วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 17:49  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มี.ค. 2013, 06:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
พระอาจารย์บุญจันทร์ จนฺทวโร

วัดถ้ำผาผึ้ง ต.หนองบัว อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่

จาก...หนังสืออัตโนประวัติ และจันทวโรวาท
พระอาจารย์บุญจันทร์ จนฺทวโร

:b44: :b47: :b44:

นายบุญจันทร์ พงศ์สวัสดิ์ มีบิดาชื่อ นายเพียร พงศ์สวัสดิ์ มารดาชื่อ นางสงบ พงศ์สวัสดิ์ เกิดที่เมืองพล อำเภอพล ตำบลเมืองเก่า จังหวัดขอนแก่น เกิดวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๙ ขึ้น ๑๕ ค่ำ วันอังคาร มารดาและบิดาเป็นชาวนา อาชีพทำนาทำสวน เมื่อเกิดมาแล้วมารดาและบิดาก็ได้เลี้ยงดูเจริญขึ้นตามลำดับ จนมีอายุได้ ๘ ปี ก็ได้ฝากให้เรียนหนังสือ ที่โรงเรียนประชาบาลเมืองพล จนเรียนจบประถมสี่ ก็ได้ออกจากโรงเรียนมาอยู่ที่บ้าน ช่วยบิดามารดาทำนาทำสวน ครั้นอายุได้ ๑๗-๑๘ ปี ชีวิตความเป็นหนุ่มก็กำลังเจริญขึ้น กิเลส ความโลภอยากได้ยินดี มันก็เจริญขึ้น จึงต้องทำงานต่างๆ ทำนาบ้าง ทำสวนบ้าง ค้าขายบ้าง หาปู หาปลา ทั้งวันทั้งคืน เพื่อเอามากิน เอามาเลี้ยงพ่อแม่ เอามาขาย เอาเงินเก็บหอมรอบ ริบ เพื่อจะมีครอบครัวในอนาคต จนอายุเจริญขึ้น ย่างเข้า ๒๑ ปี พ่อแม่ก็ปรารภเรื่องจะให้มีครอบครัว เจ้าตัวเองก็เลยคิดว่า ถ้าไปมีครอบครัว แล้วกลัวจะไม่ได้บวช ฉะนั้น เมื่อพิจารณาตกลงใจว่า จะต้องบวชทดแทนบุญคุณพ่อแม่เสียก่อน ถ้าอยู่ในศาสนาไม่ได้ สึกออกมา ก็ค่อยมีครอบครัวทีหลัง จึงบอกความประสงค์ให้พ่อแม่ทราบ ท่านก็ยินดีอนุโมทนาด้วย

ต่อมาท่านจึงนำไปฝาก ท่านอาจารย์ทองสุข ที่วัดป่ามัชฌิมวาส บ้านคึมชาติ เมืองพล เพื่อฝึกหัดครองนาคและฝึกขัอวัตรปฏิบัติในเบื้องต้น เช่น หัดกราบไหว้ หัดปฏิบัติครูบาอาจารย์ หัดกินข้าวหนเดียว หัดท่องครองนาค และฝึกทำนองมคธ ภาษา หัดไหว้พระสวดมนต์ ปฏิบัติครูบาอาจารย์ ถวายน้ำใช้น้ำฉัน ตักน้ำใส่โอ่ง ส่วนบริขารเครื่องบวชนั้นบิดามารดาท่านเป็นเจ้าภาพจัดหา ตระเตรียมไว้เสร็จเรียบร้อย ไปหัดนาคอยู่ ๑๕ วัด บิดาท่านก็ได้ไปติดต่อพระอุปัชฌาย์ ซึ่งเวลานั้นมี พระครูอนุโยคธรรมฌาน เป็นพระอุปัชฌาย์ มี อาจารย์มหาประสงค์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้บรรพชาและอุปสมบทที่พัทธสีมา วัดสระจันทร์ เมื่ออายุ ๒๑ ปี วันที่ ๓๑ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ เวลา ๑๐.๓๐ น. ณ วัดสระจันทร์ ตำบลเมืองเกา อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น

เมื่อเสร็จการบรรพชาอุปสมบทแล้ว ก็ได้ลาพระอุปัชฌาย์ ไปจำพรรษาที่วัดป่ามัชฌิมวาส บ้านคึมชาติ มีท่านอาจารย์ทองสุข เป็นอาจารย์ ได้มอบกายถวายตัวเป็นศิษย์ท่าน ท่านก็แนะนำสั่งสอน ให้ท่องทำวัตรเช้าเย็น แนะนำให้ท่องสวดมนต์ แนะนำให้ท่องนวโกวาท แนะนำให้ดูหนังสือนักธรรมตรี ครั้นถึงเวลาเช้า ก็นำทำวัตรเช้า ตอนเย็นก็นำทำวัตรเย็น ตอนเช้า ตื่นระยะเวลา ตี ๓-๔ ก็ลงมาที่ศาลา ปัดกวาดบนศาลา เสร็จก็ปูเสื่อ ปูอาสนะ ที่นั่งของอาจารย์ และพระตามลำดับ ตั้งน้ำฉัน ตั้งกระโถนเตรียมบาตร เมื่อถึงเวลาออกบิณบาตประมาณ ๗ โมง ก็ไปบิณฑบาต บ้านคึมชาติบ้าง บ้านเหล่านาคีบ้าง บิณฑบาตเสร็จก็กลับมาฉันที่ศาลาภายในวัด จัดแจงอาหารแจกจ่ายกันทั่วถึง แล้วก็ลงมือฉันด้วยสำรวม ฉันเฉพาะในบาตร ฉันวันละครั้งเดียวเท่านั้น เมื่อฉันเสร็จก็นำบาตรไปล้าง แล้วนำมาเช็ดให้แห้ง เอาผึ่งแดดพอสมควร แล้วก็เอาใส่สลกตั้งไว้ แล้วก็ช่วยกันปัดกวาดศาลา เก็บเสื่อเก็บอาสนะ เก็บกระโถน ที่ล้างแล้วก็เอามาเช็ดให้แห้ง แล้วนำไปเก็บไว้ให้เรียบร้อย ต่อมาก็เก็บบาตร และเครื่องใช้ของตนไปกุฏิ เอาบาตรและบริขารอื่นไปไว้แล้ว ก็เตรียมท่องหนังสือ สูตรไหนที่ยังไม่ได้ก็เตรียมท่องต่อไป

ระหว่างที่เป็นนวกภิกษุผู้บวชใหม่ กิจที่จะต้องศึกษายังมีมาก ต้องอาศัยความเพียร ความอดทน บางทีท่องหนังสือไป มันเหนื่อย ก็หยุดพักภาวนา พุทโธ พุทโธ บางทีก็พิจารณากายในอาการสามสิบสอง โดยความเป็นปฏิกูลบ้าง บางครั้ง ก็ กำหนดลมหายใจเข้าออก พร้อมทั้งคำบริกรรม พุทโธ พุทโธ

ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง มีโยมชาวบ้านเขาตาย เขาก็มานิมนต์พระไปให้บุญคนตาย คือนิมนต์ไปสวดมาติกาและบีงสุกุล ก็มานึกในใจว่า คนเราเกิดมาแล้วก็ต้องแก่ เจ็บ ตาย เวลาตายลง เขามีบ้านมีเรือน ก็เอาไปไม่ได้ เขามีวัตถุ ข้าวของ เงินทองก็ เอาไปไม่ได้ บางคนทรัพย์สินเงินทองข้าวของมากมี เวลาตายเป็นผี เอาไปไม่ได้ ความตายนี้ไม่มีอะไรป้องกัน คนเกิดมาแล้ว ต้องแก่ เจ็บ ตาย กันทั้งนั้น อย่าว่าแต่คนอื่นจะตายเลย ตัวเราก็จะต้องตายเหมือนกัน เมื่อความตายมาถึงเรา เราจะเอาอะไรในกายนี้ แม่แต่ผมเส้นเดียวก็เอาไม่ได้

เมื่อพิจารณาไปก็เกิดสังเวชสลดใจ จึงได้พิจารณากายตัวเอง ถึงมรณานุสติ มากเข้า ต่อนั้นมา การพิจารณากายคสติ กับมรณานุสติ มักจะไปด้วยกัน แต่ในตอนนั้น มันเป็นพรรษาแรก ไหนจะเจริญกรรมฐานบ้าง ไหนจะไปท่องสวดมนต์บ้าง ไหนจะไปดูธรรมะบ้าง ไหนถึงเวลาทำข้อวัตรก็ต้องเบ่งเวลาไปทำ รู้สึกว่าการเจริญกรรมฐานยังได้น้อย

บางครั้งตัณหกิเลสมันก็แสดงออกไปภายนอก เพราะไปนึกถึงเรื่องอดีต ที่พ่อ แม่แบ่งนาไว้ให้ แบ่งสวนไว้ให้ แบ่งวัวแบ่งควายไว้ให้ และพ่อก็ไปขอสาวไว้ให้ แม่ก็ไปขอสาวไว้ให้ ถ้าสึกมาเมื่อไร ก็จะได้แต่งงานกัน

คิดทางโลกซึ่งเป็นเรื่องกามวัตถุ เมื่อคิดไปแล้วมันก็คิดทบทวน มาหาคนที่ตาย เห็นไหมผู้หญิงคนนั้นตาย เขาก็เอา เผาไฟ ไฟก้ไหม้หมด ไหม้หัว ไหม้หน้าตา ที่สวยงามๆ ไหม้แขน ไหม้มือ ไหม้ตัว ไหม้ขา ไหม้แข้ง ไหม้ตีน ไหม้หมด ทั้งหนังเนื้อเส้นเอ็นและกระดูก แม้แต่ตัวเขา ก็เอาอะไรไม่ได้ มีวัตถุข้าวของเงินทองมากมายได้อะไร ใจรู้ไหม ใจเห็นไหม ใจนี้มันตายไหม ถ้าใจมันตาย ไปด้วยกัน เอาไปเผาหมดทั้งกาย ทั้งใจเห็นจะดี ไม่มีกาย ไม่มีใจแล้ว เห็นจะไม่มี ทุกข์ยากลำบากอะไร แต่ในหนังสือธรรมะ ท่านว่า ใจไม่ตาย กายตาย ใจไปเกิดอีก เป็นนั่นเป็นนี่ เป็นเรื่องของกรรม ถ้าทำกรรมดี ใจก็ไปเกิดที่ดี ถ้าทำกรรมชั่ว ใจก็ไปเกิดที่ชั่ว

เมื่อมีความเห็นอย่างนี้ ใจก็น้อมไปในการเจริญกรรมฐานมากขึ้น ตายไม่ได้อะไร สึกไปทำไมา ถ้าสึกไปเอาเมีย เมียมัน ก็ตาย ตัวเราก็ตาย คนทั้งโลกตายกันทั้งนั้น ไม่มีใครได้อะไร สมบัติเครื่องใช้ในโลกชั่วคราว ดูซิ เศรษฐีมีเงิน ร้อยล้านพัน ล้านตายลง บาทเดียวก็เอาไม่ได้ ในเวลามีชีวิตอยู่ลุ่มหลงมัวเมาหาแต่วัตถุ ข้าวของเงินทอง เมาเสียจนมืด สิ้นบุญกุศล จะให้ทานก็กลัวแต่มันจะหมด เรื่องหมดไม่ชอบ ชอบแต่เรื่องร่ำรวยมั่งมี ยิ่งมียิ่งตระหนี่ขี้เหนียว เศรษฐีบางคนเอาทรัพย์ไปซ่อนไว้เอาไปฝังไว้ กลัวลูกหลานเขาจะแย่งเอาไป เวลาตายก็ไปเป็นผีเฝ้าเงินเฝ้าทอง ยิ่งทำโทษหนักให้แก่ตัวเอง เพราะหลงมืดมนไม่สนใจในธรรมะ จึงไม่รู้จักประโยชน์การใช้เงิน ในธรรมะท่านแสดงประโยชน์เอาไว้อย่างนี้ มีทรัพย์ให้แบ่งออก ๕ ส่วน เลี้ยงบิดามารดาที่แก่เฒ่าชราให้เป็นสุข เลี้ยงตัว เลี้ยงครอบครัวลูกหลาน บ่าวไพร่ บริวาร ให้เป็นสุข เอาทำทุนค้าขาย หากำไร เก็บไว้ใช้ในเวลาจำเป็น เอาทำบุญ ให้ทานการกุศล ถ้าทำได้อย่างนี้ ทางธรรมะท่านเรียกว่า รู้จักประโยชน์ในการใช้ทรัพย์ มีโภคทรัพย์แล้วเอาแลกเปลี่ยนเป็นอริยทรัพย์ คือ จาคธนัง ยังจะเป็นประโยชน์ต่อไปในสุคติภพ นี้ประโยชน์ตนชาตินี้ ประโยชน์ตนชาติหน้า ประโยชน์อย่างยิ่งอย่างสูงได้แก่ มรรคผลนิพพาน

ท่านมองเห็นประโยชน์ไหมว่า จะมีประโยชน์จริงหรือไม่จริง หรือตายแล้วสูญ ถามใจคุณดูซิว่า ใจคุณมันสูญสิ้นไป ไหม ไม่มีความเวียนว่ายตายเกิดหรือ คุณเคยดู ปฏิจจสมุปทานไหม พระพุทธเจ้าท่านแสดงไว้ว่า อวิชชา เป็นปัจจัย ให้มีสังขาร สังขารเก่าตายไป สังขารใหม่เกิดขึ้นมา เพราะใจมีอวิชชาไม่ใช่หรือ ใจหลงกับสังขาร กับความคิดนึกปรุง แต่ง ทั้งที่สังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ใจก็หลง แล้วหลงอีก ท่านให้นึกพุทโธ รู้ใจ พุทโธ ใจรู้ ก็นึกไม่ได้ เพราะใจ มันหลงมัวเมา ในกิเลสกามและวัตถุกาม จนมืดมนอนธการ หลงบ้านเรา หลงผัวเรา หลงเมียเรา หลงลูกเรา หลงหลานเรา หลงญาติมิตรพี่น้องเรา ใจเมาในสังขารจนตาย ก็ไปเกิดกับสังขารอีก เป็นอย่างนี้มาหลายร้อยหลายพันกัปมาแล้ว ยังหลงต่อ ไปในอนาคต

คนคงจะระลึกได้รู้ใจละมั้ง ไม่ว่าแต่วัตถุข้าวของเงินทองภายนอก ตัวของคุณนี้แหละ ตายจริงๆนะ ถือเอาอะไรเลย ก็ไม่ได้ในาร่างกายนี้ ใช้รอเวลาเท่านั้นแหละ ใจอย่าไปลุ่มหลงมัวเมามันนัก ใจที่ไม่ตายนี้ มีทรัพย์สมบัติอะไรบ้าง

อริยทรัพย์ สัทธาธนัง ใจมีไหม
อริยทรัพย์คือศีลธนัง ใจมีไหม
อริยทรัพย์คือหิริธนัง ในมีไหม
อริยทรัพย์คือ โอตตัปปธนัง ใจมีไหม
อริยทรัพย์คือ สุตธนัง ใจมีไหม
อริยทรัพย์คือ จาคธนัง ใจมีไหม
อริยทรัพย์คือ ปัญญาธนัง ใจมีไหม

ถ้าใจมีอริยทรัพย์ท่านเรียกว่า ใจไม่จน

ถ้ามีโภคทรัพย์ข้าวของเงินทอง บ้านเรือน เรือกสวนไร่นา อันเทรัพย์เครื่องใช้ในโลก ใจเอาไม่ได้ ร่างกายตายแล้ว ก็ทิ้งไว้ในโลกทุกคน จะตายกันหมดทุกคน จะไม่ได้อะไร แม้ขันธาธิโลก ก็ทิ้งเอาไว้ในโลก ฉะนั้นท่านผู้รู้จึงเตือนเอาไว้ว่า อย่าประมาทตาย ตายนะ รีบกินรีบใช้ รีบทำบุญ เดี๋ยวตาย อย่าไปมัวอ้างกาล อ้างเวลาอยู่

ในปีแรกนี้การศึกษาธรรมะ การเล่าเรียนก็ดำเนินต่อไปเพราะได้คติธรรม คือ มรณานุสติ สอนใจ เมื่ออยู่จำพรรษา วัดป่าคึมชาติ จนออกพรรษาแล้ว ก็ได้กราบลาท่านอาจารย์ ์ไปเยี่ยมโยมบิดา มารดาที่บ้านแฮด ก็ได้พักที่วัดป่า มีหลวงพ่อ อิสสโร ท่านอยู่ที่นั้น เมื่อพักอยู่ที่นั้น ก้ได้ฟังธรรมจากท่าน แนะนำสั่งสอนมีหลายอุบาย แต่อารมณ์กรรมฐาน ท่านใช้ กายคตาสติ กับพุทโธ ใจบริกรรมพุทโธ แล้วพิจารณา ในอาการสิมสิบสอง พิจารณาในความเป็นของปฏิกูลบ้าง พิจารณาความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ อนัตตาบ้าง

ครั้นอยู่ต่อมาท่านก็เป็นโรคเท้าบวม หลังเท้าของท่านบวมเป็นหนอง เดินไปมาลำบาก การถ่ายอุจจาระ การถ่ายปัสสาวะต้องใช้กระโถน ญาติโยมช่วยหายามารักษา ท่านทั้งยาทา ทั้งยากิน ทั้งยาประคบ แต่อาการไม่ทุเลา อาการบวมพองกลัดหนองข้างใน ฉันก็ไม่ค่อยได้ นอนก็ไม่ค่อยหลับ เราก็ได้เฝ้าดูแลการรักษพยาบาลท่าน มาในคืนหนึ่ง ปรากฏอาการเจ็บปวดรุนแรงมาก เราก็เอายาทาให้และช่วยตักเตือนท่าน ให้ระลึกพุทโธ และเตือนท่านให้ละความยึดมั่นถือ มั่น บางครั้งเราก็เป่าให้ท่าน แต่รู้สึกว่า อาการของ โรครุนแรงมาก เท้าที่แตก หนองไหลออกมา แทนที่ว่าอาการจะเบาลง กลับกำเริบแรงกล้า จนถึงเท่านสิ้นลมหายใจตายลงในคืนนั้นเอง

พระเณรที่เฝ้าอยู่และญาติโยมได้เห็นก็เกิดสังเวชสลดใจ จนถึงเวลาเช้า ก็ไปบอกญาติโยม ทางในบ้าน และส่งข่าวไปถึง ท่านอาจารย์สีโห ท่านก็ได้พาพระเณร มาจากวัดป่าสุมนามัย อำเภอบ้านไผ่ เมื่อท่านมาแล้วก็ได้บอกให้โยมทำหีบ เมื่อทำ เสร็จแล้ว ก็เอาขึ้นมาที่ศาลา เพราะท่านพักอยู่ศาลา ทำพิธีรดน้ำศพแล้วก็เอาศพของท่านบรรจุลงในหีบ ทำพิธีสวดมติกา และชักอนิจจา ต่อมาเมื่อคณะสงฆ์มีท่านอาจารย์สีโห เป็นประธาน พร้อมพระเณร ญาติโยม ก็ได้พากันทำฌาปกิจ ที่วัดนั่นเอง เวลาจูงศพท่านไปขึ้นเชิงตะกอน แล้วทำพิธีชักผ้าบังสุกุลเสร็จ ก็พากันใส่ดอกไม้จันทน์แล้วก็เผาที่นั่นเอง

ขณะที่เผาศพของท่าน ก็ได้ยืนดูพิจารณาไฟที่ไหม้ ไหม้กระดาษ ไหม้โลงพังออก เห็นตัวท่านไฟไหม้ผ้าจีวรที่คลุม ไหม้สบง ไหม้อังสะ ไหม้หัว ไหม้หน้า ไหม้ตา ไหม้หู ไหม้จมูก ไหม้ปากและไหม้ลำคอ ไหม้แขน ไหม้มือ ไฟไหม้อก ไฟ ไหม้ลำตัว ไฟไหม้หลัง ไฟไหม้สีข้างทั้งสอง ไฟไหม้ท้อง ไฟไหม้ขา ไฟไหม้แข้ง ไฟไหม้หนัง แล้วก็ไหม้เนื้อ ไหม้เข้าไปใน เส้น ไหม้ม้าม ไหม้เนื้อหัวใจ ไหม้ตับ ไหม้ไต ไหม้ไส้พุง มีเลือด น้ำเหลืองหลั่งไหลออกมา ไฟก้ไหม้ไปจนหมดเหลือแต่ กระดูกขาว กองอยู่ ปนกับถ่าน

นี้แลหนอจุดจบของร่างกาย ไม่ว่าคน ไม่ว่าสัตว์ ตายแล้วไม่เผากัฝัง มองเห้นเด่นชัดว่า ตายไม่ได้อะไร จบลงแค่ตาย จบลงแค่เผา แค่ฝัง หมดทุกข์ เรื่องบริหารร่างกาย ไม่ต้องกินข้าวกินน้ำ ไม่ต้องทำงานทำการ ข้าวของเงินทอง บางคนหา ไว้เยอะ เมื่อยังไม่ตาย เมื่อตายแล้ว เอาอะไรไม่ได้ ฉะนั้นนักปราชญ์บัณฑิต จึงเตือนให้ระลึกถึงบุญ ตรวจตรองบุญว่า บุญ บารมีเราพอหรือยัง ถ้ายังไม่พอ ให้รีบทำนะ เดี๋ยวตาย จะเสียใจว่า ไม่ได้ทำบุญ ผู้จะรับผลบุญผลบาป ก็คือใจที่ไม่ตาย เมื่อ พิจารณาเขาก็มาพิจาณาเราตายเหมือนกัน ล่วงพ้นความตายไม่ได้ ก่อนความตายมาถึง ต้องรวบรวมบุญ กุศลมรรคผล ให้ถึงพร้อมภายในใจ

เมื่อเสร็จสิ้นการทำฌาปนกิจเศษอัฐิธาตุของท่านแล้ว ก็ทำบุญอุทิศส่วนกุศลอีกครั้งสุดท้าย อุทิศส่วนบุญกุศลไปให้แก่ ท่านอีก ครั้นต่อมา พระเณรครูบาอาจารย์ที่ท่านมาในงาน ท่านกลับไปวัดท่านยังเหลืออยุ่สามรูป ก็มีแต่พระบวชใหม่ เพิ่ง ได้พรรษาเดียว จิตใจก็หว้าเหว่ นึกหาครูบาอาจารย์อีก เพราะตนยังเป็นผู้ศึกษาอยู่ทั้งทางปริยัติและทางปฏิบัติ ก็คิดจะลาญาติ โยมไปจังหวัดอุดร จึงได้ไปหาโยมบิดา เล่าความประสงค์ให้ท่านฟัง โยมบิดา บอกว่าจะเอานาไว้ให้ จะเอาสวนให้ จะเอา วัวให้ จะเอาควายให้ ถ้าสึกออกมา ก็จะหาภรรยาให้ จะมอบทรัพย์สมบัติให้ ก็เลยพูกับท่านว่า พ่อ ไม่ต้องห่วงอาตมา ถ้า อาตมาอยู่ในศาสนาไม่ได้ สึกออกมา จะหาเอาเอง ถ้าหาเอาเองไม่ได้ จะพามันกินดิน ได้พูดกับท่านอย่างนี้ และได้บอกท่านว่า เอาขายเสียให้หมด แล้วเอาเงินไปทำบุญ โยมพ่อเองก็ให้ออกบวชเสีย

เมื่ออาตมาพูดท่านก็ฟัง แล้วท่านก็พูดออกมาว่า จะขายให้หมดแล้ว จะออกบวช เมื่อได้พูดปรับเความเข้าใจกันแล้ว อาตมาก็ลาท่าน พ่อไปส่งที่สถานีรถไฟบ้านแฮด อาตมาก็ขึ้นรถไฟไปอุดร ไปขอจำพรรษาที่วัดทิพยรัตน์ มีท่านอาจารย์ฐิน เป็นเจ้าอาวาส เมื่อจำพรรษาที่วัดทิพย์รัตน์ ก็ได้เรียนนักธรรมโท และท่องสวดมนต์แปลด้วย และได้ท่องปฏิโมกข์ด้วย จนออกพรรษาได้ทราบข่าวว่า หลวงปู่ชอบ จำพรรษาอยู่หนองวัวซอ จึงคิดว่าจะไปกราบนมัสการท่าน เพื่อขอฟังธรรมคำสั่ง สอน จึงได้ไปขออนุญาติท่านอาจารย์ฐิน ก็เลยเตรียมเอาบริขารของตน ลาท่านเดินทางไป

เมื่อถึงวัดบ้านเล่า ท่านอาจารย์แพท่านเป็นเจ้าอาวาส ท่านก็เลยพูดให้ฟัง ว่าหลวงปู่ชอบ ท่านขึ้นไปเชียงใหม่แล้ว ไม่ทัน ก็เลยลาท่านอาจารย์กลับมาวัดทิพย์อีก จนรับกฐินเสร็จ ก็ได้ลาท่านอาจารย์ฐิน บอกท่านว่า จะไปเชียงใหม่ เพื่อตาม หาหลวงปู่ชอบ ก็ได้ออกเดินทาง ผ่านบ้านตาดไปอำเภอผือ ไปขอพักที่วัดป่าอำเภอผือ มีอาจารย์บุญมา อยู่ที่นั่น เริ่มสวดปาฏิโมกข์ ครั้งแรกที่วัดป่า อำเภอผือนั้น

ครั้นวันหลังต่อมา ก็ได้ลาอาจารย์บุญมา ออกเดินทางไปพักวัดบ้านค้อ มีอาจารย์คำมีอยู่ที่นั่น ได้พักที่วัดป่าบ้านค้อ หลายวัน ต่อมาก็ได้ลาอาจารย์คำมี เดินทางต่อไป พักที่พระบาทบัวบก ต่อมาก็ย้ายไปพักที่ถ้าพระนาผักหอก พักภาวนาอยู่ที่ นั่นหลายวัน ต่อมาก็ได้ไป พักที่บ้านคึมสะโนด มีบ้านสามหลัง ตอนในพรรษา หลวงปู่หล้า ท่านได้จำพรรษาที่นั้น เมื่อ ออกพรรษาแล้ว ท่านก็ย้ายไปอยู่ถ้ำพระนาหลวง ก็คิดจะไปกราบนมัสการ เพื่อขอฟังธรรม ข้อปฏิบัติจากท่าน ต่อมาก็ได้ลา โยมที่นั่นเดินทางไปพักที่บ้านน้ำซึม ต่อมาก้ได้ไปพักที่บ้านนาเก็น โยมบ้านนาเก็นนี้มีลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่น คนหนึ่งชื่อผู้ใหญ่เหี่ยว ไปเห็นที่ไร่ที่นาดี ก็เลยสึกมีครอบครัวอยู่ที่นั่น

ก็ได้พักภาวนาอยู่ใกล้บ้านนาเก็น เขาไปทำที่พักให้ข้างทางช้าง ช้างออกจาดงมาก็มากินน้ำ สมัยนั้นสี่สิบกว่าปีมาแล้ว ช้าง เสือ กวาง ฟาน หมู ไก่ป่า อย่างนี้ชุกชุม โยมเาทำที่พักข้างทางช้าง เขาจะลองดูว่าอาตมาจะกลัวไหม บุญรักษาอาตมา ก็มีคำว่าบริกรรมภาวนา พุทโธ พุทโธ เท่านี้เป็นอารมณ์อยู่ภายในใจ แต่ปรากฏว่าช้างไม่ลงมากินน้ำ ช่วงที่อาตมาพักภาวนา อยู่ที่นั้น พักภาวนาอยู่หลายวัน ก็เลยลาโยม เดินทางไปบ้านสว่าง ที่วัดป่าบ้านสว่างนั้น มีหลวงปู่จันทร์อยู่ หลวงปู่จันทร์ ท่านก็เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่น พักภาวนาอยู่กับท่านหลายวัน เลยขอให้โยมเขาพาไปหาหลวงปู่หล้า ที่ถ้ำพระนาหลวง ท่านได้ย้ายไปอยู่ที่ถ้ำผาตัก ขอให้โยมไปส่ง เขาไม่รู้จักก็เลยไม่ได้พลหลวงปู่หล้า จึงได้กลับมาพักที่วัดป่าบ้านสว่างอีก

ต่อมาได้ลาหลวงปู่จันทร์ เดินทางผ่านบ้านปากลาง เดินทางผ่านดงปากเจียง ในดงนนี้มีช้างมาก มีช้างสีดอตัวหนึ่ง ไม่กลัวคน เห็นคนมันจะไล่ โยมเขาบอกว่า ครูบาเดินผ่านดงนี้ ให้ระวังช้าง ถ้าเห็นช้างหมู่ให้เป่ามือ มันจะแตกหนีไป ถ้าเห็นช้างสีดอ ให้หลบให้ดีมันจะไล่ เราก็มีของดีคือ พุทโธ ไม่ต้องกลัว พุทโธป้องกันภัยอันตรายทุกอย่าง เดินไปจนเป็นเวลาบ่ายสี่โมงกว่า จึงข้ามพ้นจากดง ไปถึงบ้านหนอง บ้านนี้อยู่ฝั่งโขง ก็เดินผ่านบ้านหนองไปใกล้จะถึงบ้านหาดเบี้ย จึงพักปักกลด นอนจนถึงรุ่งเช้า บิณฑบาตบ้านหาดเบี้ย โยมใส่บาตรดีเหลือเกิน ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ เมื่อฉันแล้วล้างบาตร เช็ด บาตรแห้งดีแล้ว ก็เอาผ้าครอง สิ่งของเอาใส่ในบาตรเตรียมเดินทางต่อไป

จุดประสงค์จะเดินทางไปถึงเชียงใหม่ ญาติโยมใครถามก็บอกว่าจะไปเชียงใหม่ ก็เดินทางผ่านนบ้านผาแบ่นบัวโฮม ผ่านบ้านโคก มาถึงถ้ำผาปู่ มาพักที่ถ้ำผาปู่นั้นเจ็ดวัน ไปถึงวันแรก พักที่ถ้ำน้อยทางตะวันออกถ้าำผาปู่ เมืื่อเย็นลง ก็ทำวัตร สวดมนต์เสร็จก็ออกมาเดินจงกรม ได้สักพักหนึ่งก็กลับไปนั่งภาวนา ปรากฏเหมือนเสียงคนขึ้นบันไดมาหา เดินเหยียบขั้น บันไดเสียงกึกๆ ขึ้นมาถึงข้างบนพื้นถ้ำ ที่มีกระดานปูเสียงเงียบไป ไม่ปรากฏเสียงเดิน สังขารมันปรุงไปว่าผีหลอก มันจะให้ลุกออกไปดู ขนลุกซู่ซ่าไปหมด ก็เลยบอกมันว่าไม่ไปดู นั่งหลับตาภาวนาอยู่นั่นแหละ ถ้าเป็นผีมันจะกินได้ ให้มันกินเสียเลย ตายแล้วไม่ต้องไป ต้องมาให้เป็นทุกข์ นั่งภาวนาพุทโธ พุทโธ อยู่อย่างนี้ จนอาการขนลุกขนชันมันระงับไป นั่งอยู่จิตก็สงบเย็นลงมา ต่อมาเมื่อออกจากภาวนาแล้ว ก็จุดเทียนส่องดูไม่เห็นมีอะไร

ครั้นรุ่งเช้า มาก็ไปบิณฑบาตบ้านน้ำภูบา เมื่อก่อนรู้สึกกันดารมาก ไปบิณฑบาตก็ได้ข้าว เกลือ พริก น้ำอ้อย ได้มาอย่าง ไรก็ฉันตามมีตามเกิด ก็สบายไม่ต้องไปสร้างภวตัณหาอยากได้อยากดี อยากเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ คราวนั้นได้ไปพักอยู่ที่ถ้ำ ผาปู่เจ็ดวัน ก็ออกเดินทางต่อไป ขอพักที่วัดเลยหลงหนึ่งคืน รุ่งเช้าบิณฑบาต ฉันเสร็จก็เตรียมบริขารไปลาท่านเจ้าคุณ ก็ออกเดินทางต่อไปที่วัดบ้านม่วง ท่าแพร ซึ่งมีหลวงปู่ซามา อยู่ที่นั่น พักที่วัดหลวงปู่ซามา ได้สามคืน ก็ไปลาท่าน ท่านถาม ว่าจะไปไหน บอกท่านว่าจะไปเีชียงใหม่ ลาท่านเสร็จก็ออกเดินทางผ่านบ้านภูสวรรค์ไปด่านซ้าย พักที่ด่้่านซ้ายหนึ่งคืน รุ่งเช้าบิณฑบาต ฉันเสร็จก็เตรียมบริขารไปลาเจ้าอาวาส ก็ออกเดินทางมุ่งไปหล่มเก่า

ขณะเดินทางจากด่านซ้ายไปหาเมืองหล่ม เกิดจับไข้สั่นหนาว เลยเข้าพักภาวนาใต้ร่มไม้ประมาณชั่วโมงกว่าอาการ ระงับลง ก็เลยออกนั่งภาวนา เดินทางต่อผ่านหล่มเก่าไปหล่มใหม่ ขอพักที่วัดหล่มใหม่หนึ่งคืน ตื่นเช้าไปบิณฑบาตได้ข้าว มานิดหน่อย อาหารอื่นไม่มี ก็เลยฉันข้าวไม่อิ่ม ก็หยุดล้างบาตร เตรียมบริขารใส่ในบาตร ก็ออกเดินทางต่อไปเพ็ชรบูรณ์ ค้างที่เพชรบูรณ์คืนหนึ่ง รุ่งเช้าบิณฑบาต ฉันเสร็จก็เตรียมบริขารลาเจ้าอาวาส แล้วเดินทางต่อถึงสามแยกไปพักที่วัดข้าง ทาง จะขึ้นเขารัง รุ่งเช้ามาไปบิณฑบาต มาฉันเสร็จแล้ว ก็เตรียมบริขาร ไปลาหลวงปู่เคลือบ ที่เป็นเจ้าอาวาส เสร็จแล้ว ก็เดินขึ้นเขารัง หยุดพักใกล้บ้านกรมทาง รุ่งเช้ามา โยมที่กรมทางนั้นใจบุญ ส่งขึ้นรถยนต์มาลงที่สะพานหิน เมื่อถึง สะพานหินแล้ว ก็เดินตามทางรถไฟขึ้นมาเรื่อยๆ ค่ำไหนก็พักใต้ร่มไม้ เช้ามาก็บิณฑบาตฉัน ฉันเสร็จล้าง เข็ดแห้งดีแล้ว ก็เตรียมบริขารเดินทางต่อมาเรื่อย ค่ำก็พักค้างคืน เช้าบิณฑบาต ฉันเสร็จก็เตรียมเดินทางต่อเรื่อยๆ ผ่านพิจิตร ผ่าน พิษณุโลก ผ่านอุตรดิตถ์ ผ่านบ้านด่าน จนถึงสถานีปางป๋วย พักที่วัดป่า สถานีบ้านปางป๋วยหลายวัน อาจารย์สวาท ซึ่งเป็น หลานชายหลวงปู่ตื้ออยู่ที่นั่น ต่อมาโยมผู้ใจบุญสถานีปางป๋วย ถวายตั๋วรถไฟมาลงลำปาง ไปขอพักที่วัดนาก่วมหนึ่งคืน รุ่งเช้าเตรียมบริขารเสร็จ ไปลาเจ้าอาวาส ก็เลยไปขึ้นรถไฟขบวนลำปางเชียงใหม่

วันนี้ขบวนรถไฟจากลำปางไปเชียงใหม่ ไม่ได้ฉันอาหารเพราะเทวดาตาดีไม่มี ก็เลยฉัน พุทโธ พุทโธ เรื่ยยๆ จนถึงสถานีเชียงใหม่ พอรถจอดที่สถานีแล้วถือเอาบริขารลงรถไฟ ก็พบกับหลวงปู่สิม ท่านจะไปลำปาง ท่านเห็นลงรถไฟ ท่านก็เดินมาถามว่า จะไปไหน ก็เลยบอกท่าน ผมจะไปวัดสันติธรรม ท่านเลยบอกเอาบริขารมานี่ ท่านไปส่งขึ้นรถสามล้อ ท่านให้เด็กของท่านจ่ายค่ารถสามล้อ ให้บอกคนรถไปส่งที่วัดสันติธรรม ก็เลยได้ไปพักอยู่วัดสันติธรรม

ตอนนั้นวัดสันติธรรมยังสร้างใหม่ กุฏิเป็นกระต๊อบมุงใบตอง โบสถ์ยังไม่ได้สร้าง ถามถึงท่านอาจารย์ พระท่านบอกว่า ไปลำปาง พักอยู่วัดสันติธรรมหลายวัน รอท่านอาจารย์กลับ ท่านก็ยังไม่กลับเลยถามอีกว่า มีตรูบาอาจารย์อยู่ที่ไหนบ้าง พระท่านก็บอกว่า มีหลวงปู่ตื้อ อยู่อำเภอแม่ริม มีหลวงปู่แหวน อยู่วัดป่าห้วยน้ำริน หลวงปู่ชอบ อยู่บ้านยางผาแด่น มีพระองค์หนึ่งสุจิต พักอยู่ทีวัดสันติธรรม พูดคุยถูกนิสัยกัน เลยชวนกันไปหาหลวงปู่ตื้อ ที่อำเภอแม่ริม เมื่อเดินทางไปถึง วัดป่าแม่ริมแล้ว ก็ไปกราบนมัสการท่าน ท่านก็ถามว่ามาจากไหน ก็บอกให้ท่านทราบและกราบนมัสการถวายตัวเป็นลูกศิษย์ ขอจำพรรษากับท่าน ที่วัดป่าแม่ริม ใน พ.ศ. ๒๔๙๓ เมื่ออยู่กับท่านปรากฏว่าท่านเทศน์เก่ง แนะนำพร่ำสอนดี ในปีนั้น ท่านมักจะเทศน์เรื่อง ขันธ์ห้า เทศน์เรื่อง อายตนะสิบสอง ธาตุสิบแปด อินทรีย์ยี่สิบสอง โพชฌงค์เจ็ด มรรแปด ท่าน ยกหัวข้อธรรม ขึ้นมาแล้ว ท่านอธิบาย เช่นท่านขึ้นขันธ์ห้าว่า “ปญฺขดฺชยฺโธ รูปกฺขนฺโธ เวทนากฺขนฺโธ สญฺยากฺขนฺโธ สงฺขารกฺขนฺโธ วิญฺญาณกฺขนฺโธ” แล้วท่านก็อธิบายรูปกฺขนฺโธ ได้แก่รูปขันธ์ก็คือรูปร่างกาย ชายหญิงทั่วไป รูปมีธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ลม ประชุมกันเรียกว่า รูปชาย รุปหญิง รูปเป็นของปฏิกูลโดยที่เกิดปฏิกูลดัวยที่อยู่ ปฏิกูลด้วยสี ปฏิกูล ด้วยกลิ่น ปฏิกูลด้วยรส ปฏิกูลด้วยการ สั่งสมระคนกัน รูปขันธ์ก็ไม่เที่่ยงจีรังยั่งยืน มีความผันแปรเปลี่ยนแปลงแตกดับ ทำลายไปเป็นธรรมดา ต้องทอดทิ้งไว้ในพื้นพสุธา หน้าแผ่นดิน ในโลกนี้ เวทนาก็ไม่เที่ยง ผันแปรเปลี่ยนแปลง สังขารก็ไม่เที่ยง ผันแปรเปลี่ยนแปลง วิญญาณก็ไม่เที่ยง ผันแปรเปลี่ยนแปลง ขันธ์ห้าก็ไม่เที่่ยง ขันธ์ห้าก็เป็นทุกข์ ขันธ์ห้าก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของๆ เรา ควรปล่อยวาง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

เมื่อท่านเทศน์เรื่องขันธ์ ๕ แล้ว บางวันท่านก็เทศน์เรื่องอินทรีย์ ๖ จักขุนทริยัง โสตินทริยัง ฆานินทริยัง ชิวหาทริยัง กายินทริยัง มนินทริยัง อิคถินปุริสิน จักขุนทริ คือตาเป็นใหญ่ในการดูรูป รูปทุกชริดรู้ได้ด้วยตา ตาเห็นรูป ถ้าไม่สำรวม ก็เกิดอาสวะได้ ตาเห็นรูป ดี เกิดความยินดี ตาเห็นรูปชั่ว เกิดความยินร้าย ตาเห็นรูปทั้งดีและไม่ดี เกิดความหลงอวิชชา ทำให้ใจมืดมน ไม่มีความจริงของตาและรูป ตาและรูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ใจไม่รู้ เพราะใจหลง แล้วเกิดุอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น ของเราของเขา เรามีเราเป็น เขามีเขาเป็น

อาสวะเกิดในอายตนะอย่างละ ๔ (๔ ๖ ก็ ๒๔) ท่านจึงสอนให้มี อินทรียสังวร คือระวังใจไม่ให้ยินดี ระวังใจไม่ให้ยินร้าย ระวังใจไม่ให้ลุ่มหลงมัวเมา ระวังใจไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น ถ้าสำรวมระวังใจให้ดีอย่างนี้ละ มันก็หลุดพ้น ก็เห็นได้เองที่ใจ

หูเป็นใหญ่ในการฟังเสียง จมูกเป็นใหญ่ในการดมกลิ่น ลิ้นเป็นใหญ่ในการลิ้มรส กายเป็นใหญ่ในการถูกต้องโผฎฐัพพะ ใจเป็นใหญ่ในการรู้ธรรมารมณ์ ต้องเอาของใหญ่ต่อใหญ่แก้กัน ฝีกฝนอบรมศรัทธาให้เป็นใหญ่ ฝกฝนอบรมความเพียรให้เป็นใหญ่ ฝึกฝนอบรมสติให้เป็นใหญ่ ฝึกฝนอบรมปัญญาให้เป็นใหญ่ จะฝึกฝนอบรมอินทรีย์ ๕ นี้ด้วยวิธีไหน

ศรัทธา จะมีกำลังแก่กล้าเข้มแข็งขึ้นได้ด้วยอาการ ๓ คือ
๑. ต้องหลีกเว้นคนไม่มีศรัทธา
๒. ต้องคบบุคคลที่มีศรัทธา
๓. ต้องพิจารณาให้มากในอนุสติ ๖ คือพุทธานุสติ ธรรมานุสติ สังฆานุสติ สีลานุสติ จาคานุสติ เทวดานุสติ ในอนุสติ ๖ อย่างนี้ พิจารณาให้มากๆ ศรัทธาก็จะแก่กล้าเข้มแข็ง

วิริยะ ความเพียร จะมีกำลังแก่กล้าเข้มแข็งขึ้นได้ด้วยอาการ ๓ คือ
๑. ต้องหลีกเว้นจากบุคคลผู้เกียจคร้าน
๒. ต้องคบกับบุคคลที่หมั่นขยัน
๓. ให้พิจารณาองค์แห่งความเพียร คือเพียรระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้นภายในใจ เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้วภายในใจ เพียรทำบุญกุศลให้เจริญ เพียรรักษาบุญกุศลไว้

สติ จะมีกำลังแก่กล้าเข้มแข็งขึ้นได้ด้วยอาการ ๓ คือ
๑. ต้องหลีกเว้นจากบุคคลผู้เผลอสติ
๒. ต้องคบบุคคลผู้มีสติ
๓. ให้ระลึกเนืองๆ ในสติปัฏฐาน ๔

สมาธิ จะมีกำลังแก่กล้าเข้มแข็งขึ้นได้ด้วยอาการ ๓ คือ
๑. ต้องหลีกเว้นจากบุคคลที่มีจิตไม่ตั้งมั่น จิตใจฟุ้งเฟ้ออยู่ด้วยนิวรณ์
๒. ต้องคบกับบุคคลที่มีจิตตั้งมั่น
๓. ให้พิจารณาเนืองๆ ในองค์แห่งฌานและวิโมกข์

ปัญญา จะมีกำลังแก่กล้าเข้มแข็งขึ้นได้ด้วยอาการ ๓ คือ
๑. ต้องหลีกเว้นจากบุคคลผู้ไม่มีปัญญา คนไม่มีปัญญามีลักษณะอย่างไร คือคนไม่เห็นกรรมชั่วเป็นชั่ว ไม่เห็นกรรมดีเป็นดี เห็นดีเป็นชั่วไป เห็นชั่วเป็นดีไป เพราะคนไม่เห็นกรรมชั่วเป็นชั่ว ทั้งที่กรรมชั่ว ตัวเองก็ทำทั้งกาย วาจา ใจ ยิ่งทางใจนี้ทำมากเหลือเกิน ใจโลภอยากได้ยินดีก็ไม่เห็นว่าชั่ว ใจโกรธ พยาบาท อาฆาตจองเวรก็ไม่เห็นว่าชั่ว ใจลุ่มหลงมัวเมาอยู่ในกิเลสกามและวัตถุกามก็ไม่เห็นว่าชั่ว เห็นว่าเป็นของดีไปอีก เมื่อเห็นชั่วเป็นดีแล้ว ก็พอใจในการทำกรรมชั่ว บาปอกุศลก็หนาแน่น จะให้ปัญญามันแก่กล้าเข้มแข็งได้อย่างไร
๒. ต้องคบผู้มีปัญญา ถ้าทำเอาไม่ได้ พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ก็คงไม่มี
๓. (ต้นฉบับมิได้ระบุไว้)
*

* ธรรมช่วยให้เกิดธรรมวิจัย (ปัญญินทรีย์)
ความเป็นนักไต่ถามสอบค้น, การทำสิ่งต่างๆ ให้หมดจดสดใส, การปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน, การหลีกเว้นคนปัญญาทราม, การเสวนาคนมีปัญญา, การพิจารณาเรื่องที่ต้องใช้ปรีชาลึกซึ้ง, การน้อมจิตไปในการวิจัยธรรม [ค้นคว้าเพิ่มเติมจากวิสุทธิมรรค (ปริเฉท ๔ อัปปนาโกศล ๑๐) เรื่องอาหารของโพชฌงค์ ๗ (ใกล้เคียงกับอินทรีย์ ๕) - คณะศิษย์ผู้จัดทำ]


ถ้าคุณเป็นผู้ฉลาดในการฝึกฝนอบรมอินทรีย์แล้ว การบรรลุมรรคผลนิพพานไม่ต้องไปถามใคร เหมือนเรารับประทานอาหารเอง รสอาหารเรารู้ อิ่มเรารู้ ขอให้ทำอินทรีย์ให้แก่กล้า มรรคผลนิพพานมันอยู่แค่ใจคุณนี่เอง


(มีต่อ ๑)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มี.ค. 2013, 06:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระญาณสังวร
ได้เมตตาเสด็จมาทรงเป็นองค์ประธานในพิธีฉลองอุโบสถ
วัดถ้ำผาผึ้ง บ้านถ้ำผาผึ้ง ต.หนองบัว อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่
โดยมี “พระอาจารย์บุญจันทร์ จนฺทวโร” (องค์ขวาสุด)
พระราชพุทธิมงคล หรือหลวงปู่ทองบัว ตนฺติกโร (องค์กลาง)
พระธรรมดิลก (ขันติ์ ขนฺติโก) วัดเจดีย์หลวง วรวิหาร (องค์ซ้ายสุด)
พระอาจารย์วิชัย ญาตธมฺโม (พระอาจารย์อานนท์) วัดสันติสังฆาราม
อดีตพระอุปัฏฐากหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร (องค์อยู่ใกล้เสา)
ตลอดจนคณะพระภิกษุสงฆ์ ร่วมเฝ้ารับเสด็จ

----------------

ฉะนั้น จงพิจารณาอินทรีย์ของตนว่า ใจเชื่อไม่ว่าบุญกุศล มรรคผล นิพพาน ใจทำได้หรือว่าไม่ได้งั้นเหรอ หรือทำได้แต่บาป โลภใจทำได้ โกรธใจทำได้ หลงใจทำได้ ถ้าทำได้แต่กรรมชั่ว กรรมดีทำไม่ได้ คงจะไม่มีพระุพุทธเจ้า ไม่มีพระอรหันต์ พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ท่านทำกรรมชั่วมาก่อน ทำโลภ โกรธ หลงมาก่อน ทำไมท่านจึงละได้ เพราะท่านเชื่อกรรมนี้เอง ความเพียรก็เจริญ สติก็เจริญ สมาธิก็เจริญ ปัญญาก็เจริญ ฉะนั้นขอให้ท่านผู้เจริญ จงทำเอาเถิด ทำจริงๆ ของจริงคืออริยสัจ จะปรากฏแก่ใจของท่านเอง เป็นสันทิฏฐิโก ใจเห็นได้เอง

จิตที่ควรข่ม คืออย่างไร จิตหลง มัวเมาในความคิดนึกปรุงแต่ง เดี๋ยวก็คิดไปเรื่องนั้น เดี๋ยวก็คิดไปเรื่องนี้ บางทีคิดใน เรื่องที่ดีก็เกิดความยินดี บางครั้งคิดไปเรื่องชั่ว เรื่องไม่ดี ก็เกิดความยินร้าย บางครั้งก็เกิดความหงุดหงิดรำคาญ บางครั้งก็เกิดความลังเลสงสัย บางครั้งในก็หลงมัวเมา ในความคิดนึกปรุงแต่ง ต้องสอนใจด้วยวิธีต่างๆ ให้ใจมันรู้

ความไม่รู้ที่มีในใจทาน เรียกว่าหลง ใจละหลงไม่สิ้น บางครั้งต้องใช้อุบายร้ายว่าคำสอน ใช้อุบายหยาบๆ ด่า ข่มขู่ ชี้โทษความหลงอวิชชา ความหลงนี้แหละ เป็นเหตุให้ปัจจัย ให้เกิดนิวรณ์ตัวอื่นๆ หลงแล้ว หลงอีก มัวเมา สร้างกิเลสกามขึ้นมาอีก หลงมัวเมา คิดไปเรื่องชั่ว เรื่องไม่ดี แม้เป็นเรื่องอดีต มันล่่วงมาแล้วตั้งนาน มันนึกคิดเอามาให้เกิดความไม่่พอใจ เกิดโกรธ เกิดความหงุดหงิดรำคาญใจ ใจที่มีอวิชชา หนาแน่นไปด้วยอวิชชา สอนให้รู้ ก็ไม่รู้ สอนให้เข้าใจก็ไม่เข้าใจ ต้องสอน แล้วสอนอีก บางครั้งจิตมันเป็นปทรมะ บางครั้งนึกถึงอุบายจะสอน นึกไม่ออก บางครั้งสอนให้ทำดี ใจก็ไปทำชั่วเพราะ กรรมชั่วมันเคยชิน ยืดมั่นถือมั่นก็ยึดเสียจนชิน ตระหนี่ขี้เหนียวก็ทำเสียจนชิน กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด ก็ทำเสียจนชิน

ฉะนั้น บาปอกุศลใจทำเสียจนชิน ใจทำได้คล่องแคล่วว่องไว รวดเร็ว เพราะใจมันชินเสียแล้ว บางคนถึงขั้นปทปรมะ ใจมีอวิชชา ความหลงหนาแน่น ไม่รู้จักบาป ที่ควรละ ไม่รู้จักบุญที่ควรทำ เพราะมีอวิชชา ความไม่รู้มืดมน สอนอย่างไร ใจก็ไม่เชื่อว่าบาป บุญมี ไม่เชื่อมรรคผล นิพพาน ใจของคนประเภทนี้มากเหลือเกิน จนครั้งแรกที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ พิจารณาใจคนแล้วท้อใจไม่อยากจะสอนใคร ท่านพิจารณาเห็นใจคนประเภทนี้ คนใจหลง ใจบาป มันมีมาก สอนให้รู้จักบุญ สอนให้รู้พอในการทำบุญ ไม่ชอบ ไม่พอใจ ไม่ทำใจชอบ ทำบาปเรื่องโลภ โกรธ หลง ไม่ต้องสอน ใจมันทำเอง ใจทำได้คล่องแคล่ว ชำนิ ชำนาญ มีใครไปสอนให้ละ ละไม่ได้ เพราะฉันไม่ชอบละ ใจฉันชอบทำบาป ทำอกุศล ใจชอบของไม่ดี

ใจประเภท เนยยะ พอแนะนำสั่งสอนได้ ใจคนประเภทนี้ ยังน้อยเต็มที สอนให้ทำทาน ก็ทำได้นิดหน่อย สอนให้ รักษาศีล ก็ทำได้นิดหน่อย สอนให้ภาวนาก็ทำได้นิดหน่อย ทำมากๆ ไม่ได้เพราะกลัว กลัวอะไร กลัวหมด ใจตระหนี่ เหนียวแน่น หวงแหน กลัวทาน กลัวศีล กลัวไม่ได้ฆ่าสัตว์ กลัวไม่ได้ลักทรัพย์ กลัวไม่ได้เสพกาม กลัวไม่ได้พูดปด กลัวไม่ได้ ดื่มสุราเมรัย พระสอนให้รักษาศีลห้า ศีลแปด ศีลสิบ กลัว กลัวศีล กลัวบุญ ยิ่งสอนให้ภาวนาทำสมถกรรมฐาน ก็กลัวเป็นใบ้เป็นบ้า สอนให้เจริญวิปัสสนา ก็กลัวเกิดวิปลาส กลัวเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กลัวสุญญตา ชอบความมี ความเป็น ไม่ชอบความว่าง ความเปล่า ชอบใจ พอใจ อยู่ในความมี ความเป็น กลัวจริงๆ การทำบุญ แต่การทำบาป ไม่กลัว กล้าทำ กล้าโลภ กลัวโกรธ กล้าหลง กล้ายึด กล้าถือ ตัวเรา ผัวเรา เมียเรา ลูกเรา หลานเรา ญาติเรา เงินทองเรา วัตถุข้าวของต่างๆ ของเรา

ยิ่งพระสอนสุญญตา อนัตตา ยิ่งกลัวใหญ่ ทำก็ทำได้นิดหน่อย ให้ทานนิดหน่อย รักษาศีลนิดหน่อย เพราะกลัว กลัว บุญจริงๆ มีคนไปบอกบุญ มีคนไปสอน ให้ทำบุญ กล้วเหลือเกิน ยิ่งสอนให้นั่งภาวนา ยิ่งกลัวใหญ่ กลัวเจ็บขา กลัวเจ็บก้น กลัวเจ็บหลัง กลัวปวด กลัวเมื่อย กลัวเป็นเหน็บชา กลัวเดินไปมาไม่ได้ เวลาไปนั่งทำบาปดูซิ นั่งดื่มเหล้า นั่ง ดูละคร ดูลิเก นั่งเล่นไพ่ เล่นถั่ว นั่งเล่นโบก นั่งกับ นังดักยิงสัตว์ เรื่องทำบาป นั่งได้ตั้งหลายชั่วโมง ภยาคติ ใจลำเอียง เพราะกลัว กลัวบุญ สิ่งที่ควรกลัว ใจกลับกล้าทำ เรื่องทำบาป แล้วยกนิ้วให้ เอาเลย

ยิ่งคนประเภทอุคคติตัญญู และวิปปจิตัญญู มีน้อยเหลือเกิน ยิ่งประเภทอุคติตัญญู รู้ธรรม เข้าใจธรรม เมื่อท่านยกหัวข้ัอธรรมขึ้นแสดงแล้ว ยิ่งน้อยมาก แม้สมัยพระพุทธเจ้ายังมีอยู่ ท่านแสดงธรรมเพียงภาษิตข้อเดียว ได้ฟังธรรมแล้วบรรลุพระอรหันต์เหมือนท่าน ท่านแสดงให้ อุคคเสน ฟัง อุคคเสนบรรลุพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าท่านแสดงธรรมให้อุคคเสนฟังเพียงภาษิตเดียว ไม่ต้องแปล ไม่ต้องอธิบาย ท่านฟังแล้วบรรลุพระอรหันต์

ภาษิตนั้นพระพุทธเจ้าแสดงว่า
“มุญฺจ ปุเร ปจฺฉโต มชฺเช มุญฺเจ ภวสฺส ปารคู
สพฺพตฺถ วิมตฺตมานโส น ปุน ชาติชรํ อุเปหิสิ”


อุคคเสนได้ฟังภาษิตนี้ ได้บรรลุพระอรหันต์ เป็นขิปปาภิญญา ตรัสรู้แล้ว เมื่อท่านตรัสรู้ธรรมแล้ว ก็ขอบรรพชา อุปสมบท พระพุทธเจ้าก็ให้ เอหุภิกขุ บวชเป็นพระเิดินตามหลังพระพุทธเจ้าไปบิณฑบาตเลย

อุคคเสนนี้เป็นลูกเศรษฐี มีเงินสี่สิบโกฏ ใจของท่านเป็นพระพ้นแล้วจากอาสวกิเลส ไม่ห่วงใยอาลัยในทรัพย์สมบัติ ไม่อาลัยในภรรยา และบุตร อาจจะมีคนพูดเป็นส่วนมากว่า ท่านมีบุญบารมีแก่กล้า ก็จริง เพราะทำบุญบุญบารมีจึงแก่กล้า แก่กล้าเพราะทำ บางคนจะคอยบุญบารมี มันแก่กล้า แต่ไม่ทำบุญ ถึงทำบุญก็ทำนิดๆ หน่อยๆ เงินให้ทาน ก็ทานนิดๆ หน่อยๆ รักษาศีลนิดหน่อย ภาวนานิดหน่อย ทำบุญน้อยแต่ทำบาปมากๆ

ให้ท่านพิจารณาดูตัวเองซิว่า การทำบุญกับการทำบาป ข้างไหนมาก ข้างไหนน้อย คุณจะรู้ได้เอง ถ้าบุญบารมีมาก พอสมควร จะบรรลุพระอรหันต์ได้ ต้องบรรลุแน่นอน เหมือนอุคคเสนนี้ ที่บรรลุไม่ได้เพราะมัวแต่ทำบาป ละมั้ง มัวแต่ ทำความตระหนี่ ขี้เหนียว มัวแต่ทำเวรห้า เวรแปด เวรสิบ มัวแต่ลุ่มหลงมัวเมา ทำแต่กิเลสกาม และวัตถุกาม จงดูตน จงพิจารณาตน จงสอนใจตน ให้รู้ว่าบาปคืออะไร บุญคืออะไร และเอาบาปที่ทำกับบุญ ที่คุณทำมาเทียบกันดู คุณก็จะรู้ตัวเองได้เลย ถ้าบุญบารมีพอบรรลุพระอรหันต์ได้เหมือนพระพุทธเจ้า เหมือนพระอรหันตสาวกสาวิกาทั้งหลาย

ภาษิตที่อุคคเสน ได้ฟังนี้มีความแปลว่า ท่านจงเปลื้องความอาลัย ในกาลก่อนเสีย ท่านจงเปลื้องความอาลัยข้างหล้งเสีย จักเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ ท่านจงมีจิตพ้นแล้วจากมานะ ความสำคัญมั่นหมายในที่ทั้งปวง เป็นของเราว่าเรามี เราเป็น ท่านจะไม่เข้าถึงและชราอีก ภพชาติจบลงแค่นี้ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

ผู้ที่่ท่านบารมีแก่กล้า ท่านก็เปลื้องได้ง่าย ละได้ง่าย ผู้มีบาปแก่กล้านี้ สิมันแสนยากเหลือเกิน ห่วงอาลัยในร่างกายและชีวิต ห่วงอาลัยผัว ห่วงอาลัยเมีย ห่วงอาลัยหลาน ห่วงอาลัยญาติมิตร ห่วงอาลัยทรัพย์สมบัติ อะไรๆ ก็มีแต่ของเราทั้งหมด ติดจนมันตาย ยังไปเกิดเป็นผีเฝ้าทรัพย์เหมือนปู่โสมเฝ้าทรัพย์ นี่แหละเพราะมัวเมาทำแต่บาป บุญบารมีไม่พอสักที วัน เดือน ปี นาที ชั่วโมง มันหมดไปสิ้นไปนะ วันนี้แล้วนี้เราทำอะไร เราทำบุญไหม หรือเราทำบาปอยู่ ไม่ควรประมาท ตายนะ ร่างกายมันถึงเวลาตาย มันตายจริงๆ นะ ระวังเราจะตายเปล่า บุญกุศลมรรคผล นิพพานนะ รีบๆ ทำเอาเสีย เมื่อความตายมาถึงเรา จะไม่เศร้าโศก เพราะมีบุญทำไว้ เรามีมรรคผลทำไว้ รู้แจ้งพระนิพพานแล้ว ใจละโลภ โกรธ หลงสิ้น ใจละมานะความถือตัว ถือว่า เรามี เราเป็น สิ้นแล้ว สอนใจนะ ถ้าบุญบารมีอินทรีย์แก่กล้าจริงๆ ต้องรู้แจ้งเห็นจริงภายในใจในปัจจุบันนี้

เมื่อไปจำพรรษาที่บ้านแม่ตอแล้ว จนออกพรรษาก็ยังพักภาวนาอยุ่ที่นั้น ครั้นจวนจะเข้าพรรษาอีก โยมทางบ้านปางยางนาด ก็มาของนิมนต์ไปจำพรรษาที่วัดป่าปางยางนาด อาตมาก็เลยได้ลาท่านสุจิต ไปจำพรรษาที่ปางยางนาด เป็นพรรษาที่หกพอดี ได้ทราบข่าวว่า ท่านพ่อลีออกจากวัดอโศการาม สมุทรปราการ มาจำพรรษาที่บ้านยางผาแด่น ก็เลยไปกราบนมัสการท่าน ท่านเล่าให้ฟังว่า หนีปลิโพธกังวล ต้องการภาวนาอย่างเต็มที่ ท่านได้ถามถึงการภาวนา ก็กราบเล่าถวาย ท่านตามความรู้ ความเห้น แล้วท่านก็แนะนำ อุบายเจริญ อานาปนสติ ให้อุบายกำหนดลม อุบายตั้งจิตไว้ อุบายกระจายลม ให้แล่นไปในจุที่ประสงค์ อุบาย กระจายลมไปทั่วร่างกาย ชี้แนะในอุบายนิมิต ที่ควรถือเอา และไม่ควรถือเอา ให้กำหนดเอานิมิตที่เกิดขึ้น ในฐานของลม ให้ระวัง นิมิต ที่มันหลอกลวง ให้เกิดความยินดี นิมิตที่ทำให้เกิดความยินดี ยินร้าย ระวังไม่ให้หลงไปตามนิมิต ให้กำหนดรู้อยู่ในฐานของลม

สำหรับอาตมาเอง อุปนิสัยในการทำฌานน้อยไป จิตเมื่อตั้งมั่นในลมแล้ว ก็มัจะเกิดความเห็นลมไม่เที่ยง นิมิตต่างๆ ที่ปรกฏ ก็เห็นว่าไม่เที่่ยง เห็นว่า สังขาร นิมิตที่หลอกลวงเกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป หายไป สิ้นไป ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ด้วย แม้ลมหายใจเข้าออก ก็ไม่เที่ยง แล้วนิมิตมันจะเที่ยงมาแต่ไหน เกิดขึ้นดับไป วิปัสสนาปัญญาที่เห็นอนิจจัง ความไม่เที่ยงก็ รู้เห็นว่า สิ่งใดไม่เที่ยงนั้นก็เป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา ปัญญาก็ทวนกระแสเข้าหาใจ พิจารณาใจ สอนใจให้รู้ ลมไม่เที่ยง ร่างกายทุกส่วนก็ไม่เที่ยงเหมือนลม ปัญญาพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงของลม ปัญญาก็ขยายออก พิจารณาความไม่ เที่ยง ในอาการสามสิบสอง พิจารณาอาการ ต่างๆของร่างกาย เห็นความผันแปร เห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอน เห็นทุกข์ในอาการต่างๆ ของร่างกาย ทุกข์เพราะความแก่ ทุกข์เพราะความเจ็บ ทุกข์จนกระทั่งตายไม่มีอะไรเป็นของเรา ในกายนี้เป็นของว่างเป็นของเปล่า เป็นของสูญจากตัวจากตน จากเราจากเขา

เมื่อพิจารณไปแล้ว ก็ทวนกระแส เ้ข้าหาใจ คือธาตุรู้ ถามจว่าใจรู้ไหม ใจเห็นไหม กายนี้มีแต่ธาตุสี่ ดิน น้ำ ไฟ ลม ใจจะมา หลงเอาอะไร ใจจะมายินดี เอาร่างกายที่ไม่เที่ยง เต็มไปด้วยของปฏิกูล เต็มไปด้วยน้ำเลือด น้ำเหลือง เต็มไปด้วย เหงื่อไคล เต็ม ไปด้วยรสอาหารแทรกซึมระคนอยู่ ต้องถ่ายเท ต้องอาบน้ำชำระร่างกาย เพราะความผันแปรของรสอาหาร อาหารที่กินลงไป หล่อเลี้ยงร่างกาย ไม่ใช่มีแต่คุณประโยชน์ สิ่งที่เป็นโทษเป็นทุกข์ก็มากมาย ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บไปต่างๆ หลายอย่างหลายประการ จะให้มีแต่ความสุขสบาย อย่างเดียวก็หาไม่ อาหารว่าเป็นของดีๆ กลืนกินลงไป บางทีเป็นอาหารที่แสลงก็เจ็บ เกิดปวดท้องแน่น ท้อง ท้องเฟ้อ จุกเสียดในกระเพาะ ทำให้กระเพาะอักเสบ เป็นแผลในร่างกายนี้เต็มไปด้วย รสอาหาร หล่อเลี้้ยง มันก็เจ็บก็ปวด เป็นทุกข์ ทรมาน มีโรคต่างๆ เกิดขึ้น ต้องเยียวยา รักษาบรรเทา ความเจ็บปวด โรคภัยย่ำยีบีทาไล่ ไปหาความตาย

ไม่ว่าเป็นตัวเราก็เป็นเพียงสมมุติ ที่โลกเขาใช้กันอยู่ ด้านปรมัตถ์แล้วมันเป็นธาตุเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนเราเขา เกิดมาแก่ เกิด มาเจ็บ เกิดมาตาย ตายจริงๆ นะ เอาอะไรก็ไม่ได้ ในร่างกายนี้มีแต่ธาตุสี่ ดิน น้ำ ไฟ ลม ตัวเราที่ไหน ตัวเขาที่ไหน ตายกันหมด เกิดมาตาย เกิดมาทุกข์ ทุกข์จนตาย

เมื่อปัญญามันเห็นอย่างนั้น ปัญญาก็ทวนกระแสกลับเข้าหาใจ สอนใจให้รู้ สอนใจให้เห็นว่าใจรู้ใหม ใจเห็นไหม ใจว่ากายเป็น ของเรา ใจจะป้องกันไม่ให้กายมันตายจะได้ไหม เมื่อสิ้นวิบากขันธ์ แล้วตายจริง ไม่ใช่สมบัติของกาย กายก็ไม่ใช่สมบัติของใจ ใจ ก็เป็นธาตุ เป็นอนัตตา กายก็เป็นธาตุเป็นอนัตตา สูญว่างเปล่าจากตัวจากตน จากเรา จากเขา ไม่มีใครได้อะไร กายตายหมด ใจ มันตายไหมดูซิ ใจคือธาตุรู้ ใจว่างเปล่าจากเรา เราไม่มีกายในใจ เขาไม่มีกายในใจ สมมุติ สมมุติเขาสมมุติ ใจรู้ไหม ธาตุรู้มี ใจอันเดียว เขาสมมุติธาตุรู้ว่า เป็นใจเรา ใจเขา จริงเพียงสมมุติ จริงปรมัตถ์ไม่ใช่เรา ไม่มีเรา ไม่เป็นเรา ใจรู้เท่าสมมุตินะ อย่าไปหลงกับสมมุติ อย่าไปหลงกับสังขาร เมื่อใจรู้เท่าสมมุติ หลงอวิชาดับ วิมุตติปรากฏกาย สันตินิพพาน ก็รู้ก็เห็นได ้ภายในใจ

ความรู้ความเห็นมันเป็นผลของความเพียร บำเพ็ญมรรค ให้เจริญ ทำให้มากๆ พิจารณาให้มากๆ จนมรรคผล เต็มเปี่ยม บริบูรณ์ นิพพานัง ปรมัง สุขขัง ก็รู้แจ้งเห็นจริงได้ภายในใจ

เมื่อจำพรรษาที่วัดปางยางนาด จนออกพรรษาแล้ว ก็ย้ายไปพักที่ผาเด็ง ครั้งแรกโยมเขาทำร้านให้พักอยู่ใต้ร่มไม้ กุฏิศาลายังไม่ได้ทำ เพราะศรัทธาญาติโยมก็ดูพระว่าจะอยู่ไหม หรือจะไปที่อื่นอีก สถานที่นั้นเป็นวัดร้าง มีก้อนดินอิฐ ที่เขาสร้างโบสถ์พังอยู่ ในที่นั้น แล้วก็มีผีดุเสียด้วย คนจะไปตัดไม้ ไปเอาฟืนไม้แห้งอยู่แถวนั้น ผีก็ตามไปทำให้เจ็บไ่ข้ได้ป่วย ญาติโยมเขาจึงกลัว ไม่กล้าไปตัดไม้

เมื่อไปพักอยู่ที่นั่น วันหนึ่งนั่งภาวนาเห็นไปทางทิศตะวันตก ปรากฏว่ามีคนมาจับที่แขนซุก ไปข้างหน้า เลยลืมตาขึ้นดู ก็ไม่เห็นมีอะไร ผู้คนก็ไม่มี สัตว์ต่างๆ ก็ไม่มี เสียงคนเดินก็ไม่ได้ยิน ก็เลยหลับตา นั่งภาวนาต่อไปอีก ก็ปรากฏนิมิตเห็นหลวงพ่อองค์ หนึ่งยืนอยู่ไกลๆ ก็เลยนึกว่า หลวงพ่อนี้เอง ที่อยู่ตาย แล้วก็ไม่ไปเกิดในทางสุคติ ตายแล้วไปเกิดเป้นผีอยู่ที่วัด คงจะติดสมบัติอะไร อยู่ที่โบสถ์นั่นแหละ ก็เลยแผ่เมตตาจิตอุทิศส่วนบุญกุศลไปให้ ว่าหลวงพ่อจงเป็นสุขเป็นสุขเถิด แต่นั้นมาก็ไม่ปรากฏนิมิตเห็นหลวงพ่ออีก

ครั้นอยู่ต่อมา ก็ปรากฏที่จะทำศาลาที่โบสถ์นั้น มีไม้แดงใหญ่ เกิดอยู่ข้างโบสถ์ และมีต้นไม้อย่างอื่นเกิดขึ้นมาก เพราะโยมเขา ไม่กล้าไปตัดเพราะกลัวผี อาตมาได้บอกให้โยมเขาไปตัดไปปรับพื้นที่ เพื่อจะสร้างศาลา เขาก็บอกว่า หมู่ข้าเจ้ากลัวผีไปหักคอ เขาไม่กล้าตัด ปรารภว่าจะไปทำศาลาที่อื่น อาตมาก็บอกว่า ตัดออกเถิด แผ้วถางปรับที่สร้างศาลาไม่เป็นไร หลวงพ่ออยุ่ที่นี่ ตุ๊เจ้าแผ่เมตตาไปให้เปิ้น เปิ้นไปสู่สุคติแล้ว อาตมารับรองไม่ให้เป็นอันตรายใดๆ เขาจึงพากันตัดไม้แดงใหญ่ออก ปราบพื้นที่ จนเสร็จแล้ว ก็ได้สร้างศาลาขึ้นที่นั่น เป็นศาลามุงหญ้า ใช้ฟากปูกับพื้นดิน เมื่อทำเสร็จแล้วก็ถวายทาน มีเสื่อหมอนและเครื่องใช้ต่างๆ ต่อมาศาลาหลังนั้นก็ได้ใช้เป็นที่นั่งภาวนา ฟังเทศน์ ทำวัตรสวดมนต์ และทำทานต่างๆ


(มีต่อ ๒)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มี.ค. 2013, 06:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ


:b44: รวมคำสอน “พระอาจารย์บุญจันทร์ จนฺทวโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=55647

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มี.ค. 2013, 18:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


หลวงปู่บุญจันทร์ จันทวโร
พระอรหันต์ผู้ประเสริฐดั่งพระจันทร์วันเพ็ญ


รูปภาพ

หลวงปู่บุญจันทร์ จันทวโร วัดถ้ำผาผึ้ง อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ ผู้ที่ได้รับฉายาจากองค์ท่านหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ว่า “พระอรหันต์ผู้ประเสริฐดั่งพระจันทร์วันเพ็ญ”

หลวงปู่ชอบท่านเล่าเรื่องหลวงปู่บุญจันทร์ วัดถ้ำผาผึ้งเชียงใหม่ให้ฟัง ท่านบอก ท่านบุญจันทร์เป็นลูกศิษย์เราอีกองค์หนึ่งที่รู้ธรรมเร็วตั้งแต่พรรษาเจ็ด เราอยู่บ้านหนองอ้อกับท่านอาจารย์ขาว

เรานิมิตเห็นช้างเผือกมาหมอบลงต่อหน้า เอาดอกไม้ธูปเทียนถวายเรา เราพูดเรื่องนี้ให้อาจารย์ขาวฟัง อาจารย์ขาวท่านบอก อาจารย์ชอบจะได้ช้างเผือกมาเลี้ยงอีกเชือกหนึ่ง

ไม่กี่วันท่านบุญจันทร์ก็มาหาเรา ตอนค่ำวันนั้นเราเดินจงกรมอยู่ข้างที่พัก เห็นท่านบุญจันทร์แบกบาตรสะพายกลดเข้ามาหา ท่านถามเราว่าอาจารย์ อาจารย์ชอบท่านพักอยู่นี่บ่ เราก็บอกเรานี่แหละคืออาจารย์ชอบ ท่านบุญจันทร์คุกเข่าลงพนมมือไหว้เรา

เราถามไปจั่งใด๋มาจั่งใด๋ถึงได้มาหาเราถึงที่นี่ ท่านบุญจันทร์บอกข้าน้อยมาจากเมืองขอนแก่น ตั้งใจจะมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ท่านอาจารย์อ่อนบอกว่าพ่อแม่ครูบาอาจารย์มาพักอยู่ที่นี่ ข้าน้อยเลยตามมาหา ตอนท่านบุญจันทร์มาฝากตัวเป็นลูกศิษย์เรา ท่านบุญจันทร์พรรษาสี่ (หน้าหนาวต้นปีพุทธศักราช ๒๔๙๔)

ท่านบุญจันทร์เล่าเรื่องภาวนาให้เราฟัง จิตท่านบุญจันทร์สว่างนิ่งมาสาม-สี่ปี หาทางออกไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรจึงจะออกจากอาการที่จิตเป็นแบบนี้ได้

เราบอกนี่จิตท่านมันเป็นสมถะเต็มภูมินะ จิตเป็นแบบนี้ยังไม่พ้นทุกข์ ภูมิชั้นนี้ยังเป็นภูมิโลกไม่ใช่ภูมิพระ ภูมิแบบนี้ฤษีชีไพรก็เป็นได้เหมือนกัน เราก็บอกท่านบุญจันทร์ให้ถอนจิตออกมาจากชั้นอัปปนาสมาธิ

ให้ทรงจิตอยู่กึ่งกลางระหว่างอัปปนากับอุปจาระ หมุนจิตเข้ามาพิจารณาในกายของตน พิจารณากายส่วนไหนก็ได้ตามที่นิสัยของจิตมันชอบ ให้พิจารณาเข้าออกๆ อยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจิตมันจะชำนิชำนาญแตกฉานในอสุภกรรมฐาน

จิตท่านบุญจันทร์จะชำนาญในการพิจารณากระดูก ท่านบุญจันทร์พิจารณากระดูกจนแตกละเอียดอยู่ถ้ำปากเปียงเชียงใหม่ ท่านบุญจันทร์ถามเราว่า ข้าน้อยพิจารณากระดูกจนแหลกป่นปี้หมดแล้ว

เราก็ถามว่าได้กำหนดตั้งรูปมันขึ้นมาพิจารณาอีกบ่ ท่านบุญจันทร์บอกข้าน้อยกำหนดขึ้นมาเป็นรูปได้ พอจะพิจารณากระดูกทั้งหลายก็แตกสลายป่นปี้ไปหมด มันจะพังพาบๆ อยู่อย่างนี้

เราบอกท่านบุญจันทร์ ท่านพ้นกามในสิ่งที่เป็นของหยาบไปได้แล้ว ถึงท่านจะกำหนดรูปขึ้นมาได้ พอเดินปัญญาเข้าไป สิ่งเหล่านี้ก็จะพังพาบลงทันที เพราะจิตมันขาดกันไปแล้วกับธรรมส่วนที่เป็นของหยาบ จิตท่านพ้นจากรูปธรรมที่เป็นของหยาบไปแล้ว ต่อไปให้พิจารณาในส่วนที่เป็นนามธรรมซึ่งเป็นของละเอียด

ให้ท่านจับเงื่อนเวทนาเข้าไปให้เห็นสัญญา พิจารณาสัญญาเข้าไปให้เห็นสังขาร พิจารณาสังขารเข้าไปให้เห็นวิญญาณ พิจารณาวิญญาณเข้าไปให้เห็นอวิชชาปัจยการ เมื่อเห็นอวิชชาปัจยการแล้ว ทุกอย่างมันจะถูกมหาสติมหาปัญญาทำลายลงไปทั้งหมด จิตจะเป็นธรรมธาตุยิ่งใหญ่

ถึงตอนนั้นท่านบ่ต้องไปถามใครอีกแล้วว่าท่านเป็นอะไร

หลังจากองค์ท่านหลวงปู่ชอบให้อุบายธรรมแก่หลวงปู่บุญจันทร์ จันทวโร ท่านก็มาพักอยู่ที่สำนักสงฆ์ห้วยน้ำริน หลวงปู่บุญจันทร์ท่านรับเอาอุบายธรรมจากองค์ท่านหลวงปู่ชอบไปปฏิบัติ หลวงปู่บุญจันทร์ท่านพิจารณาในนามธรรมซึ่งเป็นธรรมอันละเอียดอ่อนอยู่ห้า-หกเดือน

หลวงปู่บุญจันทร์ท่านก็บรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์ “ฉฬภิญโญ” (ได้อภิญญาหก) เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๖ ที่วัดถ้ำปากเปียง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

เรื่องนี้หลวงปู่ชอบท่านย้ำให้บันทึกไว้ ท่านบอกต่อไปถ้าเราตายไปแล้วท่านจะถามใครไม่ได้อีกในเรื่องภาคปฏิบัติ


:b8: :b8: :b8: ๒๗ กันยายน ๒๕๓๖
ที่ห้องพักหลวงปู่ชอบ ศาลาบำเพ็ญกุศล วัดป่าโคกมน
บันทึกโดย ครูบากล้วย - พระวีระศักดิ์ ธีรภัทโท


รูปภาพ
หลวงปู่ชอบ ฐานสโม - วัดป่าสัมมานุสรณ์

รูปภาพ
หลวงปู่ขาว อนาลโย - วัดถ้ำกลองเพล

รูปภาพ
หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ - วัดป่านิโครธาราม

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร