ลานธรรมจักร http://www.dhammajak.net/forums/ |
|
ความพร้อมเพรียงขององค์มรรค http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=26198 |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 |
เจ้าของ: | กรัชกาย [ 11 ต.ค. 2009, 18:01 ] | ||
หัวข้อกระทู้: | ความพร้อมเพรียงขององค์มรรค | ||
ความพร้อมเพรียงขององค์มรรค ได้กล่าวแล้วว่า ความมุ่งหมายของสัมมาสมาธิ ก็เพื่อให้เป็นสนามปฏิบัติการของปัญญา (กล่าวไว้ลิงค์นี้) viewtopic.php?f=2&t=20511&p=95410#p95410 หรือพูดให้กว้างว่า เพื่อทำให้จิตเป็นสถานที่เหมาะสมดีที่สุดที่องค์ธรรมทั้งหลาย จะมาทำงานร่วมกันให้บรรลุวัตถุประสงค์คือการรู้แจ้งสัจธรรม กำจัดกิเลส ถึงภาวะสิ้นปัญหา ไร้ทุกข์
|
เจ้าของ: | กรัชกาย [ 11 ต.ค. 2009, 18:03 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: ความพร้อมเพรียงขององค์มรรค |
และก็ได้กล่าวแล้วเช่นกันว่า องค์มรรคทั้ง ๘ ประการทำงานประสานสอดคล้องส่งเสริมกัน โดยมีสัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้านำทางไป จึงเป็นอันได้ความในตอนนี้ว่า องค์มรรคอื่นทั้ง ๗ ข้อ เป็นเครื่องเกื้อหนุนให้กำลังแก่สมาธิ ช่วยให้สมาธิเกิดขึ้นได้ ดำรงอยู่ได้ดี เป็นสัมมาสมาธิ คือ สมาธิที่ถูกต้อง ซึ่งจะใช้งาน ได้ผลตามต้องการ ส่งผลคืบหน้าต่อไปอีกจนถึงจุดหมาย โดยช่วยให้เกิดองค์ธรรมเพิ่มขึ้นอีกสองอย่างในขั้นสุดท้าย เรียกว่า สัมมาญาณ (หยั่งรู้ชอบ) และสัมมาวิมุตติ (หลุดพ้นชอบ) เมื่อมองในแง่นี้ ท่านเรียกองค์มรรคอื่นทั้ง ๗ ข้อว่าเป็นสมาธิบริขาร แปลว่า บริขารของสมาธิ หมายความว่า เป็นเครื่องประกอบ เครื่องแวดล้อม เครื่องหนุนเสริม หรือเครื่องปรุงของสมาธิ สมาธิที่ประกอบด้วยบริขารนี้แล้ว เรียกว่า เป็นอริยสัมมาสมาธิ นำไปสู่จุดหมายได้ ดังบาลีว่า “สมาธิบริขาร ๗ ประการเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงจัดวางไว้เป็นอย่างดีแล้ว เพื่ออบรมบ่มสัมมาสมาธิ เพื่อความบริบูรณ์แห่งสัมมาสมาธิ เจ็ดประการไหน ? ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ เอกัคคตาแห่งจิต ที่แวดล้อมด้วยองค์ทั้งเจ็ดเหล่านี้ เรียกว่า สัมมาสมาธิที่เป็นอริยะ ซึ่งมีอุปนิสัย (มีที่อิงที่ยันหรือที่รองรับ) บ้าง มีบริขาร (มีเครื่องประกอบหรือเครื่องช่วยหนุน) บ้าง” “เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจาจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาวายามะ สัมมาสติจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาสติ สัมมาสมาธิจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาสมาธิ สัมมาญาณจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาญาณ สัมมาวิมุตติจึงพอเหมาะได้” (ที.ม.10/206/248 ) |
เจ้าของ: | กรัชกาย [ 11 ต.ค. 2009, 18:13 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: ความพร้อมเพรียงขององค์มรรค |
มรรคมีองค์ ๘ หรืออัฏฐังคิกมรรคนี้ เมื่อเจริญพรั่งพร้อมถึงที่ ก็จะถึงขีดและถึงขณะหนึ่งซึ่งองค์มรรค ทั้งหมด ร่วมกันทำหน้าที่เกิดญาณอันแรงกล้า สว่างขึ้นมาหยั่งเห็นสัจธรรมและกำจัดกวาดล้างกิเลส ที่หุ้มห่อบีบคั้นจิตออกไป การที่องค์มรรคทั้งหมดทำหน้าที่พร้อมกันเช่นนี้เรียกว่าเป็น"มรรค" เพราะเป็นขณะซึ่งมีองค์ประกอบ ทั้งหมดครบเป็นมรรคจริงๆ เมื่อมรรคทำหน้าที่แล้ว ก็มีภาวะที่เป็นผลตามมาคือความรู้ความเข้าใจในสัจธรรม และความหลุดพ้น จากกิเลส ไร้สิ่งบีบคั้น เป็นอิสระ เรียกสั้นๆว่า "ผล" ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ถ้าทุกอย่างค่อยดำเนินไปตามลำดับ จะมีการทำหน้าที่ของมรรคเช่นนี้ที่แรง หรือ เบ็ดเสร็จยิ่งขึ้น จนเสร็จสิ้นรวมทั้งหมด ๔ คราว หรือ ๔ ขั้น จึงเรียกว่ามรรค ๔ และภาวะที่เป็นผลก็จึงมี ๔ เช่นเดียวกัน รวมเรียกว่า มรรค ๔ ผล ๔ หรืออริยมรรค ๔ อริยผล ๔ คือ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตมรรค อรหัตผล จะเห็นว่ามรรคนี้ว่าโดยองค์ประกอบมี ๘ จึงเรียกว่า อัฏฐังคิกมรรค แปลว่า มรรคมีองค์ ๘ แต่ว่าโดยปฏิบัติการหรือการทำกิจ มี ๔ ลำดับขั้น เรียกกันว่า จตุมรรค* แปลว่า มรรค ๔ ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() * คำเรียกรวมที่ใส่จำนวนเข้าด้วยกัน จตุมรรค (จตุมคฺค) นี้ เกิดขึ้นในชั้นอรรถกถา และตามปกติมา ในรูปที่สมาสกับคำอื่น - สํ.อ.1/241; 3/36 สุตฺต.อ.1/7 ปฏิสํ.อ.207 วิสุทธิ.3/343 |
เจ้าของ: | กรัชกาย [ 11 ต.ค. 2009, 18:18 ] | ||
หัวข้อกระทู้: | Re: ความพร้อมเพรียงขององค์มรรค | ||
อาการที่องค์ธรรมทั้งหลายทำหน้าที่พร้อมกันในขณะจิตเดียว ยังผลที่ต้องการให้สำเร็จนี้ ท่านเรียกว่า ธรรมสามัคคี (ขุ.ม.29/211/159 ) (ไม่พึงสับสนกับคำว่า มัคคสมังคี) และธรรมสามัคคีก็คือโพธิ อันได้แก่ความตรัสรู้ - (ม.อ.1/115; ขุทฺทก.อ.93) และในขณะแห่งมรรคนี้ มิใช่เฉพาะองค์มรรคเพียง ๘ เท่านั้น แม้โพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการก็เกิดขึ้น ทำหน้าที่พร้อมหมดในขณะจิตเดียวกัน - (ดู.ขุ.ปฏิ.31/527-9/419-424 ฯลฯ) อย่างไรก็ตาม โพธิปักขิยธรรมทั้งหมดนั้น ก็สรุปลงได้ในองค์มรรคทั้ง ๘ นั่นเอง ดังนั้น เมื่อพูดถึงมรรคก็จึงเป็นอันครอบคลุมถึงธรรมอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
|
เจ้าของ: | กรัชกาย [ 11 ต.ค. 2009, 18:46 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: ความพร้อมเพรียงขององค์มรรค |
อาจมีผู้สงสัยว่า องค์มรรคหลายอย่างจะทำหน้าที่ในขณะหนึ่งขณะเดียวกันได้อย่างไร โดยเฉพาะองค์ฝ่ายศีล เช่น สัมมาวาจา และสัมมากัมมันตะ ดูไม่น่าจะเกี่ยวข้องในกรณีอย่างนี้เลย ปัญหานี้คงจะเข้าใจได้ ด้วยเอาตัวอย่างที่ง่ายกว่าเขาเทียบ เช่น คนยิงปืนแม่น หรือยิงธนูแม่น ในวันที่มีการประกวดหรือแสดง เราเห็นเขายิงปืนหรือธนูถูกเป้า ประสบความสำเร็จ เขาได้รับชัยชนะ ยิงถูกเป้าด้วยการยิงที่เป็นไปในเวลาขณะเดียวเท่านั้น ถ้ามองผิวเผิน ก็อาจพูดเพียงแค่ว่า เขามือดีหรือมือแม่นจึงยิงถูก แล้วก็ผ่านไป แต่ถ้ามองเหตุปัจจัยให้ลึกซึ้ง เบื้องหลังความมีมือดี มือแม่น และการยิงถูกขณะเดียวคราวเดียวนั้น เราอาจสืบเห็นการฝึกหัดซักซ้อมที่ใช้เวลาก่อนหน้าเหตุการณ์นั้นยาวนาน เขาอาจฝึกตั้งแต่การวางท่า การยืน การวางเท้า วางขา วางไหล่ วางแขน วิธีจับ วิธีประทับ อาวุธ การเล็ง การกะระยะ การหัดใช้กำลังให้พอดี ปัญญา ไหวพริบ การตัดสินใจ และจิตใจที่แน่วแน่ เป็นต้นมากมาย จนเกิดความคล่องแคล่วช่ำชอง ทำได้ในเวลาฉับไว เข้าที่ทันที จนรู้สึกเหมือนเป็นไปเอง โดยไม่ต้องมีความพยายาม ครั้นถึงคราวแสดง ในเวลาที่เขายิงถูกเป้าหมายแม่นยำ อันเป็นไปในขณะเดียวนั้น ย่อมมีความจริงที่เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า การยิงแม่นวิบเดียวนั้น เป็นผลรวมของการจับ ถือ วางกิริยาท่าทางใช้กำลังพอดีด้านร่างกาย ความมั่นใจ จิตตั้งมั่นแน่วแน่ และความรู้ไวไหวพริบทั้งหมดที่เป็นเหตุปัจจัยพรั่งพร้อม อยู่เบื้องหลังตั้งมากมาย พูดอีกนัยว่า กิริยาอาการความพอดีของร่างกายทั้งหมดก็ดี ภาวะจิตใจที่พร้อมและทำงานได้ที่ก็ดี ปัญญาที่รู้เข้าใจบัญชาให้ตัดสินทำการก็ดี ทำหน้าที่ร่วมกันทั้งหมด ในการยิงขณะเดียวกัน และความพร้อมพอดีของกาย ความพร้อมดีของใจ ความพร้อมพอดีของปัญญาในขณะนั้น ก็คือผลของการซักซ้อมฝึกหัดตลอดเวลายาวนาน เป็นแรมเดือนแรมปีทั้งหมด จึงพูดได้ว่า การยิงถูกเป้าขณะเดียวนั้น เป็นผลงานของการฝึกซ้อมที่ยาวนานเป็นเดือนเป็นปี ทั้งหมด ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |
เจ้าของ: | กรัชกาย [ 11 ต.ค. 2009, 19:05 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: ความพร้อมเพรียงขององค์มรรค |
ณ จุดนี้แหละที่ปัญหาเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะความพร้อม หรือแก่กล้าของอินทรีย์ต่างๆ บางคนอาจฝึกซ้อมไม่ต้องมาก ก็ประสบความสำเร็จโดยง่าย บางคนอาจฝึกหัดใช้เวลานาน แต่ฝึกไปสบายๆก็สำเร็จ บางคนทั้งฝึกยากลำบาก ทั้งต้องใช้เวลายาวนาน จึงสำเร็จ บางคนจะฝึกหัดอย่างไรก็ไม่ประสบความสำเร็จเลย นอกเหนือจากความแตกต่างระหว่างบุคคลแล้ว ความสำเร็จและความช้าเร็วเป็นต้น ยังขึ้นต่อปัจจัยอื่น อีก โดยเฉพาะการฝึกที่ถูกวิธี การมีผู้แนะนำหรือครูดีที่เรียกว่ากัลยาณมิตร ตลอดจนสภาพในกาย และสภาพแวดล้อมทางกายภาพเป็นต้น โดยนัยนี้ ท่านจึงจำแนกการปฏิบัติธรรมที่ประสบความสำเร็จออกเป็น ๔ ประเภทเรียกว่า ปฏิปทา ๔ คือ ๑. ทุกขา ปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติยากลำบาก ทั้งรู้ช้า (มีอภิญญาช้า) ๒. ทุกขา ปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติยากลำบาก แต่รู้เร็ว (มีอภิญญาเร็ว) ๓. สุขา ปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติสะดวกสบาย แต่รู้ช้า (มีอภิญญาช้า) ๔. สุขา ปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติสะดวกสบาย ทั้งรู้เร็ว (มีอภิญญาเร็ว) (องฺจตุกฺก.21/161-3/200-4; 166-8/207-9 ฯลฯ ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ตัวอย่างในบาลีในอังคุตตรนิกายว่า พระสารีบุตรเป็นสุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา พระมหาโมคคัลลานะ เป็นทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา |
เจ้าของ: | กรัชกาย [ 11 ต.ค. 2009, 19:37 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: ความพร้อมเพรียงขององค์มรรค |
พิจารณาตัวอย่างพุทธพจน์แสดงวิธีปฏิบัติธรรม ซึ่งให้เห็นการที่โพธิปักขิยธรรมทั้งหมด เนื่องอยู่ด้วยกันกับมรรคมีองค์ ๘ และเป็นวิธีปฏิบัติที่มองเผินๆอาจว่าง่าย ไม่มีอะไรมาก คือสำหรับผู้พร้อมแล้วก็ง่าย แต่ผู้ไม่พร้อมอาจยาก และอาจต้องปฏิบัติอะไรๆ อื่นอีกมาก เพื่อให้พร้อม ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() “ภิกษุทั้งหลาย บุคคลรู้อยู่ เห็นอยู่ตามเป็นจริง ซึ่งจักษุ...ซึ่งรูปทั้งหลาย...ซึ่งจักขุวิญญาณ... ซึ่งจักสัมผัส...ซึ่งเวทนา สุข ทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ ที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย ไม่ติดใคร่ใน (จักขุ เป็นต้น ที่กล่าวมาแล้ว) นั้น เมื่อเขาไม่ติดใคร่ ไม่ผูกรัดตัว ไม่ลุ่มหลง เล็งเห็นโทษอยู่ อุปาทานขันธ์ ๕ ย่อมถึงความไม่เติบขยายต่อไป ตัณหาที่นำไปสู่ภพใหม่ ซึ่งประกอบด้วยความกำหนัดยินดี คอยเพลิดเพลินอยู่ในอารมณ์ต่างๆ ก็ถูกละได้ ความกระวนกระวายกายก็ดี ความกระวนกระวายใจก็ดี ความแผดเผาทางกายก็ดี ความแผดเผาทางใจก็ดี ความเร่าร้อนกายก็ดี ความเร่าร้อนใจก็ดี ก็ถูกละได้ เขาย่อมได้เสวยทั้งสุขทางกาย ทั้งสุขทางใจ บุคคลที่เป็นเช่นนั้นแล้ว มีความเห็นอันใด ความเห็นอันนั้น ก็เป็นก็เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความดำริใด ความดำรินั้น ก็เป็นสัมมาสังกัปปะ มีความพยายามใด ความพยายามนั้น ก็เป็นสัมมาวายามะ มีสติใด สตินั้น ก็เป็นสัมมาสติ มีสมาธิใด สมาธินั้น ก็เป็นสัมมาสมาธิ ส่วนกายกรรม วจีกรรม อาชีวะของเขา ย่อมบริสุทธิ์ดีตั้งแต่ต้นทีเดียว มรรคมีองค์ ๘ อันเป็นอริยะของเขา ย่อมถึงความเจริญเต็มบริบูรณ์ได้ ด้วยอาการอย่างนี้” |
เจ้าของ: | กรัชกาย [ 11 ต.ค. 2009, 19:42 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: ความพร้อมเพรียงขององค์มรรค |
“เมื่อเขาเจริญมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นอริยะนี้อยู่อย่างนี้ แม้สติปัฏฐาน ๔ ก็ย่อมถึงความเจริญเต็มบริบูรณ์ แม้สัมมัปปธาน ๔ ... แม้อิทธิบาท ๔ ... แม้อินทรีย์ ๕... แม้พละ ๕... แม้โพชฌงค์ ๗ ก็ย่อมถึงความเจริญเต็มบริบูรณ์ เขาย่อมมีธรรม ๒ อย่างคือ สมถะและวิปัสสนา เข้าเคียงคู่กันเป็นไป ธรรมเหล่าใด พึงกำหนดรู้ด้วยอภิญญา * เขาก็กำหนดรู้ด้วยอภิญญา ซึ่งธรรมเหล่านั้น ธรรมเหล่าใด พึงละด้วยอภิญญา เขาก็ละด้วยอภิญญา ซึ่งธรรมเหล่านั้น ธรรมเหล่าใด พึงให้เกิดมีด้วยอภิญญา เขาก็ทำให้เกิดมีด้วยอภิญญา ซึ่งธรรมเหล่านั้น ธรรมเหล่าใด พึงประจักษ์แจ้งด้วยอภิญญา เขาก็ประจักษ์แจ้งด้วยอภิญญา ซึ่งธรรมเหล่านั้น |
เจ้าของ: | กรัชกาย [ 11 ต.ค. 2009, 19:56 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: ความพร้อมเพรียงขององค์มรรค |
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่าไหน พึงกำหนดรู้ด้วยอภิญญา ? ได้แก่ สิ่งที่เรียกว่า อุปาทานขันธ์ ๕ กล่าวคือ รูปอุปาทานขันธ์ เวทนาอุปาทานขันธ์ สัญญาอุปาทานขันธ์ สังขารอุปาทานขันธ์ วิญญาณอุปาทานขันธ์... “ธรรมเหล่าไหน พึงละด้วยอภิญญา ? ได้แก่ อวิชชา และภวตัณหา... “ธรรมเหล่าไหน พึงให้เกิดมี (เจริญ) ด้วยอภิญญา ? ได้แก่ สมถะ และวิปัสสนา” “ธรรมเหล่าไหน พึงทำให้ประจักษ์แจ้งด้วยอภิญญา ? ได้แก่ วิชชา และวิมุตติ”* ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() * ม.อุ.14/828-831/523-6 ฯลฯ -ข้อความที่ตรัสเกี่ยวกับโสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน และสิ่งอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ก็เป็นอย่างเดียวกัน จึงไม่ได้แปลลงไว้ |
เจ้าของ: | กรัชกาย [ 11 ต.ค. 2009, 20:12 ] | ||
หัวข้อกระทู้: | Re: ความพร้อมเพรียงขององค์มรรค | ||
* อภิญญา เป็นคำที่น่าศึกษามากคำหนึ่ง แปลกันมาว่า ปัญญาอันยิ่ง หรือความรู้ยิ่ง (= อุตตมปัญญา ที่ องฺ.อ.2 และ อธิกญาณ ที่ วินย.อ. 1/134 ฯลฯ) และอาจแปลโดยอาศัยรูปศัพท์ว่า ความรู้เฉพาะ ความรู้เจาะตรง ความรู้เหนือ (ประจักษ์ทางประสาททั้ง ๕) คัมภีร์อัฏฐสาลินี และวิสุทธิมรรค อธิบายว่า ปัญญาที่เป็นไปตั้งแต่อุปจารสมาธิ จนถึงอัปปนาสมาธิ เรียกว่า อภิญญา (สังคณี.อ. 294 วิสุทธิ.1/108) คัมภีร์ปรมัตถมัญชุสาชี้เฉพาะลงไปอีกว่า อภิญญาคือ อัปปนาปัญญา (ปัญญาที่เกิดเมื่อจิตเป็นอัปปนาสมาธิ - วิสุทธิ.ฎีกา 1/163)
|
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 | เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง |
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group http://www.phpbb.com/ |