ลานธรรมจักร http://www.dhammajak.net/forums/ |
|
โรคที่ติดต่อทางอารมณ์ http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=19&t=28413 |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 |
เจ้าของ: | ลูกโป่ง [ 11 ม.ค. 2010, 15:10 ] |
หัวข้อกระทู้: | โรคที่ติดต่อทางอารมณ์ |
![]() คุณทราบหรือไม่ว่า อารมณ์ของคนเรานั้นเป็นสิ่งที่ติดต่อกันได้ คุณอาจจะเคยได้ยินแต่โรคที่ติดต่อทางกาย เช่น หวัด วัณโรค หรืออหิวาตกโรค แต่คุณอาจจะไม่เคยได้ยินว่า อารมณ์ของคนเราก็ติดต่อกันได้เช่นกัน โดยเฉพาะอารมณ์ร้ายหรืออารมณ์ที่มีพิษ มักจะแพร่ขยายได้เร็ว บางทีอาจเร็วยิ่งกว่าเชื้อโรคทางกายเสียอีก และที่ร้ายกว่านั้นก็คือ การแพร่ขยายของอารมณ์ที่ไม่ดีทั้งหลาย สามารถส่งผ่านจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่ง โดยที่ไม่จำเป็นต้องรู้จักกันยังได้เลย ลองดูตัวอย่างง่ายๆ ก็ได้ สมมติว่าคุณกำลังรถติดอยู่ พอเห็นสัญญาณไฟเขียวแค่วินาทีแรก รถคันหลังก็เกิดอาการประสาทบีบแตรเร่ง ทั้งๆ ที่คุณก็ไม่ได้ช้าอะไรเลย คุณย่อมรู้สึกโกรธต่อมแอดรีนาลีนของคุณเริ่มทำปฏิกิริยาตอบโต้ คุณเข้าเกียร์อย่างแรง กระแทกคันเร่ง รถคุณพุ่งปราดออกไปปาดหน้ารถคันหน้าทำให้เกือบจะชนกัน เจ้าของรถคันหน้าด่าคุณโขมงโฉงเฉง เมื่อกลับถึงบ้านความโกรธที่ยังไม่หายไป ทำให้คุณไประบายออกด้วยสีหน้าบอกบุญไม่รับ และคำพูดที่แสดงความก้าวร้าวเอากับภรรยาและลูกๆ ซึ่งไม่รู้อีโหน่อีเหน่ด้วย ฯลฯ นี่เป็นตัวอย่างคร่าวๆ ที่แสดงให้เห็นว่า อารมณ์ที่เป็นพิษเมื่อเกิดขึ้นกับใครคนหนึ่งแล้ว มักจะมีการแพร่ขยายเป็นโรคติดต่อไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเรารู้จักคนที่มีพิษ คนที่มักเป็นเจ้าของอารมณ์บูดทั้งหลาย หากเราไปอยู่ใกล้เช่น ต้องทำงานร่วมกับเขา หรือต้องอยู่บ้านเดียวกันละก็ รับรองได้เลยว่า ชีวิตคุณคงจะตกที่นั่งไม่ใครมีความสุขนัก เพราะแค่ได้ยินเสียงรองเท้ากระทบพื้น ก็มีอิทธิพลทำให้คุณรู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ ได้ไม่ยากเลย ทั้งนี้เพราะมนุษย์เราสามารถรับสื่อที่เป็นคล้ายพลังงานทางอารมณ์ ทั้งร้อนทั้งเย็นจากผู้อื่นได้ง่ายมาก และเราก็มักจะได้ผลกระทบจากพลังงานเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นระดับจิตสำนึกหรือจิตใต้สำนึกก็ตาม