วันเวลาปัจจุบัน 10 ก.ย. 2024, 18:27  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ธ.ค. 2010, 09:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
ภิกษุณีนันทญาณี
(อดีตแม่ชีรุ้งเดือน สุวรรณ)


สำนักปฏิบัติธรรมนิโรธาราม
ต.ดอยแก้ว อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่


• ประวัติส่วนตัว

นามเดิม รุ้งเดือน นามสกุล สุวรรณ ปัจจุบันอายุ ๕๗ ปี (เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔)
เกิดเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๗ ณ ต.ท่าข้ามเหนือ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
บิดาเป็นชาวจีน มารดาเป็นชาวจังหวัดลำพูน
สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รุ่นที่ ๑
และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากภาควิชาคณิตศาสตร์
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รหัสนักศึกษา ๑๖๕๑๑๑

• ชีวิตบนเส้นทางธรรม

ด้วยธรรมชาติของความเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ใฝ่เรียนรู้ความจริง โดยเฉพาะเรื่องของชีวิต และคำถามที่ผุดขึ้นกลางใจเมื่ออายุ ๑๔ ปี ว่า “เกิดมาทำไม” ได้เริ่มนำไปสู่การแสวงหาคำตอบอย่างจริงจังแต่เป็นไปแบบไร้ทิศทาง ในที่สุดท่านได้พบแผนที่ชีวิตจากการศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า เรื่องอริยสัจ ๔ และปฏิจจสมุปบาท ผ่านงานเขียนของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม (วัดธารน้ำไหล) อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี และหนังสือธรรมะของท่านอุบาสิกากี นานายน (ท่าน ก. เขาสวนหลวง) แห่งสำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวง (อุศมสถาน) อ.เมือง จ.ราชบุรี เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ ๒ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประสบการณ์ครั้งนั้นเองทำให้ท่านพบว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าตอบคำถามชีวิตตนได้ว่า “เกิดมาทำไม” จึงทำให้ท่านเกิดความศรัทธาในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่สอนให้ผู้คนรู้จักความจริงของชีวิตและทางพ้นทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง

นับแต่นั้นมาท่านจึงเริ่มเดินตามรอยพระพุทธเจ้า โดยเริ่มเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของตนเอง จากที่เคยแต่งตัวสวยงาม ดูหนังฟังเพลงตามประสาวัยรุ่นที่หมุนไปตามกระแสในสังคมขณะนั้น หันมาใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย สู่กระแสธรรมดำเนินตามรอยพระพุทธเจ้า มุ่งสู่การพัฒนาขัดเกลาด้านจิตใจมากกว่าจะสนใจเรื่องรูปกายภายนอก

กระทั่งเมื่อขึ้นชั้นปีที่ ๓ ท่านจึงตัดสินใจพักจากการเป็นนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย ไปเป็นนักศึกษาในร่มพระธรรมเพื่อพิสูจน์ความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ในหลายสำนักฯ ทั้งปฐมอโศก จ.นครปฐม, สำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวง (อุศมสถาน) จ.ราชบุรี, สวนโมกขพลาราม (วัดธารน้ำไหล) จ.สุราษฎร์ธานี ฯลฯ รวมเป็นเวลากว่า ๑ ปี เพราะต้องการพิสูจน์ชีวิตพรหมจรรย์ด้วยการฝึกฝนอย่างจริงจัง ประสบการณ์ทางธรรมที่หนักแน่นในครั้งนั้นทำให้ท่านยิ่งมีความมั่นใจในแนวทางของพระพุทธเจ้า อันนำมาสู่ชีวิตในเส้นทางธรรมที่มั่นคงในเวลาต่อมา

หลังจากนั้นท่านได้กลับมาเรียนต่อตามคำขอของมารดาจนจบการศึกษา และออกมาทำงานอุทิศตนเพื่อรับใช้พระพุทธศาสนาอย่างเข้มแข็งเป็นเวลากว่า ๒ ปี ก่อนตัดสินใจเข้าสู่ชีวิตพรหมจรรย์อย่างแท้จริงด้วยการบวชเป็นแม่ชี ณ วัดพระพุทธบาทตากผ้า อ.ป่าซาง จ.ลำพูน โดยมี พระเดชพระคุณพระสุพรหมยานเถร (ครูบาพรหมา พรหมจักโก) ได้เมตตากรุณาเป็นพระอุปัชฌาย์ให้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ขณะมีอายุได้ ๒๕ ปี ด้วยคิดว่าแม้จะทำงานรับใช้พระศาสนาและดูเหมือนเป็นคนดีในสายตาของคนทั่วไป แต่ตนเองรู้อยู่ภายในว่า โลภ โกรธ หลงยังมีอยู่ จึงตัดสินใจบวชด้วยจุดมุ่งหมายสูงสุด คือ การเข้าถึงความสิ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง หลังจากบวชแล้วท่านได้อุทิศชีวิตและสติปัญญาเพื่อศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าจากพระไตรปิฎก

ครั้นต่อมา แม่ชีรุ้งเดือน สุวรรณ ได้รับสิริมงคลนามใหม่จาก พระเดชพระคุณพระพรหมมงคล (หลวงพ่อทอง สิริมงฺคโล) เมื่อครั้งยังเป็นที่ พระเทพสิทธาจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ว่า “นันทญาณี”

