วันเวลาปัจจุบัน 20 มิ.ย. 2025, 23:04  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 22 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.พ. 2013, 14:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7836

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
วัดบรรพตคีรี (วัดภูจ้อก้อ) อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร
จาก..หนังสืออัตโนประวัติหลวงปู่หล้า เขมปัตโต


คำนำ

หนังสือชีวประวัติเล่มนี้ แรกเริ่มคุณอินทร์ถวาย (พระอาจารย์อินทร์ถวาย สนฺตุสฺสโก) มาร้องขอข้าพเจ้าหลายๆ ครั้ง (ดังรายละเอียดในรูปเล่ม) ครั้นต่อมา พวกอุบาสกอุบาสิกาของพระพุทธศาสนาทางพระนครหลวง กรุงเทพฯ ได้มาวิงวอนร้องขอข้าพเจ้าให้อนุญาตจัดพิมพ์

ข้าพเจ้าได้พิจารณาหลายๆ รอบ หลายๆ นัยก็เข้าใจได้ว่าคงเจตนาจะพิมพ์จริง ข้าพเจ้าจึงได้อนุญาตเพราะเห็นว่า จะเป็นประโยชน์ในทางธรรมะบ้างไม่มากก็น้อย ส่วนการติชมของชาวโลกนั้น เป็นธรรมประจำโลกอยู่แล้วไม่ขาดเลย แต่ก็มีหลักเกณฑ์อยู่ว่าไม่ให้ขี้ขลาดต่อความดีของตนอันจะพอทำได้ ให้ขี้ขลาดต่อความชั่วอย่าได้อาจหาญล่วงละเมิด เมื่อมานึกถึงเรื่องเหล่านี้แล้ว ก็เบาใจได้ปัญญาเกิดขึ้นมาที่ดวงใจให้คำนึง มีใจพอพึงอนุญาตให้ตีพิมพ์

บรรดาท่านผู้จะพิมพ์หนังสืออันเกี่ยวกับธรรมะฟรีไว้เพื่อเป็นคติมากเล่มน้อยเล่มก็ดี เป็นของหาได้ยาก เพราะเกี่ยวกับทรัพย์สินบ้าง เกี่ยวกับไม่มีศรัทธาบ้าง และก็เป็นของหาได้ยากอีกด้วย และอีกอย่างหนึ่งธรรมดาชีวประวัติชาวพุทธแล้ว จะทุกข์จนข้นแค้นในด้านอามิส ลาภยศ สรรเสริญ สุขสักเพียงใดก็ตามที แต่ถ้าหากว่ามีความประพฤติดีมาอาชีวะชอบ เป็นต้น ก็สมฐานะของชาวพุทธอยู่มีชีวประวัติคุณค่าสูง เสียชีพดีกว่าเสียสัตย์ เสียชีวประวัติก็เสียชีพดีกว่า


แท้จริงชีวประวัตินี้จะเขียนหรือไม่เขียน มันก็มีอยู่ในตัวทุกๆ ท่าน เพราะความลับไม่มีในโลก นตฺถิ โลเก รโห นาม แต่เขียนไว้ดีกว่าไม่เขียน ท่านผู้ชอบอ่านก็จะได้อ่าน ผู้เขียนประวัติของตนเองยังไม่มรณภาพนั้นเองยิ่งดี เพราะมีโอกาสให้ผู้อื่นคัดค้านได้ทุกเมื่อ (สำหรับคำจริงแล้วไม่พูดอีกก็จริงอีก เมื่อยิ่งพูดก็ยิ่งจริง) ท้ายแห่งคำนำโดยย่อนี้ ด้วยเดชพระพุทธศาสนา จงเป็นสุขทุกถ้วนหน้าทั่วทั้งไตรโลกาอยู่ทุกเมื่อเทอญ.

พระหล้า เขมปตฺโต

คำนำ (เพิ่มเติม)

ทุกวันนี้มีไสยศาสตร์ต่างๆ เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา เป็นต้นว่าพวกรูป เหรียญ ล็อคเก็ตแขวนคอ เหล่านี้เป็นต้น สำหรับตัวของข้าพเจ้าไม่ได้ยินดีด้วยมาแต่ไรๆ แล้ว และองค์หลวงปู่มั่นก็ไม่ส่งเสริมด้วย ครูบาอาจารย์องค์หลวงปู่มหาบัวก็ไม่ส่งเสริม และติเตียนฝ่ายที่เคยเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่นที่เคยเอาหลวงปู่มั่นไปอ้างอิงว่าเป็นอาจารย์ของตน แล้วก็ทำรูปเหรียญขึ้น รุ่นนั้นรุ่นนี้ แต่ข้าพเจ้าเป็นผู้มีกิเลสมาก ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตายมากกว่าเม็ดหิน เม็ดทรายในท้องมหาสมุทร ๔ มหาสมุทรก็ตาม ย่อมไม่ยินดีด้วยทั้งนั้น

เมื่อเป็นดังนี้ เมื่อท่านผู้ใดทำรูป ทำเหรียญข้าพเจ้าไปขายก็ดี หรือเอาไปแจกฟรีก็ดี ข้าพเจ้าไม่ยอมอนุญาตเป็นอันขาด ถ้าใครฝืนก็จะขออารักขาต่อทางการ ถ้าไม่ฟังก็เอาเรื่องตามกฎหมายของบ้านเมือง เพราะทุกวันนี้ยุ่งเหยิงในเรื่องเหล่านี้มาก ข้าพเจ้าเข้าใจว่าการได้ผู้เล่นไสยศาสตร์มาเป็นพรรคพวกล้านๆ คน ไม่เท่าได้ผู้ถึงธรรมแท้มาเป็นพรรคคนเดียว

ปรารภน้อยไม่พออธิบาย ปรารภหลายหาว่าอวดดีจองหอง ถ้าความเห็นของข้าพเจ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิก็มอบให้ทุกข์กับสมุทัยซะ ถ้าหากว่าเป็นสัมมาทิฏฐิก็ทูลถวายต่อมรรคกับนิโรธ ส่วนตัวข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้ถอนไม่ออกเสียแล้ว จะว่าอุปาทานก็ยอมรับ

ยุคสุดท้ายบ้านหนองผือ สกลนคร ข้าพเจ้าได้อยู่ร่วมองค์หลวงปู่มั่น ๔ พรรษาติดๆ กัน ๒๔๘๙, ๙๐, ๙๑, ๙๒, ๙๓ จนถึงฌาปนกิจองค์หลวงปู่มั่นเสร็จเรียบร้อย ใน พ.ศ. ๒๔๙๓ องค์หลวงปู่มั่นไม่มีปฏิปทาไสยศาสตร์ทำรูป ทำเหรียญ ล็อคเก็ต เครื่องลางของขลังอยู่ยงคงกระพัน และวิชาเสน่ห์ วิชาหุงปรอท เป็นต้น เหล่านี้ไม่มีในองค์ท่านเลย จึงลงไปปักษ์ใต้กับองค์หลวงปู่เทสก์ ๓ พรรษา แล้วกลับขึ้นมาจำพรรษากับองค์หลวงปู่มหาบัว ยุคบ้านห้วยทรายอีก ๓ พรรษา คราวอยู่กับองค์หลวงปู่มั่น ๔ พรรษาติดๆ กันนั้นจนถึงฌาปนกิจ ถ้าจะบวกกันเข้าก็คล้ายๆ ๔ ปีกว่า มีองค์หลวงปู่มหาบัวเป็นมือขวาขององค์หลวงปู่มั่นควบอยู่ด้วย ให้เข้าใจว่ายุคบ้านหนองผือนั้น องค์หลวงปู่มั่นไปอยู่ก่อน ๑ พรรษาแล้ว คือ พ.ศ. ๒๔๘๙ ติดต่อกันจนถึงฌาปนกิจ ๒๔๙๓ ดังกล่าวแล้วนั้น มีองค์หลวงปู่มหาบัวเป็นพยานได้

เมื่อเป็นดังนี้ ถ้าข้าพเจ้าปีนเกลียวส่วนนี้ ก็เท่ากับว่าข้าพเจ้าเอาหัวองค์หลวงปู่มั่นมาเหยียบเล่นจริงไหม เทวดาเอ๋ย...


หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต

รูปภาพ
พระอาจารย์อินทร์ถวาย สนฺตุสฺสโก

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.พ. 2013, 14:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7836

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


สารบัญ

๏ คำนำ
๏ คำนำ (เพิ่มเติม)
๏ ข่าวอารมณ์
๏ มูลเหตุการเขียนประวัติ
๏ วงศ์ตระกูลฝ่ายบิดา
๏ วงศ์ตระกูลฝ่ายมารดา
๏ มรดกที่อยากได้
๏ ความประทับใจในวัยเด็ก
๏ บรรพชาและอุปสมบทครั้งแรก
๏ ห้วงทุกข์แห่งฆราวาส

๏ คืนสู่เพศพรหมจรรย์
๏ ไม่ไว้ใจในสังขารทั้งปวง
๏ ญัตติธรรมยุต
๏ การภาวนาพรรษาแรก
๏ ไปหาหลวงปู่มั่น
๏ การปวารณาปัจจัยสี่ตลอดชีวิต
๏ โอวาทท่านอาจารย์สีลา
๏ จงตั้งใจภาวนา
๏ พบพระอาจารย์อุ่น
๏ ถึงถ้ำพระเวส

๏ ปรากฏการณ์ที่ถ้ำพระเวส
๏ สติตั้งอยู่กับกายใจ
๏ อาลัยถ้ำพระเวส
๏ ความเห็นเป็นยาเสพติด
๏ ไตรสิกขา
๏ มอบกายถวายชีวิตต่อพระอาจารย์มั่น
๏ อาจริยวัตร
๏ การซ้อนผ้าบิณฑบาต
๏ การฉันในวัดป่าบ้านหนองผือ
๏ ข้อปฏิบัติต่อหลวงปู่มั่น

๏ หนึ่งทุ่มประชุมกันที่กุฏิหลวงปู่มั่น
๏ ผู้จะต้องถูกเข่นอย่างหนัก
๏ กรรมฐานที่หลวงปู่มั่นสอน
๏ การลาไปวิเวกของหลวงปู่มหา
๏ ข้าพเจ้าขอติดตามไปด้วย
๏ ลาท่านอาจารย์มหาไปวิเวกบ้านโพนงาม
๏ เสือตัวร้าย คือ เสือหลง
๏ ชีวิตพระป่า
๏ พบพระอาจารย์ฝั้น
๏ อดีต อนาคต เป็นเมืองขึ้นของปัจจุบัน

๏ ถ้ำอัตตกิลมถานุโยค
๏ พบพระอาจารย์ฝั้นที่ถ้ำบ้านไผ่
๏ ฝูงผึ้งต้อนรับที่ผาแด่น
๏ ความอัตคัดคือสมบัติของพระธุดงค์
๏ พบหมูป่าลูกอ่อน
๏ อุบายทรมานสัตว์โลก
๏ เมื่อหลวงปู่รับกิจนิมนต์
๏ ท่านพระอาจารย์มั่นถาม ภาวนาเป็นไง
๏ วิธีทดสอบตนเองขณะภาวนา
๏ ธรรมะหลวงปู่มั่น

๏ หลวงปู่มั่นเผาศพอาจารย์เนียม
๏ สมัยพุทธกาลเก็บศพไว้กี่วัน
๏ การเผาศพอย่างสมเกียรติพระกรรมฐาน
๏ ระเบียบปฏิบัติวัดหนองผือ
๏ พระอาจารย์มั่นถือผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต
๏ เสนาสนะยุคบ้านหนองผือ
๏ ปี ๒๔๙๐ พระเถระผู้ใหญ่มาศึกษาธรรม
๏ พิธีปลุกเสกพระพุทธรูป
๏ หลวงปู่มั่นอาพาธ ไปพักวัดร้างบ้านนาใน
๏ ธุคงควัตรจัดเป็นมัชฌิมาปฏิปทา

๏ อาหารบิณฑบาตประเสริฐกว่า
๏ หลวงปู่สั่งไว้
๏ วิทยุ ตู้เย็น โทรทัศน์
๏ คำอธิษฐานของหลวงปู่หล้า
๏ ดวงประทีปใกล้สิ้นแสง
๏ วัดแตกสาแหรกขาด
๏ สิ้นแล้วร่มโพธิ์แก้ว
๏ ปรึกษากันถวายพระเพลิง
๏ แจกบริขารหลวงปู่มั่น
๏ บาตรหลวงปู่มั่น

๏ วันถวายพระเพลิง
๏ มูลค่าบังสุกุลที่ข้าพเจ้าได้รับ
๏ ไปวิเวกกับหลวงปู่เทสก์
๏ หลวงปู่เทสก์รับนิมนต์ไปปักษ์ใต้
๏ ท่าแฉลบ จันทบุรี
๏ พบหลวงปู่เทสก์อีก
๏ ภูเก็ต-พังงา
๏ พรรษา ๖ จำพรรษาโคกกลอย
๏ หลวงปู่มั่นในนิมิต
๏ กติกาของคณะสงฆ์

๏ อุบายกลับอีสาน
๏ วิเวกถ้ำกรรจ์
๏ อาจารย์ภูเขาทอยพาให้เข็ดหลาบ
๏ พักเขาเฒ่าพบงูใหญ่
๏ อ่าวลึก-แหลมสัก
๏ ที่ป่าช้าจังหวัดตรัง
๏ รถไฟ รถใจ รถธรรม
๏ กลับอีสาน
๏ ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์เมตตา
๏ ถึงห้วยทรายกราบหลวงปู่มหา

๏ ได้พบกัลยาณมิตรอีก
๏ กรรมจุดป่าดักนก
๏ วิเวกภูเก้า
๏ ลัทธิพิสดาร
๏ พรรษา ๑๔ ก่อตั้งภูจ้อก้อ
๏ ไม่เคยใช้อุบายเรี่ยไร
๏ ยุคภูจ้อก้อปัจจุบัน
๏ คู่ต่อสู้ที่แท้จริง
๏ ศาสนธรรมคุ้มครองโลก
๏ โลกุตตรจิต โลกุตตรธรรม

๏ เจตนาผิดปิดทางหลุดพ้น
๏ สติ ปัญญา เป็นอาจารย์
๏ ผู้น้อมธรรมบูชากิเลส
๏ อรหัตผล กับกรรมเก่า
๏ ผู้ไม่ต้องระวังใจ
๏ ยินดีในปัจจุบัน คือ ปฏิบัติถูกทาง
๏ ธรรมเนียม กับ ธรรมวินัย
๏ ทำดี ทำชั่ว ไม่ล้าสมัย
๏ ผู้จะพ้นทุกข์ในปัจจุบัน
๏ วิญญาณมีจริงหรือ

๏ ผลย่อมสมควรแก่เหตุ
๏ จิตที่เศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว
๏ นักหลบมิใช่นักรบ
๏ จิตที่เศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว
๏ แว่นส่องทางส่องใจ
๏ โสวนโสเวียนในโลกสงสาร
๏ ความดีมิใช่มาจากดิน ฟ้า อากาศ
๏ ผู้หลงผู้รู้
๏ บัดนี้ เราจะดูเราตาย
๏ คำแถลง
๏ คำปรารภ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.พ. 2013, 14:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7836

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ข่าวอารมณ์

ข้าพเจ้าเป็นผู้มีกิเลสมากไม่พ้นทุกข์ง่ายเลย พอข้าพเจ้าเห็นรูปๆ เหรียญ ของลางของขลังเกจิอาจารย์ต่างๆ ซึ่งกำลังประชันขันแข่งกันในข่าวหนังสือต่างๆ ดังอย่างนั้นอย่างนี้ ข้าพเจ้าอยากจะอาเจียนออก และหลงแลบลิ้นออก และก็ขออภัยต่อแดดต่อลมที่ใช้มารยาทอันไม่งามต่อดินฟ้าอากาศ คงจะเป็นเพราะเพ่งออกนอก ไม่ โอปันนยิโก น้อมสอนตน นานาจิตตัง นานาธัมมังในเพศผ้าเหลืองนี้มีมากมายแท้ๆ ข้าพเจ้าเอาทิฏฐิของโลกมาป้อนทิฏฐิตนเองอย่างนี้ (คงเป็นคนพาลย่อมเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง) แต่ไม่ได้อ้างบาลีเลยนะ

และก็เมื่อพุทธาภิเษกกินขนมและเอาตังค์ และอ้างว่าสงเคราะห์ผู้ใหม่เพื่อได้ทำบุญบ้าง แต่เมื่อผู้ใหม่ติคนิสัยแล้วก็แกะไม่ออก เลยไม่รู้ว่าความหมายของพระพุทธศาสนานี้เป็นรสชาติอย่างไร เป็นเพียงลวงคนโงให้จมดิ่งลงไป หรือประการใดก็ทราบยากนัก แม้ตนเองก็จะพลอยจมดิ่งด้วย วัตถุนิยมที่ได้มาในทางปีนเกลียวของพุทธแท้ธรรมแท้ สงฆ์แท้นี้ ก็ส่อให้บรรดาปราชญ์ให้ธัมมวิจยะ สอดส่องว่า อ้า...พระพุทธศาสนาทรงศักดิ์ศรีสูงกว่าโลกเป็นไหนๆ ทำไมบรรดาท่านผู้ปฏิบัติรักษาพระพุทธศาสนาใจจึงไม่รักษาเกียรติไว้บ้าง ยอมตัวต่ำช้าหาเลี้ยงชีวิตปีนเกลียวธรรมวินัยของพระองค์ที่ทรงบัญญัติไว้จนดูไม่ได้เล่า ขอให้แดดลมเอ๋ยตอบเถิด

ด้านมรรค ผล นิพพาน ก็คงจะทรงพระนิพพานอยู่ตามเคย หาได้ยอมสละลงมาเล่นกับสนามบ้ากิเลสไม่ บ้ากิเลสก็คงไม่มีวันจะรู้ตัวรู้ใจรู้ธรรมได้ง่าย เคยเดินวนเวียนอยู่หรือวิ่งอยู่ตามถนนสายโลภ สายโกรธ สายหลง สอบได้ปริญญาเอกแบบได้คะแนนเต็ม ชั้นที่ ๑ เสมอ กิเลสชวนเขียนก็เป็นบ้าเขียน เมื่อรู้เท่าบ้าแล้ว บ้าก็คงละอายบ้างกระมัง พระบรมศาสดาเมื่อรู้เท่ามารแล้ว มารก็หายวับไป ณ ที่นั้น แต่เรารู้เท่าสัญญาความจำ ความจำก็คงเบาจากอุปาทานแล้ว อุปาทานไม่มีในปัจจุบันแล้ว อุปาทานในอดีต อนาคตก็ต้องหายไป ณ ที่นั้นเอง ที่นี้เองละนะอนิจจา และก็ว่าตามเป็นจริงแล้วเราจะยึดถืออะไรก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่ามันล่วงไปเองไม่จำเป็นเราจะไปสมมุติให้มันเกิดดับ มันเกิดดับเอง แต่มีหน้าที่รู้ตามเป็นจริงเท่านั้นเอง...

หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.พ. 2013, 14:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7836

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

นโม เม สัพพพุทธานัง
นโม เม สัพพสัจจธัมมานัง
นโม เม สัพพสังฆานัง


ขอนอบน้อมแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย พร้อมทั้งพระอริยสัจธรรม และพระอริยสงม์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้น ระลึกได้ไม่ระลึกได้ก็ดี ขอผูกขาดจองขาด เคารพนอบน้อมอยู่ในกาลทุกเมื่อ เอาเป็นที่พึ่งที่ระลึกที่ปฏิบัติบูชา เพื่อดับทุกข์ทั้งปวงโดยไม่เหลือในปัจจุบันชาตินี้เทอญ

ดูก่อนท่านผู้ใจสูงธรรมสูงทุกถ้วนหน้า แมลงภู่แมลงผึ้งไม่เบื่อหน่าย ร่าเริงบันเทิงใจในเกสรดอกไม้ฉันใด บรรดาท่านผู้ใจสูงธรรมสูง ก็ไม่เบื่อไม่หน่าย ย่อมร่าเริงบันเทิงใจบันเทิงธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ทรงพระมหากรุณาธิคุณ เปิดเผยไว้แล้ว

อนึ่ง อันว่า ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้นเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เลย เรื่องทุกข์จิตทุกข์ใจนานาอเนกเพิ่มเข้าอีกเล่า ก็ยิ่งเป็นเรื่องใหญ่โตขึ้นอีก หาประมาณไม่ได้

เมื่อยังไม่มีญาณอันถ่องแท้ว่าพ้นทุกข์ในสงสาร จะสำคัญตัวว่าเป็นสุขสักเพียงใดก็ตาม ก็เป็นเรื่องโกหกพกลมตนเองอยู่โดยตรงๆ แบบไม่รู้ตัวอีกด้วย มิหนำซ้ำเป็นวิชาทำตัวให้เป็นหมันอีกด้วย เพราะวันเวลาชีวาล่วงไปไม่กลับหลัง กรรมนิยมกรรมบันดาลผูกมัดรัดไว้ ให้กลายเป็นธรรมเมาธรรมมัวไป พระอรหันต์จำพวกเดียวเท่านั้น จะอยู่เหนือธรรมและผลของกรรมไปได้ เหลือนอกนั้นยังเป็นทาส อยู่ได้อำนาจกรรมและผลของกรรมทั้งนั้น แต่กรรมและผลของกรรมนั้น ว่าโดยย่อจำแนกออกเป็นสอง เป็นโลกิยกรรมหนึ่ง เป็นโลกุตรกรรมหนึ่ง โลกิยกรรมนั้นแบ่งออกเป็นหลายจำพวก เป็นพวกมนุษย์ก็มี เป็นสัตว์เดรัจฉานก็มี เป็นเปรตก็มี เป็นสัตว์นรกก็มี เป็นเทวดาก็มี เป็นพรหมก็มี สารพัดจะบรรยายให้จบได้เพราะมากมายนัก

ส่วนที่เป็นโลกุตรกรรมนั้น มีอยู่เจ็ดจำพวก นับแต่พระโสดาปัตติมรรคไป จนถึงพระอรหัตมรรค (เว้นพระอรหัตผลเสีย) เมื่ออยู่ใต้กรรมและผลของกรรมแล้ว ผู้ที่เชื่อกรรมและผลของกรรมลงได้สนิทแล้ว เรียกว่า ได้ทรัพย์ขุมต้น คือขุมศรัทธา เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว และก็จะรู้จักเลือกเฟ้นสิ่งที่ควรหรือไม่ควร เพราะได้ดวงตาดวงปัญญาดวงธรรมแล้ว ขุมทรัพย์ภายในขุมอื่นๆ ก็เปิดประตูรับไปในตัว

ศรัทธาที่ประกอบกับปัญญาสมดุล จึงเป็นอริยศรัทธาเบื้องต้น พรหมจรรย์ของพระพุทธศาสนา เป็นศรัทธาปัญญาที่บรรจงก้าวหน้าด้วยศรัทธาและปัญญาที่สมดุลกัน เพื่อหลุดเพื่อพ้นจากปัญหาโลภ ปัญหาโกรธ ปัญหาหลงของตนที่ดองสันดานมานมนาน ศรัทธาและปัญญาชั้นนี้ เป็นอาวุธพอที่จะต่อสู้กับความหลงชั้นกลางได้บ้างแล้ว ต้องเอาออกให้เสมอๆ ไป ความหลงนับวันจะตั้งอยู่ไม่ได้แล้ว


๏ มูลเหตุการเขียนประวัติ

ชีววิสัยที่นิยมใช้กันในโลกๆ ว่าเราๆ ท่านๆ เขาๆ เป็นต้น บัดนี้ได้ล่วงกาลผ่านเวลามาถึงเจ็ดสิบปีเข้าแล้ว ถอนตัวมาปฏิบัติฝ่ายธุดงควัตรตั้งแต่ ๒๔๘๘ จนถึงเวลาที่กำลังเขียนอยู่นี้ เป็นวันที่ลงมือเขียนวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ แล้ว พรรษา ๓๖ ย่าง ล่วงมาผ่านกองทุกข์มาน่าสังเวช เป็นเหตุให้นึกคำนึงถึงการเขียนชีวประวัติและก็มีพระภิกษุอินทร์ถวาย สนฺตุสฺสโก หาสมุดมาไว้ให้เขียนทั้งหลายๆ เล่ม พร้อมทั้งนิมนต์วิงวอนให้เขียนด้วย ที่เธอหาสมุดมาให้ ก็เป็นเวลาล่วงมาสองสามปีแล้ว และก็มีคุณเวินที่จำพรรษาอยู่ด้วยมาได้หลายปี ได้กล่าวว่า ท่านอาจารย์อินทรถวายมาเยี่ยมคราวใด ก็ได้ถามกระผมอยู่เสมอว่า องค์ท่านเขียนแล้วหรือยัง กระผมตอบว่ายังไม่ทันได้เอาใจใส่เขียน เมื่อเป็นดังนี้ เหตุผลในการเขียนก็จวนตัวผู้เขียนเข้ามา และคุณอินทรถวายเล่าก็ได้บวชอยู่กับเจ้าตัว ได้รับทุกข์ลำบากมาก ในยุคต้นของภูจ้อก้อมาติดๆ กันเก้าพรรษา และโยมบิดาโยมมารดาของเธอพร้อมทั้งวงศ์ตระกูลของเธอด้วย ก็ปฏิบัติใกล้ชิดกับภิกษุสามเณรฝ่ายปฏิบัติมานมนานด้วย นับแต่ยุคห้วยทราย หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นมาจนถึงปัจจุบันยุคภูจ้อก้อนี้ ถ้าไม่บรรยายมาบ้าง ก็คล้ายๆ กับว่าจะแอบได้แอบเสียในประวัติของตน ยกหางตนเองขึ้น เหมือนโคและกระบือถ่ายอุจจาระออก แต่ก็ต้องยอมเสียสละการติชมก่อน จึงจะลงมือเขียนได้ ถ้าหวังจะแบกการติชมไปพระนิพพานด้วย หลังก็จะหักตายเกิดคาโลกอยู่ ไปไม่ได้

การเขียนประวัติของตนเอง พร้อมทั้งเผ่าพงศ์วงศ์ตระกูลของตนที่ผ่านมาในสงสารเฉพาะปัจจุบันชาติ นับแต่รู้เดียงสามาคงไม่เหลือวิสัยอะไรนัก ทั้งจะได้เพิ่มธรรมสังเวชเข็ดหลาบในชาติๆ ภพๆ เพิ่มขึ้น พระบรมศาสดาระลึกชาติได้โดยไม่ยากตั้งล้านอสงไขย พระอรหันต์สาวกสาวิกาจำพวกบุพเพนิวาสก็ดี ก็ระลึกได้หลายๆ กัปหลายๆ กัลป์ เราเพียงแต่จะระลึกแต่รู้เดียงสามาจนถึงแก่ลักๆ ลั่นๆ บ้างก็ถือว่าเหลือวิสัยเสียแล้ว

อนึ่ง ท่านผู้อื่นเขียนประวัติของเรายอมถูกบ้างผิดบ้าง แต่ต้องผิดนั่นแหละเป็นส่วนมาก เพราะไม่ได้ติดตามกันอยู่ทุกอิริยาบถของกาย วาจา จิต เพราะสมัยนั้นๆ ยุคนั้นๆ เจตนาของจิตเจตสิกตั้งไว้อย่างไรบ้าง เป็นต้น ก็ไม่สามารถจะรู้ได้ เพราะไม่ใช่เจ้าของประวัติ เจ้าของประวัติเขียนเอง ก็รับผิดชอบได้สนิท มอบบาปบุญคุณโทษไว้กับเจ้าของประวัติซะ

๏ วงศ์ตระกูลฝ่ายบิดา

หันมาปรารภวงศ์ตระกูลฝ่ายบิดา เป็นคนชาวนา ปู่ทวด ย่าทวด ได้มรณะเสียแล้ว ส่วนปู่นั้น ชื่อปู่นามฮุง นามสกุลเสวตร์วงศ์ อยู่บ้านงอย อำเภอหมากแข้ง จังหวัดอุดรธานี มณฑลอุดร เพราะสมัยนั้นเป็นมณฑล แต่คุณปู่คงเกิดก่อนตั้งเมืองอุดรมานมนานแล้ว พี่ชายของคุณปู่ชื่อธรรมวงษ์ น้องชายของคุณปู่อีกคนชื่อ อั้ง น้องชายของคุณปู่อีกคนชื่อ เฒ่าขี้คุย แต่ชื่อจริงของท่านแท้ไม่รู้ได้ คุณย่าชื่ออะไรไม่ทราบได้ คุณย่ามรณะไป ข้าพเจ้ายังเล็กอยู่ วงศ์ตระกูลคุณย่าก็ไม่ชัดได้ และก็น่าเสียดายที่ไม่ได้เรียนถามบิตามารดาไว้ และก็ต้องยอมรับว่า โง่ๆ เง่าๆ ที่ล่วงไปแล้ว

คุณปู่คุณย่ามีบุตรร่วมกันสิบคน ชายห้า หญิงห้า

คนที่หนึ่ง คือนางอ่อนศรี มีลูกสามคน คุณป้าอ่อนศรีมีอายุยืนแปดสิบปี

คนที่สอง ชื่อนางคำมี มีบุตรสี่คน

คนที่สาม ชื่อนางเป้ มีบุตรห้าคน

คนที่สี่ เป็นโยมบิดาของข้าพเจ้า ชื่อว่า นายคูณ เสวตร์วงศ์ จารย์คูณก็ว่า ท่านมีบุตรแปดคน หญิงห้าคน ชายสามคน

คนที่หนึ่งชื่อว่า นายสิงห์ (ทิดสิงห์)

คนที่สองชื่อนางสีดา

คนที่สามชื่อนายทองดี (ทิดทองดี) ผู้ใหญ่บ้านทองดีก็ว่า

คนที่สี่ชื่อ นางบุญมี

คนที่ห้าชื่อ นางจันที

คนที่หกชื่อ นางแก้ว

คนที่เจ็ดชื่อ นางแหวน

คนที่แปดคือ ข้าพเจ้าผู้เขียนนี้เอง

แปลว่า ข้าพเจ้าเป็นลูกคนสุดท้องของมารดา ให้เข้าใจว่าลูกทั้งแปดคนนี้สี่ปีเป็นระยะๆ จึงเกิดร่วมกันคราวหนึ่ง แต่ปัจจุบันที่เขียนนี้ ยังมีชีวิตอยู่เพียงพี่สาวสองคนเท่านั้น คือพี่แก้วกับพี่แหวน แต่ก็ต่างคนก็ต่างแก่ตามธรรมชาติของธรรมฝ่ายสังขาร อายุขัยเทียบได้กับเวลาสายัณห์ตะวันเย็นริบหรี่ๆ ลงลับขอบภูเขาหรือขอบฟ้า ถ้าสติปัญญาไม่กล้าเหนือไปจากความที่ว่าหลงๆ ไหลๆ ต้องตายคาไตรเหตุแล

ลูกของคุณปู่ผู้อันดับห้าชื่อ นายบุญ กำนันบุญก็ว่า มีบุตรสี่คน

ลูกคุณปู่คนที่หกชื่อ นางลุน มีบุตรเจ็ดคน

ลูกของคุณปู่คนที่เจ็ดชื่อ นายปาน (กำนันปาน) มีลูกหนึ่งคน

ลูกของคุณปู่คนที่แปดชื่อ นายด้วง (ทิดด้วง) มีบุตรสามคน

ลูกของคุณปู่คนที่เก้าชื่อ นางแสง มีบุตรห้าคน

ลูกของคุณปู่คนที่สิบ คือ นายหล้า (ผู้ใหญ่บ้านหล้า) มีบุตรสี่คน

ที่ปรารภฝ่ายโยมของบิตามานี้ ถ้าจะบรรยายถึงลูกๆ หลานๆ เหลนๆ ของท่านให้ละเอียดแล้ว ก็จะไม่ได้จบสิ้นโดยง่าย แม้จะเป็นเชื้อสายวงศ์น้อย และวงศ์ใหญ่สักเพียงใดก็ตาม ก็ไม่พ้นแตกสลายตายไป เมื่อไม่พ้นจากกรรม ก็ต้องอยู่ใต้กรรมและผลของกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วทั้งนั้น เมื่อกิเลสยังไม่จบสิ้น ก็จะได้มาเที่ยวเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นญาติกัน ในทางกิเลสทั่วทั้งสรรพไตรโลกาอยู่นี้แล

ที่กล่าวมา ก็พอให้เป็นหลักสมดุลกับการเขียนประวัติบ้างเท่านั้น จะเอาอดีต อนาคต ปัจจุบันไปพระนิพพานด้วยย่อมเป็นไปไม่ได้ ที่มักอ้าง มักอาศัยปัจจุบันเป็นมรรคภาวนาเอาเป็นตัวศีล สมาธิ ปัญญา กลมกลืนกันทันเวลา ก็เพื่อมิให้สงสัยภาวนาเรียงแบบอยู่หนังสือภายนอก จะกลายเป็นงมปลานอกแหนอกอวน ชวนให้ส่งส่ายไปทางนอก จะไม่รู้จักวิธีเดินทางแห่งมรรคจิตมรรคใจ มรรคสติมรรคปัญญา จึงได้เอาจิตเอาธรรมพร้อมทั้งสติปัญญาในปัจจุบัน เป็นเรือเป็นแพแจวข้ามฟากความหลง เมื่อข้ามได้แล้วย่อมไม่ติดผู้รู้อยู่ ทั้งอดีต ทั้งอนาคต ทั้งปัจจุบันด้วย เพราะไม่ได้ไปปล้นจี้เอาอดีต เอาอนาคต เอาปัจจุบันมาเป็นตัวตนให้เป็นกังวล เพราะทอดอาลัยด้วยญาณอันถ่องแท้สลัดคืนแล้ว พร้อมทั้งถอนอาลัยอยู่ในตัว การทะเยอทะยานในอดีต อนาคต ปัจจุบัน ที่เรียกว่าตัณหา ก็ดับลงไป ขณะเดียวพร้อมๆ กันในตัว ไม่มีอันใดก่อนอันใดหลัง เหมือนพระอาทิตย์ส่องแสงจ้า มืดนั้นแลนาก็หายไปพลันทันกาล

ถ้าจะปรารภแต่พงศาคณาญาติ ไม่มีธรรมเป็นบทบาทมาว่าบ้าง ก็ดูว่าไปหน้าเดียวเตลิดเปิดเปิง ใจไม่บันเทิงเพราะเป็นเรื่องโลกๆ ท่านผู้มีปัญญามาอ่านพบเข้าก็จะหัวเราะเยาะ เรื่องการเขียนและการอ่านก็คงออกมาจากกายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขารทั้งนั้น พระนิพพานมิได้มาอ่านด้วย มิได้มาเขียนด้วยเพราะมิได้รับใช้สังขารใดๆ

ขออภัยท่านผู้อ่านมากๆ เรื่องวงศ์ตระกูลฝ่ายบิดา สำหรับโยมบิดาของข้าพเจ้า ท่านมรณะก่อนโยมมารดา ๓ ปีท่านเป็นโรคชราอายุย่างเข้า ๘๐ ปี ท่านไม่กระวนกระวายตอนหัวค่ำ ในวันนั้นลูกทั้งหลายล้อมท่านที่นอนป่วยอยู่ ท่านสั่งว่า อะไรๆ พ่อก็ได้สั่งไว้แล้ว ลูกๆ อย่าได้ทะเลาะกัน วันนี้เองคืนนี้เองอย่าพากันมารบกวนให้พ่อกินน้ำ พากันอยู่นิ่งๆ พ่อจะนอนภาวนา แล้วทายไว้แต่หัวค่ำว่า ส่องแสงเงินแสงทองในตอนเช้านี้พ่อจะตาย นี้หมายความว่า ทายแต่หัวค่ำคืนนั้น เพราะเหตุว่าพ่อรู้ในตัวของพ่อแล้ว ธรรมดาคนเราเมื่อเสลดขึ้นพันคอแล้วไม่มีกำลังขากออกก็ต้องตาย ลูกเอ๋ย ที่นี้ส่วนลูกทั้งหลายมีข้าพเจ้าเป็นหัวหน้าสมัยนั้น ข้าพเจ้ายังไม่ทันบวชมีครอบครัวอยู่ และในคืนวันนั้นเอง บิดานอนตะแคงข้างขวาไม่กระดิกตัวเลยตลอดรุ่ง พอถึงเวลาที่ท่านนั้นหมายท่านก็เงียบไปเลย ไม่กระดิกให้ปรากฏในส่วนกายอันใดเลยแม้แต่นิดเดียว ลูกทั้งหลายที่จ้องดูอยู่จนไม่เห็นพิรุธคล้ายคนหลับไปเลย ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ท่านได้ทราบข่าว ว่าน่าอัศจรรย์นัก

ข้อที่ควรเขียนพิเศษ ข้าพเจ้าเป็นลูกคนสุดท้อง ไม่เคยเห็นบิดาดื่มสุรา ไม่เคยเห็นเครื่องดักสัตว์น้ำสัตว์บกไว้ในตัวท่าน แต่เป็นคนไม่รวยและไม่ยอมเป็นหนี้ใคร ผู้ที่ท่านรวยๆ สมัยนั้น ธรรมดาคนบ้านนอกมีเงินเหรียญบาทในสมัยนั้นหนึ่งหมื่นบาท ก็เล่าลือว่าเป็นคนรวยที่สุดสมัยนั้น แต่สำหรับบิดาของข้าพเจ้ามีเงินเพียงร้อยบาทเท่านั้น แต่ชอบให้ทานที่สุด ผู้มีเงินหมื่นบริจาคทานห้าบาท บิดาของข้าพเจ้าขี้ทุกข์ๆ ก็ได้ทานห้าบาทด้วยเหมือนกัน ในครอบครัวของบิดาข้าพเจ้า ถ้าไม่ได้ใส่บาตรวันหนึ่งก็ทะเลาะกัน

๏ วงศ์ตระกูลฝ่ายมารดา

ย้อนมาปรารภเผ่าพงศ์วงศาของโยมมารดา ท่านเป็นคนอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เป็นคนชาวนาโต้งๆ แม้วงศ์ของโยมบิดาก็ดี มารดาก็ดี เป็นลาวละว้าอย่างเต็มภูมิ พูด (คำว่า) ยี่สิบ ไม่เป็น พูดเป็นแต่ ซาว (หมายความว่าในการนับ) แต่ตาทวดยายทวดนั้น ไม่รู้ประวัติเสียแล้ว เพราะมิได้เรียนถามท่านไว้ รู้จักแต่ชื่อคุณตาและคุณยายเท่านั้น โยมคุณตาชื่อวิเศษ โยมคุณยายชื่อตุ้ม แต่ไม่รู้จักนามสกุล โยมคุณตา โยมคุณยายมีบุตรด้วยกันหกคน

คนที่หนึ่งชื่อ นางหนู

คนที่สองชื่อ นางคำ

คนที่สามชื่อ นางแพง คือ โยมมารดาของข้าพเจ้า

คนที่สี่ชื่อ นางงวก

คนที่ห้าชื่อ นางข่า

คนที่หกคือ นางหล้า พอนางหล้าโตมาพอคลานเป็น คุณโยมยายก็มรณะไปเสียแล้ว ในขณะนั้นโยมป้าหนู ผู้เป็นลูกหัวปี ก็มีอายุราวสิบเก้าปี เมื่อโยมคุณตาทำฌาปนกิจ พร้อมทั้งทำบุญอุทิศถึงโยมคุณยายที่มรณะไป เสร็จสิ้นแล้ว จึงคำนึงว่าเราจะอยู่บ้านดู่โรงนานี้ต่อไป ก็ดูว่าอนาคตแผ่นดินจะคับแคบ และเวลานี้โจรผู้ร้ายก็ชุกชุม ในอนาคตเล่าก็จะชุกชุมหนักขึ้นอีก เราทราบอยู่แล้วว่าทางเหนือบ้านหมากแข้ง คือค่ายมีที่ดินกว้างขวางว่างเวิ้งมากมายนัก เราขายไร่นาเรือกสวนบ้านช่อง แล้ว พาลูกโยกย้ายขึ้นไปอยู่ เห็นจะเป็นการไม่ฝืดเคืองในอนาคตมากกระมัง

เมื่อโยมคุณตาตกลงใจดังนี้แล้ว ก็ขายของทอดเทแบบลดราคา พาลูกสาวทั้งหกคน หาบเอาของที่พอหาบได้ เดินด้วยฝีเท้า บ้านแตกสาแหรกขาด ผู้มรณะไปก็ยังไม่ทันนาน อนิจจตาธรรมตามนำทำให้วิโยค จิตใจโศกติดคล้อยละห้อยหวน มีแต่ทุกข์ทั้งมวลในสรรพไตรโลกา ผู้กำลังเขียนอยู่นี้นาเป็นบุตรหลานของท่าน อารมณ์อันน่าสังเวชมาผ่าน ก็ยิ่งปรากฏคุณบิดามารดา ปู่ย่า ตายาย มีพระคุณมากหลายอเนกอนันต์ เทียบกับพระคุณของพระอรหันต์ก็ได้ไม่ผิด พระบรมศาสดาเป็นพระมหาบัณฑิต ได้กล่าวไว้แล้ว ปลงใจเชื่อแล้ว พร้อมทั้งยกธงขาว ไม่มีวันจะกล่าวลบหลู่ดูแคลน ฝังใจลงแน่นเท่ากับภูเขาหลวง จนลุล่วงถึงซึ่งพระนิพพานไม่หวังเนิ่นนานในปัจจุบันชาติแล

หันมาต่อเรื่องโยมแม่กับโยมคุณตา พาครอบครัวโยกย้ายบ่ายหน้า ขึ้นมาทางเหนือด้วยฝีเท้า โยมป้าหนูผู้เกิดหัวปีหาบเอาของอันพอจะเอาได้ โยมป้าคำอุ้มเอาน้องผู้ชื่อว่าหล้าพอคลานเป็นนั้น ผลัดเปลี่ยนกันกับมารดาของข้าพเจ้าผู้ชื่อนางแพง ซึ่งขณะนั้นอายุราวสิบสองปีเท่านั้น สิบห้าคืนสิบห้าวันจึงถึงถิ่นอุดร ที่เรียกกันว่าค่ายหมากแข้ง (หมายเหตุ คำว่า ค่ายหมากแข้งนั้นเพราะสมัยนั้นยังไม่ทันใส่ชื่อจังหวัดอุดรธานี) ในสมัยนั้น อยู่ห่างจากอุดรปัจจุบันไปทางทิศเหนือประมาณสิบกว่ากิโลเมตร ก็เลยตั้งบ้านอยู่ที่นั้น ได้ชื่อว่าบ้านกุดสระ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานีจนบัดนี้

โยมคุณตาได้สงวนที่ดินไว้หลายร้อยไร่ และสงวนเลี้ยงโคและกระบือไว้เป็นจำนวนร้อยกว่าตัว วัดบัวบาน บ้านกุดสระอันสืบมาจนถึงทุกวันนี้ ก็เป็นที่ดินของโยมคุณตาทั้งนั้น โยมคุณตาเข้าใกล้ชิดวัดอย่างโชกโชนตลอดเกี่ยวกับปัจจัยสี่ บ้านของวงศ์ตระกูลนี้ก็อยู่รอบวัดทางทิศใต้และทิศตะวันตกของวัดเป็นส่วนมาก พอบ้านกุดสระนั้นเจริญขึ้น เพราะทยอยกันมาจากโคราช อำเภอปักธงชัยอีกก็มาก มาจากที่อื่นก็มี กลายเป็นตำบลมีหลังคาเรือนประมาณสองร้อยหลัง เจ้าอาวาสได้เป็นอุปัชฌาย์มีผู้เคารพนับถือโด่งดังในสมัยนั้น เป็นมหานิกาย นิยมเรียนมูลเดิมและเทศน์ใบลาน

ปรารภเรื่องติดต่อไปอีกว่า ลูกสาวของโยมคุณตาทั้งหกนี้ สมควรแก่เวลาอายุแต่ละรายของลูกสาวแล้ว ก็แต่งงานมีครอบครัวขึ้นที่บ้านกุดสระทุกๆ คน

เมื่อคิดดูแล้ววงศ์ตระกูลฝ่ายมารดาก็ดี ฝ่ายบิดาก็ดี ของข้าพเจ้าผู้เจ้าของประวัตินี้ ถ้านับทั้งลูกๆ หลานๆ เหลนๆ ของท่านทั้งหลายเหล่านั้นรวมกันเข้า ทั้งผู้ตายและผู้เหลือที่สืบไปเป็นทอดๆ แล้ว จะเป็นคนกี่ร้อยครอบครัว ถึงแม้ว่ามนุษย์ เทวดา มาร พรหม ตลอดถึงสิ่งที่เป็นรูปขันธ์ นามขันธ์ จะเกิดขึ้นแล้วแปรปรวนและดับไป ในสรรพไตรโลกธาตุก็จริง ถึงกระนั้น ก็ยังยัดเยียดเบียดเสียดกันอยู่ พร้อมทั้งสรรพกองทุกข์ด้านกิเลสภายในด้วย และ (ในสมัย) รัชกาลที่หกก็มีพลเมืองในประเทศไทยเราสิบสี่ล้านเศษเท่านั้น แต่ปัจจุบันที่กำลังเขียนอยู่นี้ สี่สิบล้านแล้วหรือไฉน

สังขารทั้งปวงที่มีใจครองและไม่มีใจครองก็ดี เกิดขึ้นอยู่ทุกกาล แปรปรวนอยู่ทุกกาล ดับไปทุกกาล

นอกจากสังขารไม่มีอันใดจะเกิดขึ้น นอกจากสังขารไม่มีอันใดจะแปรปรวน นอกจากสังขารไม่มีอันใดจะดับไป นอกจากสังขารไม่มีอันใดจะเป็นทุกข์

นอกจากทุกข์ก็ไม่มีอันใดจะเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ก็ไม่มีอันใดจะแปรปรวน และดับไป นอกจากอนิจจังก็ไม่มีอันใดจะเกิดขึ้นตั้งอยู่แปรปรวน และดับไป นอกจากอนิจจังก็ไม่มีอันใดจะเป็นอนิจจัง และก็ไม่มีอันใดจะเป็นทุกขัง นอกจากทุกข์ไม่มีอันใดจะตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ก็ไม่มีอันใดจะแปรปรวน นอกจากทุกข์ก็ไม่มีอันใดจะดับไป ทุกข์เท่านั้นแหละเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นแหละแปรปรวน ทุกข์เท่านั้นแหละดับไป

ทุกข์ก็ดี อนิจจังก็ดี ก็มีความหมายอันเดียวกัน จะปรารภอนิจจังโยงมาหาทุกขัง จะโยงทุกขังมาหาอนิจจัง กลับไปกลับมาก็มีความหมายอันเดียวกัน ถ้าเข้าใจว่าเป็นความหมายคนละอันแล้ว เรียกว่า หลงบัญญัติและปัญญาก็ยังไม่ชัดแจ้ง ไม่พ้นความสงสัยในอนิจจังและทุกขัง

ส่วนอนัตตาเป็นธรรมอันลุ่มลึกในพระพุทธศาสนามากมายนัก ถ้าขาดปัญญาญาณอันถ่องแท้แล้ว ก็มักจะยืนยันว่าสูญจนเลยเขตเลยแดนเลยเถิดไป เมื่อไม่รู้แจ้งชัดในอนัตตาแล้ว ไฉนจะไม่ติดอยู่ในอัตตาด้วย ไฉนจะไม่ติดอยู่ในอนัตตาด้วย นักภาวนาเกิดทุ่มเถียงเกี่ยงงอนกันในเรื่องอนัตตาจนหน้าดำหน้าแดง จนกลายเป็นสงครามกิเลสอนัตตาเป็นส่วนมาก อัตตา อนัตตา ไม่ใช่ไฟกิเลส ไม่ใช่ไฟทุกข์ ไม่มีพิษสงอันใด จริงตามสมมติ จริงตามปรมัตถ์เท่านั้น เพราะปรมัตถ์เป็นธรรมฝ่ายลุ่มลึกของความเป็นจริงอันลึกซึ้ง มีทั้งเกิดทั้งดับ และมีทั้งไม่เกิดไม่ดับรวมกันอยู่ ถ้าเทียบกับอาหาร ก็มีทั้งก้างและเนื้อและกระดูก รวมอยู่ในถ้วยหรือในชามหรือในหม้ออันเดียวกัน นักวิจัยไม่พิสูจน์ให้ชัดในกรรมฐาน ปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรมที่ตนตั้งไว้มั่นโดยเฉพาะ ย่อมถูกต้มโดยความหลงใหลของตนเองที่ดองอยู่ในขันธสันดานที่ล้อมรอบอยู่ในเมืองจิตใจ

๏ มรดกที่อยากได้

พลิกจิตตสังขารมาปรารภประวัติต่อไป ข้าพเจ้าเกิดวันที่ ๑๙ ปีกุน เดือนกุมภาพันธ์ ขึ้น ๓ ค่ำ วันจันทร์ เวลาตอนเช้า พ.ศ. ๒๔๕๔ นี่เป็นโยมมารดาบอกอย่างชัดแจ้ง ธรรมชาติของโยมมารดาข้าพเจ้ามีนิสัยชอบจดจำ ลูกทั้งแปดคนเกิดออกจากอุทร ท่านจำวันเกิดข้างขึ้นหรือข้างแรม เดือนปีได้ทุกๆ คน ไม่สุ่มเดาและไม่เก้อเขินเลย แปลกแต่ไม่รู้วันที่ คงจะเป็นเพราะท่านไม่รู้หนังสือ

ทีนี้บ้านที่ข้าพเจ้าเกิด บ้านกุดสระ หมู่ที่ ๒ ตำบลกุดสระ อำเภอหมากแข้ง จังหวัดอุดรธานี มณฑลอุดร (สมัยนั้นเป็นมณฑล) (แต่ไม่ตรงกับใบสุทธิเมื่ออุปสมบท เพราะเมื่ออุปสมบท เขียนหมู่ที่ตำบล อำเภอตามปัจจุบันที่อุปสมบท) แล้วก็วิทยฐานะ ป.๒ เท่านั้น อาชีพทำนาตลอดทั้งโคตร บิดานายคูณ นามสกุลเสวตร์วงศ์ มารดาชื่อนางแพง บ้าน อำเภอ จังหวัด มณฑล เขียนไว้แล้วในหน้านี้ เพราะเขียนลักลั่นสุ่มสี่สุ่มห้า นึกเห็นอันใดก็เขียนลงคดี ไม่เอาไปตรวจในสนามหลวง เอาคะแนนอันใดหรอก และคงไม่มีโทษ

ขณะที่มีอายุหกปี ได้ถามบิดาว่า “พ่อ บ้านของเรามีบุญหรือไม่”

พ่อตอบว่า “มี”

ถามต่อไปว่า “มันเป็นก้อนเหลืองๆ หรือพ่อ”

พ่อตอบว่า “เออ มันเป็นก้อนเหลืองๆ นั้นแหละลูก”

พ่อตอบลูกแล้วพ่อก็เลยยิ้มอยู่ และเวลาโอกาสได้ไปนา พี่สาวทั้งหลายก็ดำนาอยู่ ส่วนตนก็เล่นอยู่ตามนาที่คราดแล้วเตียนๆ ใกล้ๆ นั้น บิดาปรารภเย็นๆ ขึ้นพร้อมทั้งชี้มือว่า “นาตอนนี้จะให้ลูกคนนั้น คนนี้ ส่วนบักหล้าจะให้แถวนี้ไป”

ตอบพี่สาวและบิดาว่า “ไม่เอาหรอก”

พี่สาวพูดต่อไปว่า “ไม่เอา มึงจะไปเอาที่ไหน”

ตอบพี่สาวว่า “นั่นวัดข้า นั่นนาข้า”

แล้วชี้มาทางวัด เพราะวัดก็อยู่ใกล้นาบ้าง เมื่อบิดาได้ยินแล้วก็ยิ้ม และก็ได้เคยไปเล่นในวัดเป็นนิจในฤดูแล้ง เพราะบ้านอยู่ใกล้วัด ภิกษุหนุ่มสามเณรหนุ่มท่านชอบพูด ชอบถามด้วย เมื่อได้ยินท่านท่องหนังสือก็ดี เทศน์ตามใบลานก็ดี เป็นสำเนียงอีสานฟังแล้วจับใจ เนื้อความในการเทศน์ดังนี้

“เม มะยา ตนผู้ข้าชื่อว่าอานนท์ สุตัง สุตตะวา อันว่าสูตรอันนี้ ได้ฟังแล้วจากพระพุทธเจ้าแห่งเรา แท้ดีหลีแลนา” ดังนี้ เป็นต้น

๏ ความประทับใจในวัยเด็ก

พ.ศ. ๒๔๖๕ ก็ออกจากโรงเรียนได้เพียง ป.๒ เท่านั้น ในระหว่างอายุสิบสองปี ได้มีพระธุดงค์องค์หนึ่งได้มาพักอยู่ที่ตอนหัวนา บิดาก็ไปทำร้านถวายให้พัก ท่านจะพักที่นั้นเพียงหนึ่งสัปดาห์ พรรษาของท่านล่วงแล้ว ๗ พรรษา ชื่ออาจารย์คำภา อยู่บ้านโพนเลา อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี บิดาของท่านเคยเป็นสหายกับบิดาข้าพเจ้า และตัวของท่านก็เคยเป็นสหายกับพี่ชายของข้าพเจ้า ผู้ชื่อว่าทิดทองดี จึงเป็นที่คุ้นเคยเคารพนับถือกันมาแต่ยุคบิดาตลอดมาปัจจุบัน

เวลาที่พระธุดงค์พักอยู่ที่นั้น เมื่อเลิกจากโรงเรียนแล้ว บิดาข้าพเจ้าก็ให้ข้าพเจ้าไปรับต้มน้ำร้อนถวายท่าน ก่อนเก้านาฬิกาตอนเช้าก็เหมือนกัน ไปคอยรับให้ท่านเพื่อประเคนของ คนอายุ ๑๒ ปีรู้สึกสังเกตพระเป็นโดยไม่มีใครบอก เมื่อเห็นท่านมีอากัปกิริยาเรียบร้อย พร้อมทั้งฉันในบาตรรวมลงทั้งหมดทั้งหวานและคาว เอาข้าวและกับไว้ในบาตร พอดี เหลือไว้ในบาตรเพียงสองสามคำ แลไม่ฉันอืดอาดอยู่นานด้วย รีบล้างมือและปาก และล้างบาตรเช็ดเรียบเร็วพลันเรียบร้อยคล่องแคล่ว ไม่ปึงปังป๊กเป๊กอะไร ก็ยิ่งรู้สึกเลื่อมใส เคารพรักองค์ท่านมาก ผิวพรรณวรรณะของท่านก็ผ่องใสและเดี๋ยวนี้ก็ไม่จืดจางองค์ท่าน ระลึกเวลาใดก็ไม่จืดจาง คงไม่หนีจากรสเค็มคือเกลือ

บิดาของข้าพเจ้าย่อมไปนอนด้วยองค์ท่านทุกคืน ศึกษาธรรมะ ท่านเล่าให้บิดาฟังว่า เดินธุดงค์ไป ก้มหน้าทอดจักษุพอประมาณ ภาวนาพุทโธ ติดต่อไปพร้อมกับเดินไม่รู้ว่า ข้ามน้ำโขงแต่เมื่อไร เหลียวหลังคืนเห็นแม่น้ำโขงอยู่ข้างหลังข้ามมาแล้ว คำลับของท่านมิได้เล่าทั่วไป เล่าให้บิดาข้าพเจ้าฟังเท่านั้น

ท่านเล่าเรื่องถ้ำเอวมองที่ท่านไป ว่ามีสะพานหินข้ามเหวไปประมาณสองเส้น ส่วนเหวนั้นลึก มองลงไปใต้สะพาน เห็นซากพระและบาตรอยู่หลาย ๆ ซาก เพราะลื่นสะพานหินตกลง ส่วนท่านนั้นพลาดลงแบบเบาๆ แต่ตะครุบทันบาตรบุบบ้าง ไปด้วยกันห้าองค์ ไปลงท้องมรณะกลางทางก็มี ไปพลาดสะพานหินตกลงมรณะก็มี เหลือแต่ท่านองค์เดียวได้เข้าถึงถ้ำนั้น ถ้ำนั้นมีประตูหินปิดเป็นห้องๆ ไปเป็นระยะๆ ไป ห้องทีแรกมืด ภาวนาติดต่อพุทโธอยู่ไม่ขาด ปรากฏได้ยินเสียงเปิดประตูดังอี๊ดอ๊าดๆ ไม่ได้เดินเข้า นั่งขยับเข้าผ่านถ้ำ มืดแล้วก็สว่างตา มีเสือโคร่งอ้าปากใส่ เสือจริงไม่ใช่รูปหิน ทำท่าทางให้กลัวพิลึก พ้นห้องนั้นแล้ว ถึงห้องกองเงินกองทอง พ้นห้องนั้นไป ได้ยินแต่เสียงพูด ไม่เห็นตัว พูดเสียงเย็นๆ ไพเราะว่า “ลาสิกขาเสียเน้อ ไปมีเมียเสียเน้อ” เสียงหนึ่งพูดขัดกันมาทันทีแบบไพเราะเย็นๆ ว่า “ถ้าท่านลาสิกขา ก็เท่ากับว่าตายจากธรรมอันจะพึงได้พึงถึง ท่านอย่าลาเน้อ”

นี้แหละคนอายุสิบสองปีจำได้ เพราะบิดารับมาจากท่านแล้วเล่าให้ฟัง และท่านได้เล่าเรื่องท่านไปวิเวกดอยคิชฌกูฏอเนกปริยาย เพราะท่านไปถึง มูลค่าปัจจัยเงินเหรียญเขาถวายท่านหลายร้อยหลายพันระหว่างที่ท่านไปวิเวก แต่ท่านมิได้สะสม เกิดที่ใด สละไว้ที่นั้น

๏ บรรพชาและอุปสมบทครั้งแรก

ครั้นอายุล่วงเข้าสิบแปดปี ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรในวัดบัวบานบ้านกุดสระนั้น มีพระอุปัชฌาย์หนู ติสสเถโร เป็นเจ้าอาวาส มีอายุพรรษามาก เพราะอายุขัยของท่านก็แก่กว่าบิดามารดาของข้าพเจ้า เพราะท่านก็บวชแต่ยังหนุ่มแน่น และบิดามารดาเล่า ก็ดำริอยากให้ข้าพเจ้าบวช พร้อมทั้งเจ้าตัวก็ดี พระอุปัชฌาย์ก็ดี มีความเห็นตรงกันก่อนจะปรารภกันอยู่แล้ว ไม่มีสิ่งกินแหนงแคลงใจอันใด และอุปัชฌาย์ก็เปิดประตูทางกาย ทางวาจา ทางใจ ให้ปฏิบัติใกล้ชิด

พรรษาแรกเรียนหนังสือธรรมใบลาน พร้อมทั้งเรียนหนังสือสูตรสวดมนต์ไหว้พระเช้าเย็น เรียนสิบสองตำนานแบบพิสดาร พร้อมทั้งขัดตำนาน ธรรมจักร มหาสมัย อนัตตลักขณะ อาทิตตะ อนุโมทนาวิธี สวดแจง การเรียนก็ดี การท่องบ่นสาธยายก็ดี สมัยนั้นต่างก็ถือเอาเป็นจริงเป็นจังกันในสำนัก

พรรษาที่สองท่องนวโกวาทจบแต่ฤดูแล้ง แต่ที่จริงพรรษาที่สองแต่ฤดูฝนท่องหนังสือธรรมจักร มหาสมัย อนัตตะ อาทิตตะ จบแล้ว ครั้นถึงพรรษาที่สาม ออกพรรษาแล้วเดือนพฤศจิกายน ก็ลาสิกขาจากสามเณร คัดเลือกทหารเดือนเมษายน มารดาวิตกวิจารณ์เกรงจะถูกทหาร ก็พอดีคัดเลือกทหารได้ดีหนึ่ง แต่จับสลากไม่ถูก แปลว่าลาสิกขาจากสามเณรอยู่หกเดือนจึงคัดเลือกทหาร

พอเดือนพฤษภาคมในปีนั้นก็เข้าอุปสมบทเป็นพระในวัดเดิม อุปัชฌาย์เดิม สมัยนั้นใครลาสิกขาไปวันหนึ่งสองวันก็ตาม เมื่อกลับมาบวชใหม่ต้องได้เรียนนักธรรมชั้นเก่าของตน แม้จะสอบได้แล้วก็ตามให้สอบอีก ข้าพเจ้าก็สอบอีกได้คะแนนเทียบโท คราวนี้ได้สิบเอ็ด คำว่า แปลว่า ให้ถูก แปลว่าสอบนักธรรมตรีในสนามหลวงได้สองครั้ง ได้ใบประกาศสองใบ พอสอบนักธรรมแล้วไม่นาน ก็ได้ลาสิกขาจากพระภิกษุ

(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.พ. 2013, 14:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7836

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๏ ห้วงทุกข์แห่งฆราวาส

การลาจากเพศพระภิกษุไม่อยากจะลาเท่าใด แต่หมู่เพื่อนพาคะนองก็ลาไปตามเพื่อน พอลาสิกขาจากพระภิกษุได้หกเดือน ก็แต่งงานอยู่ด้วยกัน ปีหนึ่งก็เลิกกัน ได้บุตรคนหนึ่งเป็นเพศหญิง ห่างจากนั้นหนึ่งปีก็แต่งงานอีก ที่เขตเทศบาลชานเมืองอุดร คือบ้านเดื่อ ต.หนองบัว สถานีรถไฟหนองบัว

ห่างจากแต่งงานเก้าปี มีบุตรสามคน ผู้หัวปีเป็นชาย ผู้ที่สองเป็นหญิง ผู้ที่สามเป็นชาย แต่ผู้ที่เป็นหญิงนั้นพอได้สามปีก็ถึงแก่กรรมไป

ในปีครบที่เก้านั้นเอง ภรรยาป่วยอยู่สิบห้าวันก็ถึงแก่กรรมไป เสร็จฌาปนกิจแล้วก็พักอยู่อีกปีหนึ่ง มารดาของข้าพเจ้าก็มรณะไป อายุของท่านล่วงไป ๘๐ ปี แล้วก็มอบหมายลูกให้ป้าแก่น สามีชื่อคำภา ฝ่ายชาวนา

ป้าแก่นนั้นเป็นพี่สาวภรรยาของข้าพเจ้า ท่านเป็นหมันไม่มีบุตร ได้ลูกข้าพเจ้าทั้งสองคน คือเด็กชายเสาร์อายุแปดปี เด็กชายหลุย อายุสามปี พร้อมทั้งเรือกสวนไร่นา เรือนชานบ้านช่อง กระบือสามตัว สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เป็นมรดกของผู้ตายคือภรรยา ได้แบ่งกรรมสิทธิ์กันก่อนตายแล้ว แปลว่า ข้าพเจ้าไม่ได้ขวนขวายทำอะไร ในด้านยุ้งข้าวและเรือนชาน ตลอดถึงที่ดิน โค กระบือ มีแต่ตั้งหน้าทำนากินเท่านั้น เพราะมรดกเป็นของภรรยา ส่วนป้าแก่นอันเป็นพี่สาวของภรรยาผู้เป็นหมันนั้น มรดกก็ปันไว้ส่วนหนึ่งต่างหากไว้ก่อนน้องสาวมรณะแล้ว ส่วนน้องชายป้าแก่นสามคน พี่ชายป้าแก่นคนหนึ่งนั้น เขาก็แบ่งคนละส่วนๆ ไว้เรียบร้อยแต่ก่อนแล้ว ผู้ได้รับโชคก็ป้าแก่น คือได้หลานผู้ชายสองคน ทั้งมรดกของหลานก็ได้อยู่ในกำมือบริหารด้วย เพราะเป็นหมัน มีหน้าที่จะได้หาบุตรมาเลี้ยงอยู่ตรงๆ

แต่ข้าพเจ้าก็มีโชคทางบวช ตั้งแต่ทิ้งภรรยาคนก่อนก็นึกจะบวชอยู่แล้ว แม้บิดาก็แนะนำให้บวชอยู่แล้ว แต่คนถือมานะว่า เขาจะเย้ยว่าหาเมียไม่ได้แล้วหนีไปบวช เสียเปรียบเมียเก่า บิดาได้ฟังแล้วหัวเราะ มิหนำซ้ำขณะที่เมียผู้ที่สองนี้ยังไม่มีท้อง บิดาก็พูดทางลับคุมให้หนีไปบวชอยู่ เพราะบิดารักบวชยิ่งกว่าจะแต่งงานให้ลูกชายอยู่แต่ไรๆ มา และนิสัยของท่านไม่ยอมให้ท่านผู้อื่นบรรพชาหรืออุปสมบทให้ลูกของตนเลย คือฝ่ายบริขารจะบวช มิหนำซ้ำท่านคุยว่าลูกชายทั้งหมดจะพากันบวชจริง ปฏิบัติให้สมควรแก่พระจริงจะบวชจนวันตาย พ่อก็ยินดีส่งเสริมทุกเมื่อ ส่วนพวกเป็นเพศหญิงอันเป็นลูกๆ พ่อรับอาสาเลี้ยงเขาจนกว่าจะมีครอบครัวได้ แม่ของสูจะตายก่อนหรือหลังกู ก็พอมีฟืนไว้ให้เผาได้ ฟืนคือสตางค์ พ่อแม่เผ่าพงศ์วงศ์ตระกูลเป็นผู้มีสรณัง คัจฉามิ แห่งพุทธ ธรรม สงฆ์ เท่าที่ควร

๏ คืนสู่เพศพรหมจรรย์

ปรารภในเรื่องบวชต่อไป การบวชต้องบวชมหานิกายก่อน พระอุปัชฌาย์ที่บวชนั้น คือพระครูคูณ บ้านท่าตูม ได้นิมนต์ท่านมาบวชที่บ้านยาง บ้านยางนั้นมีหลวงพ่อทอง สุวัณณสโร เป็นเจ้าอาวาส และก็เป็นลูกศิษย์ของอุปัชฌาย์หนู บ้านกุดสระด้วย พระครูคูณก็เช่นกัน ได้นิมนต์ท่านอาจารย์เสาร์ บ้านดงลิง มาเป็นอนุสาวนาจารย์ หลวงพ่อทอง สุวัณณสโร เป็นกรรมวาจาจารย์ พระครูคูณเป็นอุปัชฌาย์

ไฉนจึงไม่ไปบวชธรรมยุตเล่า

ตอบว่า มารดากำลังชราภาพหนักเข้า เพราะที่นั้นอยู่ใกล้มารดา ไกลกันเพียงสองกิโลเท่านั้น จะได้เยือนมารดาสะดวกในทางธรรมะ และอุปัชฌาย์และอาจารย์สวดเล่า ก็ได้เคารพนับถือกันมานมนานพร้อมทั้งวงศ์วานด้วย และเมื่อองค์ท่านได้รับทราบข่าวว่าจะบวช องค์ท่านก็เปิดประตูทางกาย วาจา ใจ ด้วย และข้ามกรายไม่ได้ เพราะเกรงกระทบกระเทือน และองค์ท่านเล่าก็มีนิสัยใจคอกว้างขวางมากทุกๆ ด้าน

พ.ศ. ๒๔๘๖ นั้นเอง เป็นเดือนเมษายน พอบวชแล้วข้าพเจ้าก็ท่องหนังสือสูตรต่างๆ คืนมาได้หมดแต่พรรษาแรกตลอดทั้งนวโกวาทและธรรมวิภาค เล่ม ๑ เล่ม ๒ พร้อมทั้งเรียนนักธรรมโทต่อ ก็สอบนักธรรมโทได้ในปีนั้น

ครั้นพรรษาที่สอง ก็เรียนนักธรรมเอกต่อ สอบในสนามหลวงวัดโพธิสมภรณ์ อุดรฯ เพราะสมัยนั้น ทั้งธรรมยุต มหานิกายต้องไปสอบสนามหลวงวัดโพธิสมภรณ์แห่งเดียวกัน และข้าพเจ้าบวชมหานิกายคราวนี้ ได้ปฏิบัติข้อวัตรเคร่งขึ้นบ้างเฉพาะส่วนตัว พระอาจารย์เจ้าอาวาสก็ไม่ขัดข้อง คือฉันหนเดียว มื้อเดียว เอกาสนิกังคะ ไม่ฉันจิ๊บๆ แจ๊บๆ ตอนก่อนเที่ยงและเที่ยง เว้นไว้แต่เภสัชแก้โรค ฝ่ายขุดดินพรากของเขียวข้าพเจ้าก็งดเว้น มูลค่าข้าพเจ้าก็ไม่เก็บเองเพื่อสะสม มารดาก็มรณะในปีนั้น ท่านมีสติเงียบเรียบร้อย (คือตายคาภาวนาพุทโธ)

รูปภาพ
พระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พันธุโล)


๏ ไม่ไว้ใจในสังขารทั้งปวง

ฌาปนกิจศพมารดาเสร็จแล้ว ก็กราบลาอุปัชฌาย์อาจารย์สวด ไปหาท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) สมัยนั้นท่านเป็น พระเทพกวี ส่วนอุปัชฌาย์อาจารย์เดิมท่านก็ห้าม แสดงความอาลัยอเนกปริยาย จึงกราบเรียนท่านว่า “กระผมบวชเมื่อแก่ อายุขั้นสามสิบ ลูกตายเสีย เมียตายจาก ถ้าอยู่ใกล้บ้าน ไม่ได้ปฏิบัติสะดวก โลกจะกล่าวว่าบวชเลี้ยงชีวิต และการบวชคราวนี้ ก็เห็นภัยในสงสารอย่างเต็มที่ ไม่ไว้ใจในชีวิตเลย และไม่ไว้ใจในสังขารทั้งปวงด้วย อยากจะไปปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นทุกข์ในสงสารขอรับ”

ท่านฟังแล้วก็มีกิริยาสังเวช ก็เลยอนุญาต กราบลาท่านแล้ว ก็จัดแจงแต่งบริขารให้หลานชายคนหนึ่งชื่อบุญหลาย บุญมาตุ่น ซึ่งเป็นลูกชายของพี่สาวผู้ที่ชื่อว่านางแก้ว ตามไปส่งถึงวัดโพธิสมภรณ์ มหาสุพัฒน์ อันเป็นหลานของข้าพเจ้า ก็เป็นพระเลขาของท่านเจ้าคุณ พักอยู่ชั้นล่างกุฏิของท่านเจ้าคุณ แล้วก็ขึ้นไปกราบเท้าท่าน แล้วถวายหนังสือรับรองให้องค์ท่าน

หนังสือรับรองนั้น มหาเฉลิมหลานเขยที่เป็นครูสอนโรงเรียนอยู่บ้านยาง เขียนรับรองให้ และมหาเฉลิมก็เป็นพี่เขยมหาสุพัฒน์ เคยได้บวชกับท่านเจ้าคุณมานมนานในวัดโพธิสมภรณ์นั้นแล้ว ทั้งได้เป็นลูกศิษย์อยู่ใกล้ชิดท่านเจ้าคุณ ยุคก่อนมหาสุพัฒน์มา แล้วได้ลาสิกขา ไปสอนโรงเรียนฝ่ายโลก นับว่าเป็นโชคดีที่เหมาะสมทุกประการ แม้ท่านเจ้าคุณเทพกวีก็รู้จักเผ่าพงศ์วงศ์ตระกูลของข้าพเจ้าดีพอแล้ว เพราะเป็นตระกูลที่มีสัมมาอาชีพ องค์ท่านก็รับไว้แบบเบาใจเบาธรรม

เมื่อองค์ท่านเมตตารับแล้ว ก็ให้พักอยู่ชั้นล่างกับพระมหาสุพัฒน์นั้น ประมาณเจ็ดวัน องค์ท่านก็สั่งให้โยมวัดป่าหนองน้ำเค็มมารับเอาไปปฏิบัติ รอญัตติในวัดป่าโพธิ์ชัย บ้านหนองน้ำเค็มนั้น มีหลวงพ่อบุญมีเป็นเจ้าอาวาส ไกลจากวัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานีประมาณสิบสองกิโลเมตร เป็นตำบลเชียงยืน ขึ้นอำเภอเมืองอุดรฯ และวัดป่าโพธิ์ชัย หนองน้ำเค็มนั้น เป็นวัดที่เขาสร้างถวายพระอาจารย์ใหญ่มั่น ในคราวพระอาจารย์ใหญ่มั่นกลับจากเชียงใหม่มาอุดรฯ ที่ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์นิมนต์มาพักฤดูแล้ง พอถึงฤดูฝนปีนั้น หลวงปู่มั่นก็จำพรรษาที่วัดป่าโนนนิเวศน์ ชานเมืองอุดรฯ ทางทิศเหนือของเมืองอุดรฯ เป็นมงคลดี

จะกล่าวถึงหลวงพ่อบุญมี วัดป่าโพธิ์ชัย หนองน้ำเค็ม อำเภอเมืองไว้บ้าง ในส่วนปฏิปทาของท่าน ท่านก็ได้ศึกษาเรียนกับหลวงปู่มั่น ในคราวหลวงปู่มั่นพักอยู่วัดป่าหนองน้ำเค็มนั้น เป็นอย่างจริงจัง รู้จักและอ่านออกข้อวัตรทุกประการบ้างพอควรในการปฏิบัติของหลวงปู่มั่น และท่านก็เคารพรักหลวงปู่มั่นแบบไม่จืดจางได้

หลวงพ่อบุญมีปฏิบัติเคร่งครัดพอควร อายุ ๗๒ ปี พรรษาย่างเข้า ๑๘ พรรษา ท่านมีอุบายสั่งสอนเยือกเย็นแยบคายพอควร ด้วยให้หนักไปในการหลุดพ้นโดยด่วนในสังสารทุกข์ ไม่พาทำงานจุกๆ จิกๆ อะไร เพราะปัจจัยสี่ในสำนักพอเป็นพอไปได้แล้ว พาเร่งรัดความเพียรโชกโชน กลางวันไม่ให้หลับเคลิ้มเลย ทั้งตรงต่อเวลาด้วยตามกาลของข้อวัตร ตอนกลางคืนก็ให้หลับประมาณสามสี่ชั่วโมงเท่านั้น

๏ ญัตติธรรมยุต

ครั้นถึงเดือนกุมภาพันธ์ในฤดูแล้งปีนั้นเอง ท่านเจ้าคุณเทพกวี (จูม พันธุโล) ก็สั่งให้เข้าไปญัตติ พอได้เวลาจัดแจงบริขารเพิ่มพอเพียงแล้ว พร้อมทั้งญาติโยมและพระที่ไปด้วยสององค์ ก็พากันเดินด้วยฝีเท้าไปถึงวัดโพธิสมภรณ์ เมืองอุดรธานี ไปหาท่านที่กุฏิ กราบเท้าถวายนมัสการท่านว่า

“เกล้าต้องทำพิธีลาสิกขาออกจากมหานิกายก่อนหรือประการใดหนอ”

องค์ท่านกรุณาว่า “ไม่ต้องดอก เพราะเจ้าเป็นผู้ตั้งใจดูว่าดีแล้ว นุ่งเหลืองห่มเหลืองตามเดิมเข้าญัตติ มหาสุพัฒน์เอ๋ย เอามีดโกนมาเราจะโกนหัวให้เป็นพิธี ผมจะไม่ยาวพอโกนก็ตาม เราลงมือโกนให้เป็นสิริ”

เมื่อพิจารณาตามพระวินัยแล้ว องค์ท่านทำถูกมาก พระวินัยบอกไว้ว่า อุปัชฌาย์จะโกนหัวให้สัทธิวิหาริกก็ควร เพราะต่างฝ่ายจะได้เคารพรักกันเป็นอตีตารมณ์

ครั้นโกนผมแล้ว องค์ท่านก็ให้พระไปตีระฆังมารวมที่โบสถ์แล้วก็เข้าญัตติ มีพระครูธรรมธร เป็นกรรมวาจาจารย์ พอเสร็จแล้วองค์ท่านก็ออกใบสุทธิให้ เลขนับจำนวนใบสุทธิ ๑๓๑๘ วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๘ เวลา ๑๓ นาฬิกา ๑๕ นาที ส่วนใบสุทธิเดิมใช้ไม่ได้เพราะคนละสังกัด

เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็กราบเท้าลากลับวัดป่าโพธิ์ชัย หนองน้ำเค็มตามเดิม กลับถึงก็พอดีค่ำมืด แก้ปัญหาตอนนี้ได้แล้วรู้สึกเบาใจมากแล้วก็ต่อนิสัยกับหลวงพ่อบุญมีในวันนั้น ต่างก็ตั้งหน้าปฏิบัติไม่มีกังวลทางอื่นเลย

สมัยนั้นสถานที่วิเวกวังเวงดีนัก แต่มีงูกะปะมากเพราะเป็นดงป่าไม้ไร่บ้าง ต้นมะแหนบ้าง ต้นเอ็นหม่อนบ้าง พอถึงเวลาเข้าพรรษามีพระ ๕ รูป สามเณร ๓ รูปด้วยกัน มีการถือธุดงค์พอควร กลับถึงวัดแล้วไม่รับอาหารที่เป็นปัจฉาภัต หวานคาวรวมลงในบาตร องค์ไหนทำอาหารให้เหลือในบาตรในยามฉันอิ่มแล้วเท่าฟองไข่ไก่ ถือว่าไม่รู้จักประมาณในการเอาไว้ก่อนจะฉัน ไม่ถือว่าเป็นของลำบากด้วย ต่างก็รู้สึกสนุกใจด้วยการพอใจทำ เพราะมีแต่ท่านผู้ตั้งใจตามสมควรแท้

๏ การภาวนาพรรษาแรก

การภาวนาเฉพาะส่วนตัว ก็ได้กำหนดลมหายใจออกเข้าเป็นหลักเป็นส่วนมาก แท้จริงได้หัดทำแต่ยังอยู่เป็นฆราวาส คราวภรรยาตายแล้วเป็นต้นมา นิมิตเห็นแสงดาวและนิมิตก้อนเมฆที่ไหลผ่านแล้วแตกสลาย ได้น้อมลงสู่ไตรลักษณ์ เห็นประจักษ์แต่เป็นฆราวาสแล้ว

จิตที่รวมลงในอานาปาฯ ไม่ได้ยินเสียงใดๆ ตัดเสียงหมอลำที่เขาลำอยู่ในวัดที่กำลังเป็นพระมหานิกายอยู่ ก็ได้รู้จักรสชาติแล้วไม่สงสัย พอหมดกำลังก็ถอนออกมา ก็ได้คำนึงน้อมสู่ไตรลักษณ์แถมท้ายส่งเดช

ฉะนั้นการปฏิบัติมาแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน เดี๋ยวนี้ ท่านผู้ใดเล่าเรื่องนิมิตต่างๆ นานาสารพัดให้ฟัง ก็ฟังได้ แต่ไม่ตื่นเลย เพราะนิมิตทั้งหลายไม่ใช่พระนิพพาน เกิดขึ้นแล้วก็แปรปรวนแตกสลายเท่านั้น เพราะไม่พ้นกองพลของไตรลักษณ์ เพราะนิมิตกับกิเลสมันเป็นคนละรสละชาติ กิเลสต่างจากนิมิตไกลกันริบหรี่เลย

อยู่กับหลวงพ่อบุญมีนิมิตไม่มาก แต่ถึงกระนั้น เตียงที่นอนอยู่พาเหาะลอยไปในอากาศก็มี บางทีเหาะขึ้นไปบนอากาศแล้วตีลังกาพลิกคว่ำพลิกหงายโลดโผน เดินจงกรมในอากาศ นอนกลางอากาศเข้าสมาธิก็มี และในเวลาที่นอนขวางอยู่บนอากาศเช่นนั้น ตอบตนเองว่า “นี้สิจึงเป็นสมาธิ” เมื่อหมดกำลังก็ถอนออกมา เห็นลมเข้าออกตามเดิม

อุปจารสมาธินี้เป็นไปโลดโผนต่างๆ นานา กุศลสมาธิชั้นนี้อยู่ใต้อำนาจอนิจจัง ผู้มีปัญญาน้อมลงสู่ไตรลักษณ์ได้เร็วพลันทันเวลา เป็นทาง (ป้อง) กันความสำคัญตัวว่าประเสริฐได้ เป็นทางไม่ให้นอนใจ ติดอยู่เพียงแค่นั้น ผู้ขาดการศึกษา มักพาให้เพิ่มบ้า ว่าตนภาวนาเก่ง ใครเทศน์ก็ไม่ลง เพราะขาดปัญญาปลงลงสู่อนิจจัง เพราะธรรมอนิจจังเป็นศาลยุติธรรมตัดสินฝ่ายสังขารธรรมไม่ลงบัลลังก์อยู่ทุกกาล ปัญญาญาณต้องรู้ตามเป็นจริงส่งคืน ไม่มีหน้าที่จะต้องไปปล้นไปจี้ว่าเป็น เรา เขา สัตว์ บุคคลอะไร จะกลายเป็นหักดอกไม้บูชาอวิชชา ความมัวความเมาให้บวกทวีคูณทวีขึ้น

นักภาวนาชอบมาติดอยู่ชั้นนี้ แกะยาก จนกว่าจะเห็นคุณและโทษในชั้นนี้ด้วยตนเองชัดเจน แล้วจึงจะข้ามพ้นจากความเข้าใจผิดไปได้สะดวก

รูปภาพ
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต


๏ ไปหาหลวงปู่มั่น

เมื่อจำพรรษาครบไตรมาสแล้ว สิ้นกาลจีวรเดือนพฤศจิกายน ข้างแรม (แต่ปีนั้นได้รับกฐินอยู่) ก็ลาหลวงพ่อบุญมีไปหาหลวงปู่มั่น แต่การไปจะเที่ยววิเวกไปด้วยฝีเท้า ไม่ไปตามทางถนน เว้นไว้แต่บางบ้านบางถิ่นไม่มีทางลัด หลวงพ่อบุญมีก็ไม่รู้ว่าจะห้ามประการใด ญาติโยมก็เหมือนกัน แต่ต่างฝ่ายต่างก็อาลัยกัน ตามธรรมเนียมของความวิโยค

ในการไปครั้งนี้มีผู้ร่วมทาง ๔ รูปด้วยกัน เป็นสามเณรองค์หนึ่งอายุสิบห้าปี และตาปะขาวคนหนึ่งอายุราวห้าสิบปี มีพระอีกองค์

พอวันใหม่ ฉันเช้าเสร็จ ได้เวลาก็กราบลาหลวงพ่อและญาติโยมออกจากสถานที่ เดินทางไปทางทิศใต้ ภาวนาพุทโธพร้อมก้าวเดินและวิจารณ์ใน พุทโธ ว่า ไม่เกิดไม่ดับไปไหน เกิดดับ เป็นแต่จิตตสังขารที่บริกรรม ถ้าจะภาวนาพระคุณออกไปข้างนอกก็ไม่มีที่สิ้นสุดได้ เพราะมีมาก ถ้าจะภาวนาย่นเป็นสาม ก็พระวิสุทธิคุณ พระปัญญาธิคุณ พระมหากรุณาธิคุณ แต่ก็ใหญ่หลวงไม่มีประมาณอีก

ย่นลงในผู้รู้เล่า ก็ไม่มีประมาณอีก ย่นลงในเอกคุณในปัจจุบัน ก็เป็นเอกคุณในปัจจุบันอันใหญ่หลวงอีก และธรรมเล่า สงฆ์เล่าก็กลมกลืนกันอยู่ในตัวแล้ว เป็นเชือกสามเกลียว เป็นเพียงใช้อักษรย่อบริกรรมเท่านั้น เมื่อตกลงในใจได้ดังนี้ ก็พอใจบริกรรมพุทโธพร้อมก้าวที่เดินไป

ค่ำพอดีก็ถึงบ้านแม่นนท์ พักที่วัดโบราณเก่าร้าง เป็นเขตอำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรฯ มีต้นไม้เป็นธรรมชาติของป่าทึบ ไกลบ้าน เงียบสงัด มีโบสถ์ร้างผุพังลง กระจัดกระจายกว่าพันปี เขาบอกว่า “ผีดุมาก” แล้วก็พักอยู่ที่นั้นหนึ่งคืน ก็ไม่เห็นผีๆ ผาๆ อะไร ก็คงมีแต่ผีโลภ ผีโกรธ ผีหลงที่ดองสันดานตนอยู่ ยังไม่พ้นไปเท่านั้น

ครั้นบิณฑบาตฉันเช้าเสร็จก็เดินทางต่อไปทางทิศตะวันออกของบ้านนั้น ข้ามทางรถไฟตรงไปริมหนองหาน ผ่านบ้านกุดสระ บ้านพึก เมืองปัง บ้านเหล่านี้มีแต่ทุ่งโล่ง ถึงบ้านโพนทองค่ำพอดี

เวลาเดินทางก็ภาวนาพุทโธตามเคย ไม่จำเป็นไม่ได้พูดกัน พักที่นั้นหนึ่งคืน ฉันเสร็จเดินทางต่อ คำว่า “ฉันเสร็จ” นั้นพูดคำย่อ การบิณฑบาตเป็นวัตร และฉันในบาตรรวมภาชนะบาตรนั้นก็ดีและทั้งหวานคาวรวมนั้นก็ดี มื้อเดียวนั้นก็ดี ไม่ได้ลดละไปทางไหนได้ แม้บุหรี่ก็สมาทานไม่สูบแต่ต้นพรรษาแล้ว ใช้บริขารน้อย สะพายบ่าเดียว และเวลาเดินทางแต่ฉันเสร็จแล้วจนค่ำ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ไม่ดื่มน้ำ กระหายบ้างก็อดเอา เพราะเกรงเท้าแตกที่เรียกว่า ลงพื้น จนกลายเป็นโรคท้องผูกมาจนบัดนี้

วันนั้นเดินทางถึงตัวอำเภอหนองหาน พักหนึ่งคืนที่ศาลา บิณฑบาตฉันเสร็จ เดินทางต่อไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอหนองหาน มีแต่เนินสุดสายหูสายตา เงียบสงัด หมดวันก็ไม่เจอคนสักคนเลย ถึงบ้านคำตานา ค่ำพอดี ไปพักวัดร้างหนึ่งคืน เช้าได้เวลาฉันเสร็จเดินทางต่อ ข้ามบ้านตาด ถึงบ้านโพธิ์

ขณะที่เดินทางวันนี้เวลาเที่ยงแสกๆ กำลังเดินทางอยู่ นิ้วเท้าของข้าพเจ้าทางขาซ้ายนับจากแม่นิ้วมาเป็นนิ้วที่สอง ไปชนกับตอเล็กๆ ที่อยู่กลางทาง เล็บหลุดออกหมดเหลือแต่หนังนิดเดียวแขวนแกว่งอยู่

ได้กลั้นใจดึงออกทิ้ง เลือดไหลแดง จึงคว้ากำเอาหินทรายมาพอก ฉีกผ้าเช็ดเท้าที่พันกับตีนบาตรมาพันแล้วก็เดินไป ใจก็นึกสังเวชเรื่องที่ว่า ชาติๆ ภพๆ ในสงสารมาก

บ้านโพธิ์นี้น้ำจะดื่มจะสรงก็อดกันแท้ๆ คนจึงมักเป็นขี้กลากกัน และเรื่องที่เล็บหลุดออกมานั้น ก็เลยไม่งอกมาจนถึงทุกวันนี้ กลายเป็นอนุสรณ์ ให้เจ้าตัวได้คำนึงถึงอตีตารมณ์ที่ได้ผ่านทุกข์มาในสงสารอเนกปริยาย เมื่อเป็นดังนี้ ก็เป็นเหตุให้สิ้นความสงสัยในชาติก่อนๆ ว่าเป็นมาอย่างไร ตลอดจนถึงชาติอนาคตด้วย เพราะชาติปัจจุบันเป็นพยานเอกอยู่แล้ว จะไปหาพยานที่ไหนอีก

ต้องยอมจำนนยกธงขาวว่า ชาติทุกข์ เท่านั้น ชรา พยาธิ มรณะ ฯลฯ ไม่ว่าก็ได้ เพราะลงท้ายมีแต่ทุกข์ทั้งนั้น และก็เป็นจริงอย่างนั้น และก็มีรสชาติอย่างนั้น สัมผัสโทรเลขให้รู้อยู่ ส่วนใจจะโศกจะเศร้าหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสติปัญญาแต่ละรายของท่านผู้ปฏิบัติเป็นชั้นๆ ไป ไม่เสมอกันหมดได้ แต่เมื่อพ้นจากความหลงโดยสิ้นเชิงแล้ว รสชาติของความพ้นนั้นเสมอกัน ผิดกันแต่ฤทธิ์เดช ลาภ ยศ ทำนายทายทักที่เอาออกมาใช้กับบุคคลและสังคม เทวดา มาร พรหมเท่านั้น

ฉะนั้นพระนิพพานจึงไม่มีวิมานและรูปขันธ์ นามขันธ์ไปเสวยและไม่มีที่นั่ง ที่นอน ที่ยืน ที่เดินเป็นอันดับกัน จะมีอันดับกันก็แต่ขันธวิบากยังไม่นิพพานเท่านั้น ที่เรียกว่าสอุปาทิเสสนิพพาน เมื่อถึงอนุปาทิเสสนิพพานแล้วจะยืนยันว่ายังไงได้ เปลวไฟถูกกำลังลมพัดแล้วดับไป จะยืนยันว่า เปลวไฟไปตั้งอยู่ที่นั้นที่นี่ก็ไม่ได้ หรือยืนยันว่าสูญ สูญก็ไม่ได้อีก เพราะเปลวไฟไม่ได้สำคัญตัวอะไร ผู้ยืนยันสำคัญตัวต่างหาก เป็นธรรมอันลึกซึ้ง ปุถุชนจะเดาด้นคาดคะเนยาก

ครั้นพักอยู่บ้านโพธิ์ที่วัดร้างคืนหนึ่งแล้ว บิณฑบาตฉันเช้าเสร็จ ก็เดินทางต่อ มีแต่โคกเท่านั้น ค่ำพอดีก็ถึงบ้านดุง (อำเภอบ้านดุงปัจจุบันนี้เอง) พักหนึ่งคืน ตื่นเช้าบิณฑบาต ฉันเสร็จเดินทางต่อไป ผ่านบ้านกำแมด ถึงบ้านวังทองค่ำพอดี พักอยู่วัดร้าง บ้านนี้มีสัตว์ป่าชุกชุมเสือและงูเป็นต้น เพราะมีป่าทึบเป็นดงรอบบ้าน บ้านวังทองนี้สุดเขตอำเภอหนองหานไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเพียงเท่านั้น ต่อแดนกับอำเภอสว่างแดนดิน

ที่บ้านวังทองนั้น เขาวิงวอนและนิมนต์ให้พักอยู่นานบ้าง เพราะมีที่พักวิเวกเหมาะสมทุกประการ และชาวบ้านเขาเล่าให้ฟังว่า มีเสือโคร่งโลดโผนมาก พอตกกลางคืนเดือนหงายด้วยซ้ำ กระโดดข้ามรั้วเข้าคอกโคกระบือ เข้ามากัดโคและกระบือในคอกใกล้เรือนคนในบ้าน แล้วกระโดดออกวิ่งหนีไป

จึงปรึกษากันว่า “พวกเราเดินทางมาติดต่อจนค่ำ นับแต่จากที่จำพรรษามาจนบัดนี้เป็นเวลาหลายวัน ถึงแม้ว่าสนุกในการเดินภาวนาก็จริง แต่ร่างกายมิได้พักผ่อนพอควร เราต้องหยุดพักทำความเพียร เขาจะเล่าเรื่องเสือๆ สาๆ ก็ตาม บางทีเขาจะลองพวกเราว่าเป็นผู้ขลาดกลัวเกินไปหรือไม่ ก็อาจเป็นได้ และเขาก็ปวารณาว่าจะทำร้านให้พักองค์ละร้าน ที่ในป่าอันไกลบ้านพอควร ถ้าเราไม่พักให้เขา ก็จะเสียตระกูลปฏิบัติ”

เมื่อปรารภกันเห็นดีแล้ว ถึงวันใหม่เขาก็มาทำร้านให้ในดงอันใกล้ห้วยที่มีน้ำ มีต้นยางใหญ่ๆ ร่มครึ้ม เขามาทำให้หมด บ้านเสร็จในวันนั้น สูงห้าสิบเซ็นต์ กว้างยาวพอดีกับกลด และพอนอนสุดเท้า เอาไม้กลมเล็กมาเรียงกัน เอาตอกมัดท้ายหัวปูต่างฟาก ไม่ต้องกั้นและมุง เอากลดและมุ้งและร่มไม้ ขณะนั้นเป็นฤดูหนาว พอถึงตอนเช้ากลดก็เปียก มุ้งก็เปียก

พักทำความเพียรกันอยู่ที่นั้นประมาณยี่สิบวัน ก็สะดวกพอควรและไม่มีอันตรายใดๆ ด้วย เสือๆ สาๆ ไม่เห็นมีมา พบแต่งูกะปะบ้างเท่านั้น เห็นแต่เม่นตัวหนึ่งตอนกลางคืน มันเข้ามาหาที่ใกล้มุ้ง แล้วมันก็วิ่งหนีเสียงดังกริ่งๆ ไปทางอื่นเพราะขนของมันกระทบกัน ด้านจิตใจหนักเข้าหาธรรมติดต่อ

วันหนึ่งจึงปรึกษากันว่า “เรามาพักอยู่ที่นี้ ก็เป็นเวลา ๒๐ กว่าวันแล้ว พอคุ้มค่าเขาทำร้านให้แล้ว และจะจวนเวลาข้างหน้า การจะไปต่อไปครั้งนี้ ต้องแยกกันเป็นสองพวกจึงจะเหมาะดี เพราะการไปสำนักหลวงปู่มั่นคราวเดียวสี่คนนั้นไม่ถูกกับความประสงค์ของหลวงปู่มั่น เพราะเราหวังจะไปอยู่ด้วย ไม่ใช่ไปฟังเทศน์เฉย ๆ แล้วก็ลาไปทางอื่น หรือกลับ”

ปรารภแล้ว ก็เห็นดีกัน ไม่ขัดกัน ตาปะขาวตกลงจะไปกับพระทางหนึ่ง จะไปบ้านดงเย็น หาพระอาจารย์พรหม อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ส่วนเณรบุปผาจะไปกับข้าพเจ้า เพราะเณรได้สัญญาไว้แต่ต้นทางก่อนออกจากอุดรฯ ว่าถ้าไปถึงธาตุพนมแล้วจะกลับไปเรียนหนังสือนักธรรมวัดโพธิสมภรณ์ อุดรฯ

และเมื่อตกลงกันแล้ว ตื่นเช้าฉันเสร็จแล้ว ก็พากันลาญาติโยม โยมก็ไปส่งพอไม่หลงทางแล้วก็บอกให้กลับ ข้ามบ้านบ่อเมืองไพร เดินไปตามริมสายดง ค่ำพอดีก็ถึงวัดป่าบ้านโคกคอนเข้าไปกราบเจ้าอาวาสปราศรัยถามไถ่รู้ความประสงค์แล้วก็จัดแจงที่พัก

๏ การปวารณาปัจจัยสี่ตลอดชีวิต

ครั้นเป็นวันใหม่บิณฑบาต ฉันเสร็จก็กราบลาเดินทางผ่านดงบ้านโคกคอน พักวัดบ้านดงบังสักครู่ ลาจากนั้นก็เดินทางต่อ เดินทางก็คือเดินภาวนา มิได้คุยกันไปพลาง เว้นไว้แต่มีเหตุจำเป็น เดินตามทางคนบ้าง ทางเกวียนบ้าง ค่ำพอดีก็ถึงบ้านถ่อน พักวัดร้าง เช้าฉันเสร็จเดินทางต่อ ข้ามป่าบ้านถ่อน ค่ำพอดี ถึงบ้านหนองฮาง พักหนึ่งคืน ตื่นเช้าบิณฑบาต ฉันเสร็จเดินต่อ ข้ามบ้านตาลเดี่ยว ข้ามป่าไปอีกประมาณสองชั่วโมงก็ถึงอำเภอวานรนิวาส เป็นเวลาเที่ยงวัน หยุดพักพอหายเหนื่อย เดินทางต่อ ถึงบ้านกุดเรือพอดีค่ำสี่โมงเย็น

โยมพอแลเห็น รีบมารับบาตรและกลด แล้วพาไปพักวัดป่าบ้านเขา วัดนั้นไม่มีพระ เพราะท่านไปวิเวกทางอื่นกันหมด แล้วโยมเขารับต้มน้ำซักผ้าให้ เขาต้มเองซักเอง เขาว่าเขาเคยแล้ว เขาเป็นเองมิได้บอก เขารู้จักปวารณาปัจจัยสี่ตลอดชีวิต จะอยู่ทิศไหนก็ตาม ถ้าต่างฝ่ายต่างมีชีวิตอยู่ ขอให้มีหนังสือมาบอกขอได้ เว้นไว้แต่สิ่งที่เหลือวิสัยก็จะได้กราบเรียนขอยอม

จึงตอบเขาว่า “พวกท่านเป็นพุทธมามกะเต็มภูมิแล้ว อาตมาขออวยพรให้ภิญโญยิ่งจนถึงที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด เวลานี้บริขารทุกๆ ประการก็บริบูรณ์อยู่ แต่มีความต้องการด้ายเย็บผ้าประมาณสองวา บางทีผ้าขาดค่ำคืนจะได้ชุนและปะทาบ และอีกก็เกลือและพริกขอให้ตำใส่กันให้ละเอียดทั้งเกลือและพริกปนกัน แล้วให้ได้ประมาณสี่ห้าช้อนโต๊ะ หากระบอกไม้ไผ่มาใส่เป็นยาปรมัตถ์ เดินทางไกลจะได้ฉันกับมะขามป้อมและสมอเป็นยาช่วยระบาย เพราะเดินทางวันยังค่ำ ติดต่อจากอุดรฯ มา ท้องผูกไม่ถ่ายได้หกเจ็ดวันนี้แล้วโยม เอ๋ย”

เขาฟังแล้วทำท่าปลงธรรมสังเวช แล้วเขาตอบว่า “เรื่องนิดเดียวขอรับ ไม่เป็นของลำบากแก่ผู้จัดถวาย จะต้องการมากกว่านั้นก็ได้ขอรับ”

ตอบ “เอาไปมากก็หนักและเกินงามของผู้เดินด้วยฝีเท้า เพราะหนทางเล่าก็เดินลัดป่าลัดดงลัดโคก เพียงสี่ห้าช้อนโต๊ะนั้นก็ใช้ได้นานแล้ว เพราะมีสององค์”

ตกลงพักอยู่ที่วัดป่านั้นสามคืน บ้านนั้น สังเกตดูตามธรรมแล้ว สนใจทางปฏิบัติธรรมกันมาก ทั้งผู้เฒ่า ผู้แก่ รุ่นหนุ่มปานกลางมีผิวพรรณผุดผ่องหน้าตาคมคาย มีกิริยามารยาทสุภาพ พากันมารักษาศีลภาวนาตามร่มไม้เต็งรังในวัดเป็นทิวแถว

๗ ค่ำ ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ แม้ว่าจะไม่มีพระก็ตาม ก็พากันมาอย่างนั้น สงบไม่เกรียวกราวอึงคะนึงอันใดเลย เวลาไปบิณฑบาตเขามายืนรวมกันแห่งเดียวที่กลางบ้าน เรียงตัวกันเป็นแถว ประมาณห้าสิบคน และบ้านก็มีหลังคาเรือนประมาณห้าสิบหลังคา อาหารหมกห่อใส่บาตรเรียบ และการนิมนต์ของเขาก็ฉลาดมาก เขาพูดว่า

“การที่พระคุณเจ้าพาสามเณรมาผ่านพักที่บ้านและวัดป่าของพวกข้าพเจ้าโดยมิได้นัดหมาย เป็นของทิพย์มาเองโดยสุภาพ นับว่าเป็นบุญอันล้นเหถือแล้วละ แต่ความประสงค์ของพระคุณเจ้าจะต่อไปในทิศใดๆ ก็ยังไม่ทราบได้ ถ้าหากว่าต้องการพักปฏิบัติอยู่นี้จนกระทั่งพวกกระผมสิ้นลมปราณจนตราบใดๆ ก็ดี พวกกระผมก็จะตั้งใจปฏิบัติตามสติกำลังอยู่ตราบนั้น หรือหากว่าจะพักอยู่ต่ำกว่านั้นลงมา ก็มอบให้เป็นสิทธิของพระคุณเจ้า แต่ถ้าจะไปวันไหน เดือนไหน ปีไหน ก็จะตามส่งตามสติกำลังไม่ทอดธุระ ทั้งนี้จะอยู่และจะไป ขอให้พระคุณเจ้าเป็นหัวหน้าในทางที่เป็นธรรมอันสะดวกต่อข้อวัตรปฏิบัติของพระคุณเจ้าเท่านั้นเป็นเกณฑ์ พวกกระผมมีหน้าที่จะปฏิบัติตาม ไม่แซงออกหน้า”

อาๆๆๆ ข้าพเจ้าเกิดมา เที่ยวมาเกือบสามสิบจังหวัดแล้ว พร้อมทั้งปัจจุบันที่กำลังเขียนอยู่นี้เอง ยังไม่เคยได้ยินญาติโยมกลุ่มใด พวกใด พรรคใด บุคคลใด ปรารภคำอย่างนี้กับพระเลย หายากในตลาดโลกแล้ว ข้าพเจ้าก้มคำนึงแล้วหาอุบายถามเขาว่า

“พระอาจารย์องค์ใดหนอแลที่ได้สั่งสอนบอกญาติโยมในวัดป่าบ้านนี้ ให้พวกญาติโยมได้แยบคายในธรรมพอควร”

เขาตอบว่า “พระอาจารย์บุญมี น.ธ.เอก บ้านทรายมูล ยโสธร เวลานี้ท่านกำลังไปเยี่ยมบ้าน พระลูกศิษย์และสามเณรก็ตามไปด้วย”

เห็นญาติโยมบ้านกุดเรือนี้ เขาปวารณาปัจจัยสี่ถึงพริกถึงขิงแล้ว ก็ยิ่งเกรงใจเขามากจนถึงบัดเดี๋ยวนี้ ก็ไม่ได้ขออะไรๆ ต่อเขาเลย และมิได้ติดต่อเขาอีกเลย ใครตายใครยัง (อยู่) ก็ไม่ได้ทราบข่าวกันเลย ชะรอยจะได้เคยร่วมบารมีกับเขาเพียงนั้นมาในภพก่อนๆ ก็อาจเป็นได้ เพราะสังขารไม่แน่นอนในกรณีใดๆ

(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.พ. 2013, 14:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7836

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร


๏ โอวาทท่านอาจารย์สีลา

เมื่อพักอยู่สามคืนแล้วก็ลาไป มีชายสองคนตามไปส่งประมาณสี่ห้าเส้นพอที่จะไม่หลง ก็ให้เขากลับ เพราะไม่ถนัดภาวนา เดินข้ามโคกใหญ่โคกโต จึงถึงบ้านวา เป็นเวลาบ่ายประมาณสามโมงเย็น ไปพักวัดป่าท่านอาจารย์สีลา ทั้งพระทั้งเณรอยู่นั้นประมาณสิบรูป วางบริขารไว้ที่ควรแล้ว นมัสการกราบท่าน องค์ท่านทักทายปราศรัยเยือกเย็น แล้วขอโอกาสองค์ท่าน จะเอาใบสุทธิของตน จะค้นเอาในบาตรมาถวายองค์ท่าน เพราะใบสุทธิเอาไว้ในบาตร

ท่านพูดว่า “อย่าเลยท่านเอ๋ยไม่ต้องดอก ผมดูแพล็บเดียวก็รู้ได้ นั่นรองเท้าของท่านขาดบ้างแล้วจงตัดกับหมู่ชะ”

กราบเรียนว่า “กระผมยังไม่ทันตัดดอก เพราะยังเดินทางอยู่ และการเดินทางบางทีมันดังกั๊บๆ กระผมก็ถือเอาไม่ใส่เลย ทางเส้นไหนรกมากจึงใส่”

ท่านบอกสองสามครั้งติดๆ กัน คงจะให้จริง ไม่พูดเปรยๆ เป็นพิธี แต่ไม่ตกลงเอาแล้ว ท่านถามต่อไปว่า “ท่านตั้งใจจะไปไหน”

เรียนตอบว่า “จะไปธาตุพนมแล้วจะฝากเณรกับพวกอุดรฯ ที่ไปไหว้พระธาตุ คืนอุดร แล้วกระผมจะไปถ้ำพระเวสองค์เดียวพอสมควรแล้ว จะเดินล่องเขาภูพาน โค้งไปหาพระอาจารย์ใหญ่มั่น แล้วจะมอบกายถวายตัวอยู่กับองค์ท่าน ยอมเป็นยอมตายให้องค์ท่านดุด่าว่าเข่นครับ”

ถาม “ทำไมจึงไปธาตุพนมโค้งนัก มาจากอุดรฯ ก็ต้องตรงมา อ.หนองหาน ทางหลวง อ.สว่างฯ อ.พรรณาฯ อ.เมืองสกล อ.นาแก อ.ธาตุพนม”

ตอบ “เพราะตั้งใจจะวิเวกไปด้วย เพราะไม่ด่วน ต่างสอบดูวิเวกของป่าในสังคมแต่ละบ้านด้วย จะได้สำเหนียกในอนาคตคืนหลังว่าที่ผ่านมาในอดีตว่าบ้านใดบ้าง บุคคลและสถานจะเป็นที่สะดวกในการบำเพ็ญ”

องค์ท่านกล่าวว่า “เออ ก็พอฟังได้ แต่ถ้ำพระเวสนั้นนา ท่านเอ๋ย คือถ้ำกายของเรานี้เอง อันมีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ ท่านจงทำความเพียรอยู่ถ้ำนี้ให้มั่น คงจะพบพระอาจารย์มั่นอยู่ในถ้ำนี้” นิสัยวาสนาองค์ท่านกล่าวเยือกเย็นถึงจิตถึงใจ

ตอบ “กระผมไม่มีข้อแซงในส่วนนี้ เมื่อกระผมมานึก ๆ แล้วเมื่อพระอาจารย์มั่นยังมีชีวิตอยู่ในประเทศไทย ผู้ปฏิบัติกรรมฐานที่เป็นฝ่ายธรรมยุตก็มีชีวิตทันองค์ท่านอยู่ แต่ไม่ยอมตัวเข้าไปปฏิบัติศึกษากับองค์ท่าน ทั้งๆ ที่ยังไม่เห็นองค์ท่านสักทีด้วย ก็คล้ายกับว่าไร้วาสนาในส่วนนี้ ส่วนผู้ที่ออกปฏิบัติภายหลังองค์ท่านมรณธรรมไปก่อนก็มอบให้เป็นการจนใจไป แม้พระอาจารย์ที่เทศน์อยู่เดี๋ยวนี้ก็ได้ไปศึกษากับองค์พระอาจารย์มั่นแล้ว จึงได้สิ้นกังวลในส่วนนี้ กระผมมีความเห็นอย่างนี้จะเป็นประการใดหนอ ขอรับ”

องค์ท่านก็เลยยิ้มไม่ว่ายังไง

ครั้นตื่นเช้าบิณฑบาตฉันเสร็จ เก็บของมอบเสนาสนะแล้วก็ไปกราบลาองค์ท่าน องค์ท่านก็ให้สามเณรองค์หนึ่งไปส่งบอกทางเพราะเป็นทุ่งโล่ง ไปส่งประมาณหนึ่งกิโลเมตร เพราะมีทางซ้อนหลายเส้นพอจะไม่หลงแล้วก็กลับวัด ก็ตั้งหน้าออกเดินตามเคย

เวลาเดินภาวนาพุทโธเป็นหลัก ติดต่อไม่ขาด พร้อมกับขาก้าวออกเดิน เพราะตีความหมายในพุทโธแยบคายว่า ธรรม สงฆ์ ก็รวมอยู่ในนั้นแล้ว พุทโธเป็นเพียงอักษรย่อเฉยๆ เปรียบเหมือนเชือกสามเกลียวและเป็นอนันตมหาอนันตคุณอันไม่เกิดไม่ดับอีกด้วย ทั้งไม่มีประมาณอีกด้วย จะเกิดดับก็แต่เจตสิกผู้บริกรรมขาดๆ วิ่นๆ ไม่ติดต่อเท่านั้น

พระมหาอนันตคุณของพุทโธมิได้เกิดมิได้ดับไปไหนเลยนา แม้จะย่นลงมาในปัจจุบันคุณก็ตาม ก็เป็นปัจจุบันคุณอันใหญ่หลวงหาประมาณมิได้ หรือจะย่นลงมาในพระวิสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ พระมหากรุณาคุณก็ดี ไม่มีประมาณอีก หรือจะย่นลงในผู้รู้ปัจจุบันก็ดีก็ไม่มีประมาณอีก หรือจะย่นลงในเอกคุณในปัจจุบัน ก็เป็นเอกคุณอันใหญ่หลวงไม่มีประมาณ

ทีนี้จะโอนพระคุณขึ้นถึงคุณพระนิพพานก็ได้ไม่ผิด เพราะเป็นพระมหาอนันตคุณอันไม่เกิดไม่ดับไปไหน ผู้มีสายตายาวก็มองได้ไกล ผู้มีสายตาสั้นก็มองได้ใกล้ ผู้มีเชือกยาวก็ขึงได้ไกล ผู้มีเชือกสั้นก็ขึงได้ใกล้ กำลังกายก็ดี กำลังใจ กำลังปัญญาก็ดี ไม่อยู่ระดับเดียวกันผูกขาด และไม่มีใครจะจับจองเหมาขาดตัวไว้ในวงแขนแต่ตนผู้เดียวได้ นักสติ นักปัญญา มีอิสระจะรู้ได้ทั้งนั้น แต่รู้ดีปฏิบัติดีไปทางโลกุตตระจึงเป็นที่สรรเสริญของพระอริยเจ้า เพราะทรัพย์สินใดๆ ในโลกาไม่เท่าทรัพย์และศีลทางโลกุตตระ แต่ผู้มีใจสูงธรรมสูงจึงจะพลอยยินดีเลื่อมใสได้ ผู้มีใจต่ำธรรมต่ำ กรรมและผลของกรรมต่ำผูกมัดรัดรึงไว้ก็จำเป็นอยู่นั่นเองป่าเปลี่ยวอันตราย

๏ จงตั้งใจภาวนา

กล่าวเรื่องเดินทางต่อไป ออกจากวัดป่าบ้านวาถึงวัดป่าศรีเวินชัยพอดี พักอยู่สองคืน หรือเรียกว่าถึงสามผงแล้วก็ได้ ฉันเช้าเสร็จเดินทางต่อถึงบ้านดงน้อย เข้าพักวัดป่าบ้านนั้น ไปเจอเขากำลังทำบุญบ้านบุญเรือนเขา มีพระอาจารย์บุญมา สามผง เป็นประธานในการบุญของเขานั้นและมีมหาอาบ เจ็ดประโยค ก็พักอยู่ที่นั้น ท่านมาจากกรุงเทพฯ มาเยี่ยมบ้าน

ข้าพเจ้าพักบาตรบริขารไว้ศาลา แล้วพาสามเณรเข้าไปกราบพระอาจารย์บุญมา ท่านถามข่าวคราวความประสงค์กว้างขวางเยือกเย็น พร้อมทั้งเปิดประตูทางกาย ทางวาจา ทางใจทุกๆ ประการ

องค์ท่านกล่าวว่า “ต่อไปนี้บ้านห่างนัก เป็นป่าสัตว์ร้ายทั้งนั้น กลางวันแสกๆ เขาไปเกี่ยวหญ้าเจ็ดคนด้วยกัน เกี่ยวหญ้าอยู่ใกล้ๆ กันด้วยซ้ำนะ เสือมันเอาไปกินอย่างผึ่งผาย ตะครุบได้แล้วมันตีใส่ดินตูมเดียวตายเลย คาบเดินไปอย่างผึ่งผายไม่สะทกสะท้านเลย จะทำอะไรมันก็ไม่ได้ นี้หัวกวางสดๆ อยู่นี่ ผมเอามาจากบ้านคำนกกก มันกินวันนี้แหละ ผมเอามาเพื่อเอาเขามัน

นอกจากนี้ยังมีกระบือฝูงใหญ่ประมาณร้อยกว่า มันเป็นกระบือที่เขาไม่ได้ต้อนเข้าคอกได้หลายปี ดุมาก แม้เจ้าของ มันก็ไล่ชนไล่เหยียบ ถ้ามีต้นไม้อยู่ใกล้ก็พอได้ขึ้น ถ้าไปเจอในระหว่างต้นไม้ห่าง หรือมีต้นไม้แต่เป็นต้นไม้ใหญ่เกินไปกอดไม่หุ้ม และไม่มีกิ่งพอที่จะเหนี่ยวขึ้นไปได้ก็ดี หรือขึ้นไม่ทันก็ดี ก็อยู่ในเกณฑ์ตาย เพราะมันหลายตัว รุมหน้ารุมหลังนะท่าน ไม่ใช่ผมขู่ขวัญให้กลัว มันเป็นความจริงนะ

ผมว่าท่านและสามเณรจงพักอยู่ที่นี่สักสามคืนก่อน อย่าด่วนไป ผมจะให้โยมตามส่ง ช่วยงานสวดมนต์เย็นในบ้านกับผมด้วย เพราะพระก็เหลือน้อยแล้ว ถ้าท่านจะไปด่วนๆ จะหลงทางเพราะมีแต่ดง ทางปีกหน้าปีกหลังสับสนอลหม่านมาก เกรงจะอันตรายมาก”


ก็ตกลงพักอยู่กับองค์ท่านสามคืน แท้จริงวัดป่าบ้านดงน้อยนั้นมีหลวงพ่อรอดอยู่องค์เดียว เขานิมนต์พระอาจารย์บุญมา มาพักวัดป่าบ้านเขาทำบุญเฉยๆ พอครบสามวันแล้วก็กราบลาองค์ท่านและหลวงพ่อรอด องค์ท่านจะให้โยมตามส่งไปทางบ้านคำนกกก

กราบเรียนองค์ท่านว่า “จากนี้ไปไกลขนาดใดหนอขอรับ”

“เออ ก็ค่ำพอดี เพราะผมจะส่งลงเรือล่องไปจนถึงธาตุพนม”

ก้มหน้าลง ยกมือกราบเรียนว่า “กระผมมา ไม่ได้เหตุไม่ได้ผลอะไร มาให้พระอาจารย์ยุ่งยากด้วย น่าละอายเทวดามากขอรับ และกระผมเริ่มออกจากอุดรฯ มาก็ได้ตั้งใจไว้ว่าจะเดินด้วยฝีเท้าไม่ขึ้นรถเรือใดๆ ถ้าคำตั้งใจนี้ล้มเหลวก็เกรงว่าจะไม่ปลอดภัยแก่กระผมในอนาคต จะอย่างไรก็ฝากฝังชีวิตกับพุทธ ธรรม สงฆ์ผูกขาดจองขาด เลือดทุกหยดจะถวายบูชาต่อพุทธ ธรรม สงฆ์ ทุกเมื่อนั่นแหละขอรับ คงจะไม่เป็นวาจามุทะลุหรือประการใด”

องค์ท่านพูดกับพระและโยมเบาๆ ว่า

“เออ จิตเป็นไปในพุทธ ธรรม สงฆ์แล้ว โสเป็นโสตายอาจหาญ คนอายุสามสิบกว่าอาจหาญพอได้ แต่ก็คงเป็นเฉพาะบุคคล”

ว่าแล้วองค์ท่านกล่าวขึ้นอีกว่า “ถ้าไม่ไปลงเรือ ก็มีอีกทางหนึ่งคือตรงทิศตะวันออก แต่อันตรายก็มากเหมือนกัน เพราะบ้านอยู่ห่างไกล มีแต่ป่าแต่ดงทั้งนั้น หนทางคนแคบๆ เท่าทางหนูเดิน ตั้งแต่ฉันจังหันแล้วก็ไม่พบคนจนค่ำละ”

องค์ท่านพูดย้ำอีกว่า “เอาให้ดีนะ อย่าห่างเหินจากภาวนานะ”

รับคำองค์ท่านยกมือใส่หัว เณรก็เหมือนกัน สำเร็จเสร็จสิ้นแล้วโยมก็ตามส่งสองคน อายุราวสามสิบปี ไปไกลประมาณครึ่งกิโลก็หยุดพัก ถามโยม บอกให้โยมกลับ โยมก็ทำท่าอยากจะไม่กลับเพราะเป็นกังวลด้วย จึงว่ากะโยมว่า

“ใครๆ ในโลกนี้ โยมเอ๋ย ถ้ากรรมตายมาถึงแล้วจริงๆ ก็ไม่มีศาลอุทธรณ์ใดๆ ในโลก จงเตือนว่า แวะซ้ายหรือขวาแห่งใดบ้าง”

เขาตอบว่า “จะเก่าหรือใหม่ก็ขอให้เดินเส้นนี้ต่อ อย่าได้แวะหนีทางใดเลย”

“เออ ถ้าอย่างนั้นพวกญาติโยมจงกลับบ้านโดยสวัสดีเถิด บุญอันใดที่พวกอาตมาได้สร้าง พวกโยมจงได้รับส่วนด้วยโดยทุกเมื่อ”

เขายกมือสาธุแล้วก็ลากลับ พอเขากลับไปแล้วสักครู่หนึ่งก็ลับสายตาริบหรี่ไป ได้พูดกับเณรว่า

“เณรเอ๋ย บัดนี้ป่าเปลี่ยวอันตรายมากแล้ว พวกเราเดินตีนต่อตีนมาจากอุดรๆ จนถึงนี้ก็ปลอดภัยทุกๆ ประการ แต่ไม่น่าหวาดเสียวเหมือนวันนี้ จงตั้งใจเดินภาวนายิ่งๆ ขึ้นนะ เราไกลจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์มา ต่างก็พึ่งตนเองคือภาวนาทุกๆ ก้าวขาเดิน คือ พุทโธ ถ้าไม่จำเป็นอย่าพูดอย่าถามนะและอย่าถือว่ารังเกียจกัน ถ้าเณรกลัวจงออกเดินหน้า”

เณรตอบว่า “ไม่กลัวดอก ถึงจะกลัวมาสลับบ้างก็จะทนเอา ถ้าเดินก่อนเทวดาเห็นก็จะหัวเราะและก็เป็นเรื่องฝืนๆ กับภาวนา” ว่าแล้วก็ตั้งหน้าเดินทางภาวนา

บ่ายประมาณหนึ่งโมงก็ข้ามดง ถึงบ้านนาประทราย ค่ำมืดก็ถึงบ้านอ้วนบ้านเสียว ไม่มีอันตรายใดๆ ทั้งสิ้น ไปพักวัดร้างไม่มีพระ เช้าบิณฑบาตฉันเสร็จลาโยมเดินทางต่อ ที่นี้เป็นทางเกวียนแต่ข้ามดง บ่ายประมาณสามโมงเย็นก็ถึงชัยบุรี ริมแม่น้ำโขง ปากแม่น้ำสงครามไหลออกแม่น้ำโขง มีวัดเก่าๆ เรียงรายเป็นระยะๆ ตามริมแม่น้ำโขงมีอยู่สี่วัด มีพระอยู่สองวัดเท่านั้น

พักอยู่วัดร้างหนึ่งคืน เช้าบิณฑบาตฉันเสร็จ เขาเอาเรือมารับข้ามปากแม่น้ำสงครามไหลตกข้ามบ้านโนนตาล ข้ามบ้านท่าดอกแก้ว ประมาณสามโมงเย็นถึงอำเภอท่าอุเทน ได้แวะไปพักวัดธาตุอุเทนประมาณห้านาที ลาจากนั้นก็ข้ามทุ่งอำเภอท่าอุเทนไปทางทิศใต้

รูปภาพ
พระอาจารย์อุ่น ธัมมธโร


๏ พบพระอาจารย์อุ่น

ตั้งใจว่าจะไปพักวัดป่าพระอาจารย์อุ่น อันตั้งอยู่ริมห้วย ไกลจากอำเภอท่าอุเทนประมาณหนึ่งกิโลเมตร พระอาจารย์อุ่นมีปฏิสันถารเคร่งครัดมากนัก องค์ท่านให้เณรสององค์มารับแต่ไกล เพราะผ่านทุ่งและเป็นทุ่งมองเห็นไกล พระผู้ใหญ่ไม่มีมานะถือตัวก็พระอาจารย์องค์หนึ่งเน้อ โลกเอ๋ย พอไปถึงห่มผ้าเฉวียงบ่า ถอดรองเท้า เก็บร่มไว้เรียบร้อย วางบริขารไว้ที่ควร แล้วก็เข้าไปกราบองค์ท่าน องค์ท่านก็ชื่นบานหรรษา ถามข่าวคราวสุขทุกข์ทุกประการตลอดถึงการปฏิบัติเปิดโอกาส

องค์ท่านกล่าวว่า “หมู่ติเตียนผมว่าผมฉันเจ ใครก็ไม่อยากอยู่กับผม ผมอยู่กับเณรสององค์เท่านั้น เดี๋ยวนี้ การทำความเพียร คุณจะชอบอย่างไร ผมพาทำได้ มักสวดมนต์ของใครของมันเงียบๆ ก็เอา มักสวดมนต์แปลก็เอา ด้านจงกรมภาวนาจะเอาตลอดวันตลอดคืนก็เอา ด้านฉันจะฉันเนื้อปลา ก็แล้วแต่ผู้เขาให้มาเป็นธรรมที่ไม่นอกเหนือวินัย ส่วนผมก็ฉันได้ทุกชนิดตามเกิดตามมีแล้ว ลองมาพักปฏิบัติอยู่กับผมสักหว่าง (ระยะหนึ่ง) ก่อนนะ อย่าเพิ่งจาริกไป”

กราบเรียนองค์ท่านว่า “พระอาจารย์เมตตากรุณาเปิดโอกาสให้กระผมทุกแง่ทุกมุมโดยธรรมะอันจริงใจเช่นนี้ ชั่วชีวิตหนึ่งของกระผมก็จะเป็นของหาได้ยากนัก แต่คำสัตย์ของกระผมที่ตั้งไว้นั้น ก็มีอยู่ว่า ตั้งใจจะไปให้ถึงธาตุพนม แล้วจะโค้งกลับไปทางอำเภอนาแก แล้วจะไปพักภาวนาถ้ำพระเวสพอสมควรแล้วจะเดินล่องภูเขาภูพานลงไปทางอำเภอพรรณา จังหวัดสกลนคร ไปวัดป่าบ้านหนองผือ ไปหวังเป็นหวังตายอยู่กับพระอาจารย์ใหญ่มั่นขอรับ”

องค์ท่านตอบว่า “วัดป่าพระอาจารย์มั่นก็ไกลจากบ้านเพียงสิบแปดเส้นเท่านั้นแหละ ผมได้ไปแล้ว ไม่เป็นวัดป่าให้เต็มภูมิดอกท่าน ส่วนวัดผมนี้อยู่สิบห้าเส้นพอดี เป็นวัดป่าได้เต็มภูมินะ”

ว่าแล้วองค์ท่านก็เทศน์แบบถึงใจว่า “นกที่ถูกลูกศรของนายพรานไม่ถึงกับตายคาที่ พอกระเสือกกระสนบินไปได้ ก็บินไป เร่ร่อนไปในทิศทั้งสี่ฉันใด มนุษย์ เทวดา มาร พรหม และสัตว์ที่มีวิญญาณครองสิงอยู่ทั่วทั้งไตรภพ เมื่อไม่พ้นจากลูกศรคือกิเลสก็บินไปในทิศทั้งสี่ คือทิศเกิด ทิศแก่ ทิศเจ็บ ทิศตาย อยู่อย่างนั้น มีทิศโลภ ทิศโกรธ ทิศหลง เป็นตัวเหตุตัวพืชตัวกรรม ผลฝ่ายรับก็สัมพันธ์กันอยู่ทั้งอดีต ทั้งอนาคต ทั้งปัจจุบันด้วย วนอยู่ไม่มีเงื่อนต้น เงื่อนปลาย”

เมื่อฟังองค์ท่านเทศน์แล้วก็จับใจมาก เพราะเสียงก็เย็นไพเราะนิ่มนวลมาก ครั้นพักอยู่กับองค์ท่านคืนหนึ่ง เช้าได้เวลาองค์ท่านพาไปบิณฑบาตในเมือง กลับถึงวัดฉันเสร็จก็กราบลาองค์ท่าน องค์ท่านกล่าวว่า

“ถ้าจะไปจริงๆ ก็ให้ผมแสดงอาบัติก่อน ผมอยู่กับเณรไม่ได้แสดงอาบัตินานแล้ว ว่า กาเย ต่อพุทธ ธรรม สงฆ์เป็นส่วนมากแทนเอา”

ว่าแล้วก็แสดงอาบัติ ส่วนข้าพเจ้าก็แสดงเพราะเคารพท่าน ถ้าจะไม่แสดงก็คล้ายกับว่าคนลืมตัว ทำท่าเป็นผู้ประเสริฐ พอเสร็จแล้วก็กราบลาเดินทาง องค์ท่านให้เณรไปส่งทั้งสององค์ องค์ท่านสั่งเสียซ้ำซากว่าขณะนี้ญวน ลาว กำลังสู้รบกับฝรั่งเศส กู้อิสระคืนอย่างรุนแรง โจรผู้ร้ายก็มาก พระมันก็ปล้น แม้ผ้าดำๆ มันก็เอา สองสามวันล่วงมา มันปล้นสายอำเภอท่าอุเทนต่อนครพนมในระหว่างกลางดงอันกึ่งกลางนั้นเอง โจรนั้นโก้เก๋ขี่รถจักรยาน สะพายปืนพร้อม นุ่งกางเกงผ้าลินินฝรั่งเศสเพราะสมัยนั้น เพียงเท่านั้นก็ว่าโก้เก๋แล้ว

แล้วเณรก็ตามส่ง ไปไกลประมาณสองกิโลก็ถึงปากดง สามเณรสององค์ที่ไปส่งก็ลากลับวัด จึงเตือนเณรว่า

“เณรเอ๋ยบัดนี้ก็ผ่านอุปสรรคอีก เพราะป่าดงพงไกลเงียบไงเย็นปิ้ง พวกเราตั้งใจภาวนาติดต่อทุกก้าวเดินนะเณร”

แต่พอไปถึงกลางดงก็เที่ยงวัน ชายหนุ่มขนาดอายุราวสามสิบปี ขี่รถจักรยานสะพายปืนยาวคนละกระบอกตามก้นกันมาทางหน้าอย่างผึ่งผาย พอเห็นรถมาใกล้ประมาณสิบวาก็ใช้อุบายพาเณรวางบริขารไว้ที่ริมทาง แล้วไปไกลจากบริขารประมาณสามวา แล้วใช้อุบายพูดขึ้นว่า “เหนื่อยนัก ปูผ้าพักก่อนเถิด”

ส่วนเขาเหล่านั้นพอมาถึงก็หยุดรถพร้อมกันอย่างผึ่งผายจึงหาอุบายพูดกับเขาว่า “พวกอาตมาเหนื่อยมาพักเสียก่อน”

พูดกับเขาอีกว่า “พวกคุณจะไปไหนหนอ”

เขาตอบแบบขี้โกงว่า “ไปเล่น”

ไม่มีมรรยาทเคารพเลยแม้แต่นิดเดียว และเขาถามว่า “มีผึ้งไหมล่ะ”

ตอบเขาว่า “มีอยู่เท่าแม่มือ อยู่ในบาตรเอามาจากสามผง คุณจะเอาไปทำอะไร”

ตอบขี้โกงว่า “เอาไปติดรถ”

ตอบเขาว่า “ขอให้พวกคุณตรวจเอาเองเถิด เพราะอาตมาเหนื่อยจะเอนกายสักหน่อย”

เขาก็ค้นบริขารทุกอันอย่างพอใจเขา เขาหยิบเอาผึ้งนิดเดียวเท่าเม็ดข้าวโพด พอเขาค้นสิ่งของแล้ว เวลาที่เขาจะผ่านไปตามทางที่เราผ่านมาแล้ว เขาก็กราบลาแบบอ่อนโยน พร้อมทั้งขออภัยที่ได้ใช้มรรยาทอันไม่งาม

ตอบเขาว่า “ไม่เป็นไรดอกจงพากันเป็นสุขอยู่ทุกเมื่อเทอญ”

แล้วเขาก็ขึ้นรถสะพายปืนอย่างผึ่งผายจากไป

เขาไปไกลพอควรแล้วก็พูดกับเณรว่า “คงจะเป็นพวกนี้เองที่จี้ปล้นกลางดงในทางเส้นนี้ อันเป็นกึ่งกลางแห่งอำเภอท่าอุเทนและจังหวัดนครพนมที่พระอาจารย์อุ่นสั่งเสียพวกเราก่อนออกเดินทางวันนี้ แต่พวกเราคงไม่ได้สร้างกรรมสร้างเวรในส่วนนี้ไว้ แต่พวกเราคงได้ตรวจบริขารพระเณรกลางดงอย่างนี้มีแต่ชาติก่อนๆ ก็อาจเป็นได้ จะอย่างไรพวกเราก็เชื่อกรรมและผลของกรรมอยู่อย่างสนิทแล้ว กรรมเก่าแต่ภพก่อนๆ มองไม่เห็น ส่วนกรรมใหม่สิ่งไหนไม่ดี เราพยายามเว้นไปตะพึด จนกว่าจะถึงที่สุดทุกข์โดยชอบ”

ว่าแล้วก็พาสามเณรพลิกใจเข้าหาภาวนาเดินตามเคย ถึงวัดป่าอรัญญิกาวาสค่ำมืดพอดี

สมัยนั้นพระอาจารย์โง่นเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่นั้น พักที่นั้นหนึ่งคืน ตื่นเช้าบิณฑบาตฉันเสร็จ กราบลาเจ้าอาวาส ออกเดินทาง ค่ำพอดีพักวัดร้างบ้านดงสะพัง ตื่นเช้าบิณฑบาต ฉันเสร็จ ลาญาติโยม เดินทาง ค่ำบ้านแสนพันหมันหย่อน นอนวัดร้างหนึ่งคืน รุ่งเช้าบิณฑบาต ฉันแล้ว เดินทางถึงธาตุพนมเวลาเที่ยงวัน ไปพักวัดป่าเกาะแก้ว คราวนี้พักอยู่นานบ้างเพราะเป็นฝีที่น่อง ครั้นฝีหายแล้ว ก็ส่งเณร ฝากเณรคืนอุดรฯ พร้อมกับพวกพระที่มาไหว้ธาตุพนม ส่วนข้าพเจ้าก็เดินด้วยฝีเท้าถึงบ้านนาโสก พักวัดป่าพระอาจารย์สน พักอยู่กับพระอาจารย์สนสามคืน แล้วก็ลาท่านไปถ้ำพระเวส

องค์ท่านกล่าวว่า “เออ เรานี้อยู่ใกล้ถ้ำพระเวสเฉยๆ ไม่ได้ขึ้นไปวิเวก มัวแต่บริหารพระเณรโชกโชนอยู่ บ๊ะ เราก็จะไปค้นหาถ้ำก่อนนา”

และก็ตกลงไปในวันนั้น ส่วนข้าพเจ้าก็ไปถ้ำพระเวสในวันนั้น

๏ ถึงถ้ำพระเวส

พอไปถึงถ้ำแล้วจิตใจก็ดูดดื่มทวี เกิดปีติน้ำตาไหล จิตใจอ่อนโยนศรัทธาสังเวชในพุทธ ธรรม สงฆ์ยิ่งขึ้น ไม่มีที่จะเปรียบเทียบได้ นึกในใจว่าครั้งพุทธกาล บรรดาท่านผู้มีนิสัยชอบภูชอบเขาก็จะพักอยู่อย่างนี้แลหนอ ว่าแล้วในใจน้ำตาไหลอีกตะพึดตะพือ ศรัทธาอิงปีติสังเวช แต่ในขณะนั้นก็มิได้สำคัญตัวว่าวิเศษวิโสอันใดเลย เพียงรู้ตัวว่าศรัทธาเราดึงดูดไม่ถอยหลัง รู้อยู่เฉพาะตนเอง ไม่สงสัยในตอนนี้ และรสชาติที่อยู่คนเดียวในภูเขาป่าเปลี่ยวไกลบ้านเงียบสงัดมีแต่เสียงสัตว์ป่าเช่น นกยูงและไก่เถื่อนเป็นต้น รสจิตรสใจรสธรรมก็ดี หากวิเวกเองมิได้ทำท่าทำทางบังคับบัญชา มโนสติ วจีสติ แม้ปัญญาก็เกิดกายสติเป็นกองทัพธรรมรวมกันเอง ก้าวไป ถอยกลับ เหยียดคู้แขนขา ก้าวไปและหยุดอยู่ก็ดี ก็รู้เอง ไม่ได้บังคับ จิตใจเบาไม่หนักเฉื่อยชา น้อมไปโอนไปเอนไปในทางพ้นทุกข์ในสงสาร

สมัยนั้น ป่ารกชัฏในบริเวณแถบนั้นมากนักหนา มีสัตว์ป่านานาอเนกมากมายนัก ข้าพเจ้าก็ประหยัดในข้อวัตรต่างๆ ผ้าอาบน้ำยังเหลือผืนเดียว บ่ายสามโมงเย็น ก็ปัดกวาดรอบบริเวณพอได้ข้อวัตรแล้วก็สรงน้ำเพราะน้ำนั้นสะดวก อยู่ใกล้ไหลรินอยู่ไม่ขาดที่หน้าผา ตากผ้าไว้แล้วเดินจงกรมจนถึงมืด พอผ้าอาบน้ำแห้งแล้วก็เอาปูไว้นอน ผ้าคลุมหมอนก็อยู่ในตัว หมอนก็คือห่อผ้าสังฆาฏินั่นเอง ผ้าอาบน้ำที่ปูนั้นแหละเป็นสาดนอน ครุตักน้ำก็คือกา ไฟฉายและโคมไฟและเทียนผึ้งไม่ต้องถามหา ต้องถามเอาเดือนกับดาวเห็นหรือมืดเป็นเรื่องของตา เดือนดาวไม่ได้รับผิดชอบด้วย มุ้งกลดก็ไม่กางอีกเพราะหัวชนก๊อกๆ แก๊กๆ มันพอใจเองมันเป็นเอง ไม่มีใครไปยุไปยึดมั่น และมันไม่ได้อยู่เอาวันเอาคืนไปอวดคน มันรู้จักเจตนาของมันพร้อมด้วย มันดูดเอง เหมือนแม่เหล็กดูดเข็มหรือเข็มดูดแม่เหล็ก สู้ไม่ขาดระยะอยู่กับตัว เกิดความอิ่มใจ น้ำตาไหลไม่ค่อยขาด

ความยอมเป็นยอมตายกับพุทธ ธรรม สงฆ์แบบแยบคายนี้เป็นรสชาติอ่อนโยนเย็นสงบ ไม่เหมือนความยอมเป็นยอมตายด้วยความโมโหโทโสแบบมุทะลุ รสชาติจิตใจไกลกันราวฟ้ากับดิน แม้รสของภายนอกหยาบๆ เช่น รสเปรี้ยว เผ็ด เค็ม หวาน ขม เป็นต้น เมื่อชิวหาประสาทไม่พิการ ท่านผู้ใดแตะเข้าในลิ้นของตน น้อยหรือมากจึงจะรู้รสได้เป็นส่วนๆ ไป จึงจะหมดปัญหาของส่วนตัวเป็นตอนๆ ไป เป็นปัจจัตตัง จึงจะหายกล่าวตู่ผู้อื่นว่าขี้เท็จด้วยเป็นบางตอน แต่บาปท่านก็ขี้เท็จจริงๆ ท่านผู้ใดขี้เท็จท่านผู้นั้นก็หนักในอามิสเป็นเจ้าหัวใจ อามิสเป็นสรณัง คัจฉามิ ท่านผู้นั้นจะไม่ลวงโลกเพื่ออามิสเป็นไม่มีเลย จะไม่สะสมความชั่วก็เป็นไม่มีเลยและไกลจากพรหมจรรย์เบื้องต้นของพระพุทธศาสนาด้วย (ภาชนะน้ำเปล่าราหุลสูตร ๑)

๏ ปรากฏการณ์ที่ถ้ำพระเวส

ครั้นพักอยู่ถ้ำพระเวสคืนที่หกนั้น ลมเข้าออกแห่งอานาปานสติเวลาประมาณห้าทุ่ม ลมละเอียดเข้า ละเอียดเข้า แห่งหายใจออกเข้าอันตั้งสติจ้องอยู่ จนไม่ปรากฏหลอดลมที่คอหอย เพราะตั้งสติไว้ที่นั้น เสียงระเบิดตูมลงใกล้ใต้ที่พัก ปรากฏว่าภูพานทั้งลูกกระเด็นกระเทือน แต่ไม่ขนพองสยองเกล้าเลย ใจก็เป็นสมมติว่าใจอยู่ตามเคย เย็นๆ แล้วหวนทวนถอยหลัง พิจารณาว่า วันนี้ก็ดี วันอื่นๆ ล่วงมาแล้วก็ดี ข้อวัตรของเราไม่วิบัติอันใดดอก น้ำก็ตักใส่กาไว้แล้ว ตราดก็กวาดแล้ว จงกรมก็เดินภาวนาแล้ว ทำวัตรก็ทำแล้ว การฉันก็ฉันในบาตรรวมภาชนะเดียวทั้งหวานทั้งคาว ช้อนก็ไม่ได้ซดให้ถูกกับพญารสพญาลิ้น น้ำแกงผักหวานก็ไม่ได้ขโมยซดดอกเออ ที่นี้จะสมมติคนเป็นสองธรรมาสน์นะ

“มาอยู่นี้เพื่อประสงค์อะไร”

“เพื่อพ้นทุกข์ในสงสาร”

“จริงหรือ”

“จริงซี”

“ไม่มาอยู่พอได้ไปอวดคนหรือ”

“ไม่ ไม่ ไม่”

“เมื่อเทวดาเนรมิตพระพุทธรูปทองคำขึ้นตรงหน้าก็ดี หรือมีอยู่ในถ้านี้แต่เดิมก็คงจะไม่แอบคิด ว่าเอาไปให้คนบูชากราบไหว้ดีกว่าอยู่ในถ้ำเช่นนี้ จะไม่นึกอย่างนี้หรือ”

ตอบคนว่า “เป็นบ้ารึ เป็นบ้ารึ เป็นบ้ารึ จึงจะคิดอย่างนั้น”

เมื่อถามตนตอบตนอยู่อย่างนั้น ปีติใหญ่เกิดขึ้นคล้ายๆ กับว่าจะชนภูเขาทะลุชั่วลัดนิ้วมือเดียว แต่ก็ไม่หลงตัวว่าจะชน เพราะมีสติปัญญาสมดุลกันอยู่ ว่าปีติๆ อยู่ ไม่หลงลืมตัวได้ง่ายๆ รู้จักข่มปีติได้เพราะสุขก็ดี อุเบกขาก็ดี ปีติก็ดี อยู่ใต้อำนาจอนิจจัง เกิดขึ้นแล้ว แปรดับ

ที่นี้ก็พูดกับตนต่อไปว่า “ถ้าไม่นึกกลัวอะไรจริงก็นอนซะ”

แล้วก็นอนห่มผ้าจีวรเฉวียงบ่า แล้วก็นอนตะแคงข้างขวา กำหนดลมต่อไปในอานาปานสติแล้วก็หลับสนิทไป ไม่มีนิมิตและไม่ฝันเห็นอะไร ตื่นตีสามโดยคาดคะเนเพราะไม่มีนาฬิกาฬิแกเหมือนทุกวันนี้ และเมื่อคืนแล้วร่างกายและจิตใจก็กระปรี้กระเปร่า รู้สึกเบามาก บางเวลาก็เกิดปฏิภาณขึ้นว่า

อยู่องค์เดียวเปลี่ยวกายา ยิ่งยินดีพรากหมู่มา แสวงหาความสงบ พบคูหาผาสูง จูงจิตคิดสังเวช เป็นเหตุให้ขยันหมั่นภาวนา แม้จะโศกาในเวทนา ทุกข์ก็ภาวนาผ่อนถอนอารมณ์ไว้ เพราะหวังจะพ้นภัยในโลกสงสาร อุทิศต่อพระนิพพาน เป็นแม่นมั่น หันหน้ารบกับมาร ต่อต้านชิงชัย ให้กิเลสมารหนีไป ไม่คืนมา ขันธมารคือ ขันธ์ห้า นี้แลหรือมาร ศาสดาจารย์กล่าวไว้ ไม่ยึดมั่น ใครถือมั่น เป็นของหนัก มักพาล้ม เที่ยวจำจมอยู่ในโคลนวนสงสาร เพราะเหตุว่าเดินตามมาร คลานตามโจร มันปล้นสัตว์ มัดไว้ให้โศกให้เศร้า ร้อยเท่าพันทวีชาติภพ นับไม่ครบเลย

นี้ก็จับเข้าแผนกปีติเหมือนจะเรียกว่าปีติฟุ้งซ่านก็ถูก จะว่าปีติให้ธรรมแตกฉานก็เชิงควร

พักอยู่ถ้ำพระเวสนั้นดูดดื่มไม่ถอย จิตใจโอนไปน้อมไปในทางพ้นทุกข์โดยด่วนในปัจจุบันชาติ กลายเป็นเรื่องนึกถึงคุณพระนิพพานว่า เป็นเครื่องระงับกิเลสและกองทุกข์ไปในตัว แม้อย่างต่ำไปอุจจารกรรม ไปปัสสาวกิจก็วิเวกไปในตัว แต่มิได้สำคัญตนว่าประเสริฐเลิศล้ำเกินภูมิของธรรมอันใดเลย ขออยู่ใต้อำนาจของพระพุทธ ธรรม สงฆ์เสมอไปผูกขาดแล้ว เป็นสัจจบารมีสัมปันโน เป็นอธิษฐานบารมีสัมปันโนขาดตัว จิตชั้นนี้ ธรรมชั้นนี้ เมื่ออยู่ในป่าในเขาองค์เดียว วิเวกวังเวงคล้ายกับว่า ข้าวก็อันเก่า กับก็อันเก่า แต่เมื่อเอาไปฉันในป่าในเขาเพราะหมดหวังอาหารอื่นๆ ก็ต้องสันโดษ อาหารที่มีอยู่ซึ่งหน้า รสชาติอาหารก็เพิ่มขึ้นทวี เหตุนั้นธรรมะคำสั่งคำสอนจึงหนักเน้นให้ยินดีในที่สงัด ป่าดงพงเขา ไม่ได้ไปส่งเสริมในที่คลุกคลีและที่อึกทึก แต่ผู้มิได้เคยดื่มกายวิเวกแล้ว จิตตวิเวกก็จะมาจากประตูใด ย่อมเป็นไปได้ยาก อุปธิวิเวกก็โดยนัยเดียวกันนั้นเอง

แต่ผู้ไม่เคยได้ดื่มรสวิเวกย่อมถือว่า ที่อึกทึกอากาศดีถูกกับข้า เพราะข้าเป็นคนไม่คับแคบ หมู่ของข้ามีมาก เพราะข้าเป็นคนทันสมัย ไม่ไร้ญาติมิตรเลย ไม่ใช่มะพร้าวตาเดียว ไม่ใช่คนอ่อนสังคมเลย ไม่เก้อไม่เดินในสังคมเลย มักได้ยินอย่างนี้เป็นส่วนมากนักหนา แต่ก็ต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของโลกสันนิวาสไปเพราะกรรมและผลของกรรมแต่ละราย

ถ้าจะพิจารณาถึงสัตว์เดรัจฉานบางจำพวกแล้วเช่น อึ่งอ่างเป็นต้น จะออกมาวิวุ่นก็ปีละครั้ง และก็มีเวลาจำกัดอีกด้วย เหลือนั้นต้องวิเวกอยู่ของใครของมัน กบก็เช่นกัน เป็นเรื่องน่าพิจารณาทั้งนั้น ผู้ท่องเที่ยวในสงสาร กรรมและผลของกรรมมีอำนาจจำแนกให้ดีและเลวต่างกัน ตามเหตุและผลที่เจ้าตัวสร้างสรรค์ไว้ เมื่อสร้างไว้แล้ว (แม้) ไม่อยากรับก็ได้รับ จะรู้ตัวหรือไม่ไม่เป็นปัญหา ต้องให้ผลตามเหตุที่สร้างไว้ไม่ลำเอียง ทางดีก็โดยนัย ทางชั่วก็โดยนัย

เรื่องเหตุๆ ผลๆ นี้ แยกออกได้เป็นสองทาง ทางหนึ่งเป็นทางโลกีย์ ทางหนึ่งเป็นทางโลกุตตระ

เหตุผลทางโลกีย์นั้นเหตุใจผลใจหนักไปในทางวัตถุนิยมเป็นเจ้าใหญ่นายโตของเจตนารมณ์

เหตุผลไปทางโลกุตตระนั้น เหตุใจผลใจหนักไปทางบรรเทา และพยายามแก้กิเลสและความหลงของเจ้าตัวไปเป็นตอนๆ จนถึงที่สุดแห่งความหลง

สิ่งเหล่านี้ต้องขึ้นอยู่กับเจ้าตัวจะรู้เจตนารมณ์ของตัวเอง มิฉะนั้น การปฏิบัติธรรมก็มั่วสุมไม่แจ่มแจ้งเฉพาะตนด้วย เพราะธรรมแท้ใจแท้อันประกอบด้วยสติปัญญาอันถูกต้องย่อมเป็นปัจจัตตัง

คราวที่พักอยู่ถ้ำพระเวสนั้น น่าพิจารณาอยู่ตอนหนึ่งว่า ไฉนญาติโยมจึงไม่รู้จักปวารณาไม้ขีดไฟ เทียนไขบ้าง ชะรอยจะเป็นด้วยวาสนาของตนเองก็อาจเป็นได้ หรือชะรอยพระที่ไปอยู่พักที่นั้นแต่ก่อนเคร่งครัดไม่เผดียงวจีวิญญัติ แต่ก็เป็นการถูกต้องดีแล้ว

แต่เขาไม่ปวารณาก็ไม่สงสัยว่าจะเอ่ยเลียบเคียงและโอภาส แท้จริงข้าพเจ้าก็ขาดไม้ขีดไฟและเทียนจุดได้มานานแล้ว เสื่อและหมอนก็ไม่ได้เจอมานานแล้ว แต่อำนาจความพอใจ อันยอมเป็นยอมตายกับพระพุทธศาสนาเพื่อพ้นทุกข์ ก็เลยกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปไม่ได้เป็นอารมณ์หนักใจ

ย้อนคืนมาปรารภที่ไปถึงถ้ำพระเวสในวันแรก ตอนกลางวันพักเอนกายลงครู่หนึ่งประมาณสองนาที ตาใสแจ๋วอยู่ มีคนผู้ชายคนหนึ่งสูงผิวคำร่างใหญ่โต อายุประมาณ ๔๐ ปีกว่า นุ่งผ้าหยักรั้งและเห็นไกลจากที่เอนกายประมาณสองวา เดินเข้ามาสองก้าวก็ถึงอย่างผึ่งผายนัก แล้วก็กำลูกอัณฑะทั้งสองมือดึง แล้วรู้สึกอ่อนเพลียลงมากโดยเร็วพลัน มีสติระลึกหวนขึ้นในใจว่า “นี้หรือเขาว่าผีอำ” กลั้นใจยกขาขวาขึ้นถีบไปอย่างแรง ยันไปอย่างแรงก็ว่า เวลายกขาคู้มาก็ว่าพุท ยันไปก็ว่าโธ ก็รู้สึกหายวาบไป มนุษย์ก็หายไปพร้อมด้วย คงจะเป็นผีปีศาจก็อาจเป็นได้ แต่จิตใจคำนึงแบบเย็นๆ อยู่ไม่นึกกลัวก็เลย เป็นเหตุให้รู้ได้ชัดว่าผีๆ นี้มีจริงแท้ แต่นั้นไปไม่ปรากฏเห็นอีก

๏ สติตั้งอยู่กับกายใจ

การไปบิณฑบาตไปบ้านแก้ง ไกลร้อยเส้น ญาติโยมเขาเห็นว่าไกลเกินไป เขาจึงจัดกันมาแบ่งวาระกันเป็นพวก มาลัดหนทางใส่บาตรที่ถ้ำไทรและมีน้ำสะอาดอยู่นั้นด้วย จากบ้านเขามา ๖๐ เส้น พระไปจากถ้ำ ๔๐ เส้น และเขามาใส่บาตรแต่ละวันก็มีผู้ชายตามมาด้วยพร้อม ทั้งรู้เดียงสา ไม่ใช่ผู้ชายใบ้บอดหนวกฟาง คุ้มอาบัติพระได้ในยามปรารภธรรมะบ้าง

ฉันเสร็จในที่นั้น ก็ไม่มีเวลาสนทนาธรรมะนาน เพราะประหยัดเวลาแต่ละวัน กลับถึงถ้ำที่พักก็เกือบ ๙ นาฬิกา

การปฏิบัติภาวนาก็เป็นไปสม่ำเสมอติดต่อโดยมิได้บังคับ มันเป็นเอง มันดูดดื่มเอง สติมิได้เลือนลาง ตั้งอยู่กับกายใจเป็นหลัก เหยียดแขนคู้แขนขา เหลือบซ้ายแลขวาอยู่กับตัวอยู่กับใจในปัจจุบันทันกาล เบากายเบาใจวิเวกมาก รสชาติของใจของธรรมชนิดนี้จะพูดก็ไม่ออกจะบอกก็ไม่ถูกเพราะของใครของมันในรสปรมัตถ์ รสวิเวก รสชาติ วิเวกสาม กายวิเวก สงัดกาย จิตตวิเวกสงัดจิต อุปธิวิเวก สงัดกิเลส เมื่อสมดุลกันในปัจจุบันขณะเดียว ติดต่ออยู่แล้วจึงเป็นรสชาติของวิเวกที่ไม่ส่งส่ายบัญญัติและเรียงแบบกลมกลืนกันอยู่ในปัจจุบันทันกาล

ผู้ปฏิบัติพระพุทธศาสนาแท้ จะแอบเอาแต่ความจำได้หมายรู้ที่ได้เคยท่องบ่นจำมาเป็นเครื่องบริสุทธิ์ของตนโดยฝ่ายเดียว แล้วเที่ยวกวาดต้อนให้คนเลื่อมใสเป็นนายกโฆษกเพื่อลาภและอามิส เป็นเจ้าหัวใจแล้วก็ใบลานเปล่าอยู่ดีๆ กันนั้นเอง แต่ก็ยังดีอยู่ เพราะดีกว่าจำไม่ได้ ผู้เขียนน้อมมาเตือนตน เพราะตนยังไม่ดีพอ เพราะการอยากดียังมีอยู่ เพราะยังไม่อิ่ม มีความอยากดีออกหน้าอยู่ เพราะยังต้องการเดินทางไปหาเมืองอยู่คือเมืองพอ ถ้าจะเดินทางไปหาเมืองพอภายนอกด้วยฝีเท้าหรือยนต์ยานพาหนะแล้วกี่กัปกี่กัลป์ล้านๆ โกฏิๆ ไม่มีวันเดือนปีหรือขณะจะถึงได้ เพราะเมืองพอหรือเมืองไม่พอมันตั้งอยู่ที่เมืองใจแห่งเดียว เมืองนอกคือเมืองกิเลส เมืองในคือเมืองใจ แต่เมืองนอกคือเมืองกิเลสชอบไปเกย ไปพาด ไปตั้งเมืองอยู่รอบๆ เมืองใจ เมืองสนิมหรือไม่สนิมก็ตั้งอยู่ที่เมืองเหล็ก ถ้ามีเหล็กก็ต้องมีสนิม ถ้าไม่มีสนิมก็ไม่มีเหล็ก แต่เหล็กไม่ค่อยมีสนิม แต่เหล็กดีแท้ไม่มีสนิมเลย ใจก็โดยนัยเดียวกันนั้นแลนา

แต่ใจที่มีผู้ยึดถือเอาเป็นเจ้าของหวงแหนอยู่ จะเป็นของไม่มีโทษย่อมไม่มีในโลกอดีต โลกอนาคต และโลกปัจจุบัน เมื่อใจไม่มีผู้ยึดถือเอาเป็นเจ้าของแล้ว ใจก็ย่อมเป็นโสดโดดเดี่ยว ย่อมไม่มีโทษใดๆ และจะบัญญัติอดีต อนาคต ปัจจุบันใดๆ ก็ไม่มีโทษไม่มีพิษอันใดแลนิจจังยั่งยืน

(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.พ. 2013, 14:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7836

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอาจารย์กู่ ธัมมทินโน


๏ อาลัยถ้ำพระเวส

ครั้นพักอยู่ถ้ำพระเวสคนเดียวเปลี่ยวกายาเป็นเวลาล่วงมายี่สิบสองวันแล้ว ก็หวนระลึกด้วยธรรมสังเวชว่า

“เอ๊ะ เรานี้จวนแจเวลาแล้ว เราตั้งใจจะไปหาหลวงปู่มั่นเพื่อมอบกายถวายชีวิตผูกขาด เราค้างที่นั้นที่นี้มาเป็นเวลานาน ชีวิตสังขารเป็นของไม่เที่ยง บางทีเราสิ้นลมปราณก่อนท่าน บางทีองค์ท่านสิ้นลมปราณก่อนเรา”

เมื่อคิดดังนี้แล้ว มองดูถ้ำและบริเวณที่พัก ชำเลืองไปมาน้ำตาไหลลงมาอาบแก้ม คว้าเอาผ้าอาบน้ำเช็ดเพราะยังอาศัยในถ้ำอยู่แล้วก็บรรเทาได้ด้วยพลิกใจถึง นานาภาโว วินาภาโว จะได้พลัดพรากจากไปตามธรรมชาติแห่งสังขาร และนึกในใจต่อไปว่า

“เทวดาด้าวภูผารุกขมาส จะได้ยาตราลาจากพวกเจ้าไปหน้าด่วนหาย จะไปหาพระอาจารย์มั่นขันอาสาขออยู่ เพื่อจะได้รู้ธรรมพระพุทธเจ้า ปฏิบัติเข้าสู่นิพพาน ขอให้พากันอยู่สวัสดีพร้อมในพุทธ ธรรม สงฆ์อยู่ทุกเมื่อ ไผไปถึงเร็วหรือช้าก็มุ่งหน้าต่อนิพพานนั้นแล”

แล้วก็ไปบิณฑบาต ฉันเสร็จบอกญาติโยมว่า

“พรุ่งนี้ถ้าไม่มีอุปสรรคใด อาตมาจะได้ลงไปบิณฑบาตให้ถึงบ้านไม่ต้องมาลัดที่ถ้ำไทรดอก เพราะจะได้ลาล่องชายเขาภูพานไปหาพระอาจารย์มั่นที่วัดป่าบ้านหนองผือ อำเภอพรรณา จังหวัดสกลนคร เพราะเวลาจวนแจมากแล้วโยมเอ๋ย”

ครั้นตื่นเช้าวันใหม่ก็ลงไปถึงบ้านแก้ง เขามารวมใส่บาตรในวัดป่าบ้านแก้ง เป็นวัดร้างไม่มีพระ ฉันเสร็จก็ลาเดินทาง เขาไปส่งพอจะไม่หลงแล้วก็ให้เขากลับ เดินคนเดียวไม่เกี่ยวกับเพื่อน ล่องชายเขาตามทิศตะวันตก ค่ำบ้านค้อพอดี ตื่นเช้าบิณฑบาตฉันเสร็จเดินทางต่อ ค่ำวัดป่าสุทธาวาสพอดี พักอยู่ที่นั้น ๓ คืน สมัยนั้น พระอาจารย์กู่ อยู่ที่นั้น ไปกราบองค์ท่าน องค์ท่านถามข่าวคราวรู้จักความหมายทุกประการแล้ว องค์ท่านให้อุบายว่า

“ใครจะไปหาองค์ท่านพระอาจารย์มั่น ต้องยอมตัวเป็นคนโง่ให้องค์ท่านเข่นจึงจะอยู่ได้ แม้ผมบางครั้งองค์ท่านดุด่าเหมือนเณรน้อย”

แล้วองค์ท่านย้อนถามคืนมาว่า “คุณมาพักขณะนี้ได้อุบายอะไรบ้าง”

กราบเรียนว่า “ได้ คือ การไปมอบกายถวายตัวเพื่ออยู่กับพระอาจารย์มั่น อย่าสำคัญตัวว่าฉลาด ไม่เหมาะสมส่วนใดยอมให้องค์ท่านว่ากล่าวได้ทุกเมื่อ”

“เออ ดีหละ ฟังเทศน์ออกนะ ผมขออนุโมทนาด้วย จงไปโดยเป็นสุขเถิด แต่ขอให้พักถ้ำผาแด่นก่อนสักคืนสองคืน เพราะได้มาใกล้แล้วจะเสียเที่ยว จากนี้ไปถึงถ้ำประมาณสิบสี่กิโลเมตรกว่าๆ”

ได้เวลาสามคืนแล้ว ฉันเสร็จก็กราบลาองค์ท่านไป ผ่านบ้านดงมะไฟถึงบ้านนากับแก้ แล้วขึ้นภู ถึงถ้ำผาแด่นประมาณบ่าย ๔ โมงเย็น แต่มีหลวงพ่อศรีกับเณรองค์หนึ่งประจำอยู่นั้น และที่พักถ้ำนั้นก็พอดีสององค์เท่านั้น แต่ก็ไม่ไปเบียดเสียดท่าน ไปหาที่พักเอง ไกลท่านต่างหาก รุกขมูลอยู่ร่มไม้ จิตใจก็สงบเยือกเย็น ไม่ได้ร้องเรียกหาความกลัวมาเป็นเจ้าหัวใจพอที่จะเป็นอุปสรรคของภาวนา นึกในใจว่า ถ้าเรามีโอกาสมาพักข้างหน้า เราจะมาพักองค์เดียว เพราะว่าใจเราดูดดื่มสถานที่ เพราะเป็นต้นไม้สูงร่มรื่น อากาศเยือกเย็นดี หลังพลาญหินที่ออกมารับอากาศเป็นบางครั้ง ก็โปร่งดี มีเนื้อที่ราบเรียบบ้าง

ถ้ำคำบงเป็นถ้ำมืด แต่มีน้ำไหลรินอยู่จากหินแตก สูงประมาณสองเมตร เป็นห้องหินสรงน้ำในตัว ก็ไม่ไกลจากที่พักประมาณ ๓ เส้น ก็รู้ได้ชัดว่า สถานที่นี้ต้องเป็นสถานที่พักวิเวกเพียรธรรมของผู้หวังพ้นทุกข์ในสงสารโดยแท้ ไม่เป็นสถานที่ของผู้มุ่งหวังปัจจัยสี่อามิสวัตถุนิยมใดๆ ทั้งสิ้น

แต่สถานที่ภายใน คือสถานที่จิตใจอันเป็นมรดกตั้งเดิมนั้น รู้ดีอยู่ขาดตัวแล้ว จะไปไหนมาไหนก็ยกไปได้ เพราะเป็นมรดกเบาไม่ได้หาบไม่ได้หิ้ว ไม่ได้กลัวว่า โจรจะปล้นเอาลักเอา ไม่กลัวปลวกจะกัดไฟจะไหม้ แต่...แต่ตรงกันข้าม ถ้าทำให้หนักก็หนักได้ หนักจนถึงกายแตกคือผูกคอตนตายก็มี เพราะตนเป็นฝ่ายสัจจะจริงตามสมมติ จะคัดค้านเป็นมะพร้าวตาเดียว เป็นกระต่ายยืนขาเดียวก็ไม่ได้ เพราะจะเป็นผู้ไม่รู้จักสมมติไป

เมื่อไม่รู้จักสมมติจะรู้จักวิมุตติอย่างไรได้ เมื่อไม่รู้จักร้อนจะรู้จักเย็นได้อย่างไร เมื่อไม่รู้จักได้จะรู้จักเสียอย่างไรได้ เมื่อไม่รู้จักถูกจะรู้จักผิดได้อย่างไร เมื่อไม่รู้จักบาปจะรู้จักบุญอย่างไรได้ เมื่อไม่รู้จักข้อปฏิบัติจะปฏิบัติอย่างไรได้ เมื่อไม่รู้จักข้อเว้นจะเว้นอย่างไรได้ จะพรรณนาข้อนี้มากมายก็มีความหมายอันเดียวกัน

๏ ความเห็นเป็นยาเสพติด

ธรรมดาปุถุชนคนหนาย่อมเห็นผิดเป็นชอบ เป็นนายหน้าของเจตนาขันธสันดานเป็นยาเสพติดตราบใด เห็นโทษด้วยตนเองเป็นตอนๆ ไปจึงจะกลับได้ตราบนั้น

ตรงกันข้าม ธรรมดานักปราชญ์ย่อมเห็นชอบเป็นชอบไปเป็นตอนๆ คูณทวี เพราะความเห็นชอบเป็นนายหน้าของเจตนา เป็นยาเสพติดไปในทางชอบ ไม่ลำบาก แต่ขอยกเว้นพระอรหันต์ไม่ควรเอาองค์ท่านมาปนเปกับยาเสพติดใดๆ เลย จะกลายเป็นการกล่าวตู่ไม่รู้ตัว เดี๋ยวก็จะถูกกล่าวตู่ว่าเป็นยาเสพติด บิณฑบาต ฉัน ดื่ม พูด คิด เทศน์ นั่ง นอน ยืนเดิน สงบ รู้โต้ตอบอุเบกขาสารพัด ธรรมดาปุถุชนคนหนา (เว้นพระโสดาบันเสียเป็นต้นขึ้นไป) ยอมกล่าวตู่ พุทธ ธรรม สงฆ์ อยู่ในทางตรงๆ และทางอ้อม ติดขันธสันดานอยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน แบบรู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวทั้งหมดเลยก็ว่าได้ไม่ผิด เช่นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เขาก็ตอบพุทธศาสนาว่า

“ฆ่าตัวเล็กๆ มันบาปเพราะกินไม่อิ่ม ฆ่าตัวโตๆ มันจึงเป็นบุญเพราะบุญท้อง สุราเมรยะระยะนี้ กินเป็นระยะๆ มันไม่บาปหรอก”

“อบายมุขทุกประเภทมันเป็นเหตุไม่ให้ฉิบหายอยู่ซึ่งหน้า ซึ่งตาดอก มันพอได้แก้แค้นอยู่น่ะ มึงว่ายังไง กูก็ว่าอย่างนั้นแหละ”

แล้วก็เที่ยวเตร่ไปยุ่งเหยิงกับพระ

พระบางกลุ่ม บางบุคคล บวชพ้นฆราวาสแล้ว เพื่อพ้นทุกข์ในสงสาร คำสั่งและคำสอนของท่านหนักไปในศีลธรรมแท้ เมื่อท่านเทศน์คำใด วรรคใด ตอนใด ก็ไปผูกเอาเลขๆ ผาๆ เสียเวลาทั้งท่านและผู้เข้าไปหา ทั้งสองฝ่ายไร้ประโยชน์ กับทั้งไม่มีสง่าราศีแก่ท่าน และสำนักของท่าน และผู้เข้าไปหาด้วย เหล่านี้แหละเรียกว่า กล่าวตู่พระพุทธศาสนา พร้อมทั้งเหยียบย่ำทำลายพระพุทธศาสนาโดยไม่รู้ตัวและถือเป็นของสนุกอีก มันเป็นปฏิปทาทุกข์ล้วนๆ แล้วไม่มีสุขมาเจือปนพอที่จะหลงเลย

แต่พระบางกลุ่มบางจำพวกที่บวชเพื่อปัจจัยสี่ วัตถุนิยมเป็นเจ้าหัวใจ ก็พลอยไปเป็นพรรคด้วย พูดน้อยไม่พอตาย พูดหลายตายโหง แผ่นดินทุกหย่อมหญ้า แทนที่จะเป็นสถานที่พักภายนอกเพื่อบำเพ็ญพัฒนาสร้างคุณงามความดี เพื่อให้พ้นจากความทุกข์ด้านจิตใจ ให้สูงส่งจากระดับที่ลุ่มหลงอยู่มาเป็นเวลาช้านาน กลายเป็นหลุมถ่านเพลิง พร้อมทั้งทิ้งฟืนใส่ไม่หยุดยั้งได้ ฟืนก็เป็นฟืนทิพย์ จิตใจที่ห่างเหินออกจากศีลธรรม เรียกว่าพัฒนาฟืนทิพย์เผาโลกโดยไม่รู้ตัวแต่ละรายแล้ว

๏ ไตรสิกขา

ไฟฟืนทิพย์เผากิเลสนั้นจะเอามาจากไหนเล่า พระบรมศาสนาและพระอริยสาวกพระอริยสาวิกาของพระองค์ทรงหาไว้แล้ว จะเผาจะสุมอยู่ทั้งหมดทั่วทั้งไตรโลกาก็ไม่หมดฟืน เป็นไฟก็จะเผาโดยนัยเดียวกันคือศีล สมาธิ ปัญญา ที่ชี้ลงสู่หัวใจทุกๆ รูป ทุกๆ นาม

อริยธัมเม ฐิโต นโร (อริยธรรมตั้งอยู่ที่นรชน) ศีล สมาธิ ปัญญา ทางพระพุทธศาสนานี้เอง จะว่าเป็นกองดับเพลิงโลกก็ถูก จะว่าเป็นยาโอสถก็ใช่ จะว่าเป็นไฟเป็นฟืนเผากิเลสก็ถูก จะว่าเป็นแว่น ส่องตาส่องใจไปสู่ทางร่มเย็นก็ได้ไม่ผิด จะว่าศีลมรรค สมาธิมรรค ปัญญามรรค ศีลผล สมาธิผล ปัญญาผลก็ได้ทั้งนั้น จะว่าจิตมรรค จิตผลก็ได้ทั้งนั้น ใช้สำนวนโวหารหลายอัน แต่มีความหมายเดียวกัน เหมือนแกงหม้อใหญ่ แต่เมื่อลงมือฉันแล้วก็มีความหมายว่าอิ่มอยู่ที่ท้องขณะเมื่อฉันพอ ขึ้นอยู่กับภาพพจน์ของจิตที่มีสติปัญญาจะรู้เท่าทันเทียมถึง

ศีล สมาธิ ปัญญานี้ปรารภเป็น ติกะ หมวด ๓

ถ้าจะขยายเป็นมูลกระจายออกไป ก็ครบแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์

ถ้าจะย่นลงสั้นก็ เอกจิต เอกธรรมในปัจจุบัน

ถ้าจะย่นลง ๒ ก็ กาย กับ ใจ ก็ว่า ธรรมกับวินัย ก็ว่า รูปขันธ์นามขันธ์ ก็ว่า จะว่าไปน้อย ไปมาก ก็ออกจากผู้ปัจจุบันนี้ จักนับไปกี่กองกี่ล้านๆ โกฏิๆ อสงไขย ก็ออกไปจากหนึ่งในปัจจุบัน จะตามอดีตก็พุ่งออกไปจากปัจจุบัน จะคาดหมายหรือทำนายทายทักในอนาคตก็พุ่งออกไปจากปัจจุบัน จะจริงเพียงไหนหรือไม่จริงเพียงไหนขึ้นอยู่กับปัจจุบันจะรอบคอบ ไม่เป็นหน้าที่จะไปจับผิดจับถูกกับอดีตอนาคต

ในทางธรรมฝ่ายปรมัตถ์อันลึกซึ้ง ผู้ไม่รู้จักรสชาติของปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรมแล้วย่อมหนักใจในการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา และก็ไม่รู้จักการขยายออก และไม่รู้จักย่นเข้า ผิดหลักของ สังคโห คือ ย่นเข้ามา ผิดหลักของ อสังคโห ที่ไม่สงเคราะห์ย่นหรือขยายออก เมื่อรู้จักแล้วจะขยายหรือไม่ขยายก็ไม่สงสัยในโวหารน้อยและมาก

ย้อนคืนมากล่าวเรื่องลาออกจากภูผาแด่น เดินทางต่อไปพักอยู่หนึ่งคืนแล้วบิณฑบาต ฉันเสร็จแล้วเวลาประมาณบ่าย ๒ ก็ลา เดินทางลัดไปค่ำบ้านนานกเค้า

พอดีวันนี้ได้พักนอนกลางทุ่งทางทิศตะวันออกบ้านเขา แต่อากาศก็มีหนาวซ้ำท้ายฤดูอยู่บ้าง ปูผ้านอนลงบนแผ่นดินโต้งๆ ไม่มีใบไม้รอง ตองฟางก็ห่างลักลั่นเพราะโคกระบือกัดกินหมด มุ้งก็ไม่ได้กาง กางแต่กลด แล้วก็วางกลดตะแคงลงให้เป็นเงื่อมแล้วผินหัวใส่ ส่วนกลางตัวและขาก็ไม่หุ้ม นอนกำหนดลมหายใจออกเข้า จิตใจและสติอยู่กับลมอันมาถูกต้องแบบเบาๆ ไม่ฟุ้งซ่านไปทางอื่นเลย ตาใสแจ๋วไม่ง่วงไม่เหงา คล้ายกับว่าไม่หลับ เพราะไม่ปรากฏว่าฝันอะไร กายใจเบามาก แต่ผ้าจีวรที่ห่มเฉวียงบ่านั้นด้านกลางตัวลงไปถึงแข้งเปียกด้วยหมอกหมด ส่วนฝ่าเท้าไม่ได้เอาผ้าคลุมเพราะเกรงจะสกปรก เพราะเท้าไม่ได้ล้าง

ตื่นเช้าได้เวลาเข้าไปบิณฑบาตบ้านนานกเค้า ออกมานอกริมบ้านเขา ฉันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ลาเขาเดินทางตามชายเขา ตรงไปทิศตะวันตก ข้ามหนทางรถยนต์เส้นจังหวัดสกลนคร ผ่านไปกาฬสินธุ์ สมัยนั้นรถยนต์ยังไม่ได้แล่นไปกาฬสินธุ์ เพราะทางยังไม่เสร็จ แล้วผ่านบ้านโพนงาม ถึงบ้านพระคำภูค่ำมืดพอดี แล้วพักวัดร้าง เช้าบิณฑบาตฉันเสร็จ เดินทางต่อผ่านบ้านอูนดง ถึงวัดป่าบ้านหนองผือประมาณเที่ยงวัน จิตใจก็เบาขึ้นมากนัก

รูปภาพ
พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน


๏ มอบกายถวายชีวิตต่อพระอาจารย์มั่น

ขณะนั้นองค์ท่านกับคณะสงฆ์กำลังทำผ้ารองก้นบาตร องค์ท่านพระอาจารย์ก็รีบห่มผ้าเฉวียงบ่านั่งเรียบอยู่ วางบริขารไว้ที่ควรแล้วก็กราบองค์ท่าน

องค์ท่านกรุณาถามว่า “มาจากไหน”

กราบเรียนว่า “มาจากถ้ำพระเวส”

ถามว่า “ภาวนาเป็นอย่างไร”

กราบเรียนว่า “ยังไม่เป็นอะไร คงเป็นเพียงว่าศรัทธาเท่านั้น”

แท้จริงอยากจะกราบเรียน เรื่องเสียงตูมลงจนภูเขาทั้งลูกกระเด็นนั้นอยู่แต่ไปใหม่ก็เก็บไว้เสียก่อน เพราะมีพระจ้องคอยฟังคำเรียนถวายอยู่มาก เพราะยังไม่คุ้นไม่เชื่องกับท่านองค์ใด คล้ายกับว่าอวดดีเกินไป พลิกจิตตั้งใจดีๆ แล้วก็หมอบลงจรดพื้นกระดานศาลาไม่เงยหน้าขึ้น กล่าวว่า

“ขอมอบกายถวายชีวิตต่อพระอาจารย์ ผูกขาดทุกลมปราณ ตลอดทั้งคณะสงฆ์ในทีนี้ทุกๆ องค์ด้วย ข้าน้อยว่าจะมาแต่ปีกลายนี้ แต่ท่านเจ้าคุณเทพกวีบอกว่าให้ไปหัดภาวนากับหลวงพ่อบุญมี วัดป่าหนองน้ำเค็ม เสียก่อนในปีนี้”

องค์ท่านได้ฟังแล้วก็บอกพระเณรเอาบริขารไปที่กุฏิที่ว่าง กราบแล้วก็ตามบริขารไปที่พัก

ขณะนั้นเป็นเดือนเมษายนข้างขึ้น แต่ลืมวันที่เพราะไม่ได้ดูปฏิทิน เป็น พ.ศ. ๒๔๘๙ ขณะนั้นอาจารย์มหาบัวก็อยู่นั้นก่อนข้าพเจ้าแล้ว พระอาจารย์วันก็ไปก่อนเดือน แต่เป็น พ.ศ. เดียวกัน อาจารย์ทองคำก็ไปอยู่ก่อนพระอาจารย์วัน แต่เป็น พ.ศ. เดียวกันอีก เมื่อคิดคืนหลังแล้วเป็นธรรมสังเวชถึงใจไม่จืดจาง

เมื่อล่วงถึง ๕ วันแล้วก็เข้าไปกราบเท้าขอนิสัย องค์ท่านก็ได้กรุณารับ พระอาจารย์มหาบัว ได้โอกาสลับหลังหลวงปู่มั่นแล้วก็กรุณาเตือนว่า “เอาให้ดีนะ เมื่อคุณได้มอบกายถวายตัวกับองค์ท่านแบบแจบจมอย่างนี้แล้วต้องเข่นหนักนะ เพราะองค์ท่านมีความหมายว่าจะจริงเหมือนที่มอบกายถวายตัวหรือไม่ หรือเป็นเพียงมายาว่าเปล่าๆ แล้วจะแสดงการสู้ข้อต่อครูเหล่านี้เป็นต้น เพราะธรรมดาเหล็กเมื่อเอามาให้ช่างตี ช่างก็ต้องตี พอจะเป็นมีดเป็นพร้าก็ต้องให้รู้จัก ถ้าเป็นเหล็กก้นเตาก็ใช้ไม่ได้ คืนให้เจ้าของเดิม ถ้าเป็นเหล็กแข็ง เผาไฟแดงๆ แล้วก็ตีลงไปอย่างหนักนะท่าน แต่การตีค่อย ตีแรง ไม่เป็นหน้าที่ของเหล็กจะไปผูกขาดตั้งกฎไว้ผูกมัดช่างผู้จะตีนะท่าน สิ่งเหล่านี้ท่านต้องรู้ล่วงหน้าไว้นะ ผมนึกสงสารท่าน เพราะเป็นคนชาวอุดรด้วยกัน แม้ตัวของผม ท่านก็เข่นมามากแล้วด้วยอุบายต่างๆ ธรรมดาพ่อแม่ถึงจะเข่นลูกๆ เต็มภูมิสักเพียงไรด้วยอุบายต่างๆ นานาก็ดี ยังมีเมตตาอยู่เต็มภูมิและถือว่าเป็นลูกๆ อยู่เต็มภูมินั้นเอง”

ในขณะที่พระอาจารย์มหาเทศน์ให้อุบายอยู่นั้น ข้าพเจ้ายกมือประนมฟัง นั่งนิ่งพิจารณาตามกระแสที่เทศน์ พอเสร็จองค์ท่านก็กลับที่พักของท่าน เมื่อพิจารณาแล้ว องค์ท่านบอกขุมทรัพย์เอาเพชรเอาพลอยไว้ให้เราเป็นทุน องค์ท่านสมภูมิเป็นมือขวาของหลวงปู่มั่นในยุคบ้านหนองผือแท้ๆ

ครูบาอาจารย์ชุดใหญ่องค์อื่นๆ มิได้เป็นมือขวาดอกหรือ

เป็นอยู่เต็มภูมิเหมือนกัน แต่ว่าองค์ท่านไปเป็นหัวหน้าอยู่อาวาสอื่นๆ นี้หมายเฉพาะในวงชุดยุควัดป่าหนองผือเท่านั้น มิได้หมายว่าจะลบหลู่ดูหมิ่นชุดก่อนเก่า ไม่เลยนา

เมื่อกล่าวถึงยุคบ้านหนองผือที่ข้าพเจ้าไปมอบกายถวายชีวิตอยู่ด้วย ก็จำได้กล่าวปฏิปทาของพระอาจารย์ใหญ่มั่นและพระอาจารย์มหาบัวไปในตัว เพราะท้องเรื่องสมัยนั้นสัมพันธ์กันเหมือนเดือนดาวในท้องฟ้า เพราะเป็นประวัติของตนที่เห็นด้วยตา พิจารณาด้วยใจ ได้ปฏิบัติตามองค์ท่านตามสติปัญญาของตน แต่จะเป็นเหมือนกาจับภูเขาทองหรือกบเฝ้าดอกบัว ก็เป็นหน้าที่ของตนเองจะรู้ตัวเท่านั้น และต้องการเป็นศิษย์ที่มีครูนอก ครูใน ครูจิต ครูใจ ครูปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ มรรคผลนิพพาน เพราะไม่ต้องการครูอัตโนมติ บัญญัติเอาเอง

คนเราถ้าขาดการฟังการตรึกตรอง ให้รู้จักสิ่งที่ดีหรือชั่วโดยอุบายที่ชอบแล้ว ก็จะเป็นไปได้ยาก จะเป็นเหล็กดีสักเพียงไรก็ตาม ก็ต้องได้รับเข่น รับฝน รับชุบ ลับคมจากหินก่อนจึงจะใช้ได้บ้าง มิฉะนั้นแล้วไม่สมบูรณ์ บางท่าน ตนไม่ทันได้ดีพอก็อยากจะให้ครูบาอาจารย์ยกยอท่าเดียวตลอดไป เรียกง่ายๆ ว่าบ้ายอ ก็หาได้ง่าย มีอยู่มากหลาย แต่ขายไม่ออก

ครูบาอาจารย์ดี ตอนใดลูกศิษย์ทำดี ย่อมส่งเสริม ตอนไหนทำชั่ว ย่อมกีดกัน การกีดกันถูกกาล หรือไม่ถูกกาล ค่อยหรือแรงแล้วแต่กรณี ไม่เป็นหน้าที่ของลูกศิษย์จะไปตั้งกฎเกณฑ์ผูกมัดอาจารย์ไว้ ไม่เป็นหน้าที่ของเหล็กจะไปผูกมัดช่างตีไว้ ว่าเมื่อมีผู้มาล้อมเตาอยู่มาก อย่าเผาข้าน้อยให้แดงมาก และอย่าตีข้าน้อยให้แรงมากเน้อ มันจะเสียมรรยาท ไม่เป็นหน้าที่ของเหล็กจะมาตั้งกฎเกณฑ์ได้ ช่างจะให้แขกเห็นความสามารถของช่างตีเหล็กอีกซ้ำก็ได้เป็นบางราย

เขาหักรถเข้าทาง ก็หักเวลากำลังเลี้ยวออกทาง ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วไม่ทันกับเวลา จิตใจภายในก็เหมือนกัน ขณะไหนพลิกไปทางกามวิตก ตรึกไปทางกามก็ดี พยาบาทวิตก ตรึกไปทางพยาบาท หิงสาวิตก ตรึกไปทางเบียดเบียน ต้องพลิกคืนสู่สภาพเดิม มิฉะนั้นจะเย็นเกินไปจนบูด ฉันไม่ได้ เสียท้องปวดท้องต่างๆ

รูปภาพ
กุฏิหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ณ วัดป่าบ้านหนองผือ จ.สกลนคร

รูปภาพ
“ภูริทัตตจงกรม” ทางเดินจงกรมของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต


๏ อาจริยวัตร

กล่าวต่อไปในวาระที่อยู่ในยุคหนองผือ ข้อวัตรส่วนตัวขององค์ท่าน ที่ท่านทำอะไรบ้าง เหล่านี้เป็นต้น และสอนลูกศิษย์ขนาดใด สอนญาติโยมขนาดใด จะได้กล่าวปะปนกันไป เพราะมิได้ชำนาญในการเขียนและการเรียง ดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นๆ นั้น

ข้อวัตรประจำตัวองค์ท่าน ตอนกลางคืนตีสาม ล้างหน้าบ้วนปากใส่กระโถนปากกว้างแบบเงียบๆ ห่มผ้าเฉวียงบ่า ไหว้พระสวดมนต์เงียบๆ ในห้องขององค์ท่าน บางวันก็สวดนานประมาณสามสิบนาที ได้ยินเสียงอยู่บ้าง แต่ไม่รู้ว่าสูตรใดแท้ เพราะเป็นขโมยแอบฟังทั้งกลัวด้วย ครั้นสวดมนต์เสร็จแล้วก็นั่งภาวนา ตะเกียงเล็กๆ จุดไว้นอกมุ้งกลด ภาวนาไปจนสว่างเป็นวันใหม่ได้อรุณ ลูกศิษย์ที่ไปรวมกันคอยรับเพื่อเอาข้อวัตรเช้า ในยามจะออกจากห้อง ไปคอยอยู่แบบเงียบๆ มิได้พูดกันซุบๆ ซิบๆ เลย

พอองค์ท่านกระแอมเสียงเบาๆ ก็เปิดประตูค่อยๆ เมื่อองค์ท่านเดินออกมาที่ระเบียง ต่างก็เอาข้อวัตรของใครของมัน ผู้เอาบาตรก็เอาแต่บาตร ผู้เอาจีวร ผู้นุ่งผ้าถวาย ผู้รัดประคตเอว ผู้รับผ้าเช็ดหน้าออกจากมือองค์ท่าน ผลัดผ้านุ่งแล้วยื่นถวายคืน ผู้เอากระโถนไปล้าง ผู้กวาดกุฏิ ผู้กวาดทางข้างล่างชายคา ระเบียงจงกรม ผู้คอยใส่รองเท้าสวมถวายใกล้ที่ลงบันได ผู้เอาไม้เท้าไปรอไว้ที่ศาลาฉันเพื่อจะรอถวายในเวลาเข้าบิณฑบาต ผู้เอาไฟถ่านอั้งโล่ไปวางไว้ที่ทางจงกรมหัวท้ายแห่งละอัน แล้วคอยสังเกตการณ์อยู่ตามบริเวณแถบนั้น เพราะเมื่อองค์ท่านไปศาลาจะได้เอาตามไปถวายที่ศาลาฉันอันหนึ่ง เตาหนึ่งจะได้รีบเก็บไว้ องค์ท่านเดินจงกรมก่อนไปบิณฑบาต ไม่ขาด

ได้เวลาก็เดินไปศาลาไกลจากกุฏิองค์ท่านประมาณหนึ่งเส้น ผู้รักษาไฟอั้งโล่ก็ยกไฟตามหลัง ขึ้นไปไว้ที่ใกล้องค์ท่านนั่งฉัน เพราะธาตุไฟอ่อน มีอาการหนาว และจะได้เอาผ้าอาบและผ้าคลุมตักมาอังและผึ่งเพื่อได้รับไออุ่นเพิ่มขึ้น

ให้เข้าใจว่าลูกศิษย์ที่ถือนิสัยมีอยู่กี่องค์ ก็ต้องมีข้อวัตรกับองค์ท่านทุกๆ รูป ไม่สับสนก้าวก่ายกัน ของใครของมัน ทั้งตรงต่อเวลาด้วย เป็นระเบียบเรียบร้อย เงียบสงัดไม่เกรียกราว เว้นไว้แต่องค์นั้นๆ ป่วยก็มอบให้องค์อื่นชั่วคราว เมื่อหายป่วยแล้วก็เข้าทำหน้าที่ตามเคย ส่วนงานส่วนรวม เช่น กวาดลานวัด ตักน้ำ รักษาโรงไฟ โรงฉันต่างๆ ต้องเอาใจใส่พร้อมเพรียงกันทั้งนั้น ไม่ต้องมีการตีระฆังนัดหมายให้เป็นการบังคับร้องเรียกมา เวลาของใครของมันแล้วแต่จะสังเกตไว้ ใครอ่อนแอเหลาะแหละต้องถูกเข่นต่อหน้าสงฆ์และต่อหน้าญาติโยมเสมอๆ องค์ท่านไม่ไว้หน้าใครเลย จะกล่าวข้างหน้าปะปนกันไปดอก

๏ การซ้อนผ้าบิณฑบาต

จะกล่าวการเตรียมไปบิณฑบาต เมื่อองค์ท่านเดินไปถึงบันไดศาลา ก็มีผู้หนึ่งคอยรับถอดรองเท้าเอาเก็บไว้ที่ควร ระวังมิให้น้ำถูก เพราะรองเท้าหนัง องค์หนึ่งถือกระบวยล้างเท้าด้วยมือขวา มือซ้ายถูตามแข้งและฝ่าเท้าทั้งใต้ฝ่าเท้าและหลังเท้า เทถูเทถูโดยเร็วและไม่ให้กระทบกระเทือนด้วย และไม่แสดงมารยาทอันไม่ตั้งใจแลบออกมาให้ปรากฏด้วย และมีผู้คอยเช็ดเท้าอีก ต้องเช็ดเร็วๆ แต่เร็วมีสติ ไม่ให้กระเทือนเกินไป ไม่ให้เบาเกินไป

องค์ท่านขึ้นไปถึงศาลาฉัน ไม่ได้นั่งลงกราบ เพราะศาลาฉันโต้งๆ ไม่มีพระพุทธรูป (ศาลามีพระพุทธรูปลงอุโบสถต่างหาก) แล้วก็ซ้อนสังฆาฏิถวายองค์ท่าน เว้นไว้แต่ท่าทางฝนจะตก ขณะนี้ต้องซ้อนช่วยกันสององค์ องค์หนึ่งม้วนลูกบวบช่วยสองสามรอบแล้วปิดรังดุมคอถวาย องค์หนึ่งปิดรังดุมใต้ถวาย การเข้าบ้านซ้อนสังฆาฏิกลัดรังดุมใต้และบนนี้ องค์ท่านถือเคร่งมาก ตลอดถึงการนุ่งสบงที่มีขัณฑ์เข้าไปธุระบ้าน เช่น บิณฑบาตและสวดมนต์ องค์ท่านกล่าวว่า

“การห่มผ้านุ่งผ้า พระลังกาชอบเอาอนุวาตเข้าข้างในเพราะกันผืนเติมไม่ให้ซุยผุก่อนอนุวาต จะเอาอนุวาตเข้าข้างในหรือออกนอกก็ไม่ผิดวินัย จะผินเบื้องบนเบื้องล่างสลับกันไปก็ไม่ผิดพระวินัยเพราะที่ระแข้งจะได้ทนหรือสึกหรอทันกัน”

องค์ท่านอธิบายอย่างนั้น ผู้เขียนได้ฟังกับหู เห็นกับตาและชอบจำมา ถ้าไม่เขียนให้ละเอียดบ้าง ยุควัดป่าบ้านหนองผือของหลวงปู่มั่นก็จะเลือนลาง ไม่สมดุลกับผู้เขียนที่เป็นกบไปเฝ้าดอกบัว เป็นกาไปจับภูเขาทองสี่ปีเศษ เพราะยุควัดป่าบ้านหนองผือเป็นยุคสุดท้ายแห่งหลวงปู่มั่น และเก็บลูกศิษย์ก็เก็บไว้มากกว่ายุคใดๆ ในสำนัก

สิ่งใดเป็นประโยชน์แก่ลูกศิษย์ก็ทุ่มเท ทอดสะพานให้ไม่ปิดบัง ไม่ว่าแต่เท่านี้ ผ้าสังฆาฯ และจีวรขององค์ท่าน ท่านใส่รังดุมทั้งดุมคอและดุมล่างทั้งสองทาง วันหนึ่งห่มผินทางหนึ่งขึ้นสลับกันเป็นวันๆ ลูกศิษย์ผู้ไปซ้อนไปห่มให้ ต้องมีสติจำไว้จึงห่มถวายให้ถูกเป็นวันๆ จึงถูกกับธรรมประสงค์ขององค์ท่าน การจำของก๊อกๆ แก๊กๆ ประสมประสานกันไว้เป็นของประกอบปฏิปทาขององค์ท่านและลูกศิษย์ด้วย ไว้ให้สำเหนียกในปัจจุบันและอนาคต ว่าลบเลือนเปลี่ยนแปลงมาตามยุคตามสมัยเพียงไรบ้างในข้อวัตร

ถ้าเขียนข้อวัตรปฏิบัติพระเถระฝ่ายธุดงค์ในอดีตกาลยุคกรุงเทพฯก็เกรงว่าจะกระเทือนโลกปัจจุบันนี้แล้ว ผู้เขียนก็มีที่อ้างครั้งพุทธกาลเป็นศาลพิจารณาว่าเด็ดเดี่ยวประเปรียวเพียงไร มี ภิกขเว ภิกขเว ออกหน้าแล้ว ห้ำๆ หั่นๆ ซ้ำๆ ซากๆ อยู่ทุกบททุกตอน

การสำคัญตัวว่าประพฤติเคร่งในปัจจุบันของยุคเดี๋ยวนี้ก็ดี คงจะพอเป็นการพอใช้ได้ในครั้งพุทธกาลหรือประการใด การสำคัญตัวว่าเป็นมัชฌิมา คงจะเป็นจวนจะพอใช้ในครั้งพุทธกาลกระมัง การสำคัญตัวว่าหย่อนบ้าง คงจะเป็นเหลวมากจนฉันไม่ได้ในครั้งพุทธกาล ก็อาจจะเป็นได้

ครั้งพุทธกาล (ถ้า) เดินจงกรมจนเท้าแตก จึง (จะ) ว่าเคร่งจนเกินไป แต่ทุกวันนี้เดินไปชนหินตอเลือดออกบ้าง ก็ว่าตนอดทนและเคร่ง ตนไม่มีสติก็ไม่ว่าเสียแล้ว น่าควรคิดไว้

ผู้เขียนเล่า ดีขนาดไหนล่ะ

ผู้เขียนก็ไม่ดีดอก มีแต่คำพูด แต่เขียนไว้เพื่อเตือนตนในยามที่ควรเตือน และ (เรื่อง) การเขียนการแต่ง หลวงปู่มั่นก็ไม่ค่อยส่งเสริม เพราะองค์ท่านถือว่าพระพุทธเจ้าเขียนแต่งไว้พอแล้ว

เรื่องบิณฑบาต พอหกโมงเช้า ธรรมเนียมบ้านหนองผือเขาก็ตีขอไม้ตะเคียนเป็นสัญญาณดังไกล เป็นสามบทติดๆ กัน หมายความว่า พอเตรียมตัวใส่บาตรแล้ว พวกเราชาวบ้าน แต่พอพระผ่านละแวกบ้านเขาก็ตีขออีกสามบท เขารวมกันเป็นกลุ่มยืนเรียงรายกันเป็นทิวแถว แต่ละกลุ่มเขามีผ้าขาวปูม้ายาวๆ ไว้เรียบ ส่วนม้านั่งของหลวงปู่มั่นเขาทำพิเศษต่างหากสูงกว่ากัน พอยืนรับบิณฑบาตแล้วก็นั่งให้พรเขาพร้อมกัน

ไปกลุ่มอื่นอีกก็เหมือนกัน มีสามกลุ่มแล้วก็กลับวัด หลวงปู่มั่นค่อยกลับตามหลัง กับพระผู้ติดตามองค์หนึ่งตามหลังกลับมาด้วย มีโยมผู้ชายรับบาตรพระผู้ใหญ่มาวัด วันละสี่ห้าหกคนไม่ขาด ฝ่ายพระผู้น้อยที่กำลังถือนิสัยและเณรก็ดี รีบกลับให้ถึงวัดก่อน เพื่อจะได้ทันข้อวัตรของครูบาอาจารย์ เป็นต้นว่า ล้างเท้า เช็ดเท้า รับผ้าสังฆาฯ และจีวร หรือเตรียมแต่งบาตรแต่งพก เป็นต้น

แต่ในฤดูพรรษา พระเณรทั้งหลายเข้าเขตวัดแล้วไม่รับอาหารอีก จะได้จัดแจงแต่งถวายแต่เฉพาะหลวงปู่ มีบดอาหารใส่ครกบ้าง ซอยผัก บดในครกให้ละเอียดบ้าง เพราะองค์ท่านจะเคี้ยวไม่ละเอียดเพราะไม่มีฟัน ใช้ฟันเทียมแทน แล้วก็จัดข้าวใส่บาตร องค์ท่านมีข้าวเจ้าปนบ้าง ส่วนกับนั้นจัดใส่ภาชนะถวายวางไว้ใกล้ แล้วองค์ท่านเอาใส่เอง

องค์ท่านฉันรวมในบาตรทั้งหวานและคาวด้วย ไม่ซดช้อนด้วย โอวัลตินนั้นเอาใส่แก้วไม่ใหญ่โต ขนาดกลาง ใส่พอดีพอครึ่งแก้วตั้งไว้มีฝาครอบ พอฉันอาหารอิ่มแล้ว องค์ท่านก็ฉันประมาณสามสี่กลืน ไม่หมดแก้วสักวัน

แต่ก่อนจะลงมือฉัน ก็ให้พรเป็นพิธีพร้อมกัน ธรรมดาบ้าง สัพพพุทธาบ้าง ถ้าวันข้าวประดับดิน และวันสารท สวดพาหุงบ้าง

การให้พร (โดยที่) ไม่ได้ประนมมือ (หรือ) ทั้งสวดพาหุงทั้งใส่บาตรขณะเดียวกัน (นั้น) องค์ท่านไม่พาทำเลย เพราะถือว่าไม่เป็นการเคารพธรรม

ใส่บาตรเรียบร้อยก่อนจึงสวด ถ้าไม่สวดก็ให้พรธรรมดา และก่อนจะลงมือฉันองค์ท่านก็ทอดสายตาลงพิจารณาอาหารในบาตรอยู่สักครู่พอควร จึงลงมือฉัน และ (ถ้า) พระเณรยังไม่เสร็จ ยังจัดแจงของเจ้าตัวแต่ละรายยังไม่เสร็จตราบใด องค์ท่านก็ยังไม่ลงมือฉันก่อน

เมื่อลงมือฉันแล้ว ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ องค์ท่านก็ไม่กล่าวไม่พูดอันใดขึ้น ถ้าจำเป็นจริงๆ กลืนคำข้าวแล้วจึงพูด แต่น้อยที่สุด เป็นระเบียบเรียบร้อยมาก มีสติอยู่กับความเคลื่อนไหวของกาย ในการจะหยิบ จะวาง จะเหยียดแขน คู้แขน แลซ้าย แลขวา

กิจวัตรประจำวันขององค์หลวงปู่มั่นย้อนมาปรารภเรื่องอาหารที่เข้ามาในวัดแล้วไม่รับในฤดูพรรษา เป็นมติของหลวงปู่มหาพาหมู่ทำ เพื่อตัดรอนความยุ่งยากจุกจิกออกจากหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นเป็นเพียงปรารภว่า

“อาหารที่ได้มาเป็นธรรมตกลงในบาตรแล้ว พระจะแจกกันในวัดหรือนอกวัดก็ไม่เป็นไรหรอก ครั้งพุทธกาลเบื้องต้นที่มีสาวกขึ้นใหม่ๆ ห้าองค์ มีโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ องค์หนึ่งจัดให้เฝ้าบริขาร นอกนั้นไปบิณฑบาตมาเลี้ยงกันเป็นบางคราว เมื่อพระไม่แจกกันฉันกันใช้ จะให้ใครมาแจกให้เล่า แต่เราไม่บังคับในส่วนนอกวัดและในวัด แล้วแต่ศรัทธาเป็นเอง” ดังนี้

และการเว้นไม่ฉันอาหาร (ใน) ยุคหนองผือหลวงปู่มั่น (นั้น) ไม่ค่อยได้ทำกัน ถึงมีผู้ทำ ก็เพียงเว้นวันเดียว คือปี ๒๔๘๙ นั้นเอง มีสิบเอกผั่นอดอาหารวันหนึ่งเท่านั้น ชะรอยจะเป็นเพราะข้อวัตรจำกัด ใครๆ ก็ไม่อยากขาดข้อวัตรอันเกี่ยวกับหลวงปู่มั่นและส่วนรวม

เท่าที่สังเกตดูในยุคนั้น ท่านพระอาจารย์มหาบัว ที่เรียกเดี๋ยวนี้ว่า หลวงปู่มหา เวลาที่อยู่กับหลวงปู่มั่น คงจะนึกอยากจะเว้นอาหารอยู่ แต่ (ท่าน) มีเหตุผลในใจว่า เราเป็นพระผู้ใหญ่ (เมื่อ) อยู่กับองค์ท่าน เราจะได้สังเกตองค์ท่านว่าวันหนึ่งๆ องค์ท่านฉันได้เท่าไร ข้าวหมดขนาดไหน กับอะไรหมดขนาดไหน เราจะได้สังเกตประจำวัน เพื่อจะจัดถวายให้ถูกเท่าที่มีมาโดยเป็นธรรม แม้องค์ท่านหยิบใส่บาตรเองก็ดี เราจะสงวนรู้ว่าหยิบอะไรบ้าง เพราะเราเป็นห่วงองค์ท่านมาก เมื่อองค์ท่านฉันได้บ้างเราก็พลอยเบาใจ เมื่อฉันไม่ได้เราก็สนใจในเรื่องนี้

หันมาปรารภเรื่องนี้ติดต่อกันไป

หลวงปู่มั่นฉันอิ่มขนาดไหน

ขนาดพอกลางๆ ถ้าอิ่มเร็วนัก พระเณรจะเดือดร้อน ถ้าอิ่มช้านัก พระเณรจะเอาเป็นตัวอย่าง คงจะเป็นแบบนี้ ที่ว่านี้ (ว่า) ตามสังเกตแล้วเดากัน องค์ท่านอธิบายเป็นเพียงว่า อืดอาดนักก็ไม่ดี หิวนักก็ไม่ดี พอดีของใครของมัน ให้สังเกตเอา นั่ง นอน ยืน เดินก็เหมือนกัน นั่งหมายความว่านั่งภาวนา ยืน เดิน นอน ก็เหมือนกัน แต่ถ้านอนหมายถึงนอนหลับ วันหนึ่งคืนหนึ่งหลับสี่ชั่วโมงพอดี แต่ฉันนั้น ยังอีกสี่ห้าคำจะอิ่มให้หยุดเสียดื่มน้ำแล้วพอดี ส่วนเดินจงกรมนั้นวันหนึ่งคืนหนึ่งอย่างน้อยก็สาม-สี่-ห้าชั่วโมงก็ได้

ที่ว่ามานี้หมายความว่าปกติ ไม่ได้เจ็บป่วย การเดินจงกรมนั้นบางทีข้าพเจ้า (เดิน) แต่ห้าโมงเย็นตลอดรุ่งก็มี เดินภาวนา ไม่ใช่เดินเอาเวลา

ปรารภเรื่องฉันอิ่มเสร็จแล้วของหลวงปู่มั่น องค์ท่านเดินไปส้วม พระเณรต้องรีบล้างบาตรเก็บบริขารให้ทันองค์ท่าน

การไปส้วมก็มีผู้ตามไปรับใช้ เป็นต้นว่า รีบไปเทน้ำใส่กระบอกไว้ ถ้าอากาศหนาวก็รีบเอาน้ำร้อนไปชงไว้ที่กระบอกชำระ หรือใส่กระป๋องพิเศษชงแล้วตั้งรอไว้ แล้วก็คอยอยู่ตามบริเวณนั้น เมื่อท่านออกมาก็ได้รีบรับเอากระป๋องกับองค์ท่าน การรับของจากมือองค์ท่านก็ดี การยื่นอะไรๆ ถวายองค์ท่านก็ดี ต้องสองมือน้อมเคารพพอควร จะเหลาะแหละคุ้นเชื่องจนลืมตนไม่ได้ ถ้าเราพลิกมารยาทประมาทแพล็บเดียวองค์ท่านก็รู้ ภายหลังไม่ให้เข้าใกล้เลย ใช้อุบายเข่นต่างๆ นานาอเนก ถ้าแก้ตัวกลับประพฤติดีทันก็เป็นการดี ถ้าไม่แก้ตัวแล้วถูกไล่หนีไม่รอช้า

อนิจจาเอ๋ยอย่าได้นอนใจเลย อยู่กับองค์ท่าน ถ้าเป็นช่างเหล็ก (ท่าน) ก็ไม่นอนเฝ้าเหล็กอยู่เฉยๆ ต้องตีและเข่นให้เป็นมีดเป็นจอบเป็นสิ่วเป็นขวาน ถ้าเป็นเหล็กก้นเตาใช้ไม่ได้ ก็ขว้างทิ้งเพราะเป็นเหล็กส่วนตัว

(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.พ. 2013, 14:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7836

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๏ การฉันในวัดป่าบ้านหนองผือ

ย้อนมาปรารภในการเตรียมจะฉันหรือฉันอยู่ก็ดี ธรรมดานอกพรรษาต้องมีการแจกอาหารในศาลาโรงฉันจิปาถะขลุกขลุ่ย พระองค์ใดเป็นห่วงบาตรตนเองในยามเตรียมจัดแจงกัน ไม่ประเปรียวหูหลักตาไวช่วยแจก เกรงแต่หมู่ไม่ให้ นั่งเฝ้าบาตร องค์นั้นแหละต้องถูกเทศน์อย่างหนักในขณะนั้นด้วย

ถ้าองค์ไหนยอมเสียสละในใจว่า ถ้าหมู่ไม่พอใจเอาใส่ให้เรา เราก็ไม่ต้องฉัน เราจะพอใจช่วยแจกช่วยทำกิจอันเกี่ยวกับพระอาจารย์และหมู่เพื่อนให้เรียบร้อย เสร็จแล้วจึงมานั่งเฝ้าบาตรตน ผู้ใดปฏิบัติอย่างนั้นเป็นมงคลในสำนัก แม้ถึงคราวพลาดถูกเทศน์ในเรื่องอื่นๆ ก็ไม่ถูกแรงนัก เพราะอำนาจความกว้างขวางในสำนักเป็นเครื่องดึงดูด ทำให้เรื่องอื่นผ่อนคลายไปในตัว และก็เป็นที่สะดวกของครูบาอาจารย์และหมู่เพื่อนด้วย แม้ปัจจัยสี่จีวรเสนาสนะเภสัช เจ้าตัวก็ต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของครูบาอาจารย์และหมู่เพื่อนจะสงเคราะห์ตน โดยตนไม่ต้องพิถีพิถัน ภิกษุสามเณรใดปฏิบัติแบบนี้ในสำนักเป็นธรรมวินัยอันลึกซึ้งด้วย เป็นที่เกรงขามของหมู่เพื่อนในตอนนี้อีก

จะกล่าวถึงในเวลากำลังแจกอาหารอีก สภาพศาลาฉันในวัดป่าบ้านหนองผือสมัยนั้นเป็นศาลามุงหญ้าคาและปูฟาก กว้างประมาณสี่เมตร ยาวประมาณห้าเมตร ใช้กระโถนกระบอกไม้ไผ่บ้าน เวลากำลังแจกอาหารต้องนอนกระโถนไว้เรียบๆ ก่อน แจกอาหารแล้วจึงตั้งกระโถนขึ้นได้ เพราะฟากขลุกขลัก เดินไปมากระโถนจะล้ม

ในขณะกำลังฉันเงียบสงัดมาก ไม่มีองค์ใดจะเคี้ยวฉันอันใดให้มีเสียงกร๊อบๆ แกร๊บๆ เลย เช่น ถั่ว มะเขือแดงที่ได้ฉันเป็นบางยุคบางสมัย เมื่อเฉือนเป็นชิ้นๆ แล้วก็ตาม เมื่อมือหยิบส่งเข้าประตูปากแล้วก็ต้องสำนึกว่า เมื่อเราเคี้ยวพรวดลงทีเดียวจะมีเสียงกร๊อบหรือไม่ ถ้าเห็นว่าจะไม่มีเสียงกร๊อบแล้ว เราจึงเคี้ยวพรวดลงทีเดียว ถ้าเห็นว่าจะมีเสียงกร๊อบก็ค่อยเน้นลงให้บุบก่อนจึงเคี้ยวต่อไป ข้อนี้พระอาจารย์มหาบัวบอก ข้าพเจ้าจึงได้รู้วิธีปฏิบัติ พระวินัยก็บอกไว้ไม่ให้ฉันดังจั๊บๆ หรือซู้ดๆ แต่ดังกร๊อบมันก็ผิดเหมือนกัน เพราะมันคงเหมือนหมาเคี้ยวกระดูกและเสือกัดกระดูก

ปรารภเรื่องนี้ซ้ำๆ ซากๆ อีกก่อน เพราะยังไม่ละเอียดดี ตอนฉันอาหารเสร็จ พระอาจารย์ใหญ่ไปส้วมถ่าย ส้วมนั้นเป็นส้วมแบบโบราณ ขุดหลุมลึกประมาณสามเมตร ถวายเฉพาะองค์ท่าน กว้างเมตรเจ็ดสิบห้าเซ็นต์ ส้วมแบบโบราณมีรางปัสสาวะ ครั้นองค์ท่านเข้าไปถ่ายถอดรองเท้าเรียงคู่ไว้เรียบๆ ไม่ผินหน้าผินหลัง เปิดประตูแบบมีสติไม่ตึงตัง ปัสสาวะลงในรางปัสสาวะแล้วเทน้ำลงล้าง ถ่ายเสร็จแล้วชำระด้วยใบตองกล้วยแห้งที่พันไว้เป็นกลมๆ ยาวคืบกว่าที่ลูกศิษย์จัดทำไว้ เพราะองค์ท่านเป็นโรคริดสีดวงทวาร ในยุคนั้นไม่มีกระดาษชำระ

กระดาษที่มีหนังสือชาติใดๆ ก็ตามองค์ท่านไม่เหยียบ ไม่เอาลงในกระโถน ไม่เอาเช็ดทวารหนักทวารเบา องค์ท่านเคยอธิบายบ่อยๆ ว่า หนังสือชาติใดก็ตาม สามารถจารึกคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทั้งนั้น จึงควรเคารพยำเกรง

เมื่อถ่ายเสร็จแล้ว องค์ท่านปัดกวาดเรียบ ค่อยเปิดประตูเบาๆ ออกมาโดยสภาพไม่ตึงตังน่าเลื่อมใสถึงใจมาก เมื่อพิจารณาไปก็คล้ายกับว่าชมทรัพย์เศรษฐี แต่ชมทรัพย์เศรษฐียังมีดีกว่าชมทรัพย์โจรที่เขาปล้นมาได้ ถ่ายเสร็จเรียบร้อยทุกประการก็กลับพักกุฏิขององค์ท่าน ทำกิจธุระด้านภาวนาเฉพาะองค์ท่าน

รูปภาพ
พระอาจารย์วัน อุตฺตโม


๏ ข้อปฏิบัติต่อหลวงปู่มั่น

ครั้นถึงเวลาบ่ายหนึ่งโมงกว่าๆ องค์ท่านก็ลงจากกุฏิเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง บ่ายประมาณสี่โมงเย็นก็กวาดลานวัดพร้อมกัน ไม่มีองค์ใดจะใช้กลเม็ดหลีกเลี่ยงได้ เว้นแต่ป่วยไข้ไม่สบายหรือได้เฝ้าพยาบาลภิกษุไข้อยู่เท่านั้น

กวาดลานวัดแล้วก็รีบหามน้ำฉันน้ำใช้ไว้เต็มตุ่มไห ประมาณวันละสี่สิบปี๊บเป็นเกณฑ์ วันซักผ้าและวันมีอาคันตุกะมาพักมาก ก็ตักมากกว่า รีบหามเรียบร้อยแล้วก็รีบไปสรงถวายหลวงปู่มั่น เสร็จแล้วกลับไปสรงกุฏิใครกุฏิมัน ไม่ได้รวมกันไปสรงที่บ่อ แต่บ่อน้ำก็ไม่ไกล อยู่ในวัด ริมวัด น้ำในบ่อก็ไม่ขาดแห้งเลยสักที เป็นน้ำจืดสนิทดีพร้อมทั้งใสสะอาดเยือกเย็นด้วย มีรางไม้กว้างๆ เทใส่รางมีผ้ากรอง พระอาจารย์มหาบัวได้ดูแลเป็นหัวหน้า แต่มิได้ให้องค์ท่านตักและหาม เพียงเป็นนายหมวดนายหมู่ดูแลในตอนที่ว่าน้ำๆ ฟืนๆ ก็เหมือนกัน

และการสรงน้ำหลวงปู่ ถึงเวลาเณรและตาปะขาวต้มรอไว้แล้ว พระเณรผู้ประจำสรงน้ำไม่ได้เปลี่ยน เว้นไว้แต่ผู้ถูแข้งถูขาถวาย ส่วนผู้นุ่งผ้าผลัดผ้าถวาย และผู้ชงน้ำร้อนสรง และผู้เก็บตั่งที่นั่งสรงนั้นก็ดี ผู้รักษาไฟอั้งโล่ก็ดี ผู้รอสวมรองเท้าถวายก็ดี ไม่ได้ถูกเปลี่ยน ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ถูกเปลี่ยนเลย เพราะมีข้อวัตรเกี่ยวกับสรงน้ำถวายอยู่ และมีข้อวัตรอันอื่นเกี่ยวอยู่หลายๆ อัน เฉพาะวันหนึ่งคืนหนึ่งเป็นนิจวัตร ใครเคยถวายข้อวัตรแผนกไหนก็ต้องทำแผนกนั้นเป็นประจำ จะก้าวก่ายสับสนอลหม่านแย่งกันทำไม่ได้ (ส่วนข้อวัตรส่วนรวมด้านอื่นเป็นอีกอย่างหนึ่ง) ข้อวัตรเกี่ยวกับลูกศิษย์ทำถวายองค์ท่านประจำวันประจำคืน จะก้าวก่ายกันไม่ได้ ของใครของมัน

ข้าพเจ้ามีข้อวัตรโชกโชนอยู่กับองค์ท่านหลายอย่างอยู่มาก คือ

๑. ตื่นขึ้นมาแต่เช้ารีบติดไฟอั้งโล่เข้าไปไว้ใต้ถุนองค์ท่านให้ไอไฟส่งขึ้นเพื่อไล่อากาศหนาวเย็นไปบ้าง

๒. เมื่อองค์ท่านวิการในธาตุขันธ์ผิดปกติ ได้ถ่ายตอนกลางคืนลงที่หลุมใต้ถุน ได้รีบเก็บด้วยมือ โดยเอามือกอบใส่บุ้งกี๋ที่เอาใบตองรองแล้วเอาขี้เถ้ารองอีก กอบอุจจาระจากหลุมมาใส่บุ้งกี๋นั้น ส่วนหลุมนั้นเอาเถ้ารองหนาๆ ไว้แล้วมีฝาปิดไว้ตอนกลางวัน ค่ำมืดแล้วรีบไปเปิดไว้ เช้ามืดรีบไปตรวจดูแบบเงียบๆ เมื่อเห็นรอยถ่ายก็รีบเก็บ รีบล้างมือด้วยขี้เถ้าและน้ำมันก๊าด ตัดเล็บมือไว้ให้เรียบ ข้อที่เอามือกอบออก หลวงปู่มหาบอก แต่ว่าไม่ได้บอกต่อหน้าหลวงปู่มั่น บอกว่า “ครูบาอาจารย์ชั้นนี้แล้ว ไม่ควรเอาจอบเสียมนะ ควรเอามือกอบเอา” ดังนี้ ย่อมเป็นมงคลล้ำค่าของข้าพเจ้า

๓. เมื่อท่านออกจากห้องตอนเช้า รีบยกอั้งโล่จากใต้ถุนขึ้นไปรอรับที่ระเบียง ทั้งคอยรับผ้าเช็ดหน้าองค์ท่านที่ท่านถือมาจากห้องนอน พอครูบาวันนุ่งผ้าถวายเสร็จแล้วยกสองมือส่งองค์ท่านคืน

๔. เมื่อองค์ท่านลงเดินจงกรมตอนเช้า รีบเอาไฟตามไปไว้ที่หัวจงกรมและคอยดูแลอยู่ตามแถบนั้น เพราะเกรงท่านจะล้มใส่ไฟ

๕. เมื่อองค์ท่านไปศาลา เตรียมตัวไปบิณฑบาต จึงยกอั้งโล่ตามหลังไปด้วย ตั้งไว้ใกล้ที่องค์ท่านนั่งพอสมควร

๖. กลับบิณฑบาตแล้วรีบมาตรวจดูไฟอั้งโล่ แล้วรีบดูอาหารของตนว่าอันไหนที่บิณฑบาตมาได้ (ที่) พอจะถูกกับธาตุองค์ท่านและรีบช่วยหมู่เพื่อนในเรื่องอาหาร อย่านั่งเฝ้าบาตรของตนอยู่เหมือนกบงอยฝั่ง

๗. ฉันเสร็จแล้วรีบล้างบาตรตน รีบเช็ด เอาไปไว้กุฏิตน ตอนเที่ยงโอกาสว่างจึงตากบาตร

๘. รีบเอาบาตรท่านอาจารย์มหาบัวไปไว้กุฏิท่าน ท่านจะตากเอง

๙. รีบกลับมาเอาอั้งโล่ขึ้นไปที่พักขององค์หลวงปู่ให้ทันกับเวลา อย่าให้องค์ท่านขึ้นไปก่อนอั้งโล่

๑๐. จงสังเกตให้ดีว่าองค์ท่านร้อนแล้วหรือหนาวอยู่ อย่ารีบด่วนแต่ทางจะเอามาดับท่าเดียว

๑๑. บางวันองค์ท่านหนาวจัด แต่พักอยู่เตียงนอกห้อง ท่านนอนอยู่แต่ไม่หลับ ภาวนาอยู่นิ่งๆ ต้องขยับไฟเข้าหาใกล้เตียง ถ้าท่านห้ามจึงถอยไฟออก ถ้าท่านไม่ห้าม ท่านนิ่งภาวนาอยู่ เราต้องนั่งเฝ้าอยู่ใกล้เตียงนั้นนั่งอยู่ ถ้าหากว่าองค์ท่านพูดถามอะไร เราตอบเฉพาะตรงคำถาม อย่าลาม และก็ไม่แน่นอน บางทีได้เฝ้าอยู่จนเที่ยงวันก็มี ตอนหัวค่ำก็ต้องได้จุดได้รักษาวนๆ เวียนๆ อยู่นั้นแหละ สิ่งเหล่านี้มิใช่องค์ท่านและสงฆ์บังคับ ตนมีศรัทธาเอง

๑๒. เมื่อคราวซักหรือย้อมถวายองค์ท่าน เราก็ต้องอยู่กองย้อม กองซัก กองตาก กองพับไว้ กองตัด (คือ) หลวงปู่มหา กองเย็บ (คือ) ท่านอาจารย์วัน กองถวายยาแก้โรค (คือ) ท่านอาจารย์วัน (และ) อาจารย์ทองคำ ปูที่นอนและเอาบาตรไว้ (คือ) อาจารย์วัน (และ) อาจารย์ทองคำ

หลวงปู่ให้อุบายข้าพเจ้าปูที่นอนต่อหน้าอาจารย์วันว่า “ท่านหล้าปูที่นอนกับเขาไม่เป็น เอาแต่ของหยาบๆ หนักๆ” พูดเย็นๆ เบาๆ แต่ข้าพเจ้าก็เก็บไว้เฉพาะส่วนตัว ในสมัยนั้น ถ้าหากว่าเล่าให้อาจารย์มหาฟัง ท่านอาจารย์มหาก็จะต้องให้ปูจริงๆ

มีอยู่ข้อหนึ่งที่อดไม่ได้ได้ เล่าถวายท่านอาจารย์มหาฟัง คือมีพระองค์หนึ่งปูที่นอนถวายหลวงปู่มั่น ทั้งปูทั้งเหยียบไปมาเต็มเท้า บริขารขององค์ท่านบางชนิด เช่น กระป๋องยาสูบ ก็ข้ามไปมา ข้าพเจ้าอดไม่ได้ก็เล่าถวายท่านอาจารย์มหา ท่านอาจารย์มหาก็หาอุบายสังเกต ก็พบจริง จึงพูดขึ้นว่า

“หมู่ทำแบบไม่มีสูงมีต่ำแบบนี้ ผมไม่เหมาะหัวใจ ปล่อยให้คนที่เขาเคารพกว่านี้มาทำจะเป็นมงคล ทำขวางหมู่เฉยๆ” ดังนี้

แต่นั้นมาพระองค์นั้นก็เข็ดหลาบ

การปูที่นอนขณะนั้นมีสามองค์ คือ อาจารย์ทองคำ อาจารย์วัน คุณสีหา (คุณสีหาเป็นหลานอาจารย์วัน) เมื่ออาจารย์วันปู ปูกับคุณสีหา เพราะจับคนละทางเพื่อให้ผ้าตึงแล้วจึงยัดเยียดตามริมให้ตึงอีก บางทีอาจารย์ทองคำมาแอบปู แต่หลวงปู่คงเข้าใจว่าอาจารย์วันกับคุณสีหาเท่านั้นช่วยกันปู ข้อวัตรเฉพาะอันนี้ก้าวก่ายกันอยู่ทางลับๆ

มีปัญหาว่าเวลาลูกศิษย์ปูที่นอนนั้น หลวงปู่ไปอยู่ไหน หลวงปู่กำลังถ่ายอยู่ที่ส้วม ตอนหลังฉันจังหันเสร็จ เป็นส่วนมาก ถ้าถ่ายเวลาผิดนั้นแล้ว เรียกว่าธาตุไม่สบายเฉพาะองค์ท่าน

การทำข้อวัตรถวายหลวงปู่ประจำวัน คือไม่ให้หลวงปู่หาอุบายคอยลูกศิษย์ มีแต่ลูกศิษย์คอยเท่านั้น ตอนนั้นพระอาจารย์มหาได้เทศน์หมู่ในยุคหนองผือลับหลังหลวงปู่ ซ้ำๆ ซากๆ เสมอๆ แม้ตัวของผู้เขียนอยู่นี้ก็ดี ถ้าไม่มีหลวงปู่มหาควบคุมในยุคนั้น ก็มักจะตีความหมายไม่ออกหลายเรื่องอยู่ เพราะบางเรื่องลึกลับจนมองไม่ออก เมื่อองค์ท่านมีโอกาสลับหลังมาอธิบายให้ฟัง ก็เท่ากับของคว่ำอยู่แล้วหงายขึ้น

สำหรับองค์ท่าน (หลวงปู่มหา) ในสมัยนั้น ต้องมีภาระหนักใจกว่าองค์อื่น แต่ด้วยความศรัทธาและพอใจก็เลยกลายเป็นเบาลง (เหตุผลของท่านก็คือ)

ก. ด้านธรรมะส่วนตัว เพราะเราหลายพรรษา ทั้งชื่อใหญ่ เป็นมหาด้วย

ข. ด้านเกี่ยวกับหลวงปู่ เพราะเราเคารพและรักท่านมากๆ

ค. ด้านบริหารหมู่ เพื่อแบ่งเบาหลวงปู่

ง. ด้านญาติโยม เพื่อให้รู้จักความหมายของหลวงปู่ จิปาถะสารพัดทุกๆ ด้าน

ท่านเคยเล่าให้ผู้เขียนฟังบ่อยๆ ในยุคนั้น เพราะเข้าใกล้พระอาจารย์ใหญ่ขนาดไหน ก็เข้าใกล้หลวงปู่มหาขนาดนั้น องค์ท่านฉลาดมาก บอก (ผู้เขียน) ไว้ว่า ถ้าวันไหนจะไม่ทันหลวงปู่มั่นในข้อวัตรขององค์ท่าน อย่ามาล้างกระโถนผม อย่ามาเอาบาตรผมลงไปศาลา จงรีบให้ทันข้อวัตรขององค์หลวงปู่ก็แล้วกัน เพราะองค์ท่านจะวิจารณ์ว่ามาเป็นคณาจารย์แข่งกัน เพราะข้อวัตรขององค์ท่านมีมาก แต่องค์ท่านฉลาดรีบออกห้องก่อนหลวงปู่มั่นตอนเช้า เรามีเวลาไปล้างกระโถนไม้ไผ่ถวายให้และได้เอาบาตรลงมาไว้ศาลาถวาย ส่วนบาตรตนเองเอาลงไปก่อน (ตั้ง) แต่ยังไม่ได้อรุณ ต้องคล่องว่องไวจึงได้ วิชาเกียจคร้าน วิชาหลับกลางวัน วิชาเกรงจะไม่ได้ฉันของดีๆ และมากๆ และเกรงจะไม่ได้ใช้บริขารดีๆ ก็ไม่มีในสมัยนั้น

๏ หนึ่งทุ่มประชุมกันที่กุฏิหลวงปู่มั่น

ผู้ที่ไปทำแต่ข้อวัตรครูบาอาจารย์และส่วนรวมบริบูรณ์ก็ตาม (แต่ถ้า) ถามเรื่องภาวนาไม่ได้ความก็ถูกเทศน์หนักอีก ผู้เขียนปีแรกถูกเทศน์หนักสามครั้ง แต่คนละเรื่อง มิใช่เรื่องเก่า ปีที่สอง ที่สาม ที่สี่ เงียบไม่มีเลยก็ว่าได้

แต่ธรรมเนียมนักปฏิบัติย่อมถือกันว่า ถ้าเทศน์องค์ใดเป็นต้นเหตุ ก็ให้ถือว่าเทศน์หมดวัด ถ้าไม่น้อมลงอย่างนั้นแล้ว มานะความถือตัวจะกำเริบโดยไม่รู้ตัว แม้เมื่อถูกชมก็เหมือนกัน ถือว่าชมหมดทั้งวัด

น้อมอย่างไรจึงได้ความอย่างนั้น

น้อมอย่างนี้ คือถ้าใครทำอย่างนี้ก็จะต้องถูกติเตียนอย่างนี้ไม่เลือกหน้า ถ้าใครถูกอย่างนี้ ก็ต้องถูกชมอย่างนี้ เรียกว่าน้อมลงมาใส่ตน นี้ (คือ) ที่หลวงปู่มหาเคยอธิบายในยุคนั้น

และปรารภต่อไปว่า เมื่อสรงน้ำถวายองค์ท่านแล้ว องค์ท่านก็เข้าทางจงกรมต่อไปจนถึงมืดค่ำ พระเณรในวัดนั้นก็เช่นกัน ราวทุ่มหนึ่งก็ไปประชุมกันที่กุฏิองค์ท่าน จุดตะเกียงโป๊ะกลมเล็กๆ กราบแล้วนั่งพับเพียบเรียบร้อยสงบอยู่ องค์ท่านหากเทศน์เองโดยอิสระเห็นสมควรอันใดด้านศีล สมาธิ ปัญญาประเภทใดๆ องค์ท่านก็เทศน์อย่างจุใจของผู้หวังอรรถหวังธรรม

ด้านศีลองค์ท่านกล่าวเป็นลำดับทั้งพุทธบัญญัติและอภิสมาจารอย่างแยบคาย ทั้งย่นและขยายหลายร้อยหลายพันนัย ย่นลงในเอกศีลในปัจจุบันทันกาลพร้อมทั้งสมาธิ ปัญญาให้สมดุลกันไปเป็นชั้นๆ จนถึงโลกุตรศีล โลกุตรสมาธิ โลกุตรปัญญา อุบายขององค์ท่านแตกฉานในอรรถในธรรม พุทธประวัติของพระองค์ตลอดพระสาวกสาวิกา จับมายกเป็นตัวอย่างให้กุลบุตรกุลธิดา ปลุกใจให้ศรัทธายิ่งขึ้น ตลอดถึงองค์ท่านวัยหนุ่ม ได้ขึ้นเขาลงห้วย สันโดษมักน้อย ขยันหมั่นเพียร มอบเป็นมอบตายต่อการปฏิบัติ ปลุกจิตใจให้เห็นภัยในสงสาร

ภัย กับ ไฟ กับ กิเลส ก็มีความหมายอันเดียวกันแห่งรสชาติ มีไฟหลง กับ ไฟอวิชชา ที่ทำให้เป็นไฟ ก็มีความหมายอันเดียวกัน นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของปวงสัตว์ ผู้ที่หนักไปในโลกิยสมบัติ วัตถุนิยมจนกลายเป็นยาเสพติดของเจตนาอันมุ่งหมาย จนกว่าอริยมรรคอริยผลเบื้องต้นจะปรากฏเด่นชัดในตน จึงจะไม่เดินวนขอบกระด้ง จึงจะพอใจเดินผ่าศูนย์กลางกระด้ง ข้ามฟากขอบกระด้งไปฟากโน้น คือฟากโลภ ฟากโกรธ ฟากหลง และถ้าไม่ยอมขี่เรืออสุภะอสุภังข้ามฟาก คือหนังหุ้มอยู่โดยรอบนี้ ก็ยากจะข้ามทะเลราคะได้ และยากจะบรรเทาราคะได้อีก

ผู้มีราคะมีหลงหนัง ฯลฯ อยู่ ก็เหมือนไม้ที่มียาง ทั้งแช่อยู่ในน้ำ จะสีให้เกิดไฟจนแขนขาดย่อมเกิดไฟขึ้นไม่ได้เลย ผู้คอยแต่จะเอาโกรธออกหน้า ถ้าไม่หนักไปทางเมตตาคน เมตตาสัตว์อื่น ให้เสมอภาคกันแล้ว โกรธก็ยิ่งจะบวก โกรธคูณ โกรธทวี ไม่ผ่อนปรนลงได้ ผู้ไม่มีสติลืมๆ หลงๆ เป็นเจ้าใหญ่นายโตของขันธสันดานแล้ว ไม่พอใจกำหนดลมออกเข้า ความลืมๆ หลงๆ นั้นเล่าก็ยิ่งบวกทวีคูณทวีหนักเข้า กรรมฐานแต่ละอย่างๆ มีพระคุณอยู่ก็จริง ยาแก้โรคแต่ละอย่างๆ มีคุณอยู่ก็จริง ถ้าวางยาไม่ถูกกับโรคแล้วโรคก็หายยากด้วย ข้อนี้ต้องขึ้นอยู่กับเจ้าตัว ของใครของมัน จะสังเกตรู้เองส่วนตัว

การประชุมก็หนึ่งทุ่มไปหาสี่ทุ่มเป็นส่วนมาก เสร็จแล้วบางทีก็จับเส้นถวาย การจับเส้นไม่ได้พูดไม่ได้คุยกันเลย บางทีจับเส้นไปไม่นานเท่าใดองค์ท่านบอกหยุด แล้วก็ส่งองค์ท่านเข้าห้อง องค์ท่านก็กราบพระภาวนาต่อไป และบางวันองค์ท่านก็เข้าห้องเร็วกว่านั้นบ้าง แต่การตื่นนอนล้างหน้านั้นมีเกณฑ์ตีสามอยู่แล้ว

ปี ๒๔๘๙ ก็ดี ๒๔๙๐ ก็ดี สามวันประชุมคราวหนึ่งตลอดทั้งแล้งและฝน แต่ฤดูแล้งก็ไม่แน่นอนเพราะพระอาคันตุกะมาบ่อยๆ ๒๔๙๑ เจ็ดวันประชุมคราวหนึ่ง ๒๔๙๒ สิบวันบ้าง กว่าบ้างจึงประชุมเพราะชราภาพหนักเข้า

ในยุคหนองผือ องค์ท่านให้โอกาสพิเศษแต่ละบุคคล ใครขัดข้องจำเป็นให้เข้าหาได้เป็นพิเศษ การเปิดโอกาสรับแขกประจำวัน เข้าออกห้องแล้ว รับแขกประมาณห้าหกนาที เพราะจวนลงจงกรมก่อนบิณฑบาต ตอนฉันเสร็จถ่ายส้วมแล้วรับแขกที่กุฏิท่าน ห้าหรือสิบนาที บ่ายหนึ่งโมงตอนกลางวันรับแขกอยู่ประมาณยี่สิบนาที องค์ท่านตรงต่อเวลาขององค์ท่านมาก

๏ ผู้จะต้องถูกเข่นอย่างหนัก

การเขียนประวัติตน ประวัติองค์หลวงปู่ ครูบาอาจารย์และหมู่เพื่อนในยุคหนองผือไม่ให้ลักๆ ลั่นๆ ก็เป็นของทำได้ยากเพราะสมัยนั้นไม่มีเทป เป็นเพียงต่างคนต่างจำได้เท่านั้น ผู้ไม่สนใจบ้างก็จำไม่ได้เลยพอที่จะสมเหตุสมผลที่คนไปอาศัยอยู่ แต่อย่างไรก็ตามธรรมเทศนาขององค์ท่านทุกๆ อุบาย ทุกๆ กัณฑ์ ไม่ว่าส่วนรวมหรือเฉพาะบุคคลแสนๆ นัย ล้านๆ นัยก็ตาม หนักเน้นลงไม่ให้เนิ่นช้าในสงสาร เขย่าอยู่เสมอว่าไม่ใช่บวชเล่น ใช่ปฏิบัติเล่นเพื่อลวงโลก เพื่ออามิส หรือเพื่อธรรมเนียม หรือเพื่อเปลี่ยนชื่อ

คนนอนหลับแต่หัวค่ำ คนหลับกลางวันตื่นใหญ่ๆ คนนอนตื่นสายหลังตีสาม คนทำข้อวัตรแต่ภายนอกลวงอาจารย์ คนมักอวดดีทะเลาะกับเพื่อนฝูง คนฉลาดแกมโกง คนพูดธรรมฟังแต่ข้อวัตรเหลวไหล คนไม่เคารพไม่เจียมตัว คนวางเฉยหลอกลวงทำท่าว่าจิตคนสูง คนไปเที่ยววิเวกเล่น แต่เนื้อเรื่องเข้าไปวิวุ่น ไม่ตั้งใจปฏิบัติภาวนา คนไปเที่ยววิเวกเด็ดเดี่ยวในป่าในเขาจริง แต่เมื่อเขาทำร้านให้พักแล้ว ก็ติดต่อกับญาติโยมจนไม่มีเวลาทำความเพียร เมื่อกลับเข้าสำนักแล้วไปคุยอวดหมู่ว่าตนเก่งได้วิเวกดี ทั้งหลายที่บรรยายมานี้ต้องถูกเข่นจากองค์หลวงปู่ทั้งนั้น และก็ไม่ได้อยู่กับองค์ท่านพอ (ตลอด) พรรษา ไม่เหตุอันหนึ่งก็อันหนึ่ง พระธรรมบันดาลให้ร้อนใจอยู่กับองค์ท่านในสำนักไม่ได้

ข้ออื่นยังมีอยู่อีก พระเณรบางองค์ทำอะไรตามอัตโนมติเช่น ทำกลด ทำร่มก็ดี ย้อมผ้า ผ่าแก่นขนุนก็ดี ไม่ได้กราบศึกษาขอโอกาส ผิดประเพณีขององค์ท่านทั้งนั้น ส่งเสียงกับเพื่อนกุฏิอื่นก็ดี มักคุยแต่เรื่องโลกก็ดี ชอบติดต่อกับญาติโยมประจบประแจงก็ดี

เมื่อองค์ท่านเรียกใช้องค์ใด พระเณรองค์นั้นไปใช้ผู้อื่นอีกต่อหนึ่งก็ดี (หรือ) ไม่ใช้ใครต่อดอก แต่ไม่เอาใจใส่ลงมือทำง่ายก็ดี ลงมือทำอยู่ แต่ทำแบบมักง่ายก็ดี จับสิ่งของไม่มีสติ ป๊กเป๊ก ตึงตังก็ดี

ห่มผ้าตีลูกบวบใกล้คณะสงฆ์หรือพระปฏิมากรก็ดี สะบัดผ้าและตีหมอนตากหมอนดังตูมๆ ตามๆ ก็ดี ล้างเท้าแล้วเช็ดไม่ดี มีรอยนิ้วเท้าที่ศาลาและกุฏิก็ดี

มีดพร้าขวานเสียม คานหามน้ำ เครื่องใช้ส่วนตัว ส่วนรวมไม่เก็บเป็นระเบียบก็ดี เคารพทำดีแต่บริขารส่วนตัว ของสงฆ์ของส่วนรวมไม่เคารพรักสงวนก็ดี มีดพร้าขวานสิ่วเลื่อยไม่คมไม่มีใครลับคมเลยก็ดี ด้ามพร้าด้ามขวานแตกหักไม่มีใครสงวนบูรณะก็ดี จอบเสียมขุดดินแล้วไม่ล้างก็ดี เครื่องเหล็กที่ใช้ด้วยสงวนคมตากแดดนานไม่มีใครเก็บก็ดี ร่มเปียกมาแล้วไม่เช็ดไม่ตากก็ดี ตากแดดนานจนเปราะก็ดี ร่มกางอยู่แต่เอียงวางทางหนึ่งให้ถึงดินก็ดี

โรงไฟรกรุงรังมีเถ้าถ่านเกลื่อนกลาดก็ดี ให้ร้านเก็บฟืนรกรุงรังก็ดี ฝาตุ่มน้ำไม่ปิดก็ดี ผ้าเช็ดเท้านานๆ ซักก็ดี

ที่พรรณนามานี้หลวงปู่ต้องเข่นแบบเผ็ดๆ ร้อนๆ ทั้งนั้น ยังอยู่อีกมากมายนัก ถ้าจะเขียนให้หมดก็กลายเป็นบุพพสิกขาหรือมหาขันธ์ ผู้ไปอยู่กับองค์ท่านจะอวดฉลาดไม่ได้ ต้องยกธงขาวว่าข้าน้อยมาเกิดชาติใหม่

การรับคนเข้าสำนักองค์ท่านแนบเนียนจำกัดมาก แม้จะเป็นมายา อ่อนโยนแต่ภายนอกแต่ภายในแข็งกระด้าง ตีเสมอยกตนเทียบ หรือสูงกว่าองค์ท่าน องค์ท่านก็ไม่รับไว้ เพราะไม่สุ่มสี่สุ่มห้า มีทั้งตาเนื้อภายนอกและมีทั้งตาในแห่งปัญญาด้วย พอจะสั่งจะสอนได้องค์ท่านจึงรับไว้ เพราะไม่มีใครจะไปจับมือท่านเซ็นได้

ในตอนนี้ พระอาจารย์เนตรพูดกับข้าพเจ้าว่า

“หล้าเอ๋ย ท่านมีวาสนากว่าผม ท่านเข้ามาคราวเดียวได้อยู่เลย ผมนี้เวียนอยู่สามปีจึงได้อยู่นะ หล้า ผมมาปีทีแรก เทศน์ผมว่า เนตรเอ๋ย ผมกับท่าน เทศน์ไม่ได้ผลดอก จงหนีไปวิเวกเสีย ว่าสองสามครั้งติดๆ กันผมก็เลยไป มาปีที่สอง ก็เทศน์แบบเก่า เทศน์แบบเย็นๆ เจ็บในมาก ผมก็ได้ออกไป มาปีที่สามนี้แหละได้แบบฝืดๆ แต่ไม่รู้วันไหนจะไล่แบบเย็นๆ อีก”

พูดแล้วท่านก็ยิ้ม แม้กุฏิจะว่างสักเพียงไรก็ตาม ถ้าไม่พอจะสอนได้ องค์ท่านก็ไม่รับ เทศน์ให้ฟังแล้ว สามวัน เจ็ดวัน ก็ไล่ออกไป องค์ท่านใช้คำว่า “เออเราเทศน์เด็ดๆ ให้แล้ว รีบออกไปวิเวกนะ อย่าอยู่” บางรายเข้าไปไม่ถูกระเบียบเหมือนมาจากนรก ก็เลยไล่หนีแบบขู่ๆ เข็ญๆ ในวันนั้นก็มีมาก

สมัยยุคหลวงปู่มั่นยุคบ้านหนองผือ มิได้เอาใจใส่สุขทุกข์แขกทางไกลในการดื่มกินพักผ่อนหลับนอนนั้น เพราะเหตุว่าสมัยนั้นโจรผู้ร้ายไม่คอยมี อะไรๆ สะดวกมาก แต่ทุกวันนี้ต้องดูแลทุกๆ ด้าน เพื่อความปลอดภัยและให้ความอบอุ่นทุกๆ ด้านเพราะบ้านเมืองคับขันตามสติกำลังเท่าที่จะเป็นไปได้

และวันวิสาขะ วันมาฆะ และวันสารทอันเป็นวันสำคัญของชาวพุทธ องค์ท่านหลวงปู่มั่นก็พาพุทธบริษัทในสังคมปฏิบัติตามประเพณี

การสวดมนต์ประจำวันเช้าเย็นเอาของใครของมันเงียบๆ มิให้ใช้เสียงกระเทือนกัน สวดน้อยสวดมากแล้วแต่อิสระของแต่ละท่าน แต่ให้หนักไปในทางจงกรมภาวนา (นั่นคือ มหาสวดมนต์) ซึ่งผู้พิจารณาไตรลักษณ์อยู่ไม่มีกลางวันกลางคืนก็เรียกว่า สวด “อนัตตลักขณะสูตร” อยู่ไม่มีกลางวันกลางคืนแล้ว เป็นต้น

แต่วันมาฆะ วันวิสาขะต้องสวดพร้อมกันทั้งญาติโยม วันเข้าพรรษาออกพรรษาวันอุโบสถสวดแต่พระ เข้าพรรษา ออกพรรษาสามเณรก็สวดด้วย คือสวดมนต์แล้วก็สมาทานพรรษา กลางพรรษานอกจากวันอุโบสถก็ของใครของมัน

ถ้าพระเณรขัดข้องทางภาวนาหรือมีธุระด่วนๆ เช่น เจ็บป่วยขึ้นสดๆ ร้อนๆ องค์ท่านก็ทรงอนุญาตให้เข้าหากราบเรียนพิเศษได้โดยทุกเมื่อตามกาละเทศะ

เรื่องธรรมชั้นสูงขององค์หลวงปู่มั่น ที่องค์ท่านยืนยันว่า ไม่ว่าธรรมะส่วนใด ถ้าสำคัญตนว่าเสวย ก็เป็นอันผิดทั้งนั้น ถ้าผู้ชอบแย้งก็จะมีข้อแย้งว่า เพราะมีในปฐมสมโพธิและในพุทธประวัติว่าพระพุทธเจ้าสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเต็มที่แล้ว ก็ทรงเสวยวิมุตติสุขแห่งละ ๗ วัน รวมเป็น ๔๙ วัน เพราะนางสุชาดาถวายอาหาร คือข้าวมธุปายาสทั้งถาดนั้น แบ่งออกได้เป็น ๔๙ คำ คงไปได้วันละคำ ก็กล่าวคำว่า เสวยวิมุตติสุข โต้งๆ

แต่ผู้เขียนเพื่อแบ่งเบาหลวงปู่มั่นว่า ชะรอยเกจิอาจารย์ผูกสมมุติขึ้นเพื่อให้ผู้ฟังรู้จักความหมายว่าพระองค์เสวยวิมุตติสุข คำว่า “เสวยวิมุตติสุข” นั้น ออกจากพระโอษฐ์ของพระองค์โดยแท้ หรือหากว่าเกจิอาจารย์ผูกสมมุติเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจก็อาจเป็นไปได้

ผู้เขียนเข้าใจว่า ระองค์สำคัญตัวว่าอยู่ในที่ไหนยังไงก็ไม่ทราบได้ เพราะรสจิตใจและธรรมะของพระองค์ไม่เป็นฐานะของสาวกจะรู้ได้ทุกแง่ทุกมุม เช่น พระอนุรุทธตามพระองค์ได้ในเวลาเข้านิโรธสมาบัติ ก็คงตามได้เป็นบางครั้งบางคราว จะให้เท่าเทียมถึงพระองค์ย่อมเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วสาวกก็ต้องตีเสมอเหมือนพระองค์ได้ทั้งนั้น เช่น ทรงสรรเสริญพระมหาสารีบุตรทรงมีพระปัญญามากก็ตาม แต่คงไม่ถึงเสี้ยวของพระองค์เลย แม้พระสิวลีมีลาภมาก ก็คงไม่ถึงเสี้ยวของพระองค์อีกด้วย

อีกประการหนึ่งที่น่าควรคิดเช่น นางธรรมทินนาภิกษุณี เข้านิโรธสมาบัติแล้ว วิสาขคฤหบดีไปทรงเรียนถามนางธรรมทินนาว่า

“ในขณะที่เข้านิโรธสมบัติอยู่นั้น ได้สำคัญตัวว่าอยู่ที่ไหนหรือไม่”

นางก็ตอบว่า “มิได้สำคัญตัวว่าอยู่ในนิโรธสมาบัติ และไม่สำคัญว่า ตัวอยู่นอกนิโรธสมาบัติ หรืออาการใดๆ ทั้งสิ้น” เหล่านี้เป็นต้น

เมื่อเป็นดังนี้ ก็ตรงกับคำของหลวงปู่มั่นที่ว่า ไม่ว่าธรรมส่วนใด ถ้าสำคัญตนว่าเสวย เป็นสำคัญผิดทั้งนั้น นี้เป็นธรรมชั้นสูงของพระพุทธศาสนา ถ้าจะอาจเอื้อมแซงคำเทศน์ของหลวงปู่มั่นในขณะนี้ก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบดังกล่าวมาแล้วนั้น

:b50: อนัตตลักขณสูตร พระสูตรที่แสดงถึงอนัตตา
(ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก)

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=57842

:b50: อนัตตลักขณสูตร : พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=48163

:b50: ธัมมราชิกสถูป หรือ ธรรมราชิกสถูป
อนุสรณ์สถานแห่งการแสดง “อนัตตลักขณสูตร”

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=43024


๏ กรรมฐานที่หลวงปู่มั่นสอน

ด้านภาวนาสอนให้เลือกเอาตามจริตนิสัยที่สะดวกของจิต เป็นที่สบายของจริต ในกรรมฐานสี่สิบห้อง อันใดอันหนึ่งแล้วแต่สะดวก เมื่อบริกรรมและเพ่งอยู่พอ ก็ลงไปปรากฏรสชาติอันเดียวกันเช่น ขณิกสมาธิรวมลงไปขณะหนึ่งแล้วถอนออกมา อุปจารสมาธิรวมลงไปแล้วมักจะมีนิมิตต่างๆ เช่น แสงเดือนหรือดวงอาทิตย์ ดวงดาว ควันไฟ เมฆหมอก กงจักร ดอกบัว เทวบุตร เทวดา หรือร่างของคนปรากฏว่าพองขึ้น หรือเหี่ยวลง หรือปรากฏว่าเหาะเหินเดินอากาศโลดโผนต่างๆ นานา เหล่านี้เป็นต้น เรียกว่าอุปจารสมาธิทั้งนั้น

“จาระ” แปลว่าไปตามนิมิตแขกที่มาเกยมาพาด ภายหลังจากนิมิตเดิมที่เพ่งไว้

“ฌานัง” แปลว่า เพ่งอยู่ อุปจารสมาธินี้ หมดกำลังก็ถอนออกมาเหมือนกัน

อัปปนาสมาธิเข้าไปละเอียดกว่านั้นอีก แต่ไม่มีนิมิตแขกมาเกยมาพาด เป็นแต่รู้ว่าจิตอยู่ไม่วอกแวกไปทางใด และไม่สงสัยว่าขณะนี้จิตเราเป็นสมาธิหรือไม่หนอ ย่อมไม่สงสัยในขณะนั้น ไม่ปรากฏว่ามีกาย ปรากฏแต่ว่ามันรู้อยู่เท่านั้น ไม่ได้วิตกวิจารอันใดเลย แต่หมดกำลังก็ถอนออกมาอีก แต่นานกว่าอุปจารสมาธิ เพราะความหยุดอยู่แน่วแน่นิ่งกว่ากัน

ขณิกสมาธินี้ ภวังคบาทก็ว่า ขณิกภาวนาก็ว่า ขณิกฌานก็ว่า

อุปจารสมาธินี้ ภวังคจลนะก็ว่า อุปจารภาวนาก็ว่า อุปจารฌานก็ว่า

อัปปนาสมาธินี้ ภวังคุปัจเฉทะก็ว่า อัปปนาภาวนาก็ว่า อัปปนาฌานก็ว่า

แต่การเรียกชื่อใส่ชื่อลือนามนั้นเป็นรสชาติอย่างหนึ่ง ส่วนรสชาติของสมาธิแต่ละชั้นก็เป็นรสชาติไปอย่างหนึ่ง คล้ายกับลิ้น จิ๊บแกงน้อยก็รู้จักรสน้อย จิ๊บมากก็รู้จักรสมาก แต่มิได้สอนให้ติดอยู่เพียงแค่นี้ เพราะสมาธิชั้นนี้อยู่ใต้อำนาจไตรลักษณ์มีอนิจจังเป็นต้น แต่จัดเป็นฝ่ายเหตุ ฝ่ายมรรค ฝ่ายผลของเหตุผลของมรรคเป็นปุญญาภิสังขารทั้งนั้น เป็นของจริงขนาดไหนล่ะ จริงตามฐานะแต่ละชั้นแต่ละชั้นเช่น หนังก็จริงตามฐานะของหนัง เนื้อก็จริงตามฐานะของเนื้อ เอ็นก็จริงตามฐานะของเอ็น กระดูกก็จริงตามฐานะของกระดูกเป็นต้น จริงตามสมมติที่ใส่ชื่อลือนาม จริงตามปรมัตถ์เสมอภาค คือเกิดขึ้นแล้วแปรปรวนแตกสลายไป ไม่เกรงขาม ไม่ไว้หน้าใครๆ ทั้งนั้น

สติปัญญาขั้นนี้ก็ต้องพิจารณาให้แยบคาย ให้รู้ตามความเป็นจริงในขั้นนี้ลึกลงไปอีก มิฉะนั้นความหลงไม่มีหนทางจะร่อยหรอไป เพราะความหลงเป็นแม่ทัพของกิเลสชั้นที่หนึ่ง อันมีอำนาจเหนือกิเลสใดๆ ทั้งสิ้น จึงบัญญัติว่าอวิชชา เพราะไม่ใช่วิชา แต่เป็นวิชชาที่พาท่องเที่ยวเสวยสรรพทุกข์ เป็นวิชชาของกิเลสมาร เพราะกิเลสมารมีอำนาจเหนือมารใดๆ ทั้งสิ้น

ย้อนมาปรารภเรื่องกรรมฐานอีก หลวงปู่มั่นยืนยันว่ากรรมฐานสี่สิบห้องเป็นน้องอานาปานสติ อานาปานสติเป็นยอดมงกุฎของกรรมฐานทั้งหลายอยู่แล้ว

ศาสนาอื่นๆ นอกจากพุทธศาสนาแล้ว ไม่ได้เอามาสั่งสอนให้หัดปฏิบัติกันเลย เพราะกรรมฐานอันนี้บริบูรณ์พร้อมทั้งสติปัฏฐาน ๔ ไปในตัวด้วย และเป็นแม่เหล็กที่มีกำลังดึงกรรมฐานอื่นๆ ให้เข้ามาเป็นเมืองขึ้นของตัวได้ เช่น พระมหาอนันตคุณของพุทโธ ธัมโม สังโฆ สีโล จาโค กายคตา แก่ เจ็บ ตาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้เป็นต้น ย่อมมีอยู่จริงอยู่พร้อมทุกลมออกเข้าแล้ว

แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ย่อมจริง ย่อมมีอยู่ทุกลมออกเขาแล้ว ไม่ต้องไปค้น ไปหา ไปจด ไปจำ ไปบ่น ไปท่องทางอื่นก็ได้ ถ้าไม่หลงลมเข้าลมออกแล้ว โมหะ อวิชชา วัฏจักร มันจะรวมพลมาจากโลกหน่วยไหนล่ะ หลงลมออกเข้าก็หลงหนังเหมือนกัน ถ้าไม่หลงหนังก็ไม่หลงลมออกเข้า โดยนัยเดียวกัน ดูโลกก็ดูทุกข์ ดูทุกข์ก็ดูโลก ดูสังขารก็ดูทุกข์ ดูทุกข์ก็ดูสังขาร พ้นโลกก็พ้นทุกข์ พ้นทุกข์ก็พ้นโลก พ้นสังขารก็พ้นทุกข์ พ้นทุกข์ก็พ้นสังขาร มีความหมายอันเดียวกันทั้งนั้น ไม่ผิด

รู้ลมออกเข้าในปัจจุบัน รู้ลมออกเข้าในอดีต รู้ลมออกเข้าในอนาคต รู้ผู้รู้ในปัจจุบัน รู้ผู้รู้ในอดีต รู้ผู้รู้ในอนาคต แล้วไม่ติดข้องอยู่ในผู้รู้ทั้งสามกาล ผู้นั้นก็ดับรอบแล้วในโลกทั้งสามด้วยในตัว อวิชชาและสังขารเป็นต้นก็ดับไป ณ ที่นั้นเอง ไฟโลภ ไฟโกรธ ไฟหลงก็ดับไป ณ ที่นั้นเอง

กองทัพธรรมมีกำลังสมดุลด้วยสติปัญญา กองทัพอวิชชา ตัณหา อุปาทานเป็นต้นย่อมแตกสลาย ไม่ต้องพูดไปหลายเรื่องหลายแบบก็ได้ พระอาทิตย์ส่องแสงจ้า มืดนั้นนาไม่ได้สั่งลา หายวับไป ณ ที่นั้น

๏ การลาไปวิเวกของหลวงปู่มหา

พอถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๔๘๙ นั้นเอง พระอาจารย์มหาบัวก็ดำริจะออกวิเวก โครงการขององค์ท่านจะไม่ไปไกล เพราะจะได้ฟังข่าวสุขทุกข์ของหลวงปู่ทุกประการ จะได้เป็นผู้กลับเข้ากลับออกอยู่ ไม่ไปแบบเตลิดเปิดเปิง และหวังจะได้ธรรมะพิเศษมาศึกษากราบเรียนเพิ่มเข้า เพราะอายุพรรษาก็มากเข้าสิบห้าพรรษาแล้ว และก็อาลัยหลวงปู่ เกรงผู้อยู่ข้างหลังจะปฏิบัติในสำนักบกพร่อง ทำให้หลวงปู่ไม่สะดวกธรรมะทุกๆ กรณีในสำนัก แต่ลงท้ายก็เลยตกลงใจไป

ฝ่ายข้าพเจ้าก็นึกอยากจะไปกับองค์ท่านด้วย หลวงปู่ก็รู้จักแล้วและหลวงปู่ได้เทศน์อยู่บ่อยๆ ว่าใครออกวิเวกปีนี้กลับมาเมื่อถูกถามไม่ได้ความในด้านภาวนา จะไม่ให้อยู่จำพรรษาด้วยต่อไปในอนาคต ถ้าไปวิเวกจริง ถามก็ต้องได้ความแท้ ไม่น้อยก็ต้องมาก แต่ไปวิวุ่นเป็นส่วนมากเพราะไปเที่ยวเล่นตามสำนักเฉยๆ

การไปวิเวกในสมัยนั้นไปในดง ในป่า ในโคก ในดอน ในภูเขาได้ทั้งนั้น เพราะไม่มีสิ่งที่สงสัยกันในการเมือง ขอแต่กล้าหาญไม่กลัวเสือสัตว์ป่านานาชนิดเท่านั้น การไปองค์เดียวเป็นขั้นที่หนึ่ง ไปสององค์เป็นขั้นที่สอง ไปสามองค์เป็นขั้นที่สาม ไปเหลือนั้น (มากกว่านั้น) อยู่วัดดีกว่า เพราะถือกันว่าวิวุ่นไม่สะดวกได้

มีปัญหาว่า พระอาจารย์มหาบัวนั้น หลวงปู่มั่นก็เกรงว่าจะไปเที่ยวเล่นดอกหรือ จึงปรารภอย่างนั้น

แก้ว่า ปรารภเพื่อพวกอื่น บุคคลอื่นต่างหาก เพราะปีนั้นจะออกวิเวกหลายพวกอยู่ ครั้นล่วงเวลามาอีก ๒-๓ วัน ท่านอาจารย์มหาขึ้นไปกราบเรียนหลวงปู่มั่นว่า

“เกล้านึกจะไปเที่ยววิเวกจะเป็นประการใด และการงานที่จะใช้เกล้าพาหมู่ทำนั้นยังมีอะไรอยู่บ้างหนอ เกล้าจะพาหมู่ทำ เสร็จแล้วจึงจะได้ไป ถ้ามีงานจำเป็นอยู่เกล้าจะรออยู่ก่อน”

หลวงปู่ตอบว่า “จีวรกาลเราก็เสร็จแล้ว ฟืนเราก็บริบูรณ์แล้ว แต่บูรณะกุฏิ ซ่อมแซมหลังคาและเอาฟืน เดือนกุมภาพันธ์จึงพากันจัดทำ วาระนี้จะไปก็ไปได้”

พระอาจารย์มหาเรียนว่า “ถ้าไปจะไปวันไหน และทิศทางใดหนอจึงจะวิเวกพอควร”

หลวงปู่ตอบว่า “ถ้าสะดวกใจตน จะไปวันไหนก็ได้ ไปทางทิศตะวันออกก็มีที่วิเวกดีพอควรอยู่นะ”

แล้วพระอาจารย์มหาก็กราบลากลับกุฏิของตน แต่ไม่ถึงวันจะไป เป็นเพียงไปกราบศึกษาให้หลวงปู่มีสิทธิ วันจะไปจึงไปกราบลาใหม่

ข้าพเจ้าได้สำเหนียกว่า ลูกศิษย์ที่มีครู ไปลาอาจารย์เพื่อเที่ยววิเวกเป็นธรรมะลึกซึ้ง เป็นเชิงปรึกษาให้เกียรติอาจารย์ ให้ความเป็นใหญ่ไว้เสมอด้วยเคารพ ไม่ตัดสินเอาแต่ตัวตามอัตโนมติ เป็นเยี่ยงอย่างอันดีของฝ่ายปฏิบัติ ไม่ข้าม ไม่เกิน ไม่อวดดีอะไร อาจารย์ก็นักปราชญ์ ลูกศิษย์ก็บัณฑิต สมัยปัจจุบันนี้หาได้ยากแท้ๆ หนอ เพราะโดยมากลูกศิษย์ตกลงเอาเองหมดแล้ว เป็นเพียงมาลาไปเฉยๆ บางรายกรุ่นให้อาจารย์อย่างไม่อาย เวลาไปไม่มาลาอีกซ้ำ กลายเป็นปฏิบัติแบบเปรตแบบผีไปอีก ผู้เขียนนึกๆ แล้วก็น่าสังเวชมาก

หลวงปู่มั่นมรณธรรมไป ๓๐ ปีกว่าเท่านั้น ฝ่ายปฏิบัติทุกวันนี้ ไกลกันขนาดไหนหนอ ไม่ต้องกล่าวไปไยในครั้งพุทธกาล เพียงเท่านี้ก็ไกลกันขนาดนี้ แต่ธรรมวินัยนั้นอันเก่าอยู่ ผู้ปฏิบัติเลือนลางต่างหาก แต่ก็เป็นเรื่องอจินไตย ถ้าพิจารณาไปก็ฟุ้งซ่าน กล่าวไว้พอได้เทียบเคียงบ้าง

(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.พ. 2013, 14:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7836

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๏ ข้าพเจ้าขอติดตามไปด้วย

กล่าวการไปเที่ยวต่อไป ล่วงมาจากการที่พระอาจารย์มหาไปกราบเรียนศึกษาหลวงปู่มั่นประมาณ ๓ วัน พระอาจารย์มหาก็ไปกราบลาองค์ท่านเตรียมเดินทาง ข้าพเจ้าก็เตรียมพร้อมแล้ว เรียนท่านอาจารย์มหาว่า

“กระผมจะต้องขึ้นไปกราบลาหลวงปู่หรือไม่หนอ”

พระอาจารย์มหาตอบว่า “ถ้าไปกราบลาแต่ผม มันก็ถูกแต่ผม ส่วนท่านก็ผิด เพราะเรื่องของใครของมัน”

ข้าพเจ้ายิ่งเพิ่มเห็นความเป็นธรรมะระหว่างพระอาจารย์มหายิ่งขึ้นเป็นอันมาก แล้วก็ขึ้นไปกราบลาพร้อมกัน องค์ท่านหลวงปู่ก็ใช้มารยาทอันละมุนละไมแบบเมตตา

กราบลาแล้วเตรียมเดินทางไปทางทิศตะวันออกของวัด ตามทางคนบ้าง ทางเกวียนบ้าง มีป่าดงเป็นทิวแถวมีทุ่งนาสลับเล็กน้อย มุ่งตรงไปวัดป่าบ้านพระคำภูอันเป็นวัดร้างเป็นป่าเต็งรังสูงๆ ขณะนั้นกำลังหนาวจัดเริ่มเข้า ข้าพเจ้าก็ขอนิสัยกับพระอาจารย์มหา

ท่านให้โอกาสสั่งสอนประทับใจว่า

“เออ เดี๋ยวนี้เราออกมวิเวกไกลจากครูบาอาจารย์ เราทำความเพียรขนาดอยู่วัด มันก็ไม่สมกับคำที่ว่ามาวิเวก เพราะการอยู่วัดก็เป็นธรรมดาของคนมาก ก็ต้องมีงานจุกๆ จิกๆ อันนั้นบ้าง อันนี้บ้าง นี้สองคนเท่านี้ต้องตัดข้อวัตรให้น้อยลง เพื่อให้มีเวลาภาวนาติดต่อ ไม่ขาดวรรคไม่ขาดตอน ส่วนน้ำล้างบาตรและน้ำที่ผมจะสรงนั้น ให้คุณคอนมาไว้ที่ไหให้เต็ม ส่วนน้ำดื่มน้ำฉันนั้น ขอให้คุณไปตักมาไว้ใส่กาใส่ตุ่มให้เรียบร้อย ส่วนล้างบาตรนั้น โยมเขาตามมาล้างเอง แล้วผมเช็ดใส่ถลกเอง คุณจึงเอาไปผึ่งแล้วเก็บไว้ให้เรียบร้อย สรงน้ำก็ดี ปัดที่อยู่ปูที่นอนก็ดี ผมทำเอง ที่พักเราก็อยู่ไกลกันพอควรแล้วคือ กุฏิมุงหญ้า กั้นใบไม้ตองกุง ปูฟากแคบๆ พอดีมุ้ง มอดเจาะมอดไชทั้งฟากและใบตองกั้น และขอให้คุณตั้งใจทำความเพียรนะ ไม่จำเป็นอย่าพูดกับผมนะ และอย่าเข้าใจว่าผมรังเกียจ ไปบิณฑบาต ผมไม่ให้ท่านรับดอกเพราะท่านสามสี่วันก็จับไข้ มันเป็นเรื้อรังมาแต่กลางพรรษา”

แล้วก็พักอยู่นั้นเกือบเตือน น้ำใช้น้ำฉันไปตักเอาที่ห้วย เขาทดไว้ไกลจากวัดประมาณสามเส้น ข้าพเจ้าไปคอนมาไว้แต่ตีสี่ ตอนกลางคืน งมมืดไป ไม่ได้จุดไฟเลยเพราะโคมไฟไม่มี

ท่านพาทำความเพียรไม่หยุดหย่อน ไม่มีกลางวันกลางคืน แต่ข้าพเจ้ามักจับไข้ตอนเที่ยงหรือบ่ายหนึ่ง หนึ่งชั่วโมงก็สร่าง แต่ปวดหัวอยู่มับๆ แต่ฉันได้ ไปได้ ไม่เพลียนัก ๒-๓ วันครั้งหนึ่ง แต่ตอนกลางคืนไม่ค่อยไข้

วันหนึ่งพระอาจารย์มหาเอายาควินินเคลือบน้ำตาลให้ฉัน ก็เลยฉัน ๖ เม็ดทีเดียว หูดับอยู่ทั้งวัน เลยไม่ฉันอาหาร ปล่อยให้ยาออกฤทธิ์ คุ้มได้ ๑๕ วันไข้อีก อยู่อย่างนั้น แต่ตักน้ำกวาดลานวัดอยู่ พาไข้เดินจงกรมอีก ไข้แบบนั้นก็มี ถ้า (เป็น) ไข้รากสาด มุทะลุแบบนี้ก็คงจะตายกัน

ครั้นพักทำความเพียรอยู่นั้นประมาณเกือบเดือน พระอาจารย์มหาพาย้ายที่เข้าไปในดง ไกลจากที่พักเดิมประมาณ ๑๓ เส้น ส่วนน้ำนั้นมาตักเอาที่เก่า ไปบิณฑบาตบ้านพระคำภูตามเดิม เขามาทำร้านให้ ปูไม้กลมเล็กๆ กว้างพอดีกลด ไกลจากพระอาจารย์มหาประมาณ ๒ เส้น แต่กรรมบันดาลอีก เขาเอาไม้กลมเล็กมาปูต่างฟากให้นั้น มีไม้น้ำเกลี้ยงปนอยู่ ๒-๓ ท่อน พอพักได้ ๓-๔ วัน หน้าบวมขึ้นเห็นหน่วยตาลูกตาพอริบหรี่

พระอาจารย์มหาหัวเราะแล้วพูดว่า “ยิ่งขี้ร้ายก็ยิ่งตื่ม (เพิ่ม) ตดเหม็น” แล้วองค์ท่านไปตรวจดูร้าน ก็เห็นไม้น้ำเกลี้ยง ๒-๓ ท่อนเขาเอามาลาดปูนอนให้ ปนกับไม้อื่นอยู่ จึงคุมให้โยมถอดทิ้งเอาใหม่แทน เมื่อพิจารณาแล้วเขาไม่ได้แกล้งทำ เพราะเป็นเวลาใบไม้ร่วง เขาไม่รู้จักว่าไม้อะไร เห็นเกลี้ยงกลมแล้วก็เอากัน ทั้งทำด่วนด้วย ไม่ได้กั้นไม่ได้มุงอะไรหรอก เช้ามามุ้งก็เปียก กลดก็เปียก ตากกับที่เลย นี้การเที่ยวในสงสารแห่งชาติๆ ภพๆ มันเป็นอย่างนี้

ด้านภาวนาก็อาจารย์ลมออกเข้าเป็นหลัก รวมหรือไม่รวมก็สะดวกอย่างนั้น จะตีปัญหาไปน้อยมากต่ำสูง จับอันนี้เป็นหลักอยู่นั่นเอง พิจารณาอันอื่นดูว่าไม่อร่อยเท่าพระอาจารย์องค์ลม เว้นไว้แต่เดินจงกรมเท่านั้นจึงตั้งอันอื่นเป็นหลัก คือตั้งไว้กับขาก้าว ส่วนนอนและนั่ง ต้องลมเป็นหลัก

ถ้าพิจารณาอะไรพร้อมกับลมออกเข้าแล้วถือว่าชัดในส่วนตัวและไม่สงสัยอีกด้วย ส่วนท่านผู้อื่นนั้นชัดแยบคายด้วยวิธีใด แล้วแต่ของใครของมัน ไม่คัดด้าน จะสมถะก็เอาลมเป็นหลัก จะวิปัสสนาก็เอาลมเป็นหลัก จะพ้นหรือไม่พ้นตอนใดๆ ก็เอาลมเป็นหลัก อุบายของใครของมัน อุบายพระบุญทันต่างหาก ความถือว่าเป็นของยากของง่ายย่อมไม่ตรงกันหมด ความอดทน ก็มียิ่ง มีหย่อนกว่ากัน

เมื่อศรัทธาความเชื่อ วิริยะความเพียร สติความระลึกได้ สมาธิตั้งมั่น ปัญญารอบรู้สมดุลเสมอกันยิ่ง ในขณะเดียวทั้ง ๕ นี้แล้วในปัจจุบันทันกาล ก็จะเป็นใจเป็นธรรมอันมีกำลัง พละพลังไม่มีประมาณแล ผู้ใคร่ครวญธรรมเป็นผู้เจริญตรงกันข้ามเป็นผู้เสื่อมถอย

ผู้เพลินในโลกมาก จะเป็นผู้เศร้าโศกมาก

ผู้เพลินในธรรมมาก จะนำความเศร้าโศกออกมากมาย

ผู้เห็นภัยในสงสาร ผู้ไม่ไว้ใจในสงสาร

ก็คือผู้ถือกุญแจเปิดประตูพระนิพพานนั้นแล

ใจใดไม่ติดอยู่ในผู้รู้เป็นตัวเหตุ

ใจนอกเหตุก็ไม่ต้องได้หาใจนั้นแลนามิได้ท่องเที่ยว

ใจเดียวธรรมเดียวทรงนอกเหตุ

หมดประเภทใจอื่นจะตามหา

ใจนั้นข้ามโลกาไปแล้วไม่มีรอยแล

ใจใดไม่รู้จักใจ ใจนั้นก็ไปพบแต่ภัย

ยิ่งไปเท่าใดก็ยิ่งพบแต่ภัยล้านๆ อสงไขยก็ไม่พบสุข

๏ ลาท่านอาจารย์มหาไปวิเวกบ้านโพนงาม

ครั้นพักปฏิบัติอยู่กับพระอาจารย์มหาประมาณสองเดือนแล้ว การจับไข้ก็ยังคืนมาขบถอยู่ ไม่พอจะขาดแท้ มันแบบโบราณว่า ไข้พ่อตารังเกียจ ไข้แตงโมกายเย็นกินได้ ไข้หมากไม้กายร้อนกินเย็น ไข้นอนกลางวัน สายัณห์ตะวันบ่ายสาม ถามกินสมอขามป้อม ไข้ขี้เกียจซักย้อมตากก็ลำบากทางกลิ่นเหม็น

เมื่อเป็นดังนี้จำเป็นต้องลาองค์ท่าน พรากไปปฏิบัติคนละแห่ง องค์ท่านก็เห็นดีด้วย แล้วองค์ท่านทั้งหัวเราะทั้งพูดว่า ให้ออกไปทุ่งทางสกลนคร ให้ไปกางกลดกางมุ้งอยู่กลางทุ่ง เดินจงกรมภาวนาตากแดดอยู่ ชะรอยธาตุขันธ์มันจะชอบอากาศโปร่ง

ว่าแล้วองค์ท่านก็หัวเราะอีก ข้าพเจ้าอดไม่ได้ก็เลยหัวเราะไปตาม ดูคำเทศน์ขององค์ท่านขันมาก เป็นคติไปแบบลึกๆ ชวนให้หวนคิดพิจารณาจับใจ จึงได้จำไว้ไม่ลืมเลย เพราะธรรมดาองค์ท่านปรารภอะไรเป็นอุบายให้ผู้ฟังมีคติทั้งนั้น ไม่ใช่พูดแบบคติโลกล้วนๆ มีลีลานัยอยู่ในตัว (เช่น)

แบบหยิกแกมหยอกแบบนี้ ถ้าผู้ฟังล้อเข้าไปแบบเลียปาก จะถูกศอกกลับหลัง เข่าพร้อมนับสิบไม่ลุก

แบบบรรจงตรงไปตรงมา นี้ก็แบบหนึ่ง แบบนี้จะฝืนกระเบียดหนึ่งไม่ได้ เพราะได้ทุ่มเทแบบบรรจงแล้ว

แบบขู่ทำท่าทำทาง แบบนี้ต้องนิ่งฟังโดยเคารพ จะอุทธรณ์หรือพูดแก้ตัวในขณะนั้นไม่ได้ ต้องแก้ความประพฤติของตัวลับหลัง ท่านหากสังเกตเองว่าท่านเทศน์เผ็ดๆ ร้อนๆ แล้วมันได้ผลไหม ท่านต้องสังเกตอยู่หลายวัน แต่ผู้ใดโง่ก็เข้าใจว่าท่านไม่สังเกต

แบบปลอบโยนนิ่มนวล แบบนี้มี ๒ นัย นัยหนึ่งหมดหวังหมดวิชาแล้ว ถ้าไม่นิ่มนวลไว้มันจะเพ่งโทษมากมันจะเป็นบาป แต่ตัดทิ้งไม่ยอมสอนอีกต่อไป นิ่มนวลแบบหนึ่งยังจะสอนต่อไปอีกอยู่

แบบทำกิริยาขึงอยู่เป็นนิจ แบบนี้เราต้องทำท่าไม่สนใจว่าท่านขึงใส่เรา เราทำดีเรื่อยไป หากแก้ตกอยู่ในตัว

แบบหนึ่งวางเฉยไม่พูดด้วย แต่ไม่ขึงไม่บึ้ง แบบนี้เราแก้เราไปก็หาย

ผู้เขียนได้ยินกับหูที่หลวงปู่มั่นเทศน์ว่า “ลูกศิษย์ร้อยคนก็ต้องใช้อุบายร้อยนัย เพราะนิสัยต่างกัน”

หันมาปรารภจะไปวิเวกคนละแห่งให้เหมาะสมกับผู้ไข้เรื้อรัง ครั้นบิณฑบาตฉันเสร็จแล้วองค์ท่านก็เขียนจดหมายฝากเจ้าตัวผู้จะไป จ่าหน้าซองว่า ส่งท่านมหาผาน บ้านโพนงาม วัดปริยัติธรรม เนื้อความในจดหมายว่า

ท่านมหาผ่านที่นับถือ

พระองค์ที่ถวายจดหมายนี้ ออกจากสำนักหลวงปู่มั่นมาวิเวก ต้องการพักวิเวกอยู่ในเขตบ้านนี้บ้างตามสมัยเท่าที่จะเป็นไปได้ และก็มีหวังจะกลับเข้าสำนักเดิมแห่งหลวงปู่มั่นอยู่ ฉะนั้นจงกรุณาให้โยมทำที่พักให้ช่วยเท่าที่เห็นสมควรว่าแห่งใดจะวิเวกพอ

ขอแสดงมาด้วยความนับถือ
บัว ป.

รับจดหมายจากพระอาจารย์มหา กราบลาเดินทาง องค์ท่านให้โยมไปส่งประมาณหนึ่งเส้น ก็บอกให้โยมกลับ เพราะทางเส้นนี้ได้รู้จักจำได้แล้วแต่เข้าไปหาหลวงปู่แต่แล้งปีกลายนี้ เดินคนเดียวไปตามสายป่า พอเที่ยงวันก็ถึงเข้าไปกราบท่าน

โอ ตอนนี้ตกไป ขออภัยต่อท่านผู้อ่านผู้ฟังบ้าง คือตอนจะออกจากพระอาจารย์มหาบัว ได้กราบวิงวอนองค์ท่านว่า “เมื่อพระอาจารย์กลับถึงหลวงปู่มั่นก่อนกระผม กรุณากราบเรียนหลวงปู่ว่า คุณหล้าได้ลาเกล้าไปที่อื่น เพราะเกรงใจเกล้า เพราะ ๔-๕ วันจับไข้ อีกอันหนึ่ง จะลองดีตนว่า จะกล้าเป็นกล้าตายต่อพระศาสนาเพียงไร ดังนี้ หรือพระอาจารย์เห็นดีอันใดเหมาะสมตามเป็นจริง ก็แล้วแต่จะกรุณากราบเรียนเทอญ”

พระอาจารย์มหาย้อนถามคืนว่า “คุณเห็นประโยชน์ยังไง จึงให้ผมกราบเรียนหลวงปู่มั่นอย่างนั้น”

เรียนพระอาจารย์มหาว่า “เพราะเกรงหลวงปู่จะเขกว่า ‘คุณหล้าไปวิเวกกับคุณมหา แล้วแตกหนีจากคุณมหา เพราะไม่ลงคุณมหา ทิฐิมากเหลือเกิน เราจะไม่ให้คุณหล้าอยู่กับเราอีกต่อไปด้วย’ ดังนี้ ก็อาจเป็นได้ครับ”

พระอาจารย์ยิ้มแล้วพูดว่า “เออ คุณพูดมีเหตุผลดี ผมจะกราบเรียนหวงปู่ตามคำสัตย์ของคุณนั้นเอง”

กล่าวต่อ เรื่องการไปถึงบ้านโพนงามต่อไปอีก เมื่อถึงแล้วก็ยื่นถวายจดหมายโดยเคารพแก่ท่านอาจารย์มหาผ่าน พอท่านอ่านจบแล้ว ท่านก็บอก (ให้) โยมบิดาของท่าน ประกาศแก่ญาติโยมโดยด่วน ญาติโยมก็ออกมา ๓๐ คน เพราะเป็นเวลาเที่ยงวันเศษ แล้วเขาปรึกษากันโดยด่วนว่า

เอาท่านไปพักปฏิบัติธรรมที่โคกตุ้มนกกระทา อันเป็นผีบังบด ถ้าหลงมาจึงเห็นตุ้ม คือกรงนกกระทาขันแก๊กๆ อยู่ มันมีผีดุมากในโคกนั้น แล้วเขาก็ทำกระต๊อบให้ มุงฟาง กั้นฟาง มีส้วมหลุมตลอดรางปัสสาวะ ทางจงกรมเสร็จในวันนั้น มีน้ำบ่ออยู่ที่นั้นด้วย ไกลบ้านประมาณหนึ่งกิโลเมตรก็คงจะไม่พอ คงเพียงยี่สิบกว่าเส้นเท่านั้น เป็นป่าไม้เต็งรังสูงๆ ถี่ๆ

ความสะดวกทางบิณฑบาตก็พอเป็นไปได้ บุคคลก็เป็นที่สบายพอควร ส่วนการจับไข้นั้น ก็เว้น ๒ วัน ๓ วันก็เป็นไข้ แต่ฉันก็พอฉันได้ แต่ไม่หายปวดหัว วันไหนไข้ เขาจะมาเฝ้าก็ไม่ให้เขามา เขาจะมาฝนยาให้ประจำวัน ก็ไม่ให้เขามา ถึงคราวไข้ ก็ไข้อยู่องค์เดียว เป็นเพียงให้เขาเอาหินกับรากยาไว้ให้ จะฝนเองดอก ดังนี้

ส่วนมหาผ่าน ๗ ประโยคนั้น ท่านเป็นธรรมยุต ลูกศิษย์ท่านเจ้าคุณเทพกวี วัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี มีอุปัชฌาย์เดียวกันท่าน มาพักเยี่ยมบ้านของท่านเฉยๆ เป็นวัดร้าง ท่านอยู่กับเด็กชายลูกหลานและท่านก็กว้างขวางมาก ท่านให้โยมบิดาของท่านมาปฏิบัติตอนเช้า ฉันเสร็จจึงกลับบ้าน ท่านบอกไว้ว่า “วันลงอุโบสถปาริสุทธิจะมาลงด้วย เพราะผมอยากจะมาต่างวิเวกบ้าง คุณไม่ต้องเข้าไปหาผมดอก ผมจะออกมาหาเอง” ดังนี้

พอถึงวันท่านก็มาจริงๆ ไม่ถือคนไม่ถืออะไรเลย แต่ท่านกำลังดำริว่าจะสร้างรั้ววัดด้วยไม้เป็นเสาเลื่อยเอง

ด้านภาวนาก็ลมหายใจออกเขาเป็นหลักตามเคย บางวันก็แผ่เมตตาพร้อมกับลมออกเข้า น้อมลงถึงธรรมอันไม่มีควรไม่มีภัยด้านจิตใจไม่มีความกลัวมาเป็นเจ้าหัวใจได้เลย

พักอยู่ประมาณสี่วันก็มีเสือมาเข้าบ้านเขา ๒ ตัว เป็นคู่กันมา มาจากทิศตะวันออกล่องชายเขา ร้องสลับกันตามทางชายเขามาตรงบ้านเขา ประมาณ ๕ ทุ่มติดๆ กัน ๕ วัน แต่พอถึงชายบ้านแล้วก็หยุดเสียงเงียบไม่รู้ว่ามันไปไหน และประมาณตีสามก็ร้องสลับกันจากตีนบ้านออกไปเป็นลำดับ ตามสายที่มันเข้ามา ร้องแบบบรรจงไม่หวาดเสียวเลย ไกลจากที่พักไปประมาณ ๑๐ เส้น ร้องขาเข้าก็ไกลกว่านั้นประมาณ ๒๐ เส้น แต่ใกล้เข้ามาทุกที ร้องขาออกก็ค่อยไกลไปทุกที

ตอนเช้าเขาตามมาเอาข้าวเศษเหลือฉัน เขาเล่าว่า

“ชาวบ้านเขาวิจารณ์กันว่า แต่ก่อนไม่ได้ยินแบบนี้ นี้อาจหาญเหลือเกิน ร้องเข้ามาแบบบรรจง ร้องทั้งสองตัวสลับเสียงกันตามทางตรงเข้ามาหาบ้านด้วย ชะรอยจะเป็นด้วยพระคุณเจ้ามาอยู่ที่ผีมันหวง แล้วมันบันดาลแสดงอภินิหารให้กลัว ก็อาจเป็นได้นะครับ”

ตอบเขาว่า “เออ ตั้งใจฟังให้ดี อาตมาจะอธิบายให้ฟัง คือขณะนี้เป็นเดือนฤดูหนาวอยู่ และปีนี้ก็หนาวจัดมากกว่าทุกปี น้ำเกือบจะแข็ง แกงที่พวกโยมห่อใส่บาตร อาตมาเปิดฉัน มันจับก้อนเป็นเม็ดเป็นกลุ่มๆ เป็นจุดๆ ถ้าปีไหนหนาวจัดเสือก็เพลิน โบราณอีสานกล่าวว่า ปีไหนฝนจะดี เสือก็ร้องเพลิน ธาตุของเสือนั้นชอบหนาว ธาตุของแมวก็เช่นกัน มันไม่ใช่ผีๆ สางๆ อะไรบันดาลดอก และโบราณกล่าวย้ำว่า เสือร้องเพลิน ฝนจะดีในปีหน้า และปีที่แล้วมานี้นะ ฝนก็ดีด้วย และก็เรื่องธรรมดาสัตว์ เมื่ออารมณ์ของจิตใจนึกเพลิน ก็แสดงความเพลินออกมาไม่ท่าหนึ่งก็ท่าหนึ่งให้จนได้ แต่มนุษย์เรามีหลายท่า ผิวปากบ้าง รำบ้าง ฟ้อนบ้าง เป็นต้น”


เมื่ออธิบายให้เขาฟังดังนี้แล้วก็สังเกตไปและก็ได้ผล เขาก็เลยหยุดสนใจในเรื่องเสือร้องทั้งหมู่บ้าน ภาษาสัตว์ปากมีมันก็ร้องไปเท่านั้น

๏ เสือตัวร้าย คือ เสือหลง

พิจารณาน้อมเข้ามาภายในส่วนตัวแล้ว เสือกิเลสมันตั้งบ้านตั้งเมืองอยู่รอบเมืองจิตเมืองใจ อรหัตมรรค อรหัตผลจำพวกเดียวจึงจะปราบมันให้ชนะราบคาบได้ เมื่อยังมีชาติภพอยู่เพียงใดก็เท่ากับว่ายังมีเสือสิงห์งูหรือภัยๆ อยู่ตราบนั้น

ความหลงอันเดียวเป็นแม่ทัพให้ท่องเที่ยวอยู่ในสงสาร เสือตัวหลงๆ เป็นเสือตัวที่ร้ายกาจอันนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน วิปัสสนาปัญญาญาณอันถ่องแท้เท่านั้นจึงจักสามารถขับได้ไล่หนี เพียงสมาธิล้วนๆ ก็เท่ากับว่าลิ้นและยุงเท่านั้นไปกัดมัน มันก็นอนอยู่ในมุ้งตามสบายไม่สะท้านเลย

ปัญญาสัมมาทิฏฐิเป็นแม่เหล็กของมรรคทั้งหลาย เมื่อสัมมาทิฏฐิข้อต้นเห็นชอบแล้ว หากเป็นแม่เหล็กดึงดูด สังกัปโป วาจา กัมมันโต อาชีโว วายาโม สติ สมาธิ มาอยู่ในวงแขนเอง ไม่ต้องสงสัยส่งส่ายไปทางอื่นก็ได้ เพราะเป็นโทรศัพท์สายเดียวกัน ก็ว่าเป็นนายกของมรรคของผลก็ได้ ไม่ผิด เพราะมรรคกับผลเชื่อมโยงกันอยู่ในตัวแล้ว คล้ายหนังกับเนื้อ และให้ผลไม่เลือกกาล ไม่เลือกเวลา สติปัญญาจะรู้เท่าหรือไม่ก็ตามเป็นจริงอยู่อย่างนั้น ความจริงไม่หนีจากความจริงทั้งเหตุและผล

ท่านผู้ใดสงสัยในเรื่องของมรรคๆ ผลๆ แล้วจะปฏิบัติธรรมลำบากใจมาก เหตุกับผล พืช ผลของพืช กรรม ผลของกรรม เหตุ ผลของเหตุ กิริยา ผลของกิริยา ก็มีความหมายอันเดียวกันทั้งนั้น แต่จะไปทางดีหรือชั่วขั้นไหนๆ ต้องขึ้นอยู่กับ มรรค เหตุ พืช กรรม กิริยาเจตนาเป็นประมาณ จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวไม่เป็นปัญหา เป็นวิสัยของปราชญ์ผู้จะรู้ได้โดยเฉพาะ เพราะตาปัญญาของปราชญ์แท้ รู้อันใดไม่มีพลาด ถึงจะพลาดบ้างก็มีประตูแก้ได้ ไม่ถึงกับนับสิบไม่ลุก

ฉะนั้นธรรมแท้ ธรรมละเอียด จึงไม่ขึ้นอยู่กับเมืองเดาด้น นักปราชญ์จึงยอมเคารพธรรมไม่จืดจาง จึงไม่ยืนยันว่าธรรมเป็นตน ตนเป็นธรรม เพราะเกรงจะตีตนเสมอธรรม เทิดธรรมไว้สูงกว่าตัวเสมอๆ แม้พระบรมศาสดาก็ยอมเคารพธรรม ไม่ตีตนเสมอธรรม เป็นแค่ใช้คำว่า รู้ธรรม เรียงธรรม จำแนกธรรม ถ้าธรรมไม่มีอยู่ก่อนพระองค์ พระองค์จะรู้ได้อย่างไร จะเรียงได้อย่างไร จะจำแนกได้อย่างไร

ข้อนี้เป็นของควรคิด มิฉะนั้นจะสำคัญว่าธรรมเป็นตน ตนเป็นธรรม จะดีตนเสมอธรรม จะดีธรรมเสมอตน จะไม่มีวันละมานะความถือตัวได้ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรมก็จะหัวเราะและเย้ยหยัน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องน้อมเข้ามาสอนตน สอนใจทั้งนั้น ถ้ามุ่งแต่เป็นภาระน้อมออกนอก สอนผู้อื่นโดยถ่ายเดียว ก็ขาดเมตตาตน เมื่อขาดเมตตาตนแล้วจะเมตตาต่อท่านผู้อื่นอย่างไรได้ เพราะไม่มีทุน จะเอาทุนที่ไหนไปจ่าย ถ้ายอมไปจ่าย ดอกเบี้ยก็ท่วมทับถมมากขึ้นทวี หาไม่ทัน

หันมาเล่าเรื่องพักวิเวกอยู่ในที่ใดๆ อันไม่ใช่สำนักบริบูรณ์ในเครื่องใช้สอย ก็ต้องเอาความพอใจออกหน้า เป็นต้นว่า การซักการย้อมผ้า เครื่องบมซักผ้าก็ต้องใช้ชามกะละมังใบเล็ก หม้อต้มแก่นขนุนก็ต้องหม้อดินธรรมดา แต่ฟืนนั้นไม่อด เอาที่ไหนก็พอได้ น้ำก็ไม่อด เพราะสมัยนั้นจะอัตคัดบ้างก็แต่เครื่องใช้ การต้มแก่นขนุนต้องต้มหลายๆ หม้อ หม้อหนึ่งก็ได้สังฆาฏิผืนหนึ่งเท่านั้น และต้องต้มหลายๆ ครั้งด้วย จึงจะเสร็จแต่ละครั้งของการซักย้อม แต่วิเวกวังเวงดี ไม่ได้เกี่ยวกับผู้กับคนดี

เรื่องน้ำร้อนตอนตะวันบ่ายก็ไม่ต้องถามหาดอก ยาสีฟันก็คือไม้ชำระฟันที่ทุบตีตอกเอาไม้โกทานั้นเอง ตื่นนอนเวลาเช้ามืด ตีสาม ล้างหน้า บ้วนปาก ล้างปาก ล้างฟันอมน้ำเข้าแล้ว ก็เอานิ้วมือเข้าสีฟันแล้วก็เสร็จกัน ยาสีฟันชนิดหลอดหรือชนิดผงไม่ต้องถามหา ผ้าห่มหนาวก็คือผ้าสังฆาฏินั้นเอง อุ่นหรือไม่อุ่นก็หมดหวังเท่านั้นกับจีวรผืนเดียว ผ้าอาบ ผ้าปูนอน ผ้าคลุมหมอนก็ผืนเดียวกัน บ่ายสามตอนกลางวันต้องปัดกวาดให้เสร็จรีบสรงน้ำ รีบเข้าทางจงกรม แม้ผ้าเช็ดตัวเช็ดหน้า ก็ผืนเดียวกับผ้าอาบ ผ้าเช็ดบาตรนั้นแหละ

๏ ชีวิตพระป่า

สมัยนั้นญาติโยมเข้าไปหาพระ ต้องการธรรมธรรมะกุศลผลบุญจริงๆ ไม่มีมายาสาไถยไปทางอบายมุข ผู้หวังอบายมุขไม่กล้าเข้าหาพระ (ด้วย) ซ้ำ ทุกวันนี้สารพัดแล้ว ผู้เป็นหัวหน้าสำนักก็ตับจะแตกตาย แต่ผู้หวังอุทิศต่อมรรค ผล นิพพาน มีอยู่ทั้งเพศฆราวาสทั้งเพศสมณะปะปนกันอยู่ พอประทัง จึงพอหายใจได้บ้าง ถึงอย่างนั้นก็ยังจะกลายเป็นหลุมถ่านเพลิงไปทั่วทั้งโลก

อุปสรรคเป็นยาวิเศษ เป็นตัวเหตุตัวผลให้ปวงปราชญ์ไม่สงสัยในคำที่ว่า โลกๆ ทั้งโลกอดีต ทั้งโลกอนาคต ทั้งโลกปัจจุบันด้วย เป็นการช่วยเสริมให้ระอา ให้หน่าย ให้คลาย ให้หลุดพ้นจากความหลงความเข้าใจผิดของตนๆ ที่เคยหลงเคยเข้าใจผิดมาเป็นเวลาช้านมนาน

เจตนาและสติปัญญาย่อมโอนไป เอนไป น้อมไปในธรรมอันไม่ตาย ศรัทธา เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ ปัญญารอบรู้สิ่งที่ควรรู้ เช่น รู้ว่าสังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่งเป็นต้น

ศรัทธาและปัญญาส่วนนี้ก็รวมพลเป็นมิตรกัน พร้อมทั้ง วิริยะ สติ สมาธิ เชือกที่ผูกมัดรัดรึงไว้ เส้นหลงๆ ใหลๆ หลำๆ ก็ขาดกระเด็น ผูกไว้ไม่อยู่เลย

ธรรมอันนี้เป็นของจริงเป็นอริยสัจธรรมฝ่ายอริยมรรค อริยนิโรธสัจจะ ไม่ใช่ของปุถุชนอันยังหนาแน่นด้วยกิเลส

ขณะที่พักอยู่บ้านโพนงาม ป่าแกมดงนั้น เขามาทอดบังสุกุลตามประสาของเขา เมื่อรับของเขาโดยเคารพตามมารยาทวิธีของกองบังสุกุล ให้พรเขาย่อๆ แล้วได้อธิบายให้รู้จักความหมายว่า

“อาตมารับโดยเคารพ แล้วจะถวายต่อโดยเคารพ ขอให้ญาติโยมพลิกใจอนุโมทนาเป็นบุญต่อสองครั้ง คือให้เอาไปถวายพระอาจารย์มหาผ่านที่วัดของพวกเรานี้เทอญ อาตมาจะเอาไว้เพียงเทียนไขเล็กน้อยและไม้ขีดไฟสามกลักเท่านั้น นัยที่นี้มิได้หวัง ว่าจะอวดมักน้อย อวดสันโดษอะไรดอก เพราะเหตุว่า บริขารผ้าท่อนผ่อนสไบอะไรๆ ก็บริบูรณ์มาจากหลวงปู่มั่น และอาจารย์มหาบัวแล้ว และจะพะรุงพะรังในการเดินทาง ส่วนมูลค่าก็ไม่จำเป็นต้องตามส่ง เพราะพวกเราเป็นบ้านป่า คมนาคมไม่สะดวก ขึ้นเขาลงห้วย การไปๆ มาๆ ก็ด้วยฝีเท้าขลุกขลัก กว่าจะถึงแต่ละบ้าน ก็กินเวลาครึ่งวันหรือตั้งวันๆ มูลค่านี้จงเอาไปช่วยรั้ววัดของพระอาจารย์มหาผ่านโดยเคารพเสียเถิดโยมเอ๋ย”

เมื่อปรารภกันอันมีเหตุผลพอแล้ว ก็หมดปัญหากันและกัน ไปโดยสุภาพเรียบร้อยดี แล้วก็พักวิเวกอยู่ที่นั้นต่อไป เวลาของวันและชีวาก็ล่วงไปได้ ๒๘ วัน จะย่างเข้าครบเดือน ก็ลาท่านอาจารย์มหาผ่านและญาติโยมจะไปถ้ำพระเวส

ท่านเหล่านั้นไม่อยากจะให้ไปง่าย เพราะอยากจะให้ผีที่มันหวงดินตอนนั้นหนีเสียก่อน ตอบเขาว่า

“อาตมาอยู่นี้ไม่ได้เห็นมันสักทีดอก กรงนกกระทาของผีก็ไม่เห็นมี และอาตมาก็อยู่พอคุ้มค่าร้านพักกระต๊อบของพวกญาติโยมแล้ว เพราะจะจวนเวลาไปวิเวกในถ้ำ เพราะนึกถึงถ้ำอยู่ กุศลผลบุญอันใดที่พวกญาติโยมได้สร้างไว้แล้วในภพก่อนๆ ก็ดี ปัจจุบันนี้ก็ดี จะสร้างต่อไปก็ดี ขอจงภิญโญยิ่งจนถึงที่สุดทุกข์โดยชอบ ตามความประสงค์อยู่ทุกเมื่อเทอญ”

แท้จริงเขาปฏิบัติดีพอควร บิณฑบาตหมกห่อใส่บาตรเรียบ ไม่ต้องตามมาส่งที่วัดเป็นปัจฉาภัต ห่างๆ จึงตามมาเป็นบางครั้ง การฉันก็ฉันรวมทั้งหวานและคาว อยู่คนเดียวยิ่งประหยัดข้อวัตร เพราะหมดที่อาศัย เกรงจะวิบัติมาก พอใจเองไม่ได้บังคับมัน มันเป็นเองแท้จริง

ธรรมเนียมชาวโลกผู้ใจสูง เมื่อเห็นพระไปวิเวกองค์เดียว เขาย่อมวิจารณ์และสังเกตว่าไปปฏิบัติธรรมแท้ หรือเพื่อแสวงหาอามิสหนอ การไปคนเดียวต้องปฏิบัติรักษาหลายๆ ด้าน มิฉะนั้นแล้วทำให้เขาติเตียนวงศ์ฝ่ายปฏิบัติ

เรื่องนินทาเป็นเรื่องโลกก็จริง แต่เป็นเรื่องจะปฏิบัติรักษาในสิ่งที่ไม่เหลือวิสัย มิฉะนั้นแล้วจะเหลิงเจิ้งไปหมดไม่มีขอบเขตได้โดยแท้ กุลบุตรกุลธิดาผู้จะเดินทางตามหลัง ไม่มีอันใดจะได้ถือเอาไว้เป็นแบบฉบับ กลายเป็นศิษย์ไม่มีครูอีก แปลว่าไม่เรียนตามพ่อก่อตามครู ผู้ประมาทพ่อแม่ ประมาทครูบาอาจารย์ เป็นผู้อกตัญญู ผู้นั้นนับวันจะเสื่อมทรามลงทุกที เหมือนพระจันทร์ในวันข้างแรมนั้นเอง จึงเป็นของควรคิดอยู่ทั้งนั้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่ศาสดาจารย์กรรมฐานหัวตอ นั่งและสอนให้ครอบคลุมทุกด้าน เป็นศาสนาที่บริบูรณ์พร้อมมูลทุกๆ ประการกว่าศาสนาใดๆ ทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า และโลกอดีต แลโลกปัจจุบันด้วย ไม่มีศาสนาใดๆ จะทันเทียมถึงได้ ผูกขาดจองขาดอยู่ทุกเมื่อด้วยและก็ไม่ได้เขียนเข้าข้างตัว เขียนเข้าข้างธรรม แต่ผู้มีธรรมเป็นหลักจึงจะรู้จักยินดีเคารพรัก ปฏิบัตินับถือพระพุทธศาสนาได้ เพราะพระพุทธศาสนา ธรรมศาสนา สังฆศาสนาสอนให้ฝังลงหยั่งลงที่ใจ แต่ละหัวใจอันลึกซึ้งลงไม่มีประมาณเลย

แผ่นดินภายนอกหนาสองแสนสี่หมื่นโยชน์ยังมีประมาณอยู่ คุณของพุทธธรรม สงฆ์ ที่เรียกว่าคุณของพระพุทธศาสนานี้ หาประมาณบ่มิได้ จะย่นลงมาหาผู้รู้รู้สักเพียงใดก็ตาม อันรู้ดีรู้รอบรู้พ้นจากกิเลสทั้งปวงก็ตาม ก็ไม่มีประมาณอีก ไม่เป็นวิสัยที่เอาเครื่องตวงในโลกสมมติ โลกบัญญัติ มาวัดมาตวง ผ่าศูนย์ขอบศูนย์กลางได้

ย้อนกลับคืนมา การลาจากที่พักป่าบ้านโพนงาม มอบหมายสิ่งที่เขาเอามาให้ใช้ทุกๆ ประการ ฉันเช้าเสร็จแล้วก็เตรียมเดินทางไปทิศตะวันออก ตามชายเขา เขาไปส่งพอเป็นพิธี เพราะทางนี้เคยผ่านตอนแล้งปีกลายที่ไปหาหลวงปู่มั่นแล้ว

รูปภาพ
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร


๏ พบพระอาจารย์ฝั้น

แท้จริงวันออกเดินทางนี้ก็จับไข้อยู่บ้างแล้ว แต่ไม่เล่าให้เขาฟัง เพราะเกรงว่าเขาจะเป็นอารมณ์ด้วย พอเขากลับ ก็ตั้งหน้าภาวนาเดินตามชายเขา นกโพระดกร้องส่งเสียง ใบไม้ร่วงจนโปร่งข้างบน ไม่ได้กังวล ตั้งใจภาวนาพร้อมขาก้าวเดิน ทั้งจับไข้ทั้งเดินภาวนาไปตามไหล่เขา นกดุเหว่าร้องเสียงดังก้องได้ยินไกล

เดินทางไปได้ถึงห้าโมงเย็นเศษๆ จนถึงเขตบ้านนานกเค้า พบพระอาจารย์เจ้าองค์สำคัญ คือพระอาจารย์ฝั้น วัดป่าธาตุนาเวง ท่านกำลังเดินทางมากับพระสามสี่องค์ ท่านประสงค์จะไปถ้ำผาแด่น มีตำรวจสองคนตามส่งท่าน

ท่านถามว่า “อ้าว จะไปไหน ใครบ้างอยู่กับพระอาจารย์ใหญ่ ทำไมจึงหนีออกจากท่านมาคนละทิศละทาง”

นั่งคุกเข่าลงกับพื้นพร้อมทั้งประนมมือกราบเรียนท่านรวบรัดเอาแต่ใจความ

ท่านจึงกล่าวว่า “เออ วันนี้คุณเดินทางตลอดวันทั้งไข้ไม่สร่าง เห็นใจมาก จงไปพักวัดธาตุนาเวงก่อนนะ เดี๋ยวนี้วัดไม่มีพระ ผมจะให้ตำรวจสองคนนี้กลับไปส่งเดี๋ยวนี้แหละ จากนี้ไปถ้ำผาแด่นผมไปกับพระก็ได้ ตำรวจเอ๋ย ต่อพรุ่งนี้เช้า ให้สิบโทอัมพรมาฉีดยาให้พระนะ หายแล้วจึงไปวิเวกต่อไป”

ขณะนั้นเวลาสายัณห์ตะวันเย็นริบหรี่ลงลับขอบฟ้าแล้ว ตำรวจสองคนก็มารับเอาบริขาร คนหนึ่งสะพายบาตร คนหนึ่งแบกกลดพร้อมทั้งถือเอากาน้ำ กราบลาท่านกับพื้นดิน แล้วก็ผินหลังใส่กัน ต่างพวกก็ต่างไป คือ องค์ท่านไปทางทิศใต้กับพระ ข้าพเจ้ากับตำรวจไปทางทิศเหนือ

ข้าพเจ้าก็จับไข้อยู่อย่างนั้น ทางไกลประมาณสิบกิโลเมตรเดินทางลัดตัดตรง หนทางเท่าหนทางหนู ไฟก็ไม่มี มืดไม่เห็นเท้าว่าจะเหยียบอะไร เสี่ยงบุญเสี่ยงกรรม แล้วภาวนาเมตตาเดิน เพราะเกรงจะเหยียบงู พอถึงธาตุนาเวงก็เกือบสามทุ่ม ตำรวจส่งขึ้นกุฏิแล้วเขาก็ไปพักที่พักเขา พอประมาณที่ทุ่มไข้ก็สร่างบ้างแต่หัวยังปวดหมับๆ อยู่พอปรากฏบ้างเล็กน้อย

วันนั้นภาวนานอนมิได้นั่ง แต่ก็ไม่หลับง่าย รุ่งเช้าตรวจดูน้ำใช้น้ำฉันยังมีบริบูรณ์อยู่ กวาดลานวัดอ้อมกุฏิก็พอดีถึงเวลาภิกขาจารกลับจากบิณฑบาต โยมใบตามมาเอายาเม็ดมาให้ ๑๑ เม็ด สิบโทอัมพรสั่งมาว่า ให้ฉันครั้งละสองเม็ด วันละสองเวลา ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้

พักอยู่นั้น ๖-๗ วันได้ก็หายขาด เบาตนเบาตัวมากแข็งแรงขึ้นโดยรวดเร็วมาก รับอาหารก็มีรสชาติดี แม้ยา ๑๑ เม็ดก็หมดเพียง ๘-๙ เม็ดเท่านั้น ความตั้งใจของหมอถ้าฉันยานั้นหมดไม่หายเขาจึงจะฉีด ถ้าทั้งฉันทั้งฉีดมันแรงเกินไป

พักอยู่นั้นอีกรวมทั้งหมดเป็น ๑๑ วัน สังเกตธาตุขันธ์ก็แข็งแรงขึ้นมามากแล้วเหมือนไม่ได้ไข้สักที แล้วก็ลาโยมว่า

“อาตมาจะลาไปถ้ำพระเวส”

โยมใบร้องขึ้นว่า “รักษาหายแล้วหนีไปละทีนี้”

ข้าพเจ้าทั้งตอบทั้งหัวเราะเขา ตอบว่า

“อาตมาเป็นผู้ต้องหา (ของ) หลวงปู่มั่นอยู่ คือองค์ท่านเทศน์หนักแน่นว่า ใครไปวิเวกกลับมา ถามภาวนาไม่ได้ความ จะเขกหนี ไม่ให้อยู่จำพรรษาด้วยเพราะไปเที่ยวเล่นเฉยๆ และพระอาจารย์ฝั้นก็บอกไว้ว่า หายจากไข้แล้วจึงไปเที่ยววิเวกอีกต่อไปดังนี้

โยมเอ๋ย อาตมาไปวิเวกในถ้ำ ในเขา ในป่า ในดง องค์เตียว อาตมาก็ได้บุญ โยมก็ได้ด้วยไม่เสียประโยชน์ทั้งสองทาง (ถ้า) หลวงปู่มั่นได้ทราบข่าวว่า อาตมาพักวิเวกเล่นอยู่ตามวัดเฉยๆ ก็ (จะ) เป็นเหตุให้หลวงปู่พิจารณาว่าอาตมาบิดพลิ้วต่อข้อวัตรครูบาอาจารย์เฉยๆ มาลอบซ่อนตัวอยู่ ไม่เห็นกล้าเป็นกล้าตายอะไร อาตมาก็ถูกเข่น องค์ท่านก็ไม่รับไว้สอนเลย ตัดหนทางอาตมาอีกด้วย”

โยมตอบว่า “ถ้ากระนั้นก็เป็นอันว่าไปได้แล้ว จงแผ่เมตตาถึงพวกข้าน้อยบ้าง”

ครั้นได้วันใหม่ ฉันเสร็จก็ออกเดินทาง ถึงบ้านโคกค่ำพอดี พักวัดป่า เช้าฉันเสร็จเดินทางต่อ ค่ำถึงอำเภอนาแก แต่ยังเดินต่อไปอยู่ พักเถียงนาเขาเป็นเวลาหนึ่งทุ่มพอดี น้ำมิได้อาบ มิได้ดื่ม มิได้ล้างเท้า ตอนกลางคืนหนาวจัด ห่มผ้าเพียงแข้งไม่ปกเท้า เพราะเท้ามิได้ล้าง ทนหนาวเอา เช้าได้เวลา ไม่มีน้ำล้างหน้าและบ้วนปาก เลยเอามือถูตา แล้วเข้าไปบิณฑบาตบ้านดู่ ฉันเสร็จเดินทางต่อถึงวัดป่าอ้อมแก้วธาตุพนม พักสองคืน แล้วไปวัดป่าเมืองเว พักหนึ่งคืน เดินทางต่อ พักวัดเก่าๆ โบราณเป็นวัดร้าง (เขาว่ามีผีดุ) หนึ่งคืน รุ่งเช้าบิณฑบาตฉันเสร็จเดินทางต่อ พักวัดป่าบ้านหนองห้างหนึ่งคืน เช้าฉันเสร็จเดินทางต่อ พักบ้านนาโสก

ได้รับข่าวว่าหลวงตามิ่งไปอยู่ถ้ำพระเวสก่อนแล้ว โยมบ้านนาโสกพาไปหาถ้ำ และพระอาจารย์สนก็พาไปหาด้วย ตกลงได้ถ้ำมะเขือจวนค่ำแล้ว จากถ้ำมะเขือไปหาถ้ำพระอาจารย์สนไกลประมาณ ๔๐ เส้น ตกลงจำเป็นก็ต้องพักถ้ำมะเขือ แล้วสัญญากันว่า พรุ่งนี้เข้าไปบิณฑบาต ลัดกันที่ป่าละเมาะอันไกลจากที่พักประมาณกิโลเมตร โยมเขาจะลัดใส่บาตรที่นั่น ว่าแล้วพระอาจารย์สนก็กลับถ้ำท่าน โยมก็กลับบ้านโยม คงราว ๒ ทุ่มจะถึงบ้าน

ยังแต่เราอยู่คนเดียวเปลี่ยวที่สุด ไฟจุดก็ไม่มี เทียนก็ไม่มี อนิจจาสรรพทุกขาในส่วนกายา แต่จิตใจนั้นนา ขณะนั้นอยู่ธรรมดา เฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์เลย ไม่ได้กางกลด แผ่นดินเอียงเหมือนจอมปลวก นั่งไม่ได้ หน้าจะคว่ำลง ตั้งแต่มันเป็นแผ่นหินแผ่นหินมาตั้งแต่กกุสันโธมาจนบัดนี้ คงไม่มีพระเณรองค์ใดไปเป็นผีบ้าภาวนาอยู่ที่นั้น นึกขึ้นมาแล้วก็น่าขำๆ หมดหนทางก็เอาผ้าอาบน้ำปู

วันนั้นไม่ได้สรงน้ำอีกซ้ำ ปูกับพื้นดินเอียงๆ นอนผินหัวไปทางทิศใต้ เอาห่อผ้าสังฆาฏิมาหนุน บาตรตั้งไม่ได้ ต้องผูกมัดติดกับต้นไม้ กลดก็สอดเข้ากับกอไม้ทั้งปลอกเพราะไม่ได้กาง เวลานอนเอาศอกทางขวางัดไว้ กำหนดลมหายใจพร้อม ปรากฏว่านอนไม่หลับเลย ตาใสแจ๋วตลอดรุ่ง อันนี้ก็เป็นภาพพจน์ส่วนตัวอันหนึ่ง นึกเห็นคราวใด น่าหัวเราะตนมาก และก็เป็นเครื่องเพิ่มความเข็ดหลาบในสงสารอยู่แบบไม่เสียธรรม กลายเป็นอตีตังสญาณ ญาณในส่วนอดีตไปในตัว เป็นพยานในส่วนปัจจุบันและอนาคตได้ไม่สงสัย

๏ อดีต อนาคต เป็นเมืองขึ้นของปัจจุบัน

บุคคลไม่เห็นกองทุกข์ชัดด้วยตนเองในปัจจุบัน อดีต อนาคตให้เสมอภาคด้วยคนเองชัดแล้ว ไฉนความเพลินในสงสารจึงจะลดลงได้ เมื่อความเพลินในสงสารไม่ลดลง ตัณหาความทะเยอทะยานก็ไม่ลดลง ทุกข์ทางใจก็ไม่ลดลง การเดินมรรคทางปัญญา มรรคภาวนาวิปัสสนาญาณก็ไม่ดูด นิโรธธรรมอันดับตัณหา ดับทุกข์ทางใจก็ไม่กระจ่าง คล้ายกับคนตาฟางเดินทาง แม้จะไปในรถในเรือก็มองเห็นอะไรไม่ถนัดโดยส่วนตัวได้

อดีต อนาคต ทางพระพุทธศาสนาไม่ใช่ว่าจะเป็นของไม่มีค่าเหลิงเจิ้งไปหมดโดยส่วนเดียว อดีตที่เป็นประโยชน์ ก็จะได้เอามาเป็นเยี่ยงอย่างในทางดี ที่ไม่เป็นประโยชน์ก็จะได้เข็ดหลาบเว้น

แม้อนาคตที่ตั้งสัตย์ไว้ สิ่งที่เป็นประโยชน์ก็จะได้เตรียมรักษาไว้ สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ก็จะได้เว้น เช่น เราเดินทาง แม้ขาเราจะยังไม่ก้าวไปถึงก็ตาม ก็ต้องเห็นที่จะก้าวที่จะเหยียบล่วงหน้าก่อนก้าวไป ผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อหลุดเพื่อพ้นจากความหลงและความเข้าใจผิดอันมึนงง ไม่โยงอดีต อนาคตเป็นพยานกันในปัจจุบันพลันด่วนให้ชัดแจ้ง แม้จะมีนิสัยวาสนาเป็นสุกขวิปัสสโกก็ตาม ก็ต้องบริบูรณ์ด้วยญาณสาม อตีตังสญาณ ญาณในส่วนอดีต อนาคตังสญาณ ญาณในส่วนอนาคต ปัจจุปันนังสญาณ ญาณในส่วนปัจจุบัน

ยกอุทาหรณ์เช่น เห็นไตรลักษณ์ในปัจจุบันชัด ไตรลักษณ์ในอดีต อนาคตก็มาเป็นพยานกันเสมอภาค เมื่อมีพยานสองปาก มิใช่พยานเท็จ ปัจจุบันก็ตัดสินพร้อมทั้งเป็นพยานเพิ่มเข้าอีกอยู่ในตัว ไม่ว่าจะเป็นทางดีหรือทางชั่ว โลกิยะหรือโลกุตร อดีต อนาคตย่อมเป็นเมืองขึ้นของปัจจุบันทั้งนั้น เว้นอรหันต์เสีย เพราะพระอรหันต์ไม่ติดข้องอยู่ในกาลทั้งสาม แม้จะเอากาลทั้งสามมาใช้อยู่แล้ว แต่ก็ใช้แบบไม่ติด น้ำค้างบนใบบัวแต่ไม่ติดใบบัวถึงน้ำจะตกออกจากใบบัว น้ำก็หาได้เป็นกังวลในใบบัวไม่ ใบบัวก็มิได้ยืนยันว่าหนักมากเพราะน้ำมาค้างเรา และก็ไม่ยืนยันว่าเบาแล้วเพราะน้ำตกออกไปจากเรา

ย้อนคืนมาแก้ปัญหาที่ยังค้างแขวนอยู่ มีปัญหาว่า อดีต อนาคต ก็คือปัจจุบันนั้นเองไปร้องเรียกเชื้อเชิญก็จริงอยู่ แต่ขยายตนเองออกให้เป็น ๓ ธรรมาสน์กับปัจจุบัน โยงกันเข้าลงรอยกันเพราะไม่ถือว่าเป็นของยากและหนักใจ และถือว่าเทศน์ให้ตนฟังด้วย ไม่หวังเอาคะแนนใดๆ ในโลกภายนอกด้วย เมื่อปัจจุบันกาลแตกฉานในนิทานของเจ้าตัวอยู่แล้ว อดีต อนาคต ก็ต้องรู้เท่าทันเทียมถึง เลยกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยและขบให้แตกได้ทันท่วงที ง่ายดายโดยด่วน

(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.พ. 2013, 14:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7836

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๏ ถ้ำอัตตกิลมถานุโยค

หวนมาปรารภติดต่อการเดินทางต่อไป เช้าพอได้เวลาก็ออกมาจากถ้ำมะเขือ อันเป็นถ้ำทรมานอัตตกิลมถานุโยค นอนได้เอาศอกขวาสักดินค้ำไว้ตลอดรุ่งนั้น มาลัดที่บิณฑบาตพระอาจารย์สน ฉันเสร็จแล้วล้างบาตรเสร็จเรียบร้อย เรียนท่านว่า

“ถ้ำที่พักคืนนี้เรียกว่าถ้ำจนตรอกได้ เพราะค่ำจวนเวลา กระผมนอนได้เอาศอกงัดไว้ตลอดคืน ตาใสแจ๋ว นอนไม่หลับ นอนกำหนดลม มีสติอยู่กับลมออกเข้า พร้อมกับศอกที่ค้ำดินไว้ ต่างก็พากันหัวเราะกันซ้ำทุกข์ กระผมนึกเห็นถ้ำผาแด่น เพราะแล้งปีกลาย ก่อนเข้าไปหาหลวงปู่มั่น ได้ไปพักอยู่คืนหนึ่ง ได้อ่านสถานที่ออกแล้วเหมาะสมทุกประการ และปีนี้ ระหว่างผมผ่านมา ก็พบพระอาจารย์ฝั้นที่ใกล้บ้านนานกเค้า องค์ท่านว่าจะไปถ้ำผาแด่น แต่เดี๋ยวนี้ท่านคงกลับวัดป่าธาตุนาเวงแล้วก็อาจเป็นได้ เพราะทางสกลนครติดต่อท่านอยู่ หรือมิฉะนั้น ท่านคงจะย้ายที่ไปหาถ้ำอื่นก็อาจเป็นได้ เพราะองค์ท่านมีพระไปด้วย ๒-๓ องค์

ถ้ำผาแด่นนี้เท่าที่กระผมสังเกตตามที่ได้เห็น (เมื่อ) แล้งปีกลายนี้ ถ้าอยู่องค์เดียวก็เหมาะมากนักแท้ๆ ครับ ทางบิณฑบาตไกล ๑๐๐ เส้น ขึ้นอำเภอเมืองสกลนครนั้นเอง จากตัวเมืองไปถึงถ้ำก็อยู่ในระหว่างอย่างมากก็ ๔๐๐ เส้น ฉะนั้นกระผมจะได้ลาไปวันนี้ขอรับ”

องค์ท่านก็ให้พรอันดีทุกประการ แต่ต้องกลับวัดป่าบ้านนาโสกเสียก่อน เพราะหนทางหลังภูเขาล่องไปตามยาวของภูเขาไม่มี มีแต่ทางชายเขา

๏ พบพระอาจารย์ฝั้นที่ถ้ำบ้านไผ่

กราบลาองค์ท่านแล้วก็ลงภูเขามาพร้อมโยมที่ไปลัดใส่บาตรบนภูเขา พอลงมาถึงใกล้วัดป่าบ้านนาโสก ก็เลยไม่เข้าพักวัด ให้โยมชาลีตามส่งทางล่องชายเขาตรงทิศตะวันตก โยมไปส่งประมาณหนึ่งกิโลเมตร พอจะไม่หลงแล้วก็ให้โยมกลับ

เดินองค์เดียวเปลี่ยวเปล่าตามชายภูเขาไม่เศร้าโศก
บริโภคภาวนาพร้อมกับขาก้าวหน่วงน้าวธรรม
บริกรรมติดต่อจดจ่อเป็นจังหวะ
ไม่ขาดระยะวิเวกวังเวง
จั๊กจั่นร้องเพลงตามต้นไม้เป็นระยะๆ
ไปพบปะเด็กจับจั๊กจั่น ถามเขาว่าไปทางนั้นถูกไหมหนู
เขายกมือชูชี้บอก ขอหลวงพ่ออย่าได้ปลีกออกจากทางเดิม
ทางเส้นนี้แหละผ่านบ้านนานางสี
เดินถึงค่ำพอดีก็พักบ้านค้อ


ตื่นเช้าบิณฑบาตฉันเสร็จก็เดินต่อ พักวัดร้างบ้านนาสีนวลสองคืน

สมัยนั้นวัดดอยธรรมเจดีย์กำลังเริ่มสร้างมาในระหว่างสองปี ลาจากบ้านนาสีนวล เดินทางข้ามเขา บ่ายสามโมงเย็นถึงวัดป่าบ้านเต่างอย

ลาจากนั้นเป็นวันใหม่ ฉันเสร็จเดินทางถึงบ้านไผ่ประมาณเที่ยงวัน ได้ทราบว่าพระอาจารย์ฝั้นมาพักอยู่ถ้ำบ้านไผ่หลายวันแล้ว องค์ท่านย้ายจากถ้ำผาแด่น เขากล่าวว่าองค์ท่านลงมาจากถ้ำ บิณฑบาตบ้านไผ่นี้ทุกวันองค์เดียว หมู่ของท่านกลับวัดหมดแล้ว

พอได้ยินเขาเล่าอย่างนั้นก็นึกในใจ ว่าเราจะผ่านไปถ้ำผาแด่นเลยก็ไม่เป็นธรรมอีก เราก็ต้องแวะองค์ท่าน เขาบอกล่วงหน้าว่า

“จากบ้านนี้ขึ้นไปหาถ้ำพระอาจารย์ฝั้น ทางไกล ๗ เส้น”

“เออ อาตมาก็จะขึ้นไปหาองค์ท่าน”

ว่าแล้วเขาก็ไปส่งทางประมาณสองเส้นกว่าๆ แล้วก็บอกเขากลับ เดินไปอีกนานพอสมควรก็ถึงถ้ำองค์ท่านอยู่

ขณะนั้นองค์ท่านกำลังสานครุไว้ตักน้ำอยู่องค์เดียว วางบาตรไว้ที่ควรแล้วห่มผ้าเฉวียงบ่าเข้าไปกราบองค์ท่าน

องค์ท่านทักทายว่า “มาจากไหน”

เรียนว่า “มาจากถ้ำมะเขือ นึกว่าจะไปถ้ำพระเวส แต่หลวงตามิ่งอยู่แล้ว ก็ไปหาถ้ำ ได้ถ้ำมะเขือค่ำๆ จวนเวลา ก็ยอมนอนแผ่นดิน ที่นอนเอียงมากและสถานที่ก็ไม่เหมาะสม นอนอยู่คืนหนึ่งก็เลยจากมาครับ”

องค์ท่านกล่าวว่า “เออ ผมย้ายจากถ้ำผาแด่นมานานแล้ว หมู่ท่านกว่า พากันกลับวัดหมดแล้ว ถ้าหากว่าท่านอยากอยู่กับผม ผมก็ไม่ขัดข้องเลย จงพิจารณาดูตามสะดวกเถิด”

กราบองค์ท่านแล้วก็ไปหาที่พัก เลยได้หินดานกลางแจ้ง ไม่ได้กางกลดและมุ้งเลย ปูผ้านอนหินดานเลย และน้ำก็อดอีก ไม่ได้อาบน้ำเลยวันนั้น เพราะเกรงจะหมดไปจากองค์ท่าน

๏ ฝูงผึ้งต้อนรับที่ผาแด่น

ตื่นเช้าได้เวลาก็ไปบิณฑบาตกับองค์ท่าน มีโยมผู้ชายคนหนึ่งมารับบาตรองค์ท่านและมารับใช้ ฉันเสร็จจึงเอาข้าวเศษกลับบ้าน และอากาศตอนกลางคืนก็ยังมีหนาวเย็นเยือกอยู่พอสมควร ฉันเสร็จแล้วล้างบาตร เช็ดเสร็จแล้วกราบเรียนองค์ท่านว่า

“ที่พระอาจารย์เปิดประตูให้กระผมอยู่ด้วยนั้นเป็นบุญอันล้นเกล้าของกระผมแล้ว แต่นิสัยกระผมเป็นคนขี้กลัวอยู่บ้าง กระผมอยากดัดสันดานมันอยู่ ถ้าหากว่ากระผมไปอยู่ถ้ำผาแด่นองค์เดียว พระอาจารย์จะเห็นสมควรหรือไม่หนอ ประการใดขอรับ และกระผมก็มีปัญหาอยู่อันหนึ่ง คือหลวงปู่มั่นปรารภปีนี้ว่า ผู้ใดไปเที่ยววิเวกกลับมาถามเรื่องภาวนาไม่ได้ความ จะไม่ให้จำพรรษาด้วย ข้อนี้ก็เจ็บปวดมาก เท่ากับว่ากระผมแบกแผ่นดินแผ่นฟ้าอยู่ ยังเป็นผู้ต้องหา แก้ยังไม่ทันตก”

องค์ท่านทอดสายตาลงต่ำอยู่สักครู่ ก็กล่าวว่า “คุณเรียนผมแบบนี้ มันถึงจิตถึงใจผมมาก ผมอนุโมทนาสาธุการ เอาให้ดีนะ ยกธงแดงต่อสู้” แล้วองค์ท่านก็บอกว่า

“เอ้า เตรียมบริขาร ผมจะให้โยมคนนี้แหละ ตามส่งจนถึงถ้ำผาแด่น ไปทางหลังภูเลยไม่ต้องลงไปทางตีนภู”

กราบสามทีแล้วก็ออกเดิน ให้โยมออกก่อนเพราะเป็นทางไม่เตียน โยมจะสะพายเอาบาตร แต่ไม่ให้สะพาย เพราะเกรงเขาหนักเกินไป เลยแบ่งห่อผ้าออกให้เขาถือหรือสะพายเอาบ้าง เดินภาวนาไปเงียบๆ ประมาณบ่ายสี่โมงเย็นก็ถึงถ้ำผาแด่น แล้วก็รีบบอกโยมกลับบ้านเขา แต่เขาก็คงค่ำบ้านนากับแก้ หรือมิฉะนั้น ก็คงค่ำบ้านเหล่านกยูง เพราะต้องไปตามไหล่เขาตรงทิศตะวันออก

ขณะที่โยมกลับบ้านก็เตรียมตัวจะขึ้นถ้ำ บันดาลมีผึ้งฝูงหนึ่งบินกรูเข้ามาตอมรอบหัวเป็นกลุ่มๆ ตั้งพันๆ ตัวบินวนเวียนอยู่รอบตัว แต่ไม่ถูกกาย บินรอบทั้งส่วนบน ส่วนกลาง ส่วนล่างของกาย บินช้าๆ ขณะนั้นจิตใจจะว่ากลัวผึ้งก็ไม่ใช่ จะว่ากล้าหาญก็ไม่เชิง ยืนคำนึงอยู่ว่า

“เอ๊ะ เราก็มิได้นึกได้ฝันว่าจะมาก่อกรรมทำเวรกับท่านผู้ใด ทำไมจึงเป็นอย่างนี้หนอ”

พอนึกอย่างนี้จบลง ผึ้งทั้งฝูงก็บินขึ้นหน้าผาหมด เข้ารังเดิมของมันแล้ว สังเกตก็ได้ความว่า

“เมื่อเรามา ไม่ได้มองสูง ไม่เห็นรังมัน คือเมื่อมันเข้ารัง เราจึงได้รู้ว่ามันบินออกจากรัง รังของมันมีรอยเหยี่ยวเฉี่ยวมาตี ขาดวิ่นไปบ้างแล้ว เหตุที่มันบินกลับทุกตัวไม่กัดเลยนั้น ชะรอยจะเป็นด้วยเราคำนึงธรรมว่า ไม่มาเอาเวรเอาภัยกับท่านผู้ใดก็อาจเป็นได้”

กระแสจิตของมันจึงเบาทางโกรธลง ก็อาจเป็นได้ เราก็ไม่รู้จักขณะจิตของมัน เป็นเพียงเหตุผลเดาด้นเท่านั้น แต่ก็ไม่เป็นเรื่องแปลกและสำคัญอะไร เขียนไว้พอให้เป็นอตีตารมณ์ที่ได้ผ่านทุกข์มาในการท่องเที่ยวของสังขารลงทุนบารมีพลีปฏิบัติ

ครั้นแล้วก็เอากาไปตักน้ำ รีบปัดกวาดเล็กๆ น้อยๆ พอได้ข้อวัตร เวลาก็ค่ำมืดพอดี มีกระต๊อบเล็กๆ อยู่ในถ้ำ เงื้อมหน้าผา ปูด้วยไม่กลมเล็กๆ เอาใบข่าปูรองและกั้นด้วยใบข่าป่าพอหลวมตัว ด้านบนมุงด้วยหินธรรมชาติ หันหัวไปทางเหวคือทางทิศเหนือ ทางจงกรมยาวประมาณ ๔ วาตรงทิศตะวันออก

ผ้าปูนอนก็คือผ้าอาบน้ำผืนเดียว เช็ดบาตรก็อยู่ (ตรง) นั้น ปกหมอนก็อยู่ (ตรง) นั้น เช็ดตัวเช็ดหน้าก็อยู่ (ตรง) นั้น ไฟก็แล้วแต่เดือนดาวและพระอาทิตย์จะอำนวย เห็นหรือไม่เห็น เป็นหน้าที่ลูกตาจะสัมผัสให้

มุ้งและกลดไม่ต้องกาง หมอนก็คือห่อผ้าสังฆาฏิ ครุตักน้ำอย่าถามหา ใช้กาตักมา ทั้งล้างเท้าทั้งฉัน

การล้างเท้านั่งหย่อนเท้าลงที่นั่งพักร้าน มือหนึ่งกำฝ่าเท้าทางใต้ ยั้งตัวยกฝ่าเท้าให้พ้นพื้น มือขวาจับแก้วน้ำเหลง มือซ้ายกำเท้าล้าง น้ำครึ่งแก้วก็พอแล้วแต่ละครั้ง ล้างแล้วพยุงตัวไว้ให้น้ำหนักตัวอยู่ที่ก้น ยกขาทั้งสองขึ้น ฝ่าเท้าพ้นพื้นแล้วเอาผ้าเช็ด แล้วจึงเอี้ยวตัวเอาขาขึ้นที่ร้าน มิฉะนั้นแล้วเท้าจะหยั่งลงเหยียบที่ดินที่หินอีก ถึงแม้จะใส่รองเท้าอยู่ก็ต้องล้าง เพราะการใส่รองเท้าก็กันได้เพียงหนามบางอย่าง และทางขลุกขลักหินคมดินคมบ้างเท่านั้น จะกันฝ่าเท้าทางพื้นไม่ให้ดำนั้นไม่ได้ การรักษาเท้าไม่ให้สกปรกก็มีพระวินัยกวดขันอยู่

ขณะที่อยู่นั้นไปบิณฑบาตทางไกล ๑๐๐ เส้น ไต่ไปตามหลังเขาประมาณ ๑ กิโลเมตร แล้วเอียงลงชายเขาเป็นดงบ้างแล้วจึงตกทุ่งนาใกล้บ้าน กลับออกมาแล้วฉันที่ทุ่งนาเล็กๆ มีน้ำบ่ออยู่ตรงนั้น มีโยมชื่ออาจารย์เสน เขาตามปฏิบัติ ฉันเสร็จล้างบาตรเรียบร้อยแล้วก็สะพายบาตรเปล่าขึ้นภู เว้นวันฉันบ้าง และบอกโยมเขาให้รู้ เพื่อให้เขาไม่ต้องคอยในวันที่ตนไม่ไปบิณฑบาต

ขณะนั้นมีควายดุร้ายอยู่ตัวหนึ่ง เขายาวโต้ง มันขวิดคนมาหลายรายแล้ว แม้เจ้าของมันก็ไล่ขวิด เช้าวันหนึ่งบันดาลไปพบที่กลางทางใกล้เข้าบ้าน มันขวางทางอยู่ไม่หนีเลย แกว่งเขาใส่ ใกล้ประมาณ ๖-๗ วา เป็นตัวผู้ ถ้าเป็นมนุษย์ก็อายุราวสัก ๓๐ ปี โตด้วย อ้วนด้วย สูงด้วย ต่างก็ยืนเฝ้ากันอยู่ประมาณ ๑๐ นาที ขู่ยังไงก็ไม่หนี พูดดีๆ ก็ไม่ฟัง แกว่งเขาออกลูกไม้อยู่อย่างนั้น ก็เลยกลับเข้ารั้วเขา มันก็ตามโชกโชน เล็ดลอดแอบที่นั้นที่นี้ ก็เลยผ่านพ้นไป

ชาวบ้านเขาทราบเรื่องราวเข้า เขาไปบอกเจ้าของมัน ให้ปล่อย (ตอน) สายๆ และเขาบ่นพิไรรำพันต่างๆ นานาว่า

“จะขายให้เขาฆ่าเสีย ก็ไม่ขาย ควายตัวนี้เดือดร้อนบ้านเมืองมานานแล้ว คุมพวกบ้านตากแดดที่ไปทอดแหอยู่กลางทุ่งก็เกือบตาย แต่เดชะบุญขึ้นต้นไม้ทัน ทิ้งแหไว้แล้ว มันชนแหอยู่ใต้ต้นไม้ขาดเป็นชิ้นเป็นอัน แหลกลาญไม่มีชิ้นดี ไล่ชนเจ้าของที่ไร่อ้อย วนไปเวียนมาอยู่แต่เช้าจนเที่ยง บันดาลนึกเห็นลำอ้อยโตๆ ขนาดวา ก็เข้าต่อสู้ จึงพอมีเวลาหลบหนีทัน อันนี้พระท่านยังโชคดีอยู่บ้าง ไม่เป็นอันตราย”

เขาพากันบ่นอึกทึก แต่ต่อมาเขาก็ปล่อย (ควายตอน) สาย ให้ผ่านพ้นในยามพระบิณฑบาต

เมื่อมาพิจารณาดูแล้วเรื่องโทโส โมโห โลโภนี้มีอยู่ในขันธสันดานของสัตว์ทุกตัวสัตว์ ต่างกันเพียงหนักเบาเท่านั้น เมื่อกิเลสมีอยู่ทุกตัวสัตว์ เทวดา มาร พรหม มนุษย์ ทางบรรเทาถ่ายถอน ตลอดหลุดพ้นจึงมีอยู่ทุกตัวสัตว์ เทวดา มาร พรหม มนุษย์ พระองค์ผู้รู้ธรรมจึงสามารถยืนยันได้ว่า อริยธัมเม ฐิโต นโร อริยธรรมอันประเสริฐ ย่อมมีย่อมตั้งอยู่ที่นรชน ถ้านรชนรู้และรับรองว่ากิเลสมีอยู่ในตนจริงๆ การเห็นโทษในกิเลสก็ไม่อาจปฏิเสธด้วยตนเอง การละ การพยายามละ ออกจากขันธสันดานก็ไม่อาจปฏิเสธได้อีก ย่อมเป็นการเคารพและจำนนต่อพุทธศาสนาอยู่ในตัวแล้ว ถ้ากิเลสไม่มีอยู่ในสรรพไตรโลกธาตุแล้ว พระนิพพานก็ไม่มีในพระนิพพานอยู่นั้นเอง

๏ ความอัตคัดคือสมบัติของพระธุดงค์

การพักอยู่องค์เดียวไม่เกี่ยวกับหมู่เกิดเป็นอู่ของการพิจารณาธรรมะ รสจิตใจใคร่ธรรมสูงขึ้น จะเจริญกรรมฐานอันใดก็ดูว่าโล่งหัวใจไม่ได้ขู่ไม่ได้เข็ญให้ทำ ดูดดื่มเองเป็นเอง สติปัญญาจิตใจอยู่ติดสนิทกับตัว ถ้าเทียบใส่โคและกระบือ ก็ไม่ต้องต้อนเข้าคอกยาก เวลาเข้ามันเข้าเอง เวลาออกก็รู้จักขอบเขต กายใจเบาโปร่งไม่มึนงง สิ่งที่เคยรู้ เคยเห็น เคยปฏิบัติมาก่อน ก็ยิ่งเด่นชัดอร่อยขึ้นในใจ ผู้ใดไม่ยินดีในวิเวก ก็คือผู้นั้นไม่ได้เคยดื่มรสวิเวก เคยดื่มแต่รสวิวุ่น

กายวิเวกก็ดี จิตตวิเวกก็ดี อุปธิวิเวกก็ดีก็รวมลงมาเป็นเอกวิเวกอันเดียวกัน จะบัญญัติหรือไม่ ก็ไม่เป็นปัญหาอะไรนักเลย ที่บัญญัติไว้ก็เพราะเป็นแผนที่ แต่ตัวเนื้อที่จริงๆ แล้วหดตัวเข้ามาเอง หาเอกปัจจุบันวิเวกลงมารวมกันเอง ไม่ได้ต้อนมาฮือๆ ฮาๆ เหมือนโคและกระบือเลย ผู้หวังพ้นทุกข์ในสงสารโดยด่วนโดยแท้จริงจึงจะพูดกันออก บอกกันถูก ปลุกกันได้ ให้กันเป็น มิฉะนั้นแล้วก็จะตรงกันข้ามไปละ

พระธรรมเป็นของลุ่มลึก แต่จะลึกสักเพียงใด ก็ลึกลงที่ใจ จะตื้นก็ตื้นขึ้นมาที่ใจ ไม่ใช่ลึกตื้นอยู่ที่ดินฟ้าอากาศ ลม ไฟ น้ำภายนอก ผู้มีสติปัญญาอยู่กับใจย่อมขุดถึงใจถึงธรรม ไม่หนีจากธรรมจากใจ ไม่หนีจากใจจากกรรมไปได้ ถ้าหาก็หาอยู่ทั่วที่ธรรม ที่ธรรมที่ใจ ถ้าเห็น ก็เห็นอยู่ที่ใจที่ธรรม ที่ธรรมที่ใจ ทวนไปมาอยู่นี้

พักทำความเพียรอยู่ที่ถ้ำผาแด่นนั้น การซักผ้าและย้อมผ้าก็ซักน้ำเย็นและย้อมน้ำเย็น หินดานแห่งใดเป็นอ่างเล็กขนาดกะละมังก็ซักที่นั้น ย้อมที่นั้น ฝนหินแดงลงที่นั้น ไม่ยากไม่แค้นอะไร น้ำร้อนก็ดี ขามป้อม สมอ ไม่ต้องเกี่ยว และไม่ต้องเอ่ยปากถามหาอีกด้วย ยาแก้ไข้แก้หนาวและแก้พิษสัตว์กัดต่อย ไม่มีในย่ามในถุง และก็ไม่สนใจหาอีกด้วย แม้ไม้ขีดไฟเทียนไขก็ขาดอยู่นานแล้ว

เมื่อถูกงูกัด เกี่ยวกับพิษสดๆ ก็นึกเห็นแต่มูตร (ปัสสาวะ) คูถ (อุจจาระ) ดินเท่านั้น ส่วนเถ้าก็ไม่นึกหวังจะได้ มูตรคูถดินฉันปนกันแล้ว หายก็หาย ไม่หายก็ยอมภาวนาตายองค์เดียว ไว้ให้เทวดาผู้ใจสูงมาพบเข้า จะได้ปลงธรรมสังเวช เป็นเหตุให้เขาได้กามาพจรกุศลเพิ่มขึ้น ไม่ได้กินแหนงแคลงใจในเรื่องศพๆ สับๆ ด้วย ขั้นต่ำที่สุดก็ฝากไว้กับโยมอุปัฏฐาก นับแต่แมลงวันและหมู่หนอน อีกา อีแร้ง หมาจิ้งจอก หมาไน ขึ้นไป

ความพอใจในการปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นจากธรรมฝ่ายกิเลสที่เรียกว่าอ้ายหลงๆ ใหลๆ หลำๆ นี้ ย่อมชนะความพอใจในการปฏิบัติธรรมเพื่ออามิสใดๆ ในโลกทั้งสิ้น จิตใจและเจตนาของเจ้าตัว ย่อมมีอิทธิพลเฉพาะเจ้าตัว ขับมิจฉาทิฏฐิเฉพาะเจ้าตัวให้ขาดกระเด็นออกจากเจ้าตัวได้ แบบไม่ขบถคืนได้ เรียกว่าชนะแล้วไม่กลับคืนมาแพ้ในตอนนี้อีก มีแต่ตั้งใจเดินทางรุดหน้าในมรรคภาวนาเท่านั้นเองละ

และในยุคที่พักอยู่นั้น วันขึ้นก็ดี แรมก็ดี ๗-๘, ๑๔-๑๕ ค่ำ เขาขึ้นไปนอนรักษาศีลถ้ำหนึ่งอีกต่างหาก ไกลจากที่พักของตนประมาณ ๖ เส้น มีคนจำนวนประมาณ ๖-๗ คน เขาไปทำข้าวหลามไม้เปาะใส่บาตร วันเช่นนั้น บิณฑบาตลานหิน ไกลจากที่พักของตนประมาณ ๔ เส้น ไม่ได้ไปบิณฑบาตถึงบ้าน ฉันที่ลานหินนั้นมันถึงจิตถึงใจตนเองจริงๆ

ข้าวหลามเฉยๆ ไม่มีกับ ก็กลืนสบาย เคี้ยวสบาย มันรู้จักทั้งกำลังส่งเข้าปาก รู้จักทั้งกำลังเคี้ยว รู้จักทั้งกำลังกลืน รู้จักทั้งที่ตกลงในกระเพาะ มันเบากายเบาใจโปร่ง คล้ายกับฉันอยู่กลางอากาศ คล้ายกับอาหารเทวบุตรเทวดาอินทร์

ความอิ่มกายอิ่มใจในธรรม ชนะความอิ่มกายอิ่มใจในอามิส ไกลกันราวฟ้ากับแผ่นดิน ฟ้าก็ยังเห็นเมฆ หมอก พระอาทิตย์ เดือน ดาวเป็นเครื่องหมายสมมุติ มันไกลกว่านั้นอีก เทวธรรมเอ๋ย พูดน้อยไม่พอตาย พูดหลายถูกกล่าวตู่ว่าอุตริ ความอิ่มกายอิ่มใจในชั้นนี้เป็นชั้นต่ำๆ ดอก ความอิ่มกายอิ่มใจของท่านผู้พ้นแล้วนั้น ไม่มีเครื่องหมายเปรียบเทียบเสียแล้ว

ผู้เขียนผู้ฟังผู้อ่านอยากรู้เท็จจริงเพียงไร ผู้เขียนผู้อ่านผู้ฟังก็จงประพฤติตนให้พ้นจากกิเลสจนสิ้นเชิงก่อน หากจะรู้เองดอก ไม่ต้องทุ่มเถียงเกี่ยงงอนกันให้เป็นปัญหาโลกแตกก็ได้ ปัญหาของสัตว์ทั้งหลายจะจบลงได้ก็ต่อเมื่อสำเร็จพระอรหันต์ ต่ำกว่านั้นลงมายังเป็นทาสปัญหาของตนอยู่ แต่ปัญหาแบ่งออกเป็นสอง ปัญหาทางโลกิยวิสัย ปัญหาทางโลกุตตรวิสัย (เว้นพระอรหันต์เสียเพราะไม่หนักใจในปัญหา)

กล่าวต่อในเรื่องโยมที่ขึ้นมาใส่บาตรข้าวหลามบนภู โยมพวกนั้นเขาเล่าให้ฟังว่า

“ถ้ำน้ำคำบงที่เป็นถ้ำมืด ที่พระคุณเจ้าเที่ยวเข้าไปสรงและตักมาไว้ใช้ไว้ฉันนั้น กลางวันแสก ๆ บางวันก็มีเสือโคร่งบ้าง เสือดาวบ้าง เสือดำบ้าง หมีบ้าง หมูป่าบ้าง เข้าไปกินน้ำที่นั้น ส่วนกลางคืนนั้น ก็บอกไม่ถูกละ และก็มีงูใหญ่ รอยกว้างสองคืบไปๆ มาๆ อาศัยอยู่ที่นี่นั้น และมิหนำซ้ำ ถ้ำที่พระคุณเจ้าเดินจงกรมและพักนอนอยู่นั้น มันมีงูเหลือมอีกตัว โต (ขนาด) รอยทางกว้างหนึ่งคืบ”

ตอบเขาว่า “เออ ถ้าอาตมาจะกลัวหรือไม่เพียงไรก็ดี ก็เป็นหน้าที่จะมอบเป็นมอบตายต่อ พุทธ ธรรม สงฆ์ อยู่แต่ไรๆ แล้ว จิตใจก็จะมอบให้กรรมและผลของกรรมในชาติปางก่อน ก็ถ้าสิ่งเหล่านั้นจะมาก่อกันใหม่ เริ่มต้น ก็คงจะเป็นไปได้ยาก เพราะอาตมาแบ่งเวลาแผ่เมตตาอยู่แต่ละวันแต่ละคืน”

ศรัทธาความเชื่อในพระพุทธศาสนา อันมีปัญญาเป็นนายหน้าอยู่เป็นส่วนมากแล้ว ถึงแม้ว่าความกลัวจะมาชิงออกหน้าบ้างเป็นบางขณะจิต พระศรัทธา พระสติ พระปัญญาก็คงไล่ความกลัวได้ ให้ตามหลัง คงไม่แซงออกหน้าได้ตามอำเภอใจนัก

แม้ความขี้เกียจและความลังเลก็เหมือนกัน เมื่อภัยโลภ ภัยโกรธ ภัยหลง หลงปลูกไว้ ฝังไว้ในขันธสันดานมาในอดีต จนบัดนี้ยังไม่ลดละและหายขาด ก็ย่อมเป็นผู้เกิดมาคูณเวรคูณภัยไม่มีวันจบสิ้นได้

ภัยแก่ ภัยเจ็บ ภัยตาย จิปาถะสารพัดย่อมเป็นบริวาร เป็นเมืองขึ้นของภัยโลภโกรธ หลง แต่เมื่อพ้นจากภัยกิเลสไปหมดแล้ว ภัยแก่ ภัยเจ็บ ภัยตายตามมาถึง ก็ไม่มีพิษสงอันใด เพราะมิได้เหลียวหลังว่าจะขอดอีก คล้ายเรือนร้างว่างเปล่า ไม่มีเจ้าของหวงอยู่ในเรือนนั้น

สิ่งเหล่านี้ได้พิจารณาเตรียมไว้ล่วงหน้า ไม่ค่อยจะเลือนลาง เพราะเป็นหน้าที่จะต้องเดินทางใจให้ไปถึงอยู่ มิฉะนั้นแล้วการปฏิบัติธรรมเพื่อธรรมเพื่อใจ เพื่อหลุดเพื่อพ้นก็ไม่กระจ่างจิต ไม่เป็นธรรมาธิปไตยไปได้ กลายเป็นอัตตาธิปไตย บัญญัติขึ้นตามอัตโนมติของกิเลสตน เป็นโลกาธิปไตยแล่นไปตามโลกหน้าเดียว

๏ พบหมูป่าลูกอ่อน

หันมาปรารภเรื่องเขาบอกว่า มีเสือๆ งูๆ หรืออะไรต่ออะไรอีก อยู่ไปก็ไม่เจอไม่เห็น เขาเล่าให้ฟังแล้วก็ไม่หนักใจอะไร เห็นหมูป่าตัวเดียวเท่านั้น เวลาเช้าเดินไปบิณฑบาตตามหลังเขา ระหว่างที่พบนั้นหนทางคดเหมือนแขนศอกงอ เดินภาวนาไปทุกก้าว ขาก็ไปเจอหมูยืนผินหน้าตรงห่างกัน ๒ เมตร หมูนั้นสูงประมาณ ๑ เมตร พอขาซ้ายก้าวเหยียบพื้น ขาขวายังไม่ทันยกขึ้น ก็เห็นหมูยืนผินหน้า ทำตาพริบๆ อยู่ ทั้งหมูก็ไม่สะดุ้ง คนก็ไม่สะดุ้งต่างก็ยืนดูกันอยู่ประมาณ ๕ วินาที

ได้บันดาลพิจารณารวดเร็วว่าเดี๋ยวมันจะไปดอก เพราะมันกำลังพะวง พอนึกอย่างนี้จบลง มันก็วกขึ้น แล้วก็วิ่งเบาๆ ไปทางขวามือใกล้ๆ ลูกเล็กๆ ของมัน ๓-๔ ตัวก็วิ่งตามแม่มันไป แต่ก่อนมิได้เห็นลูกมัน เห็นแต่แม่มัน และนึกในใจขึ้นได้ว่า ผู้ภาวนามีสติอยู่กับกายกับใจติดต่ออยู่ พร้อมกับขาก้าวเดินนี้ เมื่อไปเจอสิ่งอันน่าสะดุ้งที่ใกล้ชิดก็ไม่สะดุ้ง เพราะสติสัมปชัญญะอยู่กับกายใจโดยเฉพาะ มิได้ส่งออกนอก สมาธิภาวนาแบบนี้สมดุลด้วยสติสัมปชัญญะและปัญญา (ไม่ใช่หัวตอ)

ฌานัง แปลว่า เพ่งอยู่

สมาธิ แปลว่า ตั้งมั่นในการเพ่งอยู่

สติ แปลว่า ระลึกได้ในการเพ่งอยู่

สัมปชัญญะ แปลว่า รู้สึกตัวในการเพ่งอยู่


ปัญญา แปลว่า รอบรู้ในการเพ่งอยู่ สมดุลเป็นขณะเดียวกันไม่ใช่คนละขณะดอก ผู้ที่ชอบตื่นสะดุ้งผวา ขณะนั้นสติสัมปชัญญะไม่อยู่กับตัว เพราะส่งออกนอกมาก สติสัมปชัญญะหวนเข้ามาหาตนภายในช้า ไม่ทันกับเวลาสะดุ้งผวา มันเอาไปกินก่อน อย่างหมัดหนักได้ใส่ยาทายาหม่อง

ยาหม่องคืออะไร คือกำหนดลมหายใจให้ดี หรือสมถะใดๆ ก็ได้ หรือวิปัสสนาใดๆ ก็ได้ แต่ชาวโลกชอบพูดว่าโรคประสาทและโรคหัวใจ โรคประสาทและโรคหัวใจมีในขันธวิบากของพระอรหันต์หรือไม่ หรือหากว่าขันธวิบากเป็นฝ่ายสังขารขันธ์ขาดตัวอยู่แล้ว ก็ต้องอาจเป็นได้ และอยากทราบว่าการสะดุ้งเป็นสังขารล้วนๆ หรือว่ามี โมหสัมปยุต

โมหะนั้นคือตัณหาเราดีๆ นี่เอง ถูกหรือไม่ ผู้พ้นจากตัณหาแล้วเป็นผู้สะดุ้งหรือไม่ ธชัคคสูตรที่กล่าวเรื่องพระอรหันต์ว่า อภีรุ อัจฉัมภี อนุตตราสี อปลายีติ หาย หายสะดุ้งหายขนพองสยองเกล้านั้นจริงหรือไม่ ถ้าหากว่าเป็นคำจริงแล้ว ผู้ที่เขามิได้เป็นพระอรหันต์ เขาก็มีเครื่องทดสอบพระอรหันต์ได้ ผู้ที่เขาไม่รู้จักทองแท้ แต่เขาก็มีเครื่องทดสอบทอง เขาก็รู้ทองในเครื่องทดสอบของเขา

พูดเรื่องอื่นต่อไปเถิด พักอยู่นั้น วันหนึ่งประมาณเที่ยงคืน ลมหายใจเข้าออกละเอียดเข้า รู้ชัดขึ้นว่า

ผู้ที่ท่านพ้นไปแล้วก็พ้นไป ไม่มีข้างหน้าข้างหลัง เหมือนลมออกเข้านี้หนอ

ผู้ตะเกียกตะกายอยากจะพ้นไป ก็ไม่มีข้างหน้าข้างหลังเหมือนลมออกเข้านี้หนอ

ผู้อยู่พอแล้ววันแล้วคืนไป ไม่มีข้างหน้าข้างหลัง เหมือนลมออกเข้านี้หนอ

ผู้ถือว่าไม่มีบุญไม่มีบาป ก็ไม่มีข้างหน้าข้างหลัง เหมือนลมออกเข้านี้หนอ

ขณะที่พิจารณาอยู่นั้น รู้พร้อมกันกับลมออกเข้าอยู่ ไม่มีอันใดก่อนไม่มีอันใดหลัง แล้วปีติเกิดขึ้นอย่างโลดโผนมาก ร้องขึ้นว่า

”จริงเผงทีเดียว ความเห็นชอบตอนนี้”

ขู่ตนว่า “มันจะเป็นบ้านะ”

ตอบตนว่า “ถ้ารู้ตนจะเป็นบ้า ก็อย่าเป็นบ้าซินะ”

แต่ก็ไม่สำคัญว่าประเสริฐอันใดในขณะนั้น เป็นเพียงปีติที่ประกอบด้วยธรรมอันเห็นชอบเฉย ๆ กายใจเบาโปร่งอยู่ ปรากฏว่าจะชนภูเขาให้ทะลุได้ แต่มิได้หลงชน ถ้าชนก็คอหักตาย หรือหัวแตกตาย

ปีติความอิ่มกายอิ่มใจนี้ เป็นไปต่างๆ นานา แต่จะอย่างไรก็ตาม ก็เกิดเป็น ดับเป็น ไม่พ้นอนิจจาได้ดอก ท่านผู้ใดภาวนาห่างเหินจากไตรลักษณ์แล้ว มักจะชวนให้หลงไม่ใช่น้อย เพราะการทะนงสำคัญตัว เป็นกิเลสที่ถอนได้ยาก เพราะนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานอันละเอียดเป็นตะกอนอันลึกละเอียด เมื่อน้ำแห้งงวดลงจึงสามารถจะเห็นตะกอนได้มาก น้ำแห้งโดยสุภาพไม่ใช่แห้งแบบเขย่าขวดแล้วเท

เช้าวันหนึ่ง ลงไปบิณฑบาต จึงเล่ากับญาติโยมว่า

“พรุ่งนี้ถ้าไม่มีสิ่งขัดข้อง อาตมาจะกลับคืนไปหาหลวงปู่มั่น เพราะคิดถึงองค์ท่านมาก จะลงมาบิณฑบาตฉันที่วัดร้างที่บ้านพวกท่านนี้”

เขาว่า “ทำไมไปง่ายเหลือเกิน”

“เออ ก็มาอยู่นี้ เดือนหนึ่งแล้ว นานไปก็เวลาจวนแจ แล้วจะได้รีบไปช่วยงาน เอาฟืนและอะไรๆ ก๊อกๆ แก๊กๆ เพราะปีหนึ่งต้องเอาฟืนหลายครั้ง”

พอฉันเสร็จแล้วก็กลับขึ้นภู ดูที่อยู่ที่พักจะได้วิโยคพลัดพรากไป รู้สึกว้าเหว่ในสถานที่ เพราะสถานที่นั้นอารมณ์บางคราวเกิดปีติสังเวชขึ้นในพุทธ ธรรม สงฆ์ ได้ทำให้ตาเปียกหลายครั้ง ดูดดื่มเสมอกันกับถ้ำพระเวส

ครั้นถึงเวลาเช้าก็ลงไป เพราะบริขารไม่มากและไม่ได้ส่งของอะไรเขา เสื่อ หมอนก็ใช้ผ้าอาบน้ำและห่อผ้าสังฆาฏิ ครุก็ไม่ได้ยืมเขา กา ก็คือ ครุ ครุ ก็คือกาน้ำ

พอไปถึงวัดร้างเขา ก็เอากลดและมุ้งและกาน้ำไว้วัดร้าง เข้าไปบิณฑบาต กลับมาฉัน เขาตามมาส่งอาหารในวัดร้างประมาณ ๕-๖ คน ฉันเสร็จให้ศีลให้พรเขา จัดแจงแต่งของใส่หน้าเขา เขาก็สงวนดู อธิบายให้เขาฟังว่า

“นี้ใบสุทธิ นี้เชือกตากผ้า นี้มีดโกน นี้หินลับคม นี้ของกรองน้ำ นี้หนังสือปาฏิโมกข์ นี้มุ้ง นี้กลด นี้มีดตัดเล็บ นี้มีดเหลาไม้สีฟัน แล้วก็หมดเท่านี้”

ทำไมจึงอธิบายให้เขาฟัง เพราะเหตุว่า เขาจ้องดู เพราะเขาจะสงสัยว่า หาเอาพระเล็กพระน้อยในถ้ำ และทรัพย์ในดินสินในน้ำ เกรงจะเสียวงศ์ตระกูลของครูบาอาจารย์ ให้เขาหายสงสัยเสีย ถ้าเขากล่าวตู่เรื่องไม่เป็นจริง เขาจะเป็นบาป แล้วลาเขา

เขาไปส่งประมาณ ๗-๘ เส้นก็ให้เขากลับ เพราะตั้งใจจะไปพักวัดป่าสุทธาวาส ก่อนเพื่อซักผ้า สมัยนั้นมหาไพบูลย์อยู่ (ที่) นั้นองค์เดียว พอจะเข้าวัดก็ห่มผ้าเฉวียงบ่า รองเท้านั้นขาดแต่นานไม่ได้ถอดยาก วางบริขารไว้ศาลา แล้วขึ้นไปกราบท่าน ท่านถามไถ่ได้ความ แล้วกล่าวว่า

“เออ ดีนะ เฝ้าวัดให้ผมบ้าง ผมจะไปหล่อพระบ้านค้อ ผมมาแล้ว จึงไปเที่ยวอีก หรือไม่อยากไป ก็อยู่ด้วยกัน”

ตอบท่านว่า “ไม่ได้อยู่ดอก ท่านอาจารย์มหาเอ๋ย เพราะส่วนมาก จะขอพักด้วยเพียง ๓ คืนเพื่อขอซักผ้า แล้วจะได้รีบไปหาพระอาจารย์ใหญ่มั่น เพื่ออยู่จำพรรษาต่อไปอีก ถ้ากระผมเฝ้าวัดอยู่นี้ ถ้าอาจารย์มหา นานกลับ ผมก็แย่ เพราะการไปหล่อพระ จะกี่วันก็บอกไม่ถูก เพราะมีผู้เฝ้าวัดแล้ว ท่านอาจารย์มหาก็เบาใจ บางทีก็มีจดหมายถึงกระผมว่าติดอันนั้นติดอันนี้ตะพึดตะพืออยู่ กระผมก็หมดหนทาง ขอรับ”

ว่าแล้วท่านก็หัวเราะว่า “เออ ปัญญาดีมาก ซักผ้าแล้วก็ไปซะ”

๏ อุบายทรมานสัตว์โลก

ในเวลาพักอยู่วัดป่าสุทธาวาสนั้น ซักผ้าเสร็จในวันที่สอง พักอยู่ศาลามีห้องกั้นห้องหนึ่ง ตอนเช้าฉันเสร็จ วันหนึ่งได้ไปกราบพระพุทธรูปปางพระปาลิไลยก์ ที่ท่านทำเป็นรูปคอนกรีต มีรูปช้างถวายฝักบัว มีรูปลิงถวายรวงผึ้ง แล้วนั่งพิจารณาตามกระแสอตีตารมณ์ ว่าช้างนั้นเป็นสัตว์เดรัจฉาน ยังมีข้อวัตรปฏิบัติพระองค์ ถวายฝักบัว หมอบลงเรียบร้อย คุดคู้ ยกงวงนอบน้อมอ่อนโยน ไม่ได้แข็งกระด้าง และก็จะได้เป็นพระปัจเจกในอนาคตด้วย ส่วนลิงก็ถวายรวงผึ้งสองมือโดยเคารพ พอถวายแล้วพระองค์ทรงฉัน ลิงดีใจ กระโดดขึ้นต้นไม้ เต้นไปมา พลัดตกตายคาที่ ได้ไปเกิดเป็นเทวบุตร

เห็นไหม พระองค์ก็ดี หนีจากพระเมืองโกสัมพี ที่บอกอยาก สอนยาก แตกกันเป็นสองฝ่าย ทางละ ๕๐๐ สอนให้สามัคคีกันก็ไม่ฟังเลย พระองค์มิได้วินิจฉัยให้ทางนั้นทางนี้แพ้และชนะ เพราะเห็นว่าเป็นอาบัติเล็กน้อย และแต่ละฝ่ายก็มีบริวารทางละ ๕๐๐ เท่ากัน จึงไม่ทรงตัดสิน ถ้าตัดสินให้ทางใดทางหนึ่งแพ้และชนะแล้ว อธิกรณ์จะกำเริบ

เห็นอยู่ทางเดียวว่า ถ้าเราหนีจากพวกนี้ไปด้วยฝีเท้า เข้าป่ารักขิตวัน จำพรรษาอยู่ผู้เดียว ญาติโยมเขาจะดูถูกพระพวกนี้เอง ว่าเป็นด้วยพระพวกหัวดื้อ นี้พระองค์จึงได้หนีไป แล้วเขาจะไม่ให้บิณฑบาต แล้วพระพวกนี้จะเห็นโทษเอง ต่างฝ่ายต่างก็จะมายอมกันเอง ไกล่เกลี่ยกันเอง ระงับกันด้วยติณวัตถารกวินัยโดยแน่แท้

เมื่อทรงอนาคตังสญาณ ญาณในส่วนอนาคต อย่างนี้แล้ว จึงได้หนีไป มิได้หนีไปด้วยความหมดประตูจะระงับอธิกรณ์เลย

โอ้ พระองค์ อุบายทรมานสัตว์โลกนี้มีมากมายสมภูมิแท้ๆ อุบายแบบบรรจง อุบายแบบขี่ข่ม อุบายแบบวางเฉย อุบายแบบยกย่อง อุบายต่อล้อต่อเถียง อุบายแสดงยมก อุบายดักใจทายใจ อุบายไล่หนี อุบายปลอบโยน อุบายหนีด้วยฝีเท้าพระองค์เอง คือเรื่องปาลิไลยก์ ที่เรานั่งพิจารณาอยู่เดี๋ยวนี้

เมื่อนั่งพิจารณาอยู่ต่อหน้าพระปฏิมากรอย่างนี้ น้ำตาข้าพเจ้าก็ไหลอยู่ไม่ขาดสาย อยู่ผู้เดียว เป็นเวลานานประมาณ ๑๕ นาที แต่ระวังเกรงท่านอาจารย์มหาไพบูลย์จะเห็น นี้มันเป็นอย่างนี้ นิสัยของข้าพเจ้า ออกปฏิบัติทีแรกเป็นบ้าอย่างนี้ บ้าอย่างนี้ยาปรมัตถ์ทางพระพุทธศาสนาคงรักษาได้ไม่ยากเท่าไรนักกระมัง คงไม่เหมือนบ้าประสาท

๏ เมื่อหลวงปู่รับกิจนิมนต์

ครั้นพักอยู่วัดป่าสุทธาวาส ๓ คืนแล้ว ฉันเช้าเสร็จก็กราบลาไป ลัดผ่านสนามบินไปวัดป่าธาตุนาเวง แต่ไม่พัก ข้ามบ้านนาหัวบ่อ แล้วแวะทางซ้ายข้ามบ้านพอก พักนอนบ้านคำข่า พักวัดป่าร้างที่ท่านพระอาจารย์ดีสร้างไว้ พักหนึ่งคืน ตื่นเช้าได้เวลา เข้าไปบิณฑบาตบ้านคำข่าพอไปได้ ๒ เรือน เขามาแย่งบาตรไปที่เรือน เขาทำบุญบ้านเขา

“ขออภัยที่มาหิ้วเอากลางทาง เพราะไม่รู้จักว่าพระคุณเจ้ามา เห็นจะมาค่ำนะขอรับ”

“เออ อาตมามาค่ำจริง พบเด็กคนหนึ่งเขาชี้ที่พักวัดร้างให้ อาตมาไม่ได้ดื่มน้ำ ไม่ได้ล้างหน้า ไม่ได้สรงน้ำด้วย ถ้าจะให้อาตมาไปจริงๆ ก็เอาน้ำมาที่ชายป่านี้ให้อาตมาล้างขาล้างหน้าบ้าง”

เขาเอาน้ำมาโดยด่วน เขาบอกว่า “น้ำสะอาดไม่มีตัวสัตว์ดอก”

บ้านเขาอยู่กลางป่าละเมาะ กำบังที่ไหนก็ได้ ล้างเช็ดแล้วก็ไปเรือนเขา แต่เขาก็ล้างเท้าให้อยู่ มีพระอยู่เรือนทำบุญเขาประมาณ ๘ องค์ ไม่ได้สวดพาหุง เขาเอาบาตรตั้งไว้แล้ว ใส่บาตรเสร็จ รับศีลห้าแล้วถวายเป็นสังฆัสสะ ข้าพเจ้าขอโอกาสพระท่านอุปโลกน์

ท่านบอกว่า “เคยข้ามถ้ำขามลูกนั้นไปกราบหลวงปู่มั่นอยู่บ่อยๆ ทั้งโยมด้วย ทั้งพระด้วย”

พอเสร็จการฉันแล้วเขาเอาผ้ามาถวายไตรหนึ่งและเทียนผึ้ง ผ้าในกองบุญนั้นมีอยู่ประมาณ ๕ ไตร มูลค่าประมาณ ๓๐๐ บาท สมัยเงินแพง

ข้าพเจ้ารับกับเขาเป็นพิธีแล้วกล่าวว่า “อาตมารับโดยเคารพแล้ว จะพลิกใจถวายพระเณรเราต่อโดยเคารพเดี๋ยวนี้ เพราะสบงจีวรก็ตัดเย็บย้อมไปจากหลวงปู่มั่น ปีนี้มิได้พอขาดเขินดอก อาตมาเดินทางมาพบเหตุก็ว่าได้”

เขาตอบว่า “เป็นบุญของพวกกระผมบันดาลเอง พวกกระผมมิได้วิจารณ์พระคุณเจ้าในทางแง่ร้ายเลยครับ จะอย่างไรก็สนองให้พวกกระผมบ้าง”

“อาตมาก็ไม่ได้อวดมักน้อยเลย และก็มิได้อวดร่ำรวยเลย พระเณรของเรานี้ก็มีมาก เอาไว้วัดเรานี้แหละ ถ้าอาตมาฝืนเอาไป หลวงปู่มั่นและครูบาจารย์ในวัดป่าบ้านหนองผือ ก็จะวิจารณ์อาตมาอีก คล้ายกับว่า ไปเที่ยววิเวกหารายได้ปัจจัยสี่ และก็จะกลับวัดเดิมอยู่แล้วซ้ำ”

“ถ้าอย่างนั้น พวกกระผมจะฝากมูลค่าไปทีหลัง”

“เออ ก็ยิ่งไปใหญ่อีกละ หนีเสือก็ไปพบราชสีห์”

“ถ้าอย่างนั้นก็เอาผึ้งก้อนนี้และเทียนเล่มบาทคู่นี้ซะ”

“เออ จะเอาแต่เทียนเล่มบาทคู่นี้แหละ จะเอาไปทำวัตรหลวงปู่ ให้พวกท่านได้บุญด้วย”

ก็เลยเหมาะกันในเรื่องนี้พอดีพองาม

แล้วก็ลาจากกัน เขาบอกว่า จากนี้ไปหาหลวงปู่มั่นก็ภายในเที่ยงวันก็ถึงดอก เขาให้คนไปส่งคนหนึ่ง ออกจากบ้านเขาตรงทิศตะวันตก ล่องชายเขาเป็นป่าบ้าง ป่าไม้ไร่เลยป่าไป เขาไปส่งประมาณ ๖ เส้นพอจะไม่หลงแล้ว ก็บอกเขากลับคืน

เขาบอกว่า “อย่าหลงปลีกเส้นนี้เลยขอรับ” แล้วเขาก็กลับ

ตั้งหน้าเดินภาวนา พอไปอีกประมาณ ๑๕ นาที มีหนองน้ำใหญ่อยู่ข้างซ้ายมือ ไกลจากทางประมาณ ๕ วา ควายนอนน้ำเต็มอยู่ประมาณสิบตัว มีแต่ตัวอ้วนๆ ล่ำๆ ทั้งนั้น พอเห็น มันก็ลุกพรึบ ขึ้นผินหน้าสู้ แกว่งเขาใส่

ทั้งเดินทั้งพูดกับควายว่า “กูก็ไปตามกู สูก็อยู่ตามสู อย่าได้มีเวรมีภัยแก่กัน”

แล้วก็ผ่านพ้นไป ไม่มีอันตรายใดๆ แล้วเดินทางไปอีกประมาณ ๑๕ นาทีก็เข้าป่าไผ่ อนิจจาทุกขา บันดาลหลงทาง ไม่รู้ว่าเส้นใดต่อเส้นใด สับสนกัน หลงไปหลงมา วนเวียนอยู่ในป่าไผ่ หลงอยู่นั้นประมาณ ๑๕ นาทีอีก และก็เป็นฤดูร้อนแล้ว เหงื่อแตกโชกโชน ป่าไผ่นั้นไม่มีลมโกรกเลย ร้อนอบอ้าว ได้ยินเขาฟันขวานเปิงๆ อยู่ไกลประมาณ ๘ เส้น รีบตรงไปหาเขา เกรงเขาจะเงียบก่อน แต่ไปยังไม่ถึงเขา เขาหยุดฟันก่อน แล้วก็ยืนดักฟัง ได้ยินเสียงพูดกัน รีบเข้าไปอีก จึงเห็นตัวเขา ผัวกับเมีย มีลูกผู้ชายคนหนึ่งประมาณ ๖-๗ ปี

พอเขาเห็น เขาก็ถามเลย “มาจากไหนขอรับ”

“มาจากบ้านคำข่า”

“เออ พวกกระผมก็อยู่บ้านคำข่านั้นเอง มาล้อมรั้วไร่ ท่านจะไปไหน”

“จะไปหาหลวงปู่มั่น บ้านหนองผือ ออกไปเที่ยววิเวกจากองค์ท่านนั้นเองแต่เดือน ๑๒ แต่ออกไปทางบ้านพระคำภู เดี๋ยวนี้หลงทางแล้ว ขอให้โยมช่วยบอกจะเป็นกุศลมิใช่น้อยเลย เพราะโชกโชนวนเวียนอยู่ในป่าไผ่นี้นานแล้ว”

ว่าแล้วโยมก็สั่งภรรยาว่า “จงอยู่กับลูกนี้สักประเดี๋ยว เราจะไปส่งพระ”

แล้วเขาจะสะพายเอาบาตร เลยพูดกับเขาว่า “บาตรเบาๆ ดอกไม่หนัก จงถือเอามีดเดินออกก่อนอาตมา เล็ดลอดไปตรงไปใส่ทางก็พอเหมาะแล้ว เพราะโยมทำงานฟันขวานเปิงๆ อยู่ก็คงเหนื่อยมากแล้ว”

เขาไปส่งประมาณ ๑๐ เส้นก็ถึงหลังเขา ก็พบหนทางสว่างใจมาก พูดกับเขาว่า

“โยมเอ๋ยอาตมารู้แล้ว สว่างจ้าในสัญญาความจำเพราะหมู่พระอาจารย์มหาได้พามาเอาตราด (ไม้กวาด) ทีนี้ อาตมาได้นั่งมัดเอาตราดอยู่ที่ก้อนหินก้อนนี้”

โยมยกมือใส่หัวแล้วกลับไป ให้พรโยมย่อๆ พอเหมาะเวลา

(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.พ. 2013, 14:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7836

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๏ ท่านพระอาจารย์มั่นถาม ภาวนาเป็นไง

ตั้งใจเดินตรงตามหางมาถึงวัดหนองผือ เอาบาตรไปไว้ศาลา พักอยู่สักครู่ เวลานั้นตะวันประมาณบ่ายโมงสามสิบนาที สายตาจับอยู่ที่กุฏิหลวงปู่ ไม่ช้าก็เห็นท่านออกมาที่ระเบียงขององค์ท่าน จึงได้ห่มผ้าเฉวียงบ่า ถือฝาบาตรใส่เทียนที่เอามาจากบ้านคำข่าและใส่ไม้สีฟันค่อยเดินไปหา องค์ท่านแลเห็นใกล้บันได องค์ท่านปรารภเย็นๆ เบาๆ ว่า “ท่านหล้านี้มาจากไหนหนอ เดินย่องๆ มาคนเดียว นิสัยก็แปลกหมู่ ชอบไปคนเดียว มาคนเดียว ส้นเท้าก็แหลมๆ เดินไปมาปรากฏดังตึงๆ”

ที่ว่าแปลกหมู่นั้น องค์ท่านก็ไม่อธิบายว่า แปลกไปทางดีหรือทางชั่ว แต่ข้าพเจ้าก็ยังไม่เรียนตอบสักคำเลย เพราะเข้าใจว่าองค์ท่านพูดไปตามเรื่องขององค์ท่าน และเป็นเรื่ององค์ท่านทดสอบเราว่า จะทั้งเดิน ทั้งพูด ทั้งล้าง ทั้งเช็ดเท้า หรือไม่

พอกราบเสร็จแล้วท่านก็ถามกระหน่ำต่อไป ทั้งคำเก่าและคำใหม่ปะปนกันไปตะพึด ยกมือกราบเรียนว่า “มาจากถ้ำผาแด่น”

“ภาวนาเป็นไง”

กราบเรียนว่า “รสจิตใจวิเวกวังเวง ความไหวการ ยืน เดินนั่ง นอน สติอยู่กับกายและใจ เหลียวซ้ายแลขวา เหยียดแขน คู้แขนรู้อยู่แทบทุกอิริยาบถ จิตใจอ่อนโยนในพุทธ ธรรม สงฆ์ น้ำตาไหลไม่ค่อยขาด การกลัวสัตว์ร้ายหรือผีไม่ค่อยมี จะมีมาบางอารมณ์ก็งูใหญ่ นึกในใจบ้าๆ ว่า ถ้านั่งภาวนาอยู่ มันมาคาบกลืนลงไปทีเดียวก็ได้ แต่อารมณ์ชนิดนี้มาครู่เดียว ก็ขับมันหนีไปได้ แต่นานๆ มันจึงจะมาอีก”

องค์ท่านตอบว่า “กลัวมันทำไม งูมันกินเข้า ก็ยันท้องมันซิ”

ว่าแล้วองค์ท่านก็ยิ้ม แล้วองค์ท่านก็ปล่อยโอกาสให้เล่าถวายต่อไป

กราบเรียนต่อไปว่า “วันหนึ่งเป็นเวลาเที่ยงคืน กำหนดลมออกเข้า เมื่อลมละเอียดลงไป ปรารภขึ้นมาว่า เออ ท่านผู้พ้นไปแล้วก็ไม่มีข้างหน้าข้างหลังเหมือนลมออกเข้านี้ ท่านผู้ตะเกียกตะกายอยากพ้นไป ก็ไม่มีข้างหน้าข้างหลังเหมือนลมออกเข้านี้ ผู้ไม่มีข้อวัตรอันใดเพื่อหลุดเพื่อพ้น ก็ไม่มีข้างหน้าข้างหลังเหมือนลมออกเข้านี้ ผู้ที่ถือว่าไม่มีบุญไม่มีบาป ก็ไม่มีข้างหน้าข้างหลังเหมือนลมออกเข้านี้ ในเวลาวิจารณ์อยู่นั้น รู้พร้อมกันกับลมออกเข้า ไม่มีอันใดก่อนอันใดหลังแล้วเกิดความพอใจ ร้องขึ้นจนสุดเสียง แล้วขู่ตนว่า มันจะเป็นบ้านะ ตอบตนเร็วด่วนว่า ถ้ารู้ว่าตนจะเป็นบ้าก็อย่าบ้าซิ ผิดถูกประการใด กราบเรียนพ่อแม่ครูบาอาจารย์ได้โปรดกรุณาแก้ไขเทอญ”

องค์ท่านทอดสายตาลงต่ำขณะหนึ่งแล้ว จึงกรุณากล่าวว่า

“เออพิจารณาตามเป็นจริงของธรรมส่วนนี้”

ว่าแล้วองค์ท่านก็เรียกหา “สามเณรบุญเพ็งเอ๋ย เอาบริขารของเธอไปไว้กฏิเดิมของเธอนั้น ออกมาจากถ้ำใหม่ๆ จะได้อยู่ที่เย็นๆ ตามเคย”

แล้วก็ขอโอกาสทำวัตรและต่อนิสัย เสร็จแล้วองค์ท่านถามต่อไปอีกว่า “ได้ยินเขาว่าเปลือกน่องมีอยู่ที่ถ้ำผาแด่น เป็นต้นใหญ่โตได้เห็นหรือไม่”

เรียนว่า “ไม่ได้สังเกตและก็ไม่รู้จักต้นของมันด้วยขอรับ”

“เราต้องการ ทุบแล้วเอามาปูต่างอาสนะนั่ง โรคริดสีดวงทวารเราพอบรรเทาไป”

พอสงฆ์ขึ้นมาประชุมฟังเทศน์ตอนหนึ่งทุ่ม องค์ท่านปรารภขึ้นว่า

“ถ้าจะให้คุณหล้าคืนไปหาเปลือกน่องถ้ำผาแด่น เธอก็มาใหม่ๆ เดี๋ยวนี้ กำลังเหนื่อย และอั้งโล่ที่เธอทำไว้สี่ห้าอันก่อนออกวิเวก ก็แตกหมด เพราะไม่มีใครทำเป็น ไม่อยากให้เธอไปละทีนี้ เพราะขาดผู้ใช้หลายหน้าที่หยาบๆ หนักๆ ไปองค์หนึ่งในวัด”

พระอาจารย์มหาบัวปรารภขึ้นว่า “เกล้าจะไปเอาเองดอก พรุ่งนี้”

พอถึงวัน องค์ท่านก็ไปองค์เดียวด้วยฝีเท้า เพราะสมัยนั้นฝีเท้าทั้งนั้น ข้าพเจ้ารู้ล่วงหน้า คาดคะเนในใจไม่ผิด การที่พระอาจารย์มหาบัวไปเอาเปลือกน่องถ้ำผาแด่นนี้ ไม่ใช่ไปด้วยภาพพจน์โง่ๆ เลย

๑. เพื่อรับให้หลวงปู่โดยเคารพและศรัทธา

๒. เพื่อสอบว่า ท่านหล้ามาอยู่ถ้ำผาแด่นหนึ่งเดือนแต่ผู้เดียวจริงหรือ ถ้าหากว่ามาอยู่จริง ปฏิบัติไปแถวใด คลุกคลีกับญาติโยมขนาดไหน ฉันในบาตรหรือนอกบาตร อยู่แบบข่มใจหรือพอใจ คำพูดขณะอยู่ถ้ำและขณะญาติโยมไปในวันพระนั้น พูดไปเทศน์ไปแถวใดบ้าง เหล่านี้เป็นต้น

แต่ข้าพเจ้าคาดคะเนแล้วก็ไม่เดือดร้อน กลับมีความดีใจว่า โชคดีมีครูบาอาจารย์ผู้สำคัญไปสืบเป็นพยาน

พอองค์ท่านไปประมาณอาทิตย์กว่าๆ ก็ได้เปลือกน่องมาจริง แล้วองค์ท่านไปเที่ยวพูดกับหมู่ลับหลังว่า

“ท่านหล้านี้นับเข้าเป็นหมู่กับพวกเราได้นะ ผมไปสืบดูแล้วไม่มีสิ่งที่จะดูถูกท่านได้ แต่ข้างหน้าใครๆ ก็มองกันไม่เห็นได้ ถ้าหากว่าต่างก็มุ่งหลุดมุ่งพ้น แล้วต่างก็ตะเกียกตะกายสูงใจสูงธรรมขึ้นในตัวดอก”

นี่เป็นคำพูดของพระอาจารย์มหาบัวพูดกับหมู่ลับหลัง ข้าพเจ้าได้ฟังหมู่เล่าให้ฟังแล้ว ก็พิจารณาเป็นกลางๆ ไม่รับไม่ปัด

ไม่ว่าใครๆ ในโลก ทำดีประจำวันอยู่ก็นับวันสูงขึ้นแห่งความดีไม่ว่าทางโลกีย์หรือโลกุตตระ ความชั่วถ้าทำประจำวันคืนก็นับวันพอกพูนสูงขึ้นทางฝ่ายชั่ว แต่ความชั่ว คนชั่วทำได้ง่าย ความชั่ว คนดีทำได้ยาก ความดี คนชั่วทำได้ยาก ความดี คนดีทำได้ง่าย เป็นของตรงกันข้ามอยู่ร่ำไป

ความดีเป็นฝ่ายเหตุที่พระพุทธศาสนาส่งเสริม ความชั่วเป็นฝ่ายที่พระพุทธศาสนาทรงกีดกัน ผู้ที่รู้จักเหตุฝ่ายดีฝ่ายชั่ว กับผู้รู้จักผลฝ่ายดีฝ่ายชั่วนั้นก็ มีความหมายของธรรมอันเดียวกัน และก็ไม่เลือกชั้นวรรณะด้วย

บาปบุญคุณโทษ มรรค ผล นิพพาน เป็นธรรมฝ่ายทรงอยู่มีอยู่แบบกลางๆ บรรจง ไม่ขึ้นอยู่กับเพศ ชั้นวรรณะ ไม่ลำเอียงด้วยอคติใดๆ แห่งชั้นวรรณะและพรรคพวก แล้วแต่ใครจะสร้างเอา

การไปวิเวกในป่าในดอนดงภูเขา ไม่ใช่ไปเล่นสนุกๆ เพื่อมาอวดเอาคะแนนอะไรในโลกๆ มันเป็นเครื่องทดสอบตนอยู่ในตัวแห่งรสชาติของจิตใจว่า ศรัทธาและปัญญาสมดุลกันหรือไม่ วิริยะความเพียรในธรรมกรรมฐาน สติระลึกชอบในกรรมฐาน สมาธิตั้งมั่นในกรรมฐาน จะสมดุลกันขนาดไหน รสจิตรสใจได้ดื่มแล้วหรือประการใด กามวิตก ความตรึกในทางกาม พยาบาทวิตก ความตรึกในทางพยาบาท วิหิงสาวิตก ความตรึกในทางเบียดเบียน เมื่อจิตเข้าถึงปฐมฌานสิ่งเหล่านี้สงบลงแล้ว เมื่อถอนออกมาแล้ว สิ่งเหล่านี้กำเริบขึ้นหรือไม่ ไม่กำเริบนั้นด้วยวิธีไหน ก็ให้รู้วิธีนั้น กำเริบด้วยวิธีไหน ก็ให้รู้ด้วยวิธีนั้น ขาดไปแล้วด้วยวิธีไหน ก็ให้รู้ด้วยวิธีนั้น

กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก มีคุณเจือปนกับโทษหรือไม่ หรือเป็นโทษล้วนๆ ไม่เป็นคุณเลยแม้แต่นิดเดียว เห็นเป็นจริงชัดหรือไม่ หรือว่าเป็นเพียงจำมาด้วยสัญญา ความเคยชินเคยหู ก็หันปากว่าไปเหมือน แก้วเจ้าขา กินข้าวกับกล้วย เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องทดสอบตัวเองให้ได้ความชัดทั้งนั้น มิฉะนั้นแล้ว การปฏิบัติก็สุ่มสี่สุ่มห้า คล้ายกับว่าทั้งซื้อทั้งขาย แต่ไม่รู้ว่าขาดทุนหรือได้กำไร แต่ละวันๆ แม้จะอยู่กับที่ กับวัด ก็ต้องตรวจตน เตือนตนอยู่แบบนี้เป็นคราวๆ เสมอ จะละเว้นจนเหลิงเจิ้งก็ไม่ได้อีก

๏ วิธีทดสอบตนเองขณะภาวนา

เราไปพักวิเวกบางแห่งไม่มีแขกมาสุงสิง สถานที่ก็อำนวยพอควร ด้านภิกขาจารก็ไม่ใกล้นักไม่ใกล้นัก วันหนึ่งคืนหนึ่งมียี่สิบสี่ชั่วโมง เราจะฉันขนาดไหนจึงพอดี เราจะเปลี่ยนอิริยาบถขนาดไหนจึงเหมาะ เราจะหลับขนาดไหนจึงจะเหมาะ เราจะปันเวลาขนาดไหนจึงจะเหมาะ เราหลับขนาดนี้ภาวนาได้ความยังไง เราดื่มขนาดนี้ภาวนาได้ความยังไง เราฉันขนาดนี้ได้ความยังไงด้านภาวนา

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องทดสอบตนเอง เพื่อจะได้เอาออกใช้ปฏิบัติให้ได้ผลเฉพาะส่วนของตน เราตั้งกรรมฐานอันนี้ไว้เป็นหลักพิจารณา เราได้รับผลอย่างไร เช่น พิจารณากาย เป็นต้น เรากำหนดลมออกเข้าได้ผลเป็นอย่างไร เราพิจารณาพุทโธได้ผลเป็นอย่างไร เราพิจารณาเมตตา กรุณาได้ผลเป็นอย่างไร เราเพ่ง อาโป เตโช วาโย ปฐวี ได้ผลเป็นอย่างไร เราพิจารณา อนิจจังได้ผลเป็นอย่างไร เราพิจารณาทุกขังได้ผลเป็นอย่างไร เราพิจารณาอนัตตาได้ผลเป็นอย่างไร เราพิจารณาใจทั้งหมด ธรรมทั้งหมด รวมลงในผู้รู้แห่งเดียว ในปัจจุบันได้ผลเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้จะได้รู้จริง ชัดจริง ในภาพพจน์ตน ไม่ต้องสงสัยถามใครทั้งนั้น

แต่จะปฏิเสธในการถามก็ไม่ได้ จะปฏิเสธในการฟังก็ไม่ได้ไปหน้าเดียว ควรมีการทดสอบอีก ถ้าเรารู้ชัด ปฏิบัติชัดตอนไหนๆ ตอนนั้นๆ ไม่กลับมาเดือดร้อนให้เราสงสัยแคลงคลางอีก ตอนนั้นไม่ถามใครอีกก็ได้

อุทาหรณ์แบบหยาบๆ เช่น เราจิ๊บเกลือก็รู้จักรสเค็มแล้วเราก็ไม่ต้องถามใครๆ ว่ารสเกลือนั้นรสเค็มมันเป็นอย่างไรครับ เราก็ไม่มีประตูที่จะถามอีกเพราะเราได้จิ๊บดูแล้ว ฉันใดก็ดีรสของธรรมแต่ละชั้นๆ ก็โดยนัย จิตแต่ละชั้นๆ ก็โดยนัยอีก

เมื่อปฏิเสธในการถามไม่ได้ ก็ปฏิเสธในการตอบไม่ได้เป็นบางรายเหมือนกัน เพราะสัตว์โลก มนุษย์ เทวดา มาร พรหมก็ดี ตลอดพระอรหันต์ คือพระอรหันต์ก็ดี ก็มีการสังสรรค์ถามตอบกันอยู่ทั้งฝ่ายสมมุติและปรมัตถ์

แม้สัตว์เดรัจฉานมันร้องเรียกกัน ถามตอบให้รู้ความหมายของกันและกัน เช่น บางกรณี มันกินอาหารอยู่ หรือจับอยู่ มันร้องถามหมู่เพื่อนของมัน หมู่ของมันได้ยิน ก็บินมาตอบ หรือบินหนีตอบ หรืออยู่ที่เก่าตอบเช่น เขาเบียดเบียนเรา แต่เราไม่เบียดเบียนตอบ จะว่าเราตอบเขาหรือไม่ตอบ จะตอบก็ได้ไม่เป็นไรดอก เพราะเราตอบในทางดี ตอบแบบไม่เบียดเบียน

เรื่องอื่นยังมีอยู่อีก เพราะจิตสังขารเป็นผู้ใช้กายสังขารเขียน ก็ต้องเขียนไป แต่อย่าทั้งเขียนทั้งเดือดร้อนทางใจก็แล้วกัน แม้ผู้อ่านผู้ฟังก็เหมือนกัน อย่าทั้งอ่านทั้งเดือดร้อน ทั้งฟังทั้งเดือดร้อนก็แล้วกัน เพราะเดือดร้อนนั้น มันเดือดร้อนให้ตน เดือดร้อนให้คนอื่นไม่ได้ กินอาหารอร่อยหรือไม่อร่อยก็ดี (ก็) กินให้ตน กินให้ท่านผู้อื่นไม่ได้ ฉันใดก็ดี ความเดือดร้อนก็เหมือนกัน เราเดือดร้อนให้เขา ถ้าเขาเดือดร้อนตอบ ความเดือดร้อนอยู่ในใจเรา เขามารับหอบเอาไปหาเขาหมดดอกหรือ แม้เขาไม่เดือดร้อนตอบ ความไม่ดีเดือดร้อนของเขา มาหาเราหมดดอกหรือ ตกลงความเป็นธรรมแท้ก็ของใครของมันตามเดิม

นี้ปรารภตามชั้นเราชั้นเขาตามเป็นจริงของสมมุติ แต่มีปรมัตถ์ควบอยู่แบบเจือปนๆ มิใช่ปรมัตถ์โต้งๆ เพราะยังมีบุคลาธิษฐานเจือปนกัน เพื่อให้ความกระจ่างแก่ผู้ฟังผู้อ่านผู้พิจารณา เพราะพระสูตรพระวินัยมีทั้งบุคลาธิษฐาน ธรรมาธิษฐานเจือกันอยู่ พระปรมัตถ์เป็นธรรมาธิษฐาน มีธรรมเป็นที่ตั้งล้วนๆ

ถามว่า ผู้มุ่งปฏิบัติตามพระวินัยพระสูตร จะได้ชื่อว่าปฏิบัติตามพระปรมัตถ์กันหรือไม่

ตอบว่า ได้ปฏิบัติตามปรมัตถ์อยู่ในตัวแล้ว เพราะคำว่าพระวินัยก็วินัยกาย วินัยวาจา วินัยใจ คำว่าพระสูตรก็สูตรของกายของวาจา ของใจ ผู้ไม่มีใจก็ปฏิบัติพระวินัยไม่ได้ ผู้ไม่มีใจก็ปฏิบัติพระสูตรไม่ได้ ผู้ไม่มีใจก็ปฏิบัติใจคือพระปรมัตถ์ไม่ได้ เป็นอันว่าพระปรมัตถ์กล่าวถึงธรรมและใจล้วนๆ

แต่ให้เข้าใจว่าพระวินัยก็ดี พระสูตรก็ดี พระปรมัตถ์ก็ดี ทุกคนย่อมปฏิบัติได้ เว้นใจอันบ้าใบ้เสียจริตผิดมนุษย์เสีย เพราะไม่สามารถจะปฏิบัติได้สะดวก เพราะกรรมและผลของกรรมฝ่ายชั่วยังหนักอยู่ คล้ายกับดอกบัวยังอยู่ใต้น้ำ จะเป็นมนุษย์ก็จริง แต่เป็นมนุษย์ชั้นจัตวา

ฉะนั้น บ้าใบ้เสียจริตผิดมนุษย์นั้น พระบรมศาสดาจึงไม่ทรงอนุญาตให้บวช แต่ (ถ้า) ไม่รู้ชัด (แล้ว) รับบวช เมื่อบวชแล้วรู้ชัดเข้า ให้นาสนะเสีย คือให้สึกเสีย เพราะยังเป็นมนุษย์ไม่เต็มภูมิ ไม่ตรงกับคำถามอันตรายิกธรรมต่อหน้าสงฆ์ว่า “มนุสฺโสสิ” แล้วตอบว่า “อามะภันเต” เฉยๆ ไม่ตรงต่อความจริงเพราะบ้าใบ้อยู่

ถามว่า ผู้เขียนชีวประวัติของตนเองอยู่เดี๋ยวนี้จะไม่เป็นบ้าอารมณ์ ดอกหรือ

แก้ว่า จะบ้าอารมณ์ยังดีกว่าบ้าแล้ง

ถามว่า บ้าแล้งนั้นคืออะไรบ้าง

ตอบว่า บ้าแล้งนั้น คือเพลินในโลกสงสารโดยถ่ายเดียว ไม่เหลียวแลทางปัญญาพาฟอกความหลง เป็นต้น

ถามว่า คำว่า หลงๆ ในที่นี้ หลงอะไรครับ

ตอบว่า หลงหนังที่หุ้มอยู่โดยรอบแห่งกาย ว่าสวยงาม ว่าเป็นของยั่งยืน ว่าเป็นสุข ว่าเป็นของตนเอาจริงๆ จังๆ จนแกะไม่ได้คลายไม่ออก แต่เมื่อสิ่งเหล่านี้ไม่ตั้งอยู่ตามความประสงค์ แล้วก็เดือดร้อนทางใจ เพราะผลลัพธ์เป็นฝ่ายสะท้อน เพราะเหตุหลงหนัง

ถามว่า ท่านผู้ไม่หลงหนังมีไหมเล่า

ตอบว่า ข้อนี้เป็นของตอบยาก เพราะผู้ไม่หลงหนังไม่ได้เขียนใส่หน้าผากไว้ แม้เขียนไว้ก็เชื่อไม่ได้ เพราะเขียนลวงก็มี เพราะการหลงหนังไม่ขึ้นอยู่กับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และท่านผู้ไม่หลงก็ไม่ขึ้นอยู่กับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ขึ้นอยู่กับใจ

ถามว่า ใจมันเป็นตัวยังไง ผมทำไมถึงไม่เห็นมันสักที ชาวโลกชาวธรรมก็มักพูดว่า ใจๆ

ตอบว่า ผู้ถามหาใจ ก็เอาใจถาม ผู้ตอบ ก็เอาใจตอบ คนตายแล้วถามไม่เป็น ตอบไม่เป็น เพราะไม่มีใจอยู่นั้น

ถาม ใจมันเป็นคุณหรือเป็นโทษ

ตอบ เมื่อมันทำโทษ มันก็เป็นโทษ เมื่อมันทำคุณ มันก็เป็นคุณ คุณและโทษของมันไม่มีใครไปปล้นไปจี้เอาได้

ถาม ใครใส่ชื่อให้มัน

ตอบ มันใส่ชื่อเอง

ถาม ใครเป็นเจ้าของมัน

ตอบ มันเป็นเจ้าของเอง

ถาม มันเกิดมาจากไหน

ตอบ มันเกิดมาจากมันเอง

ถาม อะไรพาให้มันเกิด

ตอบ ความหลงของมันพาให้เกิด

ถาม มันหลงอะไร

ตอบ มันหลงว่า มันเป็นมัน เอาจริงๆ จังๆ


๏ ธรรมะหลวงปู่มั่น

หันมาปรารภต่อไปว่า ในยุคบ้านหนองผือในวาระผู้เขียนไปอยู่ด้วยกับองค์ท่าน ได้ยินองค์ท่านยืนยันว่าองค์ท่านเป็นพระอรหันต์หรือไม่

ตอบได้อย่างผึ่งผายว่า องค์ท่านมิได้ยืนยันว่าองค์ท่านเป็นพระอรหันต์หรือปุถุชนใดๆ เลย ชะรอยผู้เขียนจะไม่รู้จักอิโหน่อิเหน่แล้วองค์ท่านจะไม่เล่าคำลับให้ฟังก็อาจเป็นได้ หรือเกรงว่าผู้ฟังประมาทและไม่เชื่อก็อาจเป็นโทษแก่เขาก็อาจเป็นได้ องค์ท่านจึงไม่เล่าให้ฟัง

ส่วนธรรมะขององค์ท่านแสดง บางคราวเป็นธรรมชั้นสูงมากเป็นต้นว่า

“ไม่ว่าธรรมส่วนใด ถ้าสำคัญตนว่าเสวย เป็นอันผิดทั้งนั้น”

ข้อนี้ประทับใจของข้าพเจ้ามาก ในเวลาที่องค์ท่านเทศน์อย่างนี้ พระอาจารย์มหาบัวก็ฟังอยู่ที่นั้นด้วย มีพระสองสามองค์นั่งฟังอยู่ด้วยกัน ไม่มีพระอาคันตุกะมาปน แต่แปลกอยู่ว่า ชีวประวัติของหลวงปู่มั่นได้พิมพ์มาหลายๆ ครั้ง ตรวจดูแล้วไม่เห็นธรรมข้อนี้ปนอยู่เลย ชะรอยต่างองค์ก็ต่างจำมาได้คนละบทคนละบาทอันสำคัญ

มุตโตทัยตีพิมพ์ฉบับต้น คราวถวายเพลิงของหลวงปู่มั่น ธรรมชั้นสูงในเล่มนั้นกล่าวว่า

“ถ้าไม่มีที่อยู่ ก็ไปอยู่ที่สูญสูญนั้น”

ใจความในหนังสือเล่มนั้นทั้งหมด ก็ขึ้นอยู่กับภาพพจน์ข้อนี้ นี้เป็นธรรมชั้นสูงในหนังสือเล่มนั้นทั้งหมด เหตุผลที่จะไปอยู่ที่สูญสูญนั้น หนังสือเล่มนั้นอธิบายว่า “ถ้าจะว่าสูญไม่มีค่า ก็ไม่ได้ เพราะไปบวกกับเลขหนึ่ง ก็สิบ ร้อย พัน หมื่น แสนล้าน” ดังนี้ เป็นมติของผู้เขียนคืออาจารย์มหาเส็งและอาจารย์ทองคำ ในยุคนั้นพระอาจารย์มหาบัวกำลังรักวิเวก เที่ยวปฏิบัติโชกโชนอยู่ ไม่สุงสิงในการเขียนหนังสือ

ข้าพเจ้าพิจารณาอยู่แต่ไรๆ ว่าเหตุที่สูญจะเป็นของมีค่าก็เพราะมีผู้ไปยึดถือเอาเป็นเจ้าของ ถ้าไม่มีผู้ไปยึดถือเอาเป็นเจ้าของแล้วสูญก็กลายเป็นโมฆะไปตามสภาพที่สมมุติ ไม่ว่าแต่สูญเลย ขี้เป็ดขี้ไก่ก็ดี ถ้ามีผู้ไปยึดถือเอาเป็นเจ้าของแล้ว ย่อมเป็นของมีค่าทั้งนั้น ซื้อขายเอาไปใส่ผักก็ได้ ใครลักก็เป็นอทินนาทาน แต่พระนิพพานไม่เป็นหน้าที่จะแล่นไป หรือเดินไปอยู่ที่สูญสูญ ถ้าอย่างนั้น สูญก็เป็นสรณังคัจฉามิของพระนิพพาน พระบรมศาสดากล่าวไว้เพียงแต่ว่า เปลวไฟอันกำลังลมเป่า เมื่อเปลวไฟดับไปแล้วไม่เป็นหน้าที่จะไปยืนยันและสมมุติว่าไปตั้งอยู่ที่นั้นที่นี้ หรืออะไรๆ ทั้งนั้น

ความขัดแย้งแห่งสงครามความเห็น ถ้าความเห็นออกนอกรีตนอกรอย เป็นอัตโนมติของผู้ยังมีกิเลสหนา ไม่เหมือนอัตโนมติของพระอริยเจ้า ที่มัดเข้าหาธรรมฝ่ายอริยะเป็นบรรทัด เป็นแว่น เป็นคระจกเงา เป็นกล้องจุลทรรศน์ เป็นเครื่องวัดเครื่องตวงอันไม่เลยเถิด ปราศจากเดาด้นคาดคะเน พร้อมทั้งมีสัมมาญาณะอันถ่องแท้ ไกลจากโลกิยวิสัยไปแล้วจะดึงลงมาเทียบกับโลโก โลกา โลเกเร โลกึง โลมึง โลกู ย่อมเป็นไปไม่ได้ทั้งอดีตอนาคต ปัจจุบันด้วย

ชีวประวัติของหลวงปู่มั่นก็ดี ของท่านองค์ใดๆ ก็ดีจะแต่งจะเขียนพิสดารหรือย่อก็ตามที ถ้าแก่นเรื่องของธรรมะ ยอดเรื่องของธรรมะชั้นสูงไม่สมเหตุสมผลแล้ว ปราชญ์ผู้อ่านผู้ฟังก็ไม่ถึงใจถึงธรรมเท่าที่ควร ไม่ชวนอยากอ่านไม่ชวนอยากฟังด้วย มิหนำซ้ำถูกวิจารณ์ว่าไม่สมชื่อลือชาปรากฏว่าโด่งดังอะไรกันในทางที่ชอบแท้ของธรรมะ เมื่อผู้เขียนมิใช่เจ้าตัวเขียนเอง ย่อมตีความหมายลงมาหาตัวของผู้เขียน เพราะเข้าใจอย่างนั้น ชัดอย่างนั้น แต่มันก็เป็นเรื่องอจินตับอจินไตยเหลือวิสัยจะผูกขาด ชีวิตของหลวงปู่มั่นในยุควัดป่าหนองผือ พรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เป็นยุคสุดท้ายของชีวิตองค์ท่าน และสุดท้ายธรรมชั้นสูงแห่งองค์ท่านอีกด้วย

ธรรมะขององค์ท่านส่วนอื่นๆ อเนกปริยายก็ตาม ตลอดข้อวัตรปฏิบัติอันเด็ดเดี่ยว ที่ทำ (เพื่อ) ส่วนตัวองค์ท่านก็ตาม (หรือ) เพื่อทอดสะพานให้อนุชนรุ่นหลังก็ตาม ย่อมเป็นเมืองขึ้นของคำที่องค์ท่านเทศน์ว่า

“ไม่ว่าธรรมส่วนใด ถ้าสำคัญตนว่าเสวย เป็นอันผิดทั้งนั้น”

เมื่อกล่าวว่า ธรรมส่วนใด ก็เป็นอันกล่าวถึง จิตส่วนใด อยู่ในตัว ผู้รู้ส่วนใด อยู่ในตัวอีกด้วย ญาณส่วนใด อยู่ในตัวอีกด้วย ส่อแสดงให้เห็นว่าทำลายอุปาทานในตัวแล้ว

ย้อนมาปรารภสับสนปนเปกันไปอีก เพราะนึกเห็นได้ จำได้อันใด ก็เขียนกันลงไป ไม่ต่ออนุสนธิเป็นระเบียบ สับสนอลหม่าน เพราะไม่ชำนาญในการแต่งและการเขียน และก็คงไม่ได้ไปตรวจเอาคะแนนในสนามโลกใดๆ ทั้งสิ้นเลย

๏ หลวงปู่มั่นเผาศพอาจารย์เนียม

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ นั้นเอง เป็นเดือนพฤษภาคม แรม ๗ ค่ำ เวลาเช้าบิณฑบาตมาถึงวัดแล้ว กำลังเตรียมจะแต่งบาตรฉัน พระอาจารย์เนียมมีพรรษาล่วงไป ๑๘ พรรษา องค์ท่านป่วยมานานประมาณ ๑ เดือนกว่า องค์ท่านตั้งเตียงพักอยู่โรงจงกรมเก่าของหลวงปู่มั่นใกล้กับศาลาฉันอาหารประมาณ ๗-๘ วา ได้สิ้นลมปราณไปแบบสุภาพ ไม่มีสกลกายกระดิกหรือเคลื่อนไหวอันใด ปรากฏเห็นแต่ลมเบาไป หมดไป เท่านั้น งามมาก น่าเคารพมาก น่าเลื่อมใสมาก ไม่อั๊ก ไม่แอ็ก ไม่ยักคิ้ว ยักสบปาก ยักจมูก หลับตาสุภาพอยู่ ผู้เขียนได้เห็นกับตา พิจารณากับใจ พระอาจารย์มหาบัวก็ได้เห็นด้วย

หลวงปู่มั่นอยู่ศาลาก็ทราบย้ายเพราะได้กราบเรียนแล้ว หลวงปู่มั่นปรารภว่า

“เออ ท่านเนียมก็ไปแล้วในส่วนสิ้นลมปราณ เธอเล่ากับเราบ่อยๆ ว่ารู้จักวิธีภาวนาแห่งสมมุติแล้ว พวกเธอมาศาลา ฉันเช้าซะ ปล่อยให้อยู่นั้นเสียก่อน ฉันเสร็จแล้ว เก็บบริขารแล้ว จึงพูดกันใหม่”

แล้วก็ปล่อยไว้ไม่มีใครเฝ้าอยู่ดอก เมื่อฉันเสร็จ ขนบริขารขึ้นกุฏิเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่มั่นเดินมาจากกุฏิองค์ท่าน พอมาถึงศพ ก็ก้มลงจับเสื่อสองมือทั้งมือซ้ายและมือขวาทางหัวศพพร้อมทั้งกางขาออกแบบขึงขัง พร้อมทั้งปรารภว่า“

“พวกเรานี้มันขี้โง่ พากันเกิดมาตายเล่นเผากันเล่นอยู่” พอตกบทคำปรารภ พระอาจารย์มหาว่า “ถ้าจะเอาจริงๆ พวกเกล้าพากันเอาดอก”

ว่าแล้วยกมือใส่หัว แกะมือหลวงปู่ออก หลวงปู่ตอบว่า “เราไม่ใช่จะทำเล่นดอก”

ทีนี้พระก็รุมกันจับเสื่อโดยรอบศพเป็นวงรอบ พระพวกผู้ใหญ่อยู่ทางหัวศพ พระผู้ขนาดกลางก็อยู่ระหว่างกลางตัวศพ พวกพระผู้น้อยก็อยู่ทางเท้าศพ ชูกันไปถึงริมวัดทิศตะวันออกเฉียงใต้ในเขตบริเวณวัด หลวงปู่มั่นปรารภว่า

“ไปบอกโยมบ้านหนองผือว่า หลวงปู่จะพาเผาพระอาจารย์ด่วนเดี๋ยวนี้”

แล้วก็บอกเณร ตาปะขาว และพระว่า “เอ้า รีบเอาฟืนโดยเร็ว”

ต่างก็รีบเอาฟืนโดยเร็ว พระเอาไม้ตาย เณร ตาปะขาวเอาไม้ดิบปะปนกัน เดี๋ยวเดียวฟืนก็พอ เพราะฟืนยังไม่อด หลวงปู่ก็บอกว่า

“ยกศพขึ้นตะแคงข้างขวา ไม่ต้องล้างศพตอก ไม่ต้องคลุมผ้าจีวรให้ดอก เพราะตายแล้ว ล้างทำไม คลุมห่มทำไม นั่นประคตเอวไหมใหม่ๆ อยู่นั้น แก้ออก เอาไว้ให้ผู้ขาดเขิน”

เสร็จแล้วบอกตาปะขาวจุดไฟโดยด่วน ไฟเดือนหกฤดูร้อนแสกๆ ลุกกรุ่นขึ้นโดยด่วน ชาวบ้านมาถึง ไฟลุกโพลงขึ้นแล้ว ทีนี้องค์ท่านก็ให้เอาผ้าปูนั่งของใครของมันปูกับพื้นดินห่มผ้าเฉวียงบ่าแล้ว กล่าวว่า

“เราจะพาว่ามาติกาเป็นพิธี ไม่ว่าเอาสตางค์ใครดอก”

พอจบแล้วก็กลับที่ใครที่มัน พอตกเวลาเย็นใกล้ค่ำ ไฟไหม้ศพเหลือแต่หัวกับหน้าอก พอตกตอนพลบค่ำองค์หลวงปู่กล่าวว่า

“พากันเห็นอาจารย์ไหม ไฟเผาอยู่นั่น รีบจงกรมภาวนาเข้าเดี๋ยวจะตายเปล่า”

ข้าพเจ้านักสังเกตอยู่ว่า องค์ท่านจะพาสวดมนต์เป็นพิธีไล่ผีหรือไม่หนอ แล้วเลยเห็นท่านไม่เกี่ยวไม่ยุ่ง และก็นึกในใจว่า หลวงปู่นี้เด็ดเดี่ยวมากหาผู้เทียบได้ยากในสมัยปัจจุบัน ไม่แอบเอารายได้กับศพๆ เส็บๆ ของลูกศิษย์เลย เชื่อกรรมและผลของกรรมที่คนทำเอาเอง อันยังมีชีวิตอยู่จริงๆ แม้พี่ชายของท่านผู้มรณภาพก็มาถึงแต่หลายวันแล้ว คือโยมแพงบ้านโคกนามน พระอาจารย์เนียมก็คนบ้านโตกนามน จังหวัดสกลนครนั้นเองไม่ใช่อื่นไกลเลย และหลวงปู่มั่นปรารภเปิดเผยต่อพระเณรในยุคนั้น ขณะนั้นว่า

“ท่านเนียมเป็นพระโสดาบันแล้ว ไปเกิดชั้นหก อาภัสรา”

ข้าพเจ้าก็คอยสังเกตอีกว่า องค์หลวงปู่จะทำประการใดหนอจะประกาศญาติโยมหรือประการใดหนอ ว่าเดี๋ยวนี้พระมรณภาพ อาตมาจะพาทำบุญอุทิศ ท่านผู้ใดจะมีศรัทธายังไงก็สมทบทุนกัน องค์ท่านก็เงียบเลย แต่บอกโยมแพงอันเป็นโยมพี่ชายของพระอาจารย์เนียมว่า

“โยมแพงอยากได้กระดูกก็ไปเอาเสียเน้อ อาตมาไม่เอาดอก เพราะอาตมาไม่อดกระดูก อาตมามีแต่จะทอดอาลัยในกระดูกนั้นแหละ โยมอดกระดูกก็ไปเอาซะ”

โยมแพงกราบเรียนว่า

“เกล้าก็ไม่เอาดอก เกล้าก็ไม่อดเหมือนกัน”

แท้จริงนั้นโยมแพงลงมติของหลวงปู่มั่นทุกกรณีแบบราบคาบมาแต่นมนานแล้วไม่จืดจาง

ท่านผู้อ่าน ท่านผู้ฟังคงไม่สนิทใจในตอนนี้ แต่ผู้เขียนสนิทใจอยู่จึงได้กล้าเขียนไว้ ถ้าไม่เขียนไว้ประวัติอันสำคัญจะไม่ยังคงที่ จะลบเลือนไป ถึงโลกปัจจุบันจะเป็นปัญหายุ่งเหยิงในส่วนนี้ก็ลงเอยอยู่กับปฏิปทาแต่ละรายของบุคคล หลวงปู่มั่นมิได้คืนมาต่อสู้อธิกรณ์เอาแพ้เอาชนะด้วย

ผู้เขียนตีความหมายว่าหลวงปู่มั่นมิได้ประมาทในการกุศลอุทิศเลย ไม่ได้หวังว่าจะทำลัทธิการกระทบกระเทือนชาวพุทธทั่วไป ไม่ได้ทำด้วยความคับแคบสะเพร่า ไม่รอบคอบ ความจริงใจขององค์ท่านแยบคายไม่ชอบวิวุ่น ทอดสะพานให้ฝ่ายพระธุดงค์กรรมฐานโต้งๆ เชื่อกรรมและผลของกรรมที่คนทำไว้ก่อนตาย อัตตา หิ อัตตโน นาโถ โดยแท้ เพราะจะได้สมฐานะกับคนที่แบกกลดสะพายบาตรขึ้นเขาลงห้วย ฉันในบาตรปร๋อ แสวงอยู่ป่าปร๋อ เดินจงกรมภาวนา ปรารภแต่มรรค ผล นิพพานปร๋อ เหล่านี้เป็นต้น และเรื่องที่ผู้เขียน ผู้อ่าน ผู้ฟังจะพิจารณาแบ่งเบาอีกก็มากมายนักหนา

ผู้รีบเร่งพากเพียรเพื่อพ้นทุกข์ในสงสารก็เป็นการทำบุญอุทิศให้ตนเองและทั่วทั้งไตรโลกา อยู่แบบตรงๆ แล้ว และก็เป็นมหาทอดสะพานให้ชาวโลกอยู่โดยตรงๆ แล้ว การประพฤติเด็ดเดี่ยวเป็นเครื่องเหนี่ยวใจของท่านผู้ต้องการพ้นทุกข์ในปัจจุบันชาติ

การเห็นภัยในสงสารขณะจิตเดียว ประเสริฐกว่าการเห็นเพลินในสงสารล้านๆ ขณะจิต การนอนใจในโลก กับการนอนใจในหลุมถ่านเพลิงกิเลสก็คงมีความหมายและรสชาติอันเดียวกัน แต่ก็เป็นการเบื่อหูของผู้ไม่สนใจอีกละ ผู้ทำดีหวังดี ก็มีผู้หวังชั่วทำชั่ว มาเป็นอุปสรรค ผู้ทำชั่วหวังชั่ว ก็มีผู้ทำดีหวังดี มาเป็นอุปสรรคกัน แต่ผลรายรับนั้นต่างกันมาก และเหตุไปทางดีและทางชั่วนั้นขึ้นอยู่กับผู้จะเลือกเฟ้นถูก

ผู้ไม่รอบคอบในเหตุ ไม่มีประตูจะรอบคอบในผล ผู้ไม่รอบคอบในผล ก็ไม่มีประตูจะรอบคอบในเหตุได้ ผู้รอบคอบในเหตุก็คือผู้รอบคอบในผล ผู้รอบคอบในผล ก็คือผู้รอบคอบในเหตุ เพราะโยงถึงกันคระจ่างชัดเฉพาะตน ไม่ลำบากใจด้วย ไม่ว่าเหตุผลตอนไหนๆ

๏ สมัยพุทธกาลเก็บศพไว้กี่วัน

สิ่งที่ควรวิจัยแบ่งเบาเรื่องศพๆ เส็บๆ อีก ครั้งพุทธกาล วัดป่าเชตวันมหาวิหารนั้น มีการเผาศพพระศพเณรอยู่ไม่เว้นแต่ละวันกระมัง ถ้าหากว่าเก็บศพไว้ก็คงไม่มีโกดังพอ พระอัญญาโกณฑัญญะปรินิพพานที่สระฉัททันต์ ช้างป่าทำฌาปนกิจ ช้างเขาเก็บศพองค์ท่านไว้กี่วันไม่ทราบได้ และช้างเขาไปนิมนต์พระที่ไหนมาให้กุสลาก็ไม่ทราบได้ เพราะเรียนน้อยรู้น้อยพลอยรำคาญ พระมหาสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ ปรินิพพานก่อนสมเด็จพระบรมศาสดา องค์ท่านพาคณะสงฆ์และญาติโยมเก็บศพไว้กี่วันก็ไม่ทราบได้ ไม่ปรากฏชัดอีก พระราหุลไปปรินิพพานที่ดาวดึงส์ เทวดาเก็บศพไว้กี่วันไม่ทราบอีก เทวดาทำบุญอุทิศด้วยอาหารทิพย์หรือไม่ ไม่ทราบอีก

มีปัญหาว่า นั้นมันเรื่องของพระอรหันต์ทั้งหลาย เราจะเอามาเทียบไม่ได้หรอก

ตอบทันทีว่า นั้นแหละพระอรหันต์ทอดสะพานไว้ให้ปวงชาวโลกผู้จะสืบไปข้างหน้า พระบรมศาสดา เจ็ดวันจึงถวายพระเพลิง แต่ถึงกระนั้น มัลลกษัตริย์ก็เวียนถวายพระเพลิงก่อนหลายครั้งแล้ว แต่ไม่ติด เพราะเทวดาบันดาลมิให้ไฟติด เพราะคอยพระมหากัสสปะกำลังเดินทางมาจะถวายบังคมพระพุทธสรีระ พร้อมด้วยบริวาร ๕๐๐ องค์

แต่ผู้เขียนนี้ เมื่อตายแล้วคงจะถูกคอยพระมหากัสสะเหม็นก็อาจเป็นได้ แต่ได้ทำพินัยกรรมไว้แล้ว ไม่ให้คอยท่านผู้ใด คอยเพียงเอาฟืนเสร็จเท่านั้น กุสลาก็ไม่ต้องว่า อนิจจาก็ไม่ต้องเอ่ยให้ เพราะได้เรียนไว้แล้ว ตายอยู่วัดป่า กะโลงก็ไม่ต้องทำ เพราะไม่ได้ชู ไม่ได้หามผ่านบ้านท่านผู้ใด เว้นไว้แต่ตายอยู่ที่อุจาดเท่านั้น

ตายเวลาเช้าก่อนฉันจังหัน บิณฑบาตฉันเสร็จแล้วก็เผา เว้นไว้แต่มีอุปสรรคฝนตกมาก หรือเว้นไว้แต่กลางคืนหาฟืนไม่ทัน เชื่อแน่ว่าประเทศไทยมิได้อดฟืน ถ้าเอาเงินเผาเท่าใดก็ไม่พอง่าย เพราะเมืองพอในตัวเงินไม่มี ความเลี้ยงชีวีเนื่องด้วยท่านผู้อื่นจิปาถะ จะเอาศพไว้เป็นโล่เพื่อล้วงกระเป๋าผู้อื่น เรียกว่าตายร้อน เพราะเดือดร้อนท่านผู้อื่น ไม่ใช่ตายเย็น ร้อนทั้งพระหนุ่ม พระแก่ เณรน้อยคอยเฝ้าศพ ฉันก็ไม่อร่อย นอนก็ไม่หลับ

มีปัญหาว่า มันเป็นเรื่องของผู้อยู่ข้างหลัง ตอบจังๆ ว่ามันเป็นเรื่องเจ้าตัวจะสั่งเสียไว้ด้วยความจริงใจ มิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นผู้ไม่รอบคอบในอนาคต ทำความยุ่งเหยิงให้ผู้อยู่ข้างหลังลังเล ถ้ามีผู้ติเตียนผู้อยู่ข้างหลังว่าใจคับแคบจืดจางเกินไป เขาก็มีพินัยกรรมออกอ้างอย่างสมบูรณ์ ถ้าพินัยกรรมแต่ปากเปล่าๆ คำผู้เล่าอาจลบเลือน หากยิ่งเป็นลายมือของผู้ตายเขียนไว้เองโดยไม่ถูกข่มเหง หรือผู้อื่นมาล่อให้เขียน ก็ยิ่งเป็นจริงขึ้น เพราะเขียนด้วยศรัทธาอันจริงใจล้านๆ เปอร์เซ็นต์ และก็เป็นมรณสติ ไม่ประมาทว่าตนจะไม่แตกไม่ตายด้วย จึงสมฐานะของผู้ไม่มักใหญ่ใฝ่สูงในเรื่องศพๆ เส็บๆ ด้วยเพราะไม่ใช่ปลา ไม่ใช่เนื้อที่ผู้อยู่ข้างหลังจะแบ่งกันไปทำปลาร้าปลาเจ่า ปิ้งแกงแบ่งแจกปลาแดกและน้ำปลาได้

หันมาปรารภเรื่องศพฆราวาสครั้งพุทธกาล เรื่องนางปฏาจารา บิดามารดาของนางเป็นเศรษฐี ท่านๆ ใครๆ ย่อมรู้ดีในธรรมบท พากันตายสดๆ พร้อมกันในวันเดียวหลายคน บันคลบันดาล ลมพัดปราสาทหักตอนกลางคืน ตื่นเช้ากินข้าวเสร็จก็เผาในเชิงตะกอนเดียวกัน ๓-๔ ศพ และสามีของนาง ลูกของนางสองคนอีก สามีของนางงูกัดตายคาที่ ทิ้ง (ไว้) กับที่ มิได้เผาฝัง ลูกคนเล็กเหยี่ยวเอาไปฝังไว้ในท้องมันสดๆ ลูกคนโตตกน้ำอจิรวดี น้ำพัดไปไม่เห็นศพ นางเสียจริตพิศวงจนถึงกับเป็นบ้า เปลือยกาย สุดท้ายก็ได้บวช สำเร็จพระอรหันต์ เรื่องศพทั้งหลายก็หายกังวล เพราะเผาศพกิเลสของตนจนเสร็จสิ้นก่อนตาย ถ้าเขียนไปหลายหลายเป็นเถรีประวัติ แต่เป็นการเทียบชัดที่เก็บศพไว้นาน หรือถูกกล่าวตู่ว่าครั้งพุทธกาลเป็นครั้งล้าสมัย แต่ยุคปัจจุบันจะลากสมัยก็อาจเป็นได้

นัยที่นี้มิได้หวังว่าจะปั่นท่านผู้อ่านผู้ฟังให้ยุ่งมันสมองอันใดเลย เกรงว่าจะเพ่งโทษหลวงปู่มั่นเลยเถิดไป เกรงจะกลายเป็นสร้างขุมนรกลงที่ใจให้ลึกลับเดือดร้อนมาก แต่ขอฝากไว้ให้นักปฏิบัติพิจารณาเองเถิด บางทีอาจเกิดโล่งใจไม่กังวลในศพๆ ของตนก็อาจเป็นได้ จะกังวลแต่เวลามีชีวิตอยู่ เพื่อจะได้รีบเร่งสร้างความดีไว้ให้ด่วน ชวนเจตนาเพื่อพ้นทุกข์ในสงสาร เร็วพลันทันกาลไม่นานเนิ่นช้าในปัจจุบันชาตินี้แล

และอีกความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมชาติของผู้เคยคุ้นเชื่อง แต่เป็นธรรมดาของผู้เรียนวิชาเข็ดหลาบ เรียนวิชาเพื่อพ้นไปจากสิ่งเหล่านี้ มันมีกิเลสเป็นแดนเกิดให้รู้จักชัดกระจ่างแจ้งว่าเท็จจริงเพียงไรโดยส่วนเฉพาะตัวตามคำสั่งและคำสอนของพระองค์เป็นบรรทัด ไม่บัญญัติเอาตามอัตโนมติของตนด้วยมานะความถือตัวให้เป็นเสี้ยนหนามต่อธรรมวินัย เพราะพระธรรมวินัยบริบูรณ์แล้วไม่บกพร่องไปไหน ถ้าเทียบใส่อาหารก็ล้างมือเปิบเอาเท่านั้น

๏ การเผาศพอย่างสมเกียรติพระกรรมฐาน

หันมาพรรณนาต่อไปอีกติดต่อว่า ปี ๒๔๘๙ นั้นเอง ยุควัดป่าบ้านหนองผือในกลางพรรษา ก็มีพระมรณะอีกหนึ่งรูป พรรษาเก้า ชื่อท่านอาจารย์สอ นธ.เอก บ้านเกิดเมืองนอนของท่านอยู่บ้านศรีฐาน อ.ลุมพุก สมัยนั้นขึ้น จ.อุบลราชธานี สมัยที่เขียนนี้คงเป็น จ.ยโสธร ท่านป่วยเป็นไข้อยู่ประมาณหนึ่งเดือนก็มรณภาพไป เพราะเหลือวิสัยจะรักษาได้ในสมัยนั้น แต่สมัยใดๆ ยุคใดๆ ก็ตามในสรรพโลกทั้งมวลรวมกัน ย่อมมีผู้เกิดผู้ตายอยู่ทุกวินาที ไม่ขาดระยะ จองขาดผูกขาดอยู่แล้ว เมื่อเกิดเมื่อตายอยู่ทุกวินาทีอย่างนี้แล้ว ความแก่ความเจ็บเล่า ก็ต่อสู้มีความหมายอันเดียวกัน จะบัญญัติว่าเป็นเรื่องเล็กเรื่องน้อยนั้น ก็เป็นเหตุให้คุ้นเชื่องลืมตัวลืมคนลืมใจลืมธรรม หักดอกไม้บูชาส่งเสริมความหลงประมาทมัวเมาหนักขึ้น

ฉะนั้น พระบรมศาสดาจึงทรงพระมหากรุณากล่าวแก่พระอานนท์ว่า “การพิจารณาความตายวันละร้อยครั้งนั้น ยังประมาทอยู่นะ อานนท์ พิจารณาทุกลมหายใจออกเข้าจึงไม่ประมาท”

เมื่อจะตีความหมายว่า พระองค์เทศน์ข้อนี้เฉพาะพระอานนท์องค์เดียว แล้วสรรพโลกทั้งปวงแก่เจ็บตายไม่เป็นหรอกหรือ หรือแก่เจ็บตายแต่พระมหาอานนท์องค์เดียว เมื่อเป็นดังนี้ ธรรมคำสั่งสอนของพระองค์แต่ละบทละบาท อันบริสุทธิ์ใสสะอาด ย่อมหยาดรดให้ทั่วถึงสรรพไตรโลกธาตุอยู่โดยตรงๆ แล้ว เช่น ยก ชาติปิทุกขา บทเดียวเท่านี้ก็ถูกไตรโลกธาตุ กระเทือนไปทั้งผู้หูหนวกตาบอดทั้งนั้น ในฝ่ายสัตว์ที่มีวิญญาณครองสิงไม่เว้น

ย้อนหลังคืนมาเล่าเรื่องพระอาจารย์สอมรณภาพอีก การทำฌาปนกิจนั้นก็ทำแบบพระอาจารย์เนียมนั้นเอง มิได้ผิดกันแม้แต่นิดเดียว ส่อแสดงให้เห็นชัคได้ว่า หลวงปู่มั่นทอดสะพานให้ลูกศิษย์กรรมฐาน ในส่วนศพของพระเณรกรรมฐานไว้โดยกระจ่างแจ้งแล้ว และส่อแสดงให้เห็นชัดอีกว่า ตัวขององค์ท่าน เมื่อสิ้นลมปราณก็ต้องการให้ลูกศิษย์ทำถวายแบบนั้น จริงตามเจตนารักธรรมอันสงบแท้ไม่มีมายาสาไถยอันใดเลยในส่วนนี้แท้ๆ

ชาวโลกนิยมกันว่า การเก็บศพไว้นานเพื่อทำให้สมเกียรติโลก การเผาเร็วคล้ายกับว่าเป็นของไม่มีค่า ข้าพเจ้าหนักไปในทางเผาเร็ว เป็นของสมเกียรติพระกรรมฐานแท้ เพราะไม่อยากจะดักบ่วงดักแร้วไว้ขูดๆ เกลาๆ ท่านผู้ใดทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่มักมีปัญหาว่าท่านผู้นั้นมาไม่ทัน ท่านผู้ที่อยู่ไกลโน้นมาไม่ทัน ดังนี้ ความจริงแล้วใครมาเวลาไหนๆ ก็ทนอยู่ เพราะผู้สิ้นลมปราณไปไม่ได้คืนมา มาเวลาใดก็ทันทั้งนั้น คือทันตายแล้วนั้นเอง แต่ถ้าหากว่าได้รับทราบข่าวว่าตาย พอมาถึงแล้วผู้ตายนั้นคืนมาก่อนเสีย เรียกว่ามาไม่ทันตาย (แต่) จะอย่างไรก็ทันเกิดทันตายอยู่ทุกเมื่อ เพราะเหตุว่าร่างกายอันมีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ มีทั้งก้อนเกิดก้อนตายอยู่โดยธรรมอันแท้แล้ว

ผู้ทันเกิดทันตายลึกลงไปกว่านั้นอีกเล่า มีท่านผู้ใดหนอ

ขอตอบตามอัตโนมัติว่า พระอรหันต์ เพราะรู้ทันการเกิด รู้ทันการตายแล้วไม่มาเกิดมาตายอีก เหลือนอกนั้นได้ถูกแพ้เกิดๆ ตายๆ ทั้งนั้น

ผู้เขียนอยู่นี้เห็นพระอรหันต์หรือไม่หนอ

ตอบว่าพอได้ยินแต่ชื่อว่าอรหันต์ๆ ก็เลื่อมใสศรัทธาอยู่มากแล้ว แต่เมื่อได้เห็นจริงยิ่งจะเขียนมากกว่านี้ เอาจนท่านผู้อ่านขี้เกียจอ่าน

แท้จริงจะมาหาพระอรหันต์ในหนังหุ้มย่อมไม่พบเลย เพราะพระอรหันต์มิได้เป็นเปรตมาเฝ้าหนังหุ้ม ถ้าหนังหุ้มเป็นพระอรหันต์แล้ว โคกระบือเป็นต้น ก็เป็นพระอรหันต์ได้ทั้งนั้น ผู้พิจารณาหนังหุ้มลงสู่ปฏิกูล หรือเป็นแต่สักว่าธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมผสมผสานกันอยู่ก็ดี หรือพิจารณาลงสู่ไตรลักษณ์ก็ดี นั่นเป็นหนทางเดินไปสู่พระอรหันต์เท่านั้น และถ้าถึงพระอรหันต์แล้ว หากจักเห็นอรหันต์ดอก ถ้ายังไม่ถึงแล้วก็คาดคะเนเดาด้นทั้งนั้น จะทุ่มเถียงเกี่ยงงอนกันสักเท่าใดก็ไม่เห็นได้ และถ้าไม่ทุ่มเถียงกันแล้วเป็นพระอรหันต์ก็ดี ดิน น้ำ ไฟ ลม ล้วนๆ ที่มามีวิญญาณครองสิงไม่ได้ทุ่มเถียงกันสักทีก็เป็นพระอรหันต์ได้ทั้งนั้น

เรียนวิชาทางติดแล้วไม่คาเป็นของเรียนง่าย เพราะเรียนทางมานะทิฏฐิ เรียนวิชาทางติดแล้วคาเป็นของเรียนยาก เพราะนิยมกันว่าเสียเปรียบ ฉะนั้นจึงมีแต่อาจารย์เต็มโลกแต่หาลูกศิษย์ยาก เพราะเหตุว่า ต่างฝ่ายต่างก็มุ่งจะเทศน์เอากันไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เรื่องมานะถือตัวจัดจึงเป็นกิเลสตัวสำคัญ ถ้าไม่มีคำสอนพระบรมศาสดาเป็นบรรทัดไว้ยิ่งจะไปกันใหญ่ ไม่มีสถานีและผู้เชื่อคำสอนของพระองค์แท้ๆ ก็คงมีส่วนน้อย สงครามเวรสงครามภัยจึงมีอยู่ทุกหย่อมหญ้าและเกือบทุกหย่อมหัวใจ

๏ ระเบียบปฏิบัติวัดหนองผือ

จะกล่าวต่อเป็นการอยู่ต่อเป็นสำนักหลวงปู่มั่น ยุควัดป่าบ้านหนองผือ คำสั่งและคำสอนขององค์ท่านมีหลายๆ อุบายและหลายๆ นัย จะเป็นอุบายใดๆ และนัยใดๆ ก็ตาม เพื่อให้ผู้เห็นผู้ฟังผู้รู้พิจารณาหลุดพ้นในสงสารโดยด่วนทั้งนั้น เพราะไม่ใช่บวชเล่น ไม่ใช่ปฏิบัติเล่น เพื่อลวงตน เพื่อลวงโลก เพื่ออามิสใดๆ ทั้งสิ้น องค์ท่านเทศน์ห้ำหั่นและเขย่าลูกศิษย์อยู่บ่อยๆ

ในยุคบ้านหนองผือเป็นยุคสุดท้ายขององค์ท่าน รับลูกศิษย์ไว้มากจริง ฝ่ายพระไม่เกิน ๑๕ องค์ เณรไม่เกิน ๔ องค์ ตาปะขาวไม่เกิน ๒ คน แม่ชีไม่เกิน ๓ คน แต่แม่ชีมิให้อยู่ในบริเวณวัด เขาไปทำที่พักไว้ไกลวัดหลวงปู่และหมู่พระ ฟากบ้านหนองผือทิศตะวันตก วัดป่าของหลวงปู่และหมู่พระเณรอยู่ทิศตะวันออกของบ้านหนองผือฟากทุ่งนา วัดแม่ขาวและวัดพระไกลกันไม่ต่ำกว่า ๒๕ เส้น และองค์ท่านไม่ให้พระไปติดต่อเขา เป็นต้นว่า ถักซบบาตร (ถลกบาตร) หรือทอประคตเอว หรือเมื่อเวลาเขามาตอนเช้าส่งอาหารหลวงปู่เป็นบางรายเท่านั้น

โยมทางไกลมานอนค้างคืน เมื่อค้างคืน เขาก็ไปหาพักหากินหานอนที่อื่น ไม่ว่าโยมประจำบ้านและโยมมาทำบุญทางอื่น เขาไม่เอาศาลาของพระเป็นที่รับอาหารของเขา เขาไปกินกันทางอื่น เว้นไว้แต่มาคนเดียวหรือสองคนเป็นเพศผู้ชาย มาศึกษาธรรมะจากต่างจังหวัดไกล หรือมาเยี่ยมภิกษุสามเณรป่วยอยู่ที่นั้น แล้วจะได้ดูแลรักษาช่วยกันแล้วนอนค้างคืนอยู่ติดๆ กัน ก็ต้องกินอยู่นั้น นอนอยู่นั้นด้วย แต่ก็กินหนเดียวมื้อเดียวเหมือนพระ อยู่อย่างสงบไม่อึงคะนึง เขามีใจพอพึงเป็นเองไม่ได้บังคับ

(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.พ. 2013, 14:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7836

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๏ พระอาจารย์มั่นถือผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต

ด้านบิณฑบาต หลวงปู่มั่นพาลูกศิษย์ปฏิบัติยินดีภัตที่ตกลงในบาตร ไม่ค่อยส่งเสริมในการตามส่งทีหลังอันเป็นปัจฉาภัต ยินดีฉันรวมในบาตรทั้งหวานคาว ไม่ซดช้อน เอามือเป็นช้อน ด้านจีวร ยินดีบังสุกุลวางไว้ที่กุฏิบ้าง บันไดใกล้ที่ขึ้นลงบ้าง ทางไปส้วมและใกล้ทางจงกรม และทางไปบิณฑบาตบ้าง และในศาลาที่ประชุมฉันบ้าง

แต่หลวงปู่มีภาพพจน์ลงไปอีก มีข้อสังเกตของพระอาจารย์มหาบัว เล่าให้ผู้เขียนฟังเป็นพิเศษ จึงสังเกตได้ พระอาจารย์มหาบัวเล่าให้ฟังว่า

“หล้าเอ๋ย ผมสังเกตหลวงปู่มั่นได้คือ ผ้าบังสุกุลอันใด ที่เจ้าศรัทธาเขาทำกองบังสุกุลไว้เป็นส่วนรวม เช่น ที่หนทางบิณฑบาตและศาลาและที่ร่มไม่ไกลจากกุฏิองค์ท่าน แม้ท่านจะขาดเขินสักเพียงใดก็ดี องค์ท่านไม่ค่อยจะใช้ให้เขา หรือไม่ใช้เลยก็ว่าได้ องค์ท่านใช้แต่เฉพาะที่เขาเอามาบังสุกุลไว้ที่กุฏิ ใกล้บันใด ใกล้ส้วม ใกล้บริเวณทางจงกรมขององค์ท่านเท่านั้น สังเกตดูดู๋ถ้าไม่เชื่อ”

เมื่อสังเกตดูก็เป็นจริงแท้ๆ เพราะองค์ท่านลึกซึ้ง ใช้ของไม่มีราคีแก่ท่านผู้ใด และของที่เขาเอามาบังสุกุลใกล้บริเวณที่องค์ท่านอยู่และพักนั้นก็ดี องค์ท่านไม่ได้หวงไว้ใช้องค์เดียว เมื่อลูกศิษย์ขาดเขินก็ให้ทั้งนั้น

ในยุคหนองผือ พระอาจารย์มหาเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่น ลึกซึ้งมากทุกวิถีทาง หลวงปู่ไว้ใจกว่าองค์อื่นๆ ในกรณีทุกๆ ด้าน ควรจะเปลี่ยนไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งก็ดี หรือครบทั้งไตรก็ดี หรือสิ่งใดที่ควรเก็บไว้เป็นพิเศษเฉพาะองค์หลวงปู่ก็ดี ในด้านจีวรและของใช้เป็นบางอย่าง ตลอดทั้งเภสัช เป็นหน้าที่ของท่านพระอาจารย์มหาทั้งนั้น เป็นผู้แนะนำให้คณะสงฆ์รู้ความหมายลับหลังหลวงปู่มั่นทั้งนั้น และหลวงปู่มั่นก็มิได้นัดหมายให้พระอาจารย์มหาบัวทำประโยชน์เพื่อองค์ท่านเองอย่างนั้น ทั้งทางตรงและทางอ้อม ลึกหรือตื้น ด้วยประการใดๆ เลย

พระอาจารย์มหาเคารพลึกซึ้ง เป็นเอง และไม่ผิดธรรมด้วย ไม่ผิดวินัยด้วย เพราะธรรมวินัยมีอยู่แล้วว่า ภิกษุสามเณรใดไปไล่ทีตีเบี้ยปัจจัย ๔ ที่ได้มาโดยทางที่ชอบจากพระเถระในสังคมนั้นๆ หรือสำนักนั้นๆ เป็นอาบัติทุกกฎ ในพระวินัยปิฎกได้กล่าวไว้แล้ว

ฉะนั้น ในพระพุทธศาสนาจึงเว้นคุณวุโฒ วัยวุโฒไม่ได้บิดามารดาฝ่ายฆราวาสก็โดยนัย กุลบุตรกุลธิดาจะไปไล่ทีตีเบี้ยในการกินการใช้กับบิดามารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ก็ขาดความเคารพและสิริและไม่สมบูรณ์ในธรรมวินัยส่วนนี้ด้วย กลายเป็นตีเสมอ อกตัญญู

แม้ถ้าองค์ท่านเกินงามในการกินการใช้ ก็ต้องมีอุบายละมุนละไม กลอุบายปรารภศึกษาโดยเคารพว่า ทำอย่างนั้นมันจะมิเกินไปดอกหรือประการใด เมื่อท่านเห็นว่าเกินไป ท่านก็จะผ่อนลงโดยสุภาพให้เราเข้าใจ เพราะเราใช้อุบายเตือนโดยเคารพ ท่านก็จะใช้อธิบายโดยเคารพละมุนละไม ผู้น้อยเตือนผู้ใหญ่ ใช้คำหยาบและเสียดสีไม่ได้ พระวินัยมีไว้แล้ว ผู้ใหญ่เตือนผู้น้อยแล้วแต่กรณีในเนื้อเรื่องและเหตุผล เป็นภาพพจน์อยู่กับท่าน แต่พระวินัยและธรรมห้ามมิให้ผูกอาฆาตและเฆี่ยนตีเพราะเกินไป พระองค์ทรงบัญญัติไว้พอดีแล้ว

๏ เสนาสนะยุคบ้านหนองผือ

ที่นี้ด้านเสนาสนะ องค์หลวงปู่มิได้ชอบก่อสร้างหรูหราอะไรดอก ทำพอได้อยู่ได้พัก ก๊อกๆ แก๊ก ไปเท่านั้น อย่างสูงก็มุงกระดานปูกระดาน ก็ไม่ไสกบ ฝาก็เหมือนกัน สมัยนั้นมีปูกระดานมุงกระดาน ๔ หลังเท่านั้น กับศาลาอุโบสถอีกหลังหนึ่ง กว้างประมาณ ๖ เมตร ยาวประมาณ ๘ เมตร เป็นศาลาเก่าโบราณที่เขาปลูกไว้ก่อนหลวงปู่มั่นไปอยู่ ส่วนศาลาฉันนั้นที่ปูฟากได้กล่าวแล้ว หลังอื่นๆ ที่พระเณรอยู่นั้น ปูฟาก มัดด้วยเครือเถาวัลย์และมัดด้วยตอก กั้นด้วยฝาแถบตอง ใบตองก่อและใบหูกวางทั้งนั้น ประตูทำเป็นฝาแถบตองเป็นหูผลักไปมา หน้าต่างฝาแถบตอง เสี้ยมไม่ไผ่เป็นง่ามค้ำเอาในเวลาเปิด เชือกระเดียงตากผ้าก็ฟั่นเอาฝ้ายอีโป้เป็นสามเกลียว เพราะฝ้ายไม่อด ส่วนเครื่องมุงกุฏิ (ใช้) หญ้าคาเป็นส่วนมาก

ตามธรรมดาประจำปี พอถึงเดือนกุมภาพันธ์ก็มีการซ่อมแซมหลังคา ระดมไพหญ้า เวลาเช่นนั้นโยมก็มาช่วย พระเณรทั้งหมดก็ไพหญ้า ใครจะใช้อุบายหลบการงานไม่ได้ เว้นไว้แต่ผู้ป่วยจริงๆ จังๆ การทำงานมิได้มีเสียงอึกทึก เมื่อมีเรื่องจำเป็น พูดกันพอได้ยิน ถ้ามีการผ่าฟืน ก็ได้ยินแต่เสียงงาน ฟังไกล ๑ เส้นแล้วไม่ได้ยินเสียงพูด ถ้าไกล ๑ เส้นแล้วได้ยินเสียง ก็ได้ยินแต่เสียงหลวงปู่องค์เดียวเท่านั้นละ แต่มิได้ทำงานจนเลยเขตข้อวัตรเช่นกวาดตราดและตักน้ำเป็นต้น การเก็บเครื่องมือและอะไรต่ออะไร เรียบร้อยไม่ปล่อยระเนระนาด ถ้าทำสองวันติดๆ กันยังไม่เสร็จ หลวงปู่ให้หยุดวันหนึ่งเสียก่อน เกรงว่าสมถะและวิปัสสนาจะไม่ติดต่อ แล้วจึงทำต่อไปเป็นระยะ หยุดเป็นระยะ

หยุดนี้แปลว่างานที่เกี่ยวข้องหมดวัด แต่ข้อวัตรเกี่ยวกับครูบาอาจารย์ประจำวันเวลานั้น และส่วนรวมประจำวันเวลานั้น จะไม่ตรงต่อเวลาไม่ได้ ผูกขาดอยู่แล้ว ส่วนข้อวัตรประจำตัวเดินจงกรมภาวนาตอนกลางคืนนั้นก็ผูกขาดอีก จะอวดอ้างว่าตอนกลางวันเรามิได้พัก เราจะนอนแต่หัวค่ำละวันนี้ หรือเราจะตื่นสายละวันนี้ ก็ไม่ได้อีก เว้นไว้แต่เจ็บป่วยจริงๆ ถ้าเจ็บนิดๆ หน่อยๆ แล้วโกหกว่าเป็นหนัก องค์หลวงปู่ก็รู้ และหมู่เพื่อนผู้ตาแหลมก็รู้อีก วิชาขี้เกียจขี้คร้าน วิชามักง่าย วิชาเห็นแก่ตัวในอามิสต่างๆ ไม่มีในสำนักของหลวงปู่เลย ถ้ามีอยู่ไม่ได้ กระเด็นเลย ไม่วิธีหนึ่งก็วิธีหนึ่งละ

ในยุควัดป่าบ้านหนองผือไม่ขี้เกียจเขียนเลย พอใจเต็มที่แล้ว เพราะเห็นด้วยตา พิจารณาด้วยใจ เพราะไม่ได้อ้างออกนอกไปว่าได้ยินแต่เขาว่า เขานั้นมันเกิดทีหลังของหูและตานอกตาใน ตาปัญญา ตาปัญญาชั้นสูงสุดสามารถไล่ความหลงและโง่ โง่และหลง และอวิชชา และกิเลสก็อันเดียวกัน กองปัญญานิพพิทาวิมุตติไล่ไปแตกกระเจิง

๏ ปี ๒๔๙๐ พระเถระผู้ใหญ่มาศึกษาธรรม

วัดป่าบ้านหนองผือยุคนั้น จะว่าชุมทางของพระเณรผู้ปฏิบัติก็ได้ ไม่ผู้คนจะว่าชุมทางของผู้ปฏิบัตินั้น ก็คือใจอันประกอบด้วย ศีลสมาธิ ปัญญา ก็ได้ไม่ผิดอีก แต่ถ้าไม่เขียน ผู้อื่นและผู้ฟังก็คอยแต่จะแซงอยู่ เขียนซะอย่าให้แซง จะเสียเวลา

ปี ๒๔๙๐ นั้นเอง ในฤดูแล้ง วันนั้นเป็นวันบังเอิญก็ว่าได้ มีพระผู้ใหญ่อันเป็นเถระต่างทิศต่างจังหวัด เข้าไปศึกษาหารือธรรมะกับหลวงปู่ในสำนักพร้อมกันในวันเดียว ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ อุดรฯ พระอาจารย์สิงห์ นครราชสีมา และท่านพระครูอะไรลืมชื่อไป ท่านเจ้าคุณอริยเวที (เขียน ป.ธ.๙) กาฬสินธุ์ หลวงปู่อ่อน อยู่วัดป่าหนองโดก อ.พรรณานิคม หลวงปู่ฝั้น อยู่ธาตุนาเวง วัดป่า อ.เมืองสกลนคร พระอาจารย์มหาทองสุก อยู่วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร มีพระอาจารย์กงมา วัดดอยธรรมเจดีย์ แต่ยังมิได้ใส่ชื่อวัดเพราะไปตั้งใหม่ บางวันบางวาระก็อยู่พักวัดป่าบ้านโคก

วันที่พระผู้ใหญ่มาเยี่ยมหลายองค์โดยมิได้นัดหมายเช่นนั้น พอถึงหนึ่งทุ่มก็จุดตะเกียงเจ้าพายุ ตีระฆังลงไปรวมกันที่ศาลาอุโบสถ (ไม่ใช่ศาลาโรงฉันดอก เพราะมันคับแคบเกินไป) ครั้นกราบไหว้พร้อมกันเสร็จสิ้นแล้ว ต่างก็นั่งพับเพียบเงียบสงัดอยู่ ๒-๓ นาที หลวงปู่มั่นมีสันติวิธี ปรารภขึ้นเย็นๆ ว่า

“เออ วันนี้เหมาะสม ผมจะได้ศึกษากับพวกท่าน จะผิดถูกประการใดขอให้พวกท่านปรารภได้ไม่ให้เกรงใจ ผมได้ศึกษาน้อย เรียนน้อย”

แล้วองค์ท่านเสนอว่า

“พระบรมศาสดา บัญญัติอนุศาสน์ ๘ อย่างเป็นข้อเว้นเรื่องใหญ่ อันเป็น ปู่ ย่า ตา ทวด ของความผิด คือปาราชิก ๔ แล้วอีก ๔ ประเภทในฝ่ายปัจจัย ให้ปฏิบัติจนถึงวันสิ้นลมปราณ เพราะเป็นปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต เรียกนิสัยก็มี ๔ อย่าง เที่ยวบิณฑบาตหนึ่ง อยู่โคนไม้หนึ่ง นุ่งห่มผ้าบังสุกุลหนึ่ง และก็เภสัชดองน้ำมูตรเน่าหนึ่ง ด้านบิณฑบาต พระองค์ได้ทอดสะพานไว้แล้วจนสิ้นลมปราณ แต่พวกเราไม่ค่อยจะไปบิณฑบาตกัน กลับเห็นว่ามีลาภ แล้วก็คอยให้เขาเอามาส่งและบังสุกุล พวกเราก็ไม่อยากแสวงเสียเลย อยู่ที่สงัดกายวิเวก พวกเราก็ไม่อยากแสวงเลย สิ่งเหล่านี้ พวกเราได้นึกคิดอย่างไรบ้าง พวกเราถูกตามอนุศาสน์แล้วหรือหากว่าบกพร่องอยู่บ้าง”

ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ยิ้มอยู่โดยเคารพมิใช่ยิ้มแย้ม ส่วนท่านเจ้าคุณอริยเวที ป.ธ. ๙ กราบเรียนว่า

“ไม่มีสิ่งจะแซงพระอาจารย์ได้ดอก พวกกระผมจำได้ท่องได้เฉยๆ ขอรับผม”

ในสมัยนั้น ผู้เขียนอายุสามสิบปีกว่าล่วงไป ได้สังเกตพฤติการณ์ของพระเถระในที่ประชุมทุกๆ องค์ ตลอดพระภิกษุหนุ่มสามเณรน้อย ใช้มารยาทเคารพรักหลวงปู่มั่นเหมือนบิดามารดาบังเกิดเกล้า ไม่มีท่านองค์ใดจะจับผิดจับถูกในทางแง่ร้ายอันใดเลยแห่งหลวงปู่มั่น การประชุมถึงจิตถึงใจจึงจำได้ไม่ลืม คล้ายกับว่าเวลาร่างกายร้อนเข้าพักร่มไม้สูงๆ โตๆ มีกิ่งก้านสาขา อากาศโปร่งข้างล่าง ลมมาพัดพอเย็นๆ ดี ไม่ค่อยแรง เรียกว่าประชุมเย็น มิใช่ประชุมร้อน

แล้วองค์หลวงปู่ก็ปรารภต่อไปอีกว่า

“พระบรมศาสดาทรงพระมหากรุณา ทรงสั่งและทรงสอนเป็นชั้นที่หนึ่ง คือภิกษุ จึงมีคำออกหน้าว่า ภิกขเว เกือบทุกวรรคทุกตอน ถ้าภิกขเวไม่ศึกษาปฏิบัติ แล้วจะให้ใครปฏิบัติศึกษาเล่า ส่วนพระองค์ทรงพระกรุณา ทรงสั่งสอนอุบาสก อุบาสิกา เทวดา มาร พรหมก็ดี ว่าในพระบาลีน้อยกว่าภิกษุทั้งหลาย นางภิกษุณีก็ดี สามเณรก็ดี สามเณรีก็ดี นางสิกขมานาก็ดี ในพระบาลีเห็นมีน้อยกว่าภิกษุ ผมผู้นั่งหลับตาได้ความอย่างนี้ ตามประสาผู้เฒ่า”

แล้วองค์ท่านหลวงปู่ก็ปรารภสมาธิ สมาธิแปลว่าตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่เพ่งอยู่อันเดียวเป็นหลัก แต่เมื่อหมดกำลังก็ถอนออกมา ส่วนญาณพิเศษ ว่าหลุด ว่าพ้น ยังไม่ปรากฏ เป็นเพียงพักอารมณ์อันหยาบเฉยๆ เรียกว่าจิตใจพักงานอันหยาบของอารมณ์

แต่จะติดอยู่แต่เพียงรสของสมาธิไม่ได้ เพราะรสของสมาธิเป็นรสขนาดกลาง ต้องพิจารณาใช้สติปัญญาลงสู่ธาตุขันธ์ ในส่วนรูปขันธ์นามขันธ์ให้เสมอภาคเหมือนหน้ากลอง ทั้งอดีต ทั้งอนาคตปัจจุบันใดๆ ทั้งสิ้น ลงสู่ไตรลักษณ์เสมอหน้ากลองอีกเรื่อยๆ ติดต่ออยู่ไม่ขาดสาย ย่นย่อลงมาเป็นหลักอันเดียวในปัจจุบัน ทรงอยู่ซึ่งหน้าสติ ซึ่งหน้าปัญญา ตราบใดนิพพิทาญาณยังไม่ปรากฏแก่สันดานอันประณีต ก็พิจารณาติดต่ออยู่ไม่ขาดวรรคไม่ขาดตอนอยู่อย่างนั้น มีทางเดียวเท่านั้น ไม่มีทางอื่นเลย

แต่นานๆ จึงจะพิจารณาคราวหนึ่ง ขาดๆ วิ่นๆ นั้น ผู้มีนิสัยหยาบก็พอประทังไปเท่านั้น ไม่สามารถจะถึงนิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่ายคลายหลงคลายเมาได้ง่าย กลายเป็นหมันไปอีก

สมถกรรมฐานทุกประเภท นับแต่หนังหุ้มอยู่โดยรอบเป็นต้นไปก็ดี หรือล้านๆ นัยก็ดีแล ก็ต้องปลงปัญญาลงสู่ไตรลักษณ์ทั้งนั้น เพราะไตรลักษณ์เป็นที่ชุมทางของสมถะ และสมถะคล้ายกับเป็นเมืองขึ้นของไตรลักษณ์แบบตรงๆ อยู่แล้ว ไตรลักษณ์เป็นเมืองขึ้นของนิพพิทาญาณความเบื่อหน่าย ความเบื่อหน่ายเป็นเมืองขึ้นของวิมุตติ วิสุทธิ นิพพาน พระโสดาบันเปิดประตูเข้านิพพานได้แล้ว แต่ยังไม่ถึงศูนย์กลางพระนิพพาน ยังไม่ได้เที่ยวรอบในพระนิพพาน

จริงอยู่ พระนิพพานไม่มีประตูรูป ประตูนาม ศูนย์ขอบศูนย์กลางไปๆ มาๆ อยู่ๆ อะไร เป็นเพียงอุทาหรณ์เทียบเฉยๆ เพราะคำพูดก็เป็นวจีสังขาร พระนิพพานมิใช่คำพูดและนึกคิด หรือรสสิ่งต่างๆ มีรสเกลือ เป็นต้น ซึ่งเป็นรสหยาบๆ ในโลกของโลกลิ้น โลกผัสสะ กระทบจึงจะรู้จักเค็ม เว้นไว้แต่ชิวหาประสาทพิการ แม้ชิวหาประสาทจะพิการก็ตาม รสของเกลือเค็มตามธรรมชาติของความจริงก็เ