ลานธรรมจักร http://www.dhammajak.net/forums/ |
|
ชีวิตทั้งหมดให้อยู่ด้วยอานาปานสติโดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวส http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=33544 |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 |
เจ้าของ: | mes [ 31 ก.ค. 2010, 12:12 ] |
หัวข้อกระทู้: | ชีวิตทั้งหมดให้อยู่ด้วยอานาปานสติโดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวส |
ตอนที่ ๑ ชีวิตทั้งหมดให้อยู่ด้วยอานาปานสติ ตราบที่ยังมีลมหายใจอยู่ จงอยู่ด้วยอานาปานสติ อย่างพระพุทธเจ้า จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะกิน ดื่ม ขับถ่าย ทำครัว ทำความสะอาดบ้าน ขับรถ ทำงานทุกชนิด ให้อยู่กับอานาปานสติ เดินเล่น พักผ่อน ก็ทำอานาปานสติได้ พูดได้ว่า ชีวิตทั้งหมดนี้ให้อยู่ด้วย อานาปานสติ เจริญอานาปานสติ เพื่อเป็นการรักษาใจให้เป็นปกติ ให้ใจเป็นศีล โดยเพียงแต่กำหนดรู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกติดต่อกันอย่างต่อเนื่องและอย่างสม่ำเสมอ ไม่ลืม ไม่เผลอ แม้แต่ขณะที่เห็นรูป ได้ยินเสียง ได้ดมกลิ่น ได้รู้รส ได้สัมผัส การกำหนดรู้ต้องอาศัยจิตใจที่สงบ จึงจะสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะฝึกอานาปานสติ ต้องพยายามปล่อยวางความคิดต่างๆ พยายามทำใจให้นิ่ง ให้สงบเสียก่อน แม้จะเป็นความสงบเพียงชั่วคราวก็ตาม อานาปานสติ ทำได้ในอิริยาบถทั้ง 4 คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ให้มีสติระลึกรู้ทุกครั้งที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออกติดต่อกัน โดยเฉพาะช่วงที่ปรารภความเพียรทำได้ 24 ชั่วโมง ในวันหนึ่งทีเดียว หรือเว้นเฉพาะขณะหลับเท่านั้น อานาปานสติ สามารถเจริญเป็น สมถกรรมฐาน ให้สมบูรณ์ได้ อานาปานสติ สามารถเจริญเป็น วิปัสสนากรรมฐาน ให้สติปัฏฐาน 4 สมบูรณ์ ได้ ในอิริยาบถบางอย่างไม่สะดวกที่จะเจริญอานาปานสติ หรือกำหนดรู้ลมหายใจ เช่น ขณะที่กำลังขับรถบนถนน บนทางด่วนเราไม่ต้องกังวล คือไม่ต้องระลึกถึงลมหายใจ แต่ให้อยู่ในหลักอานาปานสติให้ครบถ้วนคือ ทำหน้าที่ในปัจจุบันให้ดีที่สุด ปัจจุบัน เป็นสำคัญ เรื่อง อดีต ไม่สำคัญ ไม่ต้องคิดถึง เรื่อง อนาคต ไม่สำคัญ ไม่ต้องคิดถึง เรื่องคนอื่น ไม่สำคัญเท่าไร โดยเฉพาะความชั่วของคนอื่นอย่าแบก ตัวเราเองทำดี ทำถูก นั่นแหละ สำคัญที่สุด ขอให้ตั้งใจขับรถดีที่สุด อย่าให้เกิดอุบัติเหตุก็ใช้ได้ ใครจะขับรถไม่ดี ไม่รักษากฎจราจร แซงตัดหน้าเรา เกือบชน เกือบมีอุบัติเหตุก็ตาม น่าโมโหอยู่ แต่ช่างมัน เรื่องความชั่วของเขา อย่าให้เราเกิดโมโห อย่าให้ใจเสีย อย่าให้เกิดอุบัติเหตุ รักษาใจเป็นปกติ ใจดี แล้วทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เมื่อเราเจริญอานาปานสติเป็นประจำ เราจะมีสติตลอดเวลา สามารถจัดการกับงานหลายอย่างที่เร่งรัดเข้ามาในเวลาเดียวกันได้ เพราะเมื่อรู้สึกวุ่นวาย สติจะกำกับให้กลับมาที่ลมหายใจทันที โดยอัตโนมัติ จิตจะเริ่มสงบและรับรู้สิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง ทีละอย่าง ทำให้เกิดปัญญาที่จะแก้ไข หรือ จัดการกับงานเหล่านั้น ให้สำเร็จทีละอย่าง และเมื่องานแล้วเสร็จ สติจะกำกับให้กลับมาที่ ลมหายใจทันทีที่ว่างจากงาน เป็นการพักผ่อนด้วยอานาปานสติ ชีวิตทั้งหมดให้อยู่ด้วยอานาปานสติ คือ ทำหน้าที่ในปัจจุบันให้ดีที่สุด ด้วยใจ อานาปานสติ * อานะ (อัสสาสะ) คือ ลมหายใจเข้า * อาปานะ (ปัสสาสะ) คือ ลมหายใจออก อานะ + อาปานะ คือ อานาปานะ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก สติ คือ ความระลึกรู้ การกำหนดรู้ในปัจจุบัน ไม่ใช่การคิด จำเอา อานาปานสติ คือ การกำหนดรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ในปัจจุบัน แต่ละขณะ -------------------------------------------------- * - พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) หน้า 116 และ 404 - มติที่ประชุมคณะสงฆ์ วัดหนองป่าพงและสาขา ปี 2542 เมื่อ 16 มิถุนายน 2542 อิริยาบถแห่งอานาปานสติ หลวงพ่อชาอธิบายว่า “เมื่อใดที่เราระลึกรู้ลมหายใจ ก็เป็นอานาปานสติเมื่อนั้น” ลมหายใจนี้มีอยู่ตลอดเวลาทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน แม้ขณะหลับอยู่ก็มีลมหายใจ เฉพาะอานาปานสติขั้นที่ 4 เท่านั้น ที่ต้องระงับลมหายใจแล้วเข้าสู่ฌาน ในการปฏิบัติเราต้องอาศัยอิริยาบถนั่งมากเป็นพิเศษ ทำให้หลายท่านพูดว่า การเจริญอานาปานสติทั้งในอิริยาบถ ยืน เดิน นอน นั้นผิดพุทธบัญญัติ ต้องเข้าป่าแล้วก็นั่งขัดสมาธิเท่านั้น แต่ถ้าพิจารณาให้ดีแล้วในอานาปานสติสูตรท่านก็ไม่เคยบอกว่าปฏิบัติไม่ได้ในอิริยาบถยืน เดิน นอน แต่ที่นั่งเจริญอานาปานสติ ก็เพราะว่าสะดวก ยิ่งอานาปานสติขั้นที่ 4 นั้น มีจุดมุ่งหมายที่จะระงับกายสังขาร เข้าฌาน ก็ต้องนั่ง การปฏิบัติในเบื้องต้น ให้พยายามรักษาความรู้สึกที่ดี หรือจิตที่เป็นกุศลเอาไว้ตลอดเวลาทุกลมหายใจเข้า – ออก ในทุกอิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอน สำหรับบางคนอิริยาบถยืน เดิน อาจจะเหมาะสมกว่านั่ง แต่เมื่อจะฝึกเข้าฌานหรือวิปัสสนาขั้นละเอียด อิริยาบถนั่งน่าจะเหมาะสมกว่า ในที่สุด กำลังสติปัญญา ก็ต้องเสมอกัน ในทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน เรียกว่า “ อิริยาบถเสมอกัน” เป็นมหาสติ มหาปัญญา อิริยาบถยืน : ยืนอานาปานสติ ยืนอย่างสำรวม เท้าทั้งสองห่างกันพอสมควร ประมาณ 20 เซนติเมตร เพื่อยืนได้อย่างมั่นคง และเอามือขวาทับมือซ้าย วางลงที่หน้าท้อง เหมือนกับท่านั่ง เพื่อให้ดูเรียบร้อย แต่ถ้าอยู่คนเดียวจะปล่อยมือข้างๆ ตัวตามสบายๆ แบบโครงกระดูกที่ถูกแขวนไว้ก็ได้ จากนั้นทอดสายตาให้ยาวพอดีๆ ประมาณเมตรครึ่ง แต่ไม่ให้จ้องอะไร กำหนดสายตาไว้ครึ่งๆ ระหว่างพื้นดินกับตัวของเราเอง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ดูอะไรเป็นพิเศษนั่นเอง หรืออาจกำหนดดูที่ปลายจมูกก็ได้ บางครั้งอาจจะกำหนดสายตาไว้ที่ที่สบายตา เช่น กำหนดที่สนามหญ้าสีเขียว ต้นไม้ ดอกไม้ หรือสระน้ำ แต่ไม่ให้คิดปรุงแต่งเป็นเรื่องเป็นราว ถ้ารู้สึกมีอะไรเกะกะตาหรืออยู่ด้วยกันหลายคน อาจจะหลับตาก็ได้เหมือนกัน แต่ระวังอย่าให้ล้ม ต้องมีสติ ทรงตัวไว้ให้ดี หายใจจากทางเท้า หายใจเข้าลึกๆ ยืดตัวหน่อยๆ หายใจออกสบายๆ ปล่อยลมลงตามตัวทางเท้า หายใจเข้าลึกๆ ยืดตัวหน่อยๆ ตั้งกายตรง หายใจออก ปล่อยลมลงทางเท้า สบายๆ 2 – 3 ครั้ง หรือ 3 – 4 ครั้ง หายใจเข้าลึกๆ หน่อยๆ หลังจากนั้น หายใจสบายๆ ธรรมดาๆ แต่ส่งความรู้สึกให้มันถึงเท้าทุกครั้ง ทำความรู้สึกคล้ายกับว่า ลมเข้า ลมออก จากทางเท้า วิธีนี้ช่วยทำให้ ลมเข้า ลมออก ยาวขึ้น โอปนยิโก น้อมจิตเข้ามาดูกายยืน ไม่ให้ส่งจิตคิดออกไปข้างนอก ให้มีความรู้ตัวชัดๆ ในการยืน ยืนเฉยๆ ทุกอย่างให้มันเป็นธรรมดาๆ ยืนสบายๆ นั่นแหละดี และถูกต้อง รู้ชัดว่ากายกำลังยืน รู้ชัดว่าลมหายใจปรากฏอยู่ ลมหายใจปรากฏอยู่อย่างไรก็รับรู้ รับทราบ กำหนดรู้ ระลึกรู้เฉยๆ มีหลักอยู่ว่า ความรู้สึกอยู่ที่ไหน จิตก็อยู่ที่นั่น การระลึกรู้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า คือ การรักษาใจไม่ให้ฟุุ้งซ่าน ให้อยู่กับปัจจุบัน ไม่ให้ติดอารมณ์ การหายใจให้ปล่อยตามธรรมชาติและธรรมดาที่สุด สบายๆ ที่สุด กำหนดเบาๆ ให้พยายามมีความรู้สึกนิดหน่อยว่า มีลมเข้า มีลมออก ทุกครั้งไปเท่านั้น ถ้าสบาย สงบ มีความสุข แสดงว่า กำหนดได้ถูกต้อง ถ้ากำหนดลมหายใจแล้วรู้สึกเหนื่อย เครียดและสับสน แสดงว่ากำหนดไม่ถูกต้อง ให้พิจารณาทบทวนใหม่ อย่าบังคับลมหายใจมากมาย หายใจสบายๆ เป็นธรรมชาติที่สุด การส่งความรู้สึกหรือจิตไปถึงเท้า ก็เพื่อให้ลมหายใจค่อนข้างยาวขึ้นตามธรรมชาตินั่นเอง นี่เป็นวิธีการหายใจจากทางเท้า การฝึกระลึกรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เป็นการฝึกเจริญสติ เป็นการรักษาความรู้สึกให้เป็นปกติ คือ เบาสบาย ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย เป็นการตั้งเจตนาถูกต้อง เป็นการรักษาใจให้เป็นปกติ คือ ใจสงบ ใจเป็นศีล ศีลถึงใจ เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นสัมมาปฏิปทา อิริยาบถเดิน : เดินอานาปานสติ การเดินที่ถูกต้อง คือ เดินอย่างธรรมดา เอากาย เอาใจ มาเดิน เมื่อกายกำลังเดิน ให้ใจเดินด้วยกัน ไม่ใช่ว่า เมื่อกายกำลังเดิน ใจคิดไปเที่ยวในอดีต อนาคต หรือคิดเที่ยวไปทั่วโลก อย่าให้กายกับใจทะเลาะกัน อยู่คนละทิศ คนละทาง ให้กายกับใจสามัคคีกัน รักกัน อยู่ด้วยกัน ให้มีสติสัมปชัญญะ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในการเดิน เดินให้ถูกต้องและเป็นธรรมชาติที่สุด ลักษณะการเดิน มีมากมายหลายวิธี แล้วแต่สำนักและครูบาอาจารย์ - เดินช้าๆ ช้ามากๆ ชั่วโมงละ 10 – 40 เมตร ก็ได้ - ค่อยๆ เดิน - เดินอย่างธรรมดา - เดินเร็ว - วิ่งก็มี โยมคนหนึ่งบอกอาจารย์ว่า หลวงพ่อใหญ่ (พระอาจารย์มั่น) เดินเร็วมาก ท่านเดินกลับไปกลับมาและเดินเร็วมาก วิธีกำหนดขณะที่เดิน มี 2 วิธีด้วยกัน คือ กำหนดที่กาย และกำหนดที่จิต วิธีกำหนดที่กาย คือ การตั้งใจเพ่งกำหนดดูการเคลื่อนไหวของเท้า เช่น เดินช้าๆ ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ ค่อยๆ เดิน พยายามกำหนดรู้ เท้าสัมผัสดิน หรือทำความรู้สึกอยู่ที่การก้าว ขวาก้าว ซ้ายก้าว บางทีก็ให้นึกก้าวขาขวาว่า พุท ก้าวขาซ้ายว่า โธ ขวาพุท ซ้ายโธ พุทโธๆ เป็นต้น วิธีกำหนดที่จิต ตั้งใจรักษาจิต หรือ พินิจพิจารณาในหัวข้อธรรม ต่างๆ ไม่ต้องกังวลในอิริยาบถยก ย่าง เหยียบ ฯลฯ เช่น พิจารณา ความตาย พิจารณาร่างกายเป็นอสุภะ หรือแยกออกเป็น ธาตุ 4 เป็นต้น เดินธรรมดา หรือเดินเร็ว หรือ ช้าๆ แล้วแต่จริตนิสัย ของแต่ละบุคคล ไม่ต้องกังวลในเท้าที่เคลื่อนก้าวไป การฝึกอานาปานสติ จะกำหนดทั้งกายและจิตพร้อมกัน ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก คือ กาย จิตก็อยู่ที่ลมหายใจเฉพาะหน้า การกำหนดรู้ลมหายใจ จึงเป็นการตามดูจิต เป็นการรักษาจิตด้วย เดินจงกรม เราจะฝึกเดินจงกรมแบบธรรมชาติที่สุด ให้เดินธรรมดาๆ แต่ช้ากว่าปกตินิดหน่อย ขวาก้าว ซ้ายก้าว ขวาก้าว ซ้ายก้าว เดินไปเรื่อยๆ นั่นแหละ คือเดินจงกรม เดินเฉยๆ ธรรมดาๆ แต่ให้มีอาการสำรวมระวังในการเดิน มีสติ ระลึกรู้ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ทุกครั้ง บางคนอาจจะไม่เคยชินกับการกำหนดลมหายใจขณะเดิน เพราะว่าความรู้สึกที่เท้ากำลังก้าวอยู่ ความรู้สึกที่ฝ่าเท้ากำลัง ถูกดิน ความรู้สึกตัวในการเดินเด่นชัดมากกว่าลมหายใจหลายเท่า หลายสิบเท่าก็เป็นได้ แต่ไม่ต้องสงสัยอะไร อะไรที่กำลังปรากฏอยู่โดยธรรมชาติ รับรู้ รับทราบหมด รู้ชัดว่ากายกำลังเดิน แต่เราไม่ทิ้งลมหายใจ ให้มีความพยายามที่จะกำหนดรู้ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก รู้นิดหน่อยว่า ลมเข้า ลมออก เท่านั้น เบาขนาดไหนก็ช่างมัน แต่ให้มันรู้ติดต่อกัน เดินไป เดินมา เริ่มจะเมื่อยคอ เมื่อยหลัง หายใจเข้าลึกๆ 2 – 3 ครั้ง ยืดตัวหน่อยๆ เป็นระยะๆ เพื่อช่วยผ่อนคลายความรู้สึก ทำให้เบาตัว สบายตัว เดินไปเรื่อยๆ ถ้าจิตไม่สงบ หยุดเดินก่อนก็ได้ หายใจเข้าลึกๆ 2 – 3 ครั้ง หรือนานพอสมควร จนกว่าจิตจะสงบเรียบร้อย ตั้งหลัก ตั้งสติ แล้วค่อยๆ เดินต่อไป เดินกำหนดอานาปานสติ เหมือนการยืนกำหนดอานาปานสติ ต่างกันเพียงการเคลื่อนไหวของกายเท่านั้น ไม่ว่าจะวิ่ง เดินเร็ว เดินธรรมดา เดินช้า หยุดอยู่คือ ยืน เรามีหน้าที่ ระลึกรู้ทุกครั้งที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกติดต่อกันเท่านั้น หาจุดสบายๆ หายใจเข้าสบายๆ หายใจออกสบายๆ เป็นการเจริญสติที่จะระลึกรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เป็นการรักษาจิตใจให้เป็นปกติ เป็นการรักษาความรู้สึกให้เป็นปกติ คือ เบาสบาย หายใจสบายๆ กายสบาย ใจสบาย สบายๆ อานิสงส์ของการเดินจงกรม มี 5 อย่างคือ 1. เป็นผู้ทนต่อความเพียร 2. เป็นผู้ทนต่อการเดินไกล 3. เป็นผู้มีการเจ็บไข้น้อย 4. อาหารที่บริโภคเข้าไปย่อมย่อยง่าย 5. สมาธิซึ่งได้ขณะเดินจงกรม ดำรงอยู่ได้นาน อิริยาบถนั่ง : นั่งกำหนดอานาปานสติ ใครเคยฝึกนั่งสมาธิในท่าไหน หรือถนัดนั่ง ก็ให้นั่งอย่างนั้น นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบกับพื้น หรือนั่งบนเก้าอี้ก็ได้ ข้อสำคัญ อยู่ที่หลังตั้งตรง และไม่ควรพิงหลังกับสิ่งใด เพราะจะทำให้เกิด ความสบายมากไป ทำให้ง่วงนอนได้ง่าย โบราณาจารย์สอนไว้ว่า ลักษณะการนั่งที่เรียบร้อยนั้น ให้เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง พอเหมาะ พอดี พองาม ไม่ให้เอียงขวา เอียงซ้าย ไม่ก้มหน้าเกินไป และไม่เงยหน้าเกินไป ให้เอาท่านั่งของพระพุทธรูปเป็นตัวอย่าง พยายามนั่งให้เรียบร้อยอย่างนั้น เมื่อใครได้เห็น ย่อมรู้สึกศรัทธา เกิดความชื่นอกชื่นใจด้วย สำหรับท่านั่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ คือ ท่าขัดสมาธิเพชร หรือ ขัดสมาธิ 2 ชั้น โบราณเรียกว่า ท่านั่งดอกบัว พระเซนในญี่ปุ่น หรือนักกรรมฐานในอินเดีย นิยมใช้ท่าดอกบัวนี้มาก การนั่งแบบดอกบัวนั้น ให้เหยียดขาทั้งสองออกไปก่อน ยกเท้าขวาเข้ามาวางบนต้นขาซ้ายแนบกับท้อง แล้วยกขาซ้ายขัดเข้ามาวางบนต้นขาขวาให้แนบกับท้องเหมือนกัน ลักษณะมั่นคงเป็นสองชั้น คล้ายดอกบัว ถ้าฝึกนั่งมากๆ จนเคยชิน และสามารถนั่งได้นานๆ แล้ว ท่านี้จะเป็นท่าที่ดีที่สุด แต่ไม่ว่าจะเป็นท่าไหนก็ตาม ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า นั่งสบาย ตั้งกายได้ตรง มั่นคง และนั่งได้นาน โดยไม่ต้องใช้ความพยายามในการทรงตัวมากนัก ทั้งนี้เพื่อไม่ให้มีความรู้สึกกังวลทางกาย เพราะการปฏิบัติงานทางจิตในสมถะและวิปัสสนากรรมฐานเป็นงานที่ละเอียดสุขุม บางครั้งอาจจะเข้าลักษณะมีกาย แต่รู้สึกเหมือนไม่มี ให้พยายามฝึกปฏิบัติกันมากๆ ไม่ให้มีความกังวลต่อการนั่ง นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายตรง ดำรงสติให้มั่น หายใจเข้าลึกๆ ปล่อยลมหายใจออก หายใจเข้าลึกๆ สุดๆ ยืดตัว แล้วก็ปล่อย ทำอยู่อย่างนี้ 2 – 3, 3 – 4 ครั้ง แล้วค่อยๆ ปล่อย หายใจสบายๆ ธรรมดาๆ รู้กายนั่ง รู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ทำใจให้เรียบร้อย รู้ความรู้สึกเป็นปกติ นั่งสบายๆ หายใจสบายๆ นั่นแหละดี และถูกต้อง หายใจสบาย หายใจเข้า ให้เบาสบาย หายใจออก ให้เบาสบาย ไม่ต้องตั้งใจกำหนดลงไปที่ไหน ให้กำหนดเบาๆ สบายๆ ก่อน นั่งสบาย นั่งเฉยๆ ลมหายใจปรากฏอยู่ กำหนดเบาๆ ระลึกรู้อยู่เฉยๆ หายใจเข้า สบาย หายใจออก สบาย ถ้าคิดออกไปเรื่องอื่น พอรู้ตัว ให้รีบกลับมาที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ถ้าคิดอะไรมากไปหน่อย ให้หายใจเข้าลึกๆ หายใจออก สบาย หายใจเข้าลึกๆ หน่อย หายใจออก ปล่อย สบายๆ 3 – 4 ครั้ง แล้วปล่อยตามปกติ กำหนดรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ถ้าง่วงนอนให้ลืมตา ให้มีสติในการนั่ง ทรงตัวในการนั่งเรียบร้อย ให้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในการนั่ง ให้มีเจตนาในการหายใจเข้าลึกๆ หน่อย หายใจออก ปล่อยตามธรรมชาติ หายใจเข้าลึกๆ หายใจออก หายใจเข้าลึกๆ ช่วยทำให้เพิ่มกำลัง นั่งได้ตรง ตื่นตัว ตื่นใจ ขับไล่ความง่วงนอน ความขี้เกียจออกไปได้ ถ้ามีพลังมากไป กายร้อน ใจร้อน ตื่นเต้น หายใจออก ยาวๆ หน่อย หายใจเข้า ปล่อยตามปกติ ให้มีเจตนาในการหายใจออกยาวๆ หน่อย หายใจเข้า ปล่อยตามสบาย หายใจออก ยาวๆ สบายๆ หายใจเข้า สบายๆ กำหนดรู้ลมหายใจออกสบาย ลมหายใจเข้าสบาย รักษาจิตให้เป็นปกติ รักษาความรู้สึกเป็นปกติ หลับตาหรือลืมตา โดยมากเราทั้งหลายมักเข้าใจกันว่า การนั่งสมาธิ คือการนั่งหลับตา แต่ถ้าเราสังเกตดูพระพุทธรูป มีองค์ไหนบ้างที่หลับตา ส่วนใหญ่แล้ว พระพุทธรูปจะอยู่ในท่านั่งแล้วลืมตาเล็กน้อยใช่ไหม สำหรับพระในนิกายเซนที่ประเทศญี่ปุ่น เวลานั่งสมาธิท่านก็ห้ามหลับตา เวลานั่งสมาธิหลับตา อาจจะรู้สึกสงบและสบายก็จริง แต่นิวรณ์มักจะเข้ามาครอบงำจิตได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความง่วงเหงาหาวนอน หรือ ถีนมิทธะนิวรณ์ ถ้าลืมตาให้มีแสงสว่างเข้าตาอยู่ตลอด จะสังเกตและจับความ ง่วงนอนได้ง่าย และจัดการขับไล่ได้สะดวก แต่หากมั่นใจว่าไม่ง่วงเหงาหาวนอนแน่ๆ จะหลับตาก็ได้เหมือนกัน ที่สุดของการทำสมาธิ คือ ไม่ว่าจะหลับตาหรือลืมตา เมื่อเห็นอะไร ได้ยินอะไร รู้สึกอย่างไรก็ตาม ให้ทำจิตตั้งมั่น เป็นสมาธินั่นแหละ อิริยาบถนอน : นอนกำหนดอานาปานสติ เราสามารถฝึกอานาปานสติในอิริยาบถนอนได้อย่างง่ายๆ สบายๆ โดยการนอนหงาย สบายๆ ธรรมดาๆ อิริยาบถคล้ายการยืน วางแขนลงข้างลำตัว ฝ่ามือหงายขึ้นห่างจากกายพอสมควร ประมาณ 1 – 2 คืบ นอนเหยียดสบายๆ เหมือนคนตายที่ไม่รับรู้อะไร หากเราคุ้นเคยกับการนอนตะแคงก็สามารถทำได้เช่นกัน จากนั้นให้สำรวจร่างกายทั้งหมด โดยเริ่มจากปลายเท้าขึ้นมา ผ่อนคลายกล้ามเนื้อของร่างกายทุกส่วน ไม่ให้มีกล้ามเนื้อส่วนใด เกร็งอยู่เลย จนกระทั่งมีความรู้สึกตัวเบาเหมือนสำลี เวลาหายใจเข้า หายใจออก ให้กำหนดความรู้สึกเหมือนกับว่า หายใจเข้า หายใจออก ทางเท้า เมื่อหายใจออกให้กวาดเอาความรู้สึกที่ไม่ดี ความเครียด ความกังวล ความรู้สึกเจ็บป่วย ไม่สบาย ทั้งทางกายและทางใจ ออกไปจากร่างกายให้หมด โดยหายใจให้ไกลออกไปจากเท้าหลายเมตรก็ได้ เมื่อหายใจเข้า ตั้งสติไว้ที่เท้า ให้ความรู้สึกสะอาดบริสุทธิ์ผ่านเข้ามาทางร่างกาย จนถึงใบหน้าและจมูก สุขภาพของใจจะดีขึ้นและทำให้อายุยืนไปด้วยพร้อมๆ กัน หายใจทางเท้าจะทำให้อายุยืน กายหายใจจากทางเท้า ถ้าทำได้ชำนาญจนเป็นปกติ สบายๆ แล้วลมหายใจจะค่อนข้างยาวขึ้น 2 – 3 เท่า ปกติคนทั่วไปหายใจ 17 ครั้งต่อ 1 นาที ผู้ที่หายใจทางเท้าได้เป็นปกติจะหายใจได้ถึง 5 – 6 ครั้งต่อ 1 นาที การหายใจยาวนี้ ช่วยทำให้จิตสงบ ร่างกายก็สงบสบาย ปล่อยวางร่างกายได้ ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ จะสามัคคีกัน โรคเกิดจากอุปาทาน ทางการแพทย์ได้วิจัยว่า โรคต่างๆ ที่เราประสบอยู่ในโลกนี้ ประมาณ 1 ใน 3 เกิดจาก ความเครียด ความโกรธ อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น ในโรคภัยต่างๆ ในความคิดที่เป็นฝ่ายทุกข์ก็ดี มีผลกระทบกระเทือนต่อร่างกายมาก จิตอุปาทาน นั้นจะกีดกั้นระบบการทำงานของร่างกาย ทำให้เกิดโรคต่างๆ ถ้ามีโรคอยู่แล้วก็ทำให้แย่ลงอีก ถ้าไม่มีโรคก็ทำให้เกิดโรคได้ ** พระองค์หนึ่งเข้าห้องกรรมฐาน ปิดวาจาอย่างพวกเราอย่างนี้ นานหลายเดือน ไม่ต้องไปบิณฑบาต พระเณรจัดอาหารเอามาถวายที่กุฏิ ไม่มีน้ำร้อน น้ำปานะ รอบๆ กุฏิเอาจีวรเก่าๆ ทำเป็นม่านปิดไว้ไม่ให้คนอื่นดูท่าน ท่านก็ไม่ต้องมองข้างนอก มองดูแต่ กาย เวทนา จิต ธรรมของตน ปฏิบัติกำหนดช้าๆ พระองค์นี้ท่านเป็นโรคกระเพาะ เจ็บท้องเป็นเดือนๆ วันหนึ่งๆ มีแต่กังวลเจ็บท้อง ภาวนาก็ไม่ขึ้น เมื่อออกพรรษา ก็ออกจากกุฏิ เดือนหนึ่งผ่านไป นึกขึ้นมาได้ว่า โรคกระเพาะหายไป ทั้งที่ยังไม่ได้รักษา ลืมไปไม่ได้นึกถึง ทั้งที่เคยเจ็บท้องเกือบทั้งวัน เป็นหลายเดือนทีเดียว ทั้งนี้เพราะเมื่ออยู่ในห้องเฉยๆ จิตมีแต่อุปาทานเรื่องโรคกระเพาะ คิดแต่ว่าตัวเองเป็นโรคกระเพาะอยู่อย่างนั้น ** โยมคนหนึ่งบอกว่า เมื่อถึงช่วงใกล้สอบลูกสาวจะถ่ายเป็นเลือด ความเครียดมันลงกระเพาะ จนกระเพาะทะลุ ** คนเรานี้มันแปลก อยู่ดีๆ ก็อยากจะไม่สบาย เพราะไม่อยากไปโรงเรียนก็มี ไม่อยากไปทำงานก็มี มีความรู้สึกผิดปกติอะไรนิดหน่อยก็ยึดมั่นถือมั่น จนไม่สบายไปจริงๆ ก็มี ** บางคนก็ทำร้ายร่างกายของตัวเอง เพื่อเรียกร้องความสนใจ ความเห็นใจ ความรัก จากคนอื่น ก็มี การหายใจทางเท้า หายใจเข้า – ออก ยาวๆ อย่างถูกวิธี ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนในปริมาณที่มากพอ ถ่ายเทอากาศเสียออกจากร่างกายได้เต็มที่ ทำให้เรามีสุขภาพดี มีอายุยืน นิวรณ์ 5 : คบคนพาล พาลพาใจไม่สงบ ตลอดเวลาที่เราฝึกอานาปานสติ ให้เราพยายามตั้งตัว ตั้งสติ โอปนยิโก น้อมเข้ามาสู่ตัว เพื่อให้อยู่กับกายอยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เราพยายามสร้างความพอใจที่จะอยู่กับกาย อยู่กับลมหายใจนี้ พยายามสำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และพยายามไม่ให้จิตนี้คิดออกไปภายนอก คือไม่ส่งจิตออกนอก เมื่อใดก็ตามที่เราเกิดความรู้สึกไม่สงบ แสดงว่ามีเพื่อนเก่าแวะเข้ามาเยี่ยมเยียนเราแล้ว เพื่อนกลุ่มนี้มีชื่อว่า นิวรณ์ 5 ซึ่งก็คือความ “ไม่สงบ” คำเดียวนี่แหละ นิวรณ์ 5 มีอะไรบ้าง กามฉันทะ : ความคิดชอบใจ พอใจ รักใคร่ ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส พยาบาท : ความที่จะทะเลาะกัน ความขัดเคืองแค้นใจ ไม่ชอบสิ่งนี้ ไม่ชอบสิ่งนั้น ไม่ชอบคนนี้ ไม่ชอบคนนั้น ความคิดปองร้ายอาฆาตพยาบาท ถีนะมิทธะ : ความหดหู่ เซื่องซึม ง่วงเหงาหาวนอน ความขี้เกียจ ขี้คร้าน อุทธัจจกุกกุจจะ : ความคิดฟุ้งซ่าน ความรำคาญใจ คิดไปสารพัดอย่าง วิจิกิจฉา : ความลังเลสงสัย จะทำอะไรก็ทำไม่ได้ เพราะทำไปได้นิดหน่อยก็ เกิดความสงสัยขึ้นมา นิวรณ์ทั้ง 5 นี้เป็นสิ่งกีดขวางความดีความงามไม่ให้เกิดขึ้นในตัวเรา เมื่อเราจะทำอะไรที่เป็นกุศล ก็จะมีพวกนี้เข้ามาขวาง ไม่ให้เราทำความดี เมื่อเรามีสติ สังเกตดูจิตใจเราอย่างละเอียดแล้วเราจะพบว่านิวรณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะ เปรียบเหมือนเพื่อนคนหนึ่งของเรา และในแต่ละวัน นิวรณ์อาจเกิดขึ้นเป็นพันๆ หมื่นๆ ครั้ง เท่ากับว่า เราได้คบคนพาล คบเพื่อนที่ไม่ดี เป็นพันเป็นหมื่นคน แต่เราก็ไม่รู้สึกอะไร เพราะเป็นเพื่อนเก่า เป็นเพื่อนที่สนิทสนมกับเรามานาน สำหรับปุถุชนคนธรรมดาแล้ว นิวรณ์ทั้งหลายเป็นเพื่อนที่ดี เป็นเพื่อนคลุกคลีพาสนุกสนานเฮฮาสารพัดตลอดเวลา เมื่อเราได้ยินได้ฟังธรรมะแล้ว ได้รู้จักเพื่อนใหม่ เป็นกัลยาณมิตร เป็นเพื่อนที่ดีจริงๆ คือ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ของตัวเราเองนี่แหละ เราก็พยายามเจริญสติ แล้วก็ โยนิโสมนสิการ คือ รู้จักคิดอย่างถูกต้องตามธรรมะ รู้จักวิเคราะห์หาเหตุผล เพื่อให้เกิดปัญญาที่จะตรวจดูว่า เรามีความพอใจที่จะอยู่กับกัลยาณมิตรนี้ไหม เราต้องถามจิตใจของเราดูว่า เราอยากจะเป็นคนดีจริงๆ ไหม เราต้องการความสุขความเจริญจริงๆ ไหม โดยอาศัยสติมาตรวจดู เมื่อมีสติแล้ว ธัมมวิจยะ คือ การพิจารณาธรรมจะเกิดขึ้นและเกิดปัญญาวินิจฉัยได้ว่า นิวรณ์ทั้ง 5 นี้เป็นตัวทุกข์ หากเรายินดีพอใจที่จะคิดไปตามนิวรณ์ จะยิ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดทุกข์กับตัวเรามากขึ้น นิวรณ์ทั้งหมดเป็นเหมือนเพื่อนเก่าๆ ที่เราคบอยู่ประจำ เราเคยพอใจคลุกคลีอยู่กับเพื่อนเหล่านี้ แต่เมื่อเราพิจารณาเห็นแล้วว่า เขาเป็นผู้ที่ไม่นาคบ ถึงเขาจะมาเยี่ยมเรา เราเฉยเสีย ไม่ต้องใส่ใจ ถ้าเปรียบก็คือ เหมือนแขกที่เราไม่ชอบ มาเยี่ยมเรา เราไม่ต้องต้อนรับ และไม่แสดงความรังเกียจ พยายามทำเฉยๆ เหมือนกับมีธุระ ไม่มีเวลาว่างที่จะเอาใจใส่ แล้วในที่สุดเขาจะไปเอง แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าเราจะไม่รู้อะไรเลย เราต้องคอยระวังเหมือนกัน ไม่ว่าเขาจะชวนเราไปไหน ชวนเราทำอะไร เราต้องทำตัวเหมือนคนไม่มีเวลา ทำตัวเฉยๆ อย่าไปด่าว่าเขา ถ้าเราไปด่าเขา ประเดี๋ยวเขาจะด่าคืน แต่ถ้าเราแสดงความยินดีต้อนรับ เขาจะติดใจไม่ยอมไปเสียที ถ้าจิตนี้มีความพอใจที่จะอยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เหมือนอยู่กับกัลยาณมิตร นิวรณ์จะตั้งอยู่ไม่ได้ ที่เรามาปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าเราจะเอาความสุขเดี๋ยวนี้ วันนี้ หรือว่าละกิเลสให้ได้ภายใน 10 วัน 20 วัน การตั้งเป้าหมายอย่างนี้ จะทำให้เราสับสนวุ่นวายใจ เพราะเมื่อมาปฏิบัติแล้ว อาจจะมีแต่ความฟุ้งซ่าน มีแต่ทุกข์ มีแต่ทรมาน ไม่สบายเหมือนอยู่ที่บ้าน ก็เป็นได้ ให้เราทำความเข้าใจว่า เรามาปฏิบัติเพื่อศึกษาตัวเอง ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นทุกข์ ฟุ้งซ่าน ไม่สงบหรืออะไรก็ตาม ไม่ต้องกังวลมาก เพราะเราจะรู้สึกอย่างไรนั้น ไม่สำคัญขอให้เรารู้ความเป็นจริงว่า เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ เราเป็นอย่างไรเท่านั้น ถ้ามีกิเลสต้องดูกิเลส ถ้ามีทุกข์ต้องดูทุกข์ ถ้าเรามีของสกปรกตกค้างอยู่ มันก็ต้องสกปรกเป็นธรรมดา เราต้องดูของสกปรกก่อน จนกระทั่งเห็นอย่างชัดเจนแล้ว ก็จะเกิดปัญญาว่าควรจะทำอะไรต่อไป ดังนั้น ขอให้เรา ดูกาย ดูวาจา ดูจิต ด้วยการปฏิบัติธรรม เจริญสติ สมาธิ จนกระทั่งในที่สุด เกิดความรู้ชนิดหนึ่งขึ้นมาว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามเหตุผล เป็นไปตามเหตุปัจจัย คิดดี พูดดี ทำดี ให้ผลเป็นความสุข ความสงบ คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว ให้ผลเป็นความทุกข์ เดือดร้อน ไม่สงบ สงบ หรือไม่สงบ ช่างมัน ขอให้ใจเรานี้พยายามตั้งอยู่ในความถูกต้อง คือ เอาลมหายใจเป็นกัลยาณมิตร ระลึกรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน เห็นอะไร ได้ยินอะไรก็ตาม รักษาใจให้เป็นปกติ รักษาความรู้สึกให้เป็นปกติ ให้ศีลถึงใจ ใจเป็นศีล ตลอดกาล ตลอดเวลาเถิด เมื่อเกิดสติที่จะกำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออกเมื่อไร ความไม่สงบจะหายไปเอง เจริญอานาปานสติ : การเลือกคบกัลยาณมิตร ทำให้ไม่ติดอารมณ์ โดยปกติ จิตของเรามักจะอยู่กับเรื่องภายนอก ทั้งอดีต อนาคต สิ่งนี้ดี สิ่งนั้นไม่ดี คนนั้นดี คนนี้ไม่ดี ฯลฯ และเรามักจะปล่อยให้จิตของเราคิดไปเรื่อยๆ ไม่หยุดหย่อน ถ้าเราประสบกับความรู้สึกที่ไม่ดีไม่ชอบ เพราะเราได้เห็นหรือ ได้ยินสิ่งที่ไม่ถูกใจ เรามักจะเก็บความรู้สึกอันนั้นไว้นานๆ เป็นชั่วโมง เป็นวัน เป็นเดือน หรือเป็นปีๆ เราจึงไม่ค่อยมีความสุขมากนักในชีวิตประจำวัน หากเราประสบกับสิ่งที่รักที่พอใจ เรามักจะเก็บความรู้สึก และความจำนั้นไว้นานเป็นปีเช่นกัน แต่เมื่อต้องพบว่าสิ่งเหล่านั้นไม่เที่ยง เราต้องประสบกับความพลัดพราก การเสียของรัก เราก็เป็นทุกข์อีก ถ้าเราสามารถมีสติระลึกรู้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าในแต่ละขณะ หมายความว่า เราสามารถอยู่กับปัจจุบันในแต่ละขณะได้ เราจะไม่ติดอารมณ์ เราจะไม่เก็บความรู้สึกเก่าๆ ที่เคยสร้างความขุ่นเคืองเศร้าหมองแก่จิตใจของเราเอาไว้ รวมทั้งไม่เก็บความจำที่เคยทำให้เรามีความสุข จนเราไม่อยากพลัดพรากจากความสุขนั้น เราจะสามารถตัดทิ้งและปล่อยความรู้สึกเหล่านั้น ให้ผ่านไปได้ และในที่สุดเราก็จะมีความสุขได้แน่นอน ทำความรู้จักลมหายใจหรือกัลยาณมิตรที่เราเคยมองข้าม ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งบัดนี้ ลมหายใจของเราไม่เคยขาดหายไปที่ไหนเลยแม้แต่เวลาที่นอนหลับสนิท ถึงแม้เราจะไม่รู้สึกตัว ลมหายใจยังเข้า – ออก อยู่อย่างนี้ตลอดเวลา แต่คนเรา โดยมาก จะไม่เคยให้ความสนใจกับลมหายใจ ไม่เคยเห็นลมหายใจ ไม่เคยสังเกตว่า ลมหายใจของเรามีอิทธิพลต่อร่างกายและต่อความรู้สึกนึกคิดของเราอย่างไร พระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่า การระลึกรู้ลมหายใจเข้า – ออกนี้มีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ พระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้ ครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ ได้บำเพ็ญอานาปานสติมาหลายภพหลายชาติ ในพระชาติสุดท้าย เมื่อครั้งที่พระองค์ยังทรงเป็นพระกุมารประทับใต้ร่มหว้า ในคราวที่พระพุทธบิดาทรงประกอบพิธีแรกนาขวัญ ทรงกำหนดลมหายใจออก ลมหายใจเข้า และได้บรรลุปฐมฌานในครั้งนั้น ในวันที่ทรงตรัสรู้เป็นพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงประทับใต้ร่มศรีมหาโพธิ์ ก็ทรงอาศัยอานาปานสติเป็นพื้นฐานหลังจากตรัสรู้ ก็ทรงใช้อานาปานสติเป็นวิหารธรรม ได้ทรงสอนลูกศิษย์ว่า ถ้ามีใครถามว่า พระสมณโคดมอยู่อย่างไรในพรรษา ให้ตอบว่า ท่านอยู่ด้วยอานาปานสติเป็นส่วนใหญ่ การฝึกสติหรือการเจริญสติโดยกำหนดรู้ ลมหายใจเข้า มหายใจออกตลอดเวลา เป็นการเริ่มต้นให้เราได้สังเกตและให้ความเอาใจใส่กับลมหายใจ และจะช่วยให้เราสังเกตเห็นลมหายใจของเรามากขึ้นๆ ลมหายใจของเรานั้นเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นระบบร่างกาย อารมณ์ ความรู้สึกหรือสิ่งแวดล้อม ฯลฯ เมื่อเราไม่สบาย ลมหายใจก็ติดขัด เมื่อเกิดอารมณ์หงุดหงิดขัดเคือง ลมหายใจก็พลอยขัดข้องไปด้วย เมื่ออารมณ์ดี ลมหายใจก็โปร่งโล่ง เมื่ออากาศร้อน ลมหายใจก็ถี่เร็วขึ้น ลมหายใจเป็นสะพานเชื่อมระหว่างร่างกายกับจิตใจ ลมหายใจได้รับอิทธิพลจากร่างกายและจิตใจ และลมหายใจ ก็มีอิทธิพลต่อร่างกายและจิตใจของเราด้วย เมื่อเรารู้จักและเข้าใจเหตุปัจจัย และความเป็นไปตามเหตุและผลของลมหายใจอย่างดีแล้ว เราจะได้เรียนรู้วิธีการปรับปรุงร่างกายและจิตใจ โดยอาศัยลมหายใจออกและลมหายใจเข้าต่อไป ลมหายใจยาว – สั้น โดยปกติ มนุษย์เราจะหายใจประมาณ 17 ครั้งต่อนาที อาจจะน้อยกว่าหรือมากกว่านี้เล็กน้อยแล้วแต่บุคคล ลมหายใจสั้น เมื่อร่างกายเหนื่อย อ่อนเพลีย เมื่อเจ็บไข้ไม่สบาย เมื่อมีอารมณ์ตื่นเต้น เพราะความดีใจ เสียใจ ความกลัว โกรธ ฯลฯ ลมหายใจยาว เมื่อมีสุขภาพแข็งแรงดี เมื่อหมดความกังวล โล่งอกโล่งใจ เมื่อรู้สึกสบายอกสบายใจ สบายอารมณ์ การปรับปรุงลมหายใจให้ยาวๆ จะช่วยทำให้กายสงบ อารมณ์สงบ ลงได้เป็นอย่างดี เราสามารถควบคุมอารมณ์โกรธด้วย ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก การหายใจออกกับการหายใจเข้า ใช้ระบบประสาทที่แตกต่างกัน สามารถแยกแยะได้ตามความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับจิตใจของเราเอง การหายใจออก มีลักษณะผ่อนคลาย (Relaxed) ให้ความรู้สึกที่สบาย โล่งอกโล่งใจ หมดความกังวล ส่วนการหายใจเข้านั้น มีลักษณะของความตั้งใจ หรือความเคร่งเครียด เช่น เมื่อตั้งใจจะทำอะไรอย่างเต็มที่ หรือเมื่อโกรธอยากจะชกหน้าเขา ฯลฯ เมื่ออารมณ์หรือความรู้สึกเปลี่ยนแปลง ลมหายใจจะเปลี่ยนแปลงไปด้วย แต่เราอาจจะไม่ทันรู้ตัว เช่น เมื่อกระทบอารมณ์ที่ทำให้โกรธโมโหอย่างรุนแรง ลมหายใจจะสั้น ถี่และหนัก จนกระทั่งหัวใจสูบฉีดเลือดขึ้นสมอง หน้าจะแดง ปกติ เมื่อเราเกิดอารมณ์โกรธ ถ้าเราสังเกตดูจะพบว่า - ลมหายใจเกิดการเปลี่ยนแปลงก่อน - จึงเกิดความคิดโกรธ - แล้วเป็นความรู้สึกโกรธ สำหรับผู้ที่ยังใหม่ต่อการปฏิบัติธรรม คงจะเป็นเรื่องยากที่จะห้ามความรู้สึกโกรธหรือห้ามความคิดเอาไว้ได้ทันท่วงที แต่การปรับเปลี่ยนลมหายใจนั้น ใครๆ ก็ทำได้ เพราะไม่ยากจนเกินไป ขอเพียงแต่มีความเข้าใจอย่างถูกต้องเท่านั้น เราสามารถควบคุมหรือเปลี่ยนอารมณ์โกรธด้วยการปรับเปลี่ยนลมหายใจ ดังนี้ ตั้งสติ หายใจออกยาวๆ สบายๆหายใจเข้า ปล่อยตามธรรมชาติ หายใจออกยาวๆ สบายๆ เพื่อคลายความรู้สึกที่ไม่ดีออกไปพร้อมกับลมหายใจออก หายใจเข้า ปล่อยตามปกติ ให้ลมหายใจเข้า ช้าๆ ลึกๆ พอสมควร หายใจออก ตั้งอก ตั้งใจ เอาใจใส่ ให้เป็นลมหายใจยาวๆ สบายๆ เมื่อทำซ้ำๆ อยู่เช่นนี้ จะรู้สึกสบายกาย สบายใจ เกิดความสงบเย็นใจ แล้วก็เกิดความละอายต่ออารมณ์โกรธ หรืออารมณ์โมโห จนกระทั่งความโกรธไม่กล้าโผล่หน้ามาให้เห็นอีก ความโกรธเกิดขึ้นได้ในกรณีต่างๆ ดังนี้ เขาพูดจริงโดยหวังดีต่อเรา แต่ไม่ถูกใจเรา..... เราโกรธ เขาพูดธรรมดา แต่ไม่ถูกใจเรา..... เราโกรธ เขาไม่พูด ไม่ถูกใจเรา..... เราโกรธ เราคิดว่าเขานินทาเรา (ที่จริงเขาไม่ได้นินทาเรา)..... เราโกรธ เขาว่าเรานินทาเขา (แต่เราไม่ได้นินทาเขา)..... เราโกรธ เราเข้าใจผิดว่าเขาทำผิด (ทั้งๆ ที่เขาทำดี)..... เราโกรธ เขาเข้าใจผิดว่าเราทำผิด (ทั้งๆ ที่เราทำดี)..... เราโกรธ เขาหน้าบึ้ง ใจไม่ดี เรารู้สึกว่าเขาไม่พอใจเรา..... เราโกรธ พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบความโกรธว่า เหมือนไฟไหม้ป่า ไม่ว่าอะไรขวางหน้าเผาทั้งหมด เผาหมดเลย เผาแม้แต่คนที่รักที่สุดหรือแม้แต่หัวใจของตัวเอง เผาหมด ไม่มีอะไรเหลือ เหมือนตกนรกทั้งเป็น มีแต่โทษร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีคุณเลย แม้แต่นิดเดียว สำหรับผู้มีปัญญาสมบูรณ์ดีแล้ว รักความสงบ รักความสุข ใครจะให้โกรธก็โกรธไม่ได้อีกแล้ว (อนาคามีบุคคล) ลมหายใจเปรียบได้กับอาหารมีทั้งปริมาณและคุณภาพ การเจริญอานาปานสติเปรียบได้กับอาหารที่เราบริโภคอยู่ทุกวัน มีทั้งปริมาณและคุณภาพ ถ้าใครมีฐานะยากจนจริงๆ จะแสวงหาอาหารในด้านปริมาณเป็นหลักก่อน ขอให้มีข้าวกินทุกวัน เพื่อให้อิ่มท้อง ถ้าหิวจริงๆ ข้าวกับเกลือหรือน้ำปลา ไข่ทอดหรือปลาเค็มก็อร่อยได้เหมือนกัน แต่เมื่อมองดูในระยะยาว อาจจะเกิดปัญหาต่อร่างกาย เพราะอาหารที่ไม่สมบูรณ์ ไม่มีคุณภาพ ขาดสารอาหาร ทำให้การเจริญเติบโตของร่างกายไม่สมบูรณ์ เจ็บไข้ป่วยได้ง่าย เกิดโรคต่างๆ นานา สติปัญญาไม่ดี และอายุจะสั้น ไม่อาจสำเร็จประโยชน์ในชีวิตได้ ทำให้เกิดความทุกข์กาย ทุกข์ใจด้วย ดังนั้น นอกจากปริมาณแล้ว การบริโภคอาหารจึงต้องคำนึงถึงคุณภาพด้วย ปริมาณในอานาปานสติ หมายถึง การมีสติเพียงพอที่จะรักษาใจให้เป็นปกติ โดยอาศัยการกำหนดรู้ที่ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ตลอดกาล ตลอดเวลา ทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน หรือเราเอาลมหายใจเป็นกัลยาณมิตร เมื่อเกิดอารมณ์ไม่ดี ก็นึกถึงลมหายใจ เพื่อระงับอารมณ์ที่ไม่ดีนั้น สามารถทำใจให้สงบธรรมดาๆ ได้ตลอด ไม่ติดอารมณ์พอใจและไม่พอใจ มีใจสงบเป็นปกติ เรียกว่าใจเป็นศีล คุณภาพในอานาปานสติ เมื่อได้สติในปริมาณที่เพียงพอ ศีลสมบูรณ์แล้ว ต่อไปก็พัฒนาคุณภาพให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ตามหลักอานาปานสติ 16 ขั้น อานาปานสติ 16 ขั้น นั้น เมื่อทำให้มาก เจริญให้มาก ย่อมมีผลให้สมถะและวิปัสสนาสมบูรณ์ ทำให้สติปัฏฐาน 4 สมบูรณ์ ทำให้โพชฌงค์ 7 สมบูรณ์ จนกระทั่งถึง วิมุตติ คือ พระนิพพานในที่สุด |
เจ้าของ: | mes [ 31 ก.ค. 2010, 12:15 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: ชีวิตทั้งหมดให้อยู่ด้วยอานาปานสติโดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวส |
วิถีแห่งความสุข ๒ อานาปานสติ ขั้นที่ ๑-๘ โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก กลับหน้าหลัก กลับหน้า อานาปานสติ วิถีแห่งความสุข อานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข ๒ อานาปานสติสูตร อานาปานะสะติ ภิกขะเว ภาวิตา พะหุลีกะตา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติอันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว มะหัปผะลา โหติ มะหานิสังสา ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ อานาปานะสะติ ภิกขะเว ภาวิตา พะหุลีกะตา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติอันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว จัตตาโร สะติปัฏฐาเน ปะริปูเรนติ ย่อมทำให้สติปัฏฐานทั้งสี่ให้บริบูรณ์ จัตตาโร สะติปัฏฐานา ภาวิตา พะหุลีกะตา สติปัฏฐานทั้งสี่อันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว โพชฌังเค ปะริปูเรนติ ย่อมทำโพชฌงค์ทั้งเจ็ดให้บริบูรณ์ สัตตะ โพชฌังคา ภาวิตา พะหุลีกะตา โพชฌงค์ทั้งเจ็ดอันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว วิชชา วิมุตติง ปะริปูเรนติ ย่อมทำวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์ กะถัง ภาวิตา จะ ภิกขะเว อานาปานสะติ, กะถัง พะหุลีกะตา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อานาปานสติอันบุคคลเจริญทำให้มากแล้วอย่างไรเล่า มะหัปผะลา โหติ มะหานิสังสา จึงมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ อิธะ ภิกขะเว ภิกขุ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อะรัญญะคะโต วา ไปแล้วสู่ป่าก็ตาม รุกขะมูละคะโต วา ไปแล้วสู่โคนไม้ก็ตาม สุญญาคาระคะโต วา ไปแล้วสู่เรือนว่างก็ตาม นิสีทะติ ปัลลังกัง อาภุชิตวา นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบแล้ว อุชุง กายัง ปะณิธายะ, ปะริมุขัง สะติง อุปัฏฐะเปตวา ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่น โส สะโต วะ อัสสะสะติ, สะโต ปัสสะสะติ ภิกษุนั้น เป็นผู้มีสติอยู่นั้นเทียว หายใจออก มีสติอยู่หายใจเข้า (1) ทีฆัง วา อัสสะสันโต, ทีฆัง อัสสะสามีติ ปะชานาติ ภิกษุนั้น เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้สึกตัวทั่วถึงว่า เราหายใจออกยาว ดังนี้ ทีฆัง วา ปัสสะสันโต, ทีฆัง ปัสสะสามีติ ปะชานาติ เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้สึกตัวทั่วถึงว่า เราหายใจเข้ายาว ดังนี้ (2) รัสสัง วา อัสสะสันโต, รัสสัง อัสสะสามีติ ปะชานาติ ภิกษุนั้น เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้สึกตัวทั่วถึงว่า เราหายใจออกสั้น ดังนี้ รัสสัง วา ปัสสะสันโต, รัสสัง ปัสสะสามีติ ปะชานาติ เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้สึกตัวทั่วถึงว่า เราหายใจเข้าสั้น ดังนี้ (3) สัพพะกายะปะฏิสังเวที อัสสะสิสสามีติ สิกขะติ ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง จักหายใจออก ดังนี้ สัพพะกายะปฏิสังเวที ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติฯ ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง จักหายใจเข้า ดังนี้ (4) ปัสสัมภะยัง กายะสังขารัง อัสสะสิสสามีติ สิกขะติ ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับอยู่ จักหายใจออก ดังนี้ ปัสสัมภะยัง กายะสังขารัง ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติฯ ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับอยู่ จักหายใจเข้า ดังนี้ (จบหมวดกาย) (5) ปีติปะฏิสังเวที อัสสะสิสสามีติ สิกขะติ ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ จักหายใจออก ดังนี้ ปีติปะฏิสังเวที ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติฯ ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ จักหายใจเข้า ดังนี้ (6) สุขะปะฏิสังเวที อัสสะสิสสามีติ สิกขะติ ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข จักหายใจออก ดังนี้ สุขะปะฏิสังเวที ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติฯ ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข จักหายใจเข้า ดังนี้ (7) จิตตะสังขาระปะฏิสังเวที อัสสะสิสสามีติ สิกขะติ ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร จักหายใจออก ดังนี้ จิตตะสังขาระปะฏิสังเวที ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติฯ ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร จักหายใจเข้า ดังนี้ (8) ปัสสัมภะยัง จิตตะสังขารัง อัสสะสิสสามีติ สิกขะติ ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับอยู่ จักหายใจออก ดังนี้ ปัสสัมภะยัง จิตตะสังขารัง ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติฯ ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับอยู่ จักหายใจเข้า ดังนี้ (จบหมวดเวทนา) (9) จิตตะปะฏิสังเวที อัสสะสิสสามีติ สิกขะติ ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต จักหายใจออก ดังนี้ จิตตะปะฏิสังเวที ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติฯ ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต จักหายใจเข้า ดังนี้ (10) อะภิปปะโมทะยัง จิตตัง อัสสะสิสสามีติ สิกขะติฯ ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่งอยู่ จักหายใจออก ดังนี้ อะภิปปะโมทะยัง จิตตัง ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติฯ ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่งอยู่ จักหายใจเข้า ดังนี้ (11) สะมาทะหัง จิตตัง อัสสะสิสสามีติ สิกขะติ ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ จักหายใจออก ดังนี้ สะมาทะหัง จิตตัง ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติฯ ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ จักหายใจเข้า ดังนี้ (12) วิโมจะยัง จิตตัง อัสสะสิสสามีติ สิกขะติ ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ จักหายใจออก ดังนี้ วิโมจะยัง จิตตัง ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติฯ ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ จักหายใจเข้า ดังนี้ (จบหมวดจิต) (13) อะนิจจานุปัสสี อัสสะสิสสามีติ สิกขะติ ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็น ซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ จักหายใจออก ดังนี้ อะนิจจานุปัสสี ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติฯ ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็น ซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ จักหายใจเข้า ดังนี้ (14) วิราคานุปัสสี อัสสะสิสสามีติ สิกขะติ ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็น ซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ จักหายใจออก ดังนี้ วิราคานุปัสสี ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติฯ ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความจางคลาย อยู่เป็นประจำ จักหายใจเข้า ดังนี้ (15) นิโรธานุปัสสี อัสสะสิสสามีติ สิกขะติ ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็น ซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ จักหายใจออก ดังนี้ นิโรธานุปัสสี ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติฯ ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่ง ความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ จักหายใจเข้า ดังนี้ (16) ปะฏินิสสัคคานุปัสสี อัสสะสิสสามีติ สิกขะติ ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็น ซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ จักหายใจออก ดังนี้ ปะฏินิสสัคคานุปัสสี ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติฯ ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็น ซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ จักหายใจเข้า ดังนี้ (จบหมวดธรรม) เอวัง ภาวิตา โข ภิกขะเว อานาปานสติ, เอวัง พะหุลีกะตา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล มะหัปผะลา โหติ มะหานิสังสา ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ อิติฯ ด้วยประการฉะนี้แล อานาปานสติ อันบุคคลเจริญทำให้มากแล้วฯ ย่อมทำสติปัฏฐาน 4 ให้บริบูรณ์ ย่อมทำโพชฌงค์ทั้งเจ็ดให้บริบูรณ์ฯ ย่อมทำวิชชา และวิมุตติให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ 7 โพชฌงค์ 7 คือ ธรรมะที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ ประกอบด้วย 1. สติสัมโพชฌงค์ คือ ความระลึกได้ 2. ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ คือ การพิจารณาธรรม 3. วิริยะสัมโพชฌงค์ คือ ความเพียร 4. ปีติสัมโพชฌงค์ คือ ความอิ่มเอิบใจ 5. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ คือ ความสงบกายสงบใจ 6. สมาธิสัมโพชฌงค์ คือ ความมีใจตั้งมั่น 7. อุเบกขาสัมโพชฌงค์ คือ ความมีใจเป็นกลาง เพราะเห็นตามความเป็นจริง วิชชา 8 วิชชา 8 คือ ความรู้แจ้ง ความรู้วิเศษ ได้แก่ 1. วิปัสสนาญาณ คือ ญาณในวิปัสสนา 2. มโนมยิทธิ คือ ฤทธิ์ทางใจ 3. อิทธิวิชา คือ แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ 4. ทิพยโสต คือ หูทิพย์ 5. เจโตปริยญาณ คือ กำหนดรู้ใจผู้อื่น 6. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือ ระลึกชาติได้ 7. ทิพยจักขุญาณ คือ ตาทิพย์ 8. อาสวักขยญาณ คือ ความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ วิมุตติ 5 วิมุตติ 5 คือ ความหลุดพ้นจากกิเลส หรือความดับกิเลส คือ นิโรธ 5 หรือวิราคะ 5 ได้แก่ 1. วิกขัมภนนิโรธ ดับกิเลสด้วยการข่มไว้ด้วยอำนาจสมาธิและฌาน 2. ตทังคนิโรธ ดับกิเลสชั่วคราวด้วยธรรมที่เป็นคู่ปรับ เช่น เจริญเมตตาเพื่อระงับความโกรธ อารมณ์อสุภะระงับราคะ 3. สมุจเฉทนิโรธ ดับกิเลสโดยเด็ดขาด คือ โลกุตตรมรรค 4. ปฏิปัสสัทธินิโรธ ดับอย่างสงบระงับเพราะกิเลสหมดสิ้นแล้ว คือ โลกุตตรผล 5. นิสสรณนิโรธ ดับเพราะสลัดกิเลสออกได้อย่างเด็ดขาดแล้ว คือ อมตธาตุ (คือ นิพพาน) จึงดำรงอยู่ในภาวะนั้นตลอดไป สติปัฏฐาน 4 ในอานาปานสติ * เพื่อศึกษากายกับใจของตัวเอง พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระสูตรว่า อานาปานสติอันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ย่อมทำสติปัฏฐานทั้งสี่ให้บริบูรณ์ สติปัฏฐาน 4 คือ การตั้งสติพิจารณาสิ่งทั้งหลาย มี กาย เวทนา จิตและธรรม ซึ่งก็คือ ตัวเราเองนี่แหละ ที่เรามาศึกษาปฏิบัติธรรม ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อศึกษากายกับใจของตัวเราเอง เพื่อที่จะเข้าใจ กายกับใจตามความเป็นจริง กาย เป็นวัตถุที่มีน้ำหนัก มีปริมาตร เป็นตัวเราที่เดินไปเดินมา ประกอบไปด้วยอาการ 32 ที่เป็นอวัยวะต่างๆ รวมกันอยู่ ในร่างกายที่กว้างศอก ยาววา หนาคืบนี้ วัตถุที่เป็นของแข็ง เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูก เรียกว่า ธาตุดิน สิ่งที่เป็นน้ำเหลวๆ เช่น เลือด ปัสสาวะ น้ำเหลือง น้ำหนอง เรียกว่า ธาตุน้ำ ลมหายใจ ที่หล่อเลี้ยงร่างกายและลมที่พัดไปพัดมาในกายเรา เรียกว่า ธาตุลม อุณหภูมิร้อน เย็น หรือพลังงานในร่างกาย เรียกว่า ธาตุไฟ สรุปแล้วตัวเรานี้ก็มี กายคือ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ แล้วก็มีความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่เรียกว่า ใจ พูดง่ายๆ ว่า ตัวเราก็มี กาย กับ ใจ หรือ ถ้าพูดตามหลักสติปัฏฐาน 4 ก็คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าเราเข้าใจความจริงว่า กายนี้ประกอบด้วย ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เป็นอนัตตา เป็นเพียงวัตถุก้อนหนึ่งเท่านั้น ความทุกข์ของเรา ก็จะค่อยๆ ดับไป กิเลสของเราก็จะค่อยๆ หมดไป การพิจารณากายในอานาปานสตินั้น เราเอาธาตุลมมาพิจารณาเป็น กาย คือ เอาลมหายใจออก ลมหายใจเข้า มาเป็นหัวข้อในการพิจารณา เมื่อเราเข้าใจลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ตามความเป็นจริงแล้ว เราก็เข้าใจ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ประกอบเป็นกายนี้ทั้งหมดด้วย หลวงพ่อชา ให้อุบายเปรียบเทียบว่า ถ้าเอาน้ำร้อนใส่แก้วทิ้งไว้ ไม่นานมันก็เย็น ก็เลยมีคนคิดทำกระติก น้ำร้อนขึ้นมา เก็บน้ำร้อนไว้ได้นานๆ น้ำไม่เย็น สำหรับคนที่ไม่เคย เห็นก็คงจะเป็นสิ่งที่แปลก แต่ถ้าเราเข้าใจกระติกน้ำร้อนใบเดียว เราก็เข้าใจกระติกน้ำร้อนทั้งหมด ไม่ว่ากี่ร้อยใบก็ไม่แปลกอะไร กายของเรานี้ก็เหมือนกัน เมื่อพูดถึงอาการ 32 เราไม่ต้องพิจารณา ทั้งหมดก็ได้ เอา เส้นผมเส้นเดียว มากำหนดพิจารณาให้เห็นชัด ว่า นี่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เป็นอนัตตา ถ้าเราเข้าใจความจริงของเส้นผมเส้นเดียว เราก็เข้าใจร่างกายทั้งหมด ดังนั้น เมื่อเราพูดถึงการเจริญสติปัฏฐาน 4 ด้วยอานาปานสติแล้ว ย่อมหมายความว่า เราศึกษากายลม เพื่อที่จะรู้จักและเข้าใจกายทั้งปวงนั่นเอง กายกับใจ เปรียบเทียบเหมือนรถกับคนขับรถ รถ ประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ เหมือนกัน ส่วนประกอบของรถมีทั้งส่วนที่มีลักษณะเป็นของแข็ง คือ ธาตุดิน ลักษณะที่เป็นของเหลว คือ ธาตุน้ำ ลักษณะเคลื่อนไปเคลื่อนมา คือธาตุลม และลักษณะให้อุณหภูมิร้อนเย็น คือ ธาตุไฟ เมื่อธาตุทั้งหมดนี้รวมกันเข้าสมมุติเป็นรถ เป็นเครื่องยนต์ เมื่อมีคนเข้าไปนั่งขับ รถก็วิ่งไปมาบนถนน เหมือนสัตว์ ที่วิ่งไปวิ่งมา และเมื่อมีการพัฒนาให้มีปีกก็บินได้ เหมือนนก เรียกว่า เครื่องบิน ลงน้ำได้ เหมือนเป็ด เรียกว่าเรือ และถ้าลงไปอยู่ใต้น้ำ เหมือนปลา ก็เรียกว่า เรือดำน้ำ โดยธรรมชาติแล้ว รถทั้งหลาย ก็เป็นเพียงวัตถุก้อนหนึ่ง แต่เมื่อมีคนขับ ก็เคลื่อนที่ไปมาได้ ทำให้เหมือนมีชีวิต รถที่ปราศจากคนขับ หรือรถที่จอดเสียอยู่ ก็ไม่ต่างจาก คนที่ปราศจากวิญญาณ คือคนตาย ร่างกายเรานี้ก็ไม่ต่างกัน กายเปรียบเหมือนกับรถ ส่วนใจเปรียบเหมือนกับคนขับ เมื่อมีใจครอบงำกายอยู่ ก็เรียกว่า มนุษย์ กายที่ไม่มีใจ ใจออกจากร่างกายไปแล้ว เรียกว่า คนตายหรือศพ ซึ่งเหมือนกับรถที่ไม่มีคนขับ หรือแม้แต่จะยังมีชีวิตอยู่ ถ้าใจเข้าสู่สมาธิหรือนอนหลับสนิท ร่างกายของเราก็เหมือนรถที่จอดอยู่ ไม่มีคนขับ ฉะนั้นจะเห็นว่า ความจริงแล้ว ร่างกายเราก็เหมือนรถคัน หนึ่งหรือเป็นเพียงวัตถุก้อนหนึ่งที่แยกต่างหากจากจิต รถไม่ใช่เรา เราไม่ใช่รถ รถไม่ใช่อยู่ในเรา เราไม่ใช่อยู่ในรถ รถไม่ใช่สัตว์ บุคคล เรา เขา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เป็นอนัตตา การพิจารณากาย ว่าเป็น ธาตุดินก็ดี น้ำก็ดี พิจารณาธาตุลมก็ดี จนรู้เห็นตามความเป็นจริงว่า กาย สักแต่ว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เรา เขา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เป็นอนัตตา คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการศึกษา “กาย” การพิจารณา เวทนา จิต ธรรม คือการศึกษา “ใจ” ก็เช่นเดียวกัน พิจารณาตามความเป็นจริงแล้วก็เห็นว่า ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ว่างจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา เป็นอนัตตา ....................................................................... * สติปัฏฐาน 4 ในมหาสติปัฏฐานสูตร อานาปานสติ อานาปานสติขั้นที่ 1 และ 2 เป็นการเจริญสติระดับศีล เป็น ศีลสิกขา ขั้นที่ 3 และ 4 เป็นการเจริญสติในระดับสมาธิ เป็น สมาธิสิกขา ตั้งแต่ขั้นที่ 1 ถึงขั้นที่ 4 เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถือว่าเป็น สมถกรรมฐาน และเมื่อขั้นที่ 4 สมบูรณ์แล้ว ถือว่า สมถกรรมฐานสมบูรณ์ ขั้นที่ 5-8 เป็น เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ขั้นที่ 9-12 เป็น จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ขั้นที่ 5-8 และขั้นที่ 9-12 เป็น สมถะและวิปัสสนากรรมฐาน เจือปนกันอยู่ ขั้นที่ 13-16 เป็น ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นวิปัสสนากรรมฐานล้วนๆ ใน อานาปานสติสูตร “อานาปานสติ” เป็นตัวหลักในการเจริญสติ ในสติปัฏฐานทั้ง 4 ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า อานาปานสติ อันบุคคลเจริญทำให้มาก ย่อมยังสติปัฏฐานทั้ง 4 ให้บริบูรณ์ ในพระสูตรนี้ใช้อานาปานสติ เป็นหลักในการเจริญสติ เพื่อให้สติปัฏฐานทั้ง 4 บริบูรณ์ คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คำว่า “กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน” ใน อานาปานสติสูตร หมายเอาลมหายใจออก ลมหายใจเข้าเท่านั้น เป็นตัวหลักในการ กำหนดพิจารณา ซึ่งเมื่อดำเนินไปตามอานาปานสติ 16 ขั้น ก็ สามารถทำโพชฌงค์ 7 วิชชา และ วิมุตติ ให้สมบูรณ์ ถึงนิโรธ คือพระนิพพานได้เหมือนกัน อานาปานสติ ขั้นที่ 1-4 กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน กำหนดรู้ลมหายใจยาว – สั้น จนรอบรู้ลมหายใจ เมื่อรอบรู้ลมหายใจแล้ว ลมหายใจย่อมสงบระงับ เมื่อลมหายใจสงบระงับ ก็คือการสงบระงับของกายสังขาร คือการเข้าฌาน กายไม่ปรากฏ มีแต่นามกาย ทุกข์กายก็ไม่มี ทุกข์ใจ ก็ไม่มี รู้ตามความเป็นจริงว่า กายสักแต่ว่ากาย นี่คือกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน อานาปานสติ ขั้นที่ 1 กำหนดรู้ลมหายใจยาว เมื่อลมหายใจออกยาว ก็รู้สึกตัวทั่วถึงว่า เราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้สึกตัวทั่วถึงว่า เราหายใจเข้ายาว อานาปานสติ ขั้นที่ 1 เราฝึกกำหนดรู้ลมหายใจยาว การฝึกอานาปานสติขั้นที่ 1 นี้ ต้องมีการบังคับลมหายใจ ต้องฝึกหัดและศึกษาลมหายใจ เพื่อเข้าใจลมหายใจให้ดีขึ้น การเจริญอานาปานสติ เปรียบเทียบกับการขับรถ คนขับรถเป็น ต้องรู้จักระบบต่างๆ ในเครื่องยนต์ และดูแล รถ ซ่อมรถเป็น บางคนหัดขับรถ พอขับได้ก็ขับรถไปโรงเรียน หรือที่ทำงาน แต่ไม่สนใจและไม่รู้เรื่องระบบต่างๆ ในรถ การดูแลรถ การทำความสะอาดรถ ทุกอย่างอาศัยคนอื่นหมด ตัวเองมีหน้าที่ขับ อย่างเดียว พอขับไปข้างหน้าได้ แต่อาจจะไม่ถนัดในการถอยหลัง เพื่อจอดรถ เมื่อเครื่องยนต์ขัดข้องนิดหน่อย ต้องเรียกคนอื่นมา ซ่อมให้ ไม่กล้าขับรถไปทางไกล จิตใจก็วิตกกังวล กลัวๆ อยู่ตลอด อย่างนี้เรียกว่า ขับรถเป็นไม่ได้ คนขับรถเป็น ต้องชอบรถ เรียนรู้ระบบต่างๆ ระบบเครื่องยนต์ ไฟฟ้า เบรก ฯลฯ ชอบเช็ดถูทำความสะอาดรถ ดูแลรถเป็น รถเสียขัดข้องเล็กๆ น้อยๆ ซ่อมเองได้ เปลี่ยนล้อได้ ปฐมพยาบาล รถได้ มีประสบการณ์และความชำนาญ จึงขับรถไปทางไกลได้ ไม่มีปัญหา มีความรู้สึกมั่นใจ สบายใจ อย่างนี้เรียกว่า ขับรถเป็น ผู้ชำนาญการเจริญอานาปานสติ ก็เช่นเดียวกัน เพื่อที่จะได้ รับประโยชน์สูงสุด ต้องรู้จักการหายใจหลายแบบ หลายลักษณะ มีเหตุมีผลอย่างไร มีผลดีผลเสียอย่างไร และลมหายใจของเรานี้ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราต้องสังเกตว่า ลมหายใจรับ อิทธิพลจากร่างกายและจิตใจอย่างไร การปรับลมหายใจ “หายใจยาว” มีอิทธิพลต่อร่างกายและจิตใจอย่างไร ให้เราพยายามรู้ว่า ลมหายใจแต่ละแบบนั้น มีอิทธิพลต่อ ร่างกายและต่อความรู้สึกนึกคิดของเราอย่างไร เพื่อที่จะ สามารถนำข้อมูล หรือนำความรู้นี้ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และสามารถเป็นผู้ชำนาญการเจริญอานาปานสติขั้นละเอียดต่อไปได้ การกำหนดลมหายใจ คือการกำหนดความรู้สึกที่ลมสัมผัส กับกาย ความรู้สึกอาจจะแตกต่างกัน เป็นต้นว่า เมื่อหายใจเข้า อาจจะรู้สึกว่า ลมลงไปตามตัวก็ได้ หรือ อาจจะรู้สึกว่า ลมขึ้นมาตามตัวก็เป็นได้ นี่เป็นเหตุที่ทำให้มีการแปลอัสสาสะ และปัสสาสะต่างกัน เป็นตรงกันข้าม ในเมืองไทยนิยมแปลตามอรรถกถาวินัย โดยแปล อัสสาสะ ว่า ลมหายใจออก ปัสสาสะ ว่า ลมหายใจเข้า ส่วนอรรถกถาพระสูตร แปลกลับกัน โดยแปล อัสสาสะ ว่า ลมหายใจเข้า ปัสสาสะ ว่า ลมหายใจออก พระพุทธองค์ ตรัสไว้ในอานาปานสติสูตรในที่ต่างๆ พระองค์ ให้เริ่มต้นกำหนดที่ “อัสสาสะ” ทุกครั้งไป แล้วจึงตามด้วย “ปัสสาสะ” อาจารย์รุ่นหลังมาแปลแตกต่างกันออกไป สำหรับผู้ปฏิบัติ ก็สุดแล้วแต่ใครจะรู้สึกอย่างไร อย่าฝืนความรู้สึก อย่างไรก็ได้ไม่สำคัญ เพียงแต่อาศัยความรู้สึกอันนี้เพื่อฝึกสติเท่านั้น ลมหายใจเริ่มต้นที่ไหน สุดลมที่ไหน ลมหายใจที่ลงมา อาจจะเริ่มต้นที่จมูก ที่หน้าอก หรือที่ท้องก็ได้ และสุดลงที่หน้าอก ที่ท้อง ที่เท้า หรือเลยไปอีกก็ได้ ลมหายใจที่ขึ้นมา อาจจะเริ่มต้นที่เท้า ที่ท้อง ที่หน้าอก ที่จมูก ก็ได้และสุดลงที่ไหนก็ได้ อาจจะสุดลงที่ท้อง ที่หน้าอก ที่จมูก ที่ศรีษะ หรือเลยไปอีกก็เป็นได้ อย่างไรก็ได้ อย่างไรก็ไม่สำคัญ สุดแล้วแต่ความรู้สึกในขณะนั้น ให้สติอยู่กับความรู้สึกอันนั้นเป็นใช้ได้ ความรู้สึกอยู่ที่ไหน จิตก็อยู่ที่นั่น เป็นหลักใหญ่ ขอให้มีความรู้สึกตัวทุกครั้งที่ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า เพื่อให้มีที่เกาะ มีที่กำหนดติดต่อกัน อาศัยลมหายใจออก ลมหายใจเข้า เจริญสติ นี่คือข้อปฏิบัติ ลมหายใจเข้าจะขึ้นตามตัว หรือลงตามตัว ไม่สำคัญ เริ่มต้นที่ไหน สุดลงที่ไหน ไม่สำคัญ ไม่ต้องกังวล เอาความรู้สึกเป็นใหญ่ ความรู้สึกสบาย เป็นสิ่งสำคัญ พอให้มีที่กำหนดที่ระลึกได้ ก็ใช้ได้ หายใจยาวกับหายใจสั้น หายใจยาว คือ หายใจช้า หายใจสั้น คือ หายใจเร็ว หายใจยาว มี 2 นัย คือ หายใจยาวขึ้น และหายใจยาวกว่าปกติ หายใจยาวขึ้น ถ้าเราหายใจยาวขึ้นกว่าที่เรากำลังหายใจอยู่ นี้คือ “หายใจยาวขึ้น” การหายใจในกรณีต่างๆ โดยธรรมชาติ หายใจยาวๆ ก็มี หายใจ ธรรมดาๆ ก็มี หายใจสั้นๆ ก็มี บางครั้งก็หายใจสั้นเบาๆ เกือบไม่มีลมหายใจเลยก็มี เช่น - เมื่อร่างกายพักผ่อนเต็มที่ สบายกาย สบายใจ เราก็จะหายใจยาวโดยธรรมชาติ - การใช้ชีวิตปกติธรรมดาในชีวิตประจำวัน เราก็หายใจธรรมดา - ถ้าเราออกกำลังกาย เหนื่อย เจ็บไข้ป่วย ก็หายใจสั้น - เมื่อมีอารมณ์ตื่นเต้น ดีใจก็ดี เสียใจก็ดี โกรธ กลัว ลมหายใจจะสั้น บางครั้งก็แรงๆ หยาบๆ ด้วย - เมื่อนั่งสมาธิ ก็จะมีลมหายใจอีกแบบหนึ่ง บางคน บางขณะ อาจจะหายใจยาวๆ ก็มี บางครั้งหายใจยาวมากๆ ก็มี บางครั้งก็หายใจสั้นเบาเกือบไม่มีลมหายใจก็มี แล้วแต่เหตุปัจจัย ในทุกๆ กรณี ในทุกๆ ขณะเมื่อเราทำให้ลมหายใจยาวกว่าที่กำลัง เป็นอยู่นั้น เรียกว่า “หายใจยาวขึ้น” หายใจยาวกว่าปกติ ลมหายใจปกติของคนธรรมดาทั่วๆ ไปจะหายใจประมาณ 12-18 ครั้งต่อนาที หรือหายใจ 4-5 วินาที ต่อการหายใจเข้า – ออก 1 ครั้ง ถ้าหายใจยาวกว่านี้เรียกว่า “หายใจยาวกว่าปกติ” หายใจยาวมีหลายแบบ ให้สังเกตดูลมหายใจตลอดเวลา บางครั้งให้จงใจปรับลมหายใจ ให้ยาวๆ พร้อมกับสังเกตว่าลมหายใจยาว มีหลายแบบ - หายใจยาวธรรมดา - หายใจยาวๆ - หายใจเข้าลึกๆ สุดๆ - หายใจยาวแรงๆ - หายใจออกยาว หายใจเข้าสั้น - หายใจออกสั้น หายใจเข้ายาว - หายใจยาวเป็นพิเศษ เช่น หายใจออก หายใจเข้า 3 ครั้ง 2 ครั้ง หรือ 1 ครั้ง ต่อ 1 นาที บางครั้งให้ฝึกทำลมหายใจให้ยาวขึ้น บางครั้งเราก็ควบคุมลมหายใจ ค่อยๆ ทำให้ยาวขึ้นๆ เป้าหมาย คือหายใจออก หายใจเข้า 3 ครั้ง 2 ครั้ง หรือ 1 ครั้ง ต่อ 1 นาที อาจารย์นิกายเซนในประเทศญี่ปุ่นบางท่าน เมื่อนั่งสมาธิท่านจะ หายใจประมาณ 1 ครั้ง ต่อ 1 นาที วิธีนั่งสมาธิของท่าน คือ นั่งให้ เรียบร้อย ปรับลมหายใจให้ละเอียด สุขุม นั่งสงบ มีสติเต็มที่ ถึงขนาดว่า สามารถได้ยินเสียงมดเดินอยู่ข้างหน้าได้ นี่คือนั่งสมาธิ แบบนิกายเซนในประเทศญี่ปุ่น เป็นสำนวนที่แสดงว่า มีสติตื่นตัวเต็มที่ รอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาสัมผัสกับจิต แต่ไม่ยึดมั่นถือมั่น การหายใจจากทางเท้า เป็นอุบายที่ทำให้ลมหายใจยาวขึ้น ช่วยให้หายใจยาว ยาวขึ้น คนธรรมดาก็น่าจะทำได้ 4 – 5 ครั้งต่อนาที โดยไม่ลำบาก ทำให้นานๆ เป็นครึ่งชั่วโมง หรือ 1 ชั่วโมงก็ได้ จะช่วยให้สุขภาพกาย สุขภาพใจดีขึ้น การเจริญอานาปานสติทุกครั้ง ให้เริ่มต้นด้วย “หายใจเข้าลึกๆ” “หายใจออกยาวๆ” อันนี้ก็จะช่วยทำให้กายตั้งตรง ขับไล่ความคิด ความรู้สึกเก่าๆ ทำให้เกิดสติสัมปชัญญะที่ถูกต้อง และทุกครั้งที่กำหนดลมหายใจ ให้ขึ้นต้นด้วยอานาปานสติ ขั้นที่ 1 เสมอไป ในการกระทำทุกอย่าง ก็ให้ทำเช่นเดียวกัน คือเริ่มต้นด้วยการหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ สบายๆ เป็นการตั้งสติ ตั้งต้นทำงานที่ดี เอาสติผูกจิตไว้กับลมหายใจ พยายามกำหนดรู้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าติดต่อกันสม่ำเสมอ เหมือนเอา สติ ผูก จิต ไว้กับ ลมหายใจ ความรู้สึกอยู่ที่ไหน จิตก็อยู่ที่นั่น เมื่อสติรู้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า จิตก็อยู่ที่นั่น ขาดสติเมื่อไร จิตก็คิดไปต่างๆ นานา ตามกิเลสตัณหา ตามนิวรณ์ เปรียบเทียบกับคนเลี้ยงควาย เวลาเราเลี้ยงควาย เราก็ปล่อยควายให้เดินไปตามถนน เจ้าของ เดินตามหลังควายไปสบายๆ สองข้างทางเป็นไร่นา บางครั้งควาย จะเดินออกนอกถนนไปกินข้าวในนาของเพื่อนบ้าน เจ้าของก็ต้อง ตีบ้าง กระตุกดึงเชือกบ้าง ให้ควายรู้สึกตัวกลับขึ้นมาบนถนนใหม่ การเจริญอานาปานสติ ก็เหมือนกับการ คอยควบคุมควายให้เดินตามถนน สติ คือ เจ้าของ ลมหายใจ คือ ถนน ลมหายใจยาวๆ คือ ถนนยาวๆ จิต คือ ควาย นิวรณ์ คือ ต้นข้าวในนา เมื่อจิตคิดไปที่อื่น ไม่อยู่กับลมหายใจ ก็คือจิตที่มีนิวรณ์ เหมือนควายที่เดินออกนอกถนนไปกินต้นข้าวในนาของเพื่อนบ้าน สติมีหน้าที่ ดึงจิตให้กลับมาอยู่กับลมหายใจ เมื่อมีสติดี จิตก็จะอยู่กับลมหายใจตลอด จิตก็เป็นจิตดี จิตสงบ สติคอยเฝ้าดูจิต คอยเฝ้ารักษาจิตให้อยู่ที่ลมหายใจออกยาวๆ สบายๆ ลมหายใจเข้ายาวๆ สบายๆ ถ้าจิตคิดออกไปข้างนอก คิดกิเลส นิวรณ์ ก็หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ เกิดสติสัมปชัญญะ กำหนดรู้ลมหายใจออกยาวๆ ลมหายใจเข้ายาวๆ ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆๆๆ เราต้องเข้าใจชัด เห็นชัด ซึ่งลมหายใจ จิต สติ ดังนี้ อานาปานสติ ขั้นที่ 2 กำหนดรู้ลมหายใจสั้น เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้สึกตัวทั่วถึงว่า เราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้สึกตัวทั่วถึงว่า เราหายใจเข้าสั้น หลังจากที่เราฝึกกำหนดรู้ลมหายใจยาวแล้ว เราก็จะทำเช่นเดียวกัน กับลมหายใจสั้น เพื่อให้เกิดความชำนาญต่อไป ลมหายใจสั้น ลมหายใจสั้นมี 3 กรณี 1. ลมหายใจสั้นลง 2. ลมหายใจสั้นกว่าปกติธรรมดา 3. จงใจทำให้ลมหายใจสั้น ลมหายใจสั้นลง ในอานาปานสติขั้นที่ 1 เมื่อเราจงใจหายใจให้ยาวขึ้นแล้ว ค่อยๆ ปล่อยหายใจสบายๆ ลมหายใจจะสั้นลงบ้าง ไม่มากก็น้อย เรียกว่า สั้นลง สั้น-ยาว เป็นเรื่องสมมุติ เมื่อมียาว ก็ต้องมีสั้น ทุกครั้งที่กำหนดอานาปานสติ เราจะเริ่มต้นด้วยขั้นที่ 1 คือเริ่มด้วย การหายใจยาวๆ เมื่อค่อยๆ ปล่อยลม ลมหายใจก็จะค่อยๆ สั้นลง เป็นลมหายใจสั้น เป็นขั้นที่ 2 เพราะฉะนั้น อานาปานสติ ขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 จึงคู่กันอยู่ตลอด เมื่อมีลมหายใจยาว ก็ต้องมีลมหายใจสั้น ในที่สุดก็หายใจสบายๆ ไม่ยาว ไม่สั้น คือพอดี ลมหายใจสั้นกว่าปกติธรรมดา คือลมหายใจ 20-30 ครั้ง หรือ 40 ครั้งต่อนาที หรืออาจจะ 60 ครั้งต่อนาทีก็ได้ เช่น เวลาร่างกายอ่อนเพลีย เหนื่อย ไม่สบาย เป็นไข้ มีอารมณ์ตื่นเต้น เป็นต้น แม่บางคนบอกว่า เมื่อลูกไม่สบาย เป็นไข้ นับดูลมหายใจขึ้นถึง 44 ครั้งต่อนาที เมื่อหายใจลดลงมา 30 ครั้งต่อนาที อุณหภูมิก็เป็นปกติ เมื่อไข้ขึ้น ลมหายใจก็ถี่ มากขึ้น เมื่อมีเหตุปัจจัย ลมหายใจก็จะเปลี่ยนไป จงใจทำให้ลมหายใจสั้น ให้พยายามหัดกำหนดลมหายใจสั้น สั้นมากๆ จงใจทำให้ลมหายใจสั้น เพื่อเป็นการทดลอง เพื่อศึกษาและเก็บข้อมูล ฝึกเป็นบางช่วงพอสมควร ถ้าเหนื่อย ก็ปฏิบัติ ตามปกติ สบายๆ แล้วทำใหม่อีกจนชำนาญ เพื่อเก็บ ข้อมูลเกี่ยวกับลมหายใจในลักษณะต่างๆ ทุกรูปแบบ เพื่อเข้าใจลมหายใจ ให้ทั่วถึง ตั้งแต่ลมหายใจยาวๆ สุดๆ ถึงลมหายใจสั้นๆ จงฝึกให้มีสติสม่ำเสมอในลมหายใจทุกชนิด ปกติการหายใจยาวๆ เราจะสามารถกำหนดได้ง่ายกว่า และตั้งแต่ เริ่มต้นขั้นที่ 1 เราก็ฝึกกำหนดลมหายใจยาวๆ จนชำนาญพอสมควร แล้วเราก็มาฝึกหายใจสั้นๆ ให้ชำนาญเสมอกัน เมื่อเรามีความชำนาญในการกำหนดลมหายใจทุกชนิดสม่ำเสมอกัน เราจึงจะสามารถกำหนดลมหายใจติดต่อกันได้ในทุกโอกาส สรุปอานาปานสติ ขั้นที่ 1 ขั้นที่ 2 อานาปานสติขั้นที่ 1 และ 2 เป็น ศีลสิกขา เป็นการเจริญอานาปานสติ ระดับศีล เมื่อเราสามารถระลึกถึงลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ติดต่อกัน ในทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน ขณะที่เห็นรูป ได้ยินเสียง ได้ดมกลิ่น ได้รู้รส รู้สัมผัส รู้ทางใจ อะไรก็ตาม เราไม่เกิดความยินดียินร้าย มีสติ มีสัมปชัญญะ มีความพอใจที่จะระลึกรู้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ติดต่อกันสม่ำเสมอ ใจก็เป็นศีล ศีลถึงใจ เมื่อเรานั่งสมาธิอยู่ เรารู้อยู่ว่า เรากำลังนั่งอยู่ที่ไหน กับใคร เราเป็นผู้หญิง หรือผู้ชาย เป็นพระ หรือเป็นฆราวาส ชื่ออะไร เราก็รู้ชัด ได้ยินเสียงนก เสียงสัตว์ต่างๆ เสียงรถ ฯลฯ ก็รู้อยู่ว่า เป็นเสียงอะไร แต่เราก็สามารถทำใจสงบเป็นปกติ ไม่ยินดียินร้าย กำหนดรู้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ติดต่อกัน พูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อเห็นอะไร ได้ยินอะไร เราสามารถ ทำใจสงบ ไม่คิดอะไร เอาลมหายใจเป็นกัลยาณมิตรได้ เช่นนี้ถือว่าการปฏิบัติขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 สมบูรณ์พอใช้ได้ อานาปานสติ ขั้นที่ 3 รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง จักหายใจออก เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง จักหายใจเข้า ในอานาปานสติขั้นที่ 3 ท่านใช้คำว่า “รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง” คำว่า “รู้เฉพาะ” เป็นอาการของสมาธิ สติที่ฝึกมาแล้วในขั้นที่ 1 ขั้นที่ 2 นั้น เป็นสติระดับศีล ในขั้นที่ 3 เราจะพัฒนาสติให้มีกำลังมากขึ้น สามารถจับลมหายใจ ติดต่อกันแนบแน่นตลอดสาย ให้ใจรวมรู้อยู่เฉพาะที่ลมหายใจ สติก็ติดต่อกันเป็นสมาธิ จึงกล่าวว่า สติในอานาปานสติขั้นที่ 3 นี้เป็นสติในระดับสมาธิ เป็น สมาธิสิกขา คำว่า “พร้อม” เป็นอาการของจิตที่มีกำลังดี ไม่มีนิวรณ์ 5 ควรแก่การงาน พร้อมที่จะทำงานที่เป็นกุศล เช่น เจริญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานต่อไป กายทั้งปวง กายในที่นี้หมายถึง อัสสาสะ ปัสสาสะ คือลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ร่างกายของเรานี้ประกอบด้วยธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ในการเจริญอานาปานสติ เราถือเอาธาตุลมเป็นกาย คือ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หมายถึง รู้พร้อมเฉพาะซึ่งลมหายใจตลอดสาย คือเบื้องต้นของลมหายใจ ท่ามกลางของลมหายใจ และที่สุดของลมหายใจ เมื่อเรารู้ความจริงของลมหายใจได้ เราก็จะรู้ความเป็นจริงของ ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ทั้งหมด เหมือนกับที่พูดว่า ถ้าเรารู้ความเป็นจริงของผมเส้นเดียว เราก็รู้ความเป็นจริงของผมทั้งหมด และเราก็รู้ความจริงของร่างกายทั้งหมดด้วย อินทรีย์ทั้งหมดที่ทำงานอยู่ ให้รวมกันที่ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าเท่านั้น ในการปฏิบัติให้เราเริ่มต้นจากขั้นที่ 1 ทุกครั้ง อาจจะไม่นานก็ได้ สุดแล้วแต่ความชำนาญของแต่ละบุคคล ให้หายใจยาว เพื่อให้เกิดความรู้สึกเด่นชัด เพื่อสามารถกำหนดสติติดต่อกัน ตลอดสาย ลมหายใจออกยาว ลมหายใจเข้ายาวๆ พยายามให้หยุดความคิดก่อน ให้ปล่อยวางความรู้สึกเก่าๆ รับรู้แต่ความรู้สึกใหม่ คือความรู้สึกปัจจุบัน ที่เกิดจากลมหายใจออกยาว ลมหายใจเข้ายาว พยายามให้อินทรีย์นี้รับรู้ลมหายใจ รวบรวมไว้ที่เฉพาะหน้า ของลมหายใจออก ลมหายใจเข้า สายตา ก็กำหนดดูลมหายใจออก ลมหายใจเข้า หู ก็ให้ฟังเสียงที่ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า จมูก ก็ดมกลิ่นลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ลิ้น ก็สัมผัสรสนั้น กายสัมผัส ก็กำหนดรู้ที่ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า เท่านั้น ใจ ก็รับรู้เฉพาะลมหายใจออก ลมหายใจเข้า เท่านั้น ยังคงความพยายามที่จะหายใจยาวอยู่ แต่ค่อยๆ ปล่อยลมหายใจให้สั้นลงโดยธรรมชาติ (ผ่านขั้นที่ 2) และสุขุมละเอียดมากขึ้นๆ ต่อไปก็กลายเป็น ลมหายใจออกพอดี ลมหายใจเข้าพอดี ความคิดก็ค่อยๆ หมดไป เสียงก็ค่อยๆ ห่างไกลไปๆ ดับไปๆ กลิ่นก็หมดไป ลิ้นก็ดับไป กายค่อยๆ เบา ตัวเบา ขา แขน ก้น ตัว ก็หายไป เหลือแต่ ความรู้เฉพาะ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ใจรวม รู้พร้อมเฉพาะ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า อินทรีย์ทั้งหมดที่ทำงานอยู่ ให้รวมกันที่ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าเท่านั้น ฟุ้งซ่าน ปกติเราจะไม่สามารถกำหนดรู้ลมหายใจได้ หรือแม้แต่จะกำหนด รู้ลมหายใจออกเพียงหนึ่งครั้งให้ตลอดก็ทำไม่ได้เพราะจิตฟุ้งซ่าน จิตฟุ้งซ่าน มีหลายระดับ แต่สมมุติแบ่งเป็น 2 อย่าง 1. ฟุ้งซ่านภายนอก 2. ฟุ้งซ่านภายใน ฟุ้งซ่านภายนอก หมายถึง การคิดไปตามนิวรณ์ คิดถึงคนโน้น คนนี้ เรื่องโน้นเรื่องนี้ คิดไปสารพัดอย่าง จนบางครั้ง รู้สึกว่า ฟุ้งซ่าน รำคาญนี้แหละ ฟุ้งซ่านภายใน เมื่อเราได้ปฏิบัติมาพอสมควร สามารถระงับ ความคิดต่างๆ ได้ และเริ่มมีความรู้สึกสงบ และมีความสุข มีสติสัมปชัญญะ รู้สึกตัวทั่วถึง กำหนดรู้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าติดต่อกันได้ ตามอานาปานสติขั้นที่ 1-2 ต่อไปก็มาถึงบทศึกษาว่า “รู้พร้อมเฉพาะซึ่งลมหายใจตลอดสาย” เบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย ตามอานาปานสติ ขั้นที่ 3 ถึงตอนนี้เราจะสังเกตได้ว่า จิตของเราจะวอกแวกออกไป ตามสัญญา เห็นภาพ จำภาพ จำคำพูดต่างๆ ไม่สงบจริงๆ โดยเฉพาะช่วงท่ามกลางของลมหายใจ หรือเมื่อลมหายใจสุดลง คือ ช่วงปลาย ลักษณะเช่นนี้คือ ฟุ้งซ่านภายใน การระงับการฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านภายนอก ต้องระงับให้ได้ก่อน จึงจะเกิดอานาปานสติ ขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ได้ เมื่อระงับความฟุ้งซ่านภายนอกได้ อานาปานสติ ขั้นที่ 1 และ 2 ก็สมบูรณ์ ความฟุ้งซ่านภายใน ต้องระงับให้ได้ จึงจะเกิด “จิตตั้งมั่นกับลมหายใจตลอดสาย” เป็นสมาธิ “รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง” ได้สมบูรณ์ คืออานาปานสติ ขั้นที่ 3 สมบูรณ์ อุบายแก้ฟุ้งซ่านภายในมี 2 วิธี คือ 1. การนับลมหายใจ 2. การกดลมหายใจ การนับลมหายใจ เริ่มต้นให้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า สบายๆ ก่อน เป็นธรรมชาติที่สุด ไม่บังคับให้ลมหายใจยาว หรือสั้น ให้สบาย พอดีๆ ลมหายใจออกสบาย ลมหายใจเข้าสบาย ทรงไว้ซึ่งการหายใจสบายๆ ต่อไปก็นับลมหายใจออก หายใจออกนับ 1 ... 2 ... 3 ไม่ช้าไม่เร็ว นับไปจนกว่าจะสุดลมหายใจออกตามธรรมชาติ 1 คือ 1 วินาที 2 คือ 2 วินาที 3 คือ 3 วินาที อาจจะนับ 4 ... 5 ... 6 วินาที หรือมากกว่าก็ได้ มากกว่า 10 ก็ได้ ระวังอย่าให้รบกวนลมหายใจที่กำลังสบายๆ ทรงไว้ซึ่งลมหายใจสบายๆ ทั้งหมดนี้เป็นวิธีนับลมหายใจออก 1 ครั้ง ต่อไปก็เริ่มนับลมหายใจเข้า ต่อจากลมหายใจออก เช่น ถ้านับลมหายใจออกถึง 3 คือ 3 วินาที ก็เริ่มนับลมหายใจเข้าที่ 4... 5... 4 คือวินาทีที่ 4 และ 5 วินาทีที่ 5 จนกว่าจะสุดลมเข้า หายใจออก หายใจเข้า นับไม่เท่ากัน ก็ไม่เป็นอะไร ปกติก็ไม่เท่ากัน เท่ากันก็ดี ไม่เท่ากันก็ไม่เป็นไร เราตามนับลมหายใจออก ลมหายใจเข้าเท่านั้น เอาลมหายใจเป็นหลัก หายใจตามธรรมชาติ หายใจออกเริ่มนับที่ 1 ทุกครั้ง การนับลมหายใจในขั้นนี้ เป็นงานละเอียด สุขุม ถ้านับแล้วความรู้สึกเปลี่ยน เกิดความรู้สึกอึดอัด ไม่สบายขึ้น แสดงว่า ลมหายใจเปลี่ยนตามการนับ ลมหายใจถูกกำหนด ลมหายใจถูกเปลี่ยนจากการนับ ไม่เป็นธรรมชาติแล้ว กลายเป็นเอาการนับเป็นหลัก ไม่ใช่เอาลมหายใจเป็นหลัก การใช้การนับเป็นหลัก และบังคับลมหายใจ เป็นวิธีที่ใช้ฝึก ลมหายใจในอานาปานสติ ขั้นที่ 1 และ 2 แต่ในอานาปานสติ ขั้นที่ 3 เราต้องไม่บังคับลมหายใจ ไม่รบกวนลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ปล่อยตามธรรมชาติ สบายๆ หายใจออก 1 ... 2 ... 3 หายใจเข้า 4 ... 