นันทญาณี เป็นภาษาบาลี มาจากคำว่า นนฺท + ญา + ณี

นนฺท แปลว่า ความเพลิดเพลิน, ความสนุก, ความยินดี, ความรื่นเริง
ญาณี แปลว่า ผู้หญิงที่มีความรู้ (ธรรมะ)

นันทญาณี จึงแปลว่า ผู้หญิงที่มีความรู้ธรรมะที่น่าเพลิดเพลิน (แสดงธรรมได้สนุก ฟังไม่รู้จักเบื่อ) หรือ ผู้หญิงที่มีความเพลิดเพลินยินดีในธรรมะของพระพุทธเจ้า (บวชถวายชีวิตอุทิศตนต่อพระศาสนา)


สำหรับวัตรปฏิบัตินั้น ท่านเลิกใช้เงินนับแต่วันบวช ฉันอาหารมังสวิรัติมื้อเดียวในบาตร ดำรงชีวิตพรหมจรรย์อย่างสันโดษและมุ่งมั่นสู่เป้าหมาย เคร่งครัดปฏิบัติตนอยู่ในหนทางการพ้นทุกข์ตามแนวทางอริยมรรคมีองค์ ๘ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อความรู้แจ้งอริยสัจ ๔ ควบคู่ไปกับการทำประโยชน์ต่อสังคมโดยเผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้าแก่ผู้สนใจอย่างชัดเจน เข้าใจง่าย ได้ผล จนเป็นที่ยอมรับจากสังคมในวงกว้าง

เนื่องจากท่านได้พยายามรักษาศีล เว้นการใช้เงินมานานกว่า ๒๐ ปี อีกทั้งคณะศิษย์แม่ชีหลายท่านก็สามารถรักษาศีลข้อนี้ได้ ท่านจึงมีความคิดที่จะบรรพชาเป็น “สามเณรี” เพื่อต้องการรูปแบบชีวิตของนักบวชสตรีที่ชัดเจนในการประพฤติปฏิบัติอยู่ในศีลสิกขาบททั้ง ๑๐ ข้อ และเพื่อการสำรวมระวังในชีวิตพรหมจรรย์ให้ยิ่งขึ้นไป เมื่อได้กราบเรียนปรึกษาพระเถรานุเถระชั้นผู้ใหญ่บางรูปแล้ว ท่านก็อนุโมทนา ดังนั้น เมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ท่านแม่ชีนันทญาณี พร้อมด้วยคณะแม่ชีแห่งสำนักปฏิบัติธรรมนิโรธาราม รวมทั้งหมด ๕ รูป จึงได้ตัดสินใจเดินทางไปบรรพชาเป็นสามเณรี ณ วัดสัทธัมมการะ (Saddharmakara) อำเภอคาลูทาร่า (Kalutara) เมืองปานาทุรา (Panadura Maha Vadaya) กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา

รูปภาพ
จากภาพ : เป็นพิธีบรรพชาเป็นสามเณรี ณ วัดสัทธัมมการะ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา
ของท่านแม่ชีนันทญาณี ต่อมาท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุณี
เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๑ ณ ประเทศศรีลังกา อีกครั้ง


(มีต่อ ๑)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ม.ค. 2011, 18:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• การอุปสมบทเป็นพระภิกษุณี

ต่อมา ท่านสามเณรีนันทญาณี พร้อมด้วยคณะสามเณรีแห่งสำนักปฏิบัติธรรมนิโรธาราม รวมทั้งหมด ๕ รูป ได้เดินทางไปเข้าพิธีอุปสมบทเป็น “พระภิกษุณี” เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑ ณ ประเทศศรีลังกา อีกครั้ง โดยต้องอาศัยความเมตตากรุณาจากพระภิกษุสงฆ์ไทยที่ให้การรับรองความประพฤติในการถือศีล ๑๐ ข้ออย่างเคร่งครัดในระยะเวลา ๒ ปีขึ้นไป อีกทั้งอาศัยการยอมรับและความไว้วางใจของพระภิกษุสงฆ์และพระภิกษุณีสงฆ์ศรีลังกาในการทำพิธีอุปสมบทให้

ก่อนจะอุปสมบทเป็น “พระภิกษุณี” ได้ จะต้องเป็น “สามเณรี” (สิกขมานา) รักษาศีล ๑๐ ข้ออย่างเคร่งครัดเป็นระยะเวลา ๒ ปีขึ้นไป โดยในระหว่าง ๒ ปี ต้องรักษาศีล ๖ ข้อแรกในศีล ๑๐ ไม่ให้ขาด หากศีลขาดแม้แต่ข้อเดียวจะต้องเริ่มนับเวลาใหม่ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันสตรีมีครรภ์หรือมีบุตรอ่อนยังดื่มนมอยู่เข้ามาอุปสมบท และต้องได้รับการอุปสมบทโดยสงฆ์สองฝ่าย คือ อุปสมบทโดยพระภิกษุณีสงฆ์แล้ว ต้องอุปสมบทโดยพระภิกษุสงฆ์อีกครั้งหนึ่ง จึงจะเป็นพระภิกษุณีได้โดยสมบูรณ์ สำหรับ ศีล ๖ ข้อแรกในศีล ๑๐ ก็คือ ศีล ๕ กับเพิ่มศีลข้อที่ ๖ อันได้แก่ การเว้นบริโภคอาหารในเวลาวิกาล (ตั้งแต่เที่ยงจนถึงรุ่งอรุณของวันใหม่)