ลองสังเกตดูก็ได้ว่า บางครั้งเราไปกราบพระที่ท่านมีธรรมะระดับสูงๆ เพียงแค่เห็นหน้าของท่าน เราก็จะรับรู้ถึงกระแสแห่งความเย็นที่มากระทบจิตของเรา บางครั้งทำให้จิตที่รุ่มร้อนของเราคลายลงได้อย่างประหลาด ในทางกลับกัน คนบางคนเป็นคนร้อน อยู่ใกล้หรือไกลก็จะรู้สึกอึดอัด ทั้งๆ ที่เขาอาจจะยังไม่ทันได้พูดอะไรกับเราเลยก็ได้ นอกจากนี้ คุณคงเคยดูโทรทัศน์ที่เป็นภาพยนตร์ตลก และผู้สร้างจะปล่อยเสียงหัวเราะของผู้ดูรายการให้ดังเข้ามาในการแสดงด้วย ทั้งนี้ เป็นเพราะเสียงหัวเราะเป็นการติดต่อทางอารมณ์ได้ง่ายที่สุดเช่น ถ้าในห้องมีใครคนหนึ่งเริ่มต้นหัวเราะ จะมีคนอื่นๆ หัวเราะตามไปด้วยหมด (ดังนั้น ผู้เขียนคิดว่า ถ้าท่านพูดอะไรที่ไม่แน่ใจว่าจะตลกหรือไม่ แต่ให้มีหน้าม้าทำหน้าที่หัวเราะไว้ก่อน สักประเดี๋ยวก็จะเห็นว่าทุกคนในห้องร่วมหัวเราะไปกับท่านด้วย) ถ้าเป็นเรื่องของ "อารมณ์ในทางสร้างสรรค์" การระบาด หรือติดต่อทางอารมณ์ดูจะเป็นสิ่งที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราคิดว่า ถ้ามนุษย์เรามีความรู้สึกร่วมในอามรณ์กับผู้อื่นได้ จะช่วยทำให้สังคมของเรามีการเข้าใจกันมากขึ้น เพราะคนในสังคมรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา รับรู้ความรู้สึกทางจิตใจของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเช่น ถ้าเขาเศร้า เสียใจหรือดีใจ เราก็เศร้าหรือดีใจไปกับเขา ถ้าเป็นไปเพื่อความเข้าใจของมนุษย์ก็เป็นสิ่งที่ควรพยายามทำให้เกิดมากขึ้น แต่ของทุกอย่างย่อมต้องการความพอดี หรือทางสายกลางตามแบบพุทธศาสนา แม้ว่าการเอาใจเขามาใส่ใจเราจะเป็นสิ่งที่ดีก็ตาม แต่ถ้าเราทำจนเกินพอดี เช่น นำตัวเราเข้าไปรู้สึกเหมือนเขา 100% ก็คงจะไม่เป็นการดีนัก เพราะจะทำให้เราขาดความเป็นกลาง สมมติว่า คนรักของเราไม่ชอบหัวหน้าของเรา และเราก็ทำตัว "พลอย" เกลียดตาม ทั้งๆ ที่เราไม่ได้รู้สึกอะไรกับเขาเลย การพลอยเกลียด พลอยรัก พลอยแค้น ฯลฯ ย่อมไม่ใช่สิ่งที่น่ายินดีนัก ถ้าเช่นนี้ แสดงว่าเราเอาใจเราเข้าไปเกี่ยวข้องมากเกินพอดี และอะไรที่เกินพอดี ก็มักจะไม่ใคร่ดีนัก แต่ลักษณะเช่นนี้มักจะมีในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย บางทีเราจะพบว่า แม่ยายจะโกรธลูกเขยแทนลูกสาว เมื่อลูกสาวมาฟ้องเรื่องลูกเขย และบ่อยครั้งที่ลูกเขยและลูกสาวเขาดีกันเรียบร้อยไปแล้ว แต่คุณแม่ยายก็ยังหงุดหงิดกับลูกเขยอยู่ก็มี นอกจากการติดต่อกันทางอารมณ์แล้ว นักจิตวิทยายังพบว่า บางคนสามารถเปลี่ยนสภาพการขัดแย้งทางจิตใจ ให้ออกมาเป็นอาการของร่างกายได้อีกต่างหาก ดังกรณีของ สมสวาท เธอไม่ใคร่ถูกกับหัวหน้างานของเธอเท่าไหร่ ในช่วงที่เธอต้องทำงานใกล้ชิดกับเขา เธอจะมีอาการปวดศีรษะ (ไมเกรน) เป็นประจำ แต่เมื่อเธออยู่ห่างจากหัวหน้า อาการของเธอก็จะทุเลาลง เป็นต้น คนที่อยู่ใกล้ชิดกันไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ลูก หรือสามีภรรยา ยิ่งจะมีอาการของ "โรคติดต่อทางอารมณ์" ที่สังเกตเห็นได้ง่ายเช่น ถ้าสามีกลับบ้านและมีอารมณ์ที่ซึมเศร้าไม่พูดไม่จา และมีปัญหากับที่ทำงาน รับรองว่าภายในไม่กี่ชั่วโมง ภรรยาก็จะได้รับอานิสงส์ของความหงุดหงิดนี้ไม่ต่างจากสามี บางทีอาจจะยิ่งกว่าเสียด้วยซ้ำไป ถ้าเธอเป็นคนคิดมาก เธออาจจะนอนไม่หลับ มีปัญหาต่อเนื่องไปอีกหลายอย่างก็ได้ ทำไมคนเราจึงมีการ "ติดต่อทางอารมณ์" กันได้ง่ายนัก จริงๆ แล้ว ถ้าเราถามคนร้อยทั้งร้อย ไม่มีใครอยากติดโรคนี้ แต่ทำไมเราจึงติดได้ง่ายดายเสียเหลือเกิน คำตอบก็คือ มนุษย์เราโดยเฉพาะผู้หญิง มักเป็นเพศที่ให้ความสำคัญกับความรู้สึกและอารมณ์มากเป็นพิเศษ ใครมาแสดงออกในอารมณ์ใดที่ใกล้ตัวเรา เราก็มักจะรับเข้ามา ส่วนหนึ่งของอารมณ์เราได้ง่าย ทั้งอารมณ์ดีและอารมณ์ร้าย ดังนั้น ถ้าให้เราปิดกั้นไม่ให้รับอารมณ์ร้ายของผู้อื่นเข้ามาในระบบของเราโดยอัตโนมัติ อารมณ์ดีก็จะถูกปิดกั้นด้วยเช่นกัน เราก็จะกลายเป็นคนที่อาจจะถูกมองว่า "ใจดำ ใจแข็ง ขาดความรู้สึก" ไปได้ ลองคิดดูง่ายๆ ก็ได้ว่า ถ้าใครมาปรับทุกข์อะไรกับเรา แล้วเราไม่แสดงความรู้สึกนึกคิดหรือทีท่าเห็นอกเห็นใจเขาเลย เขาคงคิดว่าเราเป็นคนใจไม้ไส้ระกำ ไม่ใส่ใจเขาบ้าง กล่าวโดยสรุปก็คือ การแสดงความไม่รู้ร้อนรู้หนาวเลยนั้น ก็คงจะทำให้คนที่อยู่ด้วยเกิดความรู้สึกไม่ชอบใจเช่นกัน ดังนั้น ความพอดีในการแสดงออกเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนที่จะอยู่ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นสามี ภรรยา พ่อ แม่ ลูก หรือเพื่อนที่ทำงาน เป็นต้น นักจิตวิทยามีความเชื่อว่า คนเราทุกคนไม่ได้มีการรับ "โรคติดต่อทางอารมณ์"ในระดับเดียวกัน คนบางคนจะรับบางเรื่องง่ายกว่าเรื่องอื่น ตัวอย่างเช่น มลวิภา เธอเล่าว่าทุกครั้งที่เธอเห็นแม่เอ็ดลูก เธอจะกลับบ้านด้วยความรู้สึกหดหู่และเศร้าไปกับเด็กที่โดนแม่เอ็ดเสมอ เมื่อคุยกับเธอมากขึ้นก็ได้ความว่า การเห็นแม่เอ็ดลูกทำให้เธอนึกถึงความหลังครั้งที่เธอเป็นเด็กแล้วถูกแม่ดุเป็นประจำ เธอยังจำความเจ็บปวดนั้นได้ดี ความรู้สึกร่วมของมลวิภา อาจไม่ใช่ความรู้สึกร่วมของคนอื่นๆ ในระดับเดียวกันเลยก็ได้ ทั้งนี้เพราะเราทุกคนมีประสบการณ์ที่เป็นจุดอ่อนของชีวิตต่างกัน แต่สิ่งที่ต้องการย้ำให้เห็นก็คือการติดต่อหรือระบาดทางอารมณ์ หลายครั้งมักมาจากอารมณ์ที่ยังคั่งค้างของบุคคลที่มีกับครอบครัวเดิมนั่นเอง อารมณ์ใดเป็นอารมณ์ที่ติดต่อง่ายที่สุด สำหรับผู้หญิง อารมณ์ที่มักจะพบบ่อยและติดต่อกันได้ง่ายที่สุด ก็คือ อารมณ์ซึมเศร้า เซ็ง เบื่อหน่าย สมมติว่าเพื่อนของคุณมาเอาคุณเป็นที่ระบายอารมณ์เศร้าของเธอสักชั่วโมงหรือ 2 ชั่วโมง รับรองว่าหลังจากพูดกับเขาแล้วคุณมักจะรู้สึกเศร้าตามไปด้วยโดยอัตโนมัติ และถ้าเขาเผอิญเป็นเพื่อนที่ทำงาน เจอหน้าคุณครั้งใดก็จะเล่าแต่เรื่องชีวิตรันทดของเขาให้คุณฟังอยู่เสมอ คุณก็คงจะเซ็งไปกับเขาด้วยเป็นแน่ เผลอๆ ก็ไม่อยากเจอเขา หลบได้เป็นหลบ ไม่ใช่เพราะคุณไม่แคร์ แต่คุณเหนื่อยที่จะต้องมารับเรื่องของเขา ที่คุณไม่สามารถทำอะไรได้ต่างหาก วิธีหนึ่งที่คุณอาจจะแก้ไขได้ดดยไม่เสียเพื่อนไป ก็คือ เวลาที่คุณฟังเรื่องของเขา อย่าอยายามเอาตัวคุณเข้าไปใส่เป็นตัวละครในชีวิตของเขา ให้ฟังโดยมีใจเป็นกลาง ให้นึกภาพเป็นผู้สังเกตการณ์มากกว่าผู้แสดงเอง แค่นี้คุณก็สามารถเปิดใจรับฟังได้ ตัวอย่างเช่น หากเพื่อนมาเล่าถึงความเห็นแก่ตัวของเพื่อนร่วมงานของเธอ ที่มักจะใช้เธอทำธุระเรื่องส่วนตัวให้เขา ทำให้เพื่อนของคุณไม่สบายใจแต่ไม่กล้าบอกปฏิเสธไป ถ้าคุณเป็นคนที่ชอบมีอารมณ์ร่วมมากๆ คุณอาจจะหงุดหงิดกับเพื่อนที่ทำไมถึงไม่รู้จักปฏิเสธคนอื่นบ้างเลย คุณอาจจะหงุดหงิดแทนเธอหรืแมากกว่าเธอเสียอีก ผลก็คือ คุณจะหงิดหงิดมากกว่าเพื่อนคุณถึง 2 เท่า แต่ถ้าคุณฟังไป และรับรู้อารมณ์ว่าเพื่อนของคุณไม่สบายใจ แต่เขาก็ยังไม่มีความกล้าที่จะปฏิเสธผู้อื่นได้ คุณก็คงไม่หงุดหงิดร่วมไปกับเพื่อนของคุณอย่างแน่นอน เมื่อใครก็ตามมาเล่าเรื่องอะไรของเขาให้คุณฟัง ก่อนที่จะรับเข้ามาหงุดหงิดโกรธ หรือเสียใจไปกับเขา ให้ถามตัวเองเสมอว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาของใคร ถ้าไม่ใช่เรื่องใช่ราวของคุณเลย ก็ให้ฟังเฉยๆ อย่าเข้าไปมีบทบาทเป็นผู้ร่วมแสดงกับเขาด้วย ถ้าเผอิญคุณมีเพื่อนที่ชอบบเอาคุณเป็นที่ปรึกษาหัวใจ หรือปัญหาอื่นใดก็ตามให้รับฟังเฉยๆ อย่าไปแสดงออก เป็นนักจิตวิทยาโดยการแนะนำนั่นนี่เป็นอันขาด เพราะบ่อยครั้งเราพบว่าคนเราต้องการความเห็นใจมากกว่าคำแนะนำ และถ้าคุณไม่เชื่อแล้วไปให้คำแนะนำเข้า คุณจะพบว่าเขาก็ไม่ได้ทำตามคำแนะนำของคุณเลย ไม่ว่าคุณจะบอกเขากี่ครั้งกี่หนก็ตาม และคุณก็จะเสียอารมณ์ หงุดหงิดบ่อยๆ ทางออกประการหนึ่งของการช่วยเหลือเพื่อนที่มีทุกข์ หลังจากรับฟังเรื่องที่คล้ายกับทศนิยมไม่รู้จบของเขา ก็คือ ชักชวนให้เขาทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนอิริยาบถเช่น ไปเดินเล่น ชอปปิ้ง เล่นกีฬา หรือแม้กระทั่งไปทำบุญเข้าวัดเข้าวา จิตใจจะได้สบาย แต่การทำกิจกรรมนั้น ควรเป็นกิจกรรมที่เพื่อนชอบหรือทำได้ อย่าชวนเขาไปเพราะเป็นสิ่งที่คุณชอบ คุณทราบหรือไม่ว่า การเปลี่ยนแปลงของคนเรานั้นทำได้ 3 ทางคือ ทางความคิด ทางความรู้สึก และทางพฤติกรรม การเปลี่ยนทางหนึ่ง จะกระทบทางอื่นๆ เสมอ เช่น ถ้าเพื่อนของคุณมีความรู้สึกเศร้าหดหู่ใจ หรือเซ็งกับชีวิต เขาอาจจะมีพฤติกรามที่นั่งสงสารตัวเองอยู่กับบ้าน หรือคิดฟุ้งซ่านอยากทำร้ายตัวเอง เป็นต้น แม้ว่าคุณจะทำให้เพื่อนของคุณคลายจากความรู้สึกเบื่อหน่าย เจ็บปวด เศร้าก็ตาม แต่การให้เขาออกไปข้างนอกมีกิจกรรมต่างๆ ก็เท่ากับคุณพยายามช่วยให้พฤติกรรมของเขาเปลี่ยน และเมื่อพฤติกรรมของคนเราเปลี่ยนเช่น เขายอมไปเที่ยวเล่นกับคุณ การออกไปเจอสิ่งใหม่ๆ ย่อมทำให้เขาหลุดออกมาจากอารมณ์เศร้า ที่เขากำลังเผชิญอยู่ไม่มากก็น้อย แต่สมมติว่า คุณได้พยายามทุกวิถีทางแล้ว เพื่อนของคุณก็ไม่ยอมทำอะไรตามคำชักชวนของคุณสักอย่าง คุณก็ไม่ต้องรู้สึกผิดว่าคุณช่วยเขาไม่ได้ ให้บอกตัวเองว่า คุณได้พยายามทำทุกวิถีทางแล้วแต่ไม่สำเร็จ ดังนั้น จึงไม่ใช่ความผิดพลาดของคุณอีกต่อไป เพื่อนของคุณได้ตัดสินใจที่จะไม่ยอมรับความช่วยเหลือ และเขาก็ไม่ช่วยตัวเขาเอง ส่วนคุณก็หมดหน้าที่แล้ว อย่าให้การตัดสินใจของเพื่อนมาทำให้คุณรู้สึกไม่ดีกับตัวเองเป็นอันขาด และอย่าให้ปัญหาของเพื่อนมารบกวนจิตใจของคุณ พูดง่ายๆ ก็คือ อย่าพยายามแบกความทุกข์ของคนอื่นไว้ในตัวคุณ เพราะลำพังแค่ความทุกข์ของตัวเราก็แย่มากพออยู่แล้ว ถ้าคุณเป็นคนที่มีความรู้สึกอ่อนไหวง่าย คล้ายต้นไมยราบที่พอโดนลมพัดสักนิดก็หวั่นไหวเสียแล้ว คุณก็ยิ่งต้องระวังเมื่อไปเข้าใกล้คนที่มีอารมณ์ที่จะติดต่อคุณได้ง่าย เพราะคุณจะรับเข้ามาโดยไม่รู้ตัวเลยก็ได้ คนประเภทนี้ทางจิตวิทยากล่าวว่าเป็นผู้ที่มีขอบเขตหรือตัวตน (BOUNDARY) ไม่ชัดเจน คือไม่รู้ว่าเรื่องใดเป็นเรื่องของเรา และเรื่องใดเป็นทุกข์ของชาวบ้าน กล่าวง่ายๆ คือ เป็นพวกที่แยกแยะความเป็นตัวตนไม่ออก ฟังเรื่องของใครก็เก็บมาทุกข์ร้อนได้อย่างหมดจด บางทีเป็นทุกข์ "แทน" เจ้าทุกข์ตัวจริงเสียอีก มีลักษณะคล้ายเด็กๆ ที่ยังแยกแยะไม่ออกว่าอะไรคือเราคือเขา อะไรคือสิ่งแวดล้อม BIUNDARY ของเขาจะปะปนกันไปหมด เด็กเล็กๆ ที่เกิดมาทุกคนมีสภาพที่ยังไม่รู้ชัดว่าตัวตานของเขาคือใคร เมื่อเขาเห็นแม่ในสายตาเขาจะรู้ว่าแม่อยู่ แต่เมื่อแม่เดินออกไปจากห้อง เขาคิดว่าแม่ของเขาไม่มีตัวตนอยู่เสียแล้ว แต่เด็กๆ ทุกคนเมื่อเขาค่อยๆ โตขึ้น เขาจะรับรู้ว่า เขาคือบุคคลอีกคนหนึ่งที่ไม่ใช่พ่อ พี่ หรือน้องของเขา เขาเริ่มมีความรู้สึกของตัวตนที่ชัดเจนมากขึ้น แต่สำหรับเด็กบางคน เขาจะถูกแม่หรือพ่อสอนให้ปฏิเสธความรู้สึกของตัวเอง เช่น ถ้าเขาบอกแม่ว่าไม่ชอบคุณป้าที่มาล้อเขาเสมอๆ แม่ก็จะบอกว่าเขาไม่ชอบไม่ได้เพราะแท้จริงแล้วป้ารักเขา เขาจะถูกสอนให้เริ่มปฏิเสธความรู้สึกของตัวเองตั้งแต่ยังเล็ก และเมื่อเติบใหญ่เขาจะกลายเป็นบุคคลที่ไม่รู้ว่าตัวเองคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร และข้อสำคัญคือเขาจะไม่ไว้ใจความรู้สึกของตัวเองเลย คนประเภทนี้ เมื่อได้ฟังเรื่องอะไรของใคร เขาอาจจะบอกไม่ได้ว่ารู้สึกอย่างไร เขาอาจจะเอาความรู้สึกของคนเล่าเรื่องมาเป็นเกณฑ์ความรู้สึกของตัวเองก็ได้ ถ้าคุณเผอิญเป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ใคร่รู้ว่าตัวเองมีความรู้สึกอย่างไร ทางออกประการหนึ่งก็คือ เมื่อได้ฟังเรื่องราวที่ใครก็ตามเล่าให้คุณฟัง ให้ถามตัวเองเสมอว่า "ฉันรู้สึกอย่างไรในเรื่องนี้" ถ้าคุณหัดถามตัวเองบ่อยๆ ในเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวคุณ คุณจะเริ่มรู้จักกับตัวเองและความรู้สึกที่แท้จริงของตัวคุณมากขึ้น และเมื่อคุณรู้จักความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง ความรู้สึกที่เกิดกับใจ ไม่ใช่ความรู้สึกที่คุณควรจะรู้สึก แล้วขั้นต่อไปก็คือ ให้คุณหัดที่จะแสดงออกถึงความรู้สึกแท้จริงของคุณให้ได้ มิเช่นนั้นแล้วก็จะเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย ที่คุณไม่เคยได้ทำความรู้จักกับตัวตนที่แท้จริงของคุณเลย การรู้จักตัวเอง ความรู้สึกที่แท้จริง และการกล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม จะทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นอย่างยิ่งกับตัวคุณเอง และข้อสำคัญคุณจะไม่ได้ต้องไปผูกความรู้สึกของคุณไว้กับบุคคลอื่นอีกต่อไป การติดต่อทางอารมณ์ เป็นสิ่งที่คนเราทุกคนควรจะต้องระวังเพราะมันมีทั้งผลดีผลเสีย ถ้าเป็นอารมณ์ที่เป็นพิษ และคุณรู้ตัวว่าคุณติดต่อกับอารมณ์เหล่านี้ได้ง่าย คุณก็คงจะต้องระวังเมื่อคุณเข้าไปใกล้ตัวผู้ที่มีพิษ เพราะคุณจะรับเชื้อเข้ามาได้อย่างรวดเร็ว หรือถ้าคุณรู้ว่าคุณเป็นคนค่อนข้างจะอ่อนไหวง่าย คุณคงจะต้องสร้างภูมิต้านทานในตัวเองให้ดีขึ้น แต่ถ้าเป็นอารมณ์ในด้านบวก อารมณ์ที่ดีงาม เช่น ความสุข ความสบายใจ คุณอาจจะยินยอมให้ตัวเอง "ติด" และยอมเป็น "พาหะ" นำสิ่งที่สร้างสรรค์เหล่านี้ให้แพร่กระจายออกไปให้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคุณเป็นหัวหน้าครอบครัว หัวหน้างาน ครูอาจารย์ที่มีโอกาสกระตุ้นหรือให้กำลังใจ ให้คนที่อยู่รอบข้างมีความสุขได้ คุณอาจจะทำให้มากขึ้นเพราะใครเล่าจะรู้ว่า คำพูดให้กำลังใจ ความสุขหรือเสียงหัวเราะของคุณ อาจทำให้ชีวิตของคนบางคนเปลี่ยนไปอย่างไม่คาดคิดก็เป็นได้ ที่มา...ASTVผู้จัดการออนไลน์ ธรรมโอสถ (การแพทย์และวิทยาศาสตร์ทางจิต) : โรคที่ติดต่อทางอารมณ์ รศ.ดร.นวลศิริ เปาโรหิตย์ ![]() ![]() ![]() |
เจ้าของ: | Duangtip [ 02 มิ.ย. 2015, 15:38 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: โรคที่ติดต่อทางอารมณ์ |
![]() ![]() ![]() ![]() |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 | เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง |
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group http://www.phpbb.com/ |