ลานธรรมจักร http://www.dhammajak.net/forums/ |
|
ความสุขของ...คน(ยัง)โง่? http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=19&t=21004 |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 |
เจ้าของ: | ลูกโป่ง [ 10 มี.ค. 2009, 17:00 ] |
หัวข้อกระทู้: | ความสุขของ...คน(ยัง)โง่? |
รายงานโดย :ชัยวัฒน์ คุประตกุล Kshaiwat2@hotmail.com: วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2552 จริงหรือ คนโง่จะมีความสุขได้ เพราะเห็นมีแต่คนโง่ที่ต้องมีแต่ความทุกข์ อย่างน้อยก็เป็นทุกข์จากการตกเป็นเหยื่อของคนฉลาด? คำตอบที่ผู้เขียนขอนำมาถ่ายทอดท่านผู้อ่านวันนี้คือ จริง! แต่ก็เป็นความจริงอย่างมีเงื่อนไข อย่างน้อยก็เป็นเงื่อนไขของการเป็นคนโง่ โดยไม่ตกเป็นเหยื่อของคนฉลาด แล้ว “ความสุขของ...คน(ยัง)โง่” เป็นอย่างไร? ที่ว่า เรื่องนี้ เป็นเรื่องจริงอย่างไม่มีเงื่อนไข เป็นอย่างไร? ขั้นต้นสุด ผู้เขียนเชื่อว่า ท่านผู้อ่านทุกท่านคงจะเห็นด้วยกับคำกล่าวว่า "ไม่มีใครชอบคนฉลาดไปหมดทุกเรื่อง” ก็ลองนึกดูสิว่า บนเวทีการคุยการถกทุกเวที คนประเภทไหนที่... น่ารังเกียจ? ผู้เขียนเชื่อว่า นอกเหนือไปจาก “ตัวป่วน” ที่คงไม่มีใครปฏิเสธว่า “น่ารังเกียจ” แล้ว ก็คือ คนที่แสดงตนเป็นคนฉลาดเป็นคนเก่ง เป็นคนมีความรู้ดีที่สุด คนอื่นๆ ล้วนแต่ฉลาดน้อยกว่า หรือไม่รู้จริงเท่าตนในทุกๆ เรื่อง ที่สำคัญ ผู้เขียนเชื่อว่า คนที่มีความรู้ที่ลึก ที่เข้าขั้นเป็นคนฉลาดหรือคนเก่งในวงการดัง เช่น วิทยาศาสตร์อย่างไม่ธรรมดา จะยิ่งรู้สึกถ่อมตนอย่างที่สุด ![]() ตัวอย่างเด่นชัด คือ ไอน์สไตน์ ซึ่งได้รับการยกย่องในวงการต่างๆ (รวมทั้งวงการที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์โดยตรง) ว่า เป็นบุคคลที่ “สำคัญ” ที่ “ยิ่งใหญ่” ที่สุดตลอดกาล เท่าที่โลกเคยมีมา ทว่าไอน์สไตน์ก็เป็นคนถ่อมตนอย่างที่สุด ไม่คิดว่าตนเองเป็นคนเก่งคนฉลาดเหนือคนอื่นๆ ไปเสียทั้งหมด เป็น “ยักษ์ใหญ่ใจดีผู้ไม่หลงตนเอง” ที่ให้เกียรติคนอื่นเสมอ... อีกตัวอย่าง คือ ไอแซก นิวตัน ผู้ให้กำเนิดฟิสิกส์ยุคใหม่เกี่ยวกับแรงและการเคลื่อนที่ ทำให้วิศวกรสร้างถนนในปัจจุบัน ต้องออกแบบให้ถนนเอียงลาดขึ้นตรงมุมโค้ง ถ้าจะมิให้รถยนต์ต้องวิ่งตกถนน โค้งง่ายๆ (กฎว่าด้วยการเคลื่อนที่สามข้อของนิวตัน) และทำให้มนุษย์ได้เข้าใจว่า ทำไมดวงจันทร์จึงโคจรรอบโลกอยู่ได้ ทำไมระบบสุริยะจึงมีความเป็นระเบียบดังที่เป็นอยู่ (ทฤษฎีความโน้มถ่วงของนิวตัน) ไอแซก นิวตัน เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่คนอังกฤษภาคภูมิใจที่สุด คู่กับ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ผู้ให้กำเนิดทฤษฎีวิวัฒนาการ และความถ่อมตนของไอแซก นิวตัน ก็เป็นที่ประจักษ์ด้วยข้อความในจดหมายถึง โรเบิร์ต ฮุค เจ้าของ “กฎของฮุคว่าด้วยความยืดหยุ่น” เมื่อปี 1676 ว่า... “ถ้าข้าพเจ้าเห็นได้ไกลขึ้น ก็เป็นเพราะได้อาศัยยืนบนบ่าของยักษ์ใหญ่” ความถ่อมตนของนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกดังเช่น ไอน์สไตน์ ผู้เขียนเชื่อว่า มิใช่เป็นเพียงความรู้สึกอ่อนน้อมถ่อมตนของคนที่ยิ่งใหญ่จริงเท่านั้น หากอยู่บนพื้นฐานความจริงของวิทยาศาสตร์อีกด้วยว่า... ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นความรู้ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ได้เสมอ ขึ้นอยู่กับข้อมูลหลักฐานและความคิดใหม่ที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา สำคัญที่สุด ถนนสายวิทยาศาสตร์ ซึ่งจุดหมายปลายทางคือ “ที่สุดของความรู้ที่เป็นจริง” เป็นถนนสายที่ไม่มีวันจบสิ้น เพราะนักวิทยาศาสตร์ไม่มีเครื่องมือใดๆ ที่จะบอกได้อย่างมั่นใจว่าได้ค้นพบที่สุดของความรู้จริงแล้ว สิ่งเดียวที่นักวิทยาศาสตร์กล่าวได้อย่างมั่นใจในมิติเวลาหนึ่ง คือ ความรู้ดีที่สุดถึงขณะนั้น คืออะไร! ก็เท่านั้นเอง! ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับถนนสายวิทยาศาสตร์แล้ว มีความจริงหนึ่งที่ประจักษ์กันตลอดมา คือ ทุกครั้งที่มีการค้นพบความรู้ใหม่ หรือได้คำตอบสำหรับคำถามหนึ่ง ก็จะมีปัญหาใหม่เกิดขึ้น มีคำถามใหม่เกิดขึ้น มากกว่าคำตอบที่ได้เสียอีก และนี่เองคือที่มาของความรู้สึกของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกว่า โลกวิทยาศาสตร์ดูจะเป็นโลกที่แปลก เพราะยิ่งศึกษาก็ดูเหมือนจะยิ่งโง่! แล้วเรื่องทั้งหมด เชื่อมโยงกับ “ความสุขของ...คน(ยัง)โง่! ได้อย่างไร? อย่างที่หนึ่ง : ประเด็นของเราเป็นเรื่อง “ความสุขของ...คน(ยัง)โง่! ไม่ใช่ ความสุขของ...คนโง่!” คน(ยัง)โง่ ต่างจากคนโง่ ตรงที่คน(ยัง)โง่ หมายถึงคนที่รู้ตัวว่า ตนยังเป็นคนที่ยังมีความรู้น้อยอยู่ แต่ก็พยายามแสวงหาความรู้ ความคิดที่ดี เพื่อจะได้มีปัญญาและสติมากขึ้น ส่วนคนโง่ มากทีเดียวจะรวมถึงคนที่ไม่รู้ว่าตนเองยังมีความรู้ความคิดน้อย จึงไม่พยายามแสวงหาความรู้ความคิดที่ดีขึ้น คน(ยัง)โง่ จึงไม่ใช่คนโง่ หากเป็นคนที่ใฝ่รู้ ใฝ่คิด โดยที่ยังรู้สึกตนอยู่เสมอว่าถึงแม้สิ่งที่ได้รู้ดูจะมีมาก แต่สิ่งที่ยังไม่รู้ ดูจะมีมากกว่า และอย่างแน่นอน คน(ยัง)โง่ ถึงแม้จะไม่ใช่คนเก่งคนฉลาดอย่างสุดๆ แต่ก็จะไม่โง่พอที่จะเป็นเหยื่อของคนไม่สุจริตได้ง่ายๆ และจึงเป็นคนที่มีความสุขที่สุดคนหนึ่ง ในสังคมใดๆ ก็ตาม อย่างที่สอง : ท่านผู้อ่านเคยสังเกตตนเองไหมว่า ทุกครั้งที่ได้รับความรู้ใหม่ๆ จากการอ่าน (หนังสือ) การฟัง (วิทยุ, การบรรยาย, การเสวนา) การดู (โทรทัศน์, ภาพยนตร์) ท่านจะรู้สึกอย่างไร รู้สึกเหมือนสมองได้รับการฉีดออกซิเจนอย่างแรง ใช่ไหม? ท่านจะรู้สึกดี รู้สึกกระฉับกระเฉง รู้สึกตื่นเต้น ใช่ไหม? มันเป็นความสุขอย่างวิเศษ ใช่ไหม? ถ้าคำตอบของท่านคือ ใช่ ก็โปรดอ่านต่อ แต่ถ้าคำตอบของท่านคือ ไม่ใช่ ท่านก็หยุดอ่าน “ความสุขของ... คน(ยัง)โง่” ได้แล้ว และผู้เขียนก็เชื่อว่า ท่านที่รู้ตนเองว่าเป็นคนรู้หมดทุกอย่างแล้ว เก่งที่สุดแล้ว ก็คงหยุดอ่านไปนานแล้ว อย่างที่สาม : มีคนถามผู้เขียนบ่อยๆ ว่า เขียนเรื่องวิทยาศาสตร์ พูดเรื่องวิทยาศาสตร์มานานหลายสิบปีแล้ว เบื่อหรือยังซึ่งผู้เขียนจะตอบทันทีอย่างชัดเจนว่า ยัง! เพราะถึงแม้จะตระหนักว่า ยิ่งได้มีความรู้วิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น ก็ยิ่งรู้ว่าสิ่งที่ยิ่งไม่รู้นั้น มีมากกว่า ซึ่งจะกล่าวเหมือนกับว่า ยิ่งศึกษาวิทยาศาสตร์มากก็ยิ่ง(รู้สึก)โง่มากขึ้น ก็ไม่ผิดนัก แต่ผู้เขียนยินดีจะยังเป็นคนโง่ เพราะรู้ตัวว่าจะยังมีโอกาสได้สัมผัสกับความรู้สึกยินดี ตื่นเต้น กับความรู้ใหม่ๆ ที่ยังรออยู่ อีก...มากมาย และผู้เขียนจึงไม่เบื่อที่จะเขียนจะพูดเรื่องวิทยาศาสตร์ เพื่อแบ่งปันความรู้สึกตื่นเต้น ยินดี กับการได้รับความรู้ความคิดวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ และนี่คือส่วนหนึ่งของ “ความสุขของ...คน(ยัง)โง่!” ที่ทุกคนสามารถจะมีได้ คัดลอกจาก... http://www.posttoday.com/lifestyle.php?id=35520 ![]() ![]() ![]() ![]() |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 | เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง |
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group http://www.phpbb.com/ |