5 ไม่ให้จิตวอกแวกออกไปข้างนอก ผูกจิตไว้กับลมหายใจตลอดสาย ทำจนเกิดความเคยชินและชำนาญ ไม่มีความรู้สึกว่าทำอะไร ฝืนธรรมชาติ เกิดความพอใจและมีความสุขแล้ว จึงจะปล่อยการนับ แล้วกำหนดเฉยๆ ลมหายใจออก ส่วนที่ 1 ก็รู้ ส่วนที่ 2 ก็รู้ ส่วนที่ 3 ก็รู้ รู้ รู้ รู้ รู้ ติดต่อกัน รู้ลมหายใจออกตลอดสาย ลมหายใจเข้า ส่วนที่ 1 ก็รู้ ส่วนที่ 2 ก็รู้ ส่วนที่ 3 ก็รู้ รู้ รู้ รู้ รู้ ติดต่อกัน รู้ลมหายใจเข้าตลอดสาย อย่างนี้เรียกว่า รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง การกำหนดรู้ลมหายใจครั้งหนึ่ง เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในโลก การกำหนดรู้ลมหายใจอย่างเดียวนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในโลก การกดลมหายใจ ถ้าจิตสงบมากพอสมควร แต่ฟุ้งซ่านนิดหน่อย ให้ใช้อุบายคล้ายๆ กับว่าจะกดลมหายใจเบาๆ เพื่อให้เกิดความรู้สึกตัวเด่นชัดมากขึ้น ความรู้สึกอยู่ที่ไหนจิตก็อยู่ที่นั่น และให้ผูกจิตเอาไว้กับลมหายใจตลอดสาย ไม่ให้พลัดพรากจากลมหายใจแม้แต่น้อย ให้สติจับลมให้ติดต่อกัน ไม่ให้ขาดเป็นตอนๆ หรือถ้าใช้วิธีนับลมหายใจก่อน เมื่อใจสงบพอสมควร ก็ปล่อยการนับ หันมาใช้วิธีกดลมหายใจต่อไปก็ได้ วิธีกดลมหายใจ เหมือนกับการรีดผ้า ให้กดเตารีดพอดีๆ อย่าให้ห่างจากผ้า อย่าให้เบามากไป อย่าให้หนักมากไป ให้พอดีๆ กลับไป กลับมา อยู่อย่างนั้น การกำหนดรู้ลมหายใจตลอดสายก็เหมือนกันนั่นแหละ ลมหายใจ คือ ผ้า จิต คือ เตารีด สติ คือ มือ สติ เราได้พูดถึงลมหายใจออก ลมหายใจเข้า และการเจริญอานาปานสติกันมาพอสมควรแล้ว ต่อไปนี้เราจะทำความเข้าใจกับคำว่า “สติ” กันบ้าง “สติ คือ ความระลึกได้” เป็นไป 3 กาล คือ อดีตกาล อนาคตกาล ปัจจุบันกาล อดีตกาล คือ การมีสติรำลึกได้ว่าเราเคยทำ เคยพูด เคยคิด อะไรบ้างในอดีต เมื่อไร ที่ไหน กับใคร อย่างไร ตั้งแต่นาทีก่อน ชั่วโมงก่อน วันก่อน อาทิตย์ก่อน ปีก่อน 10 ปี 20 ปี 30 ปีก่อน วันแรกที่เกิดอยู่ในท้องแม่ ชาติก่อน 10 ชาติ ฯลฯ วันคืนที่เจ้าชายสิทธัตถะยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ กาลวิสาขปุรณมี คืนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนวิสาขะ ในเวลาปฐมยาม 6 โมงเย็น ถึง 4 ทุ่ม พระองค์ได้เจริญสติไปสู่อดีต จนระลึกได้ถึง 1,000 ชาติ หมื่นชาติ ทรงพบว่าทุกชาติมีความทุกข์มากกว่าความสุข ไม่คุ้มเลย ท่านจึงคิด หาทางออกจากวัฏสงสาร วินาทีก่อน ก็ถือว่าเป็นชาติก่อน ตลอดถึงก่อนที่จะมาเกิดในท้องแม่ และชาติก่อนๆ เมื่อเรามีสติที่จะระลึกชาติได้ ก็จะมีโอกาสพัฒนาชีวิต ได้เป็นอย่างดี เพราะเราจะเห็นถึงข้อผิดพลาด สิ่งที่น่าจะแก้ไข การกระทำที่เป็นสิ่งดี ได้ความสุข ได้ประโยชน์ จะได้ทำต่อไป มองเห็นชัดซึ่ง การทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว อนาคตกาล คือ สติที่นึกไปอนาคต นึกได้ ระลึกได้ว่าควรจะทำอะไร พูดคิดอะไร เช่น การนัดพบ หรือควรจะทำอะไร กับใคร ที่ไหน เวลาใด ไม่หลงลืม ระลึกได้ จำได้ การเจริญมรณานุสสติ ก็เป็นการระลึกถึงอนาคตที่จะมาถึง คือ ความตายที่จะเกิดขึ้นกับเรา แล้วทำตนเตรียมพร้อมที่จะรับ สถานการณ์ที่จะมาถึงได้อย่างถูกต้อง ปัจจุบันกาล สติระลึกถึงความจริงของตน มี 2 ระดับ สมมุติสัจจะ สติระลึกถึงฐานะของตนเอง สมมุติว่า เป็นผู้ชาย ผู้หญิง เป็นพ่อแม่ เป็นลูก ฐานะในสังคม เป็นครู อาจารย์ ข้าราชการ ฯลฯ เมื่อเรามีสติระลึกได้ เราก็สามารถทำหน้าที่ของตนได้ถูกต้องและดีที่สุด ปรมัตสัจจะ การระลึกถึงสติปัฏฐาน 4 คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งเป็นหัวใจของการปฏิบัติที่เรากำลังศึกษาปฏิบัติอยู่ทุกขณะในปัจจุบัน ทำให้เราสามารถอยู่อย่างปราศจากทุกข์ เดือดร้อนได้ จิตควรแก่การงาน สมาธิในขั้นที่ 3 นี้ ถ้าเกิดขึ้นแล้ว ก็เรียกว่า มีสมาธิพอตัว จิตควรแก่การงาน เพราะอาศัยสติตามรู้ลมหายใจอย่าง ต่อเนื่อง จนกระทั่งจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อมีสมาธิแล้วก็สามารถเกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง คือเห็นว่า ลมหายใจนี้เป็นสักแต่ว่าลมหายใจ สักแต่ว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เรา เขา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เป็นอนัตตา ถ้าเราทำได้ถึงขั้นนี้แล้ว อารมณ์ที่มากระทบจากภายนอกก็ไม่ค่อย มีผลกับเรา การปวดแขน ปวดขา ก็ไม่ค่อยมี เสียงจากภายนอก ก็ไม่ค่อย มีผลกับเรา การปวดแขน ปวดขา ก็ไม่ค่อยมี เสียงจากภายนอกก็ ไม่รบกวน ความรู้สึกว่าเป็นผู้หญิง ผู้ชาย แม่ชี พระ ก็ไม่มี พูดง่ายๆ ก็คือ กายเบา จิตเบา เหมือนนั่งภาวนาอยู่กลางอากาศ ถ้าเราปฏิบัติขั้นที่ 3 ถูกต้อง “รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง” จะเห็นและเข้าใจ กาย จิต สติ เป็นอย่างดี บทศึกษา ตั้งแต่อานาปานสติขั้นที่ 3 ท่านเริ่มใช้คำว่า “ย่อมทำในบทศึกษาว่า” ภาษาบาลี คือคำว่า “สิกขะติ” หรือ “สิกขา” ซึ่งมีความหมายเดียวกับคำว่า “ไตรสิกขา” คือ ศีลสิกขา สมาธิสิกขา ปัญญาสิกขา ซึ่งก็คืออริยมรรคมีองค์ 8 นั่นเอง เมื่อการปฏิบัติขั้นที่ 3 สมบูรณ์ จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ วิปัสสนาปัญญาอาจจะเกิดขึ้นได้ทุกขณะ ดังบาลีที่ว่า สมาหิโต ยถาภูตัง ปชานาติ ผู้มีจิตตั้งมั่น ย่อมเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง ตั้งแต่อานาปานสติขั้นที่ 3 เป็นต้นไป อาจจะเกิดมรรคสมังคี คือศีล สมาธิ ปัญญา เกิดพร้อมกันในขณะเดียวกัน เกิดอริยมรรค อริยผล ได้ทุกขณะ อานาปานสติ ขั้นที่ 4 ระงับกายสังขาร เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับอยู่ จักหายใจออก เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับอยู่ จักหายใจเข้า อานาปานสติ ขั้นที่ 4 นี้เป็นขั้นสุดท้ายของอานาปานสติหมวดกาย ท่านให้ระงับกายสังขารทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า กายสังขาร คือ สภาพการปรุงแต่งกาย คือ อัสสาสะ ปัสสาสะ ร่างกายที่เราเห็นเป็นรูปร่างนี้ ถูกปรุงแต่งตลอดเวลา ไม่สามารถ หยุดอยู่เฉยๆ ได้ เราต้องกินอาหาร ดื่มน้ำ แล้วก็หายใจออก หายใจเข้าอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลมหายใจนี้ ถ้าเปรียบเป็นอาหาร เราก็ต้องกิน ลมอยู่ทั้งวันทั้งคืนไม่มีเวลาหยุด ระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น หัวใจ ปอด ระบบเลือด ก็ทำงานอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น เราจึงเรียก อัสสาสะ ปัสสาสะ ที่ปรุงแต่งกายตลอดเวลานี้ว่า กายสังขาร การระงับกายสังขาร เมื่ออัสสาสะ ปัสสาสะ คือกายสังขาร การระงับกายสังขารก็คือ การระงับลมหายใจนั่นเอง คืออาการของจิตที่สงบจนเกือบไม่มีลม หายใจ ลมหายใจละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น จนในที่สุดก็ไม่มีลมหายใจ นี่คือการเข้าฌาน คือการสงบระงับกายสังขาร ผู้ปฏิบัติเมื่อทำในขั้นที่ 3 ด้วยความพอใจจนเกิดความเคยชิน เป็นปกติธรรมดาแล้ว จิตก็จะรวมเป็นสมาธิ โดยกำหนดรู้เฉพาะ ลมหายใจอย่างแนบแน่นตลอดเวลา การปฏิบัติขั้นต่อไป คือการ ทำให้เกิดสมาธิที่ละเอียด และสมบูรณ์ ผู้ที่จะปฏิบัติอานาปานสติ ขั้นที่ 4 ได้ ต้องสามารถปฏิบัติ ขั้นที่ 3 อย่างชำนาญก่อน ถ้ายังไม่ชำนาญในขั้นที่ 3 ก็ไม่ต้องทดลอง ไม่ต้องพยายามทำขั้นที่ 4 แต่ถ้าทำขั้นที่ 3 ได้ดีพอสมควรแล้ว อาจจะกำหนดปฏิบัติขั้นที่ 5 ขั้นที่ 9 ขั้นที่ 13 ต่อไปได้ ผู้ที่ปฏิบัติขั้นที่ 3 ยังไม่ชำนาญ แล้วมาปฏิบัติในขั้นที่ 4 คือ การทำกายสังขารให้สงบระงับโดยสมบูรณ์ อาจจะเกิดความเครียด ท้อแท้ ความเข้าใจผิดก็ได้ เพราะการเข้าฌานในขั้นที่ 4 เป็นงาน ยาก ละเอียด สุขุม ท่านพูดกันว่า “ยากกว่าวิปัสสนาเสียอีก” จิตสงบจนเกือบไม่มีลมหายใจ แต่ไม่ใช่สงบจริงก็มีอยู่มาก จิตไม่ได้คิดอะไร สงบ ลมหายใจอาจจะละเอียดจนจับไม่ได้ แต่อาจจะมีสติสัมปชัญญะไม่ดีเท่าที่ควร อาจจะมีนิวรณ์เจือปนอยู่บ้าง ไม่มีความรู้สึกสะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีความตื่นตัว จิตขี้เกียจ ไม่มีความแคล่วคล่องว่องไว เมื่อเป็นเช่นนี้ให้กลับไปฝึกขั้นที่ 3 ให้สมบูรณ์ก่อน วิธีปฏิบัติเพื่อระงับกายสังขาร ให้เลือกเอาสัมผัสที่เด่นชัดที่สุดจุดใดจุดหนึ่ง เช่น ปลายจมูกเป็นที่กำหนด ตั้งสติ ตั้งจิต ไว้ที่นั่น โดยไม่ต้องวิ่งขึ้นวิ่งลง ไม่ต้องตามลมหายใจ เหมือนที่เคยทำมา ตั้งสติ ตั้งจิต ไว้ที่จุดที่กำหนด เท่านั้น ปล่อยลมให้ขึ้นลงเองตามธรรมชาติ ไม่ต้องกำหนดตามลม รวบรวมอินทรีย์ทั้งหมด คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เอาไว้ที่จุดที่กำหนดจุดเดียว อุปมาอุปมัยเหมือนเด็กเฝ้าประตู ใครมา ก็ยืนอยู่ตรงนั้นที่เดียว คอยเปิดประตู ปิดประตูอย่างเดียว ไม่ต้องวิ่งตามให้บริการแขก รวบรวมความสนใจไว้ที่จุดเดียว กำหนดจุดนี้ให้เด่นชัด เมื่อยิ่งเพ่ง ลมหายใจยิ่งละเอียดขึ้นๆ จิตก็สงบมากขึ้น ๆ จุดความรู้สึกก็เด่นชัดมากขึ้นๆ ลมหายใจยิ่งละเอียดสุขุมขึ้น จนเกือบจะไม่มีลมหายใจ หรือในที่สุดก็ไม่มีลมหายใจเลย ขณะที่ลมหายใจละเอียดขึ้นๆ จนเกือบจะหยุดไป หรือหยุดไป ในที่สุดนั้น ความรู้สึกกลับเด่นชัดขึ้นๆ ๆ ๆ จนเหลือแต่ ความรู้สึกเด่นชัดมากๆ ที่จุดจุดเดียว...... อยู่ที่ในใจ นี่คือ อุคคหนิมิต ในอานาปานสติ กายานุปัสสนาสติปัฏฐานในอานาปานสติ คือ การกำหนดลมหายใจ หรือกายลม จนสามารถระงับกายสังขาร เข้าฌาน ไม่มีกาย ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่ปรากฏอยู่ในใจ เป็นสมาธิเต็มที่ คืออัปปนาสมาธิ แล้วก็ออกจากสมาธิ เข้าสมาธิอีก ทำซ้ำๆ อยู่อย่างนั้น เป็นการฝึกเข้าสมาธิ และเป็นการพิจารณากายพร้อมกันไปด้วย คือ เห็นกายสักแต่ว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เรา เขา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เป็นอนัตตา นิมิต นิมิต คือ เครื่องหมายที่กำหนด มี 3 อย่าง คือ บริกรรมนิมิต อุคคหนิมิตร และ ปฏิภาคนิมิต กรรมฐานบางอย่างมีนิมิตครบทั้ง 3 ประการไม่ได้ กรรมฐานเช่นนั้นไม่สำเร็จประโยชน์ ไม่สามารถทำให้เกิดฌานได้ เช่น พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เป็นต้น สำหรับอานาปานสติ มีนิมิตครบได้ทั้ง 3 ประการ บริกรรมนิมิต บริกรรมนิมิตมีในทุกกรรมฐาน การระลึกถึง พุท-โธ พุท-โธ เป็นบริกรรมนิมิต หายใจเข้า-พุท หายใจออก-โธ เป็นบริกรรมนิมิต การกำหนดกาย เช่น เกสา เกสา เกสา เป็นบริกรรมนิมิต การเจริญกสิณ เช่น วงสีแดง สีเขียว คือการเพ่งพร้อมทั้งบริกรรม สีเขียว สีแดง ก็เป็นบริกรรมนิมิต บริกรรมนิมิตในอานาปานสติ คือ ตัวลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ที่เคลื่อนไป เคลื่อนมา ซึ่งผู้ปฏิบัติใช้เป็นที่กำหนด อุคคหนิมิต เมื่อสามารถกำหนดจุดรู้สึกขึ้นมาได้ชัดเจนใน ใจเป็นจุดเดียว หรือ กำหนดเป็นดวงขาวๆ เป็นจุดในมโนภาพ กำหนดอยู่อย่างแน่วแน่ บริกรรมนิมิตก็จะเปลี่ยนเป็นอุคคหนิมิต ขณะนี้ ความรับรู้ต่อลมหายใจออก-เข้านั้น ยังมีอยู่หรืออาจ จะหายไป แต่ก็ไม่มีความสำคัญอีกต่อไป เพราะเราจะเพ่งลงไป ที่จุดรู้สึกภายในใจ หรืออุคคหนิมิตที่เกิดขึ้นในใจนี้ให้ชัดเจน โดยไม่สนใจรับรู้กับสิ่งอื่น ปฏิภาคนิมิต นิมิตที่เปลี่ยนรูปไปจากอุคคหนิมิต จะปรากฏเป็น ภาพขึ้นมา เป็นภาพที่เห็นด้วยใจ แต่เหมือนมองเห็น ด้วยตา ส่วนจะเป็นภาพอะไรนั้น ก็แล้วแต่บุคคล และ อาจจะขึ้นอยู่กับอุคคหนิมิต ซึ่งเป็นจุดที่เป็นไปตามอุปนิสัย ของแต่ละบุคคล หรือความทรงจำในอดีตที่เกิดขึ้นมาในขณะนั้นๆ อาจจะเป็นเมฆขาวๆ ควันขาวๆ พระจันทร์ดวงเล็กๆ สารพัด เป็นปัจจัตตัง เห็นนิมิตชัดเจน เป็นการเห็นด้วยใจ จึงไม่มีขอบเขต เห็นได้ 360 องศา ไม่มีกาย ร่างกายไม่มี ตาไม่มี มีแต่ใจ อุคคหนิมิต และปฏิภาคนิมิต เป็นเรื่องของการเข้าฌาน ถ้าในอานาปานสติ ก็อยู่ในอานาปานสติขั้นที่ 4 สมาธิ สมาธิที่แท้จริง พอที่จะแบ่งได้เป็น 2 อย่าง คือ 1. อุปจารสมาธิ และ 2. อัปปนาสมาธิ อุปจารสมาธิ อุปจาระ แปลว่า เข้าไปใกล้ หรือ รอบๆ อุปจารสมาธิ คือ สมาธิที่เฉียดความเป็นฌาน นิวรณ์ไม่ปรากฏ หรือ จะพูดอีกนัยหนึ่งว่า ขณะที่จิตละจากนิวรณ์ อุปจารสมาธิก็จะเกิด เมื่อไม่มีนิวรณ์ อุคคหนิมิต จึงปรากฏขึ้น ตั้งแต่ขั้นที่มีอุคคหนิมิต ก็เริ่มเป็นอุปจารสมาธิ แต่ยังคงล้มลุกคลุกคลานอยู่ เมื่อเกิดปฏิภาคนิมิต อุปจารสมาธิก็สมบูรณ์ ในขั้นปฏิภาคนิมิต ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า จะหายไปจากความรู้สึกหรือการรับรู้ จิตจะนิ่งสงบ ไม่มีนิวรณ์ 5 ปรากฏ อาการเช่นนี้คือ อาการของอุปจารสมาธิ อุปจารสมาธินี้ จะเป็นบาทฐานของวิปัสสนาได้ สามารถกำหนด ไปรอบๆ และรับรู้สิ่งที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้ เป็นภาวะที่เหมาะสม ควรแก่การงาน คือ กัมมะนีโย จะฝึกสมถะต่อไปเพื่อเข้าฌานก็ได้ หรือจะเข้าวิปัสสนา ในอานาปานสติขั้นที่ 13 -14 : ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ได้ หรือปฏิบัติขั้นที่ 9 -10 : จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานเลยก็ได้ หรือปฏิบัติขั้นที่ 5 -6 : เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ได้ แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน อุปจารสมาธิเป็นพื้นฐานแห่งวิปัสสนา ถ้าเราสามารถทำให้เกิดอุปจารสมาธิได้อย่างมั่นคง ลักษณะของสมาธิ 3 อย่าง เกิดได้ครบถ้วน คือ ปริสุทโธ คือ ความสะอาดบริสุทธิ์ สมาหิโต คือ ความตั้งมั่นของจิต กัมมะนีโย คือ ความคล่องแคล่ว ว่องไว ควรแก่การงาน ลักษณะ 3 อย่างนี้ ถ้ามีในจิตใจ ก็จะเกิดวิปัสสนาต่อไป เพื่อสำเร็จประโยชน์สูงสุดของการปฏิบัติธรรมในชาตินี้ อัปปนาสมาธิ คือสมาธิที่แน่วแน่ มีความสงบเต็มที่ หรือที่เรียกว่า ฌาน นั่นเอง เป็นจิตใจที่ไม่มีนิวรณ์ 5 แล้ว ประกอบด้วย องค์ฌาน 5 อย่าง ครบถ้วน อุปจารสมาธิ ไม่มีนิวรณ์ 5 อัปปนาสมาธิ ไม่มีนิวรณ์ 5 อุปจารสมาธิ มี อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต อัปปนาสมาธิ มี ปฏิภาคนิมิต อุปจารสมาธิ ไม่มี องค์ฌาน 5 อัปปนาสมาธิ มี องค์ฌาน 5 อุปจารสมาธิ เหมือนเราอยู่ใกล้บ้าน เข้าไปใต้ชายคา กำลังขึ้นบันได กำลังเปิดประตูบ้าน แต่ยังไม่ได้เข้าไปในบ้าน อัปปนาสมาธิ คือ การเข้าไปในบ้าน ปิดประตูหน้าต่างเรียบร้อย พักผ่อนได้เต็มที่ ด้วยความสงบสุข โดยปลอดภัยจากการรบกวน จากสิ่งภายนอก ตั้งแต่สัตว์ บุคคลต่างๆ ตลอดถึงดินฟ้าอากาศ ฯลฯ ปิดประตูทั้ง 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ให้เหลือแต่ใจ ฌาน ผู้ที่สนใจที่จะฝึกจิตต่อไปให้เป็นสมาธิแน่วแน่มั่นคง เป็นฌาน ต้องศึกษาองค์ประกอบของฌานทั้ง 5 อย่าง เพื่อทำให้เกิดมี ขึ้นอย่างครบถ้วน โดยอาศัยอุปจารสมาธิที่มีอยู่นี้เป็นพื้นฐาน องค์ฌานทั้ง 5 ประกอบด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา วิตก วิตกในที่นี้ไม่ได้หมายถึง ความวิตกกังวล นึกนี่ นึกโน่น ความนึกคิดต่างๆ แต่วิตกในที่นี้ คือ สติที่กำหนดอารมณ์กรรมฐาน ที่กำลังปฏิบัติอยู่ในขณะนั้นๆ วิจาร ในที่นี้ ไม่ใช่วิจารณ์ที่ใช้อยู่ในภาษาชาวบ้านที่นึกคิด วิจารณ์ไปว่าคนโน้นดีคนนี้ไม่ดี คนนี้ผิดคนนั้นถูก ฯลฯ วิจาร ในที่นี้ คล้ายๆ “สัมปชัญญะ” คือการรู้สิ่งที่กำหนดในขณะนั้นๆ วิจาร เป็นตัวรู้ ที่คอยดึงจิตให้อยู่กับสิ่งที่กำหนด ฉะนั้นเมื่อเกิดวิจาร จิตก็จะวอกแวกน้อยลงๆ ปีติ ความอิ่มใจ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความสำเร็จ สุข ความสุข เกิดขึ้นเพราะปราศจากนิวรณ์รบกวน เอกัคคตา การรู้อารมณ์ที่กำหนดเพียงอารมณ์เดียว หรือจิตที่กำหนดเพียงที่เดียว มียอดสุดอันเดียว ในการปฏิบัตินี้ให้ “ฝึกวิตก” ก่อน สมมุติว่า เราต้องการสร้างนิมิตวงกลมขาวๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางหนึ่งเซนติเมตร เราก็พยายามกำหนดนึกๆๆๆ ให้ภาพปรากฏขึ้นในใจ เมื่อภาพค่อยๆ ปรากฏให้เห็นแล้ว วิจาร ก็เกิดขึ้น เมื่อเห็นภาพชัดขึ้น ปีติสุข ก็เกิดขึ้นเอง แล้วก็อาศัยปีติหล่อเลี้ยงจิต ผูกมัดให้อยู่กับนิมิต จนเกิด เอกัคคตา จิตแน่วแน่เป็นสมาธิ เป็นปฐมฌาน สิ่งที่เราต้องพยายามก็คือ ทำให้เกิดวิตกอย่างสมบูรณ์ เพราะจะช่วยให้เกิดวิจาร วิจารนี้จะดึงจิตให้อยู่กับนิมิตมากขึ้น เมื่อวิจารสมบูรณ์ ปีติ และสุข จะเกิดขึ้นเอง และยังดึงให้จิตกับนิมิตเข้ามาใกล้กัน และในที่สุด จิตจะมีอารมณ์ยอดสุดในนิมิตอันเดียว เป็นปฐมฌาน อุปมา ฝึกฌานเหมือนฝึกลูกวัว อาการที่ฝึกองค์ฌาน 5 อย่างนั้น พอที่จะอุปมาอุปมัยได้กับการฝึกลูกวัว ลูกวัวที่ยังติดแม่อยู่ เจ้าของฟาร์มต้องฝึกลูกวัวแยกออกจากแม่ก่อนที่จะฝึก ให้ไถนาต่อไป ด้วยการเอาเชือกผูกลูกวัวกับเสา แต่ลูกวัวก็คิดถึงแม่ กระโจนไป กระโจนมา ดิ้นรน เดินอยู่รอบๆ เสา แล้วก็รู้สึกเจ็บคอที่ถูกผูกเชือกไว้ ไม่นาน..... ก็พลิกนิดเดียว ลูกวัวเริ่มรู้ขอบเขตที่อยู่ของตัวเอง (วิจาร) ยอมหยุดดิ้นรน แล้วก็สบาย แล้วลูกวัวก็คิดว่า ดูๆ แล้วเจ้าของก็รักเรา ให้กินดี อยู่ดี สบาย ถูตัว ถูศรีษะให้ ให้ความรัก ให้ความอบอุ่นแก่เรา ยิ่งกว่าแม่อีก คิดได้อย่างนี้ ก็เกิดปีติสุขทันที แล้วนอนพิงเสาด้วยความสุข ลูกวัว คือ จิต เสา คือ ปฏิภาคนิมิต เชือก คือ วิตก รู้เขต คือ วิจาร อาการของวิตก วิจาร ก็มีอย่างละเอียด ปีติ สุขก็มี เอกัคคตาก็มี มีอาการ 5 อย่างอยู่ครบถ้วน เมื่อองค์ฌานทั้ง 5 ครบถ้วน ก็เรียกว่า “อัปปนาสมาธิ” หรือปฐมฌาน ปฐมฌาน หรือฌานที่ 1 ประกอบด้วยวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ทุติยฌาน หรือฌานที่ 2 ละ วิตก วิจาร คงเหลือ ปีติ สุข เอกัคคตา ตติยฌาน หรือฌานที่ 3 ละ ปีติ คงเหลือ สุข เอกัคคตา จตุตถฌาน หรือฌานที่ 4 ละ สุข คงเหลือ เอกัคคตา อานาปานสติ ขั้นที่ 5 – 8 เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน สร้างความสุข ทำให้เกิดความสุขจนชำนาญ เมื่อชำนาญแล้ว ย่อมคุมเวทนาได้ เมื่อคุมเวทนาได้ ย่อมคุมตัณหาได้ เมื่อคุมตัณหาได้ ย่อมไม่เกิดทุกข์ อานาปานสติ ขั้นที่ 5 รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ เราเป็นผู้รู้พร้อมซึ่งปีติ จักหายใจออก เราเป็นผู้รู้พร้อมซึ่งปีติ จักหายใจเข้า ขั้นที่ 5 นี้ ต่อเนื่องมาจากขั้นที่ 1-4 ซึ่งเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน และเป็นสมถกรรมฐาน ตั้งแต่ขั้นนี้เป็นต้นไป เราจะเอากำลังสมาธิที่ได้จากการปฏิบัติ ขั้นที่ 1-4 มาเป็นบาทฐานในการเจริญวิปัสสนา โดยเพ่งเล็งเอาความดับทุกข์เป็นจุดมุ่งหมาย อานาปานสติ ขั้นที่ 5-8 เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในขั้นที่ 5 นี้ เราฝึกกำหนด ปีติ ปีติ จัดเป็นความสุขแบบหยาบๆ มีอิทธิพลกับร่างกาย เช่น ทำให้น้ำตาไหล เป็น sensation ต่างๆ อาการของปีติจะต่างๆ กัน สังเกตจากชีวิตประจำวันก็ได้ เช่น เมื่อยินดีมากๆ ก็เกิดความรู้สึกตื้นตัน น้ำตาไหล แต่ปีติที่เกิดขึ้นในสมาธิ ไม่ต้องอาศัยสิ่งเร้าจากภายนอก ไม่ต้องอาศัยคำเยินยอจากคนอื่น เพราะปีติจากอานาปานสตินั้น เกิดจากการปล่อยวางสัญญาอารมณ์ ด้วยตัวของเราเอง ปีติ 5 ในวิสุทธิมรรค ท่านจัดปีติไว้ 5 อย่าง 1. ขุททกาปีติ เป็น ปีติเล็กน้อย พอขนลุกขนชัน น้ำตาไหล น้ำตาไหล 2. ขณิกาปีติ เป็น ปีติชั่วขณะ ทำให้รู้สึกแปลบๆ เป็นขณะเหมือนฟ้าแลบ 3. โอกันติกาปีติ เป็น ปีติเป็นระลอก หรือปีติเป็นพักๆ 4. อุพเพคาปีติ เป็น ปีติโลดลอย เป็นปีติอย่างแรงให้รู้สึกใจฟูแสดงอาการ หรือทำการบางอย่างโดยไม่ตั้งใจ เช่น เปล่งอุทาน หรือ รู้สึกตัวเบาลอยขึ้นไปในอากาศ เป็นต้น 5. ผรณาปีติ เป็น ปีติซาบซ่าน ให้ความรู้สึกเย็นซ่าแผ่เอิบอาบไป ทั้งสรรพางค์กาย เป็นปีติที่ประกอบกับสมาธิ ปีติที่ยกเอามาเป็นองค์กำหนด อานาปานสติในขั้นที่ 1 และ 2 เป็นการฝึกหัดเจริญสติ เพื่อให้ เกิดสมาธิ จิตตั้งมั่นต่อลมหายใจ จน “รู้พร้อมเฉพาะซึ่งลมหายใจ” ในขั้นที่ 3 และระงับลมหายใจ ละนิวรณ์ได้ จนเกิดเป็นอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ จนกระทั่งเข้าฌาน ในขั้นที่ 4 อานาปานสติในขั้นที่ 5 เป็นการยกเอาปีติ คือเวทนาทางใจ มาเป็นบทศึกษา ตามหลักจริงๆ แล้ว เราเอาปีติซึ่งเป็นองค์ฌาน มาฝึก โดยยกเอาปีติในองค์ฌานเป็นอารมณ์กรรมฐาน เป็นที่กำหนดทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า แต่สำหรับผู้ปฏิบัติทั่วไป คนที่จะได้ฌานที่สมบูรณ์หายาก ได้ฌานหรือไม่ได้ฌาน ได้สมาธิขั้นไหนไม่ต้องกังวลเลย ไม่เป็นอะไร เมื่อปฏิบัติ ขั้นที่ 1 พอจิตเริ่มสงบ ปีติก็อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะ เมื่อเกิดสมาธิในขั้นที่ 3 เกิดความรู้สึกกายเบา ใจเบา ปีติก็เกิดขึ้น ไม่มากก็น้อย แต่อาจจะไม่สม่ำเสมอก็ตาม เราก็ยกเอาปีตินี้มากำหนดเป็นเวทนานุปัสสนาในขั้นที่ 5 เลยก็ได้ หรือผู้ปฏิบัติไม่ต้องกังวลถึงอานาปานสติขั้นที่เท่าไหร่เลยก็ได้ เราอาจจะใช้วิธี เจริญเมตตาภาวนา ทำใจสงบ ละความคิดไม่ดี ความคิดบาปออกเสีย ปรารถนาแต่สิ่งที่ดีให้แก่ตัวเอง และผู้อื่น ปีติก็จะปรากฏขึ้น ก็ยกเอาปีตินี้ขึ้นมาศึกษาในขั้นนี้ก็ได้ หรือในการดำรงชีวิตประจำวัน เราอาจจะประสบความสำเร็จของ ตัวเอง หรือของคนที่เรารัก เช่น เราได้เลื่อนตำแหน่ง ลูกเรียนจบ ปริญญา เราก็เกิดปีติ เราก็ยกเอาปีตินี้มาศึกษามากำหนดในขั้นที่ 5 นี้ก็ได้ หรือเราจะระลึกถึงการกระทำในอดีตที่เป็นฝ่ายกุศล เช่น การสร้างพระพุทธรูป การร่วมสร้างกุฏิ วิหาร โบสถ์ ถวายผ้าป่า กฐิน เป็นต้น เมื่อระลึกถึงแล้วก็เกิดความรู้สึกที่ดีสบายใจ ก็เป็นปีติ นี้ก็เป็น จาคานุสติ นอกจากนั้น เราอาจจะยกเอา สีลานุสสติ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ ฯลฯ ขึ้นมาเป็นอุบายทำให้เกิดปีติ แล้วกำหนดปีตินั้นๆ เป็นอารมณ์กรรมฐาน ก็ใช้ได้ทั้งนั้น วิธีกำหนดปีติ – อาบปีติ ในอานาปานสติ ขั้นที่ 5 นี้ เอาสุขเวทนาทางใจแบบหยาบๆ คือ ปีติ มาเป็นบทศึกษา มาฝึกกำหนด ให้จิตจ่ออยู่กับปีติทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ตลอดเวลา ตัวลมหายใจมันปรากฏอยู่เองโดยธรรมชาติ เราก็รู้อยู่ทุกครั้ง ที่หายใจออกหายใจเข้า แต่สิ่งที่เราพยายามกำหนดจ้องอยู่คือ ปีติ พยายามฝึกทรงความรู้สึก “ปีติ” ที่มีอยู่ รักษาปีตินี้ไว้นานๆ ต่อไปก็ทำอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้ปีติขยายมากขึ้นๆ ๆ โดยอาศัย อำนาจสมาธิ หรืออำนาจปัญญา หรือทั้ง 2 อย่าง หาวิธี หาเหตุปัจจัยที่จะทำให้ปีติเพิ่มมากขึ้นๆ ๆ ๆ จนเต็มที่ คล้ายกับว่าปีติมีอยู่ในใจเรา แต่มีอะไรปิดบังอยู่ เราจับตัวปีตินี้ดึงออกมาเรื่อยๆ ๆ ๆ จนปีติกองอยู่เต็ม..... เฉพาะหน้าของเรา รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ จิตใจเต็มไปด้วยปีติ จิตมีอารมณ์เดียว คือ ปีติ รู้สึกเหมือนกับ เราจะจมอยู่ในกองปีติ อาบปีติไปทั้งตัวเลยทีเดียว เมื่อทำให้ปีติเพิ่มขึ้นๆ ได้แล้ว ทีนี้ก็ทำปีติให้ระงับ แล้วก็ทำให้เพิ่มอีก ขึ้นๆ ลงๆ เล่นอยู่อย่างนี้ นี่เป็นการฝึกเอาสติ สมาธิ ปัญญา มาควบคุมเวทนา พยายามเอาสติมากำหนดเวทนาจนจิตตั้งมั่น เป็นการฝึกสมาธิ กับความรู้สึก คือเวทนา ซึ่งยากกว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะความรู้สึกเป็นอนิจจังแท้ๆ เหมือนไอน้ำ เดี๋ยวก็หาย คือจับยาก จึงต้องฝึกให้ทรงตัว ทรงปีติไว้ให้ได้ ไม่ให้หายไป ต้องมีความตั้งใจมากๆ ต้องมีกำลังใจสูง และเป็นการฝึก เพิ่มประสิทธิภาพของสมาธิ กำลังพลังทางใจ และปัญญาด้วย สังเกตดูปีติ สังเกตดูปีติอย่างใกล้ชิด และให้เก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกัน สิ่งที่มีอิทธิพลกับปีติ ทำให้เกิดปีติมีอะไรบ้าง และเป็นอย่างไรบ้าง ปีติมีอิทธิพลต่อร่างกาย ต่อจิตใจ และความคิด อย่างไรบ้าง การเปลี่ยนแปลงความรู้สึก คือเวทนานี้ อาศัยสัญญา เราจะสังเกตดูในชีวิตประจำวันก็ได้ เมื่อเรานั่งอยู่ที่ศาลาอย่างนี้ด้วย จิตใจเป็นปกติ สงบอยู่ มีใครคนที่เราชอบ เดินเข้ามาใกล้ๆ ศาลา เราก็คงจะมีความรู้สึกปีติเกิดขึ้น มีความดีใจ ยินดี เพราะอาศัย สัญญาความจำเก่าที่เคยมีความสุขร่วมกัน เราไม่ได้คิดอะไร แต่สัญญามันปรุงแต่งจิตให้เกิดสุขเวทนา เช่นนี้ก็เป็นได้ ตรงกันข้าม ถ้ามีคนที่เราไม่ชอบ เดินเข้ามาที่ศาลา เราก็อาจจะ เกิดความยินร้าย กลัว ก็เป็นได้ เพราะสัญญาความทรงจำเก่าๆ ที่เขา เคยทำให้เราเป็นทุกข์เดือดร้อน ลักษณะเช่นนี้ ทำให้เราสรุปได้ว่า ความยินดี ปีติ หรือความยินร้ายเกิดขึ้นโดยอาศัยสัญญาเป็นปัจจัย ในการปฏิบัติขั้นที่ 5 นี้ ทำให้เรามองเห็นว่าเวทนาและสัญญา มีความสัมพันธ์กันอย่างไร และมีอิทธิพลต่อกันอย่างไร เมื่อเราเห็นชัด และเข้าใจชัดว่า เวทนาและสัญญาเกี่ยวข้องและ สัมพันธ์กันอย่างไร มีอิทธิพลต่อกันและกันอย่างไรแล้ว เราก็สามารถควบคุมเวทนาได้ ทำให้ปีติเกิดขึ้นก็ได้ ทำให้ปีติเพิ่มขึ้นก็ได้ ทำให้ปีติลดลงก็ได้ เพราะเข้าใจเหตุปัจจัย และความสัมพันธ์ของสัญญาและเวทนา เช่น ถ้าเรานึกถึงการทำบุญในอดีต การสร้างพระพุทธรูป การถวายกฐิน ก็ทำให้เกิดปีติได้ การควบคุมเวทนาโดยอาศัยอำนาจสมาธิ และอำนาจปัญญา 1. การควบคุมเวทนาโดยอาศัยอำนาจสมาธิ เมื่อมีปีติเล็กน้อย ต้องการทำให้ปีติมากขึ้น ก็อาศัยอำนาจสมาธิ คือ การเปลี่ยนความรู้สึก (เวทนา) ด้วยการบังคับ ใช้กำลัง (will power) บังคับให้ปีติเพิ่มมากขึ้นๆ และเมื่อปีติมาก ก็ระงับปีติได้ด้วยอำนาจสมาธิเหมือนกัน คือ ด้วยการบังคับ 2. การควบคุมเวทนาโดยอาศัยอำนาจปัญญา เมื่อมีปีติอยู่เล็กน้อย ก็สามารถเพิ่มปีติให้มากขึ้นได้ โดยอาศัยอำนาจปัญญา คือ การเอาสติระลึกถึงสัญญา เช่น พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ จาคานุสติ เป็นต้น ทำให้ปีติเพิ่มมากขึ้น นี่เรียกว่า ใช้ปัญญาให้เกิดปีติ หรือให้ปีติเพิ่มมากขึ้น หรือใช้อำนาจปัญญาระงับปีติก็ได้เช่นกัน โดยใช้ปัญญาระลึกถึงบางสิ่งบางอย่าง ทำให้ปีติระงับไป ในการปฏิบัติก็ใช้ทั้งอำนาจสมาธิและอำนาจปัญญาควบคุมปีติ ควบคุมเวทนา ทั้งฝ่ายกุศลและฝ่ายอกุศล เป็นกรณีๆ ไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย การฝึกในขั้นนี้จึงเป็นการยกระดับอริยมรรคมีองค์ 8 หรือ ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้พัฒนาขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เพราะเป็นการกำหนด ควบคุม เปลี่ยนความรู้สึก ซึ่งต้องใช้กำลังมากกว่า ในอานาปานสติ เราฝึกกับเวทนาฝ่ายกุศล คือ ปีติและสุข เมื่อเราฝึกจนชำนาญแล้ว ถ้าเวทนาฝ่ายอกุศลเกิดขึ้น เช่น ความโกรธ ความน้อยใจ เสียใจ เกิดขึ้น ก็จะระงับไปโดยอัตโนมัติ หมายความว่า ถ้าเราฝึกขั้นที่ 5 ชำนาญแล้ว อาคันตุกะทุกข์ ความเศร้า โศกต่างๆ ก็จะน้อยลงโดยอัตโนมัติ เป็นไปเองโดยธรรมชาติ หรือด้วยการปรับปรุงลมหายใจ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนความรู้สึกด้วย การทำให้เกิดสติสัมปชัญญะ มีความรู้สึกตัว เกาะแนบแน่นอยู่กับ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า อานาปานสติ ขั้นที่ 6 รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข จักหายใจออก เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข จักหายใจเข้า ปีติ เป็นสุขเวทนาแบบหยาบ สุข เป็นสุขเวทนาแบบละเอียด ทั้งสองอย่างนี้อยู่ในสุขเวทนา ซึ่งเราสมมุติแยกออกมาเป็นปีติ และสุข แต่ที่จริงก็เป็นเรื่องเดียวกัน ต่อเนื่องกัน คล้ายกัน ปีติสุข นี้มาด้วยกัน เกิดด้วยกันนี่แหละ เมื่อระงับปีติก็จะเหลือแต่สุข อุปมาอุปมัยเปรียบเทียบได้ว่า ทำแกงซุป เอาซี่โครงไก่ มันฝรั่ง หัวหอมใหญ่ ฯลฯ มาต้ม ปรุง เป็นซุปไก่ ตักใส่ในถ้วย รับประทาน บางคน บางครั้ง ถ้าเราต้องการของละเอียดอย่างเดียว ของหยาบๆ เอาออก เอาไว้แต่ของละเอียด คือ น้ำซุปอย่างเดียวก็ได้ ปีติสุขก็เช่นเดียวกัน เกิดพร้อมกัน เป็นของหยาบและของละเอียดที่อยู่ด้วยกัน บางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องแยกออกจากกัน การปฏิบัติตามหลักอานาปานสติแบบสมบูรณ์ จะศึกษาเวทนา และปฏิบัติให้ละเอียดต่อไป จึงแยกพิจารณา ปีติ และสุข วิธีกำหนดสุข อุบายที่ใช้ เหมือนกับขั้นที่ 5 พร้อมรู้เฉพาะซึ่งปีตินั่นเอง ในขั้นที่ 6 นี้ ท่านให้ทรงไว้ซึ่งสุข ทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ความรู้สึก “ปีติ” เห็นได้ชัด มีตัวตนที่จะกำหนดได้ สุขนี้เหมือนอากาศไม่มีตัวตนที่จะให้กำหนด เป็นของละเอียด การฝึกในขั้นนี้ การกำหนดสุข ต้องใช้กำลังสติ สมาธิ ปัญญา มากขึ้น จึงเป็นการฝึกเพิ่มกำลังสติ สมาธิ ปัญญาไปในตัว วิธีกำหนดสุข ให้เริ่มจากการกำหนดปีติ ให้เกิดปีติมากขึ้นๆ จนพอ สมควร แล้วก็ปล่อยให้ปีติระงับไป เหลือไว้แต่ความรู้สึกสงบสุข ไปเรื่อยๆ แล้วเข้าไปดูใกล้ๆ ดูให้เห็นชัด ทรงไว้นานๆ รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุขทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิกับสุข ให้สังเกตว่า ปีติ และสุข มีอิทธิพลตรงกันข้ามต่อลมหายใจ ปีติ ทำให้ลมหายใจหยาบขึ้นๆ มีผลต่อร่างกาย และทำให้เกิดอาการทางกายด้วย เช่น น้ำตาไหล ตัวโยก เป็นต้น เมื่อระงับปีติลง ลมหายใจจะละเอียดขึ้น สุข ทำให้ลมหายใจละเอียด สุขุม ประณีตมากขึ้น ไม่มีอาการทางกาย ปีติแทรกแซงเข้ามาเมื่อไร ความสุข ความสงบก็หายไป การ “รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข” คือการฝึกจิตให้ตั้งมั่นต่อความสุข ทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ขั้นนี้ เป็นการสร้างสมรรถภาพ (skill) ของสติปัญญา มากกว่าขั้นก่อน ในการปฏิบัติปีติ และสุข ก็ปฏิบัติด้วยกัน แยกกันไม่ได้ อานาปานสติ ขั้นที่ 7 รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร จักหายใจออก เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร จักหายใจเข้า จิตตสังขาร คือ การปรุงแต่งของจิตโดยเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ ทั้งปีติและสุข เป็นเวทนาขันธ์ เป็น จิตตสังขารฝ่ายกุศล (จิตตสังขารฝ่ายอกุศล คือความรู้สึกทุกข์ใจ หงุดหงิด ที่เกิดอยู่ในชีวิตประจำวัน) อานาปานสติ ขั้นที่ 7 นี้ เรายกเอาจิตตสังขารขึ้นมาเป็นบทศึกษา “เป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขารทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า” ในขั้นนี้จึงเป็นการศึกษาจิตตสังขาร คือศึกษาเวทนาฝ่ายกุศล เพื่อให้เห็นชัด เข้าใจชัด ถึงความสัมพันธ์ ความเป็นเหตุปัจจัยแก่กัน ของเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ เพื่อที่เราจะสามารถควบคุมเวทนา และสัญญาหรือจิตตสังขารได้ต่อไป อานาปานสติ ขั้นที่ 7 เป็นการทำความเข้าใจจิตตสังขาร ขันธ์ 5 และปฏิจจสมุปบาท หรือจะกล่าวว่าเราศึกษาจิตตสังขาร เพื่อให้เข้าใจเรื่องขันธ์ 5 และปฏิจจสมุปบาท ชัดมากขึ้นๆ คือจะเริ่มเห็นความสัมพันธ์ ความเกี่ยวข้องกัน หรือความเป็นเหตุ ปัจจัยแก่กันของขันธ์ 5 โดยเริ่มที่เวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยให้เอาเวทนาขันธ์เป็นตัวยืน เป็นตัวหลัก คือกำหนดศึกษาเวทนา คือจิตตสังขารเป็นหลัก ยืนอยู่ที่เวทนานี้ ให้รู้ชัดเห็นชัด ซึ่งเวทนาขันธ์ เห็นความสัมพันธ์ของเวทนาขันธ์กับสัญญาขันธ์ เห็นให้ชัด เข้าใจให้ชัด ถ้าเห็นไม่ชัด ก็กลับไปฝึกอานาปานสติ ขั้นที่ 5 และ 6 ใหม่ ในขั้นนี้ เราจะศึกษา และกำหนดดูเวทนาที่เปลี่ยนไปตาม เหตุปัจจัย เราจะไม่พยายามรักษาปีติ สุขให้คงอยู่นานๆ ไม่ต้องควบคุมปีติสุข เรากำหนดจิตให้ตั้งมั่นต่อเวทนา คือ ปีติ สุข แต่ปล่อยเวทนาให้เปลี่ยนไปตามความเหมาะสม ตามเหตุปัจจัย แล้วคอยสังเกตดู คอยศึกษาดูว่า มีเหตุปัจจัยอะไร ที่มีผล ต่อเวทนาคือ จิตตสังขาร และผลเป็นอย่างไร อาศัยการสังเกตดูจิตตสังขาร หรือเวทนาด้วยสติ สมาธิ ปัญญา ทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า เพื่อจะดูให้เห็นชัดว่า จิตนั้นถูกปรุงแต่งด้วยเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์อย่างไร มีเหตุปัจจัยเกี่ยวข้องกันอย่างไร สังเกตให้ติดต่อกัน จนกว่าจะเห็นชัด และเข้าใจชัด ถึงความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันของเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ อย่าลืมนะว่า ในขั้นนี้เราเอาเวทนาเป็นหลัก เป็นตัวกำหนด และสังเกตว่า เวทนาเปลี่ยนแปลง เพราะได้รับอิทธิพลจาก สัญญาขันธ์ที่เปลี่ยนแปลง การปฏิบัติในขั้นที่ 5 – 6 นั้น เราได้ควบคุมเวทนา ให้เกิดปีติบ้าง ให้เกิดสุขบ้าง การควบคุมเวทนานั้น อาศัยอำนาจสมาธิอย่างหนึ่ง อาศัยสติควบคุมสัญญาอย่างหนึ่ง อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างพร้อมกัน ถ้าควบคุมผัสสะและวิญญาณได้ ก็ควบคุม เวทนาได้ ถ้าควบคุมสัญญาได้ ก็ควบคุม เวทนาได้ ถ้าควบคุมเวทนาได้ ก็ควบคุม สัญญาได้ ถ้าควบคุมเวทนาและสัญญาได้ ก็ควบคุม สังขารได้ ขอให้เรากำหนด สังเกตดูด้วยตัวเองว่า จะเป็นจริงดังข้างบนนี้หรือไม่ แต่ในขั้นที่ 7 นี้ เราตามสังเกตดูจิตตสังขาร โดยไม่ต้องควบคุม เพื่อความเข้าใจและเห็นได้ชัดในเวทนาขันธ์ การเข้าใจ และเห็นชัดในเวทนา และขันธ์ 5 ก็คือการเข้าใจใน ปฏิจจสมุปบาท คือความเป็นเหตุปัจจัยแก่กันและกัน คือการที่สิ่งทั้งหลายอาศัยซึ่งกันและกันจึงเกิดขึ้น จิตตสังขาร จิตตสังขารในอานาปานสติ จัดเป็นเวทนา เป็นเวทนาขันธ์ในขันธ์ 5 ไม่ใช่สังขารขันธ์ เป็นการปรุงแต่งของเวทนา และสัญญา สัญญากับเวทนารวมกันเป็นจิตตสังขาร เวทนาเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพราะสัญญาเข้ามาปรุงแต่ง ปีติ สุข ในอานาปานสติ จัดเป็นเวทนาขันธ์ แต่บางแห่งจัดเป็นสังขารขันธ์ก็มี จิตตสังขาร เป็นจิตใจที่สงบ ไม่มีสังขารขันธ์เข้ามาปรุงแต่ง ไม่ใช่การปรุงแต่งของจิต ยังไม่มีการนึกคิดปรุงแต่ง ระวัง อย่าให้สังขารขันธ์ ทำงาน (active) คืออย่าให้มีความนึกคิดปรุงแต่งเกิดขึ้น เราตามดูแต่จิตตสังขาร และการเปลี่ยนแปลงของจิตตสังขาร ซึ่งเป็นเวทนาขันธ์ เป็นผลของเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์เท่านั้น สังขารขันธ์ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าเราปล่อยให้เกิดการนึกคิดปรุงแต่งเข้ามาปน ท่านจัดเป็นสังขารขันธ์ ไม่ใช่เวทนาขันธ์ จิตตสังขาร ยังอยู่ในความสงบ ไม่มีความนึกคิดปรุงแต่ง แต่ให้มีสติระลึกถึงสัญญาได้ เช่น พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ จาคานุสสติ เป็นต้น เช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นสังขารความนึกคิดปรุงแต่ง รู้เฉพาะจิตตสังขาร คือรู้เฉพาะเรื่องขันธ์ห้า การศึกษาจิตตสังขาร คือ การศึกษาขันธ์ 5 ทั้งหมดนี้เอง ขันธ์ 5 คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ อานาปานสติ ขั้นที่ 8 ทำจิตตสังขารให้สงบระงับ เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับอยู่ จักหายใจออก เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับอยู่ จักหายใจเข้า ขั้นนี้เป็นขั้นสุดท้ายของเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในอานาปานสติสูตร ขั้นที่ 5 – 6 เน้นหนักในสมถะ คือ มีการควบคุมและบังคับเวทนา ให้มีปีติ ให้มีสุข ทำจิตตั้งมั่นกับปีติและสุข ขั้นที่ 7 ทำจิตตั้งมั่นสังเกตดู เพื่อเข้าใจความจริง ของจิตตสังขาร คือเข้าใจขันธ์ 5 และเข้าใจปฏิจจสมุปบาท ขั้นที่ 8 เป็นการปฏิบัติต่อเนื่องจากขั้นที่ 7 เมื่อปฏิบัติอานาปานสติ ขั้นที่ 7 ได้สมบูรณ์แล้ว ก็สามารถกำหนดรู้เท่าทันเวทนา คือ จิตตสังขารได้ เห็นชัดว่า เวทนาเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เวทนาสักแต่ว่าเวทนา ถ้าเห็นชัดอย่างนี้ จิตตสังขารย่อมระงับไปเอง คืออานาปานสติขั้นที่ 8 ไม่เกิดตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ และ อัตตา ตัว ตน ทุกข์ไม่เกิด การทำจิตตสังขารให้สงบระงับ การกำหนดเวทนาให้ติดต่อกัน จนเห็นเวทนาตามความเป็นจริง ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นการระงับจิตตสังขาร เข้าถึง เตสังวูปะสะโม สุโข คือ ความเข้าไปสงบระงับสังขารทั้งหลายเป็นสุขอย่างยิ่ง เกิดนิโรธ สมาหิโต ยถาภูตัง ปชานาติ ผู้มีจิตตั้งมั่น ย่อมเห็นสิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริง ถ้าจิตใจสะอาด ตั้งมั่น ว่องไวพอตัว มีจิตตั้งมั่นต่อเวทนา สามารถเข้าถึงเวทนาสัญญาได้จริง ก็จะเห็นเวทนาตามความเป็นจริง คือเห็นว่าเวทนาเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ควรยึดมั่น ถือมั่น เมื่อปัญญาเกิดขึ้นเช่นนี้ การระงับจิตตสังขาร คือละอุปาทาน ละความยึดมั่นถือมั่นในเวทนา ก็เกิดขึ้นเอง ขอย้ำอีกครั้งว่า การปฏิบัติในขั้นที่ 7 นั้น เราอาศัยจิตที่ ตั้งมั่นเป็นสมาธิเข้าไปดูเวทนา เป็นการดูอย่างละเอียด ทุกแง่ ทุกมุม ทุกๆ ส่วน ดูไปเรื่อยๆ ผลที่ออกมาคือ ความรู้แจ้งเห็นจริงว่า เวทนาเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เวทนาสักแต่ว่าเวทนา เวทนาไม่ใช่สัตว์ บุคคล เรา เขา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เมื่อเห็นเวทนาด้วยปัญญาชอบแล้ว ตัณหาซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิด ทุกข์ก็ระงับไป เป็นการระงับจิตตสังขาร เป็นวิปัสสนาปัญญา เป็นการปล่อยวางด้วยสติ สมาธิ ปัญญา การปฏิบัติในขั้นนี้ จะช่วยให้เราเข้าใจ หัวใจของพระพุทธศาสนา คือ อริยสัจ 4 ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค และเข้าใจปฏิจจสมุปบาทไปพร้อมกัน พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ทุกข์เกิดขึ้น เพราะมีตัณหาเป็นเหตุ ตัณหาเกิดขึ้นก็เพราะมีเวทนา เวทนาคือความรู้สึกชอบใจ ไม่ชอบใจ เวทนาเกิดขึ้นจากผัสสะ เช่น เมื่อตาเห็นรูปที่สวย เกิดความพอใจ ชอบใจ แล้วก็อยากได้ เห็นรูปที่ไม่สวย เกิดความรู้สึกไม่ชอบใจ ก็ไม่อยากได้ ได้ยินเสียงไพเราะ ก็เกิดตัณหาอยากฟัง แต่ถ้าเป็นเสียงนินทา ก็เกิดความรู้สึกไม่ชอบ และเกิดวิภวตัณหา ไม่อยากฟัง ดังนี้เป็นต้น คือ เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส กายได้รับรู้สัมผัส ใจรับรู้ธรรมารมณ์ เมื่อมี สัญญา คือความทรงจำในอดีตเข้ามาประกอบ ก็เกิดความรู้สึก คือ เวทนา ชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง เมื่อ สังขาร เกิดขึ้น ปรุงแต่งต่อไป ก็เกิดเป็น ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ ฯลฯ เกิดเป็น ปฏิจจสมุปบาท หรือ วงจรแห่งความทุกข์ ขึ้นมาอย่างสมบูรณ์ การศึกษาอานาปานสติขั้นที่ 8 นี้ ก็เพื่อให้เราสามารถ ควบคุมเวทนาได้ เมื่อทำได้แล้ว ย่อมเท่ากับว่า เราสามารถ ควบคุมไม่ให้เกิดตัณหา และไม่ให้เกิดความทุกข์ไปพร้อมๆ กัน ความจริงถ้าปฏิบัติ ขั้นที่ 8 ให้สมบูรณ์จริงๆ ได้ก็พอแล้ว เพราะการระงับจิตตสังขาร และไม่ให้เกิดจิตตสังขาร โดยการควบคุม หรือกำหนดรู้เท่าทัน รู้ตามความเป็นจริงของเวทนาว่า เวทนาสักแต่ว่าเวทนา ถ้าทำได้ดีต่อเนื่องกันตลอดไป ตัณหาก็จะเกิดไม่ได้ เมื่อไม่มีตัณหา ก็ไม่มีทุกข์ ถ้าผ่านได้ เข้าไปสงบระงับสังขารได้สมบูรณ์แล้ว ก็เข้าถึง เตสังวูปะสะโม สุโข คือ ความเข้าไปสงบระงับสังขารเป็นสุขอย่างยิ่ง การปฏิบัติของเราก็เป็นการปฏิบัติถูกต้อง ถึงเป้าหมายของการปฏิบัติแล้ว ถ้าเราปฏิบัติถูกต้องมาตามขั้นตอนถึงอานาปานสติขั้นที่ 8 เราก็พร้อมแล้วที่จะละสังโยชน์ 10 ได้ แต่ถ้าเรายังละสังโยชน์ไม่ได้ กิเลสก็จะโผล่ขึ้นมาเป็นระยะๆ จึงยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะเหตุยังไม่สมบูรณ์ กำลังของศีล สมาธิ ปัญญา ยังไม่สมบูรณ์ หมายความว่า จิตยังไม่บริสุทธิ์ ยังมีกิเลสอยู่ในจิต จึงต้องศึกษาจิตต่อไป ------------------------------------------------------------- สติปัฏฐาน 4 ในมหาสติปัฏฐานสูตร การพิจารณาทุกขเวทนา นั่งจนตาย พระภิกษุในปากเสือ – เวทนาไม่ใช่เรา เต่าเจ้าปัญญา – เราไม่ใช่น้ำ สังโยชน์ 10 พระโสดาบัน นางวิสาขา ได้ดวงตาเห็นธรรม ขันธ์ 5 เวทนา สังขาร สังขารขันธ์ในขันธ์ 5 ------------------------------------------------------------- สติปัฏฐาน 4 ในมหาสติปัฏฐานสูตร (เปรียบเทียบกับสติปัฏฐาน 4 ในอานาปานสติสูตร) เรากำลังศึกษาสติปัฏฐาน 4 ในอานาปานสติ แต่ส่วนใหญ่หรือตามปกติ เมื่อพูดถึงสติปัฏฐาน 4 จะหมายถึง สติปัฏฐาน 4 ในมหาสติปัฏฐานสูตร ซึ่งได้แก่ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน กายานุปัสสนาสติปัฏฐานในมหาสติปัฏฐานสูตร ประกอบด้วย 1. อานาปานสติ คือการกำหนด ลมหายใจ 2. อิริยาบถ คือการกำหนด การยืน เดิน นั่ง นอน 3. สัมปชัญญะ คือการกำหนด อิริยาบถย่อย 4. ปฏิกูลมนสิการ คือการกำหนด รูปกายว่าเป็นสิ่งปฏิกูลโสโครก 5. ธาตุมนสิการ คือการกำหนด รูปกายว่าเป็นสักแต่ว่าธาตุ 6. นวสีวถิกา คือการกำหนด รูปกายเป็นซากศพในระยะต่างๆ 9 ระยะ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานในมหาสติปัฏฐาน การพิจารณาทุกขเวทนา ในอานาปานสติ เรากำหนดสุขเวทนา เป็นอารมณ์กรรมฐาน แต่ปกติการพิจารณาเวทนาโดยทั่วๆ ไป และการพิจารณาเวทนา ในมหาสติปัฏฐาน ท่านยกเอาทุกขเวทนามาเป็นองค์กรรมฐาน คือยกเอาความรู้สึกทุกข์ มาเป็นตัวกำหนด ความสุขหาตัวตนไม่ได้ เกิดขึ้นเดี๋ยวเดียวก็หายไป แต่ความทุกข์เห็นได้ชัดเจน เช่น นั่งนิ่งๆ ไม่นานก็เกิดทุกข์เวทนา จึงมักจะอาศัยทุกขเวทนา เป็นตัวกำหนด เช่น อาศัยอิริยาบถนั่งนิ่งๆ นั่งนานๆ ยืนนานๆ เดินนานๆ ไม่ขยับ การขยับเป็นการหนีจากทุกข์ เป็นการปิดบังเวทนาไม่ให้ปรากฏ ปกติเราก็จะพยายามหนีจากทุกข์ตามสัญชาตญาณของเราด้วยการขยับ เราจึงปฏิบัติพิจารณาทุกขเวทนาด้วยการนั่งนานๆ ยืนนานๆ เดินนานๆ ไม่ขยับ เพื่อที่จะได้เห็นเวทนา คือความทุกข์ ตามความเป็นจริงของมัน สำหรับผู้ปฏิบัติใหม่ เมื่อเกิดทุกข์ทรมานจนทนไม่ไหวก็ค่อยๆ ขยับ เมื่อเปลี่ยนอิริยาบถทุกข์ก็ดับไปถ้าทนไม่ไหว หนีไว้ก่อน ตามใจตัณหา คือขยับ ไม่นานก็จะเกิดทุกข์อีก ก็พิจารณาทุกข์ต่อไปอีก พยายามให้เกิดความรู้สึกเด่นชัด คือ ให้มีทุกข์ตลอด นั่งก็เป็นทุกข์ ยืนก็เป็นทุกข์ เดินก็เป็นทุกข์ นอนก็เป็นทุกข์ กินก็เป็นทุกข์ แม้แต่นอนก็เป็นทุกข์นะ ไม่ใช่สุขตามที่เราเข้าใจ ลองดูก็ได้ นอน แล้วพยายามรักษาทุกส่วนของร่างกายให้อยู่นิ่งๆ ให้นอนนิ่งๆ สัก 5-10 นาที ก็เป็นของยาก ไม่กี่นาทีความรู้สึกเจ็บปวดก็เกิดขึ้น นี่เป็นการกำหนดเวทนาฝ่ายทุกข์ คือทำให้เกิดทุกขเวทนาตลอดเวลา เพื่อใช้พิจารณา ถึงแม้จะกำลังมีความสุข ก็พิจารณาให้เห็นว่าในความสุขนั้น ก็มีทุกข์แฝงอยู่ เพราะความรู้สึกก็ไม่คงที่ แว้บเดียวก็แตกสลาย ไปเป็นทุกข์อีก เห็นความรู้สึกสุขว่าเป็นทุกข์ เลยมีแต่ทุกข์ เมื่อปฏิบัติไปๆ ก็จะเกิดความเข้าใจเด่นชัดขึ้นว่า ทุกข์นั้นเกิดขึ้นมาอย่างไร ตั้งอยู่อย่างไร ดับไปอย่างไร ใครเป็นทุกข์ เวทนาไม่เที่ยง เป็นความจริงเพียงใด เวทนาไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เป็นความจริงเพียงใด นั่งจนตาย วิธีหนึ่งที่ครูบาอาจารย์นิยมปฏิบัติกันคือ นั่งจนตาย ผู้เจริญวิปัสสนา เมื่อได้สร้าง อินทรีย์แก่กล้า ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แก่กล้า จิตใจฝักใฝ่ในธรรมะ พร้อมที่จะเสียสละชีวิตเพื่อธรรมะ พระบรมศาสดาและพระมหาโมคคัลลานะ ท่านนั่งกรรมฐาน โดยอธิษฐานจิตว่า “แม้หนัง เอ็น กระดูก เท่านั้นจักเหลืออยู่ เนื้อและเลือดในสรีระนี้จักเหือดแห้งไปก็ตามที ข้าพเจ้าจะไม่ลุกขึ้นหรือแม้แต่ไม่ขยับ จนกว่าจะรู้แจ้งเห็นจริงในทุกข์” ข้อปฏิบัติที่สำคัญที่สุด คือ ไม่เปลี่ยนอิริยาบถ ไม่ขยับ ไม่เชื่อฟังกิเลสตัณหา พยายามเข้าถึงหรือสัมผัส “เวทนา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน” เมื่อเกิดสมาธิ ไม่มียินร้ายต่อทุกขเวทนา และเมื่อดับตัณหาอุปาทานได้ จิต กับเวทนาก็แยกออกจากกัน เหมือนน้ำกับน้ำมัน รู้เห็นตามความเป็นจริงของเวทนา ถึงจุดนี้ทุกข์ก็จะดับไป ตามที่ท่านว่า เห็นทุกข์ไม่มีทุกข์ นี่เป็นวิธีเอาจริงเอาจังที่เหมาะกับบางคนเท่านั้น ธรรมชาติของเวทนา ความรู้สึก คือเวทนามันละเอียด เปลี่ยนเร็ว บางครั้งก็มีมาก บางครั้งก็มีน้อย ทนยาก หลงง่าย นี่เป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่ง ความรู้สึกนี้กำหนดยาก เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยมากก็กำหนดยากจริงๆ เพราะเวทนาเป็นนามธรรม ไม่มีตัวตน ไม่เหมือนกายหรือลมหายใจ จะกำหนดเมื่อไรก็มีอยู่ กำหนดได้ทุกเวลา การกำหนดเวทนาในอานาปานสติ เราเอาสุขเวทนาทางใจมา เป็นตัวกำหนด แต่จะกำหนดทุกขเวทนา หรือสุขเวทนาก็ตาม เมื่อเราสามารถควบคุมเวทนาได้ เราก็ควบคุมกิเลสตัณหาได้ เราก็ไม่เชื่อฟังกิเลสตัณหาอีกต่อไป พระภิกษุในปากเสือ – เวทนาไม่ใช่เรา วันหนึ่ง พระภิกษุหลายรูป เดินในป่าเป็นแถว เสือตัวหนึ่งวิ่งมา จากด้านหลัง วิ่งผ่านข้างๆ พระไปถึงพระองค์ที่เดินนำหน้ารูป แรกนั้นแหละ แล้วก็เข้าไปกัดกินพระรูปแรก พระภิกษุทนทุกข์ เวทนาสาหัสไม่ได้ ก็ร้องขอความช่วยเหลือ พระทั้งหลายก็วิ่งไปดู เห็นเสือกำลังกินเท้าพระอยู่ พระเหล่านั้นจึงตะโกนบอกว่า พวกเราช่วยอะไรท่านไม่ได้แล้ว ธรรมะของพระศาสดาเท่านั้นที่จะช่วยท่านได้ พระภิกษุรูปนั้นก็ได้สติ ทำจิตนิ่ง โอปนยิโก เพ่งเข้าไปดูที่เสือกำลังกิน พิจารณาได้ว่า เวทนาไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน มันเป็นอนัตตา เมื่อเสือกินท่านถึง ข้อเท้า ท่านได้บรรลุ โสดาบัน เมื่อเสือกินท่านถึง หัวเข่า ท่านได้บรรลุ สกิทาคามีผล เมื่อเสือกินท่านถึง เอว ท่านได้บรรลุ อนาคามีผล เมื่อเสือกินท่านถึง หัวใจ ท่านได้บรรลุ อรหัตผล และขาดใจตาย........ เข้านิพพาน เรื่องนี้สอนเราว่า อย่าประมาท ทุกเหตุการณ์ เป็นโอกาส เป็นหนทาง ที่จะเข้าถึงสัจจธรรมได้เหมือนกัน ให้สติ สมาธิ ปัญญา รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียว อย่าประมาท พยายามมีสติ ใคร่ครวญธรรม จนลมหายใจสุดท้าย ครูบาอาจารย์ก็เทศน์สอนบ่อยๆ ว่า ผู้ปฏิบัติธรรมที่เห็นธรรม บรรลุธรรมในขณะที่กำลังจะตาย ในวาระสุดท้ายของชีวิต ก็มีหลายองค์ ปกติการปฏิบัติทุกขเวทนาก็ทำไม่ได้เต็มที่ เพราะเราจะกลัว กลัวว่า แขนจะหัก ขาจะหัก เป็นต้น แต่ขณะที่เราป่วย กำลังจะตาย เกิดทุกขเวทนามาก ทำอย่างไรก็หนีไม่ได้ หมอก็ช่วยไม่ได้แล้ว ถ้าเราเคยปฏิบัติทุกขเวทนาบ้าง มีพื้นฐานบ้างแล้ว ช่วงนี้ก็อาจจะสามารถพิจารณา ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง กำหนดทุกขเวทนาได้เป็นอย่างดี ก็มีโอกาสเข้าถึงสัจจธรรมเหมือนกัน เต่าเจ้าปัญญา – เราไม่ใช่น้ำ ปกติคนเราไม่เห็นทุกข์ ทั้งๆ ที่ทุกข์จนเกือบจะตายอยู่แล้ว ก็เพราะว่าจิตเข้าไปเจือปน จิตกับเวทนาคือทุกข์ปนกันอยู่ เหมือน น้ำกับน้ำนมโค ปนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่สามารถเห็นได้ว่าอันไหนเป็นน้ำ อันไหนเป็นนม หรือเหมือน กาแฟใส่นม ที่ชงแล้ว แยกไม่ออกว่า อันไหนเป็นกาแฟ อันไหนเป็นนม อันไหนเป็นน้ำ หรือที่มักจะพูดว่า ปลาอยู่ในน้ำ ไม่เห็นน้ำ ปลาก็เกิดในน้ำ มีชีวิตอยู่ในน้ำ ตายในน้ำ แต่ไม่เห็นน้ำ ไม่รู้จักน้ำ น้ำคือเวทนา ปลาคือจิต เราต้องทำตัวเหมือนเต่า อย่าทำตัวเหมือนปลาไม่เห็นน้ำ เต่าลงไปในน้ำ แล้วก็เดินขึ้นมาบนบก มองกลับไปดูน้ำ ก็ฉุกคิดได้ว่า เราไม่ใช่น้ำ น้ำไม่ใช่เรา เราไม่ใช่อยู่ในน้ำ น้ำไม่ใช่อยู่ในเรา เราก็เช่นเดียวกัน เราต้องปฏิบัติกับเวทนาจนสามารถเห็นได้ว่า เราไม่ใช่เวทนา เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่อยู่ในเวทนา เวทนาไม่ใช่อยู่ในเรา สังโยชน์ 10 สังโยชน์ คือ ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์มี 10 อย่าง 1. สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นว่า เป็นตัวเป็นตน เช่น เห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นตัว เป็นตน 2. วิจิกิจฉา คือ ความสงสัย ความลังเล 3. สีลัพพตปรามาส คือ ความถือมั่นศีลพรต โดยสักว่าทำตามๆ กันไป อย่างงมงาย เห็นว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้เพียงด้วยศีลและพรต 4. กามราคะ คือ ความกำหนัดในกาม ความติดใจในกาม 5. ปฏิฆะ คือ ความกระทบกระทั่งใจ ความหงุดหงิด ขัดเคือง 6. รูปราคะ คือ ความติดใจในอารมณ์แห่งฌาน หรือรูปธรรมอันประณีต 7. อรูปราคะ คือ ความติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน 8. มานะ คือ ความสำคัญตน 9. อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน 10. อวิชชา คือ ความไม่รู้จริง พระโสดาบันบุคคล ละสังโยชน์ข้อที่ 1 – 2 – 3 ได้ ได้ดวงตาเห็นธรรม พระสกิทาคามีบุคคล ละสังโยชน์ได้ เท่ากับพระโสดาบันบุคคล แต่สามารถทำสังโยชน์ที่เหลือให้เบาบางลงได้ พระอนาคามีบุคคล ละสังโยชน์ ข้อ 4 – 5 ได้ พระอรหันต์บุคคล ละสังโยชน์ ข้อ 6 – 10 ได้ พระโสดาบัน ท่านเกิดในกามภพอีกไม่เกิน 1 ชาติ ถึง 7 ชาติ พระสกิทาคามีบุคคล ท่านกลับมาเกิดในกามภพอีกชาติเดียว พระอนาคามีบุคคล เป็นผู้ไม่กลับมาอีก คือ Non – Returner หมายความว่า ท่านไม่มาเกิดในกามภพอีก ท่านเสวยสุขในสุทธาวาส แล้วปรินิพพานที่นั่น พระอรหันต์ ท่านตัดกิเลสได้โดยเด็ดขาด ไม่กลับมาเกิดอีก พระโสดาบัน ดวงตาเห็นธรรม เกิดขึ้นเมื่อศีล สมาธิ ปัญญา ปรากฏขึ้น พร้อมกัน ในขณะเดียวกัน เกิดมรรคสมังคี หรือ อริยมรรคมีองค์แปด เห็นพระนิพพานในขณะนั้น คือเห็นชัดว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งเหล่านั้นทั้งหมดย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา ยังกิญจิสะมุทะยะธัมมัง สัพพันตังนิโรธะธัมมัง ละสังโยชน์ขั้นต่ำ 3 อย่างได้ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส จิตตกกระแสพระนิพพาน เป็นโสดาบันบุคคล โสดาบันบุคคล ไม่เกิดในอบายภูมิ มี นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดียรัจฉาน เป็นต้น เมื่อตายก็ไปสุคติ และเกิดในภูมิที่ดี เช่น มนุษย์ เทวดา เป็นต้น และเกิดในตระกูลที่เป็นสัมมาทิฏฐิ พร้อมที่จะศึกษาและปฏิบัติธรรมต่อไป ผู้ที่ละสังโยชน์ได้ คือ ผู้ที่ได้เจริญสติ จนสติติดต่อกันแนบแน่นใน วัตถุที่กำหนด เช่น กาย จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ เห็นตามความเป็นจริงว่า กายสักแต่ว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เรา เขา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เป็นอนัตตา พระโสดาบันบุคคล ไม่กลับไปสู่อบายภูมิ ตายแล้วไม่มีทุคติ เรียกว่า ตายก็ตายดี เกิดก็เกิดดี การตายก็ไม่น่ากลัว ไม่ต้องกลัวตายมากมาย บางทีก็ใช้สำนวนว่า พระโสดาบันตั้งมั่นใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตั้งอยู่ในศีล 5 ในทุกกรณี ไม่ทำความชั่ว - คนที่ได้เป็นโสดาบันกลุ่มหนึ่ง เห็นโทษเห็นภัยในวัฏสงสาร ก็เร่งรีบภาวนาเพื่อที่จะบรรลุพระนิพพาน - แต่บางท่านก็ยังพอใจในโลกียสุข ไม่รีบเร่งที่จะเลื่อนจิตใจให้ สูงขึ้นมากมาย ท่านก็อยู่สบายๆ มีความสุขอยู่ในทางโลก แต่ก็ไม่ทำบาป ทำแต่ความดี บำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น ท่านมีมนุษย์สมบัติบริบูรณ์ ตัวอย่างก็คือนางวิสาขา การปฏิบัติของเราทุกคน ก็เพื่อละสังโยชน์ ถ้าหากละสังโยชน์ไม่ได้ การปฏิบัติของเรา การเจริญสมถะ วิปัสสนากรรมฐาน ก็ไม่ได้ผล ไม่ได้ประโยชน์ที่แท้จริง นางวิสาขา ได้ดวงตาเห็นธรรม นางวิสาขาได้โสดาปัตติผล ได้ดวงตาเห็นธรรมตั้งแต่อายุ 7 ขวบ นางเป็นลูกของเมณฑกเศรษฐี เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จถึงนคร ของตนแล้ว เศรษฐีได้เรียกลูกสาวคือนางวิสาขามาบอกว่า “แม่หนู เป็นมงคล ทั้งแก่เจ้า ทั้งแก่เรา แม่หนูกับพวกเด็กหญิง บริวารของเจ้า 500* คน จงขึ้นรถ 500* คัน แวดล้อมด้วย ทาสี 500* คน ไปทำการต้อนรับพระทศพล” (500 เป็นภาษาอินเดียโบราณ หมายถึง จำนวนมาก) นางรับคำบิดา แต่ความที่นางเป็นเด็กฉลาด รู้ในเหตุอันควร และไม่ควร นางจึงไปด้วยยานเป็นระยะทางหนึ่งเท่าที่ไปได้ จากนั้นก็ลงจากยานแล้ว เดินดิ่งไปเฝ้าพระบรมศาสดา ถวายบังคม แล้วยืนในที่อันควร ครั้งนั้นพระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมพอเหมาะแก่เด็กเหล่านั้น พอจบพระธรรมเทศนา นางวิสาขา พร้อมด้วยเด็กหญิง 500* คน ก็ได้ ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ละสังโยชน์ข้อ 1, 2 และ 3 ได้ดวงตาเห็นธรรม ต่อมาเมื่อนางวิสาขา อายุได้ 16 ขวบ ได้แต่งงานมีบุตร 10 คน ธิดา 10 คน บุตรธิดาเหล่านี้ต่างก็มีบุตรอีกคนละ 10 คน ธิดาคนละ 10 คน บรรดาหลาน เหล่านั้นคนหนึ่งๆ มีบุตรอีก 10 คน ธิดา 10 คน รวมเป็น 8,420 คน เมื่อยามนางวิสาขาไปทำบุญที่วัดป่า วัดก็เต็มไปด้วยลูกหลาน เหลนของนาง จะเห็นว่าพระโสดาบันนั้น มีครอบครัวได้ แต่ต้องตั้งมั่นตรงอยู่ในศีล 5 ในทุกกรณี นางวิสาขา แม้ท่านจะเป็นพระโสดาบันแล้ว ยังดำรงชีวิตในโลกียสมบัติ ที่เพียบพร้อมไปด้วยข้าทาสบริวาร ประดับประดาตนท่านด้วยเพชร นิล จินดา เต็มที่ แต่พอถึงวันพระท่านก็สละทุกอย่าง แต่งตัวแบบโยมวัด เข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรม ปฏิบัติธรรมเป็นประจำ ท่านตั้งมั่นในศีล 5 ครบบริบูรณ์ ขันธ์ 5 ขันธ์ แปลว่า ตัว หมู่ กอง พวก หมวด ขันธ์ 5 คือ รูปกับนาม ที่แยกออกไว้เป็น 5 กอง คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ 1. รูป ธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกัน เป็นกายนี้ เรียกว่า รูป อายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เป็นรูป อายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ทั่วทั้งจักรวาลล้วนเป็นรูปขันธ์ทั้งนั้น 2. เวทนา คือ ความรู้สึก ทุกข์ สุข 3. สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้ คือ จำรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจ ไม่ใช่คำสัญญา ไม่ใช่หนังสือสัญญาซื้อขาย ไม่ใช่ข้อตกลง 4. สังขาร คือ ความนึกคิดปรุงแต่ง ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เป็นกลางๆ บ้าง 5. วิญญาณ คือ ความเข้าไปรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เวทนา เวทนา คือ การเสวยอารมณ์ ที่นำมาเป็นบทศึกษา ท่านจัดเป็นกลุ่มต่างๆ กัน ได้รวบรวมมาไว้ สำหรับผู้ที่อาจจะสนใจศึกษาละเอียดต่อไป เวทนา 2 1. เวทนาทางกาย เรียก กายิกเวทนา 2. เวทนาทางใจ เรียก เจตสิกเวทนา เวทนา 3 1. สุขเวทนา เป็นความรู้สึกสุข สบาย ทั้งทางกาย และทางใจ 2. ทุกขเวทนา เป็นความรู้สึกทุกข์ ไม่สบายทั้งทางกายและทางใจ 3. อทุกขมสุขเวทนา คือความรู้สึกเฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ เวทนา 5 1. สุข คือ ความสุข ความสบายทางกาย..... เป็นเรื่องของกาย 2. ทุกข์ คือ ความทุกข์ ความไม่สบาย ความเจ็บปวด..... เป็นเรื่องของกาย 3. โสมนัส คือ ความแช่มชื่น สบายใจ สุขใจ..... เป็นเรื่องของใจ 4. โทมนัส คือ ความเสียใจ ทุกข์ใจ..... เป็นเรื่องของใจ 5. อุเบกขา คือ ความรู้สึกเฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์..... เป็นเรื่องของใจ เวทนา 6 คือ เวทนาที่เกิดขึ้นจากสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ 1. เวทนา เกิดขึ้นจาก สัมผัสทางตา 2. เวทนา เกิดขึ้นจาก สัมผัสทางหู 3. เวทนา เกิดขึ้นจาก สัมผัสทางจมูก 4. เวทนา เกิดขึ้นจาก สัมผัสทางลิ้น 5. เวทนา เกิดขึ้นจาก สัมผัสทางกาย 6. เวทนา เกิดขึ้นจาก สัมผัสทางใจ คือ มโน เวทนา 108 มาจาก (1) 6 x 3 = 18 คือ เวทนา 6 กับ เวทนา 3 คือ การจำแนกเวทนา ที่เกิดจากสัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เป็นโสมนัส โทมนัส และอุเบกขา (2) 18 x 2 = 36 “2” นั้น คือ ความรู้สึกแบบชาวบ้านฝ่ายหนึ่ง และความรู้สึกแบบอริยบุคคล หรือการกำหนดรู้เท่าทันอีกฝ่ายหนึ่ง (3) 36 x 3 = 108 “3” คือ กาล ได้แก่ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต สังขาร คำว่าสังขารมีความหมายกว้างขวางมาก และในบางกรณีก็ใช้ใน ความหมายที่แตกต่างกัน สัพเพ สังขารา ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งรูปธรรม และนามธรรมเป็นสังขาร สังขาร คือ สิ่งที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เปลี่ยนไปเรื่อยๆ มีการเกิด มีการเปลี่ยนแปลง มีการแก่ มีการตาย คือ เกิด - ดับ สังขารอื่นๆ ที่ไม่ใช่สังขารในขันธ์ 5 ไม่มีตัวเจตนา เป็นรูปธรรม มีการปรุงแต่งเหมือนกัน แต่ไม่มีเจตนา เช่น ลมหายใจปรุงแต่งกาย ลมหายใจออกยาวๆ ทำให้กายไม่เครียด สบาย ลมหายใจเข้าลึกๆ ยาวๆ ทำให้เกิดการตื่นตัวของร่างกาย เป็นต้น ปุ๋ย ทำให้ต้นไม้โตเร็ว ปุ๋ยปรุงแต่งต้นไม้ ฯลฯ แก้วแหวนเงินทอง อัสสาสะ ปัสสาสะเป็นสังขารในหมวดนี้ แต่ไม่ได้หมายถึงความนึกคิดปรุงแต่ง ซึ่งเป็นสังขารขันธ์ในขันธ์ที่ 5 สังขารขันธ์ ในขันธ์ 5 สังขารขันธ์ในขันธ์ 5 เป็นเรื่องของจิตใจ เป็นนามธรรม เป็นการปรุงแต่งทางจิตใจ ความนึกคิด บวกเวทนา บวกสัญญา เป็นสังขารในขันธ์ 5 คือ นึก คิด ปรุง แต่ง มีตัวเจตนา คือ จิต เข้ามาเกี่ยวข้อง มีความจงใจ กระทำทางกาย เป็น กายสังขาร จงใจ กระทำทางวาจา เป็น วจีสังขาร พูดดี พูดร้าย จงใจ กระทำทางใจ เป็น มโนสังขาร หรือจิตตสังขาร คิดดี คิดชั่ว ท่านเรียกสังขารกลุ่มนี้เป็นสังขาร 3 เป็นสภาพการปรุงแต่งที่มี เจตนา เป็นประธาน เจตนาปรุงแต่งการกระทำ หรือเจตนาที่แต่งกรรม จิตเป็นตัวสำคัญ ในการปรุงแต่งของสังขารในกลุ่มนี้ จิตนี่สำคัญ จิตตสังขาร ในอานาปานสติ ขั้นที่ 5-8 เป็นเวทนาขันธ์ในขันธ์ 5 ไม่ใช่สังขารขันธ์ คือ ความรู้สึกที่เปลี่ยนไป โดยการอาศัยซึ่งกันและ กันของเวทนาและสัญญา ยังไม่มีความคิดเข้ามาปรุงแต่ง เรายัง สามารถควบคุมความคิดได้ อาศัยแค่สัญญาปรุงแต่งความรู้สึก เป็นการปรุงแต่งฝ่ายรูปธรรมหรือฝ่ายกาย ในที่นี้ คือ ลมหายใจ ปรุงแต่งกาย จึงยังไม่เป็นสังขารขันธ์ อ้างอิง 1. หัวข้อธรรมะในหนังสือชุดอานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข ๑, ๒, ๓ ส่วนมากมาจากหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรมของพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ปัจจุบันคือ ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) 2. เรื่องราวประกอบหลายเรื่องได้มาจาก หนังสือชุดพระธัมมปัทฏฐกถาแปล ของมหามกุฎราชวิทยาลัย ……………………… เอวัง ……………………… |
เจ้าของ: | mes [ 31 ก.ค. 2010, 12:17 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: ชีวิตทั้งหมดให้อยู่ด้วยอานาปานสติโดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวส |
วิถีแห่งความสุข ๓ อานาปานสติ ขั้นที่ ๙-๑๖ โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก กลับหน้าหลัก กลับหน้า อานาปานสติ วิถีแห่งความสุข สารบัญ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน อานาปานสติขั้นที่ ๙ รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต จิตอยู่ที่ไหน จิตเป็นภาชนะรับอารมณ์ อุปกิเลส ๑๖ เด็กน้อยเฝ้าศาลา สามเณรบัณฑิตและสามเณรสุข อานาปานสติขั้นที่ ๑๐ ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่งอยู่ จิตประภัสสร การทำจิตให้ปราโมทย์ อานาปานสติขั้นที่ ๑๑ ทำจิตให้ตั้งมั่น ทำจิตประภัสสรให้ตั้งมั่น จิตเห็นจิต อานาปานสติขั้นที่ ๑๒ ทำจิตให้ปล่อย – จิตปล่อยจิต ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานในอานาปานสติ การเจริญอานาปานสติ ๑๖ ขั้น แบบต่างๆ อานาปานสติขั้นที่ ๑๓ ตามเห็นซึ่งความไม่เที่ยง พระภิกษุล้างเท้า – เห็นอนิจจัง พยับแดดและฟองน้ำ พระพาหิยะ อานาปานสติขั้นที่ ๑๔ ตามเห็นซึ่งความจางคลาย ยินร้ายก็เป็นราคะ พระภิกษุสำคัญว่าตนเป็นอรหันต์ นักปราชญ์ ๓ คน อานาปานสติขั้นที่ ๑๕ ตามเห็นซึ่งความดับไม่เหลือ ยังมีอุปาทานหลงเหลืออยู่ อุปาทานในขันธ์ ๕ ลิงปอกหอมใหญ่ อานาปานสติ ขั้นที่ ๑๖ ตามเห็นซึ่งความสลัดคืน สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ภาคผนวก ธรรมะเปรียบเทียบและบทส่งท้าย |
เจ้าของ: | chalermsak [ 01 ส.ค. 2010, 05:55 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: ชีวิตทั้งหมดให้อยู่ด้วยอานาปานสติโดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวส |
มหาสติปัฏฐานสูตร เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ บรรทัดที่ ๖๒๕๗ - ๖๗๖๔. หน้าที่ ๒๕๗ - ๒๗๗. http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B ... agebreak=0 ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10&i=273 |
เจ้าของ: | mes [ 02 ส.ค. 2010, 17:27 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: ชีวิตทั้งหมดให้อยู่ด้วยอานาปานสติโดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวส |
วิเคราะห์แนวคิดท่านพุทธทาส พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ส่วนหนึ่งของเสวนา "มองอนาคตผ่านรากฐานความคิดและชีวิตท่านพุทธทาส ‘แล้วเราจะอยู่ในโลกอันแสนวิปริตนี้ได้อย่างไร’" เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ณ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คัดลอกมาจาก นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ วันที่ 01 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 27 ฉบับที่ 07 วิภา จิรภาไพศาล /ในโลกอันแสนวิปริต กับฐานความคิดท่านพุทธทาส / ในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีชาตกาลท่านพุทธทาส เครือข่ายธรรมโฆษณ์ พุทธทาส ๑๐๐ ปี ได้จัดงานพุทธทาส ๑๐๐ ปี : ร้อยใจ ฟื้นไทย ให้คืนธรรม เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ณ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีพระไพศาล วิสาโล, ดร. ณรงค์ เพชรประเสริฐ และพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ร่วมเสวนาในหัวข้อ "มองอนาคตผ่านรากฐานความคิดและชีวิตท่านพุทธทาส 'แล้วเราจะอยู่ในโลกอันแสนวิปริตนี้ได้อย่างไร'" ขณะที่พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เริ่มการเสวนาจากการวิเคราะห์แนวคิดพื้นฐานของท่านอาจารย์พุทธทาสว่า "ถ้าจะให้อาตมาพูดผ่านแนวคิดของท่าน ในแง่ ๑. คือตนอาจจะอ่านไม่เพียงพอ ๒. การที่จะบอกว่าท่านผู้นั้นเป็นเรื่องยากและที่ต้องระวังมาก ที่นี้แม้แต่ชื่อที่บอกว่ามองอนาคตผ่านแนวคิดและชีวิตของพุทธทาสก็แปลความหมายได้หลายอย่าง แปลง่ายๆ ก็ให้มองอนาคตของมนุษย์ ของสังคม หรือของอะไรก็แล้วแต่ว่าจะเป็นอย่างไร เราเพียงแต่ดูว่ามันจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เป็น เราไม่ค่อยเกี่ยวข้อง แต่แทนที่จะมองอย่างนั้น อาตมาคิดว่าเราน่ามองแบบมีส่วนรวมว่าอนาคตของโลกควรเป็นอย่างไร แล้วเราจะช่วยทำให้เป็นอย่างนั้นได้อย่างไร อาตมาคิดว่าถ้ามองแบบนี้จะมีความหมายสำคัญมากกว่า ส่วนแนวคิดและชีวิตของท่านพุทธทาสซึ่งจะโยงมาหาการที่เราจะต้องเข้าใจแนวคิดชีวิตของท่านพุทธทาส ว่าเราเข้าใจอย่างไร เราก็จะไปมองเรื่องอนาคตที่ว่านั้นจะจัดการไปตามนั้น ตอนนี้มันเป็นเรื่องสำคัญว่าเรามองแนวคิดของท่านพุทธทาสอย่างไร ไม่ใช่ว่าเรามองตรงกันนั้นถูกต้องแล้ว อันนี้เป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน มันกลับมาสู่ปัญหาพื้นฐานเลยว่าตัวแนวคิดของท่านเป็นอย่างไร เป็นเรื่องสำคัญมาก บางทีอาจเป็นหัวข้อที่ท่านที่ศึกษางานจะต้องมาช่วยกันวิเคราะห์ ถกเถียง และอย่างน้อยก็ไม่ด่วนตัดสิน เพราะว่าแนวคิดของท่านที่มองอะไรกว้างขวางและผลงานเยอะ มีความเสี่ยงภัยเหมือนกัน คือบางคนไปจับอะไรมอง ได้ยินอะไร หรือว่าไปอ่านหนังสือของท่านบางเล่มเห็นข้อความบางอย่างจับเอาเลยว่าท่านคิดเห็นอย่างนั้น จริงอยู่ท่านกล่าวจากความคิดของท่าน แต่เรามองอย่างไม่รู้ความเป็นมาเป็นไปเดิม ไม่รู้แนวคิดพื้นฐานกว้างๆ ของท่าน เราก็มองไปแต่เป็นไปตามความคิดความรู้สึกของเราเอง มันทำให้เกิดปัญหาเหมือนกัน การมองแนวคิดของท่านพุทธทาส ถ้ามองขั้นที่ ๑ เรามองที่เจตนาก่อน เจตนาของท่านเป็นอย่างไร อันนี้เห็นได้ค่อนข้างชัด แม้แต่ชื่อท่านเอง ท่านก็เรียกว่าพุทธทาส แปลว่าทาสของพระพุทธเจ้า ซึ่งถ้าพูดอย่างภาษาเราง่ายๆ ท่านมุ่งอุทิศชีวิตของท่านในการสนองงานของพระพุทธเจ้าอะไรล่ะ สนองงานที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้สำหรับพระสงฆ์ย้ำบ่อยมาก ท่านมีเจตนาพื้นฐานเพื่อจะสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ประชาชน ทำให้โลกอยู่ร่มเย็นเป็นสุข อันนี้จริงไหม ถ้าเรายอมรับเราตกลง แล้วเราแน่ใจ เราก็ได้ไปในขั้นเจตนา เมื่อเราได้เจตนาก็ได้ขั้นพื้นฐานเลยมันเป็นตัวนำจิต เพราะว่าจิตของเรากับจิตของท่านจะสอดคล้องกัน ที่นี้เราแน่ใจไหม มันก็ได้ไปส่วนสำคัญ ที่นี้เมื่อมามองงานของท่านที่มีมากมาย อย่างที่พูดเมื่อกี้ ถ้าเราไม่ได้ชัดเจนกับตัวเอง เรื่องของแนวคิดของท่านที่เป็นไปตามเจตนานี้ มันก็เป็นไปในทิศทางที่จะทำให้โลกอยู่เย็นเป็นสุข พอมีแนวคิดพื้นฐานแบบนี้จะช่วยให้การแปลความหมายดีขึ้น เราจะยอมรับไหมว่าแนวคิดนี้แน่ใจ ต่อไปก็มองที่ตัวหนังสือบ้าง คำพูด คำเทศนาของท่าน อาตมาจะยกตัวอย่างเลย บางที่บางคนไปจับเฉพาะบางแง่บางส่วน แล้วจะทำให้เกิดปัญหา เช่น บางทีบางคนอาจจะไปยกคำของท่านมา ที่บอกว่าพระไตรปิฎกนี่ต้องฉีกออกเท่านั้นเปอร์เซ็นต์ เหมือนกับว่ามีส่วนที่ไม่ควรใช้ ไม่ควรเชื่อถือหลายเปอร์เซ็นต์ ทีนี้ถ้าหากว่าไม่ได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับตัวท่าน ตั้งแต่เจตนาพื้นฐาน บางคนก็อาจจะเข้าใจเลยไปว่าพระไตรปิฎกไม่น่าเชื่อถือ บางคนก็ยกไปอ้างในทำนองนี้ หรือเป็นว่าเป็นแนวคิดของท่าน อันนี้ถ้าเราดูพื้นจากที่เป็นมา อย่างที่อาตมาเล่า อาตมามอง เริ่มจากหนังสือพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ แล้วก็ต่อมาท่านพุทธทาสออกหนังสือกลุ่มจากพระโอษฐ์เยอะมาก ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์, อริยสัจจากพระโอษฐ์, ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ ท่านมีหนังสือแบบนี้แสดงว่าท่าทีหรือว่าทัศนคติของท่านต่อพระไตรปิฎกเป็นอย่างไร อย่างน้อยท่านเอาจริงเอาจังมากกับพระไตรปิฎก ท่านอยู่กับพระไตรปิฎกมามากมาย และตั้งใจค้นคว้า ศึกษาจริง เราจะเห็นข้อความที่ท่านใช้อ้าง แม้แต่ในเรื่องปฏิจจสมุปบาท เหมือนกับว่าด้านหนึ่งท่านเป็นผู้เอาจริงเอาจัง ซื่อสัตย์ต่อพระไตรปิฎก ไว้ใจพระไตรปิฎกมาก แต่พร้อมกันนั้นท่านก็มีท่าทีให้มีเหตุผลไม่เชื่อเรื่อยเปื่อย หรือเชื่องมงาย ว่าอะไรที่อยู่ในชุดที่เรียกว่าพระไตรปิฎกจะต้องเชื่อตามไปหมด อันนี้เป็นทัศนคติที่พอดีๆ ที่ศึกษาอย่างมีเหตุผล อาตมาจะอ่านให้ฟังสักนิดเป็นการโควทท่านหน่อย ในหนังสือโอสาเรปนะธรรม หน้า ๔๒๓ บอกว่า "ดังนั้นในการศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้ ต้องถือเอาบาลีเดิมเป็นหลัก" นี้แสดงว่าท่านยึดพระไตรปิฎก คำว่า "บาลี" เป็นคำทางพระหมายถึงพระไตรปิฎก อย่ามอบตัวให้กับอรรถกถาอย่างไม่ลืมหูลืมตา อันนี้ก็พูดถึงอรรถกถา ซึ่งประเดี๋ยวก็ต้องพูดกันอีก มาถึงเรื่องฉีก ท่านก็ยังพูดถึงเรื่องฉีก ในหนังสือพระธรรมปาติโมกข์ เล่ม ๒ หน้า ๑๒๓ ท่านพูดถึงเว่ยหลาง "ฉะนั้นการที่เขาฉีกพระสูตรนี้ มันถูกที่สุด เดี๋ยวนี้เรามีห้องสมุด มีหนังสือแยะ ที่เราก็มี เขาให้อะไรเยอะแยะ เป็นตารางที่ขังความโง่ของคนไว้อย่าให้ไปครอบงำใคร...ฉะนั้นห้องสมุดของผมที่ชั้นบนนี้ ผมจึงไม่ให้ใครเอาหรือขึ้นไปใช้มัน เพราะเป็นความโง่ของคนทั้งโลกที่ผมขังไว้ อย่าให้ไปครอบงำคนอื่น บางชุดซื้อมาตั้งหมื่น นั้นคือความโง่ ไม่กี่เล่ม เอามาขังไว้ในนี้ไปครอบงำใครได้ นี้ยิ่งทำยิ่งโง่ ยิ่งอ่านยิ่งโง่ ยิ่งเรียนมากยิ่งโง่" ถ้าคนมาจับความแค่นี้ก็จะบอกว่าท่านเป็นปฏิปักษ์กับเรื่องหนังสือ ไม่สนับสนุนให้อ่านให้ค้นคว้า อันนี้ก็ไม่อยากให้ไปจับเอาเฉพาะแง่เฉพาะมุมนิดๆ หน่อยๆ ต้องดูทั้งหมดว่าท่านมองอย่างไร คิดอย่างไร บางทีมันเป็นเรื่องเฉพาะกรณี เราก็ต้องดูว่าขณะนั้นท่านกำลังพูดเรื่องอะไร ท่านต้องการให้ผู้ฟังได้แง่คิดอะไรในเรื่องนี้ เมื่อกี้พูดถึงว่าให้เอาบาลี หรือพระไตรปิฎกเป็นหลัก อย่าไปมอบตัวให้กับอรรถกถา ทีนี้บางทีท่านพูดถึงเรื่องอรรถกถาในหลายกรณีก็จะมีเรื่องพูดในแง่ที่ไม่ค่อยดี คล้ายๆ กับไม่น่าไว้ใจ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องอย่างนั้น แต่นี้บางคนไปถึงขนาดที่ว่าอรรถกานี้ไว้ใจไม่ได้ อาตมาอ่านหนังสือบางเล่มเขาดูถูกอรรถกถา ไม่เชื่ออรรถกถา ถ้าเราดูท่านพุทธทาส อาจจะถือเป็นความพอดีก็ได้ งานของท่านจะพูดถึงอรรถกถาเยอะแล้วท่านก็ใช้ประโยชน์จากอรรถกถา เรื่องราวต่างๆ ท่านก็เอาจากอรรถกถามา เราไม่ต้องไปพูดเฉพาะท่านหรอก คืออย่างคำแปลพระไตรปิฎก ฉบับโน้นฉบับนี้เราก็มาอ้างกันว่าเป็นพระไตรปิฎก และที่ใช้ในเมืองไทยก็ต้องแปลเป็นภาษาไทย โดยมากก็จะคัดมา อ้างอิงมาจากฉบับแปลเป็นภาษาไทย เราไม่ได้อ้างอิงมาจากฉบับภาษาบาลีมาอ้างอิงโดยตรง และหลายคนก็ไม่สามารถแปลได้ด้วย ที่เราบอกว่าพระไตรปิฎกๆ นั้น คำแปลเขาอ้างจากอรรถกถานะ พระไตรปิฎกฉบับ ๒๕ ศตวรรษพิมพ์ครบชุดครั้งแรกในประเทศไทย ฉบับ พ.ศ. ๒๕๐๐ แล้วต่อมาก็กลายเป็นฉบับกรมการศาสนา ฉบับมหามกุฏฯ มหาจุฬาฯ คนแปลไม่ได้รู้ไปหมด ต้องค้นหากัน เวลาค้นๆ กันที่ไหน ก็ค้นจากอรรถกถา จากฎีกา แล้วก็แปลไปตามนั้น คนที่บอกว่าไม่เชื่ออรรถกถา ไม่รู้แปลพระไตรปิฎกเอาตามอรรถกถา ใช้อรรถกถามาเป็นสิ่งที่ตัวเองยึดถือเลย โดยอ้างอิงพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้นพระไตรปิฎกแปลไม่ได้แปลตรงไปตรงมาหรอก แปลตามอรรถกถาอธิบาย เพราะพระไตรปิฎกนั้นเรารู้อยู่แล้วว่าเก่ากว่าอรรถกถามาก ที่นี้ศัพท์ที่เก่าขนาดนั้น บางทีรูปประโยคดูไม่ออกเลยว่าหมายความว่าอย่างไร การแปลจึงต้องหาอุปมาช่วย ก็ได้อรรถกถานี้แหละที่เก่ารองจากพระไตรปิฎก จึงไปเอาอรรถกถาว่าท่านอธิบายบาลีองค์นี้ไว้อย่างไร ถ้าอธิบายความแล้วยังไม่ชัดอยากจะได้ความที่ชัดยิ่งขึ้นก็ไปค้นคัมภีร์รุ่นต่อมา หรือฎีกา หรืออนุฎีกาต่างๆ มาพิจารณาประกอบ จะถือเอาตามนั้นหรือจะตัดสินอย่างไรก็ตามแต่ รวมแล้วก็คือต้องอาศัยคัมภีร์เก่า แต่บางคนก็อ้างพระไตรปิฎกโดยไม่รู้ว่าความจริงว่าแม้แต่คนแปลเขาก็อ้างอรรถกถา กลายเป็นว่าที่ตัวเอาๆ มาจากอรรถกถา อันนี้เป็นตัวอย่างที่หลวงพ่อพุทธทาสท่านศึกษามาก ต้องยอมรับว่าท่านบวชตั้งแต่เมื่อไร ท่านอุทิศชีวิตกับการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก คัมภีร์อรรถกถา ฎีกาอะไรต่างๆ เวลาท่านอธิบายท่านก็ยกมาอ้าง เวลาท่านบอกไม่ให้เชื่ออย่างนั้นอย่างนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง ไม่ให้เราเชื่อเรื่อยเปื่อยงมงายไป ในหนังสือพุทธิกะจริยธรรม หน้า ๒๓๓ "ฉะนั้นเราต้องมีธรรมที่เหมาะสมแก่วัย ที่วัยนั้นจะพอรับเอาได้ หรือเข้าใจได้" ข้อนี้ท่านเปรียบไว้ในอรรถกถาว่า "ขืนป้อนข้าวคำใหญ่ๆ แก่เด็กซึ่งปากยังเล็กๆ" ก็หมายความว่าเด็กจะรับไม่ได้ ท่านได้ยกคำอรรถกถามาใช้ แต่ที่เป็นอภินิหารท่านก็บอกว่าอันนี้เป็นเรื่องน่าเชื่อไม่น่าเชื่อ ฉะนั้นการที่จะไปพูดเรื่องมองอนาคตอะไร แนวคิดผลงานของท่านอันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ บางทีเราอาจจะก้าวเลยไปก็ได้ บางทีคนที่มาพูดมองอนาคตนั้นผ่านชีวิตของท่าน แต่ละคนก็มีในใจของตัวเอง มองแนวคิดของท่านไว้คนละอย่าง เสร็จแล้วอาจจะพูดไปคนละทางสองทาง การมองเรื่องที่ตั้งไว้ว่าเราจะช่วยให้มันเป็นอย่างไร โดยผ่านแนวคิดของท่านพุทธทาส เราก็ต้องชัดด้วย อย่างที่อาตมาบอกว่าให้มองตั้งแต่เจตนาของท่านที่แน่นอนเลย ที่จะสนองพุทธประสงค์ ที่จะรับใช้พระพุทธเจ้า ถ้าเรามีเจตนาแบบนี้ก็ต้องอนุโมทนาว่าเรามีเจตนาที่เป็นกุศล เราศึกษางานของท่าน เพื่อเอามาใช้ เอามาสอน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ถ้าทำได้อย่างนี้จะเป็นส่วนที่เราได้สนองท่านพุทธทาสด้วยนะ ท่านพุทธทาสสนองงานพระพุทธเจ้า โดยที่ว่าเราก็จำกัดลงมาในแง่สนองรับใช้ท่านพุทธทาส เราก็ได้รับใช้ทั้งสองเลย เอาเป็นอันว่าหลวงพ่อพุทธทาสตั้งเจตนาเลย ท่านอุทิศชีวิตสนองงานพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่ชื่อตัวเอง ที่ท่านเรียกตัวเองว่าพุทธทาสภิกขุ บทบาทที่เด่นของท่านก็สมานสัมพันธ์กับยุคสมัย อย่างที่บอกว่าคนไทยห่างไกลพุทธศาสนามาก ความเชื่ออะไรก็เป็นไปตามปรัมปรา ที่สืบต่อกันมา ก็ค่อยๆ คลาดเคลื่อน ค่อยๆ เพี้ยนไป อันนี้เป็นปัญหาของสังคมไทยที่เป็นสังคมพุทธ เพราะพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ต้องอาศัยกัน ไม่ใช่ศาสนาที่สำเร็จด้วยศรัทธา ที่จะบอกเลยว่าให้มีหลักความเชื่ออย่างไร" แม้โลกวันนี้จะแสนวิปริตเพียงใด หากท่านมองผ่านฐานแนวคิดของท่านพุทธทาส จะเห็นว่าไม่ได้เป็นเรื่องของความทุกข์เพียงด้านเดียว แต่ยังเป็นบุญ เป็นโชค ดังคำกล่าวของท่านที่ว่า "โชคดีมีบุญที่ได้มาเกิดในโลกนี้ ในสภาพปัจจุบันนี้ที่แสนจะวิปริต เพราะว่ามีอะไรให้ศึกษามาก...คิดดูถ้าไม่มีเรื่องให้ศึกษามากแล้วมันจะฉลาดได้อย่างไร" |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 | เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง |
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group http://www.phpbb.com/ |