วันเวลาปัจจุบัน 04 ต.ค. 2024, 02:29  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ม.ค. 2015, 08:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
พระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน)

วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม)
ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี


====

ชาติภูมิ

ท่านเจ้าคุณพระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน) รูปนี้
รูปร่างค่อนข้างสูง ลักษณะสมบูรณ์มีสง่า ผิวเนื้อดำแดง


นามเดิมชื่อ เสน ฉายา ชิตเสโน
บิดาชื่อ เพี้ยคำมุงคุณ (คำพา)
มารดาชื่อ ไว นามสกุล สิริบูรณ์

ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๒๓
ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะโรง จ.ศ. ๑๒๔๒
ที่บ้านหนองบ่อ อำเภอเมืองอุบลฯ จังหวัดอุบลราชธานี
ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองอุบลฯ ห่างประมาณ ๑๖ กิโลเมตร


การศึกษา บรรพชาและอุปสมบท

ท่านได้รับการศึกษาอย่างจริงจังเมื่ออายุได้ ๑๔-๑๕ ปี
โดยได้ติดตามพระภิกษุขุน (ผู้พี่ชาย)
เข้าไปศึกษาอยู่ที่วัดสุปัฏนาราม ในเมืองอุบลราชธานี
ต่อมา เจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท)
เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูวิจิตรธรรมภาณี
ได้พาเข้าไปกรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๗
ฝากไว้ในสำนักเจ้าคุณพระสาสนโสภณ (อ่อน อหึสโก)
เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเมธาธรรมรส แห่งวัดพิชัยญาติการาม
โดยให้บรรพชาเป็นสามเณรเพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม

พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุในส่านักแห่งนั้น โดยมี
เจ้าคุณพระสาสนโสภณ (อ่อน อหึสโก) เป็นพระอุปัชฌาย์
เจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) เป็นพระกรรมวาจาจารย์
เจ้าคุณพระราชเมธี (ท้วม กัณณวโร) เป็นพระอนุสาวนาจารย์


ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมจนสำเร็จการศึกษานักธรรมชั้นเอก
และเปรียญธรรม ๔ ประโยค (ป.ธ.๔) ณ ส่านักเรียนวัดพิชัยญาติการาม


รูปภาพ
พระสาสนโสภณ (อ่อน อหึสโก)
เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมโกศาจารย์

ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ : อาจารย์ชลทัต สุขสำราญ

รูปภาพ
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท)

====

หน้าที่การงานในคณะสงฆ์

หน้าที่ด้านการปกครอง
- ผู้ช่วยเจ้าคณะมณฑลอีสาน
- เจ้าคณะมณฑลร้อยเอ็ด
- เจ้าคณะมณฑลอุดรธานี
- เจ้าอาวาสวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) องค์ที่ ๖
ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๕๔-๒๔๘๔
- พระอุปัชฌาย์
เช่น ท่านได้เป็นพระอุปัชฌาย์ของหลวงปู่บุญมี โชติปาโล
ที่ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ
ณ พัทธสีมาวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม)
เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๔

และเป็นพระอุปัชฌาย์ของหลวงปู่มหาบุญมี สิริธโร
ที่ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ
ณ พัทธสีมาวัดเลียบ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๔

ท่านได้วางรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์
ในวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) มณฑลร้อยเอ็ด และมณฑลอุดรธานี
ให้มีวัตรปฏิบัติ เช่น การนุ่งห่ม การทำวัตรสวดมนต์
และเทศนาอบรมสั่งสอนอุบาสก อุบาสิกา อย่างเป็นระบบระเบียบ
จนเป็นแบบอย่างทางการปกครองคณะสงฆ์มาจนถึงปัจจุบัน


หน้าที่ด้านการศึกษา
เป็นพระครูสอนพระปริยัติธรรมประจำสำนักเรียน
สนับสนุนด้านการศึกษาแก่พระภิกษุ สามเณร ชาวบ้านหนองบ่อรุ่นหลัง
ให้มีความเจริญก้าวหน้าในพระศาสนา ในพระธรรมวินัย
เช่น พระอมราภิรักขิต (ชัย ชิตมาโร) พระธรรมเสนานี (เงิน นนโท)
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จันทปัชโชโต)
และพระครูวิจิตรธรรมภาณี (เล็ง เขโม) เป็นต้น

หน้าที่การงานพิเศษ
- เป็นกรรมการสร้างพระอุโบสถ วัดสุปัฏนาราม
- เป็นกรรมการหล่อพระพุทธปฏิมาที่สำคัญ
คือ พระศรีเมือง พระขวัญเมือง และพระสัพพัญญูเจ้า
ซึ่งเป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดสุปัฏนาราม ในปัจจุบัน
- เป็นหัวหน้านำราษฎรก่อสร้างวัดสระประสานสุข (วัดบ้านนาเมือง)
- ออกแบบและกำกับดูแลการก่อสร้างศาลาการเปรียญทรงไทย
หลังคาสูงท่าด้วยไม้ ในแบบแปลนเดียวกัน
หลังที่ ๑ สร้างที่วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม)
หลังที่ ๒ สร้างที่วัดสระบัว หลังที่ ๓ สร้างที่วัดบูรพาพิสัย
หลังที่ ๔ สร้างที่วัดบ้านสำลาก
และหลังที่ ๕ สร้างที่วัดสระประสานสุข (วัดบ้านนาเมือง)
อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
- การนวกรรมโดยเฉพาะในวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม)
ได้ปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรมให้คืนดี
และก่อสร้างศาลาการเปรียญ โรงเรียน และกุฏิขึ้นหลายหลัง

- พ.ศ. ๒๔๕๔ เป็นประธานคณะศิษยานุศิษย์ เช่น
พระเงิน พระมหาชัย พระอุปัชฌาย์เคน ท่านอาชญาลี
พร้อมทั้งชาวบ้านหนองบ่อ ร่วมกันหล่อพระพุทธรูป ๘ องค์
ขนาดหน้าตักกว้าง ๒ ศอก สูง ๒ ศอก จำนวน ๒ องค์
ขนาดหน้าตักกว้าง ๑ ศอก สูง ๒ ศอก จำนวน ๖ องค์
แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในวัดต่างๆ เช่น
วัดบูรพาพิสัย วัดสระบัว บ้านหนองบ่อ
วัดโพธิ์ศรีสำลากคำ บ้านสำลาก อำเภอเมืองอุบลราชธานี
วัดบ้านกลาง วัดบ้านวังกางฮุง อำเภอวารินชำราบ
วัดหอก่อง อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร เป็นต้น


รูปภาพ
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จันทปัชโชโต)

รูปภาพ
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)

====

สมณศักดิ์และเกียรติคุณที่ได้รับ

ต่อมา สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) สังฆนายก
ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระศาสนดิลก เจ้าคณะมณฑลอีสาน
ได้ขอตัว พระมหาเสน ชิตเสโน
ออกไปเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะมณฑลอีสาน
เมื่อท่านได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นไปโดยลำดับแล้ว
จึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่ พระศาสนดิลก แทน

มีข้อน่าสังเกตอยู่อย่างหนึ่งว่า ตามธรรมดาพระเปรียญตั้งแต่ ๕ ประโยคขึ้นไป
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นพระราชาคณะ
ถ้า ๓-๔ ประโยคต้องดำรงสมณศักดิ์เป็นพระครูเสียก่อน จึงเป็นพระราชาคณะได้
แต่เพราะท่านเป็น “พระสหชาติ” (ผู้เกิดร่วมสมัย วัน เดือน ปี เดียวกัน)
ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
จึงทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานตำแหน่งพระราชาคณะที่ พระศาสนดิลก
ซึ่งจัดได้ว่าเป็นกรณีพิเศษส่วนหนึ่งและในฐานะที่ท่านเป็นพระสหชาติ
ครั้นเป็นพระราชาคณะแล้ว ไม่นานก็ได้ย้ายจากวัดสุปัฏนาราม
ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม)
อนึ่ง ในฐานะที่ท่านเป็นพระสหชาติ ซึ่งเมื่อพระสหชาติรูปอื่นๆ
ได้รับพระราชทานเครื่องบริขารที่ระลึกในวาระสำคัญใด
ท่านก็จะได้รับพระราชทานเครื่องบริขารอย่างนั้นทุกคราวไป

ท่านเจ้าคุณพระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน) รูปนี้
ท่านเป็นคนพูดพอประมาณ มักน้อยสันโดษ ชอบวิเวก
หนักแน่นในพระธรรมวินัย มีปกติเห็นภัยในโทษแม้ประมาณน้อย
สงบเสงี่ยมอยู่ในฐานะเป็นผู้น้อย ชอบเอาอย่างพระราธะ
คือ เป็นผู้อดทนต่อโอวาทและอนุศาสน์
ทนได้ทั้งร้อน คือ เดช และทนได้ทั้งเย็น คือ คุณ


เมื่ออยู่ในฐานะเป็นผู้ใหญ่ก็วางตนให้เหมาะแก่ภาวะ
มีพระเดชก็ไม่มากถึงกับเสียพระคุณ
แม้มีพระคุณก็ไม่เกินไปถึงกับเสียพระเดช
มั่นคงในพรหมวิหาร เอาภาระในผู้เจ็บป่วย
หมั่นแนะนำพร่ำสอนศิษย์ไม่ให้ก่อเวร
และให้ระงับเวรด้วยความไม่มีเวร
ปฏิปทาของท่านจึงเป็นที่ดูดดื่มไม่จืดจาง
ทนต่อความเพ่งของผู้รู้ทั้งหลาย

โดยปกติท่านมีโรคหืดประจำตัว
ต่อมาเห็นว่าจะไม่สามารถรับราชการไปได้ จึงทูลลาออก
แต่ก็ยังเป็นอุปัชฌาย์ เอาธุระสั่งสอนพระภิกษุ สามเณร
เป็นกำลังแก่พระพุทธศาสนาตลอดมา


มรณกาล

เมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๔ โรคหืดที่เรื้อรังมานานไม่หายขาดนั้น
ได้เป็นหนักขึ้น ในที่สุดจึงได้ถึงแก่มรณภาพลง
เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๔ เวลา ๐๖.๐๐ น.
สิริอายุรวมได้ ๖๑ ปี พรรษา ๔๐


ท่านเจ้าคุณพระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน) เป็นพระเถระด้านคันถธุระที่สำคัญองค์หนึ่ง
ของเมืองอุบลราชธานีในยุคแรกๆ ที่ได้นำรูปแบบการปกครอง การศึกษาสงฆ์
และขนบธรรมเนียมปฏิบัติในเมืองหลวงออกสู่หัวเมืองในภูมิภาค
ทำให้กุลบุตรผู้ใฝ่เรียนทั้งหลายในรุ่นหลังได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน
ทั้งคดีธรรม และคดีโลก จนมีความรู้แตกฉานในพระธรรมวินัยและบาลีมากขึ้นเป็นลำดับ
นับได้ว่าท่านได้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ประชาชน
และประเทศชาติบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก
สมควรได้รับยกย่องเชิดชูให้เป็น “ปราชญ์” แห่งเมืองอุบลราชธานีอย่างแท้จริง


รูปภาพ
ท่านพ่อลี ธัมมธโร

====

ท่านพ่อลี ธัมมธโร เล่าถึงพระธรรมเทศนา
ของพระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน)


ท่านพ่อลี ธัมมธโร เล่าถึงพระธรรมเทศนา
ของท่านเจ้าคุณศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน) ไว้ว่า

“ท่านเจ้าคุณศาสนดิลก วัดสุปัฏนาราม
เทศน์เมื่อวันทำบุญกองข้าวที่วัดป่าสุทธาวาสว่า

เมล็ดข้าวที่มีเปลือกย่อมนำไปเพาะงอก
แต่ถ้าเอาเปลือกออกแล้วจะเพาะไม่ขึ้นฉันใด
คนเราซึ่งลอกเปลือก คือ กิเลส ออกหมดแล้ว
ก็ย่อมไม่มีการเกิดฉันนั้น”


:b46: :b46:

หนังสืออ้างอิง :: เรียบเรียงโดย ทีมงานเว็บธรรมจักร
- คณะกรรมาการดำเนินงาน. ที่ระลึกฉลอง ๑๕๐ วัดศรีอุบลรัตนาราม (วัดศรีทอง) ต.ในเมือง อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี ๙ เมษายน ๒๕๔๙. อุบลราชธานี : วิทยาออฟเซทการพิมพ์, ๒๕๔๙.

- สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส). ประวัติวัดสุปัฏนารามวรวิหาร งานสมโภชครบ ๑๐๐ ปี. พระนคร : โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๔๙๖.

- วัดศรีอุบลรัตนาราม. ที่ระลึกทรงยกช่อฟ้าวัดศรีอุบลรัตนาราม. พระนคร : โรงพิมพ์มิตรไทย, ๑๕๑๑.

- ชมรมกัลยาณธรรม. แนวทางวิปัสสนา-กัมมัฏฐานพระอาจารย์ลี ธมฺมธโร, ๒๕๕๒. หน้า ๑๗๘


:b44: รวมคำสอน “พระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=49779

:b44: พระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน)
เป็นพระอุปัชฌาย์ของหลวงปู่บุญมี โชติปาโล

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=44953

:b44: พระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน)
เป็นพระอุปัชฌาย์ของหลวงปู่มหาบุญมี สิริธโร

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=20929

:b44: พระสัพพัญญูเจ้า พระประธานในพระอุโบสถ
วัดสุปัฏนาราม วรวิหาร ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=23321

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.ย. 2015, 08:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


:b1: ท่านเจ้าคุณมีบทบาทยิ่งในการค้ำจุนพระศาสนาในยุคนั้น ขอน้อมกราบเจ้าค่ะ :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร