ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=36233
หน้า 1 จากทั้งหมด 2

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 13 ม.ค. 2011, 10:49 ]
หัวข้อกระทู้:  พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม)

รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม)


วัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก)
ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี


๏ ปฐมวัย

หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม เป็นชาวมุกดาหาร เดิมชื่อ ถิร บุญญวรรณ เกิดเมื่อวันพุธที่ ๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๕๙ ตรงกับวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะโรง บิดาชื่อ นายลอย บุญญวรรณ เป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านสิงห์มงคลใต้ อำเภอมุกดาหาร (ปัจจุบันถูกตั้งให้เป็นจังหวัดมุกดาหารแล้ว) ขึ้นกับจังหวัดนครพนม มารดาชื่อ นางช่วย บุญญวรรณ เป็นคนถิ่นเดียวกันกับบิดา ครอบครัวของหลวงปู่เป็นชาวนา และหลวงปู่มีพี่น้องทั้งหมด ๖ คน ดังนี้

๑. นางอ่อนจันทร์ บุญญวรรณ
๒. นายอ้อย บุญญวรรณ
๓. พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม)
๔. นางกมกรรณ บุญญวรรณ
๕. นายหวัน บุญญวรรณ เป็นนายช่าง
๖. นายเหวย บุญญวรรณ เป็นข้าราชการครู

ในวัยเด็ก หลวงปู่ได้เรียนหนังสือภาคบังคับเหมือนเด็กทั่วไป ที่โรงเรียนมุกดาลัย อำเภอมุกดาหาร ซึ่งในขณะนั้นขึ้นกับจังหวัดนครพนม และในระหว่างเรียนชั้นประถมศึกษานี้มักป่วยเป็นโรคปวดท้องอย่างรุนแรง บางทีถึงกับสลบหมดสติไป ซึ่งเหตุการณ์นี้มักจะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ปีละครั้ง โดยไม่ทราบสาเหตุ

จนอายุประมาณ ๑๐ ปีบังเกิดความคิดว่า ชีวิตมนุษย์นี้ช่างวุ่นวาย และโลกนี้ช่างคับแคบจริงๆ รู้สึกอึดอัดเบื่อหน่าย ไม่ทราบว่าตัวเองควรจะดำเนินชีวิตไปอย่างไรดี (ความตอนนี้ได้กราบเรียนขอคำอธิบายจากหลวงปู่ และหลวงปู่ได้เมตตาอธิบายว่า ที่ท่านคิดเช่นนี้มีสาเหตุมาจากการป่วย เพราะคนเราเกิดมาเหมือนถูกคุมขังด้วยความเจ็บป่วย เกิด แก่ เจ็บ ตาย) จึงอธิษฐานว่า ถ้าเราไม่มีบุญบารมี เราจะหนีไปตายดีกว่า (หมายความว่า ถ้าเราไม่มีบุญก็จะขอตายเสียเลยดีกว่า) แต่อาการป่วยด้วยโรคปวดท้องก็ยังคงเป็นอยู่ประจำทุกปี แม้จะได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์ก็ยังไม่หาย จนต่อมาภายหลังเมื่อได้บวชเป็นพระแล้วอาการปวดท้องดังกล่าวจึงหายไป

สมัยนั้นจะมีวัดประจำหมู่บ้าน ชาวบ้านเรียกว่าวัดบ้าน เมื่อหลวงปู่ไปวัด เห็นผ้ากาสาวพัสตร์ที่พระท่านครองอยู่ รู้สึกสบายใจทุกครั้ง จึงยึดถือเป็นแนวทางไว้ในขณะนั้นว่า เมื่อโตขึ้นเราจะบวช และต่อมาเมื่ออายุประมาณ ๑๐ กว่าปี จึงได้ขอบิดาไปเป็นลูกศิษย์วัดอยู่ที่ วัดยอดแก้วศรีวิชัย (วัดกลาง) ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม (ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร ในปัจจุบัน) คอยรับใช้บริการพระในวัด พร้อมกับเรียนหนังสือตามปกติ จนจบหลักสูตรชั้นสูงสุดของประถมศึกษาในสมัยนั้น แล้วได้ศึกษาต่อในหลักสูตรเร่งรัด ด้วยหวังว่าวันหนึ่งข้างหน้าเมื่อจบการศึกษาแล้วจะสามารถออกมารับราชการได้

รูปภาพ
พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม) กับ พระอุปัฏฐาก

รูปภาพ
พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม) นำพาคณะสงฆ์รับบิณฑบาต


(มีต่อ ๑)

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 13 ม.ค. 2011, 11:50 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม)

รูปภาพ
พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล

รูปภาพ
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต


๏ ชีวิตในเพศพรหมจรรย์

เมื่อเรียนหลักสูตรเร่งรัดจบแล้ว หลวงปู่เกิดความต้องการที่จะบวชเป็นเณรเพื่อจะได้ศึกษาต่ออีก ด้วยในสมัยนั้นการศึกษาของกุลบุตรกุลธิดาต้องศึกษาในวัด ถ้าเป็นฆราวาสจะได้เรียนเพียงชั้นประถมศึกษาซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับ หลักสูตรการเรียนของสามเณรในสมัยนั้นได้บรรจุหลักสูตรการฝึกหัดครู และวิชาพระพุทธศาสนา วิชาภาษาบาลีและสันสกฤต ควบคู่กันไป ซึ่งใน ๑ ปีการศึกษาเปิดสอนเพียง ๓ เดือนเท่านั้น

หลวงปู่จึงขออนุญาตบิดาบวชเณร บิดาท่านก็อนุญาตให้บวชที่วัดยอดแก้วศรีวิชัย (วัดกลาง) ที่หลวงปู่เป็นลูกศิษย์วัดอยู่นั่นเอง ในวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยมี พระมหาแก้ว รัตนปัญโญ เป็นพระอุปัชฌาย์ ขณะนั้นหลวงปู่อายุได้ ๑๖ ปี เมื่อบวชแล้ว บิดาได้พามาอยู่ที่ วัดป่าศิลาวิเวก อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม (ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร ในปัจจุบัน) ที่บิดาและลุงได้ร่วมกันสร้างไว้ วัดนี้เป็นวัดธรรมยุตที่ในขณะนั้น ท่านพระอาจารย์ดี ฉนฺโน เป็นเจ้าอาวาส

หมายเหตุ : พระอาจารย์ดี ฉนฺโน เดิมเป็นพระมหานิกาย ท่านเป็นพระที่มีใจคอหนักแน่นเด็ดเดี่ยว เก่งทางช่างไม้ ช่างก่อสร้าง แกะสลัก เขียนภาพ ช่างเหล็ก ช่างปั้นดินเผา และมีความรู้ทางยาแผนโบราณ เรื่องว่าน เลียงผา ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นผู้มีคาถาอาคม เช่น วิชากำบังตัว คงกระพันชาตรี เชี่ยวชาญในการปราบผีทุกชนิด เป็นต้น ตอนหลังมาได้ญัตติเป็นธรรมยุติกนิกาย โดยฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ใน พ.ศ. ๒๔๖๕ ท่านจึงหันมาสนใจการปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้น เพื่อนรุ่นสหธรรมิกของท่าน คือ เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน), เจ้าพระคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์), พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล, พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม, พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล และหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ เป็นต้น (จากหนังสือชีวประวัติอภินิหารของพระอาจารย์ดี ฉนฺโน หน้า ๑๗)

พระอาจารย์ดี ฉนฺโน ได้ให้การอบรมหลวงปู่ถึงวิธีการบำเพ็ญเพียรภาวนาสมาธิและกัมมัฏฐานอยู่ ๒ พรรษา ทางด้านสมถกัมมัฏฐาน ได้เน้นให้บริกรรมพุทโธพร้อมทั้งอานาปานสติด้วย ส่วนทางด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้เน้นให้พิจารณากายานุปัสสนา ต่อมาเมื่อขึ้นพรรษาที่ ๓ หลวงปู่จึงเริ่มออกเดินธุดงค์ไปเองเรื่อยๆ โดยมีเด็กรับใช้ติดตามไปด้วย ๑ คน ชื่อเด็กชายทองมา เป็นชาวอำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันถูกตั้งให้เป็นจังหวัดอำนาจเจริญแล้ว) สำหรับ “ธุดงค์” นั้น เป็นข้อวัตรปฏิบัติที่พระป่า พระอริยเจ้าทั้งหลายถือปฏิบัติ พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ เรียกว่า ธุดงควัตร มี ๑๓ ข้อ แล้วแต่ผู้ใดจะเลือกปฏิบัติข้อใด

วันหนึ่งได้เดินธุดงค์ไปถึงวัดกลาง ซึ่งเป็นวัดมหานิกายแห่งหนึ่งในอำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี และได้ตัดสินใจศึกษาต่อเน้นหลักสูตรการฝึกหัดครู เพื่อจะได้ออกไปรับราชการได้ในภายหลัง แต่คงเป็นด้วยอำนาจบุญบารมีที่จะทำให้หลวงปู่ได้ครองผ้ากาสาวพัสตร์ต่อไป จึงได้เกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้น กล่าวคือ บังเอิญวันนั้นเป็นวันพระ ที่วัดมีงานปลงผม (โกนผม) พระในวัด หลวงปู่ได้ช่วยงานปลงผมพระจำนวน ๓๐ รูป

หลังจากช่วยงานเสร็จแล้วรู้สึกอ่อนเพลียมาก จึงได้กลับไปจำวัด (นอน) เมื่อตื่นนอนขึ้นมา ปรากฏว่าไม่สามารถลุกขึ้นได้ มีอาการชาตามแขนขา ไม่มีเรี่ยวแรง ซึ่งอาการเช่นนี้หลวงปู่เล่าว่าเป็นอยู่นานประมาณ ๖ เดือน จึงทำให้ไม่สามารถศึกษาต่อดังที่ตั้งใจไว้ได้ และด้วยอานิสงส์แห่งบุญบารมีในอดีตชาติที่ได้บำเพ็ญเพียรมา จึงทำให้ขณะที่ป่วยนั้นเกิดมีแรงดลใจนึกรู้ขึ้นมาเอง (นิรุตติ) ว่า จะหายป่วยจากโรคนี้ได้จะต้องกลิ้งตัวบนยอดหญ้าที่มีน้ำค้างเกาะ แล้วต้องอาบน้ำอุ่นจัดประมาณ ๒ โอ่งมังกร ทุกเช้า ทุกวัน จึงจะหาย ดังนั้น หลวงปู่จึงได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ระลึกรู้ขึ้นมานั้น เมื่อปฏิบัติแล้วได้มานั่งพิจารณาตามเนื้อตัวของตนเอง พบว่ามีเหงื่อผุดออกมาตามรูขุมขน ขนาดใหญ่เท่าเม็ดข้าวโพด แม้จะเอาผ้าเช็ดตัวมาเช็ด เหงื่อก็ยังผุดออกมาตลอดเวลา ทำให้ตัวเบาขึ้น

หลวงปู่ได้ปฏิบัติเช่นนี้ทุกวัน ตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงกลางเดือนธันวาคม อาการดีขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อหายป่วยแล้วได้เดินทางกลับอำเภอมุกดาหาร (ปัจจุบันถูกตั้งให้เป็นจังหวัดมุกดาหารแล้ว) ขณะนั้นมีอายุย่างเข้า ๒๐ ปี จึงตั้งใจจะบวชเป็นพระ เพราะอายุครบที่จะบวชพระได้แล้ว และคิดเสียสละชีวิตดังที่เคยอธิษฐานไว้ว่า “ถ้าไม่มีบุญบารมีก็จะหนีไปตายดีกว่า” บิดาจึงทำพิธีบวชพระให้ในวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘ โดยมี พระเทพสิทธาจารย์ (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสารภาณมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ และ พระอธิการทอง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ที่ วัดหัวเวียงรังษี ตำบลพระธาตุ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม โดยพระอุปัชฌาย์ขนานนามเป็นภาษามคธให้ว่า “ฐิตธมฺโม” แปลว่า “ตั้งมั่นในธรรม”

เมื่อบวชแล้ว ได้กลับมาจำพรรษาที่วัดป่าศีลาวิเวกกับท่านพระอาจารย์ดี ฉนฺโน เช่นเดิม ที่วัดนี้หลวงปู่ได้เริ่มฝึกปฏิบัติตนตามแนวพระป่าอย่างจริงจัง ด้วยอุปนิสัยเดิมที่ติดตัวมาจากอดีตชาติ จนกระทั่งเข้าพรรษาที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๘๐ (อายุประมาณ ๒๑ ปี หลวงปู่จึงเดินทางไปยัง วัดเกาะแก้วอัมพวัน ตำบลพระธาตุ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล จำพรรษาอยู่ แต่ในพรรษานั้นหลวงปู่เสาร์ได้ไปจำพรรษาที่จังหวัดอุบลราชธานี ทำให้หลวงปู่ไม่ได้พบกับหลวงปู่เสาร์

ขณะที่จำพรรษาอยู่วัดเกาะแก้วอัมพวันแห่งนี้ หลวงปู่ได้เริ่มอดอาหารเพื่อทรมานสังขารเป็นครั้งแรก ฉันแต่น้ำปานะเท่านั้น นับเป็นเวลา ๑๕ วัน และปักกลดในป่าช้าตลอดพรรษา (โสสานิกังคะ คือ ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร) การฝึกอดอาหารนี้พระป่านิยมฝึกปฏิบัติกัน เพราะช่วยทำให้ตัวเบา ไม่ง่วงเหงาหาวนอน มีผลดีต่อการบำเพ็ญเพียรสมาธิภาวนา ซึ่งจะทำให้สามารถปฏิบัติสมาธิภาวนาได้ต่อเนื่องยาวนาน เกิดความก้าวหน้าในการฝึกจิต ส่วนการทรมานสังขารและปักกลดในป่าช้า จะเป็นการช่วยฝึกสติ ทำให้ไม่ประมาท หลังจากออกพรรษาแล้ว หลวงปู่จึงเดินทางกลับมาที่วัดป่าศีลาวิเวก ขณะนั้น ท่านพระอาจารย์เกียง เป็นเจ้าอาวาสสืบแทนท่านพระอาจารย์ดี ฉนฺโน ซึ่งย้ายไปอยู่ วัดบ้านกุดแห่ (วัดป่าสุนทราราม) อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี (ตำบลกุดแห่ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ในปัจจุบัน) ตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๘๑

รูปภาพ
พระอาจารย์ดี ฉนฺโน พระอาจารย์ของหลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม

รูปภาพ
พระเทพสิทธาจารย์ (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย)

รูปภาพ
เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน)

รูปภาพ
เจ้าพระคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์)

รูปภาพ
พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม

รูปภาพ
พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล

รูปภาพ
หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ


(มีต่อ ๒)

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 14 ม.ค. 2011, 18:09 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม)

รูปภาพ
พระอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร พระอาจารย์ของหลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม


ในเวลาต่อมา พระอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร เจ้าอาวาสวัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก) อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี (พระอาจารย์อุ่น เดิมอยู่วัดศรีษะเกษ อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม แต่เดิมท่านญัตติเป็นมหานิกาย ต่อมาญัตติใหม่เป็นธรรมยุติกนิกาย มีนิสัยเด็ดเดี่ยว ปฏิบัติบำเพ็ญเพียรภาวนาอย่างอุกฤษฏ์ อดนอน และฉันเจตลอดชีวิต พระอาจารย์อุ่นได้เดินทางมาเที่ยววิเวกที่วัดป่าศิลาวิเวก และเมื่อท่านจะเดินทางกลับ ได้ชักชวนพระติดตามไปด้วยอีก ๓๐ รูป ซึ่งในพระกลุ่มนี้มี หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม รวมอยู่ด้วย การเดินทางติดตามพระอาจารย์อุ่นมาจังหวัดอุดรธานี ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งแรกที่หลวงปู่ได้มาจำพรรษาที่วัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก) และได้จำพรรษา ณ วัดแห่งนี้ตั้งแต่นั้นมาจวบจนปัจจุบันนี้

ที่วัดบ้านจิก พระทุกรูปถือปฏิปทาการฉันเจเป็นวัตร เนื่องจากนายพันตำรวจโทพระยงค์พลพ่าย กับภรรยาคือคุณแม่ทิพย์ ซึ่งเป็นโยมอุปัฏฐากสำคัญของวัดนี้ ได้มีศรัทธาประกอบอาหารเจถวายพระอยู่เสมอ (อาหารเจในสมัยนั้นไม่มีผักผลไม้มากมายเหมือนปัจจุบัน จะมีเพียงพริกโขลกผสมกับเกลือและผักบางชนิดเท่านั้น) การฉันเจนี้ช่วงแรกๆ ที่ฉัน ร่างกายยังปรับตัวไม่ได้ จะมีอาการอ่อนเพลีย แต่พระทุกรูปพอใจที่จะฉันเช่นนี้เนื่องจากถือว่าเป็นการฝึกทรมานตนเองไม่ให้ติดในรสชาติของอาหาร เมื่อออกธุดงค์ไปในป่าจะได้มีความอดทน สามารถฉันตามมีตามเกิดได้

เมื่อย่างเข้าพรรษาที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๘๔ หลวงปู่มีอายุประมาณ ๒๔ ปี พระอาจารย์อุ่นเริ่มนำคณะซึ่งประกอบด้วยหลวงปู่ และพระเณรประมาณ ๓๐ รูป ออกธุดงค์ เมื่อเดินทางไปถึงบ้านปากดง หลวงปู่เกิดมีความคิดที่จะกลับไปศึกษาต่อเพื่อออกไปรับราชการใช้ชีวิตอย่างฆราวาสอีก จิตมันถอยกลับไม่อยากอยู่เป็นพระอีกต่อไป จึงได้เดินทางกลับมายังวัดบ้านจิก ส่วนพระอาจารย์อุ่นยังคงอยู่ที่บ้านปากดงเช่นเดิม

แต่เป็นเรื่องที่แปลกมาก ทุกครั้งที่พระอาจารย์อุ่นบำเพ็ญภาวนา จิตจะไม่ยอมรวมลง และมักจะเกิดนิมิตเห็นหน้าหลวงปู่อยู่เสมอ จิตอ่อน น้ำตาตกใน จึงปรารภกับตัวเองว่า พระองค์นี้สำคัญแค่ไหน แม่ของเราแท้ๆ ซึ่งเราเองก็คลอดออกมาจากท้องแม่ เมื่อแม่เสียชีวิตเรายังไม่ถึงกับน้ำตาไหลเลย ทำไมพระองค์นี้จึงทำให้น้ำตาเราไหลได้ จึงอธิษฐานจิตก่อนนั่งสมาธิเพื่อขอทราบว่า พระองค์นี้มีบุญบารมีเพียงใด เมื่อนั่งภาวนาต่อไปอีก ๒ ชั่วโมง สมาธิจึงลงได้

เกิดนิมิตครั้งแรก พบว่าพระอาจารย์อุ่นและหลวงปู่ได้ธุดงค์เข้าไปในป่า ซึ่งทางเข้าป่านั้นมีศาลาที่พักริมทางสำหรับคนเดินทาง หลวงปู่ได้นิมนต์พระอาจารย์อุ่นให้นั่งพักบนศาลา และในขณะนั้นมีชีปะขาวรูปหนึ่งขึ้นมาถวายน้ำ

พระอาจารย์อุ่นจึงพูดขึ้นว่า น้ำใสจริง แล้วต่างองค์ต่างก็ฉันน้ำจนหมดแก้ว

จากนั้นหลวงปู่จึงพูดขึ้นว่า ถึงเวลาแล้วจะต้องเดินทาง

และเมื่อเดินทางเข้าไปในป่า พระอาจารย์อุ่นเดินนำหน้าไปถึงกลางดง ได้พบท่อนซุงท่อนใหญ่ล้มขวางทางอยู่ หลวงปู่จึงนิมนต์พระอาจารย์อุ่นให้นั่งภาวนาบนท่อนซุงนั้น โดยทั้งสององค์จะนั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเหมือนกัน

พระอาจารย์อุ่นหันมามองหลวงปู่ เห็นหลวงปู่เคี้ยวหมากปากเปื้อนน้ำหมากเป็นสีแดง จึงถามว่า ท่านทำไมจึงเคี้ยวหมากปากแดง

หลวงปู่ตอบว่า ชาวบ้านเขาถวายหมาก ท่านอาจารย์จะรับหมากด้วยกันหรือไม่

พระอาจารย์อุ่นจึงตอบว่า ไม่ ขี้เกียจบ้วนน้ำหมาก

หลวงปู่จึงพูดว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเดินทาง

ในระหว่างที่เดินทางไปธุดงค์ในนิมิตนั้น หลวงปู่ได้บ่นกับพระอาจารย์อุ่นว่า ทำไมหนอการบำเพ็ญเพียรจึงต้องทุกข์ยากลำบากขนาดนี้

พระอาจารย์อุ่นได้ตอบว่า ทุกข์มากเท่าใด เราก็จะได้รับความสุขมากเท่านั้น (หมายความว่า ทุกข์เป็นของมีค่า บุคคลใดได้เห็นทุกข์ บุคคลนั้นย่อมหาเหตุแห่งการพ้นทุกข์ และบุคคลนั้นย่อมมีโอกาสพ้นทุกข์ได้นั่นเอง)

ขณะเดินทางในนิมิตนั้น หลวงปู่จะถือไม้กวาดทางมะพร้าวกวาดทางเดิน พร้อมทั้งสะพายเครื่องอัฐบริขารไปด้วย

พระอาจารย์อุ่นเดินตามมาข้างหลังจึงถามหลวงปู่ว่า ไม่หนักหรือเพราะต้องสะพายทั้งเครื่องอัฐบริขารและกวาดทางเดินไปด้วย กวาดเพื่ออะไร

หลวงปู่ตอบว่า กวาดเพื่อปัดขวากหนามออก ทำให้คนเดินทางได้สะดวกขึ้น

พระอาจารย์อุ่นจึงบอกว่า วางเครื่องอัฐบริขารลงก่อน จะได้ไม่หนัก

หลวงปู่ตอบว่า หนักไม่เป็นไร

เมื่อเดินทางต่อไปเรื่อยๆ จะพบทางสองแพร่ง ทางหนึ่งเป็นทางชัน มีเสียงการละเล่นมหรสพดังมาด้วย อีกทางหนึ่งเป็นทุ่งหญ้า หลวงปู่ตัดสินใจจะเดินไปทางชันที่มีเสียงมหรสพ แต่พระอาจารย์อุ่นบอกว่าให้ไปทางที่มีทุ่งหญ้าดีกว่า แล้วเดินนำทางไป หลวงปู่จึงเดินตามพระอาจารย์อุ่นไป และพบว่าทุ่งหญ้านั้นเขียวขจี เรียบและนุ่มประดุจพรมกำมะหยี่ หลวงปู่จึงพูดขึ้นว่า ถึงเวลานั่งภาวนาแล้ว

ทั้งพระอาจารย์อุ่นกับหลวงปู่จึงนั่งลงภาวนาหันหน้าเข้าหากัน

เมื่อนั่งภาวนาไปได้พักหนึ่ง หลวงปู่จึงแบมือทั้งสองข้างออกมาข้างหน้าพร้อมกับกล่าวว่า คนเรียนเหมือนคนนอนหลับ คนปฏิบัติเหมือนคนแบมือรับ

พระอาจารย์อุ่นกล่าวตอบรับว่า จริงแล้ว พร้อมกับยื่นลูกแก้วให้ ๒ ลูก ลูกหนึ่งเป็นสีขาว อีกลูกหนึ่งเป็นสีเหลือง

หลวงปู่กำลูกแก้วไว้ในมือข้างละลูก เมื่อลุกขึ้นยืนจะเอาลูกแก้วใสเก็บไว้ในย่าม ปรากฏว่าตัวท่านมีย่าม ๒ ใบ สะพายอยู่ข้างซ้ายและขวา จึงใส่ลูกแก้วลงในย่ามข้างละใบพร้อมทั้งกล่าวว่า ถึงเวลาต้องเดินทางต่อแล้ว

(ความตอนนี้หลวงปู่ได้เมตตาอธิบายความหมายให้ฟังว่า คนเรียนเหมือนคนนอนหลับ หมายความว่า คนที่เรียนรู้แต่ทฤษฎีเป็นคนไม่รู้จริง เปรียบเสมือนคนนอนหลับ คนปฏิบัติเหมือนคนแบมือรับ หมายความว่า คนที่เรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติหรือผู้ที่ปฏิบัติจริงจังจึงจะเป็นผู้รู้จริง เปรียบเสมือนคนแบมือออกรับ ลูกแก้วสีขาวก็คือแก้วรัตนตรัยหรือความบริสุทธิ์ ลูกแก้วสีเหลืองก็คือสีผ้ากาสาวพัสตร์ ซึ่งเป็นสีธงชัยของพระอริยเจ้านั่นเอง)

เมื่อเดินทางออกมาพ้นจากทุ่งหญ้าก็พบทางสามแพร่ง มีวงเวียนอยู่ตรงกลางปรากฏเห็นปราสาท ๓ หลัง แต่ละหลังหันไปทางทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ตามลำดับ ปราสาททุกหลังจะประดับด้วยแก้ว พระอาจารย์อุ่นให้หลวงปู่ไปตรวจดูปราสาทแต่ละหลังก่อนที่จะขึ้นไปนั่งภาวนา เมื่อหลวงปู่ขึ้นไปบนปราสาทหลังแรก ปรากฏว่าพระอาจารย์อุ่นก็เดินขึ้นไปบนปราสาทอีกหลังหนึ่งแล้ว พระอาจารย์ทั้งสองต่างพูดขึ้นพร้อมกันว่า เสนาสนะนี้เป็นที่สัปปายะ จิตพระอาจารย์อุ่นก็ถอนออกจากสมาธิ ทั้งหมดนี้เป็นนิมิตในวันแรกของการอธิษฐาน


รูปภาพ
รูปภาพหลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม และพระอาจารย์ของหลวงปู่


(มีต่อ ๓)

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 14 ม.ค. 2011, 18:44 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม)

รูปภาพ
พรรษาแรกที่พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม)
มาจำพรรษาที่วัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก) เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๑



ในคืนต่อมา ขณะท่านพระอาจารย์อุ่นนั่งภาวนา ก็เกิดนิมิตขึ้นอีก โดยในนิมิตเห็นหลวงปู่พูดว่า ท่านพระอาจารย์ สภาพธรรมเป็นอย่างนี้เชียวหรือ

พระอาจารย์อุ่นจึงตอบว่า ใช่แล้ว จิตก็ถอนออกจากสมาธิ (นิมิตตอนนี้หมายความว่า การบำเพ็ญเพียรปฏิบัติที่ผ่านมาของหลวงปู่ถูกต้องแล้ว โดยมีพระอาจารย์กล่าวรับรอง)

เมื่อพระอาจารย์อุ่นพิจารณานิมิตแล้ว จึงให้คนมานิมนต์หลวงปู่ที่วัดบ้านจิกกลับไปที่บ้านปากดง แล้วเล่านิมิตให้หลวงปู่ฟัง พร้อมทั้งกำชับให้หลวงปู่จดบันทึกไว้ นิมิตทั้งหมดนี้เปรียบเสมือนคำทำนายคดีและอนาคตข้างหน้าของหลวงปู่ถิรนั่นเอง

เช่น

- นิมิตที่พระอาจารย์อุ่นเห็นหลวงปู่ถิรเคี้ยวหมาก ปากเป็นน้ำหมากเป็นสีแดง จึงพูดขึ้นว่า ทำไมท่านจึงเคี้ยวหมากปากแดง หลวงปู่ตอบว่า ชาวบ้านเขาถวายหมาก

หมายความว่า หลวงปู่ยังต้องเกี่ยวข้องกับประชาชน คือต้องคอยพูดอบรมสั่งสอนประชาชนอยู่เนืองๆ ซึ่งเปรียบเสมือนคนเคี้ยวหมากจนปากแดงเพื่อโปรดเวไนยสัตว์ (สรรพสัตว์ทั้งหลายที่ร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน) และพุทธบริษัท (คนถวายหมากก็คือคนที่สมัครเป็นพุทธบริษัท)

เมื่อหลวงปู่ถามพระอาจารย์อุ่นว่า ท่านอาจารย์จะรับหมากไหม พระอาจารย์อุ่นตอบว่า ไม่ ขี้เกียจบ้วนน้ำหมาก

หมายความว่า พระอาจารย์อุ่นไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับวัฏสงสารนี้อีก

- นิมิตที่พระอาจารย์อุ่นเห็นหลวงปู่ถิรสะพายอัฐบริขาร แล้วเดินกวาดขวากหนามตามทางเดินเพื่อให้ผู้คนเดินตามได้สะดวก

หมายความว่า ต่อไปภายภาคหน้าหลวงปู่จะได้ช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ และต้องพบกับอุปสรรคขัดขวาง แต่ก็จะผ่านปัญหาและอุปสรรคนั้นๆ ไปได้

- นิมิตที่พระอาจารย์อุ่นยื่นลูกแก้วขาวและเหลืองให้

หมายความว่า หลวงปู่จะได้ครองเพศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์และถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ (ลูกแก้วสีขาว) และจะได้อยู่ในร่มผ้ากาสาวพัสตร์ต่อไป (ลูกแก้วสีเหลือง)

- นิมิตที่หลวงปู่ถิรและพระอาจารย์อุ่นเดินขึ้นนั่งปราสาทองค์ละหลังนั้น

หมายความว่า เสนาสนะนี้เป็นที่เหมาะสมแล้วกับหลวงปู่ทั้งสอง

เมื่อหลวงปู่พิจารณานิมิตที่ท่านพระอาจารย์อุ่นเล่าให้ฟังแล้ว จึงตัดสินใจว่าจะอยู่ในโลกของเพศพรหมจรรย์ตลอดไป โดยตั้งใจจะเอาชีวิตถวายพรหมจรรย์ และได้เดินทางกลับมาที่วัดบ้านจิก พร้อมกับพระอาจารย์อุ่นและคณะพระที่ออกธุดงค์ไปด้วยกัน แต่ปรากฏว่าพระ ๓๐ รูปที่ติดตามพระอาจารย์อุ่นมาพร้อมๆ กับหลวงปู่นั้น เหลือเพียงบางองค์เท่านั้นที่อยู่จำพรรษาที่วัดบ้านจิก

ที่วัดบ้านจิกนี้ หลวงปู่ฉันอาหารตามปฏิปทาของทางวัดและได้เพิ่มการฝึกทรมานสังขารตนเองพร้อมๆ กันไปด้วย โดยการตั้งสัจจะอธิษฐานถืออิริยาบถ ๓ คือ ยืน เดิน นั่ง โดยไม่มีการนอนตลอด ๓ ปี เรียกว่า ถือเนสัชชิกธุดงค์ ซึ่งเป็นการฝึกทรมานสังขารเพื่อรักษาสติและไม่ติดสุข การฝึกครั้งนี้รู้สึกทรมานมาก และในระหว่าง ๓ ปีนี้ได้เดินทางไปธุดงค์อีกหลายครั้ง เช่น ออกเดินธุดงค์ติดตามพระอาจารย์อุ่นไปจนถึงตำบลหนองบัวบาน ซึ่งมีหนองน้ำ “หนองบัวบาน” ใกล้ๆ หนองน้ำมีต้นแสงใหญ่มากขนาด ๕ คนโอบ ชาวบ้านได้ช่วยกันสร้างที่พักให้พระอาจารย์อุ่นบนคาคบต้นแสง ส่วนหลวงปู่ปักกลดอยู่บนจอมปลวก มีเสนาสนะทำด้วยฟางข้าวแห้ง

หลังจากนั่งภาวนาไปได้พักหนึ่ง ปรากฏว่ามีลมพายุพัดมาและพัดกระหน่ำอย่างรุนแรง และรุนแรงมากขึ้นในตอนกลางคืน จนทำให้ต้นไม้หักล้มระเนระนาด พระเณรที่ติดตามมาด้วยต่างวิ่งหนีกันชุลมุนวุ่นวาย มีเณรองค์หนึ่งวิ่งเหยียบตอต้นฝรั่ง ตอที่มีรอยหักแหลมเสี้ยมนั้นจึงแทงทะลุกลางฝ่าเท้า ทำให้เณรได้รับบาดเจ็บ และหลังจากพายุสงบลงแล้ว เช้าวันรุ่งขึ้นพระอาจารย์อุ่นจึงพาเณรไปรักษาบาดแผลในตัวเมือง โดยได้มอบหมายให้หลวงปู่ดูแลพระเณรที่เหลืออยู่ หลวงปู่จึงได้ย้ายที่นั่งภาวนาไปอยู่ที่ศาลากลางน้ำของหนองบัวบาน และได้อดอาหารด้วยทั้งที่ยังถือเนสัชชิกธุดงค์อยู่ ๒ วัน

ต่อมาขณะภาวนาก็เกิดนิมิตเห็นผู้หญิงคนหนึ่งเดินเข้ามากราบ แล้วพูดว่า ข้าพเจ้าชอบท่าน เมื่อได้ยินดังนั้น หลวงปู่จึงลุกเดินหนีไป ในมือมีดาบเล็กๆ อันหนึ่งถือกวัดแกว่งไว้ข้างๆ ตัว เพื่อป้องกันไม่ให้หญิงคนนั้นเข้ามาใกล้ได้ แต่หญิงคนนั้นก็เดินตามหลวงปู่มาตลอดเวลา หลวงปู่จึงเดินหนีเข้าไปในกลุ่มพระเพื่อให้หญิงคนนั้นไปสนใจพระองค์อื่นแทน หญิงคนนั้นก็ยังคงติดตามหลวงปู่มาอีก

ในนิมิตนั้น หลวงปู่เห็นตำรวจจึงรีบเข้าไปแจ้งตำรวจให้จับหญิงคนนี้ แต่ตำรวจกลับบอกหลวงปู่ว่า เขาไม่มีความผิดจะจับเขาไม่ได้ หลวงปู่จึงคิดหาวิธีการใหม่ที่จะขับไล่หญิงคนนี้ไป แต่กลับนึกขึ้นได้ว่า เราจะคิดหนีเขาไปทำไม โดยไม่คิดแก้ปัญหาที่ตัวเรา คิดได้ดังนี้แล้ว จึงหันไปหาหญิงคนนั้นเพื่อจะถามว่า ตามเรามาทำไม ปรากฏว่ายังไม่ทันได้ถาม หญิงคนนั้นชิงพูดขึ้นมาก่อนว่า ถ้าท่านไม่ชอบ ดิฉันก็ขอเงิน ๑๒ บาท แล้วจะไปจากท่าน

หลวงปู่จึงตอบว่า อาตมาเป็นนักบวช เงินทองไม่เคยแตะต้อง จะมีเงินมาจากไหน

หญิงคนนั้นว่า ถ้าไม่มี ดิฉันก็จะขอลา

หลังจากที่หญิงคนนั้นพูดจบ ต้นแสงที่พระอาจารย์อุ่นเคยนั่งภาวนาก็หักโค่นล้มลง ขณะนั้นเวลาประมาณตี ๓ หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้แล้ว หลวงปู่กับพระเณรทั้งหมดก็ยังคงอยู่ภาวนาต่ออีกประมาณ ๑๐ กว่าวัน แล้วจึงเดินทางกลับวัดบ้านจิกเพื่อจำพรรษา

เมื่อมาถึงวัดบ้านจิก ได้เล่าถวายให้พระอาจารย์อุ่นฟัง พระอาจารย์อุ่นก็ตอบว่า ผมก็ไปอยู่บ้านเขานะ แล้วเล่าเรื่องให้หลวงปู่ฟัง ความว่า ตอนที่สร้างที่พักบนต้นแสงเสร็จแล้ว ท่านได้นั่งพักและทำสมาธิอยู่บนเก้าอี้สนาม ปรากฏนิมิตเห็นผู้หญิงคนหนึ่งเดินตรงรี่เข้ามาหาท่าน ท่านจึงพูดว่า อย่าเข้ามานะ ผู้หญิงอย่าเข้ามานะ พร้อมทั้งได้ลุกขึ้นเพื่อจะไล่หญิงคนนั้นไป ปรากฏว่าเก้าอี้ที่ท่านนั่งบำเพ็ญภาวนาอยู่นั้นล้มลง จิตจึงถอนออกจากนิมิต

(หลวงปู่ได้อธิบายให้ฟังในภายหลังว่า หญิงคนที่ปรากฏในนิมิตนั้นเป็นรุกขเทวดาที่อาศัยอยู่ต้นแสง มาลองใจท่านทั้งสอง)


(มีต่อ ๔)

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 21 ม.ค. 2011, 20:30 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม)

รูปภาพ
พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม)


หลังจากออกพรรษา พระอาจารย์อุ่นจึงพาพระเณรออกธุดงค์ไปแถวบ้านม่วง บ้านปากดง บ้านผือ บ้านข้าวสาร พระพุทธบาทบัวบก บ้านนายูง บ้านค้อ ภูพาน ไปเรื่อยๆ แต่ละหมู่บ้านมีบ้านเรือนคน ๑๐ กว่าหลังคาเรือน เดินทางทั้งกลางวันและกลางคืนจนเห็นบ้านเมืองคน จึงปักกลดกลางป่า บนภูเขาก็มี พระทุกองค์ได้ตั้งใจฝึกปฏิบัติบำเพ็ญเพียรภาวนาอย่างจริงจังแบบเอาชีวิตเข้าแลก

มีอยู่คืนหนึ่ง ขณะปักกลดนั่งภาวนาอยู่บนภูเขาที่ตำบลบ้านม่วง ได้ยินเสียงพญางูใหญ่ขนาดลำตัวเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๐ นิ้ว ยาวประมาณ ๖ เมตร เลื้อยผ่านไปเสียงดังมาก เนื่องจากเกล็ดงูเสียดสีกับพื้นแล้วยังส่งเสียงร้องเรียกงูตัวเมียให้เลื้อยออกมาหากินพร้อมกัน งูทั้งสองตัวเลื้อยออกไปหากินด้วยกัน ทำให้เกิดเสียงดังมากกว่าเดิม พระเณรต่างหวาดกลัว ครั้นรุ่งเช้าจึงพากันไปมุงดูงูทั้งสองตัวที่นอนขดตัวอยู่ในถ้ำ

จากพฤติกรรมของงูนั้นทำให้นั่งภาวนาในคืนต่อมา เกิดธรรมะผุดขึ้นในใจถามว่า คนที่เคยบวชทำไมจึงสึก และตอบว่า คนส่วนใหญ่สึกเพื่อมีครอบครัว ถ้าไม่ต้องการมีครอบครัวจะสึกทำไม ถ้ายังอยากสึกให้ลองหาดูว่ามีผู้หญิงคนไหนบ้างที่ด่าผู้ชายไม่เป็น ถ้ามีก็ให้สึกไปมีครอบครัวได้ (ในใจหลวงปู่ปฏิเสธการมีครอบครัว เพราะหลวงปู่ถือเกียรติตัวเอง ไม่อยากให้ผู้หญิงมาด่า)

จากธรรมะที่เกิดขึ้นนี้ทำให้หลวงปู่รู้ว่า ตนเองยังมีทิฏฐิซึ่งเป็นกิเลสอย่างหนึ่ง จึงเร่งฝึกบำเพ็ญเพียรภาวนาและอบรมจิตใจตนเองมากขึ้น โดยพิจารณาอสุภกรรมฐาน ปลงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๖ ขณะเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ หลวงปู่เดินทางไปธุดงค์และจำพรรษาที่วัดบ้านงิ้วพึง ข้างสนามบินอุดรธานี (ปัจจุบันคือกองบินที่ ๒๓) หลังจากนั้นได้กลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านจิกอีกใน พ.ศ. ๒๔๘๗ ซึ่งครบกำหนด ๓ ปีตามที่ได้ตั้งสัจจะอธิษฐานไว้พอดี เมื่อทอดกายลงนอนในครั้งแรก รู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวทรมานมากเหมือนว่าธาตุขันธ์ร่างกายที่ทอดลงกับพื้นจะต้องแตกดับไปจากโลกนี้เลยทีเดียว ความรู้สึกเช่นนี้ก็เนื่องมาจากการที่หลวงปู่ไม่เคยได้เอนกายหรือทอดกายลงกับพื้น (เนสัชชิกธุดงค์) เลยตลอด ๓ ปี แต่แล้วหลังจากนอนหลับตื่นขึ้นมากลับพบว่าร่างกายสดชื่น สบายตัวและเดินเหินคล่องแคล่วขึ้น

ขณะพักอยู่กับพระอาจารย์อุ่นนั้น หลวงปู่มักจะได้รับความไว้วางใจจากพระอาจารย์อุ่นเสมอ บ่อยครั้งที่ท่านไม่อยู่ ได้มอบหมายให้หลวงปู่ปกครองดูแลพระในวัดแทน ซึ่งหลวงปู่เองก็ประหลาดใจว่าทำไมจึงเลือกหลวงปู่เป็นผู้ปกครองดูแล ทั้งๆ ที่ในวัดยังมีพระอาวุโสอีกหลายรูป

ต่อมาภายหลังหลวงปู่จึงได้ทราบจากการบอกเล่าของพระอาจารย์อุ่นว่า ในอดีตชาตินั้น หลวงปู่เคยเกิดเป็นกษัตริย์และพระอาจารย์อุ่นเป็นพระพี่เลี้ยง พร้อมทั้งมีหน้าที่เป็นควาญช้างของช้างพระที่นั่งของหลวงปู่ด้วย ในชาตินั้นพระอาจารย์อุ่นเคยตกจากหลังช้างได้รับบาดเจ็บจนเป็นแผลเป็นที่ขา และต่อมาป่วยเป็นอหิวาตกโรคจนเสียชีวิต มาในชาติปัจจุบันนี้ พระอาจารย์อุ่นก็มีรอยแผลเป็นที่ขามาแต่กำเนิดเช่นเดียวกับแผลเป็นที่ขาในอดีตชาติด้วย

สำหรับเรื่องนี้ พระอาจารย์อุ่นท่านได้อธิษฐานจิตขอทราบความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ระหว่างตัวท่านกับหลวงปู่ และด้วยอำนาจแห่งปุพเพกตปุญญตา (บุญที่ได้ทำร่วมกันมาแต่ปางก่อน) จึงทำให้ท่านระลึกรู้เห็นได้จากนิมิตในสมาธิ ซึ่งผู้ที่จะขอระลึกรู้ได้เช่นนี้จะต้องเป็นผู้มีบุญบารมีสร้างสมมามากเพียงพอ มิใช่บุคคลหนึ่งบุคคลใดก็จะขอระลึกรู้ได้ง่ายๆ

ประมาณพรรษาที่ ๙ พ.ศ. ๒๔๘๘ เกิดความวุ่นวายมากภายในวัดบ้านจิก มีการฟ้องร้องเจ้าอาวาสวัดบ้านจิก จนพระอาจารย์อุ่นเองก็ต้องหนีความวุ่นวายไปจำพรรษาที่อื่น หลวงปู่จึงต้องเป็นเจ้าอาวาสแทนโดยปริยาย ซึ่งหลวงปู่ไม่เคยคิดว่าจะได้ดำเนินงานหรือบริหารงานในวัดแทนท่านพระอาจารย์อุ่นเลย และหลวงปู่เองยังพลอยถูกฟ้องร้องด้วย อีกทั้งยังมีพระเถระผู้ใหญ่บางรูปไม่พอใจในตัวหลวงปู่ ทำให้หลวงปู่เกิดความท้อแท้ เพราะต้นเหตุแห่งปัญหาทั้งหลายก็ไม่ได้เกิดจากตัวหลวงปู่ หากแต่เกิดจากญาติโยมอุปัฏฐากเอง

หลวงปู่จึงตั้งจิตอธิษฐานขอทราบว่า ข้าพเจ้าเคยบำเพ็ญบุญบารมีอะไรมาบ้าง ทำไมจึงมีอุปสรรคมากมาย ในอดีตชาติข้าพเจ้าเคยบำเพ็ญเพียรปฏิบัติสิ่งใดมาบ้าง และข้าพเจ้าควรทำสิ่งใดเสริมเพิ่มบุญบารมีนั้น หลังจากอธิษฐานแล้วจึงจำวัด

ปรากฏว่าเกิดสุบินนิมิตเห็นพระพุทธรูปเป็นรูปปั้นดินวางอยู่บนพื้นทางด้านปลายเท้า หลวงปู่จึงถามว่า ทำไมจึงมาอยู่ที่พื้น มีเสียงตอบว่า พระพุทธรูปนี้จะมารักษาคุ้มครองท่าน

หลวงปู่จึงถามว่า ศักดิ์สิทธิ์ไหม ถ้าศักดิ์สิทธิ์ก็ขอให้แสดงฤทธิ์ แต่มีเสียงบอกว่า จะแสดงฤทธิ์ได้ ท่านต้องเป็นผู้บ่งบอก

(หมายความว่า ต้องบอกออกมาจากจิตหลวงปู่ รูปปั้นพระพุทธรูปนั้นเป็นเครื่องหมายแสดงว่าหลวงปู่ปรารถนาพุทธภูมิ และรูปปั้นวางอยู่ทางด้านปลายเท้า แสดงว่าหลวงปู่ยังต้องท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสารเพื่อบำเพ็ญเพียรสร้างบารมีอีกนาน ถ้าวางอยู่ที่ศีรษะย่อมหมายความว่าการบำเพ็ญเพียรบารมีใกล้สำเร็จสมความปรารถนา ดังนั้น ในชาตินี้หลวงปู่จึงต้องบำเพ็ญประพฤติปฏิบัติเสริมบารมีให้ต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุพุทธภูมิในอนาคตกาล)

หลังจากนั้นก็ตื่นขึ้นมา เมื่อทราบเช่นนี้แล้วหลวงปู่จึงปล่อยวางปัญหาและไม่ท้อแท้อีกต่อไป

ต่อมาในพรรษาเดียวกัน พระอาจารย์ซามา อาจุตฺโต ซึ่งเคยอยู่วัดบ้านจิกด้วยกันมาประมาณ ๒-๓ เดือนแล้วได้ย้ายไปอยู่วัดอัมพวัน บ้านไร่ม่วง อำเภอเมือง จังหวัดเลย ได้มานิมนต์หลวงปู่ให้ไปอยู่ด้วยกันที่วัดอัมพวัน จังหวัดเลย ซึ่งหลวงปู่ก็รับนิมนต์ ขณะอยู่ที่จังหวัดเลย ได้เดินจงกรมซึ่งเป็นกิจที่ประพฤติปฏิบัติประจำ

ปรากฏว่า วันหนึ่งขณะเดินจงกรมอยู่นั้น ได้นิมิตว่ามีหมีดำตัวใหญ่มากยกขาหน้าขึ้นทั้ง ๒ ข้าง คำรามเสียงดัง เดินเข้ามาหา หลวงปู่จึงเพ่งมองดูหมีตัวนั้น ปรากฏว่าหมีดำตัวนั้นก็สลายหายวับไป

คืนต่อมาอีก เกิดสุบินนิมิตเห็นเป็นเสือตัวใหญ่จะเข้ามาทำร้าย แต่หลวงปู่ไม่รู้สึกกลัว ได้แผ่เมตตาให้ เสือตัวนั้นก็จากไป สำหรับคืนสุดท้ายก่อนกลับมาจังหวัดอุดรธานี ได้สุบินนิมิตเห็นนางผีเสื้อน้ำหรือผีเสื้อสมุทร เป็นยักษ์ผู้หญิงเจ้าเล่ห์ เห็นครึ่งตัว มีปีกคล้ายผีเสื้อ มีที่อยู่อาศัยอยู่ในน้ำ มาหลอกล่อให้หลวงปู่ลงในน้ำซึ่งเป็นแหล่งของมัน มีเสียงในนิมิตบอกว่า อย่าเดินตามมันลงไปเหยียบหรือแตะถูกน้ำเป็นอันขาด เพราะท่านจะถูกทำร้ายและเป็นเหยื่อของมัน เนื่องจากมีคนต้องตายเพราะนางผีเสื้อยักษ์นี้มาแล้ว

รูปภาพ
คณะศิษย์พระป่ากรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต (จากซ้ายไปขวา)
๑. หลวงปู่ศรีจันทร์ วัณณาโภ วัดศรีสุทธาวาส จ.เลย (อายุ ๖๘ ปี)
๒. หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม จ.อุดรธานี (อายุ ๗๑ ปี)
๓. หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ จ.เลย (อายุ ๗๒ ปี)
๔. หลวงปู่หลุย จันทสาโร วัดถ้ำผาบิ้ง จ.เลย (อายุ ๗๒ ปี)
๕. หลวงปู่ซามา อาจุตฺโต วัดป่าอัมพวัน จ.เลย (อายุ ๖๘ ปี)



(มีต่อ ๕)

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 22 ม.ค. 2011, 07:44 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม)

รูปภาพ
พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม)


จากสุบินนิมิตเหล่านี้ทำให้หลวงปู่ทราบแล้วว่า เมื่อกลับมาจังหวัดอุดรธานีคราวนี้จะต้องมีเรื่องราวในวัดอีก ปรากฏว่าเมื่อกลับมาถึงก็มีเรื่องวุ่นวายมากมายเกิดขึ้นจริงๆ เช่น

เรื่องที่ ๑ โยมอุปัฏฐากหญิงกล่าวหาหลวงปู่ว่า นำเงินของวัดไปซื้อของโดยโม่ผ่านความเห็นชอบของวัด และต้องการให้ขับไล่หลวงปู่ออกจากวัด โดยให้พระลูกชายซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมเป็นผู้ยื่นฟ้องต่อพระเถระผู้ใหญ่ ถึงกับมีการประชุมคณะสงฆ์และกรรมการวัดเพื่อพิจารณาข้อกล่าวหาดังกล่าวที่มีต่อหลวงปู่ ผลที่สุดสรุปว่า โยมอุปัฏฐากหญิงคนนี้มีหน้าที่เก็บรักษาเงินอยู่แล้ว และพระลูกชายเป็นผู้เบิกจ่าย หลวงปู่เป็นพระป่าสายกัมมัฏฐานไม่เคยหยิบจับเงินทองเลย เพราะฉะนั้นการใช้จ่ายเงิน ไม่ว่าจะเป็นการนำเงินไปใช้ในกิจการใดๆ ก็ตาม ย่อมต้องขึ้นอยู่กับโยมอุปัฏฐากหญิงคนนั้นโดยตรง ข้อกล่าวหานี้จึงเป็นอันตกไป

(ตรงกับสุบินนิมิตเรื่องนางผีเสื้อน้ำเจ้าเล่ห์ และหมีดำนั้นเปรียบเหมือนพระลูกชาย ซึ่งเป็นพระที่หลวงปู่บวชให้เอง แต่กลับมาฟ้องหลวงปู่ตามคำสั่งแม่)

เรื่องที่ ๒ เกิดจากพระอาวุโสในวัดอยากเป็นเจ้าอาวาส และมีความรู้สึกเกรงว่าหลวงปู่จะได้เป็นเจ้าอาวาสแทนพระอาจารย์อุ่นซึ่งหนีความวุ่นวายไปจำพรรษาที่วัดอื่นแล้ว เนื่องจากตลอดเวลาที่ผ่านมา หลวงปู่ได้รับความไว้วางใจจากพระอาจารย์อุ่นและได้ช่วยดูแลบริหารงานในวัดบ่อยๆ ทั้งๆ ที่ตัวหลวงปู่เองไม่เคยคิดที่จะเป็นเจ้าอาวาสเลย พระอาวุโสองค์ดังกล่าวเป็นญาติกับเสือหิงและเสือแหง ซึ่งเป็นโจรที่ขึ้นชื่อลือชาในยุคนั้น แม้แต่ตำรวจสมัยนั้นยังต้องกลัวเสือทั้งสองคนนี้ พระอาวุโสท่านนั้นได้ว่าจ้างเสือหิงกับเสือแหงให้มาลอบฆ่าหลวงปู่ แต่ด้วยเดชะบุญบารมีที่หลวงปู่ได้สร้างสมมา จึงทำให้หลวงปู่คลาดแคล้วจากการถูกยิงของเสือหิงและเสือแหงที่มาแอบซุ่มตัวยิงหลวงปู่ที่ประตูวัด กล่าวคือ ถ้าเสือหิงและเสือแหงมาแอบซุ่มตัวที่ประตู ๑ หลวงปู่ก็บังเอิญเดินออกไปทางประตู ๒ ครั้นเสือทั้งสองไปซุ่มยิงที่ประตู ๒ ก็ให้บังเอิญที่หลวงปู่เดินเข้าประตู ๑ เวลาต่อมาพระอาวุโสที่จ้างวานเสือทั้งสองก็เกิดล้มป่วยหนัก หลวงปู่ได้เอาใจใส่ดูแลรักษาเป็นอย่างดี พระอาวุโสองค์นั้นจึงเปลี่ยนใจเลิกคิดปองร้ายหลวงปู่

เรื่องราวที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ หลวงปู่ทราบก็เพราะว่าหลังจากเรื่องร้ายได้คลี่คลายลงแล้ว พระอาวุโสองค์นี้ได้เดินทางออกจากวัดบ้านจิกไปลาสิกขาที่จังหวัดเชียงใหม่ สามเณรที่เคยติดตามพระองค์นั้นจึงได้เล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟังอีก อีกทั้งหลวงชาญฯ ก็เคยเตือนหลวงปู่เป็นนัยๆ ว่า อย่าไปไหน ให้อยู่แต่ในกุฏิ

(เรื่องนี้ตรงกับนิมิตที่ว่ามีเสือตัวใหญ่จะมาทำร้ายท่าน)

จากเหตุการณ์ที่เกิดกับหลวงปู่ครั้งนี้ เป็นคติสอนใจพวกเราว่า ถ้ามีคนมุ่งร้ายต่อเรา เราต้องทำดีตอบ แผ่เมตตาให้เขา อย่าได้อาฆาตจองเวรตอบ แล้วผลสุดท้ายร้ายก็จะกลายเป็นดี

หลวงปู่รู้สึกเบื่อหน่ายต่อปัญหาที่เกิดขึ้นมาก จึงหนีไปจำพรรษาที่วัดบ้านโป่ง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่มั่นเคยมาจำพรรษา แต่ขณะที่หลวงปู่เดินทางมาถึงนั้น เป็นเวลาเดียวกับที่หลวงปู่มั่นได้เดินทางกลับไปจำพรรษาที่จังหวัดสกลนครแล้ว จึงไม่ได้พบกัน ต่อมา ร.ต.ท.ขุนรัฐกิจบรรหาร และคณะชาวบ้าน ได้นิมนต์หลวงปู่กลับมาวัดบ้านจิกอีก แต่ปรากฏว่าเรื่องวุ่นวายต่างๆ ก็ยังไม่สงบ หลวงปู่จึงตัดการรับนิมนต์

ขณะจำพรรษาที่วัดบ้านโป่งนี้ หลวงปู่ได้บำเพ็ญความเพียรโดยถือเนสัชชิกธุดงค์ คือ อดนอน ถืออิริยาบถ ๓ คือ ยืน เดิน นั่ง เท่านั้น พร้อมทั้งเพิ่มความเพียรด้วยการอดอาหารอีกเป็นเวลา ๓ เดือน โดยฉันเฉพาะผักผลไม้และน้ำเท่านั้น ทำให้ชาวบ้านละแวกนั้นร่ำลือกัน จนกระทั่งครั้งหนึ่งหลวงปู่ได้ไปนมัสการ หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ที่วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ หลวงปู่แหวนทักขึ้นว่า ท่านคือพระอาจารย์ถิรที่อดนอน ๓ เดือนหรือ เมื่อไรจะกลับมาจำพรรษาที่เชียงใหม่อีก

หลวงปู่ตอบว่า คงไม่ได้มาแล้ว

รูปภาพ
หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ


ขณะที่จำพรรษาอยู่ที่เชียงใหม่ ในปีนั้นเกิดนิมิต ๓ เรื่อง แต่เป็น ๒ ธรรมะ คือ

นิมิตที่ ๑ เกิดธรรมขึ้นก่อนว่า ธรรมดาผู้บำเพ็ญเพียรภาวนาจะต้องสละชีพแล้ว เปรียบเสมือนนักกระโดดร่ม จากนั้นจึงเกิดนิมิตเห็นตัวเองนั่งอยู่ในเครื่องบิน แล้วท้องเครื่องบินเปิดออก ตัวหลวงปู่ก็ลอยออกมาอยู่กลางอากาศในร่มชูชีพ แต่ไม่รู้สึกกลัวเพราะได้คิดสละชีวิตแล้ว เหมือนนักกระโดดร่มที่ต้องเสี่ยงตาย เมื่อไม่รู้สึกกลัว ตัวจะเบาล่องลอยต่อไปได้

นิมิตที่ ๒ ในนิมิตนั้น หลวงปู่ได้เดินไปตามท้องน้ำที่โล่งๆ กว้างๆ (หมายถึงพื้นที่มีน้ำเจิ่งนอง) ปรากฏเห็นบ่อน้ำ เมื่อก้มมองดูบ่อน้ำ ก็ตกลงไปยืนอยู่กลางบ่อน้ำ จึงนึกรู้ขึ้นมาว่า ก้นบ่อนั้นลึกเพียงใดเราก็สามารถเอาลำไม้ไผ่หยั่งวัดความลึกได้ แต่จิตใจของเราจะเอาอะไรมาวัดได้ ดังนั้น หลวงปู่จึงปล่อยจิตให้ดิ่งลงไปเรื่อยๆ จนเห็นจิตของตนเอง ทำให้ระลึกรู้ว่าเราจะหยั่งจิตได้ ต้องใช้จิตเท่านั้นจึงจะหยั่งจิตได้

นิมิตที่ ๓ หลังจากนั้นมาจวนใกล้ออกพรรษา เกิดนิมิตเห็นพระเถระองค์หนึ่งที่มรณภาพไปแล้วที่วัดนี้ ได้นำน้ำใส่ในกระบอกของชาวเหนือมาถวายหลวงปู่ โดยนำน้ำนั้นมาป้อนที่ปากหลวงปู่ ปรากฏว่าเมื่อน้ำกระทบริมฝีปาก หลวงปู่ก็รู้สึกตัว จิตจึงถอนออกจากการภาวนา แล้วนึกในใจว่าจวนจะออกพรรษาแล้ว ท่านพระเถระจึงมีเมตตามาโปรดเราหนอ (เป็นการให้กำลังใจและความเย็นใจแก่หลวงปู่)

ออกพรรษาแล้ว พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้เดินทางกลับมาวัดบ้านจิก และได้นิมิตเห็นเกี่ยวกับอดีตชาติของตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับนิมิตเกี่ยวกับอดีตชาติที่ท่านพระอาจารย์อุ่นเคยเล่าให้ฟัง โดยเห็นตัวท่านเองแต่งกายด้วยเครื่องทรงของกษัตริย์ สวมมงกุฎกษัตริย์และเสื้อผ้าพัสตราภรณ์ของกษัตริย์ แต่ภายใต้ชุดเสื้อผ้าพัสตราภรณ์ของกษัตริย์นั้น ได้ครองผ้ากาสาวพัสตร์ของพระอยู่ภายใน