ทั้งนี้ เนื่องจากกฎระเบียบของคณะสงฆ์ไทยไม่อนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์ไทยทำพิธีอุปสมบทเป็นภิกษุณี หรือบรรพชาเป็นสามเณรีให้แก่สตรี ท่านจึงได้เดินทางไปบรรพชาและอุปสมบท ณ ประเทศศรีลังกา


:b8: การอุปสมบทเป็น “พระภิกษุณี” ในสงฆ์ ๒ ฝ่าย
ของคณะสามเณรีแห่งสำนักปฏิบัติธรรมนิโรธาราม จำนวน ๕ รูป
เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑ ณ ประเทศศรีลังกา


:b42: การอุปสมบทฝ่ายภิกษุสงฆ์
ณ วัดสัทธัมมการะ (Saddharmakara) อำเภอคาลูทาร่า (Kalutara)
เมืองปานาทุรา (Panadura Maha Vadaya) กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา
ในพิธีอุปสมบท ประกอบด้วยภิกษุสงฆ์ศรีลังกาจำนวน ๑๒ รูป
โดยมี พระมหาสังฆนายกศรีลังกา ได้เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธี


พระอุปัชฌาย์ ฝ่ายภิกษุ :

ภิกษุ Mettananda มหาเถระ จากหมู่บ้าน Thalalle
- เป็นอธิกรณสังฆนายกของภาคตะวันตก
- เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา Saddharmakara
- เป็นเจ้าอาวาสวัด Thapodanaramaya เมือง Mount Lavinia

พระกรรมวาจาจารย์ ฝ่ายภิกษุ :

(๑) ภิกษุ Amugoda Soma มหาเถระ
- เป็นรองสังฆนายกของภาคใต้
- เป็นอาจารย์ใหญ่ของมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา Saddharmakara
- เป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนธรรมะ Sri Seelananda

(๒) ภิกษุ Kalupahana Piyarathana เถระ

:b42: การอุปสมบทฝ่ายภิกษุณีสงฆ์
ณ สำนักปฏิบัติธรรม Sakhyadita อำเภอคาลูทาร่า (Kalutara)
เมืองปานาทุรา (Panadura Maha Vadaya) กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา
ในพิธีอุปสมบท ประกอบด้วยภิกษุณีสงฆ์ศรีลังกาจำนวน ๑๐ รูป


พระอุปัชฌาย์ ฝ่ายภิกษุณี :

ภิกษุณี Khemachari

พระกรรมวาจาจารย์ ฝ่ายภิกษุณี :

(๑) ภิกษุณี Dhamanandani

(๒) ภิกษุณี Vijithananda
- เป็นประธานภิกษุณีสงฆ์สำนักปฏิบัติธรรม Sakhyadita

พระอาจาริณี :

ภิกษุณี Sumitra จากวัด seelavasa หมู่บ้าน Padukke

รูปภาพ

ปัจจุบัน ท่านภิกษุณีนันทญาณี ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธินิโรธาราม และประธานภิกษุณีสงฆ์สำนักปฏิบัติธรรมนิโรธาราม ต.ดอยแก้ว อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ และสำนักปฏิบัติธรรมสุทธจิตต์ (สำนักปฏิบัติธรรมนิโรธาราม สาขา ๒) ต.ลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ท่านเป็นครูบาอาจารย์สั่งสอนเผยแผ่พระธรรมของพระพุทธองค์ โดยนำพระพุทธพจน์จากพระไตรปิฎกมาอธิบายทำให้เข้าใจง่ายด้วยความกระจ่างแจ้งอย่างมิรู้เหน็ดเหนื่อย ให้แก่บรรดาคณะศิษย์ทั้งในและนอกสำนักฯ จากทั่วสารทิศ นับเป็นเวลากว่า ๓๐ ปี

• ประวัติศาสตร์การปกครองคณะสงฆ์ไทย

ประวัติศาสตร์การปกครองคณะสงฆ์ไทย ได้ประกาศเจตนารมณ์ต่อกรณีการอุปสมบทภิกษุณีและการบรรพชาสามเณรีในประเทศไทย ภายใต้กฎระเบียบของคณะสงฆ์ไทยไว้อย่างชัดเจนตลอดมา กล่าวคือ

(๑) พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ พ.ศ. ๒๔๗๑
ห้ามพระภิกษุสงฆ์ในประเทศไทยทำการอุปสมบทหรือบรรพชาให้แก่สตรี

(๒) คำวินิจฉัยของมหาเถรสมาคมในการประชุมครั้งที่ ๒๘/๒๕๒๗ และครั้งที่ ๑๘/๒๕๓๐
ห้ามพระภิกษุสงฆ์ทำพิธีอุปสมบทให้สตรีเป็นภิกษุณี หรือบรรพชาให้สตรีเป็นสามเณรี

(๓) พระวรธรรมคติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๔

ห้ามอุปสมบทให้แก่สตรีเพื่อเป็นภิกษุณี หรือบรรพชาให้แก่สตรีเพื่อเป็นสามเณรี

กฎระเบียบของคณะสงฆ์ไทยดังกล่าวข้างต้น ใช้บังคับแก่พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม (มส.) อันเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ทั้งประเทศเท่านั้น ซึ่งได้แก่ คณะสงฆ์ไทย และคณะสงฆ์อื่น ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ คณะสงฆ์อื่น หมายถึง บรรพชิตจีนนิกาย (พระจีนมหายาน) และบรรพชิตอนัมนิกาย (พระญวนมหายาน) ซึ่งมีเพียง ๒ นิกายเท่านั้น

