แม้มีพระสาวกที่เป็นผู้ใหญ่
เช่น พระมหากัสสป พระอานนท์ พระอุนรุทธ เป็นต้น
พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงมอบให้ใครเป็นผู้แทนพระองค์

แต่ทรงให้พระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงแสดง ทรงบัญญัติ
เป็นศาสดาแทนพระองค์


ถ้าพิจารณาแล้วก็จะเห็นได้ว่า
ถ้าให้บุคคลเป็นผู้แทนแล้ว ก็คงมีผู้แทนต่อๆ กันมาโดยลำดับ

ผู้แทนในชั้นต้นถึงจะเป็นคนดี
เช่นในทางพระพุทธศาสนา พระมหากัสสป เป็นพระอรหันต์
มีความมักน้อยสันโดษ

แต่ว่าท่านก็คงอยู่ได้ชั่วคราว และคงต้องนิพพานไป ก็คงมีผู้แทนต่อๆ มา

ถ้าผู้แทนเป็นคนชั่ว ก็คงจะนำหมู่บรรพชิตไปในทางที่ชั่ว
ถ้าผู้แทนเป็นคนดี ก็จะนำหมู่บรรพชิตไปในทางที่ดี เป็นการไม่แน่


แต่ถ้าให้ธรรมและพระวินัยเป็นผู้แทนแล้วแน่กว่า

เพราะอะไร ?

เพราะธรรมวินัยคงยืนเป็นหลักอยู่ในพระพุทธศาสนา
แม้จะมีผู้เรียนพิจารณาเนื้อความแยกกันไป หรือแตกต่างกันไป
นั่นก็เป็นความเห็นของบุคคล
แต่หลักพระพุทธศาสนาซึ่งแยกเป็นธรรม ๒ พระวินัย ๑
หรือต่อมาแยกเป็น “ไตรปิฎก” ยังคงเป็นหลักอยู่


ในประเทศต่างๆ ที่ถือพระพุทธศาสนา
แม้มีหัวหน้าของบรรพชิตก็เป็นไปในทางปกครอง
อย่างประชุมชนหมู่หนึ่งๆ ก็ต้องมีหัวหน้าในทางปกครอง

หัวหน้าจะบัญชาการให้ผิดไปจากหลักพระธรรม หลักพระวินัยไม่ได้
ถ้าบัญชาผิดไป เขาไม่เชื่อ เขาไม่ฟัง
ก็ไม่มีอำนาจไปบังคับเขาได้โดยธรรม


หลักแห่งการสืบมาของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างนี้

:b8: :b8: :b8:

(ที่มา : พระพุทธศาสนาครั้งพุทธกาล,
พระนิพนธ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์,
พิมพ์ครั้งที่ ๒, มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑, หน้า ๓-๖)

http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=14443

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/