ขณะนั้นหลวงปู่กำลังนั่งสมาธิอยู่ จู่ๆ ก็มีชายร่างใหญ่คนหนึ่งเดินมาจูงมือให้ลุกขึ้นยืนและพาเดินไป หลวงปู่ก็เดินตามชายคนนั้นไปจนเข้าไปในเขตพระราชฐานแห่งหนึ่ง และได้เดินขึ้นไปบนชั้นสองของตัวอาคาร

เมื่อทอดสายตามองดูไปรอบๆ จึงเห็นว่าพื้นห้องนั้นสกปรกเลอะเทอะไปด้วยฝุ่นละอองและโคลนตม จึงเกิดความรู้สึกกลัวว่าชุดที่สวมใส่จะเลอะเทอะเปรอะเปื้อน หลวงปู่ได้ก้มลงตรวจดูร่างกายตนเอง ได้พบว่าเท้าและเสื้อผ้ายังสะอาดเรียบร้อยดี สิ่งสกปรกทั้งหลายไม่ได้แปดเปื้อนตัวหลวงปู่เลย หลวงปู่จึงหันหลังกลับเดินลงบันไดมา

ในขณะนั้นไม่ทราบว่าชายร่างใหญ่ที่พาหลวงปู่มานั้นได้หายไปไหน แต่หลวงปู่ได้พบกับเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลสถานที่แห่งนั้น เดินตรงรี่เข้ามาหาและถามว่า เข้ามาทำไม ไม่ทราบหรือนี่คือเขตหวงห้าม

หลวงปู่ได้ตอบไปว่า เราไม่ได้เป็นคนต้องการเข้ามา แด่มีคนพาเรามา ถ้าท่านจะทำอะไรก็ทำไปเถิด เพราะเราได้เข้ามาแล้ว

ขณะที่โต้ตอบไปนั้น ในใจไม่ได้เกิดความกลัวแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่คนนั้นจึงได้ยกไม้กระบองขึ้นมาตีหลวงปู่ ขณะที่ไม้กระบองจะกระทบถูกตัว ไม้กระบองได้กลับกลายเป็นพัชนีโบกพัดให้หลวงปู่เย็นสบาย

(นิมิตนี้หลวงปู่อธิบายให้ฟังว่า การที่หลวงปู่เดินไปบนพื้นที่เต็มไปด้วยฝุ่นละออง มีโคลนตมที่สกปรก แต่สิ่งสกปรกเหล่านี้ไม่อาจเกาะติดเครื่องทรงได้นั้น หมายความว่า ต่อไปในภายหน้าหลวงปู่จะต้องได้พบกับมนุษย์ที่เต็มไปด้วยกิเลส แต่เมื่อหลวงปู่มีศีลบริสุทธิ์ กิเลสเหล่านั้นก็จะไม่อาจกล้ำกรายได้ และที่ทรงชุดกษัตริย์ซ้อนทับสบงจีวร หมายความว่า ในอดีตชาติหลวงปู่เคยเป็นกษัตริย์ที่ได้ออกบวชมาแล้ว)


(มีต่อ ๖)

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 23 ม.ค. 2011, 15:53 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม)

รูปภาพ
พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม)


พรรษาต่อมา พ.ศ. ๒๔๙๐ ปรากฏว่ามีญาติโยมมาเรียนถามหลวงปู่ว่า ท่านอาจารย์เป็นพระกัมมัฏฐาน นั่งภาวนาขนาดนี้ ทำไมไม่เห็นเลขเห็นเบอร์ (หวย) มาบอกญาติโยมบ้าง ซึ่งจริงๆ แล้วหลวงปู่ไม่เคยพิจารณาถึงเรื่องนี้เลย จากคำถามนี้ หลวงปู่จึงมาพิจารณาดูและรู้ว่า ขณะที่ภาวนาอยู่นั้นหลวงปู่ได้ปิดอายตนะทั้งหก ไม่รับรู้เรื่องราวต่างๆ ของทางโลก จิตจึงสงบ โดยจิตอยู่กับจิต ถ้าส่งจิตออกไปเปิดอายตนะทั้งหกเพื่อหาสิ่งที่คนนิยม (หวยเบอร์) เรียกว่า วัตถุกาม นั้น ก็จะสามารถรู้ได้ แต่ถ้ากำหนดจิตให้อยู่ที่จิตก็จะไม่รู้เกี่ยวกับวัตถุกาม กิเลสกาม

หลวงปู่จึงอธิษฐานจิตขอให้ทราบว่า การนิมิตเห็นเลขหวยนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา หรือไม่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา

ปรากฏนิมิตเห็นสองสามีภรรยาไม่มีลูก นั่งเกวียนมาคนละเล่ม โดยมีวัว ๒ ตัวเทียมเกวียนแต่ละเล่มมา เพื่อจะนำสิ่งของไปแลกเอาฝ้าย แล้วก็แลกได้เต็มเกวียนคนละเล่ม จำนวนฝ้ายที่ได้มานั้นใช้ได้ปีเดียวก็หมด ในขณะที่นั่งเกวียนไปนั้น ที่หัวเกวียน (ซานเกวียน) มีกระสอบบรรจุเงินเต็มกระสอบ บนกระสอบมีข้อความเขียนไว้ว่า ห้ามเปิด จะเปิดได้เมื่อไม่มีคนเท่านั้น แล้วนั่งเกวียนต่อไป จนถึงเวลากลับ จึงเดินทางกลับตามเส้นทางเดิม ระหว่างเดินทางกลับนั้น มีป้ายลอยลงมาจากกลางอากาศ บนป้ายนั้นมีข้อความเขียนว่า ห้ามคนทุจริตและสุจริต หมายความว่า ห้ามบอกทั้งคนดีและคนไม่ดี เมื่อออกจากนิมิตจึงรู้ว่าไม่ใช่ทางที่ถูกต้องและไม่ใช่ทางที่ผ่องใส

จากนั้นหลวงปู่จึงอธิษฐานจิตว่า ถ้าหากข้าพเจ้ามีบุญบารมี ขอให้ผู้ที่เคารพและนับถือข้าพเจ้าได้รู้ด้วยตนเองว่าข้าพเจ้าไม่ยุ่งเกี่ยวกับวัตถุกามเหล่านี้ ขอให้ข้าพเจ้าได้รู้ถึงวาระจิตของผู้อื่นที่มาหาได้ และขอให้ผู้อื่นได้รู้ถึงบุญบารมีที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญเพียรสร้างมาด้วยเถิด

ใน พ.ศ. ๒๔๙๑ มีการจัดงานฉลองโบสถ์ (เก่า) พระอาจารย์อุ่นได้กลับมาร่วมงานฉลองนี้ด้วย หลวงปู่จึงกล่าวกับพระอาจารย์อุ่นว่า ท่านอาจารย์ช่วยกำหนดจิต ดูจิตผมด้วยว่าเป็นอย่างไร

เมื่อพระอาจารย์อุ่นกำหนดจิตแล้วจึงพูดขึ้นว่า น้ำกลางแก้วดูใส แต่น้ำที่อยู่ขอบริมแก้วจะมองเห็นฝุ่นผงสกปรกเกาะติด

ซึ่งคำพูดนี้ หลวงปู่ได้อธิบายความหมายให้ฟังว่า ถ้าหลวงปู่จิตสงบแล้วจิตจะอยู่ที่จิต ทำให้รู้สึกปลอดโปร่งแจ่มใสเหมือนน้ำกลางแก้ว ถ้าหากถอนจิตออกมาก็จะประสบกับอารมณ์ต่างๆ รอบด้าน โดยต้องเกี่ยวข้องกับมนุษย์หลายประเภท เมื่อไปรับรู้ถึงสิ่งต่างๆ ก็จะทำให้จิตขุ่นมัวได้ ซึ่งหลวงปู่จะพบกับความวุ่นวายภายในวัดบ้านจิกอีก ดังจะได้กล่าวต่อไป

รูปภาพ
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

รูปภาพ
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


ใน พ.ศ. ๒๔๙๓ ขณะจำพรรษาที่วัดบ้านจิก ได้นิมิตเห็น หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต มาที่กุฏิ (ขณะนั้นยังไม่ได้สร้าง แต่ในนิมิตจะเห็นพื้นกุฏิเป็นไม้มะค่า) จึงเดินเข้าไปกราบนมัสการหลวงปู่มั่น เมื่อเงยหน้าขึ้น ก็พบว่าใกล้ๆ หลวงปู่มั่น มี หลวงปู่ฝั้น อาจาโร นั่งอยู่ด้วย หลวงปู่จึงกล่าวกับหลวงปู่มั่นว่า กระผมขอปฏิบัติท่าน แต่หลวงปู่ฝั้นได้กล่าวตอบแทนหลวงปู่มั่นว่า ไม่ต้องปฏิบัติหรอก ให้ท่านปฏิบัติตามหน้าที่ของท่านเถิด (หน้าที่ หมายถึงความปรารถนาในการสร้างเสริมบุญบารมีต่อจากอดีตชาติของหลวงปู่ซึ่งหลวงปู่ได้ปรารถนาพุทธภูมิ)

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๙๔ หลวงปู่ได้นิมิตเห็น หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ซึ่งกำลังจะเดินทางไปจำพรรษาที่จังหวัดภูเก็ต ในนิมิตหลวงปู่เทสก์กล่าวว่า ต่อไปท่านจะได้สร้างโบสถ์ใหญ่เท่าวัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ หลวงปู่บ่นว่า เบื่อหน่ายที่จะสร้างอีก ในนิมิตนั้น หลวงปู่ได้ตั้งจิตอธิษฐานขอเห็นรูปทรงโบสถ์ (ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๒๖ หลวงปู่จึงได้สร้างโบสถ์จริงๆ ตามแบบโบสถ์ที่เห็นในนิมิต คือวัดบ้านจิกทุกวันนี้เอง)

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ ก็ยังคงจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านจิก หลวงปู่นิมิตเห็นตนเองยืนอยู่ในศาลากลางป่า สวมชุดคล้ายชุดเทวดา คือ ชุดสีขาวทำด้วยผ้าโปร่งบางเหมือนเสื้อครุยที่นักศึกษาสวมใส่เมื่อรับปริญญา ในใจรู้สึกเสียดายเพศพรหมจรรย์ที่ได้บำเพ็ญเพียรประพฤติปฏิบัติมาเป็นอย่างยิ่ง จึงถามตัวเองว่า ทำไมจึงสึก และตอบเองว่า จำใจสึก ในนิมิตนั้นได้คิดวิเคราะห์และโต้ตอบกับตัวเองเป็นข้อๆ ว่า

การสึกครั้งนี้ไม่มีใครรู้ใครเห็น พรหมจรรย์ของเราก็บริสุทธิ์อยู่ แต่ตามระเบียบสังฆาณัติ เมื่อสึกแล้วถ้าคิดจะบวชอีก คงต้องแอบบวชแบบไม่มีอุปัชฌาย์ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องมีอุปัชฌาย์ เพราะเรามีพรหมจรรย์

ถ้าบวชอีกก็เท่ากับว่าเราบวชใหม่ แต่เราเคยเป็นเจ้าอาวาส เจ้าอาวาสคืออะไร คือผู้สอนตนเองได้และอยู่ในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เป็นตัวของตัวเอง ตำแหน่งเจ้าอาวาสที่มีคนแต่งตั้งนั้นไม่มีความหมาย เป็นแต่เพียงผู้ปกครองคนอื่นเท่านั้น เจ้าอาวาสที่แท้จริงนั้นคือสามารถปกครองตัวเองได้

เราเคยเป็นอาจารย์ ถ้าบวชใหม่ก็จะเป็นได้แค่พระนวกะ แต่อาจารย์คืออะไร อาจารย์ที่แท้จริงก็คือ เราต้องสามารถสั่งสอนตนเองได้ ประพฤติปฏิบัติตนเองได้ และอยู่ในโอวาทของพระพุทธเจ้า

บวชใหม่เป็นพระนวกะ จะเป็นพระอาวุโสไม่ได้ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เป็นปัญหาใดๆ สำหรับตัวเรา เพราะเราตั้งมั่นอยู่ในธรรม ในวินัยของพระพุทธเจ้า เราเป็นผู้ใหญ่ในธรรม ไม่ได้เอากิเลสเป็นใหญ่

ถ้าอย่างนั้นเราจะทำอย่างไรดี


มีคำตอบว่า ไม่ยาก ขอให้มีสงฆ์เป็นพยาน

คิดอย่างนั้นแล้วก็ปรากฏโต๊ะหมู่บูชาขึ้นตรงหน้า และมีอาสนะสงฆ์ ๔ ที่ แต่มีพระสงฆ์ (พระเถระ) ๓ รูปนั่งอยู่ จึงยังมีอาสนะว่างอยู่ ๑ ที่ ใกล้ๆ โต๊ะหมู่บูชา หลวงปู่จึงก้มลงกราบ ๓ ครั้งนี้แล้วยืนขึ้น เสื้อชุดสีขาวเหมือนชุดเทวดาก็อันตรธานหายไป กลับกลายเป็นจีวรพระครองร่างท่านอยู่ เปรียบเสมือนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา (หมายถึงการบวชโดยพระพุทธเจ้า ดังในพุทธประวัติโดยพระพุทธเจ้าทรงเปล่งวาจาว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว)

จากนั้นหลวงปู่เดินไปที่คณะสงฆ์พระเถระเหล่านั้นแล้วกล่าวว่า ผมบวชใหม่จะขอนั่งข้างหลัง พระเถระบอกว่า เชิญท่านนั่งข้างหน้าเถิด แล้วจิตของหลวงปู่จึงถอนออกจากนิมิต

การนิมิตในครั้งนี้ หลวงปู่ยังไม่อาจแปลความหมายได้ว่าจะเป็นนิมิตบอกเหตุอันใด ตราบจนกระทั่งเหตุการณ์ผ่านมานานประมาณ ๓๕ ปี คือ ปี พ.ศ. ๒๕๓๑ จึงทราบความจริงของความหมายในนิมิตนั้นว่า คือ การที่ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งซึ่งมีที่ดินติดกับวัดได้ฟ้องร้องต่อศาลว่า วัดบ้านจิกรุกล้ำที่ดินของพวกเขา ทางเจ้าหน้าที่จึงนิมนต์หลวงปู่ขึ้นศาลในฐานะเป็นเจ้าอาวาส หลวงปู่จึงต้องขึ้นศาลอาญาของทางโลก ซึ่งความเป็นจริงแล้วข้อกล่าวหานี้ควรจะเป็นคดีทางแพ่งเท่านั้น ไม่รุนแรงถึงขั้นอาญา หลวงปู่ไม่ได้สึกออกจากเพศบรรพชิตเพราะหลวงปู่ไม่ได้มีความผิดใดๆ ที่จะต้องถูกจับสึก ดังนั้น เมื่อถูกซักถามในศาล หลวงปู่จึงไม่ยอมให้การใดๆ ทั้งสิ้น เพราะหลวงปู่ไม่ใช่จำเลย ที่ดินวัดนั้นเป็นของสงฆ์ ไม่ใช่ของเจ้าอาวาส ตัวหลวงปู่มีเพียงแค่อัฐบริขาร ๘ เท่านั้น อีกประการหนึ่ง ฆราวาสไม่มีสิทธิ์ที่จะมาซักฟอกหรือพิจารณาโทษท่านได้ เพราะตามหลักปฏิบัติแล้ว ถ้าจะพิจารณาโทษของหลวงปู่ก็จะต้องขึ้นศาลสงฆ์เท่านั้น คดีนี้ ในที่สุดเมื่อศาลพิจารณาเอกสารโฉนดที่ดินแล้ว สรุปว่ายกฟ้อง เพราะวัดไม่ได้รุกล้ำที่ของชาวบ้านดังที่พวกเขากล่าวหา


(มีต่อ ๗)

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 24 ม.ค. 2011, 10:35 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม)

รูปภาพ
หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓


ครั้นถึง พ.ศ. ๒๕๑๒ หลวงปู่อายุได้ ๕๑ ปี หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ได้เดินทางมาหาโดยไม่รู้จักกันมาก่อน หลวงปู่ชอบมาขอร้องให้ช่วยสร้างที่เก็บน้ำรูปทรงสี่เหลี่ยม ขนาดกว้างประมาณ ๔ เมตร ยาว ๘ เมตร ลึก ๒ เมตร ซึ่งหลวงปู่คิดว่าช่างฝีมือมีมากมายทำไมจึงไม่ไปว่าจ้าง กลับมาบอกพระด้วยกันให้ไปสร้างให้ แต่ถ้าเราเคยมีบุญบารมีร่วมกันก็จะสร้างให้

ปรากฏว่าเมื่อหลวงปู่สร้างที่เก็บน้ำสำเร็จแล้ว หลวงปู่ชอบจึงขอร้องให้สร้างโบสถ์ วัดป่าสัมมานุสรณ์ อีก ซึ่งหลวงปู่ก็สร้างได้สำเร็จ เป็นโบสถ์กลางน้ำ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลวงปู่ถิรและหลวงปู่ชอบจึงมักจะไปไหนมาไหนด้วยกันเสมอ เคยได้รับนิมนต์ไปกรุงเทพฯ เชียงใหม่ สมุทรปราการ ด้วยกันหลายครั้ง

จวบจนกระทั่งหลวงปู่ชอบขาเจ็บเดินไม่ได้แล้ว แต่ท่านก็มักจะเดินทางมาเยี่ยมเยียนหลวงปู่อยู่เสมอ ทำให้ลูกศิษย์ของหลวงปู่ทั้งสอง รวมทั้งชาวจังหวัดอุดรธานี มีโอกาสได้กราบไหว้พระอริยสงฆ์ทั้งสองรูป นับเป็นบุญและเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่ได้กราบไหว้ท่านอย่างยิ่ง

ประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๕ ขณะสร้างโบสถ์กลางน้ำที่วัดป่าสัมมานุสรณ์ (วัดที่หลวงปู่ชอบจำพรรษาอยู่ก่อนที่จะย้ายไปอยู่ที่วัดโคกมน) อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย จวนเสร็จแล้ว หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านนาข่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ปรารถนาจะสร้างโบสถ์ และได้นิมิตเห็นว่ามีเทวดาสวมชุดขาวและสวมชฎาเหมือนมงกุฎกษัตริย์ มาอุ้มท่านเหาะขึ้นไปบนยอดเขาสูงซึ่งมีปราสาทสวยงามมาก ก่อนที่จะเข้าไปในปราสาท หลวงปู่ตื้อขอล้างเข้าก่อน แต่พอเท้าแตะถูกน้ำที่ใสเย็น ท่านก็สะดุ้งตื่นจากนิมิต ท่านจึงได้นั่งพิจารณานิมิตและทราบว่าจะสร้างโบสถ์นี้สำเร็จได้ต้องมีพระองค์หนึ่งมาช่วยสร้าง แต่พระองค์ไหนหนอจะมาช่วยสร้าง เมื่อพิจารณาต่อไปจึงทราบว่า พระที่จะมาช่วยสร้างนั้นจะจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านจิก จังหวัดอุดรธานี ท่านจึงให้ลูกศิษย์มานิมนต์ หลวงปู่ถิร ทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน โดยสั่งลูกศิษย์ว่า ให้ไปนิมนต์พระอาจารย์สิงห์ หรือ สิม นี่แหละนะ ไม่ทราบชื่อแน่ชัด จำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านจิก จังหวัดอุดรธานี บอกกับท่านว่า หลวงปู่ตื้อที่จำพรรษาอยู่วัดป่าบ้านนาข่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม เป็นเวลา ๒ พรรษาแล้ว อยากสร้างโบสถ์ ขอนิมนต์ท่านอาจารย์ไปพบด้วย

รูปภาพ
หลวงปู่ชอบ ฐานสโม

รูปภาพ
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม

รูปภาพ
พระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต


ลูกศิษย์ของหลวงปู่ตื้อจึงมาพบและนิมนต์หลวงปู่ถิรตามความต้องการของหลวงปู่ตื้อ ซึ่งในช่วงเวลานั้นพอดีมีญาติโยมชาวจังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีโยมกุ้ยกิ่มจะนำผ้าป่าไปทอดที่วัดหลวงปู่ตื้อ หลวงปู่จึงได้เดินทางไปพบหลวงปู่ตื้อโดยไปพร้อมกับคณะทอดผ้าป่าคณะนี้ ซึ่งมีทั้งญาติโยมที่เป็นฆราวาสและพระสงฆ์ ซึ่งมี พระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต อยู่ในคณะสงฆ์กลุ่มนี้ด้วย

ก่อนวันที่หลวงปู่จะเดินทางไปกับคณะผ้าป่านี้ หลวงปู่ตื้อได้นิมิตเห็นเครื่องบินบินผ่านมา ในนิมิตนั้น หลวงปู่ตื้อหยิบปืนที่อยู่ข้างตัวขึ้นมาหมายใจว่าจะยกขึ้นยิงเครื่องบิน เพราะสมัยนั้นมีสงครามระหว่างเวียดนามกับสหรัฐอเมริกา เครื่องบินมักจะบินผ่านเมืองเพื่อไปทิ้งระเบิดที่เวียดนามเป็นประจำ เมื่อยกปืนขึ้นมาแล้วเตรียมยิง ปรากฏว่ามองเข้าไปในเครื่องบินลำนั้น กลับได้ยินเสียงบอกว่า มีพระปัจเจกโพธิพระอรหันต์เจ้าอยู่ข้างใน จึงรำพึงว่า เราเกือบยิงพระปัจเจกโพธิแล้ว จึงวางปืนลง กลับพบว่าปืนที่ถือนั้นคือหางปลากระเบน

ครั้นรุ่งขึ้นวันต่อมา เมื่อหลวงปู่กับคณะทอดผ้าป่าเดินทางมาถึง หลวงปู่ตื้อจึงเล่าให้หลวงปู่ฟังถึงนิมิตและบอกว่า พระปัจเจกโพธิพระอรหันต์เจ้าจะมาช่วยสร้างโบสถ์ให้แล้ว (พระปัจเจกโพธิ หมายถึง พระผู้ซึ่งบำเพ็ญเพียรตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แต่ไม่ปรารถนาที่จะเป็นศาสดาก่อตั้งศาสนาเพื่อสั่งสอนผู้ใด ส่วน พระอรหันต์ หมายถึง พระสาวกของพระพุทธเจ้าที่บำเพ็ญเพียรปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจนหมดสิ้นกิเลสอาสวะและถึงซึ่งพระนิพพานในที่สุด)

เมื่อหลวงปู่ทราบเจตนาของหลวงปู่ตื้อแล้วจึงบอกกับหลวงปู่ตื้อว่า ถ้าเรามีบุญบารมีร่วมกันมาแต่ปางก่อนก็คงจะร่วมกันสร้างโบสถ์นี้ได้สำเร็จ และในการสร้างโบสถ์นี้ขอมีข้อแม้ ๒ ประการ คือ

ประการที่หนึ่ง ห้ามจัดทำเหรียญหรือวัตถุมงคลออกจำหน่ายเพื่อหาเงินเข้าวัด

ประการที่สอง ห้ามจัดงานมหรสพหาเงินเข้าวัด

ถ้าไม่ได้ตามข้อแม้ดังกล่าวนี้ก็จะไม่ช่วยสร้างโบสถ์

เมื่อหลวงปู่ตื้อทราบแล้วก็ตกลงตามที่ขอ จึงเตรียมการที่จะสร้างโบสถ์ต่อไป

หลังจากนั้นหลวงปู่ตื้อกับหลวงปู่จึงได้พบกันบ่อยครั้ง และทุกครั้งก่อนที่หลวงปู่จะไปพบหลวงปู่ตื้อ หลวงปู่ตื้อก็มักจะเกิดนิมิตล่วงหน้าเสมอ เช่น ครั้งหนึ่งหลวงปู่ตื้อได้นิมิตไปว่า ตัวท่านเองได้เดินรอบโบสถ์ที่สร้างเสร็จแล้ว (ในความเป็นจริงขณะนั้นเพิ่งจะเริ่มมีการก่อสร้างโบสถ์เท่านั้น) ท่านได้ยินเสียงบอกท่านว่า มีพระบุญฤทธิ์มาสร้างโบสถ์จึงจะสำเร็จ ท่านจึงเดินรอบโบสถ์นั้นเพื่อมองหาพระบุญฤทธิ์ แต่ก็หาไม่พบ เมื่อมองเข้าไปในโบสถ์ จึงเห็นพระบุญฤทธิ์นั่งอยู่กลางโบสถ์ และก็ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นหลวงปู่ก็เดินทางมาพบท่าน ท่านจึงเล่าเรื่องนิมิตให้หลวงปู่ฟัง และกล่าวว่าพระบุญฤทธิ์เท่านั้นที่จะสร้างโบสถ์ให้สำเร็จได้

อีกครั้งหนึ่ง หลวงปู่ตื้อได้นิมิตเห็นม้ามณีกาบ (ม้าสีขาว มีปีก บินได้) บินอยู่ในอากาศ ท่านจึงคว้าจับบังเหียนไว้ แล้วเอาเท้าเหยียบที่ขาหลังของม้าเพื่อดันตัวเองให้ขึ้นนั่ง แต่ปรากฏว่าพยายามหลายครั้งก็ไม่สามารถขึ้นนั่งบนหลังม้าได้สำเร็จ ดังนั้น เมื่อหลวงปู่เดินทางมาถึงท่านจึงเล่านิมิตให้หลวงปู่ฟัง หลวงปู่จึงพูดว่า ท่านอาจารย์ เราเคยเป็นญาติกัน ถ้าอาจารย์เป็นพี่ก็คงจะขี่ม้ามณีกาบได้ ถ้าเป็นน้องคงขี่ไม่ได้ แล้วหลวงปู่ทั้งสององค์ต่างก็หัวเราะพร้อมกัน

หลังจากนั้นอีกไม่นาน หลวงปู่ตื้อได้บอกหลวงปู่ถิรว่า ช่วยรีบสร้างโบสถ์ให้เสร็จเร็วๆ ด้วย เพราะขณะนี้เหล่าเทวดามานิมนต์แล้ว ๔๐๐ องค์ แต่มนุษย์มานิมนต์เพียง ๒๐๐ คน คงต้องมรณภาพในเวลาอันใกล้นี้ หลวงปู่จึงเร่งก่อสร้างโบสถ์วัดป่าบ้านนาข่า แต่การสร้างโบสถ์ต้องใช้เวลา จึงสร้างเสร็จหลังจากที่หลวงปู่ตื้อมรณภาพไปแล้ว ซึ่งหลวงปู่ก็ได้เป็นประธานจัดงานฌาปนกิจศพหลวงปู่ตื้อด้วย


(มีต่อ ๘)

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 25 ม.ค. 2011, 08:14 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม)

รูปภาพ
โบสถ์กลางน้ำ “วัดป่าสัมมานุสรณ์” บ้านโคกมน ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย
ซึ่งเป็นความสามารถและผลงานการสร้างของ หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม
ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ : จากเว็บไซต์ http://www.panoramio.com



๏ ความสามารถในด้านการก่อสร้าง

หลวงปู่มีความสามารถในด้านการก่อสร้าง ทั้งๆ ที่หลวงปู่ไม่เคยเรียนวิชาการก่อสร้างแขนงใดมาเลย ดังจะเห็นได้จากผลงานการสร้างโบสถ์ที่สำคัญๆ และสวยงามหลายแห่ง ซึ่งเป็นประจักษ์พยานในความสามารถของหลวงปู่ได้เป็นอย่างดียิ่ง เช่น โบสถ์กลางน้ำวัดป่าสัมมานุสรณ์ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย โบสถ์วัดบ้านนาข่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม เป็นต้น ความสามารถด้านนี้ของหลวงปู่คงได้สั่งสมมาแต่อดีตชาติ เพราะจะทราบได้จากเหตุการณ์ที่มีเกจิอาจารย์สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต องค์สำคัญๆ หลายรูปที่คงจะทราบถึงความสามารถพิเศษนี้ของหลวงปู่ ได้มานิมนต์ขอให้หลวงปู่ไปช่วยสร้างโบสถ์ให้ ทั้งๆ ที่หลวงปู่และท่านพระอาจารย์เหล่านั้นต่างไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ดังลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ได้เล่าผ่านมาแล้ว นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานสำคัญทางถาวรวัตถุอีกอย่างหนึ่ง คือ โบสถ์ ศาลา วิหารคด เจดีย์ ฯลฯ ภายในวัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก) ที่ทุกท่านได้เห็นอยู่ทุกวันนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือการออกแบบและก่อสร้างของหลวงปู่นั่นเอง ซึ่งจะได้กล่าวถึงรายละเอียด ประวัติความเป็นมา และการก่อสร้างวัด รวมทั้งถาวรวัตถุภายในวัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก) ดังต่อไปนี้


๏ ประวัติความเป็นมาและการบูรณปฏิสังขรณ์
วัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก)


วัดทิพยรัฐนิมิตร หรือวัดบ้านจิก เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่ที่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของสี่แยกที่ตัดกันระหว่างถนนนเรศวรกับถนนทหาร ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี บริเวณนี้คือ คุ้มบ้านจิก เวลาท่านมาเยี่ยมชมและทำบุญที่วัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก) เมื่อท่านเดินเข้าประตูมาก็จะสังเกตเห็นว่ายังมีรั้วอิฐเตี้ยๆ กั้นอยู่อีกชั้นหนึ่ง วัดแบ่งออกเป็น ๒ ตอน ตอนนอกมีพื้นที่น้อยกว่าตอนในมาก

ตอนนอกนี้เคยเป็นที่ตั้งของโบสถ์เก่าซึ่งรื้อถอนออกไปเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๓ ส่วนตอนในนั้นมีพื้นที่มากกว่า มีสระน้ำติดรั้ว ๑ สระ เมื่อมองผ่านเลยไปทางด้านซ้ายของสระน้ำ ก็จะเห็นโรงครัวและกุฏิแม่ชีปลูกเรียงรายกันไปตามแนวรั้วด้านทิศเหนือ ระหว่างสระน้ำและกุฏิแม่ชีจะมีถนนคอนกรีตทอดตัวยาวมุ่งตรงสู่ ศาลายักษ์คู่ ซึ่งเป็นศาลาการเปรียญเก่าที่มีรูปปั้นยักษ์ ๒ ตนยืนเฝ้าอยู่ข้างหน้าศาลา ศาลานี้หลวงปู่เคยใช้เป็นสถานที่ฉันภัตตาหารเช้าของคณะสงฆ์ และตอนบ่ายเป็นสถานที่อบรมสั่งสอนญาติโยมให้ฝึกหัดปฏิบัติสมาธิภาวนาในสมัยที่ยังไม่มีโบสถ์ใหม่

เมื่อหันมาทางด้านขวาของสระน้ำ จะเห็นโบสถ์ใหญ่ตั้งตระหง่านสวยงาม มีลักษณะเป็นศิลปะผสมระหว่างสมัยสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาอันสวยงามมาก ปัจจุบันจะหาชมโบสถ์ที่มีศิลปะแบบผสมนี้ได้ยาก และถัดจากโบสถ์ใหม่ไปทางขวามือจะเห็นวิหารคด ภายในมีพระพุทธรูปปางต่างๆ ตั้งแต่ปางประสูติ ปางตรัสรู้ ไปจนถึงปางปรินิพพาน วิหารคดนี้ใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจของสงฆ์ในการฉันภัตตาหารเช้าในปัจจุบัน เลยวิหารคดไปทางขวาจะมีกุฏิพระเรียงรายตามแนวรั้วด้านทิศใต้ และช่วงระหว่างกุฏิพระกับวิหารคดยังมีสระน้ำกั้นอยู่อีก ๑ สระ ส่วนถนนที่กั้นอยู่ระหว่างสระน้ำแรก (ที่ติดกับรั้วเตี้ยๆ) กับโบสถ์ใหม่นั้น จะนำเราไปถึงกุฏิหลวงปู่ ซึ่งด้านหลังของกุฏิหลวงปู่ยังมีสระน้ำอีก ๑ สระ ถัดจากสระน้ำนี้ไปมีกุฏิพระเรียงรายกันไปจนชิดแนวรั้วด้านทิศตะวันออก

พื้นที่ตอนนอกของรั้วอิฐเก่าๆ เตี้ยๆ นั้น เดิมเป็นหมู่บ้านของชาวบ้านคุ้มบ้านจิก ซึ่งมีศาลเจ้าเป็นที่นับถือของคนในหมู่บ้านนี้ ต่อมา คุณแม่ทิพย์ ภรรยา นายพันตำรวจโทพระยงค์พลพ่าย ได้ร่วมกับ ร.ต.ท.ขุนรัฐกิจบรรหาร ชักชวนชาวบ้านคุ้มบ้านจิกร่วมกันถวายที่ดินแห่งนี้ให้เป็นสำนักสงฆ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ และสร้างโบสถ์ (หมายถึงโบสถ์เก่า) อยู่ข้างหน้าศาลเจ้า จนแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ เมื่อสร้างเสร็จแล้วไม่ได้จัดฉลองและผูกพัทธสีมาแต่อย่างใด ซึ่งในขณะนั้นมี พระอาจารย์โชติ เป็นเจ้าอาวาสวัด และต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๑ พระอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร เป็นเจ้าอาวาสวัด และในปีนี้พระอาจารย์อุ่นได้เดินทางไปธุดงค์ และชักชวนพระ ๓๐ รูป ซึ่งมีหลวงปู่รวมอยู่ด้วย จากอำเภอมุกดาหารมาอยู่ที่วัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก) ดังได้กล่าวมาแล้ว

ทุกพรรษา ขณะจำพรรษาที่วัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก) นี้ หลวงปู่มักจะนิมิตเห็นตัวท่านเองนั่งอยู่ในโบสถ์ร้าง ซึ่งหลวงปู่ก็ไม่ทราบว่าเป็นโบสถ์ไหน หลวงปู่จึงได้แต่คิดว่าทำไมผู้สร้างโบสถ์จึงไม่จัดงานฉลองโบสถ์ แต่ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๙๑ ร.ต.ท.ขุนรัฐกิจบรรหาร และคณะชาวบ้าน ขออนุญาตจัดงานฉลองและผูกพัทธสีมา

หลวงปู่จึงทราบว่าที่แท้จริงโบสถ์ร้างที่เห็นในนิมิตตลอด ๙ ปี ก็คือโบสถ์วัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก) ที่ท่านจำพรรษาอยู่นั่นเอง

ต่อมาประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๘ คณะภรรยาข้าราชการตำรวจและพ่อค้าชาวจีนในจังหวัดอุดรธานี ได้ร่วมกันซื้อที่ดิน นับตั้งแต่ส่วนที่เป็นเขตแนวรั้วเตี้ยๆ เก่าแก่ที่ทำด้วยอิฐดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ติดหนองน้ำขึ้นไปทางทิศตะวันออกจนถึงห้วยหนองน้ำแฝด ด้านหลังห้วยน้ำแฝดจะเป็นป่าสำหรับรุกขมูลิกังคธุดงค์ อาณาบริเวณดังกล่าวมานี้คือ เขตวัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก) ใหม่ในปัจจุบัน

ใน พ.ศ. ๒๕๐๐ หลวงปู่ได้สร้างศาลากลางน้ำขึ้นครั้งแรก เมื่อสร้างจวนเสร็จปรากฏว่าเกิดนิมิตเห็นเป็นชายร่างใหญ่ผิวดำถือปืนเข้ามาจะยิงหลวงปู่ขณะนั่งภาวนาอยู่ในกุฏิ แล้วชายคนนั้นถามหลวงปู่ว่า ท่านกลัวไหม หลวงปู่ตอบว่า ไม่กลัว เพราะชีวิตเราได้สละแล้วตั้งแต่ออกบวช ชายคนนั้นจึงยิงหลวงปู่ ปรากฏว่ากระสุนปืนเฉียดซี่โครงด้านซ้ายไป แล้วชายคนนั้นก็อันตรธานหายไป

หลวงปู่นั่งพิจารณาต่อ จึงทราบว่าพรุ่งนี้ ศาลากลางน้ำที่กำลังก่อสร้างอยู่จะพังทลายลง มีเสียงถามผุดขึ้นในใจว่า เสียดายไหม

หลวงปู่ตอบว่า ไม่เสียดาย ไม่เสียใจ เพราะศาลาหลังนี้มิใช่ศาลาเก่าแก่ แต่เป็นศาลาที่เราสร้างขึ้นมาเอง เกิดขึ้นมาหลังตัวเรา เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ภายภาคหน้าถ้ามีบุญบารมีเพียงพอ เราก็จะสามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้ และจะสร้างให้ดีกว่าเดิม

วันรุ่งขึ้น บังเอิญเจ้าคณะอำเภอหนองบัวลำภูในขณะนั้น ได้เดินทางมาเยี่ยมและเอ่ยปากกล่าวว่า ศาลาใหม่จวนเสร็จแล้วนะ

หลวงปู่จึงบอกว่า ในวันนี้ศาลาก็จะพังแล้ว คอยดูนะ

ปรากฏว่าตอนบ่ายวันนั้นเอง มีเมฆดำขนาดใหญ่ลอยมาเหนือวัด และมีพายุพัดแรงมากจนศาลาลอยตัวขึ้นทั้งหลังแล้วถูกปล่อยตกลงมากระแทกพื้นอย่างแรง ทำให้ศาลาพังทลาย

หลวงปู่เล่าว่า สาเหตุที่ศาลาลอยขึ้นทั้งหลังนั้น เนื่องจากหลังคาศาลาทำด้วยแผ่นกระเบื้องเรียงซ้อนกันถี่และหนัก เมื่อลมพายุพัดมา แผ่นกระเบื้องที่ถูกตรึงติดไว้ดีแล้วจึงไม่ปลิวหลุดเป็นแผ่นๆ แรงลมพายุที่อยู่ใต้หลังคาจึงสามารถดันให้ศาลาทั้งหลังลอยตัวขึ้นไปได้ เสมือนหนึ่งศาลาทั้งหลังถูกอุ้มลอยขึ้นไป เมื่อแรงลมอ่อนลง ศาลาจึงถูกปล่อยตกลงมากระแทกพื้นเสียหาย ซึ่งต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๒๖ หลวงปู่ก็สร้างโบสถ์ใหม่ที่ตำแหน่งเดิมนี้อีก

วันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๖ คณะตำรวจภูธรเขต ๔ และพ่อค้าชาวจีน ได้ร่วมกันสร้าง ศาลาการเปรียญ (หลังที่มีรูปปั้นยักษ์สองตนยืนเฝ้าอยู่ข้างหน้า) ซึ่งสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๗ โดยหลวงปู่เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างเอง

ใน พ.ศ. ๒๕๑๔ ก็เริ่มสร้างกุฏิ ๒ ชั้น พื้นไม้มะค่า (หลังที่หลวงปู่พักอาศัยอยู่ประจำเมื่อครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่) ซึ่งตรงกับนิมิตที่เคยเห็นหลวงปู่มั่นที่กุฏิในตอนพรรษาต้นๆ ที่เคยกล่าวมาแล้ว


(มีต่อ ๙)

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 26 ม.ค. 2011, 18:01 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม)

รูปภาพ
หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม ตรวจงานการก่อสร้างเจดีย์วัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก)


ในวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ หลวงปู่ได้เริ่มสร้างอุโบสถหลังใหม่ลงที่เดิมที่เคยสร้างศาลากลางน้ำแล้วถูกพายุพัดพังทลายลง โดยออกแบบตามนิมิตที่เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๔ ซึ่งทำการก่อสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหลัง รอบฐานอุโบสถมีขนาดกว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๔๐ เมตร มีทั้งหมด ๓ ชั้น ซึ่งแต่ละชั้นจะมีลักษณะต่างกัน คือ

ชั้นที่ ๑ เป็นชั้นล่างเจาะลึกลงไปใต้ดิน ฤดูฝนให้เป็นที่เก็บน้ำฝน ส่วนฤดูแล้งใช้เป็นที่นั่งพักผ่อนได้เย็นสบาย เพราะเป็นที่โปร่ง มีการระบายอากาศได้ดี

ชั้นที่ ๒ เป็นวิหารการเปรียญ รอบพระวิหารมีอาศรมจำนวน ๑๐ หลัง ทางทิศใต้ของวิหารมีมณฑป ๑ หลังรองรับรอยพระพุทธบาท และวิหารคดอีก ๑ หลัง ขนาดกว้าง ๒๒ เมตร ยาว ๔๐ เมตร

ชั้นที่ ๓ เป็นอุโบสถ รอบอุโบสถมีมณฑปจำนวน ๔ หลัง

อุโบสถหลังใหม่นี้สร้างสำเร็จในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ และได้ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิต เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๓ ขณะที่กำลังก่อสร้างอุโบสถนี้อยู่ (จวนเสร็จ) หลวงปู่ได้นิมิตเห็นอดีตสมเด็จพระสังฆราชเสด็จมา และตรัสว่าจะขอเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์โบราณสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่ครั้งโบราณกาลในอุโบสถ เมื่ออดีตสมเด็จพระสังฆราชเสด็จเข้าไปในตัวอุโบสถเพื่อชมพระพุทธรูป ปรากฏว่าทรงอ่อนเพลียไม่มีเรี่ยวแรง เดินไม่ได้ หลวงปู่จึงอุ้มอดีตสมเด็จพระสังฆราชลอยขึ้นไปชมชั้นสองของอุโบสถ (ในนิมิตนั้นยังไม่มีบันไดขึ้นไปสู่ชั้นสอง) ครั้นต่อมาหลวงปู่จึงตื่นจากนิมิต

นิมิตนี้หมายความว่า เพราะบุญบารมีของหลวงปู่ที่มีมาแต่ปางก่อนจะเป็นสิ่งสนับสนุนให้สร้างโบสถ์ได้สำเร็จ และจะมีความศักดิ์สิทธิ์เนื่องจากบุญบารมีของผู้สร้าง

กลับมากล่าวถึงภายในตัวอุโบสถชั้น ๒ ที่เป็นวิหารการเปรียญ ซึ่งเป็นที่ฝึกบำเพ็ญเพียรภาวนา เมื่อก้าวพ้นประตูด้านตะวันออกเข้าไปข้างใน จะพบว่าข้างหน้ามีพระประธานขนาดใหญ่ สีทอง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีลักษณะงดงามมาก พระพักตรงมีรอยยิ้มดูอ่อนโยน เมตตา พระเนตรทอดต่ำ เหมือนกับจะก้มลงมองดูพุทธศาสนิกชนที่มากราบนมัสการสักการะท่าน

ผู้ที่มาสวดมนต์ บำเพ็ญเพียรภาวนาที่โบสถ์นี้ประจำทุกค่ำเช้า มักจะพูดกันว่าพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์นี้ เวลากลางคืนมองดูแล้วเสมือนหนึ่งท่านหลับพระเนตรลง และในตอนเช้า ตอนกลางวัน จะมองเห็นท่านเบิกพระเนตรขึ้น และบางคนก็ว่าถ้าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ตั้งใจภาวนา จะมองเห็นท่านเบิกพระเนตรขึ้นมองดู

เมื่อเข้ามาอยู่ภายในอุโบสถแล้วจะรู้ดีกว่าเย็นชุ่มชื่นกว่าปกติ เนื่องจากแนวรอยต่อพื้นแต่ละชั้น หลวงปู่ได้ทำให้เป็นช่องว่างห่างกันประมาณ ๓๐ เซนติเมตร และมีคานรับน้ำหนักพื้นชั้นบนสูงประมาณ ๔๐ เซนติเมตร ห่างกันเป็นช่องๆ ซึ่งแต่ละช่องจะมีรูสำหรับให้น้ำไหลผ่านหมุนเวียนรอบอุโบสถได้ และจะมีเครื่องดูดอากาศออกและดูดไอน้ำเข้าจากพื้นด้านในอุโบสถ เพื่อให้ไอน้ำกระจายในตัวอุโบสถ ทำให้เกิดความชุ่มชื่น จะเห็นได้ว่าเป็นลักษณะการสร้างที่ไม่เหมือนใคร เรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของหลวงปู่โดยแท้ ทั้งนี้เป็นเพราะพรสวรรค์และบุญบารมีที่หลวงปู่ได้เพียรสั่งสมมา ทำให้สามารถสร้างอุโบสถที่ใหญ่สวยงามวิจิตรได้ ทั้งๆ ที่หลวงปู่ไม่ได้เรียนด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์มาเลย รูปทรงอุโบสถทั้งหมดเขียนแปลนออกมาจากนิมิตทั้งสิ้น สมดังนิมิตในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ที่หลวงปู่ได้เห็นหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี มาบอกว่าหลวงปู่จะได้สร้างอุโบสถใหญ่เท่าวัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ นับได้ว่าเป็นบุญตาของผู้ที่ได้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง

พ.ศ. ๒๕๓๙ หลวงปู่ได้สร้างอุโบสถวัดบุปผาราม บ้านดงน้อย จังหวัดนครพนม

พ.ศ. ๒๕๔๕ หลวงปู่ได้ก่อสร้างเจดีย์สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระธาตุของพระอรหันตเจ้า ณ บริเวณที่เคยเป็นโบสถ์เก่า ซึ่งอยู่ในบริเวณวัดตอนนอก (ด้านนอกรั้วเตี้ยๆ) โดยได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างและมีแบบแปลนเรียบร้อยแล้ว เจดีย์ดังกล่าวนี้กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบให้ และหลวงปู่ได้ทำการวางศิลาฤกษ์และเริ่มก่อสร้างในวันเกิดของหลวงปู่ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒ ปัจจุบันได้ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว และมีงานฉลองเจดีย์เป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นกัน

ในปีเดียวกัน หลวงปู่ได้สร้างวัดป่าโนนสวรรค์ บ้านผึ้ง ตำบลนาไหม อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี โดยได้จัดงานประกอบพิธีผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิต เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘


๏ ปฏิปทา

เมื่อแรกบวชนั้น หลวงปู่ได้ตั้งใจไว้ว่าจะถวายชีวิตให้แก่เพศพรหมจรรย์และท่านได้เร่งบำเพ็ญเพียรประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างอุกฤษฏ์เพื่อกำจัดกิเลส ดังได้กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น จวบจนถึงวันที่ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ หลวงปู่ก็ยังคงเคร่งครัดต่อข้อวัตรปฏิบัติอยู่เสมอมามิได้ขาด ยกเว้นว่าจะอาพาธจนลุกไม่ขึ้นหรือเดินไม่ไหวเท่านั้น ธุดงควัตรที่หลวงปู่ถือปฏิบัติเป็นประจำมี ๓ ประการ คือ

๑. ปิณฑปาติกังคธุดงค์ ถือภิกขาจารออกบิณฑบาตมาฉันเป็นนิจ ยกเว้นวันที่ท่านอาพาธ และมีครั้งหนึ่ง (ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ช่วงหน้าหนาว) ท่านเจ็บขามากจึงเดินได้ระยะทางสั้นๆ แต่ท่านก็ยังออกบิณฑบาต ซึ่งก็เดินได้ระยะสั้นๆ บริเวณหน้าวัดเท่านั้น ญาติโยมส่วนใหญ่จึงมาตักบาตรหน้าวัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก) เป็นเวลาหลายเดือน

๒. ปัตตปิณฑิกังคะ ถือฉันในบาตรโดยใช้ภาชนะใบเดียวตลอด

๓. เอกาสนิกังคธุดงค์ ถือฉันอาสนะเดียวตลอดมา

ธุดงควัตรนอกเหนือจากที่ได้กล่าวมานี้ หลวงปู่ได้ถือปฏิบัติเป็นประจำเฉพาะในวันพระและวันสำคัญทางศาสนา คือ เนสัชชิกธุดงค์ ถือการนั่งเป็นวัตร และ รุกขมูลิกังคธุดงค์ ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร ซึ่งคณะสงฆ์และคณะศิษยานุศิษย์ภายในวัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก) ก็ได้ประพฤติปฏิบัติตาม

หลวงปู่เป็นพระที่มีเมตตาสูงมาก จะเห็นได้จากการที่ท่านมีเมตตาต่อสาธุชนทั่วไปอยากให้พ้นทุกข์ ท่านจึงได้ลงโบสถ์อบรมสั่งสอนและนำพาให้ประพฤติปฏิบัติธรรม ทำสมาธิภาวนา สวดมนต์ทุกเย็น ส่วนวันพระก็จะเพิ่มการเทศนาธรรมตอนเช้าด้วย เท่าที่ผู้เรียบเรียงเห็นกับตาตนเอง ก็นับตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีโบสถ์ใหม่ ซึ่งหลวงปู่ให้ประกอบศาสนกิจ อบรมสมาธิภาวนาที่ศาลายักษ์คู่ จวบจนกระทั่งปัจจุบันนี้ได้ย้ายมาอบรมกันที่โบสถ์ใหม่ เมื่อหลวงปู่มีอายุมากแล้ว สุขภาพร่างกายเสื่อมถอยไม่แข็งแรงดังก่อน แต่หลวงปู่ท่านก็สู้อุตส่าห์ลงโบสถ์เทศน์อบรมสั่งสอนและนำพาให้ประพฤติปฏิบัติกันให้ถูกต้อง จะได้ฝึกหัดจิตใจตัวดื้อดึงวุ่นวายนี้ให้สงบ ให้พ้นทุกข์ เว้นเสียแต่เมื่อท่านอาพาธ สังขารไม่อำนวย จึงงดภารกิจนี้

นอกจากนี้หลวงปู่ยังเปิดโอกาสให้สาธุชนทั่วไปได้เข้าพบเพื่อสนทนาธรรมหรือปรึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิต ซึ่งหลวงปู่ก็ให้คำแนะนำและช่วยเหลือ ทำให้มีประชาชนขอเข้าพบหลวงปู่มาก จนทางวัดต้องจัดเวลาให้เข้าพบ เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนหลวงปู่มากเกินไปเนื่องจากหลวงปู่ชราภาพมากแล้ว

เมื่อได้มาพบหลวงปู่แล้ว ทุกข์ที่ยิ่งใหญ่ที่แบกมาจากบ้านนั้นดูเหมือนว่าจะมลายหายไปกว่าครึ่ง เนื่องจากพลังแห่งความเมตตาของท่านได้ช่วยให้ผู้ที่แบกทุกข์มารู้สึกเย็นใจคลายทุกข์ และเมื่อได้รับคำแนะนำสั่งสอนแล้ว ก็รู้สึกเหมือนกับว่าทุกข์หรือปัญหาที่ว่ายิ่งใหญ่นั้นกลับเป็นเรื่องเล็กน้อยสามารถแก้ไขได้โดยง่ายดาย ผู้ที่มาปรึกษาปัญหากับหลวงปู่จึงกลับบ้านไปด้วยความเบิกบานใจ ยิ้มแย้มแจ่มใส หลวงปู่จึงเป็นที่พึ่งทางใจที่สำคัญ เป็นหลักชัยของชีวิต เป็นที่เคารพรักและศรัทธาของปวงชนทั้งหลาย ดังที่เราท่านทั้งหลายได้ประจักษ์กันอยู่ทุกวันนี้

หลวง ปู่ชนนบน้อม ศรัทธา
ปู่ เป็นพระอภิญญา เลิศล้น
ถิร จิตแผ่เมตตา สัตว์โลก สุขเอย
ฐิตธมฺโม มุ่งพ้น ผ่านห้วง โลกย์วิสัย



(มีต่อ ๑๐)

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 08 ก.พ. 2011, 19:06 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม)

รูปภาพ
พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป)

รูปภาพ
ขวามือ : พระธรรมดิลก (สมาน สุเมโธ) วัดป่าแสงอรุณ
กราบมนัสการพระพุทธพจนวราภรณ์ (หลวงปู่จันทร์ กุสโล)



๏ การอาพาธและการมรณภาพ

พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม) ได้ถึงแก่มรณภาพด้วยโรคชรา ปอดอักเสบติดเชื้อ และต่อมลูกหมากอักเสบ เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ เวลา ๑๐.๓๕ น. ณ ห้องพิเศษของตึกสงฆ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ท่ามกลางความเศร้าสลดอาลัยยิ่งนักของคณะสงฆ์ และคณะศิษยานุศิษย์ชาวอุดรธานีโดยถ้วนหน้า ก่อนหน้านี้หลวงปู่ได้อาพาธกะทันหัน คณะศิษยานุศิษย์ได้นำส่งโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี และส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ตั้งแต่วันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ จนกระทั่งหลวงปู่สิ้นลมหายใจไปอย่างสงบ สิริอายุรวมได้ ๘๙ ปี ๙ เดือน ๑ วัน พรรษา ๗๐

ก่อนหน้านี้ท่านเคยป่วยเป็นโรคต่อมลูกหมากอักเสบมาก่อน แต่ก็ได้รักษาจนอาการทุเลา ต่อมาได้ป่วยเป็นไข้หวัดจนติดเชื้อที่ปอด จึงเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานีประมาณ ๓ เดือน แต่ด้วยท่านมีอายุมากแล้วจึงมีความต้านทานน้อย ทำให้โรคต่อมลูกหมากอักเสบกลับเป็นแทรกซ้อนขึ้นมาอีก ดังนั้น เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ทางคณะศิษยานุศิษย์จึงเห็นว่าควรนำหลวงปู่ย้ายไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เนื่องจากเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์การรักษามีความพร้อมมากกว่า ต่อมาอาการของหลวงปู่ทรุดลง ทางคณะแพทย์พยายามเยียวยารักษาอย่างเต็มที่ กระทั่งต่อมาถุงน้ำในปอดเกิดแตกลง คณะแพทย์ได้พยายามรักษาอาการของท่านอย่างสุดความสามารถ แต่ไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้ ในที่สุดหลวงปู่ได้ถึงแก่มรณภาพลงอย่างสงบ

สำหรับงานพระราชทานเพลิงศพ “หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม” อดีตเจ้าอาวาสวัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก) พระเถราจารย์สายพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ เวลา ๑๖.๐๐ น. ณ วัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก) โดยมี พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๙ (ธรรมยุต) ที่ปรึกษามหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และนายจารึก ปริญญาพล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีในขณะนั้น เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในงานนี้มีพระภิกษุ สามเณร แม่ชี และประชาชนจากทั่วสารทิศ ประมาณ ๑ หมื่นคนเศษมาร่วมงานแน่นวัด

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้มีการเคลื่อนศพของหลวงปู่ถิร จากศาลาการเปรียญในวัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก) มาที่เมรุ จากนั้นก็ได้มีพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ และในตอนกลางคืนได้มีการแสดงพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์ โดย พระธรรมดิลก (สมาน สุเมโธ) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพวรคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าแสงอรุณ ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เจ้าคณะภาค ๙ (ธรรมยุต) และในวันพระราชทานเพลิงศพ วันที่ ๑๗ ธันวาคม เวลา ๑๓.๓๐ น. ก็มีการแสดงพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์ โดยพระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) แล้วมีพระสงฆ์ซึ่งเป็นพระใบฎีกา ๙๐ รูปสวดมาติกาบังสุกุล นอกจากนี้ภายในวัดยังมีสาธุชนจำนวนมากได้มาตั้งโรงทานเพื่อบริการอาหารเครื่องดื่มแก่ประชาชนจำนวน ๒๐๐ โรงทาน


๏ เจดีย์บรรจุอัฐบริขารหลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม

เจดีย์บรรจุอัฐบริขารหลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม เป็นเจดีย์องค์ใหญ่ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และรูปเหมือนพระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก) พร้อมทั้งเครื่องอัฐบริขาร เจดีย์นี้มีสัณฐานคล้ายทะนานที่ใช้ตวงพระบรมสารีริกธาตุแต่ครั้งพุทธกาล สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ก่อนหลวงปู่ถิรมรณภาพ ทุกๆ ปีในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของหลวงปู่ จะมีการทอดกฐินประจำปีและการทำบุญฉลองอายุวัฒนมงคลให้กับหลวงปู่เป็นประจำ

รูปภาพ
เจดีย์บรรจุอัฐบริขารหลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม
ณ วัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก) ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี


รูปภาพ
รูปเหมือนหลวงปู่ถิร ภายใน “เจดีย์บรรจุอัฐบริขารหลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม”

รูปภาพ
บาตรและเครื่องใช้ของหลวงปู่ถิร ภายใน “เจดีย์บรรจุอัฐบริขารหลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม”

รูปภาพ
หนังสือธรรมะต่างๆ ภายใน “เจดีย์บรรจุอัฐบริขารหลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม”

รูปภาพ
อุโบสถ วัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก)

รูปภาพ
พระประธานในอุโบสถ วัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก)


(มีต่อ ๑๑)

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 09 ก.พ. 2011, 20:09 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม)

รูปภาพ
พระอุดมญาณโมลี (พระอาจารย์จันทร์ศรี จนฺททีโป)


พระธรรมเทศนา

โดย พระอุดมญาณโมลี (พระอาจารย์จันทร์ศรี จนฺททีโป)
ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๙ (ธรรมยุต), ที่ปรึกษามหาเถรสมาคม (มส.),
เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี


แสดงในงานสวดพระอภิธรรมศพ
พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม)
อดีตเจ้าอาวาสวัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก)
ณ ศาลาอเนกประสงค์ วัดทิพยรัฐนิมิตร จังหวัดอุดรธานี
วันศุกร์ที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๘



พระอุดมญาณโมลี (พระอาจารย์จันทร์ศรี จนฺททีโป) เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี
มาเยี่ยมในงานคารวะศพหลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม ในวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
กุสะลา ธัมมา อะกุสะลา ธัมมา อัพยากะตา ธัมมาติ.

วันนี้เป็นวันที่คณะญาติโยมได้มาทำการสวดพระอภิธรรม ซึ่งเป็นธรรมเนียมสืบมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล คนโดยส่วนมากเข้าใจว่า การสวดพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์นั้นเป็นการสวดให้ผีตาย อันนี้เป็นความเข้าใจผิด ความเป็นจริง การสวดพระอภิธรรมนั้นเพื่อต้องการให้คนผู้ที่มีชีวิตได้คิดได้คำนึงถึงว่า การที่พระสวดพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์นั้น เป็นการแสดงถึงว่าผู้ตายนั้นไม่รู้สึกอะไร เช่นอย่างหลวงปู่ถิรท่านละร่างกายคือสังขารล่วงไปเกือบจะครบ ๑๐๐ วัน แต่วันนี้ซึ่งมีเจ้าภาพได้มาอาราธนาหลวงปู่มาเพื่ออธิบายเรื่องการสวดพระอภิธรรมให้ฟังพอเป็นสังเขป

บรรดาญาติโยมทุกคนที่เป็นศิษยานุศิษย์และผู้ที่เคารพนับถือหลวงปู่ถิร ซึ่งท่านจากไปไม่มีวันกลับ นับตั้งแต่ท่านได้อุปสมบทมาเป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนา ประวัติของท่านญาติโยมทั้งหลายก็คงได้อ่านแล้ว แต่พูดย่อๆ ว่า ท่านเกิดที่จังหวัดมุกดาหาร แล้วก็มาบวชที่วัดศรีเทพฯ จังหวัดนครพนม ซึ่งมีหลวงปู่พระเทพสิทธาจารย์ (จันทร์ เขมิโย) เป็นพระอุปัชฌาย์ พอได้อุปสมบทเป็นพระแล้ว ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนธรรมวินัยได้รับความเข้าใจในภาคปริยัติพอสมควร และต่อจากนั้นท่านได้ออกแสวงวิเวกหาที่สงัดสงบเพื่อละกิเลสซึ่งมันฝังอยู่ในจิตสันดานมาตั้งหลายภพหลายชาติ จนกระทั่งว่าจิตใจของท่านนั้นผ่องใสสะอาด ต่อมาก็ได้มาจำพรรษาที่วัดทิพยรัฐฯ นี้

วัดทิพยรัฐฯ เป็นสวนของนายตำรวจที่เอาชื่อทิพยรัฐมาก็คือชื่อเมีย คุณนายทิพย์ และก็เติม รัฐนิมิตร ขึ้นมา อันนี้หลวงปู่พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ เป็นผู้ตั้งชื่อวัดให้ และได้เสนอไปยังกรมการศาสนา เมื่อกรมการศาสนาส่งชื่อเข้ามหาเถรสมาคม ท่านก็เห็นดีเห็นชอบ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ชื่อนี้และแจ้งมาให้ทราบ

ต่อมาท่านได้สร้างโบสถ์ขึ้น เป็นโบสถ์ที่ในสมัยก่อนท่านหลวงปู่ถิรได้มาอยู่ ไม่มีเสาเหล็ก มีแต่อิฐก่อกันไป ต่อมาภายหลังโบสถ์นั้นได้พังหรือเป็นไปตามธรรมชาติของสังขาร เมื่อนานเข้าก็ชำรุดทรุดโทรมไปธรรมดาของมัน ฉันใดก็ดี สังขารของมนุษย์เราทุกคนก็ย่อมเป็นเช่นนั้น อย่างหลวงปู่ถิรท่านก็รักษาสังขารมาได้เพียง ๘๙ ปีเศษๆ เป็นเหตุให้ท่านจากพวกเราไปโดยไม่มีวันกลับ ตั้งแต่วันที่หมดลมหายใจ ถึงแม้ว่าร่างกายของท่านมีรูป เวทนา สังขาร แตกดับไปแล้ว แต่คุณงามความดี คือธรรมะที่ท่านแนะนำสั่งสอนพวกเรา ให้ละชั่ว ประพฤติดี ตั้งใจปฏิบัติขัดเกลาจิตใจของตน ให้ละเว้นจากการทำความชั่ว ให้ตั้งใจบำเพ็ญกุศล ทำจิตใจของตนให้ผ่องใสตลอดไปนั้น ยังประทับอยู่ในดวงจิตของพวกเราทุกๆ คน

ในการนี้ที่เราได้สวดพระอภิธรรมทุกคืนหรือทุกเจ็ดวันก็ดี อันนี้เนื่องจากผู้ที่มีศรัทธาเลื่อมใสในท่านได้มาร่วมกันนิมนต์พระ ๔ รูปมาสวด เป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ในคำสวดนั้น บทต้นว่า กุสลา ธมฺมา ธรรมอันเป็นกุศล อกุสลา ธมฺมา ธรรมอันเป็นอกุศล อพฺยากตา ธมฺมา ธรรมเป็นอัพยากฤต คือธรรมอันเป็นกลางๆ ในคำที่พระสวดไปเป็นภาษาบาลี ผู้ฟังก็ไม่เข้าใจ

นี่เอาเฉพาะหัวข้อย่อคือ กุศลธรรมที่เป็นกุศลนั้น กุสละ แปลว่า ผู้ฉลาดมีศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ตั้งใจปฏิบัติขัดเกลาจิตใจของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมที่เป็นกุศลนั้น ก็คือศีล ๕ ประการที่เราได้รับเป็นประจำ ตั้งเจตนา คือจิตใจงดเว้นจากข้อห้ามทั้ง ๕ ที่เราทุกคนก็จำกันได้ ดังนั้น เมื่อเราละจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี มุสาวาท และดื่มของมึนเมา มีสุราเมรัยเป็นต้น ทุกคนจำได้ แต่สำคัญคือการปฏิบัติตาม ได้แก่ เจตนาคือความตั้งใจงดเว้น ไม่ให้ผิดข้อห้ามของพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ ข้อนี้ ถ้าบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งรักษาได้ตลอดเป็นนิจศีล คือมีศีลประจำใจของตน จะเป็นผู้ที่มีหน้าตาเบิกบานแจ่มใส จะไปในที่ไหนก็มีก็มีผู้เคารพนับถือ อย่างคำสุดท้ายของการให้ศีลว่า สีเลน สุคตึ ยนฺติ บุคคลผู้ที่จะไปสวรรค์ได้ก็เพราะการรักษาศีล สีเลน โภคสมฺปทา การที่ผู้รักษาศีลจะได้โภคทรัพย์สมบัติ มีเรื่องสวนไร่นา เงินทองเป็นต้น ก็เพราะศีล สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ เมื่อปฏิบัติให้จิตของเราดับจากกิเลสอาสวะซึ่งดองอยู่ในจิตสันดานของเรา มีโลภ โกรธ หลง ฝังอยู่ในใจของเรา ให้ละไปวันละเล็กละน้อย จะสามารถที่จะดำเนินไปถึงพระนิพพานได้ นี่เป็นอานิสงส์แห่งการรักษาศีล

นอกจากนั้น ผู้ที่มีศรัทธายิ่งๆ ขึ้นไป ก็รักษาศีล ๘ ศีลอุโบสถ เฉพาะในพรรษา ๓ เดือน ผู้ที่มีศรัทธายิ่งขึ้นไป และมาบวชเป็นชี ตั้งใจรักษาศีล ๘ ตลอดไป เพื่อเจริญสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน ทำใจของตนให้ห่างพ้นจากความชั่วทั้งหลายเป็นต้น

ส่วนทาน การให้นั้น มีโดยย่อคือให้โดยที่เรามีเจตนาอันเลื่อมใสในพระรัตนตรัย เรียกว่า อามิสทาน คือให้ปัจจัยทั้ง ๔ มีอาหาร ผ้าผ่อนท่อนสไบ ที่อยู่อาศัย ยาสำหรับแก้โรค ดังนี้เป็นต้น ถ้าเราทำด้วยเจตนาเพื่อจะบูชาพระรัตนตรัย คือ บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อันเป็นสรณะที่พึ่งที่เคารพทางใจของเรานั้น เรียกว่า กุศลธรรม

กุศลธรรมนั้นท่านจำแนกไว้มีอยู่ ๓ อย่างโดยหัวข้อย่อๆ คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ทำจิตใจของเราให้ซื่อสัตย์สุจริตต่อตน สมกับคาถาที่ว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน ส่วนมารดาบิดาเป็นผู้ให้เราเกิดมา เมื่อท่านเลี้ยงเราโตแล้วท่านจากไปแล้ว เราก็ต้องพึ่งตนของเรา ส่วนคนอื่นก็เป็นแต่เพื่อนใกล้ชิดหรือเพื่อนสนิทกันเท่านั้น จะมีความสุขความทุกข์ก็เพราะตนกระทำเอาเอง

ทีนี้ อามิสทาน ได้แก่ เราให้อาหารผ้าผ่อนท่อนสไบ เป็นต้น ธรรมทาน ได้แก่ การสนทนาปราศรัย ธรรมะซึ่งเราได้สดับรับฟังมาจากครูบาอาจารย์ หรือได้อ่านจากหนังสือที่ท่านผู้รู้แต่งไว้แล้วจับใจความว่า ต้องปฏิบัติจิตใจของตนให้ผ่องใสและปฏิบัติตาม เรียกว่า “การปฏิบัติธรรม” อันจะนำให้จิตใจของเรานั้นผ่องใสสะอาดวันละเล็กละน้อย นี่เรียกว่า “กุศลธรรม”

อกุศลธรรม คือ การกระทำบาป ทำความชั่วต่างๆ นานา ซึ่งท่านทั้งหลายก็รู้อยู่แล้วว่า ความชั่วกับความดี ความดีเป็นกุศล ความไม่ดีเป็นอกุศล เช่น ทำในทางชั่ว มี กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต จะทำอะไรก็คิดผิดทั้งนั้น เช่น คิดว่ามารดาบิดาครูบาอาจารย์ไม่มีบุญมีคุณ เป็นจิตมิจฉาทิฐิ คือมีความเห็นผิด อันนี้เรียกว่า อกุศล ที่พระท่านสวดไปนั้น

ส่วนการทำจิตใจของเราให้วางเป็นกลาง ไม่เอนเอียงไปทางชั่ว ไม่เอนเอียงไปทางดี ทำใจให้เป็นอุเบกขา คือวางตนให้ตรงอยู่ ถ้าภาวนาก็ตั้งสติสัมปชัญญะรักษาจิตใจของตนที่พระพุทธเจ้าเคยแนะนำพร่ำสอนมา การภาวนามีหลายสิ่งหลายอย่าง แต่ทางฝ่ายครูบาอาจารย์หลวงปู่มั่นซึ่งเป็นประธานหรือเป็นประมุขในการที่เจริญฝ่ายพุทโธ และท่านเป็นผู้ที่ได้สำเร็จมรรคผลธรรมอันวิเศษ ถึงแม้ว่าท่านจะละสังขารไปแล้วก็ดี แต่อัฐิของท่านกลายเป็นพระธาตุ อย่างตัวอย่างที่มีอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร แสดงให้เห็นว่าท่านหมดกิเลส ครูบาอาจารย์ทุกๆ ท่านที่ท่านปฏิบัติมา ก็ปรากฏว่ากระดูกของท่านนั้นเป็นพระธาตุหลายองค์ ซึ่งญาติโยมก็คงทราบกันดี ดังนั้น เราจึงมาตั้งใจปฏิบัติจิตใจของเราเหมือนอย่างครูบาอาจารย์

อย่างหลวงปู่ถิรท่านได้สดับตรับฟังและปฏิบัติตามปฏิปทาของหลวงปู่มั่นเป็นลำดับมา แต่ตามปกติเมื่อท่านหยุดจากการเที่ยวป่าดงพงไพรแล้ว ก็มาตั้งหลักอยู่ที่วัดนี้ ได้สร้างถาวรวัตถุขึ้นเป็นอันมาก โดยเฉพาะคืออุโบสถ สร้างได้วิจิตรพิสดารจนกระทั่งขยายออกไปถึงกุฎีพระสงฆ์ ศาลาการเปรียญ และเมรุเผาศพ เพราะฉะนั้นวัดทิพยรัฐฯ นี้พร้อมทุกสิ่งทุกอย่าง แต่สำคัญคือผู้ที่จะมาเป็นเจ้าอาวาสองค์ต่อไปนี้จะต้องเป็นผู้มีการทะนุบำรุงรักษาวัตถุที่ท่านได้ก่อสร้างไว้นี้ ถ้านับเป็นเงินแล้วก็หลายพันล้านบาทที่สร้างวัดนี้ให้เจริญรุ่งเรืองทันกับสมัยเขา

ดังนั้น ญาติโยมที่มาบำเพ็ญกุศลในวันนี้ก็เนื่องจากมีศรัทธาเลื่อมใสในคำสอนธรรมะของหลวงปู่ถิร จึงได้พร้อมใจกันมาทำบุญอุทิศให้ดวงวิญญาณของท่าน ถ้าแม้ว่าเทวดาอารักษ์ทราบแล้วก็ส่งบุญกุศลที่ลูกศิษย์ลูกหาได้กระทำในวันนี้ไปให้ดวงวิญญาณของหลวงปู่ถิรรับทราบ แล้วจะได้อนุโมทนาในทานของเราทั้งหลาย

ดังนั้น ที่หลวงปู่ได้มาบรรยายถึงพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ โดยยกแต่บทต้นมาพูดให้ฟัง ก็ขอให้ทุกคนเข้าใจว่า การสวดพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์นั้นเป็นการสวดให้คนผู้ที่มีชีวิตอยู่ฟัง ไม่ใช่สวดให้คนตายฟัง โดยส่วนมากพระที่สวดก็ไม่เข้าใจว่าสวดเพื่ออะไร

สวดเพื่อสอนผู้ที่เป็นเจ้าภาพได้มาทำบุญนั้นให้เข้าใจ ไม่ใช่สวดให้ผู้ตายฟัง ดังนั้น จึงขอแสดงความยินดีกับพวกญาติโยมทั้งหลาย ด้วยอำนาจบุญกุศลที่ทุกๆ คนได้บำเพ็ญมาตั้งแต่รู้เดียงสาจนกระทั่งถึงวันนี้ แล้วน้อมเอามาพิจารณา นับตั้งแต่เราเกิดมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ทุกๆ คนตกอยู่ในไตรลักษณ์ คือ อนิจฺจตา ความเป็นของไม่เที่ยง ทุกฺขตา ความเป็นทุกข์ อนตฺตา ความเป็นของไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ต้องตกอยู่ด้วยกันทุกคน มีเกิดแล้วก็มีแก่ มีเจ็บแล้วก็มีตาย ความตายเป็นที่สุดของชีวิต สัตว์ทุกจำพวกไม่ว่ามนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน เกิดมาแล้วก็ต้องแปรปรวนตายเสียทุกคน แต่ว่าจะต่างกันก็คือช้าหรือเร็วเท่านั้น

ดังนั้น จึงขออำนวยอวยพรให้ทุกท่านจงปราศจากทุกข์โศกโรคภัยไข้เจ็บ ให้อายุมั่นขวัญยืน ได้เป็นผู้อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาให้พัฒนาถาวรสืบไป ประกอบด้วยพรชัยทั้ง ๔ ประการ มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ ตลอดกาลนานทุกๆ ท่านเทอญ


(มีต่อ ๑๒)

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 10 ก.พ. 2011, 06:31 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม)

รูปภาพ
พระธรรมวิสุทธิมงคล (พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)


ธรรมรำลึก

โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี


แสดงในงานบำเพ็ญกุศลปัญญาสมวาร (ครบรอบ ๕๐ วัน)
พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม)
อดีตเจ้าอาวาสวัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก)
ณ ศาลาเอนกประสงค์ วัดทิพยรัฐนิมิตร จังหวัดอุดรธานี
เมื่อวันอังคารที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๘ เวลา ๑๓.๐๐ น.



พระธรรมวิสุทธิมงคล (พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
แสดงพระธรรมเทศนาโปรดญาติโยมผู้มาร่วมงานบำเพ็ญกุศลปัญญาสมวาร

ท่านอาจารย์ถิรท่านก็เป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบองค์หนึ่ง ท่านอาจารย์ถิรนี้อยู่มุกดาหาร สนิทสนมกันมาก เพราะฉะนั้นจึงพูดเรื่องของท่านได้ละเอียดลออ ท่านเป็นลูกศิษย์ของท่านพระอาจารย์อุ่น ท่านอาจารย์อุ่น ท่าอุเทน นี้เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่นเรา สืบทอดกันมา กับเรานี้สนิทสนมกันมานาน สำหรับท่านอาจารย์ถิรนะ เป็นแต่เพียงว่า เมื่ออายุพรรษาแก่แล้วต่างคนต่างก็มีธุระหน้าที่การงาน ไม่ค่อยได้ไปมาหาสู่กันบ่อยนัก แต่เรื่องภายในมีความสนิทสนมกันมาก อาจารย์ถิรท่านเป็นพระปฏิบัติดี เอาจริงเอาจัง ท่านทำทุกอย่าง ตะเกียกตะกายเพื่อหลุดพ้น ท่านตะเกียกตะกายทุกอย่าง

ตั้งแต่สมัยที่อะไร โลกนาถเหรอ... ที่เข้ามากรุงเทพฯ น่ะ เขาไม่ฉันเนื้อฉันปลา ท่านอาจารย์อุ่นก็ไปกับเขา ก็พูดให้ตรงเสียก็ว่าเราเป็นลูกศิษย์อาจารย์เดียวกัน ท่านอาจารย์อุ่นก็ลูกศิษย์หลวงปู่มั่น เราก็ลูกศิษย์หลวงปู่มั่น จะไปเป็นอาจารย์ของหลวงปู่มั่นได้ยังไงอีตาบัว เข้าใจไหม ก็ต้องเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น แต่พอท่านเห็นทางโลกนาถเขามา เขาไม่ฉันเนื้อฉันปลา ลาดผ้าขาวให้เดิน เดินไปอย่างเพลินตัว นั่น... เพียงเท่านั้นก็จับได้แล้ว ลาดผ้าขาวมานะ... แล้วให้เดินเหยียบผ้าขาวสบายๆ เลย นี่จับได้แล้ว พระจริงจังยังไงเป็นอย่างนี้ ถ้าจะเอาตามหลักธรรมหลักวินัยจริงๆ ไม่ฉันเนื้อฉันปลา พวกพี่น้องชาวไทยเราก็ตื่นตามเขาไป นี่พระก็ตื่นไปกับเขา อันนี้เราก็เห็นใจที่ต่างคนต่างตะเกียกตะกายหาความดี อะไรที่นึกว่าจะดิบจะดีจะเลิศจะเลอก็ต้องขวนขวายหา เพราะทางไม่เคยเดิน สิ่งไม่เคยปฏิบัติ อรรถธรรมซึ่งเป็นธรรมละเอียดลออมาก ก็ต้องได้พยายาม

แต่ท่านอาจารย์อุ่นท่านก็ไปผิดพลาดเรื่องไม่ฉันเนื้อฉันปลากับเขามาพักหนึ่ง แล้วท่านอาจารย์ถิรก็เป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์อุ่น ก็วิ่งตามกันไปพักหนึ่ง ไม่ฉันเนื้อฉันปลา เลยเป็นเรื่องอาละวาดไปนะ การไม่ฉันเนื้อฉันปลา ไปที่ไหนเห็นเป็นพระนี่ เป็นแร้งเป็นกาไปหมด เป็นพระยักษ์พระผี กินเนื้อกินหนังอะไรว่างั้น เลยไปกระทบกระเทือนไป ท่านพระอาจารย์อุ่นเรานี้ล่ะ นี้เหตุที่จะมารวมยอดก็มาคอยฟังก็แล้วกัน

สำหรับท่านอาจารย์มั่นที่เป็นอาจารย์ของท่านอาจารย์อุ่น ท่านกระทบกระเทือนใจมาก

ทำไมท่านอุ่นเรานี้น่ะ ก็ศึกษาไปจากเราแล้ว หลักธรรมหลักวินัยก็มีแบบฉบับเต็มตัวอยู่แล้ว ก็พาปฏิบัติแล้ว ทำไมจึงไปหลงกับเขาอย่างนั้น

นี่ท่านอาจารย์มั่นท่านรำพึงถึงท่านอาจารย์อุ่น เพราะเป็นลูกศิษย์ของท่าน

ทำไมท่านอุ่นจึงหลงผิดไปอย่างนั้น ว่างั้น

นี้ก็พอดีจังหวะท่านอาจารย์อุ่นก็มาหาพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นเราที่หนองผือ นี่ล่ะที่จะได้คว่ำกัน ลงตรงนี้ล่ะ คว่ำเรื่องไม่ฉันเนื้อฉันปลา

พอขึ้นไปท่านก็ใส่เปรี้ยงเลยทันที เราก็อยู่ที่นั่น ฟังชนิดชัดเจนระหว่างลูกศิษย์กับอาจารย์ ท่านฝึกหรือท่านซักท่านฟอกกันเอาอย่างหนักทีเดียว พอมาขึ้นมานั่งปั๊บ

เอ๊า... อุ่น ขึ้นเลยทันที

พระพุทธเจ้าท่านฉันเนื้อฉันปลา ท่านเห็นไหมตามหลักธรรมหลักวินัย พระพุทธเจ้าท่านเป็นยักษ์เป็นผีเหรอ

นั่นขึ้นเลยนะ

นี่ผมก็ฉันเนื้อฉันปลา ท่านนอกจากจะเป็นลูกศิษย์ตถาคตแล้วก็ยังมาเป็นลูกศิษย์ผมอีก ผมก็ฉันเนื้อฉันปลา ผมก็เป็นยักษ์เป็นผี ท่านเปนเทวบุตรเทวดามาจากไหน เอ๊า... เอาความรู้ความวิชาที่ท่านไม่ฉันเนื้อฉันปลามาสอนพระพุทธเจ้าแล้วมาสอนผม หน่อย เอ๊า... เอา...เดี๋ยวนี้ เอา...สอน ถ้าผมควรจะกราบ ผมจะกราบท่านเดี๋ยวนี้ อาจารย์กราบลูกศิษย์ไม่เคยเห็น ก็ให้ได้เห็นเสียว่าท่านอุ่นนี้เก่งกว่าผม ผมจะกราบท่านอุ่น

ว่าอย่างนี้เลยนะ ท่านเอาอย่างเด็ดที่หนองผือนะ ใส่เปรี้ยงๆ ก็ในฐานะลูกศิษย์กับอาจารย์ท่านสอนกัน เราจะไปคือสีถือสาไม่ได้นะ ควรจะหนักต้องหนัก ควรจะเบาต้องเบา ระหว่างลูกศิษย์กับอาจารย์ที่เป็นความสนิทติดพันกันมานมนาน เป็นความห่วงใยถึงกันและกัน นี่เพื่อเห็นโทษเห็นกรรมทั้งหลาย ท่านก็ซักเอาอย่างหนักๆ เลยทีเดียวนะ เอาอย่างเด็ด นี่... เราพูดมาอย่างย่อๆ นะ

พอออกจากนั้น ท่านอาจารย์อุ่นพลิกปุ๊บเลยทันที เพราะท่านเอาอย่างเด็ดนะ

เอ๊า... ถ้าท่านเก่งกว่าศาสดา เก่งกว่าผมแล้ว เอา ให้ทานไปสอนโลกดูสินะ แทนศาสดา

ขึ้นทันทีเลย พอจากนั้นท่านอาจารย์อุ่นท่านก็เป็นผู้มีเจตนาดี ตะเกียกตะกายนี่เพื่อความพ้นทุกข์ด้วยกัน เช่นอย่างอดอาหาร ท่านก็คิดว่าจะถูกทาง ท่านก็ต้องทำไป แต่ผู้ที่เหนือกว่าท่านยังมีนะ ก็พอดีท่านก็มีวาสนามากอยู่นะ ท่านอาจารย์อุ่น พอมาหาท่านอาจารย์มั่นนี้ ท่านใส่เปรี้ยง ๆ นี้เลยไม่รอนะ อยู่หนองผือนะ บอก

เอา... เอ๊า... สอนผมหน่อยนะ ความรู้วิชาที่ท่านได้มาจากการไม่ฉันเนื้อฉันปลานี่นะ เลิศเลอยิ่งกว่าความรู้วิชาของพระพุทธเจ้าที่ตรงไหน เอามาอวดกัน

ใส่เปรี้ยงๆ

ต่อจากนี้ไปแล้ว ท่านพลิกปุ๊บเลยทันทีนะ นั่นเห็นไหมล่ะ ลูกศิษย์ที่มีครู เมื่อครูเตือนเอาอย่างหนัก ท่านก็พลิกอย่างหนักเหมือนกัน ท่านหยุดเลย การไม่ฉันเนื้อฉันปลา ตั้งแต่วันนั้นมา หยุด

ทีนี้เริ่มมาฉันเนื้อฉันปลา ทีแรกเอาไข่มาใส่ในบาตร คาวแล้ว เหม็นคาว เอามาใส่บาตร อาเจียนออกมา ท่านก็พลิก

อ้าว... ตั้งแต่ก่อน แต่เกิดมาก็กินสิ่งเหล่านี้ พอมาอดไม่ฉันเนื้อฉันปลาเพียงสองสามวันเท่านั้นมาฉันแล้วจะมาแสดงอาการอย่าง นี้อวดธรรมพระพุทธเจ้า ไม่เอา

ว่างั้นเลยนะ เวลาเอาไข่ใส่ในปากอาเจียนออกมา คือมันคาว ท่านก็พลิกปุ๊บเลย เอาจนได้ เอา... อาเจียนก็อาเจียน ใส่เสียจนกระทั่งปกติ

ท่านฉันเนื้อฉันปลาปกติจนท่านมรณภาพไป เป็นลูกศิษย์ที่ยอมรับครู เป็นลูกศิษย์ที่ดี หาได้ยาก อาจารย์ของท่านก็คือท่านอาจารย์มั่น ท่านกับอาจารย์ ก็เป็นอาจารย์ที่สำคัญมาก โปรดลูกศิษย์ ลูกศิษย์ก็สำคัญ ยอมรับกันทั้งสองฝ่าย ลูกศิษย์ก็ยอมรับอาจารย์ อาจารย์ก็ยอมที่จะแนะนำสั่งสอนต่อไป นี่...

นี่เรื่องของท่านอาจารย์ถิร ก็เป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์อุ่น พอเห็นอาจารย์เดินไป ลูกศิษย์ก็ตามกันไป ก็เพราะเจตนาหวังจะหลุดพ้นทุกข์ จะว่าใครผิดใครถูกอย่างเดียวไม่ได้นะ เรื่องเหล่านี้ เจตนาเป็นของสำคัญมาก มีผิดบ้างพลาดบ้างเพราะทางไม่เคยเดิน คนเราต้องผิดต้องพลาดบ้างเหมือนกัน

นี่เราพูดถึงความสนิทระหว่างท่านอาจารย์ถิร ท่านอาจารย์อุ่น กับเรา สนิทกันมากอยู่นะ ท่านก็มรณภาพไปแล้ว ท่านอาจารย์อุ่น ท่านอาจารย์ถิรนี้ก็มรณภาพไปแล้ว ก็รู้สึกว่าว้าเหว่อยู่มากเหมือนกัน

ท่านเป็นผู้ตั้งอกตั้งใจจริงจัง ทำจริงทำจัง เราก็มาเล่าเรื่องของท่านให้ฟัง เล่าเรื่องนี้ คือเจตนาของท่านเพื่อหลุดพ้นจากทุกข์ วิถีทางใดที่พอจะเป็นไปได้ก็ต้องตะเกียกตะกายเป็นธรรมดาคนเรา นี่

ท่านก็ตะเกียกตะกายไป เมื่อเห็นว่าไม่ถูก ท่านก็ปล่อยปุ๊บ ๆ อันไหนถูกท่านก็จับปุ๊บๆ ตลอดมา เพราะฉะนั้น ท่านอาจารย์ถิรก็ดี ท่านอาจารย์อุ่นก็ดี พลิกกลับหมด ไปตามครูตามอาจารย์ ท่านก็เรียบร้อยเป็นพระธรรมดาไป นี่จึงเรียกว่าเป็นที่น่าชมเชย ท่านไม่มีทิฐิมานะ เห็นว่าผิดท่านปัดเลยทันที แต่ก่อนเห็นว่าถูก ท่านก็คว้าๆ เหมือนเราๆ ท่านๆ นี่แหละ เมื่อเห็นว่าผิดท่านก็พลิกกลับไปเลย แล้วปฏิบัติเรียบร้อยดีงามมา จนกระทั่งท่านมรณภาพจากไป นี่ก็เป็นที่น่าอนุโมทนาเจตนาของท่านเป็นอย่างมากทีเดียว

วันนี้ก็มาในงานของท่าน นี่เริ่มไม่ทราบว่าเทศน์หรือไม่เทศน์ เทศน์ก็แปลว่าบอก ว่าสอน ฟังซิพี่น้องทั้งหลาย สอนหรือไม่สอนเรื่องนี้น่ะ นี่ก็มาในงานของท่าน เพราะแต่ก่อนที่อยู่มีชีวิตอยู่ไม่ได้มาคบค้าสมาคมกันบ่อย เพราะต่างท่านต่างมีการมีงานยุ่งเหยิง วุ่นวาย ท่านก็ยุ่ง เราก็ยุ่ง เฉพาะอย่างยิ่งเรานี้ยุ่งกว้างขวางมากมายทั่วประเทศเขตแดน จึงไม่ค่อยได้เข้ามาหาท่าน ท่านก็ไม่ค่อยได้มาเยี่ยมเรา แต่ความสนิทสนมภายในจิตใจด้วยศีลด้วยธรรมต่อกันนั้น สนิทตลอดมาอย่างนี้ล่ะ

นี่วันนี้เป็นวันครบรอบท่าน ขอให้บรรดาพี่น้องทั้งหลายซึ่งเป็นลูกศิษย์มีครู อาจารย์ถิรเป็นครูของบรรดาพี่น้องทั้งหลาย ท่านไม่เคยสอนผู้ใดให้ไปทำความชั่วช้าลามก เพื่อตกนรกอเวจี เพื่อติดคุกติดตะราง ท่านสอนเพื่อฉุดลากออกจากความชั่วช้าลามกอันเป็นสาเหตุแห่งความทุกข์ทั้ง หลายโดยถ่ายเดียวเท่านั้น นี่เรียกว่าอาจารย์ อาจารย์สอนลูกศิษย์

นี่ท่านมรณภาพไปแล้ว เราทำบุญอุทิศส่วนกุศล ใครมีสมบัติเงินทองข้าวของมากน้อยมาบริจาคทาน แล้วก็ขอตั้งจิตอุทิศส่วนกุศลถึงท่านที่มีคุณต่อเรา เวลามีชีวิตอยู่ ท่านสอนอรรถสอนธรรมะให้พวกเราให้รู้เรื่องรู้ราวต่างๆ เราก็จะได้ปฏิบัติตัวไปตามแนวทางของอรรถของธรรมที่ท่านสั่งสอนเรา

ลำพังหัวใจของเรานั้นมันเอาแน่ไม่ได้ทั้งนั้นแหละ บอกว่าทั้งนั้นเลย เพราะว่าในหัวใจของเรานั้นมันมีมหาโจรมหามารมหาภัยอยู่ในใจ ความโลภก็เป็นภัย ความโกรธก็เป็นภัย ราคะ ตัณหา ก็เป็นภัย ความหลงไม่รู้จักตื่น เรียกว่าหลับไม่ตื่น ก็เป็นภัย เหล่านี้เต็มหัวใจ ธรรมะคำสั่งสอนของท่านที่ชี้แจงลง ก็ชี้แจงลงในจุดที่เป็นภัย ให้เราพากันระมัดระวังรักษาและกำจัดปัดเป่าสิ่งที่เลยเถิดเลยแดนไป เช่น ความโลภ อย่าพากันโลภมากนัก โลภจนเป็นฟืนเป็นไฟเผาไหม้ทั้งตัวเองและส่วนรวม ไม่ใช่ของดี นั่น... ท่านเรียกว่ากิเลส

กิเลสคือฟืนคือไฟเผาไหม้ สัตว์ทั้งหลายให้หาความสุขความสบายไม่ได้ เราอย่านำมาใช้ เรื่องความอยาก ความอยากได้ อยากได้ด้วยกันทุกคน แม้แต่สัตว์เขาก็อยาก เขาก็อยากได้เหมือนกัน คนเรายิ่งมีศีลมีธรรม ควรจะมีความประมาทในเรื่องความอยากทั้งหลายบ้างนะ อย่าให้มีแต่เลยเถิดเตลิดเปิดเปิง

ความอยากนี่มันกระทบกระเทือนแก่คน อื่นไม่น้อย เช่นในแผ่นดินไทยเรานี้ ความอยากมีกันทุกคน แต่ยกผู้ใดขึ้นให้เป็นเจ้าอำนาจ เป็นผู้ปกครองบ้านเมือง ใช้อำนาจทุกสิ่งทุกอย่างที่จะใช้นั้นนะ ใช้อำนาจเป็นไปในทางที่ผิด เช่นอย่างโลภ ไม่มีความอิ่มพอ อย่างนี้ มันโลภมันกินตับกินปอดประชาชนพลเมืองทั่วประเทศก็ได้ ท้องเจ้าของจะป่องเท่าไรก็ไม่พอๆ เจ้าของพอแล้ว ท้องเจ้าของพอแล้ว ลูกเจ้าของยังไม่พอ ต้องหาให้ลูก

เจ้าของพอแล้ว มีลูกกี่คน หาใส่ท้องลูกด้วยความทะเยอทะยาน ด้วยความหาได้ไม่พอๆ เอามายัดใส่ท้องลูก ลูกมีกี่คนลูกหญิงลูกชาย ไปหาได้มาด้วยความโลภ มายัดใส่ท้องของลูก ลูกก็ท้องไม่มีอิ่ม เอายัดใส่เมีย ทีนี้เมียมีกี่คน คนมีอำนาจมาก กิเลสตัณหาก็พองตัว เมียคนหนึ่งไม่พอ อยากได้สองเมีย สามเมีย หรือมากกว่านั้น เลยเถิดเตลิดเปิดเปิง นี่คือได้แก่กิเลส ความโลภ ตัณหา

นี่แหละ เวลาให้เป็นผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมือง มันเที่ยวโกยเที่ยวรีดเที่ยวไถจากคนอื่นมาป้อนลูกป้อนเมีย ป้อนหลานป้อนเหลน ป้อนพรรคป้อนพวก ป้อนคณะ มีเท่าไรของตนเอง เข้าไปแล้วเป็นยักษ์เป็นผีไปตามๆ กันหมด มีแต่พวกท้องใหญ่ ๆ กินไม่อิ่มไม่พอ นี่คือโทษแห่งความโลภ ความอยากได้ไม่พอ นี่เป็นภัยต่อส่วนรวมมากมาย หามาเท่าไรไม่พอ สุดท้าย ตับ ปอดของประชาชนพลเมืองทั้งหลายจะไม่มีเหลือ ไปกองอยู่ที่ในตับปอดของลูกของหลาน ของปู่ย่าตายายของโคตรของแซ่ ของพวกมีอำนาจมาก ขี้โลภมากๆ อำนาจป่าๆ เถื่อนๆ นั่นแหละ นี่ นี่คือความโลภที่ไม่มีธรรม

ดังนั้น จงอย่าโลภมากนะ ท้องทุกคนมีเท่ากัน พออิ่มแล้วก็รู้ตัวด้วยกัน สัตว์มันก็รู้ เวลากินอิ่มมันก็รู้ หมูหมาเป็ดไก่เขากินอิ่มเขาก็รู้ แต่มนุษย์เรานี้กินอิ่มแล้วไม่รู้ คือไม่รู้ด้วยความโลภ โลภเท่าไรไมพอ มีแต่โลภตลอดไป ๆ เรียกว่าโลภไม่พอ ชั่ว เลวยิ่งกว่าสัตว์ สัตว์เขากินอิ่มแล้วเขาพอ เขาไม่ได้สะพายไปใส่ตู้ใส่หีบ ไปยึดไปเยียด ไปที่ใดที่หนึ่งแล้วใบ้ออกมากิน ใบ้ออกมากิน เลี้ยงกันในพรรคในพวกของตนเอง อันนี้เขาไม่มี

แต่มนุษย์เราที่ไร้ศีลไร้ธรรมเพราะอำนาจแห่งป่า เถื่อนนี้มาครองบ้านครองเมืองนี้เป็นไปได้ ประชาชนทั้งหลายเดือดร้อนไปได้ นี่เพราะมหาภัยต่อศีลต่อธรรม ท่านจึงสอนอย่าให้โลภมาก เราเป็นผู้ใหญ่ เราก็ท้องเท่าเขานั่นแหละ เขาเป็นผู้น้อย เขาก็มีท้อง มีหู มีตา มีใจเช่นเดียวกับเรา ให้เฉลี่ยเผื่อแผ่ความรู้สึกให้สม่ำเสมอกัน การใช้อำนาจ ถ้าใช้ในทางที่ถูกที่ดี ท่านก็เรียกว่าเป็นธรรม ถ้าใช้ด้วยอำนาจแห่งป่าๆ เถื่อนๆ คือ ครองโลกด้วยโลภปาเถื่อน โกรธปาเถื่อน แค้นป่าเถื่อน ทำลายกันด้วยความเป็นป่าๆ เถื่อนๆ หาเมียได้ไม่รู้กี่คนป่าๆ เถื่อนๆ มองไปที่ไหนมีได้เมียๆ ปาเถื่อนทั้งนั้น นี่ เรียกว่าพวกป่าเถื่อน เป็นใหญ่เท่าไรยิ่งป่าเถื่อน เพราะมีตั้งแต่กิเลส ไม่มีธรรมเข้าแฝงใจ ด้วยเหตุนี้ธรรมท่านจึงตำหนิ

วันนี้ก็พูดถึงเรื่องตั้งแต่ท่านอาจารย์ถิรมา แล้วก็มาพูดถึงเรื่องท่านนำธรรมะมาสอนพวกเรา สอนก็สอนไปอย่างที่สอนอยู่ในเวลานี้ล่ะ ให้พากันอยู่ด้วยความพอดิบพอดี อย่าโลภเกินไป นั่งอยู่ด้วยกันบนศาลานี้ มีคนใดรายใดที่พ้นไปจากความตาย จะไม่ตายมีไหม ไม่มีแม้คนเดียว ที่สุดผู้เทศน์อยู่เวลานี้ก็ดี เป็นแต่เพียงก่อนหรือหลังกันเท่านั้น

เรื่องความตายครอบไว้แล้ว เรื่องกรรมดีกรรมชั่วที่เป็นอำนาจอันใหญ่หลวงเหนือสัตว์โลกทั้งหลายก็ครอบ ไว้แล้วในหัวใจเรา เราไปทำความชั่ว เราอย่าเข้าใจว่าความชั่วนี้จะอยู่ใต้อำนาจของเรา ว่าไม่ให้เป็นบาปไม่ให้เป็นกรรมอะไรนี้ เป็นไปไม่ได้ ทำชั่วเป็นชั่ว ทำดีเป็นดี จะเอาใครมาก็ตาม มาเอามือแหย่เข้าใส่ไฟดูซิน่ะ ไฟนี้เป็นไฟผู้ใหญ่ผู้โตนะนี่ เอาไปจี้ใส่ไฟ ไฟไม่ร้อนไม่มี ไหม้เหมือนกันหมด

นี่กรรมของสัตว์ก็เหมือนกัน นตฺถิ กมฺมสมํ พลํ ไม่มีอะไรมีอำนาจเหนือกรรมดีกรรมชั่วนี้ไปได้เลย สัตว์โลกอยู่ใต้อำนาจแห่งกรรมทั้งหลายเหล่านี้ เพราะฉะนั้น เราเป็นผู้อยู่ใต้อำนาจแห่งกรรม จงระวังกรรมที่เราทำลงเป็นเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว ถ้ากรรมชั่วก็เป็นภัยต่อเราผู้ทำ ถ้ากรรมดีก็เป็นคุณสมบัติ เป็นบุญ เป็นวาสนาบารมี เพิ่มวาสนาบารมีของเราให้สูงส่งขึ้นไปเป็นลำดับ

จงให้พากันเคารพกรรม เคารพความตาย แล้วว่าเราจะต้องตายด้วยกัน เวลายังไม่ตายให้ทำความดีงามเสีย นี่เรียกว่าสร้างกรรมดีก่อนที่จะตาย ตายแล้วไปผาสุกร่มเย็น

ผู้ตายด้วยอำนาจแห่งบาปแห่งกรรม กับผู้ตายด้วยอำนาจแห่งคุณงามความดี เช่นอย่างพระพุทธเจ้าสาวกทั้งหลายตาย กับพวกสัตว์ทั้งหลายตายนี้ ต่างกัน เรียงลำดับกันลงมา คือพระพุทธเจ้ากับสาวกทั้งหลายตายเรียกว่า นิพพาน ไปที่เมืองประเสริฐ เกษมศานต์สำราญโดยถ่ายเดียวทั้งหมด แล้วทีนี้ลดรองลงมา ก็ลดหลั่นกันลงมา ชั้นนั้นชั้นนี้ ลดกันลงมา เป็นที่บรรจุของคนมีคุณงามความดี โสดา สกิทา อนาคา ลดหลั่นลงมา กัลยาณปุถุชนที่มีความดีทั้งหลาย อย่างเราๆ ท่านๆ สร้างคุณงามความดี เราก็ขึ้นไปอยู่สถานที่ดีๆ นี่กรรมดีท่านหนุนให้ขึ้นไป แต่ผู้ที่ทำความชั่ว ผลักลงๆ ดันลงๆ จนกระทั่งถึงนรกอเวจี เป็นสถานที่บรรจุของคนชั่วช้าลามกทั้งหลายทั้งนั้น นี่กรรมนี้มาจากไหน มาจากเราผู้เป็นผู้ทำ อำนาจแห่งกรรมนี้ก็บังคับเรา ใครจะอยากไปตกนรก มันก็ไปตกได้ถึงเวลามันที่จะไปตกแล้ว นี่ละ ให้พากันระมัดระวังเสียตั้งแต่เวลายังมีชีวิตอยู่นี้ ตายไปแล้วจะไม่เกิดประโยชน์อะไรนะ

ธรรมของพระพุทธเจ้ากระเทือนโลก ทั้งสามมาเป็นเวลานาน เฉพาะอย่างยิ่งพระสมณโคดมของเรา ได้สองพันห้าร้อยกว่าปีนี้แล้ว กระเทือนโลกทั้งสาม กามโลก รูปโลก อรูปโลก กระเทือนมาทั้งสามโลกธาตุนี้มานานแสนนาน แล้วย่นเข้ามาหาพวกเราที่อยู่ในศาลานี้นะ มีกระเทือนจิตใจของใครบ้างมากน้อยเพียงไร อำนาจแห่งธรรมพอจะเข้าถึงใจได้ นำไปเป็นเครื่องเตือนใจตนเองเพื่อจะปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ได้ตามเสด็จพระพุทธเจ้าไปโดยลำดับ จนกระทั่งถึงนิพพานเหมือนท่าน มันมีไหม ให้ถามตัวเองนะ นั่งอยู่บนศาลาด้วยกันนี้ มีหัวใจด้วยกัน ต่างคนต่างอยู่ใต้อำนาจแห่งกรรมดีกรรมชั่วเหมือนกัน แล้วเอาไปชั่งตัวเอง เวลานี้เราทำกรรมชั่วช้าลามกมาเท่าไร ความชั่วช้าลามกนี้กำลังฟักตัวอยู่ในหัวใจเรา สักตัวอยู่นี้ยังไม่แสดงฤทธิ์เดช ทีนี้ความดีก็กำลังฟักตัวอยู่ในหัวใจของผู้สร้างคุณงามความดีแล้ว ให้นำไปพินิจพิจารณา ถ้าเป็นกรรมชั่วช้าลามก ให้ใปกระจัดกระจายทำลายมันออกไป ตั้งแต่นี้ต่อไปจะไม่ทำ เห็นโทษแห่งการทำชั่วของตน แล้วเราจะทำตั้งแต่ความดีงามทั้งหลายให้เพิ่มพูนบารมีของเราขึ้นเท่านั้น นี้เรียกว่าฟังเทศน์แล้ว เอาไปเป็นคติเครื่องเตือนใจตนเอง

แก้กรรม แก้อะไรต้องแก้ตั้งแต่เวลามีชีวิตอยู่นี้ ตายแล้วจึงไปแก้ไม่มีความหมายนะ ให้รีบแก้ ธรรมพระพุทธเจ้าก็สอนแต่เวลายังมีชีวิตอยู่นี้ ตายแล้วไม่สอน ยกตัวอย่างเช่น ดาบสทั้งสองที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วทรงเล็งญาณดู ก็มาเจอเอาดาบสทั้งสองนี้ จะได้ตรัสรู้หรือบรรลุธรรมอย่างรวดเร็ว แต่ได้สิ้นเสียแต่เมื่อเย็นวานนี้ โอ้ย น่าเสียดายนะ

นั่น... เห็นไหมล่ะ โอ้ย... น่าเสียดาย เสียดาย ถ้าท่านทั้งสองนี้ยังอยู่จะต้องได้เป็นพระอรหันต์ขึ้นในไม่ช้านี้เลย แต่นี่ก็เสียไปแล้ว นั่น... ท่านก็ไปเสวยบุญของท่านอยู่บนพรหมโลกเป็นเวลานานเท่าไรก็ยังไม่พ้นจากทุกข์ นี่ก็หมดหวังที่พระพุทธเจ้าจะทรงสั่งสอน ทรงย้อนเข้ามาหาเบญจวัคคีย์ทั้งห้าซึ่งยังมีชีวิตอยู่ พอแสดงธรรมลงไปว่า ทฺเวเม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แต่พูดนี้มันเร็วไปหน่อย บางทีผิดพลาดไปก็ตาม แด่เนื้อธรรมไม่ผิด

พอพระพุทธเจ้ามาแสดงเพียงเท่านั้น พระเบญจวัคคีย์ทั้งห้านี้ พระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม กระแสพระนิพพานพาดพิงถึงแล้ว ถึงขนาดที่ออกอุทานว่า

ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ

คือ สิ่งใดก็ตาม เกิดขึ้นแล้วดับทั้งนั้น ได้มาประจักษ์ใจแล้วในวันนี้ แต่ก่อนก็อยู่กับสิ่งที่รกรุงรัง เต็มไปด้วยอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งเขาทั้งเรา ก็ไม่ทราบว่าสิ่งเหล่านี้เป็นภัยต่อเรา เราไปหลงเขา บัดนี้ได้ทราบแล้ว อะไรก็ตามเกิดมา ดับทั้งนั้น ไม่ควรที่จะยึดจะถือสิ่งเหล่านี้ต่อไปยิ่งกว่าการยึดอรรถยึดธรรมเพื่อมรรคผล นิพพาน

นี่คืออุทานของพระอัญญาโกณฑัญญะแสดงขึ้น พระพุทธเจ้าก็ทรงเปล่งพระอุทานรับพระอัญญาโกณฑัญญะว่า

“อญฺาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโ อญฺาสิ วต โภ โกณฑญฺโ”

พระอัญญาโกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอๆ นี่ พระองค์ทรงอุทานต้อนรับเบญจวัคคีย์ที่ยึดได้แล้วซึ่งกระแสแห่งพระนิพพาน พาดพิงถึงแล้ว จากนั้นวันหลังต่อมาก็ทรงเทศน์อนัตตลักขณสูตร เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้ท่านเหล่านี้ทราบ บรรลุธรรมทั้งห้าองค์เลย นั่น วันแรกบรรลุตั้งแต่พระอัญญาโกณฑัญญะ พอวันต่อมาแสดงอนัตตลักขณสูตร ท่านเหล่านี้ได้บรรลุธรรมได้ทั้งหมด นี่หลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งมวล

นี่ละธรรมของพระพุทธเจ้ากระเทือนโลกมาตั้งแต่โน้นมาจนกระทั่งบัดนี้ มันมากระเทือนจิตใจของเราบ้างหรือไม่ หรือมีตั้งแต่ความโลภ ความโกรธ ราคะ ตัณหา มีแต่ความรื่นเริงบันเทิง ไม่รู้จักเป็นจักตายทั้งที่ป่าช้าติดคอๆ อยู่ด้วยกันทุกคน ไม่มองป่าช้าในตัวของเรานี่ตายจมนะ

ขอให้ท่านทั้งหลายจำเอาไว้นะ ถ้าไม่ดูตัวของเราซึ่งเป็นตัวพิษตัวภัย หาตั้งแต่สิ่งเสนียดจัญไรเข้ามาพอกพูน มันจะมีแต่ฟืนแต่ไฟ ตายแล้วจม อย่าไปประมาท อย่าไปเหยียบหัวพระพุทธเจ้านะ ว่าบาปไม่มี บุญไม่มี นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี พรหมโลกไม่มี นิพพานไม่มี นี้คือธรรมอันเอก มีมาตั้งกัปตั้งกัลป์ มีตั้งแต่กาลไหนๆ มา

พระพุทธเจ้าพระองค์ใดก็ตามมาตรัสรู้ธรรม จะต้องได้เจอได้เห็นสิ่งเหล่านี้ ทั้งฝ่ายที่เป็นคุณ ทั้งฝ่ายที่เป็นโทษ และนำมาชี้แจงแสดงต่อสัตว์ทั้งหลายให้ทราบว่า บาปมี บุญมิ นรกมี สวรรค์มี ให้ระวัง ส่วนเป็นบาปเป็นกรรมจะเป็นขึ้นที่เราผู้ทำ บาปเป็นบาป ไฟเป็นไฟ ถ้าเราไม่ไปแตะต้องไฟ ไฟก็ไม่มาเผาเรา บุญเป็นบุญ ถ้าเราไม่ไปเสาะแสวงหา บุญไม่มีแก่เรา ให้รีบพิจารณาตัวเองเสียตั้งแต่บัดนี้ ความหมายว่าอย่างนั้นนะ

ท่านสอนไว้อย่างนี้แล้ว พวกเราอยู่ในข่ายแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้นำมาพินิจพิจารณาด้วยดี ตายแล้วจะไม่เกิดประโยชน์อะไรนะ ธรรมะนี้กระเทือนโลกมาได้สองพันห้าร้อยกว่าปีแล้ว มันกระเทือนจิตใจของเราบ้างไหม เอามาถามตัวเองเสีย ถ้าคนอื่นมาถามมันจะโกรธจะแค้น เป็นความกระทบกระเทือนต่อกัน ให้เรานำธรรมเข้ามาตีกิเลส ตัวมันชอบกระทบกระเทือนคนอื่น เอาธรรมเข้ามาดีในตัวเอง ให้กระทบกระเทือนในตัวเองแล้วมันจะรู้ด้วยแล้วจะแก้ไขดัดแปลงสิ่งที่ไม่ดี ทั้งหลายนั้น นำเอาสิ่งความดีเข้ามาสู่ใจของเรา เราจะค่อยมีความรื่นเริงบันเทิงขึ้นไปเป็นลำดับจากใจดวงนี้นะ

ใจดวงนี้ เวลานี้หาค่าหาราคาไม่ได้ก็ว่าได้ เพราะอำนาจของมูตรของคูถ คือขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง มันครอบอยู่ที่หัวใจของสัตว์โลกทุก ๆ ดวงเลย เว้นใจพระพุทธเจ้ากับพระอรหันต์มันครอบไม่ได้อันนี้สง่าเลย นี่ อันนี้แหละมันครอบอยู่ มันจึงไม่มีคุณค่ามีราคา แล้วเลยยกเอาวัตถุอันนี้วัตถุอันนั้นมาเป็นเครื่องประดับตน มาเป็นเครื่องส่งเสริมตนเองให้มีค่ามีราคาขึ้นมา จากเงินจากทอง จากข้าวจากของ จากวัตถุสิ่งก่อสร้างต่างๆ มีบ้านมีช่อง มีไร่มีนา มีเรื่องสวนอะไรต่ออะไร บริษัทบริวารมาก เลยเสริมตนไปว่ามีบุญมีวาสนามาก อันนั้นเป็นสิ่งภายนอกนะ

สิ่งภายในคือใจนี้มีอะไรเสริมบ้าง หรือมีตั้งแต่กองมูตรกองคูถ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เผามันอยู่ทั้งวันทั้งคืนนั้นเหรอ ให้เอาไปถามตัวเองซิตัวนี้ ถ้าถามตัวเองตรงนี้แล้วจะได้แก้ไขตนเอง เรื่องหอปราสาทราชมณเฑียร เงินทอง ข้าวของไม่ต้องพูด ถ้าลงได้ ธรรมสมบัติได้เข้าสู่ภายในใจแล้ว มันจะรู้เท่าทันไปหมด สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเครื่องอาศัยชั่วกาลชั่วเวลา ไม่ได้เป็นเครื่องที่ติดตายกับมันนะ ธรรมต่างหากที่พึ่งเป็นพึ่งตายได้ ให้พากันนำไปพินิจพิจารณา เรื่องอรรถเรื่องธรรมเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อไร เวลานี้ความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่ว่ามูตรว่าคูถ มันกำลังครอบหัวใจเราอยู่ เรายังไม่รู้เรื่องรู้ราวก็เพลินไปกับมันๆ เพราะฉะนั้นจึงค่อยให้หาธรรมเข้ามา เรียกว่าหาธรรมเข้ามาส่งเสริมใจ

เฉพาะการภาวนาเป็นของสำคัญมากนะพี่น้องทั้งหลาย ทั้งหญิงทั้งชาย นักบวช ฆราวาส เป็นความสำคัญมากที่จะเปิดจ้าขึ้นมาในสิ่งที่แปลกประหลาดอัศจรรย์ทั้งหลาย

ใจเท่านั้นซึ่งเป็นนักรู้ที่จะเปิดจ้าขึ้นมา นอกนั้นใครจะเอาอะไรไปเปิดไม่ได้ ตามีร้อยตา ไม่มีความหมาย ตาคน ตาสัตว์ หูคน หูสัตว์ ตาทิพย์ หูทิพย์ ใจทิพย์ จากธรรมนี้เป็นของที่แปลกประหลาดอัศจรรย์มากทีเดียว ให้นำธรรมเข้ามาบังคับใจ นำธรรมเข้ามากำจัดปัดเป่าสิ่งชั่วช้าลามกที่มีอยู่ภายในจิตใจของเราออก แล้วใจของเราจะสว่างจ้าขึ้นมา

นี่ล่ะทีนี้ เมื่อใจได้ปรากฏตัวขึ้นมาแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยห้อมล้อมกับเรา ส่วนมากมันมีแต่พิษแต่ภัย เราเห็นว่าเป็นคุณทั้งนั้น รื่นเริงบันเทิง ติดเขาพัวพันเขาจนจะเป็นจะตายกับเขา บุญกุศลที่ฝากเป็นฝากตายจริงๆ ไม่สนใจเลย สนใจแต่ด้านวัตถุ ฉายไปแล้วมาเป็นเปรตเฝ้าบ้านเข้าเรือนเฝ้าวัตถุสิ่งของเงินทองไป มีเยอะนะ นั่นแหละที่เขาว่าดี เป็นยังไงตายแล้วจึงไปเป็นเปรต เราไม่ดี ดีแต่เขานะสิ แต่เราไม่ดี อันนั้นก็ดี อันนี้ก็ดี มีแต่ของดีๆ แต่ตัวมันเลว ตายแล้วเป็นเปรตก็คือตัวของเราเอง สิ่งเหล่านั้นเขาไม่ได้เป็นเปรตนะ มันเป็นเปรตที่ตัวของเรา จึงต้องให้แก้ตัวของเราให้รู้จักว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่มีที่อาศัยอยู่ ชั่วกาลเวลาที่เรายังมีชีวิต ให้พึ่งมันไปเพียงเท่านั้น ส่วนคุณงามความดีอยู่ภายในจิตใจให้สั่งสมขึ้นมาๆ

เฉพาะอย่างยิ่งการภาวนานี้เด่นมากนะ เราพูดอย่างอาจหาญจากการภาวนา เพราะเราได้ทำมาแล้ว สอนพี่น้องลูกหลาน พระลูกพระหลานเหล่านี้ สอนอย่างอาจหาญชาญชัยเพราะได้ผลเป็นที่พอใจมาจากการภาวนา จึงพูดเรื่องชาวนาได้อย่างเต็มเหนี่ยวเลย ดังพระพุทธเจ้าท่านสอนโลกจากการภาวนาของท่าน พระสงฆ์สาวกทั้งหลายท่านสอนโลกจากการภาวนา นี่เราก็เป็นลูกศิษย์ตถาคตปฏิบัติมาแทบเป็นแทบตาย ได้อรรถได้ธรรมมามากน้อยจนเป็นที่พอใจในหัวใจ เพราะฉะนั้น การสอนโลกจึงไม่เคยสะทกสะท้านหวั่นไหวกับสิ่งใดที่เป็นสมมุติในสามแดน โลกธาตุนี้ ธรรมเหนือหมด ๆ เอาธรรมมาสอนได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ดังจิตตภาวนา เอ้า ทำลงไปซิน่ะ มันเป็นยังไง มันจะมืดบอดอยู่ตั้งกัปตั้งกัลป์หรือ ธรรมพระพุทธเจ้าเคยชะล้างสิ่งเหล่านี้ให้สว่างกระจ่างแจ้งจนกระทั่งถึงมรรค ผลนิพพานได้ ทำไมเอามาชะล้างจิตใจของเราที่มีมลทินมัวหมองด้วยกิเลสตัณหามืดตื้อให้สว่าง กระจ่างแจ้งไปไม่ได้วะ เอาเข้ามาสิ เอาเข้ามาภาวนา

การฝึกหัดเบื้องต้นภาวนาจะบอกวิธีให้นะ ทั้งพระทั้งฆราวาส ท่านจะได้เห็นความแปลกประหลาดอัศจรรย์ในหัวใจของท่านเอง แต่ก่อนหัวใจนี้เป็นบ๋อยของสิ่งทั้งหลายทั่วโลกธาตุ ไม่เคยมีว่าใจนี้เป็นใหญ่กว่าเขาทั้งหลายนะ มีแต่ใจเป็นน้อย ใจเป็นบ๋อยของเขา วิ่งตามเขา ๆ ทีนี้เวลาภาวนาขึ้นมา จิตมีความสว่างไสว จิตมีความสงบ

การภาวนา วิธีภาวนาคือให้เราตั้งจิตเข้าไป แล้วนำคำบริกรรมเข้ามา จะเป็นคำบริกรรมใดตามแต่จริตนิสัยชอบ เช่น พุทโธก็ได้ ธัมโมก็ได้ หรือมรณสติก็ได้ อานาปานสติก็ได้ ตามแต่จริตนิสัยชอบ แล้วนำธรรมะนั้นเข้ามากำกับใจ เช่น มรณสติ มรณสติ สติติดแนบอยู่กับคำบริกรรมนั้น ไม่ให้จิตมันเผลอออกไปไหน สังขารตัวผิดตัวปรุงนั้นแลคือตัวมหาภัยได้แก่ สมุทัย มันออกจากนี้ เมื่อสติครอบกับคำบริกรรมไว้ ความคิดความปรุงที่เป็นสมุทัย คือสังขารนั้นมันจะไม่คิดออกมาได้ มันจะหนาแน่นขนาดไหนสู้สติไม่ได้ บังคับลง เมื่อจิตได้สติบังคับลงแล้ว จิตไม่มีอะไรเข้ามารบกวน กิเลสไม่กวนให้คิดนั้นคิดนี้เอาไฟมาเผาตัว จิตก็สงบลงได้

เมื่อจิตสงบลงได้ เราก็เห็นผลปรากฏ แล้วจากนั้นก็มีแก่ใจ แล้วภาวนาเข้าไป จิตก็มีความสงบมากขึ้นไปโดยลำดับๆ เพราะมีสิ่งเป็นอารักขาคือสติกับคำบริกรรม รักษาใจ ใจก็มีความสงบร่มเย็น จากนั้นใจก็สง่างามขึ้นมาๆ ที่ใจของเรานี้แหละ ตั้งแต่ก่อนไม่เคยปรากฏสงบเลย แต่พอธรรมเปิดเข้าไปๆ ได้เห็นความแปลกประหลาดอัศจรรย์ขึ้นมาเรื่อย ๆ เลื่อนขั้นเลื่อนภูมิไปเรื่อยๆ สว่างไสว จนกระทั่งได้อุทานในตัวเองว่า จิตเราทำไมถึงได้อัศจรรย์ถึงขนาดนี้ ตั้งแต่เกิดมาเราไม่เคยได้อุทานว่าจิตเราว่ามีความแปลกประหลาดอัศจรรย์ มีแต่วิ่งเต้นอยู่กับความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่เป็นมูตรเป็นคูถตลอดเวลา แล้วเป็นบ๋อยของเราตลอดไปเท่านั้นเอง แต่พอเรามาบำเพ็ญธรรมแล้วจิตของเรามีความสงบเย็นขึ้นมา แล้วสง่างามขึ้นมาๆ นอกจากนี้ ยังรู้ยังเห็นสิ่งต่างๆ อีก ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ พวกเปรต พวกผี เทวบุตร เทวดา อินทร์ พรหม หรือสัตว์นรกไปตกนรกตรงไหน พระพุทธเจ้าทรงเห็นหมดรู้หมด ทีนี้ความรู้อันนี้มันก็เป็นความรู้อันเดียวกัน เพราะจิตเป็นนักรู้ เมื่อเปิดทางมันแล้ว มันจะรู้เห็นไปตามนิสัยวาสนาของตนกว้าง แคบ จะรู้ไปๆ นี้เป็นสิ่งภายนอกสิ่งภายใน กิเลสมีอยู่ภายในจิตใจมากน้อยเพียงใด มันจะทำการชำระล้างเข้าไปๆ จิตสง่างามขึ้นมาๆ ปล่อยวางไปเรื่อยๆ สิ่งที่เป็นมูตรเป็นคูถ แต่ก่อนเราว่าเป็นทองคำทั้งแท่งๆ ทีนี้วางลงตามเป็นจริง คือมันมูตรมันคูถ ตามหลักธรรมชาติของมัน นั่นและไม่มีอะไรเลิศยิ่งกว่าธรรม

ทีนี้ธรรมกระจายขึ้นจากจิตใจของเรา สว่างสง่างามไปหมด สิ่งใดที่ไม่เคยรู้เคยเห็นมันรู้นะ รู้ทีเดียวในจิต นี่ ที่ไม่รู้เพราะอะไร เพราะกิเลสตัวมืดบอดมันปิดบังตาใจไว้ไม่ให้มองเห็น อะไรมีอยู่เท่าไรๆ ก็มองไม่เห็น ดังพระพุทธเจ้าว่าบาปมี มันไม่เห็นบาป บุญมี มันไม่ให้เห็นบุญ นรกมีกี่หลุม พระพุทธเจ้าทุกพระองค์สอนแบบเดียวกันหมด มันก็ไม่ยอมรับว่านรกมี สวรรค์มี พรหมโลกมี นิพพานมี มันไม่ยอมรับ เพราะมันตาบอด

บรรดาท่านผู้ตาดี ทั้งหลายท่านเห็นหมดๆ สอนโลก ตาบอดมันไม่ยอมรับ แต่พอเราปรับใจของเราขึ้นโดยลำดับลำดา มันจะยอมรับนะ เมื่อเห็นเข้าไป เจอเข้าไป ยอมรับยอมรับเข้าไป ยอมรับพระพุทธเจ้า ยอมรับไปหมด บาป บุญ นรก สวรรค์ ยอมรับไปเรื่อยๆ ไปเลยเพราะเห็นเอง เจ้าของยอมรับแล้วจะไปฝืนพระพุทธเจ้าได้อย่างไร

นี่แหละ จิตดวงนี้แหละ เวลาภาวนาเข้าไป สิ่งไม่เคยรู้เคยเห็นมันก็รู้ก็เห็นขึ้นมาทีนี้กิเลสจะเป็นประเภทใดซึ่งอยู่ ภายในจิตใจ ปัญญาสอดแทรกเข้าไป ประหารเข้าไป สว่างจ้าเข้าไปเรื่อยๆ กิเลสหมดไปๆ จนกระทั่งกิเลสพังหมด จากจิตตภาวนา ทีนี้ อาโลโก อุทปาทิ สว่างจ้าหมดเลย จิตดวงที่เคยมืดบอดเพราะอำนาจแห่งกิเลสตัณหาตัวมืดบอดปิดบังไว้นี้ กระจายออก สิ่งเหล่านี้กระจายออกหมดแล้ว จิตสว่างจ้าขึ้นมา จากจิตตภาวนา

ขอให้ท่านทั้งหลายจำเอาไว้นะ จิตตภาวนาเป็นของสำคัญมาก เราสอนตั้งแต่เบื้องต้นการบริกรรมภาวนานี้เสียก่อน พอจิตมีความสงบแล้วจะค่อยรู้จักวิธีปฏิบัติตนให้เลื่อนขั้นเลื่อนภูมิไปตามลำดับ จนทะลุถึงนิพพาน ก็คือใจดวงนี้เอง แต่ก่อนมันเชื่อบ้างไม่เชื่อบ้างในบุญในบาปกุศลอะไร พอความจริงคือธรรมได้สอดแทรกเข้าไปก็ยอมรับๆ สุดท้ายก็ยอมรับในหัวใจตัวเองกับสิ่งทั้งหลายที่ได้รู้ให้เห็น ปฏิเสธไม่ได้ แล้วจะไม่ยอมรับพระพุทธเจ้าผู้สอนไว้แล้วตั้งแต่ตั้งเดิมได้อย่างไร

นี่แหละ ใจเป็นอย่างนี้นะ เดี๋ยวนี้กำลังถูกปิด ถูกบีบถูกบี้สีไฟด้วยมูตรด้วยคูถ คือกิเลสตัณหาทั้งหลาย จึงไม่มีใจใครที่ว่าเป็นใจวิเศษในโลกนี้ ไม่มี มีก็เอาตั้งแต่สิ่งที่เป็นฟืนเป็นไฟมาหลอกกัน คนนั้นมีนั้น คนนี้มีนี้ มีสมบัติเงินทองข้าวของมากน้อย มีตึกรามบ้านช่อง มีบริษัทบริวาร มียศถาบรรดาศักดิ์ เอาแต่ลมๆ แล้งๆ มาหลอกกัน ความจริงไม่เคยเห็นไม่เคยรู้ มันก็เอามาแสดงไม่ได้ นักปฏิบัติได้รู้ธรรมเห็นธรรมซึ่งเลิศกว่าสิ่งทั้งหลายแล้วปล่อยหมดในสิ่ง เหล่านั้น นี้คือธรรมอันเลิศแท้ ธรรมชาติที่เลิศแท้ปล่อยหมด นี้แหละพระพุทธเจ้าท่านปล่อยวางสมมติสามแดนโลกธาตุ ก็คือไม่มีอะไรเลิศเลอยิ่งกว่าธรรม เมื่อท่านรู้ธรรมเห็นธรรมเต็มหัวใจแล้ว ท่านปล่อยได้หมดโดยสิ้นเชิง

นี้ก็ขอให้บรรดาพี่น้องทั้งหลายได้พากันตั้งอกตั้งใจนะ เวลานี้ศาสนากำลังถูกมูตรถูกคูถปกคลุมหุ้มห่อไปหมดทั้งใจเขาใจเรา หาความเลิศเลอไม่ได้ ถ้าเป็นเรื่องฟืนเรื่องไฟเต็มบ้านเต็มเมือง ไปที่ไหนมีแต่ฟืนแต่ไฟ กิเลสตัณหา ราคัคคินา โทสัคคินา โมหัคคินา เผาสัตว์ทั้งหลายเต็มโลกเต็มสงสาร ไม่มีใครที่จะได้เอามาอวดกันเลยว่าเราปฏิบัติตามความโลภ ความโกรธ ความหลง เราเป็นผู้วิเศษวิโสเกินบ้านเกินเมืองเขาไม่มี นอกจากผู้ปฏิบัติธรรมดังพระพุทธเจ้าเลิศขึ้นมาทันที ไม่แสดงตัวก็เลิศ พระสาวกทั้งหลายเป็นอรหันต์ไม่แสดงตัวก็เลิศอยู่ในตัวท่านเอง

มีเท่านั้นล่ะ ธรรมเท่านั้นละที่จะพาให้เลิศเลอและตายใจด้วย คือการปฏิบัติธรรม จิตใจนี้เมื่อได้ถึงขั้นที่ตายใจได้แล้ว เช่น ท่านละกิเลสขาดจากจิตใจหมดโดยสิ้นเชิงไม่มีอะไรเหลือ เช่น บรรลุอรหันต์อย่างนี้ นี้เรียกว่าบรรลุอรหันต์ ก็คือปราบกิเลสที่เป็นตัวฟืนตัวไฟ ตั้งแต่หยาบจนชั้นละเอียด หมดไปโดยสิ้นเชิง เหลือตั้งแต่จิตที่บริสุทธิ์ เรียกว่าธรรมธาตุล้วนๆ นี้แหละผู้ที่เลิศเลอ ใจที่เลิศเลอ คือใจดวงนี้ ไม่มีสิ่งใดที่จะเลิศเลอยิ่งกว่า แต่เวลานี้กำลังถูกปิดบังหุ้มห่ออยู่ด้วยมูตรด้วยคูถทั้งหลาย ขอให้ท่านทั้งหลายไปแก้ไขดัดแปลง อย่าเห็นแต่สิ่งเหล่านี้ว่าดีๆ ถ่ายเดียวจะตายจมไปกับมูตรกับคูถกับฟืนกับไฟนี้โดยไม่ต้องสงสัยเลยนะ

ให้หาอรรถหาธรรมเข้ามาแก้ไขดัดแปลงตนเอง จะได้มีหวังภายในจิตใจของเราเราอยู่ในบ้านในเรือน ใจเราก็เป็นใจเรา ต่างคนต่างมีใจ คิดถึงบุญก็ได้ คิดถึงบาปก็ได้ สร้างบุญก็ได้ สร้างบาปก็ได้ ให้คัดเลือกเอาไปสร้างความดีงามเข้าใส่ตน อย่าสร้างแต่บาปแต่กรรม ตายแล้วว่านรกไม่มี เราผู้ว่านรกไม่มีนั่นล่ะมันจะจม จะไปตกนรกคือคนที่เก่งๆ กว่าพระพุทธเจ้านี่แหละ คนที่ยอมรับพระพุทธเจ้า ไม่เก่งกว่าพระพุทธเจ้า เดินตามพระพุทธเจ้า ไม่ตกนรก แต่ผู้ที่ตกนรกหมกไหม้ ที่มีความทุกข์มากๆ คือพวกที่เหยียบหัวพระพุทธเจ้าไป ไม่เชื่อฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่ากับเหยียบหัวศาสดาไป พวกนี้ละเหยียบหัวไปเพื่อตกนรกอเวจี พวกเราเป็นพวกไหน เป็นพวกที่เหยียบหัวพระพุทธเจ้าไปหรือพวกตามเสด็จพระพุทธเจ้า ให้คิดดูเองนะ ถ้ามันไม่เชื่อตามพระพุทธเจ้า นั่นแหละมันเหยียบหัวพระพุทธเจ้าไป มันกำลังจะลงนรกอเวจีนั้นน่ะ ถ้าเชื่อพระพุทธเจ้า

ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า นั่นแหละเรียกว่าตามเสด็จ ผู้นี้จะไปสู่ความสุขความเจริญ จนกระทั่งถึงมรรคผลนิพพานไม่สงสัย

เพราะฉะนั้นการเทศนาว่าการวันนี้ก็นึกว่าจะเทศน์ได้มากมาย แต่นี้ก็รู้สึกว่าเหนื่อยแล้วนะ เหนื่อยแล้วก็ต้องเป็นไปตามธาตุตามขันธ์ เวลานี้เอาธาตุขันธ์เป็นเครื่องมือ ถือเป็นใหญ่ เรื่องจิตใจเรื่องธรรมนั้นมีมากน้อยเท่าไรไม่มีปัญหา แต่ธาตุขันธ์ที่เป็นเครื่องใช้นั้นเวลามันอ่อนตัวลงไปแล้ว มันก็ก้าวไม่ออกเหมือนกัน นี้รู้สึกกว่ามันก็อ่อนตัวลงๆ ในธาตุในขันธ์

จึงขอเตือนพี่น้องทั้งหลาย ในวันนี้เป็นโอกาสอันดีงามที่เราได้มาทำบุญอุทิศส่วนกุศลถึงท่านอาจารย์ถิร ที่ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นครูเป็นอาจารย์ของพวกเรา แล้วก็บุญกุศลนั้นอุทิศถึงท่านด้วย เราได้ด้วย อุทิศถึงท่านด้วย ได้ทั้งสองฝ่าย แล้วนำไปปฏิบัติตามโอวาทคำสั่งสอนของท่าน ความสุขความเจริญท่านจะไปหาเอาที่ไหน จะไปหาตามดินฟ้าอากาศที่ไหน หาเอากับตัวของเรา คือความดีงามทั้งหลาย ทำดีได้ดีขึ้นที่นี่ ทำชั่วได้ชั่วขึ้นที่นี่นะ ไม่ได้ยินจากที่อื่นที่ใด ใครเป็นผู้ทำ คนนั้นเป็นผู้ใดรับผล ดีชั่วทั้งหมดได้รับผลจากการกระทำของเรา ดังที่กล่าวแล้วในเบื้องต้นว่า นตฺถิ กมฺมสมํ พลํ ไม่มีอำนาจใดที่จะเหนืออำนาจแห่งกรรมไปได้ เพราะฉะนั้น สัตว์โลกอย่าผยองพองตนว่าจะเหนือกรรมไปได้ ตายแล้วจะไปตามความต้องการ ไปไม่ได้ กรรมไม่ให้ไป เราไปทำกรรมใดไว้ กรรมนั้นจะบังคับเราไว้ เราจะไปสวรรค์ แต่เราทำแต่เรื่องนรกอเวจี ก็ลงนรกอเวจีโดยไม่ต้องสงสัย ให้พากันจำไว้ตั้งแต่บัดนี้ การแสดงธรรมก็เห็นสมควรแกธาตุแก่ขันธ์แก่เวล่ำเวลา ขอความสวัสดีจงมีแก่บรรดาพี่น้องทั้งหลายโดยทั่วกันเทอญ.


(มีต่อ ๑๓)

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 10 ก.พ. 2011, 06:47 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม)

รูปภาพ
พระญาณทีปาจารย์ (พระอาจารย์ท่อน ญาณธโร)


พระธรรมเทศนา

โดย พระญาณทีปาจารย์ (พระอาจารย์ท่อน ญาณธโร)
เจ้าอาวาสวัดป่าศรีอภัยวัน ตำบลนาอ้อ อำเภอเมือง จังหวัดเลย


แสดงในงานสวดพระอภิธรรมศพ
พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม)
อดีตเจ้าอาวาสวัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก)
ณ ศาลาเอนกประสงค์ วัดทิพยรัฐนิมิตร จังหวัดอุดรธานี
เมื่อวันอังคารที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๘ เวลา ๒๐.๐๐ น.



อาตมาไม่ใช่นักเทศน์ นักธรรม ขัดศรัทธาไม่ได้ จึงได้มาตามประสงค์ และได้มากราบครูบาอาจารย์ อาจารย์องค์นี้ท่านได้ไปบูรณปฏิสังขรณ์วัดทางจังหวัดเลย ช่วยหลวงปู่ชอบสร้างโบสถ์วิหาร อะไรไม่ดีท่านก็สร้างได้หมด ได้โบสถ์ถาวรอย่างดี ท่านพระครูท่านก็ไปช่วยเหมือนกัน หาหนทางแก้ไขเหล่านี้ได้ความสะดวกสบาย ท่านวางแผนช่วยกัน ท่านเจ้าคุณวัดโพธิ์ท่านก็ไปช่วยกันพัฒนา

พูดถึงผลงานของครูบาอาจารย์ท่านเหลือกินเหลือใช้จริง ๆ ท่านเกิดมาเพื่อพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองจริงๆ ท่านไม่เห็นแก่ตัว ไม่เก็บไม่กำไม่โกยไม่กินใครทั้งนั้น ขอให้ได้พัฒนาอย่างเต็มที่ก็แล้วกัน เจตนาของท่านเราได้สัมผัสกันอยู่ ในสมัยที่ท่านยังแข็งแรงๆ อยู่ ก็ทำงานจนตัวเองทรุด ไม่ฟื้น ทรุดลงไปเรื่อยๆ แต่ปานนั้น ยังมีหัวใจอยากช่วยตรงนั้นตรงนี้อยู่อย่างนั้นแหละ แต่สังขารไม่เอื้ออำนวยให้ได้ทำประโยชน์เต็มที่สมปรารถนา ให้ประเทศชาติบ้านเมืองไปยึดไปถือเอาว่า ทำดีไปให้ลูก ทำถูกไว้ให้หลาน พัฒนาการไว้ให้ชาติบ้านเมืองเท่านั้น อย่างอื่นไม่เอา ขอให้ได้พัฒนาก็พอแล้ว ดูสิ สิ่งปลูกสร้างทุกอย่างในวัดบ้านจิก วัดทิพยรัฐนิมิตร

ท่านมีความสันโดษมักน้อยของท่านอยู่อย่างนั้นตลอดมา ไม่เก็บไม่กล้าไม่โกยไม่โกงไม่กินใครเลย ขอให้ได้ช่วยชาติ ศาสนา เพื่อความเบาอกเบาใจของพระมหากษัตริย์ เท่านี้คือความประสงค์ของท่าน อย่างอื่นท่านไม่เอา ท่านเป็นผู้ที่เสียสละจริงๆ เพื่อบ้านเมืองจริงๆ เพื่อความอยู่รอดของพระพุทธศาสนา เสียสละเรื่อยๆ จนไม่มีอะไรเลยละ บางครั้งบางคราวผู้มีสตางค์ทั้งหลายก็สนับสนุนกับท่านตลอดมา ไม่ปฏิเสธเลย ผลงานของท่าน เหลือกินเหลือใช้ตลอดมา หลวงปู่เหรียญก็เหมือนกัน หลวงปู่ถิรก็ เหมือนกัน หลวงปู่สมชายที่ท่านละสังขารไปในระยะเดียวกันนี้ ไม่ถอยหลัง บุกหน้าเรื่อยๆ ไป ไม่ถอยหลังเลย เพราะฉะนั้น จึงยกสุภาษิตขึ้นว่า กมฺมํ วิชฺชา ธมฺโม สีล ทั้ง ๔ ข้อนี้เป็นชีวิตที่อุดมมงคลของท่าน ชีวิตมุตฺตมํ บุคคลจะดีปรากฏในสังคมได้ต้องมีคุณธรรมดังกล่าวนี้

การงานของท่าน กมฺมํ นั้น หมายถึง การงานของพระ มีอะไรบ้าง มีการงานส่วนตัวของท่านคือกรรมฐาน ท่านพิจารณากรรมฐานของท่านอยู่ไม่ได้ขาด รูปทั้งหลายมันไม่เที่ยง วิญญาณทั้งหลายไม่เที่ยง จะเอาอะไรกับมัน นอกจากจะสร้างคุณงามความดีใส่ตัวเองเท่านั้น ท่านเห็นอย่างนี้ชัดแจ้ง เพราะฉะนั้น ท่านผู้เสียสละอย่างนี้นับว่าเป็นปูชนียบุคคลที่สำคัญมากกับเราทั้งหลายที่ทำบุญบำเพ็ญกุศลเพื่ออุทิศถวายท่าน วัฒนาผลถวายท่าน อันนี้ไม่ใช่ของต่ำเหมือนกัน เป็น ปูชนียนํ เหมือนกัน ทำให้เกิดมงคล ชีวิตไม่อับเฉา เป็นผู้ที่ทำให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง ครูบาอาจารย์ที่มีผลงานสะอาดทั้งหลาย กมฺมํ ตัวนั้น ที่ล่วงลับไปแล้วก็ดี ที่มีชีวิตอยู่ก็ดี การงานของท่านไม่ได้ขาด พิจารณากรรมฐานทุกวันๆ ไม่ได้ขาดเลย กรรมฐานนั้น กรรมฐานหลักจริงๆ ก็คือพระอุปัชฌาย์ให้ตั้งแต่วันบวช บวชเข้ามา พระอุปัชฌาย์จะให้กรรมฐานเป็นเครื่องพิจารณาขัดเกลากิเลสของตัวเอง ไม่ให้ลุอำนาจแก่กิเลส

กรรมฐานมีอะไรบ้าง เราก็เคยได้ยินอยู่ กรรมฐานมันบอกว่า เกสาเด้อ ให้พิจารณาผม โลมา ขนเด้อ พิจารณาขน นขา เล็บเด้อ พิจารณาเล็บ ทันตา ฟันเป็นเครื่องบดเคี้ยวอาหารไปหล่อเลี้ยงร่างกายอยู่ทุกวันๆ ฟันมันจะหล่นจะโยกจะคลอนเมื่อไรไม่รู้ รักษาอยู่เรื่อยๆ พอได้ใช้มัน ถ้าฟันโยกฟันคลอน ร่างกายก็ทรุดโทรม มันเป็นอย่างนี้ แล้วมันสวยตรงไหน มันงามตรงไหน ก็จี้จุดลงไป ไม่ได้ยินดีตามมัน มันจะหล่นจะโยกจะคลอนอย่างไรช่างมัน บริหารกันไปตามมีตามได้ บางคนมีฟันทนมากไม่ร่วงไม่หล่น ท่านบริหารฟันรักษาไว้ดี ตโจ หนัง นขา เล็บ ที่อยู่ปลายมือปลายเท้าทั้ง ๑๐ นิ้ว หรือ ๒๐ นิ้ว ที่ปลายเท้า-มือนี่มีไว้ทำไม มีไว้สำหรับรักษาเนื้อของมัน ไม่ให้มันอ่อนมันนิ่มเป็นอันตราย หยิบของอะไรก็ได้ดี แข็งแรง เล็บมันก็ดี ถ้าไม่รักษา สกปรกขนาดไหน ก็จี้จุดลงไป เห็นความสกปรกของมัน จับโนั่นจับนี่บ้างก็จะเยินไป

ท่านพิจารณาของท่านอยู่อย่างนี้ เป็นการงานสำคัญของการบวช การงานอันนี้ไม่มีโทษ มีประโยชน์อย่างเดียว

พิจารณาให้เห็นความสลดสังเวช มันชำรุดทรุดโทรมไปอย่างไรๆ ไม่ยึดติดกับมันแล้วพิจารณาจะเห็นตามความเป็นจริง อย่างนี้เรียกว่าการงานของพระ

การงานอื่นของท่านก็มีอีก การงานที่ไม่มีโทษ การงานพัฒนาวัดวาศาสนาให้มันแข็งแรงถาวรขึ้นมา มีวัตถุก่อสร้างมากมาย ท่านก็ไม่ลดละไม่ท้อถอย ทำไปเรื่อยๆ เป็นการงานที่ไม่มีโทษ เป็นงานบริสุทธิ์ และก็สามารถทำให้จิต วิมุติ หลุดพ้นจากอาสวกิเลสได้ ถ้าพิจารณากรรมฐานบ่อยๆ พิจารณาบ่อยๆ คิดถึงความเบื่อหน่ายคลายความกำหนัด ไม่ยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรมารมณ์ ไม่ยินดีกับมันเลย เห็นมันไม่เที่ยง เป็นทุกขัง มันเป็นอนิจจัง เป็นอนัตตา แล้วอนัตตลักขณญาณของท่านก็แจ่มแจ้งชัดเจนขึ้นมาก สิ้นสงสัยในเรื่องรูปของท่าน และอย่างอื่นก็พิจารณาด้วย รูป วิญญาณ เวทนา สังขาร สัญญาด้วย เหล่านี้ทั้ง ๕ กอง มันแข็งแรงทนทานขนาดไหน พิจารณาเห็นแจ่มแจ้งชัดเจนของท่านแล้ว ไม่สงสัยในรูปแล้ว เรียกว่าสิ้นสงสัยในรูปแล้ว การเกิดแก่เจ็บตายของคนมีแค่นี้

ท่านพิจารณาของท่านตั้งแต่เริ่มบวชเข้ามา พิจารณาจนละสังขาร หนีจากมันอย่างนี้ละ ไม่ยินดีกับมันแล้ว แล้วแต่มันจะเป็นไปอย่างไร ต้องทนทุกข์เวทนาแสนสาหัสสากรรจ์ก็มี ร่างกายของเรามีการทรุดโทรมไปอย่างไร ก็อาศัยหมอ หมอ ผู้ที่เขาเรียนทางกาย ทางสติของท่านก็พิจารณาตามนั้นเรื่อยๆ มา จนเกิดความสลดสังเวช ท่านอยู่ในเพศพรหมจรรย์ได้มาดลอด ไม่ได้หวั่นไหวกับโลกธรรมทั้งหลายแล้ว บุคคลเช่นนี้เป็นบุคคลตัวอย่าง เป็นบุคคลที่ควรนำมายึดเตือนสติตนเองเสมอๆ ท่านชนะมัน ชนะความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ท่านชนะแล้ว ท่านก็ละสังขาร ไปไม่รอด ทิ้งมัน มันเอาไปไม่ได้แล้ว

ดังนั้น สิ่งที่จะเป็นสาระประโยชน์ สำหรับคนเราทุกคน ทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าหญิงหรือชาย ต้องพิจารณาอย่างนี้เหมือนกัน พิจารณากรรมฐานทุกวันๆ อย่าไปนอนหลับทับสิทธิ ถ้าพิจารณาทุกวัน ๆ เราจำกัดความกระจ่างขึ้นม้า สิ้นสงสัยในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรมารมณ์ทั้งหลาย นั้นเห็นพิจารณาอย่างนี้ชัดแจ้งแล้ว ตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติไป กมฺมํ การงานของท่านดีแล้ว ถูกต้องแล้ว

วิชชาของท่าน ก็รู้ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ของท่าน ไตรลักษณ์ ท่านก็สิ้นสงสัย ไตรลักษณญาณของท่านเกิดขึ้นแล้ว เป็นวิชชาของท่าน วิชชาของพระที่จะเอาตัวรอดไปแล้ว เอาวิชชามาใช้ มาประยุกต์กันเข้า ก็สิ้นความสงสัยไป

ธมฺโม ตัวนั้นหมายถึงธรรมะที่ประจำจิตของท่าน มีอะไรบ้าง ธรรมะมีหลายอย่าง เมตตาธรรม อันนี้เป็นธรรมข้อหนึ่ง ท่านเมตตา ปรารถนาดีในเพื่อนมนุษย์กับสัตว์ทุกจำพวก สัจธรรมมีความจริงใจที่จะต้องประพฤติปฏิบัติ เอาจริงเอาจังกับมัน ไม่ให้มันหลอกเราได้ วิชชาข้อนี้ท่านเอาจริงเอาจังจนสิ้นสงสัย

ธมฺโม หมายถึง เมตตาธรรม สัจธรรม คารวธรรม หลายๆ อย่าง เอามาประยุกต์กัน ทุกวันๆ มีคุณธรรมอันนี้ประจำอยู่ ความสงสัยทั้งหลายก็สิ้นไป ไม่ต้องห่วง สิ้นไปได้ ไม่สงสัยอีกแล้ว คุณธรรมเหล่านี้ดังกล่าวนั้น ท่านเจริญมากๆ เข้า เจริญเมตตาธรรม เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา คุณธรรมเหล่านี้เอามาใช้ทุกวันๆ สามารถพูดกับท้าวมหาพรหมได้ ถ้าเจริญคุณธรรมตังกล่าว พิจารณาเรื่อยๆ ท่านท้าวมหาพรหมจะลงมาเยือน มาถามปริศนาปัญหาธรรมต่างๆ นานา ท่านก็เอาคุณธรรมที่ท่านประพฤติปฏิบัติมาตอบไป มหาพรหมก็ชื่นชอบ อนุโมทนาสาธุการด้วย อยู่ด้วยพรหมวิหารธรรม เป็นเครื่องอยู่ของผู้ใหญ่ แล้วพิจารณาคุณธรรมเหล่านี้ประจำ ก็เป็นผู้วิเศษ เป็นคนดีขึ้นมาในโลก ครูบาอาจารย์ท่านดี ท่านโด่ง ท่านเด่นท่านดัง ท่านดูดคนให้เข้ามาประพฤติปฏิบัติธรรม ท่านก็มีคุณธรรมดังกล่าวนี้เองในที่สุด บางองค์ท่านก็ด่วนดับตั้งแต่ยังไม่ตาย ดับกิเลสนะ ไม่ใช่ดับสังขาร ดับกิเลส สิ้นสงสัยในเรื่องบาปบุญคุณโทษ ไม่ลูบไม่คลำใดๆ ทั้งนั้น สิ้นสงสัยไปแล้ว ท่านดับอาสวะในใจของท่าน ราคะมันหมดไป โทสะมันหมด โมหะมันหมดไป จากจิตจากใจ

ราคะ โทสะ โมหะ กิเลสเหล่านี้มันรบกวนคนให้ลำบากลำบนมามาก เพราะฉะนั้น พวกเราจงพยายามกำจัดอาสวะเหล่านี้ถามท่านบ้าง อย่าให้มันเป็นหัวหน้าเราจนเกินไป

อันว่าความรักไมใช่ใจ ความชังไม่ใช่ใจ ความยินดียินร้ายไม่ใช่ใจ ความดีใจ เสียใจไม่ใช่ใจ มันมาทีหลังเรา ท่านไม่ให้ยึดถือของเหล่านี้เป็นอันขาด ท่านผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย สังขาร โทสะ สังขารที่มาปรุงใจ ความโกรธเป็นสังขารชนิดหนึ่ง เราทุกคนทั้งหลายที่นั่งอยู่นี้เคยโกรธมาแล้วเหมือนกัน ความโกรธหายไปไหน มันหายไปได้ ความโลภเป็นสังขารชนิดหนึ่ง เป็นโลภสังขาร พิจารณาตามแล้วไม่น่าจะทำตามมันหรอก มันเพียงแต่มายุให้รำตำให้รั่วยั่วให้ออก กำหนัดยินดีขึ้นมาเฉยๆ โลภะ โทสะ โมหะ ความหลงอันนี้สำคัญ เป็นรากเหง้าลึกลงไป มันเป็นอวิชชาปัจจัยอยู่ในหัวใจของเราแล้ว ถ้าเราทำตามมันก็เสียที ก็จะขาดทุนสูญกำไร ไม่ได้อะไรเลย ได้แก่ความโลภความหลงติดตามไป

ถ้าตายไปขณะมีความโลภความหลงจัดอยู่หนาแน่น เราจะไปที่ไหน ก็จะไปสู่ทุคติแน่นอน ไม่ได้ไปสุคติ ไม่ได้ใปสวรรค์นิพพาน เพราะว่ามันทำลาย มันเป็นอกุศลชนิดหนึ่งที่ทำให้ลุ่มหลงมัวเมา ไปยึดของไม่เที่ยงมาเป็นตัวเป็นตนก็ขาดทุน

เพราะฉะนั้น พวกเราพุทธบริษัทจึงสมควรจะประพฤติปฏิบัติให้รู้เห็นโทษของมันให้ชัดแจ้ง ความโลภไม่ใช่ใจ ความโกรธไม่ใช่ใจ ความหลงไม่ใช่ใจเน้อ เป็นสิ่งที่มายั่วยุให้ลุ่มหลงไปเฉยๆ เรารู้อย่างนี้ก็ไม่ทำตามมัน มันโลภมันได้อะไร ทำให้กิเลสหนาแน่นขึ้น วิธีการกำจัดความโลภ ท่านก็บัญญัติให้แล้ว พระพุทธเจ้าบัญญัติให้แล้ว ทานํ เทติ เด้อ เป็นเครื่องกำจัดอาสวะในหัวใจได้ คือความตระหนี่ถี่เหนียว เห็นแก่ตัว ถึงกับโลภโมโทสัน เก็บกำกอบโกยต่างๆ นานา สะสมให้กิเลสหนักโถมเข้าจนทำลายตนเองเห็นได้ชัด ความโกรธก็ดี ความโลภก็ดี ไม่ได้ทำให้เราดีกว่านี้ เสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติยศรสนิยมไปตามๆ กัน คนลุอำนาจในความโลภจัดเกินไปก็อันตรายแก่ตนเอง คุณธรรม ชื่อเสียงเกียรติยศก็พังไปด้วย เรามีอำนาจสูงๆ ถ้าลุแก่อำนาจแห่งความโลภเท่านั้น จะทำให้ผิดกฎหมายบ้านเมือง ผิดธรรมเนียมประเพณี คุณธรรมอันดีงามจะหมดไปจากตัวของเรา ขาดความเคารพนับถือ

ท่านทั้งหลายคงสังเกตโลภมากก็เป็นอันตราย จะยกตัวอย่างความโลภที่เป็นอันตรายอย่างไร จะยกตัวอย่างของประธานาธิบดีเฟอร์ดินาน มาร์กอส ของฟิลิปปินส์ เป็นตัวอย่าง เป็นผู้ใหญ่ที่เก็บกำกอบโกยเต็มที่ ไม่รู้จักเสียสละ มีอะไรๆ ก็หักแข้งหักขาเอาเข้าบัญชีของตัว เข้าไปหลายๆ โลภมากแล้วเอาให้รวยในการเป็นประธานาธิบดี ได้เป็นผู้ใหญ่ขนาดนี้ จะต้องเก็บต้องกำต้องโกยให้เต็มที่ เมื่อประชาชนเขารู้แล้วก็ประท้วง เขาท้วงติงท่าน เอาเงินรัฐบาลไปเท่าไร พันล้าน หกพันล้าน หมื่นล้าน ท่านเอาไว้ไหน ทำไมไม่เอามาสร้างบ้านเมืองให้เจริญกว่านี้ เก็บไว้ตรงไหน นักบัญชีเขารู้หมด แล้วทำไมไม่เอามาพัฒนาบ้านเมือง เมื่อจี้จุดเข้าไปก็แก้ตัวน้ำขุ่นๆ ด้วยอำนาจกิเลส อำนาจมืด ว่าเราเก็บไว้ฉุกเฉิน เวลาน้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟไหม้ เวลามันเกิดเรื่องขึ้น เราจะเอามาจ่าย แต่ไม่เห็นออกมาจ่ายสักที ประชาชนก็ลุกฮือขึ้นประท้วง ถ้าไม่เอาเงินออกมา เราจะเหยียบท่าน

ความโลภมันทำให้มืดมิดปิดปัญญาของตนเอง คิดว่าเราเก็บของเราไว้ได้แล้ว จะเอาออกมาทำไม ถ้าเขาไม่ให้อยู่ประเทศนั้นเราก็บินหนีไปประเทศอื่นก็ได้ เรามีเงินล้นฟ้าแล้วไม่อดตายหรอก เอาดอกผลมาเลี้ยงตนเอง เลี้ยงภรรยา เลี้ยงครอบครัวได้ ก็ไม่เป็นไร ไม่ได้เป็นประธานาธิบดีเราไม่กลัว เพราะเรารวยแล้ว สักวันหนึ่งเราจะเอามาแจกหรอก

พอเขาเผลอก็บินหนีจาก ฟิลิปปินส์ไปเกาะฮาวายอยู่กลางน้ำกลางทะเล บินหนีตอนกลางคืน เขาเห็นว่าเป็นประธานาธิบดีลี้ภัยไป เขาก็ต้อนรับอย่างดี เขาก็เลี้ยงดูเอา พอหนีไปแล้ว ผลจะตามมาทันหรือเปล่า พวกรัฐบาลฟิลิปปินส์เห็นเขาบินหนีไปแล้วก็สั่งปิดธนาคารทุกแห่งทุกบัญชี ณ วีนาทีนั้นเป็นต้นไป ธนาคารไหนให้เบิกเงินแสดงว่าสมรู้ร่วมคิดต้มตุ๋นประเทศชาติ เป็นคำสั่งของรัฐบาล เขาก็ปิดทุกบัญชี

ทีนี้เฟอร์ดินานมาร์กอสไปอยู่ฮาวาย เงินทองที่เอาติดตัวไปก็ร่อยหรอน้อยลงๆ จะจับจ่ายก็ไม่พอลูกน้องก็ตามไปเยอะเหมือนกัน เงินจะหมดให้ใปกดเอทีเอ็ม ทุกธนาคารในโลก เราฝากทุกธนาคาร พอไปกดดูไม่มีอะไร ทางรัฐบาลสั่งปิดหมดแล้ว ไปกดที่ไหนก็มีแต่ศูนย์ๆ อยู่อย่างนั้น เสียใจมากว่ารัฐบาลหักหลัง ก็อาเจียน (ฮาก) เป็นเลือด ก็ขอกลับประเทศฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดีคนใหม่ก็บอกว่า ประเทศปกครองเข้ารูปเข้ารอยแล้ว อย่ากลับมาเลย ในที่สุด มาร์กอสก็ตายที่ฮาวาย ตายอย่างสุนัขข้างถนน

นี่แหละคนเรา ความโลภทำให้ตนเองสูญเสียไปอย่างหมดหวัง ไม่มีทางเอา เสียทั้งยศถาบรรดาศักดิ์ ทั้งชีวิต ตายแล้ว เผาแล้ว จะเอากระดูกกลับมาฟิลิปปินส์กลับมาบ้านอีก เขาไม่ยอมอีก บ้านเมืองยังไม่สงบ เขาก็ดันไว้ไม่ให้กลับเข้าประเทศอีก ความโลภเป็นอันตรายแก่ชื่อเสียงเกียรติยศรสนิยมทั่วไปตามๆ กัน

ถ้าคนเรารู้เท่าทันกิเลสของตนเอง พอฟังมาก็จะร้องอ๋อแล้ว นี้ยกมาเป็นเพียงตัวอย่างนี้ยังไม่พอ เช่น พระเจ้าชาร์แห่งอิหร่าน เขายกย่องให้เป็นจักรพรรดิ ก็มีแต่กอบกำโกย ไม่เอามาพัฒนาประเทศ จนประเทศชาติลำบาก เขาก็ไปปรึกษาผู้นำศาสนาให้เป็นแกนนำให้ประชาชนลุกฮือกันขึ้น ให้พระเจ้าซาร์เอาเงินคืนประชาชน ทำนองเดียวกับมาร์กอส เพราะกิเลสเป็นใหญ่ มีแต่ความตระหนี่หวงแหน เอากิเลสเป็นใหญ่อยู่อย่างนั้น พระเจ้าชาร์ไม่คืนเงิน แต่หนีไปเกาะอังกฤษ รัฐบาลอิหร่านก็สั่งอายัดเงินทุกธนาคารของพระเจ้าชาร์ พอเงินหมดก็กดเงิน ที่ไหนก็เป็นศูนย์ ๆ หมด ก็เลยกระอักเลือด ในที่สุดก็ตายเพราะว่าความโลภไม่เข้าข้างใคร

พระพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า โลโภ ธมฺมํ ปริปนํโถ ความโลภเป็นอันตรายต่อความเจริญทั้งหลาย ต่อธรรมทั้งหลาย แก่การงานทั้งหลาย ชื่อเสียงเกียรติยศทั้งหลายก็พังไปตามๆ กัน ในที่สุดก็ตายที่ประเทศอังกฤษ เขาก็มีความเป็นธรรมอยู่ ลูกชายก็ถูกแต่งตั้งขึ้นมาเป็นกษัตริย์แทนกัน แต่ไม่ให้เหมือนพระเจ้าชาร์ เพราะฉะนั้น ความโลภมันเป็นอันตรายขนาดนี้

ความโกรธเหมือนกัน ก็เป็นอันตรายแก่คนทั้งหลายเหมือนกัน ท่านว่า โกโธ ธมฺมํ ปริปนฺโถ ความโกรธเป็นอันตรายแก่ธรรมทั้งหลาย แก่ความเจริญทั้งหลาย แก่ชื่อเสียงเกียรติยศรสนิยม พังกันไปตามๆ กันดังนี้

เพราะฉะนั้น พึงเห็นเสียเถิดว่า กิเลสที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าเป็นกิเลสหนาปัญญาหยาบ ทำอันตรายแก่ตนเองได้ขนาดนี้ สมควรหรือพวกเราเป็นพุทธบริษัทจะเอามันเป็นหัวหน้าใจ เราจะถึงความหายนะความเสื่อมไปอย่างน่าใจหายใจคว่ำทีเดียว อันตราย

ฉะนั้น พวกเรายังมีอยู่มีกินอยู่ พระราชาของเราก็ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมประเพณี นำพาประชาชนบำเพ็ญกุศลเสียสละอยู่ไม่ได้ขาด ไม่ได้เอาความตระหนี่ถี่เหนียวมาเป็นหัวหน้าใจแล้ว ให้มีความยินดีตามมีตามได้ พออยู่พอกินพอแล้ว เอาละ ท่านบอกว่าให้ยินดีในความมีตามได้ พออยู่พอกิน อย่าเอามากเกินไป มันอันตราย อย่างมีระดับ ถ้าหากเป็นผู้มีหน้าที่การงานสูงด้วยแล้ว อาจจะทำลายชื่อเสียงเกียรติยศรสนิยมของตัวให้พังไปตามๆ กันมาหลายสมัยแล้ว ในเมืองไทยมีหลายสมัยแล้วที่ล้มละลายไปหมดทุกอย่าง ไม่มีเงินทองเก็บเต็มฟ้าหรอก

เพราะฉะนั้น พวกเราจงกำจัดมันเสียโดยการทำงานเด้อ ทานํ เทติ เสียสละอยู่เรื่อยๆ ความโลภโมโทสันในใจก็จะเบาบางลงไปเรื่อยๆ จะสบายๆ เวลาตายไปจะไม่มีพันธะใดๆ ทั้งนั้น ไม่ต้องมีห่วง อย่างเช่น นางวิสาขามหาอุบาสิกา เป็นผู้เสียสละบำรุงพุทธศาสนามาเรื่อย ๆ ไม่เห็นเดือดร้อนที่ตรงไหนเลย ไม่มีอะไรเสียหาย มีแต่ได้บุญทั้งนั้น บำเพ็ญไปเถิด อนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านก็ทำอย่างนี้เหมือนกัน ท่านไม่เก็บไมกำไม่กอบไม่โกยใครเลย ซื้อที่ดินสร้างวัดถวายพระบรมศาสดา โดยซื้อที่ดินจากเจ้าเชต ซื้อที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่พอจะเป็นวัด ท่านก็อนุมัติสร้างวัดได้ สร้างเป็นพระเชตวันมหาวิหาร มีมากเหลือเกินที่บำเพ็ญประโยชน์ สาธารณวัตถุที่อยู่ในประเทศอินเดียมีมากมายเหลือเกิน

ต่อมาเรื่อยๆ พระเจ้าอโศกมหาราชก็เหมือนกัน แต่ก่อนเป็นนักรบตัวฉกาจฉกรรจ์ ใครสู้ไม่ได้ หลังจากที่พิจารณาคุณธรรมแล้ว ท่านก็เสียสละเหมือนกัน พระเจ้าอโศก เราจะไม่รบอีกแล้ว เราจะมาพัฒนาใจของเราเองให้หมดอาสวะ ความโลภให้เบาไป ความโกรธให้เบาลง ความอิจฉาริษยาให้เบาลงไป พระเจ้าอโศกก็สำราญใจ ไม่มีอะไรรบกวนท่านแล้ว ก็มีชื่อเสียง บำรุงพระพุทธศาสนาไปเรื่อยๆ สวนลุมพินีวันท่านก็พัฒนาดีขึ้น ที่ประสูติ ตรัสรู้ ก็พัฒนาดีขึ้น ที่แสดงธรรมธัมมจักกัปปวัตตนสูตรก็ไปทำให้ดีขึ้น พัฒนาไว้ พระเจ้าอโศกก็ทำไว้อย่างดี เจดีย์ใหญ่ที่ตรัสรู้ที่เมืองพาราณสีก็ทำให้ดีขึ้นไว้เราไปเที่ยวอินเดีย ก็จะเห็นฝีไม้ลายมือของพระเจ้าอโศกที่ท่านพัฒนาไว้ทุกอย่างนั้น เรียกว่าท่านตัดกิเลส ไม่เอากิเลสมาปกครองประเทศ ท่านก็อยู่ด้วยความสำราญสบายใจ หมดสงคราม สมัยนั้นไม่มี

เพราะฉะนั้น พวกเราทั้งหลายที่เป็นพุทธบริษัท เอาคติเหล่านี้มาเตือนตัวเอง ความโลภของเราก็จะเบาบางลงไป ความโกรธของเราจะเบาบางไป ความหลงรักหลงใคร่ หลงอยากได้ หลงยินดี ก็จะเบาบางไป ไม่รบกวนเราอีกแล้ว ในที่สุด อวสานของชีวิตของเราก็จะสบาย เรียกว่าตายไปอย่างสบาย ไปสู่สุคติอย่างเดียว เพราะฉะนั้น พวกเราเป็นพุทธบริษัทก็ควรยึดคติเหล่านี้มาเตือนตนเองดีแล้ว พวกเราทำบุญอยู่ทุกวันนี้ มาวันไหนก็สมาทานศีลเสียก่อนเป็นภาคพื้น

มยํ ภนฺเต ติสรเณน สห ปญฺจ สีลานิยาจาม ขอสมาทานศีลด้วย ถ้าทำตามที่สมาทานไปแล้ว พวกเราอยู่ด้วยกันก็มีความสุข เห็นหน้าเห็นตากันก็มีความสุข มันดับกิเลสของตนเองไปด้วยก็เพราะการสมาทานศีลเบื้องต้น ถ้ามีศีลแล้วก็น่าเคารพน่านับถือน้ำใจ ถ้าคนไม่มีศีลไม่มีธรรมแล้ว จะอยู่ขนาดไหนก็ไม่น่าไว้ใจ เป็นพระเป็นเณร ก็ไม่เอาศีลมาทำลายกิเลสตนเอง ลุแก่อำนาจกิเลสตนเองอยู่อย่างนั้น ใครจะเลื่อมใสใคร่จะศรัทธา ใครจะทะนุบำรุงให้ได้รับความเจริญรุ่งเรือง มีแต่เขาเบื่อเขาหน่ายต่อการลุอำนาจกิเลสดังกล่าว มันไม่ดีเลย

อันนี้ศีลนี้เป็นเบื้องต้น เป็นภาคพื้น เป็นบันไดขั้นต้น ไปสวรรค์เที่ยวท่องต้องมีศีลเสียก่อน

ทาน หนึ่ง ศีลหนึ่ง ทานํ เทติ สีลํ รกฺขติ ภาวนํ ภาเวตฺวา เอกจฺโจ สคฺคํคจฺฉติ เอกจฺโจ โมกฺขํ คจฺฉติ นิสฺสํสยํ อันนี้เป็นคำสอนของหลวงปู่มั่น ท่านสอนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ว่าขึ้นต้นด้วย ทานํ เทติ สีลํ รกฺขติ นี้แหละให้มีศีลมีคุณธรรม แล้ว

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ นี้ ถ้าพากันสมาทานตั้งมั่นศีลนั้น ไม่เป็นไร เมืองไทยไม่แตกแน่นอน อันหนึ่งอันเดียว ด้วยอำนาจของศีล ศีลธรรมทำให้เจริญรุ่งเรือง ปกป้องไว้ได้ แม้เขาจะมาทิ้งระเบิด บางแห่งระเบิดไม่แตกเลย พวกถือไตรสรณคมน์มั่นคง ไม่หวั่นไม่ไหว ระเบิดศาสตราอาวุธใดไม่เอาทั้งนั้น ให้มั่นคงอยู่ในไตรสรณคมน์และศีล ๕

นี่พวกเราทำถูกแล้ว สมาทานศีล ๕ ก่อนเบื้องต้น ศีลเป็นพื้น เป็นบันไดขั้นต้นศีลเป็นบันไดไปสวรรค์เที่ยวท่อง จะข้ามบึงหรือคลอง จะต้องไต่เต้าสะพานข้ามเดินตามเด้อ ศีลของท่านดีจริงๆ ท่านไปอยู่ป่าอยู่เขาที่ไหน ถ้าศีลของท่านบริสุทธิ์ดี ท่านก็สบาย พวกเทวาอารักษ์ทั้งหลายก็นิยมชมชอบ ปกป้องคุ้มครองรักษาไม่ให้เป็นอันตรายใดๆ เลย ศีลท่านดี

ถ้าไม่มีศีล ก็ถูกรังแกต่างๆ นานา ภูตผีปีศาจรบกวน ไม่ค่อยได้รับความสงบเท่าที่ควร ต้องกลับมาหาพระพุทธเจ้าก่อนใหม่ พวกเธอไปอยู่ที่นั่น ถูกเทวาอารักษ์ทั้งหลายพระภูมิเจ้าที่ไม่พอใจ ทำไม่ดีไม่งาม ทำไม่ถูก สำรวมใหม่เสียก่อน สวดกรณียเมตตสูตรนั้นซิ สวดเรื่อยๆ ด้วยคาถาของพระพุทธเจ้า “กรณีย มตฺถกุสเลน ยนฺตํ สนฺตํ ปทํ อภิสฺเมจฺจ” สวดจนจบทุกวันๆ แล้วภูตผีปีศาจทั้งหลาย เทวาอารักษ์ทั้งหลายนิยมชมชอบ จะมาเฝ้าจะมารักษาให้ตลอดปลอดภัย ไม่มีอะไรหรอก กลับไปใหม่

ไปที่นั้นใหม่ พากันเดือดร้อน หนีมา อยู่ไม่ได้ ถูกภูตผีปีศาจรังควานรบกวน ไม่ได้รับความสงบสบายพอ นั้นแหละ คืนไปใหม่ ให้ท่องคาถากรณียเมตตสูตรไป ไปที่ไหน เทวดาแถวนั้นมาต้อนรับ มาช่วยถือสิ่งถือของ เบา ไม่หนักเลย ของหนักๆ ไม่หนัก มีคนมาถือช่วย มาบำเพ็ญอยู่ที่ตรงนั้นจนบรรลุคุณธรรมได้ เป็นโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามีตามฐานะของตนๆ เพราะฉะนั้น อันนี้ดีจริงๆ ที่พวกเราได้บำเพ็ญกันเบื้องต้น ได้สมาทานศีลเสียก่อน ถึงพระไตรสรณคมน์เสียก่อน สมาทานศีล ๕ ตั้งมั่นเสียก่อน เป็นคุณธรรมที่ประกันสังคมด้วย ถ้าสังคมมีคนศีลคนธรรมกันดีอยู่ ก็จะอยู่ร่วมกันอย่างพี่อย่างน้อง ไม่กินแหนงแคลงใจใดๆ ช่วยเหลือกันไปตามมีตามได้

ได้มาเห็นความพร้อมเพรียงสามัคคีกันของ พุทธบริษัททั้งหลายในวันนี้ ก็ดีใจ ดีใจหลาย ขออนุโมทนาน้ำใจเด้อๆ ขอให้ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติไปไม่ประมาท ไม่ให้ขาดด่างพร้อยใดๆ บริสุทธิ์ผุดผ่องดี ต่อแต่นั้นจะประสบพบเห็นความสุขเจริญ ทั้งทางคดีโลกและทางคดีธรรมทุกประการ วิสัชนามาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้


(มีต่อ ๑๔)

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 10 ก.พ. 2011, 07:30 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ (หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม)

รูปภาพ
ภาพในงานพระราชทานเพลิงศพ “หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม”


เกร็ดเกี่ยวกับหลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม
(ท่านพระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์)


โดย พระครูวิศิษฎ์ธรรมคุณ
เจ้าคณะอำเภอบ้านดุง เจ้าอาวาสวัดบูรพาวัน



ท่านพระครูวิศิษฎ์ธรรมคุณ หรือพระครูน้อย (แดง) เป็นพระที่เคยมาจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านจิก (วัดทิพยรัฐนิมิตร)
ในช่วง พ.ศ. ๒๔๙๔-๒๔๙๕ ท่านได้เล่าถึงปฏิปทาของหลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม ไว้ดังนี้

หลวงพ่อ (หมายถึง พระครูน้อย ท่านใช้คำแทนตัวเองว่า หลวงพ่อ กับลูกศิษย์) มาอยู่ร่วมวัดกับหลวงปู่ถิรที่วัดบ้านจิก ใน พ.ศ. ๒๔๙๔ และ ๒๔๙๕ ปฏิปทาโดยทั่วไปของหลวงปู่ ท่านเป็นคนจริง มีความจริงใจ มีความจริงจังต่อการปฏิบัติ เป็นคนทำอะไรตั้งใจจริง มีความอุตสาหะ วิริยะ ในการทำวัตร สวดมนต์ ระเบียบสวดมนต์ ระเบียบทำวัตร นั่งสมาธิภาวนาหลังจากทำวัตรสวดมนต์เสร็จ นี่เป็นธรรมเนียม เป็นกิจวัตรประจำพระภิกษุในวัดต้องปฏิบัติตาม ในสมัยก่อนท่านไม่ค่อยสนใจในเหตุภายนอก ท่านตั้งใจทำเฉพาะภายใน ภายในวัด ส่วนมากกิจกรรมที่ทำก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ของพระศาสนา ความที่จะคิดไปถึงกิจภายนอกหรือนอกวัดนั้นมีน้อย บางครูบางบางท่าน บางองค์ ท่านจะช่วยทางวัด ทางโรงเรียนบ้าง ทางอะไรบ้าง แต่ปฏิปทาของหลวงปู่ถิรท่าน ท่านสละ แม้แต่พ่อแม่ญาติพี่น้อง ถ้าใครไม่มาอยู่ในวัด ท่านไม่สนใจสงเคราะห์ ท่านต้องการให้มาอยู่ในวัด มาปฏิบัติ มาทำอยู่วัดร่วมกับท่านมากกว่า

ท่านมีความเด็ดเดี่ยว ถ้าจะทำสิ่งใดอย่างเช่นจะอดอาหาร ท่านก็อดไปเลย อย่างเช่นช่วงนี้จะไม่ฉันเนื้อสัตว์ จะฉันเจ จะฉันเฉพาะอย่าง ท่านจะมีกำหนดไว้ อาจจะเป็นปีหนึ่ง เดือนหนึ่ง สองเดือน หรือสามเดือน ส่วนมากก็เป็นปี หรือหลายๆ ปี ถ้าท่านตั้งใจเอาไว้แล้วจะไม่มีกลับคำ ไม่เปลี่ยนแปลง คงที่ อย่างการช่วยเหลือสงเคราะห์ ไม่เห็นแก่ญาติมิตร คนใกล้ชิด ท่านจะทำท่านก็ทำทั่วไป หลวงพ่อเองเคยไปถึงมุกดาหาร ไปด้วยกัน ท่านไม่เคยเอาเงินไปช่วยพ่อช่วยแม่ ช่วยเหลือทางครอบครัว ท่านไม่ทำ มีแต่จะชักชวนให้พ่อแม่มาทำบุญ ให้มาช่วย มาสร้างวัด สร้างประโยชน์ส่วนใหญ่ ส่วนรวม ส่วนพระศาสนา เพราะสมบัติต่างๆ ตายแล้วเอาไปด้วยไม่ได้ ท่านจะพูดอย่างนี้กับพ่อกับแม่กับญาติ อย่างเช่นน้องชายของท่าน ท่านหวันก็เหมือนกัน ทำงานอยู่ในวัดเป็นแรงงานสร้างกุฏิ แกเป็นช่างไม้ ไม่ใช่ว่าจะมาอยู่เปล่าๆ ไม่ทำประโยชน์ในวัด ไม่ได้ พระเณรก็เช่นเดียวกัน

เวลาท่านจะไปบำเพ็ญภาวนา เช่น ที่ภูเก้า ปี ๒๕๐๗-๒๕๐๘ ท่านประชุมในโบสถ์เพื่อมอบหมายให้มีพระที่จะเป็นตัวแทนรักษาการณ์ในวัด ท่านเลือกหลวงพ่อ แม้จะไม่ได้มีพรรษาแก่ที่สุด ท่านให้เหตุผลว่าไม่จำเป็นจะต้องเลือกที่พรรษา ขอให้เป็นผู้ปฏิบัติดี

ท่านมีนิสัยตรงไปตรงมา เชื่อมั่นในความดี ไม่ต้องการยศถาบรรดาศักดิ์ หลวงพ่อเห็นว่าพระอื่นๆ เวลาแก่มา อย่างน้อยๆ ก็จะมียศเป็นพระครู หลวงพ่อจึงเป็นห่วงหลวงปู่ ว่าอย่างน้อยควรมีตำแหน่งหรือยศไว้เป็นอนุสรณ์บ้าง พอดีตอนนั้นหลวงพ่อเป็นเลขานุการเจ้าคณะอำเภอ จึงได้ทำเรื่องเสนอให้ท่านเป็นพระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์

ปฏิปทาของท่านที่หลวงพ่อชอบ คือท่านมีความจริงใจ มีความเด็ดเดี่ยว แม้ชีวิตก็เสียสละได้ถ้าจะเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม นี่คือสิ่งที่ท่านไม่เหมือนคนอื่น ท่านไม่สนใจว่าจะมีใครสนับสนุนหรือไม่ ถ้าสิ่งที่ท่านเห็นว่าดี ไม่ขัดต่อธรรมแล้ว ท่านจะทำ เช่น ถ้ากำหนดว่าจะไม่ออกบิณฑบาต ใครจะติฉินนินทาท่านก็ไม่สนใจ ท่านงดออกบิณฑบาต ๕ ปี และเมื่อถึงกำหนดท่านก็ออกบิณฑบาต และยังออกบิณฑบาตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งอายุ ๘๖ ปีแล้ว รู้สึกกว่าท่านไม่เหมือนพระองค์อื่นที่มักคล้อยตามเสียงเรียกร้องเสียงสนับสนุน แต่หลวงปู่ถิรไม่มี ท่านตรงมาก มีความเด็ดเดี่ยว มีความจริงใจในกิจวัตร จะป่วยหรือจะเป็นอะไร ถ้ายังลุกได้ท่านจะไม่ขาด เพื่อเป็นเนติแบบอย่างแก่ศิษยานุศิษย์

สมัยออกไปภาวนาที่ภูเก้า ปกติอยู่ในเมืองท่านไม่ได้ใส่ใจในญาติโยมสักเท่าใด พอไปอยู่ภูเก้า ญาติโยมมีความเป็นอยู่ลำบากก็ยังอุตสาห์ไปวัด ท่านจึงกลับมาขอความช่วยเหลือญาติโยมทางอุดรให้ช่วยบริจาคสิ่งของ จัดสังฆทาน จัดข้าวของไปช่วยเหลือ จัดหาของไปสงเคราะห์ อนุเคราะห์เขาด้วยความเมตตาอารี และจะทำอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ไม่ใช่เอาไปเล็กๆ น้อยๆ แต่ท่านเอาไปเป็นคันรถ บำเพ็ญทาน ถ้าจะช่วยใครช่วยจริงๆ ท่านเคยช่วยหลวงปู่ชอบ หลวงปู่ตื้อ สร้างวัดโดยที่ไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว และวัดบ้านจิกนี้ก็เป็นเสมือนสถานีที่ครูบาอาจารย์ทุกองค์จะมารวมกันที่นี่ ไม่ว่าจะโดยญาติโยมนิมนต์ เช่น หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่คำดี ปภาโส จะมาพักอยู่ศาลาหลังเก่า หลวงปู่เทสก์ วัดหินหมากเป้ง เมื่อครั้งมาจากภูเก็ตจะมาแวะที่นี่ แม้หลวงปู่ถิรท่านไม่ได้รู้จักกับหลวงปู่ชอบ หลวงปู่ตื้อเป็นการส่วนตัว แต่ท่านก็ปฏิบัติต่อทุกองค์เสมอภาคกันหมด ระยะหลังๆ เมื่อท่านอายุ ๖๕ ปีแล้ว ถูกนิมนต์ให้อยู่วัด ท่านจึงไม่ได้ออกธุดงค์อีก


(มีต่อ ๑๕)

หน้า 1 จากทั้งหมด 2 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/