(มีต่อ ๒)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ม.ค. 2011, 11:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
บรรยากาศการทำวัตร-สวดมนต์ไหว้พระ ภายใน “อาคารปฏิบัติธรรม”
ณ สำนักปฏิบัติธรรมนิโรธาราม ต.ดอยแก้ว อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่



• บทบาทและผลงาน

♥ สืบทอด “ความรู้ในอริยสัจ ๔” สู่การปฏิบัติ
จนสามารถสร้าง “อารามแห่งความดับทุกข์”


บทบาทและผลงานของท่านภิกษุณีนันทญาณี ที่สำคัญอันเป็นคุโณปการยิ่งต่อวงการพระพุทธศาสนาและมวลมนุษย์ คือ ความเป็นผู้สืบทอด “ความรู้ในอริยสัจ ๔” สู่การปฏิบัติ จนสามารถสร้างสำนักปฏิบัติธรรมนิโรธาราม “อารามแห่งความดับทุกข์” และเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตสู่ความพ้นทุกข์ตามแนวทางอริยมรรคมีองค์ ๘ (ศีล สมาธิ ปัญญา) แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ จากความรู้อันล้ำเลิศของพระพุทธเจ้าที่กล่าวถึงความสำคัญของอริยสัจ ๔ ว่า “เปรียบเหมือนใบไม้กำมือเดียวอันนำมาซึ่งความพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง” (สํ.ม.๑๙/๑๗๑๒-๑๓) สู่การพิสูจน์ในชีวิตจริงภายในห้องทดลองที่เรียกว่า “สำนักปฎิบัติธรรมนิโรธาราม” ซึ่งมีการศึกษาวิจัยและปฏิบัติในเรื่องต่อไปนี้

(๑) ทุกข์ คือ ภาวะทนได้ยาก
(ว่าโดยย่อ ความหลงติดใจเพราะพอใจ ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ เป็นทุกข์)
เป็นความจริงของทุกชีวิตที่ต้องศึกษาให้เกิดความรู้รอบอย่างถ่องแท้
(๒) เหตุเกิดทุกข์ หรือความเกิดขึ้นแห่งทุกข์
คือ ตัณหา ๓ หรือความหลงติดใจเพลิดเพลินชอบมาก เป็นสิ่งที่ต้องละ
(๓) ความดับทุกข์ (นิโรโธ)
คือ ความดับอวิชชา ตัณหา ๓ ได้โดยสิ้นเชิง
เป็นสิ่งที่ต้องกระทำให้รู้แจ้งเห็นแจ้งด้วยปัญญา
(๔) อริยมรรคมีองค์ ๘ (ศีล สมาธิ ปัญญา)
คือ ระบบการดำเนินชีวิตให้ถึงให้รู้ให้เห็นความดับทุกข์
ต้องปฏิบัติต้องภาวนาทำให้เกิดทำให้มี หรือควรเจริญกระทำให้มาก

เมื่อศึกษาในอริยสัจ ๔ และปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มากขึ้นแล้ว พบว่าปริมาณความสุขมวลรวมของสมาชิกในสังคมนิโรธารามเพิ่มขึ้น การแก้ปัญหาต่างๆ เป็นไปได้ง่ายขึ้น ปัญหาความขัดแย้งหรือปัญหาชีวิตของผู้คนที่มาสู่ร่มอารามแห่งความดับทุกข์แห่งนี้ก็ลดน้อยลง เพราะเกิดปัญญาเห็นตามจริงว่า ทุกชีวิตล้วนเป็นทุกข์ การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันก็เพื่อเป้าหมายแห่งความดับทุกข์ ดังนั้น ผลการทดลองนี้จึงได้ข้อสรุปเป็นมรดกธรรมให้แก่สังคมว่า เมื่อมีความรู้ในอริยสัจ ๔ อย่างชัดเจนถูกต้องและดำเนินชีวิตตามครรลองของศีล สมาธิ ปัญญา ในอริยมรรคมีองค์ ๘ อย่างสมบูรณ์แล้ว ชีวิตก็จะพบกับประโยชน์และความสุขอย่างยิ่ง

♥ แสดงธรรมได้อย่างแจ่มแจ้ง จูงใจ แกล้วกล้า และร่าเริง

ท่านภิกษุณีนันทญาณี เป็นผู้มีสติปัญญา มีไหวพริบปฏิภาณ และมีความสามารถในการแสดงธรรม ถ่ายทอดธรรม สู่มหาชนในทุกระดับชั้นได้อย่างแจ่มแจ้ง จูงใจ แกล้วกล้า และร่าเริง เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจ เนื่องจากท่านสามารถทำให้ผู้ฟังเกิดสติปัญญา เห็นธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้า และหลุดพ้นจากความทุกข์เศร้าหมองได้ เป็นผลให้กลุ่มผู้ฟังส่วนใหญ่นับตั้งแต่พระภิกษุสงฆ์ ผู้ใหญ่วัยทำงานทั้งผู้บริหารระดับสูง และระดับพนักงาน เจ้าหน้าที่ ประชาชนทั่วไป ตลอดจนผู้สูงอายุ วัยรุ่น หรือวัยเด็ก สาธุชนทุกเพศทุกวัยต่างก็ได้รับประโยชน์และความสุขในธรรม เกิดจิตศรัทธาในคำสอนของพระพุทธเจ้าและน้อมนำธรรมมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข สงบเย็น นับได้ว่าเป็นบทบาทและผลงานที่โดดเด่นจนเป็นที่ยอมรับของสังคมในวงกว้าง

