ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

หลักการปฏิบัติ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=47554
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 04 เม.ย. 2014, 17:23 ]
หัวข้อกระทู้:  หลักการปฏิบัติ

จะนำหลักการปฏืบัติธรรม, หลักการกรรมฐาน, หลักการพัฒนาจิต...วางให้ศึกษาเทียบเคียง

ไฟล์แนป:
หลักการปฏิบัติ.jpg
หลักการปฏิบัติ.jpg [ 37.29 KiB | เปิดดู 1899 ครั้ง ]

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 04 เม.ย. 2014, 17:25 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: หลักการปฏิบัติ

กระบวนการปฏิบัติ


๑. องค์ประกอบ หรือสิ่งที่ร่วมอยู่ในกระบวนการปฏิบัตินี้ มี ๒ ฝ่าย คือ

ฝ่ายที่ทำ (ตัวการที่คอยสังเกต ตามดูรู้ทัน) กับ

ฝ่ายที่ถูกทำ (สิ่งที่ถูกสังเกต ตามดูรู้ทัน)


ก. องค์ประกอบฝ่ายที่ถูกทำ คือ สภาวะที่ถูกมอง หรือถูกตามดูรู้ทัน ได้แก่ สิ่งธรรมดาสามัญ คือทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่กับตัวของทุกคนนั่นเอง เช่น ร่างกาย การเคลื่อนไหวของร่างกาย ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่เป็นปัจจุบัน คือกำลังเกิดขึ้น เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ


ข. องค์ประกอบฝ่ายที่ทำ คือ องค์ธรรมที่ถึงที่ทันอยู่ต่อหน้ากับสิ่งนั้นๆ ไม่คลาดคลา ไม่ทิ้งไป คอยตามดูรู้ทัน เป็นองค์ธรรมของสติปัฏฐาน ได้แก่ สติ กับ สัมปชัญญะ


สติ เป็นตัวดึงตัวเกาะจับสิ่งที่จะมองจะดูจะรู้เอาไว้ สัมปชัญญะ คือปัญญา ที่รู้ชัดต่อสิ่งหรืออาการ ที่ถูกมอง หรือตามดูนั้น โดยตระหนักว่า คืออะไร เป็นอย่างไร มีความมุ่งหมายอย่างไร เช่น ขณะเดิน ก็มีสติให้ใจอยู่พร้อมหน้ากับการเดิน และมีสัมปชัญญะที่ รู้พร้อมอยู่กับตัวว่า กำลังเดินไปไหน อย่างไร เพื่ออะไร รู้ตระหนักภาวะและสภาพของผู้เดิน และสิ่งที่เกี่ยวข้องในการเดินนั้น เป็นต้น เข้าใจสิ่งนั้นหรือการกระทำนั้นตามความเป็นจริง โดยไม่เอาความรู้สึกชอบใจหรือไม่ชอบใจ เป็นต้นของตน เข้าไปปะปนหรือปรุงแต่ง


มีข้อควรระวังที่ควรย้ำไว้ เกี่ยวกับความเข้าใจผิดที่อาจเป็นเหตุให้ปฏิบัติผิดพลาดเสียผลได้ กล่าวคือ บางคนเข้าใจความหมายของคำแปล “สติ” ที่ว่าระลึกได้ และ “สัมปชัญญะ” ที่ว่า รู้ตัว ผิดพลาดไป โดยเอาสติมากำหนดนึกถึงตนเอง และรู้สึกตัวว่า ฉันกำลังทำนั่นทำนี่ กลายเป็นการสร้างภาพตัวตนขึ้นมา แล้วจิตก็ไปจดจ่ออยู่กับภาพตัวตนอันนั้น เกิดความเกร็งตัวขึ้นมา หรืออย่างน้อยจิตก็ไม่ได้อยู่ที่งาน ทำให้งานที่กำลังทำนั้น แทนที่จะได้ผลดี ก็กลับกลายเป็นเสียไป


สำหรับคนที่เข้าใจผิดเช่นนั้น พึงมองความหมายของสติในแง่ว่า การนึกไว้ การคุมจิตไว้กับอารมณ์ การคุมจิตไว้กับกิจที่กำลังกระทำ หรือคุมจิตไว้ในกระแสของการทำกิจ และมองความหมายของสัมปชัญญะในแง่ว่า การรู้ชัดสิ่งที่นึกไว้ หรือรู้ชัดสิ่งที่กำลังกระทำ กล่าวคือ มิใช่เอาสติมากำหนดตัวตน (ว่าเราทำนั่นทำนี่) ให้นึกถึงงาน (สิ่งที่ทำ) ไม่ใช่นึกถึงตัวตน (ผู้ทำ) ให้สติดึงใจไว้ให้ใจอยู่กับสิ่งที่กำลังทำ หรือกำลังเป็นไปจนไม่มีโอกาสนึกถึงตัวเอง หรือตัวผู้ทำเลย คือใจอยู่กับสิ่งที่ทำนั้น จนกระทั่งความรู้สึกว่าตัวฉัน หรือความรู้สึกต่อตัวผู้ทำ ไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เลย

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 04 เม.ย. 2014, 17:30 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: หลักการปฏิบัติ

๒. อาการที่ว่าตามดูรู้ทัน มีสาระสำคัญอยู่ที่ ให้รู้เห็นตามที่มันเป็นในขณะนั้น คือดู – เห็น – เข้าใจ ว่าอะไร กำลังเป็นไปอย่างไร ปรากฏผลอย่างไร เข้าไปอยู่ต่อหน้า หรือพร้อมหน้า รับรู้ เข้าใจ ตามดูรู้มันไป ให้ทันทุกย่างขณะเท่านั้น ไม่สร้างกิริยาใดๆ ขึ้นในใจ ไม่มีการคิดกำหนดค่า ไม่มีการคิดวิจารณ์ ไม่มีการวินิจฉัยว่า ดี ชั่ว ถูก ผิด เป็นต้น ไม่ใส่ความรู้สึก ความโน้มเอียงในใจ ความยึดมั่นต่างๆลงไปว่า ถูกใจ ไม่ถูกใจ ชอบ ไม่ชอบ เป็นต้น เพียงเห็นเข้าใจตามที่มันเป็น ของสิ่งนั้น อาการนั้น แง่นั้นๆเองโดยเฉพาะ ไม่สร้างความคิดผนวกว่าของเรา ของเขา ตัวเรา ตัวเขา นาย ก. นาย ข.เป็นต้น


ตัวอย่าง เช่น ตามดูเวทนาในใจของตนเอง ขณะนั้น มีทุกข์เกิดขึ้น ก็รู้ว่าทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์นั้นเกิดขึ้นอย่างไร กำลังจะหมดสิ้นไปอย่างไรหรือตามดูธรรมารมณ์ เช่น มีความกังวลใจเกิดขึ้น เกิดความกลุ้มใจขึ้น ก็ตามดความกลุ้มหรือกังวลใจนั้นว่า มันเกิดขึ้นอย่างไร เป็นมาอย่างไร หรือเวลาเกิดความโกรธ พอนึกได้ รู้ตัวว่า โกรธ ความโกรธก็หยุดหายไป จับเอาความโกรธนั้นขึ้นมาพิจารณาคุณ โทษ เหตุเกิด และอาการที่มันหายไป เป็นต้น กลายเป็นสนุกไปกับการศึกษาพิจารณาวิเคราะห์ทุกข์ของตน และทุกข์นั้นจะไม่มีพิษสงอะไรแก่ตัวผู้พิจารณาเลยเพราะเป็นแต่ตัวทุกข์เอง ล้วนๆ ที่กำลังเกิดขึ้น กำลังดับไป ไม่มีทุกข์ของฉัน ฉันเป็นทุกข์ ฯลฯ


แม้แต่ความดี ความชั่วใดๆ ก็ตาม ที่มีอยู่หรือปรากฏขึ้นในจิตใจขณะนั้นๆ ก็เข้าเผชิญหน้า ไม่เลี่ยงหนี เข้ารับรู้ตามดูมันตามที่มันเป็นไป ตั้งแต่มันปรากฏตัวขึ้น จนมันหมดไปเอง แล้วก็ตามดูสิ่งอื่นต่อไป เหมือนดูคนเล่นละคร หรือดุจเป็นคนข้างนอก มองเข้ามาดูเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เป็นท่าทีที่เปรียบได้กับแพทย์ที่กำลังชำแหละตรวจดูศพ หรือนักวิทยาศาสตร์ ที่กำลังสังเกตดูวัตถุที่ตนกำลังศึกษา ไม่ใช่ท่าทีแบบผู้พิพากษา ที่กำลังพิจารณาคดี ระหว่างโจทก์ กับ จำเลย เป็นการดูแบบสภาววิสัย (objective) ไม่ใช่สกวิสัย (subjective)


อาการที่เป็นอยู่ โดยมีสติสัมปชัญญะตลอดเวลาเช่นนี้ มีลักษณะสำคัญอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า เป็นอยู่ในปัจจุบัน หรือมีชีวิตอยู่ในขณะปัจจุบัน กล่าวคือ สติตามทันสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เป็นไปอยู่ หรือกระทำอยู่ขณะนั้นๆ แต่ละขณะๆ ไม่ปล่อยให้คลาดกันไป ไม่ติดข้องค้างคา หรืออ้อยอิ่งอยู่กับอารมณ์ที่ผ่านล่วงไปแล้ว ไม่ลอยคว้างไปข้างหน้า เลยไปหาสิ่งที่ยังไม่มี และยังไม่มีไม่เลื่อนไกลถอยลงสู่อดีต ไม่เลือนลอยไปในอนาคต


หากจะพิจารณาเรื่องราวในอดีต หรือสิ่งที่พึงทำในอนาคต ก็เอาสติกำหนดจับสิ่งนั้นมาให้ปัญญาพิจารณาอย่างมีความมุ่งหมาย ทำให้เรื่องนั้นๆกลายเป็นอารมณ์ปัจจุบันของจิต ไม่มีอาการเคว้งคว้างเลื่อนลอยละห้อยเพ้อ ของความเป็นอดีตหรืออนาคต


การเป็นอยู่ในขณะปัจจุบันเช่นนี้ ก็คือการไม่ตกเป็นทาสของตัณหา ไม่ถูกตัณหาล่อไว้ หรือชักจูงไปนั่นเอง แต่เป็นการเป็นอยู่ด้วยปัญญาทำให้พ้นจากอาการต่างๆของความทุกข์ เช่น ความเศร้า ซึม เสียดาย ความร้อนใจ กลุ้ม กังวล เป็นต้น และทำให้เกิดความรู้ พร้อมทั้งความปลอดโปร่งผ่องใสเบาสบายของจิตใจ

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 04 เม.ย. 2014, 17:47 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: หลักการปฏิบัติ

ต่อ ผลการปฏิบัติ

viewtopic.php?f=2&t=47555

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/