ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

พระองค์ที่ ๒ : สมเด็จพระสังฆราช (ศุข)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=44311
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  webmaster [ 13 ม.ค. 2013, 19:43 ]
หัวข้อกระทู้:  พระองค์ที่ ๒ : สมเด็จพระสังฆราช (ศุข)

รูปภาพ

พระประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข)
พุทธศักราช ๒๓๓๗-๒๓๕๙


วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร
แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร


:b44: หัวข้อ

• พระประวัติในเบื้องต้น
• อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุรูปที่ ๑
• การสังคายนาพระไตรปิฎก
• สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
• พระกรณียกิจสำคัญต่อพระพุทธศาสนา
• พระกรณียกิจพิเศษ
• พระเมตตาต่อชีวิตสามเณรลูกวัด
• พระกรณียกิจในรัชกาลที่ ๒
• จัดสมณทูตไทยไปลังกาครั้งแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์
• พระอวสานกาล

เจ้าของ:  webmaster [ 13 ม.ค. 2013, 20:17 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: พระองค์ที่ ๒ : สมเด็จพระสังฆราช (ศุข)

รูปภาพ
พระประธาน ในพระอุโบสถ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์


พระประวัติในเบื้องต้น

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข)
ทรงมีพระประวัติในเบื้องต้นเป็นมาอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด
เช่นเดียวกับ สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
เมื่อครั้งกรุงธนบุรี ทรงเป็นพระราชาคณะที่ พระญาณสมโพธิ ณ วัดมหาธาตุ
ถึง พ.ศ. ๒๓๒๓ ในสมัยกรุงธนบุรี จึงได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่ พระธรรมเจดีย์
จวบจนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นที่
พระพนรัตน * ซึ่งเป็นตำแหน่งรองสมเด็จพระสังฆราช
ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ว่า

“ตำแหน่งพระพนรัตนนั้น นับว่าเป็นสังฆราชองค์ ๑
รองแต่สมเด็จพระอริยวงษญาณ ลงมา
ในทำเนียบสมณศักดิ์ตั้งแต่ครั้งกรุงเก่ามา
มีตำแหน่งสังฆปริณายก ๒ องค์ เรียกว่า “พระสังฆราชซ้ายขวา”
สมเด็จพระอริยวงษญาณเป็นพระสังฆราชฝ่ายขวา ว่าคณะเหนือ
พระพนรัตนเป็นพระสังฆราชฝ่ายซ้าย ว่าคณะใต้
เกียรติยศมีสุพรรณบัตรจารึกพระนาม
เมื่อทรงตั้งทั้ง ๒ องค์ แต่ที่พระพนรัตน โดยปรกติไม่ได้เป็นสมเด็จ
ส่วนพระสังฆราชฝ่ายขวานั้น เป็นสมเด็จพระอริยวงษญาณทุกองค์
จึงเรียกว่า “สมเด็จพระสังฆราช” และจึงเป็นมหาสังฆปริณายก
มีศักดิ์สูงกว่าพระสังฆราชฝ่ายซ้ายที่ พระพนรัตน
แต่ก่อนมาทรงยกเกียรติยศเป็นสมเด็จแต่บางองค์
พึ่งเป็นสมเด็จทุกองค์ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ เป็นต้นมา”


รูปภาพ
พระอุโบสถ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์


อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุรูปที่ ๑

สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ทรงเป็นอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ รูปที่ ๑
ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ครั้งยังทรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมเจดีย์
ซึ่งสมัยนั้นวัดมหาธาตุยังเรียกว่า “วัดสลัก” เป็นพระอารามที่อยู่ในเขตพระนคร
และเป็นพระอารามหลวงมาตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรี

วัดสลักนั้นเป็นวัดที่สร้างมาแต่ครั้งกรุงเก่า
ในสมัยที่สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ทรงเป็นอธิบดีสงฆ์
วัดสลักได้เปลี่ยนชื่อถึง ๓ ครั้ง คือ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕
สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ และทรงขนานนามเปลี่ยนเป็น วัดนิพพานาราม

ครั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ทรงปรารภพร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ
จะทำสังคายนาพระไตรปิฎก ทรงพระราชดำริเห็นว่าวัดนิพพานาราม
สมควรเป็นที่ประชุมสงฆ์ทำสังคายนา จึงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามใหม่ว่า
วัดพระศรีสรรเพชญดาราม หรือ วัดพระศรีสรรเพชญ์
เยี่ยงในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งภายในพระราชวังกรุงศรีอยุธยา
ก็มีวัดพระศรีสรรเพชญดาราม เป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๔๖ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
โปรดเกล้าฯ ให้ประชุมพระราชาคณะ สอบไล่พระปริยัติธรรมภิกษุสามเณร
ที่วัดพระศรีสรรเพชญดาราม แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามพระอารามอีกครั้งหนึ่งว่า
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ แต่คนทั้งหลายนิยมเรียกว่า “วัดมหาธาตุ”

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงบริจาคทรัพย์เป็นส่วนของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
ซึ่งสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๗ ให้ปฏิสังขรณ์
แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มสร้อยต่อนามพระอาราม
เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช พระองค์นั้นว่า
“วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์” ดังที่ปรากฏสืบมาจนบัดนี้”

รูปภาพ
ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำ


การสังคายนาพระไตรปิฎก

ในการสังคายนาพระไตรปิฎกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑ อันเป็นการสังคายนาครั้งแรก
ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์นั้น สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ซึ่งขณะนั้นทรงสมณศักดิ์ที่
พระพนรัตน ทรงเป็นพระเถระที่มีบทบาทสำคัญพระองค์หนึ่ง
คือทรงเป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎก การที่ทรงได้รับมอบหมายหน้าที่สำคัญดังนี้
ย่อมแสดงให้เห็นว่า ทรงเป็นผู้ชำนาญพระไตรปิฎกพระองค์หนึ่ง
สอดคล้องกับที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า
คงทรงเป็นเปรียญมาแต่ครั้งกรุงเก่า และกรุงธนบุรี
ดังมีหลักฐานพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ซึ่งกล่าวไว้ในหนังสือ “ประวัติอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ” เป็นความตอนหนึ่งว่า

“สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) เห็นจะเป็นเปรียญมาแต่ครั้งกรุงเก่า
เมื่อสังคายนาพระไตรปิฎกยังเป็นพระพนรัตน ได้เป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎก
เมื่อเป็นพระสังฆราชได้เป็นอุปัชฌาย์กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
กรมพระราชวังบวรสถานภิมุขและกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
และเข้าใจว่าเจ้านายที่ทรงผนวชในรัชกาลที่ ๑ ชั้นหลังโดยมาก...”


หมายเหตุ * พระพนรัตน - ใช้อักขรวิธีตามต้นฉบับ

รูปภาพ

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ครั้นเมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๓๓๗ เดือน ๕ ปีขาล จ.ศ. ๑๑๕๖ นี้
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สิ้นพระชนม์
ศกเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา พระพนรัตน (ศุข) วัดมหาธาตุ
ขึ้นเป็น สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช
นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

โปรดเกล้าฯ ให้สถิตอยู่ ณ วัดมหาธาตุ นั้นสืบไป
ด้วยเป็นพระอารามหลวงอยู่ระหว่างพระราชวัง สำคัญกว่าวัดระฆัง
วัดมหาธาตุจึงเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราชองค์อื่นๆ ต่อมา


พระกรณียกิจสำคัญต่อพระพุทธศาสนา

สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ได้ทรงวางระเบียบการปฏิบัติไปตามแนวเดิม
ที่ได้วางไว้แต่ครั้งก่อน คือ ก่อนที่พระองค์ท่านจะได้รับตำแหน่งสมณศักดิ์
เป็นสมเด็จพระสังฆราช โดยยึดถือตามแนวหลักเดิมอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา
คือเรื่องการสอบพระปริยัติธรรม เพื่อเป็นบาเรียนหรือเปรียญในทุกวันนี้
ของพระภิกษุ สามเณร โดยแบ่งออกเป็น ๓ ชั้น คือ

๑. บาเรียนตรี ใช้พระสูตรเป็นหลักสูตรตามคณะกรรมการกำหนดให้
ผู้เข้าสอบแปล เมื่อแปลได้แล้ว ก็เท่ากับสอบได้เป็นบาเรียนตรี

๒. บาเรียนโท ใช้พระสูตรกับพระวินัย เป็นหลักสูตร
ตามแต่คณะกรรมการกำหนดให้ผู้เข้าสอบแปล
เมื่อแปลได้แล้วก็เท่ากับสอบได้เป็นบาเรียนโท

๓. บาเรียนเอก ใช้พระสูตร พระวินัย และพระปรมัตถ์ เป็นหลักสูตร
ตามแต่คณะกรรมการกำหนดให้ผู้เข้าสอบแปล
เมื่อแปลได้แล้ว ก็เท่ากับสอบได้บาเรียนเอก

(มีต่อ)

เจ้าของ:  webmaster [ 13 ม.ค. 2013, 20:19 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: พระองค์ที่ ๒ : สมเด็จพระสังฆราช (ศุข)

รูปภาพ
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์



พระกรณียกิจพิเศษ

สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ทรงเป็นที่เคารพนับถือของพระราชวงศ์และ
ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงหลายพระองค์คือ

๑. ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
ซึ่งทรงผนวชเป็นพระภิกษุเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๗ ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศ
เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์
ในคราวเดียวกันนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้ พระพงศ์อมรินทร์
ซึ่งเป็นราชบุตรของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และนักองเอง ซึ่งต่อมาทรงสถาปนาเป็น
สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีฯ พระเจ้ากรุงกัมพูชา ทรงผนวชด้วย

๒. ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
ซึ่งทรงผนวชเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๘ ณ วัดมหาธาตุ
เป็นเวลา ๗ วัน จึงทรงลาผนวช

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑
ฉบับพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)
ได้บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ไว้ว่า

“ปีเถาะ สัปตศก จุศักราช ๑๑๕๗ (พ.ศ. ๒๓๓๖) นั้น
เมื่อ ณ เดือน ๘ ขึ้น ๑๕ ค่ำ สมเด็จพระอนุชาธิราช
กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จลงมาเฝ้าถวายบังคมลาทรงผนวช
และขอรับพระราชทานอภัยโทษเจ้านันทเสน
เจ้านครลานช้างที่ต้องโทษกำสมัครพรรคพวก เจ้านันทเสนและบรรดานักโทษ
ที่ต้องพันธนาการอยู่ในเรือนจำให้พ้นโทษด้วย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
โปรดพระราชทานนักโทษออกจากเวนจำ
ตามที่สมเด็จพระอนุชาธิราชกราบทูลขอ
เว้นแต่เจ้านันทเสนและพรรคพวก ซึ่งเป็นกบฏ
และพวกพม่ารามัญข้าศึกและพวกโจรสลัดนั้นหาโปรดพระราชทานไม่
กรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงพระราชศรัทธาบวช
ให้นักโทษที่พ้นโทษในครั้งนั้น ๓๒ คน”

“ครั้น ณ วันพุธ เดือน ๘ ขึ้น ๑๕ ค่ำ สมเด็จพระอนุชาธิราช
กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จทรงบรรพชาอุปสมบท ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์
สมเด็จพระสังฆราช เป็นอุปัชฌาย์ พระญาณสังวร วัดพลับ เป็นพระกรรมวาจา
พระธรรมกิติ เป็นอนุสาวนา พระสงฆ์คณะหัตถบาส ๔๑ รวมเป็น ๔๔ รูป
เสด็จทรงบณณพชาอุปสมบทเวลาบ่าย ๕ โมง ๗ บาท”

“ครั้น ณ เดือน ๘ แรม ๑ ค่ำ ตรง ขึ้นพลับพลาปริยาย บำเพ็ญพระธรรมภาวนา
ครั้นแรก ๔ ค่ำ เวลาบ่าย ๔ โมง พระสงฆ์ ๕๐๐ รูป เจริญพระปริตร
ณ พระระเบียงอุโบสถวัดพระศรีสรรเพชญ์”


๓. ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานภิมุข
กรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ ในปี พ.ศ. ๒๓๔๔ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
และในการทรงผนวชครั้งนี้ พระองค์เจ้าวาสุกรี วัดพระเชตุพน
กับพระองค์เจ้าฉัตรเป็นหางนาค เมื่อทรงผนวชก็ประทับอยู่ที่วัดระฆังโฆสิตาราม

เรื่องการทรงผนวชของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขนี้
กล่าวกันว่าได้ทำพิธีกันอย่างเงียบๆ ทรงผนวชเมื่อมีพระชนมายุได้ ๕๖ พระพรรษา
และหลังจากทรงผนวชได้ ๕ ปีก็ทิวงคต เมื่อวันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีขาล
พ.ศ. ๒๓๔๙ เวลาบ่าย รวมพระชนมายุได้ ๖๑ พรรษา

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑
ฉบับพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ได้บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ไว้ว่า

“ครั้น ณ เดือน ๘ แรม ๑ ค่ำ ตรง ขึ้นพลับพลาปริยาย บำเพ็ญพระธรรมภาวนา
ครั้นแรก ๔ ค่ำ เวลาบ่าย ๔ โมง พระสงฆ์ ๕๐๐ รูป เจริญพระปริตร
ณ พระระเบียงอุโบสถวัดพระศรีสรรเพชญ์ รุ่งขึ้นฉันเป็นการฉลอง”


นอกจากนี้ ยังทรงเป็นพระอุปัธยาจารย์ของเจ้านาย
ที่ทรงผนวชในช่วงปลายรัชกาลที่ ๑ โดยมากด้วย


พระเมตตาต่อชีวิตสามเณรลูกวัด

สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ทรงแผ่พระเมตตาช่วยชีวิตสามเณร
ซึ่งทำไฟไหม้วัดพระศรีสรรเพชญ์ หรือวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ไว้ครั้งหนึ่ง
เมื่อวันศุกร์ เดือน ๔ แรม ๕ ค่ำ ปีระกา ตรีศก จุลศักราช ๑๑๖๓
ตรงกับปี พ.ศ. ๒๓๔๙ โดยพระภิกษุสามเณรในวัดพระศรีสรรเพชญ์
เล่นจุดดอกไม้เพลิงในเวลากลางคืน เศษลูกไฟลอยไปติดพระมณฑป
ทำให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นเหลือแต่ผนังเท่านั้น
ความทรงทราบถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
โปรดเกล้าฯ ให้สืบสวนหาตัวผู้เป็นต้นเพลิง
เมื่อได้ตัวแล้วพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สึกเสีย
ส่วนสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท จะให้ลงโทษประหารชีวิต
แต่สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ถวายพระพรขอพระราชทานบิณฑบาตชีวิตไว้
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทก็ทรงพระราชทานอภัยโทษให้


พระกรณียกิจในรัชกาลที่ ๒

สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ทรงมีพระชนม์อายุยืนยาวมาถึงรัชกาลที่ ๒
และในรัชกาลนี้ก็ได้ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจสำคัญอีกครั้งหนึ่งคือ
ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
ซึ่งทรงผนวชเป็นครั้งที่ ๒ หลังจากเสด็จกลับจากศึกพม่าถึงกรุงเทพฯ
เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๓ แล้วประชวรไข้ป่าพระอาการมาก
ครั้นหายประชวรแล้วจึงเสด็จออกทรงผนวชอีกครั้งหนึ่ง
ประทับอยู่วัดมหาธาตุฯ เป็นเวลา ๗ วันจึงทรงลาผนวช

รูปภาพ
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
รัชกาลที่ ๒ แห่งบรมราชจักรีวงศ์



จัดสมณทูตไทยไปลังกาครั้งแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์

ในยุคที่ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ทรงเป็นมหาสังฆปรินายกนี้เอง
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้จัดสมณทูต
ออกไปสืบข่าวพระศาสนา ณ ลังกาทวีป เป็นครั้งแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์
หลังจากที่ว่างเว้นการติดต่อกันมาเป็นเวลานานกว่า ๕๐ ปี
นับแต่คณะพระสงฆ์ไทยครั้งกรุงศรีอยุธยา
ที่มีพระวิสุทธาจารย์เป็นประธาน ออกไปเมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๘ เป็นครั้งหลังสุด
สาเหตุที่โปรดเกล้าฯ ให้จัดสมณทูตออกไปลังกาครั้งนี้
ดังมีรายละเอียดบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดาร ดังนี้

“เมื่อปีมะเส็ง เอกศก จุลศักราช ๑๑๗๑ พ.ศ. ๒๓๕๒
แต่ในปลายรัชกาลที่ ๑ มีพระภิกษุชาวลังกาชื่อพระวลิตรภิกษุรูป ๑ กับสามเณร ๒ รูป
เข้ามาจากเมืองนครศรีธรรมราชมาถึงกรุงเทพฯ
โปรดให้วลิตรภิกษุกับสามเณรชื่อ รัตนปาละ
ไปอยู่ในสำนักสมเด็จพระสังฆราช ณ วัดมหาธาตุ สามเณรอีกรูป ๑ ชื่อ หิธายะ
ให้ไปอยู่ในสำนักสมเด็จพระวันรัตน์วัดพระเชตุพน

ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ สามเณรลังกาทั้ง ๒ รูป ขออุปสมบทเป็นพระภิกษุสยามวงศ์
เพราะถือว่าเป็นวงศ์เดียวกับพระสงฆ์ในลังกาทวีป ซึ่งได้รับอุปสมบท
แต่พระอุบาลีที่ออกไปในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศครั้งกรุงเก่า
จึงโปรดให้สามเณรทั้ง ๒ นี้เป็นนาคหลวงบวชในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
และพระราชทานนิตยภัตไตรปีสืบมา

ครั้นมาถึงปีระกา เบญจศก จุลศักราช ๑๑๗๕ พ.ศ. ๒๓๕๖
มีพระลังกาเข้ามาถึงกรุงเทพฯ อีกรูป ๑ ชื่อพระศาสนวงศ์
อ้างว่าพระมหาสังฆนายกในลังกาทวีปให้เชิญพระบรมสารีริกธาตุเข้ามาถวายแด่
สมเด็จพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา แต่ไม่มีสมณสาสน์หรือสำคัญอันใดมา

ครั้นไต่ถามถึงการพระศาสนาในลังกาทวีป
พระศาสนวงศ์ก็ให้การเลื่อนเปื้อนไปต่างๆ
ซ้ำมาเกิดรังเกียจไม่ปรองดองกันกับพระลังกาที่เข้ามาอยู่แต่ก่อน
วัตรปฏิบัติก็ไม่น่าเลื่อมใสด้วยกันทั้ง ๒ รูป
จึงเป็นเหตุให้ทรงแคลงพระราชหฤทัยว่าจะมิใช่พระที่ได้รับอุปสมบทมาแต่ลังกาทวีป

ทรงพระราชดำริว่าพระสงฆ์ในลังกาทวีป
ก็เป็นสมณวงศ์อันเดียวกันกับพระสงฆ์ในสยามประเทศ
เคยมีสมณไมตรีต่อกันมาแต่ครั้งกรุงเก่า แต่เริดร้างมาเสีย
เพราะเกิดเหตุศึกสงคราม ไม่ได้ไปมาหาสู่ถึงกันช้านาน

บัดนี้กรุงสยามก็ได้ประดิษฐานพระนครรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี
มีอิสระมั่นคงแล้ว แลได้ข่าวว่าลังกาทวีปเสียแก่อังกฤษ
การพระศาสนาแลศาสนวงศ์ในลังกาทวีปจะเป็นอย่างไร
ควรจะสืบสวนให้ทราบความจริงไว้

จึงทรงเผดียงสมเด็จพระวันรัตน์ (มี) วัดราชบูรณะ กับพระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี)
ให้จัดหาพระภิกษุสงฆ์ทั้งฝ่ายคณะใต้แลคณะเหนือ
จะมีองค์ใดศรัทธาออกไปยังลังกาทวีปบ้าง

สมเด็จพระวันรัตนจัดได้พระวัดราชบูรณะ ๕ รูป คือ
พระอาจารย์ดีรูป ๑ พระอาจารย์เทพรูป ๑ พระแก้วรูป ๑ พระคงรูป ๑ พระห่วงรูป ๑
พระพุทธโฆษาจารย์จัดได้พระวัดมหาธาตุ ๔ รูป คือ พระอาจารย์อยู่รูป ๑ พระปรางรูป ๑
พระเซ่งรูป ๑ พระม่วงรูป ๑ รวมพระสงฆ์ไทย ๙ รูป

ครั้งนั้นพระรัตนปาละ พระหิธายะชาวลังกา ซึ่งเข้ามาอุปสมบทในกรุงเทพฯ
ทราบว่าพระสงฆ์สมณทูตไทยจะออกไปลังกา
ถวายพระพรลาจะออกไปเยี่ยมญาติโยมของตนด้วย
โปรดให้ไปกับสมณทูต พระสงฆ์ที่จะไปจึงรวมเป็น ๑๐ รูปด้วยกัน”


สมณทูตคณะนี้ ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๓๕๗
เนื่องจากเรือเกิดชำรุด ต้องติดค้างอยู่ที่นครศรีธรรมราชเป็นเวลา ๑๑ เดือน
จากนครศรีธรรมราชเดินบกไปขึ้นเรือที่เมืองตรัง
ออกเดินทางจากเมืองตรังเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๓๕๘
ถึงเกาะลังกา เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๕๙ สมณทูตไทยอยู่ในลังกา ๑๒ เดือน
จึงเดินทางกลับ ออกเดินทางจากลังกาเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๓๖๐
มาพักอยู่ที่เกาะหมาก (ปีนัง) ๔ เดือน ถึงกรุงเทพฯ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๓๖๑

ในการจัดสมณทูตไปลังกาครั้งนี้ แม้ว่าจะมิได้โปรดเกล้าฯ ให้
สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) เป็นผู้จัดการเรื่องต่างๆ โดยตรงเนื่องจากทรงชราภาพ
แต่ก็คงเป็นที่ทรงปรึกษาในการนี้ด้วยพระองค์หนึ่งอย่างไม่ต้องสงสัย
เพราะทรงเป็นพระมหาเถระรัตตัญญูอยู่ในเวลานั้น
ทั้งทรงทันรู้เห็นเหตุการณ์ต่างๆ เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยามาด้วย
จึงคงจะทรงทราบธรรมเนียมแบบอย่างทางคณะสงฆ์มาเป็นอันดี


พระอวสานกาล

ในตอนปลายอายุของท่านซึ่งทรงพระชราทุพพลภาพมากขึ้น
ทรงโปรดรับสั่งให้ สมเด็จพระพนรัตน (มี) วัดเลียบหรือวัดราชบุรณะ
รับพระราชภาระในตำแหน่งหน้าที่บริหารแทน เช่น ได้ทรงคัดเลือกสมณทูตไทย
เพื่อไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังลังกาทวีป ฯลฯ ดังความตอนหนึ่งที่กล่าวมาแล้ว

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข)
ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เป็นเวลานานถึง ๒๓ ปี
นับว่ายาวนานกว่าสมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์ที่เคยมีมาในยุคกรุงรัตนโกสินทร์
ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๓๗ ก็สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๕๙
ตรงกับวันพุธ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๖ ปีชวด อัฐศก เวลา ๒ โมงเช้า ในรัชกาลที่ ๒
ทรงมีพระชนมายุเท่าใดไม่ปรากฏชัด ด้วยไม่พบดวงชะตาเหมือนสังฆราชองค์อื่นๆ


แต่มีหลักฐานสันนิษฐานว่าอายุอ่อนกว่า สมเด็จพระสังฆราช (ชื่น) กรุงธนบุรี
แต่แก่กว่า สมเด็จพระพนรัตน วัดโพธาราม (วัดพระเชตุพน)
ถ้าประมาณว่าอ่อนกว่าสมเด็จพระสังฆราช (ชื่น) ๒ ปี แก่กว่าสมเด็จพระพนรัตน ๒ ปี
ประมาณปีเกิดในปีกุน จุลศักราช ๑๐๙๓ พุทธศักราช ๒๒๗๔

ถ้าเช่นนั้นเมื่อเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระชนมายุ ๖๓ พรรษา
เมื่อสิ้นพระชนม์ได้ ๘๖ พรรษา ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชได้ ๒๓ ปี
ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงสันนิษฐานว่า คงมีพระชนมายุเกิน ๘๐ พรรษา


:b8: :b8: :b8: รวบรวมและเรียบเรียงเนื้อหามาจาก ::
(๑) หนังสือชุดพระเกียรติคุณ สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ :
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข)
วัดมหาธาตุ, สุเชาวน์ พลอยชุม เรียบเรียง, มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑.
(๒) หนังสือ ๑๙ สมเด็จพระสังฆราชกรุงรัตนโกสินทร์,
โกวิท ตั้งตรงจิตร เรียบเรียง, สวีริยาศาสน์ จัดพิมพ์, ๒๕๔๙.
(๓) ประวัติวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
จากเว็บไซต์ http://www.watmahathat.com/


:b42: กระทู้ในบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13209

:b44: ••• ประวัติตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชไทย
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=19521

:b44: ระยะเวลาการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (พระองค์ใหม่)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=49539

:b44: ประวัติ “คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=47044

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/