ด้วยสติปัญญาอันแจ่มแจ้งชัดเจนในการจับประเด็นธรรมที่สำคัญ และจำเป็นต่อชีวิต เช่น ความจริงของชีวิตในเรื่องขันธ์ ๕, อายตนะ และอริยสัจ ๔ เป็นต้น จากพระไตรปิฎกที่หลายคนว่ายาก ท่านสามารถนำมาอธิบายทำให้กลายเป็นของง่าย จากของสูงที่เอื้อมไม่ถึง ทำให้กลายเป็นของจำเป็นในชีวิตที่ขาดไม่ได้ จากเรื่องน่าเบื่อของคนในวัด ทำให้กลายเป็นเรื่องสนุกที่ทุกชีวิตต้องรู้ ด้วยเทคนิคการสอนที่ทำให้ธรรมะเป็นเรื่องสนุก เข้าใจง่าย ด้วยการหยิบยกเรื่องราวชีวิตจริงมาเป็นตัวอย่างในการสอน หรือใช้เทคนิคสร้างเรื่องสมมติขึ้นเพื่อประกอบการสอน ทำให้พระธรรมคำสอนมีชีวิตชีวา นอกจากนั้น ท่านยังเน้นเทคนิคให้เกิดการจดจำธรรมตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “ความจำธรรมที่มั่นคงเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติในธรรม” ด้วยวิธีการสรุปธรรมเป็นประเด็นสำคัญสั้นๆ ใช้สำนวนภาษาที่ทันสมัย เข้าใจง่าย และใส่จังหวะ เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ เพื่อให้ผู้ฟังได้มีส่วนร่วมในการจดจำ ด้วยการเปล่งกล่าวธรรมตามคำบอก อีกทั้งท่านยังใช้เทคนิคกระตุ้นให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมในการเรียนรู้พระธรรม ด้วยการตั้งคำถามให้ผู้ฟังช่วยคิดหาคำตอบหรือแสดงความเห็น เป็นต้น

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

(มีต่อ ๓)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ม.ค. 2011, 11:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

♥ ผลงานการเผยแผ่ธรรม

- ภารกิจในการแสดงธรรมและอบรมปฏิบัติธรรม

ด้วยกิตติศัพท์ของความเป็นนักเทศน์ดังมีคุณสมบัติที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ทำให้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนประชาชนทุกระดับชั้นทั้งในและต่างประเทศ ต่างก็ติดต่อขอรับการฟังธรรมและอบรมปฏิบัติธรรมจากท่านภิกษุณีนันทญาณี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เป็นต้นมา เมื่อครั้งท่านยังเป็นแม่ชีผู้บวชใหม่ ก็เริ่มมีกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาขอรับการอบรมธรรมจากท่านเป็นประจำ จนกระทั่งได้เริ่มมากขึ้นเป็นลำดับ เห็นได้ชัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ติดต่อขอเข้ารับการอบรมธรรมกระทั่งถึงปัจจุบันนับได้ ๗๐ กว่ารุ่น มีผู้ได้รับประโยชน์ในธรรมตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง ได้แก่ ผู้ว่าการ กฟผ., รองผู้ว่าการ กฟผ., ผู้อำนวยการเขื่อน และเจ้าหน้าที่ระดับต่างๆ จำนวนกว่า ๗,๐๐๐ คน

พระครูปริยัติยานุศาสน์ (พระมหา ดร.ไสว เทวปุญฺโญ) รองเจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงใหม่ (ฝ่ายการเผยแผ่) หัวหน้าสาขาวิชาพระพุทธศาสนาและสาขาวิชาภาษาบาลี-สันสกฤต แห่งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาเขตเชียงใหม่ วัดสวนดอก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ได้มีเมตตาเปิดโอกาสให้ท่านภิกษุณีนันทญาณี เป็นอาจารย์พิเศษถวายความรู้ให้แก่พระนิสิตระดับต่างๆ รวมทั้งพระนิสิตปริญญาโท มาเป็นเวลานานกว่า ๘ ปี จนกระทั่งปัจจุบัน อีกทั้งพระครูปริยัติยานุศาสน์ยังได้นำคณะพระนิสิต มจร. ระดับต่างๆ มาทัศนศึกษาและสนทนาธรรมกับท่านภิกษุณีนันทญาณี ณ สำนักปฏิบัติธรรมนิโรธาราม ตลอดจนยังได้นำสื่อบันทึกการแสดงธรรมของท่านภิกษุณีนันทญาณี ไปเผยแผ่ผ่านรายการวิทยุธรรมะที่ท่านดูแลอยู่ด้วย

นอกจากนี้แล้วยังมีวัด สำนักปฏิบัติธรรมต่างๆ ทั่วสารทิศ ได้นิมนต์ท่านไปเป็นวิทยากรบรรยายธรรมะอีกหลายที่ตามเหตุปัจจัย เช่น วัดร่ำเปิง (วัดตโปทาราม) จ.เชียงใหม่, วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร จ.เชียงใหม่, วัดทิพวนาราม จ.เชียงใหม่, วัดวังหิน จ.ลำปาง, วัดในท้องถิ่นสำนักปฏิบัติธรรมอยู่สุขเจริญ จ.ตาก, วัดป่าบ้านพันลำ จ.หนองคาย, วัดป่าบ้านแก้ง จ.อุบลราชธานี และสวนป่าศรัทธาธรรม จ.ขอนแก่น เป็นต้น

รวมถึง หน่วยงานกองกับการตำรวจตะเวนชายแดนที่ ๓๓ ค่ายสมเด็จพระบรมราชชนนี จ.เชียงใหม่, องค์การบริหารส่วนตำบลสันทราย จ.เชียงใหม่, โรงพยาบาลสวนดอก จ.เชียงใหม่, โรงพยาบาลจอมทอง จ.เชียงใหม่, โรงพยาบาลแม่ทะ จ.ลำปาง, โรงพยาบาลลี้ จ.ลำพูน, โรงพยาบาลบ้านธิ จ.ลำพูน, โรงพยาบาลชุมแพ จ.ขอนแก่น, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยพายัพ, มหาวิทยาลัยนเรศวร, วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีเชียงใหม่และลำปาง, วิทยาลัยการอาชีพจอมทอง จ.เชียงใหม่ ตลอดจน สถานศึกษาโรงเรียนต่างๆ เช่น โรงเรียนจอมทอง, โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย, โรงเรียนเรยีนา และโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จ.เชียงใหม่ เป็นต้น

- ภารกิจในการเผยแผ่ธรรมผ่านสื่อต่างๆ

สาธุชนผู้เห็นคุณค่าในพระธรรมหลายท่านได้นำสื่อบันทึกการแสดงธรรมของท่านภิกษุณีนันทญาณี ไปเผยแผ่ผ่านรายการทางสถานีวิทยุต่างๆ อาทิเช่น รายการ “ร่มธรรม-ร่มใจ” ทางคลื่นเชียงใหม่ เรดิโอ FM ๙๓.๗๐ Mhz โดยมีคุณศรีสุดา ชวชาติ เป็นผู้จัดรายการ ที่ขวนขวายนำสื่อธรรมะจากสำนักปฏิบัติธรรมนิโรธารามไปเผยแผ่ออกอากาศเป็นประจำทุกวัน ระหว่างเวลา ๐๖.๐๐-๐๗.๐๐ น. อีกทั้งยังมีสถานีวิทยุพระพุทธศาสนาประจำจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึง วิทยุชุมชนจากหลายสถานีได้ขอนำสื่อธรรมะไปออกอากาศเผยแผ่ทางสถานีวิทยุ

ตลอดจน มีพระภิกษุสงฆ์ไทยหลายรูปได้ให้เกียรตินำสื่อธรรมะทั้งหนังสือ และสื่อบันทึกการแสดงธรรมของท่านภิกษุณีนันทญาณี ไปเผยแผ่ผ่านสื่อต่างๆ ดังเช่น พระภิกษุสงฆ์ไทยจากต่างแดน ดร.พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ เจ้าอาวาสวัดพุทธิปัญญา รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา (ในขณะนั้น) ซึ่งเป็นวัดสาขาของวัดชลประทานรังสฤษฏ์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ก็ได้ให้เกียรตินำสื่อธรรมะดังกล่าวไปเผยแผ่ยังประเทศสหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังมีสาธุชนได้นำสื่อธรรมะของท่านไปเผยแผ่สู่ประเทศออสเตรียอีกด้วย

นอกจากนี้แล้ว พระอาจารย์สมบัติ สัมปัตติธารโก ประธานสงฆ์แห่งวัดป่าบ้านพันลำ อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย ได้นำสื่อบันทึกการแสดงธรรมของท่านไปเปิดออกอากาศทางรายการวิทยุชุมชน ณ วัดป่าบ้านพันลำ (ซึ่งการกระจายเสียงได้ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนในประเทศลาว ต่อมาได้มีพระภิกษุลาวเดินทางมากราบเรียนพระอาจารย์สมบัติว่า ได้รับประโยชน์จากรายการนี้) และพระครูสังฆรักษ์ณัฏฐากร ณฏฺฐกโร แห่งวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ก็ได้นำสื่อบันทึกการแสดงธรรมของท่านไปเผยแผ่ผ่านทางรายการสถานีวิทยุพระพุทธศาสนาประจำจังหวัดเชียงใหม่ ทางคลื่น FM ๙๖.๐ Mhz เป็นต้น

รูปภาพ

รูปภาพ
ท่านภิกษุณีนันทญาณี บรรยายธรรมะแก่นักเรียนชั้นมัธยมจาก จ.ลำปาง
เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ณ “สำนักปฏิบัติธรรมสุทธจิตต์”
(สำนักปฏิบัติธรรมนิโรธาราม สาขา ๒) ต.ลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่


(มีต่อ ๔)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ม.ค. 2011, 12:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ท่านภิกษุณีนันทญาณี และภิกษุณีสานุศิษย์
ณ ลุมพินีวัน อำเภอไภรวา แคว้นอูธ ประเทศเนปาล



♥ บทบาทแห่งความเป็นผู้นำสตรี ได้ก่อตั้งสำนักปฏิบัติธรรมเพื่อสตรี
เป็นผู้สร้างโอกาสทางธรรมและคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างรอบด้านให้แก่สตรี



(มีต่อ ๕)


:b44: “ลุมพินีวัน” อนุสรณ์สถานแห่งการประสูติ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=50871

:b44: พุทธสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล
: สถานที่อันเป็นที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=39377

