ลานธรรมจักร http://www.dhammajak.net/forums/ |
|
ช่วงสุดท้ายที่เราอยู่ด้วยกัน http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=19&t=35649 |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 |
เจ้าของ: | ลูกโป่ง [ 09 ธ.ค. 2010, 12:04 ] |
หัวข้อกระทู้: | ช่วงสุดท้ายที่เราอยู่ด้วยกัน |
![]() ภาพประกอบข่าว ช่วงสุดท้ายที่เราอยู่ด้วยกัน โรคบางโรครักษาแล้วหาย บางโรครักษาแล้วไม่หาย บางโรคไม่รักษาก็หาย บางโรครักษาจึงหาย ไม่รักษาถึงตาย แต่สำหรับผู้ป่วยในระยะสุดท้ายที่มีอาการจนถึงขั้นรักษาไม่หาย และไม่มีแผนการรักษาใดๆ อีกต่อไป นอกจากรับการดูแลแบบประคับประคองอาการจนถึงระยะสุดท้ายของชีวิต ในห้วงสุดท้ายของชีวิตที่ไม่เหลือความหวังให้ยึดเหนี่ยวอีกต่อไป ผู้ป่วย และญาติมีทางเลือกใดบ้างที่จะใช้เวลาที่เหลืออยู่น้อยนิดด้วยกัน อุมาภรณ์ ไพศาลสุทธิเดช พยาบาลศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง โรงพยาบาลรามาธิบดี บอกว่า ถึงแม้ว่าญาติผู้ป่วยจะมีความต้องการให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายพักอยู่โรงพยาบาล แต่ด้วยจำนวนเตียงที่มีจำกัด สุดท้ายแล้วญาติผู้ป่วยจำเป็นต้องนำตัวผู้ป่วยกลับไปดูแลต่อที่บ้าน เมื่อถึงเวลานั้นผู้ป่วยและครอบครัว ควรจะสามารถดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสมตามศักยภาพ “บางครั้งญาติผู้ป่วยอาจขาดความมั่นใจในการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ทางศูนย์ดูแลผู้ป่วยฯ เราจะเข้าไปช่วยผู้ป่วยและญาติทุกคน ได้วางแผนร่วมกันในการดูแลแบบองค์รวม และมีการเตรียมตัวเกี่ยวกับการสูญเสีย หรือการพลัดพรากในวาระสุดท้ายของชีวิต” จากประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ สั่งสมมากว่า 20 ปี อุมาภรณ์เล่าว่า สภาพร่างกายผู้ป่วยมักมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เพราะระบบต่างๆ พยายามปรับสภาพให้สมดุล หัวใจ ปอด ตับ ไต ขณะที่ตัวโรคก็ลุกลามไป ร่างกายก็ปรับตัวไป “ผู้ป่วยมักอ่อนเพลียมากจนต้องนอนอยู่บนเตียงตลอด ซึ่งอาจทำให้เกิดแผลกด ทับ จึงควรพลิกตัว ผู้ป่วยทุก 6-8 ชั่วโมง นอนตะแคง และควรยกหัวสูงเล็กน้อยให้หายใจสะดวก” เมื่อคนผู้ป่วยอ่อนแรงและนอนหลับมากขึ้นควรใส่ผ้าอ้อมเพื่อสะดวกในการดูแล ช่วงเวลานี้การให้น้ำเกลือไม่ได้ช่วยให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น แต่ยืดความทุกข์ทรมานออกไปอีก ยกเว้นกรณีจำเป็นที่ต้องให้ยาทางเส้นเลือด เช่นเดียวกับการใส่ท่ออาหารประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะทางท่อทางเดินอาหารหรือท่ออาหารทางเส้นเลือด จึงควรพิจารณาอย่างมาก เพราะมักจะทำให้ผู้ป่วยเจ็บ รำคาญและอาจเป็นสาเหตุให้ถึงแก่ความตายก่อนเวลา ส่วนการดูแลช่องปากให้ใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำเช็ดปาก เหงือกและลิ้น ในระยะนี้ผู้ป่วยมักจะปิดตาไม่สนิททำให้ตาแห้งแสบ อาจใช้น้ำตาเทียมหยอดตาวัน ละ 1-2 ครั้ง กรณีผู้ป่วยมีอาการกระสับกระส่ายนั้น เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีภายในร่างกายเพราะอวัยวะต่างๆ เริ่มวาย ควรปรึกษาแพทย์ให้พิจารณาตามสภาพอาการ แต่หากอาการไม่มาก ไม่ควรใช้ยา เพราะผู้ป่วยอาจอยากมีสติ รู้สึกตัว มีโอกาสได้ร่ำลาญาติก่อนจากไป หรือท่องบทสวดมนต์ หากผู้ป่วยมีอาการหายใจไม่เป็นจังหวะ ช้าบ้าง เร็วบ้าง และอาจหยุดหายใจเป็นช่วง ซึ่งช่วงที่หยุดหายใจจะค่อยๆ ยาวขึ้น เมื่อผู้ป่วยใกล้จะเสียชีวิต ข้อเท็จจริงก็คือ ตัวผู้ป่วยเองจะไม่รู้สึกทรมานกับอาการนี้ เพราะเกิดจากภาวะกรดและด่างเปลี่ยนแปลงไปหลังจากอวัยวะต่างๆ หยุดทำงาน เมื่อถึงเวลานั้น การให้ออกซิเจนจึงไม่จำเป็น ตรงกันข้ามการให้ออกซิเจนกลับทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแห้ง เจ็บ และอึดอัดไม่สบายตัว ผู้ป่วยจะพยายามดึงหน้ากากหรือท่อออกซิเจนตลอดเวลาทั้งที่ไม่รู้สึกตัว “ผู้ดูแลควรแสดงความรู้สึกต่อผู้ป่วยด้วยการกอดและสัมผัสผู้ป่วยเป็นระยะๆ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะรบกวนการพักผ่อนของผู้ป่วย เพราะแม้ผู้ป่วยจะอ่อนเพลียมากจนไม่สามารถพูดได้ แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังสามารถได้ยินและเข้าใจสิ่งที่ญาติพูดได้ เพราะหูจะเป็นอวัยวะสุดท้ายที่ผู้ป่วยจะสูญเสียการทำงานไป” เมื่อผู้ป่วยไม่ค่อยตอบสนองต่อสิ่งรอบตัว จะเกิดภาวะเสียงดังครืดคราดในลำคอคล้ายเสียงกรน ซึ่งเสียงนี้เกิดจากกล้ามเนื้อในการกลืนไม่ทำงาน ลิ้นตก แต่ต่อมน้ำลายน้ำเมือกต่างๆ ยังทำงานอยู่ วิธีช่วยคือ ให้ผู้ป่วยนอนตะแคงโดยมีหมอนยาวรองหลัง เพื่อลดเสียงดังครืดคราดลง แต่ไม่ควรดูดเสมหะด้วยเครื่องดูด เพราะจากจะทำให้ผู้ป่วยเจ็บและอาเจียนจากท่อที่ล้วงลงไปดูดเสมหะในลำคอ เมื่อเวลาของผู้ป่วยใกล้หมดลง สังเกตได้จากมือเท้าเย็น เปลี่ยนเป็นสีคล้ำ ผิวเป็นจ้ำๆ ตาเบิกกว้างแต่ไม่กะพริบ ปัสสาวะน้อยลงมาก ผู้ป่วยบางรายอาจตื่นขึ้นมาในช่วงเวลาสั้นๆ เหมือนอาการดีขึ้น ซึ่งเป็นเสมือนพลังงานสำรองที่มีมาใช้ในการร่ำลาญาติครั้งสุดท้ายก่อนจากไป "ญาติพี่น้องลูกหลานต้องตั้งสติให้ดี และใช้เวลาช่วงสุดท้ายอยู่ข้างเตียงกับผู้ป่วยมากที่สุด" พยาบาลผู้เชี่ยวชาญกล่าว ที่มา... กรุงเทพธุรกิจ ![]() ![]() ![]() |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 | เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง |
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group http://www.phpbb.com/ |