ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

สิ่งที่ไม่ใช่สมาธิ+ลักษะของจิตที่เป็นสมาธิ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=19055
หน้า 1 จากทั้งหมด 2

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 14 พ.ย. 2008, 17:39 ]
หัวข้อกระทู้:  สิ่งที่ไม่ใช่สมาธิ+ลักษะของจิตที่เป็นสมาธิ

สิ่งที่ไม่ใช่สมาธิ


สิ่งที่ไม่ใช่สมาธิ แต่เป็นปฏิปักษ์ เป็นศัตรูของสมาธิ เป็นสิ่งที่ต้องกำจัดเสีย

จึงจะเกิดสมาธิ หรือจะพูดว่า เป็นสิ่งที่ต้องกำจัดเสียด้วยสมาธิก็ได้

สิ่งเหล่านี้มีชื่อเฉพาะเรียกว่านิวรณ์



นิวรณ์ แปลว่า เครื่องกีดกั้น เครื่องขัดขวาง

แปลเอาความตามหลักวิชาว่า สิ่งที่กีดกั้นการทำงานของจิต

สิ่งที่ขัดขวางความดีงามของจิต

สิ่งที่ทอนกำลังปัญญา

หรือแสดงความหมายให้เป็นวิชาการยิ่งขึ้นว่า สิ่งที่กั้นจิต ไม่ให้ก้าวหน้าในกุศลธรรม

ธรรมฝ่ายชั่วที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณความดี หรือ อกุศลธรรม ที่ทำจิตให้เศร้าหมอง และ ทำปัญญา

ให้อ่อนกำลัง


คำอธิบายลักษณะของนิวรณ์ที่เป็นพุทธพจน์มีว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ธรรม 5 ประการเหล่านี้ เป็นเครื่องปิดกั้น (กุศลธรรม)

เป็นเครื่องห้าม (ความเจริญงอกงาม) ขึ้นกดทับจิตไว้ ทำปัญญาให้อ่อนกำลัง”

(สํ.ม..19/499/135)


“เป็นอุปกิเลสแห่งจิต (สนิมใจ หรือ สิ่งที่ทำให้ใจเศร้าหมอง) ทำปัญญาให้อ่อนกำลัง”

(สํ.ม..19/490/133)


และว่า “ธรรม 5 ประการเหล่านี้ เป็นนิวรณ์ ทำให้มีดบอด ทำให้ไร้จักษุ ทำให้ไม่มีญาณ (สร้างความไม่รู้)

ทำให้ปัญญาดับ ส่งเสริมความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน”

(สํ.ม..19/501/136)


นิวรณ์ 5 อย่างนี้ พึงระวังอย่านำมาสับสนกับสมถะ หรือ สมาธิ หากพบที่ใด พึงตระหนักไว้ว่า

นี้ไม่ใช่สมถะ นี้ไม่ใช่สมาธิ

นิวรณ์ 5 อย่างนั้น คือ *


1. กามฉันท์ ความอยากได้อยากเอา (แปลตามศัพท์ว่า ความพอใจในกาม)

หรือ อภิชฌา ความเพ่งเล็งอยากได้

หมายถึง ความอยากได้กามคุณ 5คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ

เป็นกิเลสพวกโลภะ จิตที่ถูกล่อด้วยอารมณ์ต่างๆ คิดอยากได้โน่น อยากได้นี่ ติดใจโน่นติดใจนี่

คอยเขวออกไปหาอารมณ์อื่น ครุ่นข้องอยู่ ย่อมไม่ตั้งมั่น ไม่เดินเรียบไป ไม่อาจเป็นสมาธิได้


2. พยาบาท ความขัดเคืองแค้นใจ ได้แก่ ความขัดใจ แค้นเคือง เกลียดชัง

ความผูกใจเจ็บ

การมองในแง่ร้าย การคิดร้าย มองเห็นคนอื่นเป็นศัตรู ตลอดจนความโกรธ ความหงุดหงิด

ฉุนเฉียว ความรู้สึกขัดใจ ไม่พอใจต่างๆ จิตที่มัวกระทบนั่นกระทบนี่ สะดุดนั่นสะดุดนี่

เดินไม่เรียบ ไม่ไหลเนื่อง ย่อมไม่อาจเป็นสมาธิ


3. ถีนมิทธะ (ถีน+มิทธะ) ความหดหู่และเซื่องซึม หรือเซ็งและซึม

แยกเป็น ถีนะ ความหดหู่ ห่อเหี่ยว ถดถอย ระย่อ ท้อแท้ ความซบเซา เหงาหงอย

ละเหี่ย ที่เป็นอาการของจิตใจ

กับ

มิทธะ ความเซื่องซึม เฉื่อยเฉา ง่วงเหงาหาวนอน โงกง่วง อืดอาด มึนมัว ตื้อตัน

อาการซึมๆ เฉาๆ ที่เป็นไปทางกาย

จิตที่ถูกอาการทางกาย และ ทางใจอย่างนี้ครอบงำ ย่อมไม่เข็มแข็ง ไม่คล่องตัว

ไม่เหมาะแก่การใช้งาน จึงไม่อาจเป็นสมาธิได้


4. อุทธัจจกุกกุจจะ(อุทธัจจะ+กุกกุจจะ) ความฟุ้งซ่านและเดือดร้อนใจ

แยกเป็น อุทธัจจะ ความที่จิตฟุ้งซ่าน ไม่สงบ ส่าย พร่า พล่านไป

กับ

กุกกุจจะ ความวุ่นวายใจ รำคาญใจ ระแวง เดือดร้อนใจ ยุ่งใจ กลุ้มใจ กังวลใจ

จิตที่ถูกอุทธัจจกุกกุจจะ ครอบงำ ย่อมพล่าน ย่อมคว้างไป ไม่อาจสงบลงได้ จึงไม่เป็นสมาธิ


5. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ได้แก่ ความเคลือบแคลง ไม่แน่ใจ สงสัยเกี่ยวกับ

พระศาสดา พระธรรม พระสงฆ์ เกี่ยวกับสิกขา เป็นต้น

พูดสั้นๆว่า คลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลาย ตัดสินไม่ได้ เช่นว่า ธรรมนี้ (สมาธิภาวนานี้ ดีจริงหรือ

การปฏิบัติเช่นนี้ๆ ได้ผลจริงหรอ เป็นต้น)

มีคุณค่า มีประโยชน์ควรแก่การปฏิบัติหรือไม่ จะได้ผลหรือไม่ คิดแยกไปสองทาง กำหนดไม่ลง

จิตที่ถูกวิจิกิจฉา ขัดไว้ให้ค้างให้พร่า ลังเลอยู่ ย่อมไม่อาจแน่วแน่เป็นสมาธิ

ไฟล์แนป:
46.jpg
46.jpg [ 75.83 KiB | เปิดดู 8077 ครั้ง ]

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 14 พ.ย. 2008, 17:58 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สิ่งที่ไม่ใช่สมาธิ

ที่มาที่ทำเครื่องหมาย * คห.บน

* นิวรณ์ 5 ทีมีอภิชฌาเป็นข้อแรก มักบรรยายไว้ก่อนหน้าจะได้ฌาน

(เช่น (ที.สี.9/125/95; 324/257 ฯลฯ)


ส่วนนิวรณ์ 5 ที่มีกามฉันท์เป็นข้อแรก มักกล่าวไว้เอกเทศและระบุแต่หัวข้อ

ไม่บรรยายลักษณะ

(เช่น ที.สี.9/378/306 ; ที.ปา.11/286/246 ; 414/296 ฯลฯ)


ดูอธิบายในนิวรณ์ 6 (เติมอวิชชา) (ที่ อภิ.สํ.34/749-753/295-7 ฯลฯ)


อภิชฌา= กามฉันท์ เช่น ปฏิสํ.อ.212/

อภิชฌา= โลภะ เช่น อภิ.สํ.34/691/273

คำว่า กาย ข้อที่ 3 ท่านว่าหมายถึงนามกาย คือกองเจตสิก

(สงฺคณี.อ.536)

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 14 พ.ย. 2008, 18:05 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สิ่งที่ไม่ใช่สมาธิ

พิจารณาพุทธพจน์ที่ว่า จิตที่ถูกนิวรณ์กดทับแล้ว ทำให้ปัญญาดับทำให้ปัญญาอ่อนกำลัง

ทั้งตัวจิตเองก็พร่ามัว มองไม่เห็นอรรถเห็นธรรม ดังนี้


“ภิกษุทั้งหลาย ธรรม 5 ประการต่อไปนี้ เป็นเครื่องปิดกั้น เป็นนิวรณ์ เป็นสิ่งที่กดทับจิต

ทำให้ปัญญาอ่อนกำลัง 5 ประการ กล่าวคือ

กามฉันท์...พยาบาท...ถีนมิทธะ...อุทธัจจกุกกุจจะ...วิจิกิจฉา...

ภิกษุไม่ละธรรม 5 ประการ ที่เป็นเครื่องปิดกั้น เป็นนิวรณ์ เป็นสิ่งที่กดทับจิต ทำให้ปัญญาอ่อนกำลัง

แล้วจักรู้ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือ จักประจักษ์แจ้ง ซึ่งญาณทัศนะอันวิเศษ

ที่สามารถทำให้เป็นอริยะ ซึ่งยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์สามัญ ด้วยปัญญาที่ทุรพลไร้กำลัง

ข้อนี้ ย่อมมิใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้ เปรียบเหมือนแม่น้ำที่เกิดบนภูเขา ไหลลงเป็นสายยาวไกล

มีกระแสเชียว พัดพาสิ่งที่พอจะพัดเอาไปได้ บุรุษเปิดปากเหมืองออกทั้งสองข้างของแม่น้ำนั้น

เมื่อเป็นเช่นนั้น กระแสน้ำท่ามกลางแม่น้ำนั้น ก็กระจาย ส่ายพร่า เขวคว้าง ไม่แล่นไหลไปไกล

ไม่มีกระแสเชียว และพัดพาสิ่งที่พอจะพัดเอาไปไม่ได้”

(องฺ.ปญฺจก.22/51/72)

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 14 พ.ย. 2008, 18:39 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สิ่งที่ไม่ใช่สมาธิ

พิจารณาสารัตถธรรม ระหว่างพราหมณ์ กับ พระพุทธเจ้า


สังคารวะพราหมณ์ : กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ท่านพระโคดมผู้เจริญ

อะไรหนอเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ให้ในบางคราว มนต์ทั้งหลาย

แม้ที่ได้สาธยายมาแล้ว ตลอดเวลายาวนาน ก็ไม่แจ่มแจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้สาธยาย

และ อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัยให้ ในบางคราว มนต์ทั้งหลาย

แม้ที่มิได้สาธยายตลอดเวลายาวนาน ก็แจ่มแจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ได้สาธยาย


พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า: ดูกรพราหมณ์ ในเวลาใด บุคคลมีใจกลุ้มรุมด้วยกามราคะ

ถูกกามราคะครอบงำอยู่ และไม่รู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่งทางออกแห่งกามราคะที่เกิดขึ้นแล้ว

ในเวลานั้น เขาย่อมไม่รู้ชัด มองไม่เห็นตามเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น

ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

มนต์ทั้งหลาย แม้ที่ได้สาธยายมาตลอดเวลายาวนาน ก็ย่อมไม่แจ่มแจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้สาธยาย


บุคคล มีใจกลุ้มรุมด้วยพยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา ก็เช่นเดียวกัน

และทรงเปรียบจิต ที่ถูกนิวรณ์ต่างๆ ครอบงำ ดังต่อไปนี้



1. (จิต ที่ถูกกามราคะ ครอบงำ) เปรียบเหมือน ภาชนะใส่น้ำ ซึ่งเอาสีครั่งบ้าง สีขมิ้นบ้าง

สีเขียวบ้าง สีแดงอ่อนบ้าง ผสมปนกันไว้ คนตาดี มองดูเงาหน้าของตน ในภาชนะน้ำนั้น ก็ไม่รู้

ไม่เห็นตามเป็นจริง


2. (จิต ที่ถูกพยาบาท ครอบงำ) เปรียบเหมือน ภาชนะใส่น้ำ ที่เอาไฟเผาลน เดือดพล่าน

มีไอพลุ่ง คนตาดี มองดูเงาหน้าของตน ในภาชนะน้ำนั้น ก็ไม่รู้ ไม่เห็นตามเป็นจริง


3. (จิต ที่ถูกถีนมิทธะ ครอบงำ) เปรียบเหมือน ภาชนะใส่น้ำ ที่ถูกสาหร่ายและจอกแหนปกคลุม

คนตาดี มองดูเงาหน้าของตน ในภาชนะน้ำนั้น ก็ไม่รู้ ไม่เห็นตามเป็นจริง


4 (จิต ที่ถูกอุทธัจจกุกกุจจะ ครอบงำ) เปรียบเหมือน ภาชนะใส่น้ำ ที่ถูกลมพัด ไหว กระเพื่อม

เป็นคลื่น คนตาดี มองดูเงาหน้าของตน ในภาชนะน้ำนั้น ก็ไม่รู้ ไม่เห็นตามเป็นจริง

5. (จิต ที่ถูกวิจิกิจฉา ครอบงำ) เปรียบเหมือน ภาชนะใส่น้ำที่ขุ่น มัว เป็นตม ซึ่งวางไว้ในที่มืด

คนตาดี มองดูเงาหน้าของตน ในภาชนะน้ำนั้น ก็ไม่รู้ ไม่เห็นตามเป็นจริง

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 14 พ.ย. 2008, 18:47 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สิ่งที่ไม่ใช่สมาธิ

ไม่แจ่มแจ้ง หมายถึง นึกไม่ออก หรือ คิดไม่ออก

อีกแห่งหนึ่ง ที่ตรัสถึงจิตที่ไม่ขุ่นมัว เหมือนห้วงน้ำใส มองเห็นก้อนหิน ก้อนกรวด หอย

และ ปลาที่แหวกว่ายในน้ำ

ส่วนจิต ที่ขุ่นมัว ก็เหมือนห้วงน้ำขุ่นที่ตรงกันข้าม

(องฺ.เอก.20/46-47/10

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 14 พ.ย. 2008, 18:55 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สิ่งที่ไม่ใช่สมาธิ

ส่วนคนที่ใจไม่มีนิวรณ์ 5 ครอบงำ และรู้ทางออกของนิวรณ์ 5 ที่เกิดขึ้นแล้ว

ย่อมเห็นตามเป็นจริง ทั้งประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น และประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

มนต์แม้ที่มิได้สาธยายตลอดเวลายาวนาน ก็แจ่มแจ้งได้

ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ได้สาธยาย และมีอุปมาต่างๆ ตรงข้ามกับที่ได้กล่าวแล้ว




“ภิกษุทั้งหลาย อุปกิเลสแห่งทอง 5 อย่างต่อไปนี้ ทองเปื้อนปนเข้าด้วยแล้ว

ย่อมเป็นเหตุให้ไม่อ่อน ไม่ควรแก่งาน ไม่สุกปลั่ง เปราะ ไม่เหมาะที่จะนำไปทำอะไรๆ

5 อย่างเป็นไฉน?

ได้แก่ เหล็ก โลหะอื่น ดีบุก ตะกั่ว และเงิน...

เมื่อใด ทองพ้นจากอุปกิเลส 5 ประการ เหล่านี้แล้ว ก็จะเป็นสภาพอ่อน ควรแก่งาน

สุกปลั่ง ไม่เปราะ เหมาะที่จะนำไปทำอะไรๆ ได้ดี

กล่าว คือ ช่างทอง ต้องการทำเครื่องประดับชนิดใดๆ จะเป็นแหวน ตุ้มหู สร้อยคอ หรือสุวรรณมาลา

ก็ตาม ย่อมสำเร็จผลที่ต้องการ ฉันใด


อุปกิเลสแห่งจิต 5 อย่างต่อไปนี้ จิตพัวพันเศร้าหมองเข้าแล้ว ย่อมไม่นุ่มนวล ไม่ควรแก่งาน

ไม่ผ่องใส เปราะเสาะ และไม่ตั้งมั่นด้วยดี (ไม่เป็นสัมมาสมาธิ) เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย

ฉันนั้น


5 อย่างเป็นไฉน? ได้แก่

กามฉันท์ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา...

เมื่อใด จิตพ้นจากอุปกิเลส 5 ประการเหล่านี้แล้ว ก็จะเป็นสภาพอ่อนโยน ควรแก่งาน ผ่องใส

ไม่เปราะเสาะ และย่อมตั้งมั่นด้วยดี (เป็นสัมมาสมาธิ) เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย

อนึ่ง เธอจะน้อมจิตไป เพื่อรู้จำเพาะประจักษ์แจ้ง ซึ่งอภิญญาสัจฉิกรณียธรรม-(สิ่งที่พึงทำให้ประจักษ์แจ้ง

ด้วยการรู้จำเพาะ) อย่างใดๆ ก็ย่อมถึงภาวะที่สามารถเป็นพยานในธรรมนั้นๆได้ ในเมื่อเหตุมีอยู่”

(องฺ.ปญฺจก.22/23/17)


มีพุทธพจน์ บางแห่งตรัสว่า “ถ้าภิกษุปราศจากนิวรณ์ทั้ง 5 และได้เริ่มทำความเพียร

ไม่ย่อหย่อน มีสติกำกับอยู่ไม่เลื่อนหลง กายผ่อนคลายสงบ ไม่เครียดกระสับกระส่าย จิตตั้งมั่น

มีอารมณ์หนึ่งเดียว ไม่ว่าเธอจะเที่ยวไปอยู่ก็ตาม ยืนอยู่ก็ตาม นั่งอยู่ก็ตาม นอนตื่นอยู่ก็ตาม

ก็เรียกได้ว่า เป็นผู้มีความเพียร มีโอตตัปปะ ได้เริ่มระดมความเพียรอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และเป็นผู้อุทิศ

ตัวเด็ดเดี่ยวแล้ว” *


(องฺ.จตุกฺก.21/12/19 ฯลฯ)

:b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48:

* การพยายาม ชำระจิตไม่ให้มีนิวรณ์ เป็นความหมายอย่างหนึ่งของหลักที่เรียกว่า ชาคริยานุโยค คือ

การประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่ หรือการประกอบความตื่น

(องฺ.ติก.20/455/143 ฯลฯ)

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 14 พ.ย. 2008, 19:19 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สิ่งที่ไม่ใช่สมาธิ

ลักษณะของจิตที่เป็นสมาธิ



อธิจิตตสิกขา คือ การฝึกปรือ เพื่อเสริมสร้างคุณภาพ และ สมรรถภาพของจิต

ดังนั้น สมาธิ ซึ่งเป็นเป้าหมาย ของอธิจิตตสิกขานั้น จึงหมายถึง ภาวะจิตที่มีคุณภาพ และ มีสมรรถภาพ

ดีที่สุด จิตที่เป็นสมาธิ หรือมีคุณภาพดี มีสมรรถภาพนั้น มีลักษณะที่สำคัญ ดังนี้



1. แข็งแรง มีพลังมาก ท่านเปรียบไว้ว่า เหมือนกระแสน้ำ ที่ถูกควบคุมให้ไหลพุ่งไปในทิศทางเดียว

ย่อมมีกำลังแรงกว่าน้ำ ที่ถูกปล่อยให้ไหลพร่ากระจายออกไป


2. ราบเรียบ สงบซึ้ง เหมือนสระ หรือ บึงน้ำใหญ่ ที่มีน้ำนิ่ง ไม่มีลมพัดต้อง ไม่มีสิ่งรบกวน

ให้กระเพื่อมไหว


3. ใส กระจ่าง มองเห็นอะไรๆได้ชัด เหมือนน้ำสงบนิ่ง ไม่เป็นริ้วคลื่น และฝุ่นละอองที่มีก็ตกตะกอน

นอนก้นหมด


4. นุ่มนวล ควรแก่งาน หรือเหมาะแก่การใช้งาน เพราะไม่เครียด ไม่กระด้าง ไม่วุ่น ไม่ขุ่นมัว

ไม่สับสน ไม่เร่าร้อน ไม่กระวนกระวาย


ไวพจน์ที่แสดงความหมายของสมาธิคำหนึ่ง คือ เอกัคคตา แปลกันว่า ภาวะที่จิต

มีอารมณ์หนึ่งเดียว

แต่ถ้าว่า ตามรูปศัพท์ จะเห็นลักษณะของจิตที่คล้ายกับข้อแรก คือ เอกัคคตา = เอก+อัคค+ตา

(ภาวะ) คำว่า อัคคะ ในที่นี้ ท่านให้แปลว่า อารมณ์

แต่ความหมายเดิมแท้ก็ คือ จุดยอด หรือ จุดปลาย

โดยนัยนี้ จิตเป็นสมาธิก็ คือ จิตที่มียอด หรือ มีจุดปลายจุดเดียว ซึ่งย่อมมีลักษณะแหลม พุ่ง แทงทะลุ

สิ่งต่างๆไปได้ง่าย

จิตที่เป็นสมาธิขั้นสมบูรณ์ เฉพาะอย่างยิ่ง สมาธิถึงขั้นฌาน พระอรรถกถาจารย์ เรียกว่าจิตประประกอบ

ด้วยองค์ 8

องค์ 8 นั้น ท่านนับจากคำบรรยายที่เป็นพุทธพจน์นั่นเอง กล่าวคือ


1. ตั้งมั่น

2. บริสุทธิ์

3. ผ่องใส

4 โปร่งโล่งเกลี้ยงเกลา

5. ปราศจากสิ่งมัวหมอง

6. นุ่มนวล

7. ควรแก่งาน

8. อยู่ตัว ไม่วอกแวกหวั่นไหว

:b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42:

(องค์ 8 ตามบาลี คือ 1.สมาหิตะ 2. ปริสุทธะ 3 ปริโยทาตะ 4. อนังคณะ

5. วิคตูปกิเลส 6. มุทุภูตะ 7. กัมมนิยะ 8. ฐิตะ อาเนญชัปปัตตะ

มีที่มามากมาย เช่น ที.สี. 9 /131/101; ม.มู.12/48/38 ฯลฯ)


ท่านว่า จิตที่มีองค์ประกอบเช่นนี้ เหมาะแก่การนำเอาไปใช้ได้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเอาไปใช้งาน

ทางปัญญา พิจารณาให้เกิดความรู้เข้าใจถูกต้องแจ้งชัด หรือ ใช้ในทางสร้างพลังจิต

ให้เกิดอภิญญาสมาบัติอย่างใดๆ ก็ได้



ลักษณะเด่นที่สุดของจิตที่เป็นสมาธิ ซึ่งสัมพันธ์กับความมุ่งหมายของสมาธิด้วยก็ คือ ความควรแก่งาน

หรือ ความเหมาะแก่งาน และงานที่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนาก็คือ งานทางปัญญา อันได้แก่การใช้จิต

พร้อมดีเช่นนั้น เป็นสนามปฏิบัติการของปัญญา ในการพิจารณาสภาวธรรม ให้เกิดความรู้แจ้งตามเป็นจริง

และ โดยนัยนี้ จึงควรย้ำเพิ่มไว้อีกด้วยว่า สมาธิที่ถูกต้อง ไม่ใช่อาการที่จิตหมดความรู้สึก

ปล่อยตัวตนเข้ารวมหายไปในอะไรๆ

แต่เป็นภาวะที่ใจสว่าง โล่งโปร่ง หลุดออกจากสิ่งบดบังบีบคั้นกั้นขวาง เป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง

ตื่นอยู่ เบิกบาน พร้อมที่จะใช้ปัญญา

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 14 พ.ย. 2008, 19:55 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สิ่งที่ไม่ใช่สมาธิ

ข้ออุปมา ของพระอรรถกถาจารย์ เกี่ยวกับสมาธินี้ก็น่าฟัง ท่านว่า

สมาธิทำให้จิตตั้งอยู่ในอารมณ์อย่างสม่ำเสมอ

ทำให้องค์ธรรมทั้งหลาย ที่เกิดร่วมกับมัน ผนึกประสานกันอยู่ ไม่พร่า ไม่ฟุ้งกระจาย

เหมือนน้ำผนึกประสานแป้งเข้าเป็นก้อนเดียว

และทำให้จิต สืบต่ออย่างนิ่งแน่วมั่นคง เหมือนเปลวเทียนในที่สงัดลม

ลุกไหม้ไปเรื่อยๆ ส่องแสงสว่างสม่ำเสมอเป็นอย่างดี


(สงฺคณี อ. 209; วิสุทธิ.3/37 ฯลฯ)

:b39: :b39: :b39: :b39: :b39: :b39: :b39: :b39: :b39: :b39: :b39:


คำว่า ตั้งมั่น หรือเป็นสมาธิ

ตามรูปศัพท์จะแปลว่า ทรงตัวเรียบก็ได้ ดูเหมือนว่า ถ้าแปลอย่างนี้จะให้ความ

รู้สึกเป็นการเคลื่อนไหวดีกว่า คือ คล้ายกับแปลว่า

เดินแน่วสม่ำเสมอ เหมือนคนใจแน่วแน่เดินเรียบบนเส้นลวดซึ่งขึงในที่สูง

คำว่า ไม่กระสับกระส่าย จะแปลว่า ไม่เครียดก็ได้

(เกี่ยวกับสมาธิหรือสมถะนี้ มีผู้เข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่มาก)

ไฟล์แนป:
girl_med2.jpg
girl_med2.jpg [ 23.9 KiB | เปิดดู 7972 ครั้ง ]

เจ้าของ:  O.wan [ 22 พ.ย. 2008, 22:08 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สิ่งที่ไม่ใช่สมาธิ

:b8: k.กรัชกาย แนะนำบทความดีจัง อ่านแล้วเข้าใจ แต่ :b5: ในทางปฏิบัติ
เรายังทำได้แค่ 20%เอง แต่....เรารู้ว่าต้องใช้เวลาค่อยเป็นค่อยไป แต่ว่า.....
เราตอนนี้เหมือนคนติดยาเลย กลับมาปุ๊บเราต้องเปิดคอม...เลย :b17:
และอยากแต่จะอ่านๆ.ๆ.ๆ.ๆ.ๆ และถามๆ.ๆ.ๆ.ๆ.ๆเพื่อให้ปฏิบัติได้เร็วๆ.ๆ.ๆ.
เราอยากมีสมาธิแน่วแน่ แต่.....ชอบหลุด เหมือนใจมันไม่สงบ :b34:
หรือว่าเรายังใหม่อยู่ ช่วยแนะนำด้วยคะว่าควรทำอย่างไร เราอยากรู้มากๆ.ๆ.ๆ. :b8:

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 23 พ.ย. 2008, 08:33 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สิ่งที่ไม่ใช่สมาธิ

อ้างคำพูด:
กรัชกาย แนะนำบทความดีจัง อ่านแล้วเข้าใจ แต่ในทางปฏิบัติเรายังทำได้แค่ 20%เอง

คุณ o.wan รู้เข้าใจความจริงตามนั้น แปลว่าประเมินตนเองตามเป็นจริง ไม่หลอกตนเองวิจารณ์ตน
ตามเป็นจริง การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเริ่มนับหนึ่งจากจุดนี้แหละ รู้สึกอย่างไร ก็กำหนดในใจอย่างนั้น เป็นอย่างไรกำหนดรู้ในใจตามนั้น รู้ก็ "รู้หนอๆๆ" ไม่รู้ก็ "ไม่รู้หนอๆๆ"

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 23 พ.ย. 2008, 09:07 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สิ่งที่ไม่ใช่สมาธิ

อ้างคำพูด:
เราอยากมีสมาธิแน่วแน่ แต่.....ชอบหลุด เหมือนใจมันไม่สงบ
หรือว่าเรายังใหม่อยู่ ช่วยแนะนำด้วยคะว่าควรทำอย่างไร เราอยากรู้มากๆ.ๆ.ๆ.


มีคนหลงป่าอดน้ำอดอาหารเป็นแรมเดือน เดินโซซัดโซเซไป มาหมดแรงล้มลงที่ใกล้กระท่อมชายป่าหลังหนึ่ง ...ขอน้ำๆ หิวน้ำๆๆ ขอน้ำหน่อย ... เจ้าของกระท่อมจึงเอาใบไม้ตักน้ำให้คนหลงป่าดื่มที่ละหยาดๆ ฯลฯ
ถามว่า เพราะเหตุไร
เพราะผู้อดข้าวอดน้ำเป็นแรมเดือน หากตักน้ำทั้งขัน เขาจะดื่มๆๆๆด้วยความกระหายอยาก จนน้ำ..ติดคอจุกแน่นหน้าอกอาจถึงตายได้ฉันใด
คุณก็ฉันนั้น กำลังกระหายธรรม กระหายความรู้ กระหายสมาธิ ฯลฯ หากรีบๆๆ เพราะอยากรู้ อยากมีอยากเป็น อาจเกิดปัญหาขึ้นได้ จึงต้องทำใจให้สงบ หายกระวนกระวายลงก่อน แล้วนั่งลงค่อยๆเรียนรู้ ค่อยๆ ปฏิบัติๆสะสมไปทีละเล็กละน้อย สักวันก็จะรู้เข้าใจเพิ่มขึ้นเอง เหมือนหยาดน้ำที่หยดลงตุ่มที่ละหยดทีละหยาด ๆ แต่ว่าบ่อยๆต่อเนื่องน้ำก็เต็มตุ่มได้เหมือนกัน :b42:

เจ้าของ:  O.wan [ 23 พ.ย. 2008, 17:15 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สิ่งที่ไม่ใช่สมาธิ

:b5: เข้าใจแล้วค่ะ แต่เพราะเราเป็นคนใจร้อน เลยรู้สึกว่ามันยากจัง :b9:
ตอนนี้เราเลยให้ลูกเป็นตัวช่วย ว่าแม่เย็นลงบ้างไม๊ ถ้าเราได้ถึง 50%
เราจะบอกคุณนะ :b8: :b16: :b8: :b16:

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 23 พ.ย. 2008, 18:21 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สิ่งที่ไม่ใช่สมาธิ

ครับ
อุบายวิธีของคุณถูกต้องแล้ว เป็นนักประชาธิปไตยปวารณาตัวให้ลูกหรือคนในครอบครัวเตือนสติกันและกันได้ ลูกก็จะเป็นกันเองกับเรา ตัวเราเองก็จะฟังความเห็นคำเตือนของลูก
ฟังดูแล้วกรัชกายอยากเป็นลูกคุณจัง :b12:

เจ้าของ:  O.wan [ 23 พ.ย. 2008, 21:23 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สิ่งที่ไม่ใช่สมาธิ

เพราะK.กรัชกายเคยบอกให้เราถามได้ เราก็จะถามแต่....
k.อาจต้องทนคำถามที่ง่ายสำหรับคนทั่วไป แต่บัวใต้ดิน
ที่เริ่มจากศูนย์ อย่างเราคงต้องตอบคำถามกันอีกนานๆๆๆๆ
:b5: :b9: :b5: :b9: :b5: :b9:

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 22 ก.ค. 2009, 20:32 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สิ่งที่ไม่ใช่สมาธิ


นักศึกษาธรรม ถามถึงสัมมาสมาธิบ่อยๆ ว่าต้องยังไงจึงจะเป็นสัมมาสมาธิ ฯลฯ

จากพุทธพจน์ดังกล่าว บอกชัดว่า จิตปราศจากนิวรณ์ ตั้งมั่นด้วยดี เป็นสัมมาสมาธิ

ทบทวนพุทธพจน์ ที่ตรัสเชิงอุปมาเปรียบเทียบ อีกครั้ง




“ภิกษุทั้งหลาย อุปกิเลสแห่งทอง 5 อย่างต่อไปนี้ ทองเปื้อนปนเข้าด้วยแล้ว

ย่อมเป็นเหตุให้ไม่อ่อน ไม่ควรแก่งาน ไม่สุกปลั่ง เปราะ ไม่เหมาะที่จะนำไปทำอะไรๆ

ห้าอย่างเป็นไฉน?

ได้แก่ เหล็ก โลหะอื่น ดีบุก ตะกั่ว และเงิน...

เมื่อใด ทองพ้นจากอุปกิเลส 5 ประการ เหล่านี้แล้ว ก็จะเป็นสภาพอ่อน ควรแก่งาน สุกปลั่ง

ไม่เปราะ เหมาะที่จะนำไปทำอะไรๆ ได้ดี กล่าว คือ

ช่างทอง ต้องการทำเครื่องประดับชนิดใดๆ จะเป็นแหวน ตุ้มหู สร้อยคอ หรือสุวรรณมาลาก็ตาม

ย่อมสำเร็จผลที่ต้องการ ฉันใด


อุปกิเลสแห่งจิต 5 อย่างต่อไปนี้ จิตพัวพันเศร้าหมองเข้าแล้ว ย่อมไม่นุ่มนวล

ไม่ควรแก่งาน ไม่ผ่องใส เปราะเสาะ และไม่ต้องมั่นด้วยดี (ไม่เป็นสัมมาสมาธิ)

เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ฉันนั้น

ห้าอย่าง เป็นไฉน?

ได้แก่ กามฉันท์ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา



เมื่อใด จิตพ้นจากอุปกิเลส 5 ประการเหล่านี้แล้ว ก็จะเป็นสภาพอ่อนโยน ควรแก่งาน

ผ่องใส ไม่เปราะเสาะ และย่อมตั้งมั่นด้วยดี (เป็นสัมมาสมาธิ)

เพื่อความสิ้นไป แห่งอาสวะทั้งหลาย


อนึ่ง เธอจะน้อมจิตไป เพื่อรู้จำเพาะ ประจักษ์แจ้ง ซึ่งอภิญญาสัจฉิกรณียธรรมอย่างใดๆ

ก็ย่อมถึงภาวะ ที่สามารถเป็นพยานในธรรมนั้นๆได้ ในเมื่อเหตุมีอยู่...”

หน้า 1 จากทั้งหมด 2 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/