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 มิ.ย. 2011, 18:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ขออนุญาตลบความเห็นของทุกท่านที่อยู่ในกระทู้นี้ทั้งหมดด้วยนะคะ
เพราะได้นำความเห็นดังกล่าวไปโพสต์ลงในกระทู้ข้างล่างนี้แทนแล้ว

กรณี...ภิกษุณีนันทญาณี (อดีตแม่ชีรุ้งเดือน สุวรรณ)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=36106

คือประสงค์ให้กระทู้นี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติและปฏิปทาเท่านั้นค่ะ

:b8: ขอโมทนาสาธุการกับทุกท่านด้วยค่ะ

ปล. จะค่อยทยอยๆ ลงประวัติของท่านไปเรื่อยๆ ค่ะ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

• แผนที่สำนักปฏิบัติธรรมนิโรธาราม
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=808

• ดับทุกข์-ทุกข์ดับ ที่...“อารามแห่งความดับทุกข์”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=21468

• ประวัติและปฏิปทาภิกษุณีนันทญาณี (อดีตแม่ชีรุ้งเดือน สุวรรณ)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=35661

• ภิกษุณีนันทญาณี (อดีตแม่ชีรุ้งเดือน สุวรรณ)
ได้รับรางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนา ประจำปี ๒๕๕๒

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=20851

• กรณี...ภิกษุณีนันทญาณี (อดีตแม่ชีรุ้งเดือน สุวรรณ)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=36106

• หญิง-ชาย ใครว่าเท่าเทียม (ดร.สนอง วรอุไร-ฐิติขวัญ)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=37014

• บทสัมภาษณ์พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี)
“พระธรรมดา..ที่ ‘ไม่’ ธรรมดา” จากนิตยสาร Secret

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=33457

• เว็บไซต์สำนักปฏิบัติธรรมนิโรธาราม
http://www.nirotharam.com/

• facebook นิโรธาราม อารามแห่งความดับทุก
https://www.facebook.com/pages/%E0%B8%9 ... 196?ref=ts

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 มิ.ย. 2011, 18:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b44: ทัศนะของ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ท่าน ว.วชิรเมธี)
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรณีการบวชเป็น “พระภิกษุณี” มีดังนี้ค่ะ

---

• บทสัมภาษณ์พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี)
“พระธรรมดา..ที่ ‘ไม่’ ธรรมดา” จากนิตยสาร Secret

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=33457

:b8: ๏ พระอาจารย์คิดว่าผู้หญิงควรจะได้รับการยอมรับให้บวชเป็นภิกษุณีไหมคะ

ผู้หญิงมีศักยภาพที่จะบวชได้ และควรส่งเสริมให้บวช และพระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตอยู่แล้ว แต่ที่เป็นปัญหาขึ้นมาในเมืองไทยเพราะวงศ์ของภิกษุณีขาดไป การบวชเป็นภิกษุณีต้องบวชจากสงฆ์สองฝ่าย บวชจากภิกษุณีเสร็จแล้วไปบวชจากภิกษุ ถ้าครบสองอย่างนี้ผู้หญิงก็ไปบวชเป็นภิกษุณีได้ทุกเมื่อ ปัญหาของสังคมไทยคือ ไม่มีภิกษุณีที่จะเป็นพระอุปัชฌาย์ แต่ตอนนี้มีทางออกแล้ว คือ ไปบวชเป็นภิกษุณีที่ศรีลังกาแล้วเข้ามาประเทศไทย ต่อไปถ้ามีคณะสงฆ์มากพอก็ไปตั้งภิกษุณีสงฆ์ เช่นนี้แล้วก็สามารถบวชให้ผู้หญิงไทยได้ ฉะนั้น แนวโน้มในอนาคต ก็คือ ผู้หญิงในเมืองไทยจะสามารถบวชเป็นภิกษุณีได้เหมือนในสมัยพุทธกาล ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นอาตมาคิดว่าสังคมไทยจะมีมาตราฐานทางจริยธรรมที่ดีขึ้น เพราะรอให้พระทำงานอย่างเดียวไม่ไหวหรอก เรื่องบางเรื่องผู้หญิงทำได้ดีกว่า เราต้องก้าวข้ามอคติทางเพศให้ได้

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 มิ.ย. 2011, 18:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b44: ทัศนะของ ท่านอาจารย์ ดร.สนอง วรอุไร
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรณีการบวชเป็น “พระภิกษุณี” มีดังนี้ค่ะ

---

• หญิง-ชาย ใครว่าเท่าเทียม (ดร.สนอง วรอุไร-ฐิติขวัญ)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=37014

:b8: ๏ อาจารย์คะ ถ้าผู้หญิงมีศักยภาพที่จะบรรลุธรรมได้ไม่ต่างจากผู้ชาย แล้วทำไมปัจจุบันนี้การบวชเป็นภิกษุณี จึงเป็นสิ่งที่เป็นประเด็นปัญหาในบ้านเมืองเราล่ะคะ

อาจารย์ต้องเท้าความอดีตก่อนว่า ในครั้งพุทธกาล พุทธบริษัท ๔ นั้นประกอบไปด้วย ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา

ภิกษุณีรูปแรกของพระพุทธศาสนาคือ พระมหาปชาบดีโคตมี ซึ่งเป็นพระมาตุจฉาหรือพระน้านางของพระพุทธเจ้า แต่กว่าจะได้บวช พระพุทธเจ้าทรงไม่อนุญาตอยู่ถึง ๒ ครั้งจนกระทั่งในครั้งที่ ๓ พระนางมหาปชาบดีโคตรมีทรงปลงผมและนุ่งผ้าย้อมฝาด แล้วเดินเท้าเปล่าจากรุงกบิลพัสดุ์มายืนร้องไห้อยู่หน้ากุฏาคารศาลาที่แคว้นวัชชี พระอานนท์ออกไปเห็นเข้าจึงไปถามไถ่ดู เมื่อได้ความแล้วจึงรับอาสาไปจัดการให้และเข้าไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า เมื่อผู้หญิงปฏิบัติธรรมแล้วจะบรรลุธรรมได้ไหม เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตอบว่าได้ พระอานนท์จึงทูลถามต่อว่า แล้วเหตุใดจึงทรงไม่อนุญาตให้พระนางมหาปชาบดีโคตรมีบวช ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้ผู้หญิงบวชได้ โดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องประพฤติครุธรรม ๘ ประการ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติเพื่อวัดใจผู้บวชที่เป็นหญิงว่ามีความมั่นคงต่อพระพุทธศาสนาจริงๆ

:b8: ๏ ทำไมพระพุทธเจ้าถึงไม่ทรงอนุญาตให้ผู้หญิงบวชได้ตั้งแต่แรกคะอาจารย์

เพราะทรงเกรงว่า หากรับเพศหญิงที่ไม่มีความมั่นคงในพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนาเข้ามาเป็นนักบวชแล้ว อาจเกิดข้อครหาที่จะเป็นอันตรายร้ายแรงต่อการประพฤติพรหมจรรย์ของภิกษุได้ เนื่องจากในสมัยพุทธกาลไม่เคยมีศาสนาใดอนุญาตให้ผู้หญิงเข้ามาเป็นนักบวชมาก่อน ด้วยเหตุนี้เมื่อทรงอนุญาตแล้วจึงทรงบัญญัติไว้ด้วยว่า การบวชเป็นภิกษุณีนั้นต้องบวชด้วยสงฆ์สองฝ่าย คือทั้งฝ่ายภิกษุณีสงฆ์และฝ่ายภิกษุสงฆ์

ทุกวันนี้ประเทศที่ปฏิบัติตามพระวินัยข้อนี้ได้ มีเหลืออยู่เพียงประเทศศรีลังกา ด้วยเหตุนี้ภิกษุณีในประเทศไทยของเราจึงต้องไปบวชมาจากประเทศศรีลังกา แล้วค่อยกลับมาเป็นภิกษุณีสงฆ์อยู่ที่บ้านเรา แต่อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีพระราชบัญญัติเกี่ยวกับภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทย


:b8: ๏ แล้วอย่างนี้ในฐานะชาวพุทธ เราควรจะเห็นด้วยกับการมีภิกษุณีในเมืองไทยไหมคะ

ขึ้นอยู่กับสภาวะความรู้แจ้งของจิต หากจิตของเรามีปัญญาเห็นแจ้งแล้ว เราย่อมรู้ว่าไม่ว่าจิตจะอยู่ในเพศชายหรือหญิงก็สามารถบรรลุธรรมได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจิตจึงไม่มีเพศ ด้วยเหตุนี้ผู้รู้จริงจึงเห็นด้วยกับการอนุญาตให้ผู้หญิงบวช เพราะรู้ว่าการบวชเป็นเรื่องของจิตที่มีศักยภาพในการบรรลุธรรมได้เท่าเทียมกัน ส่วนใครจะเห็นด้วยหรือไม่ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล เข้าใจนะลูก

:b8: ๏ เข้าใจแล้วค่ะอาจารย์

ครุธรรม ๘ ประการ (โดยสรุป) ได้แก่

๑. ภิกษุณีต้องกราบไหว้ภิกษุ แม้มีอายุพรรษาน้อยกว่าเสมอ

๒. ภิกษุณีต้องจำพรรษาในวัดที่มีภิกษุอยู่ด้วยเสมอ

๓. ภิกษุรีต้องเป็นฝ่ายรับการสั่งสอนจากภิกษุเสมอ

๔. ภิกษุต้องปวารณาในสงฆ์ทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์

๕. เมื่อต้องอาบัติสังฆาทิเสส (อาบัติหนักรองจากปาราชิก) จะต้องประพฤติมานัตต์ (การเข้าปริวาสกรรม-การอยู่ในบริเวณที่กำจัดและปฏิบัติธรรมเป็นเวลาต่อเนื่องเพื่อลดละกิเลส) ตลอดปักษ์ในสงฆ์ทั้งสองฝ่าย

๖. ภิกษุณีต้องเป็นผู้ศึกษาธรรมและรักษาศีล ๖ ข้อ (เพิ่มข้อห้ามกินยามวิกาลจากศีล ๕) เป็นเวลา ๒ ปี ก่อนจะได้รับการบวชโดยสงฆ์ทั้งสองฝ่ายคือ ทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์

๗. ห้ามมิให้ภิกษุณีด่าว่าภิกษุไม่ว่าในกรณีใดๆ

๘. ห้ามมิให้ภิกษุณีว่ากล่าวสั่งสอนภิกษุ

ทั้งหมดนี้เป็นธรรมที่ภิกษุณีพึงสักการะ นับถือ เคารพ บูชาและไม่ก้าวล่วงจนตลอดชีวิต

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร