ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

สมถะ-วิปัสนากรรมฐาน ภาคปฏิบัติ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=23322
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  หนวดเต่า [ 27 มิ.ย. 2009, 12:01 ]
หัวข้อกระทู้:  สมถะ-วิปัสนากรรมฐาน ภาคปฏิบัติ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)

รูปภาพ

☆*~ สมถะ-วิปัสนากรรมฐาน ภาคปฏิบัติ ~*☆

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
วันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๒๗

ณ โอกาสต่อไปนี้ ขอทุกท่านได้โปรดตั้งใจฟังธรรม และก่อนอื่นขอเชิญท่านทั้งหลายเตรียมนั่งสมาธิตามแบบที่เคยได้ฝึกหัดอบรมมาแล้ว ขอทุกท่านจงเตรียมหาที่นั่งให้เป็นที่สบาย นั่งตามอัธยาศัย ในท่าใดที่เห็นว่าเป็นท่าที่สบายก็ขอได้โปรดนั่ง จะนั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาวางทับมือซ้ายไว้บนตักก็แล้วแต่จะสะดวก บัดนี้ ท่านทั้งหลายได้เตรียมท่านั่งสมาธิเป็นที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว

ต่อไปขอให้นึกถึงพระบรมครูและพระธรรมคำสอนตลอดจนสาวกของพระพุทธองค์ ด้วยคำว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ พุทโธ ธัมโม สังโฆ พุทโธ ธัมโม สังโฆ แล้วน้อมจิตน้อมใจนึกว่า พระพุทธเจ้าก็ดี พระธรรมก็ดี พระอริยสงฆ์ก็ดี อยู่ในจิตของเราเท่านั้น แล้วเราจะสำรวมเอาที่จิตอย่างเดียว จงทำจิตของตัวเองให้เป็นกลาง อย่าส่งไปข้างซ้ายข้างขวา ศูนย์กลางของจิตอยู่ที่ตรงไหน อยู่ส่วนกลางของกาย แล้วกำหนดรู้ลงที่นั่น สำรวมในจิตนึกบริกรรมภาวนา พุทโธ พุทโธ พุทโธ เพียงคำเดียว

ในขณะที่นึกบริกรรมภาวนาพุทโธอยู่ เพียงแต่ประคองจิต ให้นึกอยู่ที่พุทโธ ให้พุทโธอยู่ที่จิต แล้วพยายามนึกพุทโธให้ติดต่อกัน อย่าให้มีช่องว่าง แล้วก็นึก พุทโธ พุทโธ พุทโธ อยู่อย่างนั้น ต่อไปนี้ขอให้ท่านกำหนดจิตนึกบริกรรมภาวนาพุทโธ พุทโธ พุทโธ ไปสักพักหนึ่ง เพียงแต่นึกพุทโธด้วยความเบา ๆ สลัดความนึกคิดที่จะให้จิตสงบ หรือความอยากรู้อยากเห็นอะไรต่าง ๆ ออกให้หมด หน้าที่มีเพียงแค่นึกพุทโธอยู่อย่างเดียว เท่านั้น

สติก็ไม่ต้องไปตั้ง เมื่อเราตั้งใจจะนึกพุทโธแล้ว สติมาเอง เพราะเราตั้งใจจะนึกพุทโธ เมื่อท่านนึกพุทโธ บริกรรมภาวนาอยู่ ชั่วขณะหนึ่ง เมื่อจิตมีอาการเคลิ้ม ๆ เหมือนกับจะง่วงนอน อย่าไปทำความแปลกใจ เอะใจ หรือตกใจ เพราะอาการอย่างนั้น ให้ประคองจิต นึกบริกรรมพุทโธ พุทโธ พุทโธ เรื่อยไป เมื่อจิตมีอาการวูบวาบ ก็อย่าไปตกใจใด ๆ ทั้งนั้น ทำสติประคองจิตรู้อยู่เฉย ๆ แม้จิตจะมีอาการวูบลงไป ก็อย่าไปตกใจ ถ้าจิตของท่านยังนึกบริกรรมภาวนาพุทโธอยู่ ก็บริกรรมภาวนาเรื่อยไป

จนกระทั่งจิตนึกบริกรรมภาวนาเอง โดยไม่ได้ตั้งใจ ในตอนแรกเราตั้งใจนึกพุทโธ พุทโธ พุทโธ แต่เมื่อจิตอยู่กับพุทโธ พุทโธอยู่กับจิต ไม่พรากจากกัน จิตของเราจะนึกบริกรรมภาวนาพุทโธเอง โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ เมื่อเป็นเช่นนั้น แสดงว่าการบริกรรมภาวนาของเรากำลังเริ่มจะได้ผล เมื่อจิตบริกรรมภาวนาเองโดยไม่ต้องตั้งใจ เขาย่อมบริกรรมภาวนาเองโดยอัตโนมัติ แสดงว่าจิตของผู้บริกรรมภาวนามีองค์ของฌาน คือมี วิตก กับ วิจาร เมื่อผู้ภาวนาได้วิตก วิจาร เป็นองค์ประกอบของการภาวนา จิตของผู้ภาวนาย่อมจะมีความซึมซาบดูดดื่ม ในบริกรรมภาวนานั้น แล้วจะมีอาการ เอิบอิ่มใจ มีอาการดูดดื่มอยู่กับบริกรรมภาวนานั้น

ในช่วงนี้ผู้ภาวนาอาจจะเกิดมีอาการขนลุกชูชัน ร่างกายโยกโคลงหรือตัวสั่น ๆ รู้สึกว่ามีกายเบา จิตเบา กายเริ่มมีความสงบ จิตเริ่มมีความสงบ ความกระวนกระวายและความฟุ้งซ่านแห่งจิต ลดน้อยลงหรือหมดไป ยังเหลือแต่จิตที่จดจ้องอยู่ที่บริกรรมภาวนา ความมีปีติย่อมบังเกิดขึ้น เมื่อปีติบังเกิดขึ้น ความสุขอันเป็นผลพลอยได้ย่อมบังเกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว ผู้ภาวนาจะรู้สึกว่ามีกายเบา มีจิตเบา มีกายสงบ มีจิตสงบ กายสงบคือสงบจากความทุกขเวทนา หายความปวด หายความเมื่อย หายความฟุ้งซ่านรำคาญ จิตก็ปลอดโปร่ง ไม่ฟุ้งซ่าน กระวนกระวาย ในขั้นนี้บางครั้ง จิตของผู้ภาวนาจะรู้สึกว่ามีความสว่างไสว แต่บริกรรมภาวนาอาจจะยังอยู่ ยังไม่หายไป จิตยังนึกบริกรรมภาวนาเอง แต่รู้สึกแผ่วเบาเข้า อาการหายใจค่อยละเอียดลง ละเอียดลง จนกระทั่งจิตปล่อยวางบริกรรมภาวนาไปนิ่งว่างอยู่เฉย ๆ จิตดื่มรสของปีติและความสุข ความสงบกายและความสงบจิตละเอียดยิ่งขึ้น

เมื่อจิตปล่อยวางบริกรรมภาวนา ในบางครั้งจิตจะว่างอยู่เฉย ๆ มีแต่ความสว่างว่างอยู่เท่านั้น ในบางครั้งจิตจะยึดลมหายใจเข้า-ออกเป็นสิ่งรู้ แล้วก็ทำสติระลึกอยู่กับสิ่งนั้น ผู้ภาวนากำหนดเอาลมหายใจเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ เมื่อจิตกำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจ ในบางครั้งการหายใจอาจจะแรงขึ้น บางครั้งการหายใจอาจจะแผ่วเบาลง บางครั้งรู้สึกคล้าย ๆ ลมหายใจจะหายขาดไป อาการทั้งหลายเหล่านี้ เป็นอาการที่จิตกำลังเริ่มจะแสดงความสงบอย่างละเอียด ผู้ภาวนาไม่ควรตกใจ หรือเอะใจใด ๆ ทั้งสิ้น หน้าที่ของเรามีแต่ประคองจิต ให้รู้อยู่ที่ลมหายใจ ทำสติระลึกอยู่กับลมหายใจ แม้ว่าลมหายใจจะหายขาดไปก็ไม่ควรจะตกใจ

ในที่สุดแม้ร่างกายจะหายไปหมด ก็ไม่ควรจะตกใจ แต่โดยส่วนมาก ถ้าลมหายใจหายขาดไป ร่างกายหายไปในความรู้สึก จิตย่อมจะไม่มีความหวั่นไหวและไม่มีความเอะใจ เพราะกายหายไปแล้ว จิตไม่มีประสาทสำหรับใช้ความคิด มีแต่จะไปสงบนิ่งว่างอยู่เฉย ๆ แล้วจิตสงบละเอียด ไม่รู้สึกว่ามีตัวมีตน มีแต่จิตดวงเดียวล้วน ๆ สงบนิ่งสว่างไสวอยู่ ในตอนนี้เรียกว่าจิตเข้าสู่อัปนาสมาธิ

จิตเข้าสู่อัปนาสมาธิในขั้นแรก เป็นปฐมจิต เป็นปฐมวิญญาณ เป็นมโนธาตุ ยังไม่มีพลังเพียงพอที่จะปฏิวัติตนไปสู่ภูมิความรู้ ได้แต่นิ่งว่าง สว่างอยู่เฉย ๆ แต่ถึงกระนั้นก็ยังทำให้ผู้ภาวนาหายความสงสัยข้องใจในปัญหาที่ว่าสมาธิคืออะไร เพราะเมื่อจิตสงบลงไปแล้ว ผู้ภาวนาย่อมรู้ว่านี่คือสมาธิ นี่คือความสงบของจิตขั้นสมถะ แม้ว่าจิตจะยังไม่เกิดความรู้ใด ๆ ขึ้นมาก็ตาม แต่หากเป็นฐานที่สร้างพลังของจิต เมื่อผู้ภาวนามาฝึกอบรมจิตให้มีความสงบนิ่ง อย่างนี้หลาย ๆ ครั้ง หลาย ๆ คราว ผู้ภาวนาจะสามารถกำหนดวิถีจิตของตนเอง ตั้งแต่เริ่มแรก ที่เราเริ่มนึกถึงบริกรรมภาวนา จะกำหนดได้ว่าสมาธิในขั้นต้นต้องมี วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคตา สมาธิที่สงบลงไปในระดับกลาง ๆ จะปล่อยวางวิตก วิจาร ยังเหลือแต่ปีติ สุข กับเอกัคตา สมาธิที่ละเอียดเข้าไปหน่อย จะปล่อยวางปีติ ยังเหลือแต่สุขกับเอกัคตา

ในขั้นนี้ กายยังปรากฏอยู่อย่างละเอียด สมาธิขั้นละเอียดจะปล่อยวางความสุข ยังเหลือแต่เอกัคตากับอุเบกขา ตอนนี้กายหายไปหมดแล้ว เมื่อกายหายไปหมดแล้ว ความสุขไม่ปรากฏ ความทุกข์ก็ไม่ปรากฏ มีแต่ความเป็นกลาง เป็นกลางโดยไม่มีสุข โดยไม่มีทุกข์ เป็นกลางโดยที่จิตไม่ได้อาศัยอะไรเป็นอารมณ์ เป็นตัวของตัวเองโดยเด็ดขาด ไม่ได้พึ่งพาอาศัยอารมณ์อันใดเป็นเครื่องยึด จิตเป็นตัวของตัวเอง ยึดตัวของตัวเองเป็นสิ่งรู้โดยอัตโนมัติ เพราะจิตรู้อยู่ในจิต แล้วสว่างไสวเบิกบานแจ่มใสอยู่ นี่คือพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ดังคำที่เราได้สวดมนต์ไปแล้ว เมื่อจิตเข้าไปสู่สมถะในตอนต้น ๆ ซึ่งจิตยังไม่มีพลังงาน ก็จะได้แต่นิ่งอยู่เฉย ๆ อันนี้คือวิถีจิตที่เดินตรงเข้าไปสู่ความเป็นสมาธิอย่างละเอียดในขั้นสมถะกรรมฐาน หรือเรียกว่า อัปนาสมาธิ

ทีนี้ตั้งแต่วิถีจิตที่เดินมาตั้งแต่สมาธิขั้นต้น ตอนต้น ๆ ที่เรานึกถึงบริกรรมภาวนา จนกระทั่งจิตดำเนินมาสู่ความสงบนิ่ง โดยไม่มีอะไรเหลือ มีแต่ตัวรู้ปรากฏอยู่เท่านั้น ช่วงระหว่างกลาง ๆ บางทีอาจจะเกิดมีประสบการณ์ขึ้นในระหว่างนั้น เช่น เมื่อผู้บริกรรมภาวนาจิตสงบสว่างลงไปนิดหน่อย เมื่อกระแสจิตส่งออกไปข้างนอก ย่อมจะรู้เห็นนิมิตต่าง ๆ เช่น รูปคน รูปสัตว์ ภูตผี ปีศาจ หรือภาพนิมิตต่าง ๆ ซึ่งจะปรากฏให้รู้ให้เห็นเปรียบเหมือนกับเวลาที่เราดูหนังอยู่ในจอ หรือบางทีอาจจะปรากฏนิมิตคล้าย ๆ กับว่าตัวเรานี้เดินออกจากร่าง แล้วก็ไปเที่ยวอยู่ตามภูเขาเลากาป่าดง ไปมองเห็นปราสาทวิมานที่สวยงาม เห็นเทวดาเทพบุตรอินทร์พรหม อันนี้เป็นนิมิตซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่จิตส่งกระแสออกไปข้างนอก

เมื่อจิตเกิดมีนิมิตขึ้นมาอย่างนี้ ถ้าหากว่าผู้ภาวนาต้องการอยากจะรู้เห็นอะไร เช่น นรก สวรรค์เป็นต้น เมื่อน้อมจิตนึกถึงนรกก็จะเห็นนรก น้อมจิตนึกถึงสวรรค์ก็จะเห็นสวรรค์ น้อมจิตนึกถึงบิดามารดา ปู่ย่าตายายที่ล่วงลับดับหายไปแล้ว ก็จะเห็นท่านเหล่านั้น อันนี้เป็นเรื่องการภาวนาเห็น

แม้ว่าการเห็นอันนี้ ผู้ภาวนาที่มีความฉลาดสามารถที่จะยับยั้งความรู้สึกไม่ให้หลงในนิมิตนั้น ๆ เขาจะกำหนดหมายเพียงแค่ว่านิมิตทั้งหลายเหล่านั้นเป็นแต่เพียงอารมณ์ สิ่งรู้ของจิต สิ่งระลึกของสติ ย่อมจะประคองจิตดูเฉยอยู่โดยไม่ไปเกาะติดหรือยึดสิ่งที่มองเห็นนั้น ๆ ว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เขาจะประคองจิตให้มีสติรู้เฉยอยู่ แม้ว่านิมิตนั้น ๆ จะแสดงอาการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม ผู้ภาวนาที่มีสติสัมปชัญญะดีพอสมควรจะไม่หลงติดนิมิตนั้น ๆ เพียงแต่ถือเป็นอารมณ์เครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติเท่านั้นเอง

เมื่อจิตไม่ไปยึดกับสิ่งเหล่านั้น จิตก็ไม่ส่งกระแสออกไปข้างนอก เมื่อจิตยึดสิ่งนั้นเป็นสิ่งรู้ของจิตแล้วก็เป็นสิ่งระลึกของสติ กำหนดรู้เฉยอยู่ ผู้ภาวนาจะรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏนั้น เพราะสิ่งที่ปรากฏนั้นย่อมมีเกิดขึ้นเปลี่ยนแปลงและดับไป บางทีเป็นรูปคนรูปสัตว์ ถ้ากำหนดดูเฉย ๆ อสุภนิมิตจะปรากฏขึ้นกับผู้ภาวนา บางทีคนและสัตว์ที่มองเห็นนั้นอาจจะแสดงอาการล้มตายลงไป แล้วก็ขึ้นอืดเน่าเปื่อยผุพังไปตามธรรมชาติของคนตายหรือสัตว์ตาย ในที่สุดเนื้อหนังผุพังไปหมดยังเหลือแต่โครงกระดูก โครงกระดูกก็จะสลายตัวไป เป็นเหตุให้ผู้ภาวนาได้สติปัญญา พิจารณารู้อสุภกรรมฐาน ถ้าสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นหายสาปสูญจมไปในดิน ในน้ำ ในลม ในไฟ ผู้ภาวนาก็จะได้รู้ธาตุกรรมฐาน คือรู้ว่า ร่างที่มองเห็นนั้นเป็นสักแต่ว่าธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ หาความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ไม่มี แล้วเมื่อจิตมีพลังงานพอที่จะน้อมสิ่งเหล่านั้นมาเปรียบเทียบกับตนเองโดยอัตโนมัติ เค้าก็จะน้อมสิ่งเหล่านั้นมาเปรียบเทียบกับตัวเอง โดยจะได้ความรู้ขึ้นมาว่า สัตว์ทั้งหลายเขาล้มตายไปแล้ว แล้วสัตว์ทั้งหลายก็มีความตายเป็นที่สุด บัดนี้เขามาตายให้เราดู เขาทั้งหลายเหล่านั้นได้ตายไปแล้ว เรากับเขาก็จะกลายเป็นประเภทเดียวกัน มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย เช่นเดียวกัน ความตายเช่นนี้จะต้องมาถึงเราในวันใดวันหนึ่ง หรือโอกาสใดโอกาสหนึ่ง

เมื่อจิตมีความรู้สึกขึ้นมาอย่างนี้ เป็นอาการที่จิตน้อมเอาธรรมเข้ามาในตน ซึ่งเรียกว่า โอปนยิโก เมื่อน้อมเข้ามาถึงตนแล้ว จิตจะรู้สึกว่า มองเห็นความตายของตัวเอง ในขั้นแรก ๆ ก็จะมีความรู้สึกว่าเราก็จะตายเหมือนอย่างเขา ในเมื่อจิตมีความเชื่อมั่น มีศรัทธาว่าเราจะตายจริง แล้วจิตของเราก็จะแสดงอาการตาย คือแสดงอาการเคลื่อนจุติออกจากร่าง แล้วก็ไปลอยเด่นเอกเทศอยู่ส่วนหนึ่ง ยังเหลือแต่ความว่าง แล้วภายหลังจะมองย้อนมาดูกายของตัวเอง มองเห็นกายของตัวเองนอนตายเหยียดยาวอยู่ แม้แต่ผ้าผ่อนท่อนสไบที่เคยนุ่งห่มก็จะเปลือยเปล่าไปหมด แล้วร่างกายก็จะปรากฏนิมิตให้เห็น แสดงอาการขึ้นอืด น้ำเหลืองไหล เนื้อหนังหลุดไปทีละชิ้นสองชิ้น ในที่สุดก็ยังเหลือแต่โครงกระดูก มองเห็นโครงกระดูกเป็นนิมิตอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนเป็นอุคหนิมิต

แล้วบางครั้งโครงกระดูกอาจจะหลุดออกจากกันเป็นชิ้นใครชิ้นเรา แล้วก็หักเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ จนกระทั่งแหลกละเอียด เป็นผงโปรยอยู่เหนือพื้นแผ่นดิน แล้วก็หายลงไปในพื้นแผ่นดิน เมื่อเป็นเช่นนั้นผู้ภาวนาก็จะรู้ว่า ร่างกายของเรานี่ มีแต่เพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ แต่การรู้ในขณะนั้นจะรู้อยู่ในที โดยไม่มีภาษาที่จะพูด แต่ความรู้ของจิตนั้นมันจะซึ้งลงไป รู้ตลอดทั่วหมดทุกสิ่งทุกอย่างว่าอะไรเป็นอะไร แต่เขาจะไม่พูดและจะไม่นึกไม่คิดอะไรทั้งสิ้น ไอ้เจ้าดวงจิตที่สงบสว่างไสวก็นิ่งอยู่เฉย ๆ ร่างกายที่แสดงอาการขึ้นอืดเน่าเปื่อยผุพังจนสลายตัวเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ก็เป็นไปตามเรื่องของใครของเรา จิตก็อยู่ส่วนจิต ส่วนกายที่เป็นไปก็อยู่ส่วนกาย แยกออกจากกันโดยเด็ดขาด แล้วในที่สุดผืนแผ่นดินก็จะหายวับไปหมด ยังเหลือแต่สภาพจิตที่สว่างไสวอยู่

ถ้าหากว่าจิตดวงนี้ไปติดสมถะ ติดความสงบ ติดฌาน ก็จะนิ่งว่างสว่างเฉยอยู่ โดยไม่ย้อนกลับมามองดูสิ่งที่ไปรู้ไปเห็นมาอีก แล้วเมื่ออยู่จนพอสมควรแล้วก็จะถอนจากสมาธิออกมาเลย แต่ถ้าจิตดวงนี้ไม่ติดสมถะหรือไม่ติดความสบายในความว่าง พอผืนแผ่นดินหายไปแล้ว ผืนแผ่นดินก็จะปรากฏขึ้นมาให้มองเห็นอีก ผงกระดูกที่หายสาปสูญไปในผืนแผ่นดินก็จะโผล่ขึ้นมาอีก เมื่อโผล่ขึ้นมาแล้วก็จะเกาะกันเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจนกระทั้งประติดประต่อกันเป็นชิ้นกระดูกครบสมบูรณ์ แล้วก็จะมาประสานกันเป็นโครงร่างขึ้นมาอีก เมื่อประสานกันเป็นโครงร่างสมบูรณ์แล้ว เนื้อจะเริ่มงอกระหว่างข้อต่อของกระดูก กระดูกต่อกันอยู่ที่ตรงไหน เนื้อจะเริ่มงอกขึ้นในจุดนั้น แล้วก็ลามไปจนทั่ว ทั่วร่างกายคือโครงกระดูกนั้น แล้วเนื้อจะงอกออกมาสมบูรณ์เต็มที่เป็นรูปเป็นร่างโดยสมบูรณ์ แต่ยังปราศจากหนังห่อหุ้ม ผู้ภาวนาจะมองเห็นร่างขอตัวเอง เหมือนถูกลอกหนังออกหมดแล้ว แล้วในที่สุดเนื้อที่มองเห็นเป็นสีแดง ฉาบไปด้วยเลือดน้ำเหลือง น้ำหนองต่าง ๆ ก็จะค่อยแห้งเกรียมเข้าไปทุกที ๆ ในที่สุดผิวหนังจะปรากฏขึ้นห่อหุ้มร่างกาย เมื่อผิวหนังปรากฏห่อหุ้มร่างกายสมบูรณ์แล้ว ขน เล็บ ฟัน หรือผมก็จะปรากฏขึ้นมาเป็นรูปร่างโดยสมบูรณ์

พอร่างขึ้นมาได้ขนาดนี้ บางทีก็ถอยออกจากสมาธิ พอถอยออกจากสมาธิมาแล้ว พอรู้สึกว่ามีกาย ย่อมเกิดความรู้สึกนึกคิดขึ้นมา แล้วจิตจะย้อนไปทบทวนความเป็นภายในขณะที่รู้เห็นนั้นตั้งแต่ต้นจนปลาย เค้าจะพิจารณาทบทวนของเค้าไปเองโดยอัตโนมัติ โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ เมื่อเขาพิจารณาทบทวนสิ่งที่เขารู้เขาเห็นโดยอัตโนมัติ ในที่สุด เมื่อเขารู้แจ้งเห็นจริงและยอมรับสภาพความเป็นจริงที่ปรากฏขึ้นนั้น แล้วเขาจะตัดกระแสแห่งความรู้โดยสมมติบัญญัติว่าอะไรเป็นอะไร เข้าไปสู่ความสงบนิ่งว่างอีกทีหนึ่ง ในตอนนี้ปีติและความสุขจะบังเกิดขึ้นอย่างมหาศาล จนกระทั่งจิตปล่อยวางปีติ ความสุข เข้าไปสู่ความเป็นหนึ่ง คือเอกัคตา
เมื่อจิตนิ่งว่าง สว่างอยู่ในความเป็นหนึ่ง ปรากฏการณ์อันแปลกประหลาดย่อมจะเกิดขึ้นแก่จิตของผู้ปฏิบัติ โดยภายในจิตของเค้าจะมีความสงบนิ่ง สว่าง แต่จะมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาวิ่งวนรอบจิตของเค้า เปรียบเหมือนกับกลุ่มเมฆหมอก จิตของเค้าจะสงบนิ่งว่างอยู่ในท่ามกลาง โดยไม่หวั่นไหวต่อเหตุการณ์นั้น ๆ แล้วจะทรงตัวอยู่ในสภาพที่เป็นปรกติ คือสงบนิ่งอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่ปรากฏการณ์ให้รู้ให้เห็นอย่างละเอียดนั้น คือสภาวะธรรมขั้นละเอียด สภาวะที่ปรากฏขึ้นนั้น ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไอ้เจ้าจิตตัวรู้นี้ก็จะรู้นิ่งอยู่เฉย ๆ ไม่หวั่นไหวตามอาการนั้น ๆ อาการของความยินดีไม่มี ความยินร้ายไม่มี อาการที่จะรู้สึกนึกคิดอะไรไม่มีทั้งนั้น แต่อะไรปรากฏการณ์ขึ้นมาจิตรู้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นการรู้อย่างไม่มีสมมติบัญญัติ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น โดยเนื้อแท้ของสัจธรรมแล้ว สัจธรรมของจริงที่ปรากฏกับจิตผู้ปฏิบัติ ย่อมไม่มีชื่อเสียงเรียงนามจะเรียกว่าอะไร

เจ้าจิตก็ไม่เรียกตัวเองว่าจิต สิ่งที่จิตรู้เค้าก็ไม่เรียกว่าอารมณ์หรือสิ่งใดทั้งสิ้น ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปโดยอัตโนมัติ ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างมีปรากฏการณ์ ต่างคนต่างรู้ รู้อย่างไม่มีสมมติบัญญัติ คือไม่มีชื่อเสียงเรียงนามจะเรียกว่าอะไร ระดับนี้จิตของผู้ปฏิบัติถีบตัวขึ้นไปอยู่เหนือโลก อยู่ในขั้นแห่งโลกุตระ

ภูมิธรรมะที่เกิดขึ้นในขั้นโลกกุตระขั้นเหนือโลกนั้น ย่อมเป็นของจริงที่อยู่เหนือสมมติบัญญัติ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาไม่มี มีแต่สิ่งที่ปรากฏการณ์อยู่ตลอดเวลา ไม่มีโดยไม่มีภาษาที่จะเรียก อสุภกรรมฐานความสกปรกโสโครก ปฏิกูลไม่มี เพราะไม่มีภาษาที่จะเรียก ดินน้ำ ลม ไฟ ไม่มี เพราะไม่มีภาษาที่จะเรียกว่าอะไร แต่สิ่งนั้นเป็นปรากฏการณ์อยู่โดยธรรมชาติ เป็นกฎแห่งความจริงที่ปรากฏโดยเด่นชัด เพราะฉะนั้นการพิจารณาธรรมในขั้นโลกีย์ ย่อมมีสมมติบัญญัติ เช่นเราจะพิจารณาร่างกายให้เห็นเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก เราน้อมนึกพิจารณาจนกระทั่งจิตยอมรับว่าเป็นสิ่งปฏิกูลจริง ๆ แต่ถ้าจิตสงบละเอียดลงไปแล้วรู้ความปฏิกูลนั้น ๆ แม้จะมองเห็นเป็นสิ่งที่น่าเกลียดสักเท่าไหร่ก็ตาม สกปรกเท่าไหร่ก็ตาม เนื่องจากจิตไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่าอะไรเป็นอะไร เพราะรู้อย่างไม่มีสมมติบัญญัติ ความรู้สึกปฏิกูลน่าเกลียดในขณะนั้นจะไม่มี

เพราะโดยธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ ในเมื่อเรารู้จริงเห็นจริงแล้ว คำว่าน่าเกลียดก็ไม่มี ความน่าชอบน่ารักก็ไม่มี คำว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาก็ไม่มี มันมีแต่ปรากฏการณ์โดยธรรมชาติพอเหมาะพอดีกัน มีอยู่เป็นอยู่อย่างนั้นตลอดกาล สิ่งที่เป็นอยู่นั้นจะเรียกว่าอะไรในขณะนั้น จิตมันไม่เรียกจริง ๆ ถ้าอย่างนั้นพระพุทธเจ้าตรัสรู้ ในเมื่อรู้แล้วเอาอะไรมาพูดให้เราฟัง เมื่อพระองค์รู้แล้ว แม้ในขณะที่ตรัสรู้อาจจะไม่มีภาษาที่จะเรียกว่าอะไรเป็นอะไร แต่เมื่อออกมาจากความรู้ความเห็นความเป็นเช่นนั้น พอสภาพจิตมันสัมผัสว่ามีร่างกาย จิตจะเริ่มมีเครื่องมือสำหรับใช้สอย คือกายเป็นเครื่องมือของจิต จิตย่อมจะเกิดความนึกคิดขึ้นมาทันที ในเมื่อเกิดความนึกคิดขึ้นมาแล้ว จิตก็จะย้อนไปพิจารณาสิ่งที่รู้เห็นในสมาธิขั้นละเอียด ตั้งเป็นภาษาสมมติบัญญัติขึ้นมาว่าอะไรเป็นอะไร เอาภาษาสมมติบัญญัติของโลกนี้แหละมาว่ากัน จะไปเอาภาษาเทวดาอินทร์พรหม หรือภาษาภูติผีปีศาจมาพูดก็ไม่รู้เรื่อง เพราะพระองค์จะแสดงธรรมให้มนุษย์ฟัง จึงเอาธรรมะจึงเอาภาษาของมนุษย์มาบัญญัติชื่อธรรมะที่พระองค์รู้ แล้วก็เอามาเล่าสู่บรรดาพุทธบริษัทฟัง เพราะเอาภาษามนุษย์มาพูด มนุษย์ฟังแล้วก็เข้าใจและรู้เรื่อง รู้เรื่องแล้วก็นำไปประพฤติปฏิบัติให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองได้ นี่คือวิถีความเป็นของจิตของนักปฏิบัติ

ทีนี้ เรามีวิธีการที่จะปฏิบัติต่อบริกรรมภาวนาอีกอย่างหนึ่ง ที่เล่า ๆ มานี้บางท่านอาจจะคิดว่า ทำไม้ ทำจิตให้ได้ถึงขนาดนั้นมันเป็นเรื่องยาก ยากจริง ๆ ตั้งแต่เริ่มภาวนามานี่ จิตยังไม่สงบขนาดถึงตัวหายเลย มีตั้งแต่ความฟุ้งซ่านรำคาญ บริกรรมภาวนาพุทโธ พุทโธ พุทโธ ประเดี๋ยวเดียวมันลืมพุทโธแล้ว ไปคิดอย่างอื่น พยายามมาตั้งหลายปีดีดัก มันก็ไม่สงบเป็นหนึ่ง ไม่มีปีติ ไม่มีความสุข ไม่ได้สมถะภาวนาซักที ในเมื่อเป็นเช่นนั้น เราจะคอยให้จิตของเรานี่สงบนิ่งเป็นสมาธิ มีสมถะ มีอัปนาสมาธิ ถ้าเกิดว่าเราทำไม่ได้แล้ว เราจะไม่ตายก่อนหรือ เมื่อเป็นเช่นนั้น เรามีวิธีการที่จะต้องปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาข้อนี้

เมื่อเราบริกรรมภาวนาอยู่ ถ้าจิตของเราอยู่กับบริกรรมภาวนาเรื่อยไป ก็ปล่อยให้เขาอยู่กับบริกรรมภาวนานั้น แต่ถ้าเขาทิ้งบริกรรมภาวนาไปคิดถึงอย่างอื่น ก็ปล่อยให้เขาคิดไป แต่เราทำสติตามรู้ความคิดไปเรื่อย ๆ โดยถือเอาความคิดที่เกิดขึ้นเองนั่นแหละเป็นสิ่งรู้ของจิต เป็นสิ่งระลึกของสติ ทำสติกำหนดจดจ้องตามรู้ทุกวาระจิตที่เราคิด แล้วในที่สุดเมื่อสติมีพลังแก่กล้าขึ้น จะมีประสิทธิภาพพอที่จะรู้ทันเหตุการณ์ภายในจิต

สติรู้ทันวาระจิตที่คิดไปเมื่อไหร่ ความสงบจิตซึ่งเรียกว่าสมาธิย่อมเกิดขึ้น เกิดขึ้นแล้วก็มีปีติ มีความสุข มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคตา เช่นเดียวกันกับบริกรรมภาวนา อันนี้วิธีปฏิบัติสำหรับบุคคลผู้ไม่สามารถที่จะทำจิตให้สงบเป็นสมาธิอย่างละเอียดได้ ทีนี้มีปัญหาอยู่ว่า เมื่อจิตทิ้งบริกรรมภาวนาไปคิดถึงอย่างอื่น แล้วเราไม่เอามาหาบริกรรมภาวนาอีก ปล่อยให้มันคิดไปมันจะไม่กลายเป็นความฟุ้งซ่านดอกหรือ

ในขั้นแรกนี่มันอาจจะเป็นความฟุ้งซ่าน แต่ถ้าเราฝึกหัดทำสติตามรู้อยู่ตลอดเวลา ความคล่องตัวของการกำหนดตามรู้ก็ย่อมจักมีขึ้น แล้วในที่สุดเมื่อเกิดมีการคล่องตัว มีความคล่องตัวของการกำหนด ทีแรกเราอาจจะตั้งใจกำหนดทำสติตามรู้ แต่เราฝึกจนคล่อง จนชำนิชำนาญ อาศัยการอบรมให้มาก ๆ ทำให้มาก ๆ ในที่สุดเพราะความเคยชินและความคล่องตัว สติของเราจะตามรู้วาระจิตของเราไปเอง โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ ก็แสดงว่า การภาวนาของเราเริ่มจะได้ผลแล้ว อันนี้วิธีการปฏิบัติสำหรับบุคคลผู้ไม่สามารถที่จะทำจิตให้สงบละเอียดได้

เรามีช่วงที่จะปฏิบัติสลับกันไป หนึ่ง บริกรรมภาวนาไว้ก่อน เมื่อจิตปล่อยทิ้งบริกรรมภาวนาไปคิดอย่างอื่น ปล่อยให้คิดไปจนสุดช่วงมันแล้วเราทำสติตามรู้ ถ้าหากว่าไปสุดช่วงมันแล้ว มันนิ่งว่างอยู่เฉย ๆ ไม่คิด อาการของสมาธิไม่เกิดขึ้น เราย้อนมาบริกรรมภาวนาอีกใหม่ เมื่อมันปล่อยวางคำบริกรรมภาวนาไปคิดอย่างอื่น ปล่อยให้คิดไป ทำสติตามรู้ไปดังที่กล่าวแล้ว ปฏิบัติสลับกันไปมาอยู่อย่างนี้ โดยอาศัยการอบรมมาก ๆ ทำให้มาก ๆ ทำจนชำนิชำนาญ ทำ ๆ จนคล่องตัว แล้วสมาธิมันจะเกิดขึ้นเอง

และมีอีกปัญหาหนึ่งที่ควรจะทำความเข้าใจสำหรับผู้ที่บริกรรมภาวนาแล้วจิตสงบเป็นสมาธิ นิ่ง ๆ ๆ ๆ ไม่เกิดความรู้ ความเห็นอะไร เมื่อท่านสามารถทำจิตให้สงบนิ่งเป็นอัปนาสมาธิขั้นละเอียดได้แล้ว เมื่อจิตของท่านถอนออกมาจากสมาธิ พอมาสัมผัสรู้ว่าเรามีกาย ความคิดย่อมเกิดขึ้นทันที เมื่อเป็นเช่นนั้นท่านอย่าละโอกาส รีบทำสติตามรู้ความคิดนั้นไปโดยนัยกล่าวแล้ว เมื่อทำสติจดจ้องตามรู้ความคิดไป ถ้าสติตามทันความคิด ความคิดจะกลายเป็นองค์ปัญญา เป็นสิ่งรู้ของจิต เป็นสิ่งระลึกของสติ ความคิดย่อมมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

เมื่อเรากำหนดเอาความคิดเป็นสิ่งรู้ของจิต สิ่งระลึกของสติ เมื่อสติแก่กล้ามีพลังเข้มแข็งขึ้น กลายเป็นสตินทรีย์ แล้วจิตของเราจะเกิดอนิจจสัญญา คือความสำคัญมั่นหมายว่าความคิดก็ไม่เที่ยง เมื่อเป็นเช่นนั้น จิตก็จะดำเนินเข้าสู่ขั้นแห่งวิปัสสนากรรมฐานเองโดยอัตโนมัติ เมื่อทำจิตให้สงบนิ่งเป็นสมาธิได้ดี ถ้าหากสมาธิถอนขึ้นมาแล้ว เราไปมัวดีใจกับความสงบ เลยจะไปนึกว่าเราทำจิตให้สงบนิ่งเป็นสมาธิได้ดีแล้ว ดีแล้ว พอใจแล้ว ไปพอใจแต่เพียงแค่นั้น เมื่อจิตถอนออกมาเพราะความดีใจรีบกระโดดโลดเต้นออกจากที่นั่งสมาธิ ไม่ชะลอเวลาอยู่สักพักก่อน เราก็ได้เพียงแค่ความสงบ

แต่ถ้าเราชะลอเวลา ยังไม่รีบออกจากที่นั่งสมาธิ มาย้อนพิจารณาดูอีกทีหนึ่ง ตั้งแต่เริ่มต้น เราเริ่มนั่งสมาธิ เริ่มกำหนดอารมณ์ พิจารณาตรวจตราดูว่าจิตของเราเป็นอย่างไร สงบหรือไม่สงบ ผ่านอะไรเข้าไปบ้าง มีปีติ สุข เอกัคตามั้ย เพียงแค่นี้ก็เป็นอุบายทำให้เราเกิดสติปัญญา เมื่อเราพิจารณาทบทวนดูจนจบเรื่องที่เราพิจารณาแล้ว มายับยั้งจิตให้เฉยอยู่สักพักหนึ่ง เมื่อความคิดเกิดขึ้น รีบทำสติตามรู้ เอาสิ่งรู้นั้นเป็นอารมณ์ของจิต ทำสติตามรู้ไป เป็นการพิจารณาอารมณ์ในขั้นแห่งวิปัสสนากรรมฐาน

การปฏิบัติด้วยการบริกรรมภาวนาก็ดี การปฏิบัติด้วยการยกจิตขึ้นพิจารณาอะไรก็ดี เช่นพิจารณากายคตาสติ พิจารณารูปนามก็ดี หรือกำหนดจิตทำสติตามรู้ความคิดก็ดี การปฏิบัติตามแบบดังที่กล่าวมาจุดมุ่ง ก็เพื่อทำจิตให้เป็นสมาธิขั้นสมถะ เมื่อสมาธิขั้นสมถะไม่มี สมาธิไม่มี ฌานก็มีไม่ได้ ในเมื่อไม่มีฌานคือการเพ่งดูจิตและอารมณ์ ปัญญาก็มีไม่ได้ ปัญญาก็คือความคิด ถ้าเมื่อความคิดไม่มี สติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ วิชชาความรู้แจ้งก็มีไม่ได้ หรือวิปัสสนาก็มีไม่ได้

เพราะฉะนั้นความสงบของจิตในขั้นสมถะกรรมฐาน จึงเป็นพื้นฐานให้เกิดวิปัสสนาปัญญา ความคิด หรือสติปัญญาที่เราตั้งใจคิด ที่เราเรียนรู้มาจากตำรับตำรา รู้มาจากการได้ยินได้ฟัง รู้มาจากการค้นการคิด อันนี้เป็นสติปัญญาธรรมดา แต่เมื่อจิตสงบลงแล้วจิตผุดเป็นความรู้ขึ้นมาจะเป็นเรื่องอะไรก็ได้อันนั้นเรียกว่า สมาธิปัญญา

แต่นักปฏิบัติทั้งหลาย อย่าไปตั้งใจปฏิบัติเฉพาะเวลาเรานั่งหลับตาสมาธิหรือเดินจงกรม ให้พยายามทำสติกำหนดตามรู้ การยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทุกลมหายใจ อันนี้เป็นจุดยืนของนักปฏิบัติ ถ้าหากเราเอาแต่เวลานั่งสมาธิเดินจงกรม เป็นการสำรวมจิต หรือเป็นการภาวนาเท่านั้น เราอาจจะนั่งสมาธิภาวนาวันละ 3-4 ชั่วโมง แต่หากเวลาที่เราปล่อยจิตปล่อยใจให้เป็นไปตามกิเลสและอารมณ์มากกว่านั้น จิตของเราจะไม่สามารถสร้างพลังขึ้นมาต่อต้านกับความรู้สึกฝ่ายข้างต่ำคือกิเลส

แต่ถ้าเราทำสติตามรู้การยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด อยู่ตลอดเวลา หรือทุกลมหายใจ เราจะได้ปฏิบัติธรรมอยู่ทุกลมหายใจ ทำสมาธิอยู่ทุกลมหายใจ ปฏิบัติสมถะวิปัสสนาอยู่ทุกลมหายใจ เราจะมีศีล สมาธิ ปัญญา อยู่ทุกลมหายใจ การทำสติสังวรณ์ระวังคอยดูอยู่นั่นแหละคือวินัย ความมั่นใจต่อการที่จะกำหนดรู้กิเลสและอารมณ์ของตัวเองนั่น คือสมาธิ ความรู้ว่าอะไรเป็นอะไรเกิดขึ้น ดับไป ในขณะที่กำหนดอยู่ นั่นคือตัวปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา เกิดขึ้นได้ด้วยการทำสติ ตามรู้การยืน เดิน นั่ง นอน ดื่ม ทำ พูด คิด

ในขั้นแรก ๆ เราอาจจะลำบากหน่อย แต่เมื่อเราฝึกหัดอบรมบ่อย ๆ เข้า ทำให้มาก ๆ จนเกิดการคล่องตัว ภายหลังเราจะไม่ได้ตั้งใจกำหนดตามรู้สิ่งดังกล่าว แต่จิตของเราจะมีประสิทธิภาพ สติของเราจะมีประสิทธิภาพ ตามรู้ไปเองโดยอัตโนมัติ

วันนี้ขอกล่าวธรรมะเกี่ยวกับเรื่องปฏิบัติในขั้นสมถะกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานพอเป็นคติเตือนใจและเป็นแนวดำริของท่านผู้ฟัง ก็เห็นว่าพอสมควรแก่กาละเวลา จึงขอยุติด้วยประการฉะนี้.


:b50: :b51: :b52: :b50:

:b44: รวมคำสอน “หลวงพ่อพุธ ฐานิโย”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=40915

:b44: ประวัติและปฏิปทา “หลวงพ่อพุธ ฐานิโย”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=50583

เจ้าของ:  อมิตาพุทธ [ 27 มิ.ย. 2009, 12:16 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ☆*~ สมถะ วิปัสนากรรมฐาน ภาคปฏิบัติ ~*☆

อนุโมทนา สาธุ ครับ :b8:

เจ้าของ:  kae [ 27 มิ.ย. 2009, 14:45 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ☆*~ สมถะ วิปัสนากรรมฐาน ภาคปฏิบัติ ~*☆

ขออนุโมทนาสาธุ...กับธรรมดีๆๆที่คุณหนวดเต่ามอบให้ :b8: :b8: :b8:

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/